ค่านิยมแบบพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทบาทของนักศึกษาในการส่งเสริมค่านิยมพุทธ1

นิสิตนักศึกษาที่เป็นผู้แทนของกลุ่ม ชุมนุม หรือชมรมพุทธศาสนาในสถาบันต่างๆ

หัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้คราวนี้ เหมือนกับจะฟ้องว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนาไม่ค่อยได้รับความนิยมในสมัยปัจจุบัน จึงได้มีการตั้งหัวข้อเรื่องว่าบทบาทนักศึกษาในการเสริมสร้างค่านิยมในทางพุทธศาสนา ถ้าเรามองดูสภาพในปัจจุบันนี้และทบทวนถึงความเป็นไปในระยะไม่ช้าไม่นานนักนี้ อาจจะมีส่วนให้เห็นจริงว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนานี้จะอ่อนๆ คือไม่ค่อยจะมี หรือว่าเคยมีแต่คงจะเสื่อมลงไปหรืออย่างไร เคยมีความรู้สึกกันมาและก็ได้พูดกันติดปากอยู่เสมอว่า คนเข้าวัดนี้เป็นคนล้าสมัย ไม่ทันสมัย อะไรต่างๆ เป็นคำที่ได้ฟังกันอยู่แล้วทุกท่านทราบอยู่แล้ว สมกับที่ว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนานี้ยังไม่สู้ดี ไม่ค่อยได้รับความนิยม จึงได้จัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อหาทางที่จะมาช่วยกันส่งเสริมบทบาทของนักศึกษาที่จะมาเร่งค่านิยมอันนี้

เรื่องค่านิยมในทางพุทธศาสนานั้น มีข้อที่น่าพิจารณาอยู่หลายอย่างเช่นว่า สิ่งที่เรียกว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนานั้นเป็นค่านิยมพุทธจริงหรือไม่ ชาวพุทธควรจะยอมรับหรือไม่ ถ้าหากว่าจริงก็ดีไป ถ้าไม่จริงแล้วค่านิยมอะไรจึงจะจริง จะต้องมาช่วยกันกำหนดให้ถูกต้อง ต่อจากนั้นก็ต้องมาช่วยกันหาทางว่าจะทำให้เกิดมีขึ้นได้อย่างไร ที่ประชุมนี้เป็นที่ประชุมของผู้แทนชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ทำหน้าที่ในการส่งเสริมพุทธศาสนาทั้งนั้น เมื่อกล่าวถึงบทบาทของนักศึกษาในการเสริมสร้างค่านิยมพุทธ คำว่านักศึกษาก็คงจะหมายถึงนักศึกษาที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธนี่เอง คงจะไม่ได้หมายถึงนักศึกษาโดยทั่วไป เพราะถ้าจะหมายถึงนักศึกษาโดยทั่วไปก็คงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเรายอมรับว่าพุทธศาสนายังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรแล้ว ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ และยิ่งถ้าหากว่ามีความสับสนในเรื่องที่ว่าค่านิยมที่ถือว่าเป็นของพุทธศาสนานั้น เป็นของพุทธศาสนาจริงหรือไม่ และค่านิยมอะไรจริง แม้แต่ชาวพุทธเองก็ยังสับสนแล้ว เราจะไปหวังให้คนวงนอกมาช่วยได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มจากคนวงในก่อน

สิ่งสำคัญก่อนอื่นก็คือ ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการเสริมสร้างค่านิยมนี่เอง บุคคลที่ทำหน้าที่เสริมสร้างค่านิยมพุทธศาสนาจะต้องเป็นคนที่มีค่านิยมในทางพุทธศาสนาเสียก่อน ก่อนที่จะไปเสริมสร้างค่านิยมพุทธศาสนาให้แก่ผู้อื่น ก่อนที่จะมีค่านิยมในพุทธศาสนาก็ต้องเข้าใจว่าอะไรเล่าคือค่านิยมในทางพุทธศาสนา ถ้าสิ่งเหล่านี้เรายังไม่ชัดเจนแล้ว ก็รู้สึกว่าจะเจริญก้าวหน้าไปยาก

บุคคลผู้จะทำหน้าที่เสริมสร้างค่านิยมในกรณีนี้ก็คือนักศึกษาตามหัวข้อที่ตั้งไว้ เราลองมาพิจารณาดูก่อนว่านักศึกษาชาวพุทธคือใคร นักศึกษาชาวพุทธนี่ถ้าจัดเข้าในระบบสังคมของพุทธศาสนาก็อยู่ในพวกอุบาสกอุบาสิกาบริษัท เพราะในพระพุทธศาสนานั้น ท่านจัดชุมชนหรือสังคมชาวพุทธโดยแบ่งออกเป็นบริษัท ๔ คือ ภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท ในเมื่อนักศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์ในที่นี้เป็นอุบาสกและอุบาสิกา ก็เป็นชุมชนพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง เรียกว่าฝ่ายคฤหัสถ์ เราเรียกรวมพระภิกษุ ภิกษุณี ว่าเป็นฝ่ายบรรพชิต และเรียกอุบาสก อุบาสิกาว่าเป็นคฤหัสถ์ ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์นี้มีหน้าที่อย่างไร มีบทบาทในทางพุทธศาสนาแค่ไหน เพียงไร เป็นสิ่งที่เราควรจะมีความแจ่มแจ้งชัดเจนก่อนที่จะทำบทบาทอะไรต่างๆ

เรากลับมาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่า อุบาสกอุบาสิกาบริษัทที่เป็นส่วนหนึ่ง เป็นครึ่งหนึ่งทีเดียวของชุมชนในพุทธศาสนา จะทำหน้าที่อย่างไร แต่จะต้องพิจารณากันตั้งแต่พระภิกษุ ภิกษุณี เป็นต้นไปทีเดียว ถ้าหากว่าเรามองภาพภิกษุ และภิกษุณี และหน้าที่ของท่านถูกต้อง อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นส่วนประกอบอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนา ก็จะมองเห็นหน้าที่ของตนชัดขึ้นด้วย เพราะหน้าที่เหล่านี้ต้องสอดคล้องกัน ถ้าเราไม่เข้าใจขอบเขตของหน้าที่ฐานะของบริษัท ๔ ถ้าฝ่ายคฤหัสถ์ไม่เข้าใจฐานะหน้าที่ของฝ่ายบรรพชิต ก็จะนำไปสู่ความสับสน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา เหมือนอย่างมองพระสงฆ์ในศาสนาอื่นๆ อย่างนี้ก็เริ่มต้นแล้วที่เราจะมีความเข้าใจผิดพลาด ดูเหมือนว่าในปัจจุบันเราก็ชักจะมีความเข้าใจเช่นนั้นกันแล้ว โดยมองภิกษุสามเณรในบางแง่บางด้าน เหมือนอย่างศาสนาทั่วไปอื่นๆ เช่น พระบาทหลวงในศาสนาคริสต์ ท่านทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ และการที่ใครจะไปเป็นพระบาทหลวงในคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกนั้นจะต้องได้รับกระแสเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า คือได้รับการคัดเลือกจากพระองค์ พระบาทหลวงในคริสตศาสนาคือผู้ได้รับการคัดเลือกแล้วจากพระผู้เป็นเจ้า มีฐานะเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า เป็นสื่อที่จะนำเอาโองการและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามาถึงมนุษย์ และเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นบาทหลวงแล้วก็จะเป็นตลอดไป อันนี้เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับบาทหลวงในศาสนาคริสต์

ทีนี้มาดูกันว่า พระสงฆ์ในพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ในพระพุทธศาสนานั้นพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้ที่สมัครใจเอง เป็นผู้ที่คัดเลือกตัดสินใจเองว่า ตนต้องการจะปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เมื่อตนเองเลื่อมใสศรัทธาแล้วก็มาขอสมัครเข้าพวก โดยพิจารณาเห็นว่าการดำเนินชีวิตฆราวาสนั้นไม่ปลอดโปร่ง ดังคำศัพท์ที่ท่านใช้ว่า สัมพาโธ ฆราวาโส บอกว่า เพศฆราวาสนี้คับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี มีเรื่องวุ่นวายมาก อัพโภกาโส ปัพพัชชา ส่วนการบวชทรงเพศบรรพชิตนั้นปลอดโปร่ง โล่งแจ้ง ไม่มีห่วง ไม่มีกังวล เมื่อตัดสินใจเลือกเองแล้วก็สละฆราวาสมาอุทิศกายถวายชีวิตต่อการที่จะบำเพ็ญข้อปฏิบัติอย่างจริงจัง ส่วนคฤหัสถ์แม้จะไม่ได้บวช ก็สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตัดห่วงใยกังวลในเพศฆราวาสเท่านั้นเอง และเมื่อมาบวชแล้ว จะลาสิกขาจะบวชใหม่ก็ได้ หรือว่าฆราวาสที่ยังสมัครใจครองเรือนนั้น เกิดสมัครใจต้องการจะบวชก็บวชได้ ถ้ายังไม่บวชก็มีฐานะเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน นี้ฐานะไม่เหมือนกับนักบวชอย่างน้อยก็ในคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก พระสงฆ์กับคฤหัสถ์ในพระพุทธศาสนาต่างก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาด้วยกัน

มีคำศัพท์เรียกศาสนิกในพุทธศาสนาว่าเป็น สหธรรมิก อันนี้ศัพท์เดิมแปลว่า ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ศาสนิกนั้นมี ๗ ประเภท ได้แก่ใครบ้าง ๑. ภิกษุ ๒. ภิกษุณี ๓. สิกขมานา (คือสามเณรีที่เตรียมจะบวชเป็นภิกษุณี) ๔. สามเณร ๕. สามเณรี ๖. อุบาสก ๗. อุบาสิกา ทั้งหมดนี้เป็นสหธรรมิก ๗ ประเภท เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในวินัยสมัยต่อมาเรามาจำกัดเรียกสหธรรมิกเอาเฉพาะฝ่ายภิกษุสามเณรเป็นสหธรรมิก ๕ แต่ในคำเดิม สหธรรมิกหมายถึงผู้ประพฤติธรรมร่วมกันทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ เมื่อว่าในแง่ของหลักธรรมแล้วพระสงฆ์กับคฤหัสถ์นี่มีสิทธิเราเรียกได้ว่าเท่าเทียมกัน แต่ในเมื่อพระสงฆ์เป็นผู้มีเจตนาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ถึงกับสละโลก สละความห่วงใยในเพศฆราวาสออกมา จึงน่าจะปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ พวกเราในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์ก็เลยร่วมมือกับท่าน ก็เลยเกิดการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่กัน และหลักในวินัยก็สอดคล้องกันว่า คฤหัสถ์มีหน้าที่ช่วยเหลือ จุนเจือ อุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่ช่วยความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุ เรียกว่าอามิสทาน เพื่อจุนเจือชีวิตให้พระสงฆ์ได้หมดห่วงกังวลในด้านปัจจัย ๔ หรือเรื่องความเป็นอยู่ด้านวัตถุนั้น จะได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ต่อไป ทีนี้ส่วนพระสงฆ์ เมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้วก็มีโอกาสที่จะได้บรรลุธรรม และมีความรู้ความเข้าใจในธรรมะลึกซึ้งกว่า และเมื่อพระสงฆ์ได้รับผลแล้วก็ควรที่จะได้มาสั่งสอนให้แก่ฆราวาสเผื่อแผ่ธรรมให้แก่ฆราวาส เราจึงมีหลักว่า พระสงฆ์มีหน้าที่เผื่อแผ่ธรรมทานให้แก่คฤหัสถ์ และยังมีข้อความในพระไตรปิฏก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์นี้อาศัยซึ่งกันและกัน คฤหัสถ์เป็นฝ่ายอำนวยอามิสทาน พระสงฆ์เป็นฝ่ายอำนวยธรรมทาน เมื่อทั้งสองฝ่ายนี้อาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็พากันก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนาได้ อันนี้ก็เป็นแนวปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เป็นอันว่าอุบาสก อุบาสิกาบริษัทก็เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา มีฐานะคล้ายๆ พระสงฆ์นั่นเอง แต่ว่ายังมีความยินดี มีความห่วงใยในเพศฆราวาส ยังไม่พร้อมที่จะสละอุทิศตน ก็อยู่ครองเพศคฤหัสถ์ต่อไป แต่ฐานะที่เป็นศาสนิกหรือสหธรรมิกก็มีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน

ทีนี้ อุบาสก อุบาสิกาบริษัทนั้นก็มีความสำคัญในพระพุทธศาสนา สมัยพุทธกาลเราจะมองเห็นว่า ในอุบาสก อุบาสิกาบริษัทจะมีบุคคลที่มีความสามารถได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าเป็นเอตทัคคะเช่นเดียวกับในภิกษุ และภิกษุณีบริษัท ตัวอย่างที่เราเคยได้ยินในฝ่ายภิกษุเช่นพระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวาเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้ที่มีความสามารถมากที่สุดในทางปัญญา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์ และยังมีพระสาวกองค์อื่นได้รับยกย่องในทางทิพยจักษุบ้าง ในทางธรรมกถึกบ้าง และทางอื่นๆ มากมายหลายด้าน ทีนี้ในทางภิกษุณีก็เช่นกัน มีนางเขมาภิกษุณีเป็นเอตทัคคะในทางปัญญาเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา มีนางอุบลวรรณาเถรีเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย เป็นเอตทัคคะมีความสามารถในทางฤทธิ์ อย่างนี้เป็นต้น ในฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาบริษัท ก็มีเอตทัคคะ ขอยกตัวอย่าง ผู้ที่ได้รับยกย่องในฝ่ายอุบาสกและอุบาสิกา เช่น จิตตคฤหบดี ท่านผู้นี้เป็นเอตทัคคะในทางธรรมกถึก ธรรมกถึกหมายความว่ามีความสามารถในการแสดงธรรม พูดอย่างนี้อาจจะแปลกใจ เอ๊ะ เกี่ยวกับฆราวาสด้วยหรือนี่ นายหัตถกะได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางสงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ทีนี้ในฝ่ายอุบาสิกาบริษัท ขุชชุตตราอุบาสิกาก็เป็นเอตทัคคะในทางพหูสูต พหูสูตคือเป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้มาก เรียนรู้พระพุทธศาสนาเชี่ยวชาญ ต่อไปนางสามาวดี เป็นเอตทัคคะทางเมตตา นางอุตตรานันทมารดาเป็นเอตทัคคะในทางนักฌาน บำเพ็ญฌาน เป็นนักบำเพ็ญฌานผู้สามารถจนได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ นางสุปปิยาหรือสุปิยาอุบาสิกาได้รับยกย่องในทางคิลานุปัฏฐาก แปลว่าผู้พยาบาลไข้ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ยังมีอีกหลายคนที่อาตมาไม่ได้ยกตัวอย่างให้ดู นี้คือภาพของพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ถ้าเรามองตามภาพนี้ก็อาจจะว่า เอ๊ะ อุบาสกอุบาสิกาบริษัทนี้ก็มีความสำคัญพอสมควร

อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญบุคคลบางท่านที่ควรเอาเป็นตัวอย่าง ถ้าใครอยากเป็นอุบาสกที่ดีก็ให้เอาตัวอย่างจิตตคฤหบดี กับท่านหัตถกะ ท่านทั้งสองนี้เป็นมาตรฐานในอุบาสกทั้งหลาย ถ้าหากจะออกบวช ก็ให้มองดูพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นมาตรฐาน ส่วนในหมู่อุบาสิกา ก็ให้มองดูนางขุชชุตตรา กับนางนันทมารดาสองคนนี้เป็นตุลาคือเป็นมาตรฐาน หรือเป็นแบบอย่าง และถ้าจะออกบวชก็ให้เอาอย่างนางอุบลวรรณา และนางเขมา ซึ่งเป็นภิกษุณีที่มีความสามารถได้รับยกย่องอย่างสูง นี้เป็นสิ่งที่อาตมายกมากล่าวเพื่อจะได้มองเห็นฐานะของอุบาสก อุบาสิกาบริษัท

อีกครั้งหนึ่งตอนพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน ได้ทรงพิจารณาฐานะของพุทธบริษัทกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ตามเรื่องบอกว่ามารมาทวงว่าภาระของพระองค์สำเร็จหมดแล้ว เงื่อนไขที่ทำให้พระองค์รออยู่ก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ถึงเวลาที่พระองค์จะปรินิพพานได้แล้ว เงื่อนไขที่ตรัสไว้ในการที่จะทรงรอไม่ปรินิพพานมีอะไรบ้าง ก็เรื่องของบริษัท ๔ นี่แหละ เริ่มตั้งแต่ภิกษุไปจนถึงอุบาสิกา พระองค์ตรัสว่าตราบใดที่ในพุทธบริษัทยังไม่มีพระภิกษุเถระ (พระผู้ใหญ่) พระมัชฌิมะ (พระปานกลาง) พระนวกะ (พระบวชใหม่) ที่มีความรู้หลักแหลมในธรรมวินัย มีความกล้าหาญในธรรมะสามารถที่จะแก้ไขถ้อยคำกล่าวหาพระพุทธศาสนาได้ ตราบนั้นพระองค์จะไม่ปรินิพพาน ต่อมาก็กล่าวถึงภิกษุณีบริษัท ในภิกษุณีบริษัทก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่มีพระเถรี พระภิกษุณีปานกลางหรือบวชใหม่ก็ตาม ที่มีความสามารถเพียงพอ พระองค์ก็ยังไม่ปรินิพพาน ในฝ่ายอุบาสก อุบาสิกาก็เหมือนกัน ถ้าอุบาสก อุบาสิกายังไม่เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความกล้าหาญในธรรมะเพียงพอ ยังไม่มีความสามารถที่จะแสดงธรรมในพุทธศาสนาได้ชัดเจน จนกระทั่งว่า เมื่อมีใครกล่าวหาหรือโจมตีแล้ว จะสามารถกล่าวแก้หักล้างได้ ถ้ายังไม่มีผู้สามารถเช่นนั้น ในหมู่อุบาสก อุบาสิกา พระองค์ก็ยังไม่ปรินิพพาน และตอนที่มารมานิมนต์ปรินิพพานก็บอกว่า บัดนี้ก็มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่มีความสามารถอย่างนี้ครบถ้วนทุกประการแล้ว เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ควรปรินิพพานได้ ถ้าเราตีความก็คือว่า ขันธมาร ได้แก่พระวรกายของพระพุทธเจ้าได้มาเตือนพระองค์แล้ว บอกว่าพระองค์ได้เหน็ดเหนื่อยพระวรกายมากแล้ว ทรงพระชรา พระวรกายอ่อนแอลง ขันธ์ ๕ ได้มาเตือนพระองค์ว่าควรปรินิพพานแล้ว พระองค์เคยกำหนดไว้ว่า จะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าพระองค์จะสามารถตั้งพระพุทธศาสนาได้มั่นคงแล้ว ตอนนั้นพระองค์พระชนมายุได้ถึง ๘๐ พรรษาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อขันธมารมาเตือนอีก พระองค์ก็เลยทรงปลงอายุสังขารตั้งพระทัยที่จะปรินิพพาน นี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่แสดงฐานะของพุทธบริษัท ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นรูปร่างคร่าวๆ ว่า อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ควรจะมีบทบาทต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร

ทีนี้ หันมามองในปัจจุบัน นี่เป็นความรู้สึกในด้านตนเองมองว่าอุบาสกอุบาสิกาของไทยเราปัจจุบันนี้ออกจะพร่ามัวหน่อย คือไม่ค่อยมีรูปร่างให้เห็นชัด เราจะไปเอาอย่างประเพณีของสังคมที่ดำเนินมานั้นเห็นจะไม่ได้ สังคมไทยเราที่ผ่านมาเป็นสังคมแบบที่ว่าในชุมชนย่อย ในหมู่บ้าน มีวัด แล้วรอบๆ วัดนั้นก็มีชาวบ้านอยู่เป็นอุบาสก อุบาสิกาเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ในวัดก็มีภิกษุบริษัท นอกวัดชาวบ้านก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาบริษัท ในสภาพเช่นนั้นเราก็ไม่ต้องจัดตั้งขึ้นมาต่างหากให้เห็นชัดว่า เป็นอุบาสก อุบาสิกาบริษัท เพราะเขามีอยู่แล้ว แต่มาสมัยปัจจุบันนี้ สังคมได้เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นว่าเราได้อยู่กันกระจัดกระจาย ในแต่ละชุมชนย่อยๆ นั้น คนก็มีความสัมพันธ์กัน แต่มีความแน่นแฟ้นไม่เหมือนเดิมกระจัดกระจายกัน คนในถิ่นนี้ไปรู้จักกับถิ่นโน้น ไปมีความสัมพันธ์ในหน้าที่การงานกับคนที่โน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมือง อย่างในกรุงเทพฯ จะเห็นได้ชัดว่าสภาพความเป็นอยู่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ฉะนั้นถ้าหากว่าใครจะทำกิจกรรมอะไรขึ้น ก็จะต้องมีการรวมกลุ่มกัน ถ้าหากว่าสังคมเป็นเช่นนี้แล้ว ในหมู่ชาวพุทธก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ชาวพุทธจะต้องตั้งกันเป็นหลักเป็นฐานมั่นคง อันนี้มิใช่หมายความว่าปัจจุบันเราจะไม่มีอุบาสกอุบาสิกาบริษัทเสียเลย แม้กระทั่งที่มาประชุมในที่นี้ ก็ได้สร้างกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อน แต่ละกลุ่มก้อนก็ทำหน้าที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาบริษัทนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ยังดูว่าไม่ค่อยจะเหนียวแน่น ยังไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร ยังไม่มีอุบาสกอุบาสิกาบริษัทชนิดที่จะทำหน้าที่ได้เหมือนครั้งพุทธกาล เอตทัคคะหรืออะไรที่คล้ายๆ อย่างนั้นก็ไม่มี มารู้สึกอย่างหนึ่งว่าชาวพุทธคฤหัสถ์พากันฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพระภิกษุสงฆ์ อันนี้ถ้าจะว่าไปในแง่หนึ่งก็ถูก เพราะว่าพระสงฆ์นั้นเป็นแกนกลางของพุทธบริษัท เพราะว่าเป็นผู้ที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติทำหน้าที่ในทางพุทธศาสนาเต็มที่ แต่ถ้าพิจารณาดูตามหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว อุบาสก อุบาสิกาบริษัทนี้จะต้องมีบทบาทในพุทธศาสนาพอสมควร

ถ้ามองดูในด้านนิสิตนักศึกษาอันนี้ก็ต้องเห็นใจ เพราะว่านิสิตนักศึกษานั้นเป็นผู้ที่เข้ามาในสถาบันแล้ว ก็ทำหน้าที่อยู่ในชุมนุมหรือชมรมพุทธศาสนาหรือกลุ่มอะไรนี่ เป็นช่วงสั้นเพียงปีสองปีสามปี ซึ่งยังไม่ทันที่จะทำอะไรเป็นหลักฐานมั่นคง อย่างไรก็ตามถ้าหากว่ามีการสืบต่อที่ดี ก็น่าจะมีการกระทำอะไรที่เห็นเด่นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ถ้าหากว่าเราจะสร้างชุมชนชาวพุทธที่มีความหมายขึ้นมาแล้ว คนที่เป็นตัวแทนของอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธก็จะต้องเป็นคนที่ควรแก่การเคารพนับถือ เป็นผู้ที่ผู้อื่นมองเห็นความหมายเป็นที่ยอมรับในสังคม ถ้าหากว่าเป็นนิสิตนักศึกษาก็จะต้องเป็นคนที่นิสิตนักศึกษาอื่นๆ มองเห็นคุณค่าและความหมาย ในปัจจุบันอาตมาว่าเราจะต้องมองทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติและความรู้ ในด้านความรู้ก็เริ่มตั้งแต่ว่า ผู้เป็นตัวแทนชาวพุทธที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาบริษัทนี้ จะต้องมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาพอสมควร ความรู้ในด้านพุทธศาสนานี้ก็มองทั้งในแง่ของหลักธรรมคำสอน และในแง่ของสถาบันสังคม รวมไปถึงวัฒนธรรมและอื่นๆ ด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าเราไปถามบางท่านในชุมนุมพุทธเกี่ยวกับเรื่องวัดวาอารามนี่ บางทีไม่ได้สนใจกันเลยก็มี เช่นว่า พระสงฆ์ในประเทศไทยมีเท่าไหร่ มีวัดกี่วัด อันนี้ก็ไม่ใช่คำถามที่จำเป็น แต่หมายความว่าคนที่จะมาเป็นตัวแทนของชาวพุทธนี่น่าจะเป็นผู้ที่มองเห็นสภาวการณ์พุทธศาสนาอย่างกว้างๆ แม้คำถามเหล่านี้จะให้คำตอบตายตัวไปเลยเป็นตัวเลขที่แน่นอนคงไม่ได้ และก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องมาตอบมารู้กันทั้งหมด แต่อย่างน้อยถ้าพูดขึ้นก็ควรจะเข้าใจพอมองเห็นภาพ ว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยเป็นอย่างไร มีพระภิกษุเท่านั้น สามเณรเท่านี้ เป็นใครมาจากไหน อยู่ในสภาพอย่างไร มีวัดวาอารามเท่านี้ ทำหน้าที่อะไร อันนี้อาตมามองเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ผู้ฟังจะมองเห็นเป็นอย่างไรก็ลองมาพิจารณากันดู ตอนท้ายอาจจะใช้เวลาในการถกเถียงกันนิดหน่อยก็ได้ อาตมาเห็นว่าสิ่งนี้จำเป็นอยู่ ถ้าเราจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธแล้วจะต้องมีความรู้ความเข้าใจพอสมควร ถึงขั้นสามารถกล่าวแก้ปรัปวาทได้ คือจะต้องมีความเข้าใจสถาบันพุทธศาสนาด้วย ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่ศึกษาธรรมอย่างเดียว แต่เป็นที่แน่นอนว่าธรรมะนั้นจะต้องศึกษา

ในส่วนของการศึกษาธรรมนี้ อาตมามีข้อคิดเห็นอย่างหนึ่งว่า จะต้องไม่ศึกษาเพียงเพื่อตัวเองอย่างเดียว จะต้องสามารถเอาไปใช้เผื่อแผ่หรือทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ในชุมนุมพุทธกลุ่มพุทธนี่บางท่านอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นผู้ที่มาหาทางออกให้แก่ตัวเอง หรือหาความสงบสุขส่วนตัว ถ้ามีแค่นั้นอาตมาว่าไม่พอ ถ้าจะเป็นเพียงสมาชิก อาจจะพอได้ แต่ถ้าเป็นกรรมการ ซึ่งเป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษาชาวพุทธเป็นผู้ทำงาน แค่นั้นไม่พอ ขอให้นึกถึงพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับลักษณะที่เป็นธรรมดาของพระโสดาบัน แม้ว่าจะเป็นกรณีที่ตรัสเกี่ยวกับพระโสดาบันที่เป็นสงฆ์ แต่จะใช้สำหรับอุบาสกอุบาสิกาก็ได้ มีข้อหนึ่งบอกว่า พระโสดาบันนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาถูกต้องแล้ว ทั้งที่เป็นผู้เอาใจใส่ในกิจการของเพื่อนร่วมหมู่คณะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความฝักใฝ่ในไตรสิกขา เปรียบเสมือนแม่โคขณะที่เล็มหญ้ากินไป ก็เหลียวแลดูลูกน้อยไปด้วย ถ้ามองอย่างนี้ก็หมายความว่าในขณะที่ฝึกตนเอง คือทำประโยชน์ตนหมายถึงว่าประพฤติตนให้ก้าวหน้าไปนั้น ในเวลาเดียวกันก็ต้องเหลียวแลลูก ต้องเหลียวแลผู้อื่น คือเอาใจใส่ในเพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกันด้วย ถ้าหากเป็นคฤหัสถ์ก็คือเอาใจใส่ในเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ทำหน้าที่เหมือนกับแม่ที่ดูแลลูกอ่อนด้วย อันนี้อาจเป็นคติสำหรับเสริมสร้างบทบาทนักศึกษาที่จะส่งเสริมค่านิยมทางพุทธศาสนาได้

นิสิตนักศึกษาที่จะทำหน้าที่เป็นชาวพุทธที่ดี ควรจะเป็นผู้ที่เขาเห็นว่ามีความหมายน่าเชื่อถือ เพราะถ้าหากว่าตัวบุคคลที่เป็นตัวแทนชาวพุทธนั้นน่าเชื่อถือ ค่านิยมพุทธนั้นก็น่าเชื่อถือไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าจะทำให้เขานับถือได้อย่างไร จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้มีขึ้นในตน จึงจะสามารถนำพระพุทธศาสนาและค่านิยมพุทธไปเผยแผ่ หากเรามีความสามารถขึ้นในตนแล้ว และมีค่านิยมชาวพุทธด้วย คนที่มีค่านิยมชาวพุทธนั้นมีความน่านับถือ มีการดำรงชีวิต ที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อันนี้ก็เป็นการเผยแผ่ค่านิยมพุทธไปในตัวนั่นเอง เรียกว่าแทบจะไม่ต้องพูดเลยก็ได้ เขาเห็นค่านิยมพุทธดีแล้วเขาก็พยายามเลียนแบบ ที่ว่ามานี้อาจจะเป็นเรื่องอุดมคติมากไปหน่อย แต่ตามหลักความเป็นจริงก็ควรเป็นเช่นนั้น เราจึงน่าจะพยายาม เรื่องตัวบุคคลนี้เราพูดกันมาแล้วพอสมควร

ทีนี้มาพูดกันเรื่องค่านิยมในพุทธศาสนาบ้าง ค่านิยมในพุทธศาสนานั้นคืออะไรและมีอะไรบ้าง พูดถึงเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ายากเหมือนกัน ค่านิยมพุทธในสมัยปัจจุบันนี้ ก็อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เรารู้สึกจะมีความสับสนกันพอสมควรว่าค่านิยมพุทธคืออะไร ถึงกับมีคนหลายกลุ่มหลายพวกมาโจมตีอย่างที่หลายท่านก็คงเคยได้ยิน ที่ฝรั่งมาดูพุทธศาสนามาดูคนไทยแล้วก็บอกว่า คนไทยได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา คนไทยมีพฤติกรรมอย่างนี้เกิดจากคติหรือหลักธรรมในพุทธศาสนาว่าอย่างนี้ และการมีพฤติกรรมหรือมีความประพฤติอย่างนี้ๆ ไม่เอื้อที่จะก่อความเจริญแก่สังคมอะไรต่างๆ เช่น เรื่องทาน ทำให้ทำลายเศรษฐกิจบ้าง สันโดษทำให้ไม่พัฒนาเป็นต้น ยังไม่จำเป็นต้องมาสาธยายกันในวันนี้ แต่จะอย่างไรก็ตามก็มีข้อที่เราควรหาทางแก้ไข ถ้าหากค่านิยมพุทธเป็นค่านิยมที่ไม่น่านิยมอย่างที่เขาว่านี้แล้ว เราจะไปส่งเสริมค่านิยมพุทธให้ได้ผลอย่างไร พฤติกรรมในหมู่ชาวพุทธปัจจุบันนี้ เราควรจะคิดตกลงให้แน่นอนว่าจะเอากันอย่างไร ถ้าไม่เกิดความแน่นอนชัดเจนแม้ในหมู่ชาวพุทธเอง ในหมู่พวกเราที่อยู่ในชุมนุมพุทธเอง ก็จะเกิดความหักเหแตกต่างอย่างที่เห็นเป็นสำนักต่างๆ หลายสำนัก แล้วก็เกิดมีการโจมตีกันขึ้น คือผู้ที่ไปศึกษาในสำนักอย่างนั้น ก็เกิดความยึดถือในสำนักของตนแล้วก็มาโจมตีกัน แล้วก็เกิดความแตกแยกกัน เราควรพิจารณาว่าเราควรจะปฏิบัติอย่างไร ในด้านพฤติกรรมทั่วๆ ไป

อย่างเรื่องพระสงฆ์เราก็มีปัญหาว่า เดี๋ยวนี้พระสงฆ์ไปยุ่งกับของขลังเครื่องรางสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมอดูอะไรต่ออะไร เรามาดูปัญหาเรื่องนี้กันแล้วก็เกิดความขัดแย้งกันเอง ในสังคมส่วนใหญ่ยังมีผู้ที่นิยมอย่างนั้น คนข้างนอกเอาไปว่าเป็นค่านิยมในพุทธศาสนา ส่วนในหมู่อีกพวกหนึ่งก็บอกว่านั่นไม่ใช่พุทธศาสนาจะต้องแก้ไขเสีย เป็นต้น ในสังคมที่สับสนอย่างนี้ก็ได้แต่ว่ากันไป โจมตีกันไป สภาพที่เป็นจริงก็คงอยู่อย่างเดิมหรือกลับทรุดลงอีกไม่ดีขึ้น จะหาข้อยุติได้อย่างไร เรื่องนี้อาตมาจะลองใช้วิธีสักอย่างมาพิจารณา คือวิธีที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้เรียกว่า วิภัชชวาท แปลว่าการกล่าวจำแนกหรือแยกแยะ ในการที่จะตัดสินอะไรต่างๆ นี่ พระพุทธเจ้าจะทรงใช้วิธีแยกแยะ วิเคราะห์ออกไปว่าอะไรดี อะไรเสีย อะไรเสียด้านไหน ดีด้านไหนอย่างไร ดีมากกว่าเสีย หรือเสียมากกว่าดีอย่างไร เช่นในปัจจุบันนี้อย่างหมอดูนี่ เราจะเอาอย่างไรกับท่านดี สมมติว่าเราบอกว่าไม่เห็นด้วยกับพระหมอดู แล้วเราจะแก้ไขได้อย่างไร ยิ่งพูดยิ่งว่า กิจการพระหมอดูก็เหมือนยิ่งเจริญ ยิ่งว่ารุนแรง ชาวพุทธก็ยิ่งแตกแยก ทีนี้จะลองใช้วิธีที่ว่ามาพูดถึงเรื่องพระหมอดูว่า พระหมอดูมีหลายชนิดหลายประเภท

ประเภทที่หนึ่ง คือผู้ที่มีความโลภในลาภสักการะ แล้วก็เพียรพยายามที่จะใช้วิชาทำนายทายทักเพื่อแสวงหาลาภสักการะส่วนตัว พูดง่ายๆ ว่าใช้วิชาหมอดูเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ

พระหมอดูประเภทที่สอง คือ ท่านที่เห็นว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะสอนธรรมเพียงพอ เมื่อจะต้องสงเคราะห์ชุมชนชาวคฤหัสถ์ ก็ใช้วิชาหมอดูนี้เพื่อจะเป็นสื่อในการที่จะสอนธรรมะ เพราะว่าเป็นจิตวิทยาในการปลอบประโลมใจ แต่ไม่ได้มุ่งหมายหรือเห็นแก่ลาภสักการะ ไม่ทำตนให้ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ และมีความพยายามที่จะนำกลุ่มชนนั้นให้เข้าสู่ธรรมที่สูงขึ้นไป

ประเภทที่สาม ได้แก่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำนายทายทัก คัดค้านพฤติกรรมของพระกลุ่มนี้ ติเตียนพระหมอดูอย่างเต็มที่ แต่ตนเองก็ไม่มีความสามารถในการที่จะสั่งสอนประชาชน ก็เลยได้แต่ติเตียน

ประเภทที่สี่ คือพระภิกษุที่มีความสามารถสั่งสอนผู้อื่นด้วย และก็ว่าการทำนายทายทักนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นวิธีการที่ชอบธรรมในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นก็ยืนยันในหลักที่จะไม่ยอมใช้การทำนายทายทักด้วย

วิธีอย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท เรามาดูว่าใน ๔ ประเภทนี้อย่างไหนดีมากดีน้อย อันไหนเสียมากเสียน้อย อันไหนควรแก้ไขก่อนแก้ไขหลัง อันไหนควรจัดการให้หมดไปโดยเร่งด่วน หรืออันไหนควรสนับสนุนให้ทำต่อก็ทำกันไป อาจจะแยกแยะกันมากกว่านี้ก็ได้ นี่เป็นวิธีของพระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นวิภัชชวาท

นี่อาจจะเป็นการเสนอแนวทางหนึ่งในด้านปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมก็ตามแก้ไขก็ตาม เมื่อแยกให้ชัดแล้วอาจเห็นทางปฏิบัติชัดเจนขึ้น และเริ่มปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่อยู่แค่ด่าว่ากันไม่ไปไหน

ทีนี้อยากจะหันมาในเรื่องค่านิยม ว่าพุทธศาสนาของเรามีค่านิยมอะไร ค่านิยมอะไรที่เรียกว่าเป็นค่านิยมพุทธ อันนี้อาตมาเป็นเพียงผู้มาเสนอเท่านั้นเอง จะต้องขอให้ช่วยกันพิจารณา จะยอมรับหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ค่านิยมอันหนึ่งซึ่งเป็นที่แพร่หลายมาก ก็คือค่านิยมแห่งทาน การให้การบริจาครู้สึกกันว่าจะยอมรับได้ว่าเป็นค่านิยมทางพุทธศาสนา จะเห็นด้วยหรือไม่ตอนท้ายเราค่อยมาโต้เถียงกันอีกทีหนึ่ง ค่านิยมแห่งทานนี่เห็นได้ชัดว่าเป็นค่านิยมของไทย ซึ่งเป็นค่านิยมพุทธ ขอให้แยกก่อนว่าค่านิยมพุทธกว้างๆ ทั่วไปอย่างหนึ่ง แล้วก็มีค่านิยมพุทธไทยอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไทยอาจจะมีต่างจากชาวพุทธอื่นๆ ก็ได้ ค่านิยมพุทธไทยอย่างหนึ่งก็คือค่านิยมแห่งทาน เราชอบและส่งเสริมให้มีการให้การบริจาคแบ่งปัน ในทางพุทธศาสนาเราหาหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ได้ไม่เฉพาะในเรื่องเวสสันดร ในเรื่องชาดกที่เป็นทานบารมีอย่างยิ่งเท่านั้น แม้ในเรื่องทั่วๆ ไปพุทธศาสนาก็สอนในเรื่องทรัพย์ ทั้งการเก็บทรัพย์ รักษาทรัพย์ หาทรัพย์และใช้จ่ายทรัพย์ พระพุทธศาสนานี่ไม่ค่อยห่วงในเรื่องหาทรัพย์และรักษาทรัพย์ ที่ว่าไม่ห่วงก็คือ ไม่ได้กีดกัน ยินดีส่งเสริมเรื่องการแสวงหาทรัพย์ด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่ไปห่วงหรือใส่ใจอยู่กับเรื่องวิธีการแสวงหา ว่าชอบธรรมหรือไม่ เท่านั้นเอง อีกตอนที่สองก็คือมีมาแล้วจะใช้อย่างไร และตอนที่สองนี้เกี่ยวกับเรื่องทาน การมีทรัพย์และรู้จักใช้จ่ายทรัพย์เป็นจุดที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องทาน พระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนให้มีการหามาเก็บดองไว้ แต่สนับสนุนให้หามาใช้เลี้ยงตนเองและคนที่ควรเลี้ยงให้เป็นสุข และเผื่อแผ่แบ่งปันทำความดีออกไปอีก อันนี้เป็นหลักทั่วไป และเรื่องนี้ปรากฏมากมายในพุทธศาสนา มีทั้งในพระไตรปิฎก เป็นพุทธพจน์เอง และในอรรถกถา เป็นนิทานชาดกเล่าเกี่ยวกับเรื่องพระไปทรมานเศรษฐี เรื่องอย่างนี้มีมากมาย

เศรษฐีในสมัยก่อนพุทธกาล ในชาดกเยอะแยะ ที่แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมแล้วก็เอามาเก็บไว้ ตนเองก็มิได้ทำให้มีความสุข และก็ไม่ได้ใช้จ่าย อยู่อย่างลำบากแล้วก็ไม่นำทรัพย์ไปบำรุงเลี้ยงผู้อื่น ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมาก ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่อง เช่น วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทักทายตรัสถาม พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เล่าถวายว่า วันนี้พระองค์ได้จัดการเรื่องเศรษฐีผู้หนึ่งมีเงินทองมากมาย เขาตายแล้ว ก็ต้องไปขนเงินทองเข้าท้องพระคลัง อ้าวทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเศรษฐีเมื่อยังอยู่นั้นท่านเป็นคนขี้เหนียวเป็นอยู่อย่างลำบาก ไม่ทำให้ตนเองมีความสุข และก็ไม่บำรุงเลี้ยงคนอื่น ไม่ใช้ทรัพย์ทำความดี พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าอย่างนั้นอสัตบุรุษได้ทรัพย์แล้วก็สูญเปล่า อันนี้เป็นการพูดอย่างย่อๆ คือให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุนการหาทรัพย์มาเก็บหวงไว้ พระองค์ตรัสถึงการใช้จ่ายทรัพย์ว่า เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ควรจะทำให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่คนอื่น เผื่อแผ่แบ่งปัน และทำความดี อย่างในนิทานชาดกก็เปรียบเทียบว่าคนที่มีเงินแล้วเอาเก็บไว้ ไม่ใช้ทำประโยชน์ก็เหมือนกับนกมัยหก “มัยหก” แปลว่า ของข้า นกมัยหกนี้มันอยู่ที่ต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่าต้นเลียบ ต้นเลียบเป็นอย่างไรก็คงจะไม่รู้จักกันหลายท่าน เมื่อต้นเลียบนี้มีผลสุกแล้ว นกมัยหกหวงลูกเลียบนี้ก็มาบินวนเวียนอยู่ที่ต้นเลียบ ปากก็ร้องว่า มัยหกๆ แปลว่า ของข้าๆ ในเวลาเดียวกันนั้น นกตัวอื่นก็มากินผลเลียบที่สุกนี้ แล้วพากันบินไป ผู้ที่แสวงหาทรัพย์มา มีทรัพย์แล้ว ไม่นำทรัพย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์เหมือนกับนกมัยหก ได้แต่ร้องว่าของข้าๆ แม้ว่ามฤตยูมาพรากเอาตัวไปก็ยังร้องว่าของข้าๆ อยู่นั่นเอง

นอกจากนี้ เรื่องพระโมคคัลลานะไปปราบมัจฉริยโกสิยเศรษฐีก็ดี เรื่องอื่นทำนองนั้นก็ดี เรื่องเหล่านี้มีมากมาย คติเรื่องการที่จะใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ก็คือ คนเราหาทรัพย์มา ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคม ในพระพุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์แก่ตน และประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่ออัตตัตถะ และปรัตถะ เป็นสิ่งที่เราจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่มนุษย์บางคนเมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วก็ลืมวัตถุประสงค์ข้อนี้เสีย ไม่ได้นำทรัพย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ กลายเป็นว่าเป็นทาสของทรัพย์เสียเอง นี่เป็นคติพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ทีนี้เราจะเอายังไงกับทาน เราควรจะให้ทานอย่างไร เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า พึงวิจัยแล้วจึงให้หรือเลือกเฟ้นให้ พิจารณาให้นั้นคือจะให้อย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ นั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป สรุปว่าการให้เป็นค่านิยมพุทธไทยอย่างหนึ่ง

ต่อไปค่านิยมที่เราจะพิจารณาก็คือ ค่านิยมแห่งการไม่เบียดเบียนหรือเมตตา เมตตาก็คือธรรมที่ตรงกันข้ามกับความเบียดเบียน หรือเทียบปัจจุบันนี้ตรงกับที่มีการอ้างหลักเรื่องอหิงสานั่นเอง อหิงสาก็เป็นหลักหนึ่งในพุทธศาสนา เมตตากรุณาเป็นหลักที่เด่นชัด เรียกให้ครบชุดว่าพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เกี่ยวกับหลักธรรมชุดนี้ ก็มีฝรั่งโจมตีชาวพุทธโดยเฉพาะชาวพุทธไทยว่า สังคมไทยนี่สอนเมตตา สอนกรุณา แต่การสอนเมตตานั้นสอนอย่างไร ก็สอนให้แผ่เมตตา แผ่เมตตาคืออย่างไร คือการไปนั่งนิ่งๆ แล้วก็คิดตั้งใจขอให้เพื่อนสัตว์ทั้งหลายที่ร่วมเกิดแก่ เจ็บ ตาย ทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย เพียงแค่นี้ก็เป็นการทำความดีแล้ว ฝรั่งก็เลยโจมตีบอกว่า คนไทยพอไปนั่งนอนแผ่เมตตา ก็เป็นอันได้บำเพ็ญธรรมะทำความดีครบถ้วนเพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไร ในพุทธศาสนาคนทำความดีแบบ Passive ขออภัยใช้ภาษาอังกฤษ คือไม่ Active เลย ทำไมเขาจึงเห็นอย่างนี้ อันนี้อาจจะเป็นที่ความบกพร่องของเราเองก็ได้ ที่ปฏิบัติไม่ครบตามหลักพุทธศาสนา คือหลักของพุทธศาสนาต้องสอดคล้องกัน ถือว่าต้องเริ่มจากจิตใจ ต้องมีธรรมในใจเป็นสำคัญ ธรรมะในใจคือตัวพื้นฐาน แล้วแสดงออกมาภายนอกคืออะไร ก็คือสังหวัตถุ ๔ ถ้าเรามีพรหมวิหารในใจแล้วจะให้ได้ผลในทางปฏิบัติแท้จริง ก็ต้องแสดงออกมาภายนอกด้วย การแสดงออกมาภายนอกนี้ก็คือ สังคหวัตถุ ๔ มีอะไรบ้าง มีทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา

ทาน ก็ช่วยด้วยของ เผื่อแผ่ แสดงเมตตากรุณาออกมา ในทางที่จะเผื่อแผ่แบ่งปันทรัพย์หรือสิ่งของภายนอกตัว

ปิยวาจา ก็ได้แก่ช่วยด้วยถ้อยคำ คำแนะนำตักเตือน ไม่ใช่พูดเพราะเฉยๆ แค่นี้อาจจะบกพร่องไป คำพูดสุภาพก็เป็นปิยวาจา แต่ว่าเป็นปิยวาจาที่แท้เกิดจากใจที่มีเจตนาดี เจตนาดีเป็นเจตนาที่มีเมตตา เจตนาที่มีเมตตาก็คือต้องการให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และมีความสุข ให้เขาพ้นจากความทุกข์ เจตนาที่ดีแม้จะรุนแรงไปบ้างก็ไม่เสียปิยวาจา ยกตัวอย่างว่าแม่มีความรักลูก อันนี้เป็นธรรมดา แต่ลูกหัวดื้อ ชอบเที่ยวไป แม่ก็ว่าอย่าไปๆ หนูมันมีอันตรายทุกด้าน ลูกก็ไม่ยอมจะไป แม่ก็กล่าวคำแรงว่า ถ้าไปขอให้เสือกัดตายเลย คำที่แม่กล่าวอย่างนี้ไม่เสียปิยวาจา ทำไมล่ะ เพราะเจตนาดี แม่มีความรักจนกระทั่งโมโห พุทธศาสนาบอกว่าคนมีกิเลสนี่ โทสะเกิดจากโลภะก็มี โทสะเกิดจากราคะก็มี อย่างในกรณีนี้โทสะเกิดจากความรัก แม่นี้เจตนาดี ถึงจะโกรธก็ไม่ได้มีความประสงค์ร้ายต่อลูกเลย แต่ลูกไม่เชื่อฟัง ก็กล่าวคำรุนแรงออกไป ถือว่าไม่ผิดปิยวาจาอย่างนี้เป็นต้น เน้นที่เจตนา ปิยวาจาคือมีน้ำใจต้องการให้เขามีความสุขกล่าวคำสุภาพอ่อนโยน จริงใจ ทำให้ทั้งสองฝ่ายสบายด้วยกัน ก็เป็นปิยวาจา แต่เวลามีเรื่องราว เขาทำความผิด เราก็ต้องแนะนำตักเตือน นี่ก็เป็นปิยวาจา ดุว่าด้วยความหวังดีต้องการให้เขาดีมีความสุขก็ยังเป็นปิยวาจา

ต่อมาอัตถจริยา หมายถึงการทำกิจธุระต่างๆ ขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือรับใช้บริการ

สมานัตตตา หมายถึงการทำตัวให้เข้ากับเขาได้ เช่นว่าวางตนเสมอ เข้ากันได้ ไม่ถือตัว มีความยุติธรรม ร่วมมือ ร่วมกิจกรรม ร่วมทุกข์ ร่วมสุขเสมอหน้ากัน

สามข้อต้น จะเห็นว่ามากับเมตตากรุณาอย่างชัดเจน และถึงมุทิตาด้วย ส่วนข้อสุดท้ายก็มาคู่กับอุเบกขา มีอุเบกขาเป็นหลัก หมายความว่าในการบำเพ็ญความดีนั้นต้องทำให้ได้ทั้งภายในและภายนอก มีภายในเป็นฐานให้ภายนอกด้วย หากว่าไม่มีฐานอยู่ภายใน ไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การช่วยเหลือที่เรียกว่าสังคหวัตถุ ๔ นั้นอาจจะทำด้วยเจตนาที่ไม่สุจริตก็ได้ อาจจะทำด้วยความหลอกลวง อาจจะทำด้วยเจตนาเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องให้กลมกลืนกันทั้งภายในภายนอก ทำได้อย่างนี้ก็เท่ากับว่าปฏิบัติอย่างท่านหัตถกะ ซึ่งเป็นอุบาสกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในการสงเคราะห์บริษัท นี่เป็นเรื่องค่านิยมแห่งเมตตากรุณา

ต่อไปเรื่องค่านิยมแห่งความสันโดษ ในเมืองไทยก็เป็นที่รู้กันทั่วแล้วว่าไทยเราได้รับการสั่งสอนจากพระพุทธศาสนาให้มีความสันโดษ ทีนี้อาตมาอยากจะเติมว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนาได้แก่ค่านิยมแห่งความสันโดษและไม่สันโดษ คือสันโดษในกรณีที่ควรสันโดษและไม่สันโดษในกรณีที่ไม่ควรสันโดษ เพราะว่าสันโดษอย่างเดียวนี่อาจจะขาดความสมบูรณ์ไปก็ได้ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงย้ำในเรื่องความไม่สันโดษ แต่เราอาจจะมองข้ามไปเสีย สันโดษไม่ใช่สันโดษเฉยๆ สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ที่ตนเองหามาได้เป็นของตน ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม

ส่วนความไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้มาก อย่างในอังคุตตรนิกายบอกว่า พระองค์เห็นประจักษ์คุณของธรรม ๒ ประการ คือความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมคือสิ่งที่ดีงามทั้งหลายเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่สันโดษ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือความเพียรที่ไม่ระย่อ คือไม่ยอมถอย ถ้าทำอะไรก็มีอธิษฐาน คือมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ตอนที่พระพุทธเจ้าจะสำเร็จโพธิญาณ พระองค์เล่าว่าเมื่อพระองค์ประทับนั่งที่ต้นโพธิ์นั้น พระองค์ได้อธิษฐานคือตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวว่า ถ้าไม่ได้ตรัสรู้แล้วถึงแม้เลือดเนื้อจะแห้งหมดไป ก็จะไม่ลุกขึ้นจากที่ประทับ อย่างนี้เป็นต้น หรืออย่างเวลาตรัสสอนพระโสดาบันว่า พระโสดาบันที่ตกอยู่ในความประมาท และไม่ประมาทนั้นอย่างไร พระโสดาบันที่มีความประมาทคือผู้ที่ได้ก้าวหน้าในคุณธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน มีคุณสมบัติของพระโสดาบันแล้ว แต่สันโดษพอใจในคุณธรรมแค่นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท หรืออยู่อย่างผู้ประมาท ทีนี้ผู้ไม่ประมาทเป็นอย่างไร ได้แก่พระโสดาบันที่มีคุณสมบัติของพระโสดาบันแล้ว ไม่สันโดษด้วยคุณธรรมเพียงเท่านั้น แต่พยายามทำให้ก้าวหน้าต่อไป อย่างนี้เป็นต้น เรื่องความไม่สันโดษนี่มีอยู่มากหลาย เราสามารถนำมาพิจารณาศึกษากันได้ เป็นพุทธพจน์แท้ เพราะฉะนั้นเราต้องแยกกันให้ถูกว่า อันไหนเป็นสันโดษที่พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริม อันไหนไม่ทรงสรรเสริญ

ต่อไปจะว่าด้วยเรื่องฉันทะ กับตัณหา รู้กันดีในวงการพุทธศาสนาว่า เราไม่ส่งเสริมตัณหา ตัณหาเป็นสมุทัย เป็นอริยสัจข้อที่ ๒ ดังพุทธพจน์ว่า ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ สมุทัยแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่พึงละเสีย เพราะฉะนั้นตัณหาท่านจึงให้กำจัด ตัณหาแปลว่าความอยาก อยากได้อะไรต่างๆ หลายคนก็เลยว่า ศาสนาสอนอย่างนี้ คนก็เลยไม่อยากได้อยากดีอะไร เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแก้ไขคือส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความอยากได้มากๆ จะได้พัฒนาประเทศชาติ อันนี้เป็นข้อสรุปของท่านผู้ที่กล่าวต่อว่าหลักของพระพุทธศาสนา บอกว่าเราจะต้องส่งเสริมการพัฒนาด้วยการส่งเสริมตัณหา ทีนี้ความอยากนี่คำศัพท์ที่เราใช้ทั่วๆ ไป ก็คือตัณหา แบ่งเป็นอยากได้ (กามตัณหา) อยากเป็น (ภวตัณหา) อยากไม่เป็น (วิภวตัณหา) อยากได้อยากเป็นนี่ไม่ใช่ของดีแน่ พุทธศาสนาบอกว่าคนเรามีแล้วไม่ต้องไปส่งเสริม ทุกคนมีตัณหา ตัณหาเป็นสิ่งที่เราจะต้องระงับไม่ใช่เพิ่ม ทีนี้เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร พุทธศาสนาไม่ให้อยากรวยหรือ อันนี้จะเป็นข้อที่ตันสำหรับเราละ เราหาทางออกไม่ได้หรือ ทีนี้มาดูในอิทธิบาท ๔ มีอะไร ยังไม่ต้องเข้าหลักเอาแค่ที่เราเห็นง่ายๆ ถ้าเรานึกเฉลียวใจขึ้นมาก็จะเห็นว่า อิทธิบาท ๔ เริ่มด้วย ฉันทะ ความพอใจ รักใคร่ในสิ่งนั้น เช่นกรณีที่เรารักใคร่ในศาสนา อยากรู้หลักพุทธศาสนา อยากปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เราเรียกว่ามีฉันทะ ในพุทธศาสนานั้นท่านสอนฉันทะเป็นทางที่จะให้คนทำงาน แต่ถ้าไปสนับสนุนตัณหาคืออยากได้ อยากเป็น คนก็มีแต่อยากเอา แต่ไม่อยากทำ ท่านจึงให้ละตัณหาเสีย และให้ส่งเสริมฉันทะแทน แต่ฉันทะมี ๓ อย่าง คือ

๑. ตัณหาฉันทะ หรือกามฉันทะ พอใจกาม หรืออยากได้อยากเอา อันนี้เป็นอกุศล ไม่ดี

๒. กัตตุกัมยตาฉันทะ ความอยากทำ หรือฉันทะในการงาน อยากทำดีก็มี อยากทำไม่ดีก็มี อันนี้เป็นสิ่งที่พอจะเลือกสนับสนุนได้

๓. กุศลฉันทะ ฉันทะที่เป็นกุศล เรียกอีกอย่างว่า ธรรมฉันทะ คือ ฉันทะที่เป็นธรรม ฉันทะในธรรม อันนี้ดี

แม้แต่อยากได้นิพพานก็ใช้คำว่าฉันทะ ใครบอกว่าอยากได้นิพพานผิด บาลีก็มีว่า ฉนฺโท อรหตฺตปฺปตฺติยา ฉันทะเพื่อการบรรลุซึ่งพระอรหัตตผล อันนี้ก็เป็นฉันทะ ในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม ๖ ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากในโลก ธรรมหกนี้มีอยู่ข้อหนึ่งว่า กุศลธรรมฉันทะ เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาสอนส่งเสริมฉันทะ การที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาก็อาศัยฉันทะ เป็นแรงจูงใจที่สำคัญ พูดง่ายๆ ก็คือว่าสิ่งที่จะใช้เป็นแรงจูงใจในทางพุทธศาสนานั้นมิใช่ตัณหา ความอยากได้อยากเป็นนี่ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ความอยากทำ หรืออยากธรรมนี่สิหาได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นความอยากทำงาน ความอยากสร้างความดี หรือความใฝ่รู้ ก็ตาม นี่แหละคือความอยากที่เป็นฉันทะ คนที่อยากแบบฉันทะหาได้ยาก คนอยากแบบตัณหาหาได้ง่าย จึงมีแต่คนอยากได้โดยไม่ต้องทำงาน อยากเป็นอะไรๆ โดยไม่ต้องทำความดีงาม ถ้าจะต้องทำงานก็สักว่าทำ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ทำ พยายามหลีกเลี่ยงการทำ เพราะฉะนั้นถ้าไปส่งเสริมตัณหาเข้า อาจจะอยากทำ เพราะมันจำเป็นต้องทำ แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ทำ เป็นทางให้เกิดความเกียจคร้านและทุจริต ถ้าพัฒนาด้วยตัณหาก็เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ต้องไปส่งเสริม เพราะตัณหาเรามีทุกคน ไม่ต้องกลัวจะไม่มี มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเพียงแต่คอยคุมมันให้ดี

ในทางตรงข้าม ควรส่งเสริมฉันทะความอยากทำ ให้ทุกคนอยากทำงานนี้ดี อันนี้อาตมาว่าสำคัญ สร้างฉันทะให้มีขึ้น อยากจะทำงาน อยากจะทำสิ่งที่ดี ให้มีกุศลฉันทะ ธรรมฉันทะ เช่น อยากให้มีความสะอาด อยากจะเห็นความมีคุณภาพของพลเมือง อยากจะเห็นคุณความดีเกิดขึ้น อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี เป็นครูอยากให้นักเรียนดี เป็นนักเรียนอยากให้ได้ความรู้นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้ นี้เรียกว่าใช้กุศลฉันทะ แล้วส่งเสริมฉันทะที่มันอยากทำ มันก็สอดคล้องไปกันได้ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ถูกต้อง อันนี้เป็นค่านิยมพุทธศาสนาที่ว่าไม่ละตัณหาเฉยๆ แต่ให้ส่งเสริมฉันทะไปด้วย

ต่อไปเป็นเรื่องความไม่ประมาท หรืออัปมาทธรรม อัปปมาทธรรมนี้เป็นธรรมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดธรรม หรือรอยเท้าช้าง คือพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายรวมลงได้ในความไม่ประมาท เหมือนรอยเท้าสัตว์บกใหญ่เล็กทั้งหลายลงในเท้าช้าง อัปปมาทธรรมนั้นเป็นหลักของการกระตุ้นเตือนตนเอง ทำให้งดเว้น ยับยั้ง ไม่ตกไปในทางความชั่ว ไม่หลงลืม ไม่ปล่อยตัว ส่วนในทางความดีก็ไม่ละเลย ไม่ปล่อยปละละทิ้ง พยายามทำให้เกิดขึ้น ต้องมีความไม่ประมาทก่อน ถ้ามีความไม่ประมาทแล้ว ก็จะนำไปสู่ความก้าวหน้าได้ ความจริงธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเหมือนรอยเท้าช้างมีหลายข้อ โยนิโสมนสิการก็ใช่ อริยสัจสี่ก็ใช่ แต่เฉพาะที่นี้ไปยกเอาอัปปมาทธรรมมาและก็น่าจะกำหนดเอาเป็นค่านิยมพระพุทธศาสนาไว้ด้วย ความไม่ประมาทคือไม่ขาดสติ ไม่ขาดสติก็มีความรับผิดชอบด้วยคือ ถ้าเป็นเรื่องที่จะผิดพลาด เราไม่ยอมถลำไปตาม แต่ถ้าโอกาสแห่งการทำความดีมาถึงก็ขมีขมันทำ ไม่ยอมให้ผ่านไปเปล่า ธรรมข้อนี้ควรเอามาใช้ไม่เฉพาะในกิจการงานต่างๆ แม้แต่ชีวิตก็ควรไม่ประมาทเหมือนกัน เราไม่รู้ว่าภายหน้าของเราจะเป็นอย่างไรเราก็ต้องไม่ประมาท ชีวิตของเราจะอยู่กันไปกี่วันเราก็บอกไม่ถูก ถ้ามีความไม่ประมาทพิจารณาชีวิตแล้วก็จะไม่หดหู่ไม่ท้อแท้ใจ เราพิจารณาแล้ว บังเกิดความไม่ประมาท เกิดความสังเวช

คำว่าสังเวช นี่เราเข้าใจกันว่าอย่างไร ถ้าเข้าใจคำว่าสังเวช หมายถึง ความสลดหดหู่ใจแล้วก็เลยกลายเป็นว่าทุเรศอะไรไปด้วย สังเวชนี่ถ้าไปดูหลักฐานที่ท่านสอนไว้จะเข้าใจ เช่นถ้าเราตกอยู่ในความประมาทแล้ว ต่อมาไปเห็นคนเจ็บใกล้จะตายเกิดความสังเวช ก็คือเกิดความได้คิดขึ้นว่าจะต้องรีบเร่งทำความดี ให้ไปดูหลักฐานในพระไตรปิฏกว่าเป็นอย่างนี้หรือไม่ เรามาเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสังเวชนี่มันสลดหดหู่ใจ แต่ความจริงไม่ใช่ เห็นอะไรแล้วได้คิดขึ้นมา ว่าเราจะต้องรีบทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดีเป็นกุศล ละความชั่ว อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นความสังเวช ถ้ามีใครมาถามว่าไปดูสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานไปเพื่ออะไร ก็ตอบว่าเพื่อให้เกิดความสังเวช ความสังเวชได้คิด กระตุ้นเตือนใจ เร้าเตือนว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นมหาบุรุษก็ยังต้องปรินิพพาน สถานที่นี้เกี่ยวข้องกับพระองค์ เป็นเครื่องเตือนให้คิดเป็นเครื่องเตือนใจตนเอง ให้รีบขวนขวายปฏิบัติธรรมของพระองค์ เร่งทำความดีงามบำเพ็ญธรรมด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็นสังเวชนียสถาน

จะพูดต่อไปอีกสักเล็กน้อย ค่านิยมพุทธมีหลายอย่าง วันนี้อาตมานำมาให้ช่วยกันคิดพิจารณาจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ทีนี้ต่อไปก็คือ ค่านิยมแห่งการพึ่งตน

พอพูดถึงเรื่องพึ่งตน ทุกท่านบอกว่าใช่แล้วความรู้ง่ายๆ หลายท่านจำพุทธภาษิตได้ว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หลักธรรมเรื่องการพึ่งตนนี้ท่านสอนเพื่อให้แต่ละคนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง คือเราแต่ละคนนี้จะต้องพยายามพึ่งตนเอง แต่บางทีในการนำมาใช้ก็เกิดปัญหา อย่างเช่นฝรั่งบางคนเอาไปโจมตีว่าพุทธศาสนานี่สอนหลักอัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนพึ่งตน อันนี้สอดคล้องกับหลัก สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนหนึ่งทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้ หลักสองหลักนี้เข้ากัน สอดคล้องกันดี เมื่อสอดคล้องกันดี ก็มาเป็นอันตรายแก่ประเทศไทย อันตรายยังไง คนไทยบอกว่า มนุษย์แต่ละคนนี่ตัวใครตัวมัน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็คือหลักตัวใครตัวมันช่วยกันไม่ได้ ถ้าเราไปเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ก็ต้องนึกถึงหลักพึ่งตัวเองต้องบอกว่า เอ้า...ตัวทำไมไม่พึ่งตัวเล่า? ถ้าคุณพึ่งตัวคุณก็ไม่เป็นอย่างนี้ เขาบอกว่าหลักการอย่างนี้ไม่สนับสนุนให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วยังไปคล้องจองกับหลักกรรมอีกด้วย หลักกรรมในพุทธศาสนาบอกว่า กรรมเก่า ใครทำมาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ใครเป็นอย่างไรเวลานี้ก็เป็นเพราะกรรมของเขาทำไว้ ต้องปล่อยให้เขารับกรรมของเขาเอง ไม่ต้องไปช่วย เขาก็ต้องพึ่งตน คือช่วยตัวเองไป คนชาวพุทธไทยก็ไม่คำนึงถึงกัน แล้วยังสอดคล้องกับหลักอุเบกขาอีก เมื่อเป็นกรรมของเขาเราก็ต้องมีอุเบกขา คือวางเฉยซะ ไม่ยินดียินร้ายเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ ก็เลยจบกัน เป็นอันว่า หลักธรรมทั้งหลายสอดคล้องกันหมดเลย ทำให้คนไทยไม่ต้องขวนขวายช่วยเหลือกัน เขาไปเขียนหนังสือ เขียนตำราโจมตีอย่างนี้

ทีนี้ก็มาพูดถึงการพึ่งตนตามหลักพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างใด อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ถ้ามุ่งไปที่ธรรมะชั้นใน การเข้าใจสัจจธรรม การที่จิตใจของเราจะพ้นจากกิเลสจะพ้นจากความทุกข์ได้ในขั้นสุดท้าย คนอื่นใครเล่าจะมาช่วยได้ มันทำให้กันไม่ได้ ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์นี่มันของเฉพาะตน เป็นของแน่นอน เป็นหลักสัจจะ นี่ทำให้เราต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ช่วยตนเอง แต่การพึ่งตนเองมิได้หมายความว่ามิให้ช่วยผู้อื่น และมิใช่ว่าคนอื่นช่วยอะไรไม่ได้เลย หลักธรรมที่ยืนยันมีมากมาย สังคหวัตถุเป็นต้น ก็เป็นหลักธรรมที่ให้ช่วยกันทั้งนั้น หลักธรรมที่คู่กับอันนี้ก็คือกัลยาณมิตร ให้เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน และกัลยาณมิตรนี่ก็เป็นหลักการสำคัญของพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิและเป็นเบื้องต้นแห่งอริยมรรค ก่อนที่พระอาทิตย์จะอุทัยนั้น มีแสงอรุณให้เห็นได้ก่อนฉันใด การมีกัลยาณมิตรก็เหมือนกับเป็นแสงเงินแสงทอง เป็นนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยมรรค นี่หมายความว่า ในเรื่องของสังคม การช่วยเหลือกันและกันเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา สำหรับตนเองเราต้องพยายามช่วยตัวเอง แต่สำหรับผู้อื่นเราต้องช่วยเขา ไม่ใช่คอยให้เขามาช่วยเรา ในขั้นสุดท้ายหรือชั้นในสุดแล้วทุกคนต้องช่วยตัวเองแน่นอน คนอื่นเขาจะมาช่วยอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ และข้างในแท้ๆ เขาก็ช่วยไม่ได้ แต่ก่อนถึงนั่นจะต้องมีการช่วยเหลือกัน

ทีนี้ท่านบอกให้ทุกคนพึ่งตนอย่างไร พึ่งตนด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องให้คนอื่นมาช่วย เมื่อพึ่งตนได้ก็ไม่ต้องเป็นภาระแก่คนอื่น และคนที่พึ่งตนได้จึงจะช่วยเหลือคนอื่นได้ ถ้าพึ่งตนไม่ได้ ก็เป็นภาระของคนอื่น ถ้าคนส่วนมากในสังคมใดพึ่งตัวเองไม่ได้ สังคมนั้นก็ไม่ต้องคิดทำอะไรให้เจริญก้าวหน้า เหมือนเรือที่มีแต่รูรั่วมัวแต่คอยปะรูก็หมดมือหมดเวลา ถ้าทุกคนพึ่งตนไม่ได้ก็ไม่มีใครช่วยใครได้เลยและทำอะไรไม่ได้เลย

คนที่ไม่รู้จักพึ่งตน คนอื่นเขาไม่อยากมาช่วย แต่ถ้าเราพึ่งตนเองได้ดีแล้วเวลาเราพึ่งตนเองไม่ได้ คนอื่นเขาอยากช่วย เพราะฉะนั้นการได้พึ่งคนอื่นที่เขาอยากช่วยเป็นการพึ่งตนด้วย และมันก็เป็นความจริงอย่างนั้น หลักธรรมต่างๆ จะสอดคล้องกัน พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมต่อกันเป็นทอด ต้องมองดูอย่างสัมพันธ์กัน พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมสำหรับสร้างที่พึ่ง ได้แก่หลักธรรมที่ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เรียกว่า นาถกรณธรรม ๑๐ ประการ ในหลักธรรม ๑๐ ประการนั้นมี สติ มีปัญญา มีสันโดษ มีความเพียร มีอะไรต่ออะไร และมีข้อหนึ่งว่า ขวนขวายเอาใจใส่ขยันช่วยเหลือกิจการของเพื่อนร่วมหมู่คณะ (กิงกรณีเยสุ ทักขตา) หลักข้อนี้แสดงว่าการที่จะพึ่งตนเองได้นั้นต้องช่วยเหลือคนอื่นด้วย เป็นอันว่าการที่จะพึ่งตนเองได้นั้น ในบรรดาธรรมะทั้งหลายที่จะต้องปฏิบัติ ธรรมข้อหนึ่งก็คือต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เพราะฉะนั้นธรรมะของเราสัมพันธ์กัน ในที่สุดการพึ่งธรรมก็คือพึ่งตน การพึ่งตนก็คือพึ่งธรรม เพราะฉะนั้นในตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานจึงได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อัตตสรณา ธัมมสรณา จงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง จงมีตนเป็นประทีป และจงมีธรรมเป็นประทีป นี้แสดงว่าการพึ่งตนและพึ่งธรรมเนื่องอยู่ด้วยกัน อย่างเช่นที่ตรัสว่า ภิกษุพึ่งตนเองนั้นคืออย่างไร แล้วเฉลยว่า ภิกษุปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ เรียกว่าพึ่งตน ถ้าพึ่งตนแล้วก็ต้องใช้สติปัญญา ต้องประพฤติปฏิบัติธรรม การประพฤติธรรมก็รวมทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เราต้องเข้าใจใช้ให้ถูก

ต่อไปค่านิยมแห่งการใช้ปัญญา พุทธศาสนาอย่างในเมืองไทยนี้ เรียกว่าเป็นแบบเถรวาท พุทธศาสนาเถรวาทนี่ ถือหลักธรรมข้อปัญญาเป็นเอก พระพุทธศาสนาแยกนิกายเป็นมหายานกับเถรวาท ทางฝ่ายมหายานบอกว่าเถรวาทอย่างในประเทศไทย ถือหลักปัญญาเป็นสำคัญ และก็หย่อนในด้านกรุณา มหายานเองก็หนักในด้านกรุณา แต่ก็หย่อนด้านปัญญา กรุณาก็คือความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ยอมเข้าสู่ปรินิพพานจนกว่าจะได้ช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากโอฆกันดารเสียก่อน แล้วพระโพธิสัตว์จึงจะเข้าปรินิพพานภายหลัง นี่เป็นค่านิยมทางฝ่ายมหายาน แต่ก็เป็นเพียงการเน้นต่างกันเท่านั้น

ทีนี้พระคุณของพระพุทธเจ้ามีปัญญาเป็นตัวการสำคัญ จะต้องใช้ปัญญาในการปฏิบัติธรรม ด้วยปัญญาจึงจะเข้าใจและเข้าถึงความจริง เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงถือหลักว่าปัญญาสำคัญยิ่งนัก อย่างในสังยุตตนิกาย ก็บอกว่าในบรรดาธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลนี้ ปัญญาเป็นยอด คือเป็นหลักธรรมเอกที่จะทำให้ตรัสรู้หรือเข้าสู่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา อันนี้ต่างกับศาสนาทั่วไปที่ยกศรัทธาเป็นใหญ่ถือศรัทธาเป็นหลักการสำคัญ พุทธศาสนาถือศรัทธาเป็นหลักการสำคัญเหมือนกัน แต่ในขั้นสุดท้ายจะต้องก้าวพ้นขั้นศรัทธา คือไปด้วยศรัทธาได้ในขั้นต้นๆ พระอริยบุคคลในขั้นต้นๆ จะมีศรัทธาเป็นหลักเด่น อย่างพระโสดาบันนี้มีองค์คุณลักษณะสำคัญ คือความเป็นผู้มีศรัทธาที่มั่นคง มีความเลื่อมใส ไม่วอกแวก ไม่คลอนแคลนในพระธรรม แต่พอเป็นพระอรหันต์แล้ว ก้าวพ้นขั้นศรัทธาคือเห็นชัดเห็นจริงด้วยตนเอง เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระสารีบุตรว่า ข้อธรรมอย่างนั้นอย่างนั้นเป็นอย่างไร พระสารีบุตรบอกว่าอย่างนั้นอย่างนั้น แล้วพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ที่เธอกล่าวอย่างนี้เป็นด้วยเชื่อตามที่ตถาคตกล่าวหรืออย่างไร พระสารีบุตรตอบว่า มิใช่เชื่อเพราะพระองค์ตรัส แต่เพราะได้รู้เห็นด้วยตนเอง แสดงว่าขั้นสุดท้ายแล้วต้องก้าวพ้นขั้นศรัทธา ในพุทธศาสนานี้ศรัทธาเป็นธรรมเครื่องนำทาง ในขั้นสุดท้ายต้องก้าวพ้นไป แต่ไม่ใช่ไม่เชื่อ ไม่เชื่อกับไม่ต้องเชื่อเป็นคนละอย่างกัน บอกไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็ไม่เชื่อ อันนี้ไม่เชื่อเพราะไม่เห็นด้วย แต่ถ้ารู้เองเห็นเองแล้วก็ไม่ต้องไปเชื่อใคร ถ้าหากว่าคุณลืมตาแล้วเขาเอาผ้ามาให้ดู เขาบอกว่าคุณเชื่อไหม ผ้านี้มีสีเขียวสีแดง เราจะต้องบอกว่าเชื่อไหม ไม่ต้องเชื่อแล้ว เห็นเองแล้ว ผ้าสีเขียวสีแดง ทีนี้ถ้าเราหลับตาแล้วเขาเอาผ้าห่มมาแสดง บอกว่าเขียวหรือแดง คุณไม่เห็นคุณจะว่าเขียวหรือแดงได้อย่างไร ถ้าเขาถามว่าคุณเชื่อไหมว่าเขียว คราวนี้แหละเราจะต้องบอกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เริ่มแต่ต้องลองพิจารณาดูว่าคนที่มาบอกเราเป็นคนน่าเชื่อไหม เรารู้จักไม่รู้จัก มีนิสัยอย่างไร ถ้ารู้จักเขา เขามาด้วยเหตุผลอะไร เชื่อดีหรือไม่เชื่อดี อย่างนี้เรียกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เราหลับตาฟังเขาบอกไม่เห็นเองจึงต้องคิดว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เขาบอกว่าเขียวเราอาจจะเชื่อว่าเขียว ถ้าเขาว่าแดง เราอาจจะไม่เชื่อว่าแดง แต่ถ้าเราลืมตาดูเอง แล้วเรามองเห็นเองนี่นะ เราต้องบอกว่าเชื่อไหม ก็ไม่ต้องแล้ว เห็นเองรู้เอง ธรรมในพระพุทธศาสนานี้ถ้ายังเป็นขั้นเชื่อ ก็ยังเป็นขั้นศรัทธา ในขั้นโสดาบันนี้ยังเป็นขั้นศรัทธาอยู่ ต่อจากนั้นปัญญาจะต้องเจริญขึ้นมาแทน จนถึงขั้นตรัสรู้ ปัญญาเป็นยอด

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตีความเลยเถิดเกินไป เช่นในกาลามสูตร ไม่ใช่แปลว่าไม่ยอมเชื่อใคร พระพุทธเจ้าตรัสธรรมมาให้พินิจไตร่ตรองดูก่อน ไม่ใช่ตรัสให้เชื่อ แต่บางคนแปล เลยไปว่า หมายความว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ให้เชื่อใครๆ หรืออะไรๆ เลยอย่างนี้ก็ยังมี ความจริงต้องบอกว่า ตำราว่าอย่างนี้ หลักฐานในตำราว่าอย่างนี้ อาจารย์บอกว่าอย่างนี้ ขนาดน่าเชื่ออย่างนี้ยังต้องพิจารณาด้วยปัญญาก่อน แล้วอย่างอื่นจะแค่ไหน คือท่านให้พิจารณาก่อน แต่รวมความก็คือถือปัญญาเป็นหลักธรรมข้อสำคัญ มีค่านิยมแห่งการใช้ปัญญา

ค่านิยมต่อไปคือ ค่านิยมแห่งการฝึกตน ซึ่งรวมถึงการสำรวจตัวเองด้วย สำรวจตัวเองจะมาด้วยกันกับฝึกตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสย้ำว่า ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด หรือตรัสอีกทีว่า วิชชาจรณสัมปันโน โส เสฏโฐ เทวมานุเส หมายความว่า ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะนั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ทั้งปวง ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทวดาคนที่ฝึกตนเองแล้วก็ยังประเสริฐกว่า นี้เป็นค่านิยมแห่งการฝึกตน หลักการของพระพุทธศาสนามีว่า มนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และฝึกได้ดีที่สุด ถ้าหากว่าไม่ฝึกแล้วอาจจะเลวที่สุด หรืออาจจะต่ำกว่าสรรพสัตว์ แต่เมื่อฝึกแล้วก็ประเสริฐสุด แม้แต่เทวดาหรือว่าพรหมยังต้องบูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอก สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นศาสดาทั้งของเทวดาและมนุษย์ เทวดายังต้องมาไหว้พระพุทธเจ้า เพราะผู้ที่ฝึกตนเองนั้นเป็นผู้ที่สูงสุด ในเมื่อเรามีค่านิยมว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เราก็ต้องเห็นคุณค่าของการฝึก คือต้องเห็นคุณค่าของการศึกษา การศึกษานี่หมายถึงการศึกษาตามความหมายของพุทธธรรม การศึกษาในแง่ของพระพุทธศาสนาหมายถึงการฝึกตน ฝึกตนคือทำตนให้เจริญงอกงามหรือพัฒนาตน ทำให้ชีวิตดีขึ้นทั้งด้านความประพฤติ การอยู่ร่วมในสังคม จิตใจ และปัญญา

ค่านิยมอีกสองอย่างคือ ค่านิยมแห่งคุณค่าของชีวิต ที่ท่านฝากไว้ว่า ความเป็นโสดาบัน หรือ โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่าแม้แต่ความเป็นเอกราชบนผืนแผ่นดิน แม้แต่การไปสวรรค์ ไปเทวโลก แม้แต่อิสราธิปัตย์ในโลกทั้งมวล ค่านิยมนี้มีความหมายอย่างไร ค่านิยมนี้หมายความว่า การปรับปรุงชีวิตของเรานี่มีคุณค่ามากกว่าผลได้ภายนอกทั้งหมด ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ ความมั่งมี ความยิ่งใหญ่ การปรับปรุงชีวิตนี้เป็นสิ่งสำคัญสุดยอด เข้ากับเรื่องการฝึกตนเมื่อกี้นี้ ถ้าเราสร้างค่านิยมนี้ได้ เราก็จะเข้าถึงค่านิยมพุทธศาสนาอย่างอื่นได้ เพราะอันใดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นสิ่งประเสริฐ ในคติพุทธศาสนาถือว่าเป็นสุดยอดดีเลิศ ที่สำรวจมานี่ก็มีหลายอย่าง ตามที่อาตมาได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น ก็มายุติว่าการบรรลุโสดาปัตติผลนี่ถือว่าสำคัญยิ่งกว่าการได้เป็นผู้มีอำนาจ ยิ่งกว่าการได้รับการกราบไหว้บูชา ยิ่งกว่าสิ่งที่เป็นโลกธรรมซึ่งเป็นความสำเร็จภายนอก นี่คือการเห็นคุณค่าชีวิตของมนุษย์ การที่จะคิดปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น ถ้าแต่ละคนมีค่านิยมนี้ ก็เท่ากับว่า แต่ละคนเห็นคุณค่าของการเข้าใจในชีวิตของตนเอง พยายามปรับปรุงส่งเสริมคุณค่าของชีวิต การที่จะไม่ทำชั่ว เพราะจะเป็นการทำลายคุณค่าของชีวิต ถ้าเราเห็นคุณค่าของชีวิตสุดยอดแล้วเราจะไม่กล้าทำความชั่ว เพราะกลัวจะมาทำลายคุณค่าชีวิต และเราจะต้องพยายามทำความดี ปรับปรุงส่งเสริมให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นจนบรรลุถึงความดีงามหรือประโยชน์สูงสุด

สุดท้าย ค่านิยมแห่งความเป็นอิสระหรือความไม่ยึดติด เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นความไม่ยึดมั่น ความไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ สอดคล้องกับหลักไตรลักษณ์ สอดคล้องกับหลักปัญญา ความรู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย

ความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดนี่ บางทีก็ต้องระวัง ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ความเป็นอิสระมันใกล้กับความเป็นเสรี ความเป็นเสรีก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้ที่ได้ตรัสรู้นี่เป็นเสรี คือมีความเสรีในจิตใจที่จะทำการต่างๆ ในแนวของปัญญา เป็นอิสระคือพ้นจากอำนาจของตัณหาอุปาทาน ความเป็นอิสระในที่นี้เรียกว่าไม่ยึดติดไม่ใช่เป็นอิสระเสรีที่ว่า ฉันอยากทำอะไร ก็ทำได้ อันนี้คนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอิสระ คติในพุทธศาสนาไม่มีอย่างนั้น ความเป็นอิสระเสรีหมายความว่า ฉันรู้ว่าควรทำอะไร ก็ทำได้ เราเป็นอิสระเสรีตามเหตุผล เราดำเนินชีวิตตามเหตุผลได้ ปัญญาบอกว่าสิ่งนี้ดีงามก็ทำตามได้ ไม่ใช่ทำไปตามความดื้อรั้นของตนเอง แล้วบอกว่าอิสระเสรี คือฉันอยากจะทำอะไรก็ทำอย่างนั้น อันนี้ก็เห็นจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าเสรีทาส คือความเป็นทาสอย่างเสรี หมายความว่าเราเป็นทาสของกิเลส แล้วก็เลยแสดงกิเลสได้อย่างเสรี ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นอิสระในทางพระพุทธศาสนาก็หมายความว่า มีอิสระ มีความสามารถที่จะดำเนินไปตามทางแห่งเหตุผล ความดีงามและความถูกต้อง อันนี้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ปัจจุบันนี้เรามาเน้นคติเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลาย คือเราไม่ถือสิ่งต่างๆ ไปตามอำนาจกิเลสของเรา เราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง คำว่าไม่ยึดติดนี่จะมาสอดคล้องกับเรื่องความเป็นอิสระเสรี แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน ความเป็นอิสระเสรีไม่ยึดติดนี้จะต้องเกิดขึ้นด้วยปัญญา มิฉะนั้นอาจกลายเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

คนเรานี่จะมีความยึดมั่นได้แม้กระทั่งในความไม่ยึดมั่น ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นเป็นอย่างไร เรามีคำสอนธรรมว่า ไม่ควรยึดมั่น เราก็อยากจะประพฤติตามหลักธรรมข้อไม่ยึดมั่น แล้วก็ติดว่า ฉันจะต้องเป็นคนไม่ยึดมั่น ฉันจะต้องมีความประพฤติแสดงออก มีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นผู้ไม่ยึดมั่น เพราะฉะนั้นก็จะกระทำอะไรต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าตนเป็นคนไม่ยึดมั่น ตอนนี้แหละที่จะเกิดความยึดมั่นใหม่ คือความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น แล้วจะทำให้เกิดความผิดพลาด นี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะเตือนกันไว้ ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นนี่เป็นของสำคัญทีเดียว เพราะมันเป็นตัวหลอกขั้นสุดท้าย ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไปขัดกับพวกศาสดาเจ้าลัทธิทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ แต่ไปยึดติดทฤษฎีข้องอยู่นั่นไปไม่พ้น ท่านจึงเรียกทฤษฎีหรือทิฏฐินั้นๆ ว่า พรหมชาล แปลว่าตาข่ายดักพระพรหม คือร่างแหที่พวกศาสดาจารย์ผู้ประเสริฐพากันมาติดอยู่

ผู้ที่เรียนความไม่ยึดมั่นก็ต้องระวังว่าจะไปติดในความไม่ยึดมั่น การที่เราจะไม่ยึดมั่นสิ่งใดนี่ ที่แท้มันเกิดจากปัญญา คือรู้เข้าใจสิ่งนั้น รู้จนมองเห็นเกิดเป็นความตระหนักใจเองว่ามันมีสภาวะอันไม่น่าเอาไม่น่าเป็น เป็นเรื่องเหลวไหลที่จะทำอย่างนั้นๆ แล้วเราก็จะไม่ยึดติดมันเอง เป็นไปเอง โดยไม่ต้องคิดจะไม่ยึด ทีนี้คนธรรมดาเป็นปุถุชน เวลาบอกว่าเรายึดมั่นอะไรนี่ แต่ใจยังยึด ตัวกิเลสยังอยู่ ถึงปากจะบอกว่าไม่ยึด แต่ว่าใจมันก็ยังยึด ทีนี้เมื่อจะไม่ยึดก็จะบอกตัวเองว่า ฉันไม่อยากไม่ยึดมั่นนะ แล้วก็พยายามทำ พยายามแสดงความไม่ยึดมั่น เลยกลายเป็นหลอกตัวเอง ความจริงการไม่ยึดมั่นเป็นคติที่เป็นประโยชน์ นี่ไม่ใช่มาค้าน ความไม่ยึดมั่นเป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง แต่มีทางพลาดได้คือไปยึดมั่นความไม่ยึดมั่น ความไม่ยึดมั่นที่เราเอามายึดมั่นนี้มันเป็นทฤษฎี เป็นภาพในใจ ขออภัยใช้ภาษาอังกฤษเป็น concept ของความไม่ยึดมั่นเท่านั้น เมื่อจะไม่ยึดมั่น ก็กลายเป็นการพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นหรือไม่ก็เป็นการหลอกตัวเองว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่ยึดมั่น ทีนี้สิ่งที่ควรทำตามเหตุผลก็ไม่ทำ สิ่งที่ทำก็เกินเลยไป ไม่พอดี และการหลอกตัวเองนี่เป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการทรมานตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความไม่ยึดมั่นที่เกิดจากของจริงแล้ว ก็จะพอดี

นี่คือค่านิยมต่างๆ เอาเป็นว่าค่านิยมแห่งความเป็นอิสระทางใจหรือความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ เป็นค่านิยมสำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่จะต้องทำให้กระจ่างชัด อาตมาก็ได้เสนอมาพอสมควร มีอะไรก็มาพิจารณาด้วยกัน ทีนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นที่ประชุมของท่านที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธ เมื่อให้อาตมามาพูดในเรื่องค่านิยมในวันนี้ ชาวพุทธในที่ประชุมนี้ก็เลยเกิดหน้าที่ใหม่ที่จะต้องมาพิจารณาเรื่องค่านิยมว่า ในฐานะที่เราทำหน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกา เราก็มาย้ำกันว่า การที่เราจะทำหน้าที่นี้ได้อย่างจริงๆ จังๆ สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องตกลงกันให้ได้ว่า ชาวพุทธเราควรมีค่านิยมอะไรบ้าง อะไรเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง อะไรเป็นค่านิยมพุทธแท้จริง เมื่อตกลงหรือกำหนดได้แล้ว ก็ต้องเริ่มปฏิบัติให้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นของมีจริงขึ้น โดยเฉพาะก็จะต้องเป็นผู้นำในการสร้างค่านิยมพุทธ ที่แสดงออกในความประพฤติ การปฏิบัติ การดำเนินชีวิต เพื่อจะนำให้คนอื่นมีความเชื่อถือ มีความนิยมนับถือ แล้วมีค่านิยมของชาวพุทธนี้ด้วย นี่แหละคือหนทางที่นำไปสู่การเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ทีนี้เวลาต่อไปนี้ อาตมาเห็นว่า ถ้ายังเหลืออยู่ก็อาจจะมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขอเชิญท่านผู้ใดมีคำถามอะไรขอให้นำมาคุยกัน

พระสงฆ์โดยทั่วๆ ไป พุทธบริษัทต่อว่าว่าไม่น่านับถือแล้ว เพราะพระสงฆ์ที่เป็นตัวแทนของพระศาสนานี่ ไม่ค่อยเคร่งครัดต่อพระวินัย ซึ่งเราจะได้พบได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังกันมาก ในเรื่องนี้เราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร และถ้าเราจะพูดเพื่อแก้ไขข้อสงสัยนี้ เราควรจะพูดอย่างไร อีกข้อหนึ่งครับ พระสงฆ์ที่วุ่นวายเกี่ยวกับการเมือง ถือว่าผิดวินัยไหม

เจริญพร คำถามนี้รู้สึกจะเป็นคำถามสามัญในยุคปัจจุบัน ถือเป็นการยอมรับสภาพนี้ตั้งแต่เริ่มแรก คือตอนต้น อาตมาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ค่านิยมพุทธศาสนาได้เสื่อมลงทั้งในด้านความนิยมและกำลัง เรายอมรับว่าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอันเท่ากับบอกว่าค่านิยมพุทธศาสนานี่เสื่อมไปแล้ว มีข่าวเรื่อย เรื่องพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ก็มีการแก้ตัวและแก้ไขได้หลายอย่าง

การปฏิบัติในเรื่องนี้มี ๒ อย่าง อันหนึ่งคือพูดแก้ หรือพูดส่งเสริมว่าจริงหรือไม่อย่างนั้นอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่งคือ พูดถึงท่าทีของเรา ท่าทีของเราต่อปัญหา การที่เราจะมาตอบแก้ว่าจริงไม่จริงนี่ จะแย้งจะค้านไปก็เสียเวลา ไม่มีประโยชน์เท่าไร ทะเลาะไปก็ยิ่งมากเรื่องกว่านี้อีก ทีนี้เราจะวางท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะในที่นี้ ก็เป็นตัวแทนชาวพุทธ อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ควรจะวางท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร ท่าทีอย่างนี้ก็คือ ท่าทีแห่งความรู้ความเข้าใจ ท่าทีแห่งเหตุผล แต่ปัญญาหรือความรู้เหตุผลนี่เกิดขึ้นได้อย่างไร จะต้องมีความรู้อีกประเภทหนึ่งด้วย มันจึงจะมีปัญญาวินิจฉัยได้ว่า ควรจะทำอย่างไรดี ความรู้ที่ว่านี้คือความรู้ประเภทสุตะ และสุตะในที่นี้หมายถึงความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน

อาตมาขอย้ำเรื่องที่พูดมาแล้วตอนต้นว่า ท่านที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธนี่ สิ่งหนึ่งที่สำคัญน่าจะต้องย้ำ คือความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน อาตมาต้องขอติว่าผู้นำชาวพุทธเราไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับสถาบันพุทธศาสนา เช่นอยู่ในกรุงเทพฯ นี่ วัดอยู่ข้างๆ วัดอยู่ท่ามกลางพวกเรา เราแทบไม่รู้จักเลยว่าพระนี่คือใคร มีความเป็นอยู่ พื้นเพ อะไรต่อมิอะไรอย่างไร ครั้งหนึ่งในสมัยก่อน ชาวบ้านอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุสามเณร อยู่ด้วยกันใกล้ชิดกัน ก็เข้าใจซึ่งกันและกัน มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ทำความเข้าใจกันได้ ให้รู้ว่าเสียจุดไหน รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร ทีนี้ปัจจุบันไม่รู้จักกันนี่ เวลาเกิดเรื่องอย่างนี้ ก็ตอบปัญหาก็ช่วยไม่ได้ ถ้ารู้จักกัน เข้าใจกันดีแล้ว มันจะมีคำตอบให้ตัวเองในใจ รู้จักแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะชาวพุทธที่เป็นอุบาสกอุบาสิกานี้ในยุคนี้รู้สึกว่าพระสงฆ์ท่านมีอุปสรรคในการประกาศธรรมในพระพุทธศาสนา แต่ท่านถนัดในการที่จะประกาศความเสื่อมในพระพุทธศาสนา ทีนี้อุบาสกอุบาสิกาก็เป็นบริษัทใหญ่เหมือนกัน แทนที่จะทำหน้าที่ในการเผยแผ่ส่งเสริม ก็กลับจะไปหวังจากพระ อุบาสกอุบาสิกาก็มีฐานะเป็นพุทธบริษัทประกาศศาสนาได้เช่นเดียวกัน จริงอยู่ เราต้องยอมรับฐานะและบทบาทที่ต่างกัน แต่ไม่ใช่อุบาสกอุบาสิกาบริษัทจะไม่มีฐานะบทบาทของตนเองในสมัยพุทธกาล มีเอตทัคคะทางโน้น ทางนี้เยอะแยะไป และพระพุทธเจ้าก็ยังทรงสนับสนุนว่าถ้าอุบาสกอุบาสิกายังไม่มีความรู้ความสามารถในทางธรรม ยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะประกาศหลักธรรมและแก้ข้อกล่าวหาต่อพระศาสนาได้ พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญมั่นคง

อุบาสกอุบาสิกาควรจะต้องมีสถาบันของตัวเองได้ มีกิจการทางสังคมที่ใหญ่โต เป็นฐานรองรับภิกษุบริษัทไว้อีกชั้นหนึ่ง แบ่งงานกับพระสงฆ์ ทำบทบาทที่พระสงฆ์ไม่เหมาะที่จะทำในสังคม ส่วนประกอบของสังคมที่ใหญ่นั้น ถ้าหากว่าเป็นส่วนประกอบที่ดีก็จะมาช่วยซึ่งกันและกัน อุบาสกอุบาสิกาบริษัทที่ดีก็จะมาช่วยภิกษุบริษัทให้ดีขึ้น ถ้าหากเรามาถือว่า พระสงฆ์นี่เป็นตัวสถาบันพุทธศาสนาทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีส่วนช่วย สองส่วนน่าจะมาช่วยซึ่งกันและกัน ถ้าส่วนหนึ่งตกลงไป อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาช่วยพยุงขึ้น หลายครั้งหลายคราวที่อุบาสกอุบาสิกาจะสามารถค้ำชูไว้ได้ ถ้าเรารู้สึกว่าเรามีบทบาท เรามีภาระอยู่ บางครั้งเรามีความรู้สึกเหมือนว่าพระพุทธศาสนานี่เป็นของพระสงฆ์ฝ่ายเดียว เวลามีอะไรเกิดขึ้น ก็จะเหมือนกับว่า มีแต่พระสงฆ์เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในพระพุทธศาสนา หรือถึงกับเห็นพระสงฆ์เป็นเจ้าของพุทธศาสนาเสียเลย เมื่อพระสงฆ์เสื่อม หรือมีพระทำไม่ดี ก็พูดว่าจะไม่นับถือพุทธศาสนา ทำราวกะว่าตนเองเป็นคนนอก ไม่ได้เป็นเจ้าของพุทธศาสนาด้วย ที่ถูกควรคิดว่ามีคนไม่ดีเข้าไปบวชทำลายศาสนาของเรา เราจะต้องช่วยแก้ไข เมื่อมีพระสงฆ์เป็นแกนกลาง ถ้าหากว่าส่วนนอกไม่เข้าทำหน้าที่เสียเลย จะเป็นอย่างไร การที่เราบอกว่าอุบาสกอุบาสิกาทำอะไรไม่ได้ นี่แสดงว่าอุบาสกอุบาสิกาบริษัทเสื่อมไปก่อนแล้ว ถ้าหากอุบาสกอุบาสิกาเสื่อม พระสงฆ์จะไม่เสื่อมได้ยาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยโบราณ พระสงฆ์กับคฤหัสถ์อยู่ด้วยกัน พระสงฆ์สอนคฤหัสถ์ให้ทำความดี คฤหัสถ์คอยดูพระสงฆ์อยู่เรื่อยๆ พระสงฆ์ก็ประพฤติดี อุบาสกอุบาสิกามีความเคารพในพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็ระวังตัวต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวดี เมื่อประพฤติปฏิบัติตัวดีก็ได้รับความนับถือจากชาวบ้าน และสามารถสั่งสอนควบคุมชาวบ้านให้ประพฤติดี

ทีนี้ระบบนี้มันเสื่อมไปแล้ว ระบบการควบคุมโดยธรรมในพระพุทธศาสนาไม่มีเหลือ ความเสื่อมก็เกิดขึ้นได้ แต่ก่อนนี้พระจะไปไหน ไปสวดมนต์ไหน ไปทำอะไรที่ไหน เป็นอยู่อย่างไร ชาวบ้านก็รู้หมด เพราะว่าเขาใส่ใจ แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเอาแต่ประโยชน์ของตนเอง นิมนต์พระไปทำบุญบ้าน นี่มองแง่หนึ่งถือว่าชาวบ้านเอาประโยชน์ของตนเอง ฉันอยากทำบุญ ฉันก็รับพระมาทำบุญให้ฉัน พระจะทำอะไร อยู่อย่างไรก็ช่าง เราไม่ได้สนใจเลยว่าพระสงฆ์ที่ท่านมาเป็นใคร เป็นอย่างไร พอถึงเวลาท่านก็มาประกอบพิธีให้ นี่มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า พวกเราเอาแต่เรื่องของตนเอง ฝ่ายพระบางส่วนพอไม่มีใครมาดูแล้ว ฉันจะทำอย่างไรก็ได้ ก็ขาดระบบควบคุม อาตมาก็เลยขอบอกว่าความจริงอุบาสกอุบาสิกาบริษัทนั่นแหละเสื่อมก่อน เสื่อมมานานแล้ว เสื่อมจนจะไม่มีเหลือเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ถึงเวลานี้พระสงฆ์ภิกษุบริษัทจึงเสื่อมบ้าง เมื่อกำแพงรอบนอกพังลงแล้ว ความเสื่อมจึงเข้ามาถึงภายใน ที่ว่ามานี้ท่านจะยอมรับหรือไม่ โทษกันเอง เสียเวลาและไม่มีประโยชน์ มาช่วยแก้ดีกว่า เรามาช่วยกันศึกษาว่ามันเป็นเพราะอะไร เอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาวิเคราะห์ เมื่อรู้เข้าใจเหตุผลที่เป็นมาแล้วก็จะเกิดความเห็นใจ แต่ว่าถ้าเห็นใจเกินไปมันก็เสีย มันไม่รู้จักแก้ไข แต่ถ้าไม่รู้จักศึกษาก็ไม่รู้จักทางแก้ ก็แก้ไม่ถูกที่เหมือนกัน ในแง่ที่พระสงฆ์เสื่อมนี่ อาตมาว่าให้มองทั้งแง่ที่น่าเห็นใจด้วย ถ้าเราศึกษาเรื่องสถาบันสงฆ์ดีแล้ว เราก็เกิดความเห็นใจ ความรู้คือปัญญามันจะกลับมาทำให้เกิดกรุณา คือความที่เห็นอกเห็นใจแล้วก็จะเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักใหญ่ คือ ปัญญาคุณและกรุณาคุณ (จะเพิ่มวิสุทธิคุณตามนิยมในเมืองไทยก็ได้) เมื่อพระพุทธเจ้ามีปัญญาสูงสุดแล้วก็เข้าใจทุกข์สุขของสัตว์มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ก็เกิดกรุณาอยากจะช่วยเหลือ เราก็เหมือนกัน ถ้าเราได้ศึกษาอะไร เราเห็นโจรแต่ละคนนี่น่าจะลงโทษให้หนัก แต่พอเราศึกษาชีวิตเขาแล้วว่าเขาเป็นอย่างนี้เพราะอะไร แล้วเราอาจจะพบข้อน่าเห็นใจ และเข้าใจว่าสภาพสังคมนี้น่าจะมีอะไรแก้ไขอีกเยอะแยะ ใจจะเกิดความเป็นอิสระขึ้นแล้วเห็นทางแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอาตมาว่าอันนี้ต้องเริ่มด้วยปัญญา ชาวพุทธควรจะศึกษาเรื่องสถาบันพุทธศาสนาของตนเองให้เข้าใจดี ไม่ใช่รู้จักธรรมอย่างเดียว รู้จักว่าพระสงฆ์เป็นใครมาอย่างไร มีสภาพอย่างไร อะไรต่ออะไร เมื่อเข้าใจดีแล้ว ความเห็นใจและวิธีการแก้ไขจะตามมา คำถามเหล่านี้คุณจะตอบตัวเอง อาตมาจะไม่แก้ให้

พระสงฆ์วุ่นวายกับการเมืองนี่จะต้องแยกแยะ จะต้องใช้หลักวิภัชชวาทอีก พระพุทธเจ้าทรงติเตียนพระสงฆ์องค์เจ้าไม่ให้ยุ่งการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ พระมีหน้าที่สอนนักการเมือง อันนี้ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าการเมืองหรือเปล่า ที่จริงไม่ว่าใครทั้งนั้น ท่านให้ทำหน้าที่ของตนให้ดี ถ้าเป็นนักการเมืองก็ให้เป็นนักการเมืองที่ดี จะเป็นอะไรก็ให้เป็นอย่างนั้นที่ดี ถ้าพระจะทำหน้าที่ที่ดีก็คือสอนนักการเมืองให้ทำหน้าที่ให้ดี สอนข้อปฏิบัติที่ทำให้มีการเมืองที่ดีที่ชอบธรรม

อันนี้ยกปัญหาที่กล่าวถึงเมื่อกี้อีกแล้ว อาตมาบอกว่าให้ศึกษากันก่อน ศึกษาแล้วเกิดปัญญาจะแก้ไขอะไรต่างๆ ได้ ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทยขณะนี้ โดยเฉพาะในสังคมชาวพุทธคือความไม่รู้ ก็เลยไม่ทำหรือทำก็ไม่ถูกเรื่อง อาตมาขอย้ำว่า ในสังคมไทยเราไม่ค่อยรู้จักสังคมตัวเอง เราชอบหันไปมองข้างนอกก็เลยไม่รู้จักตัวเอง ตอนนี้เราจะสนับสนุนส่งเสริมค่านิยมชาวพุทธ ก็อยากจะให้ชาวพุทธนี่เป็นผู้ที่รู้จักสังคมไทยดีกว่าคนอื่น นักศึกษาชาวพุทธน่าจะเป็นส่วนที่รู้จักสังคมไทยดีกว่ากลุ่มอื่น เพราะว่าสังคมนี่รวมไปถึงสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ภายใน ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ถ้าเราจะแก้ไขคนไทย ก็ต้องรู้จักคนไทยให้ดี ปัจจุบันเราขาดความรู้ในเรื่องสังคมไทยอย่างมาก

วิธีการต้องอาศัยความรู้ การวางตัวของชาวพุทธที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาก็คือการส่งเสริมสิ่งที่ดีขึ้นมาแล้ว สิ่งไม่ดีก็จะอ่อนลงไป จางหรือลดน้อยลงไปเอง นี่เป็นวิธีแก้ไขอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ศึกษาให้ดี เราอาจจะแก้ผิด ถ้าจะแก้ระยะยาวเราต้องทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อชาวพุทธมีความรู้ก็จะมีความมั่นใจที่จะแสดงออก ถ้าทำอย่างจริงจัง ก็จะมีผลต่อบ้านเมือง

ขอตอบคำถามนี้รวบยอดอีกทีว่า ถ้าแม้พระสงฆ์จะทำตัวไม่น่านับถือ แต่ถ้าชาวพุทธชาวบ้านยังสามารถนับถือความเป็นชาวพุทธที่มีในตนเองได้ พุทธศาสนาก็จะยังอยู่ และจะแก้ไขพระสงฆ์ให้น่านับถือได้ต่อไป อันนี้เป็นคำถามที่ฝ่ายชาวบ้านจะต้องตอบเอง

อหิงสาของคานธี เกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักพระพุทธศาสนา

หลักอหิงสาเรารู้กันดีว่ามีมหาตมะคานธีเป็นผู้ยึดมั่นเด่นมาก ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์อหิงสาเป็นหลักธรรมเก่า

ในทางพระพุทธศาสนา อหิงสาก็เป็นธรรมข้อหนึ่ง แต่รูปที่ใช้บ่อยมักเป็นอวิหิงสา แปลว่าความไม่เบียดเบียน การไม่เบียดเบียนที่แสดงออกทางกายและวาจา มีคุณธรรมภายในเป็นพื้นฐานคือสัมมาสังกัปปะ ซึ่งแยกเป็นข้อย่อยข้อหนึ่งว่า อวิหิงสาสังกัปปะ ความดำริที่ปราศจากการเบียดเบียน อวิหิงสา เป็นคำควบคู่กับคำว่ากรุณา และหมายความตรงกับความกรุณาด้วย ในฐานะที่เป็นสัมมาสังกัปปะก็ย่อมต้องมาจากสัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจที่ถูกต้องหรือความเห็นชอบเป็นพื้นฐาน ถ้าต้องการทราบอหิงสาอย่างเป็นขบวนการของมหาตมะ คานธี เราก็ต้องศึกษาจากมหาตมะ คานธี อุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ยกหลักอหิงสานี้เป็นหลักเอกทีเดียว ถ้าจะตอบในแง่ประวัติศาสตร์จะยืดยาวไปกันไกลทีเดียว เพราะหลักอหิงสามีไม่เฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น นิครนถ์ก็สอนอหิงสา เน้นมากด้วย อหิงสาในพระพุทธศาสนา มีหลักการที่แตกต่างกับของนิครนถ์ในแง่สำคัญบางอย่าง ส่วนมหาตมะ คานธีนั้น ท่านได้ศึกษาหลักธรรมต่างๆ ของชมพูทวีปเป็นอันมาก รวมทั้งหลักอหิงสาที่ท่านฝักใฝ่มาก ซึ่งแหล่งอิทธิพลเดิมที่สำคัญก็คงจะเป็นพระพุทธศาสนาและลัทธินิครนถ์นี่แหละ แล้วท่านเจาะจงพัฒนาความคิดเกี่ยวกับอหิงสาขึ้นเป็นพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อใช้ให้ได้ผลทางปฏิบัติการอย่างเหมาะสมกับยุคสมัยของท่าน เรื่องนี้คงจะตอบสั้นๆ เพียงเท่านี้

1คำบรรยายแสดงแก่ที่ประชุมทางวิชาการศาสนาของชุมนุมพุทธศาสนาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่ มศว.บางแสน เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ พิมพ์ครั้งแรกใน จุลสาร วิถี ปีที่๑ ฉบับที่ ๔-๕ ของชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ และประเพณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก.ย.-ต.ค. ๒๕๒๕
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.