การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนกันใหม่
ในความหมายของหลักการสำคัญแห่งประชาธิปไตย

สังคมประชาธิปไตยของเราเวลานี้เริ่มมีปัญหา ในสังคมประชาธิปไตยคนจะต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา มีวิจารณญาณ รู้จักวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ปกครองตัวเองได้ สามารถใช้ปัญญาความรู้ความสามารถเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมได้ ถ้าคนของเราไม่มีปัญญา ไม่พึ่งตนเอง ไม่เรียนรู้ ไม่รู้จักคิดพิจารณา ก็ไม่มีอะไรจะมาเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม การมีนิสัยคอยหวังพึ่งปัจจัยภายนอกให้ดลบันดาลผลที่ต้องการให้นั้น เป็นวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องแก้ไข ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยากนี้แหละจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้ แต่ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจหลักประชาธิปไตยให้ถูกต้อง

หลักการของประชาธิปไตยที่สำคัญมากก็คือ เสรีภาพ รองลงไปคือ ความเสมอภาค หรือ สมภาพ และอีกอย่างหนึ่งที่แทบจะไม่พูดถึงกันเลย คือ ภราดรภาพ ซึ่งเดี๋ยวนี้ แทบจะไม่ได้ยินนักการเมืองคนใดพูดถึงเลย ว่าโดยพื้นฐาน หลักการของประชาธิปไตย มี ๓ อย่างคือ เสรีภาพ สมภาพ หรือเสมอภาค และภราดรภาพ เหตุใดภราดรภาพจึงหายไป ตอบสั้นๆ ว่าเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจปัจจุบันครอบงำประชาธิปไตย ทำให้ไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของหลักการแห่งประชาธิปไตย แล้วหลักการนั้นก็ถูกลืมเลือนไป

เวลานี้เราพูดได้ว่า ระบบการเมืองการปกครองได้ตกอยู่ใต้อำนาจการครอบงำของระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม แบบแสวงผลประโยชน์ โดยเน้นการแข่งขัน ระบบเศรษฐกิจแบบนี้กำลังเข้าครอบงำสังคมทั่วทั้งโลก ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของประชาธิปไตยคลาดเคลื่อนไป ในแนวทางที่จะสนองระบบเศรษฐกิจแบบนี้

การปกครองทุกระบบ มีจุดหมายเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เมื่อสังคมมนุษย์อยู่กันมาเราก็ได้มองเห็นว่าระบบการปกครองแบบไหนก็ไม่ทำให้บรรลุจุดหมายนี้ได้ มนุษย์ไม่ได้การปกครองที่มีหลักประกันว่าจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน ต่อมาก็เห็นว่าระบบประชาธิปไตยนี้ดีที่สุดที่จะทำให้บรรลุจุดหมายนี้ได้ มีหลักประกันดีที่สุดว่าจะให้ความร่มเย็นเป็นสุขได้ยั่งยืน โดยให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ประชาชนเป็นผู้ปกครองอย่างนี้เรียกว่าเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน การให้ประชาชนปกครองตัวเองคือปกครองกันเองนี้เราเห็นว่าเป็นการปกครองที่ดีที่สุด คือ ทำให้บรรลุจุดหมายที่จะให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมจะร่มเย็นเป็นสุข อันเป็นจุดหมายของสังคม เราจึงต้องมีประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งหมายถึงการที่ทุกคนนั้นจะต้องมีโอกาสนำเอาความรู้ความสามารถ สติปัญญา และศักยภาพของตนออกไปร่วมช่วยสร้างสรรค์สังคม ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือการที่สติปัญญาความรู้ความสามารถของแต่ละคนนั้นจะไม่ถูกปิดกั้น เขาจึงต้องมีเสรีภาพนี้คือเสรีภาพที่สอดคล้องกับจุดหมายของประชาธิปไตย ย้ำว่า ทำไมจึงต้องมีเสรีภาพ ก็เพื่อว่าสติปัญญาความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลจะได้มีโอกาสออกไปเป็นส่วนร่วมช่วยสร้างสรรค์สังคมได้

ความหมายพื้นฐานของเสรีภาพ เป็นความหมายในเชิงบวก เป็นเสรีภาพในการที่จะสร้างสรรค์ ได้แก่ ใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถของเราไปร่วมสร้างสรรค์สังคม ถ้าไม่มีเสรีภาพ ความรู้ความสามารถของเราก็ถูกปิดกั้น ไม่ออกไปเป็นประโยชน์แก่สังคม นี้คือความหมายพื้นฐานเดิมของเสรีภาพ

แต่ปัจจุบันนี้ เรากลับมองเสรีภาพในเชิงว่า ฉันจะทำอะไร ต้องทำได้อย่างใจ ฉันอยากได้อะไรก็ต้องได้ เมื่อเรามองเสรีภาพในแง่ที่แต่ละคนจะได้จะเอา ก็มองไม่เห็นความสัมพันธ์กับจุดหมายของประชาธิปไตย แต่เสรีภาพกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ต่างคนต่างอยากจะได้ในสิ่งที่ตนชอบ แล้วก็เกิดการแก่งแย่งผลประโยชน์กัน เสรีภาพในความหมายนี้จึงนำไปสู่แนวคิดแบบแบ่งแยกและแก่งแย่งซึ่งสนองแนวความคิดของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในระบบแข่งขันแย่งชิง

แนวความคิดแห่งเสรีภาพที่เน้นการที่จะได้จะเอา ทำให้เกิดการแบ่งแยกและแก่งแย่งกัน แต่เสรีภาพในความหมายเดิมที่สอดคล้องกับจุดหมายของประชาธิปไตยนั้น เห็นชัดเจนว่าเป็นเสรีภาพในเชิงให้และประสาน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันในการสร้างสรรค์สังคม

หลักการสำคัญของประชาธิปไตยตั้งอยู่บนฐานแห่งฉันทะ ที่ทำให้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์ ไม่ใช่ตั้งอยู่บนฐานของตัณหา ที่ทำให้มาแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

เพราะฉะนั้นเราคงต้องมาทบทวนหลักการของประชาธิปไตย ว่าขณะนี้เราได้พลาดกันไปถึงไหนแล้ว อย่างน้อยจะต้องมีดุลยภาพแห่งเสรีภาพในการได้ ที่สนองระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแข่งขันกับเสรีภาพในการให้ ซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมของประชาธิปไตย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.