สืบสานวัฒนธรรมไทย: บนฐานแห่งการศึกษาที่แท้

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สืบสานวัฒนธรรมไทย
บนฐานแห่งการศึกษาที่แท้1

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จที่คารวะยิ่ง ท่านพระมหาเถรานุเถระที่เคารพนับถือ และท่านผู้นำในวงราชการ

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ นี้ เป็นปีที่บรรจบพอดีของการที่ทางราชการได้มีนโยบายพิเศษ ในการสนับสนุนกิจการทางพระศาสนา พร้อมทั้งวัฒนธรรมไทย

ในด้านกิจการพระศาสนา ทางราชการได้กำหนดให้ปีนี้เป็นปีทองของการศึกษาสงฆ์ ส่วนในด้านวัฒนธรรมก็ได้กำหนดให้เป็นปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย และยิ่งกว่านั้นก็คือ สืบเนื่องมาจากปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยนั้น ก็ได้มีโครงการสืบสานงานวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นี้ ไปจนถึงปี ๒๕๔๐ โดยเฉพาะปีนี้ คือปี ๒๕๓๗ ได้กำหนดให้เป็นปีวัฒนธรรมกับการศึกษา นับว่าเป็นการพอดีกับที่ในด้านคณะสงฆ์นั้น นโยบายที่ราชการกำหนดขึ้น ก็เป็นเรื่องทางด้านการศึกษา คือ เป็นปีทองการศึกษาสงฆ์

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะพูดในแง่วัฒนธรรมอย่างกว้างๆ ก็ตาม หรือพูดเฉพาะในแง่วัฒนธรรมกับการศึกษาก็ตาม เมื่อมาโยงกับกิจการพระศาสนาที่ว่าเป็นปีทองการศึกษาสงฆ์ ก็เป็นกิจการด้านที่เกี่ยวกับการศึกษาทั้งสิ้น

การศึกษานั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอยู่แล้ว การศึกษาของคณะสงฆ์ คือการศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนา ก็ยิ่งมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมลึกซึ้งลงไปมากขึ้นอีก

การศึกษามีความสำคัญต่อวัฒนธรรม เพราะว่าการศึกษานี้แหละ จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้วัฒนธรรมดำรงสืบต่อไปได้ และดำรงอยู่สืบทอดต่อไปในลักษณะที่ดีงามถูกต้อง ส่วนการศึกษาของพระสงฆ์นั้น ยิ่งมีความสำคัญลึกลงไป เพราะการศึกษาของพระสงฆ์ คือการศึกษาพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องของธรรม อันได้แก่ความจริงความดีความงาม ที่เป็นแก่นสารของวัฒนธรรม

ความจริงและความดีงามนั้นเป็นแกน และเป็นแก่นสารของวัฒนธรรม วัฒนธรรมถ้าไร้ธรรมก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนาจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัฒนธรรม

 

ฐานและแก่นสารของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมนี้ ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องในระดับรูปแบบ คือเป็นเรื่องสภาพที่ปรากฏภายนอกโดยส่วนมาก วัฒนธรรมที่เป็นรูปปรากฏหรือเป็นรูปแบบนี้ จะมีแก่นสารแท้จริง ก็จะต้องมีตัวความจริงที่ลึกซึ้งลงไปรองรับ

ถ้าจะพูดในแง่ของสิ่งที่เป็นฐานของวัฒนธรรมนี้ก็จะเห็นได้ว่า แยกได้ถึง ๓ ระดับ เราสามารถใช้คำว่า ธรรม มาเป็นเครื่องมือในการแบ่งระดับของสิ่งที่เกี่ยวข้อง ที่โยงมาถึงวัฒนธรรม วัฒนธรรมนั้นเป็นรูปแบบเบื้องปลาย ลึกลงไปมีอะไรเป็นฐานอยู่อีก ในที่นี้จัดเป็น ๓ ระดับ คือ

ระดับที่เป็นฐาน เป็นรากที่สุดได้แก่ สัจธรรม สัจธรรมคือตัวความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ สัจธรรมนี้เป็นฐานเริ่มต้นที่รองรับวัฒนธรรมไว้

ต่อจากสัจธรรม ก็คือสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม อันได้แก่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความดีงาม ซึ่งเป็นความจริงที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ความจริงของมนุษย์ต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ จึงจะเกิดผลสำเร็จได้ด้วยดี

จากนั้นจึงจะมาถึงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหรือเป็นวิธีปฏิบัติที่จะให้เกิดผลเป็นจริงตามที่มนุษย์ต้องการ

สัจธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เป็นภาวะของธรรมชาติ

จริยธรรม คือข้อผูกพันที่โยงสัจธรรมนั้นเข้ากับชีวิตและสังคมของมนุษย์

วัฒนธรรม คือรูปแบบการปฏิบัติตามจริยธรรมที่ปรากฏในวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์

ขอโอกาสให้ตัวอย่างว่าธรรม ๓ อย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างไร ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องการจราจร

การจราจรมีทั้งสัจธรรม มีทั้งจริยธรรม และมีทั้งวัฒนธรรมอยู่ด้วยกัน ซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น

สัจธรรมคือ ความจริงตามธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ ในกรณีนี้ก็คือ ในการที่มนุษย์จะเดินทาง ถ้าไปด้วยเท้า ก็เดินทางไปได้ช้า ถ้าต้องการไปให้เร็วขึ้น ก็ต้องมียานพาหนะ โดยเฉพาะรถซึ่งเราใช้กันมาก รถราจะเดินทางไปได้ด้วยดี ต้องมีที่ว่างเป็นช่องทางให้ผ่านไปได้ และจะต้องมีความเป็นระเบียบ นอกจากนั้นรถราเหล่านี้ซึ่งเป็นยานพาหนะที่วิ่งเร็ว ประกอบด้วยวัตถุที่เป็นโลหะ ถ้าหากว่าเกิดมีการชนกันขึ้น ก็เป็นอันตรายร้ายแรง ทำให้ถึงแก่เสียชีวิต หรือพิกลพิการ อันนี้เป็นความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเราต้องการที่จะมีการเดินทางด้วยรถ ก็จะต้องคำนึงไว้ก่อนจะมาถึงความจริงในขั้นที่เป็นการปฏิบัติของมนุษย์

ความจริงที่มนุษย์จะต้องรู้ว่า การเดินทางให้ไวจะไปได้ด้วยการใช้ยานพาหนะที่ดีมีประสิทธิภาพ โดยมีช่องทางที่เพียงพอ และไม่ให้ขัดข้องด้วยอุบัติเหตุเป็นต้น นี้เป็นความจริงตามธรรมชาติ เรียกว่า สัจธรรม

จากนั้นก็มีความจริงในการปฏิบัติของมนุษย์ที่จะต้องกระทำให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น คือจะต้องมีความเป็นระเบียบในการเดินทาง เช่น การไปตามลำดับ การขับรถด้วยความระมัดระวัง การมีสติ ไม่ประมาท การเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เห็นใจกัน ตลอดจนมารยาทต่างๆ ในการขับรถ ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพที่ยานพาหนะมีช่องทางที่เพียงพอ และไม่ขัดข้องด้วยอุบัติเหตุเป็นต้น

ถ้าเราไม่มีความเป็นระเบียบและความระมัดระวังในการเดินทาง ก็จะทำให้การเดินทางนั้นไม่ได้ผล ทั้งๆ ที่มีพาหนะอย่างดี ทั้งๆ ที่มีถนนหนทาง แต่รถจำนวนมากมายต่างคนต่างจะไป ก็กระจุกกันอยู่ ผลที่สุด แต่ละคนก็ไปไม่ได้สักคนหนึ่ง หรือไม่อย่างนั้นก็ช้า ติดขัดไปหมด ดังนั้น จึงเป็นความจริงในการปฏิบัติของมนุษย์ว่าจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ความจริงในเชิงปฏิบัติที่มนุษย์จะต้องทำตามนี้เรียกว่า จริยธรรม

เมื่อจริยธรรมบอกว่า จะต้องมีความเป็นระเบียบ เช่นมีการไปตามลำดับและมีการจัดช่องทางเป็นต้น เราก็ดำเนินการจัดรูปแบบในการปฏิบัติขึ้นมา ดังจะเห็นได้ในรูปของกฎจราจร เครื่องหมาย และอุปกรณ์ต่างๆ เช่นมีการวางกฎเกณฑ์ลงไปว่า รถทุกคันจะต้องวิ่งทางซ้ายของถนน เวลาจะแซงให้แซงทางด้านขวาของรถคันหน้า ดังนี้เป็นต้น จะต้องมีสัญญาณจราจร มีไฟแดงไฟเขียว การโบกมือ การเป่านกหวีดของตำรวจจราจร เส้นขาวเส้นเหลืองรูปลักษณะต่างๆ บนผิวถนน เป็นต้น เป็นเครื่องหมายรู้ และเครื่องหมายเหล่านี้ จะต้องเป็นที่ยอมรับกันในสังคม อันนี้เป็นรูปแบบในระดับของวัฒนธรรม

จะเห็นได้ว่ารูปแบบของวัฒนธรรม เช่น รูปแบบของการจราจรนี้อาจจะไม่เหมือนกัน ในสังคมหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง อีกสังคมหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ต่างกันไป ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในประเทศไทย เรากำหนดให้รถวิ่งทางแถบซ้ายของถนน แต่ในอเมริกาเขาให้รถวิ่งชิดทางขวา อย่างนี้เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะจัดรูปร่างรูปแบบของวัฒนธรรมอย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็เป็นเพียงวิธีการที่จะให้ได้ผลสำเร็จตามความจริงของจริยธรรมคือความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเป็นฐานรองรับมันอีกทีหนึ่ง

ดังนั้น วัฒนธรรมจึงมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามกาลเทศะ และตามภูมิธรรมภูมิปัญญาของมนุษย์ผู้บัญญัติ ในขณะที่จริยธรรมก็ยังเหมือนกันและเหมือนเดิมตลอดทุกที่ทุกเวลา สุดแต่ใครจะมีภูมิปัญญา นำมาสื่อสารได้แค่ไหน และลึกลงไปสัจธรรมก็ยิ่งคงตัวอยู่ตามที่เป็นเรื่องของธรรมดาธรรมชาติ สุดแต่ใครจะมีภูมิปัญญาเข้าถึงได้เพียงใด

นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ใน ๓ ระดับ

๑) สัจธรรม คือความจริงตามธรรมชาติ เป็นตัวแท้ที่สำคัญที่สุด

๒) จริยธรรม คือความจริงในขั้นปฏิบัติการของมนุษย์ที่จะต้องทำตามความจริงของธรรมชาตินั้นจึงจะได้ผลที่ต้องการ

๓) วัฒนธรรม คือความจริงในขั้นของวิธีปฏิบัติหรือรูปแบบที่จะต้องกำหนดวางขึ้นมา เพื่อให้จริยธรรมปรากฏตัวเป็นการปฏิบัติที่ได้ผลจริง บนฐานแห่งสัจธรรมนั้น

จริยธรรม เป็นสิ่งที่คงตัว และสัจธรรมก็คงตัวยิ่งกว่านั้น แต่วัฒนธรรม เป็นเรื่องของรูปแบบภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ เพราะวัฒนธรรมนั้น เป็นการจัดรูปแบบและวิธีการ ซึ่งจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกาลเทศะ คือยุคสมัย และถิ่นฐานบ้านเมืองเป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจึงให้ความหมายของวัฒนธรรมที่ปรากฏขึ้นมาเป็นรูปแบบต่างๆ ว่าเป็นวิถีชีวิตของสังคม ซึ่งปรากฏเป็นรูปลักษณะที่เป็นแบบแผนจำเพาะของชุมชนและสังคมนั้นๆ จนเรียกกันว่าเป็นเอกลักษณ์ เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมจึงเป็นภาพปรากฏในระดับของการนำเอาสัจธรรมและจริยธรรมมาใช้ประโยชน์ให้เกิดผลเป็นจริงในหมู่มนุษย์

จะเห็นง่ายๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นการกินอาหาร การกินอาหารก็มีทั้งสัจธรรม ทั้งจริยธรรม แล้วก็มีวัฒนธรรมอยู่ในตัว

สัจธรรม คืออะไร ก็คือความจริงของธรรมชาติที่ว่า ชีวิตของมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ตามหลักที่ว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา แปลว่าสัตว์ทั้งปวงดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหาร ถ้าไม่มีอาหารก็อยู่ไม่ได้ ชีวิตจะไม่สามารถสืบตัวเองต่อไป

จากนั้น ความจริงของสัจธรรมนี้ก็บ่งชี้ต่อไปว่า เพื่อจะให้การมีอาหารหล่อเลี้ยงร่างกายนั้นเป็นจริงขึ้นมา มนุษย์จะต้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น การหาอาหาร การจัดเตรียมและจัดแจงอาหาร และการกินอาหาร และปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกินเหล่านี้จะต้องเป็นไปด้วยดี ที่จะไม่กลายเป็นการทำให้เกิดความขัดข้องจนต้องอดกิน หรือเกิดความเสียหายเดือดร้อนอย่างอื่น จนในที่สุดก็คือทำอย่างไรจะกินให้ได้ผลตามธรรมชาติที่ต้องการ คือได้อาหารหล่อเลี้ยงชีวิต ที่จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี โดยจะต้องคำนึงถึงคุณค่าของอาหาร การจัดปรุง การผลิตอาหาร การแบ่งสรรซื้อหา ตลอดจนความรู้จักประมาณในการกิน รวมทั้งการที่จะต้องดูแลกัน เช่นคนที่อยู่ในปกครอง ซึ่งไม่มีความสามารถดูแลตนเอง ก็จะต้องมีการจัดดูแลให้ได้รับประทาน นี้คือความจริงของการที่จะต้องกินอาหารซึ่งเป็นความจำเป็นของชีวิตในขั้นของ จริยธรรม อันเป็นความจริงที่มนุษย์จะต้องทำ

ต่อจากนั้น รูปแบบ ระบบ ตลอดจนกระบวนวิธีในการที่จะแสวงหา จัดหา จัดเตรียม การผลิต การปรุง และในที่สุดคือการกิน จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่จะกำหนดกันขึ้นมา ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ อันมีดินฟ้าอากาศ ประเภทของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม่เหมือนกัน มีภูมิธรรมภูมิปัญญา รวมทั้งความพอใจชอบใจและรสนิยม ซึ่งแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เช่น ในสังคมเกษตรกรรมกับในสังคมอุตสาหกรรม ระบบการผลิตอาหาร ก็ไม่เหมือนกันเป็นต้น แม้แต่ในการกิน บางสังคมก็อาจจะกินโดยเปิบด้วยมือ บางสังคมก็อาจจะกินโดยใช้ตะเกียบ บางสังคมก็อาจจะกินโดยใช้ช้อนส้อม และแม้วิธีปรุงอาหาร วิธีนั่งโต๊ะ นั่งพื้นรับประทาน การจัดเป็นกี่มื้อเป็นต้น ก็ไม่เหมือนกัน จะรับประทานเวลาไหนบ้าง อาหารที่ปรุงก็มีรูปแบบต่างๆ กัน ทั้งหมดนี้คือความจริงในระดับวัฒนธรรม

หลักสำคัญเรื่องธรรมสามอย่างนี้เป็นความเข้าใจเบื้องต้น ถ้ามีความเข้าใจนี้แล้ว ก็จะเป็นทางนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องวัฒนธรรม ขณะนี้เราต้องการให้เอาจริงเอาจังกันในเรื่องวัฒนธรรม แต่การที่จะปฏิบัติต่อวัฒนธรรมถูกต้อง ก็ต้องมีความเข้าใจลึกลงไปจนถึงสัจธรรม พร้อมทั้งจริยธรรม มิฉะนั้น วัฒนธรรมจะหาแก่นสารหรือสาระมิได้ จะเลื่อนลอย แล้วก็เกิดความเคลื่อนคลาด

เป็นอันว่า เท่าที่กล่าวมานี้ มีความจริง ๓ ระดับ คือ

๑. สัจธรรม คือความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ

๒. จริยธรรม คือความจริงในการที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาตินั้น

๓. วัฒนธรรม คือรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่มนุษย์จะใช้ในการปฏิบัติเพื่อให้จริยธรรมสำแดงผลตามสัจธรรม ในทางที่จะทำให้ชีวิตและสังคมของตนดำเนินไปด้วยดี

 

เกณฑ์ตรวจสอบวัฒนธรรม

สัจธรรมกับจริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เราเรียกได้ว่ายืนตัวคงเดิมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่พุทธกาล สัจธรรมและจริยธรรม เป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ก็อย่างนั้น แต่วัฒนธรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นรูปแบบภายนอก เป็นวิธีการในการนำเอามาใช้ ซึ่งเราจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตามหลักการนี้ถ้าดูเผินๆ วัฒนธรรมเมื่อเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับสัจธรรมและจริยธรรมแล้ว ก็จะได้ผลดี

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสัจธรรมและจริยธรรมแล้วยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอีก ซึ่งจะต้องคำนึงถึงด้วย ในการพิจารณารูปแบบวัฒนธรรมที่ปรากฏนั้น เราอาจจะวางหลักในการตรวจสอบว่าวัฒนธรรมนั้นๆ เป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ได้ผลดีหรือไม่ แค่ไหนเพียงไร หลักการพิจารณาตรวจสอบนั้น อาจจะขยายจาก ๓ ข้อ คือจากสัจธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมนั้นกระจายออกไปเป็น ๖ ข้อด้วยกัน คือ

๑. ดูว่า วัฒนธรรมนั้น ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจธรรม มีเนื้อหาสาระ และมีเหตุผลตามความจริงของธรรมชาติหรือไม่ ถ้าวัฒนธรรมนั้นไม่มีความจริงในธรรมชาติรองรับอยู่ ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล วัฒนธรรมนั้นก็ขาดฐานที่มั่นคง ไม่สำเร็จผลดี และจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ยั่งยืนนาน

๒. ดูว่า มีความดีงามอยู่ในวัฒนธรรมนั้นหรือไม่ รูปแบบที่ปรากฏที่เราดำรงรักษาและยึดถือปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตของสังคมนั้น มีความดีงาม เช่นมีการปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ คือสอดคล้องกับจริยธรรม

๓. ดูว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบหรือเป็นวิธีการนั้น ได้ผลหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ในการที่จะให้สำเร็จความต้องการตามกระบวนการของกฎธรรมชาติ เช่น กฎจราจรที่เราบัญญัติขึ้นมาเป็นระบบวิธีในการเดินรถ และข้อกำหนดข้อบังคับต่างๆ ที่จัดวางขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามตัวสัจธรรมคือความจริงของธรรมชาติที่จะทำให้คนเดินทางได้สะดวก เช่นทำให้มีช่องทางที่จะเคลื่อนที่ หรือทำให้เกิดโอกาสในการเดินทางได้ดี รูปแบบการจราจร ที่เป็นเรื่องระดับวัฒนธรรมนั้นสัมฤทธิ์ผลดีหรือไม่ นี้เป็นข้อที่จะต้องคำนึงถึงประการที่สาม คือวัฒนธรรมนั้นได้ผลแค่ไหน ในการที่จะทำให้สัจธรรมและจริยธรรมที่เราต้องการเกิดผลในทางปฏิบัติขึ้นมา

๔. ดูว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบวิธีการนั้นเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมคือกาลเทศะหรือไม่ เข้ากับยุคสมัยและถิ่นฐานบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ถ้าวัฒนธรรมไม่เหมาะไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมนั้น ก็ยากที่จะให้ได้ผลตามต้องการด้วยดี

๕. ดูว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบนั้น เข้ากับตัวเราไหม ตัวเราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่หมายถึงสังคมทั้งหมด คือสังคมของเรา มันเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมของเราไหม กระทบต่อผลประโยชน์ของสังคมของเราหรือเปล่า เช่นวัฒนธรรมจากภายนอกที่เข้ามา บางทีก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่สังคมของเรา อันนี้ก็เป็นข้อคำนึงในการตรวจสอบอย่างหนึ่ง

๖. ดูว่า รูปแบบวัฒนธรรมนั้นมีลักษณะที่น่าชื่นชม ชวนนิยม มีความน่าตื่นตาตื่นใจเร้าความสนใจแค่ไหนเพียงไร อันนี้ก็เป็นข้อที่สำคัญ เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมที่คนตามอย่างกันมาก จะมีลักษณะข้อที่หกนี้ วัฒนธรรมใดขาดลักษณะข้อที่หกนี้ก็ยากที่จะได้รับความสนใจ และอาจจะถูกทอดทิ้งได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงเป็นลักษณะสำคัญที่จะต้องคำนึงด้วย

ในการตรวจสอบวัฒนธรรมก็เอาหลัก ๖ ประการนี้มาใช้พิจารณาดูว่า วัฒนธรรมนั้นจะอยู่ได้ด้วยดีไหม และจะมีประโยชน์สมจริงตามความมุ่งหมาย คือมีคุณค่าเพียงพอหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในเวลาปฏิบัติจริง การยอมรับแทนที่จะเริ่มจากข้อหนึ่ง ก็มักจะย้อนจากข้อหกก่อน เพราะการที่คนจะสนใจปฏิบัติตามวัฒนธรรมมักจะเริ่มมาจากลักษณะที่ชวนนิยม น่าสนใจ ทำให้ตื่นตาตื่นใจ เร้าความสนใจ ข้อที่หกจึงกลับมาเป็นอันดับหนึ่งในการที่จะทำให้คนยอมรับหรือถือปฏิบัติตามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอันตรายในแง่ที่ว่า บางทีมันเร้าความสนใจ ทำให้เกิดความนิยมจนกระทั่งกลายเป็นค่านิยมของสังคมเกิดตามมา แต่มันไม่มีลักษณะที่ประกอบด้วยคุณค่าตั้งแต่ข้อหนึ่งเป็นต้นมา เพราะฉะนั้นในการตัดสินจึงพิจารณากลับกัน โดยต้องย้อนจากข้อหนึ่งมา จะต้องถือว่าข้อที่หนึ่งสำคัญที่สุดอย่างที่กล่าวแล้ว เพราะถ้าวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบนั้น ไม่มีเนื้อหาสาระที่เป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ หรือไม่มีเหตุผลในธรรมชาติรองรับแล้ว มันก็เป็นโมฆะ เหมือนกับแก้วน้ำที่ว่างเปล่าไม่มีน้ำนั่นเอง ซึ่งจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่จะเป็นเพียงสักว่ารูปแบบที่ฉาบฉวย ผิวเผิน

เพราะฉะนั้นจะต้องใช้หลักตรวจสอบโดยเริ่มจากข้อที่หนึ่งเป็นต้นมา โดยถือว่ามีความสำคัญในเชิงสาระตามลำดับ แต่ข้อท้ายก็สำคัญในเชิงปฏิบัติ ซึ่งเราจะต้องเอาใจใส่เหมือนกัน ถ้ารูปแบบของวัฒนธรรมนั้นมีลักษณะที่ไม่ชวนนิยม แม้จะมีประโยชน์มากก็ตั้งอยู่ได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องของการศึกษาที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนเอาใจใส่ให้ถูกต้อง คือให้ถูกจุดว่าส่วนไหนเป็นลักษณะจำเป็นในวัฒนธรรมที่เราจะต้องให้ความสำคัญให้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของลักษณะสำหรับตรวจสอบที่ขยายออกไปจากธรรม ๓ ระดับ คือ สัจธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม อย่างที่กล่าวมาแล้ว

เป็นอันว่า ข้อที่ยืนเป็นหลักก็คือเนื้อหาสาระที่เป็นสัจธรรมกับจริยธรรม แล้วก็รูปแบบ เนื้อหาสาระมีความสำคัญมาก แต่วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบซึ่งเป็นที่แสดงออกของเนื้อหานั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีสำหรับมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม เพราะว่าเนื้อหาสาระนั้นจะปรากฏตัวไม่ได้ถ้าไม่มีรูปแบบ หรือไม่มีวิธีการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบหรือวิธีการนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวแล้วว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ตามกาลเทศะ ถ้าไม่เปลี่ยนเมื่อเวลาเปลี่ยนไปแล้วรูปแบบนั้นก็ไม่สามารถสื่อสาระได้ คือไม่สามารถเอาสาระหรือเนื้อหานั้นออกมาใช้กับสภาพความเป็นจริง เราก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อหาสาระที่ต้องการ ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระที่ต้องการมี แต่กลับเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราเปลี่ยนรูปแบบโดยไม่รู้สาระ ไม่เข้าใจเนื้อหาและความมุ่งหมายที่แท้จริง วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบนั้นก็กลายเป็นสิ่งวิปริตไป คือเป็นสิ่งที่เคลื่อนคลาดหรือปฏิบัติโดยเลื่อนลอยไม่มีความหมาย และที่ยิ่งร้ายก็คือว่า เมื่อปฏิบัติไปนานๆ เข้า รูปแบบมีอยู่ เนื้อหาเดิมไม่มี เนื้อหาอื่นหรือความหมายอย่างอื่นก็เข้ามาแทน กลายเป็นสิ่งที่ผิดพลาด และทำให้เกิดโทษแก่สังคมได้ ฉะนั้น เรื่องของรูปแบบกับเนื้อหานี้จึงสัมพันธ์กันตลอดเวลา

เหมือนอย่างจะกินน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่เราต้องการ คือเป็นเนื้อหาสาระ แต่เราจะกินน้ำได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่มีวัฒนธรรม เราก็เอามือไปวักน้ำกินเอา เราก็ไม่เจริญ ยังมีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานอย่างคนที่ยังไม่พัฒนา มนุษย์เรามีความสามารถ เมื่อเราต้องการเนื้อหาคือน้ำ เราก็พัฒนารูปแบบของวิธีการที่จะเอาน้ำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ผลดี จึงมีการประดิษฐ์ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ และเหยือกน้ำขึ้นมา โดยที่รูปแบบเหล่านี้ก็ใช้ได้ผลไม่เหมือนกัน อย่างเช่น คนบางพวกอาจจะเอาใบตองมาทำเป็นกรวย ทำเป็นกระทงขึ้น พอทำเป็นกระทงก็ไปเอาน้ำมาใช้ได้ แต่มันก็ง่อนๆ แง่นๆ ไม่มั่นคง แล้วก็เก็บไม่ได้มากเท่าที่ต้องการ พอจะทำเป็นภาชนะที่ใหญ่ขึ้นสักหน่อยกระทงนั้นก็ไม่อยู่ ทีนี้เมื่อเรามีความสามารถขึ้น เราก็เอาแก้วมาทำเป็นแก้วน้ำ ตลอดจนเป็นเหยือกเป็นคนโท หรืออาจจะเอาโลหะมาทำ ก็เก็บน้ำได้ดีขึ้น ตอนนี้กลายเป็นเรื่องของวัฒนธรรม

จะเห็นได้ว่า แม้แต่การจัดทำแก้วน้ำก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมแล้ว และถ้าเราจะตรวจสอบว่าแก้วน้ำที่เป็นเรื่องราวของวัฒนธรรมนั้น จะมีคุณค่าหรือจะมั่นคงยั่งยืนสำเร็จประโยชน์ได้แค่ไหน ก็ดูจากลักษณะ ๖ ประการ ที่กล่าวมาแล้ว เริ่มตั้งแต่ว่ามันมีเนื้อหาและความหมายตามเหตุผลของธรรมชาติหรือไม่ มีความดีงามในการที่จะปฏิบัติโดยไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่นไหม และใช้ได้ผลตามต้องการให้สำเร็จวัตถุประสงค์ของสาระตามธรรมชาติหรือไม่เป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว

รวมความในที่นี้ก็คือจะสรุปว่า วัฒนธรรมนั้นจะอยู่ดีมีคุณค่าได้ คนจะต้องมีปัญญารู้สัจธรรมที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรม รู้เข้าใจเหตุผลแห่งการกระทำของตนว่า รูปแบบนี้มีเพื่ออะไร ถ้าไม่มีเหตุผลในวัฒนธรรมนั้น วัฒนธรรมนั้นจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ยั่งยืน หรือมิฉะนั้นก็จะไม่สามารถรักษาความหมายที่แท้จริงไว้ได้ ในที่สุดก็จะเคลื่อนคลาดแล้วความหมายอย่างอื่นที่วิปริตผิดเพี้ยนก็จะเข้ามาสิงสู่แทนในรูปแบบเดิม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ตัวรูปแบบยังมีอยู่ แต่เนื้อหาและความหมายไม่ใช่ของเดิมเสียแล้ว ซึ่งเราจะเห็นได้มากในสังคมปัจจุบันนี้ รวมทั้งในเรื่องทางพระศาสนา

สิ่งที่ขอย้ำอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนจะต้องมีความรักในจริยธรรม อธิบายว่า วัฒนธรรมจะอยู่ดีได้ สัจธรรมเป็นฐานขั้นต้นที่สุด รองจากนั้นก็คือจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของความจริงในขั้นโยงสู่ปฏิบัติการของมนุษย์ อันเกี่ยวกับความดีงามและประโยชน์สุขที่มนุษย์จะได้รับโดยสอดคล้องกับสัจธรรมนั้น มนุษย์จะต้องมีความรักในจริยธรรม คือรักในความดีงาม และรักคือนิยมหรือเห็นชอบในเหตุผลที่รองรับการปฏิบัติของมนุษย์โดยสอดคล้องกับกฎของธรรมชาตินั้น ถ้ามนุษย์รู้เข้าใจในสัจธรรม คือมีปัญญาอันนี้ และรักในความดีงาม ก็จะเป็นฐานสำคัญ ที่จะทำให้วัฒนธรรมนั้นปรากฏรูปลักษณะที่ทำให้เกิดความดีงามและอำนวยประโยชน์สุข และคนที่จะมารักษาสืบต่อวัฒนธรรมก็มีทางที่จะสืบทอดไว้ได้ดีด้วย

ลักษณะสำคัญบางประการของวัฒนธรรม

ในที่นี้มีข้อพึงระลึกที่สำคัญอยู่ ๒ - ๓ ประการ ที่จะขอนำมากล่าวเน้นไว้ด้วย

ก. วัฒนธรรมเป็นรูปแบบที่สื่อสารสำหรับคนหมู่ใหญ่

ได้กล่าวแล้วว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องรูปแบบ และรูปแบบนั้นเป็นรูปแบบที่ปรากฏขึ้นในลักษณะที่เป็นวิถีชีวิตของสังคมเลยทีเดียว คือมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันนี้ อยู่กันอย่างไร มีรูปแบบปรากฏในการเป็นอยู่ของตนอย่างไร เราเรียกว่าเป็น วัฒนธรรม

วัฒนธรรมนั้นเป็นรูปแบบที่สื่อสาระ โดยมีลักษณะพิเศษที่ว่าสื่อสาระหรือเนื้อหานั้นกับคนหมู่ใหญ่ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องการให้พระเทศน์ให้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์ เราจึงต้องจัดเป็นพิธีขึ้น ดังที่เรามีพิธีแสดงพระธรรมเทศนา แต่ถ้าเป็นเรื่องของบุคคลต่อบุคคล เมื่อผู้ใดต้องการเนื้อหาสาระคือ ธรรม ก็ไปหาพระไปพบท่านก็จบ แต่สำหรับคนหมู่ใหญ่เมื่อเราต้องการให้เนื้อหาสาระคือตัวธรรมนี้ไปถึงประชาชนเราก็จัดเป็นพิธีกรรมขึ้น

พิธีกรรมคือรูปแบบนั้นต้องการสื่อสาระคือธรรม แก่ประชาชน ให้คนหมู่ใหญ่ได้รับประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่คำนึงถึงสาระที่เป็นตัวเหตุผลให้เรามีพิธีกรรมนั้น เราก็ไม่นึกว่าเราจัดพิธีกรรมคือเทศน์เพื่ออะไร เราก็ไม่นึกถึงเป้าหมายที่จะให้ประชาชนส่วนใหญ่มาได้รับประโยชน์ เราก็เพียงแต่รักษารูปแบบพิธีโดยจัดให้มีพิธีเทศน์ขึ้นมา แล้วก็ไปพิถีพิถันเน้นกันในเรื่องรูปแบบที่จุกจิกหยุมหยิม ว่าต้องทำอย่างนี้ๆ แต่เสร็จแล้วมีคนมาฟังแค่คนสองคนแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ฉะนั้นจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ที่เราจัดพิธีกรรมขึ้นมาอย่างนี้ ก็เพื่อเอารูปแบบหรือวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสาระไปถึงคนหมู่ใหญ่

เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของประเพณีต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม จะสำเร็จก็ต่อเมื่อมันเป็นเครื่องสื่อสาระหรือเนื้อหาอย่างได้ผลดีตามวัตถุประสงค์ของวัฒนธรรม โดยเฉพาะก็คือให้ถึงคนหมู่ใหญ่นั้นถ้าเนื้อหาไม่มีรูปแบบช่วย คือ สัจธรรมและจริยธรรม ไม่มีวัฒนธรรมมาช่วย คนหมู่ใหญ่ก็จะไม่สามารถเข้าถึงตัวสาระ และก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ว่า

พิธีกรรมที่จัดในการแสดงธรรม อาจจะไม่ใช่พิธีแสดงพระธรรมเทศนาอย่างสมัยก่อน แต่อาจจะเป็นการจัดพิธีแบบสมัยใหม่ เช่น เป็นการแสดงปาฐกถาธรรม ในศาลาหรือในหอประชุมเป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมทั้งนั้น คือเป็นรูปแบบที่จะสื่อสาระไปถึงคนหมู่ใหญ่ ถ้าเราไม่มีรูปแบบเหล่านี้ เนื้อหาที่มีอยู่แม้จะเป็นประโยชน์ก็เข้าไม่ถึงคนหมู่ใหญ่ คนหมู่ใหญ่ก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสัจธรรมและจริยธรรมนั้น เพราะไม่มีวัฒนธรรมมาเป็นตัวเอื้อ ถ้าเราจัดวัฒนธรรมให้ลงตัวดี เป็นวัฒนธรรมที่ได้ผลดีแล้ว ธรรมหรือตัวเนื้อหาสาระนั้นก็ออกมาเป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมากได้ เรื่องของวัฒนธรรมก็มีความสำคัญอย่างนี้

กิจกรรมต่างๆ ในปัจจุบันนี้ เช่นอย่างการโฆษณา ก็เป็นวัฒนธรรม แต่เป็นแบบสมัยใหม่ คือเขาต้องการให้เรื่องของสินค้าที่เขาต้องการขายนี้ไปถึงประชาชน และให้คนเกิดความนิยมอยากจะซื้อ เขาจึงจัดทำการโฆษณาขึ้นมา การโฆษณาเป็นพิธีกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมปัจจุบัน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทุนนิยมแบบบริโภคนิยม อย่างนี้เป็นต้น วัฒนธรรมจึงปรากฏในรูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนมีวัตถุประสงค์ที่เป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

ในการสื่อสาระหรือเนื้อหาที่ต้องการแก่ประชาชนหรือชุมชนหรือสังคมนั้น วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบเหล่านี้จะประกอบด้วยเจตนาอยู่เบื้องหลัง เจตนานั้นอาจจะประกอบด้วยปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ และกุศลจิตที่ปรารถนาดีต่อประชาชน เช่นจัดให้มีการเทศน์ขึ้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรม เป็นความประสงค์ดีมีเมตตาธรรม หรืออาจจะจัดตามแบบพิธีโฆษณาเพื่อสนองความโลภ โดยที่เจตนาเบื้องหลังก็คือการมุ่งผลประโยชน์ก็ได้ เจตนาที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่กล่าวมาแล้วด้วย

ข. วัฒนธรรมจะดีต้องพร้อมทั้งสาระและรูปแบบ

ตกลงว่า เนื้อหาถ้าไม่มีรูปแบบช่วย หรือว่าสัจธรรมและจริยธรรม ถ้าไม่มีวัฒนธรรมช่วย คนหมู่ใหญ่ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากสัจธรรมและจริยธรรม ที่เป็นเนื้อหาสาระนั้น และในทางตรงกันข้าม ถ้ารูปแบบนั้น ไม่มีสาระหรือมีแต่ไม่สื่อสาระอย่างได้ผล ก็ไม่ได้ประโยชน์อีกเช่นเดียวกัน นอกจากจะสื่อประโยชน์ไปถึงประชาชนไม่สำเร็จแล้ว บางทีเมื่อไม่มีเนื้อหาสาระครองที่อยู่ ก็เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไป เช่นพิธีกรรมต่างๆ ที่เห็นๆ กันอยู่ เมื่อไม่คำนึงถึงตัวสัจธรรมและจริยธรรม นานๆ ไป พิธีกรรมนั้นก็ไขว้เขวเคลื่อนคลาดจนอาจจะออกนอกลู่นอกทางผิดธรรมผิดวินัยไปก็ได้

ที่พูดมานี้ คือความสัมพันธ์ระหว่างสัจธรรมและจริยธรรมที่เป็นเนื้อหาสาระด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือวัฒนธรรมที่ปรากฏภายนอก ข้อพึงระลึกที่กล่าวมาแล้วประการหนึ่ง ก็คือ วัฒนธรรมนั้นต้องมีทั้งสาระ และมีรูปแบบที่นำมาใช้ได้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของกาลเทศะ อันนี้เป็นเพียงการเน้น

ถ้าเราสามารถรักษาวัฒนธรรมที่บรรจุไว้ซึ่งเนื้อหาสาระที่ต้องการได้จริง เราก็จะเป็นผู้ที่ยืนอยู่ในหลักการของตน เรียกว่าเป็นผู้มีจุดยืน ถ้าวัฒนธรรมของเรามีจุดยืนบนหลักการที่มั่นคงอย่างนี้ ก็เท่ากับมีแกนเป็นศูนย์กลางแล้ว เราจะไม่หวั่นไหว จากจุดยืนคือหลักที่มั่นคงนั้น เราก็สามารถยื่นมือขยายศักยวิสัยของเราแผ่ออกไปโอบอุ้มเอาถิ่นแดนกว้างไกล เข้ามาอยู่ในแวดวงแห่งวัฒนธรรมของเรา นั่นก็คือการที่วัฒนธรรมแผ่ความนิยมออกไปถึงชุมชนอื่นสังคมอื่น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สังคมของเราแทนที่จะเป็นฝ่ายแผ่ขยายหลักการจากจุดยืนของเราออกไป เรากลับเป็นฝ่ายตั้งรับ กลายเป็นว่ามีวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมที่เขามีหลักการที่มั่นคงกว่า หรืออย่างน้อยมีลักษณะที่ชวนนิยมมากกว่า แล้วเขาก็แผ่อิทธิพลออกจนกระทั่งบุกเข้ามาในสังคมของเราอย่างมากมาย เราเป็นฝ่ายถูกบุก เป็นฝ่ายรับแทนที่จะเป็นผู้รุกออกไป

ถ้าเรามีวัฒนธรรมที่ดีที่มั่นคง มีเนื้อหาสาระ มีสัจธรรมและจริยธรรม ที่เรามั่นใจจริงๆ และสามารถจัดรูปแบบวัฒนธรรมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและกาลสมัยได้เป็นอย่างดีแล้ว จากจุดยืนของเรานี้เราจะสามารถขยายอิทธิพลแห่งวัฒนธรรมของตนเอง ให้กว้างไกลออกไปได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีความมั่นคงและมีความสามารถอย่างนั้น เราก็ไม่ควรจะยินดีในการขยายอิทธิพลแห่งวัฒนธรรมของตนออกไปโอบเอาผู้อื่นเข้ามาอยู่ในวงล้อมของตน อย่างที่วัฒนธรรมแข็งๆ มักจะทำกัน แต่เราควรจะก้าวหน้าต่อไปอีกสู่ขั้นของความเป็นผู้ให้ คือเผื่อแผ่คุณค่าความดีงามในวัฒนธรรมของตนให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ โดยมองตนเองในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่ทำแบบรวมศูนย์เข้าหาตัวเอง แนวความคิดแบบนี้จึงจะสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาที่ให้ทำการเพื่อประโยชน์สุขแห่งพหูชน และเพื่อเอื้อเกื้อกูลแก่โลก (คติแห่ง พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย)

เป็นอันว่าต้องมีรูปแบบที่จะใช้สื่อให้เข้ากับสภาพที่เป็นจริง ให้คนได้ประโยชน์จากเนื้อหาสาระได้จริง

ค. วัฒนธรรมมีความต่อเนื่องเป็นกระแส

ต่อจากนี้ก็มาถึงข้อสังเกตที่สำคัญคือ วัฒนธรรมนี้เป็นกระแส

คำว่าเป็นกระแส ก็คือเป็นสิ่งที่มีการสั่งสมถ่ายทอดแล้วก็ต่อเนื่องไป ไม่หยุดนิ่งตายอยู่กับที่ ถ้ามองในแง่ของกาลเวลา มันจะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากอดีตมาถึงปัจจุบันแล้วก็เป็นฐานที่จะต่อไปสู่อนาคต อันนี้เป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของวัฒนธรรม ที่มีเรื่องของกาลเวลา ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ปัจจุบันเป็นจุดที่ตั้ง แต่มันจะไม่ขาดตอน เพราะมันเป็นกระแส จึงจะขาดหรือหยุดอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ถ้าอยู่กับอดีตอย่างเดียว ไม่มาถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมนั้นก็ตาย ถ้าหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่สามารถจะสืบสานสู่อนาคต วัฒนธรรมนั้นก็ไม่งอกงาม เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นวัฒนธรรมที่มีความสืบเนื่อง คือ ต่อจากอดีต และเป็นฐานสู่อนาคต โดยดำรงอยู่ในปัจจุบันอย่างมีคุณค่า มีความหมาย มีประโยชน์ จุดสำคัญจะต้องระวังไม่ให้วัฒนธรรมนั้นหยุดอยู่ในลักษณะเป็นของนิ่งตายอยู่กับที่

เวลานี้บางทีเรามองวัฒนธรรมในลักษณะที่มีความเข้าใจไม่ค่อยถูกต้อง สายตาของคนในสังคมไทยจำนวนมากมองวัฒนธรรมเป็นเรื่องของเก่า เป็นของโบราณ หรือเป็นของคนสมัยก่อน ถ้ามองอย่างนี้ก็เป็นอันตราย เป็นความผิดพลาดในทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะต้องตั้งอยู่อย่างมั่นคงในปัจจุบัน แต่บนฐานที่โยงมาจากอดีต ถ้ามีการตัดแยกไปเป็นเก่ากับใหม่ ก็แสดงว่าวัฒนธรรมนั้นเริ่มเป็นปัญหาแล้ว เก่ากับใหม่จะต้องมีการสืบทอดต่อกันอย่างดี ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจ เพื่อจะทำให้เก่าที่สืบทอดมานั้น เป็นประโยชน์แก่ปัจจุบัน และมีทางที่จะเจริญงอกงามไปสู่อนาคต

บางทีเราปฏิบัติต่อวัฒนธรรมด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ โดยพยายามทำให้มันเป็นของเก่าและทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นของเก่า ถ้าอย่างนั้นคนจะรู้สึกว่ามันไม่เข้ากับชีวิตของเขา เขาจะรู้สึกว่าวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับชีวิตของเขา แต่เป็นเพียงเรื่องของคนเก่า ในสมัยโบราณโน้น แล้วทำไมเขาจะต้องทำตามด้วย เขาจะทำได้อย่างเดียวก็คือด้วยการยึดถือมั่น ว่าอันนี้เป็นมรดกของเรา ช่วยกันรักษาไว้หน่อย แต่เขาจะไม่ซาบซึ้ง และก็จะไม่ได้ผลจริงจัง ก็เลยต้องตั้งอกตั้งใจคอยปลุกกันไว้ด้วยการให้ยึดไว้ให้ถือมั่นไว้ แต่ไม่มีผลอย่างเป็นไปเอง ที่จะลื่นไหลไปในกระแสที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นจะต้องระวังให้วัฒนธรรมมีความหมายเป็นกระแสให้ได้ โดยให้มีความสืบทอด เฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ปรากฏในปัจจุบัน จะต้องมีความหมายที่สื่อกับคนในยุคสมัยนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า ส่วนแห่งวัฒนธรรมที่เป็นของเก่า ซึ่งจะไม่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ก็มีอยู่ ส่วนที่เป็นของเก่านี้หลายอย่างก็มีคุณค่ามาก ซึ่งจะต้องจารึกไว้หรือรักษาไว้ ในกรณีนี้การรักษาไว้จะมีความหมายต่างจากที่กล่าวข้างต้น คือเรารักษาไว้ในฐานะมรดกที่มีค่าน่าภูมิใจ โดยมีความชัดเจนแน่นอนลงไป ไม่มีความขัดขืนที่จะให้คงอยู่ในปัจจุบัน ข้อสำคัญคือจะต้องมีความชัดเจนกับตัวเองว่า อะไรที่ถือเป็นของเก่าในอดีตที่เราภูมิใจ อะไรที่จะสืบทอด และอะไรที่จะสร้างสรรค์ต่อไป ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ อย่างที่เป็นอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน

การสืบสานวัฒนธรรม

ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมเป็นกระแสซึ่งมีการสืบทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และโยงไปถึงอนาคตนี่แหละ จึงมีคำว่าสืบสานเกิดขึ้น ดังที่มีโครงการสืบสานงานวัฒนธรรมไทย ในที่นี้ จึงขอโอกาสพูดถึงความหมายของการสืบสาน

สืบสาน มีทั้งสืบ และสาน คำว่า สืบ ในความหมายหนึ่งหมายถึงสืบสาว คือย้อนลงไปในความเป็นมาเพื่อหาเหตุปัจจัยในอดีต และการย้อนลงไปหาที่เรียกว่าสืบสาวนั้น มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือสืบสาวในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อหาความเป็นมาในอดีตว่า วัฒนธรรมนี้เกิดสืบเนื่องมาจากอะไร ต้นตออยู่ที่ไหน และสืบต่อกันมาอย่างไร ทุกอย่างที่มีอยู่ มีความเป็นมาที่สืบสาวไปในอดีตได้ ถ้าชนชาติใดมีปัญญา มีความรู้เข้าใจ เกี่ยวกับรากฐานที่มาในประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมของตน ชาตินั้นก็มีทางที่จะทำให้วัฒนธรรมของตนเจริญงอกงามได้ แต่ในบางสังคม คนมีความมืดมัว ไม่รู้จักสืบสาวหาความเป็นมาแห่งวัฒนธรรมของตนในอดีต

สำหรับสังคมไทยของเรานั้น เราพูดได้เลยว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์ ถ้าเราสืบสาวลงไปในอดีต วัฒนธรรมของเรา แม้ไม่ทั้งหมด แต่ส่วนมากทีเดียวได้สืบทอดมาจากพระพุทธศาสนา พฤติกรรมและแบบแผนอันเนื่องจากพระพุทธศาสนานี้แหละ ได้เป็นที่มาแหล่งสำคัญของวัฒนธรรมของสังคมไทยปัจจุบันนี้ในเชิงประวัติศาสตร์

สืบสาวอีกด้านหนึ่งคือ ในด้านเนื้อหาสาระว่า เนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไทยนั้น คืออะไร มาจากไหน ในด้านนี้ก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าวัฒนธรรมไทยนั้น มาจากพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นจึงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย โดยส่วนมากหรือข้างมาก ทั้ง ๒ ด้าน คือ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ และในด้านเนื้อหาสาระ

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

ท่านที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อจะออกมาสู่ปฏิบัติการในสังคมไทย จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย และถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ถ้าท่านที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะช่วยในเรื่องวัฒนธรรมไทยแล้ว ก็จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมไทยได้เป็นอันมาก นี่คือสืบในความหมายของการสืบสาว

สืบในอีกความหมายหนึ่ง คือสืบทอด สืบสาวนั้นโยงย้อนกลับไปข้างหลัง แต่สืบทอดนั้น สืบต่อไปข้างหน้าจากปัจจุบันสู่อนาคต เมื่อเราสืบสาวได้ดีแล้ว เราก็เห็นทางที่จะสืบทอดได้ดีด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการสืบทอดนั้น เราไม่ได้สืบทอดลอยๆ แต่สืบทอดด้วยปัญญาอย่างมีวิธีการ ถ้าสืบทอดโดยไม่มีวิธีการ ก็กลายเป็นการปล่อยให้ไหลเรื่อยเปื่อยไป การสืบทอดอย่างมีวิธีการในที่นี้เรียกว่าสืบสาน เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่าสืบสาน คือ นอกจากสืบแล้วก็มีการสานด้วย

สาน คือ การจัดสรรปรุงแต่งวัฒนธรรมที่สืบมาจากเดิมให้มีรูปแบบเป็นต้น ที่สอดคล้องกับยุคสมัยในสภาพปัจจุบัน ให้เป็นประโยชน์แก่คนที่ดำเนินชีวิตอยู่ การสานทำให้สิ่งที่สืบมาเกิดผลเป็นประโยชน์และมีชีวิตชีวา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการสานวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่สืบอย่างเดียว

เอาเป็นว่า การสาน จะทำให้วัฒนธรรมนั้นเป็นประโยชน์แก่คนในปัจจุบัน พร้อมทั้งจะเป็นฐานของการงอกงามสืบต่อไปเบื้องหน้าด้วย

จากนั้นถ้าเป็นไปได้ หากวัฒนธรรมของเราเป็นของดี ก็ควรที่จะแผ่ขยายความนิยมออกไปในสังคมโลกด้วย มิใช่จะเป็นแต่ฝ่ายตั้งรับหรือรอรับ อย่างที่เวลานี้เราได้กลายเป็นฝ่ายตั้งรับวัฒนธรรมอื่นที่บุกเข้ามา นับว่าวัฒนธรรมของเขาน่าชื่นชมที่ได้รับความนิยม แต่การที่เราไปนิยมตาม และรับเข้ามานั้น ถ้าไม่เป็นไปด้วยสติปัญญา ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เช่นมีคุณสมบัติที่เข้ากับลักษณะ ๖ ประการที่กล่าวไปแล้วหรือไม่

ในทางกลับกัน ทำไมเราไม่คิดว่า เราจะสืบสานวัฒนธรรมของเราให้สื่อสาระอันอุดม และให้ได้รับความนิยมแผ่ขยายออกไปในสังคมโลกบ้าง

ตกลงว่า การสาน ๓ อย่างคือ สานสิ่งที่สืบจากอดีตให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน สานสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันให้พร้อมที่จะงอกงามต่อไปในอนาคต และสานสิ่งที่ตนมีให้น่าชื่นชมแผ่ความนิยมกว้างออกไปในโลก นี้เป็นสิ่งที่ควรจะพยายามกระทำในการสืบสานวัฒนธรรม

การที่จะทำได้อย่างนี้จะต้องมีความรู้ความสามารถ คือการที่จะต้องนำเอาส่วนประกอบต่างๆ เข้ามาปรับปรุง เพราะการปรับปรุงหรือการสานนั้นจะต้องมีส่วนประกอบ แม้จะเป็นการสานกระบุง สานบุ้งกี๋ สานพัดอะไรต่างๆ ก็ต้องมีสิ่งที่เอามาประกอบกันเข้า เราจะต้องเอาส่วนประกอบจากวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมมาปรับ ให้รับกันกับสภาพที่เป็นอยู่ และนำส่วนประกอบใหม่ๆ ที่ควรจะรับเข้ามาปรุง แล้วสานเข้าเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาและมีการพัฒนา

องค์ประกอบสำคัญที่จะมาสานวัฒนธรรมซึ่งขาดไม่ได้ คือสติปัญญา เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระเดิมอย่างที่กล่าวมาแล้ว และมีความชัดเจนในสภาพปัจจุบัน เพื่อจะรักษาเนื้อหาสาระนั้นไว้ให้คงอยู่ได้ และสื่อสาระนั้นให้ปรากฏแก่ปัจจุบัน

ประการที่ ๑ วัฒนธรรมต่างๆ มีเนื้อหาสาระในเชิงสัจธรรมและจริยธรรม ที่จะต้องสืบค้นออกมาให้ได้ว่า เนื้อหาสาระที่เราต้องการนั้นคืออะไร และแยกออกได้จากเปลือกผิวหรือรูปแบบนั้น เมื่อจะทำการสานวัฒนธรรมที่สืบมา จึงควรจะตรวจสอบวัฒนธรรมของเราที่สืบมาถึงปัจจุบัน กับตัวเนื้อหาสาระที่แท้แต่ดั้งเดิมนั้นด้วย อันจะเป็นการปรับขั้นต้นในการสานวัฒนธรรม

ความรู้ในเนื้อหาสาระที่ต้องการ โดยเฉพาะหลักการของพระศาสนา ได้แก่ธรรมวินัยนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะใช้ประโยชน์ในการสานต่อวัฒนธรรมให้เจริญงอกงามสืบไป ถ้าขาดความรู้นี้เสียแล้ว การสืบสานวัฒนธรรมก็แทบจะไม่มีความหมาย วัฒนธรรมนั้นจะเลื่อนลอย มีแต่รูปแบบที่ไม่มีเนื้อหาสาระ เหมือนดังเปลือกที่ว่างเปล่า

ประการที่ ๒ คือความรู้เข้าใจในสภาพปัจจุบัน เช่น ปัญหาสังคม และสภาพความคิดจิตใจของคนในยุคปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งขาดไม่ได้ เพราะเราจะต้องเอาเนื้อหาสาระที่มีอยู่เดิมมาสานมาปรุงมาจัดมาสรรมาแต่งให้เข้ากับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้คนปัจจุบันนี้ใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเราไม่รู้เข้าใจสภาพปัจจุบันแล้ว แม้เราจะรู้เนื้อหาสาระ เราก็จัดไม่เป็น มันก็ไม่เกิดประโยชน์ทั้งๆ ที่มีเนื้อหาสาระ เหมือนมีน้ำ แต่ไม่มีแก้วที่จะไปตักมากิน

ประการที่ ๓ เพื่อให้วัฒนธรรมของเรา ได้รับความนิยมแพร่หลายออกไป เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก เราจะต้องมีความรู้เท่าทัน ต่อปัญหาและความต้องการของมนุษย์ทั่วโลกด้วย เพราะฉะนั้น คนไทยที่จะดำรงรักษาวัฒนธรรม จะมัวคิดแต่เรื่องวัฒนธรรมเพื่อประเทศของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมองไปที่สังคมโลกทั้งหมด โดยเฉพาะโลกปัจจุบันนี้ก็แคบเข้ามาเป็นอย่างยิ่งแล้ว เป็นโลกในยุคข่าวสารข้อมูล ที่มีการติดต่อถึงกันหมดแล้ว วัฒนธรรมจะมีการบุกรุกต่อกันได้อย่างมาก เพราะฉะนั้นเราจะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่อย่างเดียวไม่ได้ จะทานกำลังวัฒนธรรมจากภายนอกที่โหมท่วมทับเข้ามาไม่ได้

ความสำเร็จของงานสืบสานวัฒนธรรม

ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง จะขอพูดเป็นเรื่องปลีกย่อย ในงานสืบสานวัฒนธรรมที่จะให้ได้ผลดี มีข้อคำนึงและสิ่งที่ต้องเผชิญที่จะยกมาเป็นเรื่องๆ

ก. เผชิญกับวัฒนธรรมอื่น: แพ้หรือชนะ

การที่จะตั้งรับและเผชิญต่อวัฒนธรรมจากภายนอก เป็นเรื่องสำคัญของผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันมาก เพราะเราได้เห็นกันชัดเจนว่า เวลานี้วัฒนธรรมตะวันตกได้บุกรุกเข้ามาในสังคมไทยเป็นอย่างมาก จะว่าบุกรุกก็ไม่เชิง เพราะคนไทยเรานี้เอง ไปนิยมและไปรับเอาของเขาเข้ามา ฉะนั้นเราจะต้องมีการเตรียมพร้อม ในการที่จะเผชิญและรับมือกับวัฒนธรรมจากภายนอกนี้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก แต่ทั้งนี้เราจะต้องมีความชัดเจนว่า ในการสัมพันธ์กับวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เราจะเอาแค่ไหน หรือจะไม่เอา

หลักการทั่วๆ ไปก็คือ ไม่ควรไปสุดโต่ง สุดโต่งนั้นมี ๒ อย่างคือ พวกหนึ่งก็เลียนแบบ หมายความว่า วัฒนธรรมตะวันตกมาอย่างไร ฉันก็เลียนแบบทำตามไปหมด มีอะไรมาก็รับทั้งสิ้น อย่างนี้ก็เป็นสุดโต่งที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งจะเป็นการทำอันตรายต่อวัฒนธรรมของตนเอง และไม่ใช่เฉพาะวัฒนธรรมเท่านั้น ที่จริงก็คือการทำลายสังคมและชีวิตของตนเองนั่นเอง ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ การที่คนไทยไปนิยมเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้เกิดผลเสียต่อชีวิตและสังคมของตนเองเพียงใด

เพราะฉะนั้น ในด้านสุดโต่งที่หนึ่ง การรับมือกับวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มิใช่เป็นการเลียนแบบ ที่จริงการเลียนแบบก็คือการตามไปด้วยโมหะนั่นเอง หมายความว่าเลียนแบบเพราะไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ที่จะทำอย่างไรด้วยตนเอง จึงทำไปโดยที่ว่า มีแต่ความชื่นชอบ แล้วก็ตามอย่างไปเพื่อสนองความต้องการที่ชื่นชอบนั้น โดยไม่รู้ว่าที่เขาเป็นอย่างนั้นและทำอย่างนั้น เพื่ออะไรและเพราะอะไร และเรารับแล้วจะเป็นอย่างไร

ต่อไปอีกสุดโต่งหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้าม คือปฏิเสธ ผลักดันออกไป ไม่เอาทั้งนั้น อะไรเป็นวัฒนธรรมตะวันตก ของนอกเข้ามาฉันไม่เอา แต่เสร็จแล้วเพราะการปฏิเสธอย่างนี้แหละ ก็จะเอาโดยไม่รู้ตัวเลย เราจะเห็นว่าคนไทยจำนวนมาก รับวัฒนธรรมตะวันตกโดยไม่รู้ตัว ปากก็บอกว่าไม่เอาๆ แต่ไปตามเขาเข้าแล้ว เอามาใช้แล้ว ปัจจัยดำรงชีพ สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ระบบวิธีในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมสังคม เป็นไปตามเขา เข้าไปมีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้นจะต้องใช้วิธีแห่งปัญญา

วิธีแห่งปัญญาคือ การที่จะมองและกลั่นกรองเอามาใช้ประโยชน์ เมื่อเราสัมพันธ์กับวัฒนธรรมภายนอก ไม่เฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก จะเป็นวัฒนธรรมใดก็ตาม เราจะต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ทำอย่างไรจะเอามันมาใช้ประโยชน์ได้ คือการที่ต้องรู้จักเลือกเอาส่วนที่ดี มองจับเอาคุณค่าที่เป็นประโยชน์ โดยแยกแยะวิเคราะห์ และที่สำคัญเมื่อใช้ปัญญา รู้จักเลือกแล้ว ก็ต้องรู้จักดูดย่อย ให้กลายมาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา แล้ววัฒนธรรมของเราก็จะอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การเลียนแบบ เป็นการรับด้วยโมหะ คือไม่มีปัญญา แล้วมันก็เข้ากับตัวเองไม่ได้สนิท เหมือนเราไปใส่รองเท้าของฝรั่ง ฝรั่งตัวโตกว่า เราไปใส่รองเท้าของเขาแล้วก็คงเดินไม่สะดวก มันโพรกเพรกๆ หรือจะไปใส่เสื้อนอกของฝรั่ง มันก็ไม่เข้ากับเรา โดยดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อม และแม้แต่ขนาดตัวก็ไม่เท่ากัน แต่ที่สำคัญก็คือ จะทำได้ไม่เหมือนเขา เพราะเป็นคนละคน ถึงจะเลียนแบบอย่างไร ก็ไม่เหมือนเขาจริง

การเลียนแบบเป็นการไปรับเอามาทั้งดุ้น และพยายามจะทำให้เหมือนเขา ทั้งที่ตัวเราไม่เหมือนเขา ทำให้เราตะกุกตะกัก และอยู่แค่ไม่ถึงเขา เพราะมีความคิดเพียงแค่จะให้เท่าเขา สังคมของเราจึงไม่สามารถเจริญพัฒนาได้

ถ้าเป็นคนมีปัญญาก็ใช้วิธีดูดย่อย เพราะว่าเมื่อดูดย่อยแล้ว มันก็กลืนกลายเป็นเนื้อตัวของเรา แล้วตัวเราก็เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ฉะนั้นการที่จะรับเอาวัฒนธรรมภายนอก จะต้องใช้วิธีดูดย่อยเข้ามา ไม่ใช่วิธีเลียนแบบ อันนี้เป็นวิธีที่ใช้ปัญญา

วัฒนธรรมของตะวันตกที่เจริญนั้น ก็ด้วยการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้าไปทั้งนั้น อย่างง่ายๆ เช่น ภาษาอังกฤษ เวลานี้มีศัพท์มากเหลือเกิน มี Dictionary ใหญ่โตมโหฬาร สามารถคุยได้ว่า ภาษาของเขามีจำนวนถ้อยคำที่ใช้มากมายมหาศาล แต่ถ้อยคำภาษาอังกฤษนั้น มาจากภาษาต่างประเทศในต่างวัฒนธรรมมากมาย คงไม่ต่ำกว่าครึ่ง หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ทีเดียว แต่นั่นเป็นการรับเอาโดยวิธีดูดกลืนเพื่อที่จะใช้ประโยชน์ คือ ไม่ใช่สักแต่ว่าเลียนแบบ แต่รับเอาอย่างมีวัตถุประสงค์ หรือรับแล้วจัดปรับให้เข้ากับวัตถุประสงค์ ที่จะใช้ประโยชน์ สนองความต้องการในสังคมของเขา ก็ทำให้สังคมของเขาเจริญวัฒนา

สังคมใดๆ ก็ตามที่จะมีความเจริญวัฒนา ต้องรู้จักเลือกรับจากภายนอก ไม่ใช่มัวยืนตัวปิดตายอยู่ ถ้าเป็นสังคมที่ปิดตาย ก็จะมีวัฒนธรรมที่นิ่งตายเช่นเดียวกัน จะไม่มีความเจริญงอกงามอีกต่อไป และอยู่ยั่งยืนไม่ได้

เวลานี้มีการเผชิญกันระหว่างวัฒนธรรม และมีการพูดกันทำนองว่า จะมีการแพ้ชนะกันในทางวัฒนธรรมด้วย ความจริงศัพท์นี้ไม่น่าใช้หรอก แต่เมื่อใช้แล้วเราก็ควรนำเอามาพูดกัน จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเรารับวัฒนธรรมอื่นในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการเลียนแบบ ก็จะเป็นการถูกครอบงำ

เวลานี้บางทีเราก็พูดกันอยู่เหมือนกันว่า วัฒนธรรมไทยหรือสังคมไทยนี้ถูกครอบงำ โดยวัฒนธรรมแบบตะวันตก การที่ถูกครอบงำก็คือ การแสดงความพ่ายแพ้ ถ้าสังคมของเราถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมตะวันตกจริง ก็แสดงว่าวัฒนธรรมไทยถึงความพ่ายแพ้ไปแล้ว เป็นความปราชัย เพราะการเลียนแบบ คือการถูกครอบงำ และการถูกครอบงำ คือความพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ในทางตรงข้าม จะต้องมีชัยชนะ คือ แทนที่จะเลียน ก็เปลี่ยนเป็นเรียน

การเรียนไม่เสียหาย แต่ถ้าเลียนก็เสียแน่ ถ้าจะเลียนแบบเขา ก็ทำไม่ได้จริงเหมือนเขา และได้เขาเป็นขีดกำหนด อยู่แค่นั้น แต่ถ้าเราเรียน เราจะได้ประโยชน์ เพราะจะปรับเข้ากับตัวเรา และเป็นส่วนเสริมตัวเราให้ยิ่งงอกงาม การปฏิบัติต่อวัฒนธรรม ต้องใช้วิธีเรียน เมื่อเราเรียนก็คือการที่เราสามารถถือเอาประโยชน์จากของเขาได้ และเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เข้ามาเสริมเนื้อตัวของเรา อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าดูดกลืนย่อย เป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ถ้าใช้วิธีนี้เราจะได้ชัยชนะ

ชัยชนะทางวัฒนธรรมจะเกิดขึ้น ถ้าคนของเรามีปัญญา และมีวิจารณญาณในการเลือกรับอารยธรรมตะวันตก หรือวัฒนธรรมอื่นใดก็ตามจากภายนอก

เป็นอันว่า จะต้องใช้วิธีเรียน โดยดูดกลืนเอามาย่อยเข้าเป็นของตัวเอง แล้ววัฒนธรรมของเราก็จะเจริญงอกงามยิ่งใหญ่อุดมคุณค่ามากขึ้น นอกจากจะสามารถรับเอาจากภายนอกมาเป็นของเราอย่างดีแล้ว เมื่อใช้วิธีแห่งปัญญา เราจะสามารถพัฒนาวัฒนธรรมของเรานี้ให้เป็นที่นิยม จนกระทั่งสังคมอื่นข้างนอกเขานิยมตามวัฒนธรรมของเราไปด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งพึงระลึกตระหนักไว้ในตอนนี้ก็คือ เราอย่าแค่เป็นวัฒนธรรมตั้งรับเท่านั้น แม้แต่สามารถเลือกรับก็ยังใช้ไม่ได้ ถ้าอยู่แค่ตั้งรับก็จะค่อยๆ หมดไป เพราะเมื่อถูกบุกถูกรุกอยู่ตลอดเวลา ก็จะค่อยๆ อ่อนกำลังร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

ข. วัฒนธรรมไทย สู่ความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้

ทำอย่างไรจะให้วัฒนธรรมไทยของเรานี้อยู่ในภาวะเป็นวัฒนธรรมฝ่ายรุกบ้าง ตอนนี้ควรจะต้องคิดกัน คือต้องพยายามที่จะให้วัฒนธรรมของเราสามารถขยายตัวแผ่ความน่านิยมออกไป วัฒนธรรมที่จะเป็นอย่างนี้ได้ก็ต้องมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง และการที่จะมีอะไรให้แก่เขา ก็ต้องเป็นวัฒนธรรมที่มีเนื้อหาสาระ

เรื่องนี้ เราจะต้องคิดกันให้ชัด ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมไทยจะมีอะไรให้แก่ชาวโลก พระพุทธศาสนาก็ต้องมีเนื้อหาสาระที่เสริมเติมแก่อารยธรรมของโลกได้ เราจะต้องรู้เข้าใจหลักการของพระพุทธศาสนา ให้เพียงพอที่จะตัดสินเรามีความมั่นใจหรือไม่ในพระพุทธศาสนา คือความมั่นใจในธรรมของพระพุทธเจ้า เรามีญาณทัศนะในสัจธรรม มีความจริงอะไรที่จะเอามาใช้ประโยชน์ ในการแก้ปัญหาของโลกบ้าง หลักความจริงอะไรที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ที่เราจะเอามาจัด เอามาสร้างเป็นรูปแบบที่เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันให้ใช้ประโยชน์ได้

ถ้าปรากฏว่า ธรรมของพระพุทธศาสนา ที่เป็นเนื้อหาสาระคือความจริงของธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าค้นพบนั้นสามารถเอามาใช้ประโยชน์แก้ปัญหาสังคมปัจจุบันที่เขากำลังประสบอยู่ได้ผล ช่วยให้อารยธรรมของมนุษยชาติก้าวรุดหน้าได้ต่อไป สังคมอื่นเขาก็ต้องนิยม วัฒนธรรมไทยก็แพร่ขยายไปเอง

เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งจิตตั้งใจมีเจตจำนงในการที่ว่าเราต้องเป็นวัฒนธรรมฝ่ายรุก โดยมีความคิดที่จะแผ่ขยายความนิยมในวัฒนธรรมของเราออกไป ด้วยการมีสาระที่จะให้แก่เขา และสื่อสารให้เขาเข้าใจได้ นี้ก็คือการมีจิตสำนึกในความเป็นผู้นำ

ปัจจุบันสังคมไทยของเรานี้ มีสภาพจิตอย่างหนึ่งที่ได้สั่งสมมานานเป็นร้อยปีจนกลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นเข้าไปอยู่ในจิตไร้สำนึกเลยทีเดียว คือภาวะของความเป็นผู้ตาม สภาพจิตแบบผู้ตามนี้ กล่าวได้ว่า กำลังครอบงำจิตสำนึกของสังคมไทย จนกระทั่งมีพฤติกรรมของผู้ตามไปโดยไม่รู้ตัว

ประการที่หนึ่ง เรามองตะวันตกว่าเป็นสังคมที่เจริญ มีอะไรดีกว่าเรา เจริญกว่าเรา แต่เวลาเรามองความเจริญเรามักจะมองในความหมายว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง แทนที่จะมองว่าเจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง ขอให้พิจารณาดู เป็นอย่างนี้จริงหรือไม่

วัฒนธรรมที่จะเจริญนั้น ต้องเป็นวัฒนธรรมของนักทำ หรือนักสร้างสรรค์ และสามารถสืบสานได้ นักสร้างสรรค์ ผู้จะมีความเจริญที่แท้ และพัฒนาตนขึ้นจากผู้ตามสู่ความเป็นผู้นำ เขาจะมองความหมายของความเจริญว่า เจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง แต่เวลานี้คนของเราส่วนมากมองว่า เจริญอย่างฝรั่งคือ มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ถ้าอย่างนี้เราก็ต้องคอยรอผลิตภัณฑ์ รอสิ่งบริโภคจากเมืองตะวันตก เขาตั้งตามองตั้งหูฟังว่าฝรั่งมีอะไร แล้วก็คอยดู คอยตามเพื่อที่จะรับเอา ถ้าอย่างนี้ก็ต้องเป็นผู้รับและเป็นผู้ตามอยู่เรื่อยไป

ประการที่สอง เมื่อเป็นอย่างนี้นานเข้า เราก็จะมีนิสัยที่ฝังลงไปในสภาพจิต ในการที่จะคอยดูว่าในสังคมตะวันตกมีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ บ้าง แม้แต่นักวิชาการก็จะมองว่า เวลานี้สังคมตะวันตกมีความคิดและการค้นคว้าทางวิชาการอะไรใหม่ๆ บ้าง เราคอยตามดู แล้วก็คอยรับ คอยดู คอยรับๆ อยู่เรื่อยๆ

พอเป็นผู้ดูผู้รับมานานเข้า ก็เลยกลายเป็นผู้ตามไปโดยไม่รู้ตัว นานๆ เข้าสภาพจิตของผู้ตามนี้ก็กลายเป็นจิตนิสัยของสังคม ที่จะคอยดูว่าในสังคมตะวันตก มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ เป็นสิ่งที่จะกินใช้บริโภค และแม้แต่ความรู้และผลงานทางวิชาการ แล้วก็ตามไปรับเอามา และภูมิใจที่ได้รับสิ่งใหม่จากเขา จนกลายเป็นการแข่งกันในหมู่พวกเราเอง ว่าใครจะรับได้ไวกว่า แล้วก็มาภูมิใจที่ตามเขาได้ก่อน มาข่มทับกันเอง ในสังคมของตน แทนที่จะคิดว่าเราก็มีดีที่จะให้แก่เขาเหมือนกัน แทนที่จะคิดค้นสืบสวนและสืบสาวกันดูว่า เรามีอะไรดีบ้างในตัวของเรา ที่จะเอาไปแสดงออกเผื่อแผ่ให้คนอื่นเขายอมรับและได้ประโยชน์บ้าง เรากลับไม่คิด เพราะเราติดนิสัยกลายเป็นสังคมที่มีสภาพจิตแบบผู้ตามไปแล้ว

ที่ว่านี้ มิใช่หมายความว่าจะไม่ให้ติดตามความก้าวหน้าเคลื่อนไหวและไม่ให้รับสิ่งใหม่จากตะวันตก ตรงข้ามวัฒนธรรมจะเจริญงอกงามได้ ก็ต้องทันต่อเหตุการณ์โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางปัญญา สิ่งที่พิจารณาในที่นี้คือท่าทีต่อสิ่งใหม่นั้น ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องตามให้ทันความรู้ความคิดที่นำหน้าที่สุดในโลก แต่การตามและการรับเอานั้น จะต้องดำเนินไปด้วยท่าทีแห่งความรู้เท่าทัน ของผู้มีดีของตนเอง ที่มองหาเอาสิ่งแปลกใหม่มาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ตามและรับด้วยท่าทีของผู้ที่รอการให้ของผู้อื่น หรือรอรับของแจก

เวลานี้จะต้องปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้มีสภาพจิตแบบที่จะเป็นผู้นำบ้าง ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ตามเรื่อยไป ในการที่จะเป็นผู้นำได้นั้น จะต้องเป็นผู้ให้ คือต้องมีอะไรที่จะให้แก่เขา ถ้าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขาแล้ว เราก็จะเป็นผู้นำไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะผู้ให้จะไปไหน ผู้ที่จะเอาก็ต้องตามไป เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีอะไรที่จะให้ เราก็จะเป็นผู้นำไปเอง

ต่อไปนี้สังคมไทยจะต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ คือสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ ไม่ใช่แค่คอยตามและรอรับเอา เรื่องนี้จะต้องพูดกันให้ชัด และคิดกันให้จริงจัง เป็นเรื่องสำคัญขั้นสุดยอด

ยอมรับหรือไม่ว่า เวลานี้สังคมไทยของเรา ได้มีสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ จนกระทั่งไม่รู้ตัว เพราะได้แฝงฝังลงไปอยู่ในจิตไร้สำนึกแล้ว ถ้ายอมรับ ก็จะต้องปลุกกันให้ตื่นขึ้นมา คือต้องปลุกเร้าจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ โดยรำลึกตระหนักว่า การที่จะเป็นผู้นำได้ก็ต้องเป็นผู้ให้ คือมีอะไรดีที่จะให้แก่เขา

การนำสิ่งดีที่เรามีขึ้นมาให้แก่เขา จะสำเร็จได้ก็ด้วยมีปัญญา คือ มีปัญญาซึ่งหยั่งถึงสัจธรรมที่เป็นแก่นสาร และเป็นฐานของวัฒนธรรม และรู้คิดที่จะทำให้เกิดประโยชน์ เช่นในการที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาของโลกในยุคปัจจุบันเป็นต้น อันนี้เป็นข้อพิจารณาและท้าทายที่สำคัญ ซึ่งถ้าทำให้เกิดขึ้นได้ วัฒนธรรมของเราก็จะเจริญงอกงาม จะมัวคิดแต่จะรักษาวัฒนธรรมเก่าอยู่ไม่ได้ จะต้องมองให้กว้างให้คลุมหลายแง่หลายลักษณะดังที่กล่าวมานี้

วัฒนธรรมของเราจะต้องเป็นวัฒนธรรมที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาของโลก และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่เป็นวัฒนธรรมแบบร่วมสร้างปัญหาให้แก่โลก ทำให้โลกเขาดูถูกวัฒนธรรมของเรา

ค. แก้ปัญหาด้วยอุดมธรรมนำสร้างสรรค์

เวลานี้ก็เห็นและได้ยินกันอยู่แล้วว่า คนไทย สังคมไทย และประเทศไทย ได้เข้าไปมีชื่ออยู่บ่อยครั้งมากในเรื่องที่เป็นปัญหาของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโสเภณี ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาสิ่งเสพติด ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเป็นพิษ และมักมีชื่อในอันดับที่เป็นผู้นำในการก่อปัญหาเหล่านี้ด้วย ถ้าสังคมไทยของเรายังเดินหน้ากันไปในสภาพเช่นนี้ ก็จะเป็นได้แต่เพียงผู้ช่วยก่อปัญหาให้แก่โลก และร่วมถ่วงดึงอารยธรรมของมนุษยชาติลงสู่ความเสื่อมโทรม เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนในประชาคมของชาวโลก

ในการแก้ปัญหานั้นเราอย่ามัวคิดแต่จะทำการในด้านลบ เช่นว่าจะลงโทษใคร จะกำจัดอะไรเป็นต้น ถ้าทำอย่างนั้น ก็เป็นวิธีการแบบตามแก้ปัญหา ซึ่งมักจะต้องแก้ปัญหากันอยู่นั่นไม่รู้จบ เหมือนอย่างจะแก้ปัญหาเด็กตีกัน เด็กรวมกันอยู่มากๆ ไม่มีอะไรทำ มองกันไปมองกันมา ก็ขัดตาเขม่นกัน เกิดเรื่องเกิดราว ชกต่อยตีกัน เหมือนไก่ยัดเยียดกันอยู่ในเข่ง กระทบกระแทกกันไปมาก็จิกตีกันอยู่ในเข่งนั้น รอเวลาที่เขาจะเอาไปขึ้นเขียงในคราวตรุษจีน ถ้าจะจับตัวลงโทษ หรือกีดกั้นการเคลื่อนไหว ก็ต้องตามแก้ปัญหาทีละเรื่องทีละรายไม่รู้เสร็จและไม่ทัน

แทนที่จะมัววุ่นกับการแก้ปัญหาในด้านลบเช่นนั้น ควรจะมองในทางบวก คือ เดินหน้าและสร้างสรรค์ หรือทำการแบบล้ำหน้าปัญหา ซึ่งทำให้ปัญหาถูกปิดช่องปิดโอกาสที่จะเกิดขึ้น โดยหาอะไรให้เขาทำร่วมกัน เมื่อเขามีอะไรทำในทางสร้างสรรค์ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาก็เริดร้างห่างหายไปเอง พร้อมกันนั้น การสร้างสรรค์และความเจริญก้าวหน้าก็จะตามมาด้วย

เหนือกว่านั้นไป สิ่งที่ละลายปัญหาและนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่ดีเลิศ ก็คือ การมีจิตสำนึกในจุดหมายสูงสุดร่วมกันของสังคม คือสังคมจะต้องมีสิ่งดีงามสูงสุดที่เป็นจุดรวมใจให้ทุกคนฝักใฝ่หมายมองมุ่งไปรวมเป็นอันเดียวกัน สิ่งที่เรียกสั้นๆ ว่า อุดมธรรม นี้ จะทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากทำให้สังคมรวมแรงรวมใจกันได้แล้ว ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้พุ่งไปข้างหน้า ทำให้เรามีวัฒนธรรมของผู้นำที่ก้าวหน้า

เมื่อพลังสร้างสรรค์ที่มีจุดรวมพุ่งไปข้างหน้าเกิดขึ้นแล้ว ความคิดและพฤติกรรมก่อปัญหาทั้งหลายก็ถูกละเลิก ลดน้อยหรือหมดหายไปเอง เหมือนเด็ก ๓๐-๔๐ คน รวมกันอยู่ในห้องเดียว ไม่มีอะไรทำ ไม่ช้าก็จะเกิดปัญหา จากความกระทบกระทั่งกันบ้าง จากบางคนที่ใจหงุดหงิดหรือคิดไปในเรื่องต่ำทรามเสียหายบ้าง หรือพากันทำพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในเวลานั้น ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น วัตถุส่องแสงปรากฏขึ้นในท้องฟ้าที่สูงไกลออกไป พอมีใครคนหนึ่งชี้บอกไปที่วัตถุนั้น ทุกคนในห้องจะหยุดเลิกลืมพฤติกรรมเหล่านั้น แล้วมองมุ่งพุ่งสายตาจ้องไปรวมที่จุดนั้นเป็นอันเดียว จากนั้นความสนใจ ความรู้สึกและกิจกรรมใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาแทน รวมทั้งความร่วมแรงร่วมใจ

ในสังคมของเราเวลานี้ เมื่อมีปัญหาและสภาพเสื่อมโทรมต่างๆ เกิดขึ้นมาก คนจำนวนมากมีแต่การเพ่งโทษ ซัดทอด กล่าวหา ตลอดจนด่าว่าหาโทษมาติเตียนกัน หาได้คิดไม่ว่า ปัญหาและสภาวะเสื่อมโทรมเหล่านั้น เป็นผลกรรมร่วมกันของสังคมที่ได้สะสมเหตุปัจจัยมาตลอดเวลายาวนาน ซึ่งทุกคนมีส่วนจะต้องรับผิดชอบ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ควรจะใช้ปัญญาแก้ปัญหาไปตามเหตุ โดยมีความเข้าใจทั้งในตัวปัญหาและผู้ก่อปัญหา แต่ที่สำคัญควรแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างสรรค์อย่างที่พูดมาแล้ว จึงจะได้ผลแท้จริง ไม่ใช่มัวแต่จ้องจับหาโทษมาซัดใส่และด่าว่ากัน ควรจะทำความดีได้มากกว่านั้น

หันกลับไปพูดถึงการสืบสานวัฒนธรรม ถ้าเราสามารถพัฒนาวัฒนธรรมจนถึงขั้นที่มีอะไรให้แก่สังคมอื่นแล้ว เราจะเป็นผู้ที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่โลกได้ด้วย แล้วก็จะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ

เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังในการปฏิบัติต่อวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่ว่า อย่าให้คนของเราเกิดความรู้สึกว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องของเก่าของคนโบราณ ไม่เกี่ยวกับชีวิตของเราในปัจจุบัน ถ้ามองอย่างนี้ก็คือการที่จะทำให้วัฒนธรรมนั้นต้องนิ่งตายไปในที่สุด แล้วก็เป็นการแยกคนไทยปัจจุบันออกจากวัฒนธรรมไทย การสืบต่อและสืบสานก็ไม่เกิดขึ้น การสืบสานจะต้องโยงอดีตมาถึงปัจจุบัน และให้พร้อมที่จะก้าวไปสู่อนาคตให้ได้

ง. วัฒนธรรมที่เกื้อกูลต่อสภาพแวดล้อม

ข้อเน้นสำหรับวัฒนธรรมในเวลานี้ นอกจากให้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นผู้นำและผู้ให้ พร้อมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกแล้ว อีกจุดหนึ่งที่สำคัญซึ่งกำลังมีความหมายสัมพันธ์กับวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ก็คือโลกปัจจุบันมีปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือ เรื่องธรรมชาติแวดล้อม

เวลานี้ชาวโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เกิดความสำนึกรู้ ถึงความผิดพลาดที่เป็นมาในอดีต คือการที่ได้ไปทำลายสภาพแวดล้อม และล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไป เวลานี้สิ่งที่มนุษย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังหวาดกลัวที่สุด คือภัยจากธรรมชาติแวดล้อมที่สูญเสียเสื่อมโทรม วัฒนธรรมที่โลกกำลังต้องการ คือวัฒนธรรมที่มีความเกื้อกูลต่อธรรมชาติแวดล้อม

ธรรมชาติแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งแห่งระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ

๑. ตัวมนุษย์เอง ซึ่งประกอบด้วยกายกับใจ

๒. สังคม

๓. ธรรมชาติแวดล้อม

มนุษยชาติจะดำรงอยู่ด้วยดี โลกจะมั่นคงปลอดภัย และอารยธรรมจะเจริญงอกงามต่อไป จะต้องให้องค์ประกอบ ๓ ส่วนนี้ มีความประสานกลมกลืนกัน แต่ปัจจุบันนี้ที่มีปัญหาก็คือ การที่องค์ประกอบ ๓ ส่วนแห่งการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์นี้ ได้เกิดมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน กลายเป็นเหมือนศัตรูที่มาทำลายกัน เนื่องจากมนุษย์เราดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องและไปทำลายธรรมชาติแวดล้อม แล้วก็เกิดปัญหาแก่ตัวเอง ทำให้ชีวิต สังคม และธรรมชาติเสื่อมโทรมระส่ำระสาย พูดได้ว่า มนุษย์ได้รับผลกรรมจากการกระทำของตนเอง

เวลานี้เราพัฒนาความเจริญทางวัตถุขึ้นมาก้าวหน้ามาก แต่ปรากฏว่าจิตใจของคนไม่มีความสุข มีความเครียด และโรคจิตมาก สถิติฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็นต้น โลกยิ่งพัฒนา คนยิ่งมีปัญหาทางจิต ในเวลาเดียวกันนั้น โลกเจริญในทางวัตถุ แต่สังคมกลับเสื่อมโทรม มีคนติดยาเสพติด คนเป็นโรคเอดส์ และโสเภณีมาก โดยเฉพาะในสังคมของเรามีปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในเรื่องนี้ มีแม้แต่การขายเด็กขายลูกไปเป็นโสเภณี สภาพต่างๆ เหล่านี้ เป็นอาการที่แสดงว่าระบบดุลยภาพแห่งองค์ประกอบของการดำรงอยู่ที่ดีของมนุษย์ได้สูญเสียไป คือไม่มีสมดุลในด้านทั้ง ๓ ที่สัมพันธ์ส่งผลกระทบต่อกัน

ทางด้านชีวิตของมนุษย์ ในชีวิตเองกายกับจิตก็ไม่สมดุลกัน กายเจริญเติบโต แต่ใจไม่เป็นสุข หรือว่าพัฒนาวัตถุไปแต่จิตใจกลับเสื่อม พอจิตใจไม่ดีก็กลับมีผลร้ายต่อร่างกายอีก ตลอดจนมีการดำเนินชีวิตที่ผิด ทำให้มีโรคใหม่ๆ ที่เรียกว่าโรคของอารยธรรมมนุษย์ เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เกิดขึ้น

มนุษย์ในสภาพปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยภาวะที่ไม่มีดุลยภาพในการดำรงอยู่ เมื่อชีวิตจิตใจมีปัญหามาก เครียด ไม่มีความสุข ก็ระบายออกมาในสังคม สังคมไม่มีความสงบสุขและเสื่อมโทรม ก็ส่งผลตีกลับมาสู่สภาพชีวิตจิตใจทำให้ยิ่งทรุดโทรม ทั้งสุขภาพกายก็ไม่ดี สุขภาพจิตก็เสีย

เมื่อคนไม่มีความสุข ยิ่งดิ้นรนหาความสุขจากภายนอกมาก บริโภคมาก ขยะมาก ระบายของเสียมาก ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอ ธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย ไม่มีอะไรดีเป็นที่สบายใจสักอย่าง ผลที่สุดความเจริญในปัจจุบันนี้ เมื่อมองในแง่ร้ายก็มีความเสียหายมากมาย

เพราะฉะนั้น ปัจจุบันจึงมีปัญหาว่า ทำอย่างไรเราจะรักษาโลกและอารยธรรมของมนุษย์นี้ไว้ได้ ให้มีสันติสุข และสืบทอดยั่งยืนต่อไป ทำอย่างไรมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้จึงจะช่วยให้อารยธรรมของมนุษย์ดำรงอยู่ต่อไปได้ ทำอย่างไรจะให้โลกไม่พินาศ เวลานี้ก็คิดกันมาก คำตอบก็คือต้องทำให้องค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนแห่งความดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์นี้ประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกัน คือ

เริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตมนุษย์ ตัวมนุษย์เองที่ประกอบด้วยกายกับใจ จะต้องประสานกลมกลืนกันภายใน แล้วก็ไปประสานเกื้อกูลกับองค์ประกอบที่สอง คือสังคม และประสานส่งเสริมกันกับองค์ประกอบที่สาม คือธรรมชาติแวดล้อม ถ้าทุกอย่างประสานกลมกลืนกันด้วยดีแล้ว ก็เป็นสภาพชีวิตที่ดี แล้วเราก็สร้างวัฒนธรรมคือรูปแบบที่จะใส่และรักษาเนื้อหาสาระที่ต้องการนี้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมของโลกที่ต้องการต่อไปนี้ ก็คือ

วัฒนธรรมในรูปแบบที่จะช่วยให้ ชีวิตมนุษย์กับสังคม และธรรมชาติแวดล้อมประสานกลมกลืนอยู่กันได้ด้วยดี และจุดเน้นที่สำคัญก็คือธรรมชาติแวดล้อม ที่เราไม่ค่อยได้คำนึงถึง ซึ่งทำให้ต้องมาเน้นกันในปัจจุบันว่า เราจะต้องขยายเรื่องวัฒนธรรมให้กว้างออกไปให้ครอบคลุมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย ให้เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมด้วยดีกับธรรมชาติแวดล้อม

ถ้าวัฒนธรรมไทยพัฒนาอย่างนี้ได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาของโลกและมีส่วนในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก และมีทางที่วัฒนธรรมของเราจะเป็นวัฒนธรรมของผู้นำ ที่สามารถแผ่ขยายความชื่นชมนิยมออกไปในหมู่ชาวโลกได้

การศึกษาพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นฐานแห่งการสืบสานวัฒนธรรมไทย

ขอย้อนมาพูดถึงเรื่องการศึกษาของสงฆ์บ้าง และจะพูดในแง่ที่โยงกับวัฒนธรรม

ปีนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นปีทองของการศึกษาสงฆ์ การศึกษาของสงฆ์นั้นเป็นการศึกษาทางพระพุทธศาสนา การศึกษาพระพุทธศาสนาก็คือการศึกษาเรื่องของพระธรรมวินัย และวิชาประกอบ

พระธรรมวินัยเป็นแกน เป็นเนื้อหาสาระที่ต้องการที่สุด การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นงานสำคัญของพระศาสนา เพราะว่าพระศาสนาดำรงอยู่ด้วยพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วว่า เป็นพระศาสดาแทนพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จล่วงลับไป

การที่พระภิกษุสงฆ์และประชาชนจะมีความรู้เรื่องพระธรรมวินัย และรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ ก็ต้องมีการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นฐานแห่งความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา

การศึกษาพระพุทธศาสนานี้ในที่สุดก็เพื่อเข้าถึงตัวธรรม ได้กล่าวแล้วว่าสัจธรรมและจริยธรรม เป็นฐานของวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะอยู่ได้ดีและมีความหมาย ต้องมีเนื้อหาสาระคือสัจธรรมและจริยธรรม พระพุทธศาสนาเป็นการศึกษาเพื่อเข้าถึงตัวสัจธรรมและจริยธรรมนั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาพุทธศาสนาจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการสืบสานวัฒนธรรม

โดยใจความ การศึกษาของพระสงฆ์หรือการศึกษาพระพุทธศาสนา มีจุดหมายเพื่อเข้าถึงตัวธรรม ซึ่งเป็นแกนหรือเป็นแก่นสารของวัฒนธรรม อันเป็นการจับจุดที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเห็นชัดว่าการศึกษาของพระสงฆ์มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอย่างไร

หน้าที่ประการที่ ๑ ของการศึกษาของสงฆ์ ก็คือการที่จะให้บุคคล โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร เข้าถึงตัวหลักการ คือธรรมที่เป็นแกนและเป็นแก่นสารของวัฒนธรรม อันนี้แหละคือการที่เราจับหัวใจของวัฒนธรรมไว้

หน้าที่ประการที่ ๒ ของการศึกษาของสงฆ์ คือเป็นการศึกษาที่ช่วยให้พระสงฆ์และชาวพุทธทั้งหลายเป็นผู้มีความสามารถในการสรรหาวิธีการที่จะนำเอาตัวธรรมที่เป็นสาระนั้นมาสื่อสารให้ถึงมนุษย์ยุคปัจจุบันในสภาพแวดล้อมที่เขาดำรงอยู่

รู้แต่เนื้อหาสาระอย่างเดียวไม่พอ ถ้ารู้ไปแล้วเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ จะใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องมีข้อที่ ๒ คือมีความรู้เข้าใจ ในขั้นที่สามารถจัดสรรแต่งวิธีการและรูปแบบที่จะสื่อเนื้อหาสาระนั้นให้ถึงคนปัจจุบัน ให้เขาใช้ประโยชน์ได้

หน้าที่ประการที่ ๓ ในฐานะที่สถาบันสงฆ์ คือวัดวาอาราม เป็นแหล่งเกิดสำคัญและเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย การศึกษาของสงฆ์จึงมีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้ชาวพุทธ และคนไทยทุกคน ตั้งแต่ภิกษุสามเณร เป็นต้นไป รู้จักตนเอง และรู้จักสังคมของตน อันโยงกับวัดวาอาราม ในฐานะเป็นศูนย์กลางซึ่งเป็นแหล่งเกิดที่สำคัญของวัฒนธรรมนั้น

เนื้อตัวของสังคมไทย อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่วัฒนธรรมของตนเอง ในเมื่อพระสงฆ์และวัดวาอารามเป็นแหล่งเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย การศึกษาของสงฆ์จะต้องมีความสามารถที่จะช่วยให้คนไทยรู้จักตัวเอง คือ รู้จักสังคมของตนเองอย่างถูกต้อง

ก. การรักษาและตรวจสอบเนื้อหาสาระของวัฒนธรรม

โดยสรุป เมื่อทำอย่างนี้ก็เป็นอันว่า งานการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็จะมาตรงกับงานสืบสานวัฒนธรรม กล่าวคือ

งานที่ ๑ คือการรักษาเนื้อหา โดยทำให้คนของเรา เข้าหาและเข้าถึงเนื้อหาสาระอยู่ตลอดเวลา ตัวสัจธรรม คือความจริงหรือธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเราก็พูดกันอยู่เสมอว่า เป็นอกาลิโก เป็นกฎธรรมชาติ เป็นของที่แน่นอน แสดงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา ซึ่งไม่ขึ้นต่อการเกิดขึ้นหรือการอุบัติขึ้นแม้แต่ของพระพุทธเจ้า เมื่อเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ก็บ่งชี้ว่า เราจะต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบของเรานี้ มีความเคลื่อนคลาดผิดเพี้ยนไปจากหลักการคือตัวธรรมเดิมหรือไม่ เวลานี้มันยังรักษาเนื้อหาสาระไว้ได้หรือเปล่า นี่แหละคือหน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือหน้าที่ตรวจสอบ แม้ยังไม่เอามาจัดก็ต้องมีการตรวจสอบ

เวลานี้ลองตรวจสอบดูเถิด วัฒนธรรมไทยที่มีรูปแบบปรากฏมากมายนี้ ยังรักษาเนื้อหาสาระในทางสัจธรรมและจริยธรรมไว้ได้หรือเปล่า ถ้าตรวจสอบดู อาจจะพบความเคลื่อนคลาดผิดเพี้ยนมากมายก็ได้ และถ้าหากว่ามีการผิดพลาด ไขว้เขว ก็จะต้องมีการปรับ ด้วยการแก้ความไขว้เขวผิดพลาดนั้นออกไปให้เนื้อหาสาระเข้าตรงตัวหลักอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้วัฒนธรรมมีความหมายที่แท้จริง และมีเนื้อหาสาระ

ขอยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว ในวัฒนธรรมไทยที่สืบเนื่องมาจากธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น หลักพรหมวิหาร ๔ ที่มาในวิถีชีวิตของคนไทย จนเป็นถ้อยคำสามัญ คือ

๑. เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มี เมตตา มีความรักความปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

๒. เมื่อเขาตกทุกข์ เราก็มี กรุณา อยากปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์

๓. เมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำอะไรถูกต้องดีแล้ว เราก็มีมุทิตา พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน

๔. ถ้าเขาทำอะไรที่ผิดหลักการ ผิดตัวธรรม การกระทำของเขากระทบต่อตัวธรรม ทำให้เสียความเป็นธรรม หรือไม่ชอบธรรม เสียหลักการ เราก็ต้องมี อุเบกขา วางใจเป็นกลาง ให้เขารับผิดชอบต่อตัวธรรม ต่อหลักการ หรือต่อกฎเกณฑ์ที่เป็นความชอบธรรมนั้น

เราลองตรวจสอบดูว่า สังคมไทยของเรานี้ที่ถือว่าเป็นสังคมที่มีเมตตากรุณามากนี้ ปฏิบัติตามพรหมวิหารได้ครบถ้วนหรือเปล่า

๑) เมตตา เราพูดได้ว่า คนไทยเรามีเมตตาดี มีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมีน้ำใจ

๒) กรุณา เวลามีคนตกทุกข์ได้ยากเราก็ช่วยเหลือกันดีไม่ทอดทิ้ง

สองข้อแรกนี้ ดูเหมือนว่าเราจะปฏิบัติกันดี และทั้งสองคำนี้เราก็พูดบ่อย จนพูดควบคู่กันว่าเมตตากรุณา เป็นถ้อยคำสามัญมาก

๓) มุทิตา เวลาคนอื่นได้ดี ทำดีทำถูกต้อง คนไทยด้วยกันพลอยยินดีด้วย มีการส่งเสริมสนับสนุนกันดีไหม

พอถึงข้อที่ ๓ คือ มุทิตา นี้ชักจะไม่ชัดหรือไม่ค่อยแน่ใจ และคำนี้เราก็ไม่ค่อยได้พูดถึงบ่อย

จะอย่างไรก็ตาม สามข้อนี้ คือเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับบุคคล

๔) ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปกระทบต่อตัวธรรม ว่าจะทำให้ธรรมเคลื่อนคลาดไป ทำให้มีความไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรม หรือความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ตอนนี้เมตตา กรุณา และมุทิตา ต้องหยุด และรักษาอุเบกขาไว้ โดยวางใจเป็นกลางให้เขารับผิดชอบต่อธรรมนั้น เราก็ดูว่าในสังคมไทยนั้นเราปฏิบัติธรรมข้อนี้กันได้ถูกต้องดีหรือเปล่า เราถือหลักการเหนือบุคคล และถือกฎเกณฑ์กติกา เหนือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือเปล่า ข้อนี้ชักจะสงสัย

ในบางสังคม คนจะมีความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวมาก พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจต่อกัน แต่ในเรื่องหลักการและกฎเกณฑ์กติกาไม่ค่อยรักษา บางทีก็ไปช่วยกันในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จนกระทั่งมองข้ามหรือละเลยต่อหลักการแห่งความถูกต้อง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนไม่คำนึงถึงความชอบธรรม ที่เป็นตัวธรรมแท้ๆ ในสังคมที่เป็นอย่างนี้ พูดได้ว่า ได้มีความโน้มเอียงไป ทางพรหมวิหาร ๓ ข้อแรกคือ เมตตา กรุณา และมุทิตา หรืออย่างน้อยเมตตาและกรุณา แต่บกพร่องในข้อ ๔ คือ อุเบกขา เป็นการปฏิบัติพรหมวิหารไม่ครบ สังคมก็เสียดุล

ตรงกันข้าม ในบางสังคมประชาชนมีความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ถือว่าแต่ละคนรักษาตัวให้ดีก็แล้วกัน ถือหลักการเป็นใหญ่ ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อกฎหมาย ต่อกฎเกณฑ์กติกาและระเบียบของสังคม ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่เอาความสัมพันธ์ส่วนตัว สังคมแบบนี้ถ้าไปสุดโต่งก็ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ทุกคนรับผิดชอบแต่ตัวหลักการกฎเกณฑ์กติกาอย่างเดียว และตัดสินจัดการกันไปตามหลักการระเบียบกฎเกณฑ์นั้น สังคมแบบนี้พูดได้ว่าหนักไปทางอุเบกขา แต่จะบกพร่องในเมตตากรุณาและมุทิตา ก็เสียดุลหนักไปอีกข้างหนึ่ง

ถ้าสังคมมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากไป เอาแต่สามข้อต้น และหย่อนในอุเบกขา ก็ทำให้สังคมเสียหลักไปด้านหนึ่ง คือกฎเกณฑ์กติกาจะถูกมองข้าม หลักการไม่ค่อยเอา คนจะพึ่งพากันได้มาก แต่ก็จะทำให้ตกอยู่ในความประมาทได้ง่าย เพราะคนที่ขาดความเพียรก็หวังพึ่งผู้อื่นได้เลยไม่กระตือรือร้นขวนขวาย

ในทางตรงข้าม ถ้าสังคมใดเอาแต่อุเบกขาสุดโต่ง ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูล ขาดน้ำใจต่อกันระหว่างบุคคล สังคมนั้นสามารถรักษาหลักการและกติกาของสังคมไว้ได้ และอาจจะช่วยให้ผู้คนมีความเข้มแข็ง เป็นนักต่อสู้ รู้จักช่วยตัวเองและรับผิดชอบชีวิตได้ดี เพราะไม่อาจจะหวังพึ่งใคร แต่ในทางจิตใจ ก็จะมีความแห้งแล้ง คนมีความเครียดมาก และอาจจะเป็นโรคจิตกันมาก

พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมเช่นอย่างพรหมวิหารไว้ให้มีจำนวนเป็นชุด ก็เพื่อให้มีดุลยภาพ จึงจะต้องมีความพอดีในพรหมวิหาร ๔ นี้

ธรรม ๓ ข้อแรกคือเมตตา กรุณา และมุทิตา เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับบุคคลในทางที่เข้าไปเอื้อเกื้อกูลหรือขวนขวายช่วยเหลือ ส่วนข้อที่ ๔ คืออุเบกขาเป็นการวางตัวเป็นกลาง ยั้งหยุดตัวไว้ ไม่เข้าไปยุ่งหรือขวนขวายต่อบุคคลนั้นไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ ในกรณีที่ความสัมพันธ์กับบุคคลนั้นจะไปกระทบต่อตัวธรรม ต่อหลักการ หรือต่อกฎเกณฑ์กติกาแห่งความชอบธรรม เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อหลักการหรือกฎกติกานั้น

หลักพรหมวิหารนี้ ถ้าปฏิบัติถูกต้องได้ดุลยภาพ สังคมก็ดำรงอยู่ได้ดี แต่ถ้าปฏิบัติไม่พอดี สังคมก็จะเสื่อมเสียไปไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

สังคมไทยปัจจุบันนี้ เราควรจะพิจารณาว่าเป็นสังคมที่มีความสุดโต่งในเชิงความสัมพันธ์กับบุคคลด้วยเมตตากรุณา แต่ขาดอุเบกขาหรือเปล่า ในเวลาเดียวกันก็น่าสังเกตว่าสังคมตะวันตกบางสังคม จะเป็นสังคมที่หนักในอุเบกขา คือยึดแต่หลักการ มีวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน ถือว่าทุกคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกาก็แล้วกัน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่เอา ไม่ค่อยมีน้ำใจต่อกัน อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งเราเห็นได้ชัดว่า มีเหตุปัจจัยสืบสานโยงมาจากสัจธรรมและจริยธรรม ดังที่พรหมวิหารได้มาปรากฏ ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนไทยเรา ในลักษณะหนึ่งที่เป็นแบบของสังคมไทยโดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่พึงตรวจสอบ ซึ่งอาจจะต้องจัดปรับให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือสันโดษ สันโดษเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา และเป็นถ้อยคำที่คุ้นกันดีในสังคมไทย มีการถ่ายทอดสืบต่อมาในวัฒนธรรมไทย แต่ลองมาดูในวิถีชีวิตคนไทยปัจจุบัน คนไทยเข้าใจและปฏิบัติสันโดษอย่างไร เคยถามพระที่มาบวชใหม่แทบทุกองค์ว่าสันโดษมีความหมายว่าอย่างไร ปรากฏว่าตอบคลาดเคลื่อนแบบเดียวกันแทบทั้งนั้น

ปัจจุบันนี้ในสังคมไทย คนเข้าใจคำว่าสันโดษว่า หมายถึงการปลีกตัวอยู่คนเดียว ไม่อยากเกี่ยวข้องกับใคร ซึ่งเป็นความเคลื่อนคลาดในความหมายของสันโดษ น้อยคนหรือแทบจะไม่มีเลย ที่จะเข้าใจความหมายของสันโดษในแง่ที่ว่า เป็นความพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขเท่าที่มี เพื่อจะได้สงวนออมกำลังเรี่ยวแรงเวลาและความคิดไว้ สำหรับใช้ในการทำกิจหน้าที่ให้เต็มที่ เมื่อเราสันโดษเราก็ไม่ไปมัวดิ้นรนแสวงหาวัตถุปรนเปรอตัวเอง เราก็จะได้ออมแรงออมเวลาออมความคิดที่จะไปแสวงหาวัตถุมาเสพบำรุงความสุข แล้วเอาเวลาเอาแรงงานและความคิดนั้นมาใช้ในการทำกิจทำหน้าที่และเรื่องราวที่ดีงามเป็นกุศล ซึ่งมีคุณค่าเกื้อกูลต่อชีวิตและสังคม

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ความสันโดษที่ถูกต้องก็มาหนุนความไม่สันโดษที่ถูกต้อง คือเมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุข เราก็สามารถที่จะไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ เพราะเราจะออมแรงออมเวลาและออมความคิดได้มากมายเพื่อมาใช้ในการทำกิจหน้าที่ที่เป็นกุศล แต่จะมีคนกี่คนที่เข้าใจเรื่องนี้

เมื่อสันโดษออกมาสู่ชีวิตของประชาชน มันมักถูกถ่ายทอดต่อกันมาในลักษณะที่เว้าแหว่ง ไม่เต็มความหมาย เช่น เราอาจจะบอกว่า คนไทยมีความสันโดษ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนในสันโดษว่าเป็นอย่างไร สันโดษของคนไทยถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบทั้งสิ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องมานะ ทำไมปัจจุบันนี้คนไทยจึงเข้าใจความหมายของมานะว่าเป็นความอดทนขยันหมั่นเพียร มีคำพูดชินหูมานานแล้ว บอกเด็กว่าให้มานะพากเพียรเรียนไป ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน นี่คือการที่เข้าใจมานะเป็นความพากเพียร แต่ที่จริงมานะเป็นกิเลส หมายถึงความถือตัวต้องการความยิ่งใหญ่ แล้วทำไมคำว่ามานะที่เป็นกิเลสในภาษาบาลีจึงกลายมาเป็นความเพียรในภาษาไทย เป็นไปได้ไหมที่เราได้ใช้มานะคือความต้องการยิ่งใหญ่นี้มาเป็นตัวยุให้คนเพียรพยายาม เช่นในการศึกษาเป็นต้น จนกระทั่งมานะกลายความหมายไป ถ้าอย่างนั้นก็เป็นความเคลื่อนคลาดในทางวัฒนธรรม

การรักษาวัฒนธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าเราเห็นคนไทยทำอย่างไร มีวัฒนธรรมมีวิถีชีวิตอย่างไร แล้วจะต้องถูกไปหมด เรามีหลักตัดสินอยู่แล้วคือ ตัวสัจธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นฐานที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งจะต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบอยู่เสมอ ธรรมสองสามอย่างที่พูดมานี้ก็เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า จะต้องหมั่นตรวจสอบวัฒนธรรมด้วยเนื้อหาสาระ คือหลักการที่แท้จริง ได้แก่ธรรมของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น การศึกษาของสงฆ์ จะต้องทำหน้าที่นี้ด้วย เรามีเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่จะต้องตรวจสอบ แม้อย่างอื่นอีกมากมาย เช่น ในสังคมไทยเรามีวัฒนธรรมในการสัมพันธ์กับเทวดา ก็จะต้องตรวจสอบว่าตามหลักการของพระพุทธศาสนาเรามีความสัมพันธ์กับเทวดาถูกต้องหรือเปล่า เช่นดูว่า เรามีความสัมพันธ์แบบอ้อนวอนขอผลจากการดลบันดาล หรือมีความสัมพันธ์แบบอยู่กับเพื่อนร่วมโลกด้วยเมตตาธรรม อย่างนี้เป็นต้น อันไหนกันแน่เป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันเป็นแบบไหน สอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่เราต้องเกี่ยวข้องทั้งนั้น มันมีทั้งสัจธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม รวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด แต่ตัวเกณฑ์ที่จะตรวจสอบก็คือสัจธรรม และจริยธรรม ซึ่งเป็นเป้าแห่งการศึกษาของพระสงฆ์

ในระดับที่หยาบและเป็นรูปธรรมยิ่งกว่านั้น ก็มีรูปแบบวัฒนธรรมที่ควรจะตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ อีกมากมาย ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทอดกฐิน การอุปสมบท และพิธีทำบุญต่างๆ ซึ่งควรจะตรวจสอบปรับปรุงเพื่อให้รูปแบบยังคงสื่อเนื้อหาสาระตรงตามธรรมวินัย

เมื่อเราคอยตรวจสอบเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไว้ และคอยปรับเข้าที่เข้าทางให้ถูกต้องแล้ว วัฒนธรรมก็จะดำรงอยู่ได้ด้วยดี อย่างมีคุณค่า ไม่ควรจะดึงดันว่า อะไรที่ถือมาในสังคมไทย จะต้องถูกต้องไปหมด ถ้าถืออย่างนั้นก็คือการปิดกั้นตัวเอง

ข. การสืบสานวัฒนธรรมให้สื่อสารสู่สังคมแห่งยุคสมัย

งานที่ ๒ คือการรู้จักปรับให้เข้ากับยุคสมัยท้องถิ่น หรือกาลเทศะ ตลอดจนทำให้วัฒนธรรมนั้นสามารถสื่อสาระที่มีคุณค่ามากจนวัฒนธรรมของเราได้รับความนิยมขยายกว้างออกไปในหมู่ชาวโลก ความสำเร็จขั้นนี้จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาปัจจุบัน ตลอดจนรู้เท่าทันเหตุการณ์ความเป็นไปของโลก เพราะฉะนั้นการศึกษาของพระจึงจะจำกัดแคบอยู่เฉพาะเรื่องธรรมวินัยไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ธรรมวินัยนั้นเป็นตัวหลักการหรือตัวสาระซึ่งจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งก่อน ถ้าพระของเราเรียนไปแล้วไม่มีความเข้าใจหลักธรรมก็เปล่าประโยชน์ เรียกว่าเสียหลักในการศึกษา หรือเสียศูนย์ เพราะฉะนั้นอันดับที่หนึ่งต้องได้ก่อน คือต้องเข้าถึงตัวธรรมวินัย เมื่อได้เนื้อหาสาระคือตัวสัจธรรมและจริยธรรมแล้ว ก็เบาใจได้ และสามารถก้าวมาสู่ขั้นของการจัดรูปแบบของวัฒนธรรม

พอถึงขั้นนี้ งานจัดปรับและสร้างรูปแบบวัฒนธรรมจะสำเร็จได้ ต้องมีความรู้ในเรื่องสภาพปัจจุบันที่เกี่ยวกับกาลเทศะ ทั้งภายในสังคมของเราและสังคมภายนอก แล้วเราก็พัฒนาความสามารถที่จะจัดสรรวิธีการและปรับปรุงแต่งรูปแบบ เพื่อให้วัฒนธรรมของเราสื่อสาระเข้าถึงสังคมในสภาพปัจจุบันอย่างได้ผล และขยายกว้างขวางออกไปในสังคมโลกด้วย

เพราะฉะนั้น จะต้องให้พระสงฆ์ของเรา ตลอดจนชาวพุทธทั้งหลายที่รับการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ได้พัฒนาความสามารถ ที่จะนำธรรมนั้นมาสื่อกับยุคสมัยและท้องถิ่นในสภาพของสังคมปัจจุบันให้ได้ ถ้าขาดความสามารถนี้แล้ว แม้จะมีความรู้ในหลักการก็อาจจะเป็นหมัน สูญเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์

การที่จะสามารถสืบสานวัฒนธรรมได้ จะต้องมีความรู้หลายอย่าง เช่นรู้สภาพสังคมไทย รู้ปัญหาสังคมไทย รู้ความต้องการของสังคมไทย รู้ปัญหาความเสื่อมความเจริญของสังคมโลกทั้งหมด รู้เท่าทันความเป็นไปของอารยธรรม และต้องรู้จักโยงปัจจุบัน อดีต อนาคตเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถสืบต่อวัฒนธรรมได้ดี ภายในกระแสที่สืบเนื่องมาจากอดีต

ยิ่งกว่านั้นไปอีก การที่จะพัฒนาวัฒนธรรมได้ดีจนเป็นผู้นำได้ จะต้องรู้เท่าทันความเป็นไปทางปัญญา และเข้าถึงความรู้ความคิดที่นำหน้าที่สุดของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยอดเยี่ยม ข้อนี้ขอเน้นว่าเราจะต้องจับจุดนี้ให้ได้ คือการศึกษาของเราจะต้องทันทางปัญญา ประเทศที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่พัฒนาสูงสุด มีความคิดอะไร มีความรู้ความเข้าใจอะไรใหม่ๆ เราต้องจับทัน ไม่ใช่คอยตามเขาอยู่ ๒๐ ปีข้างหลัง เวลานี้เมื่อเราเป็นผู้ตามคอยดูว่า ตะวันตกมีอะไรใหม่ๆ กว่าจะรับมาได้ โดยเฉพาะในด้านที่เป็นนามธรรม มักจะกลายเป็นการตามสิ่งที่เขาผ่านไปนานแล้ว ซึ่งจะไม่มีทางเป็นผู้นำ ฉะนั้นจะต้องจับจุดคอยดูว่า คนชั้นนำของเขาคิดอะไร วงการชั้นนำทางปัญญาของเขาขณะนี้ก้าวไปถึงไหน เราต้องเข้าถึงจุดนั้น และจับให้ได้ทันที มิฉะนั้นจะไม่สามารถนำสังคมของเราไปได้ ในทางที่จะทำให้วัฒนธรรมของเรานี้ เป็นวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า

ประการต่อไปก็คือ การสร้างความมั่นใจในตัวเองที่ว่า เรามีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่นได้ ถ้าเป็นพระก็จะต้องมีความมั่นใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ว่าในธรรมของพระพุทธเจ้ามีสัจธรรมและจริยธรรม ซึ่งมีดีที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของโลกปัจจุบันได้ ที่เขาจะต้องยอมรับ ความมั่นใจนี้จะต้องมีก่อน และเมื่อเรามีอะไรจะให้แก่เขาได้ ความเป็นผู้นำก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องปลุกจิตสำนึกในความเป็นผู้นำ ให้เกิดขึ้นในพระสงฆ์ ตลอดจนเด็กและเยาวชนชาวไทย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องย้ำกันให้มากในปัจจุบัน

ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวลานี้คนไทย รวมทั้งเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นคนที่มองให้กว้าง คิดให้ไกล ใฝ่ให้สูง

มองให้กว้าง คือไม่มองแคบๆ อยู่แค่สังคมของตนเอง คิดให้ไกล คือคิดยาวออกไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่ใช่คิดสั้นๆ อยู่แค่ปัญหาเฉพาะหน้า และใฝ่ให้สูง คือใฝ่อย่างพระโพธิสัตว์ ที่ท่านมีปณิธานว่าจะต้องบรรลุโพธิญาณ การใฝ่สูงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เราอาจจะผิดที่บอกว่าใฝ่สูงผิด พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างของผู้ใฝ่สูง คือใฝ่โพธิญาณ

ใฝ่สูง คือมุ่งหมายปรารถนาจะเข้าถึงสัจธรรมความจริงที่สูงสุด และปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบำเพ็ญความดีงาม สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้เข้าถึงประโยชน์สุขอย่างสูงสุด ไม่ใช่ใฝ่ต่ำที่ปรารถนาแต่จะหาอามิสผลประโยชน์ส่วนตัว หรือหมกมุ่นอยู่กับความปรารถนาที่จะสนองโลภะ โทสะ โมหะ ของตน

พระโพธิสัตว์ท่านปรารถนาโพธิญาณ อันเป็นธรรมสูงสุด ซึ่งถ้ายังไม่สำเร็จ ท่านจะไม่หยุดเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่เราตรัสรู้มานี้ ได้เห็นคุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

๒. การบำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ

พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของคนที่มีความไม่สันโดษ พูดอย่างนี้บางท่านอาจจะขัดใจขึ้นมา แต่มันเป็นความจริง พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษในปัจจัย ๔ สอนให้สันโดษในวัตถุเครื่องบำรุงบำเรอความสุข แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม ดังได้กล่าวแล้ว เมื่อสันโดษในวัตถุบำรุงความสุข ก็ทำให้เราสามารถออมเวลา แรงงาน และความคิดไปใช้ในการที่จะไม่สันโดษในกุศลธรรม คือในการแสวงความรู้ และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ถ้าจะทำก็ต้องทำให้ถูกอย่างพระโพธิสัตว์ คือใฝ่ให้สูงนั้น ไม่ใช่สูงในทางมุ่งหาผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัว ซึ่งที่จริงเป็นใฝ่ต่ำ แต่ใฝ่ให้สูงในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และประโยชน์สุข

ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ งานสืบสานวัฒนธรรมก็ย่อมประสบความสำเร็จ วัฒนธรรมไทยจะเป็นวัฒนธรรมของผู้นำที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ นอกจากขจัดหรือบรรเทาปัญหาในสังคมของตนอย่างได้ผลแล้ว ยังสามารถก้าวออกไปช่วยแก้ปัญหาของโลก และร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้อย่างดีด้วย

ค. การรู้จักวัฒนธรรมไทยในฐานะเป็นการรู้จักตัวเอง

งานที่ ๓ การศึกษาของสงฆ์นั้น จะต้องช่วยให้คนไทย เริ่มตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ไทยรู้จักตนเอง รู้จักสังคมของตนเอง ในฐานะที่วัดนั้น เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่โบราณดังที่ได้กล่าวแล้ว

สำหรับงานที่ ๓ นี้ เป็นเรื่องที่ควรจะแยกออกไปพูดต่างหาก และเป็นเรื่องสำหรับผู้ชำนาญการที่จะบรรยายให้พิสดาร ในแต่ละด้านของตนๆ อีกประการหนึ่งก็ได้พูดมายืดยาวมากแล้วด้วย จึงจะกล่าวนำไว้เพียงเท่านี้

นี้แหละคืองานการศึกษาของพระสงฆ์ ซึ่งที่จริงพระสงฆ์ก็ได้ทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งถ้าเราไม่มีความชัดเจนในการกระทำและสิ่งที่กระทำ งานของเราก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

เป็นอันว่า หน้าที่ในการศึกษาของพระสงฆ์ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ในขั้นพื้นฐาน มี ๓ อย่าง คือ

๑) การศึกษา ที่จะทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้จริง เข้าถึงหลักการ คือตัวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา และซึ่งมาเป็นแกนและเป็นแก่นสารของวัฒนธรรมไทย อันได้แก่สัจธรรมและจริยธรรม และมีความมั่นคงในหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ตัวพระธรรมวินัย

๒) การพัฒนาพระภิกษุสามเณร ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ในการจัดแต่งสรรหาวิธีการที่จะเอามาสื่อเนื้อหาสาระคือตัวธรรม ทั้งสัจธรรม และจริยธรรม ให้ถึงประชาชน ให้เขาเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้

๓) การศึกษา ที่จะทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาและสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนา สถาบันสงฆ์ และวัดวาอาราม ในความสัมพันธ์กับสังคมไทย และเข้าถึงวัฒนธรรมไทย ในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลาง และเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของวัฒนธรรมไทยนั้น

พระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับการศึกษาที่ถูกตรงไปแล้วก็จะสามารถทำหน้าที่เผยแพร่สั่งสอนแนะนำประชาชน โดยสอดคล้องกันตามแนวทางที่ตนได้รับการศึกษามานั้น คือ

ประการที่ ๑ สอนนำประชาชน รวมทั้งเด็กและเยาวชน ให้เห็นความจริงของธรรม รู้จักเนื้อหาสาระและเหตุผลของสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ว่าเป็นอย่างไร

ประการที่ ๒ สอนนำประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้มีความนิยมใฝ่รักในจริยธรรม ในความดีงามและในสิ่งที่จะนำมาสร้างสรรค์ปรุงแต่งเป็นวัฒนธรรม และช่วยพัฒนาให้คนไทยเป็นผู้มีความสามารถ รู้จักปรับจัดสรรแต่งรูปแบบของวัฒนธรรมที่จะเป็นเครื่องสื่อสานสัจธรรมและจริยธรรมออกมาสู่ความเป็นวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมของตนและแก่สังคมโลกในกาลเทศะแห่งยุคสมัยที่เป็นปัจจุบันได้

ประการที่ ๓ สอนนำประชาชน เริ่มแต่เด็กและเยาวชน ให้รู้จักตัวเอง และรู้จักสังคมของตน โดยรู้เข้าใจและมองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย มีความภูมิใจมั่นใจในตนเองตามธรรม และปฏิบัติกิจในทางวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้อง

นี่คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของสงฆ์ เท่าที่สัมพันธ์กับการรณรงค์สืบสานวัฒนธรรมไทย

เวลานี้เราจะต้องหันมาเน้นในเรื่องคุณภาพของตัวบุคคล การที่จะสืบสานวัฒนธรรมไทยได้สำเร็จ ด้วยการศึกษาของสงฆ์ที่จะช่วยให้พระมาทำหน้าที่ในการสืบสานวัฒนธรรมไทย และช่วยให้คนไทยทำงานนี้เป็นผลสำเร็จนั้น จะต้องหันมาให้ความสำคัญแก่ตัวพระสงฆ์เอง คือการพัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์

การพัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์ ก็คือพัฒนาพระภิกษุสามเณรด้วยการศึกษานี้เอง ถ้าพระภิกษุสามเณรมีคุณภาพแล้วเราก็มีความหวังว่า การที่จะเอาการศึกษาของสงฆ์มาช่วยวัฒนธรรมไทยนั้นจะมีทางสำเร็จ

แม้เราจะไม่มีโครงการสืบสานวัฒนธรรมไทย พระก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ เรามาเน้นกันว่า ขอให้พระสงฆ์ของเราทำหน้าที่ให้ได้ผลดี และถูกต้อง และให้มีความพร้อมในการทำหน้าที่นี้ เพื่อจะให้พระสงฆ์นั้นอยู่ในฐานะเป็นผู้นำในทางปัญญา และในทางความคิดจิตใจแก่ประชาชน เพราะโดยฐานะพระเป็นผู้มีบทบาทนี้อยู่แล้ว ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เราต้องเน้นความสำคัญของเรื่องนี้เพราะอะไร เพราะว่าตัวพระสงฆ์เองก็ตาม วัดวาอารามเองก็ตามนี้ เป็นที่ปรากฏของวัฒนธรรมไทยตลอดมา รวมทั้งเป็นแหล่งหรือเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมไทย และแม้แต่เป็นตัววัฒนธรรมไทยเองด้วย

พระสงฆ์ และวัดวาอารามนี้ เป็นวัฒนธรรมไทยอยู่ในตัวเองเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะมาสืบสานวัฒนธรรมไทย เราก็จะต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ โดยเฉพาะรูปแบบภายนอกจะปรากฏคุณค่าและเป็นที่นิยมสืบทอดไปด้วยดี ก็ต้องอาศัยเนื้อหาสาระดังที่กล่าวมา

การศึกษาของพระสงฆ์จะต้องทำหน้าที่ให้สำเร็จผลดังที่กล่าวมา ถ้าพระสงฆ์สามารถทำหน้าที่ตามหลักการที่กล่าวมานี้ ก็มั่นใจได้ว่าพระสงฆ์จะเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้ แล้วพระสงฆ์ก็จะสามารถเป็นผู้นำประชาชนไทยไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างแน่นอน

ขอกราบขอบพระคุณท่านพระมหาเถรานุเถระทุกท่าน และขออนุโมทนาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ณ โอกาสนี้

1คำบรรยายพิเศษ ในการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “บทบาทพระสงฆ์กับปีรณรงค์และสืบสานงานวัฒนธรรมไทย” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๗
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.