สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของการที่มนุษย์เรามาตกลงยอมรับกัน ให้บุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์แต่ละคน ได้รับความเคารพ นับถือ เอาใจใส่ ดูแล คุ้มครองรักษา และได้รับประโยชน์จากการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ซึ่งอาจจะพูดว่า “อย่างดีที่สุด” มนุษย์ที่มาตกลงกันในที่นี้ หมายถึงชุมชนระดับโลก คือ องค์การสหประชาชาติ ได้แก่ชาติต่างๆ ทั้งหลายในโลกนี้ ที่ได้ตกลงกันและได้วางเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้น ซึ่งยอมให้บุคคลยกขึ้นเป็นข้ออ้าง เพื่อเป็นหลักประกันหรือเป็นมาตรฐานที่จะให้เขามีชีวิตอยู่อย่างดี สามารถเข้าถึงความดีงามและประโยชน์สุขที่ควรจะได้รับ
เมื่อมองอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ที่เจริญงอกงาม มีอารยธรรม รู้จักคำนึงถึงชีวิตของกันและกัน เอาใจใส่ในความสุขความทุกข์ของกันและกัน และแสดงถึงการรู้จักจัดวางกฎเกณฑ์กติกาเพื่อให้อยู่ร่วมกันด้วยดี เป็นเครื่องหมายของความเจริญก้าวหน้าในอารยธรรม
อย่างไรก็ตาม จะต้องระลึกตระหนักไว้ด้วยว่า สิทธิมนุษยชนนี้ กว่าจะได้มา ก็ผ่านภูมิหลังของเหตุการณ์ความเป็นไปในประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกหรือมนุษยชาติ และภูมิหลังนี้ก็เต็มไปด้วยการที่มนุษย์เบียดเบียน แย่งชิง กดขี่ข่มเหงซึ่งกันและกัน มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า สิทธิมนุษยชนนี้ได้มาด้วยการต่อสู้ และมนุษย์ที่เป็นต้นคิดที่ทำให้เกิดมีการจัดวางสิทธิมนุษยชนขึ้นเป็นกฎกติกานั้นก็เป็นมนุษย์ชาวตะวันตก แม้เราจะบอกว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษยชนทั่วโลก แต่ผู้นำความคิดในเรื่องนี้ก็คือชาวตะวันตก ซึ่งมีภูมิหลังในการเบียดเบียนบีบคั้นกันอย่างรุนแรง และการบีบคั้นเบียดเบียนนั้นดำเนินไปอย่างเป็นระบบและเป็นสถาบัน
สังคมตะวันตกมีประวัติศาสตร์แห่งการรบราฆ่าฟันและสงครามอย่างมากมาย ตลอดเวลายาวนานและในขอบเขตที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นเรื่องของการบีบคั้นเบียดเบียนกันทั้งระหว่างมนุษย์ในสังคมเดียวกันและมนุษย์ต่างสังคม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องใหญ่ในอดีตที่ยืดยาวอย่าง Inquisition (ศาลไต่สวนศรัทธา) เพียงยกตัวอย่างง่ายๆ ในสังคมเดียวกัน เช่น ระหว่างผู้ปกครองกับราษฎรหรือผู้อยู่ใต้ปกครอง ในยุโรป รวมทั้งในอังกฤษ เคยมีการวางกฎกติกากันว่า ถ้าผู้ปกครองนับถือศาสนาไหน นิกายใด ราษฎรจะต้องนับถือศาสนานั้นนิกายนั้นด้วย มิฉะนั้น ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ และได้เกิดมีการรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่องศาสนาอย่างรุนแรง จนทำให้ต้องอพยพหนีภัยไปต่างประเทศ ดังที่ประวัติศาสตร์ของอเมริกาก็มีส่วนสำคัญที่เป็นเรื่องของการที่มนุษย์หนีภัยสงครามหรือการกดขี่เบียดเบียนกันทั้งในทางการเมืองและในทางศาสนา ที่เรียกว่า persecution
ในระหว่างสังคม ก็เห็นได้ชัดว่า มนุษย์ชาวตะวันตกในประเทศที่เจริญนั้น ได้ออกล่าเมืองขึ้นและครอบครองอาณานิคมมากมาย มนุษย์ที่อยู่ในอาณานิคมหรือเมืองขึ้นนั้น ถูกกดขี่ข่มเหง ถ้าพูดด้วยภาษาปัจจุบันก็เรียกว่าแทบไม่มีสิทธิมนุษยชนเลย
ประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกเป็นมาอย่างนี้ เขาผ่านประสบการณ์ในการเบียดเบียนกันมามาก ดังนั้นการต่อสู้ดิ้นรนและความขัดแย้งก็ย่อมมีมาก จนทำให้ต้องมีการวางกฎเกณฑ์กติกาเป็นขอบเขตให้ชัดเจนไว้ เพื่อหยุดยั้งการบีบคั้นเบียดเบียนและไม่ให้มีการละเมิดต่อกัน
แม้แต่ประเทศอเมริกาที่เกิดขึ้นมาจากการดิ้นรนต่อสู้เพื่อแสวงหาความเป็นอิสระเสรี และปัจจุบันนี้เราเห็นว่าเป็นประเทศผู้นำ ที่ยกย่องเทิดทูนในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ถอยหลังไปเมื่อ 100 ปีที่แล้วนี้เอง ก็ได้มีความเชื่อถืออย่างมากในลัทธิที่เรียกว่า “ดาร์วินเชิงสังคม” (Social Darwinism)
ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินถือหลักว่า ธรรมชาติมีการคัดเลือกในตัวของมันเอง ซึ่งจะทำให้สัตว์ที่แข็งแรงเก่งกล้า และมีความเหมาะสม ดำรงอยู่ได้ ส่วนสัตว์ที่อ่อนแอ ไม่มีความสามารถ ก็ล้มหายตายดับ หรือสูญพันธุ์ไป ทฤษฎีของดาร์วินนี้ได้มีผู้นำมาใช้ในเชิงสังคม และประเทศอเมริกานี้ก็ได้มีคนจำนวนมากที่เชื่อถือและได้รับอิทธิพลของลัทธิดาร์วินเชิงสังคมอย่างชนิดที่เรียกว่าลึกซึ้งมากที่สุด ยิ่งกว่าในยุโรปที่เป็นถิ่นเกิดของลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนั้นเอง จนกระทั่งกลายเป็นแนวคิดหลักในเชิงธุรกิจ ที่สนับสนุนการแข่งขันในการค้าขาย แม้ว่าในทางการเมือง ลัทธินี้จะไม่เป็นที่ยอมรับแล้วอย่างน้อยในระดับของการอ้างอิง แต่ในทางเศรษฐกิจอิทธิพลของลัทธินี้ก็ยังมีอยู่อย่างลึกซึ้งแม้ในปัจจุบัน
ภูมิหลังของการดิ้นรนต่อสู้และการเบียดเบียนข่มเหงกันมาก ทำให้มนุษย์ต้องมาวางกฎเกณฑ์กติกาเป็นกรอบขอบเขต และชาวตะวันตกก็มีความถนัดและความชำนาญในการวางกฎกติกานี้ เพราะจะต้องพิทักษ์รักษาสิทธิของตนเพื่อป้องกันอีกฝ่ายหนึ่งมิให้มาละเมิด
เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นภูมิหลังอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญแห่งการเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชน การรู้ภูมิหลังนี้จะทำให้เราวางท่าทีได้ถูกต้อง เมื่อสิทธิมนุษยชนเกิดมีขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็เป็นสิ่งดีที่จะช่วยให้มนุษย์เราไม่ละเมิดต่อกัน และไม่ปิดกั้นโอกาสแก่กันและกัน ในการที่จะมีชีวิตอยู่รอดหรืออยู่ได้อย่างดีที่สุด โดยมีโอกาสที่จะเข้าถึงประโยชน์และความดีงามที่มีอยู่ในสังคมหรือในโลกนี้
อย่างไรก็ตาม สิทธิมนุษยชนนั้นคงไม่จบเท่านี้ แต่จะต้องมีวิวัฒนาการต่อไปอีก
กติกาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่า “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ของสหประชาชาตินั้น เกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานแค่ 3 ปี คือ ค.ศ. 1948 โดยได้ตกลงกันไว้ในวันที่ 10 ธันวาคม (ขอแทรกนิดเป็นเกร็ดความรู้ว่ามาตรงกันพอดีกับวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย)
หลังจากเกิดมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 1948 นี้แล้ว โลกก็เจริญต่อมา แล้วก็ปรากฏว่าได้เกิดมีปัญหาใหม่ ๆ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่รู้ ไม่ได้ตระหนัก
จะขอยกตัวอย่าง ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม เมื่อประมาณ ค.ศ. 1970 เป็นระยะที่เมืองฝรั่งซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้เริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาธรรมชาติแวดล้อมที่เสื่อมโทรม มีมลภาวะ และเป็นภัยอันตรายที่ย้อนกลับมาถึงมนุษย์ ต่อมาความตื่นตัวในเรื่องนี้ก็ได้แผ่ขยายกว้างขวางไปทั่วโลก จนกระทั่งมีการประชุมสุดยอดในเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อปี ค.ศ. 1972 เป็น Earth Summit ครั้งแรก ต่อจากนั้น มนุษย์ก็ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากว่า เราจะต้องพยายามพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในด้านธรรมชาตินี้จะโยงเข้ามาหาเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นมีความเป็นไปได้ว่า ต่อไปนี้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง หรืออาจจะมีการวางกฎเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาในเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า สิทธิมนุษยชนนั้นมิใช่เฉพาะเรื่องของการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์เท่านั้น สิทธินั้นเราจะมองเฉพาะการปฏิบัติของมนุษย์ต่อมนุษย์เท่านั้นไม่ได้แล้ว แต่จะต้องมองออกไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย
ที่จริง การที่เราหันไปคำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อมนั้นก็มุ่งเพียงเพื่อให้มนุษย์อยู่ดี เวลานี้มนุษย์ก็ยังสนใจแต่ในแง่นี้ กล่าวคือ การที่มนุษย์คิดจะไปพิทักษ์รักษาธรรมชาตินั้น ใจจริงก็มุ่งที่ผลประโยชน์ของมนุษย์เอง เพื่อให้มนุษย์อยู่ดีหรืออยู่รอดเป็นต้น โดยเห็นว่า เมื่อธรรมชาติเสียหายแล้วอันตรายก็จะมาถึงตน เช่นการที่มนุษย์ไปยึดครองที่ดินหรือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติเอามาเป็นสมบัติของตน และสามารถปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนอย่างไรก็ได้ โดยถือว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินนั้น แต่ต่อไปก็อาจจะมีปัญหาว่า การที่บุคคลกระทำต่อทรัพย์สินที่(ถือว่า)เป็นของตนนั่นแหละ จะมีผลกระทบส่งมาทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่โลกหรือแก่ประเทศชาติ จนกลายเป็นว่าบุคคลกระทำตามสิทธิต่อทรัพย์สินของตน แต่เป็นการละเมิดต่อมนุษยชาติก็ได้
บางคนอาจจะมองกว้างไกลกว่านั้นอีก โดยนึกคิดไปว่าธรรมชาติในตัวของมันเองมีสิทธิหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ดังที่ได้มีบางคนเริ่มมองแล้วว่า สัตว์ต่าง ๆ ที่เราเอามาใช้งานหรือเอามาเป็นเครื่องประกอบอาชีพ ดังเช่นปลาโลมาที่นำมาฝึกให้เล่นแสดงต่างๆ ก็น่าจะมีสิทธิในชีวิตหรือในความเป็นอิสระเสรีของมัน เคยมีเรื่องถึงกับว่า คนผู้หนึ่งไปลอบปล่อยปลาโลมา 2 ตัว ออกจากที่เขาเลี้ยงไว้ จนเกิดการพิพาทซึ่งกันและกัน คนที่ปล่อยปลาโลมาไปนี้ถูกฟ้องว่าละเมิดต่อทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่ง คือลักทรัพย์ แต่คนที่ปล่อยปลาโลมาไปก็ถือว่า เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเอง แต่เขาช่วยเหลือสัตว์นั้นให้ได้รับอิสรภาพ เพราะปลาโลมาก็ควรมีสิทธิในชีวิตและอิสรภาพของมัน อย่างนี้เป็นต้น
ปัญหาอย่างนี้คงจะขยายต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่กระทบถึงความอยู่ดีของมนุษยชาติ และโลกเวลานี้ก็ไร้พรมแดน ทำให้มนุษย์มีความรู้ตระหนักเพิ่มขึ้น สิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยคิดว่าเป็นปัญหาก็รู้หรือคิดขึ้นมาว่าเป็นปัญหา มนุษย์ที่เรียกว่ามีอารยธรรม จะต้องเตรียมพัฒนาเผ่าพันธุ์ของตนไว้ให้พร้อม มิใช่เพียงเพื่อจะมารอรับเสวยความสุข และมิใช่เพียงเพื่อจะมารับมือกับปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น แต่เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์โลกที่มีสันติสุขโดยมิใช่เป็นผู้ก่อปัญหา ท่าทีและการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เป็นบททดสอบการพัฒนาของมนุษย์นี้อย่างหนึ่ง
ขอแทรกเรื่องเกร็ดข้อหนึ่ง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้ที่นิยมเรื่องสิทธิสตรีได้เกิดความตื่นตัว ที่เรียกว่าเป็น “feminism” จากความตื่นตัวในขั้นหนึ่งก็ได้เกิดความรู้สึกรังเกียจแม้กระทั่งถ้อยคำต่างๆ ที่พูดกันมาในภาษาอังกฤษ ซึ่งในเวลาพูดถึงมนุษย์ นิยมใช้คำเรียกแบบเพศชายเป็น man หรือแม้แต่เมื่อใช้คำกลางๆ อย่าง one หรือ everyone เวลาใช้คำแทน ก็ว่า his หรือ him เป็นต้น ผู้ที่นิยมสิทธิสตรีก็ถือว่าการใช้คำพูดอย่างนี้ เป็นการข่มขี่หรือกีดกันทางเพศ ปัจจุบันนี้เมื่อจะกล่าวอ้างถึงคนให้รวมทั้งสองเพศ จึงต้องใช้คำที่เป็นกลางจริงๆ เช่น human being และใช้สรรพนามให้ครบ เช่น his or her
เรื่องนี้ทำให้นึกขำๆ ว่า เมื่อมีการตราสิทธิมนุษยชนเป็นปฏิญญาสากลของสหประชาชาติออกมาในปี 1948 ยังไม่มีความตื่นตัวเรื่องนี้ จึงปรากฏว่าในปฏิญญาสากลนี้เองก็เขียนสรรพนามแทนคนไว้โดยใช้คำว่า his ซึ่งเป็นผู้ชาย ต่อไปฝ่ายผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิอาจจะกล่าวขึ้นมาว่า แม้แต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน คือไม่ให้ความเสมอภาคต่อความเป็นชายและเป็นหญิง เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง ขอให้ดูปฏิญญานั้น เช่นใน Article 10 ซึ่งชัดเจนว่าใช้คำว่า his ไม่มี her นี้เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงและคงไม่เจตนา ที่ยกมาเป็นตัวอย่างให้ขำขัน
อย่างไรก็ตาม การมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็เป็นหลักประกัน อย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่กันด้วยดียิ่งขึ้น และนับว่าเป็นความเจริญงอกงามอย่างหนึ่งของอารยธรรม แต่เราไม่ถือว่าสิ้นสุด และคงจะต้องมาพิจารณาที่จะปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ของการมีสิทธิมนุษยชน ที่พูดว่าต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ ก็เพราะว่า ถ้าเราไม่รู้ตระหนัก และไม่คอยเอาใจใส่จับไว้ให้แม่นมั่นชัดเจนแล้ววัตถุประสงค์ก็อาจจะแปรไปได้ เมื่อวัตถุประสงค์แปรไป การใช้ประโยชน์ก็อาจจะไม่ถูกต้อง
การมีสิทธิมนุษยชนนั้นเพื่ออะไร แน่นอนว่า เพื่อชีวิตที่ดีงาม และความอยู่กันอย่างมีสันติสุขของโลก หรือของมนุษยชาติ แต่ในการที่จะเป็นหลักประกันให้มนุษย์มีชีวิตดีงาม และอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นมีสันติสุขนั้น แม้เราจะยอมรับว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็คงไม่เพียงพอ หมายความว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะช่วยมนุษย์ให้มีชีวิตที่ดีงามมีความสุข แต่การมีเพียงสิทธิมนุษยชนนั้นก็คงไม่เพียงพอ ทำไมจึงว่าอย่างนี้
ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ในเรื่องพ่อแม่เลี้ยงลูก การที่พ่อแม่เลี้ยงลูกนั้นคงไม่ใช่เลี้ยงเพียงแค่ตามสิทธิของลูก แต่พ่อแม่ให้แก่ลูกเกินกว่าสิทธิที่ลูกจะต้องได้รับ ที่เรากำหนดว่าเป็นหลักประกันพื้นฐานสำหรับการดำรงอยู่ของลูก พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความรักมีเมตตา โดยไม่มัวแต่ครุ่นคิดว่าลูกมีสิทธิแค่ไหน และด้วยจิตใจที่ให้แก่ลูกอย่างนี้แหละจึงทำให้มนุษยชาติอยู่มาได้ด้วยดี
ที่ว่านี้หมายความว่า เราจะต้องมอง 2 ด้าน ด้านหนึ่ง สิทธิเป็นหลักประกันพื้นฐานที่เราจะต้องพยายามไม่ให้ขาด แต่เราก็จะต้องไม่จำกัดอยู่แค่สิทธิ เราต้องไปไกลเกินกว่าสิทธิ เพราะดังที่ได้กล่าวแล้ว พ่อแม่ให้แก่ลูกไม่ใช่เพียงเพราะลูกมีสิทธิ แต่ให้ด้วยน้ำใจ ซึ่งให้โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกเลยว่า เขาได้แค่นี้ก็พอแล้ว แต่พ่อแม่ให้เกินกว่านั้น ลูกจึงมีชีวิตที่ดี และสังคมจึงมั่นคงอยู่ผาสุก ด้วยเหตุดังกล่าวมา ถ้าจะให้โลกนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยดี จะต้องมีคุณค่าทางด้านจิตใจ เช่น ความมีเมตตา กรุณา เป็นต้น อย่างที่พ่อแม่มีต่อลูก
ฉะนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเพียงด้านหนึ่ง หรือระดับหนึ่งแห่งความเจริญงอกงามของมนุษย์ แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า ไม่เพียงพอ ถ้าเราไม่ตระหนักในเรื่องนี้ไว้ให้ดี ก็อาจจะมีการปฏิบัติที่เป็นสุดโต่ง 2 แบบ
บางถิ่นบางสังคมก็ไปสุดโต่งหนึ่ง คือ ไม่คำนึงเลยถึงชีวิตมนุษย์ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ใส่ใจต่ออิสรภาพของเขา เป็นต้น มีการละเมิดต่อชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนอิสรภาพเสรีภาพของบุคคลอยู่เสมอ
ส่วนอีกสังคมหนึ่งก็ไปอีกสุดโต่งตรงกันข้าม คือ เอาแต่การรักษาเรียกร้องสิทธิ เป็นอยู่กันแค่ให้เป็นไปตามสิทธิ
ภาวะที่สุดโต่งนี้ล้วนทำให้เกิดปัญหา สำหรับฝ่ายที่ว่าไม่คำนึงถึงสิทธิอะไรเลย ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ดีแน่ เพราะเป็นอันตรายต่อสังคมมนุษย์ และก็มีตัวอย่างที่พอให้เห็น ซึ่งคงไม่ต้องยกมาให้ดูในที่นี้ ส่วนสุดโต่งอีกด้านหนึ่งในทางตรงข้าม มนุษย์บางพวกก็มัวหมกมุ่นคำนึงกันแต่เรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องของการที่จะได้ จะเอา แล้วก็คอยเรียกร้อง หรือคอยพิทักษ์สิทธิของตน ซึ่งก็มีอยู่ในบางประเทศหรือบางสังคม
ขอยกตัวอย่าง ประเทศอเมริกาก็มีความโน้มเอียงด้านนี้อยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาว่าในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงการ “ซู” คือการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในการละเมิดสิทธิกัน ระหว่างคู่ความทั่วไป เช่นเพื่อนบ้านกับเพื่อนบ้าน หรือคนไข้กับแพทย์ เป็นต้น แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกก็มีความโน้มเอียงที่จะเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อกันเพียงเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิ ถ้าเป็นอย่างนี้ อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อแต่ละฝ่ายก็จะเอาแก่ตนให้มากที่สุด และจะทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก็เพราะเป็นสิทธิและตามสิทธิของเขา ในขณะที่ฉันก็จะรักษาสิทธิของฉันด้วย เช่น พ่อแม่ก็อาจจะคอยตรวจดูว่าลูกมีสิทธิแค่ไหน และทำให้แค่นั้น เพื่อมิให้ละเมิด แต่พร้อมกันนั้นก็คอยจ้องระวังไม่ให้กระทบสิทธิของตนในการพักผ่อนหาความสนุกสนานบันเทิง ที่เรียกว่าสิทธิใน leisure
ถ้าพ่อแม่คิดอย่างนี้ การเลี้ยงลูกจะเป็นอย่างไร ก็เลี้ยงไปตามสิทธิ โดยที่ต่างฝ่ายต่างจะเอาจากกันให้มากที่สุด และคอยปกป้องพิทักษ์สิทธิของตน ลูกก็ต้องคอยพิทักษ์สิทธิของตนว่า พ่อแม่ให้ฉันครบตามสิทธิของฉันหรือเปล่า ถ้าไม่ครบฉันจะเรียกร้อง พ่อแม่ละเมิดต่อฉันไหม ถ้าละเมิดฉันจะฟ้องตำรวจ
ปัญหานี้ปัจจุบันในสังคมอเมริกันมีเรื่องราวเกิดขึ้นมาให้กล่าวขานกันหนาหูมากขึ้นๆ พ่อแม่ทำอะไรลูกนิดหนึ่ง ลูกอาจโทรศัพท์ไปฟ้องตำรวจ หรือไปฟ้องครู แล้วครูก็เรียกตำรวจมาจับพ่อแม่ เป็นปัญหามาหลายปีแล้ว สังคมอเมริกันก็รู้ตัวอยู่พอสมควรว่า เป็นสังคมที่ระบบครอบครัวแตกสลายแล้ว สถาบันครอบครัวแทบจะดำรงอยู่ไม่ได้
อารยชนถือกันว่าสถาบันครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมมนุษย์ ถ้าครอบครัวแตกสลายแล้ว สังคมนั้นก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย ฉะนั้นเวลานี้ชาวอเมริกันจึงขาดความมั่นใจอย่างมากในสังคมของตน เรื่องนี้ก็ต้องรู้กันไว้ เพราะมิใช่จะเป็นอย่างที่บางคนเข้าใจว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่เรียบร้อยดีงาม ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็อาจจะต้องใช้คำรุนแรงว่าเป็นคนหูป่าตาเถื่อน ไม่รู้ความเป็นจริง แท้จริงนั้นสังคมอเมริกันก็อยู่ในสภาพที่ง่อนแง่นอ่อนเปลี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้เท่าทันเพื่อจะปฏิบัติต่อสถานการณ์ได้ถูกต้อง โดยไม่ประมาท
ภาวะสุดโต่งสองด้านนั้น อาจจะพูดแสดงลักษณะได้ดังนี้
ในสังคมใด มนุษย์ไม่คำนึงถึงสิทธิของกันและกัน ปล่อยให้มีการละเมิดต่อชีวิต ต่อทรัพย์สิน มีการกีดกั้นแบ่งแยก ทำให้บุคคลขาดอิสรเสรีภาพ สังคมนั้นยังเข้าไม่ถึงความมีอารยธรรม
ส่วนในสังคมใด มนุษย์บีบรัดตัวให้คับแคบลงด้วยการคอยระแวงระวังในการที่จะปกป้องพิทักษ์สิทธิของตน จนกระทั่งแม้แต่พ่อแม่กับลูกก็อยู่กันด้วยท่าทีของการปกป้องและเรียกร้องสิทธิ สังคมนั้นชื่อว่าใกล้ถึงจุดอวสานของอารยธรรม
เอาเป็นว่า ระวังอย่าไปสู่สุดโต่ง 2 อย่างนั้น โดยที่เราจะต้องมีความสำนึกตระหนักในวัตถุประสงค์ที่แท้ของการมีสิทธิมนุษยชน ซึ่งในที่นี้หมายถึง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ถ้าเรามองโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ว่า สิทธิมนุษยชนมีขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานให้มนุษย์เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม และสังคมที่มีสันติสุขแล้ว เราจะไม่หยุดอยู่แค่เรื่องของการมีสิทธิ ใช้สิทธิ พิทักษ์สิทธิ รักษาสิทธิ แต่เราจะใช้สิทธินี้เป็นหลักประกันพื้นฐานและเป็นฐานที่จะก้าวไปสู่สังคมที่ดีงามกว่านั้น ซึ่งอาจจะพูดว่า เราจะก้าวขึ้นไปสู่สังคมแห่งการเอื้ออาทรต่อกัน สังคมอย่างนี้จึงจะอยู่ได้ โดยมีสันติสุขที่แท้จริง
ถ้าเราไม่ระลึกไว้ในแง่นี้ บางทีการใช้สิทธิ และพิทักษ์รักษาสิทธิ ก็อาจจะเขวคลาดเคลื่อนเพี้ยนออกไป จนเกิดปัญหาขึ้นจากการใช้สิทธิ ที่เอากฎหมายหรือกติกาของสังคมมาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ หรือก่อความหวาดระแวงกัน เช่น การที่เพื่อนบ้านต่างก็คอยระวังว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมาละเมิดสิทธิของตน ก็ทำให้สูญเสียไมตรีรสอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันนี้ บางทีมีความคิดจ้องจะหาผลประโยชน์ให้แก่ตนพ่วงเข้ามาด้วย พอละเมิดหรือมีข้ออ้าง หรือมีมูลที่จะปรารภนิดหน่อย ก็ไปปรึกษาทนาย หรือนักกฎหมาย เพื่อยกเป็นคดี แล้วก็ฟ้องกันในศาล เพื่อเรียกเงินจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังที่เวลานี้ในประเทศอเมริกาก็เป็นที่รู้กันว่ามีปัญหามาก
เรื่องนี้ไปไกลถึงกับว่า ทนายความบางคนติดป้ายรับปรึกษาความฟรี เหมือนกับว่าเป็นคนใจดีมาก ในสังคมอเมริกันนั้น ปกติแทบเป็นไปไม่ได้ที่ทนายจะว่าความให้ฟรี แม้แต่เพียงไปพบปรึกษาด้วยถ้อยคำวาจาเพียงนิดหน่อย ก็เรียกเงินมากมายแล้ว การที่ทนายรับให้บริการปรึกษากฎหมายฟรี เพราะอะไร ก็เพราะว่าเมื่อปรึกษาแล้ว ก็จะได้พิจารณาหาทางตั้งเป็นคดีขึ้น เป็นการบอกนัยว่าถ้าคุณมีข้อขัดแย้งกับเพื่อนบ้านก็มาปรึกษาฉันนะ แล้วก็มาดูซิว่าเรื่องของคุณนั้นจะตั้งเป็นคดีได้ไหม ถ้าตั้งเป็นคดีได้ก็ขึ้นศาลว่าความ โดยจะไม่เอาเงิน หรือไม่เรียกร้องเงินจากคุณ แต่เมื่อคดีจบไปได้ตัดสินแล้ว ถ้าคุณชนะ คุณได้เงิน ต้องแบ่งกับฉันคนละครึ่ง เรื่องก็ไปจบที่ผลประโยชน์
เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงว่า อารยธรรมมิใช่อยู่ที่การมีกฎเกณฑ์กติกาเท่านั้น the rule of law ที่ฝรั่งภูมิใจ ซึ่งก็สำคัญมากอย่างแน่นอนนั้น ไม่เป็นหลักประกันหรือองค์ประกอบที่เพียงพอของอารยธรรม จิตใจที่ต้องการธรรมและอิสรภาพของจิตใจนั้นแหละเป็นหลักประกันให้แก่กฎเกณฑ์กติกาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเราอยู่กันเพียงด้วยสิทธิ แล้วไม่ปรับจิตใจให้ถูก ก็จะต้องเกิดปัญหา อย่างที่เกิดมากขึ้นในสังคมอเมริกัน ฉะนั้นจึงพูดว่ามนุษย์จะต้องไม่อยู่แค่นี้
สิทธิเป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญงอกงาม มีพัฒนาการของสังคมในแนวทางของอารยธรรม
ในด้านหนึ่งเราอาจจะพูดว่า สังคมอะไรกัน แม้แต่แค่สิทธิพื้นฐานก็ยังไม่มี นี้แสดงว่าเป็นสังคมที่ด้อยอย่างมาก ขาดวัฒนธรรม ขาดความเจริญ ไม่ศรีวิไล
แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็อาจจะพูดในทางตรงข้ามว่า นี่สังคมอะไร อยู่กันได้แค่จะคอยพิทักษ์รักษาและเรียกร้องสิทธิเท่านั้นเองหรือ จะเป็นสังคมที่ดีงามกว่านี้ไม่ได้หรือ
ฉะนั้นจึงได้กล่าวว่า จะต้องระวังไม่ไปสู่สุดโต่งสองข้างนั้น และเราก็จะไม่หยุดอยู่แค่การมีสิทธิเท่านั้น แต่เราจะต้องก้าวต่อไป และในการที่มนุษย์จะก้าวต่อไปนั้น ก็กลายเป็นว่ามนุษย์จะอยู่เพียงด้วยกฎเกณฑ์กติกาไม่ได้ กฎเกณฑ์กติกานั้นเป็นเรื่องของรูปธรรม เป็นรูปแบบอยู่ภายนอก เป็นของดีมีประโยชน์จริง สังคมใดไม่มีกติกา ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีกฎหมาย ก็เป็นสังคมที่ป่าเถื่อน เราต้องมีกรอบ แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว เพียงแค่นั้นยังไม่พอ จะต้องมีทั้งสองด้านมาประสานรับซึ่งกันและกัน คือ ภายใต้ด้านรูปธรรม จะต้องมีด้านนามธรรมด้วย ซึ่งขาดไม่ได้
สังคมอเมริกันนั้นมีปัญหาตัวอย่างอีกมากมาย เช่น ในเรื่องความเสมอภาคกันตามกฎหมาย การที่ให้คนมีความเสมอภาคกันนั้น ความมุ่งหมายอย่างหนึ่งก็เพื่อให้สังคมมีเอกภาพ ดังเช่นปัญหาคนผิวดำกับคนผิวขาวเป็นต้น แม้จะออกกฎหมายมามากมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิ และให้เกิดความเสมอภาค แต่กฎหมายก็เป็นแค่กติกาภายนอก เป็นเพียงรูปแบบ ไม่สามารถเชื่อมประสานใจคนได้ การที่ออกกฎหมายมามากมาย ก็ไม่สามารถทำให้คนขาวกับคนดำเข้ามาประสานเป็นอันเดียวกันได้ แต่ตรงข้ามคนอเมริกันเองกล่าวว่า รอยแยกระหว่างสองผิวนี้ยิ่งห่างกันออกไป
การที่ยกเอาตัวอย่างปัญหาในสังคมอเมริกันขึ้นมากล่าวนี้ มิใช่หมายความว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่เลวร้ายกว่าสังคมอื่นๆ ยังมีหลายประเทศที่มีปัญหาสังคมที่เลวร้ายรุนแรงยิ่งกว่าสังคมอเมริกัน แต่สังคมอเมริกันนั้นปรากฏตัวเด่นออกมาในยุคปัจจุบันว่า เป็นสังคมที่นิยมความเป็นอิสระเสรี มีสมานภาพ และเป็นตัวชูในเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนั้นผู้คนจำนวนมากในโลกปัจจุบันก็ชื่นชมเชื่อถือด้วยความไม่รู้ชัดเจนถ่องแท้ ถึงกับเหมือนจะเอาสังคมอเมริกันเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์สังคมแห่งสันติสุข อีกทั้งสังคมอเมริกันนั้นก็มีปัญหาพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะของตนที่จะต้องแก้ไขคลายปมอีกเป็นอันมาก บุคคลที่คิดสร้างสรรค์จะต้องรู้เข้าใจอย่างถูกต้องและเท่าทัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้หลงละเลิงเห่อเหิมและตกอยู่ในความประมาท
แม้แต่ว่าถ้าใครยอมรับสังคมอเมริกันว่าเป็นสังคมที่เจริญรุ่งเรืองดีมีความสุขที่สุด ก็จะได้คิดขึ้นว่า แม้แต่สังคมที่ถือว่าอยู่ในกฎกติกาพัฒนาแล้วอย่างสูงสุดของโลกเวลานี้ ก็ยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นสังคมที่พึงปรารถนา
ฉะนั้น จะต้องคำนึงไว้เสมอว่า กฎเกณฑ์กติกาเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะสมาน หรือประสานให้มนุษย์อยู่ในสามัคคีที่แท้จริง ในการที่โลกจะอยู่ได้ด้วยดีมีสันติสุขนั้น จะต้องมีความประสานเข้ากันได้ มีความสามัคคีปรองดองกัน คือมีเอกภาพ แต่ขณะนี้ มนุษย์ยังมีปัญหามากในเรื่องที่ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างเอกภาพนี้ให้เกิดขึ้นได้ การที่เราใช้ (ปฏิญญาสากล) สิทธิมนุษยชนเป็นต้น มาเป็นเครื่องมือ ก็ด้วยมุ่งหวังว่า เราจะเดินหน้าพามนุษยชาติไปสู่สังคมที่ดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุข โดยมีเอกภาพเป็นเครื่องประสานบุคคลหลากหลายผู้เป็นอิสระเสรีและมีความเสมอภาคเข้าไว้ด้วยกัน แต่สิทธินั้นถ้าเราใช้ไม่เป็น หรือมีท่าทีไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นว่า อารยธรรมก็จะมาจบลงแค่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นข้ออ้าง แล้วกลายเป็นเครื่องแบ่งแยกเกี่ยงงอนและแก่งแย่งกัน
การที่เราจะก้าวต่อไปได้ ก็จะต้องมีการพัฒนาคน ฉะนั้น จึงต้องเรียกร้องการศึกษาที่แท้จริง ดังได้กล่าวแล้วว่า เราไม่ได้อยู่กันแค่สังคมที่มนุษย์ไม่ละเมิดต่อกันและไม่ปิดกั้นโอกาสต่อกันเท่านั้น แต่เราจะต้องก้าวต่อไปสู่การให้โอกาสแก่กัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกันด้วย อย่างที่กล่าวว่าเป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทร
สำหรับชาวพุทธนั้น สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เราจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นหลักการและข้อปฏิบัติที่ดี อย่างน้อยก็นำมาเปรียบเทียบกับศีล 5 จะเห็นว่าศีล 5 นั้น เป็นหลักประกันทางสังคมที่สำคัญ ถ้าหมู่มนุษย์ประพฤติอยู่ในศีล 5 ก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สิทธิมนุษยชน และถ้ามองให้ละเอียดลงไป ก็จะเห็นว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่แยกกระจายกันไปละเอียดเป็นข้อย่อยมากมายนั้น ก็อยู่ในขอบเขตของศีล 5 นี่เอง หรือพ้นจากนั้นไปก็อยู่ในหลักธรรมอย่างเช่น เรื่องทิศ 6 ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคม เช่น นายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น เป็นการดีที่ว่า ถ้าศีล 5 และหลักธรรมเหล่านี้ยังเป็นเพียงคำสอน การมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มาหนุนโดย
1. เป็นการนำเอาคำสอนนั้นมากำหนดวางเป็นกฎกติกาทางสังคมให้ชัดเจนลงไป ที่จะต้องปฏิบัติกันให้จริงจัง โดยมีมาตรการในการที่จะควบคุมดูแล จึงยิ่งดีใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้ศีล 5 มีผลจริงขึ้นมาในสังคม นอกจากวางเป็นกฎเกณฑ์ให้มีผลจริงจังชัดเจนแล้ว
2. ยังมีการแยกแยะรายละเอียดลงไปให้เห็นชัดในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น เช่นศีลข้อที่ 1 ในเรื่องการไม่ละเมิดต่อชีวิตและร่างกาย หรือข้อที่ 2 ในเรื่องการไม่ละเมิดในด้านทรัพย์สิน ก็กำหนดลงไปว่าจะเอาอย่างไร จึงมีข้อย่อย ซึ่งอาจจะแยกจากศีลข้อเดียวกระจายออกไปเป็น 4 - 5 ข้อ และพูดให้ชัด จัดให้เหมาะแก่การปฏิบัติในยุคสมัย
ศีล 5 นั้นเป็นกลางๆ เช่นว่า 1 ไม่เบียดเบียนด้านชีวิตร่างกาย 2 ไม่ละเมิดด้านทรัพย์สิน แต่ในยุคสมัยหนึ่งๆ สภาพแวดล้อมย่อมเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และลักษณะอาการความเป็นไปของพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องจัดวางให้เหมาะสม ทำเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนลงไป ที่จะปฏิบัติได้จริง อันจะทำให้ได้รับประโยชน์และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมั่นใจมากขึ้น
นอกจากนั้น การกำหนดเป็นสิทธิมนุษยชนนี้ทำให้ได้ความรู้สึกขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับว่าแต่ละบุคคลได้มีอุปกรณ์อย่างหนึ่งไว้เป็นสมบัติของตน ซึ่งเขาสามารถยกขึ้นเป็นข้ออ้างได้ คือไม่ใช่เป็นเพียงจะห้ามคนอื่นไม่ให้ไปละเมิดต่อเขา แต่เขามีสิทธิไว้กับตัวที่จะใช้อ้างต่อสังคม หรือต่อผู้อื่น เพื่อปกป้องตัวของเขา เช่นในทางกฎหมาย เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่ง เหมือนกับเป็นการติดอาวุธให้บุคคลมีเครื่องรักษาป้องกันตัวของเขา แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า เราจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้
ถ้าเทียบกับในทางพระพุทธศาสนาที่ว่าเหมือนกับหลักศีล 5 หรือ ทิศ 6 นั้น ก็จะเห็นชัดว่า ศีล 5 หรือ ทิศ 6 มิใช่เป็นสิ่งที่เพียงพอ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเป็นพื้นฐาน หรือเป็นหลักประกัน และเป็นมาตรฐานของสังคม อย่างน้อยที่จะให้โลกนี้พออยู่กันสงบได้ ไม่ลุกเป็นไฟ เพื่อให้แต่ละคนมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป แต่การที่จะเข้าถึงชีวิตและสังคมที่ดีงามสูงขึ้นไปพร้อมทั้งได้รับประโยชน์จากชีวิตและสังคมที่ดีนั้น เรายังมีข้อปฏิบัติอื่นที่จะต้องทำต่อไปอีกมาก คือเราจะต้องก้าวจากเรื่องศีล 5 เรื่องทิศ 6 และเรื่องอบายมุข เหล่านี้ โดยพัฒนาชีวิตขึ้นไป อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า จาก ศีล ขึ้นไปสู่สมาธิ และปัญญา สิทธิมนุษยชนก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องในระดับศีลนั้นเอง
ยังมีข้อที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่ง คือ ศีลนี้เป็นเรื่องของจริยธรรม และสิทธิมนุษยชนเท่าที่เป็นมานี้ เรามักมองในแง่ของการระวังปกป้องตัวเอง ที่จะไม่ให้ผู้อื่นมาละเมิด ทำให้มีการเน้นในแง่ของการพิทักษ์สิทธิ และเรียกร้องสิทธิเป็นต้น เมื่ออยู่ในลักษณะนี้ ก็จะเป็นท่าทีที่มีลักษณะของจริยธรรมในเชิงลบ ซึ่งจะต้องระวัง คือจะต้องมีการพัฒนาให้เป็นจริยธรรมเชิงบวก เพื่อให้เป็นจริยธรรมเชิงสร้างสรรค์ให้ได้
เป็นอันว่า ในที่นี้ได้กล่าวเป็นแง่คิดกว้างๆ ว่า (ปฏิญญาสากลว่าด้วย) สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นหลักประกันพื้นฐาน ที่จะช่วยให้สังคมและชีวิตมนุษย์นี้ ก้าวไปสู่ความดีงามมีสันติสุข แต่เราอย่าหยุดแค่นี้ เราจะต้องนำสิทธิมนุษยชนนั้นมาใช้ประโยชน์ในการสนองวัตถุประสงค์ที่ดีงามสูงขึ้นไป
แต่ทั้งนี้ ในการที่มนุษย์จะสามารถรักษาสิทธิมนุษยชนนี้ไว้ได้ก็ดี ในการที่เขาจะก้าวจากฐานของสังคมที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นหลักประกันขึ้นสู่สังคมที่เอื้ออาทรซึ่งกันและกันก็ดี เราต้องอาศัยการพัฒนามนุษย์ ที่เรียกว่าการศึกษา ดังที่กล่าวมา ขอกล่าวถึงแง่คิดข้อสังเกตในเรื่องสิทธิมนุษยชนวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้