ธรรมะกับการทำงาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทำถูกกฎธรรมชาติ: งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
ทำแค่กฎมนุษย์: งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์

มนุษย์มักจะหลงในเรื่องนี้ คือเรื่องกฎ ๒ ชั้น หรือความจริง ๒ ชั้น ในเรื่องคนทำสวน มีความจริงซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นจริงตามเหตุผลของธรรมชาติว่า “การทำสวนเป็นเหตุ การงอกงามของต้นไม้เป็นผล

ชั้นที่ ๒ คือ กฎมนุษย์ ที่คนเรามาตกลงวางกันขึ้นเป็นเงื่อนไขว่า “การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือนเป็นผล” กฎมนุษย์นี้ เรียกว่าเป็นกฎสมมติ

สมมติ แปลว่า มติร่วมกัน มาจากคำว่า สํ+มติ สํ แปลว่า ร่วมกัน มติ แปลว่า การยอมรับ หรือตกลง สมมติจึงแปลว่า มติหรือการยอมรับหรือข้อตกลงร่วมกัน

นี่หมายความว่า กฎมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติ หรือตั้งอยู่บนการตกลงยอมรับร่วมกัน ถ้าไม่มีสมมติ กฎมนุษย์ก็หายไปเลย การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล ต้องมีสมมติรองรับ ถ้าไม่มีมติร่วมกัน หรือไม่มีการยอมรับร่วมกัน กฎนี้ก็ไม่มี กฎจะหายไปทันที ถ้าคนไม่ยอมรับ คุณไปทำสวน ๑ เดือน เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทก็ไม่มี เพราะโดยธรรมชาติ ทำสวนแล้วเงินจะเกิดขึ้นมา มีที่ไหนในโลก โดยธรรมชาติมันไม่มี มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงกันกำหนดขึ้น

มนุษย์มีอารยธรรม มีความสามารถในการสมมติ การสมมติได้นี้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ แต่ในการสมมตินั้น เขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติ

การที่เขาสมมติว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ที่จริงเขาต้องการอะไร ตอบได้ชัดเจนว่าเขาต้องการผลตามกฎธรรมชาติ คือต้องการให้มีคนมาทำสวนแล้วต้นไม้จะได้เจริญงอกงาม ตราบใดที่เรายังสามารถโยงกฎ ๒ อย่าง คือกฎสมมติของมนุษย์กับกฎแท้จริงของธรรมชาติให้ถึงกันได้ ตราบนั้นก็ไม่มีปัญหา และจะได้ผลดีแก่โลกมนุษย์ด้วย

เราตั้งกฎมนุษย์โดยสมมติ คือตกลงกันว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ก็เพื่อว่า จะได้มีการทำสวนอย่างจริงจังเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ได้ผลตามเหตุผลของกฎธรรมชาติว่าต้นไม้จะได้เจริญงอกงาม

ถ้าคนทำสวนมาทำสวนโดยต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เขาไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ เขาก็ทำสวนโดยรักต้นไม้ อยากทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม เมื่ออยากให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้ว เขาก็ตั้งใจทำงานอย่างดี เมื่อทำงานที่สนองความต้องการ เขาก็จะมีความสุขในการทำงาน พร้อมกันนั้น กฎมนุษย์ที่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็มาช่วยสนับสนุนให้เขาตั้งหน้าตั้งตาทำสวนไปได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัยยังชีพ เขาก็ทำงานได้เต็มที่ โดยมีความสุขเต็มที่ เรียกว่า “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข”

แต่ทีนี้มันมีปัญหาก็คือว่า มนุษย์เกิดความแปลกแยกกับกฎธรรมชาติ พอเกิดความแปลกแยกแล้วก็มาติดอยู่แค่สมมติ เขาก็เอาแค่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท

เมื่อเขาไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เขาก็คิดถึงการที่จะได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท อย่างเดียว เมื่อไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ก็รอแต่เงินว่า เมื่อไรจะมา ใจไม่อยู่กับงานที่ทำ การทำสวนกลายเป็นการที่ต้องทำและจึงเป็นความทุกข์ทรมาน เวลาแต่ละขณะที่ผ่านไป เป็นเวลาแห่งการรอคอย และเพราะมันทำให้เขาต้องรอนานกว่าจะได้เงิน ระหว่างนั้น เวลาแต่ละขณะที่ผ่านไป กลายเป็นเวลาแห่งการรอคอย ที่ตนเองจะต้องจำใจทนอยู่กับการทำงาน ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเลย การทำสวนจึงทำให้เขาทรมาน ทำให้เกิดความทุกข์ตลอดเวลา

เมื่อทุกข์ใจเขาก็ไม่ตั้งใจทำ เมื่อไม่เต็มใจทำ งานก็ไม่ได้ผลดี ก็เลยแย่ไปด้วยกัน ชีวิตของเขาเองก็ทุกข์ทรมาน และสังคมก็เสียประโยชน์ เพราะงานก็ไม่ดี เรียกว่า “งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์”

นี่คือ ความบกพร่องในสังคมมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์นั้น เมื่อเจริญด้วยอารยธรรมขึ้นมาแล้ว กลับไปหลงติดในสมมติที่ตนเองสร้างขึ้นมา แล้วก็แปลกแยกจากธรรมชาติ จึงทำให้ตัวเองสูญเสียและสังคมก็เดือดร้อนไปด้วย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.