ธรรมกับการศึกษาของไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แนวคิดเบื้องต้นของการศึกษาแนวพุทธ

ต่อจากนี้ ที่คิดไว้ว่าจะวิเคราะห์เรื่องต่างประเทศ แต่ไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นจึงขอข้ามไป พูดถึงธรรมในวงกว้างขึ้นอีกนิดหน่อยเพื่อเป็นการสรุป พอดีวันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อย่างที่บอกแล้วว่าเป็นวันสถาปนาคณะสงฆ์ เป็นวันประกาศปฐมเทศนา หรือเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า เป็นวันมงคล แต่มงคลที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ด้วยการเข้าถึงสาระของวันสำคัญนี้ สาระของวันสำคัญนี้คืออะไร วันอาสาฬหบูชาที่ว่าเป็นวันประกาศธรรมจักร หรือแสดงปฐมเทศนานั้นก็คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายกลาง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา และอีกอย่างหนึ่งคือ อริยสัจ ๔ คือหลักความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล รวมมีสองอย่างเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าประกาศในวันนี้

คำว่า ทางสายกลาง นั้น ไม่ใช่หมายความว่า ทางที่อยู่กึ่งกลางระหว่างหลายๆ ทาง หรือแม้แต่ ๒ ทาง เมื่อคน ๒ คนมาอยู่ตรงข้างกัน ถ้าเรายืนตรงกลางก็เรียกว่าอยู่กึ่งกลาง แต่ไม่ใช่ทางสายกลาง สายกลางซึ่งที่จริงเป็นกึ่งกลางอย่างนี้จะขยับไปขยับมาเรื่อย หมายความว่า ถ้า ๒ คนนั้นขยับไป กึ่งกลางก็จะขยับและขยายตามไปด้วย จึงเป็นสายกลางที่ไม่แน่นอน แต่ทางสายกลางของพระพุทธเจ้านี้แน่นอน ทางสายกลางคือ ทางที่พอเหมาะพอดีที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย จุดหมายคืออะไร จุดมุ่งหมายคืออิสรภาพและสันติสุข อิสรภาพและสันติสุขในที่นี้ใช้ตามศัพท์สมัยปัจจุบัน ความจริงถ้าใช้ศัพท์เดิมก็คือ นิพพานนั่นเอง นิพพานนั้นมีไวพจน์คือ คำที่เป็น synonym หลายคำ ในบรรดาคำเหล่านั้นก็มีอิสรภาพและสันติสุขด้วย คำเหล่านี้ปัจจุบันพอสื่อกันเข้าใจง่าย ทางสายกลางก็นำไปสู่อิสรภาพและสันติสุขนี้ แต่ทางสายกลางจะนำไปสู่อิสรภาพและสันติสุขได้ ก็ต้องเริ่มด้วยการมองเห็น การเข้าใจความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ก็คือต้องรู้เรื่องอริยสัจ ๔ เมื่อรู้เข้าใจความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ก็สามารถที่จะคิดแก้ไข จัดการ จัดสรร ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จนกระทั่งปฏิบัติให้บรรลุถึงจุดหมายที่ต้องการได้

การที่จะรู้เข้าใจความจริงที่เป็นเหตุเป็นผลก็คือ การที่ต้องเริ่มต้นด้วยโยนิโสมนสิการ เราจะต้องคิดเป็น คิดอย่างมีกระบวนวิธี รู้จักแยกแยะองค์ประกอบ ศึกษาเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ เป็นต้น โยนิโสมนสิการนี้เราใช้ต่อปรโตโฆสะ คืออิทธิพลจากภายนอกที่เข้ามา ซึ่งในทางการศึกษานั้น ปรโตโฆสะเฉยๆ อาจจะดีก็ได้ ร้ายก็ได้ อยู่ที่เราจะต้องเป็นผู้ทำต่อมัน แต่ถ้าภายในของเราไม่พร้อมไม่ดีพอ มันก็ชักจูงหรือกระทำต่อเราได้มาก อย่างไรก็ตาม มีปรโตโฆสะอย่างหนึ่งที่เป็นตัวช่วย คือ ปรโตโฆสะซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายดีอย่างเดียว และเป็นตัวที่ย้อนกลับเข้ามาช่วยสร้างโยนิโสมนสิการอีกด้วย ปรโตโฆสะอย่างนี้ เราเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร ครูซึ่งเข้ามามีหน้าที่ทางการศึกษานั้น จัดเป็นปรโตโฆสะในฝ่ายดี ที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรนี้ กัลยาณมิตรเข้ามาชักจูงให้คนเกิดโยนิโสมนสิการ เพื่อให้คนนั้นใช้โยนิโสมนสิการปฏิบัติต่อปรโตโฆสะอื่นๆ ในทางที่เกิดประโยชน์ กัลยาณมิตรนี้เป็นปรโตโฆสะ ที่เป็นตัวช่วยในการกระทำ ต่างจากปรโตโฆสะอย่างอื่นซึ่งเป็นตัวที่ควรถูกกระทำ

ถ้าเราใช้โยนิโสมนสิการ ปฏิบัติต่อปรโตโฆสะ เช่น วัฒนธรรม ทั้งภายในและจากภายนอกได้ถูกต้อง เราก็เกิดสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เข้าใจถูกต้อง มองเห็นความจริงตามระบบ และกระบวนการปัจจัยสัมพันธ์ เช่น มองเห็นเหตุปัจจัย ความเป็นมา องค์ประกอบ แยกส่วนดี ส่วนเสีย คุณและโทษ และทางที่จะเลือกถือเอาประโยชน์ สัมมาทิฏฐินี้เป็นองค์ประกอบข้อแรกของทางสายกลาง ทางสายกลางที่เราเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา นั้น เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง ได้แก่การเห็นความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะนำเราไปสู่การปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ดำริหรือคิดวางแผนการเป็นต้นไป ทางสายกลางนี้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ามรรค มรรคคือวิถีทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่อิสรภาพและสันติสุข วิถีชีวิตอันถูกต้องนี้มีองค์ ๘ ประการ สัมมาทิฏฐิ เป็นข้อต้น มีสัมมาสมาธิ เป็นข้อสุดท้าย องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค หรือวิถีทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนี้ เราจัดย่อเข้ามาเป็นระบบการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนาคน เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องอย่างนั้น เรียกว่า ไตรสิกขา คือ สิกขา ๓ ประการ หรือการศึกษา ๓ อย่าง ตกลงว่าวิถีชีวิตในพุทธศาสนานั้น ก็คือการศึกษา เพราะวิถีชีวิตเรียกว่า มรรค และการพัฒนาวิถีชีวิตนั้นเป็นสิกขา คือเป็นการศึกษา เพราะฉะนั้น วิถีชีวิตในพระพุทธศาสนาจึงเป็นวิถีชีวิตแห่งการศึกษา ปัจจุบันนี้เรามีคำว่า lifelong education แปลว่าการศึกษาตลอดชีวิต พระพุทธศาสนานั้นถือมาแต่ไหนแต่ไรว่า การศึกษานั้นคือชีวิต ชีวิตนั้นคือการศึกษา แต่ไม่ใช่ชีวิตเฉยๆ ต้องเป็นชีวิตที่ดำเนินอย่างถูกต้อง มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา จึงจะเป็นการศึกษา ถ้าจะบอกว่า ชีวิตคือการศึกษา โดยวินิจฉัยตามหลักพระพุทธศาสนาก็ยังไม่ใช่ ชีวิตที่มีการเรียนรู้ และฝึกฝนพัฒนาให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง จึงจะเป็นการศึกษา แต่ถ้าจะพูดให้เต็มความก็ต้องว่า การศึกษา คือ การฝึกฝนพัฒนาให้ชีวิตดำเนินไปอย่างถูกต้อง การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิตที่ดำเนินไปตลอด จนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย คืออิสรภาพและสันติสุข

ไตรสิกขา หรือการศึกษาของชีวิตนี้คืออะไร คือ สิกขา ๓ ประการ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งจะขอกล่าวโดยย่อในเวลาที่สั้น ศีลคืออะไร ศีลคือการไม่เบียดเบียนกัน การเว้นจากการเบียดเบียน การอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยดี ทีนี้ มองย้อนไปข้างต้น ยังมีตัวบุพภาคของการไม่เบียดเบียน หรือตัวช่วยให้เกิดการไม่เบียดเบียน หรือสิ่งที่ส่งเสริมการกระทำที่ตรงข้ามกับการเบียดเบียนอีกคือ ทาน ทานได้แก่ การเผื่อแผ่ แบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือกัน การมีน้ำใจต่อกัน ซึ่งเป็นหลักข้อแรกในระบบการฝึกฝนอบรม หรือการศึกษา ทานเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา รวมอยู่ในหลักปฏิบัติของฆราวาสที่เรียกว่า บุญสิกขา มี ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา

ทานเป็นองค์ประกอบส่วนต้นของศีล เป็นหลักปฏิบัติสำคัญที่จะช่วยให้คนไม่เบียดเบียนกัน ศีล ซึ่งเป็นหลักการแห่งการไม่เบียดเบียนกัน และการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมนั้น เมื่อมีทานเป็นบุพภาค เป็นส่วนเบื้องต้นเป็นตัวนำให้แล้ว ตัวมันเองก็ประกอบไปด้วยองค์อีก ๔ องค์ประกอบ ๔ อย่าง ของศีล คือ

วินัย เป็นองค์ประกอบที่ ๑ ถ้าเป็นวินัยของพระก็ได้แก่ ปาติโมกข์ ที่เรียกกันว่า ศีล ๒๒๗ ข้อวินัยของประเทศก็ได้แก่รัฐธรรมนูญ วินัยมีอีกมากมาย เช่น วินัยของข้าราชการ วินัยของอาจารย์ วินัยของนักเรียน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ถูกต้องที่ดีงาม ตลอดจนกฎหมายและการจัดระบบต่างๆ จัดเป็นส่วนที่เรียกว่าวินัย

ส่วนที่ ๒ ของศีล คือ อาชีวะ หรือสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะเป็นองค์ประกอบสำคัญของศีล ส่วนหนึ่งของการศึกษาก็คือการฝึกคนให้รู้จักประกอบสัมมาชีพ ให้รู้วิชาการที่จะไปปฏิบัติอาชีพที่ถูกต้อง ทำการงานที่สุจริต

ส่วนที่ ๓ ของศีลคือ การใช้อินทรีย์อย่างไม่เป็นโทษ ที่ท่านเรียกว่า อินทรียสังวร อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้จะต้องรู้จักใช้ให้ถูกต้อง การฝึกการใช้อินทรีย์ให้ถูกต้อง เช่น การดูให้เป็น การฟังให้เป็น เด็กจะดูโทรทัศน์ก็ควรได้รับการฝึกให้ดูให้เป็น เช่น แนะนำให้สำเหนียก ถ้าพ่อแม่หรือครูอาจารย์สอนเด็กให้ดูโทรทัศน์เป็น ก็เรียกว่า สอนศีลในหลักของอินทรียสังวร เริ่มแต่อินทรีย์คือ ตา ก็ต้องดูให้เป็น ดูไม่ให้เกิดโทษ หนึ่ง รู้จักเลือกดู สอง ดูให้เกิดประโยชน์ ฟังก็ฟังให้เป็น คือเลือกฟัง และฟังให้เกิดประโยชน์ รวมความว่าใช้อินทรีย์ให้เป็น และใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดโทษ

และส่วนที่ ๔ ของศีล คือ การปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ สิ่งที่อุดหนุนชีวิต สิ่งที่เกื้อหนุนชีวิตทั้งหลาย เรียกว่า ปัจจัย ปัจจัยเบื้องแรกมี ๔ อย่าง คือ อาหาร ที่อยู่ อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในการบริโภคปัจจัยเหล่านี้ ทางพระท่านให้ปฏิสังขาโยฯ เช่น จะฉันอาหารก็ต้องพิจารณาว่า ที่เราฉันอาหารนี้เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก ไม่ใช่รับประทาน อวดโก้ เพื่อเห็นแก่เอร็ดอร่อย เพื่อหรูหรา มัวเมา ในการใช้เครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้เพื่อปิดความละอาย เพื่อกันร้อนกันหนาว และสัตว์หรือสิ่งที่จะรบกวนระคายผิวหนัง ไม่ใช่แต่งอวดโก้ อวดฐานะอะไรต่างๆ เรียกว่า การรู้จักปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ให้ถูกต้อง การใช้สิ่งต่างๆ การปฏิบัติต่อเครื่องอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ อย่างฉลาดเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ก็อยู่ในครอบคลุมของหลักปฏิบัติข้อนี้

รวมองค์ประกอบของศีล ๔ อย่าง คือ วินัย อาชีวะ การใช้อินทรีย์ และการปฏิบัติต่อปัจจัยและอุปกรณ์ของชีวิตให้ถูกต้อง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของชีวิตด้านนอก เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคม และทางกายภาพ ต่อจากนี้ไป จะเน้นการพัฒนาด้านในของตัวบุคคล

สิกขาข้อต่อไป ที่เรียกง่ายๆ ว่าสมาธิ ก็มีเรื่องมากมาย แต่โดยสาระสำคัญก็คือ การฝึกอบรมในเรื่องจิต จะพูดถึงเฉพาะเรื่องเบื้องต้นของมัน ซึ่งอาจจะเรียกว่าหัวหอกของสมาธิ อะไรคือหัวหอกของสมาธิ สมาธิมีเรื่องที่จะพูดได้มาก เพราะตัวสมาธิเอง หมายถึงความเข้มแข็งมั่นคง สงบแน่วแน่ของจิตใจ และการฝึกอบรม คุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิตใจทั้งหมด แต่เฉพาะหัวหอกของมันมี ๒ ตัว หัวหอกที่ ๑ คือ ตัวนำจิตที่จะใช้ต่อโลกแห่งวัตถุ และสภาพแวดล้อม อันได้แก่ทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากมนุษย์และสัตว์ร่วมโลก และหัวหอกที่ ๒ คือ ตัวนำจิตที่จะใช้ต่อมนุษย์และสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก

สิ่งที่เป็นหัวหอกของสมาธิ อันที่ ๑ คือ ฉันทะ ซึ่งเป็นตัวนำจิต ได้แก่ ความใฝ่รู้ ใฝ่ความจริง รักความจริง ความใฝ่ดี รักความถูกต้อง ความดีงาม นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นเป็นเบื้องต้นในการเจริญสมาธิหรือการฝึกฝนอบรมพัฒนาจิตใจ จะทำอะไรก็ทำด้วยใจรัก โดยเฉพาะรักงาน เมื่อเห็นว่าเป็นงานที่ดี มีคุณประโยชน์แล้ว ก็รักมันและทำมันให้ดีที่สุด ฉันทะใช้กับทุกเรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าใช้กับความจริง ก็คือต้องการจะรู้ ถ้าใช้กับความถูกต้องดีงาม ก็คือ ต้องการสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้น ฉันทะเป็นตัวนำของสมาธิ เป็นตัวชักนำให้ธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น เป็นองค์ธรรมที่จำเป็นในการสร้างสรรค์คุณธรรมทุกอย่าง

อีกด้านหนึ่ง หัวหอกที่ ๒ ของสมาธิ สำหรับใช้กับมนุษย์และสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก ได้แก่ เมตตา กรุณา คือความใฝ่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องการช่วยเหลือเกื้อกูลให้เขาอยู่ดีมีความสุข เราจะเห็นว่า หลักธรรม ๒ ประการนี้มีความหมายเกือบเหมือนกัน คือเป็นความใฝ่ ความรัก ความปรารถนา แต่ฉันทะเป็นความใฝ่ ความรัก ความปรารถนาต่อความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และต่อสิ่งต่างๆ ทั่วไปที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ เกิดความรู้ เกิดการศึกษาอย่างแท้จริง เราต้องมีฉันทะจึงจะเริ่มการศึกษาขึ้นได้ ส่วนเมตตากรุณาเป็นความใฝ่ ความรัก ความปรารถนาต่อเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ร่วมโลกที่จะให้เขาเป็นคนดีอยู่ดี มีความสุข เมตตากรุณานี้ ก็เป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องสร้างขึ้น

สิกขาข้อที่ ๓ คือ ปัญญา ปัญญานั้นมีหลายชั้นหลายระดับ โดยหลักก็คือ การรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ตัวการเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ปัญญาและทำให้ใช้ปัญญาก็คือ โยนิโสมนสิการ ดังได้กล่าวมาแล้ว โยนิโสมนสิการนี้เมื่อใช้แล้ว ก็นำไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ความรู้ในความเป็นจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นตัวนำของวิถีชีวิตอันประเสริฐที่เรียกว่า มรรค คือ ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการศึกษา เพราะฉะนั้น มรรคาแห่งการดำเนินชีวิตในพระพุทธศาสนา จึงเป็นอันเดียวกับการศึกษา ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมาทั้งหมดนี้

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญ และดังได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นวันมงคล ที่การสถาปนาพระพุทธศาสนามาประจวบพร้อมพอดีตรงกับการสถาปนาคณะครุศาสตร์ครบรอบ ๓๐ ปี ท่านทั้งหลายได้ประกอบกิจกรรมอันดีงาม เป็นคุณประโยชน์ เป็นกุศล ในประการหนึ่งก็เป็นการระลึกคุณของท่านอาจารย์ผู้ก่อตั้งคณะ ที่ได้ทำให้คณะนี้เจริญรุ่งเรืองสืบมา และอีกประการหนึ่งก็เป็นการเผื่อแผ่อำนวยประโยชน์ เกื้อกูลแก่คนทั่วไป ผู้สนใจในวงวิชาการ ทำให้วิชาการแพร่ขยายยิ่งๆ ขึ้น ดังที่จะมีกิจกรรมประเภทนี้ สืบเนื่องนับแต่วันนี้เป็นต้นไป เป็นกิจกรรมที่น่าอนุโมทนา

ในวาระนี้ อาตมภาพจึงขอร่วมจิตร่วมใจเป็นสมานฉันท์ในวันอันเป็นสิริมงคลนี้ด้วย ขออ้างอิงคุณพระศรีรัตนตรัยอำนวยพรแด่ท่านทั้งหลาย รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ จงเป็นพลวปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่านได้เจริญในวิถีชีวิตของพระพุทธศาสนา ก้าวหน้าในการศึกษาแบบที่เรียกว่า ไตรสิกขา เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยอาการที่

๑. สามารถดำรงตนเองให้อยู่รอดด้วยดี และเจริญยิ่งขึ้นไปในด้านที่สืบต่อจากอดีต

๒. สามารถอยู่ร่วมด้วยดีในสังคมโลก โดยสามารถรับเอาส่วนดีของภายนอก เข้ามาเสริมตนเองให้เจริญยิ่งขึ้นไป

๓. สามารถก้าวออกไปมีส่วนร่วมช่วยสังคมโลก ในการที่จะทำให้สังคมนั้นหลุดพ้นจากปัญหา ไปสู่ความมีอิสรภาพและสันติสุขด้วยดี

และขอทุกท่านจงประสบอิสรภาพ และสันติสุขด้วยตนเองโดยทั่วกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.