คนไทยกับเทคโนโลยี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนไทย กับ เทคโนโลยี1

ไทยยังไม่เป็นสังคมผู้ผลิต แต่เป็นสังคมผู้บริโภคเทคโนโลยี

ทำอย่างไรจะพัฒนาคนไทยได้สำเร็จ หรือถ้าจะให้ดี น่าจะถามว่า ทำอย่างไรคนไทยเราจะพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น เราต้องจับให้ได้ว่า คนไทยมีจุดอ่อนหรือย่อหย่อนในเรื่องอะไร โดยเฉพาะเหตุปัจจัยอะไรทำให้คนไทยอ่อนแอ ทำไมคนไทยจึงไม่ค่อยมีความเข้มแข็งจริงจังที่จะทำการต่างๆ ให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามอย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยว โดยมุ่งมั่นไปในทิศทางที่ชัดเจนอย่างแน่วแน่ต่อจุดหมาย

ในที่นี้ ขอแสดงความเห็นว่า นอกจากสภาพทางภูมิศาสตร์อันอุดมสมบูรณ์ ที่ทำให้จิตใจโน้มไปในทางที่จะติดเพลินในความสะดวกสบาย ชอบผัดเพี้ยน ไม่อยากดิ้นรน ขวนขวายแล้ว เหตุปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้คนไทยอ่อนแอมี ๒ อย่าง คือ

๑. ค่านิยมใฝ่เสพบริโภค

๒. ลัทธิรอผลดลบันดาล

เหตุปัจจัยข้อ ๒ ได้พูดไว้มากแล้ว คราวนี้จะพูดถึงเหตุปัจจัยข้อ ๑ คือ ค่านิยมใฝ่เสพหรือบริโภคนิยม และจะจำกัดในแง่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดดเด่นสำหรับยุคสมัยนี้

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี ก็เป็นการพูดถึงความเจริญของยุคปัจจุบัน และโยงไปหาประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะคือฝรั่ง สำหรับตอนนี้ เราลองมาดูว่า ฝรั่งกับไทยต่างกันอย่างไร

ตอนนี้เราพูดกันถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่โลกอยู่ในระบบแข่งขัน ก็ต้องดูว่า ใครแพ้ ใครชนะ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราพอใจแค่เอาชนะการแข่งขันเท่านั้น เราจะต้องไปไกลกว่านั้น คือต้องถึงขั้นเหนือการแข่งขัน ซึ่งต้องเก่งกว่านี้อีก จึงจะแก้ปัญหาของโลกได้ แต่ตอนนี้เอาแค่ขั้นต้น คือการเอาชัยในระบบแข่งขันที่เป็นอยู่เฉพาะหน้านี้ ก็ทำให้ได้ก่อนเถอะ

เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ ก็มาดูสังคมไทยในเวลานี้ ว่าเมื่ออยู่ในประชาคมโลก สังคมไทยของเราเป็นอย่างไร

สังคมไทยของเรานี้ถูกตราชื่อว่าเป็นสังคมด้อยพัฒนา เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกำลังพัฒนา ที่ชื่อว่ากำลังพัฒนานี้ก็ไม่ดีอยู่แล้ว นอกจากนั้น ในภาวะที่กำลังพัฒนา ก็เป็นสังคมผู้ตาม และคู่กับความเป็นผู้ตามคือเป็นผู้รับ แล้วก็เป็นสังคมที่ถูกกำหนด ไม่เป็นสังคมที่เป็นฝ่ายกำหนด เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เสียเปรียบ เพราะว่า ถ้าเราจะมีบทบาทในโลก เราจะต้องเป็นผู้กำหนดอะไรได้บ้าง เมื่อไม่มีความสามารถที่จะกำหนดแล้ว สิทธิต่อรองเป็นต้นก็ไม่มี ต้องถูกสังคมที่มีอิทธิพล คือสังคมที่พัฒนาเขากำหนดให้หมด อย่างนี้ก็แย่

ทำไมจึงเป็นสังคมที่ถูกกำหนด ก็เพราะเป็นสังคมฝ่ายบริโภค ไม่ใช่ฝ่ายผลิต โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นตัวบันดาลอิทธิพลสำคัญในระบบเศรษฐกิจแห่งการแข่งขันในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ เป็นอุปกรณ์ที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ของระบบแข่งขันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีจึงเป็นอุปกรณ์แห่งอำนาจ

ในแง่ของเทคโนโลยีนี้ เมื่อแบ่งฐานะและบทบาทของประเทศต่างๆ ในประชาคมโลก ก็จะมีประเทศที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี กับประเทศที่บริโภคเทคโนโลยี ประเทศไทยเป็นฝ่ายไหน ในแง่เทคโนโลยี ตอบว่าไทยเป็นประเทศผู้บริโภคเทคโนโลยี ไม่เป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี

กระแสโลกาภิวัตน์นั้น ประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีจะเป็นผู้กำหนด ฉะนั้นประเทศของเราจึงไม่เป็นตัวของตัวเอง เราจะทำอะไรให้ก้าวต่อไปก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเทคโนโลยี ต้องรอให้ฝรั่งผลิตขึ้นมาก่อนแล้วจึงทำได้

ทีนี้ นอกจากฝรั่งเป็นผู้กำหนดเราแล้ว เขายังหาผลประโยชน์จากเราได้ด้วย รวมทั้งญี่ปุ่น เขาก็มากระตุ้นเราให้อยากได้ เขาแข่งขันกันไป และจะโดยตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ล่อผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีรุ่นต่อไป ว่าจะดีกว่าในแง่นั้นแง่นี้ รถยนต์รุ่นต่อไปมีดีเพิ่มขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ คอมพิวเตอร์รุ่นต่อไป Pentium เท่านั้น จาก 100 เป็น 120 เป็น 133 เป็น 150 ขึ้นไป 166 จาก Pentium เป็น Pentium Pro ว่ากันไปจนเลย 200 คอยกระตุ้นอยู่เรื่อย เราก็ต้องซื้อ เมื่อซื้อก็ต้องจ่าย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ยากจนอยู่แล้ว ก็ตามซื้อเขาอีก ถ้าไม่มีหลักคิด เอาแต่จะตามให้ทันก็ต้องคอยตามซื้อและทุ่มจ่ายเรื่อยไป เลยทำตัวให้เป็นเหยื่อของเขา เมื่ออยู่ในสภาพปัจจุบันแห่งเศรษฐกิจระบบแข่งขันแบบนี้ เราก็จึงกลายเป็นผู้ตาม เป็นผู้รับ เป็นผู้ถูกกำหนด เป็นผู้ถูกกระทำ และกลายเป็นเหยื่อ

ที่พูดอย่างนี้ ไม่ควรคิดว่าเป็นคำรุนแรง เพราะในระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขัน ที่มนุษย์พยายามเอาชนะกัน แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายหนึ่งเป็นเหยื่อ เราปฏิเสธคำนี้ไม่ได้ เราอาจจะพยายามสุภาพไม่ใช้คำนี้ แต่ที่จริงก็เป็นเหยื่อนั่นเอง

ทีนี้ สังคมไทยทำไมจึงอยู่ในภาวะอย่างนี้ เป็นเพราะเราไม่มีศักยภาพในการแข่งขันใช่หรือเปล่า โดยเฉพาะคนของเราไม่มีคุณภาพพอ นอกจากปัจจัยอย่างอื่น เช่นอิทธิพลจากภายนอกมาครอบงำเรา แต่ที่จริงอิทธิพลมี ๒ อย่าง

อิทธิพลอย่างหนึ่งคือ การถูกครอบงำโดยภาวะบีบคั้นบังคับ เนื่องจากเขามีอำนาจเข้มแข็งกว่า เราไม่มีสิทธิเรียกร้อง ไม่มีสิทธิต่อรอง เราจึงถูกครอบงำ แต่อีกอย่างหนึ่งคือ การถูกครอบงำโดยความพอใจ หมายความว่า สังคมไทยพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น เราจึงทำตัวให้เป็นเหยื่อไปเอง แบบที่สองนี้เป็นมาก ถ้าเราไม่พอใจที่จะเป็นเหยื่อ แม้เราจะถูกครอบงำจากภายนอกด้วยปัจจัยทางด้านระบบ แต่ไม่ช้า ด้วยความเข้มแข็งของคุณภาพคน เราจะพลิกตัวขึ้นอยู่เหนือได้ เชื่อไหม

เราจะมัวแต่บอกว่า โอ้ย! ไม่ได้หรอก เขามีอำนาจมีอิทธิพลกว่ามาครอบงำเรา ถ้าคิดอยู่อย่างนี้ก็ตันเท่านั้น ก็ทำไมไม่พัฒนาตัวให้เข้มแข็งล่ะ มันต้องปลดเปลื้องตัวเองได้ซิ ถ้าแน่จริงก็ต้องพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น คุณภาพคนนี้สำคัญ จึงต้องพัฒนาคนไทยให้เข้มแข็ง

ขณะนี้เราเป็นสังคมที่เป็นฝ่ายบริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ฉะนั้นเราจึงเสียเปรียบทุกอย่าง เราเป็นผู้รับ เมื่อจะรับก็ต้องคอยรอเขา เมื่อรอจากเขา ก็ต้องตามเขา ตามฟังตามดูว่า เขาจะผลิตอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อจะรับเอา จึงเป็นผู้ถูกกำหนด ทั้งหมดนี้ก็เพราะเป็นผู้บริโภคของที่เขาผลิต ผลิตเองไม่ได้

นิสัยในการผลิตนี้สำคัญมาก เป็นความเข็มแข็ง ส่วนความอ่อนแอมากับนิสัยชอบเสพบริโภค เป็นลักษณะจิตใจของคนที่เห็นแก่การเสพบริโภค

การเสพบริโภค คือ กินนอนสบายใช้ของสำเร็จ ไม่ต้องทำอะไร คนที่ชอบความสุขจากการเสพบริโภค ก็คือคนที่อยากได้รับการบำรุงบำเรอโดยตัวเองไม่ต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นคนที่เป็นนักเสพบริโภคจึงมีทุกข์จากการกระทำ ถ้าต้องทำอะไรแล้วทุกข์ เขาไม่ชอบการกระทำ เพราะต้องการให้คนอื่นทำให้ แล้วเขาก็รอที่จะเสพบริโภค ส่วนคนที่เป็นนักผลิต ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง ชอบทำ และเขาจะมีความสุขจากการกระทำ เมื่อฝึกให้ดีก็จะก้าวไปสู่การมีความสุขจากการสร้างสรรค์

ทีนี้ นิสัยนักผลิตเรามีไหม ต้องถามคนไทยว่า เรามีนิสัยรักการผลิตหรือเปล่า คนไทยนี่นะ ขออภัยเถอะ แม้แต่ที่อยากเจริญอย่างฝรั่ง ซึ่งก็ตามเขาอยู่แล้ว เวลามองความหมายของคำว่าจะเจริญอย่างฝรั่ง เรายังมองแบบนักบริโภคเลย แทนที่จะมองแบบนักผลิต

ความเจริญอย่างฝรั่งมีความหมาย ๒ แบบ คือ แบบนักผลิต กับแบบนักบริโภค

ความเจริญอย่างฝรั่งในความหมายของนักบริโภคเป็นอย่างไร นักบริโภค เข้าใจว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีรถยนต์อะไรเราก็มีอย่างนั้น ฝรั่งมีตู้เย็นมีทีวีมีโทรศัพท์มือถืออะไรเราก็จะมีอย่างนั้น แล้วเราก็บอกว่านี่เราเจริญอย่างฝรั่ง

เพราะฉะนั้น เราก็ตามดูตามฟังเรื่อยซิว่า ฝรั่งมีอะไร ฝรั่งมีผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ เราก็ตามซื้อตามหามาใช้ แล้วก็เอามาอวดโก้กันเองว่า ฉันมีก่อนเธอนะ อย่างนี้เรียกว่าเจริญอย่างฝรั่งแบบนักบริโภค

ทีนี้ เจริญอย่างฝรั่งแบบนักผลิตเป็นอย่างไร นักผลิตคิดว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง หมายความว่า ฝรั่งทำอะไรได้ ฉันก็จะทำให้ได้อย่างนั้น ถ้าเข้มแข็งขึ้นไปอีก ก็บอกว่า ฝรั่งทำอะไรได้ เราจะต้องทำให้ดียิ่งกว่าฝรั่ง คนไทยคิดอย่างนี้บ้างไหม

นี่แค่ความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งก็ยังไปไม่รอดแล้ว เราไม่มีนิสัยจิตใจแบบนักผลิตเลย ชาติที่เขาเจริญอย่างฝรั่งได้ทัน จนกระทั่งนำฝรั่งได้ ต้องมีนิสัยนักผลิต เริ่มตั้งแต่การมองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งว่า ฝรั่งทำได้อย่างไร ฉันต้องทำได้อย่างนั้น และก้าวไปอีกขั้นหนึ่งว่า ฝรั่งทำอะไรได้ฉันต้องทำได้อย่างนั้น และต้องทำให้ดีกว่าฝรั่ง ถ้าได้ขนาดนี้แล้วไม่ต้องกลัวเลย ชาติไทยชนะแน่การแข่งขัน

นี่แหละ แม้แต่สภาพจิตยังไม่เอื้อเลย ความเข้มแข็งในจิตใจไม่มี นิสัยนักผลิตไม่มี

ต่อไป ความเข้มแข็งทางปัญญา คือ ความใฝ่รู้ ถ้าอยากจะรู้อะไร ก็หาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างอุทิศชีวิตให้เลย คนไทยยอมไหม ฝรั่งมีแล้ว ฝรั่งต้องการรู้เรื่องอะไร ถึงจะต้องเดินทางไป ๗ คาบสมุทรก็ไปเลย ยอมอุทิศให้ทั้งชีวิต ฝ่าฟันไปข้างหน้า ฝ่าดงดิบ ผจญภัยในท้องทะเล ทนหนาวทนร้อน ไปได้หมด เพื่อหาความรู้อย่างเดียวที่ต้องการ บุกไปเลย เท่าไรเท่ากัน ความใฝ่รู้นี้ คือความเข้มแข็งทางปัญญา

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีความรู้ขึ้นมา ก็มีความเข้มแข็ง และมีความมั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้นอีก เมื่อรู้ว่าสิ่งที่จะเจอข้างหน้าเป็นอย่างไร จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ก็แกล้วกล้า เดินหน้าได้ แต่คนไม่รู้ก็ไม่มีแรง ต้องถอยแน่นอน

ฝรั่งมีสภาพจิตใจอย่างหนึ่งที่เขาภูมิใจนัก เขาเรียกว่า frontier mentality คือสภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน ซึ่งเขาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ความเจริญของฝรั่ง ทั้งในยุโรปแล้วโดยเฉพาะก็มาพัฒนามากในคนอเมริกัน

ถ้าสังเกตในวัฒนธรรมฝรั่ง ฝรั่งชอบพูดคำว่า frontier ซึ่งทำให้มองไปข้างหน้า ทำให้บุกเบิกออกไป เมื่อไปสุดโลกนี้แล้ว ก็ต้องมุ่งหน้าไปในจักรวาล ออกไปสู่โลกอื่น มองออกไป ก้าวต่อไป บุกฝ่าไปเรื่อย จากยุโรปไปถึงแผ่นดินอเมริกาภาคตะวันออก ขึ้นฝั่งแล้ว ข้างหน้าโน้นตะวันตกกว้างขวาง มีแต่ป่าเขาลำเนาไพร จะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ว่านั่นคือแหล่งของความสำเร็จข้างหน้า ฉะนั้น ฝรั่งก็มองไปข้างหน้า บุกเบิกฝ่าไปตะวันตก Go west young man . . . เจ้าหนุ่มจงมุ่งหน้าไปตะวันตก นี่เป็นคติของฝรั่ง

แต่ frontier mentality นั้น ขณะนี้ฝรั่งเอง ที่เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบอกว่านี่แหละตัวทำลายละ เพราะเป็นต้นเหตุให้ฝรั่งทำลายธรรมชาติแวดล้อม ฉะนั้นฝรั่งจึงเกิดสำนึกว่าแนวคิด frontier mentality นี้ ทำให้เขา(รวมทั้งโลก)เกิดภัยพิบัติจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แต่มันก็เป็นเหตุแห่งความสำเร็จของเขาในอดีต อันนี้เราเรียนรู้เพื่อที่จะได้เป็นบทเรียน เราจะต้องรู้เรารู้เขา และพัฒนาคนของเราให้ถูกต้อง

ไทยมีจุดเริ่มที่ผิด ในการสัมพันธ์กับเทคโนโลยี

ทีนี้ หันกลับมาสู่เรื่องที่พูดไว้แต่ต้นว่า คนไทยเรานี้ไม่มีนิสัยนักผลิต แล้วยังขาดความเข้มแข็งทางปัญญาอีกด้วย เริ่มแต่ขาดความใฝ่รู้ ทีนี้เราก็มาดูภูมิหลังว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร การที่พูดถึงเรื่องภูมิหลังต่างๆ ของคนไทย ก็เพื่อรู้จักตัวเราเองให้ถูกต้อง และในหลายเรื่องก็ต้องเอามาเทียบกับฝรั่ง(ที่เราเห็นว่าเขาเจริญ) ด้วย

เมืองไทยเรานี้ มีทุนดีพิเศษติดตัว คือ สภาพภูมิศาสตร์ ที่มีธรรมชาติแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ อย่างที่เราชอบพูดอยู่เสมอด้วยความภูมิใจว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าเรามัวเพลินอยู่กับความสะดวกสบายจากความอุดมสมบูรณ์นี้ ข้อดีก็ทำให้เกิดผลร้ายตามมาได้ คือทำให้คนไทยตกอยู่ในความประมาท ชอบผัดเพี้ยน ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย จะเอาแต่ที่สบาย และอ่อนแอ ขาดความมุ่งมั่นที่จะทำการต่างๆ อย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง ต่างจากฝรั่งที่ธรรมชาติแวดล้อมบีบคั้น ทำให้เขาต้องลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ตั้งจุดหมายแน่วแน่ ทำจริงจังมั่นคง ผัดเพี้ยนเวลาไม่ได้ แล้วก็ทำให้เข้มแข็ง

ทีนี้ก็มาดูภูมิหลังในด้านความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึงแง่ของความสัมพันธ์ในเชิงเป็นฝ่ายผลิต หรือฝ่ายบริโภค แต่จะมีอีกแง่หนึ่งที่จะต้องพูด คือแง่ของจุดเริ่มต้นที่คนไทยได้สัมพันธ์เจอะเจอกับเทคโนโลยี อันนี้เป็นเรื่องของภูมิหลังที่ผ่านมาแล้ว แต่มีผลต่อความแตกต่างในด้านจิตใจ

คนไทยก็ใช้เทคโนโลยี ฝรั่งก็ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวกัน แต่ความรู้สึกนึกคิดและการมองความหมายไม่เหมือนกัน เราเคยคิดวิเคราะห์ความแตกต่างในเรื่องเหล่านี้ไหม ฝรั่งมองเทคโนโลยีในความหมายอย่างไร ไทยมองในความหมายอย่างไร ภูมิหลังเป็นมาอย่างไร การมองความหมายและความสัมพันธ์นั้นสร้างสรรค์ชีวิตและจิตใจอย่างไร คนไทยเจอกับเทคโนโลยี แล้วเราได้รับผลต่อชีวิตจิตใจต่างจากฝรั่งอย่างไร

คนไทยเจอเทคโนโลยีเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว โดยฝรั่งนำเข้ามา ข้อสังเกตก็คือว่า

๑. คนไทยเจอสิ่งของเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีที่สำเร็จรูปแล้ว ไม่ต้องผ่านการเพียรพยายามในการผลิตหรือการสร้างสรรค์ เจอปั๊บสำเร็จรูปมาแล้ว

๒. เครื่องใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปที่เจอนั้น มาเด่นมาชัดมามากในประเภทบริโภค ไม่ค่อยมีอุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทผลิต เพราะฝรั่งเดินทางมานี้เพื่อบุกฝ่าพรมแดน เที่ยวหาอาณานิคม เขาเอาเครื่องมือสำเร็จรูปมาใช้ มาอำนวยความสะดวกสบาย ส่วนเครื่องมือที่ผลิตอยู่ในประเทศของเขาเอง

ทีนี้ เมื่อคนไทยเจอเครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทสำเร็จรูป ที่มันมาช่วยในการดำเนินชีวิตให้สะดวกสบายในประเภทบริโภคนี้เข้า ก็เลยมองเทคโนโลยีในความหมายแบบบริโภคเลย คือมองว่า เทคโนโลยีก็คือเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกสบาย

คนไทยสะดวกสบายอยู่แล้ว ในด้านสภาพแวดล้อม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เมื่อเจอเทคโนโลยีประเภทบริโภคมาเสริมความสะดวกสบายเข้าไปอีก เลยยิ่งสบายใหญ่ สบายซ้ำสอง ฉะนั้น แนวโน้มของจิตใจก็ยิ่งเห็นแก่ความสะดวกสบายมากขึ้น เสริมความเป็นนักเสพบริโภค แล้วก็ยิ่งอ่อนแอลงอีก

ทีนี้ เราหันไปดูเทคโนโลยีกับฝรั่งบ้าง อุปกรณ์เทคโนโลยีชิ้นเดียวกันอันอำนวยความสะดวกสบายที่คนไทยเจอซึ่งมากับฝรั่งนั้น มีความหมายสำหรับฝรั่งโดยสัมพันธ์กับภูมิหลังแห่งการสร้างสรรค์ว่า มันเป็นผลผลิตแห่งความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ของเขาเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐๐ ปี กว่าเขาจะสร้างและพัฒนามันมาจนเป็นเครื่องใช้เทคโนโลยีชิ้นนั้นได้ มันนานเหลือเกิน

ทีนี้ เบื้องหลังของการสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีนั้น คืออะไร

๑. เทคโนโลยีอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์ เริ่มแรก เทคโนโลยีแบบพื้นฐานอาศัยความรู้ที่ยังไม่เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ในการเป็นอยู่ประจำวัน เช่น จะขุดดิน แทนที่จะใช้มือก็เอาไม้มาเหลามาถากเข้าแล้วก็เอาไปขุดดิน ต่อมาก็ทำจอบ ทำเสียม แม้แต่ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีหลายอย่างก็ไม่ถึงกับต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์(ในความหมายที่เคร่งครัดทางวิชาการ) เช่นการทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์หลายอย่าง

แต่สำหรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ โดยทั่วไปต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ต้องมีความรู้ เรื่องไฮดรอลิกส์ เรื่องกลศาสตร์ เป็นต้น จึงทำรถแบคโฮมาขุดดินได้ หรืออย่างจะทำไมโครโฟน ทำเครื่องบันทึกเสียงนี้ ก็ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น เช่นความรู้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า ความรู้เรื่องเสียง จึงเปลี่ยนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียง และเปลี่ยนคลื่นเสียงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ยิ่งพวกเทคโนโลยีชั้นสูง ก็ยิ่งมาอิงกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาก เช่น จะทำคอมพิวเตอร์ สร้างโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ทำเครื่องมือเลเซอร์ ทำเรื่องวิศวพันธุกรรม ก็ต้องมีความรู้เรื่องอีเลกทรอนิกส์ เรื่องนิวเคลียร์ฟิสิกส์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงพูดกว้างๆ ว่า เทคโนโลยีอาศัยวิทยาศาสตร์

เป็นอันว่า เรื่องเทคโนโลยีโยงไปหาวิทยาศาสตร์ ฝรั่งต้องพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มานานเป็นร้อยปีกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีระดับนี้ขึ้นได้ ในระหว่างที่เขาค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นานเป็น ๑๐๐ ปีนั้น เขาได้อะไร วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้น จิตใจวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้น นั่นก็คือ ความมีจิตใจใฝ่รู้ นิยมเหตุผล ชอบค้นคว้าทดลอง นี่คือสิ่งที่พ่วงมากับการพัฒนาเทคโนโลยีที่คนไทยไม่เคยมีภูมิหลัง เราไม่เกี่ยวด้วยเลย

ฉะนั้น ฝรั่งได้อย่างหนึ่งแล้วนะ จากภูมิหลังของความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอันเดียวกันนี้ คือฝรั่งได้วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ได้จิตใจใฝ่รู้ นิยมเหตุผล ชอบค้นคว้าทดลอง เป็นต้น ซึ่งได้มาเป็นรากฐานของความเข้มแข็งทางปัญญา

๒. เทคโนโลยีนั้น นอกจากอาศัยวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องอาศัยกระบวนการผลิตที่เรียกว่า อุตสาหกรรม เทคโนโลยีนั้นคู่มากับอุตสาหกรรม

ฝรั่งเจริญขึ้นมาได้ก็ด้วยอุตสาหกรรม และผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีได้ก็ด้วยอุตสาหกรรม แต่พร้อมกันนั้นเขาก็พัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี เทคโนโลยีนี่แหละอยู่เบื้องหลังความเจริญของอุตสาหกรรม ในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องมือเครื่องอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องยนต์ เป็นเรื่องเทคโนโลยีทั้งนั้น แต่เทคโนโลยีจะพัฒนาก็ต้องอาศัยอุตสาหกรรม เขาจะผลิตเครื่องบันทึกเสียง ไมโครโฟน ตลอดจนคอมพิวเตอร์ ก็ต้องอาศัยกระบวนการอุตสาหกรรม ฉะนั้นเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมจึงคู่กันมา

ฝรั่งสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาด้วยอะไร เขาบอกเองว่า ด้วยแรงจูงใจที่จะเอาชนะ scarcity คือ ความแร้นแค้นขาดแคลน เพราะเขาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่ไม่อำนวย เช่น ความหนาวเย็นที่รุนแรง ในฤดูหนาวไม่มีอาหารจะกิน จะอยู่รอดได้อย่างไร ทำอย่างไรจะมีอาหารกินในฤดูหนาว เป็นต้น เขาคิดว่าด้วยความขยันหมั่นเพียรในกระบวนการผลิตที่เรียกว่า อุตสาหกรรมนี้ เขาจะเอาชนะความแร้นแค้นขาดแคลนได้แล้วอุตสาหกรรมก็พัฒนาขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งจึงเรียกอุตสาหกรรมโดยใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า industry ซึ่งแปลว่า ความขยันหมั่นเพียร นี้คือตัวแท้ของอุตสาหกรรม คือ industry ที่แปลว่า ความขยันหมั่นเพียร แล้วไทยก็แปลมาเป็นอุตสาหกรรม คนประดิษฐ์คิดศัพท์ในภาษาไทยก็พยายามแปลและบัญญัติให้ตรงกับภาษาอังกฤษคือ industry นั้น และได้คำว่า “อุตสาหกรรม” ซึ่งแปลว่าการกระทำด้วยความอุตสาหะ อุตสาหะ ก็คือ ความขยันหมั่นเพียร ฮึดสู้

แต่คนไทยมองอุตสาหกรรมอย่างไร เราไม่ได้มองในความหมายของความขยันเลยใช่ไหม คนไทยมองอุตสาหกรรมว่าเป็นกระบวนการผลิตสิ่งเสพบริโภคเพื่อให้เราเป็นอยู่สบาย ส่วนฝรั่งมองอุตสาหกรรมว่าเป็นกระบวนการแห่งความขยันหมั่นเพียร สู้ยากบากบั่น ที่จะทำการผลิตขึ้นมา เพื่อเอาชนะความขาดแคลนแร้นแค้น ให้มีสิ่งบริโภค แล้วจะได้มีความสุขต่อไป จากภูมิหลังที่ต่างกัน ไทยกับฝรั่งจึงมองความหมายของอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน

อุตสาหกรรมอยู่เบื้องหลังความเจริญของเทคโนโลยี ฝรั่งบอกว่าเขามุ่งหมายความสำเร็จ ต้องการจะมีวัตถุบริโภคพรั่งพร้อม แต่เขาจะต้องอดทน ขยันหมั่นเพียร ไม่เห็นแก่ความสะดวกสบาย ไม่เห็นแก่ความสุขสนุกสนานบำรุงบำเรอ มุ่งหน้าทำการงานอย่างเข้มแข็ง ไม่ยอมแก่ความเหนื่อยยาก แต่ยอมอดยอมออมยอมอยู่ง่ายๆ ซึ่งเขาเรียกว่า work ethic (แปลว่า จริยธรรมในการทำงาน) และเขาก็มีความภูมิใจนักว่าด้วย work ethic นี้แหละ จึงทำให้เขาพัฒนาอุตสาหกรรมได้สำเร็จ

ฝรั่งภูมิใจเรื่องนี้นัก จนกระทั่งมาถึงยุคนี้เขาจึงเปลี่ยนมาคร่ำครวญกันหนักหนาว่า คนอเมริกันยุคใหม่ของเขาขาด work ethic เพราะเมื่อถึงยุคบริโภคแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่รู้รสของความยากลำบาก มีความสะดวกสบายทางวัตถุมาก ก็กลายเป็นคนหยิบโย่ง สำรวย ใจเสาะเปราะบาง ฉะนั้นคนอเมริกันรุ่นใหม่จึงกำลังถูกติเตียนจากคนอเมริกันรุ่นเก่า ว่ากำลังทำให้ประเทศของเขาเสื่อมลงและจะเสื่อมต่อไป

คนอเมริกันรุ่นเก่าเขาสร้างสรรค์ความเจริญมาด้วยฝีมือของตัวเอง เขาอยู่ในยุคอุตสาหกรรม แต่อเมริกายุคปัจจุบันนี้เป็น post-industrial คือ ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม มาเป็น consumer society กลายเป็นสังคมของนักบริโภคแล้ว ฉะนั้น ฝรั่งยุคปัจจุบันก็เลยพ้นยุคอุตสาหะ คือ พ้นยุคขยัน(มาเป็นยุคขี้เกียจ) และทำท่าจะพ้นยุคสร้างยุคผลิต(มาเป็นยุคเสพยุคบริโภค)

ยุคอุตสาหกรรม คือยุคคนขยัน สังคมอุตสาหกรรม คือ สังคมแห่งความขยันหมั่นเพียร ที่มีจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) จริยธรรมในการทำงานนี้คือหัวใจแห่งความสำเร็จของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมากับความขยันหมั่นเพียร เทคโนโลยีพัฒนามาด้วยอาศัยอุตสาหกรรม กว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้ามาได้อย่างที่เป็นอยู่นี้ ก็ต้องผ่านยุคอุตสาหกรรมมาเป็นร้อยๆ ปี เพราะฉะนั้น มันจึงทำให้ฝรั่งได้วัฒนธรรมอุตสาหกรรม

วัฒนธรรมอุตสาหกรรม ก็คือวัฒนธรรมแห่งการผลิตด้วยความขยันหมั่นเพียร ความอดทนต่อความยากลำบาก ไม่ยอมย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย พูดสั้นๆ ว่า ความสู้ยากบากบั่น เป็นอันว่า ฝรั่งได้นิสัยสู้สิ่งยาก และ นิสัยนักผลิต จากวัฒนธรรมอุตสาหกรรม

นี้คือภูมิหลังในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเราไม่มีเลย ไทยเราเจอเทคโนโลยีปั๊บ สำเร็จรูปมาแล้ว เสพสบายเลย เทคโนโลยีจึงมาหนุนมาเสริมความสะดวกสบาย ทำให้โน้มเอียงที่จะชอบเสพบริโภค เห็นแก่ความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ต่างจากฝรั่งซึ่งเทคโนโลยีนี้หมายถึงภูมิหลังของการได้พัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดมีนิสัยใจคอที่ฝังลึกคือ ความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เพราะฉะนั้น ไทยเราจะต้องรู้ตัวและแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้

คนไทยยังมองไม่ถึงความหมายของเทคโนโลยี

เรื่องคนไทยกับเทคโนโลยียังไม่จบเท่านี้ ในใจคนไทยเรามองความหมายของเทคโนโลยีโดยไม่รู้ตัวว่าอย่างไร เราไม่เคยเอามาพูดกัน เทคโนโลยีมีความหมายอย่างไร ในความหมายอย่างหยาบที่สุด คนโดยมากจะมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นวัตถุอุปกรณ์สำเร็จรูป เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ อย่างไมโครโฟน เครื่องเทป เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ พูดง่ายๆ ว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเครื่องใช้

ทีนี้ ในความหมายแบบหยาบๆ ในขั้นสำเร็จรูป ที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้นี้ ก็ยังแยกการมองความหมายออกไปได้เป็น ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑. เทคโนโลยี คือ เครื่องมือเครื่องใช้ที่อำนวยความสุขสะดวกสบาย (ช่วยให้เราไม่ต้องทำอะไร) เราจะต้องทำอะไร มันก็มาทำแทนให้ เราเลยไม่ต้องทำ เราอยากสนุกสนานเพลินเพลิน มันก็เป็นเครื่องบำรุงบำเรอเราตามใจปรารถนา

แบบที่ ๒. สำหรับคนอีกพวกหนึ่ง ความหมายต่างออกไปว่า เทคโนโลยี คือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จะมาช่วยให้เราทำอะไรๆ ได้ดียิ่งขึ้น และสามารถทำได้ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นว่า เราคิด จะทำงานส่วนนี้ เทคโนโลยีมาทำแทนให้ เราจะได้ก้าวไปทำส่วนโน้นต่อ หรือเราทำงานนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีก็มาช่วยให้ทำได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับคนพวกหนึ่ง เทคโนโลยีมาช่วยให้ไม่ต้องทำ แต่สำหรับคนอีกพวกหนึ่ง เทคโนโลยีมาช่วยในการทำ หรือมาช่วยให้ทำได้ดียิ่งขึ้นและสามารถทำยิ่งๆ ขึ้นไป พูดสั้นๆ ว่ามองในแง่ของนักบริโภคกับนักผลิต หรือนักเสพกับนักสร้างสรรค์ จะเห็นว่าคนไทยเรามองเทคโนโลยีแบบนักเสพนักบริโภคแทบทั้งนั้น คือมองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มาช่วยบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบาย (เราจะได้ไม่ต้องทำ) จึงคิดจะมีเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ตัวเองสบาย จะได้ไม่ต้องทำ แต่ขอให้ลองไปดูใน dictionary จะเห็นความหมายของเทคโนโลยีในเชิงช่วยอุดหนุนการกระทำให้ทำได้ดียิ่งขึ้น และทำยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่มาช่วยให้หยุดทำ

ฉะนั้นจะต้องมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จะมาช่วยให้เราทำการสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น นี่ต่างหากคือความหมายที่พึงต้องการ แค่ความหมายของเทคโนโลยีก็ตกแล้ว แต่ยังไม่จบแค่นี้ นี่เป็นเพียงความหมายขั้นหยาบเท่านั้น

ถ้ามองไปถึงความหมายที่แท้ ซึ่งถูกต้องและละเอียดอ่อนกว่านั้น เทคโนโลยีไม่ใช่แค่สิ่งสำเร็จรูปอย่างนี้ ลองมาดูกันให้ถึงตัวศัพท์ เราพูดว่าเทคโนโลยี ก็คือคำฝรั่งว่า technology ซึ่งได้แก่ techno + logy คำว่า logy แปลว่าความรู้ หรือวิทยา จะเห็นว่า วิชาต่างๆ ที่ลงท้ายด้วย logy เราพยายามแปลเป็นไทยให้ลงท้ายด้วย “วิทยา” ทั้งนั้น เช่น psychology แปลว่า จิตวิทยา sociology แปลว่า สังคมวิทยา criminology แปลว่า อาชญาวิทยา anthropology เราแปลว่า มานุษยวิทยา ถ้าไม่ลง logy เราก็จะแปลเป็น “ศาสตร์” อย่าง the humanities เราก็แปลว่ามนุษยศาสตร์ science เราแปลว่า วิทยาศาสตร์ linguistics เราแปลว่า ภาษาศาสตร์ ที่พูดมานี้ เพื่อให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่จริงเป็นเรื่องของความรู้มันไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือ และก็ไม่ใช่แค่ความรู้เฉยๆ แต่เป็นความรู้ที่จะทำ

การมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้นั้น นอกจากเป็นความหมายหยาบๆ ซึ่งไม่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการมองความหมายแบบนักเอาผลหรือนักเสวยผล ไม่มองลึกลงไปแบบนักสร้างเหตุ ที่จริงความหมายที่แท้ของเทคโนโลยี เป็นความหมายขั้นการสร้างเหตุ

ตามความหมายที่แท้ เทคโนโลยี คือการนำเอาความรู้ โดยเฉพาะความรู้วิทยาศาสตร์ มาจัดทำดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอยู่อย่างได้ผลดียิ่งขึ้น และทำการต่างๆ ได้สัมฤทธิผลดียิ่งขึ้น นี่คือเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีจึงไม่ได้อยู่แค่ความหมายหยาบ คือสิ่งสำเร็จรูปที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ แต่โยงไปหาเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น คือการนำความรู้มาใช้ นั่นคือ ตัวเหตุ

ความหมายที่แท้จริงต้องลงไปถึงความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ เทคโนโลยีที่เข้าใจว่าเป็นวัตถุเครื่องใช้นั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น การมองเทคโนโลยีจะต้องมองลงไปถึงความหมายพื้นฐาน คือตัวภูมิปัญญา หรือตัวความรู้ และการมองอย่างนี้จะโยงไปหาวิทยาศาสตร์ พอมองอย่างนี้ก็จะเห็นว่า science คู่กับ technology คือวิทยาศาสตร์คู่กับเทคโนโลยี ถ้าเทคโนโลยีไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นฐาน เทคโนโลยีพัฒนาไม่ได้ จึงต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์มาเป็นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี

คนไทยเรามักติดอยู่แค่เทคโนโลยี ไม่เข้าถึงวิทยาศาสตร์ ถ้าเราจะก้าวขึ้นไปในการกระทำคือการผลิตและการสร้างสรรค์ เราจะต้องมองเทคโนโลยีในความหมายที่ถูกต้อง คือมองลึกลงไปถึงตัวความหมายที่แท้ ที่ลงไปถึงเหตุ คือการนำความรู้โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์มาใช้สร้างสรรค์ เช่น ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จะช่วยในการดำเนินชีวิตและทำกิจการงาน เมื่อมองอย่างนี้ ก็จะทำให้เราต้องหันไปเน้นในเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นฐานของมัน เวลานี้เราใส่ใจกันนักในเรื่องเทคโนโลยี แต่ละเลยเรื่องวิทยาศาสตร์ ถ้าจะพัฒนาประเทศชาติกันจริงๆ จะต้องลงลึกไปถึงขั้นพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้ได้

เมื่อคนไทยชอบใช้ชอบเสพเป็นนักบริโภค ก็นึกคิดกันอยู่แค่เทคโนโลยี เลยเข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์ แม้แต่เป็นผู้บริหารประเทศชาติ พอพูดถึงวิทยาศาสตร์ หลายท่านก็มองแค่เทคโนโลยี คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจคำว่าวิทยาศาสตร์ ว่าแตกต่างจากเทคโนโลยีอย่างไร เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ ก็เข้าใจแค่เทคโนโลยีเท่านั้น และเทคโนโลยีที่เข้าใจนั้น ก็ไม่ถูกต้องอีก เพราะมองอยู่แค่ตัววัตถุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ คือโภคภัณฑ์ที่จะเอามาเสพมาใช้ ไม่มองถึงความรู้จักจัดทำ นับว่าเป็นความผิดพลาดที่สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องส่วนประกอบของความเข้มแข็งทางปัญญาเลยทีเดียว ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ จะไปพัฒนาคนกันได้อย่างไร เพราะว่าขนาดแค่ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ยังจับไม่ถูก

เทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องของความรู้ที่จะทำ หรือการรู้จักดำเนินการ ประยุกต์ความรู้มาใช้ประโยชน์ทำการสร้างสรรค์ คู่กับวิทยาศาสตร์ ทำไมเทคโนโลยีคู่กับวิทยาศาสตร์ เพราะว่าวิทยาศาสตร์เป็นตัวองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ค้นหาความจริงของธรรมชาติว่าคืออะไร เป็นอะไร เป็นอย่างไร เป็นเพราะอะไร วิทยาศาสตร์บอกอย่างนี้ แล้วเทคโนโลยี ซึ่งเป็นความรู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ไปเอาความรู้วิทยาศาสตร์ที่ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร เพราะอะไรนั้น มาใช้จัดสรรดำเนินการให้การดำเนินชีวิตและทำกิจการงานของมนุษย์เป็นไปอย่างได้ผลดียิ่งขึ้น เทคโนโลยีจึงเป็นการนำความรู้วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เป็นความรู้ขั้นปฏิบัติการ นำมาใช้ประโยชน์

วิทยาศาสตร์เป็นตัวความรู้เฉยๆ เทคโนโลยีก็ไปเอาความรู้วิทยาศาสตร์นั้นมาดำเนินการสร้างสรรค์ทำอะไรต่างๆ ให้เราได้ประโยชน์จากความรู้นั้น วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของความ “รู้” เทคโนโลยีเป็นเรื่องของการ "ทำ” แต่จะทำได้ก็ต้องรู้ หรือต้องรู้จึงทำได้ เทคโนโลยีเชื่อมโยงความรู้ออกมาสู่การกระทำ

การมองความหมายของเทคโนโลยีขั้นนี้เป็นขั้นมองลงไปถึงเหตุ ไม่ใช่มองแค่ผลผลิตที่สร้างสรรค์แล้ว แต่มองลึกลงไปถึงการที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยโยงต่อไปถึงการที่จะต้อง

๑. ทำให้เกิดความรู้วิทยาศาสตร์ขึ้นมา

๒. เอาความรู้วิทยาศาสตร์นั้นมาดำเนินการสร้างสรรค์จัดทำให้เกิดเป็นงานเป็นการ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นต้น

ขั้นนี้ต่างหากที่เราควรมองเทคโนโลยี แต่คนไทยโดยทั่วไปไม่มองความหมายถึงขั้นนี้ ยิ่งกว่านั้น คนไทยจะมองแม้แต่วิทยาศาสตร์ในความหมายที่เป็นเทคโนโลยี หลายคนเมื่อถูกถามว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร เขามองได้แค่เทคโนโลยีเท่านั้น เมืองไทยเราติดอยู่แค่เทคโนโลยี(ในความหมายอย่างหยาบที่ไม่ถูกต้อง) เข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์แทบไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยเลย ถ้าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เกิด จิตใจวิทยาศาสตร์เกิด จะมีความใฝ่รู้ จะนิยมเหตุผล จะชอบทดลอง จะนิยมปัญญา และจะชอบแสวงหาปัญญา คนไทยจะต้องสนใจให้ถึงตัววิทยาศาสตร์เอง ซึ่งเป็นฐานของเทคโนโลยี

ถ้าคนไทยมองเทคโนโลยีโยงไปถึงวิทยาศาสตร์อย่างนี้ ก็จะสร้างจิตใจของนักผลิตและนักสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ทำให้เกิดคุณสมบัติคู่กันที่ครบวงจร คือ วิทยาศาสตร์สร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้ และเทคโนโลยีสร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อประสานเข้ากับวัฒนธรรมแห่งความบากบั่นสู้สิ่งยากของอุตสาหกรรม ก็นำไปสู่ความเจริญขยายตัวของวิทยาการและการผลิตการสร้างสรรค์ พร้อมทั้งความก้าวหน้าทางวัตถุและความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์

มองลึกละเอียดลงไปให้เห็นแง่มุมเพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะได้พัฒนาคนและพัฒนาทุกอย่างให้ถูกต้อง ที่ว่าเทคโนโลยีเชื่อมโยงความรู้ออกมาสู่การกระทำนั้น ยังมีความหมายซ้อนและซ่อนอยู่อีก กล่าวคือ ในการที่ความรู้จะโยงออกมาสู่การกระทำได้นั้น จะต้องมีความรู้คิดหยั่งเห็นในหนทางและวิธีการที่จะจัดทำนำความรู้มาใช้ และมีฝีมือที่จะทำให้สัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งปรีชาที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ ความสามารถ ๒ ขั้นนี้มีชื่อเรียกว่า ศิลปะ เพราะฉะนั้น ในเทคโนโลยีจึงมีศิลปะรวมอยู่ด้วย พูดให้เป็นสำนวนว่า เทคโนโลยีโยงวิทยาศาสตร์กับศิลปะเข้าด้วยกัน หรือพูดให้สั้นลงไปอีกว่า เทคโนโลยีโยงศาสตร์กับศิลป์เข้าด้วยกัน และเมื่อทำได้อย่างนี้ เทคโนโลยีจึงทำให้วิทยาศาสตร์เกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม หรือแก่มวลมนุษย์และแก่โลกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่เท่านั้น การที่เทคโนโลยีโยงศาสตร์กับศิลป์มาต่อกันได้อย่างนี้ ยังไม่เป็นหลักประกันว่าจะเกิดผลดีเป็นประโยชน์สุขอย่างแท้จริง การพัฒนาคนเพียงขั้นนี้ ยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องมีการพัฒนาคนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตัดสินเด็ดขาด คือ พัฒนาคนให้สามารถโยงศาสตร์กับศิลป์ ให้ถึงกุศลด้วย คือให้มาเชื่อมต่อหรือรับใช้เจตจำนงที่จะใช้ศิลป์นำศาสตร์ไปทำการสร้างสรรค์ให้เกิดผลดีเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง เช่นนำมาช่วยให้มนุษย์มีปัจจัยสี่กินใช้ทั่วถึง มีสุขภาพดี บำบัดทุกข์ภัย ให้เป็นอยู่อย่างสวัสดี มีสันติสุข

เมื่อเทคโนโลยีขึ้นมามีบทบาทสนองเจตจำนงที่เป็นกุศล ก็จะส่งผลสืบทอดไปถึงอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตเป็นไปในทางสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์และสรรพชีพอย่างแท้จริง

หากปราศจากการพัฒนากุศลแล้ว การพัฒนาศาสตร์และศิลป์อาจเบี่ยงเบนออกจากทางที่แท้อันถูกต้อง กลายเป็นเครื่องก่อความหายนะและความพินาศแก่มนุษย์และโลกทั้งหมดก็ได้ แต่ถ้าเราพัฒนาคนให้ถึงขั้น ได้ทั้งศาสตร์ ทั้งศิลป์ และทั้งกุศล และสามารถโยงศาสตร์และศิลป์ ให้ถึงกุศล ก็จะเป็นมงคล คือก่อให้เกิดความดีงามและความงอกงามของมนุษยชาติ เป็นอารยธรรมที่พึงประสงค์อย่างแท้จริง

คนไทยยังศึกษาไม่ถึงสาระของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในสังคมไทยของเรา การพัฒนาประเทศขณะนี้มีปัญหา เพราะว่า คนไทยเพลินอยู่แค่วิชาการที่เป็นระดับเทคโนโลยีในระบบความคิดแบบแยกส่วน วิชาการจำพวกวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คนไทยไม่สนใจ จึงเกิดเป็นปัญหาของประเทศชาติในปัจจุบันว่า วิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หาคนศึกษายาก รัฐบาลวางแผนพัฒนาประเทศขณะนี้ต้องไปเน้นย้ำว่าทำอย่างไรจะส่งเสริมให้มีคนศึกษาวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เพราะที่แท้วิทยาศาสตร์ต่างหากที่จะเป็นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี ถ้าอยู่แค่เทคโนโลยีก็ไปไม่ไกล

ขอให้ไปดูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะรู้ว่าสังคมไทยขาดแคลนนักศึกษาผู้เรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปัญหาของสังคมไทยเราจึงมีมากมายหลายอย่างและหลายชั้น ทั้งปัญหาเฉพาะของเราเอง และปัญหาร่วมกันกับโลกปัจจุบันทั้งหมด เมื่อขาดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ก็ขาดศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี แม้แต่การพัฒนาความรู้ศาสตร์ ที่จะมาโยงกับศิลป์ ก็ยังโหว่เชื่อมกันไม่ไหว จึงไม่ต้องพูดว่าจะพัฒนาให้ถึงกุศลได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี ในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์นี้ ถ้ามองให้ดี ปัญหาความขาดแคลนผู้เรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่แท้จริง ความขาดแคลนผู้เรียนวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ เป็นปัญหาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งโยงไปถึงเรื่องกำลังคนในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เป็นปัญหาขั้นพื้นผิวที่โผล่ให้เห็น เป็นปลายเรื่องเท่านั้น

ปัญหาที่แท้ก็คือ การศึกษาวิทยาศาสตร์โดยรวมในสังคมไทยที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นไปจนตลอด ไม่ว่าจะเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษาก็ตาม ถ้าไม่ถือว่าล้มเหลวทั้งหมด ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างผลที่เป็นสาระของการศึกษาวิทยาศาสตร์

การศึกษาวิทยาศาสตร์ มิใช่เป็นเพียงการเรียนรู้ข้อมูลวิชาวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่เพียงความสามารถใช้วิธีการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาจิตปัญญาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาในตัวคนผู้เรียน คือ การที่คนมีจิตใจวิทยาศาสตร์ ตลอดจนถึงการที่สังคมมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ความใฝ่รู้ ความเป็นผู้มีเหตุผล ความนิยมปัญญา ความไม่เชื่อง่ายเหลวไหลงมงาย ความชอบพิสูจน์ทดลอง ชอบค้นคว้าสืบค้นหาความจริง แต่ภาพที่ปรากฏในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ดูเหมือนจะตรงข้ามกับความมีจิตใจวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จึงทำให้มองได้ว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยที่ผ่านมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ได้ผลที่พึงต้องการ คือผลที่เป็นสาระของการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ว่ามานั้น (เรื่องนี้สถาบันพุทธศาสนาก็ไม่พ้นที่จะถูกติเตียนแบบเดียวกัน)

การศึกษาวิทยาศาสตร์ฉันใด การศึกษาด้านเทคโนโลยีก็ฉันนั้น สาระของการศึกษาเทคโนโลยี มิใช่แค่การรู้จักทำและรู้จักใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ แต่อยู่ที่การพัฒนาความใฝ่สร้างสรรค์ พร้อมทั้งความคิดสร้างสรรค์และฝีมือสร้างสรรค์ กล่าวคือความใฝ่ปรารถนาที่จะแก้ปัญหาและทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมอย่างแรงกล้า ที่ทำให้หาทางและเพียรพยายามนำเอาความรู้ที่ดีที่สุดมาจัดสรรประดิษฐ์นวัตกรรมที่จะบันดาลผลให้สำเร็จประโยชน์สุขนั้น ซึ่งการศึกษาด้านกุศลจะมาช่วยปิดกั้นความผิดพลาด โดยทำให้มองเห็นถูกต้องชัดเจนว่า ประโยชน์สุขที่ปรารถนานั้นเป็นประโยชน์สุขแท้จริง ที่เกื้อกูลแก่ชีวิต สังคม และระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด มิใช่เป็นเพียงสิ่งบำรุงบำเรอชอบใจที่หลงตื่นชื่นชมวูบวาบไปด้วยกำลังโมหะ

การลงทุนสนับสนุนเพียงด้วยงบประมาณและการให้ทุน ตลอดจนเพิ่มค่าตอบแทน อาจช่วยให้มีจำนวนผู้ศึกษาเล่าเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และสังคมไทยได้กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์มาบรรจุในวงงานต่างๆ เช่นประจำโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น หนุนเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ สนองความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมได้ผลมาก จนกระทั่งถ้าเสียหลัก ก็อาจจะมีสภาพอย่างที่เรียกว่าเป็นเพียงวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม (เวลานี้ดูเหมือนจะมีความโน้มเอียงที่จะเกิดมีวิทยาศาสตร์เชิงพาณิชย์ หรือวิทยาศาสตร์แบบธุรกิจ เหมือนอย่างกิจการด้านอื่นๆ ของยุคสมัย) แต่คงไม่ช่วยให้ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ที่เป็นนักค้นพบผู้สร้างยุคสมัย หรือเป็นผู้นำโลกสู่ก้าวใหม่แห่งการบุกฝ่าพรมแดนความรู้วิทยาศาสตร์

ความสำเร็จที่ว่านั้นอยู่ที่การศึกษาวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงสาระ ซึ่งสามารถสร้างจิตใจวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ดังที่กล่าวข้างต้น คือความใฝ่รู้ รักความจริง ชอบเหตุผล นิยมปัญญา ชอบค้นคว้าแสวงหาสืบสาว ตรวจสอบ ทดลอง ชนิดที่ว่าถ้ายังไม่ถึงความจริงถ่องแท้จะไม่ยอมหยุด เช่นเดียวกับจิตใจของนักเทคโนโลยี ที่ใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องหาทางจัดดำเนินการให้ประโยชน์สุขนั้นเป็นผลสำเร็จให้ได้

ถ้าการศึกษาวิทยาศาสตร์สร้างจิตใจวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ (และการศึกษาเทคโนโลยีสร้างจิตใจของนักสร้างสรรค์) อย่างที่ว่ามานี้ได้ จึงจะเป็นการศึกษาวิทยาศาสตร์ (และการศึกษาเทคโนโลยี) ที่แท้จริง ซึ่งเข้าถึงสาระ และมั่นใจได้ว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จะคึกคักขึ้นมาเองโดยธรรมชาติอย่างไม่ขึ้นต่อกระแสเศรษฐกิจมากนัก และสังคมไทยจะมีนักค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่ต้องรอตื่นเต้นดีใจกับคนดีคนเด่นที่โผล่ดังขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์บังเอิญของสังคม ชนิดนานแสนนานจะมีสักคน

เพียงแค่ว่าสังคมไทยขาดแคลนผู้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ก็มีคำถามที่หนักหนาว่ารัฐบาลจะหาทางแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่เราไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาล เพราะปัญหาที่แท้จริงใหญ่กว่านั้น ซึ่งจะต้องถามคนไทยทั้งชาติเลยทีเดียวว่า คนไทยจะพัฒนาตัวเองและช่วยกันพัฒนาสังคมไทยอย่างไร?

นี้เป็นข้อใหญ่ของปัญหาการพัฒนาประเทศไทย

คนไทยยังใช้เทคโนโลยีแทบไม่ได้คุณค่าในการพัฒนา

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศหรือสังคมต่างๆ ในโลก เราเป็นประเทศผู้บริโภคเทคโนโลยี ในขณะที่บางประเทศเขาเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี นี่เราก็เสียเปรียบขั้นหนึ่งแล้ว ทีนี้พอเราบริโภคเทคโนโลยี คือนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็มีปัญหาในการใช้อีกว่าใช้เพื่ออะไร การใช้แบบไหนมากในสังคมไทย

การใช้มี ๒ แบบ คือการใช้เพื่อเสพ กับการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ เราดูตั้งแต่ประชาชนทั่วไป ดูผู้ใหญ่ ดูเด็กนักเรียนในโรงเรียน จนกระทั่งถึงในบ้าน ในครอบครัว ว่าใช้เทคโนโลยีกันแบบไหน แต่ต้องรู้จักแยกก่อนว่า การใช้เพื่อเสพ กับการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ต่างกันอย่างไร พอแยกได้ปั๊บ เราจะเห็นคนไทยทันทีเลยว่า คนไทยส่วนมากใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพ หรือเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์

ในการใช้เพื่อเสพ กับใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์นั้น เปอร์เซ็นต์ในการใช้ ๒ แบบนี้ จะต้องสมดุล ขณะนี้เราเสียดุลอย่างหนัก เราใช้เพื่อเสพแทบจะ ๙๐% คือหมดดุลเลย การใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์แทบไม่มี แม้แต่เด็กๆ เล็กๆ มาที่วัด เมื่อคุยกับเด็ก ลองถามดูว่าหนูดูทีวีวันละกี่ชั่วโมง ก็ได้คำตอบว่า ดูวันธรรมดาเท่านี้ ชั่วโมง เสาร์-อาทิตย์เท่านี้ชั่วโมง ทีวีเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยี หนูใช้มัน หนูดูมันเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์

เด็กคนหนึ่งอยู่ ป. ๕ อาตมาถามแกว่า หนูดูทีวีนี้ดูเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ แกบอกอาตมาว่า หนูดูเพื่อเสพ ๙๙% อาตมาก็ถามแกต่อไปว่า แล้วการดูทีวี เพื่อเสพกับเพื่อศึกษา อย่างไหนถูกต้องกว่ากัน แกก็บอกว่าดูเพื่อศึกษาถูกต้อง แล้วทำไมหนูดูเพื่อเสพตั้ง ๙๙% จะถูกหรือ เด็กบอกว่าไม่ถูก ก็ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่ถูก เรามาแก้ไขปรับปรุงกันเอาไหม เด็กบอกว่า เอา ถ้าอย่างนั้นเราลองมาช่วยกันคิดซิว่า เราจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป ลองเริ่มว่า ตอนนี้จะเอาเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ เด็กตอบว่า เอา ๕๐/๕๐ เราก็รู้ว่าเด็กตอบเอาใจพระ ก็บอกว่า หนู พระไม่เรียกร้องจากเด็กมากอย่างนั้นหรอก เห็นใจ สังคมของเรามันก็เป็นอย่างนี้ ผู้ใหญ่ทำมาเป็นตัวอย่าง เรามาตกลงกัน ลองวางดูซิ เอาแค่ให้ข้างศึกษามันเพิ่มขึ้นหน่อย

ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่า ให้ดูเพื่อเสพ ๗๐% ดูเพื่อศึกษา ๓๐% จากขั้นนี้เราค่อยๆ ก้าวต่อ แต่มันจะเป็นไปเอง ถ้าเด็กเริ่มใช้เทคโนโลยี เช่น ดูทีวีเพื่อศึกษามากขึ้น เขาจะพัฒนาความใฝ่รู้ แล้วเขาจะมีความสุขจากการเรียนรู้ แล้วเขาจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการใช้เพื่อศึกษา แล้วจากการใช้เพื่อศึกษาก็จะก้าวอีกขั้นหนึ่ง ไปสู่การใช้เพื่อสร้างสรรค์ เชื่อไหม มันจะต่อกัน แต่ถ้าใช้เพื่อเสพก็จะตันอยู่ที่นั่นเอง วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏแห่งความยินดียินร้ายชอบชัง แต่ถ้าใช้เพื่อศึกษาเขาจะก้าวต่อไปสู่การสร้างสรรค์

เด็กอีกคนหนึ่งอยู่ ป.๔ คุณพ่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ ก็ถามแกว่า ที่หนูใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีคือคอมพิวเตอร์นี้ หนูใช้เพื่อเสพหรือเพื่อศึกษา เด็กบอกว่าหนูก็ใช้เพื่อเสพซิ ใช้เพื่อเสพอย่างไรล่ะ ก็เล่นเกมส์ซิ ก็ถามว่าทำไมไม่ใช้เพื่อศึกษาล่ะ เช่น หัดพิมพ์ดีด เด็กก็ว่ามันไม่สนุกอย่างนี้เป็นต้น

แน่นอนว่า การเล่นเกมส์เป็นประโยชน์แก่เด็กไม่น้อย (เป็นธรรมดาอยู่แล้วว่า การเล่นโดยทั่วไป เป็นกิจกรรมที่ช่วยการพัฒนาของเด็ก) โดยเฉพาะเกมส์บางอย่างช่วยฝึกสมองได้มาก แต่พร้อมกับประโยชน์มันก็มีโทษด้วย และการที่จะมีประโยชน์มากหรือน้อย มีโทษมากหรือน้อย และมีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากันนั้น ย่อมขึ้นต่อเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น เกมส์ที่เล่นเป็นเกมส์อะไร ผู้ออกแบบทำขึ้นมาจากสภาพจิตและเจตจำนงที่มุ่งอะไร เด็กเล่นอย่างไร เด็กมีความรู้คิดแค่ไหน อยู่ในความดูแลชี้แนะนำทางหรือไม่อย่างไร เล่นภายในขอบเขตหรือโดยสมดุลกับกิจกรรมการศึกษาและสร้างสรรค์อย่างอื่นหรือไม่ อิทธิพลและผลสะท้อนในทางชักจูงหรือก่อพฤติกรรม ความคิด จิตนิสัยหรือสภาพจิต แต่ละด้านๆ เป็นอย่างไร คุ้มหรือไม่ เด็กใฝ่หรือยอมรับกิจกรรมทางเลือกอื่นที่ดีกว่าได้แค่ไหน มีการคุมให้ได้ผลที่พึงประสงค์ เช่นใช้เป็นสื่อนำสู่สิ่งที่เป็นสาระแท้ได้เพียงใด และที่สำคัญยิ่ง ซึ่งมักมองข้ามกันไป ก็คือความหมกมุ่นกับเทคโนโลยีเกินพอดี ที่ทำให้เด็กห่างเหินหรือถึงกับแปลกแยกจากธรรมชาติ และแม้แต่จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เวลานี้ คนชอบอ้างรายงานผลการวิจัยในเรื่องต่างๆ เช่นในด้านเทคโนโลยี ซึ่งก็มีประโยชน์ แต่ก็ต้องระวัง ไม่เฉพาะผลการวิจัยที่รับใช้ธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น แม้แต่การวิจัยที่บริสุทธิ์ก็มักเจาะหาความจริงเฉพาะแง่เฉพาะด้าน หรือแม้แต่เฉพาะจุด ซึ่งจะต้องมองให้พอดีกับสถานะของมัน

หันกลับมาเรื่องเก่า เด็กชุดนี้ตกลงไปแล้ว ต่อมาอีกชุดหนึ่งๆ ก็ใกล้ๆ กัน เฉลี่ยใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพอย่างน้อย ๘๐% เราลองดูผู้ใหญ่ซิเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ไทย ใช้เพื่อเสพมาก หรือใช้เพื่อศึกษามากกว่า จะต้องเริ่มที่นี่ก่อน เช่นอย่างดูทีวี ปรากฏว่าใช้เพื่อดูการบันเทิง ใช้ดูมวยตู้ เสียมาก แม้แต่การใช้เราก็พลาดแล้ว ฉะนั้น จะต้องมีเปอร์เซ็นต์ของการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ให้เพิ่มขึ้น แล้วต่อไปการมีความสุขก็จะสัมพันธ์กับการใช้นี้ด้วย เพราะเมื่อเราพัฒนาการใช้ ก็จะนำไปสู่การมีความสุขที่ต่างกันตามวิธีใช้นั้นด้วย คือ ความสุขจากการเสพเทคโนโลยี กับความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี

ความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ คือความสุขจากการสนองความต้องการในการใฝ่รู้ และความสุขจากการสนองความต้องการในการทำสิ่งทั้งหลายให้มันดี ถ้ามีความสุขแบบนี้ การพัฒนาจะเกิดขึ้นเอง เพราะเราพัฒนาคนอย่างถูกต้อง

เอาละ ตอนนี้เห็นได้แล้วว่าสังคมไทยจะต้องแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี เริ่มต้นตั้งแต่การใช้เพื่อเสพกับการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์

เวลานี้ เด็กหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีมาก ต่อไปการศึกษาตั้งแต่ในบ้าน จะต้องมุ่งเน้นที่จะช่วยให้เขามีความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ เด็กที่พัฒนาจะมีความสุขแบบนี้ คือความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ หรือความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี เขาจะมีความสุขจากการใช้คอมพิวเตอร์สร้างงาน ไม่ติดอยู่กับการหาความสุขจากการใช้คอมพิวเตอร์เล่นเกมส์ เขาจะใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ขึ้นมา ถ้าเด็กมาถึงขั้นนี้ พ่อแม่อุ่นใจสบายใจได้ และสังคมของเราก็มีหวังที่จะพัฒนา แต่ถ้าเด็กยังหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีแล้ว ให้ระวังเถิด มันจะไปจบที่ยาบ้า เพราะเป็นพวกเดียวกัน

การหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี ก็คือการหาความสุขจากการเสพชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันกับการเสพยาเสพติด เพราะจะต้องเพิ่มแรงกระตุ้น โดยปริมาณและดีกรีของสิ่งเร้าให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ความสุขเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาหรือขึ้นต่อเทคโนโลยี ถ้าเพิ่มแรงกระตุ้นเร้าไม่ทันหรือไม่พอ เกิดเบื่อหน่ายขึ้นมา เมื่อชีวิตและความสุขขึ้นอยู่กับการเสพเทคโนโลยีและวัตถุบำรุงบำเรอแล้ว พอเบื่อเทคโนโลยีและวัตถุเสพ ก็พลอยเบื่อหน่ายอยากหนีชีวิตด้วย แล้วก็เลยเปิดช่องที่จะพาต่อไปหายาเสพติด และชีวิตก็อาจจะจบที่นั่น หรืออาจจะไปจบที่สิ่งเสพติดทางจิต ที่มาในรูปของลัทธิความเชื่อและวิธีปฏิบัติลี้โลกหลบชีวิตแบบต่างๆ ย้ายจากปลายสุดข้างหลงโลก กลายเป็นหล่นจากโลกไปเลย

ในทางตรงข้าม ถ้าคนมีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์แล้ว เขาจะพ้นจากวิถีทางที่ผิดนั้น นี่คือเนื้อแท้สำคัญส่วนหนึ่งของการศึกษา เป็นการแก้ปัญหาที่ได้ทั้งการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศชาติ ทั้งพัฒนาจิตใจและพัฒนาเศรษฐกิจ ครบหมด ความเป็นนักศึกษาและสร้างสรรค์ทำให้ก้าวพ้นไปได้จากความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งเสพ สู่อิสรภาพและความสุขที่สูงขึ้นไป

อย่างน้อยควรระลึกไว้ว่า คุณค่าของเทคโนโลยีมิใช่อยู่แค่การได้มีสิ่งเสพบริโภคอำนวยความสะดวกสบาย แต่เทคโนโลยีมีคุณค่าอยู่ที่การพัฒนาคน คือเป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนอำนวยโอกาสให้คนสามารถพัฒนาศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงาม นำชีวิตและสังคมเข้าถึงความสุขและอิสรภาพที่ลึกและกว้างยิ่งขึ้นไป การมีเทคโนโลยีต้องหมายถึงการมีเครื่องช่วยพัฒนาปัญญา อย่างน้อยการพัฒนาเทคโนโลยี จะต้องคู่เคียงกันไปกับการพัฒนาอินทรีย์ มิใช่กลายเป็นว่า เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า อินทรีย์คือตา หู มือ สมองของคน ยิ่งหมดความละเอียดไวเฉียบคม ความขัดเกลา และความอ่อนโยนนุ่มนวล กลายเป็นอินทรีย์ที่ทื่อหยาบด้านกระด้างหื่นกระหายก้าวร้าวรุนแรง ที่จะถูกชักพาไปด้วยแรงความอยากความปรารถนาของความใฝ่เสพบริโภค และการทำลายล้างเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์กัน

เมื่อการพัฒนาคนถูกต้อง ก็แก้ปัญหาทีเดียวครบตลอดกระบวนการ แต่ถ้าพัฒนาผิดแล้วก็วุ่นอยู่ในวังวนนั่นเอง เวลานี้น่ากลัวว่า การศึกษาและการพัฒนาคนจะกลายเป็นการพัฒนาความใฝ่เสพไปเสีย โดยนึกว่าถ้าคนมีความใฝ่เสพแล้ว เขาจะแข่งขันเก่ง จะตั้งใจทำงานทำการ แต่เปล่า ผิดเต็มประตูเลย เพราะจับปัจจัยที่แท้ไม่ได้

เมื่อคนมีความใฝ่เสพสูง สังคมก็มีแต่คนที่ส่วนใหญ่เป็นนักบริโภค กลายเป็นสังคมบริโภค โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของสิ่งของเครื่องใช้ทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นของที่ต้องผลิต สังคมผู้บริโภคเทคโนโลยีก็กลายเป็นสังคมผู้ซื้อโภคภัณฑ์เทคโนโลยี และเมื่อเป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็มักกลายเป็นผู้ซื้อและเป็นผู้บริโภคหางแถว ที่นอกจากตามเขาล้าหลังท้ายสุดแล้ว ก็จะใช้ของที่แพงที่สุดด้วย เพราะผ่านเบี้ยบ้ายรายทางมากที่สุด

เมื่อความเป็นผู้บริโภคหางแถว มาบวกเข้ากับความเป็นประเทศหรือสังคมที่กำลังพัฒนา ความด้อยหรือความเสียเปรียบก็ยิ่งหนักหนา จนกระทั่งว่า ถ้าไม่มีหลักและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นเครื่องผูกรัดมัดตัวให้จมอยู่ภายใต้ความล้าหลังและความด้อยพัฒนานั้นอย่างยั่งยืนหรือยิ่งต่ำลงไป

ความด้อยหรือความเสียเปรียบมีหลายด้าน แต่ที่เห็นชัดเห็นง่ายก็คือด้านเศรษฐกิจ เช่นอย่างคนไทยที่ซื้อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีมาใช้ เมื่อเทียบกับคนในประเทศพัฒนาแล้วเช่นอย่างอเมริกา จะมีฐานะเป็นผู้มีรายได้ต่ำ แต่ซื้อของแพง หรือได้น้อยแต่จ่ายมาก

ยกตัวอย่าง คนไทย เมื่อเติบโตขึ้นและจะเริ่มต้นชีวิตของตนเอง เช่น จบการศึกษาแล้วจะเริ่มทำการงาน โดยเฉพาะผู้ที่จะเริ่มทำธุรกิจ ก็มักจะคิดถึงการมีรถยนต์ส่วนตัว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางค่านิยม (ไม่ว่าจะโดยถูกบีบ หรือถูกกลืน หรือโดยหลงใหลเองก็ตาม) ผสมกับปัญหาการจราจร ถ้าเป็นคนที่มีรสนิยมพอจะสูงสักหน่อย (ไม่ถึงกับสูงทีเดียว) ก็จะซื้อรถยี่ห้อที่นิยมกันว่าเป็นชั้นดี เอาแค่ราคาไม่ถึงล้าน สัก ๙ แสน ๖ หมื่นบาท ซึ่งถ้าซื้อในอเมริกา รถคันเดียวกันนี้ มีราคาประมาณ ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์ คือ ๖ แสนบาทเศษ ถ้าคนไทยวัยหนุ่มสาวผู้นั้นจบการศึกษาปริญญาโท ทำงานเอกชน มีรายได้ดีพอควร ได้เงินเดือนสูงถึงหมื่นห้าพันบาท เก็บเงินเดือนไว้ทั้งหมด ไม่ใช้กินอยู่อย่างอื่นเลย (คงจะเป็นไปไม่ได้) และไม่นับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นตามเวลา จะต้องรอถึงเกือบ ๕ ปีครึ่ง จึงจะซื้อรถคันนั้นด้วยเงินสดได้ ยิ่งถ้าเข้ารับราชการ ได้เงินเดือน ๘ พันบาท จะต้องเก็บเงินไม่ใช้เลย นานถึง ๑๐ ปี จึงจะซื้อได้ แต่คนในประเทศอเมริกา จบปริญญาโท ทำงานได้เงินเดือนระดับทั่วไปเดือนละ ๒,๕๐๐ ดอลลาร์ เขาเก็บเงินเพียง ๑๐ เดือน ก็ซื้อรถยนต์ค่อนข้างดีคันเดียวกันนั้นได้แล้ว

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องของถูกรายได้สูงของแพงรายได้ต่ำ ก็คือ เรื่องค่านิยมที่อยู่ในจิตใจภายใต้กระแสหล่อหลอมหรือผลักดันของสังคม กล่าวคือในสังคมไทยเรานี้ คนซื้อหารถยนต์มิใช่เพียงในความหมายว่าเป็นยานพาหนะ เครื่องใช้ในการเดินทาง แต่หมายถึงความมีหน้ามีตา ความเด่น ความโก้ และความนิยมเชื่อถือเป็นสำคัญ (คนไทยจึงถูกพวกนักต้มตุ๋น นั่งรถโก้มาหลอกเอาได้บ่อยๆ) ซึ่งทำให้รู้สึกจำเป็นที่จะต้องมีรถยนต์ดีๆ ใช้ เกินความจำเป็นในการใช้งานจริง ต่างจากคนในสังคมอเมริกัน ที่โดยทั่วไปมองรถยนต์เป็นเพียงยานพาหนะเครื่องใช้ในการเป็นอยู่ เมื่อมีใช้อยู่แล้ว ก็ใช้ต่อไป ไม่ต้องทุรนทุรายเที่ยวซื้อหามาแสดงหน้าแก่ใคร ก็เลยมีเวลาและความคิดที่จะไปใส่ใจกับเรื่องอื่นที่เป็นสาระมากกว่า

เมื่อมองในแง่ของการแข่นขันตามสภาพของยุคสมัยปัจจุบัน แล้วลองเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นว่า สังคมอเมริกัน ถึงแม้เวลานี้เขาจะตกอยู่ในภาวะที่โทรมหนัก แต่เขาก็ยังมีการแข่งขันในเชิงปัญญาสูงกว่า ในขณะที่สังคมไทยของเราจะเด่นไปข้างการแข่งขันในทางโมหะ ซึ่งไม่เป็นเรื่องดีที่น่าสบายใจเลย

ที่ว่ามานี้ ไม่เฉพาะในด้านสินค้าที่เรียกกันว่าฟุ่มเฟือย แม้แต่สิ่งของเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนพัฒนาสังคม โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา คนไทยก็ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ ที่ต้องซื้อของราคาสูงด้วยทุนของผู้มีรายได้ต่ำ เช่นเดียวกัน

ขอยกเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่าง ปัจจุบันราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยได้ลดต่ำลงมาก นอกจากเป็นภาวการณ์ทั่วไปในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะการลดภาษีด้วย เมื่อ ๑๐ ปีก่อน เครื่องคอมพิวเตอร์ถูกเก็บภาษี ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ต่อมาทางการได้ลดภาษีคอมพิวเตอร์ลงเหลือประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ เวลานี้ คนไทยทั่วไปพอจะซื้อหาคอมพิวเตอร์มาใช้ได้ในราคาไม่สูงนัก

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะซื้อเครื่องที่ติดตัวไปไหนๆ ได้สะดวก และมีประสิทธิภาพสูง ก็ยังต้องซื้อหาในราคาที่นับว่าแพง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คยี่ห้อดี ชั้นค่อนข้างดี มีเครื่องอ่าน CD-ROM ในตัว เครื่องหนึ่ง ราคายังไม่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อกลางปี ๒๕๓๙ ในเมืองไทยขาย ๑๐๙,๐๐๐ บาท ในอเมริกาขาย $3,299 คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๘๒,๕๐๐ บาท คนอเมริกันทำงานค่าแรงอย่างต่ำวันละ ๙๕๐ บาท (คิดจากอัตราค่าแรงอย่างต่ำ ชม.ละ $4.75 x 8 ชม.ต่อวัน; วันที่ ๑ ก.ย. ๒๕๔๐ นี้ อัตราค่าแรงอย่างต่ำในอเมริกา จะขึ้นเป็น ชม.ละ $5.15 คือวันละประมาณ ๑,๐๓๐ บาท) เก็บรายได้ไว้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลา ๑ ปีครึ่ง (คิดวันทำงานเดือนละ ๒๔ วัน) ก็ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นได้ แต่คนไทยที่ทำงานอยู่ในต่างจังหวัด ได้ค่าแรงอย่างต่ำวันละ ๑๕๐ บาท เก็บรายได้ไว้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ จะต้องรอไปถึง ๑๒ ปีครึ่ง จึงจะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันนั้นได้ กว่าจะได้ใช้ก็จะแก่เสียแล้ว

แต่คอมพิวเตอร์ถ้าเพื่อปัญญาคงไม่เป็นปัญหาสักเท่าไร ปมปัญหาสำหรับคนไทยอยู่ที่สินค้าของใช้ฟุ่มเฟือย ที่จะบำรุงความสุข อำนวยความสะดวกสบาย และมีความหมายในเชิงอวดโก้แข่งกัน ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องเสียงดีๆ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ฯลฯ ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น ทั้งจำเป็นแท้และจำเป็นเทียม ซึ่งมีราคาแพง และประดังเข้ามาหลายๆ อย่าง คนไทยไม่มีทางอื่น จึงต้องหันไปพึ่งระบบเงินผ่อน ซึ่งหมายถึงการเป็นหนี้อย่างหนึ่ง แต่เป็นหนี้ที่พอจะมีหน้า สำหรับหลายกรณีเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และเป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่งในการผ่อนเบาปัญหาการเงิน แต่จะมีโทษมากเมื่อเพลิดเพลินชะล่าใจ ทำให้ตกอยู่ในความประมาท อะไรๆ ก็ผ่อนส่ง เมื่อส่งไม่ทันก็ต้องไปกู้หนี้มาส่งผ่อน ทำให้ชีวิตตกอยู่ใต้ความผูกรัด ห่วงกังวล สูญสิ้นอิสรภาพความสงบใจและความรู้สึกมั่นคง ขาดสมาธิ ไม่มีความแน่วแน่มั่นใจในการดำเนินชีวิตและทำการงาน

คนอเมริกันอยากซื้อเครื่องใช้หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย คำนวณเวลาแล้ว ก็เห็นความหวังชัดเจนว่าตนทำงานในเวลาเท่านั้นเท่านี้ก็จะซื้อได้ แล้วก็ตั้งใจทำงานด้วยความมั่นใจ มุ่งมั่นทำงานไป โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องอะไรอื่น แต่คนไทย ถ้าเป็นคนมีรายได้น้อย ก็แทบมองไม่เห็นความหวังที่จะซื้อเครื่องใช้หรืออุปกรณ์นั้นได้ด้วยเงินที่ได้จากการทำงาน ทำให้ไม่มีความมั่นใจในการทำงาน ถ้าไม่เข้มแข็งจริง จิตใจก็จะฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วก็มองหาทางที่จะได้เงินด้วยวิธีอื่น เช่น กู้หนี้ยืมสิน ถ้าเผลอตัวก็อาจจะเลยออกไปทางทุจริต แม้แต่เมื่อพอจะมีเงินมีทองขึ้นมา และแม้จะระมัดระวังในเรื่องการเงินว่าต้องให้ได้มากกว่าเสีย ก็มักระวังแต่การใช้จ่ายด้านอื่น พอถึงเรื่องผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีที่ฟุ่มเฟือย ใจที่มัวแต่คิดตามให้ทันยุคสมัย หรือความเด่นนำทางหน้าตา ทำให้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เสียมากกว่าได้

ความด้อยความเสียเปรียบและความสูญเสียของคนไทยแต่ละคนนี้ ก็หมายถึงความด้อยความเสียเปรียบ และความสูญเสียของสังคมไทยและประเทศไทยด้วย นอกจากใจครุ่นคิดหารายได้พิเศษเพื่อซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย ทำให้งานขาดประสิทธิภาพด้อยคุณภาพถ่วงความเจริญของประเทศชาติ พร้อมทั้งปัญหาสังคมที่เกิดจากการทุจริต และอาชญากรรมต่างๆ แล้ว คนพอจะมีพอจะได้เงินมา ก็นึกถึงแต่ผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีรุ่นใหม่แปลกหูแปลกตา ที่จะเอามาเสพบริโภค ไม่มีช่องให้เอาใจใส่หรือคิดถึงสุขทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติร่วมสังคม เงินที่ใช้จ่ายมากมาย แทนที่จะเป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนหรือแก้ปัญหาของคนไทยด้วยกัน ก็ถูกทุ่มเทไปกับสินค้าเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีที่มีราคาสูง เป็นรายได้ส่งออกไปให้แก่ต่างประเทศที่รวยกว่า

ในขณะที่ประเทศของตนด้อยโอกาสและเสียเปรียบประเทศเหล่านั้นในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ยังจะต้องกู้หนี้ยืมสินจากประเทศเหล่านั้นเพื่อเอาไปซื้อสินค้าจากเขา เป็นลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าคอยหากำไรมาเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าหนี้ของตนเอง ในขณะที่คนไทยจำนวนมากมีชีวิตที่หมกจมอยู่ใต้กองหนี้สิน ประเทศไทยก็ถูกพันธนาการด้วยหนี้สินระหว่างชาติจำนวนมหาศาล ที่ประชาชนไทยจะต้องแบกภาระต่อไปยืดเยื้อยาวนาน ถ้าไม่รีบกลับตัว ก็ต้องเกินกว่าชั่วอายุลูกหลาน

แต่ผลเสียที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่คนไทยมัวเพลิดเพลินหลงใหลกับความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จะยิ่งเสริมแรงความใฝ่เสพและความเป็นนักบริโภค ทำให้เห็นแก่ความสะดวกสบายเฉื่อยชาและยิ่งอ่อนแอเลื่อนไหลลงไปใต้กระแสของระบบผลประโยชน์ สวนทางกับการที่จะมีพลังพัฒนาตนให้เป็นคนที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้แต่ไอที คือเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล ที่น่าจะเป็นเจ้าบทบาทที่โดดเด่นในการพัฒนาเสริมสร้างปัญญา ก็เสียดุลให้แก่การใช้เชิงเสพบริโภค และธุรกิจโฆษณา มีบทบาทที่เบี่ยงเบนไปในทางเสริมโมหะ มากกว่าพัฒนาปัญญา ถ้าเป็นอย่างนี้นานไป คนไทยจะหาอะไรซึ่งจะเป็นที่ภูมิใจและมั่นใจในตนเองและในสังคมของตนได้ยาก จะมีก็แต่ความตื่นเต้นฟู่ฟ่าฮือฮากันไปตามกระแสชักพาของค่านิยมที่ฉาบฉวยเลื่อนลอย แล้วก็พาตัวเองไปเป็นเหยื่อของผู้ผลิตภายใต้วัฒนธรรมบริโภค

เพราะฉะนั้น คนไทยจะต้องรู้ตัวตื่นขึ้นมา อย่าปล่อยตัวปล่อยใจหลงระเริงมัวกระหยิ่มในความรู้สึกโก้เก๋ทันสมัย และมองไปแต่ในทางที่จะหาเสพหาบริโภค แต่จะต้องซื้อต้องใช้ต้องปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ตั้งความรู้สึกรับผิดชอบต่อประเทศไทย ต่อสังคมและต่อเพื่อนร่วมชาติ เห็นตระหนักในผลดีผลเสีย ต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อโลก และความเสียเปรียบของประเทศชาติ ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเสพบริโภคแต่ละครั้งของตน มองถึงการสูญเสียผลประโยชน์ของประเทศชาติ และภาระที่สังคมจะต้องแบกรับสืบเนื่องต่อไปข้างหน้า

แม้จะต้องซื้อต้องใช้ของแพง ก็ทำด้วยปัญญาที่มีหลักคิด มองเห็นเหตุผลอย่างชัดเจน และมีจุดมุ่งหมาย พร้อมทั้งมีจิตสำนึกที่จะใช้สิ่งนั้นให้ได้ประโยชน์จากมันอย่างคุ้มค่าเกินราคาของมัน ให้ได้มากกว่าจ่าย หรือให้ได้มากกว่าที่เสียไป ทั้งแก่ชีวิตของเรา และแก่สังคม ไม่ซื้อมาเพียงเพื่อเสพบริโภคให้หมดเปลืองไป แต่ให้มันเกิดผลในทางสร้างสรรค์ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมของเราเขยิบก้าวดีขึ้นไปให้จงได้ เช่น ถ้าจะซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้สักเครื่องหนึ่ง ก็ตั้งใจมั่นว่า “เราจะใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ให้ได้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ มากกว่าที่คนในอเมริกาใช้มัน อย่างน้อยอีกหนึ่งเท่าตัว”

ถ้าทำได้อย่างนี้ ทุกอย่างจะคุมตัวของมันเอง แล้วชีวิต สังคม และประเทศชาติ ก็จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ในเวลาไม่นานเลย อีกทั้งคนไทยก็จะก้าวขึ้นไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของโลกได้ด้วย

ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนไทยตื่นตัวขึ้นมา ด้วยความตื่นทางปัญญา มีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีความปรารถนาดีใฝ่สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมของตนอย่างแท้จริง ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการพัฒนาคน ที่ชาวไทยทุกคนตั้งใจพัฒนาตนเองขึ้นไปโดยไม่ประมาท ถ้าคนไทยรุ่นผู้ใหญ่ไปไม่ไหว หมดหวังแล้ว ก็ต้องเริ่มกันจริงๆ ที่อนุชนคนรุ่นต่อไป โดยมุ่งมั่นเน้นหนักในการศึกษาที่ถูกต้อง

การศึกษาแท้เริ่มที่บ้าน โดยพ่อแม่เป็นครูอาจารย์คนแรก ดังที่พระสอนว่า มารดาบิดาเป็นบูรพาจารย์ คือครูต้น หรืออาจารย์คนแรก ถ้าจะนำเด็กเข้าสู่การพัฒนาที่ถูกทาง เพื่อให้ได้ผลในการเสริมสร้างความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก ความใฝ่ศึกษา-ใฝ่สร้างสรรค์ ความเป็นนักผลิต-นักสร้างสรรค์ และพร้อมกันนั้น ก็จะได้ผ่อนลดอิทธิพลของค่านิยมใฝ่เสพ วัฒนธรรมบริโภค ความอ่อนแอเห็นแก่สะดวกสบาย และวิถีชีวิตที่เปิดกว้างสู่ทางแห่งการเสพยาบ้า พ่อแม่ทุกบ้านนั่นเองจะต้องเริ่มต้น และสำหรับคนไทย จุดเริ่มอยู่ที่นี่

จงถามเด็กไทยให้น้อยลงว่า “อยากได้อะไร?”
แต่จงถามเด็กไทยให้มากขึ้นว่า “อยากทำอะไร?”

จาก “อยากทำอะไร?” ก็ก้าวต่อไปว่า “อยากรู้ว่าจะทำอย่างไร” และ “จะต้องรู้อะไร?” แล้วพ่อแม่ก็คอยหนุนและให้เพื่อสนองความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ โดยช่วยโยงการรู้และการสร้างสรรค์นั้นไปเชื่อมต่อกับกุศลให้ได้ต่อไป

เอาละ ขอพูดถึงเรื่องคนไทยกับเทคโนโลยีไว้เท่านี้ก่อน ถ้าเราพัฒนาคนไทยในการสัมพันธ์และปฏิบัติต่อเทคโนโลยีได้ถูกต้อง เราจะได้ความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก หรือ ใฝ่ศึกษา-ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นอย่างน้อย ซึ่งแม้แต่ยังไม่ได้คุณสมบัติอย่างอื่นมาอีก เพียงแค่นี้ก็พอที่จะพัฒนาสังคมไทยไปสู่ความมีชัยในระบบแข่งขันของโลก และพร้อมที่จะเดินหน้าพ้นเหนือการแข่งขันไปสู่การช่วยแก้ปัญหาของโลก และเป็นส่วนร่วมอย่างสำคัญในการนำโลกไปสู่สันติสุข

 

หมายเหตุ: ราคาสินค้าผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในเมืองไทย ที่เทียบไว้ในข้อเขียนนี้ เป็นราคาก่อนเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ ยังไม่ได้ปรับตัวเลขตามราคาในปัจจุบัน ซึ่งจะแพงขึ้นอีกเป็นอันมาก

1ตัดตอนจากคำบรรยายแก่คณะนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ที่วัดญาณเวศกวัน วันเสาร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๐ (และบางส่วนตัดตอนจากคำบรรยายเรื่อง “การพัฒนาแบบยั่งยืนตามแนวทางและหลักพุทธศาสนา” แก่คณะนักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ที่วัดญาณเวศกวัน วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.