วัฒนธรรมกับการพัฒนา: ปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความผิดพลาดของการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา

การที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดตั้งทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาขึ้นมา โดยให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรม ถึงกับวางวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ ไว้ว่า ให้มีการเน้นความสำคัญของมิติด้านวัฒนธรรมในการพัฒนา การกำหนดขึ้นเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตื่นตัวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไปในช่วงนี้ โลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีหมู่คนจำนวนมากที่ห่วงใยอนาคต ของมนุษยชาติ พากันวิตกกังวลเกี่ยวกับอารยธรรมของมวลมนุษย์ว่า จะมีความเจริญสืบต่อไปได้หรือไม่ หรือว่าจะถึงความเสื่อมโทรมสูญสลาย คนเหล่านี้ได้มองเห็นความผิดพลาดและผลร้ายของการพัฒนาที่ผ่านมา และกำลังหาทางออกกันอยู่ การที่ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาได้ถูกกำหนดขึ้นมาโดยองค์การสหประชาชาติเช่นนี้ เป็นเพียงการสำทับความสำคัญและย้ำถึงการตระหนักในความผิดพลาด และผลร้ายของการพัฒนานั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง บางคนถึงกับเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือจุดเปลี่ยน ซึ่งโลกนี้อาจจะต้องออกจากยุคพัฒนาแบบเก่าไปเข้าสู่ยุคพัฒนาแบบใหม่ ที่อาจจะเรียกชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดสุดแต่จะคิดขึ้นมาให้เหมาะสม

สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาซึ่งได้เกิดความผิดพลาดขึ้นนั้น โดยมากจะชี้และเน้นย้ำกันในแง่ที่ว่า เป็นการมุ่งความเจริญทางวัตถุ การขยายตัวเจริญเติบโตด้านปริมาณการเพิ่มพูนของตัวเลข ด้วยการพัฒนาที่เน้นหนักด้านเศรษฐกิจ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทตัวเอก โลกปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้รู้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และองค์การโลกคือสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงความผิดพลาดและผลร้ายของการพัฒนาแบบนั้นว่า แม้จะประสบความสำเร็จ มีคุณค่า เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ได้มากมายก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาใหม่จากการพัฒนานั้นก็มีความร้ายแรงเป็นอันมาก จนกระทั่งทำให้รู้สึกกันว่า ความเจริญนั้นได้มาถึงจุดติดตันแล้ว ถ้าขืนดำเนินต่อไปในทิศทางนั้น มนุษยชาติอาจจะถึงกับประสบความพินาศสูญสิ้นไปก็ได้

กล่าวโดยสรุป ในเวลาที่จำกัด ก็ขอกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาแบบที่ผ่านมา1

ก. ในวงกว้างที่สุดก็คือ ทางด้านธรรมชาติแวดล้อม การพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้นได้สร้างมลภาวะขึ้นเป็นอันมาก ก่อให้เกิดภาวะดินเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย ทรัพยากรร่อยหรอ เช่น ป่าถูกทำลาย ทั้งโดยมนุษย์ตัดโค่นเองและโดยมลพิษที่เกิดจากมนุษย์ เช่นมีฝนน้ำกรด ปลาหมดไปทีละทะเลๆ พืชและสัตว์สูญพันธ์ุไปปีละนับพันชนิด ดินพัง ชั้นของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นอันตราย ระบบนิเวศกำลังพังทลาย จากมลพิษและสารเคมีต่างๆ

ข. ในด้านสังคม ปัญหาสังคมก็มากขึ้น มีการเบียดเบียนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมขยายกว้างขึ้น มีความยากจนแร้นแค้นที่แก้ไม่ตก ปัญหาเยาวชน อบายมุข ความเสื่อมจากศีลธรรม อาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มระหว่างประเทศ สงครามใหญ่ๆ เกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะกำลังมีความหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์

ค. ในขอบเขตที่ใกล้เข้ามาชิดตัว คือ ชีวิตของมนุษย์เอง ก็ปรากฏว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้นทั้งทางกายและทางใจ

ในทางกาย ก็มีโรคร้ายแรงที่เกิดจากสภาพจิตใจเสื่อมโทรมบ้าง เกิดจากธรรมชาติแวดล้อมเสียเป็นพิษ และเกิดจากสารเคมีบ้าง เกิดจากความวิปริตทางสังคม เช่นความผิดเพี้ยนทางศีลธรรมและวัฒนธรรมบ้าง ดังจะเห็นได้จากโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในประเทศที่พัฒนาแล้ว โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ โรคแพ้อากาศ ตลอดจนโรคเอดส์

ส่วนในทางจิตใจ ก็มีปัญหามากมาย จิตใจของคนในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความเร่าร้อนกระวนกระวาย แม้วัตถุจะพรั่งพร้อม แต่ก็ไม่มีความสุข บังเกิดความเหงา ความว้าเหว่ ความรู้สึกแปลกแยก แม้เจริญมาก แต่โรคจิตก็ยิ่งเพิ่มมาก จำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนคนฆ่าตัวตายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษ

เมื่อพิจารณาทบทวนวิถีทางของการพัฒนาที่ผ่านมา ในที่สุดก็มามองหากันว่า ในกระบวนการพัฒนานั้นจะได้ขาดแคลนองค์ประกอบหรือปัจจัยอะไรไป ปัจจัยอะไรขาดหายไปในกระบวนการพัฒนา แล้วก็เริ่มมองเห็นความสำคัญของปัจจัยอื่นๆ ที่จะต้องนำเข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนาด้วย เพื่อจะให้การพัฒนาของมนุษย์นั้นหลีกพ้นจากความผิดพลาด และทำให้การพัฒนาได้ผลสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์

สำหรับองค์การโลกหรือสหประชาชาติ การพิจารณานี้ได้นำมาสู่ข้อยุติ คือการมองเห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่มีความหมายกว้างขวางซึ่งขาดไป ถูกละเลยทอดทิ้ง ถูกมองข้ามไป ไม่ถูกนำเข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนา ก็คือ วัฒนธรรม จึงทำให้มีมติประกาศกำหนด ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม ขึ้นมา โดยมีการเน้นถึงกับว่า การพัฒนาในทศวรรษใหม่ จะให้วัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ให้คุณค่าของมนุษย์และวัฒนธรรม กลับมาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ให้คำนึงถึงปัจจัยด้านมนุษย์ ในการกำหนดวิถีดำเนินการเพื่อการพัฒนา ให้คุณค่าทางวัฒนธรรมรวมอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม นี่ก็เท่ากับว่าได้มีการเปลี่ยนแนวทางใหม่สำหรับการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาเสียใหม่ด้วย

1เนื้อความที่ละเอียดกว่านี้ ดูใน “อารยธรรมไทย : ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา” ขององค์ปาฐกเดียวกัน (สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, ธ.ค. ๒๕๓๑)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.