เมื่อพูดเรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษา ก็มักคาดหมายกันได้ว่า จะมีการอ้างถึงความเจริญในอดีต เมื่อครั้งที่วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา พระสงฆ์เป็นผู้อบรมสั่งสอนจัดการเล่าเรียน การอ้างเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาต่อสังคม ซึ่งได้ที่เคยมีมาแล้วก็จริง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นเหมือนการฟ้องตัวเองว่า เวลานี้คุณค่าและประโยชน์นั้นไม่มีเสียแล้ว นับได้ว่าเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น การเมินหน้าจากภาพความสับสนขาดแคลนในปัจจุบัน หันไปเพลิดเพลินภาคภูมิใจกับอดีตอันไพบูลย์ อาจมองได้ว่าเป็นเหมือนอาการของคนสิ้นหวัง ที่หนีความเศร้าในปัจจุบัน หันกลับไปรำพึงความหลัง ชื่นชมกับความสุขสมหวังในอดีต จึงน่าจะมิใช่เป็นสิ่งมงคล หรือเครื่องหมายแห่งความเจริญก้าวหน้าที่ควรยินดีอะไรนัก
บทความเรื่องนี้ ก็คงเข้าทำนองบทความอื่นๆ ในประเภทเดียวกันคือ ถอยหลังไปทวงอดีตอีกว่า วัดเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนของสังคมไทย และพระภิกษุสงฆ์เคยมีบทบาทสำคัญ เป็นผู้อบรมสั่งสอนให้การศึกษาแก่ชุมชนมาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะไม่หวนหลังไปพรรณนาว่า วัดเคยเป็นแหล่งการศึกษาอย่างไร พระสงฆ์เคยเป็นผู้ให้การศึกษาอย่างไร เพียงแต่ยกขึ้นอ้างไว้สำหรับเชื่อมโยงกับปัจจุบันเท่านั้น จุดมุ่งสำคัญอยู่ที่ จะพูดพอให้เห็นว่า แม้ในเวลานี้ พระพุทธศาสนาก็มิใช่จะสิ้นสูญหมดความสำคัญทางการศึกษาไปเสียทีเดียว ยังคงมีบทบาทหลงเหลือรอดมือรอดตาอยู่บ้าง และบางทีสิ่งที่หลงเหลืออยู่นี้ ก็มีความสำคัญแก่สังคมไทยไม่น้อยเลย
มีประเพณีสำคัญของไทยทางด้านพระพุทธศาสนากับการศึกษาอยู่ ๒ อย่าง ที่เป็นพื้นฐานแห่งสภาพปัจจุบันในทางการศึกษาของพระพุทธศาสนา คือ
๑. ประเพณีที่วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนของชุมชน และพระสงฆ์เป็นครูผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ประเพณีนี้สำหรับชาวกรุงและชาวเมืองในปัจจุบันอาจจะมองไม่ค่อยเห็น แต่สำหรับชาวบ้านในชนบทห่างไกลยังพอมองเห็น แม้ว่าอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นศูนย์กลางเหมือนแต่ก่อน ก็พอรู้สึกว่าเป็นช่องทางหรือที่พึ่งแหล่งสุดท้าย
๒. ประเพณีบวชเรียน ซึ่งมีความหมายว่าบวชคู่กับเรียน เมื่อบวชก็ต้องเรียน หรือที่บวชก็เพื่อเรียน แล้วหมายความเลยไปถึงว่าบวชอยู่แค่เรียน เรียนแล้วใคร่อยู่พึงอยู่ ไม่ใคร่อยู่พึงสึกไป กลายเป็นประเพณีบวชชั่วคราว ส่วนหนึ่งของประเพณีนี้ที่ยังรู้จักกันดีในปัจจุบัน ก็คือการบวช ๓ เดือน ที่กำลังหดสั้นลง เหลือ ๑ เดือน ครึ่งเดือน ตลอดจน ๗ วัน อย่างหนึ่ง และการที่เมื่อบวชแล้วจะสึกเมื่อไรก็ได้แล้วแต่สมัครใจ อย่างหนึ่ง
ความจริง ประเพณี ๒ อย่างนี้ เกี่ยวเนื่องกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ในที่นี้แยกออกเป็นสอง เพราะผลที่สืบต่อมาถึงปัจจุบันแยกกันออกไป ดังจะเห็นข้างหน้า
มีเหตุการณ์และภาวการณ์สำคัญ ๒ อย่างที่เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ
๑. การที่รัฐจัดระบบการศึกษาใหม่ตามแบบอย่างของตะวันตก และแยกการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ออกไปจากวัด ระยะแรกจัดโดยร่วมมือกับวัด ให้วัดมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างสำคัญ ต่อมาห่างออกไปโดยลำดับ จนเรียกได้ว่าแยกโดยสิ้นเชิง
๒. การที่รัฐยังไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์อย่างทั่วถึง และยังไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความเสมอภาคแห่งโอกาสที่จะได้รับการศึกษา โดยยังต้องเสียโอกาสไป เพราะสาเหตุทางภูมิศาสตร์ คือถิ่นที่อยู่ไม่มีที่เรียนบ้าง สาเหตุทางเศรษฐกิจ คือเรียนได้ดี แต่ไม่มีทุน จึงไม่ได้เรียนบ้าง
พูดอย่างนี้ เหมือนกับจะเป็นการค่อนว่าติเตียนทางฝ่ายรัฐ ว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมเสีย แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เรื่องที่พูดมาทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้อที่ ๒ นักการศึกษาเองก็ยกขึ้นพูดหารือกัน ทางการก็กำลังพยายามหาทางแก้ไข และที่ตรงข้ามกับติเตียนก็คือ ข้อซึ่งจะบอกต่อไปว่า เพราะภาวการณ์ทางฝ่ายรัฐเป็นเช่นนี้นั่นแหละ จึงทำให้วัดและพระสงฆ์ยังคงมีบทบาททรงความสำคัญทางการศึกษาอยู่บ้าง แต่ถ้าหากรัฐได้กระทำกิจ ๒ ข้อข้างต้นนั้นสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ดีแล้ว วัดและพระสงฆ์อาจจะสูญสิ้นบทบาท หมดความสำคัญทางการศึกษาไปแล้วโดยสิ้นเชิงก็ได้ เรื่องนี้ไม่ต้องหันไปสมมติอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็กำลังเห็นชัดขึ้นๆ ทุกทีว่า เมื่อรัฐขยายและกระจายบริการการศึกษาออกไปได้มากขึ้น ขยายไปถึงไหน บทบาทและความสำคัญของวัดและพระสงฆ์ก็ลดน้อยลงไปถึงนั่น หรือไม่ก็ต้องแปรรูปผิดแปลกออกไป เข้าใจว่าสาเหตุทางฝ่ายรัฐที่จะหมดไปช้าที่สุดหรือหลังสุด และจะช่วยให้วัดและพระสงฆ์ยังมีบทบาททรงความสำคัญทางการศึกษาอยู่ได้ต่อไปอีกนานพอสมควร ก็คือ การขาดความเสมอภาคแห่งโอกาสที่จะได้รับการศึกษา เพราะสาเหตุทางเศรษฐกิจ เมื่อใดรัฐแก้ปัญหา ๒ ข้อข้างต้นนั้นได้สำเร็จเรียบร้อย เมื่อนั้นบทบาททางการศึกษาของวัดและพระสงฆ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะต้องเสื่อมสูญหมดไป หรือมิฉะนั้น ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างผิดรูปผิดร่างไปไกล ทั้งนี้ขึ้นกับการที่ว่าจะทำการด้วยความรู้เท่าทัน และยอมรับความจริงหรือไม่เพียงใด
สภาพปัจจุบันที่เป็นผลเกิดจากประเพณี ๒ อย่างข้างต้น กระทบเข้ากับสาเหตุใหญ่ ๒ ประการที่กล่าวมาแล้ว สรุปได้ดังนี้
๑. เมื่อรัฐยังไม่มีกำลังพอที่จะขยายการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ หรือสำหรับมวลชนออกไปให้ทั่วถึง และยังไม่สามารถอำนวยโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนอย่างเสมอภาคกัน ชาวนาชาวชนบทผู้ยากจน ก็อาศัยประเพณีบวชเรียน และการที่วัดเป็นแหล่งการศึกษามาแต่โบราณนั้นเป็นช่องทาง ตลอดจนเป็นทางผ่านที่จะให้ลูกหลานของตนได้รับการศึกษาตามมีตามได้ ทำให้เกิดผลตามมาอีกหลายอย่างเช่น
ก. ภิกษุสามเณรที่บวชอยู่ประจำวัดส่วนใหญ่ทั่วประเทศ (ราว ๒๓๐,๐๐๐ รูป) เป็นผู้มาจากครอบครัวกสิกรที่ยากจนในชนบทห่างไกล พระภิกษุสามเณรเหล่านี้หลั่งไหลเข้าสู่วัดในเมืองและวัดในกรุง เพื่อการศึกษาชั้นสูงขึ้นไป ทำให้วัดทั้งหลายแม้แต่ในเมืองหลวง เป็นชุมชนชนบทกลางสังคมกรุง (พระภิกษุสามเณรที่อยู่ประจำวัดในกรุงเทพฯ เป็นชาวชนบทเกินร้อยละ ๙๐)
ข. เป็นธรรมดาที่ว่า พระภิกษุสามเณรเหล่านี้ แม้โดยหน้าที่จะต้องศึกษาวิชาทางพระ แต่โดยพื้นฐานที่มาเดิมและเหตุผลดีงามบางอย่างช่วยสนับสนุน ย่อมมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะต้องการศึกษาวิชาทางโลกด้วย ยิ่งได้เห็นผู้ร่วมวัยที่เล่าเรียนอยู่ในระบบของรัฐ บางทีแรงที่ผลักดันความโน้มเอียงนั้นก็ยิ่งมีมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของวัดและคณะสงฆ์ที่ว่า เมื่อยอมรับภิกษุสามเณรเหล่านั้นเข้ามาบวชแล้ว จะมีวิธีการจูงใจหรือควบคุมให้เล่าเรียนวิชาทางพระได้มากเพียงใด ยอมเอื้ออำนวยแก่ความต้องการที่จะศึกษาวิชาทางโลกแค่ไหน และเป็นธรรมดาอีกด้วยที่ว่า ความต้องการและทัศนคติของพระภิกษุสามเณรในวัยเล่าเรียน กับของคณะสงฆ์หรือพระสงฆ์ระดับบริหารจะขัดแย้งกัน ยิ่งความต้องการกับการศึกษาที่จัดให้หรืออนุญาตให้ ห่างกันออกไปมากเท่าใด ความขัดแย้งก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น เรียกอย่างคนสมัยใหม่บางพวกว่ายิ่งแหลมคมมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาต่อไปอีกว่า พระสงฆ์ระดับบริหารจะเพิ่มความเป็นห่วง เมื่อห่วงมากก็มักโน้มไปในทางที่จะกวดขันหรือแม้กระทั่งบีบบังคับให้ภิกษุสามเณรอยู่ในกรอบที่ขีดให้ เรียกตามภาษาใหม่ว่าทำการในทางลบ ที่ไหนคราวใดมีกำลังอำนาจพอคุมไว้ได้ ก็อิ่มใจไปทีหนึ่ง คราวหนึ่ง แต่ว่าโดยสถานการณ์ทั่วไปดูจะทรุดลงทุกที วิธีที่ได้ผลคิดว่าคงไม่พ้นวิธีโบราณตามประเพณีของไทย คือใช้นโยบายตะล่อมเข้ามา และประสานประโยชน์เสีย ขยายความว่า ประเพณีไทยไม่รังเกียจการใช้ทางผ่าน2 ตรงข้ามกลับสนับสนุนให้ใช้ แต่ให้ผู้ใช้ทางมีส่วนร่วมในการบำรุงทางด้วย ยิ่งใช้ทาง ทางยิ่งเจริญ ทั้งผู้ผ่านทาง ทั้งทางที่ผ่าน ทั้งชุมชนที่ทางผ่าน ต่างงอกงามขึ้นด้วยกัน นอกจากนั้นก็จะมีจำนวนหนึ่งที่คงอยู่ทำงานประจำทางตลอดไป
ค. เมื่อพระเณรท้องถิ่นจากชนบทหลั่งไหลเข้าทางผ่านเพื่อการศึกษาไปสู่เมืองสู่กรุงแล้ว และไม่มีกระแสไหลทวนกลับไป ชนบทก็ยิ่งสูญเสียกำลังอ่อนแอลงไปทุกที ในเมืองและในกรุง พระสงฆ์ถึงแม้ได้เล่าเรียนดีแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะสวมฐานะผู้นำ ส่วนในชนบท พระเณรมีความรู้แค่ไหนหรือไม่มีความรู้เลย ชาวบ้านก็ยกให้เป็นผู้นำ แต่พระสงฆ์ที่มีคุณภาพหวังให้เป็นผู้นำที่ดีในชนบทได้ ก็ไปคับคั่งอยู่เสียในเมืองในกรุง เลยเป็นอันเสียผลทั้ง ๒ ทาง
ง. ในเมื่อบทบาทและสภาพทางการศึกษาของพระสงฆ์ ต้องพึ่งพาอาศัยความบกพร่องหรือความยังไม่พร้อมในทางการศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะในแง่ผู้ที่จะบวช ครั้นการศึกษาของรัฐขยายไปถึงหรือเจริญขึ้นในถิ่นใด (หรือเศรษฐกิจเจริญขึ้นในถิ่นใด) จำนวนเด็กที่มาบวชเณรในถิ่นนั้นก็ลดลงไป จนถึงขั้นนับได้ว่าไม่มีบวชเลย นอกจากเณรบวชหน้าไฟ หรือไม่ก็รวบรวมเด็กนักเรียนบวชชั่วคราวในฤดูร้อน แม้มีเณรประจำอยู่บ้าง ก็กลายเป็นเณรที่มาบวชจากท้องถิ่นห่างไกลออกไปที่การศึกษาของรัฐยังไม่ถึง ข้อนี้เป็นเหตุเสริมการขาดแคลนพระผู้นำในชนบทให้รุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมกับเป็นความทรุดโทรมของวัดและพระศาสนาไปด้วยพร้อมกัน
๒. ในเมื่อภายในระบบการศึกษาของรัฐ การศึกษามีระดับสูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งร่นเข้ามารวมอยู่ในเมืองและในกรุงมากขึ้นเท่านั้น ชาวชนบทที่มีฐานะปานกลางพอจะส่งลูกหลานเข้าเรียนในระบบของรัฐได้บ้าง แต่กำลังไม่พอโดยลำพังตนเอง เมื่อลูกหลานเรียนสูงขึ้น จะเข้าสู่ตลาดสู่เมืองและสู่กรุง จึงนำไปฝากให้เป็นศิษย์อยู่ในวัด ทำให้วัดในเมืองและในกรุง กลายเป็นที่พักอาศัยของนักเรียนนักศึกษาในระบบของรัฐนั่นเองที่มาจากชนบท เสริมภาวะที่วัดกลางเมืองกลางกรุงเป็นชุมชนชนบทให้เด่นชัดยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นวัดก็กลายเป็นสถานที่เกื้อกูลแก่การศึกษาของรัฐอีกทางหนึ่งด้วย
๓. ส่วนหนึ่งของประเพณีบวชเรียนที่ยังเหลืออยู่เป็นหลักฐานมากสักหน่อย แม้จะไม่เต็มรูป ก็คือ การบวช ๓ เดือนในระยะเข้าพรรษา แต่ประเพณีนี้ก็ได้ถูกกระทบกระเทือนจากระบบการศึกษาของรัฐเป็นอันมาก เพราะคนหนุ่มจำนวนมากไม่มีโอกาสบวชได้เมื่อถึงวัยอันควร แต่ต้องรอไปก่อนจนกว่าจะจบการศึกษาของตน หรือยืดต่อไปอีกเพราะการงานอาชีพ มีราชการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเพณีนี้นับได้ว่ายังมีประโยชน์แก่สังคมไทยอยู่เป็นอันมาก ที่สำคัญคือ
ก. สำหรับชายหนุ่มในเมืองและในกรุง ซึ่งสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตทั่วไป ได้ทำให้เหินห่างไปจากวัฒนธรรมประเพณีในสังคมของตน การบวชนี้เป็นเครื่องชักให้กลับมาเป็นคนในสังคมไทยได้เต็มตัว ไม่เป็นคนแปลกหน้ากับวัฒนธรรมประเพณีของตน
ข. สำหรับชายหนุ่มในชนบท นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในทัศนะของผู้เขียนนี้เห็นว่า การฝึกอบรมและความเป็นอยู่ประจำวันในวัด ระหว่างบวชชั่วคราว ๓ เดือนนี้ เป็นการศึกษาที่แท้จริง และได้ผลยิ่งกว่าการเล่าเรียนของเขา เมื่อครั้งเป็นเด็กชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๔ เพราะเป็นการศึกษาด้วยเอาชีวิตเข้าไปเรียน และเรียนจากชีวิตจริง ภายในสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี ความเป็นอยู่ ตลอดจนความสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นของชุมชนของตนจริงๆ การบวชที่ว่าทำให้เป็นคนสุก ยังพอจะใช้ได้อยู่สำหรับการบวชของชาวชนบท เพราะทำให้ผู้บวชนั้นเข้าสู่ภาวะเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้พร้อมที่จะเข้าสู่หรือเป็นคนของชุมชนนั้นได้โดยสมบูรณ์ นอกจากวัฒนธรรมประเพณีและขนบธรรมเนียมของชุมชนแล้ว ผู้บวชไม่น้อยได้เรียนวิชาความรู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือตรงกับความต้องการของชุมชนของตน ในระหว่างเวลาที่บวชอยู่นั้น นอกจากนี้ หนุ่มชาวบ้านจำนวนมากเรียนจบ ป. ๔ แล้วไปอยู่กลางนา ลืมวิชาแทบหมด แม้แต่อ่านเขียนภาษาไทย เมื่อมาบวชก็ได้ทบทวนใช้ความรู้นั้น เป็นการฟื้นฟูวิชาอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งในสมัยที่นักการศึกษาบ่นกันว่า การศึกษาในประเทศไทยได้ดำเนินผิดๆ มาเป็นเวลานาน และการศึกษาสมัยใหม่ ได้ทำให้เด็กนักเรียนกลายเป็นคนแปลกหน้ากับชุมชน และวัฒนธรรมประเพณีของตน คุณค่าของการบวชตามประเพณีที่กล่าวมานี้ ก็ยิ่งมีความเด่นชัดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า การบวช ๓ เดือนนี้ แม้แต่ในชนบทก็กำลังเสื่อมลงอีก เพราะสภาพทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้ระยะบวชสั้นลงเป็น ๑ เดือน ครึ่งเดือน ๗ วันบ้าง การฝึกอบรมประจำวันกำลังเลือนลางลงไป หลายแห่งกลายเป็นอยู่กันไปวันๆ บ้าง เกิดภาวะขาดผู้นำ เช่น ขาดพระที่จะเป็นเจ้าอาวาส มีแต่พระ ๑-๒ พรรษา รักษาการวัดอยู่ด้วยสาเหตุข้อต้นๆ ที่กล่าวมาแล้วบ้าง ประโยชน์จากประเพณีส่วนนี้ จึงกำลังเสื่อมถอยลงไป
๔. ในขณะที่พระเณรชาวชนบท กำลังใช้ทางผ่านเพื่อการศึกษานี้ให้เป็นประโยชน์ เรียนวิชาข้างนอกบ้างข้างในบ้าง แล้วส่วนใหญ่ก็ลาสิกขาไป อันเป็นเรื่องธรรมดา และคณะสงฆ์หรือพระสงฆ์ระดับผู้บริหารก็ห่วงใย หาทางกวดขันควบคุมเข้ากรอบ ด้วยความวิตกกังวลบ้าง โดยมั่นใจในกำลังอำนาจบ้าง ในแง่หนึ่งจะเรียกว่ากำลังสาละวนขับเคี่ยวกันอยู่ ก็น่าจะไม่ผิด ในช่วงเวลานี้เองก็ได้มีแนวโน้มใหม่เกิดขึ้น คือการที่คนหนุ่มที่เรียกกันว่าสมัยใหม่ ซึ่งมีการศึกษาสูงบ้าง เรียนรู้โลกมามากแล้วบ้าง เกิดความเบื่อหน่ายโลก หรือเห็นคุณค่าของธรรมวินัย แล้วสมัครใจสละเรือนออกบวชด้วยความตั้งใจ เพื่อการบวชประเภทที่เรียกว่าถาวร แต่ในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์จะไม่ได้เตรียมตัวต้อนรับบุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา บุคคลเหล่านี้ โดยมากไม่สู้จะเห็นความหมายของการศึกษาตามระบบของคณะสงฆ์เท่าใดนัก และมีวงความสัมพันธ์กว้างออกไปในหมู่นิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของคฤหัสถ์ ซึ่งก็มีกลุ่มมีหมู่ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่เช่นกัน แต่เป็นขอบเขตที่พ้นออกไปจากวงปฏิบัติการของคณะสงฆ์ การบวชของบุคคลระดับนี้เป็นข้อที่น่าจะทำให้เกิดผลดีมากก็จริง แต่หากมิได้มีการศึกษาอย่างถูกต้องเพียงพอ ก็อาจเป็นโทษทำให้เกิดผลร้ายได้มากเหมือนกัน หากคณะสงฆ์ไม่เตรียมตะล่อมประสานเข้ามาโดยถูกต้อง ก็พอมองเห็นเลาๆ ว่า แนวโน้มใหม่นี้จะเป็นพลังใหญ่ ที่เรียกอย่างภาษาใหม่ว่า เข้ามาท้าทายระบบการศึกษาและระบบการปกครองของคณะสงฆ์ทั้งหมดในเวลาไม่ช้านัก
๕. เมื่อแยกการศึกษาออกไปจากวัดแล้วไม่นานนัก ชีวิตความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ของชาวบ้านก็พลอยเหินห่างออกไปจากวัดด้วย เว้นแต่ในชุมชนชนบทซึ่งยังพึ่งพาอาศัยการศึกษาบางส่วนจากวัด และชีวิตยังผูกพันใกล้ชิดกับวัดโดยทางขนบธรรมเนียมประเพณีมากกว่าในกรุงและในเมือง ยิ่งกว่านั้นเมื่อคนรุ่นเก่าหมดไปๆ คนรุ่นหลังๆ ที่เข้ามารับผิดชอบอยู่ในวงงานต่างๆ ของรัฐ และของสังคมสมัยใหม่ ก็เป็นผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือบางทีแม้แต่เกี่ยวข้องกับวัดและพระสงฆ์มาก่อน เมื่อช่วงเวลาเช่นนี้มาถึง วัดกับรัฐก็ดี วัดกับสังคมเมืองก็ดี แม้มีความสัมพันธ์กัน ก็เป็นเพียงความสัมพันธ์แบบคนต่างกลุ่ม ไม่เข้าถึงชีวิตจิตใจที่แท้จริงของกันและกัน ไม่เข้าใจปัญหาของกันและกัน และมักเข้าใจผิดกันง่ายๆ ทั้งนี้เพราะความห่างเหินระหว่างวัดกับรัฐและสังคมเมืองนั้น ทำให้เกิดความพิรุธพิการเริ่มตั้งแต่ทัศนคติไปทีเดียว เช่น
ก. คนส่วนมากในสังคมเมืองสังคมกรุง ไม่รู้จักวัดและพระสงฆ์ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางสังคมของตนเองว่า คืออะไร อย่างไร มองแต่รูปร่างและความเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราวอย่างผิวเผิน แล้วก็คิดกำหนดสร้างภาพขึ้นในใจว่า พระสงฆ์ควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมจึงไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นพระเรียนหนังสือแล้วสึก ก็ติเตียนบ่นว่าอาศัยวัดเรียนหนังสือเอาเปรียบชาวบ้านบ้าง สึกไปแย่งอาชีพเขาบ้าง หรือไม่เห็นบทบาททางสังคมของพระสงฆ์ ก็ว่าพระอยู่เฉยๆ ไม่เห็นทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคมบ้าง ความจริงคำติเตียนของท่านเหล่านี้ที่เป็นส่วนถูกก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เพราะเหตุที่เป็นทัศนคติซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐาน จึงทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี อย่างน้อยก็จะไม่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาได้เลย
ข. ผู้รับผิดชอบในวงงานสำคัญๆ เกี่ยวกับการศึกษาของรัฐรุ่นหลังๆ นี้จำนวนไม่น้อย หรืออาจจะพูดคลุมๆ ว่า ทางฝ่ายรัฐในปัจจุบันคล้ายกับว่าไม่รู้ไม่เข้าใจประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในด้านการศึกษา ว่ารัฐได้เคยมีส่วนรับผิดชอบการศึกษาของคณะสงฆ์มาตามลำดับโดยตลอดอย่างไร จึงวางท่าทีต่อการศึกษาของพระสงฆ์ไม่ถูก และบางทีก็สับสนขัดแย้งกันเอง เช่น บางท่านบางคราวก็พูดว่า การศึกษาของพระก็เรื่องของพระ การศึกษาของรัฐก็เรื่องของบ้านเมือง ของใครของผู้นั้นก็ต่างคนต่างทำสิ แต่บางท่านบางคราวก็พูดว่า การศึกษาของพระนี่ พระดำเนินการเอาเอง ไม่มีกฎหมายไหนรับรอง ก็เป็นการศึกษาเถื่อน เป็นโรงเรียนเถื่อน เป็นมหาวิทยาลัยเถื่อนสิ
ค. การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาแต่เดิมมา มีความมุ่งหมายในทางส่งเสริมศาสนศึกษาพ่วงอยู่ โดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง แต่เมื่อกิจกรรมในทางการศึกษาของวัดลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ความหมายทางด้านส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็เลือนลางจนถึงขาดด้วนไป จะเห็นได้ว่าประชาชนอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาในระยะหลังนี้เพ่งไปด้านวัตถุ คือการก่อสร้างอาคารสถานที่หรือเสนาสนะมากขึ้นเรื่อยๆ แม้พระสงฆ์ก็นำประชาชนให้เป็นไปเช่นนั้นด้วย
ง. พระสงฆ์เกิดความเคยชินกับความรู้สึกที่ว่า การศึกษาสำหรับทวยราษฎร์หรือสำหรับเด็กและเยาวชน บัดนี้อยู่ในความรับผิดชอบของทางฝ่ายบ้านเมืองแล้ว พระสงฆ์เกี่ยวข้องเฉพาะแต่การให้ภิกษุสามเณรเรียนธรรมวินัย ความรู้สึกนี้ฝังสนิทถึงกับว่าโดยทั่วไปเมื่อพูดถึงศาสนศึกษา พระสงฆ์จะมองไปที่พระเณรและเพียงแต่ภายในวัดเท่านั้น ไม่มองพ้นรั้วหรือกำแพงวัดออกไปเลย ไม่คิดเลยไปถึงว่า ท่านเองก็อาจมีส่วนรับผิดชอบต่อการศึกษาทางศาสนาและจริยธรรมของเด็กและเยาวชนทั่วไปด้วย จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจติดตามรับรู้ว่า เด็กๆ ลูกชาวบ้านได้รับการฝึกอบรมทางศีลธรรมอย่างไรบ้าง แม้จะนำข่าวคราวและสถานการณ์ต่างๆ มาวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ก็จะพูดกันด้วยท่าทีของคนนอกวงความรับผิดชอบ
ที่เขียนมานี้ มิใช่มุ่งจะค่อนว่าติเตียนใครหรือฝ่ายใด ว่ากันไปแล้วทุกคนและทุกฝ่าย ก็เป็นผลิตผลของเหตุปัจจัยที่กล่าวมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น ทางที่ดีจึงควรมาช่วยกันศึกษาข้อเท็จจริงให้เข้าใจ ยอมรับความจริง แล้วร่วมกันแก้ไขปรับปรุง ข้อที่น่าเสียใจอย่างยิ่งก็คือ หลายท่านโดยเฉพาะผู้อยู่ในฐานะที่จะรับผิดชอบกิจการของส่วนรวม ไม่ว่าทางฝ่ายรัฐหรือฝ่ายวัด ฝ่ายคณะสงฆ์หรือฝ่ายบ้านเมือง ชอบตั้งเกณฑ์แห่งความยึดมั่นไว้ในใจว่า ควรจะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อสภาพที่เป็นจริงไม่เป็นอย่างเกณฑ์ที่ตนตั้งไว้ ก็ปฏิเสธสิ้นเชิง ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมศึกษาความจริงต่อไปด้วยใจเป็นกลาง มุ่งเหตุมุ่งผล ท่านเหล่านี้เป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อพระศาสนา เป็นห่วงกิจการ แต่ทว่าความเป็นห่วงและความปรารถนาดีของท่านเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และการกระทำในทางเป็นปฏิปักษ์หรือในทางลบของท่านเหล่านี้นั่นแหละ ก็คือการร่วมมือกับพระเณรนอกรอยของท่าน ในการสร้างสนามขับเคี่ยว ช่วยกันตัดรอนประโยชน์สุขของส่วนรวม และบางทีอาจถึงกับช่วยกันนำการพระศาสนาไปสู่หายนะก็ได้ ที่ว่านี้นอกจากต่อว่าท่านผู้อยู่ในระดับบริหารและมีอำนาจรับผิดชอบแล้ว ก็เป็นการยอมรับไปด้วยว่า มีพระเณรบางส่วนที่มุ่งใช้วัดเป็นช่องทางเล่าเรียนวิชา เพื่อประโยชน์ในทางอาชีพของตนเองอย่างแท้ๆ ในแบบที่เรียกว่าใช้ทางผ่านโดยไม่ช่วยบำรุงทางเลย นอกจากนั้น แม้พระเณรที่ใช้ทางผ่านอย่างมีความสำนึกเหตุผล บนพื้นฐานแห่งความคิดที่จะบำรุงทาง ก็มีไม่น้อยที่มักทำตนเป็นอย่างเมล็ดพืชที่แตกกระจายอยู่ใต้พื้นดิน ต้องแหลกสลายเปื่อยเน่าไปเสียกลางคันแทนที่จะทนถูกย่ำถูกทับถูกรด รอความเติบโตขึ้นมาเงียบๆ อย่างไม่มีใครสังเกตเห็น จนถึงเวลาพร้อมก็ผลิดอกออกใบ ทำให้เขายอมรับด้วยแสดงผลงดงามเป็นของจริงให้ชื่นชม
“ได้หวังใจไว้ว่า ในปีสุวรรณาภิเษก ถ้าเป็นได้ จะได้รวมมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นส่วนวิทยาลัยสำหรับวินัยและศาสตร์ มหาธาตุวิทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับกฎหมาย โรงเรียนแพทยากรเป็นวิทยาลัยสำหรับแพทย์ และตั้งโรงเรียนเป็นวิทยาลัยสำหรับวิทยา และมีหอสากลวิทยาขึ้นแห่งหนึ่ง รวมวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้เข้าเป็น รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย”
ข้อความที่คัดมานี้ เป็นหมายเหตุในโครงการศึกษาสำหรับชาติ พ.ศ. ๒๔๔๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า รัชกาลที่ ๕ ซึ่งนับได้ว่า เป็นโครงการการศึกษา หรือแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของประเทศไทยในยุคใหม่
เรื่องเดิมมีว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มจัดการศึกษาของชาติอย่างสมัยใหม่ ตั้งแต่ระยะต้นของรัชกาลเป็นต้นมา การศึกษาก็ได้พัฒนามาโดยลำดับ ถึงกับได้มีประกาศตั้งกรมธรรมการขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่กระนั้นก็ตาม "การศึกษาที่ได้เริ่มจัดการมาแต่ต้นนั้น ยังไม่ได้รูปการถึงเป็นหลักฐานแน่นอน จนใน พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรปครั้งแรก ได้ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนซึ่งได้มาเล่าเรียนอยู่ช้านาน ยังเรียนไม่สำเร็จทันพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้ราชการ เป็นเหตุให้ไม่พึงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อัครราชทูตพิเศษประจำราชสำนักอังกฤษ คิดอ่านตรวจตราสืบหาแบบแผน และทำความเห็นวิธีจะแก้ไขจัดการศึกษา ซึ่งยังไม่ได้ประโยชน์เต็มตามประสงค์นี้ ให้เข้าทางอันสมควรและเจริญขึ้นในภายหน้า ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้ตรวจตราสืบหาแบบแผนทางการเล่าเรียนทุกกิ่งวิชา ที่ควรจะให้นักเรียนเล่าเรียน นำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ในเมืองไทย พร้อมทั้งความเห็น ส่งเข้ามายังกระทรวงธรรมการ ในขณะนั้น กรมศึกษาธิการกำลังดำริจัดรูปการศึกษา ที่จะให้เป็นหลักฐานและให้แพร่หลายออกไปอยู่แล้ว จึงได้รวมความเห็นของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ กับความดำริเดิม เรียบเรียงเป็นรูปการเข้าด้วยกันสำเร็จทันนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในปีนั้นเอง
"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยในรายงานของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ที่เสนอมา จะเห็นได้จากตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาว่า เราขอชมความอุตสาหะพยายามแลความคิดตริตรองโดยรอบคอบแลเฉียบแหลมของพระยาวิสุทธิ ซึ่งได้คิดอ่านแนะนำมายังกระทรวงในครั้งนี้เป็นอันมาก และขอยืนยันว่าได้เห็นชอบในความคิดนั้นทุกอย่าง ฯลฯ"4
ตามโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ นี้ แบ่งลำดับชั้นการเล่าเรียนสามัญเป็น ๔ ชั้นคือ
๑. การเล่าเรียนเบื้องแรก (มูลศึกษา)
๒. การเล่าเรียนเบื้องต้น (ประถมศึกษา)
๓. การเล่าเรียนเบื้องกลาง (มัธยมศึกษา)
๔. การเล่าเรียนเบื้องสูงสุด (อุดมศึกษา)
อย่างไรก็ตาม การศึกษาของชาติในเวลานั้น ได้จัดดำเนินการมาแล้วถึงเพียงการเล่าเรียนเบื้องกลาง คือ มัธยมศึกษาเท่านั้น ดังนั้น ในโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ จึงวางระบบแบบแผนในส่วนรายละเอียดถึงเพียงขั้นมัธยมศึกษา ส่วนการเล่าเรียนเบื้องสูงสุดที่เรียกว่าอุดมศึกษา ยังเป็นเพียงความคาดหวังตั้งใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นการปูพื้นฐานสำหรับการจัดตั้งกิจการอุดมศึกษาต่อไป ดังความในประวัติกระทรวงศึกษาธิการนั้นว่า
"๑๑. เมื่อโรงเรียนประถมศึกษา และเบื้องกลางมัธยมศึกษา ได้จัดตั้งขึ้นเป็นแบบแผนสำเร็จดีแล้ว ก็เป็นทางที่จะเป็นได้ ในการตั้งสากลวิทยาลัยขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อการอุดหนุนการศึกษาอย่างสูงสุด และสำหรับให้ดีกรีในอธิการต่างๆ แห่งศิลป วิทยาศาสตร์ แพทย์ ฯลฯ แต่สากลวิทยาลัยนั้น จะจัดยังไม่ได้ จนกว่าจะจัดตั้งโรงเรียนฝึกสอนความรู้วิชาขั้นต่ำ และขั้นกลางมั่นคงแล้ว จึงจะตั้งได้"5
และจากความคาดหวังตั้งใจนี้ จึงมีหมายเหตุเกี่ยวกับการที่จะรวบรวมสถาบันวิทยาลัยต่างๆ จัดตั้งเป็น "รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย" ในปีสุวรรณาภิเษก ดังข้อความที่ได้คัดมาเป็นบทเกริ่นนำแต่ต้นเรื่อง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ จะถึงปีสุวรรณาภิเษกคือครบ ๕๐ ปีแต่ราชาภิเษกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ดังนั้น การศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างเต็มรูปจึงยังมิได้จัดขึ้น และรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัยที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยามราชอาณาจักรหรือประเทศไทย ก็มิได้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕
แม้ว่ารัตนโกสินทรสากลวิทยาลัยจะมิได้เกิดขึ้น แต่ความคิดที่จะตั้งก็มีความสำคัญอยู่ในตัว เพราะแสดงถึงความหมายที่แฝงอยู่ด้วยหลายอย่าง
ประการแรก ความหวังนั้นแสดงว่า ประเพณีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางการศึกษาระหว่างวัดกับบ้านเมือง หรือระหว่างพุทธจักรกับอาณาจักร ที่มีมาในเมืองไทยแต่โบราณ ยังสืบต่ออยู่ถึงเวลานั้นไม่ขาดสาย
ในอดีต วัดเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาสำหรับชาวบ้าน หรือเป็นแหล่งการศึกษาสำหรับมวลชน ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ แม้จะทรงจัดการศึกษาอย่างสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ก็ไม่ทรงทิ้งวัด และยังทรงให้พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการศึกษา ทรงให้ใช้ศาลาวัดเป็นโรงเรียนบ้าง ให้โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดบ้าง ทรงให้พระเป็นครูสอนเด็ก เป็นผู้บริหารการศึกษาชั้นต้น และให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทางการศึกษาระดับสูง เช่นในระยะเริ่มแรกจัดการศึกษาขั้นต้น ก็มีพระบรมราชโองการเรื่อง "โปรดเกล้าฯ จะให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทยแลสอนเลขทุกๆ พระอาราม" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ ความตอนหนึ่งว่า
"ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระราชาคณะ พระครูถานานุกรมเปรียญ ที่ได้รับพระราชทานนิตยภัตร์ตามฐานาศักดิ์ในพระอารามหลวง สำหรับจะได้สั่งสอนพระภิกษุสามเณรศิษย์วัด เพื่อจะให้เป็นคุณประโยชน์แก่กุลบุตร์ผู้ที่จะเล่าเรียน แลอาจารย์ผู้ที่จะสั่งสอนให้ถาวรวัฒนาการขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะหนังสือไทยเป็นประโยชน์ที่จะเล่าเรียนพระไตรปิฎกต่อไป เป็นการเกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา ฤาเป็นคฤหัสถ์ก็จะได้เป็นกำลังราชการ แลในประโยชน์ของผู้เรียน เพราะฉนั้น ขอให้พระราชาคณะพระครูฐานานุกรมเปรียญอันดับ ที่ได้เล่าเรียนรู้หนังสือไทยลายมือแลวิชาเลขนั้น จงมีใจเห็นแก่พระพุทธศาสนา แก่ราชการแผ่นดิน ช่วยทนุบำรุงสั่งสอนเด็กนั้นให้เต็มกำลังความรู้ของตน....ทรงพระกรุณาสู้สละพระราชทรัพย์ออกจำหน่ายจ่ายแจกแก่อาจารย์แก่ศิษย์ ทั้งนี้ด้วยพระราชประสงค์จะให้เป็นประโยชน์ในพระพุทธศาสนา แลแผ่นดิน แลตัวเด็กต่อไป...."6
เมื่อได้ทรงจัดการศึกษาให้เจริญขึ้นมาตามลำดับจนถึงชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะให้การศึกษาทั้งหมดมีแบบแผนชัดเจนเป็นระบบ และมีระดับครบถ้วนบริบูรณ์ถึงอุดมศึกษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดวางโครงการศึกษาสำหรับชาติ พ.ศ. ๒๔๔๑ ขึ้น อย่างที่อ้างถึงแล้วข้างต้น
ในโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ นั้น มหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งได้นามใหม่ว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปรากฏเป็นชื่อแรกในประดาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะรวมตั้งเป็นรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย เมื่อสถาบันการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ ๒ แห่งนี้ เข้ารวมอยู่ในสากลวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยตามโครงการนี้ การศึกษาของวัดกับการศึกษาของบ้านเมือง ก็จะประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่ต้นจนถึงยอด หรือตั้งแต่มูลศึกษาถึงอุดมศึกษา เป็นการยืนยันถึงแนวความคิดที่ดำรงมั่นในประเพณีการศึกษาของชาติไทยที่สืบเนื่องตลอดมาทุกยุคสมัย
ประการที่ ๒ ความหวังที่จะตั้งรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัยนั้น แสดงชัดด้วยว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองไทยในอดีตถือว่า การศึกษาของวัด หรือศาสนศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรเป็นราชการแผ่นดิน เป็นภารกิจของรัฐ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเอาใจใส่ดูแลรับผิดชอบ หลักการข้อนี้มีหลักฐานบอกไว้ชัดเจนในที่อื่นอีก เช่น ใน "อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า
“การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร นับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วยอยู่ในพระราชกิจของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้น ต่อมีรับสั่ง สังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมกัน สอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแลตามตำแหน่งจนสำเร็จการ”7
ตัวอย่างในทางปฏิบัติจริงของหลักการข้อนี้ จะเห็นได้ในประกาศกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่ามกลางสงฆ์ ในการแปลพระปริยัติธรรมคราวที่ ๑ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พ.ศ. ๒๔๑๓ ว่า
"ข้าพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ขอประกาศแก่พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งประชุมพร้อมกันในที่สมาคมนี้ให้ทราบว่า การเล่าเรียนรู้ในพระปริยัติธรรมคัมภีร์พระพุทธวจนะ ที่เรียกว่าพระไตรปิฎกนี้ ย่อมเป็นมูลรากแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นนิยยานิกมรรคนำออกจากทุกข์ทั้งปวงได้ แต่การปริยัตินั้นจะเป็นไปได้ ต้องอาไศรยพระบรมราชานุภาพสมเด็จพระเจ้าธรรมิกมหาราชาธิราชเป็นสาสนูประถัมภ์ ทำนุบำรุงผู้บอกกล่าวแลผู้เล่าเรียนให้มีน้ำใจรื่นเริง........เพราะฉะนั้น ในสยามราษฎร์ชนบทนี้ สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า ซึ่งได้ดำรงพระราชอาณาเขตร์โดยลำดับพระราชวงศ์สืบมา จึงได้ทรงปรนนิบัติโดยโบราณธรรมิกจารีตราชประเพณี"8
ประการที่ ๓ ใน "ประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า
"ทรงพระราชดำริห์ว่า จำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้วมา ได้ทรงทนุบำรุงพระบรมพุทธศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองเจริญขึ้นโดยลำดับ.........การเล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำรุงทั่วไปทุกพระอาราม แต่ยังหาเป็นอันนับว่าบริบูรณ์แท้ไม่ เพราะเป็นแต่สถานที่เล่าเรียนในชั้นต้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูงขึ้น ๒ สถานๆ หนึ่ง เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร พระอารามหลวง พระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกสถานหนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงนี้ มีนามว่า มหาธาตุวิทยาลัย ได้เปิดการเล่าเรียนแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก๒๒ ๑๐๘ สืบมา แต่สังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ ยังไม่เป็นที่สมควรแก่การเล่าเรียนในสมัยที่การเล่าเรียนเจริญขึ้นสืบมานี้ จึ่งทรงพระราชดำริห์ที่จะทรงสร้างสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยขึ้นใหม่ ให้เป็นสถานอันสมควรแก่การเล่าเรียน....จะได้ทรงพระราชอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้ เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไปภายน่า พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป"9
ความในหมายเหตุของโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่เกริ่นไว้ข้างต้นนั้น ช่วยกำหนดหรืออธิบายความหมายของคำว่า "วิชาชั้นสูง" ในประกาศพระราชปรารภที่ยกมาอ้างนี้ ให้เข้าใจได้แน่นอนชัดเจน คือแสดงว่า "มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นส่วนวิทยาลัยสำหรับวินัยและศาสตร์ มหาธาตุวิทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับกฎหมาย" แม้จะไม่มีรายละเอียดอธิบายชื่อสาขาวิชาทุกอย่างที่ระบุไว้ในกรณีนี้ให้ชัดเจน แต่ก็ทราบได้แน่นอนว่าเป็นศิลปวิทยาอย่างสมัยใหม่ นอกจากนั้นยังอาจให้สันนิษฐานได้ด้วยว่า มหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะมิใช่เป็นเพียงสถานศึกษาที่พระภิกษุสามเณรจะได้ศึกษา ทั้งพระปริยัติศาสนาและวิทยาการขั้นอุดมศึกษาอย่างสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังอาจเป็นที่ให้กุลบุตรชาวคฤหัสถ์ภายนอก ได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาลัยชั้นสูงอย่างสมัยใหม่ภายในวัดวาอาราม ตามประเพณีไทยที่สืบมาแต่โบราณอีกด้วย
ว่าที่จริง เวลานั้น ทั้งทางราชการบ้านเมืองและคณะสงฆ์ก็ได้เริ่มจัดให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาทั้งวิชาการอย่างสมัยใหม่ และปริยัติธรรมพร้อมกันไปอยู่แล้ว แต่ยังเป็นเพียงขั้นกลาง ในระดับโรงเรียนฝึกหัดครู ดังที่เรียกวิชาการอย่างสมัยใหม่ว่า "วิชา" ยังไม่ถึง "วิชาชั้นสูง" และเรียกพระปริยัติธรรมว่า "ศาสนา" ความข้อนี้ปรากฏเป็นตัวอย่างในลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ตอนหนึ่งว่า
"ในเวลานี้ ก็จะพระราชทานครูสอนภาษาอังกฤษ แก่มหามกุฏราชวิทยาลัย ถ้าพระราชทานผู้สามารถในการสอนภาษา และวิชาต่างประเทศที่จะต้องการในชั้นนั้นๆ....การเรียนส่วนวิชากับส่วนศาสนา ก็จะรวมลงเป็นคลองเดียว ต่างจะพยุงกันให้หันดำเนินสู่ความเจริญด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้เรียนจะเป็นพระก็ดี เป็นฆราวาสก็ดี ก็คงเป็นผู้มีความรู้ที่ใช้ได้ ต่างพวกต่างไม่ต้องตำหนิกันว่าอารามหรือโซ๊ด ข้อนี้ไม่เห็นคำคัดค้าน...."10
ความหมายทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมานี้ พร้อมทั้งกิจการต่างๆ ที่ดำเนินตามความหมายทั้ง ๓ นั้น ล้วนเป็นเครื่องเสริมย้ำ และยืนยันถึงสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือคติที่ว่า วัดกับรัฐได้ประสานร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชน และวัดได้เป็นศูนย์กลางการศึกษาสำหรับมวลชน เป็นประเพณีของไทยสืบมาแต่โบราณ
คติเรื่องวัดเป็นแหล่งการศึกษามวลชน หรือเรื่องรัฐอุปถัมภ์วัดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชน ชนิดที่เกื้อกูลทั้งแก่รัฐและแก่วัดพร้อมไปด้วยกันนี้ มองอีกด้านหนึ่งก็คือ คติที่กุลบุตรชาวไทยเข้าวัดบวชเป็นภิกษุสามเณรเล่าเรียนธรรมและหนังสือไทยก่อนจะครองเรือน รับราชการ หรือครองวัดรับผิดชอบการพระศาสนาต่อไป ที่เรียกง่ายๆ ว่า ประเพณีบวชเรียน
ประเพณีบวชเรียน ที่ชายไทยทุกคนควรได้บวชเพื่อเล่าเรียนศึกษาเสียก่อน จึงเริ่มชีวิตผู้ใหญ่ที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทำให้คนไทยถือว่าการบวชแล้วสึกเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ หรือคนที่บวชแล้วสึกมาได้รับความยอมรับนับถือจากสังคม เรียกว่า "บัณฑิต" "ทิด" หรือ "คนสุก" นี้ นับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทย ซึ่งไม่มีที่ใดเหมือน แม้แต่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทด้วยกัน เว้นแต่ประเทศที่ถือตามอย่างคติของไทยในภายหลัง เอกลักษณ์นี้เกิดจากการสั่งสมต่อเนื่องกันมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติไทย ประมาณ ๗๐๐ ปี ตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงยุคกรุงเทพทวารวดีหรือรัตนโกสินทร์ และในเมื่อเป็นวัฒนธรรมที่สั่งสมมายาวนาน การถอนหรือเลิกล้มจึงยากที่จะทำได้สำเร็จด้วยการหักโค่นลงในทันที โดยเฉพาะในหมู่มวลชนท้องถิ่นที่อยู่ท่ามกลางประเพณี ห่างไกลจากวัฒนธรรมของยุคใหม่ หากพยายามตัดตอนลงอย่างฉับพลันก็ดี สืบต่ออย่างสักว่าทำโดยขาดความเข้าใจก็ดี ย่อมก่อให้เกิดปัญหาซับซ้อนเป็นโทษแก่สังคมส่วนรวม เหมือนอย่างที่สังคมไทยกำลังประสบอย่างลึกซึ้งและไม่รู้ตัวอยู่ในขณะนี้
ประเพณีบวชเรียนและวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา โดยรัฐเอาใจใส่ดูแลเป็นราชการนี้ ตั้งเค้าขึ้นแต่สมัยสุโขทัย พระเจ้าลิไท เมื่อครองราชย์ได้ ๘ ปี ใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ก็ได้เสด็จออกผนวชชั่วคราว ทรงค้นคว้าแต่งตำราทางพระพุทธศาสนาขึ้นเรียกว่า เตภูมิกถา และได้ทรงอุทิศพระมหาปราสาทให้เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ ดังความในศิลาจารึก แปลว่า
"ครั้งนั้น มีพระโองการสั่งให้มุขอำมาตย์สร้างพระราชคฤหเหมปราสาทนพสูรย์ และพระราชมนเทียรสถานพระพิมานจัตุรมุข.... อภิเษกสมณพราหมณาจารย์ตปศียติสงฆ์ทั้งหลาย เผดียงให้มาเล่าเรียนพระไตรปิฎกธรรมและศึกษาซึ่งศิลปศาสตร์วิชาการต่างๆ ในบริเวณมหาปราสาทนั้น"11
ครั้นต่อมาถึงสมัยอยุธยายุคต้น การบวชเรียนก็เริ่มสืบต่อกลายเป็นประเพณีอย่างแท้จริง ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายที่ในพระราชวังเป็นวัด และทรงสละราชสมบัติออกผนวชชั่วคราวใน พ.ศ. ๒๐๐๘ แล้วโปรดให้พระราชโอรสและพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรใน พ.ศ. ๒๐๒๗ มีความปรากฏในพงศาวดารว่า
"น่าจะเข้าใจว่า ประเพณีที่เจ้านายทรงผนวช และผู้ลากมากดีบวชซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จึงเป็นธรรมเนียมเมืองสืบมาช้านาน เห็นจะมีขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นปฐม"12
เมื่อถึงอยุธยาระยะที่ ๒ การบวชเรียนและการที่เด็กไปเล่าเรียนที่วัดก็แพร่หลาย ทำให้ประชาชนนิยมสร้างวัด จนมีคำกล่าวกันมาว่า "เมื่อครั้งบ้านเมืองดี เขาสร้างวัดให้ลูกเล่น" ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับราชการในทางการศึกษาก็แน่นแฟ้น ดังความว่า
"สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๑๗๑ ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมชำนาญมาแต่ยังทรงผนวช ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชศรัทธา เสด็จออกบอกหนังสือพระภิกษุสามเณร ที่พระที่นั่งจอมทองสามหลังเนืองๆ"13
ครั้นถึงสมัยอยุธยาระยะที่ ๔ ประเพณีบวชเรียนก็สืบสายมั่นคง จนกลายเป็นเงื่อนไขของราชการ ดังความปรากฏว่า
"กุลบุตรทุกๆ คนควรจะต้องบรรพชาและอุปสมบทเป็นอย่างส่วน ๑ ของการศึกษา ตั้งแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ซึ่งเสวยราชย์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๗๕ นั้นเป็นต้นมา กล่าวกันว่า ในรัชกาลนั้น ผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศบรรดาศักดิ์ ต้องเป็นผู้ที่ได้บวชแล้วจึงจะทรงตั้ง เพราะฉะนั้น เจ้านายในพระราชวงศ์ ก็ต้องทรงผนวชทุกพระองค์เหมือนกัน......ราชประเพณีในครั้งกรุงธนบุรีก็ดี ต่อมาในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ดี นิยมตามแบบแผนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ทุกอย่าง"14
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ประเพณีนี้เข้มแข็งเพียงไร จะเห็นได้จากตำนานการบอกพระปริยัติธรรมที่ว่า
"เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทร์อย่างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาแต่แรกสร้าง....มีพระราชประสงค์จะทรงทะนุบำรุงความรอบรู้พระธรรมวินัยให้มั่นคงในสงฆมณฑล จึงทรงแนะนำพระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการให้ช่วยกันทะนุบำรุงด้วย การบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรจึงแพร่หลายไปในที่อื่นๆ ดังเช่น ตามวังเจ้าก็มักจ้างอาจารย์ไปบอกพระปริยัติธรรม และจัดท้องพระโรงให้เป็นที่พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติธรรมบ้าง สร้างศาลาเรียนขึ้นโดยเฉพาะบ้าง ตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่ก็ทำทำนองเดียวกัน ชั้นผู้น้อยลงมาบางทีมีศรัทธาก็จ้างอาจารย์ไปบอกพระปริยัติธรรมที่ตามวัด ถือว่าเป็นการกุศลอย่างสำคัญอันหนึ่ง"15
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ แม้จะทรงริเริ่มความเปลี่ยนแปลง โดยทรงจัดการศึกษาขึ้นอย่างสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงทรงทำนุบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นอย่างดี และทรงให้วัดและคณะสงฆ์มีบทบาทร่วมอย่างสำคัญในการศึกษาอย่างสมัยใหม่นั้นด้วย ดังข้อความเกริ่นนำเรื่อง ซึ่งขอยกมาอ้างสำทับอีกครั้ง เพื่อให้เห็นประเพณีต่อเนื่องกันตลอดสายดังนี้
"ได้หวังใจไว้ว่า ในปีสุวรรณาภิเษก ถ้าเป็นได้ จะให้รวมมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นส่วนวิทยาลัยสำหรับวินัยและศาสตร์ มหาธาตุวิทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับกฎหมาย โรงเรียนแพทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับแพทย์ และตั้งโรงเรียนเป็นวิทยาลัยสำหรับวิทยา และมีหอสากลวิทยาขึ้นแห่งหนึ่ง รวมวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้เข้าเป็น รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย"16
รวมความว่า ประเพณีบวชเรียนและการที่วัดกับรัฐร่วมมือประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการจัดการศึกษาสำหรับมวลชน ได้ดำเนินสืบมาตลอดประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนตลอดรัชกาลที่ ๕ แห่งสมัยรัตนโกสินทร์ หรือตลอดยุคการศึกษาแผนโบราณ จนถึงสิ้นสุดระยะเริ่มต้นของการศึกษาแผนใหม่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ สิ้นสุดรัชกาลที่ ๕ แล้ว กระแสความคิดในทางการศึกษาแห่งชาติก็ผันแปรไปอย่างพลิกหน้าเป็นหลัง มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาดตัดตอนทันทีเกิดขึ้น การศึกษาของวัดกับของรัฐแยกต่างหากจากกัน รัฐรับเอาการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์หรือการศึกษามวลชน ตลอดจนการศึกษาระดับสูงทั้งหมด ไปจัดดำเนินการเองฝ่ายเดียว การศึกษาวิชาการสมัยใหม่สำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษ ก็สะดุดหยุดลงแล้วหายไป พระสงฆ์หดตัวกลับเข้าไปจัดดำเนินการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนเดิม สำหรับพระสงฆ์ในวัดโดยเฉพาะอย่างเดียว มหามกุฏราชวิทยาลัยหยุดงานการศึกษาที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมือง มหาธาตุวิทยาลัยก็ไม่พัฒนามาเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัยก็ไม่เกิดขึ้น ในโครงการและแผนการศึกษาชาติทุกฉบับทุกแผน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นมา ไม่มีคำกล่าวอ้างถึงพระสงฆ์ วัด ปริยัติธรรม หรือพุทธจักรอีกเลย ภาวการณ์ทางการศึกษาอย่างนี้กำหนดชัดด้วยเหตุการณ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ที่ว่า
"......กรมศึกษาธิการ...........กรมธรรมการ........ราชการของสองกรมนั้น ต่างชนิดกันทีเดียว ยากที่จะเลือกหาเจ้ากระทรวงผู้สามารถบัญชาได้ดีทั้ง ๒ กรม คงได้ทางหนึ่งเสียทางหนึ่ง มีพระบรมราชประสงค์จะให้ราชการเป็นไปสะดวก ทั้งจะให้สมแก่ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกโดยตรง จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ย้ายกรมธรรมการมารวมอยู่ในพระราชสำนักตามประเพณีเดิม ส่วนกระทรวงธรรมการนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่จัดการศึกษา"17
นี้คือกระแสความคิดกิจการและนโยบายอย่างปัจจุบันทางการศึกษาของชาติไทยที่ดำเนินสืบเนื่องต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่า "ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้มีการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา คือกรมธรรมการได้กลับมารวมกับกระทรวงศึกษาธิการอีก ทั้งนี้เพราะ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาไม่ควรจะแยกจากวัด ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็นกระทรวงธรรมการ"18 แต่ก็เป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้น เพราะหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วไม่นาน กระทรวงธรรมการก็เปลี่ยนเป็นกระทรวงศึกษาธิการอีก กระแสการศึกษาอย่างใหม่จึงดำเนินต่อไปตามเดิม
เมื่อการศึกษาแห่งชาติเปลี่ยนรูปโฉมและเปลี่ยนมือที่รับผิดชอบกลายเป็นการศึกษาของรัฐฝ่ายหนึ่ง กับการศึกษาของคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไปอย่างนี้แล้ว ก็เกิดคำถามเพื่อรวบรัดความว่า การศึกษาทั้ง ๒ สายนั้นมีผลเป็นอย่างไร
คำถามนี้ ถ้าจะตอบให้สั้นก็คงบอกได้ว่า การศึกษาในฝ่ายของรัฐได้เจริญแผ่ขยายตัวยิ่งขึ้นตลอดมาตามลำดับ ส่วนการศึกษาทางฝ่ายคณะสงฆ์ได้รุ่งเรืองขึ้นบางส่วน ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วต่อแต่นั้น ถ้าหลีกเลี่ยงคำว่าเสื่อมโทรม ก็คงต้องกล่าวว่าได้เหี่ยวเฉาซูบโทรมและถอนตัวไปหลบซ่อน เสมือนถูกทอดทิ้งอยู่เดียวดาย
สำหรับการศึกษาของรัฐนั้น แม้จะมีบางกลุ่มถือว่าเป็นความล้มเหลว แต่อย่างน้อยก็มีแง่ที่พูดว่าเจริญได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในด้านการแผ่ขยายตัว อย่างไรก็ดี ในที่นี้มิใช่โอกาสที่จะถกเถียงในข้อโต้แย้งที่ว่า ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หรือจะบรรยายว่าได้เจริญในแง่ใดๆ บ้าง แต่จะพิจารณาในแง่ร้าย ว่าได้ประสบปัญหาหรือก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอะไรบ้าง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะพูดต่อไป
เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ และการศึกษาทุกระดับมาจัดเองทั้งหมดแล้ว ก็ได้พยายามขยายการศึกษาออกไป ให้ทั่วถึงท้องถิ่นทุกแห่งทั้งใกล้และไกล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งการให้ความเสมอภาคทางการศึกษา ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเวลาล่วงไปกลับปรากฏว่า พลเมืองยิ่งขาดความเสมอภาคในโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษามากขึ้น
ในช่วงเวลาใกล้ๆ ที่ผ่านมานี้ รัฐได้ระดมทรัพยากรในการขยายการศึกษาไปสู่ชนบทให้มากขึ้น โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาได้ขยายไปเกือบทั่วถึงทุกท้องถิ่น แต่สำหรับการศึกษาระดับสูงขึ้นมา ความเสมอภาคยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ โดยที่โอกาสจะขึ้นกับสภาพทางภูมิศาสตร์ คืออยู่ในกรุง ในเมือง หรือถิ่นห่างไกล และขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจ คือยากจน มั่งมี เป็นพ่อค้า ข้าราชการ กรรมกร หรือชาวไร่ชาวนาเป็นต้น มิได้ขึ้นกับสติปัญญาความสามารถอย่างแท้จริง ปรากฏว่าประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๗ นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งหลายของรัฐ เป็นลูกชาวไร่ชาวนาไม่เกินร้อยละ ๖ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย อยู่ในชนบท และเป็นชาวไร่ชาวนาประมาณร้อยละ ๗๕.๘๐ การลงทุนของรัฐทางด้านการศึกษา กลายเป็นการลงทุนเพื่อคนที่มีโอกาสเหนือกว่าและได้เปรียบอยู่แล้ว แม้ว่ารัฐจะตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด และเปิดให้มีการตั้งวิทยาลัยเอกชนต่างๆ ก็ไม่ช่วยให้สภาพการณ์นี้ดีขึ้นเท่าใดนัก
ทางฝ่ายวัด เมื่อถอนตัวออกมาจากการดำเนินงานการศึกษาเพื่อมวลชนร่วมกับรัฐแล้ว ก็ทำหน้าที่ทางการศึกษาเพื่อมุ่งสนองความต้องการทางศาสนาอย่างเดียว เหมือนกับถือว่าภิกษุสามเณรทุกรูปที่บวชเข้ามาจะต้องอยู่ประจำวัด คอยเฝ้าพระศาสนาอยู่ตลอดไป
อย่างไรก็ตาม วัดและคณะสงฆ์ก็อยู่ท่ามกลางความแวดล้อมของสังคม อาศัยสังคมนั่นเองเป็นอยู่ ดังนั้น สภาพและความเป็นไปในสังคมหายอมให้วัดดำเนินตามความปรารถนาของตนไม่ ข้อแรก เมื่อรัฐกับคณะสงฆ์ตกลงแยกกันจัดการศึกษา ก็ทำกันเพียงในระดับราชการ หาได้ยกเลิกประเพณีบวชเรียนของประชาชนไม่ ความเข้าใจของชาวบ้านกับของรัฐและคณะสงฆ์จึงไม่สอดคล้องไปด้วยกัน ความปรารถนาของชาวบ้านกับของรัฐและคณะสงฆ์จึงขัดกัน และช่องทางก็ยังเปิดอยู่สำหรับให้ลูกชาวบ้านเข้ามาแสวงประโยชน์ที่ขัดแย้งกับความปรารถนาของรัฐ และของคณะสงฆ์ โดยที่พระสงฆ์ระดับล่างในชนบทก็เป็นใจกับชาวบ้านด้วย ข้อที่สอง ปัญหาจากการที่รัฐขยายการศึกษาให้มีระดับสูงได้มากขึ้น ทำให้ฐานะและโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจของคน ขึ้นต่อระดับการศึกษามากขึ้น แต่ความไม่เสมอภาคในโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษากลับมีมากขึ้นนั้น ได้มีผลสะท้อนกลับมากระทบต่อการศึกษาของวัดอย่างเต็มที่ เพราะชาวไร่ชาวนาในชนบท ซึ่งด้อยโอกาสทั้งทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจ แต่อยากให้ลูกของตนได้เล่าเรียนสูงขึ้นไป และไม่อาจให้ลูกได้ศึกษาในระบบของรัฐ ต่างพากันไม่รับรู้การที่วัดได้หยุดเลิกบทบาทในการเป็นแหล่งการศึกษามวลชนไปแล้ว คนเหล่านี้พากันส่งลูกมาอยู่เรียนหนังสือที่วัด เป็นศิษย์วัดแล้วบวชเณรบวชพระขึ้นมาตามลำดับความต้องการทางการศึกษาของกุลบุตรเหล่านี้ ขัดแย้งหรือนอกลู่นอกทางจากความต้องการของคณะสงฆ์โดยสิ้นเชิง ทางฝ่ายรัฐก็ดูจะไม่รับรู้ด้วยว่ามีบุคคลเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย นอกจากนั้นสังคมไทยเมืองซึ่งไม่รู้ไม่เข้าใจปัญหาก็มักชอบกล่าวหาบุคคลเหล่านี้ว่า เข้ามาอาศัยศาสนาเป็นทางก้าวไปสู่อาชีพ โดยเฉพาะการที่สังคมไทยเมือง รวมทั้งผู้บริหารและนักวิชาการจำนวนมากซึ่งเป็นผู้กุมชะตาของสังคมไทยทั้งหมดในปัจจุบัน ไม่รู้ ไม่เข้าใจสภาพเช่นนี้ นับว่าเป็นตัวอย่างเด่นอันหนึ่งของการไม่รู้จักสังคมของตนเอง ที่เป็นสาเหตุสำคัญให้ไม่อาจแก้ปัญหาของสังคมไทยได้สำเร็จ
สภาพปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้
ก. ในแง่ที่เกี่ยวกับรัฐ ได้กล่าวแล้วว่าเท่าที่ผ่านมา รัฐยังไม่สามารถอำนวยความเสมอภาคทางการศึกษาแก่มวลชน และยิ่งการศึกษาระดับสูงขึ้นเท่าใด ผู้ด้อยโอกาสก็ยิ่งเข้าไม่ถึงยิ่งขึ้นเท่านั้น สภาพนี้ได้ทำให้ชาวไร่ชาวนาชนบทผู้ด้อยโอกาส จำต้องอาศัยประเพณีบวชเรียนเดิม ที่วัดเป็นแหล่งการศึกษามวลชนพากันส่งลูกหลานไปอยู่วัดบวชเณรบวชพระเรียนหนังสือ เพื่อหาความก้าวหน้าแก่ชีวิตและช่วยเหลือวงศ์ญาติต่อไป แต่ในเวลาเดียวกัน รัฐก็ไม่ยอมรับหรือแม้แต่รับรู้สภาพความเป็นจริงข้อนี้ สภาพการณ์ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ แก่การศึกษาของคณะสงฆ์อย่างมากมาย ซึ่งส่งผลสะท้อนโยงมาถึงความเสื่อมโทรมของกิจการพระศาสนาแทบทุกอย่าง เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาและผลดีผลร้ายต่างๆ ที่น่าสังเกต ขอยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างดังนี้
- วัดกลายเป็นช่องทางสำหรับอำนวยโอกาสทางการศึกษา และการเลื่อนฐานะทางสังคมแก่ลูกชาวไร่ชาวนาผู้ยากจนในชนบทห่างไกล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าช่องทางนี้จะแคบและกันดาร ยากที่จะไปได้ไกล แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีหรือถูกปิดกันเสียทีเดียว เพราะถ้าไม่มีช่องทางนี้ ชาวชนบทที่ยากไร้จะสิ้นหวังในโอกาสทางการศึกษาและทางสังคมอย่างแทบจะสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม เพราะเหตุที่ผู้ใช้ช่องทางนี้ มุ่งสนองความต้องการของตนตามประเพณีไทยเดิม ดังนั้นส่วนใหญ่จึงออกไปคือลาสิกขา ช่องทางนี้จึงมักถูกเรียกว่าเป็นทางผ่าน
- ที่ว่าเป็นช่องทางที่แคบและกันดาร ก็เพราะเป็นทางที่รัฐกับวัดได้ตกลงกันแล้วว่า ให้เลิกใช้ตามวัตถุประสงค์ของประเพณีอย่างเดิม ทางวัดหรือคณะสงฆ์ก็ไม่ยอมรับความต้องการของผู้เข้ามาบวช จึงไม่จัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการนั้น ทางฝ่ายรัฐก็ไม่ยอมรับรู้ว่าคนไร้โอกาสที่ตกหล่นจากระบบของตน ได้เข้ามาอาศัยช่องทางเก่านี้ จึงไม่ได้ใส่ใจที่จะเกื้อหนุนใดๆ จึงเป็นธรรมดาที่ว่า การศึกษาที่เยาวชนพวกนี้ได้รับจะเป็นการศึกษาที่หย่อนประสิทธิภาพ ด้อยคุณภาพ และขยักขย่อนไม่ราบรื่น
- ความเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ได้เกิดขึ้นคือ คนที่มีโอกาสทางการศึกษาเหนือกว่า (ได้แก่คนในเมืองในตลาดและผู้มีอาชีพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า) ได้เลิกใช้วัดเป็นช่องทางการศึกษา เพราะได้หันไปใช้ช่องทางใหม่แห่งระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้ คงมีแต่ลูกชาวนาชาวไร่ในชนบทห่างไกลที่ยังคงใช้ช่องทางเก่านั้น เป็นเหตุให้วัดซึ่งในอดีตเคยเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยสมาชิกจากทุกระดับฐานะอาชีพตั้งแต่เจ้าถึงชาวนา แต่ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนชาวชนบทลูกชาวไร่ชาวนาอย่างเดียวเกือบจะล้วนๆ (ไม่นับผู้บวชระยะสั้นๆ ชั่วนับเดือน) วัดในเมืองในกรุงกลายเป็นชุมชนชนบทกลางเมืองกลางกรุง พระภิกษุสามเณรที่อยู่ประจำวัดตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมา เป็นชาวชนบทห่างไกลเกินร้อยละ ๙๐ ในสถาบันการศึกษาของสงฆ์ เช่นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๑๖ พระนิสิตนักเรียนเป็นลูกชาวชนบทประมาณร้อยละ ๙๙ มาจากครอบครัวกสิกรร้อยละ ๙๑ ในขณะที่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นลูกข้าราชการและพ่อค้าในเมืองในตลาด มีลูกกสิกรชาวชนบทห่างไกลเพียงประมาณร้อยละ ๖ หรืออย่างสูงไม่เกินร้อยละ ๘ (แม้เป็นกสิกรก็อาจจะเป็นกสิกรที่รวยในถิ่นนั้นๆ)19
- เนื่องด้วยภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ที่อยู่ประจำวัด มิใช่เป็นผู้ที่เห็นโทษของโลกแล้วจึงมาบวช แต่เป็นผู้มาบวชตามประเพณีบวชเรียนของไทยเดิม ซึ่งส่วนมากบวชเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ อายุประมาณ ๑๒-๑๕ ปี ด้วยเหตุนี้ ชุมชนวัดทั่วประเทศหรือสังฆมณฑล จึงประกอบด้วยพลเมืองในวัยเล่าเรียนเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ มีพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ รูป ในจำนวนนี้เป็นผู้เรียนนักธรรมบาลี และมหาวิทยาลัยสงฆ์รวม ๒๓๑,๗๓๐ รูป ถ้าตัดพระนวกะออกเสีย โดยถือว่าเป็นผู้เข้ามารับบริการชั่วคราว ถ้าประมาณว่า พระนวกะเรียนนักธรรมทั้งหมด ๔๐,๐๐๐ รูป ก็ยังเหลือจำนวนพระภิกษุสามเณรวัยเล่าเรียน ๑๙๑,๗๓๐ รูป ในจำนวนนี้เป็นสามเณรประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ตัวเลขนี้ถ้าเทียบกับในระบบของรัฐ ในปีเดียวกันมีนิสิตนักศึกษาและนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไป (เหนือระดับประถมศึกษา) รวมทั้งสิ้น ๔๗๗,๒๕๙ คน ถ้าถือตามนี้ก็จะเห็นได้ว่า ในจำนวนพลเมืองที่กำลังเล่าเรียนระดับเหนือประถมศึกษาทั้งหมดนั้น เป็นผู้เรียนอยู่ในระบบของรัฐ ๓ ส่วน อยู่ในระบบของวัดอีก ๑ ส่วน รวมเป็น ๔ ส่วน ในเรื่องนี้มีข้อคิดควรพิจารณาหลายประการ
ข้อคิดที่ ๑ การที่รัฐไม่รับรู้ต่อพลเมืองที่ไปอาศัยประเพณีบวชเรียนของวัดนั้น เป็นการทอดทิ้งพลเมืองในวัยศึกษาเล่าเรียน ที่ตนควรรับผิดชอบไปเสียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเป็นพลเมืองที่ด้อยโอกาสซึ่งรัฐควรจะเอาใจใส่ให้มาก การลงทุนของรัฐทางด้านการศึกษา กลายเป็นการลงทุนเพื่อส่งเสริมคนที่มีโอกาสเหนือกว่าหรือได้เปรียบอยู่แล้ว พร้อมกันนั้น ช่องทางเดียวที่ผู้ด้อยโอกาสพอจะอาศัยได้บ้าง รัฐก็ได้พยายามทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ที่จะปิดกั้นให้แคบหรือตันยิ่งขึ้น ช่องว่างทางการศึกษาจึงขยายกว้างยิ่งขึ้น
ข้อคิดที่ ๒ ในช่วงเวลาเกือบ ๑ ศตวรรษที่ผ่านมานี้ สังคมไทยได้ตื่นเต้นกับความเจริญอย่างสมัยใหม่ที่มาจากตะวันตก และไม่สนใจเรื่องทางศาสนา ชาวเมืองชาวตลาดผู้มีโอกาสเหนือกว่า ได้พากันเข้ารับการศึกษาในระบบของรัฐ เพื่อจะได้เข้าถึงความเจริญแบบตะวันตกนั้น ไม่ยอมเข้าบวชเรียนในระบบการศึกษาแบบประเพณีของวัด ถ้าจะบวชก็บวชเพียงระยะสั้นไม่กี่เดือน ซึ่งเป็นการเข้าไปรับบริการจากวัดมากกว่าจะเป็นการทำหน้าที่ใดๆ ให้แก่วัด ตลอดเวลาช่วงนี้คงมีแต่ชาวชนบทเท่านั้นที่ได้เข้าบวชเรียนอยู่ประจำวัด ภาวะนี้มองอีกด้านหนึ่งมีความหมายว่า ถ้าเรายังถือว่า พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติที่มีค่า เป็นสิ่งสำคัญมีคุณประโยชน์สำหรับสังคมไทย ก็ต้องยอมรับว่าตลอดหนึ่งศตวรรษแห่งความตื่นตะวันตกนี้ ชาวเมืองผู้มั่งคั่งแข็งแรงกว่า ได้ละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อพระศาสนาของตน และได้ผลักภาระในการรักษาสืบต่อพระศาสนา ให้ไปตกหนักแก่ชาวชนบทผู้อ่อนแอกว่าต้องรับไว้ฝ่ายเดียว เมื่อมองอย่างนี้ ก็จะเห็นคุณค่าของชาวชนบททั้งหลาย ที่เข้ามาอาศัยวัดเป็นช่องทางศึกษาเล่าเรียนตามประเพณีบวชเรียนนั้นว่า ถึงจะอย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ก็ได้ช่วยรักษาพระศาสนาที่เป็นมรดกของสังคมไว้แทนพวกตน ในระหว่างที่ไม่มีใครเอาใจใส่พระศาสนา และชาวเมืองเหล่านั้นก็ควรจะพอใจ ที่ตนได้เป็นฝ่ายช่วยอุปถัมภ์บำรุงชาวชนบทผู้รักษาสืบต่อพระศาสนาเอาไว้ แม้ว่าชาวชนบทเหล่านั้นจะลาเพศออกมาแสวงหาความก้าวหน้าในสังคมเมืองบ้าง ชาวเมืองก็ควรต้องยอมรับความจริงว่า ชาวชนบทเหล่านั้นก็มีสิทธิร่วมเสพค่านิยมอย่างเดียวกันเสมอกับตน ยิ่งถ้าคำนึงถึงการที่ตนเป็นผู้ได้เปรียบมาตลอดด้วยแล้ว ก็ควรจะยินดีแม้แต่ที่จะเห็นชาวชนบทเหล่านั้น บางส่วนหวังผลตอบแทนบางอย่าง จากการที่เขาได้ทำหน้าที่รักษาสืบต่อพระศาสนาไว้ นอกจากนั้น ถ้าเห็นว่าพระศาสนาที่ชาวชนบทเหล่านั้นรักษาไว้อยู่ในสภาพร่วงโรยไร้ประสิทธิภาพ ชาวไทยเมืองก็จะต้องมองด้วยความเข้าใจ และเห็นใจตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว และจะต้องไม่ลืมมองโทษของตนเองตามส่วนที่พึงรับผิดชอบด้วย
ข้อคิดที่ ๓ สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก และความเปลี่ยนแปลงทางด้านพระศาสนาก็จะต้องเกิดขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่อการศึกษาในระบบของรัฐขยายกว้างทั่วถึงยิ่งขึ้น เด็กที่จะบวชตามประเพณีบวชเรียนก็จะลดน้อยลง เมื่อความเจริญทางโลกและความตื่นเต้นต่อเทคโนโลยีถึงจุดอืดเฟ้อ ชาวเมืองก็จะหันกลับมาสนใจศาสนาและด้านจิตใจมากขึ้น การศึกษาให้เข้าใจสภาพปัญหาและเหตุปัจจัยต่างๆ จะช่วยนำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจ และเห็นคุณค่าของกันและกัน หากชาวเมืองและปัญญาชนผู้กุมอำนาจในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของชาวชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างถูกต้องตามเป็นจริง ก็จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นดีงาม ทางฝ่ายสังคมวัดลูกชาวบ้าน หากรู้เท่าทันสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และรู้จักจัดเตรียมการต้อนรับคนใหม่จากสังคมเมืองเข้าสู่วัด อย่างถูกต้องตรงกับความต้องการ ก็จะก่อประโยชน์เป็นอันมาก ทั้งแก่ชีวิตของบุคคล แก่สังคม และแก่พระศาสนา
ปัจจุบัน ได้มีความเห็นหรือมติที่ค่อนข้างหนักแน่นในหน่วยงานบริหารระดับสูงของชาติว่า การศึกษาของรัฐกับของวัด หรือของอาณาจักรกับของพุทธจักร เป็นของแยกต่างหากจากกัน ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ควรก้าวก่ายแทรกแซงซึ่งกันและกัน เรื่องนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดแรงๆ ว่า ความเห็นหรือท่าทีอย่างนี้ เกิดขึ้นจากความรู้สึกเท่านั้น หาใช่เกิดจากความรู้ความเข้าใจต่อสภาพปัจจุบันและภูมิหลังแห่งการศึกษาในสังคมของตนไม่ มตินี้ฟ้องตัวเองทันทีว่า ผู้บริหารการศึกษาเหล่านั้น หรือพูดรวมๆ ว่ารัฐสมัยปัจจุบัน ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาและสังคมไทยถึง ๓ ประการเป็นอย่างน้อย คือ
ข้อ ๑ รัฐและผู้บริหารการศึกษาเหล่านั้น ไม่รู้จักประเพณีการศึกษาของชาติไทย ที่ทางฝ่ายสงฆ์กับบ้านเมืองได้ร่วมมือประสานงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการจัดดำเนินการศึกษาสำหรับมวลชน ให้เกิดผลเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่พระศาสนาและพระราชอาณาจักรพร้อมไปด้วยกัน
ข้อ ๒ รัฐและผู้บริหารการศึกษาเหล่านั้น ไม่รู้และไม่ใส่ใจที่จะรับรู้ว่า พลเมืองผู้ด้อยโอกาสเพราะยากไร้และเกิดในชนบทห่างไกล ซึ่งไม่ได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา เข้าไม่ถึงบริการการศึกษาของรัฐจำนวนมากนั้น ได้หันไปอาศัยบริการตามระบบประเพณีไทยเดิม บวชเณรบวชพระเล่าเรียนอยู่ในวัด
ข้อ ๓ รัฐและผู้บริหารการศึกษาเหล่านั้น ไม่รู้หรือทำเสมือนไม่รู้ว่า ในขณะที่ตนกล่าวว่า การศึกษาของวัดกับของรัฐ เป็นคนละฝ่ายต่างคนต่างทำไม่เกี่ยวกัน ไม่ควรก้าวก่ายแทรกแซงกันนั้น หน่วยงานระดับล่างของตนเอง ก็กำลังมาดึงเอาภิกษุสามเณรออกจากวัดไปจัดให้การศึกษาตามระบบการศึกษาของรัฐ เป็นอิสระจากคณะสงฆ์ ทั้งที่คณะสงฆ์ไม่พอใจ เช่น จัดการศึกษาผู้ใหญ่ให้ เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นขั้นที่ยิ่งกว่าก้าวก่ายแทรกแซง จะว่าจะเป็นขั้นชิงอำนาจทีเดียวก็ไม่ผิด (บางทีอาจจะเป็นการชิงอำนาจด้วยความปรารถนาดี เพราะเห็นฝ่ายสงฆ์เฉยเมยเกินไป ทนดูอยู่ไม่ได้)
อย่างไรก็ตาม ข้อวิจารณ์นี้จะว่าแต่รัฐหรือผู้บริหารการศึกษาของอาณาจักรฝ่ายเดียวคงจะไม่ได้ เพราะคณะสงฆ์เองก็ดูจะเป็นเช่นเดียวกัน คือไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องราวในข้อ ๑ และ ข้อ ๒ และไม่รู้จักใส่ใจที่จะจัดหรือร่วมมือจัดเรื่องในข้อ ๓ ให้ยุติ
ความไม่รู้และไม่จัดในข้อ ๑ ถึง ๓ นี้ ได้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ และขาดประสิทธิภาพทุกประการขึ้นแก่การศึกษาในวัด การศึกษาของพระสงฆ์มีมากมายหลายแบบจนไม่มีระบบ มีทั้งการศึกษาของคณะสงฆ์โดยคณะสงฆ์ที่รัฐวางเฉย ซึ่งภิกษุสามเณรส่วนใหญ่พยายามหลีกหนี คือระบบนักธรรมเปรียญ มีทั้งการศึกษาที่คณะสงฆ์ไม่เต็มใจให้มี แต่รัฐรับรอง และภิกษุสามเณรจำนวนมากชอบให้มี เช่น ปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา มีทั้งการศึกษาที่คณะสงฆ์กึ่งรับกึ่งปฏิเสธ รัฐไม่รับรอง แต่ภิกษุสามเณรจำนวนมากต้องการให้มี เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ มีทั้งการศึกษาที่คณะสงฆ์ไม่พอใจ แต่องค์กรของรัฐจัดดำเนินการให้ และภิกษุสามเณรจำนวนมากชอบไปเรียน เช่น การศึกษาผู้ใหญ่ มีทั้งการศึกษาของพระสงฆ์เอกชน ที่ไม่ขึ้นต่อระบบทั้งของรัฐและของคณะสงฆ์ เช่น จิตตภาวันวิทยาลัย เป็นต้น สภาพการศึกษาในวัดปัจจุบัน คงจะคล้ายกับครอบครัวแตก ที่พ่อแม่แยกกันอยู่ (รัฐกับคณะสงฆ์เปรียบเหมือนพ่อและแม่) แต่ไม่ทำการหย่าร้างตามกฎหมาย ให้แน่นอนเสร็จสิ้นไปว่า ลูกจะอยู่กับใคร จะใช้จ่ายอบรมเลี้ยงดูอย่างไร ลูกขาดหลัก และไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร จึงเติบโตอย่างสุกๆ ดิบๆ และผอมเเกร็น
- เมื่อมองอย่างกว้าง พลเมืองผู้ด้อยโอกาสที่เข้าไปอาศัยประเพณีบวชเรียนในวัดเหล่านี้ ส่วนมากจะสึกกลับออกมาทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ในสังคมเป็นกำลังคนของรัฐต่อไป เท่ากับว่ารัฐปล่อยให้คนของตนเข้าไปใช้บริการของวัด แล้วเอากลับออกมาทำงานให้แก่รัฐ วัดซึ่งซูบโทรมอยู่แล้วต้องรับภาระผลิตคนให้แก่รัฐ โดยที่วัดเองแทบไม่ได้รับผลแห่งการลงทุนลงแรงของตนเลย ส่วนรัฐก็ได้เก็บเกี่ยวผลโดยไม่ต้องลงทุน ซ้ำยังไม่เหลียวแล แทบจะไม่ได้ช่วยเหลือให้กำลังแก่วัดเลย จึงเป็นการแน่นอนว่าวัดจะต้องมีแต่ซูบโทรมลงไปเรื่อยๆ
- การที่รัฐยังไม่สามารถอำนวยความเสมอภาคทางการศึกษาทำให้ชาวไร่ชาวนาในชนบทห่างไกล ส่งลูกหลานเข้ามาบวชเณรบวชพระ ใช้วัดเป็นช่องทางที่จะได้รับการศึกษาตามประเพณีเดิมของไทยนั้น มีผลเสียมากมาย แต่ถ้ามองในแง่ดี ก็เป็นการช่วยให้วัดยังคงมีบทบาทที่เป็นคุณยิ่งใหญ่แก่สังคมไทย อย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเลย เช่น
เยาวชนชนบทที่ยากไร้ จำนวนมากมายเป็นแสน ยังมีช่องทางได้รับการศึกษาและมีโอกาสในทางสังคม แม้ว่าจะเป็นช่องทางที่แคบและกันดาร แต่ก็ยังช่วยให้ชาวชนบทยากจนห่างไกลทั้งหลายยังมีความหวังอยู่บ้าง เป็นการลดช่องว่างทางการศึกษาและทางสังคม
ช่วยให้ชาวชนบทเข้ามาสู่กรุงสู่เมืองอย่างมีเกียรติ (พึงเทียบกับการเข้ามาหางานทำและอยู่ในสลัมของชาวชนบทอีกสายหนึ่ง) ทำให้ชาวชนบทมีความภูมิใจและมั่นใจในตนเอง ไม่ถึงกับหดหู่หมดหวังจากสังคมไทย จึงเป็นเครื่องช่วยประสานให้ชาวชนบท ยังมีจิตใจร่วมอยู่ในสังคมไทยและความเป็นชาติไทย
พระภิกษุสามเณรชาวชนบท อยู่ในกรุงในเมืองอย่างมีเกียรติ ได้รับความเคารพนับถือ พาให้ญาติและชาวท้องถิ่นของตน เข้ามาสู่เมืองอย่างมีเกียรติได้ด้วย และพระเณรเหล่านี้ช่วยเชื่อมประสาน ให้ชาวเมืองชาวกรุงกับชาวชนบทรู้จักคุ้นเคยมีไมตรีกัน ช่วยนำชาวกรุงชาวเมืองไปเยี่ยมเยียนและเผื่อแผ่รายได้ออกสู่ชนบท ทำให้เมืองกับชนบทของไทยสนิทสนมไม่ห่างไกลกัน ปัญหามีเพียงว่า ทำอย่างไรจะช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้การกระจายรายได้สู่ชนบทโดยช่องทางนี้ เป็นไปในทางสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
วัดยังคงเป็นแหล่งสังคมสงเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสังคมไทย ซึ่งการสงเคราะห์ดำเนินไปในชีวิตจริง อย่างไม่เป็นการเป็นงาน ไม่ต้องมีการลงทุน โดยเฉพาะไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ เพราะทุนมาจากประชาชนเอง ตามที่เขาพอใจ ถ้ายกภาระนี้มอบให้แก่รัฐในปัจจุบัน คงจะเป็นการเกินกำลัง ที่รัฐพร้อมทั้งองค์การสังคมสงเคราะห์ใดๆ จะรับมือได้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อช่วยให้กิจการสังคมสงเคราะห์แบบนี้ได้ผลดียิ่งขึ้น ไม่ให้เขวและเกิดความสูญเปล่า
นอกจากพระภิกษุสามเณรชาวชนบทประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ รูป20 (ตัดตัวเลขพระนวกะผู้บวชเฉพาะในพรรษาออกแล้ว) ยังมีเด็กนักเรียนคฤหัสถ์เป็นศิษย์วัดอีกเกือบ ๑ แสนคน ศิษย์วัดเหล่านี้ล้วนเป็นนิสิตนักศึกษาและนักเรียนชาวชนบทที่มาในเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ เด็กชาวชนบทที่มีน้อยอยู่แล้วในระบบของรัฐ (เช่นประมาณร้อยละ ๖ ในมหาวิทยาลัย) ถ้าไม่มีวัดเป็นที่อาศัย จะต้องลดน้อยลงไปอีกเท่าใด
ที่กล่าวมานี้ เป็นคุณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง ความจริงคุณประโยชน์ด้านอื่นๆ ยังมีอีกมาก เช่น ในขณะที่เมืองขยายออกไปอย่างไม่มีระเบียบ ผังเมืองไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง วัดเป็นเครื่องกำกับช่วยให้เมืองยังมีที่โล่ง สำหรับหายใจและใช้กิจสาธารณะต่างๆ ได้ ดังนี้เป็นต้น
วัดยังคงมีคุณค่าอันอนันต์แก่สังคมไทย แต่คุณประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างซึมๆ ซ่อนๆ และเฉื่อยชา จึงไม่ใคร่มีใครมองเห็น รัฐและหน่วยงานหรือบุคคลผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคมไทย น่าจะได้ใส่ใจศึกษาสืบค้นให้เข้าใจ และพยายามใช้ประโยชน์ให้บริบูรณ์ แทนที่จะสร้างสถาบันใหม่ๆ ที่ซับซ้อน ซึ่งมักก่อปัญหาใหม่ๆ ที่สับสน น่าจะหันมาพยายามปรับปรุงสถาบันที่มีอยู่แล้วและยังต้องมีอยู่นี้ ให้บังเกิดประโยชน์เต็มตามคุณค่าที่มันควรจะมี
ข. ในแง่ที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ เมื่อวัดวางมือจากการศึกษาที่เคยทำร่วมกับรัฐ โดยปล่อยให้รัฐจัดทำไปเองฝ่ายเดียว และหันเข้ามาจำกัดตัวอยู่ในวัด มุ่งจัดเฉพาะการศึกษาพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร เพื่อสนองความต้องการทางศาสนาอย่างเดียวแล้ว การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบนักธรรมและเปรียญ ได้เจริญเฟื่องฟูอยู่อีก ๒-๓ ทศวรรษ ระหว่างประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๙๐ จากนั้นก็อยู่ในสภาพทรงตัวต่อมาอีกระยะหนึ่ง ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมระดับต่างๆ ในช่วงนี้ ที่คงอยู่ในสมณเพศก็ได้เป็นผู้บริหารการคณะสงฆ์ เป็นเจ้าอาวาสพระอารามต่างๆ เป็นเจ้าคณะจังหวัดและพระสังฆาธิการระดับต่างๆ ที่ลาเพศออกไปแม้จะเป็นเปรียญชั้นต้นๆ ก็มีทางก้าวหน้า ได้ไปเป็นผู้พิพากษา ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น มีจำนวนพอสมควร แต่ภายหลังระยะทรงตัวแล้ว การศึกษาพระปริยัติธรรมก็เหี่ยวแห้งซูบเฉาลงโดยลำดับ อัตราส่วนนักเรียนพระปริยัติธรรมลดน้อยลง ทั้งที่จำนวนพระภิกษุสามเณรเพิ่มมากขึ้น ผู้สอบได้เป็นนักธรรมเปรียญ เมื่ออยู่ในวัด แม้จะยังมีความหมายอยู่ แต่ความหมายนั้นก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนผู้ที่ลาเพศออกไปถ้าไม่ได้เปรียญชั้นสูงสุด ก็มีแนวโน้มที่จะไปเป็นบุรุษไปรษณีย์มากยิ่งขึ้น (ปัจจุบันไปรษณีย์ก็ไม่รับเสียแล้ว)
อนึ่ง พึงสังเกตด้วยว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบนักธรรมเปรียญนั้น แม้ในระยะที่เจริญเฟื่องฟู ก็มิใช่เป็นความเจริญชนิดที่ช่วยเตรียมหนทางให้แก่อนาคต ดังนั้น เมื่อถึงคราวเสื่อมลง จึงซบเซาหดตัวหายดับมืดไปเฉยๆ ไม่มีช่องที่จะมองเห็นแสงกระตุ้นให้พลิกฟื้นตื่นขึ้นได้ใหม่ สภาพเช่นนี้ อาจต้องอาศัยเครื่องบีบคั้นหรือแรงอัดเครียดมาช่วยเร่งเร้ากดดัน ให้ต้องมีการปรับปรุงตัวเอง
ในขณะที่พลเมืองเพิ่มขึ้น จำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ ก็เพิ่มขึ้นตามอย่างรวดเร็วเหนือกว่าอัตราส่วน เช่น ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ ประเทศไทยมีประชากร ๓๓ ล้านคนเศษ นิสิตนักศึกษาและนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไป มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๔๗๗, ๒๕๙ คน ต่อมาอีก ๘ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ประเทศไทยมีประชากร ๔๔ ล้านคน นิสิตนักศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาขึ้นไป ได้เพิ่มมากขึ้นเป็น ๑,๕๗๔,๐๕๓ คน
ส่วนในระบบของวัดหรือคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ มีพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ รูป พระภิกษุสามเณรเรียนนักธรรมเปรียญมีทั้งหมดประมาณ ๒๓๐,๐๐๐ รูป แต่ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ขณะที่จำนวนภิกษุสามเณรทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น ๓๒๙,๕๐๐ รูป จำนวนพระภิกษุสามเณรเรียนนักธรรมเปรียญกลับลดลงเหลือเพียง ๑๗๖,๘๔๒ รูป
ตัวอย่างอีกด้านหนึ่งที่น่าเปรียบเทียบคือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี (เปรียญ) กับการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณร
พระปริยัติธรรมแผนกบาลี (เปรียญ) เป็นการศึกษาระดับสูงสุด ที่คณะสงฆ์ยอมรับโดยสมบูรณ์ว่าเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งคณะสงฆ์เป็นเจ้าของเรื่องจัดดำเนินการ (แม้ว่าคณะสงฆ์จะถือว่า ท่านรับผิดชอบเฉพาะการจัดวางหลักสูตรและจัดสอบ ไม่มีหน้าที่จัดสอนหรือให้มีการศึกษา) แต่ปรากฏว่า พระภิกษุสามเณร มีความสนใจในการศึกษาสายนี้ลดลงทุกปีโดยลำดับ พระภิกษุสามเณรจำนวนมากถึงกับรู้สึกว่า เป็นการศึกษาที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับตน แม้ทางสำนักใหญ่หลายแห่ง จะพยายามส่งเสริมหรือถึงกับบังคับให้เรียน ก็เรียนกันอย่างฝืนทำ จำใจด้วยความเบื่อหน่าย ดังจะเห็นได้จากสถิติผู้เข้าสอบบาลี พ.ศ. ๒๕๑๕ มีจำนวน ๑๑,๙๒๗ รูป พ.ศ. ๒๕๑๗ เพิ่มเล็กน้อยเป็น ๑๒,๙๘๖ รูป ต่อแต่นั้นก็ลดลงเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ เหลือเพียง ๙,๙๘๙ รูป ทั้งที่จำนวนพระภิกษุสามเณรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วง ๗-๘ ปีนี้ นับเป็นการสวนทางกันอย่างยิ่ง
ในทางตรงกันข้าม การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณร ซึ่งหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดดำเนินงาน แต่เป็นการศึกษาที่ไม่พึงปรารถนาและเป็นปัญหาหนักใจสำหรับคณะสงฆ์ เพราะเรียนแต่วิชาทางโลกล้วนๆ ไม่มีวิชาทางธรรมวินัยเลย กลับเป็นการศึกษาที่ภิกษุสามเณรจำนวนมากมายนิยมชมชอบ จะเห็นได้จากจำนวนภิกษุสามเณรที่เข้าเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เห็นชัดเจน จะนำตัวเลขผู้เข้าสอบบาลีกับนักเรียนศึกษาผู้ใหญ่ที่เป็นภิกษุสามเณร มาแสดงเทียบกันดูเป็นตัวอย่างดังนี้
๒๕๑๕ | ๒๕๑๗ | ๒๕๒๓ | |
ภิกษุสามเณรเข้าสอบเปรียญ | ๑๑,๙๒๗ | ๑๒,๙๘๖ | ๙,๙๘๙ |
ภิกษุสามเณรศึกษาผู้ใหญ่ | ๑๒,๐๒๓ | ๒๕,๔๔๘ | (๕๐,๐๐๐)21 |
จำนวนสถานศึกษาก็เดินสวนทางกันเช่นกัน สำนักเรียนบาลีมีจำนวนลดลงอย่างมาก (ถ้าสถิติกรมการศาสนาไม่ผิด) เช่น พ.ศ. ๒๕๒๐ มีจำนวน ๑,๕๖๐ สำนัก แต่ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ลดลงเหลือเพียง ๗๑๓ สำนัก ส่วนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณร พ.ศ. ๒๕๑๕ มี ๑๐๒ โรงเรียน ต่อมาอีกเพียง ๒ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ ตัวเลขเพิ่มเป็น ๒๑๔ โรงเรียน (ตัวเลขหลังจากนี้ยังไม่มีเวลาสืบถามอย่างจริงจัง)
ถ้าดูตัวเลขเข้าสอบขาดสอบ ของปริยัติธรรมแผนกบาลี (ประโยค ๑-๒ ถึงเปรียญ ๙) แม้จะมองดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพระสงฆ์ แต่จะเป็นเรื่องน่าตกใจหรือประหลาดใจมากสำหรับชาวบ้าน เพราะจำนวนนักเรียนที่ส่งเข้าสอบ กับจำนวนผู้เข้าสอบจริง และจำนวนผู้สอบได้ ห่างไกลกันมาก ขอให้ดูตัวอย่างสัก ๒ ปี (ตัวเลขฝ่ายศึกษาผู้ใหญ่ไม่ต้องแสดง เพราะเรียนจำนวนเท่าใด ก็เข้าสอบจำนวนเท่านั้น ขาดคงไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์)
ส่งเข้าสอบ | ขาดสอบ | คงสอบจริง | สอบได้ | |
พ.ศ. ๒๕๑๘ | ๑๑,๙๒๖ | ๓,๘๐๗ | ๘,๑๑๙ | ๒,๕๖๙ |
พ.ศ. ๒๕๒๓ | ๘,๙๕๑ | -- | -- | ๑,๙๕๔ |
ถ้าแยกให้ดูตัวเลขของแต่ละชั้น จะเห็นว่าชั้นสูงขึ้นไป การขาดสอบและสอบได้ยิ่งลดลงมาก ขอให้ดูตัวเลขบางชั้นของ พ.ศ. ๒๕๑๘
ส่งเข้าสอบ | ขาดสอบ | คงสอบจริง | สอบได้ | |
ป.ธ. ๓-๙ | ๕,๖๙๑ | ๒,๐๑๕ | ๓,๖๗๕ | ๑,๔๖๒ |
ป.ธ. ๖ | ๘๔๒ | ๓๕๓ | ๔๘๙ | ๑๒๔ |
ปธ. ๗ | ๒๘๔ | ๑๑๑ | ๑๗๓ | ๑๖ |
การที่ภิกษุสามเณรไม่นิยมศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีนี้ ทางคณะสงฆ์และพระสงฆ์ผู้บริหารการศึกษา ตลอดจนพระผู้ใหญ่จำนวนมาก แทนที่จะแยกแยะสืบสาวหาเหตุปัจจัยรายละเอียด ก็มักกล่าวโทษอยู่แต่ว่าเป็นเพราะพระเณรสมัยนี้ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ศึกษาพระธรรมวินัย การพูดจาอย่างนี้ น่าจะไม่ใช่ท่าทีที่ถูกต้อง และน่าจะไม่ใช่เป็นวิถีทางของการแก้ปัญหา ความจริงการฝึกให้พระเณรสนใจศึกษาธรรมวินัย ก็เป็นความรับผิดชอบสำคัญอย่างหนึ่งของพระผู้ใหญ่ เด็กจากทุ่งนาป่าเขาเข้ามาอยู่ในวัด จะให้เขาสนใจพระปริยัติธรรมขึ้นมาเองได้อย่างไร ควรจะศึกษาเหตุปัจจัยองค์ประกอบต่างๆ ในเรื่องนี้ให้ชัดเจน แล้วแก้ไขปรับปรุงให้ถูกจุด
มองอีกแง่หนึ่ง ในขณะที่การศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์กำลังเหี่่ยวเฉาซบโทรมอยู่อย่างนี้ การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณร แม้จะมีโทษ มีข้อที่ไม่พึงปรารถนามากมายหลายอย่าง แต่ก็ยังเป็นทางออกที่ช่วยภิกษุสามเณรได้มิใช่น้อย และมีความเกื้อกูลแก่การแก้ปัญหาของสังคมไทยในด้านหนึ่ง (พร้อมกับที่เสริมสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่ง)
เรื่องปัญหาการศึกษาของพระสงฆ์นี้ หากจะพูดให้ครบทุกแง่ทุกด้านก็ยืดยาวนักยากที่จะจบ ขอพูดไว้อีกแต่เพียงข้อคิดข้อสังเกตบางอย่าง ดังนี้
ทั้งที่คณะสงฆ์วางมือจากงานด้านการศึกษาที่ร่วมกับรัฐ หันมาจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมในวัดสำหรับภิกษุสามเณร และเพื่อจุดหมายทางศาสนาอย่างเดียวแล้ว แต่การศึกษาของวัดกลับซูบผอมเหี่่ยวเฉาลง สภาพนี้มิใช่จะปรากฏชัดทางด้านตัวเลขสถิติที่แสดงตัวอย่างไปแล้วเท่านั้น แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดและท่าที ไม่ว่าของพระสงฆ์เองก็ตาม ของประชาชนหรือของคฤหัสถ์ชาวบ้านก็ตาม ล้วนแสดงให้เห็นสภาพเหี่ยวเฉานี้ทั้งสิ้น
ในด้านราชการและประชาชน ไม่ต้องสืบย้อนไปถึงสมัยสุโขทัยหรือสมัยอยุธยา ที่พระมหากษัตริย์บางทีถึงกับเสด็จออกทรงบอกหนังสือแก่ภิกษุสามเณรด้วยพระองค์เอง มองแค่รัชกาลที่ ๑ ก็เห็นภาพได้ชัด ดังความว่า
"การบอกพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณร จึงแพร่หลายไปในที่อื่นๆ...ตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่ก็ทำทำนองเดียวกัน ชั้นผู้น้อยลงมา บางทีมีศรัทธา ก็จ้างอาจารย์ไปบอกพระปริยัติธรรมที่ตามวัด ถือว่าเป็นการกุศลอย่างสำคัญอันหนึ่ง"22
ปัจจุบัน อย่าว่าแต่จะถือเป็นการกุศลอย่างสำคัญเลย แม้เพียงจะนึกถึงการบำรุงพระเณรให้เล่าเรียนหนังสือ ว่าเป็นการบุญการกุศลสามัญอย่างหนึ่ง ก็หาคนคิดถึงใส่ใจได้ยาก มีแต่จะมองเห็นบุญกุศลอยู่ที่การก่อสร้างโบสถ์วิหาร ศาลา เมรุ หล่อพระพุทธรูป และพิธีกรรมต่างๆ ที่มีการเลี้ยงกันสนุกสนานเท่านั้น
การที่ประชาชนเป็นเช่นนี้ เหตุอย่างหนึ่งย่อมมาจากความรู้สึกนึกคิด และท่าทีของพระสงฆ์ผู้ใหญ่นั่นเองเป็นสำคัญ ขอให้ย้อนไปมองเทียบกับความรู้สึกนึกคิดและสภาพการศึกษาในรัชกาลที่ ๕
"ถ้าไม่มีเปรียญในวัดใด ย่อมเป็นการเสียเกียรติยศสงฆ์วัดนั้น เพราะเหมือนไม่สนองพระราชศรัทธา จึงต้องขวนขวายที่จะให้ได้เปรียญ"23
ในสมัยปัจจุบัน ความรู้สึกหรือท่าทีอย่างนี้คงจะจืดจางลงไปมาก มักเป็นแต่ว่า ถ้าวัดใดไม่ได้สร้างโบสถ์ใหญ่ ศาลาใหญ่ เมรุงาม ก็ดูจะน้อยหน้าไป จึงต้องขวนขวายที่จะสร้างขึ้นให้ได้ แม้พระผู้ใหญ่ไปเยี่ยมเยียนวัดเล็กวัดน้อยในท้องถิ่น ก็มักไถ่ถาม และแสดงความชื่นชมแต่เฉพาะงานก่อสร้างของวัด ที่จะซักไซ้ในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนของภิกษุสามเณร ดูจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ส่วนที่จะคิดช่วยส่งเสริมยิ่งหาแทบจะไม่ได้เอาเสียทีเดียว
- ทุกวันนี้ พระผู้ใหญ่มักบ่นว่า พระเณรปกครองยาก หรือพระเณรประพฤติเสียหายมีมาก จะไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อเราได้ช่วยกันสร้างเหตุให้มันเป็นเช่นนั้น
หันกลับไปมองในอดีต พระเณรเคารพเชื่อฟังอุปัชฌาย์อาจารย์อย่างยิ่ง แม้จะละเพศไปทำมาหากินที่ไหน ก็ไม่ลืมวัด ไม่ลืมครูอาจารย์ เพราะอุปัชฌาย์อาจารย์นอกจากอนุเคราะห์ด้วยบริขารปัจจัย ๔ แล้ว ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือ ท่านเอาใจใส่ฝึกหัดอบรมให้การศึกษา ซึ่งศิษย์ไม่ว่าจะคงอยู่ในสมณเพศก็ดี ลาเพศไปก็ดี ได้นำไปใช้ดำเนินชีวิตทำกิจจนประสบความเจริญรุ่งเรือง ศิษย์ทั้งหลายมีความสำนึกซาบซึ้งคุณอยู่เสมอว่า ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตของเขานั้น อุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้มอบให้ หรือเรียกได้ว่า ท่านเป็นผู้ให้ชีวิตแก่เขา ความซาบซึ้งรำลึกคุณและความผูกพันทางจิตใจจึงสนิทแน่นแฟ้น ศิษย์มอบถวายจิตใจแก่อุปัชฌาย์อาจารย์ด้วยความเคารพบูชา
แต่หันมามองดูสภาพปัจจุบัน กลายเป็นตรงกันข้าม ภิกษุสามเณรจำนวนมากหรือส่วนมากมีความรู้สึกว่า อาจารย์และเจ้าอาวาสคอยขู่เข็ญบีบบังคับ ให้ตนเล่าเรียนสิ่งที่ไม่ปรารถนาและไม่เห็นประโยชน์ ซึ่งจะไม่ช่วยให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ส่วนการศึกษาแบบที่ภิกษุสามเณรต้องการ ซึ่งมองเห็นว่าเป็นประโยชน์ จะช่วยให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า อาจารย์และเจ้าอาวาสกลับคอยกีดกั้นขัดขวางไม่ให้เล่าเรียน อาจารย์และเจ้าอาวาสนอกจากเป็นผู้กดขี่บีบบังคับแล้ว ยังเป็นเพียงผู้ทำลายประโยชน์และขัดขวางความเจริญ สิ่งที่เขาได้รับที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขา เขาไม่ได้รับจากอุปัชฌาย์อาจารย์เลย แต่ได้รับด้วยการหลบหนีอุปัชฌาย์อาจารย์ไปเสี่ยงภัยแสวงหาด้วยตนเอง ความรู้สึกของภิกษุสามเณรเหล่านี้ เป็นการมองภาพอาจารย์และเจ้าอาวาสเสมือนเป็นศัตรู เต็มไปด้วยความขัดแย้งในจิตใจ เวลาเดียวกันพระผู้ใหญ่ก็จะมองภิกษุสามเณรเหล่านี้ด้วยความรู้สึกหวาดระแวง จึงเป็นเหมือนว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นศัตรูกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ความเคารพเชื่อฟังด้วยใจจริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งยึดเหนี่ยวผูกพันจิตใจกันและกันก็ไม่มี จากนี้ปัญหาทางการปกครองก็เกิดขึ้น เมื่อปกครองกันไม่ได้ ความเสื่อมเสียทั้งหลายก็ย่อมประดังเกิดตามมา ข้อนี้ย่อมเป็นไปตามธรรมดา
ในวัดหรือระบบสงฆ์นั้น อำนาจอาญาไม่มีและไม่อาจใช้ให้ได้ผลแท้จริง การศึกษานี่แหละเป็นฐานของการปกครองตลอดมา ดังนั้นทางแก้ไขมีอย่างเดียวคือ จะต้องปรับปรุงให้มีการศึกษาชนิดที่จะทำให้อุปัชฌาย์อาจารย์ เจ้าอาวาส กลับคืนสู่ภาวะของความเป็นผู้ให้ คือให้การศึกษา ให้ความเจริญงอกงามในชีวิตของพระภิกษุสามเณร ให้การศึกษาที่เป็นประโยชน์สนองความต้องการทั้งของชีวิตบุคคล ของพระศาสนา และของสังคมส่วนรวม ถ้าทำได้อย่างนี้ ปัญหาการปกครองจะหมดไปเอง ไม่ต้องมาสิ้นเปลืองทุน แรง เวลาและกำลังปัญญาให้มากกับการหาทางกำราบปราบปราม แต่ถ้าไม่แก้ที่จุดนี้จะไม่มีทางสำเร็จ ปัญหาด้านการปกครองจะยิ่งร้ายแรงหนักขึ้น ไม่ว่าจะสร้างระเบียบและวิธีกำราบปราบปรามมากขึ้นเท่าใด เพราะการทำอย่างนั้นก็เป็นเพียงระบบศัตรูอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นศัตรูหรือคู่ปรปักษ์แบบไม่เปิดเผย และระบบการวางตัวเป็นศัตรู ย่อมเข้ากันไม่ได้กับระบบอุปัชฌาย์อาจารย์ตามพระธรรมวินัย
- เมื่อวัดกลายเป็นทางผ่าน สำหรับเด็กลูกคนยากจนชาวชนบทเข้ามาบวชรับการศึกษา และไม่มีใครเอาใจใส่รับผิดชอบ การศึกษาเช่นนี้ เด็กเหล่านั้น เมื่อได้บวชได้เรียนแล้ว ก็จะสึกไปแทบทั้งหมด ที่คงเหลืออยู่จะน้อยไม่ได้อัตราส่วนกัน ฝ่ายพระสงฆ์รุ่นเก่าซึ่งเป็นผู้สอนหรือให้บริการการศึกษา ก็ค่อยๆ ร่อยหรอ หมดไปๆ ตามเวลา ในที่สุด เมื่อไม่มีผู้สอน ไม่มีการเล่าเรียน แม้แต่ชาวไร่ชาวนายากจน ก็จะไม่ส่งลูกเข้าวัดบวชเณร สำหรับวัดในเมื่อยังไม่มีระบบวิธีอื่นขึ้นมาแทน สำหรับสร้างบุคลากรเอาไว้ใช้ สภาพเช่นนี้ก็จะหมายถึงความเสื่อมโทรมของวัด เพราะวัดขาดพระเณรอยู่ทำหน้าที่ สำหรับพระศาสนาก็หมายถึงการขาดศาสนทายาท สำหรับรัฐก็หมายถึงการเพิ่มความเข้มข้นแก่ปัญหาสังคม ส่วนสำหรับชาวบ้าน ก็หมายถึงความสิ้นหวังยิ่งขึ้นไปอีก และสภาพที่ว่านี้ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วในบางถิ่น
เมื่อบทบาทของวัดในการให้การศึกษาเสื่อมถอย และคนบวชเพื่อการศึกษาลดน้อยลง แต่วัดก็ยังคงมีอยู่ และจำเป็นต้องมีพระเณรอยู่รักษาวัดสนองความต้องการของชุมชน การหาพระดีมาอยู่ประจำวัดจะยากขึ้นโดยลำดับ สภาพเช่นนี้จะเปิดช่องให้แก่คนที่เข้ามาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่เลี้ยงชีพ วัดจะมีแต่คนประเภทหมดทางไปบ้าง คนไร้คุณภาพ เสื่อมสมรรถภาพบ้าง ทำให้วัดและพระศาสนาเสื่อมทรุดยิ่งขึ้นไปทุกที ถ้าไปสังเกตดูตามชนบทในปัจจุบัน (และแม้แต่ในกรุงเทพฯ นี่เอง) ก็จะมองเห็นว่าสภาพเช่นนี้กำลังแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ
- จำนวนวัด จำนวนพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย ที่มากมายอย่างยิ่ง สิ่งก่อสร้างทางพระศาสนาที่ใหญ่โตโอ่อ่า และพิธีกรรมที่เฟื่องฟูหรูหรา ทำให้คนต่างชาติจำนวนมาก (รวมทั้งคนไทยเองไม่น้อย) เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในประเทศไทย ประเทศไทยคงจะเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในโลก ความเข้าใจอย่างนี้ เมื่อมองในแง่ของนักศึกษา นักการศึกษา และนักปฏิบัติ ก็จะเน้นในแง่ว่า ประเทศไทยคงเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ ในระยะที่เริ่มมีการติดต่อทางด้านพระศาสนาระหว่างประเทศในยุคใหม่ เมื่อสัก ๑๕-๒๐ ปีมานี้ จึงมีผู้มุ่งจะมาศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศไทยกันเป็นจำนวนมาก บางประเทศถึงกับจัดส่งอย่างเป็นงานเป็นการ ให้ผู้สำเร็จศาสนศึกษาในประเทศของตนแล้ว มาศึกษาต่อในประเทศไทยเป็นกลุ่มเป็นคณะ แต่เพียงในคราวแรกที่ส่งมานั้นเอง ไม่นานเลยเขาก็ได้รู้ตระหนักว่า ประเทศไทยมิใช่แหล่งที่จะมาศึกษาต่อ หรือเล่าเรียนอย่างเอาจริงเอาจังในทางพุทธศาสนา แต่ควรเป็นที่มาศึกษาเฉพาะอย่าง เช่น มาเรียนภาษาไทย หรือเรียนบางแง่เกี่ยวกับภาษาบาลี หรือมาดำเนินงานวิจัยบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ชนิดที่การศึกษาเป็นเรื่องที่เขาจัดเตรียมเอาเอง เมืองไทยเป็นเพียงแหล่งที่เขาจะเก็บข้อมูลเอาเท่านั้น นับแต่นั้นมาการเดินทางของพระสงฆ์และคฤหัสถ์ชาวต่างชาติ ที่จะมาศึกษาในประเทศไทย ก็ซบเซาหรือเลิกราไป เหลือแต่ผู้เดินทางรายย่อยที่มาศึกษาเฉพาะด้าน เพื่อทำงานวิจัยอย่างที่กล่าวมาแล้ว
แม้ในประเทศไทยเองเวลานี้ สถาบันอุดมศึกษาของฝ่ายบ้านเมือง ก็ได้จัดให้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี ในระดับที่ถือกันหรือเป็นที่ยอมรับโดยทางการ ว่าสูงกว่าของคณะสงฆ์ สถาบันเหล่านี้ ไม่มองเห็นความสำคัญของการศึกษาทางฝ่ายคณะสงฆ์ ว่าเป็นสิ่งที่จะพึงเอาใจใส่หรือพึ่งพาอาศัยแต่ประการใดเลย ยิ่งกว่านั้น ชาวไทยที่ต้องการศึกษาในขั้นสูงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือแม้แต่ภาษาบาลี ก็ต้องไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ถ้าเป็นพระสงฆ์จบเปรียญ ๙ หรือจบมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่รัฐไม่รับรองแล้ว ก็ไปต่อในประเทศอินเดีย ถ้าเป็นคฤหัสถ์ที่จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว ก็ไปศึกษาต่อวิชาภาษาบาลี และพระพุทธศาสนาได้ถึงสหรัฐอเมริกา ในขณะที่คนไทยต้องไปศึกษาพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ประเทศไทยเองก็เป็นเพียงแหล่งสำหรับชาวต่างประเทศ มาเก็บข้อมูลไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
มีข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ควรเถียง แต่ควรพิสูจน์ คือ ปัจจุบันนี้ แม้แต่นักบวชต่างศาสนาในประเทศไทย ก็มีหลักสูตรให้ได้รับการศึกษาอบรม เรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย กว้างขวางยิ่งกว่าพระภิกษุสามเณรทั่วๆ ไปของคณะสงฆ์ไทย จนสามารถนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ไปอธิบายใหม่ตามแนวคำสอนในศาสนาเขา หรือใช้เป็นส่วนประกอบอธิบายเชิดชูคำสอนในศาสนาของเขาได้ ถึงขนาดที่คณะสงฆ์ไทยและพระภิกษุสามเณรทั่วไป อาจจะหรือแทบจะแก้ไขสถานการณ์ไม่ทันทีเดียว
ในช่วงเวลาที่กล่าวมานี้ กิจการพระศาสนาที่ได้ช่วยเชิดชูฐานะของพระสงฆ์ไทย และทำประโยชน์แก่พระศาสนาแทนพระสงฆ์ไทยได้ไม่น้อย ก็คือสำนักปฏิบัติฝึกสมาธิ สำนักวิปัสสนา หรือวัดกรรมฐานต่างๆ ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด ซึ่งได้ช่วยให้ชาวต่างประเทศยังมองเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และของพระสงฆ์ไทยมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม จะมัวเน้นหรือภูมิใจอยู่กับความเฟื่องฟูด้านสมาธิภาวนาอย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอ ปฏิบัติจะต้องมีปริยัติที่มั่นคงเป็นฐานรองรับด้วย มิฉะนั้น ไม่นานเท่าใดการปฏิบัติจะเริ่มเขวและเลือนกลาย และความแบ่งแยกแตกต่างจะเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอสิ้นอาจารย์เจ้าสำนักปฏิบัติ ศิษย์ไกลถิ่นไกลเวลาก็จะถือต่างกันไป จนหาของจริงของแท้ได้ยาก จะเป็นเหมือนพวกนิครนถ์ที่พอเจ้าลัทธิสิ้นชีพ ก็แตกแยกวิวาทกล่าวแย้งกัน พระพุทธเจ้าทรงเห็นความสำคัญของปริยัติ จึงทรงแนะนำให้พระสาวกทำสังคายนารักษาหลักไว้ ปริยัติเจริญอยู่จึงจะเป็นหลักให้รวมกันเป็นหนึ่งได้ ไม่เฉพาะแต่เป็นหนึ่งกับอาจารย์เจ้าสำนักเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งกับพระพุทธเจ้าและพระเถระปางก่อนด้วย ดังนั้นจึงจะต้องส่งเสริมทั้งการศึกษาและการปฏิบัติ หรือปริยัติกับปฏิบัติให้เจริญควบคู่กันไป24
- ในวัดทั้งหลายนั้น มิใช่มีเฉพาะพระภิกษุสามเณร ที่บวชเรียนอยู่ค่อนข้างนานอย่างที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีสมาชิกชั่วคราวที่สำคัญของวัดอีก ๒ กลุ่ม คือ พระภิกษุที่อุปสมบทชั่วคราว ตามประเพณีบวช ๓ เดือน ซึ่งเดิมนิยมบวชในระยะเข้าพรรษา แต่ปัจจุบันมีจำนวนมากที่บวชระยะสั้นเข้า เหลือเพียง ๑-๒ เดือน ตลอดจน ๗-๑๕ วัน และบวชกันทั่วทุกระยะเวลา ไม่จำเพาะช่วงเข้าพรรษา เรียกกันง่ายๆ ว่า พระนวกะ สมาชิกวัดกลุ่มนี้ นับเฉพาะที่บวชเต็ม ๓ เดือนในพรรษา มีจำนวนปีละประมาณ ๖๐,๐๐๐-๗๐,๐๐๐ รูป อีกกลุ่มหนึ่งคือศิษย์วัด ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่ไปอยู่วัด ระหว่างศึกษาเล่าเรียนเป็นนิสิตนักศึกษาและนักเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ มีจำนวนประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน
มีเสียงกล่าวหาที่น่ารับฟังมากว่า ตั้งแต่ยุคการศึกษาของวัดระส่ำระสายเป็นต้นมานี้ ไม่เฉพาะแต่พระเณรประเภทค่อนข้างประจำที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น แม้แต่พระนวกะและศิษย์วัดโดยทั่วไป ก็ไม่ได้รับความเอาใจใส่ให้การศึกษาอบรมจากวัดเท่าที่ควร หรือไม่ได้รับความเอาใจใส่ให้การศึกษาอบรมใดๆ เลย พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ได้รับบริการที่ควรได้รับจากวัด ผ่านเข้ามาแล้ว ก็ผ่านออกไปเปล่าเสียมาก บางทีตอนจะผ่านเข้ายังหันมาหา แต่พอผ่านออกได้ก็หันหลังให้ตลอดไปทีเดียว ตามปกติวัดมีหน้าที่สั่งสอนให้การศึกษาแก่ประชาชนอยู่แล้ว แต่นี่ขนาดประชาชน พวกที่เขาเอาเข้ามาไว้ให้แล้วถึงที่ของตัวในวัด เปิดโอกาสให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ก็ยังไม่ใส่ใจหรือไม่สามารถจะทำหน้าที่ให้ได้ผล แล้วจะไปสั่งสอนประชาชนทั่วไปนอกวัด หรือจะเผยแพร่พระศาสนาให้สำเร็จผลดีได้อย่างไร
เรื่องนี้มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง คือบางวัดหรือบางสำนักมีเกียรติคุณว่า ได้เอาใจใส่ให้การศึกษาอบรมอย่างดีแก่พระนวกะและศิษย์วัด วัดหรือสำนักเหล่านี้มักจะเป็นวัดหลวงใหญ่ๆ ที่มีกำลังพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก และได้จัดการศึกษาอบรมเช่นนั้นอย่างเป็นระบบ โดยทำสืบต่อกันมาเป็นประเพณีของวัดนั้นๆ ข้อคำนึงประการแรกคือ เมื่อมองเทียบสมัย ประเพณีของวัดนั้นๆ กำลังเจริญขึ้น ทรงอยู่ตัว หรือเสื่อมลง ประการที่ ๒ การภูมิใจหรือมุ่งเสริมสร้างเกียรติคุณเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ดีในแง่หนึ่งระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่ที่มองถึงความรับผิดชอบของวัดแต่ละวัดว่า ตนจะต้องจัดการศึกษาอบรมเช่นนั้นให้ดีที่สุด แต่ถ้ามองกว้างในแง่คณะสงฆ์ส่วนรวม ความรู้สึกเช่นนี้อาจกลายเป็นท่าทีที่ผิด คือกลายเป็นความรู้สึกที่คับแคบเอาแต่วัดแต่หมู่ของตน และกลายเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อความเจริญของพระศาสนา หรืออาจถึงกับกลายเป็นสาเหตุสำคัญแห่งความเสื่อมโทรมของพระสงฆ์ส่วนรวม เพราะผู้ที่มีท่าทีที่ผิดในเรื่องนี้ อาจไปไกลถึงกับไม่พอใจให้วัดหรือสำนักอื่นๆ มีคุณค่าความดีมาแข่งตน หรือพอใจที่จะเห็นวัดหรือพระสงฆ์ทั่วๆ ไปอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เพื่อวัดหรือหมู่ของตนจะได้สามารถทรงสภาพดีเด่น โดยเฉพาะถ้าผู้มีท่าทีนี้เป็นผู้บริหารการคณะสงฆ์ด้วย ก็ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้น ถ้าจะมองในแง่คณะสงฆ์ส่วนรวม หรือในแง่ของผู้บริหารการคณะสงฆ์ จะต้องมองอีกอย่างหนึ่งว่า สภาพการศึกษาอบรมพระนวกะและศิษย์วัดในวัดทั่วๆ ไปเป็นอย่างไร และจะต้องวัดความสำเร็จและความล้มเหลวของการบริหารคณะสงฆ์ที่ความเสื่อมโทรม ซึ่งยังมีอยู่แค่ไหน เพียงไร ภายในวัดเล็กวัดน้อยทั้งหลาย แต่อย่างน้อยขณะนี้ก็จะต้องยอมรับความจริงว่า เราไม่มีหลักสูตร ระบบ หรือหลักการจัดการศึกษาอบรมสำหรับพระนวกะและศิษย์วัด ที่ได้จัดวางไว้โดยเฉพาะ และไม่มีแม้แต่การส่งเสริมให้มองเห็นความสำคัญของงานที่กล่าวมานี้
- ในช่วงทศวรรษที่กำลังจะผ่านไปนี้ การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของรัฐ ได้แพร่หลายออกไปในท้องถิ่นต่างๆ ของภาคกลางอย่างกว้างขวางทั่วไปยิ่งขึ้นเป็นอันมาก สภาพเช่นนี้ ได้ทำให้ในภาคกลางมีเด็กมาบวชเณรเรียนหนังสือลดน้อยลงตามลำดับ จนกล่าวได้ว่าถึงขั้นหาได้ยาก ปัจจุบันนี้วัดในภาคกลางจึงไม่ค่อยมีสามเณรอยู่ประจำ ถิ่นที่ยังมีเด็กบวชเณรเรียนหนังสือมากก็คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และถิ่นกันดารห่างไกลของภาคกลางและภาคใต้ ที่บริการการศึกษาของรัฐยังขยายไปไม่ถึง แม้แต่วัดใหญ่ๆ ในถิ่นเจริญของภาคกลางที่ยังมีสามเณรอยู่มาก เมื่อสอบถามดู จะปรากฏว่าสามเณรที่มีอยู่ในวัดนั้น เป็นผู้มาจากภาคเหนือบ้าง ภาคอีสานบ้าง ถิ่นกันดารห่างไกลของภาคกลางบ้าง หาใช่เป็นเด็กในถิ่นนั้นไม่
ในระยะอย่างน้อยศตวรรษที่ผ่านมานี้ พระภิกษุที่อยู่ประจำ ทำหน้าที่รักษาสืบต่อพระศาสนาแทบทั้งหมด เป็นผู้ที่ได้เข้ามาบวชรับการศึกษาอบรมตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่อมีเด็กมาบวชน้อยลง จึงมีผลกระทบกระเทือนเป็นปัญหาแก่การรักษาสืบต่อพระศาสนาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อไปนี้ การศึกษาของรัฐก็จะขยายออกไปในถิ่นที่ห่างไกลและขาดแคลนอย่างทั่วถึงมากขึ้นทุกที การขาดแคลนสามเณรบวชเรียนก็จะเป็นปัญหาหนักยิ่งขึ้นทุกที จึงเป็นเรื่องที่ผู้เห็นแก่พระศาสนาจะต้องคิดเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ เช่น เตรียมหาช่องทางใหม่มาใช้แทน ในการสร้างสรรค์บุคลากรของพระศาสนาในอนาคต
พร้อมกับที่จำนวนเด็กบวชเณรเรียนหนังสืออยู่ประจำวัดในภาคกลาง กำลังลดจะหมดไป ก็ได้เกิดความนิยมอย่างใหม่ที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น คือการบวชเณรหมู่ภาคฤดูร้อน (บางแห่งถึงกับมีบวชพระภาคฤดูร้อน) เสมือนนำเด็กที่ควรจะได้บวชเณรเรียนประจำอยู่ในวัดนั่นเอง แต่บวชไม่ได้เพราะย้ายไปอยู่ในระบบของรัฐแล้ว เอามาบวชชดเชยให้ชั่วระยะสั้นๆ สัก ๑ เดือนแทนการบวชแบบนี้ ไม่อาจใช้ประโยชน์แทนการบวชเณรอยู่ประจำวัดแบบเก่าได้ก็จริง แต่ก็มีประโยชน์ได้มากอีกด้านหนึ่ง จึงควรได้รับความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เท่าที่เป็นมา การบวชแบบนี้เป็นการริเริ่มของบางวัดบางสำนักหรือของพระสงฆ์เอกชน และได้มีความเอาใจใส่พยายามจัดอย่างจริงจัง จึงนับว่าได้ดำเนินไปในแนวทางที่ดีหรือมีความหวังมากพอสมควร น่าคำนึงว่าเรื่องนี้ควรจะได้มีการยกขึ้นสู่ความสนใจในระดับงานของคณะสงฆ์หรือไม่ และควรจะมีหลักการร่วมที่เป็นของกลางสำหรับส่วนรวม จะได้ยึดถือปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไร แต่บางทีอาจจะเป็นตัวอย่างที่บอกให้รู้ว่า งานพระศาสนาที่วัดหรือสำนักหรือพระสงฆ์เอกชนริเริ่มจัดทำ จึงจะเข้มแข็งและได้ผลดี ไม่ควรนำเข้าสู่ระบบของคณะสงฆ์
- มีข้อควรเห็นใจวัดหรือคณะสงฆ์เป็นอย่างมากอยู่ข้อหนึ่ง คือ ประเพณีไทยได้สร้างลักษณะพิเศษของการทำบทบาททางสังคมของวัดหรือพระสงฆ์ไว้ให้เป็นแบบคนเข้าวัด หรือแบบพระรอคนมาหา ไม่ใช่แบบพระออกไปหาคน เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและคนหนุ่มนั้น ประเพณีไทยให้เข้าวัดอย่างสมบูรณ์ โดยให้บวชรับการศึกษาอบรมในสภาพที่เป็นพระเป็นเณรทีเดียว ได้แก่ พระนวกะ สามเณร และพระภิกษุหนุ่มอีกมากมาย สมาชิกวัด ๓ ประเภทนี้ เป็นจำนวนส่วนใหญ่ของตัวเลขสถิติพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย และจะต้องถูกมองในฐานะเป็นประชาชนหรือชาวบ้านผู้เข้าไปรับบริการจากวัด ไม่ใช่มองในฐานะเป็นฝ่ายพระสงฆ์ที่จะให้บริการแก่สังคม เมื่อมองภาพถูกต้องอย่างนี้แล้วจะเห็นว่า ภายในวัดเองพระสงฆ์ที่จะให้บริการก็มีจำนวนน้อย แทบจะไม่พอสำหรับทำหน้าที่ต่อคนที่เข้าไปรับบริการถึงภายในวัดอยู่แล้ว จะมีกำลังที่ไหนพอที่จะออกมาให้บริการข้างนอกได้อีก ยิ่งถ้านับศิษย์วัดเข้าในจำนวนคนที่สังคมส่งเข้าไปรับบริการอีกด้วย จำนวนผู้รับบริการสังคมจากพระถึงในวัด ก็ล้นจำนวนผู้ให้บริการยิ่งขึ้นไปอีก
ปัจจุบันนี้ สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และพระสงฆ์ก็ไม่ได้รับการเตรียมตัวให้มีการศึกษาชนิดที่จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ และสามารถปรับตัวหรือคิดริเริ่มระบบวิธีใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ให้ได้ผลพอเหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไปนั้น สภาพเช่นนี้ ยิ่งทำให้คนมองพระสงฆ์ในแง่ร้ายมากขึ้นว่า พระสงฆ์ไม่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลทำประโยชน์แก่สังคม คนที่มองอย่างนี้ควรศึกษาเหตุผลให้เข้าใจแล้วจะเกิดความเห็นใจ และรู้จุดที่จะแก้ไข กล่าวคือ ประการแรก ประเพณีรอคนมาหาที่วัดได้จำกัดขอบเขตแห่งบทบาทของพระสงฆ์ไว้แล้ว เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะต้องให้พระสงฆ์กลับออกไปทำบทบาทข้างนอกวัดอีก บทบาทเช่นนั้นก็ได้กลายเป็นของไม่คุ้นไม่ชิน หรือหลงลืมเสียแล้ว กลายเป็นกิจที่ไม่ถนัด หรือถึงกับเห็นเป็นของผิดแปลกไป ไม่ใช่กิจของพระสงฆ์ ยิ่งเมื่อขาดความรู้เท่าทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงเข้าอีก ก็ยิ่งไม่เกิดจิตสำนึกและมองไม่เห็นทางว่าจะแก้ไขปรับปรุงบทบาทของตนได้อย่างไร ประการที่ ๒ ถ้าวัดหรือคณะสงฆ์จะรู้สึกตัวและหันมาเอาใจใส่ ให้การศึกษาอบรมอย่างจริงจังแก่ประชาชน ที่เข้าไปรับบริการถึงในวัด กล่าวคือ พระนวกะ สามเณร และภิกษุหนุ่มในวัยเล่าเรียน ก็เป็นภาระที่หนักแทบเหลือกำลังอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันนี้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้มีผลกระทบต่อกำลังบุคลากรของวัดและของคณะสงฆ์ ทำให้เกิดความอ่อนแอและขาดแคลนมากเข้าอีกด้วย โอกาสที่วัด และพระสงฆ์จะก้าวออกมาทำหน้าที่เกื้อกูลต่อสังคมภายนอก ก็ยิ่งเหลือน้อยลงและเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
ปัญหาการศึกษาของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน เกิดจากสาเหตุสำคัญคือ การไม่ยอมรู้ ไม่ยอมรับความจริง และการไม่จัดความสัมพันธ์และความรับผิดชอบต่อกันให้ถูกต้อง ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์
สภาพที่กล่าวมาแล้วนี้ มีอุปมาเหมือนว่า รัฐกับคณะสงฆ์ได้ตกลงดำเนินกิจการเดินเรือมาดเรือสำปั้น รับส่งคนโดยสารร่วมกันขึ้นมาบริษัทหนึ่ง รัฐเป็นผู้ออกทุน คณะสงฆ์เป็นผู้จัดการ เรือแจวใหญ่รับคนโดยสารจากปากน้ำโพ จอดแวะส่งคนที่กรุงเทพฯ แล้วไปสุดทางที่พระเจดีย์กลางน้ำ คนโดยสารทั้งหมดได้รับบริการอย่างเดียวกันมาตั้งแต่ต้นทาง ใครยังพอใจความศิวิไลซ์ อึกทึกครึกโครมของเมือง ก็แวะขึ้นที่กรุงเทพฯ ส่วนผู้ใดพอใจความสงบสงัดปลอดโปร่งใฝ่ชื่นชมทะเลโล่ง ก็ไปขึ้นที่ปลายทาง ณ ท่าพระเจดีย์กลางน้ำ คนโดยสารส่วนมากขึ้นที่ท่ากรุงเทพฯ ที่เหลือไปจนสุดทางออกปากน้ำมีจำนวนน้อย
เวลาล่วงไปนาน ต่อมารัฐได้เรือยนต์วิ่งเร็วมาใช้ จึงบอกคณะสงฆ์ว่า ขอแยกกิจการเดินเรือไปทำต่างหาก เรือยนต์ของรัฐจะรับคนโดยสารทั้งหมดที่ไปขึ้นท่ากรุงเทพฯ ให้เรือแจวของคณะสงฆ์ไปส่งคนที่พระเจดีย์กลางน้ำแห่งเดียว ไม่ต้องแวะที่กรุงเทพฯ
รัฐเดินเรือยนต์โดยสารใหม่ครั้งนี้ เริ่มต้นทางที่บางไทร จังหวัดอยุธยาเท่านั้น ไม่ไปรับถึงปากน้ำโพ และไม่ได้บอกแจ้งให้ชาวบ้านรู้ความเปลี่ยนแปลงนี้ทั่วถึงกันด้วย ชาวบ้านถิ่นห่างไกลก็ยังไปลงเรือที่ปากน้ำโพนั่นเอง และจึงประสบความทุลักทุเลมาก มีแต่คนถิ่นเจริญกว่าจำนวนน้อย ที่ได้นั่งเรือยนต์มาขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยสะดวก
ทางฝ่ายคณะสงฆ์ ก็ยังคงวิ่งเรือแจวโดยสารลำเก่า รับคนจากปากน้ำโพ แต่คราวนี้ไม่แวะส่งคนขึ้นที่กรุงเทพฯ ไปจอดสุดทางที่พระเจดีย์กลางน้ำแห่งเดียว ฝ่ายคนโดยสารส่วนมากก็ยังขอขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเรือไม่จอด บ้างก็กระโดดน้ำ ใช้กำลังแรงของตนว่ายไปขึ้นฝั่งเอง บ้างก็จำใจไปจนถึงปลายทางอย่างฮึดฮัดหรือรันทดจิต ที่ไปด้วยความเต็มใจประสงค์เองมีจำนวนน้อย
ระหว่างนี้เอง ก็มีบริษัทเรือเถื่อนบ้าง เรืออภิสิทธิ์บ้าง รู้แกวเข้า จึงเอาเรือเล็กๆ มาคอยดักเทียบเรือสำปั้น ลักลอบขนถ่ายคนโดยสารไปขึ้นที่บางไทร เพื่อต่อขึ้นเรือยนต์บ้าง ถ่ายขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยตรงบ้าง เกิดความสับสนวุ่นวาย ยิ่งกว่านั้น ยังมีคนบางพวกเที่ยวหรือทำในธุระในกรุงเทพฯ จนเบื่อแล้ว อยากเดินทางต่อไปยังปากน้ำบ้าง แต่เรือแจวก็ไม่แวะรับเขา ต้องว่ายน้ำไปเกาะเรือขึ้นเอง ต่อมาก็มีเรือเถื่อนบ้าง เรืออภิสิทธิ์บ้าง ช่วยอาสาหรือรับจ้างพาคนพวกนี้ไปยังจุดหมายปลายทางที่เขาต้องการ แม้ว่าเจ้าของเรือแจวจะไม่ค่อยสนใจเรื่องเหล่านี้ แต่ยิ่งนับวันผ่านไป ปัญหาก็มากขึ้น จึงเริ่มกลุ้มใจหนักขึ้นโดยลำดับ แต่แทนที่เจ้าของเรือแจว จะพูดจาตกลงกับเจ้าของเรือยนต์เพื่อแก้ปัญหาระหว่างกัน หรือพยายามปรับปรุงเรือแจวเก่าที่โทรมคร่ำของตน พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีรับผู้โดยสาร กลับเอาแต่นั่งลงด่าว่าติเตียนคนโดยสารของตัวเอง และเรือเล็กเรือเถื่อนเรืออภิสิทธิ์ที่เข้ามาลักลอบขนคนโดยสารของตนออกไป ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข และยิ่งเลวร้ายลงทุกที ผู้สังเกตการณ์มองดูแล้ว รู้สึกหวาดว่า อาจจะเกิดเหตุร้ายจลาจลภายใน จนถึงกับเรือแจวล่มเข้าสักวัน
ปัญหาทั้งหมดนี้ แม้จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายแก่กิจการ และคนที่โดยสารเรือแจวโดยเฉพาะ แต่ก็มีผลร้ายกระทบต่อน่านน้ำเจ้าพระยาแห่งการศึกษาและสังคมไทยทั้งหมดด้วย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม
รวมความว่า ปัญหาการศึกษาของพระสงฆ์นั้น มีองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกันคือ
๑. ประเพณีไทย ที่ใช้วัดเป็นแหล่งให้เด็กและเยาวชนชายเข้าบวชเป็นพระภิกษุสามเณรรับการศึกษา ก่อนที่ส่วนใหญ่จะกลับออกมารับใช้รัฐและสังคม เหลือส่วนน้อยไว้รับผิดชอบสืบต่อพระศาสนา ประเพณีนี้ไม่ใช่เป็นตัวเหตุของปัญหาเอง แต่การปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนและไม่ถูกต้องต่อประเพณีต่างหาก เป็นตัวก่อปัญหา เพราะในอดีต คนไทยเคยถือว่าประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ดี และทุกพวกได้เคยใช้ร่วมกันมา แต่ปัจจุบัน ประเพณีนี้ได้ถูกปฏิเสธโดยทางการ ทั้งที่ยังคงสืบต่ออยู่อย่างแฝงเงียบ ในหมู่ชนส่วนล่างของสังคมผู้เข้าไม่ถึงสิทธิโอกาสของเสรีชน และชนส่วนบนของสังคมผู้ไม่ต้องอาศัยประเพณีนี้แล้ว ส่วนมากไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ
๒. ปัจจุบัน รัฐแยกเอาพลเมืองที่มีโอกาสดีกว่า มาให้การศึกษาเองแล้ว แต่ปล่อยผู้ด้อยโอกาส ให้อาศัยประเพณีการศึกษาของวัดต่อไปตามเดิม ซ้ำยังไม่ยอมรับรู้สภาพความเป็นจริงนี้ด้วย จึงทอดทิ้งไม่เหลียวแลคนนอกระบบการศึกษาของรัฐ ที่ยังคงใช้ช่องทางของวัดเหล่านี้ ข้อนี้เป็นสาเหตุใหญ่ของปัญหา เพราะทำให้เกิดความลักลั่นวกวนและติดตันของปัญหา
๓. คณะสงฆ์ ยอมรับและทำตาม สุดแต่รัฐจะว่าหรือจะเอาอย่างไร จึงพลอยไม่ยอมรู้และไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงไปด้วย เช่นเดียวกับรัฐ ดังนั้น การศึกษาแบบที่คณะสงฆ์รักษาไว้ (คณะสงฆ์ไม่ถือว่าตนมีความรับผิดชอบในการจัดให้มีการศึกษา จึงไม่ใช้คำว่า "จัด") จึงเดินสวนทางกับความต้องการและสภาพความเป็นจริง ทั้งของพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่และของสังคมส่วนรวมตลอดเวลา ครั้นแรงกดดันมีมากขึ้น จนเกิดช่องแตกปริขึ้นมากมายหลายแห่ง คือมีการศึกษารูปแบบต่างๆ ที่พระภิกษุสามเณรไปเข้าเรียน โดยที่คณะสงฆ์ไม่พอใจ ไม่เต็มใจ หรือถึงกับรังเกียจ คณะสงฆ์ปิดกั้นขัดขวางไม่สำเร็จ แล้วก็เอาท่าทีแห่งการไม่รับรู้มาใช้อีก คือหันหลังให้หรือปิดตาไม่มอง เสมือนว่าสิ่งที่ไม่พอใจนั้นไม่มีอยู่ แต่ก็กล่าวว่าติเตียนการศึกษาแบบที่ไม่พอใจนั้นบ้าง พระภิกษุสามเณรของตนที่ไปเข้าเรียนบ้างเป็นครั้งคราว พยายามฝืนรักษารูปแบบการศึกษาที่ถือว่าเป็นของตนไว้ให้คงอยู่อย่างเดิมให้มากที่สุด โดยถือว่าเป็นความผิดของพระภิกษุสามเณรเอง ที่ไม่สนใจเล่าเรียนในระบบของคณะสงฆ์ เมื่อกระทำเช่นนี้ การศึกษาพระปริยัติธรรมในระบบของคณะสงฆ์ก็เหี่่ยวเฉาลงไปเรื่อยๆ สำนักเรียนนักธรรม สำนักเรียนบาลีก็เลิกล้ม จำนวนร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ที่เหลืออยู่หรือที่พยายามตั้งขึ้นใหม่ ก็ทรงตัวอยู่อย่างยากลำบาก ส่วนช่องทางที่พระภิกษุสามเณรแหวกออกไป ก็ขยายบานและเพิ่มจำนวนขึ้น สถานศึกษาเช่นนั้นรุ่งเรืองเหลืองเกลื่อนกล่น พร้อมกันนั้นปัญหาอื่นๆ ที่สืบเนื่องออกไป เช่น ความประพฤติเสียหาย และการปกครองไม่เรียบร้อย ก็เพิ่มและซับซ้อนยิ่งขึ้น หากจะสรุปก็คงต้องกล่าวว่า คณะสงฆ์นั่นเองเป็นผู้ก่อปัญหาขึ้น หรือเป็นแกนกลางของตัวปัญหา แม้ว่าคณะสงฆ์เองคงจะไม่ยอมรับ และจะกล่าวว่าพระภิกษุสามเณรที่ไม่สนใจนักธรรมบาลีแล้วหันไปศึกษาในระบบภายนอกนั่นแหละ เป็นผู้ก่อปัญหา
๔. สังคมไทย โดยเฉพาะส่วนบนคือสังคมเมือง และปัญญาชนของเราจำนวนมาก ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจปัญหาและองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ของปัญหา จึงมีทัศนคติที่ผิดต่อปัญหา ต่อการศึกษาของพระสงฆ์ และต่อตัวพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนอยู่ในระบบต่างๆ ความไม่รู้และไม่เข้าใจนี้ เป็นตัวอย่างสำคัญของความไม่รู้จักและไม่เข้าใจสังคมตนเองของคนไทย ที่ทำให้คนไทยแก้ปัญหาของสังคมไทยไม่ได้ และทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เก็บดองหรือหมักหมมปัญหา เพราะระบบที่ขัดแย้งและสภาพที่เป็นปัญหาต่างๆ ไม่ถูกศึกษาให้ชัดเจน และไม่มีการตกลงจัดการให้ยุติลงอย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จสิ้นไป ปล่อยให้คั่งค้างสะสมอยู่ กีดขวางกันระเกะระกะไปทั่ว สำหรับเฉพาะในกรณีนี้ ก็คือ สังคมไทยเองกลายเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนส่งเสริมปัญหา และเป็นผู้ขัดขวางการแก้ปัญหาเสียเอง
สำหรับคณะสงฆ์ซึ่งเป็นจุดเน้นของเรื่อง (เพราะถ้าคณะสงฆ์คิดริเริ่มเอง การแก้ปัญหาก็ย่อมดำเนินไปได้ดีที่สุด) การประสบสิ่งที่ไม่พอใจแล้วหันหน้าหนี คงไม่ใช่วิธีที่จะแก้ปัญหาได้ แม้จะกล่าวว่าประณามพระหนุ่มเณรน้อยอย่างไรๆ ก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น อาจเป็นการกระแทกกระทั้นให้เรื่องเลวร้ายลงไปอีกด้วยซ้ำ ในเมื่อไม่ยอมรับรู้และไม่หันหน้าเข้ามาจัดการกับปัญหา สภาพที่ตนปรารถนาจะเกิดขึ้นมาเองได้อย่างไร ถึงจะปิดตาไม่มองและแสดงความไม่ปรารถนามากเท่าใด สภาพที่ไม่พอใจก็ยังคงอยู่ ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข มีแต่จะร้ายแรงยิ่งขึ้น และก็จะมองไม่เห็นทางที่จะทำสิ่งที่ตนพอใจรักษาไว้นั้นให้ดีขึ้นหรือแม้แต่ทรงตัวอยู่ได้ ทางออกทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด และเป็นทางแห่งการสร้างสรรค์ ก็คือ คณะสงฆ์จะต้องร่วมกับรัฐยอมรับรู้สภาพความจริงที่เป็นอยู่ทั้งที่ตนพอใจและไม่พอใจ ยอมรับความต้องการของผู้เรียน ความต้องการของพระศาสนา และความต้องการของสังคม แล้วหันเข้าจัดการปรับรูปปรับร่างการศึกษาของวัดให้หายลักลั่นสับสน ถ้าหน่วยงานที่มีอยู่ทำหน้าที่จัดสอบอย่างเดียว ก็ตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับการจัดสอนขึ้นมา เพื่อให้มีการศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังแพร่หลายทั่วไป การศึกษาที่มีอยู่ ก็ให้มีอยู่อย่างน่าพอใจและได้ผลดี การศึกษารูปแบบใดยังไม่น่าพอใจ แต่ยังจำเป็นต้องมี ก็จะมีผลดีมากขึ้น และมีทางควบคุมแก้ไขให้มีผลเสียน้อยที่สุด จนกระทั่งหมดปัญหา มีแต่ผลดีต่อไป
นักสังคมวิทยาใด ไม่เข้าใจปัญหาการศึกษาของพระภิกษุสามเณร จะให้ยอมรับได้อย่างไรว่า นักสังคมวิทยานั้น รู้จักสังคมไทยแท้จริง
ผู้บริหารการศึกษาใด ไม่เอาใจใส่การศึกษาของพระภิกษุสามเณร จะให้เชื่อได้อย่างไรว่า ผู้บริหารการศึกษานั้น สนใจแท้จริงในปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา
รัฐบาลใด ไม่ยอมแก้ไขปัญหาการศึกษาของพระภิกษุสามเณร จะให้นับถือได้อย่างไรว่า รัฐบาลนั้น ใฝ่ใจแท้จริงที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และกำจัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนชาวชนบทผู้ยากไร้
ในบรรดาการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ มากมายนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์คงจะเป็นตัวแทนได้ดีที่สุด ที่แสดงถึงการทำหน้าที่หรือมีบทบาท ๒ ด้านพร้อมไปในเวลาเดียวกัน
ด้านที่ ๑ คือ หน้าที่และบทบาทในฐานะสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์
ด้านที่ ๒ คือ บทบาทในฐานะเป็นช่องทางการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในสังคม
หน้าที่และบทบาทด้านที่ ๑ เป็นหน้าที่และบทบาทหลัก ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้อย่างชัดแจ้ง หมายถึงการผลิตพระภิกษุสามเณรที่มีคุณภาพ เพื่อให้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา การพัฒนาส่งเสริมพระภิกษุสามเณร ให้เป็นผู้เจริญงอกงามพรั่งพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติปฏิบัติ สามารถประสบผลแห่งศาสนศึกษาด้วยตน และบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นได้ด้วยดี ตลอดจนเป็นแหล่งที่ค้นคว้าเผยแพร่ความรู้ และการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา
บทบาทด้านที่ ๒ เป็นบทบาทที่มิได้กำหนดไว้ตามวัตถุประสงค์ที่ประกาศหรือตั้งใจจัดวางไว้ แต่เป็นบทบาทที่เป็นไปเองหรือตามมาเอง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่กระทบต่อประเพณีบวชเรียนของไทย ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น การดำเนินตามบทบาทนี้ ตามปกติจะเป็นไปโดยไม่รู้ตัว และไม่ได้ตั้งใจ ถึงแม้ในบางคราวจะมีความรู้ตัวหรือตั้งใจบ้าง ก็เป็นบทบาทซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับอย่างชัดแจ้ง เพราะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้เป็นทางการ
มหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย มี ๒ แห่งคือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย
มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงสถาปนาขึ้น โดยพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงเปิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๓๖ เพื่อเป็นอนุสรณียะแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพิธีเปิดแล้วได้ดำเนินการมาชั่วระยะหนึ่งก็ชะงักไป จนถึงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๘๙ จึงได้เปิดการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยเรียกชื่อว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย นับถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นศาสนศาสตร์บัณฑิต รวม ๖๓๕ รูป
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เดิมพระราชทานนามว่า "มหาธาตุวิทยาลัย" ต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๓๙ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" เพื่อเป็นที่เฉลิมพระเกียรติของพระองค์เองสืบไป หลังจากสถาปนาแล้ว กิจการยังมิได้ดำเนินไปตามพระราชประสงค์ จนถึงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๐ จึงได้เริ่มเปิดการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ นับถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาพุทธศาสตร์บัณฑิต รวม ๙๖๔ รูป
ความมุ่งหมายในการสถาปนาสถาบันการศึกษาทั้ง ๒ แห่งนั้นเป็นอย่างไร ได้ปรากฏชัดเจนอยู่แล้วในประกาศพระราชปรารภ ของพระองค์ผู้ทรงสถาปนา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังข้อความในราชกิจจานุเบกษาที่ได้เคยอ้างแล้วข้างต้นว่า
"การเล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำรุงทั่วไปทุกพระอาราม แต่ยังหาเป็นอันนับว่าบริบูรณ์แท้ไม่ เพราะเป็นแต่สถานที่เล่าเรียนในชั้นต้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูงขึ้น ๒ สถาน สถานหนึ่ง เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดบวรนิเวศพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกสถานหนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงนี้ มีนามว่า มหาธาตุวิทยาลัย ได้เปิดการเล่าเรียนแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก๒๒ ๑๐๘ สืบมา...จะได้ทรงพระราชอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้ เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระประยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไปภายน่า พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป"25
ขอบเขตของวิชาการที่จะให้พระภิกษุสามเณรศึกษาในสถาบัน ๒ แห่งนี้ ตามที่ปรากฏในประกาศพระราชปรารภนั้น ระบุชัดว่ามี ๒ ส่วน คือ
๑. พระไตรปิฎก หรือพระปริยัติสัทธรรม
๒. วิชาชั้นสูง หรือเรียกต่อมาว่าอุดมศึกษา
ขอบเขตนี้ จะเห็นเค้ารูปว่ากว้างขวางเพียงใด ถ้าได้นำไปเทียบกับข้อความที่ปรากฏอีก ๗ ปีต่อมา ในโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งได้เคยยกมาอ้างแล้วแต่ต้น ความว่า
"ได้หวังใจไว้ว่า ในปีสุวรรณาภิเษก ถ้าเป็นได้ จะได้รวมมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นส่วนวิทยาลัยสำหรับวินัยและศาสตร์ มหาธาตุวิทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับกฎหมาย โรงเรียนแพทยากร เป็นวิทยาลัยสำหรับแพทย์ และตั้งโรงเรียนเป็นวิทยาลัยสำหรับวิทยา และมีหอสากลวิทยาขึ้นแห่งหนึ่ง รวมวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้เข้าเป็น รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย"26
บทบาทของมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมทั้งพระภิกษุสามเณรในรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย ตามโครงการนี้ จะมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร เป็นเรื่องยากที่จะคาดหมายให้ชัดเจน และรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัยก็ไม่ได้เกิดขึ้น แต่สาระที่มองเห็นได้ชัดเจนทั้งในประกาศพระราชปรารภและในโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็คือ แนวความคิดและการตั้งเป้าหมายที่จะให้พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษา ทั้งด้านพระปริยัติธรรมและด้านวิทยาการสมัยใหม่ในชั้นสูง หรือพูดง่ายๆ อย่างชาวบ้านว่า จะให้พระเณรเรียนวิชาทั้งทางโลกและทางธรรม หรือทั้งวิชาฝ่ายปริยัติและวิชาฝ่ายสามัญ
ถ้ายกเอาขอบเขตของวิชาการที่จะให้ศึกษานี้ ไปเทียบกับบทบาท ๒ อย่างของสถาบันการศึกษาของวัดในสภาพปัจจุบัน ก็จะเห็นว่ารับกันดี กล่าวคือ เพียงมองผ่านๆ ครั้งเดียว ก็คงจะเห็นว่า วิชาพระไตรปิฎกหรือพระปริยัติสัทธรรม เข้ากันกับหน้าที่และบทบาทในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ ส่วนวิชาสามัญชั้นสูงหรืออุดมศึกษา เข้ากับบทบาทในฐานะเป็นช่องทางการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส จะได้เลื่อนฐานะทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ความจริงหาเป็นอย่างที่มองผ่านๆ นั้นไม่ แม้ว่าวิชาการที่จะให้ศึกษาทั้ง ๒ อย่าง จะเกื้อกูลแก่บทบาททั้ง ๒ ด้านนั้นก็จริง แต่ก็มิใช่เป็นการเกื้อกูลอย่างแยกกันเป็นคนละด้าน คนละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามองถึงความมุ่งหมายเดิมในการสถาปนาด้วยแล้ว ความเข้าใจอย่างที่กล่าวมานั้น นับว่าเป็นความเห็นผิด และจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ให้ชัดเจน
ตามความมุ่งหมายที่แท้จริงนั้น วิชาการทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งพระปริยัติธรรมก็ดี วิชาสามัญชั้นสูงก็ดี ล้วนจะจัดให้พระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนเพื่อวัตถุประสงค์หลักข้อเดียวกัน คือ เพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และบทบาท ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ ที่จะฝึกอบรมส่งเสริมพระภิกษุสามเณร ให้เป็นผู้เจริญงอกงามด้วยความรู้และความประพฤติ สามารถในศาสนกิจ เป็นกำลังที่ดีของพระศาสนา พร้อมทั้งจะให้ตัวสถาบันนั้นเอง เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า เผยแพร่ความรู้และการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาไปในขณะเดียวกันด้วย
สำหรับวิชาฝ่ายพระปริยัติธรรม อันมีพระไตรปิฎกเป็นประธานนั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์หลัก ที่จะผลิตพระภิกษุสามเณรที่ดีมีคุณภาพเป็นกำลังของพระศาสนา แต่วิชาสามัญจะเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์นั้นอย่างไร
เรื่องนี้ ชี้แจงอย่างรวบรัดได้ว่า ถ้าพระสงฆ์มีความรู้ฝ่ายพระปริยัติธรรมเป็นหลักเป็นแกนไว้ดีแล้ว ความรู้วิชาสามัญจะช่วยสร้างเสริมให้ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ดี มีความสามารถ ประกาศพระศาสนาได้ผลดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เฉพาะที่สำคัญ แยกเป็น ๒ ด้านคือ
๑. ความรู้ทางโลกเป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่ความรู้ทางธรรม ท่านที่รู้ธรรมดีแล้วยิ่งมีความรู้ทางโลกประกอบด้วยมากเท่าใด ก็ยิ่งมีฐานกว้างและมีทางเดินยาวไกลมากเท่านั้น คือ มองอะไรได้กว้างไกลขึ้น และสามารถใช้ความรู้ธรรมนั้นทำกิจหน้าที่ของตน เพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์สุขและความดีงาม ได้อย่างหนักแน่นมั่นคงและกว้างขวางแพร่หลายมากขึ้น มิใช่รู้ธรรมจำกัดอยู่แค่ตัวคนเดียว เหมือนว่ามีความรู้ธรรมเป็นดังน้ำบริสุทธิ์อยู่เต็มอ่างเก็บแล้ว ยังมีความรู้ทางโลกเป็นดังท่อ ดังถัง ดังกระป๋อง เป็นต้น สำหรับช่วยขนถ่ายระบายน้ำนั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างแพร่หลายทั่วถึงอีกด้วย พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ใหญ่ทั้งหลายมีความรู้ทางโลก เช่น ศิลปศาสตร์ทั้งหลายและไตรเพท เป็นต้น ที่เป็นความรู้ของปราชญ์หรือนักวิชาการสมัยนั้น เป็นฐานอย่างดีเยี่ยมแล้ว จึงประกาศเผยแผ่พระศาสนาได้สำเร็จ ส่วนพระสาวกที่มีความรู้ความชำนาญในศิลปวิทยาต่างๆ เป็นพื้นเดิมน้อย ก็บำเพ็ญศาสนกิจได้แคบเข้า จนถึงอย่างน้อยก็พอช่วยพาตนรอดไปได้แต่ลำพัง แม้พระเถระผู้จรรโลงพระศาสนาในยุคสมัยต่อๆ มาก็เช่นเดียวกัน ดังในยุคสมัยที่ใกล้ที่สุด สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีความรู้สมัยใหม่ทั้งไทยและเทศอย่างเด่นและนำหน้าในสมัยนั้น จึงทรงสามารถวางแบบแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ไว้เป็นหลักได้ แต่หลังจากสมัยของพระองค์แล้ว ไม่ปรากฏพระเถระที่ทรงความรู้ทันสมัยกว้างไกลอย่างพระองค์อีก จึงไม่สามารถสืบต่อและสานต่อ งานที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มไว้ ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป หรือแม้แต่จะรักษาไว้ให้คงอยู่ในสภาพที่ดี
ไม่เฉพาะแต่ความรู้ทางธรรมเท่านั้น แม้แต่ความรู้ทางโลกด้วยกันก็ยังช่วยเสริมกัน ผู้รู้วิชาทางโลกอย่างหนึ่งชำนาญดีแล้ว เมื่อรู้วิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย จึงจะทำงานหรือทำประโยชน์ได้สำเร็จผลดี เช่น เป็นครูจะรู้แต่วิชาครูอย่างเดียว ก็เป็นครูดีครูเก่งไม่ได้ เป็นทหารจะรู้แต่รบอย่างเดียว ไม่รู้ถิ่นไม่รู้ภูมิศาสตร์ เป็นต้น ก็เป็นนายทัพไม่ได้ เป็นพ่อค้าจะรู้จักแต่คิดราคาหรือดีดลูกคิดเป็นอย่างเดียว ไม่รู้จักติดต่อผู้คน เป็นต้น ก็เป็นพ่อค้าที่ดีไม่ได้ ผู้รู้ธรรมก็ต้องเดินอยู่ในโลก และที่ทำกิจก็เพื่อช่วยชาวโลก จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องรู้เรื่องของโลกและเรื่องของชาวโลก ข้อสำคัญ ขอแต่ให้มีความรู้ธรรมเป็นฐานเป็นแกนเป็นหลักไว้ก็แล้วกัน
๒. การรู้จักโลกอย่างถูกต้องตามเป็นจริง นั่นแหละคือการรู้ธรรม โลกเป็นที่ตั้งของธรรม โลกคือสังขาร ภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็อยู่ที่โลกคือสังขารนั้น ถ้าไม่รู้จักโลกก็รู้ธรรมไม่ได้ เพราะธรรมก็คือภาวะที่เป็นจริงของโลกหรือสังขารนั่นเอง ดังนั้น ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับโลกมากๆ ถ้ารู้โลกถูกต้องตามเป็นจริงเมื่อใด ก็รู้ธรรมเมื่อนั้น (แต่ถ้าไม่รู้โลกตามเป็นจริง ถึงจะรู้เกี่ยวกับโลกมากเท่าใด ก็ไม่รู้ธรรม) ความรู้วิชาการต่างๆ ทางโลก และประสบการณ์ชีวิตในโลก จึงสามารถเป็นทุนอุดหนุนเกื้อกูลแก่การรู้ธรรมได้ด้วย และการรู้ธรรมจึงเป็นของยากสำหรับคนป่าเถื่อนด้อยการศึกษา เพราะเขาไม่มีความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกและชีวิต สำหรับเอามาไตร่ตรองคิดพิจารณาเทียบเคียงให้เข้าใจธรรม ด้วยเหตุนี้ ในสมัยที่วัดมีแต่ผู้ด้อยการศึกษาเข้ามาบวช และการศึกษาในวัดช่วยให้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกบ้างแต่เพียงเรื่องที่ไม่ตรงกับสภาพความจริงที่เป็นอยู่ในเวลานั้น (เช่นนิทานปรัมปราเป็นต้น) ซึ่งยากที่จะนำมาไตร่ตรองให้เข้าใจโลกที่เป็นอยู่ตามเป็นจริง ในสมัยนั้นผู้ที่รู้ธรรมจริงหรือเข้าใจธรรมลึกซึ้ง จะหาได้ยาก เว้นแต่ผู้มีโยนิโสมนสิการแรงกล้า กัลยาณมิตรจะต้องทำงานหนักอย่างมาก และกัลยาณมิตรเองก็จะค่อยๆ ร่อยหรอหมดไป การศึกษาในวัดเวลานั้นจะทำหน้าที่ได้แต่เพียง ช่วยให้มีการทรงจำรักษาหลักคำสอนเอาไว้ ทำให้ผู้บวชเป็นเหมือนคนตาบอดถือตะเกียง รอจนกว่าจะถึงยุคสมัยที่คนมีการศึกษาดีนิยมเข้ามาบวชหรือสามารถจัดเสริมให้ผู้ด้อยการศึกษาที่เข้ามาบวชนั้น ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่จะมองโลกได้ตามสภาพที่เป็นอยู่ จึงจะสามารถนำตะเกียงไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
รวมความว่า วิชาการสมัยใหม่ หรือวิชาทางโลก เกื้อกูลแก่ความรู้ทางธรรมทั้ง ๒ ด้าน คือ ทั้งในแง่ที่เป็นข้อมูลหรือเป็นสภาพสำหรับพิจารณาให้เข้าใจธรรมหรือเกิดความรู้ธรรม และในแง่ที่เป็นอุปกรณ์หรือเป็นสื่อ เป็นช่องทางสำหรับนำเอาความรู้ธรรมไปใช้ หรือไปเผยแพร่ให้สำเร็จประโยชน์มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น ดังนั้น พระองค์ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนั้น ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ ว่าจะให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษา ทั้งปริยัติสัทธรรม และวิชาชั้นสูงหรืออุดมศึกษาอย่างสมัยใหม่ ดังได้กล่าวมาแล้ว
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยได้ทรงรับอาราธนาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นพระธุระจัดการศึกษาของบ้านเมืองที่ในวัด และทรงจัดการศึกษาของฝ่ายคณะสงฆ์ควบคู่ไปด้วย การศึกษาทั้งหมดนั้น ทรงค่อยๆ จัด ค่อยๆ ขยายไป ตามความพร้อมและประสบการณ์ หากพิจารณาดู "หลักสูตรสำหรับการเรียนของสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร"27 ก็จะมองเห็นได้ว่า ในระยะยาวทรงมีพระประสงค์จะให้การศึกษาแบบนักธรรมเปรียญและการเล่าเรียนในสำนักต่างๆ เป็นอย่างไร
"สำนักนี้ใช้หลักสูตรจัดเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง
"หลักสูตรแบ่งองค์นักธรรมชั้นตรีเป็นชั้นต่ำ หลักสูตรบาลีสำหรับเปรียญธรรมชั้นตรีเป็นชั้นกลาง เมื่อได้จัดหลักสูตรองค์นักธรรมภูมิมัชฌิมะอันเป็นชั้นโทขึ้นแล้ว จัดเป็นชั้นกลางด้วย หลักสูตรสำหรับเปรียญบาลี ๔ ประโยค ๕ ประโยคในบัดนี้ หรือหลักสูตรบาลีสำหรับเปรียญธรรมชั้นโทอันจะจัดข้างหน้าเป็นชั้นสูง………
"ในระหว่างเรียน ๓ ชั้นนี้อยู่ ยังจะต้องฝึกหัดการอย่างอื่น อันจะต้องทำคือ การหนังสือ การคำนวณ การรับใช้ การพยาบาลไข้ รักษาความสะอาด และความรู้ทางคดีโลกอย่างอื่นอีกตามที่วัดอาจสอนให้ได้
"พ้น ๓ ชั้นนี้แล้ว หัดสำหรับเป็นผู้ใหญ่ ในทางเป็นครูสั่งสอน คือสอนองค์นักธรรมชั้นตรีขึ้นไป และหัดเทศนาเป็นธรรมกถึก ในทางปกครองคือ รับหน้าที่ในวัด และออกไปหัดช่วยการวัดอื่นจนถึงการครองวัด ในทางความรู้ ให้ศึกษาวินัย และธรรมะอันเป็นภูมิของเถระ และรู้จักดูพระคัมภีร์อันเป็นที่มาเดิม ความรู้เหล่านี้จัดเป็นพิเศษ ให้เลือกหัดเป็นอย่างๆ"
กล่าวได้ว่า เจตนารมณ์ที่ปรากฏในหลักสูตรนี้ ไม่ได้รับการใส่ใจพิจารณา หรือสืบต่อให้มีรูปร่างชัดเจนและเหมาะสมขึ้นตามกาล หลักสูตรนักธรรมและเปรียญจึงมีแต่รูปแบบที่รักษาไว้อย่างเคร่งตึง ไม่ได้ขยับเขยื้อนคลี่คลายไปจากเดิม
อย่างน้อยการเล่าเรียนวิชาทางโลกหรือความรู้อย่างสมัยใหม่ ก็ช่วยให้พระภิกษุสามเณรรู้เท่าทัน และพูดกันรู้เรื่องกับคนร่วมสมัยในสังคมหรือประเทศของตน ไม่ใช่แปลกหน้ากัน หรือมีทัศนคติไม่ดีต่อกัน ฟังกันไม่ได้ จนเป็นอุปสรรคแก่การสั่งสอนธรรมและการเผยแผ่พระศาสนา ดังความในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยอ้างครั้งหนึ่งแล้วว่า
"ในเวลานี้ ก็จะพระราชทานครูสอนภาษาอังกฤษแก่มหามกุฏราชวิทยาลัย ถ้าพระราชทานผู้สามารถในการสอนภาษาและวิชาต่างประเทศที่จะต้องการในชั้นนั้นๆ...การเรียนส่วนวิชากับส่วนศาสนา ก็จะรวมลงเป็นคลองเดียว ต่างจะพยุงกันให้หันดำเนินสู่ความเจริญด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้เรียนจะเป็นพระก็ดี เป็นฆราวาสก็ดี ก็คงเป็นผู้มีความรู้ที่ใช้ได้ ต่างพวกต่างไม่ต้องตำหนิกันว่าอารามหรือโซ๊ด ข้อนี้ไม่เห็นคำคัดค้าน..."28
อย่างไรก็ดี การเล่าเรียนความรู้สามัญคือวิชาการอย่างสมัยใหม่นี้ แม้ว่าโดยหลักการแท้ๆ จะมุ่งเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หลัก ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่และบทบาท ในฐานะสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ คือเพื่อผลิตพระภิกษุสามเณรที่ดี มีความสามารถ ประกาศพระศาสนาได้ผลอย่างที่กล่าวมาแล้วก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันนั้น วิชาสามัญสมัยใหม่เหล่านี้ ก็เกื้อกูลแก่บทบาทอย่างที่ ๒ ของการศึกษาสงฆ์สมัยปัจจุบันด้วย คือเป็นช่องทางการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในสังคม ความเกื้อกูลนี้เป็นผลพลอยได้หรือเป็นผลพ่วงตามมาเอง ไม่ว่าผู้จัดการศึกษานั้นจะรู้ตัวก็ตาม ไม่รู้ตัวก็ตาม จะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม มันก็จะต้องเกิดขึ้น เพราะบทบาทข้อนี้เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งผู้จัดการศึกษาสงฆ์ไม่มีอำนาจบันดาลหรือป้องกันขัดขวาง ปัญหามีอย่างเดียวว่า จะปฏิบัติต่อมันอย่างไรจึงจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย
การศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรหลายรูปแบบ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีความเกื้อกูลแก่วัตถุประสงค์ตามบทบาท ๒ อย่างนั้นไม่เท่ากัน บางแบบนอกจากจะเน้นการทำหน้าที่การศึกษาของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์ด้านศาสนาอย่างเดียวแล้ว ยังพยายามปิดกั้นขัดขวาง ไม่ให้พระเณรใช้เป็นช่องทางศึกษาเพื่อโอกาสทางสังคมด้วย ดังเช่น ปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นต้น บางแบบก็เน้นหนักไปในแง่ที่เป็นช่องทางการศึกษา เพื่อโอกาสในทางสังคม ดังเช่น การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร เป็นต้น การเน้นนี้ กระทำโดยการจัดเนื้อหาวิชาการในหลักสูตร เช่น ปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี จัดให้เล่าเรียนเฉพาะวิชาฝ่ายปริยัติธรรมอย่างเดียว ส่วนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร จัดให้เล่าเรียนเฉพาะแต่วิชาสามัญทางโลกฝ่ายเดียว ถ้าพิจารณาตามหลักการที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่า การศึกษาทั้ง ๒ แบบนี้ ไม่ดำเนินไปในแนวทางที่จะให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ ไม่สอดคล้องกับพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเถรประสงค์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นอกจากนั้น ไม่ว่าผู้จัดการศึกษาจะเน้นเนื้อหาวิชาและบทบาทด้านใด หรือปิดกั้นขัดขวางเนื้อหาวิชาและบทบาทด้านไหน พระภิกษุสามเณรส่วนมาก ก็จะพยายามใช้การศึกษานั้น ให้สนองวัตถุประสงค์ของตน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในสมัยปัจจุบัน ก็หมายถึงการใช้เป็นช่องทาง ที่จะเสริมโอกาสในทางสังคม ทั้งนี้เพราะสภาพความเป็นจริงบังคับให้ต้องเป็นไปอย่างนั้น การฝืนอย่างทื่อๆ ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดผลดี มีแต่จะก่อผลเสียมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อปิดกั้นขัดขวางมากขึ้น พระภิกษุสามเณรก็แสดงออกด้วยการไม่สนใจเรียน และไปหาทางของตนเองด้านอื่น ดังที่ปรากฏความเสื่อมทรุดของการศึกษาปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี พร้อมกับที่โรงเรียนผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณรเฟื่องฟูยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นตัวอย่างของการศึกษาสงฆ์ ที่จัดหลักสูตรให้ศึกษาวิชาการทั้ง ๒ ฝ่ายคือ ทั้งวิชาฝ่ายปริยัติธรรม และวิชาการชั้นสูงอย่างสมัยใหม่ และเป็นตัวอย่างของการทำหน้าที่และบทบาททั้ง ๒ ด้านคือ ทั้งบทบาทในฐานะสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ ที่มุ่งเสริมสร้างภิกษุสามเณรที่ดี ผลิตกำลังให้แก่พระศาสนา และบทบาทในฐานะเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม
ดังได้กล่าวแล้วว่า บทบาทด้านที่ ๒ ในฐานะเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนั้น เป็นบทบาทที่ตามมาเอง หรือเป็นไปเอง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่กระทบต่อประเพณีบวชเรียนของไทย ซึ่งไม่มีใครปรารถนาจะให้เกิดขึ้น และการดำเนินตามบทบาทนี้ ตามปกติจะเป็นไปโดยไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ ถึงแม้บางคราวจะเกิดความรู้ตัวและตั้งใจทำขึ้นมาบ้าง ก็ไม่เป็นบทบาทที่ยอมรับกันอย่างเปิดเผยชัดแจ้ง เพราะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์เองก็ดี บุคคลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็ดี จึงมักจะมองข้ามหรือหลีกเลี่ยง ไม่ยอมพูดถึง ไม่ยอมพิจารณาบทบาทข้อนี้
ในที่นี้ จะต้องขอย้ำไว้ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และเพื่อให้ปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้องว่า บทบาททางการศึกษาของวัด ที่กลายเป็นช่องทางแสวงหาความก้าวหน้าของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนี้ เป็นส่วนที่หลงเหลืออยู่ของประเพณีบวชเรียนเดิมของไทย แม้ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือระบบการศึกษาใดๆ ของคณะสงฆ์จะไม่ถือว่าเป็นบทบาทตามวัตถุประสงค์หลักของตน แต่มันก็เป็นสภาพความจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ ไม่ว่าเราจะมองข้ามหรือหลีกเลี่ยงอย่างไร มันก็ย่อมเป็นไปอย่างนั้น และย่อมแสดงผลของมันออกมาอยู่นั่นเอง เพราะมันไม่ได้ขึ้นต่อการยอมรับหรือไม่ยอมรับของเรา แต่มันขึ้นกับเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งสังคมนี้เองได้สร้างขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ขึ้นต่อสภาพสังคมที่เราเองได้สร้างขึ้น คือ การที่รัฐยังไม่สามารถอำนวยความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสยังเอาลูกมาบวชเณรอยู่วัด ตามประเพณีที่ถือว่าวัดเป็นแหล่งการศึกษาของชุมชน ตราบใดเหตุปัจจัยนี้ยังมีอยู่ ไม่ว่าวัดจะชอบหรือไม่ชอบ และจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม วัดก็ย่อมมีบทบาท หรือไม่ก็มีฐานะเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น เมื่อใดสังคมเปลี่ยนแปลงไปอีก ในทางที่ทำให้เหตุปัจจัยนั้นหมดไป บทบาทหรือฐานะนี้ ก็จะพลอยหมดไปเอง ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขก็ต้องแก้ที่เหตุปัจจัย คือ สร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาให้เกิดขึ้น หรือห้ามชาวบ้านไม่ให้เอาลูกมาบวชตามประเพณีบวชเรียน ในเมื่อยังไม่ได้แก้ไขที่เหตุปัจจัย ในเมื่อเหตุปัจจัยนั้นยังมีอยู่ ในเมื่อสภาพสังคมยังเป็นอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับความจริง การไม่ยอมรับความจริง ย่อมต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดในเรื่องนี้ และย่อมก่อให้เกิดผลเสียเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ทำให้ไม่มีโอกาสควบคุม และจัดการให้เป็นไปด้วยดีและให้มีผลเสียน้อยที่สุด
ผลเสียที่สำคัญยิ่งของการไม่ยอมรับ หรือการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับความจริงข้อนี้ คือเป็นการสร้างแรงกดดัน ทำให้เกิดการดิ้นรนรุนแรงมากขึ้น เพื่อให้ความต้องการด้านนี้ได้รับการตอบสนอง ด้วยเหตุนั้น บทบาทในการเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสนี้ แทนที่จะเป็นส่วนพ่วงหรือผลพลอยได้ ก็กลับจะกลายเป็นบทบาทที่เด่นชัดขึ้นมา จนกลบหรือข่มบทบาทตามวัตถุประสงค์หลักให้เลือนลาง การไม่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับบทบาทช่องทางแสวงโอกาสทางการศึกษา แล้วจัดทางระบายเสียให้ถูกต้อง จึงกลับกลายมาเป็นผลเสีย ต่อบทบาทหลักของการผลิตกำลังพระศาสนา
ความไม่ยอมรับ และการปฏิบัติขัดแย้งต่อความจริงในเรื่องนี้ แสดงออกด้วยอาการต่างๆ ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับความรู้สึกกลัวว่าพระจะสึก ที่สำคัญคือ
๑. ไม่จัดและไม่สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนวิชาสามัญสมัยใหม่ ด้วยกลัวว่าได้เรียนรู้แล้วจะสึก
๒. พยายามปิดช่องทางไม่ให้พระสึก ด้วยการไม่รับรอง หรือไม่เทียบความรู้ให้ เมื่อไม่มีทางออกไป จะได้บวชอยู่ต่อ
ในเมื่อเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง และไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ ความพยายามป้องกันการสึกก็ไม่สำเร็จ การสึกก็ยังคงดำเนินต่อไป และเป็นไปในลักษณะที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ผู้ที่ควรจะสึก ก็ไม่ได้สึก ผู้ที่ไม่ควรจะสึก ก็ไม่ได้รับการส่งเสริมให้อยู่ จึงสึกไปเสีย เป็นต้น กลายเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
การปฏิบัติอย่างที่ ๑ ทำให้เกิดผลร้ายที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ประการแรก ทำให้พระภิกษุสามเณรดิ้นรนแสวงหาที่เรียนวิชาสามัญกันเอง เรียนกระจายอยู่ในที่ต่างๆ นอกการควบคุมบ้าง ถูกห้ามแต่หนีไปเรียน ควบคุมและกีดกั้นไม่ไหวบ้าง ทั้งยังมีบุคคล หรือส่วนงานภายนอก จัดโรงเรียนสอนเฉพาะวิชาสามัญ สนองความต้องการของพระเณรเหล่านั้นอีก อย่างฝืนความปรารถนาของคณะสงฆ์และพระผู้ใหญ่ทั้งหลาย โดยที่คณะสงฆ์และพระผู้ใหญ่เหล่านั้น ไม่อาจป้องกันขัดขวาง หรือควบคุมได้ ได้แต่พูดกล่าวว่าติเตียนแสดงความไม่ยินดี โดยไม่เข้าไปร่วมจัด ทำให้พระผู้ใหญ่กับพระผู้น้อยเหินห่างต่อกัน และมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเสียความเคารพเชื่อฟัง การปกครองภายในคณะสงฆ์เสื่อมโทรม และมีผลสะท้อนสืบทอดต่อไปอีก คือพระเณรไม่สนใจเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่คณะสงฆ์จัดให้ การศึกษาแบบนักธรรมและบาลีทรุดโทรมลงโดยลำดับ ดังได้กล่าวมาแล้ว ยิ่งกว่านั้น ด้วยเหตุที่วิชาสามัญที่พระเณรไปหาเรียนกันเองก็ดี ที่ทางราชการและเอกชนภายนอกจัดให้เรียนก็ดี ล้วนจัดสอนเพื่อสนองความต้องการทางโลกหรือทางอาชีพล้วนๆ จึงไม่มีวิชาทางธรรมร่วมด้วย และไม่ดำเนินไปในลักษณะที่เป็นวิชาประกอบช่วยเสริมความรู้ทางธรรมและการทำกิจพระศาสนา ประโยชน์ที่พึงได้แก่พระศาสนาจากการเล่าเรียนวิชาสามัญก็ไม่เกิดขึ้น นอกจากอาศัยจิตสำนึกของพระภิกษุสามเณรนั้นๆ เองบางรูปเป็นส่วนบุคคล29 นับเป็นการสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปเปล่าด้านหนึ่ง พร้อมกันนั้น สิ่งที่คณะสงฆ์และท่านผู้ใหญ่ทางบ้านเมืองและในสังคมหลายท่านไม่ปรารถนา และพยายามปิดกั้นขัดขวาง คือ การบวชที่เป็นช่องทางศึกษาเล่าเรียน แล้วสึกออกไปแสวงโอกาสในสังคม ก็ยิ่งกลับกลายเป็นความจริงหนักยิ่งขึ้น และมีลักษณะที่ไม่น่าปรารถนามากยิ่งขึ้น ประการที่ ๒ เพราะการที่มัวห่วงกลัวพระจะสึก แล้วไม่จัดให้พระเณรเล่าเรียนวิชาสามัญ หรือความรู้ทั่วไปของยุคสมัย จึงมีผลเสียกลับไปกระทบต่อบทบาทตามวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาสงฆ์ คือการผลิตพระภิกษุสามเณรที่มีคุณภาพดีให้เป็นกำลังของพระศาสนา ทำให้ไม่ได้พระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ความสามารถ ผู้รู้เท่าทันสถานการณ์ มีสายตายาวไกล มีโลกทัศน์ไม่คับแคบ สามารถสื่อสารกับชนร่วมสมัย นำธรรมเข้าถึงประชาชนทุกระดับชั้น ทุกขั้นภูมิปัญญาของสังคม แต่ตรงข้ามกลับทำให้ขอบเขตขีดวงของศาสนกิจ รัดตัวแคบเข้าโดยลำดับจนแทบจะเหลือแต่พิธีกรรมและจบแค่กำแพงวัด เปิดช่องโหว่ว่างที่พระศาสนาเข้าไม่ถึงให้ขยายออกอย่างกว้างขวางไปทั่วสังคม
ว่ากันตามจริง ท่านที่แสดงความห่วงกังวลกลัวพระสึก ด้วยการไม่ให้พระเณรเล่าเรียนวิชาสามัญนั้น โดยทั่วไป มักเป็นท่านที่เป็นห่วงกังวลอย่างผิวเผิน ไม่ได้เอาใจใส่ศึกษาเรื่องการสึกของพระให้ชัดเจนแต่อย่างใด ส่วนท่านที่เอาใจใส่จริง ศึกษาเรื่องการสึกของพระอย่างใกล้ชิด ย่อมรู้ตระหนักความจริงว่า การจัดเสริมความรู้วิชาสามัญเข้ากับการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ไม่เป็นตัวเหตุสำคัญ ที่จะทำให้อัตราการสึกของพระแตกต่างออกไปมาก มีปัจจัยผลักดันการสึกอย่างอื่นที่สำคัญควรใส่ใจมากกว่า และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้ที่รักและมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนาอย่างแท้จริง ย่อมเข้าใจชัดแจ้งว่า ในการจัดเสริมความรู้วิทยาการร่วมสมัยให้แก่พระภิกษุสามเณรนั้น ถึงหากว่าจะมีพระสึกไปตั้ง ๑๐๐ องค์ จะคงเหลือไว้ให้ได้พระภิกษุผู้ปรีชาสามารถ เป็นหลักของพระศาสนาแม้เพียงองค์เดียว ก็ยังมีคุณค่าเกินกว่าคุ้ม
การปฏิบัติอย่างที่ ๒ ก่อให้เกิดผลร้ายที่สำคัญ ๒ ประการเช่นกันคือ ประการแรก ได้กล่าวแล้วว่า พระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ นอกจากประเภทบวช ๓ เดือนหรือสั้นกว่านั้น ที่เรียกกันว่าพระนวกะแล้ว ล้วนบวชกันมาแต่เป็นเด็ก ตามประเพณีที่ถือเอาวัดเป็นสถานศึกษาของชุมชน เพื่อเตรียมฝึกคนให้แก่สังคมไทย มิใช่ผู้ตระหนักภัยของการครองเรือนก่อน แล้วตั้งใจสละโลกออกบวช ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาว่า แม้จะพยายามฝึก หรือชักจูงผู้บวชแล้วเหล่านั้น ให้ดำรงเพศสืบต่อพระศาสนาอยู่ตลอดไป และมีพระภิกษุบางส่วนบวชอยู่ตลอดชีวิตก็จริง แต่พระภิกษุสามเณรส่วนมากก็จะต้องลาเพศสึกไป และจึงเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของไทยด้วยว่า การบวชและการสึกเป็นไปตามความสมัครใจของบุคคล ในสภาพเช่นนี้ การหาทางปิดกั้นป้องกันไม่ให้พระเณรสึก ด้วยการปฏิบัติอย่างในข้อ ๑ (ไม่ยอมให้พระเณรเล่าเรียนวิชาสามัญ) ก็ดี ข้อ ๒ (ไม่ยอมรับรองหรือเทียบความรู้ให้) ก็ดี ล้วนเป็นการบีบคั้นให้มีผู้บวชอยู่โดยไม่สมัครใจ คือ ไม่มีทางไปหรือไม่สะดวกที่จะไป จึงจำใจอยู่ ผู้ที่อยากจะสึกหรือควรจะสึกแล้วไม่ได้สึก ถึงตัวจะอยู่ในเพศ แต่ใจออกไปอยู่นอกภาวะของตน ก็จะไม่ตั้งใจประพฤติสมณธรรมและปฏิบัติกิจพระศาสนา และอาจจะดิ้นรนทำสิ่งเสียหายเป็นโทษทั้งแก่พระศาสนาและสังคม การบวชแทนที่จะเป็นการฝึกแล้วคัดคนไว้จรรโลงพระศาสนา ก็กลับกลายเป็นระบบกักขังเก็บคนที่เขาทิ้งขว้างตกหล่นจากสังคม เอาไว้ถ่วงและบ่อนทำลายพระศาสนา ประการที่ ๒ พระภิกษุสามเณรบางพวก ทั้งที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ความสามารถควรจะยอมรับได้ แต่ไม่ได้รับการรับรองจากทางการ ครั้นหมดวิริยะอุตสาหะที่จะดำรงเพศอยู่ต่อไป และเข้มแข็ง กล้าตัดสินใจลาเพศสึกไป ในเมื่อภูมิรู้ของตนไม่ได้รับการยอมรับ ก็ต้องไปประกอบอาชีพการงานที่ไม่ตรง และไม่สมกับความรู้ความสามารถของตน นับว่าเป็นการสูญเสียประโยชน์ที่พึงได้ ทั้งแก่บุคคลนั้นเองและแก่รัฐและสังคม
ความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรลืมเสีย ก็คือ ดังได้กล่าวแล้วว่า บทบาทของวัดในฐานะเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนี้ เป็นเพียงส่วนที่หลงเหลืออยู่ของประเพณีบวชเรียน ที่ใช้วัดเป็นที่ให้การศึกษาเพื่อเตรียมคนให้แก่สังคม คำที่ว่านี้หมายความว่า ในอดีต คนไทยทุกชั้นทุกฐานะเคยร่วมใช้ประเพณีบวชเรียนนี้ อาศัยวัดเป็นที่รับการศึกษาเล่าเรียนเสมอหน้ากัน และคนในสังคมไทยก็ได้มองเห็นคุณค่า ยอมรับประโยชน์ของประเพณีนี้ตลอดมา แต่ต่อมา คนที่มีฐานะและโอกาสดีกว่า มีช่องทางใหม่ใหญ่กว้างที่จะได้รับการศึกษาอย่างสะดวกทันสมัย จึงเลิกใช้ช่องทางเก่าเสีย ประเพณีที่เป็นช่องทางเก่านั้นถูกปฏิเสธและทอดทิ้ง แต่ประชาชนส่วนมากในสังคมนี้อยู่ห่างไกลและด้อยโอกาส ไม่สามารถเข้ามาใช้ช่องทางใหม่ ที่พร้อมด้วยบริการแห่งการศึกษานั้นได้ ใครยังดิ้นรนขวนขวายอยากได้มีการศึกษา ก็เข้าไปอาศัยวัด ใช้ช่องทางเก่าที่แคบขรุขระกันดาร ซึ่งสังคมเข้าใจว่าเลิกใช้กันแล้วนั้นต่อไป ประเพณีบวชเรียนของคนทั้งสังคม จึงกลายมาเป็นเพียงช่องทางการศึกษาของประชาชนที่ด้อยโอกาส
เมื่อระลึกความจริงได้อย่างนี้แล้ว ก็จะมองบทบาทของวัด ในฐานะช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสนั้น ด้วยสายตาที่กว้างไกลมากขึ้น คือ จะมองเห็นคุณค่าของบทบาทนี้ มิใช่เพียงในวงแคบ ในฐานะช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมองคุณค่าในความหมายกว้าง ที่เป็นการสืบต่อประเพณีการศึกษาแบบเดิมของไทยทั้งหมดด้วย หมายความว่า นอกจากคุณประโยชน์แก่พระศาสนาแล้ว การศึกษาของวัดหรือของพระสงฆ์ ยังมีคุณค่าแก่สังคมไทยปัจจุบันอีกถึง ๒ ด้าน หรือ ๒ ระดับ คือ
๑) คุณค่าในฐานะระบบการศึกษาตามแบบประเพณีเดิมของไทย ซึ่งเมื่อได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยแล้ว ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระจากระบบการศึกษาของรัฐได้ โดยมีผลดีทั้งในด้านประหยัดการลงทุน และในด้านการฝึกอบรมศีลธรรมจรรยา ในด้านประหยัดเงินงบประมาณก็มีตัวอย่างง่ายๆ เช่น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ตั้งแต่ระดับปริญญาลงมาเกิน ๑,๓๐๐ รูป พร้อมทั้งให้การบริการอื่นๆ แก่ประชาชนอีกหลายอย่าง เช่น โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และงานเผยแพร่ของสำนักธรรมวิจัย เป็นต้น ใช้ทุนบริหารดำเนินกิจการทั้งหมดปีหนึ่งๆ น้อยกว่างบประมาณ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้จ่ายในเวลาเพียง ๒ วัน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น การศึกษาของพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ ได้รับทุนจากประชาชนบำรุงเลี้ยงโดยตรง ตามความพอใจหรือสมัครใจ จึงอาศัยงบประมาณของรัฐน้อยที่สุด ต่างจากระบบการศึกษาของรัฐ ที่รัฐจัดสรรกะเกณฑ์เอาจากเงินภาษีอากรที่ต้องจ่ายตามกำหนด และความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์หรือผู้เรียนก็ตาม มีการใช้จ่ายสิ้นเปลืองน้อย เมื่อพิจารณาในแง่นี้ บางท่านอาจถึงกับเสนอทางเลือกใหม่ขึ้นมา ให้รัฐคิดเล่นๆ ว่า สำหรับการศึกษาทั้งหมดในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดให้นิสิตนักศึกษาบวชเล่าเรียนอยู่ที่วัด ในเพศภิกษุสามเณรจะดีหรือไม่ ส่วนคุณค่าในด้านศีลธรรมจรรยานั้นเห็นได้ชัดมาก เด็กวัยรุ่นบวชเป็นสามเณรอยู่ในวัดทั่วประเทศแสนกว่ารูป เพียงแต่บางรูปวิ่งเล่นบ้าง ชกต่อยกันบ้าง เดินไม่เรียบร้อยกลางถนนบ้าง ประชาชนยังเห็นเป็นความเสียหายร้ายแรงเสียแล้ว เรื่องการที่จะยกพวกตีกัน ปาระเบิด ตั้งแก๊งรบกวนชาวบ้าน จี้ปล้น และก่อเรื่องร้ายแรงต่างๆ เป็นอันตัดไปได้ทั้งหมด
๒. คุณค่าในฐานะช่องทางการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นเครื่องช่วยผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ในขณะที่รัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ ช่วยลดช่องว่างทางสังคม เป็นที่พึ่งและเป็นความหวังแม้รำไร ของชาวไร่ชาวนาผู้ยากจนจำนวนมากในชนบทห่างไกล และช่วยเชื่อมประสานสังคมเมืองกับชุมชนชนบท เป็นต้น ดังได้พูดมามากแล้วข้างต้น30 รัฐประกาศว่ารัฐจะจัดและส่งเสริมให้มีความเสมอภาคทางการศึกษา ถ้ารัฐหันมาช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ก็เป็นการจับถูกที่ปมของปัญหา ทำให้การแก้ปัญหาเริ่มออกผลได้ทันที และเป็นเครื่องช่วยยืนยันว่า รัฐมีความใส่ใจที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งแสดงผลออกมาที่การศึกษาของวัดนั้น เป็นเหมือนคนไข้ที่มานอนรออยู่ข้างหน้าหมอแล้ว ถ้าหมอคือรัฐบาลไม่ใส่ใจคนไข้นี้ ถึงจะพูดอย่างไรๆ ว่าตนเอาใจใส่จะทำการรักษาคนไข้ ก็มีหลักฐานคอยฟ้องอยู่ชัดๆ ว่ายากที่จะเชื่อถือ แม้จะไปรักษาไข้อื่นจริง ก็ไม่พ้นควรถูกตำหนิ
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับคุณค่าที่กล่าวมานี้หรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยก็จะต้องยอมรับรู้สภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ คือ วัดยังเป็นสถานที่ที่ประชาชนผู้ยากจนในชนบทห่างไกล เข้ามาอาศัยแสวงโอกาสในการศึกษา และถ้าถือว่าสภาพนี้เป็นปัญหา ก็เป็นปัญหาที่สังคมนี้ได้สร้างขึ้นเอง ซึ่งจะคงมีอยู่เรื่อยไป ในเมื่อสังคมยังไม่สามารถ หรือไม่ใส่ใจที่จะกำจัดสาเหตุของมัน จะอย่างไรก็ตาม ในทุกๆ กรณีที่กล่าวมานั้น เหตุผลทุกอย่างจะนำมาสู่ข้อสรุปอย่างหนึ่งอย่างเดียวว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้ มิใช่การหลีกหลบหันหน้าหนีปัญหา มิใช่การว่าด่าติเตียนแสดงความไม่พอใจ แต่เป็นการเข้าจัดทำสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่นั้นให้ดีที่สุด หาคุณค่าจากมันให้ได้มากที่สุด ทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ส่วนใดเป็นปัญหาที่แก้ได้ก็แก้ไขเสีย ที่แก้ไม่ได้ก็หาทางควบคุมให้มีผลเสียน้อยที่สุดหรือพยายามเบี่ยงเบนให้ผลเสียกลับกลายเป็นผลดี
พึงตระหนักว่า พระภิกษุสามเณรจำนวนหลายแสนรูป ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนนี้ ถ้าจัดให้ได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว จะบังเกิดคุณค่าเป็นประโยชน์ แก่ชีวิตบุคคล แก่พระศาสนา และแก่สังคม อย่างมากมายเหลือประมาณ เหตุใดจึงจะทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจ หรือเพิกเฉยเสีย
ได้กล่าวแล้วว่า ท่าทีและการปฏิบัติที่ผิดต่อเรื่องนี้ ซึ่งมีแต่จะซ้ำเติมปัญหาให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น และทำลายคุณประโยชน์ที่พึงได้เสียโดยสิ้นเชิง ก็คือการกระทำที่เป็นการฝืนอย่างทื่อๆ ต่อสภาพความเป็นจริง ทั้งที่รู้ความจริงของประเพณีว่า พระเณรส่วนใหญ่จะต้องสึกไป คงเหลืออยู่เพียงส่วนน้อย และทั้งที่ยังปล่อยให้ประเพณีนั้นคงมีอยู่ ก็ยังขืนไม่นำพาต่อประเพณีและความจริงนั้น ยังขืนจัดให้พระเณรได้รับการศึกษาชนิดที่หลงคิดเอาเองว่าจะทำให้พระไม่สึกอย่างเดียวล้วน ไม่ยอมให้มีโอกาสเตรียมตัวสำหรับวิถีชีวิตของ "ทิด" ที่ดีตามประเพณีซึ่งเขาอาจจะต้องเลือกไป ยิ่งกว่านั้น เพราะมัวแต่ครุ่นคิดที่จะให้การศึกษาชนิดกลัวสึกและกันไม่ให้สึก จึงลืมมองดูคุณค่าของวิชาความรู้ร่วมสมัย ในแง่ที่เป็นเครื่องประกอบช่วยเสริมความสามารถในการปฏิบัติศาสนกิจ และในแง่ที่เป็นสื่อให้ธรรมมีหนทางเดินเข้าถึงพหูชนได้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น ผลก็คือ การศึกษาของวัดรัดตัวแคบเข้าทุกที ผู้ที่ลาเพศสึกออกไปก็ประสบความลำบากยากที่จะนำตัวไปได้ราบรื่น ส่วนผู้ที่บวชอยู่ต่อไป ก็เดินไปในหนทางแห่งศาสนกิจที่นับวันจะคับแคบและแห้งแล้งยิ่งขึ้นทุกทีๆ ผู้ที่ออกไปก็ช่วยนำคนนอกมาเข้าวัดเพิ่มขึ้นไม่ได้ ผู้ที่อยู่ข้างในก็ไม่สามารถนำธรรมออกไปให้คนข้างนอก คนที่เข้ามาแล้วจะออก แต่ไม่มีที่ไป ก็หลบอยู่ไปวันๆ เป็นการศึกษาชนิดที่ ไปก็ไม่ดี อยู่ก็จำใจสักว่าขอไปที จะมีผู้หลุดรอดจากภาวะเช่นนี้ ก็เพียงจำนวนน้อย ซึ่งต้องอาศัยวิริยะอุตสาหะและความดิ้นรนขวนขวายส่วนตนเป็นสำคัญ
ความจริง ในเรื่องการบวชและสึกของพระสงฆ์นั้น เพียงแค่อยู่หรือไม่อยู่ ย่อมไม่มีค่าในตัวเอง ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าอยู่อย่างมีคุณภาพหรือไม่ต่างหาก ถึงจะมีพระสงฆ์เป็นหมื่นเป็นแสน แต่ไม่มีคุณภาพ ก็จะรักษาพระศาสนาไม่ได้ พระสงฆ์แค่ร้อยแค่พัน แต่มีคุณภาพดี ทำคุณประโยชน์ได้มากกว่า ดังนั้น ผู้จัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณร ไม่ควรติดใจห่วงว่าทำอย่างไรจะให้พระอยู่ ทำอย่างไรจะไม่ให้พระสึก แต่ควรตั้งความห่วงไว้ในใจว่า ทำอย่างไรจะให้พระเณรมีคุณภาพดี เมื่อได้พระเณรมีคุณภาพดีแล้ว จะตั้งความห่วงต่อไปอีกก็ได้ว่า จะส่งเสริมอย่างไรให้พระเณรที่มีคุณภาพดีอยู่ได้นานๆ พระเณรที่มีคุณภาพดี ย่อมตัดสินใจได้เองว่าควรจะอยู่หรือควรจะออกไป และการตัดสินใจนั้นก็ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ให้เกิดผลดี ส่วนพระเณรที่ไม่มีคุณภาพ ถึงจะตัดสินใจอย่างไร ไม่ว่าจะอยู่หรือจะไป ก็ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ไม่เกิดผลดี การศึกษาซึ่งตั้งเป้าหมายอยู่ที่จะให้ได้พระเณรที่มีคุณภาพดี ไม่ยกเอาเรื่องสึกหรือไม่สึกขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานนี้ เมื่อจัดในสภาพความเป็นจริงของปัจจุบัน ก็เรียกได้สั้นๆ ว่า การศึกษาแบบอยู่ดีไปดี ตรงข้ามกับการศึกษาแบบ ไปก็ไม่ดี อยู่ก็จำใจสักว่าขอไปที
การศึกษาสงฆ์แบบอยู่ดีไปดี ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่การสร้างพระภิกษุสามเณรให้มีคุณภาพดีนั้น ยอมรับความจริงที่ติดเนื่องมาจากประเพณีบวชเรียนของไทยว่า พระเณรส่วนมากจะสึก พร้อมกันนั้นก็จัดการศึกษา ชนิดที่จะให้ได้พระภิกษุสามเณร ซึ่งมีคุณภาพดีที่สุด ไว้เป็นกำลังของพระศาสนา พยายามจัดกระบวนการฝึกอบรม และสภาพการปฏิบัติศาสนกิจ ในลักษณะที่ช่วยให้พระภิกษุสามเณร มีใจโน้มน้อมในทางที่จะเสียสละอุทิศตัวอยู่ในพระศาสนา แต่ถ้าพระภิกษุที่มีการศึกษาดีแล้วหลายส่วนจะสึกไป ก็ไม่หวงกั้น ไม่กีดกันขัดขวาง เพราะรู้ตระหนักดีว่า เป็นธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของการศึกษาสงฆ์ ในสภาพเช่นนี้ ย่อมจะมีพระภิกษุเหลืออยู่บ้างในพระศาสนาเป็นส่วนน้อย ส่วนผู้ที่ลาเพศสึกไปจำนวนมากนั้น เมื่อยังอยู่ก็เป็นผู้มีประโยชน์ ได้ช่วยทำกิจในการดำรงพระศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของพหูชนกันแล้ว nun: นานปีบ้างน้อยปีบ้าง เมื่อสึกไปแล้ว ก็มีวิชาความรู้ที่จะไปประกอบอาชีพการงานเลี้ยงชีวิตพึ่งตนเองได้ ไม่ไปเป็นตัวเพิ่มปัญหาก่อภาระถ่วงความเจริญของสังคม และไม่กลายเป็นตัวแทน ที่นำภาพพจน์แห่งความเสื่อมค่าด้อยเกียรติมาให้แก่สถาบันวัด แต่สามารถเป็นส่วนร่วมที่ดีในการสร้างสรรค์สังคม และนำเกียรติคุณมาให้แก่พระศาสนา ช่วยเสริมกำลังวงนอกของพระศาสนาได้ด้วย พูดง่ายๆ ว่า วัดในสภาพปัจจุบันนี้ ควรต้องจัดการศึกษา ผลิตกำลังของพระศาสนา ชนิดที่เป็นกำลังของสังคมได้ด้วย
ผู้ที่จัดการศึกษาด้วยความรู้ตระหนักอย่างนี้ จะมีจิตใจเปิดกว้าง มองปัญหาการศึกษาของวัดในปัจจุบันได้ทั่วถึง และจะรับเอาระบบหรือรูปแบบต่างๆ ของการศึกษาสำหรับพระเณร ที่สับสนวุ่นวายอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด เข้ามาจัดได้อย่างดีที่สุด แม้จะมีสภาพการณ์บางอย่างที่ไม่น่าพอใจบ้าง ก็จะมองดูด้วยความเข้าใจ และจะสามารถตะล่อมเข้ามาไว้ภายในขอบเขตที่พอจะยอมรับได้ ข้อสำคัญ กิจการทุกอย่างจะได้รับการดูแลจัดสรร ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการพิจารณาแก้ไข มิใช่ได้แต่นั่งมองดูการศึกษาของวัดแตกแยกกระจัดกระจาย ใครจัดได้จัดเอา ทิ้งให้ปัญหาต่างๆ ทับถมกันซับซ้อนยิ่งขึ้นๆ สร้างแต่คำบ่นว่าแสดงความไม่พอใจขึ้นมาเป็นเครื่องแสดงความรับรู้ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การศึกษาของวัดที่จัดโดยไม่ทอดทิ้งสภาพความเป็นจริง มุ่งสร้างพระภิกษุสามเณรให้มีคุณภาพดีเป็นเป้าหมาย ไม่ถือเอาการกลัวพระสึกมาเป็นเหตุกีดกั้นการเล่าเรียนอย่างนี้ นอกจากจะแก้ปัญหาต่างๆ ของคณะสงฆ์ที่สั่งสมมานานแล้ว ก็จะมีบทบาทเป็นประโยชน์หลายประการ ทั้งแก่พระศาสนาและแก่สังคม ซึ่งขอสรุปกล่าวย้ำไว้อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
๑) บทบาทหลักในฐานะการศึกษาของพระสงฆ์ เพื่อสนองวัตถุประสงค์พื้นฐานทางด้านพระศาสนา แยกย่อยเป็น
ก. ผลิตพระภิกษุสามเณรที่มีคุณภาพดี เป็นกำลังของพระศาสนา
ข. ฝึกอบรมส่งเสริมพระภิกษุสามเณร ให้เจริญงอกงามด้วยความรู้ความประพฤติ และสามารถปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น
ค. เป็นแหล่งค้นคว้าเผยแพร่ความรู้ และการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา
นอกจากบทบาทหลักเพื่อประโยชน์ด้านพระศาสนานี้แล้ว ยังมีบทบาทพ่วง ซึ่งเป็นประโยชน์พลอยได้แก่รัฐและสังคมส่วนรวมอีกด้วย คือ
๒) บทบาทในฐานะที่สืบต่อประเพณีบวชเรียนเดิมของไทย ทำให้วัดเป็นแหล่งการศึกษาของมวลชน ซึ่งมีคุณค่าหลายอย่าง เช่น
ก. ให้การศึกษาที่ใช้เงินลงทุนน้อย ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน
ข. เป็นระบบที่ใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งสถาบันและผู้เล่าเรียน พึ่งพาอาศัยการอุปถัมภ์บำรุงของประชาชนโดยตรง ร่วมสุขร่วมทุกข์กับชาวบ้าน
ค. มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับวัฒนธรรมของประชาชน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ล้วนแต่เป็นที่แสดงออกของวัฒนธรรมไทย
ง. ให้คุณค่าทางศีลธรรมจรรยาสูง
๓) บทบาทในฐานะเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ช่วยผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของรัฐ และช่วยลดช่องว่างทางสังคม ดังได้เคยชี้แจงข้างต้นแล้ว ข้อนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อที่ ๒ แต่มีคุณค่าพิเศษที่ควรแยกกล่าวถึงต่างหาก
ตามประกาศพระราชปรารภ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ทรงระบุชัดว่า จะทรงให้พระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมและวิชาชั้นสูง คือทั้งวิชาเฉพาะฝ่ายพระศาสนา มีภาษาบาลีและหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก เป็นต้น และทั้งวิชาการชั้นสูงของคนร่วมสมัย การจัดให้ศึกษาวิชาความรู้ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อสนองวัตถุประสงค์หลักอย่างเดียวกันคือ เพื่อผลิตพระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ ความประพฤติ ความสามารถ เป็นกำลังที่ดีของพระศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพปัจจุบัน ที่พระภิกษุสามเณรแทบทั้งหมดเป็นชาวชนบทบวชแต่เด็ก ขาดความรู้พื้นฐานในทางสามัญ มักจบการศึกษาเพียงประถมปีที่ ๔ ของภาคบังคับหรือต่ำกว่านั้น การให้ได้เล่าเรียนวิชาสามัญ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่คนที่มีการศึกษาสูง มีพื้นฐานหนักแน่น มาเล่าเรียนหลักธรรม ยังบ่นกันบ่อยว่ามีหลายอย่างที่ยาก เด็กหรือคนจบ ป. ๔ ป. ๗ จะเรียนรู้ธรรมวินัยให้เข้าใจลึกซึ้งเอาดีได้อย่างไร ยิ่งถ้าจะให้เอาธรรมวินัยนั้น ไปอธิบายให้คนจบปริญญาฟังด้วยแล้ว ก็เป็นอันยุติได้ไม่ต้องพูดถึง (จริงอยู่ พระที่เคยเป็นเด็กเรียนจบ ป. ๔ ต่อมาเป็นพระอาจารย์ใหญ่ สอนคนได้ทุกชั้นทุกระดับการศึกษาก็มีอยู่ แต่คิดออกมาเป็นอัตราส่วนอาจจะได้สักแสนละ ๑ รูป และท่านได้ค้นคว้าหาประสบการณ์ของตนเองเพิ่มเติมในระหว่างอีกมากมาย เกินกว่าจะเทียบชั้นเรียน; เพราะมีทัศนะแบบลัทธิคอยโชค มองกันอยู่แค่นี้ สภาพพระศาสนาเมืองไทยของฝ่ายสงฆ์ จึงเป็นเหมือนคนร่างใหญ่โตแต่ง่อยเปลี้ยอยู่อย่างนี้) ยิ่งพระภิกษุสามเณร มีความรู้วิชาการร่วมสมัยกว้างขวางลึกซึ้งเป็นฐานมากเท่าใด ถ้ายังมีความรู้ธรรมวินัยเป็นแกนไว้ ก็ยิ่งมีเครื่องประกอบและสื่อที่จะช่วยให้การศึกษาและการเผยแผ่พระศาสนาได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม วิชาสามัญทางโลกหรือวิทยาการร่วมสมัยนั้น มิใช่จะเป็นประโยชน์เพียงในแง่ที่เป็นความรู้เสริมของพระภิกษุ ผู้เป็นกำลังที่ดีของพระศาสนาเท่านั้น แต่ยังเกื้อกูลแก่บทบาทของวัด ในฐานะที่สืบต่อประเพณีบวชเรียนเก่า และความเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสเช่นกันด้วย คือมิใช่เกื้อกูลที่จะให้เป็นผู้อยู่ดีเท่านั้น ยังเกื้อกูลที่จะให้เป็นผู้ไปดีด้วย นับว่าเป็นผลพลอยได้ที่พึงประสงค์โดยแท้ ปัญหามีเพียงว่า ผู้วางหลักสูตรจะจัดให้เกื้อกูลหนักเน้นไปข้างไหน หรือจะจัดให้สมดุล เป็นคุณทุกฝ่ายได้อย่างไร ซึ่งผู้จัดการศึกษาที่รู้ตระหนักปัญหา รับรู้สภาพความเป็นจริง และเข้าใจจุดมุ่งหมาย ย่อมสมควรเป็นผู้จัดได้ดีกว่าใครๆ
อนึ่ง การจัดการศึกษาของวัดอย่างที่กล่าวมานี้ จำต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐด้วย และทางฝ่ายรัฐนั้น ไม่ว่าจะโดยความรับผิดชอบต่อประชาชนพลเมืองของตนจำนวนหลายแสนที่อยู่ในวัดก็ดี โดยประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในประเทศไทยก็ดี โดยประโยชน์ที่รัฐได้รับจากการศึกษาของวัดโดยตรงก็ดี ย่อมสมควรจะต้องเอาใจใส่ร่วมรับผิดชอบ ที่จะช่วยให้การศึกษาของวัดดำเนินไปด้วยดี และให้ได้ผลตามบทบาทที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะในแง่ผลประโยชน์ที่รัฐได้รับจากสภาพปัจจุบัน ที่วัดกลายเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสนั้น วัดกลายเป็นแหล่งที่ผลิตกำลังคนให้แก่รัฐ โดยรัฐไม่ต้องลงทุน เด็กจากชนบทห่างไกลจำนวนมากในปัจจุบันที่เข้ามาบวช เมื่อได้เล่าเรียนพอได้ชั้นบ้างแล้ว ยังไม่ทันได้ทำงานให้แก่พระศาสนา ก็ออกไปทำงานสร้างผลิตผลให้แก่รัฐ วัดและสถาบันทั้งหลายของฝ่ายสงฆ์ นอกจากไม่ค่อยมีทุนแล้ว ยังไม่ได้รับผลตอบแทนจากงานของตนอีกด้วย จึงเป็นเหตุหนึ่งให้ตกอยู่ในสภาพซูบโทรม อย่างที่เป็นในปัจจุบัน และวัดก็กลายเป็นสถาบันหลัก หรือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดที่ช่วยแก้ไข หรือผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งทางฝ่ายวัดเองก็ไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ ส่วนทางฝ่ายรัฐก็ไม่ยอมรับรู้และไม่สนใจ การปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปเรื่อยๆ ตามบาปตามกรรม ทำกันอย่างไม่รู้ตัว ไม่ตั้งใจ ไม่รับรู้ ไม่สนใจก็ดี การให้วัดทำงานผลิตคนให้แก่สังคมและแก่รัฐ ทั้งที่วัดขาดแคลนทั้งกำลังทุนและกำลังคน โดยรัฐไม่ช่วยเหลือส่งเสริมก็ดี การปล่อยให้พลเมืองจำนวนมาก สูญเสียเวลามากมายไม่คุ้มค่าไปในการศึกษาเล่าเรียน ที่กระท่อนกระแท่นด้อยคุณภาพก็ดี ล้วนเป็นลักษณะของการละเลยและทอดทิ้ง ความประมาทและการขาดความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะทำให้สภาพที่เป็นอยู่นั้นทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ ถ้าพิจารณาในทางธรรม ก็จัดเข้าในความเป็นอยู่ของผู้ถือลัทธินอนคอยโชค ซึ่งเป็นพวกมิจฉาทิฏฐินอกพระพุทธศาสนา
รัฐ ซึ่งเป็นดุจตัวแทนผู้รับผิดชอบแทนสังคม อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติต่อเรื่องนี้ให้ถูกต้อง และช่วยผลักดันให้กิจการต่างๆ หายชะงักติดขัด แล้วดำเนินไปด้วยดี บทบาทที่รัฐควรจะช่วยในเรื่องนี้ได้ นอกเหนือจากการยอมรับรู้สภาพความเป็นจริง และให้ความสนใจ คือ
๑) ช่วยส่งเสริม ให้กำลัง สนับสนุนด้วยทุนทรัพย์ ให้เหมาะสมที่งานจะเป็นไปด้วยดี
๒) ให้ความสำคัญ ถือเป็นกิจการที่รัฐมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบตามประเพณี โดยร่วมมือ ร่วมงาน เสนอแนะ บอกแจ้งความต้องการทางศาสนาของสังคม และกระตุ้นให้มีการแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
๓) รับรองสถานะของระบบและสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้เคว้งคว้างเลื่อนลอยจนบางครั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นการศึกษาเถื่อน และรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาที่จะออกไปสู่สังคม ให้เหมาะสมกับภูมิชั้น
ข้อใดส่วนใด ทางฝ่ายรัฐยังไม่เห็นชัดเจนหรือไม่เห็นด้วย ก็ควรทำคำโต้แย้งคัดค้านชี้แจงออกมาให้จะแจ้ง เพื่อมีโอกาสหารือถกเถียงกันให้กระจ่าง จะได้ไม่เป็นการปฏิบัติด้วยโมหาคติ
ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นตัวอย่าง หรือเป็นตัวแทนที่ดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพการศึกษาของพระสงฆ์ ทั้งในด้านของบทบาท และในด้านของปัญหา
มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นสถานศึกษาใหญ่ที่สุดของพระสงฆ์ มีพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนอยู่จำนวนมาก เช่นในปีการศึกษา ๒๕๒๓ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีพระภิกษุสามเณรเล่าเรียน ๑,๖๕๘ รูป มหามกุฏราชวิทยาลัยมี ๑,๒๗๓ รูป
มหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นแหล่งที่มารวมของพระภิกษุสามเณร ผู้ออกบวชจากทุกถิ่นทุกจังหวัด ในทุกภาคของชนบททั่วประเทศไทย31 ซึ่งเข้ามาอาศัยกระจายกันอยู่ในแทบทุกวัด ทั่วกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง
มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นสถานศึกษากลาง ที่รับพระภิกษุสามเณรผู้ได้เล่าเรียนมาจากสถานศึกษาระบบอื่น แทบทุกระบบของคณะสงฆ์ เช่น จากระบบเปรียญนักธรรม โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ยังได้รับเอาระบบการศึกษาเหล่านั้นหลายอย่าง มาจัดให้ที่ในสถาบันของตนเองอีกด้วย
มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นตัวอย่างของสถาบันการศึกษา ที่จัดหลักสูตรให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษา ทั้งพระปริยัติธรรมมีพระไตรปิฎกเป็นประธาน และวิชาสามัญที่จะสื่อความคิดกันได้กับชนร่วมสมัย เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตกำลังของพระศาสนา สอดคล้องกับพระราชปรารภเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนั้น
มหาวิทยาลัยสงฆ์ ทำหน้าที่เป็นแหล่งค้นคว้าและเผยแพร่การศึกษาและการปฏิบัติธรรม แก่สังฆมณฑลและแก่มวลชนด้วย โดยอำนวยบริการต่างๆ ทางพระศาสนาแก่พระสงฆ์และประชาชนทั่วไป เช่น ดำเนินงานโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การศึกษาภาษาบาลีภาคพิเศษสำหรับประชาชน การแพร่ธรรมและฝึกสมาธิของสำนักธรรมวิจัย โครงการอบรมเฉพาะกิจสำหรับพระภิกษุจากจังหวัดต่างๆ โครงการส่งเสริมพระภิกษุไปปฏิบัติศาสนกิจในส่วนภูมิภาค การส่งวิทยากรไปอบรมจริยธรรมในที่ต่างๆ และการพิมพ์เอกสารเผยแพร่ธรรม เป็นต้น
มหาวิทยาลัยสงฆ์ ช่วยเร่งเร้าให้พระภิกษุสามเณรสนใจ ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี (เปรียญ) และนักธรรมของคณะสงฆ์ ทั้งนี้ เพราะพระภิกษุสามเณรที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะต้องสอบได้เปรียญธรรม ๓-๔ ประโยคมาก่อนแล้ว ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันพระภิกษุสามเณรทั่วไปจะเบื่อหน่าย พยายามหลีกเลี่ยงการเรียนนักธรรมและบาลี แต่เพื่อจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็จึงต้องเอาใจใส่เล่าเรียนจนสอบได้ เป็นการช่วยพยุงการศึกษาบาลีนักธรรมของคณะสงฆ์ไว้ส่วนหนึ่ง (ปัจจุบันผลด้านนี้น้อยลง เพราะสภาพความกดดันด้านต่างๆ ได้ทำให้มหาวิทยาลัยสงฆ์เปิดรับพระภิกษุสามเณร ที่จบการศึกษามาจากสายอื่นแม้ไม่เป็นเปรียญ เข้าศึกษาบ้างแล้วบางส่วน) แม้เมื่อเข้าศึกษาแล้ว การศึกษาภายในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็ช่วยเกื้อกูลส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรเหล่านั้น สอบพระปริยัติธรรมแผนกบาลีได้เป็นเปรียญชั้นสูงขึ้นต่อๆ ไป (จะเห็นว่า ในรัชกาลปัจจุบัน ที่มีผู้สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคแต่เป็นสามเณรได้มากรูปนั้นมักจะเป็นสามเณรที่ศึกษาอยู่ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
มหาวิทยาลัยสงฆ์ ช่วยขยายขอบเขตการศึกษาวิชาพระปริยัติธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเสริมต่อออกไปจากหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ เช่น นอกจากให้ศึกษาวิชาธรรม พุทธประวัติ วินัย เรียงความแก้กระทู้ธรรม บาลีไวยากรณ์ แปลบาลี แต่งบาลี และฉันท์บาลีแล้ว ยังให้ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ วรรณคดีบาลี พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หลักภาษาบาลีชั้นสูง สมถวิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้นอีกด้วย
มหาวิทยาลัยสงฆ์ ช่วยยืดเวลาให้พระภิกษุดำรงสมณเพศ และปฏิบัติศาสนกิจ อยู่ในพระศาสนาเป็นเวลายาวนานมากขึ้น พระภิกษุส่วนมากซึ่งอยู่อย่างเคว้งคว้างเลื่อนลอย เตรียมรอเวลาพร้อมที่จะลาสิกขาสึกออกไปอยู่ทุกขณะ แต่เมื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้ต้องศึกษาเล่าเรียน อยู่ช่วยกิจพระศาสนาต่อไปอีก ๒ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๗-๘ ปีบ้าง จนกว่าจะสำเร็จการศึกษาแต่ละระดับ ซึ่งจำนวนมากจะยืดเวลาอยู่ออกไป ๗-๘ ปี จนกว่าจะสำเร็จอุดมศึกษา ครั้นสำเร็จปริญญาแล้ว ก็มีระเบียบบังคับให้ไปปฏิบัติศาสนกิจในท้องถิ่นที่สถาบันส่งไปอีกอย่างน้อย ๑ ปี พ้นจากนี้ไปแล้วแม้ว่าส่วนมากจะลาสิกขา แต่อัตราส่วนก็ไม่แตกต่างไปจากการสึกของพระภิกษุ ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมสายบาลีเป็นเปรียญธรรมของคณะสงฆ์ส่วนกลาง32(ตามปกติ พระที่จบมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เป็นพระเปรียญธรรมนั่นเอง)
มหาวิทยาลัยสงฆ์ ช่วยให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติตามหลักการอยู่ดีไปดีได้สำเร็จผลมากขึ้น ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ยังคงดำรงสมณเพศอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้รับการส่งเสริมจากคณะสงฆ์ส่วนกลาง ก็สามารถเข้าช่วยศาสนกิจของคณะสงฆ์ท้องถิ่นได้ทุกรูปแบบ สอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีของคณะสงฆ์เองบ้าง ช่วยงานบริหารของเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ตลอดจนอยู่เป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการเองบ้าง จัดดำเนินงานการศึกษา และกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เช่น โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์บ้าง เป็นสื่อเชื่อมโยงให้คนเก่ากับคนใหม่ ความคิดเก่ากับความคิดใหม่ งานแบบเก่ากับงานแบบใหม่ เข้ากันและประสานกันได้บ้าง ที่เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและฉลาด ก็สามารถโน้มน้อมท่านผู้ใหญ่ของตน ให้หันมารับเอาความคิดและวิธีการใหม่ๆ ที่แยบคายเข้ามาใช้ในกิจการพระศาสนา เป็นผู้เชื่อมต่อยุคสมัยได้ ปัจจุบันมีการติดต่อทางพระศาสนากับต่างประเทศมากขึ้น และมีวัดไทยในต่างประเทศเกิดขึ้นหลายแห่ง การพระศาสนาก็ได้อาศัยพระบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ไปเตรียมปูทางและสืบต่องานไว้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ที่ลาเพศสึกไป แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากรัฐและไม่ได้รับความสนับสนุนจากคณะสงฆ์ ก็พอจะสามารถขวนขวายเพียรพยายามช่วยตัวเอง ประคับประคองตนให้เข้าถึงฐานะที่เป็นอยู่รอดได้ หลายท่านก็สามารถประกาศเกียรติคุณของพระศาสนา เชิดชูภาพของวัดให้อยู่ในภาวะน่านิยมนับถือ ทำงานที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ อย่างน้อยก็ไม่เป็นผู้ชักพาภาพวัดที่ติดตัวไป ให้ลงสู่ภาวะตกต่ำจนเกินควร ไม่ให้สังคมชาวบ้านตราหน้าวัดและคณะสงฆ์ได้ว่า รับเด็กเข้ามาจากท้องไร่ท้องนาแล้ว ก็ไม่เอาใจใส่ฝึกฝนพัฒนา จะเอาไว้จรรโลงพระศาสนาก็ทำไม่ได้ จะปล่อยออกมาก็ไม่ทำให้สามารถพึ่งตัวเอง ต้องให้มาเป็นภาระเพิ่มปัญหาถ่วงการพัฒนาของสังคม (บางคนอาจกล่าวหาเลยต่อไปอีกว่า แม้แต่คนที่เขาเข้าไปให้ฝึกถึงข้างในเองแล้วก็ยังไม่ช่วยอะไร ทำให้เขาดีขึ้นไม่ได้ แล้วจะมาสั่งสอนชาวบ้านช่วยเขาแก้ปัญหาในสังคมข้างนอกได้อย่างไร)
บางท่านคงจะทักท้วงว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็มีปัญหาและข้อบกพร่องมิใช่น้อย แม้ผลดีที่ว่ามานั้นหลายอย่างก็ยังไม่สำเร็จถึงขั้นที่น่าพอใจ เรื่องนี้หลายข้อก็เป็นความจริง ซึ่งต้องยอมรับและแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป แต่ข้อสำคัญคือ ว่าโดยหลักการคงต้องยอมรับว่า การศึกษาแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ เป็นระบบซึ่งเข้าแนวที่จะเสนอบทบาท และสนองวัตถุประสงค์ของการศึกษาสงฆ์ ชนิดที่พึงปรารถนาได้โดยสมบูรณ์ ในเมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เป็นสถาบันที่มีอยู่แล้ว ถึงจะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอะไรอยู่บ้าง ก็ควรมองหลักการใหญ่เป็นสำคัญ หันมาช่วยกันจัดช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปด้วยดี (หรือถ้าไม่ยอมรับการแก้ไขปรับปรุงก็ยุบเลิกเสียให้เสร็จสิ้นไป แล้วจัดตั้งปรุงแต่งกันขึ้นใหม่ให้ได้ดี ไม่ใช่ปล่อยทิ้งปัญหาให้ค้างคากันอยู่ จนจะเดินไปทางไหน ก็ไปไม่ได้ อย่างที่เป็นเวลานี้)
ปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งตามปกติไม่ควรจะเป็นปัญหาสำคัญ แต่กลับถูกขับให้เด่นขึ้นมา จนมักจะกลบปัญหาอื่นๆ ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ การที่รัฐยังไม่รับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ปัญหานี้มองดูเผินๆ จะสัมพันธ์โดยตรงกับบทบาทในการสืบต่อประเพณีบวชเรียนเดิมของไทย โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นช่องทางการศึกษา ซึ่งอำนวยโอกาสทางสังคมแก่กุลบุตรที่มาบวช คือ การรับรองปริญญา เพื่อให้ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว ที่ลาเพศออกไป สามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพการงาน ทำประโยชน์แก่ตนและสังคมได้อย่างเหมาะสมกับภูมิชั้นแห่งการศึกษาของตน แต่ความจริง ปัญหานี้สัมพันธ์กับบทบาทพื้นฐานในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ทีเดียว คล้ายกับฐานะของพระภิกษุแต่ละรูป ฐานะของวัดและฐานะของคณะสงฆ์เอง ซึ่งต้องอาศัยการยอมรับของรัฐโดยนิตินัย เหตุผลในเรื่องนี้เป็นสิ่งสามัญที่พึงทราบได้อย่างตื้นๆ พื้นๆ มิใช่ต้องใช้ความคิดลึกซึ้งอะไรนัก เพราะการที่จะถือว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นๆ มีอยู่จริงในประเทศไทยก็ดี มหาวิทยาลัยสงฆ์มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ ณ ส่วนใด ของระบบการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันก็ดี การที่มหาวิทยาลัยสงฆ์จะติดต่อเกี่ยวข้องกับกิจการพระศาสนาด้านอื่นๆ และกิจการทั้งหลายของบ้านเมือง ได้ถูกต้องโดยทางการก็ดี การที่มหาวิทยาลัยสงฆ์จะมีบทบาทในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในด้านกิจการศาสนศึกษา หรือเชิดชูเกียรติคุณของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยประการหนึ่งประการใดก็ดี ล้วนต้องมีฐานะที่รัฐรับรองเป็นพื้นฐานที่จะแสดงตัวทั้งสิ้น
การที่ปัญหาการรับรองสถานภาพตลอดจนปริญญา กลายเป็นปัญหาโดดเด่นขึ้นมาจนข่มปัญหาอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้ว คือ การมีฐานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมเป็นความจำเป็นพื้นฐานของสถาบัน และการมีภูมิชั้นความรู้ที่รัฐรับรอง ย่อมเป็นความจำเป็นเบื้องต้นของบุคคล ในการที่จะนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการซึ่งเป็นทางการ ในเมื่อคณะสงฆ์ก็ดี รัฐก็ดี ไม่ยอมรับหรือแม้แต่สนใจต่อความจำเป็นพื้นฐาน และความต้องการเบื้องต้นนี้ ก็ย่อมกลายเป็นการสร้างแรงกดดัน ทำให้พระภิกษุสามเณรระดมความสนใจและความขวนขวาย มารวมอยู่ที่ประเด็นปัญหานี้เป็นพิเศษ และหาทางเรียกร้องความสนใจโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ให้ความจำเป็นและความต้องการนั้นได้รับการตอบสนอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบทบาทหลัก เช่น ทำอย่างไรจะให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ความเข้าใจธรรมวินัยลึกซึ้งมากขึ้น ทำอย่างไรจะให้มีผู้สำเร็จการศึกษา ที่จะอุทิศตัวอยู่ในพระศาสนาตลอดไปมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ซึ่งความจริงก็เป็นปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ถูกบดบังเสีย ไม่สามารถจะเด่นขึ้นมา ดังนั้นเรื่องการรับรองฐานะ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานนี้ จึงควรได้รับการจัดให้เสร็จสิ้นไปเสีย เพื่อจะได้มีโอกาสให้ความสนใจแก่ปัญหาสำคัญอย่างอื่นต่อไป รัฐซึ่งเป็นใหญ่ในการตัดสินปัญหานี้ จะปฏิบัติต่อปัญหาได้ถูกต้อง ทำให้เรื่องยุติลงได้ด้วยดี ก็ต่อเมื่อรัฐยอมรับสภาพความจริงที่เป็นอยู่ รู้จักประเพณีบวชเรียนของไทยเดิม เข้าใจประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกิจการศาสนศึกษาของพระสงฆ์ มองเห็นคุณค่าของการศึกษาสงฆ์ตามหลักการอยู่ดีไปดี ที่มุ่งสร้างพระภิกษุสามเณร ให้มีคุณภาพดีเป็นสำคัญ และมีความจริงใจและตั้งใจจริง ที่จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง พ้นจากประเด็นหลักเหล่านี้ไปแล้ว ปัญหาทั้งหลายเกี่ยวกับการรับรองหรือไม่นี้ ล้วนเป็นข้อปลีกย่อยหรือเป็นเรื่องเกร็ดฝอย ซึ่งจะแก้ไขปรับรูปให้ลงตัวกันได้ไม่ยาก ถ้าทางฝ่ายรัฐจะยอมหันหน้าเข้ามาร่วมปรึกษาพิจารณากับฝ่ายพระสงฆ์ ไม่เอาแต่คอยหลีกหลบ กลบ หรือปัดปัญหา อย่างที่เคยเป็นมา
เรื่องที่ว่านี้ ควรเป็นเครื่องเตือนสติทางฝ่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปด้วยพร้อมกัน ให้ระลึกและเตรียมพร้อมด้วยความไม่ประมาทว่า เมื่อใดปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับการรับรองฐานะนี้ผ่านพ้นไปได้แล้ว เมื่อใดความจำเป็นพื้นฐานหรือความต้องการเบื้องต้นได้รับการตอบสนองแล้ว เมื่อนั้นปัญหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่และบทบาทหลักในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ก็จะปรากฏหรือผุดเด่นชัดขึ้นมาแทน เมื่อนั้นปัญหาที่ประดังมาให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องขบคิดพิจารณาอยู่ตลอดเวลา จะได้แก่คำถามจำพวกที่ว่า จะจัดเนื้อหาวิชาและฝึกอบรมอย่างไร จึงจะให้พระภิกษุสามเณรมีใจโน้มน้อมในทางที่จะครองสมณเพศ อุทิศชีวิตในพระศาสนาจำนวนมากขึ้น จะปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการสอนอย่างไร จึงจะได้พระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ลึกซึ้งเชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย จึงจะได้พระบัณฑิตที่สามารถในการสั่งสอนเผยแพร่ธรรม จึงจะได้ผู้จบการศึกษาที่สอนได้ทั้งปริยัติและการปฏิบัติสมถวิปัสสนา ทำอย่างไรจะได้ครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ตลอดจนว่าทำอย่างไร จะให้พระภิกษุสามเณรที่เป็นนิสิตนักศึกษานักเรียน เป็นผู้เคร่งครัดในระเบียบวินัย สมบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติ และให้ได้พระบัณฑิตผู้เพียบพร้อมด้วยสัมมาปฏิบัติ มีจริยาวัตรน่าเลื่อมใสศรัทธา และสามารถในศาสนกิจ ดังนี้เป็นต้น ความจริงปัญหาเหล่านี้ย่อมมีเป็นพื้น และเป็นเรื่องที่จะต้องใส่ใจพิจารณาโดยปกติเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่ว่านั้น สภาพการณ์ทั้งภายนอกและภายใน จะเร่งเร้าให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องเพ่งความสนใจ และระดมแรงงานมาให้กับปัญหาเหล่านี้
เมื่อมองเป็นกลางๆ อย่างคนนอก โดยพิจารณาตามสภาพและเหตุผลต่างๆ เท่าที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็จะคำนึงถึงภาวะปัจจุบันของมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยความเข้าใจ แม้ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์จะมีจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ความไม่เรียบร้อยงดงามบางอย่าง การบำเพ็ญบทบาทที่ยังไม่สมบูรณ์ และผลดีที่ยังไม่ถึงขั้นน่าพอใจหลายประการ แต่เมื่อมองเทียบกับอุปสรรค ข้อขัดข้อง และปัญหาใหญ่ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์เผชิญอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องบีบคั้น เป็นแรงกดดันอันหนักหลายๆ ด้าน ก็จะตั้งความรู้สึกในทางที่มีความเห็นใจ และเห็นตระหนักในคุณค่าแห่งบทบาทและกิจกรรมทั้งหลายของมหาวิทยาลัยสงฆ์ เท่าที่ได้บำเพ็ญมาแล้วและกำลังปฏิบัติอยู่ เช่นว่า แม้ด้วยกำลังทุนทรัพย์เพียงเท่านี้ ด้วยกำลังคนเพียงเท่านี้ ด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่และสภาพแวดล้อมอย่างนี้ ด้วยการเพิกเฉย ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนของทางการ ที่กดบีบตลอดระยะยาวนานถึงอย่างนี้ พระภิกษุสามเณรทั้งที่ทำงานและเล่าเรียนก็มิได้มีปฏิกิริยารุนแรง ยังอดทนอดกลั้นมาได้ถึงเพียงนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ยังผลิตพระภิกษุสามเณรออกมาเป็นกำลังในศาสนกิจต่างๆ ของพระศาสนาได้กว้างขวางเพียงนี้ ได้ช่วยชุบชีวิตเชิดชูส่งเสริมเยาวชนจากชนบทห่างไกลให้มีโอกาสพัฒนาความสามารถของตนออกมาใช้เป็นประโยชน์ แก่พระศาสนาและสังคมประเทศชาติได้เป็นจำนวนมากมายถึงเพียงนี้ และเอื้ออำนวยบริการการศึกษา ค้นคว้าทางพระศาสนา การเผยแพร่ปริยัติและปฏิบัติ และการสั่งสอนศีลธรรมจรรยาแก่มวลชนได้ถึงเพียงนี้ ดังนี้เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น เมื่อได้ล่วงรู้ลึกซึ้งลงไปถึงความเสียสละอุทิศตัวของพระสงฆ์ แม้จะบางรูปหรือบางส่วน ที่ได้ผลักดันให้กิจการที่หนักเกินตัว สำเร็จผลขึ้นมาได้ถึงอย่างนี้ เมื่อพิจารณาเห็นตระหนักแล้ว ก็จะเกิดความซาบซึ้งมีศรัทธามากยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อว่าโดยความรับผิดชอบจากข้างในออกมา คือเมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือพระภิกษุสามเณรในมหาวิทยาลัยสงฆ์มองตนเอง ก็พึงคำนึงแต่จะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเท่านั้น ไม่พึงนึกที่จะรอความเห็นใจจากใครๆ ไม่พึงยอมให้การไม่ยอมรับ ความไม่เอื้อเฟื้อสนับสนุนของคณะสงฆ์ก็ตาม ของรัฐก็ตาม เป็นแรงกดดันบีบคั้น ที่จะทำให้กิจการและความประพฤติของตนย่อหย่อนด้อยคุณภาพลงไป ผู้สอน ผู้บริหารงาน และผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ก็พึงคำนึงแต่จะผลิตพระภิกษุสามเณรให้มีคุณภาพดีที่สุด และบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและสังคมให้มากที่สุด ส่วนผู้ศึกษาเล่าเรียนก็พึงพยายามรักษาระเบียบวินัย ดำรงสมณวัตรอันงดงามไว้ให้เข้มแข็งมั่นคงที่สุด ความจริง การปฏิบัติให้บกพร่องย่อหย่อนด้วยความท้อถอยอ่อนล้าก็ดี ด้วยเป็นปฏิกิริยาหรือเป็นข้ออ้างก็ดี ต่อการเพิกเฉย การไม่ยอมรับ และการไม่เอื้อเฟื้อช่วยให้กำลัง จากคณะสงฆ์หรือจากรัฐ ย่อมไม่ช่วยให้ได้รับผลดีแต่อย่างใด เพราะคณะสงฆ์และรัฐมิใช่เป็นดังบิดามารดา ผู้มีเมตตากรุณาที่จะช่วยโอบอุ้มลูกเมื่ออ่อนแอ แต่การมีผู้สำเร็จการศึกษาที่ทรงความรู้ความสามารถอย่างสูงทั้งทางปริยัติ ปฏิบัติ การสั่งสอนและการทำหน้าที่การงานทั่วๆ ไป การบำเพ็ญศาสนกิจ หรือสาธารณประโยชน์จนปรากฏคุณค่าอย่างสูง ความมีพระภิกษุสามเณรนิสิตนักศึกษานักเรียนที่งดงามด้วยศีลวัตร ระเบียบวินัยและใฝ่ศึกษา พร้อมทั้งศรัทธาของประชาชน องค์ประกอบเหล่านี้ต่างหาก จึงจะมีผลย้อนกลับไป กลายเป็นแรงกดดัน ทำให้คณะสงฆ์และรัฐที่ยังมีสติปัญญาและคุณธรรม ต้องหันมาใส่ใจพิจารณายอมรับความจริง
อนึ่ง มหาวิทยาลัยสงฆ์จะต้องระลึกไว้เสมอ ด้วยความไม่ประมาทว่า กาลเวลาแห่งความผัดเพี้ยนรอคอย หรือเหตุปัจจัยอื่นๆ อาจนำสถานการณ์มาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งความเพิกเฉย การไม่ยอมรับ และการไม่ส่งเสริมสนับสนุนของรัฐและของคณะสงฆ์ จะกลายเป็นภาวะที่ทำให้ไม่อาจมีความหวังอีกต่อไป หรือทำให้ตัดสินได้ว่าไม่พึงมีความหวังอีกต่อไป และจะต้องเตรียมทางเลือกอย่างอื่นไว้ สำหรับที่จะดำรงตนอยู่ได้อย่างเป็นอิสระ โดยไม่ต้องขึ้นต่อการยอมรับ และการสนับสนุนของรัฐและของคณะสงฆ์นั้น เพื่อภาวะเช่นนี้ คุณภาพที่ดีของผู้สำเร็จการศึกษา คุณค่าที่ปรากฏของผลงานที่เป็นคุณประโยชน์ และสมณภาวะที่น่าเลื่อมใสศรัทธาของพระภิกษุสามเณรผู้เล่าเรียนนี่แหละ จะเป็นองค์ประกอบที่แข็งแรงมั่นคง สำหรับสร้างฐานไว้รองรับตัวให้ดำรงอยู่ต่อไปด้วยดี ในเมื่อสถานการณ์นั้นมาถึง
๑. ในด้านระบบการศึกษา การศึกษาที่พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนกันอยู่ในปัจจุบันมีมากมายหลายอย่าง และส่วนมากไม่สัมพันธ์กัน เหมือนกับว่ามีหลายระบบหรือไม่มีระบบ เลยทำให้เกิดความรู้สึกสับสนและความไม่มั่นใจแก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ทั้งที่เป็นผู้เล่าเรียนและผู้เกี่ยวข้องในการให้การศึกษา และเป็นที่มาสำคัญของความไม่เรียบร้อย ความหย่อนประสิทธิภาพ ตลอดจนปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับกิจการในวงการพระศาสนาสมัยปัจจุบัน
โดยสรุป การศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน จัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
๑) การศึกษาที่เป็นระบบของคณะสงฆ์เองโดยเฉพาะ เป็นอิสระต่างหากจากระบบของรัฐ โดยทางการคณะสงฆ์เป็นผู้จัดดำเนินการเอง
- แผนกธรรม ได้แก่ นักธรรมและธรรมศึกษา (มี ๓ ชั้นคือ ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก)
- แผนกบาลี ได้แก่ เปรียญธรรม (มี ๙ ชั้น คือประโยค ๑-๒ ถึงประโยค ป.ธ. ๙)
๒) การศึกษาที่อยู่ในระบบของรัฐ หรือจัดให้สอดคล้องกับระบบของรัฐ แยกเป็น
ก. การศึกษาทางฝ่ายคณะสงฆ์ที่จัดให้สอดคล้องกับระบบของรัฐ โดยหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลในพระศาสนาเป็นผู้จัดดำเนินงาน ได้แก่
- การศึกษาที่คณะสงฆ์รับเข้าเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่ง คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
- การศึกษาที่รัฐกำหนดขึ้นตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ ได้แก่ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
ข. การศึกษาในระบบของรัฐ ซึ่งหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลจัดให้แก่พระภิกษุสามเณร โดยขออนุญาตจากรัฐ ได้แก่ การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร
๓) การศึกษาที่จัดขึ้นเป็นอิสระต่างหากจากระบบของคณะสงฆ์และระบบของรัฐ ได้แก่ จิตตภาวันวิทยาลัย โรงเรียนอภิธรรม เป็นต้น
การศึกษาตามระบบของคณะสงฆ์ในข้อ ๑) เป็นการศึกษาที่กำหนดให้ หรือการศึกษาที่กำหนดว่าพระภิกษุสามเณรพึงศึกษา ส่วนการศึกษาในข้ออื่นๆ เป็นทางเลือกที่พระภิกษุสามเณรผู้ต้องการและมีคุณสมบัติ อาจเลือกศึกษาได้ หรือเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักนั้นๆ คำว่า "การศึกษาพระปริยัติธรรม" โดยทั่วไป หมายถึงการศึกษาตามระบบของคณะสงฆ์ ในข้อ ๑) นั้น
๒. ในด้านการบริหารและดำเนินงาน มีข้อสังเกตสำคัญ เกี่ยวกับการศึกษาพระปริยัติธรรม ๓ อย่างคือ
ก. คณะสงฆ์รับผิดชอบเฉพาะการจัดสอบ หรือการวัดผลอย่างเดียว ไม่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา การจัดให้มีการเล่าเรียน การบริหารและการดำเนินงาน เป็นเรื่องของวัดหรือท้องถิ่นนั้นๆ
ข. คณะสงฆ์เน้นการศึกษาแนวดิ่ง คือ การสอบผ่านขั้นการศึกษาสู่ระดับสูงตามลำดับ และผลการศึกษาตามมาตรฐานของแต่ละขั้น ไม่เน้นการศึกษาแนวราบ คือไม่พุ่งความสนใจมาสู่ปัญหาที่ว่า พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาแล้วได้รับการศึกษาทั่วถึงหรือไม่
ค. การจัดการศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ใช้วิธีรวมทุนรวมกำลัง และไม่ใช้วิธีกระจายทุนกระจายกำลัง แต่ใช้วิธีที่ว่าวัดไหนมีทุนมีกำลัง (เช่นมีผู้เรียนและมีผู้สอน) ก็จัดการเรียนการสอนขึ้น วัดไหนไม่มีทุนไม่มีกำลัง หรือปีใดหมดทุนหมดกำลังก็ไม่จัด
เนื่องจากสาเหตุ ๓ ประการนี้โดยตรงหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันนี้ได้เกิดมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาพระปริยัติธรรมดังต่อไปนี้
๑) การศึกษาพระปริยัติธรรมไม่แพร่หลายทั่วถึง ยิ่งในชนบทซึ่งเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว วัดจำนวนมากมายหรือส่วนมาก ไม่มีการสอนเลยแม้แต่ชั้นต่ำสุด พึงสังเกตว่า
- พระภิกษุสามเณรจำนวนมากเข้าสอบประจำปี ตามบัญชีที่วัดส่งเข้าสอบ โดยไม่ได้เล่าเรียนเป็นกิจจะลักษณะเลย (ยิ่งชั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งใช้วิธีถึงเวลาก็เข้าสอบมากยิ่งขึ้น)
- ตามสถิติแสดงว่า วัดจำนวนมากขาดผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าอาวาส มีแต่ผู้รักษาการเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสก็ดี ผู้รักษาการเจ้าอาวาสก็ดี จำนวนมากไม่มีวุฒิทางพระปริยัติธรรมเลย ทำให้ชุมชนชนบทขาดผู้นำที่มีคุณภาพ
๒) พระภิกษุสามเณรที่ต้องการศึกษาเล่าเรียน หลั่งไหลจากชนบทเข้าในเมืองและในกรุง เพื่อแสวงหาสถานที่เล่าเรียนปีละจำนวนมากมาย
- ก่อปัญหาแก่วัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ในการที่จะรับพระภิกษุสามเณรและจัดเสนาสนะให้เหมาะสม นอกจากนั้น จำนวนผู้หลั่งไหลเข้ามาที่มีจำนวนมาก ทำให้ประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ในการคัดเลือกผู้สามารถแล้วติดต่อส่งเข้าศึกษาในสำนักที่เจริญกว่า กำลังจะหมดสิ้นไป กลายเป็นพระภิกษุสามเณรเดินทางไปหาวัดอยู่กันเอง34 บางทีทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องออกไปอีกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าสำนักหรือเจ้าวัดที่ไม่รับเข้าหรือรับเข้ายาก
- พระพุทธศาสนาในชนบท ซึ่งอ่อนกำลังอยู่แล้ว ยิ่งอ่อนแอหนักลงไปอีก
- พระภิกษุสามเณรที่มีการศึกษา มาแออัดกันอยู่ในเมืองและในกรุง ไม่มีโอกาสบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและชุมชน สังคม หรือประเทศชาติเท่าที่ควร
๓. ในด้านผู้รับการศึกษา มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความขัดแย้งต่างๆ ดังนี้
ก. เกิดความขัดแย้งในด้านความต้องการ เพราะการศึกษาที่คณะสงฆ์จัดให้ ไม่สนองความต้องการของพระภิกษุสามเณร พระภิกษุสามเณรไม่สนใจ กลับไปสนใจการศึกษาที่คณะสงฆ์เห็นว่าไม่พึงประสงค์ จะเห็นได้จากจำนวนเปรียบเทียบ ระหว่างผู้เข้าสอบปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ กับนักเรียน (ภิกษุสามเณร) ศึกษาผู้ใหญ่ ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ และ พ.ศ. ๒๕๑๗ (อันเป็นระยะเวลาที่การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณรเป็นปัญหาหนักใจและไม่เป็นที่พึงประสงค์ของคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก)35 ดังนี้
๒๕๑๕ | ๒๕๑๗ | |
ผู้เข้าสอบปริยัติธรรมแผนกบาลี | ๑๑,๙๒๗ | ๑๒,๙๘๖ |
นักเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณร36 | ๑๓,๐๒๓ | ๒๕,๔๔๘ |
ยิ่งกว่านั้น ในจำนวนนักเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลีเอง จำนวนนักเรียนที่ส่งเข้าสอบ กับจำนวนที่เข้าสอบจริง ยังต่างกันออกไปอีกเป็นอันมาก ผู้เข้าสอบจริงมีน้อย และผู้สอบได้ยิ่งน้อยลงไปอีก ดังตัวเลขในปี ๒๕๑๘ (พึงสังเกตตัวเลขเฉพาะของบางชั้น)
ส่งเข้าสอบ | ขาดสอบ | คงสอบจริง | สอบได้ | |
ประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ. ๙ | ๑๑,๙๒๖ | ๓,๘๐๗ | ๘,๑๑๙ | ๒,๕๖๙ |
เฉพาะ ป.ธ. ๓ ถึง ป.ธ. ๙ | ๕,๖๙๑ | ๒,๐๑๕ | ๓,๖๗๕ | ๑,๔๖๒ |
เฉพาะ ป.ธ. ๖ | ๘๔๒ | ๓๕๓ | ๔๘๙ | ๑๒๔ |
เฉพาะ ป.ธ. ๗ | ๒๘๔ | ๑๑๑ | ๑๗๓ | ๑๖ |
จะเห็นได้ว่า จำนวนรวมที่ส่งเข้าสอบใน พ.ศ. ๒๕๑๘ กลับลดลงไปเกือบเท่ากับ พ.ศ. ๒๕๑๕ และในชั้นสูงขึ้นไป จำนวนผู้ขาดสอบมีจำนวนมาก บางทีถึงเกือบครึ่งต่อครึ่ง ตรงข้ามกับตัวเลขฝ่ายการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเข้าสอบจริงเกือบร้อยทั้งร้อย
ข. ผู้บวชเข้ามาในพระศาสนา และเริ่มเรียนพระปริยัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นสามเณรอายุ ๑๒ ขวบ หรือพระภิกษุอายุ ๒๑ ปี หรือบวชเมื่อชราอายุ ๖๐ ปี ไม่ว่าวัยจะต่างกันเท่าใด พื้นฐานการศึกษา และประสบการณ์จะต่างกันอย่างไรก็ตาม จะบวชอยู่ระยะสั้นหรือนานเท่าใดก็ตาม ก็ต้องเรียนชั้นเดียวกัน เรียนวิชาเดียวกัน เนื้อหาวิชาอย่างเดียวกัน ตามหลักสูตรเดียวกัน จึงยากที่จะให้การศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี แม้ว่าจะมีบางสำนักที่จัดหลักสูตรนวกะแยกต่างหากโดยเฉพาะ ก็มีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง จะนับเข้าในที่นี้หาได้ไม่
๔. ในด้านคุณภาพและสัมฤทธิผล มีข้อที่ควรกล่าวถึง คือ
ก. การศึกษาพระปริยัติธรรม มีคุณค่า ความหมาย และความสำคัญ ต่อสังคมและชีวิตของคนสมัยปัจจุบันน้อยลงโดยลำดับ คนสมัยนี้โดยทั่วไปไม่รู้สึกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมเกี่ยวข้องหรือจะอำนวยประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่ชีวิตของเขา หรือแม้แต่จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมแห่งชนชาติเดียวกับเขาด้วย รัฐและสังคมค่อยๆ ลดความยอมรับและความสนใจลงทุกที จนถึงขั้นที่แทบจะไม่รู้จัก แม้จะมีการรื้อฟื้นให้เทียบกับขั้นการศึกษาในระบบของรัฐอีก ก็เป็นไปอย่างฝืนๆ มิใช่เกิดจากการมองเห็นความเหมาะสมที่ควรจะต้องเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ยิ่งเป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรในวัยเล่าเรียนละเลยการศึกษาพระปริยัติธรรม หันไปดิ้นรนใฝ่หาการศึกษาที่เรียกว่าทางโลกมากยิ่งขึ้น
ข. มีความรู้สึกกันอย่างแพร่หลาย และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้างว่า
๑) การศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ไม่เพียงพอที่จะสร้างพระภิกษุสามเณรให้เป็นศาสนทายาทที่ดี โดยเฉพาะในด้านความสามารถที่จะปฏิบัติศาสนกิจให้ได้ผลในสังคมปัจจุบันเช่น การเผยแผ่สั่งสอนธรรมแก่ผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างสมัยใหม่เป็นต้น
๒) ส่วนการศึกษาอย่างอื่นๆ สำหรับพระภิกษุสามเณรในแบบสมัยใหม่ หรือที่สอดคล้องกับระบบของรัฐ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผลิตพระภิกษุสามเณรเพื่อให้ลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพบ้าง บางระบบไม่มีการศึกษาทางด้านธรรมเลย และทำให้พระภิกษุสามเณรที่กำลังเล่าเรียน มีความประพฤติและกิริยามารยาทไม่เหมาะสมกับสมณเพศบ้าง
๕. ในด้านนโยบายและขอบเขตของบริการศาสนศึกษา ในระยะเวลาประมาณ ๑ ศตวรรษ นับแต่การศึกษาสำหรับทวยราษฏร์ได้แยกออกไปจากวัดแล้วนั้น กล่าวได้ว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ได้มีนโยบาย และขอบเขตของบริการจำกัดแคบลงเป็นอันมาก โดยมุ่งให้การศึกษาอบรมแก่บุคคลที่อยู่ในวงในของพระศาสนาอยู่แล้ว อันได้แก่พระภิกษุสามเณร (ยกเว้นธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งก็นับว่ายังไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่จะกล่าวในข้อนี้) และเน้นการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิตภายในวัดหรือชีวิตเกี่ยวกับวัดเป็นสำคัญ บุคคลบางประเภทที่ควรอยู่ในข่าย จึงขาดประโยชน์บางอย่างที่พึงได้ โดยเฉพาะที่ควรกล่าวถึงในที่นี้คือ
๑) ในปีหนึ่งๆ มีชายหนุ่มบวชชั่วคราวตามประเพณี ประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน ชายหนุ่มเหล่านี้เป็นพระภิกษุอยู่ในวัด ประมาณ ๓ เดือน ก็ลาสิกขากลับไปดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมคฤหัสถ์ตามเดิม แต่พระภิกษุชั่วคราวเหล่านี้จำนวนมาก ไม่มีโอกาสเรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างเพียงพอ และถึงแม้ได้เรียนก็ต้องเรียนในชั้นเรียนและวิชาเดียวกันกับผู้ที่จะบวชอยู่ในระยะยาว ขาดการเรียนรู้ในแง่ที่จะให้มองเห็นคุณค่า และความหมายที่จะนำไปใช้ดำเนินชีวิตภายในและเพื่อประโยชน์แก่สังคมปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันนี้ระบบบวชชั่วคราวนิยมตัดให้สั้นลงอีกเป็น ๑ เดือน ครึ่งเดือน หรือแม้แต่สัปดาห์เดียว ผู้บวชชั่วคราวจำนวนไม่น้อย จึงไม่ได้เล่าเรียนอะไรเลย เพราะไม่มีหลักสูตรพิเศษระยะสั้นไว้ให้ เว้นแต่บางวัดที่ให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ และมีความสามารถจัดทำ แต่ก็เป็นเรื่องจำเพาะของสำนักนั้นๆ
๒) สมาชิกสำคัญส่วนหนึ่งของวัด คือศิษย์วัด ซึ่งทั่วประเทศปัจจุบันมีจำนวนมากมายประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน (ใกล้เคียงกับจำนวนสามเณรทั่วประเทศ) แต่มักถูกมองข้าม เพราะศิษย์วัดหรือเด็กวัดเหล่านี้ เป็นนักศึกษาและนักเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ คณะสงฆ์จึงเห็นว่าอยู่นอกวงความรับผิดชอบในทางการศึกษา และไม่ได้วางนโยบาย หลักการ ตลอดจนหลักสูตรเกี่ยวกับการศึกษาของศิษย์วัดไว้ (บางวัดมีการฝึกอบรมพิเศษบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องจำเพาะสำนักอีกเช่นกัน) ทำให้คนวัดส่วนนี้จำนวนมาก พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ไม่ได้ประโยชน์จากวัด และไม่เป็นประโยชน์แก่วัดเท่าที่ควร วัดกลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัย หรือหอพักนักเรียนนักศึกษา เป็นการสูญเสียประโยชน์ที่พึงได้ทั้งแก่บุคคล แก่พระศาสนา และแก่สังคม
๖. ในด้านที่เกี่ยวข้องกับรัฐ
ก. ในระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐแยกการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ หรือการศึกษาสำหรับมวลชน ออกจากวัดไปจัดตามแบบแผนอย่างสมัยใหม่แล้ว จนบัดนี้รัฐยังไม่สามารถจัดการศึกษาให้ทั่วถึงตามเป้าหมาย และไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาให้สำเร็จได้ ตลอดระยะเวลาทั้งนี้ การศึกษาของคณะสงฆ์ก็ได้แปรบทบาทมาเป็นช่องทางสำหรับชาวชนบทผู้ยากจนที่จะมีโอกาสได้รับการศึกษา เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรส่วนมากในปัจจุบัน แม้แต่ในกรุงเทพฯ เป็นชาวชนบท (ในกรุงเทพฯ พระภิกษุสามเณรที่อยู่ประจำวัดต่างๆ ที่มิใช่ผู้บวชอย่างนวกภิกษุ เกินร้อยละ ๙๐ เป็นผู้มาจากตระกูลชาวนาในชนบท) สภาพนี้ก่อให้เกิดผลทั้งทางดีและทางเสียคือ
๑) อำนวยประโยชน์แก่รัฐ ช่วยผ่อนคลายปัญหาสังคมเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และเป็นเครื่องประสานชาวชนบทไว้ให้ผูกพันกับสังคมไทยส่วนรวม ด้วยการเสริมสร้างความหวังเกี่ยวกับอนาคตของบุตรหลานและความเจริญก้าวหน้าในสังคม
๒) บั่นทอนกำลังของคณะสงฆ์ให้อ่อนแอลงไป ในเมื่อการศึกษาของคณะสงฆ์กลายเป็นเพียงทางผ่าน และกำลังคนที่คณะสงฆ์ผลิตขึ้น ออกไปเป็นกำลังของรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่
ข. เมื่อรัฐรับเอาระบบการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามา และแยกเอาการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ออกจากวัดไปจัดเองแล้ว ความเหินห่างจากกันระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในด้านการศึกษาก็เกิดมีมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ขาดความใส่ใจและขาดความเข้าใจในปัญหาของกันและกัน ไม่ช่วยกันดำเนินการเท่าที่ควร ในอันที่จะทำให้กิจการของทั้งสองฝ่ายเกื้อกูลแก่กัน บางครั้งถึงกับทำให้เกิดผลติดตามที่ไม่พึงปรารถนา เช่น
๑) เกิดมีทัศนคติว่า การศึกษาของรัฐและการศึกษาของคณะสงฆ์ หรือการศึกษาของวัดกับการศึกษาของบ้านเมือง ของฝ่ายไหนก็ของฝ่ายนั้น ควรจะต่างคนต่างทำ
๒) เกิดปัญหาเกี่ยวกับความยอมรับของรัฐ กล่าวคือ บางบุคคล บางหน่วยราชการ และในกาลบางคราว เห็นว่า การศึกษาของพระสงฆ์เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ที่จะดำเนินกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ บางบุคคล บางหน่วยราชการ และในกาลอีกบางคราว เห็นว่า การศึกษาของพระสงฆ์ก็เป็นกิจการส่วนหนึ่งในรัฐที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว จะต้องได้รับรองจากรัฐ การศึกษาของพระสงฆ์ แบบนั้นแบบนี้เถื่อน ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากนี้ก็เกิดความลักลั่น การศึกษาบางอย่างของคณะสงฆ์รัฐรับรอง บางอย่างดำเนินอยู่ได้โดยรัฐไม่ได้รับรองหรือแม้แต่รับรู้
๗. ในด้านความสัมพันธ์กับประชาชน คณะสงฆ์เป็นสถาบันสังคมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุดสถาบันหนึ่ง และดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยความอุปถัมภ์ที่เกิดจากศรัทธาของประชาชน แต่ในปัจจุบันสภาพความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนากับประชาชน หันเหไปในทางที่ไม่สู้จะเกื้อกูลแก่ศาสนกิจด้านการศึกษา เพราะสังคมส่วนใหญ่มักสนใจและแสดงความต้องการต่อพระศาสนาเพียงขั้นศาสนวัตถุและศาสนพิธี ไม่สู้สนใจหรือนึกถึงศาสนศึกษา และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็ดูจะโน้มไปในแนวทางเดียวกันเช่นนั้น จนเป็นเหตุให้ความเข้าใจในความหมายของการดำรงศาสนาและรักษาวัดจำกัดแคบลง โดยมักมองกันเพียงแค่การดำรงรักษาเสนาสนะ บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างต่างๆ เมื่อความเข้าใจและความสนใจหันเหออกไปแล้ว การแสวงหาทุนและการใช้ทุนก็หันเหออกไปด้วย ทุนส่วนใหญ่ของวัดจึงถูกใช้ไปในทางงานก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ ไม่เป็นไปเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศาสนศึกษา
๑. จัดระบบการศึกษาสายต่างๆ ของวัดและของคณะสงฆ์ สำหรับพระภิกษุสามเณรก็ดี สำหรับคฤหัสถ์ก็ดี เท่าที่มีอยู่ให้ประสานสอดคล้องรวมเข้าเป็นระบบใหญ่อันเดียวกัน
- ให้มีการศึกษาสายต่างๆ เหล่านั้น ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ มีจุดเชื่อมโยงถึงกัน
- ให้ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ประสานสอดคล้อง หรือมีความสัมพันธ์ในรูปใดรูปหนึ่งที่เป็นการเกื้อกูลแก่กันกับระบบการศึกษาของรัฐ และไม่ก้าวก่ายล่วงล้ำกันอย่างที่เป็นอยู่บางส่วนขณะนี้
๒. จะต้องให้มีการศึกษาพื้นฐานขึ้นระดับหนึ่ง (อาจกำหนดเวลา ๑ ปี) เป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกรูป เพื่อให้รู้ธรรมวินัยพอรักษาตัวได้ รู้จักคุณค่าของพระพุทธศาสนาพอเป็นรากฐานของศรัทธาและปัญญา และเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อชั้นสูงขึ้นไปในศาสนศึกษาสายต่างๆ
- จะได้เป็นข้อผูกพันให้คณะสงฆ์ต้องรับผิดชอบต่อการศึกษาอย่างน้อยขั้นหนึ่งนี้อย่างจริงจัง โดยจะต้องระดมกำลังจัดดำเนินการให้มีขึ้นอย่างทั่วถึง และให้ได้ผลจริงจังให้จงได้ เป็นการแก้ปัญหาข้อสำคัญยิ่งยวดในปัจจุบัน ที่ผู้บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วจำนวนมากไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาทางพระศาสนาเลยแม้เพียงขั้นต้นๆ
- จะได้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ที่จะกล่าวถึงต่อไป คือการขาดกำลังคน ในเมื่อยังไม่สามารถจัดการศึกษาได้ทั่วถึงทุกระดับ ก็สามารถดำเนินการได้จริงจังระดับหนึ่ง
๓. จะต้องยอมรับและคำนึงอยู่เสมอซึ่งความจริงอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับสภาพปัจจุบันในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ คือ การขาดกำลังคน ซึ่งหมายถึงความขาดแคลนพระภิกษุสามเณรที่จะเป็นครูอาจารย์ให้การศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ความจริงข้อนี้มีความสำคัญหลายด้าน เช่น
- หากจะวางรูปจัดขั้นจัดระดับในระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีทางที่จะดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติขึ้นได้แค่ไหนเพียงไร และอย่างไร
- เมื่อไม่สามารถจัดดำเนินการได้ทั่วถึงทุกระดับ จะได้ระดมกำลังจัดให้ได้ผลจริงจัง ในขั้นพื้นฐานสักระดับหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ ดังกล่าวในข้อที่แล้ว
- อาจทำให้คิดหาทางกระจายกำลังพระสงฆ์ผู้มีวุฒิทางศาสนศึกษา ซึ่งมาคับคั่งอยู่ในเมืองและในกรุง ให้ออกไปเสริมกำลังแก่ชนบท ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง
- ในเมื่อไม่มีกำลังเพียงพอที่จะจัดให้มีการเรียนการสอนได้ครบถ้วนทุกระดับชั้น และต้องระดมกำลังมาจัดดำเนินการจำเพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับแล้ว ก็จะได้คิดหาวิธีการที่เป็นทางออกหรือทางเลือกสำหรับให้การศึกษาในระดับที่สูงกว่านั้น โดยอาจจะทำในรูปใดรูปหนึ่ง เช่น เปิดโอกาสให้ใครอื่นมาช่วยรับภาระในการจัดการศึกษา หรือหันไปเน้นการศึกษาแบบนอกโรงเรียน การใช้วิธีสมัครสอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นต้น
๔. ความจริงเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องยอมรับ ได้แก่การลาสิกขาของพระภิกษุสามเณร กล่าวคือ ประเพณีบวชเรียนอันสืบมานานในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้มีการบวชและสึกตามสมัครใจ ได้ทำให้ผู้บวชแล้วส่วนใหญ่จะดำรงเพศภิกษุสามเณรอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งสั้นบ้างยาวบ้าง แล้วก็ลาสิกขากลับออกมาดำเนินชีวิตในสังคมคฤหัสถ์ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ถ้าจำนวนหมุนเวียนของผู้บวชและผู้สึกอยู่ในอัตราที่เหมาะสม คือมีผู้บวชระยะยาวได้ส่วนกับผู้บวชระยะสั้น และมีผู้บวชตลอดชีวิตเหลืออยู่บ้าง (ประมาณว่าสักร้อยละ ๓ ถึง ๕) ก็นับว่าพอสมดุลที่จะดำรงพระศาสนาพร้อมไปกับอำนวยประโยชน์แก่สังคมได้ด้วย แต่ในปัจจุบัน เมื่อการศึกษาในวัดได้กลายเป็นช่องทางผ่านสำหรับการศึกษาของชาวชนบทไปแล้ว อัตราส่วนของผู้ลาสิกขาและผู้บวชระยะสั้นก็ได้มีแนวโน้มในทางเพิ่มขึ้น ในสภาพเช่นนี้ มีข้อควรคำนึง คือ
๑) จะต้องปรับความเข้าใจ ปรับทัศนคติเกี่ยวกับการสึกของพระภิกษุสามเณรให้ถูกต้อง จึงจะวางแผนและจัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณรได้อย่างเหมาะสม เช่น
- ในเมื่อรัฐยังไม่สามารถกระจายการศึกษาสู่ชนบทได้ทั่วถึง ควรหาทางประสานประโยชน์ทำให้การศึกษาในวัดเกื้อกูลทั้งแก่พระศาสนา แก่รัฐ และแก่สังคม
- การศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ในระดับก่อนขั้นฝึกฝนเพื่อความชำนาญพิเศษ ควรจัดหลักสูตรและเนื้อหาชนิดที่จะทำให้ได้พระเณรดี ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ผลดี และทั้งเป็นผู้ที่จะเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพพึ่งตนได้ เป็นสมาชิกที่มีประโยชน์ของสังคม
- ปรับปรุงคุณภาพศาสนศึกษา และหาวิธีการอื่นๆ ที่จะชักจูงใจให้มีผู้บวชตลอดไปมากขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้ได้อัตราส่วนหมุนเวียนที่พอเหมาะพอดี
๒) ต่อแต่นี้ไป ผู้ที่มาบวชจะเป็นผู้สอบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วเป็นอย่างต่ำ มิใช่ประถมปีที่ ๔ เหมือนแต่ก่อน จึงจะต้องจัดระดับการศึกษาและหลักสูตร เป็นต้น ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงข้อนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ความข้อนี้ยังไม่เป็นปัญหาหนักเท่ากับข้อที่ว่า เมื่อรัฐขยายการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ให้ทั่วถึงหรือแพร่หลายแล้ว จำนวนผู้บวชแต่เด็ก (ซื่งเป็นแกนกำลังของพระศาสนาตลอดเวลาที่ผ่านมา) จะลดน้อยลงเองอย่างฮวบฮาบชัดเจน จนถึงขั้นที่กลายเป็นปัญหาใหม่สำหรับศาสนศึกษา และสถาบันสงฆ์โดยส่วนรวม ดังที่ได้เริ่มเป็นปัญหาขึ้นแล้ว ในจังหวัดภาคกลางบางจังหวัด และจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงและความสำคัญมากขึ้นโดยลำดับ สรุปปัญหาในเรื่องนี้ว่า
- ปัญหาการสึก ไม่ใช่ข้อน่าวิตกมากนัก และสัมพันธ์กับการขยายการศึกษาของรัฐ
- เมื่อมีการศึกษาของรัฐแพร่หลายแล้ว และความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ปัญหาร้ายแรงที่คณะสงฆ์จะต้องประสบ ไม่ใช่ปัญหาการสึก แต่จะเป็นปัญหาในข้อที่ว่าไม่มีผู้ที่จะบวช
- แนวโน้มที่สวนทางกับข้างต้น คือ เวลานี้ผู้บวชเมื่ออายุสูงขึ้น หลังจากได้รับการศึกษาดีแล้วบ้าง เจนชีวิตแล้วบ้าง หรือแพ้ชีวิตแล้วบ้าง เบื่อหน่ายโลก และศรัทธาในพระศาสนา บวชด้วยความตั้งใจจริงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าโดยการเปรียบเทียบ จะเป็นจำนวนที่ยังเล็ก แต่ก็เป็นจำนวนที่มีความหมายและเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ควรเริ่มให้ความสนใจ ทั้งในแง่ดีและแง่เสีย
- ในระยะเวลา ๓-๔ ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการศึกษาในวัดได้โน้มไปสู่สภาพของความเป็นทางผ่านมากยิ่งขึ้นนั้น ได้มีความพยายามกันมากใน ๒ ด้าน คือ ความพยายามฝืนสภาพฝ่ายหนึ่ง กับความพยายามประสานประโยชน์ฝ่ายหนึ่ง สำหรับฝ่ายหลังนั้นได้พยายามในแง่ที่ว่า ยอมให้วัดและคณะสงฆ์เป็นทางผ่าน แต่ให้เป็นทางผ่านชนิดที่ผู้ผ่านทางได้มีส่วนร่วมในการบำรุงทาง และสร้างความเจริญงอกงามแก่เส้นทางนั้นด้วย ในที่สุด ไม่ว่าผู้ใช้ทางจะแยกออกหรือผ่านเลยจากทางออกไปก็ตาม จะอยู่ช่วยบนเส้นทางนั้นตลอดไปก็ตาม ประโยชน์ก็เกิดขึ้นแก่ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในระยะใกล้ๆ นี้ ได้มีกิจการทางการศึกษา สำหรับพระภิกษุสามเณรอย่างใหม่ๆ เกิดขึ้น ชนิดที่เป็นการใช้ทางอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงทางผ่านเลย ทำให้ทางผ่านมีแต่ทรุดโทรมลง และผู้เดินทางก็ไม่น่าดู
อาจคิดกันต่อไปถึงปัญหาที่ว่า ควรจะจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ชนิดที่เตรียมรับสภาวการณ์นี้หรือไม่ เช่น หลักสูตรสำหรับผู้มีพื้นการศึกษาเดิมสูง เข้ามาบวชในวัยที่สูงขึ้น ด้วยความตั้งใจแบบถาวร ไม่ใช่แบบตามประเพณี ควรเป็นอย่างไร? หรือจะจัดการศึกษาและหลักสูตรอย่างไร ที่จะช่วยให้ยังมีเด็กเข้ามาบวช จำนวนพอควรที่จะรักษาสถาบันพระศาสนาไว้ให้มั่นคงได้ และหากการศึกษาของวัดยังจะต้องมีสภาพเป็นทางผ่าน ก็ให้เป็นทางผ่านชนิดที่ทั้งผู้ผ่านทางและทางผ่านพลอยเจริญงอกงามไปด้วยกัน ไม่ใช่ทางผ่านที่ถูกใช้โทรมไปข้างเดียวและถ่ายเดียว
๕. เท่าที่เป็นมาในสังคมไทย พระสงฆ์มีฐานะเป็นผู้นำประเภทหนึ่ง แม้ในปัจจุบันในชนบทซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ พระสงฆ์ก็ยังมีฐานะนี้อยู่คือ เป็นผู้นำของชุมชน และเป็นผู้นำชนิดประจำถิ่นทีเดียว แต่เป็นที่น่าวิตกว่า ขณะนี้ชนบทกำลังมีผู้นำประจำถิ่นที่หย่อนการศึกษาด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ ดังปัญหาเกี่ยวกับเจ้าอาวาสที่กล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้น ในการวางแผนหรือปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ต่อไปนี้ คงจะต้องคำนึงถึงศาสนศึกษา ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเป็นผู้นำในชนบทด้วย
๖. จะต้องจัดให้ผู้ที่เข้ามาบวชชั่วคราวตามประเพณี จะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม ซึ่งปีหนึ่งๆ มีจำนวนมากมาย ได้รับการศึกษาอบรมอย่างเหมาะสม เช่น ด้วยวิธีจัดสร้างหลักสูตรระยะสั้นขึ้น เป็นต้น และหากเป็นไปได้ ควรจัดการศึกษาหลักสูตรพิเศษอีกอย่างหนึ่งให้แก่ศิษย์วัดด้วย
การเรียบเรียงข้อความและหัวข้ออื่นๆ ซึ่งควรกำหนดไว้โดยเหตุผลทั่วไป เห็นว่าคงจะเป็นเรื่องที่พึงทำเพิ่มเติมให้เรียบร้อยในภายหลัง ในที่นี้จะเขียนไว้เฉพาะข้อเสนอแนะที่เห็นว่าสำคัญควรพิจารณาวินิจฉัย เป็นหลักการใหญ่ หรือสิ่งที่ขาดไม่ได้เท่านั้น
หมวด ๑
ความมุ่งหมาย
- การศึกษาของคณะสงฆ์ควรเน้นการศึกษาเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ และควรมีประสิทธิภาพในการที่จะช่วยเสริมสร้างชีวิตที่ดีงามสงบสุขของมนุษยชาติ และความอยู่รอดปลอดภัย ความมั่นคง และความผาสุกร่วมกันในสังคมไทย
- ให้เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์ทั้งในด้านอัตตหิตสมบัติ และปรหิตสมบัติ คือในฝ่ายตนก็เจริญงอกงามด้วยปัญญาและคุณธรรม พึ่งตัวได้ ในฝ่ายผู้อื่นหรือสังคมก็เจริญงอกงามด้วยกรุณา ดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ช่วยคนอื่นได้
- ให้เป็นผู้พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ ด้วยความเจริญก้าวหน้าทั้งในปริยัติและปฏิบัติ
- ให้สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นสื่อนำให้ประชาชนเลื่อมใสมั่นใจในคุณค่าแห่งธรรม ทั้งในด้านความดีงามและความสงบสุข เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางศีลธรรมและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ
- ให้มีบุคลิกภาพที่พร้อมจะเป็นผู้นำที่ดีของชุมชน
- ความมุ่งหมายข้ออื่นๆ ที่เหมาะสมในแผนการศึกษาของรัฐ
อาจระบุข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นคุณสมบัติ หรือเป็นจุดมุ่งหมายลงไปด้วยก็ได้ เช่น สัปปุริสธรรม ๗ สังฆคุณ ๙ อรรถะ ๓ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ, สัมปรายิกัตถะ, ปรมัตถะ หรืออัตตัตถะ, ปรัตถะ, อุภยัตถะ)
หมวด ๒
แนวนโยบายการศึกษาของคณะสงฆ์
- คณะสงฆ์พึงส่งเสริมและบำรุงการศาสนศึกษา ทั้งในส่วนปริยัติและปฏิบัติ โดยถือว่ามีความสำคัญในอันดับสูงสุดแห่งกิจการของคณะสงฆ์
- คณะสงฆ์พึงจัดหรือส่งเสริมให้มีกิจกรรมการศึกษา ทั้งในส่วนปริยัติและปฏิบัติให้ได้สัดส่วนสมดุลกัน
- คณะสงฆ์จะจัดการศาสนศึกษาและส่งเสริมการศึกษาอื่น ให้เกื้อกูลแก่แนวนโยบายของรัฐโดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย
- คณะสงฆ์พึงจัดศาสนศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึงบริบูรณ์
- คณะสงฆ์จะให้ความสำคัญแก่การศึกษานอกโรงเรียน โดยจะส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน ทั้งศาสนศึกษาและการศึกษาอื่นที่เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐ เท่าที่เหมาะสมและไม่ขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัย
- คณะสงฆ์พึงเน้นการจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง
- คณะสงฆ์พึงถือเป็นความรับผิดชอบอันสำคัญที่จะจัดให้สำนักศาสนศึกษาต่างๆ มีครูอาจารย์ผู้สามารถให้การศึกษา สมความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างทั่วถึง
- คณะสงฆ์พึงจัดให้มีเอกภาพในนโยบายการบริหารการศึกษา และยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา
- คณะสงฆ์พึงสนับสนุนให้การอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาของประชาชน เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา ทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติให้มากที่สุด
- คณะสงฆ์พึงจัดและสนับสนุนให้มีการผลิตและเผยแพร่พระคัมภีร์ ตำรา บทเรียน และเอกสารทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง
- คณะสงฆ์พึงจัดและสนับสนุน ให้ศาสนศึกษาสัมพันธ์และเกื้อกูลแก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- คณะสงฆ์พึงดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้วัดมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในการฝึกอบรมพระภิกษุสามเณร ศิษย์ และคนวัด ให้ได้ผลสมบูรณ์ สมความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ และสนับสนุนให้วัดมีบทบาททางการศึกษาต่อชุมชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับเด็กและเยาวชน ตามแนวนโยบายทั้งของรัฐและของคณะสงฆ์
หมวด ๓
ระบบการศึกษา
การศึกษาของคณะสงฆ์แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ
๑. ศาสนศึกษา ได้แก่การศึกษาที่คณะสงฆ์หรือวัด จัดให้แก่พระภิกษุสามเณรและแก่คฤหัสถ์ ตามระบบการศึกษาที่คณะสงฆ์จัดวางขึ้น
๒. สามัญศึกษา ได้แก่การศึกษาที่คณะสงฆ์หรือวัดจัดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ประชาชน ตามระบบการศึกษาของรัฐ
ศาสนศึกษา แบ่งเป็น ๓ ระดับคือ ระดับบุรพศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา (หรือ ระดับบุพพสิกขา ระดับมัชฌิมสิกขา และระดับอุดมสิกขา)
- ระดับบุรพศึกษา เป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับผู้เข้ามาบวชหรืออยู่ประจำในวัด แยกเป็นนวกภูมิสำหรับพระภิกษุ สามเณรภูมิสำหรับสามเณร และธรรมศึกษาสำหรับศิษย์วัด โดยกำหนดเอาธรรมศึกษาเป็นพื้นฐาน เติมวิชาเฉพาะสำหรับสามเณรเป็นสามเณรภูมิ เติมวิชาเฉพาะสำหรับพระภิกษุใหม่เป็นนวกภูมิ ระยะเวลาศึกษาประมาณ ๑ ปี
- ระดับมัธยมศึกษา มีความสัมพันธ์ด้านเนื้อหากับระดับมัธยมศึกษาในระบบของรัฐให้มากที่สุด
- ระดับอุดมศึกษา แยกเป็นสายเปรียญตรี เปรียญโท เปรียญเอก และสายปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
- การฝึกหัดครูปริยัติธรรม
- การศึกษาหลักสูตรพิเศษ เช่น หลักสูตรนวกภูมิสั้น ๑ เดือน ครึ่งเดือน และ ๑ สัปดาห์สำหรับผู้บวชตามประเพณีระยะสั้น หลักสูตรธรรมศึกษาสำหรับประชาชนผู้สนใจ (มุ่งการสมัครสอบ) หลักสูตรอภิธรรมศึกษา หลักสูตรนวกรรม หลักสูตรเลขานุการ เป็นต้น
สามัญศึกษา ให้เป็นไปตามแผนการศึกษาของรัฐ (รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาสงเคราะห์ที่จัดตามระบบของรัฐด้วย)37
หมวด ๔
การบริหารการศึกษา
- คณะสงฆ์อาจวางระเบียบข้อบังคับ (โดยความเห็นชอบ หรือรับทราบของรัฐ) เพื่อควบคุมการศึกษาที่วัดจัด และที่มีผู้จัดสำหรับพระภิกษุสามเณรทั้งหมด ให้เป็นไปสมความมุ่งหมายตามแผนการศึกษา
- การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ พึงประสานสัมพันธ์กับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการศึกษาของรัฐ เพื่อให้สอดคล้องเกื้อกูลกันตามนโยบาย แผนงาน และโครงการต่างๆ ของรัฐ (ข้อนี้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ ข้อ ๔๑)
- พึงให้เจ้าคณะและเจ้าอาวาสทั้งหลาย ร่วมกันรับผิดชอบบริหารศาสนศึกษาในท้องถิ่นหนึ่งๆ โดยรับการแต่งตั้งหรือกำหนดโดยตำแหน่งให้เป็นกรรมการในองค์คณะบุคคล เพื่ออำนวยการควบคุมดูแลการบริหารการศึกษาในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ทั้งนี้เป็นการรวมกำลัง ไม่ให้กระจัดกระจายต่างจัดต่างทำ จนทุรพลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้น การศึกษาที่วัดจัดให้แก่คฤหัสถ์ ก็อาจเชิญบุคคลที่สมควรในท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยเฉพาะในด้านการอุปถัมภ์บำรุงด้วย
หมวด ๕
มาตรฐานการศึกษา
- คณะสงฆ์รับผิดชอบในการควบคุมรักษามาตรฐานศาสนศึกษา และดำเนินการวัดผลเองโดยตรงบ้าง ให้ท้องถิ่นร่วมรับผิดชอบบ้าง ตามความเหมาะสมและความจำเป็นแห่งสภาวการณ์ (สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรม คณะสงฆ์ก็ได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว)
- คณะสงฆ์พึงจัดสรรอุปกรณ์การศึกษา และหาทางให้มีการอุดหนุนในเรื่องนี้
- คณะสงฆ์พึงส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและเรียบเรียงตำรา ทั้งแก่หน่วยงานและบุคคลในวงการศึกษาของคณะสงฆ์เอง และช่วยเกื้อกูลแก่บุคคลภายนอกที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในทางที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
- คณะสงฆ์พึงส่งเสริมให้วัดและสถานศึกษาของคณะสงฆ์ จัดบริการศาสนศึกษาให้แก่สังคม
หมวด ๖
ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม
สภาพแวดล้อม และกิจกรรมเยาวชน
- คณะสงฆ์พึงจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความสำนึกในคุณค่า และความสามารถที่จะธำรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม ศาสนา ตลอดจนขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีงาม รวมทั้งสถานที่และวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์
- คณะสงฆ์พึงจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความสำนึกในคุณค่า และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ตลอดจนเข้าใจในเรื่องประชากรศึกษา
- คณะสงฆ์พึงสนับสนุนให้วัดมีบทบาทอย่างจริงจัง ในการส่งเสริมเด็กและเยาวชนในด้านวัฒนธรรมและจริยธรรม
หมวด ๗
การรวมกำลังและแสวงความร่วมมือเพื่อการศึกษา
- คณะสงฆ์เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่จะร่วมรับภาระทางการศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ ข้อ ๕๔ และพึงให้รัฐตลอดถึงประชาชนช่วยรับภาระบางอย่างทางด้านศาสนศึกษาด้วย
- พึงสนับสนุนวัดและท้องถิ่นในการจัดการศึกษา
- พึงระดมทุนอุปถัมภ์พระศาสนา ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาให้มาก และใช้ทรัพยากรทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมุ่งลดความสูญเปล่าทางการศึกษา
-พึงจัดทุน ปัจจัย และวิธีการอื่นๆ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้อยู่ถิ่นห่างไกล และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาตามสมควรแก่ความสามารถและสติปัญญา
พิมพ์ครั้งแรก ใน "พุทธจักร" ฉบับกุมภาพันธ์, มีนาคมและเมษายน ๒๕๒๗. ต่อมาพิมพ์รวมใน "บันทึกการสัมมนาพระสงฆ์กับการประยุกต์ศาสนกิจให้สมสมัย" คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาจัดพิมพ์ ๒๕๒๘
วันนี้เป็นวันดีสำหรับชาวศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ ที่ได้มีโอกาสมาพบปะกันอย่างค่อนข้างพร้อมเพรียง สำหรับในโอกาสนี้ ที่ได้นิมนต์อาตมภาพมาพูดในที่นี้ ตอนแรกจะต้องทำความเข้าใจกันนิดหน่อยคือ การมาวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นการได้พบปะศิษย์เก่า ทั้งรุ่นอาจารย์ รุ่นน้องๆ และรุ่นศิษย์ มาเล่าเรื่องเก่าๆ บางอย่างให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายท่านก็รู้เข้าใจกันดีแล้ว เหมือนกับว่ามาทบทวนกันเท่านั้นเอง ทีนี้อาจจะมีความเข้าใจผิดสักนิดหน่อย คือปรากฏข่าวออกมาว่า เป็นปาฐกถาพิเศษ อาตมาขอทำความเข้าใจว่า ตอนนี้ อาตมาไม่รับพูดโดยทั่วๆ ไป จึงตกลงกันว่ามาพบปะกันในฐานะชาวศิษย์เก่า เป็นการคุยกันแบบสบายๆ ที่ออกตัวเสียก่อนก็ให้ทราบว่า ถ้าหวังให้เป็นปาฐกถาพิเศษละก็ คงผิดหวัง คือว่าคงไม่มีเนื้อหาสาระที่ถึงขั้นเช่นนั้น
เรื่องที่จะคุยกันวันนี้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เหมือนกับมาทบทวนเล่าความหลัง ความเป็นมาของ พ.ร.บ. เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ สำหรับอาตมาเองนั้น ตอนนี้เป็นเรื่องที่ออกจะเลือนลาง "ในแง่ของความจำ" เพราะว่าเวลาผ่านไปยาวนานมาก จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็เกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว เรื่องก็ไม่จบสิ้นลงสักที เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในเบื้องแรก เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า มันก็เลือนลาง อีกด้านหนึ่งคือ "ในด้านความสนใจ" ในเมื่อเป็นเรื่องไม่รู้จักจบสิ้น เรื้อรังนานนัก ความสนใจก็พลอยจืดจางไปด้วย ทั้งความเลือนลางในแง่ความทรงจำ และความจืดจางในด้านความสนใจเข้ามาผสมกัน ก็เลยทำให้รู้สึกตัวเองเหมือนกับว่า ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระอะไรที่จะเอามาพูด มีอยู่ทางหนึ่งที่พอจะไปได้ก็คือ ในเมื่อมาพบกันแล้วก็มาแลกเปลี่ยนความคิด พูดกันไป พูดกันมา อาตมาเองก็อาจได้แรงกระตุ้นกลับ แล้วตัวอาตมาเองก็จะเกิดความสนใจมากขึ้น และหลังจากนั้น เมื่อเกิดความสนใจขึ้นแล้วจะได้มีความคิด และเอาความคิดทั้ง ๒ ฝ่ายมาแลกเปลี่ยนกัน ก็อาจจะได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งอาตมาก็หวังกลับ แทนที่จะเป็นผู้มาให้ ก็กลายเป็นผู้มารับ ไม่ใช่รับอย่างเดียว คงจะมาแลกกัน และทำให้ความคิดเห็นนั้นงอกงาม เจริญเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป นี่ก็คือเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน
ทีนี้ จะเริ่มเรื่องอย่างไร ถ้าไปเล่าเรื่องเก่าทีเดียวตั้งแต่แรกสุดนั้น มันน่าเบื่อเพราะเป็นเรื่องเรื้อรังอย่างที่ว่า ก็เอาข่าวที่ใหม่ที่สุด และมีผู้สนใจหรือบางทีถึงกับตื่นเต้นกันไม่น้อยมาประเดิมก่อน คือเมื่อสักประมาณเดือนหนึ่งมาแล้ว มีข่าวราชการออกมาทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และก็มีลงข่าวทางหนังสือพิมพ์ด้วยว่า คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ซึ่งมิใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยสงฆ์ การศึกษาฝ่ายสงฆ์นี้ รวมทั้งเปรียญธรรม ๙ ประโยค และปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตและศาสนศาสตรบัณฑิต ทีนี้ เวลาฟังกันแล้วหลายท่านเข้าใจกันว่า อ้อ… นี่เขาเทียบให้เราแล้ว ก็มี ก็ต้องทำความเข้าใจกันว่ายัง ยังไม่เสร็จสิ้น นี่เป็นแค่เพียงว่าคณะรัฐมนตรีรับหลักการร่าง พ.ร.บ. เท่านั้น กระบวนการยังอยู่อีกยาวนานนัก ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ก็เป็นเรื่องภายหน้า และเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ. นั้น เราก็ต้องดูให้แน่เสียก่อนว่าเป็นอย่างไร มีผู้ถามความเห็นอาตมาว่า ในเรื่องของเนื้อหาสาระในร่าง พ.ร.บ. นั้น ถ้าหากว่าเป็นจริงอย่างนั้นจะรู้สึกอย่างไร ความคาดหมายก็คือว่า จะต้องรู้สึกดีใจ ทีนี้อาตมภาพก็ตอบไปว่า อันนี้ขออย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะ ต้องตอบเสียก่อนแล้วทำความเข้าใจกันภายหลัง อาตมาว่า "น่าดีใจ ๑ ส่วน และก็น่าสังเวช ๓ ส่วน" พูดอย่างนี้อย่าเพิ่งตีความหมายผิดไป ต้องทำความเข้าใจกันก่อนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทำไมจึงว่าอย่างนี้ เอาไว้พูดกันตอนหลัง เป็นอันว่าได้เกริ่นด้วยเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสุด หลังจากนั้นแล้วกระบวนการการดำเนินในเรื่องนี้เป็นอย่างไร อาตมภาพยังไม่ทราบชัด ว่าหลังจากรับหลักการแล้วทำอย่างไรต่อไปอีก มีความรู้สึกว่าเรื่องมันค่อนข้างจะช้าอยู่ ในเมื่อมีเรื่องปัจจุบันมาอ้างให้เห็นว่าอะไรต่ออะไรมันไปถึงไหนแล้ว ทีนี้ ก็ค่อยย้อนกลับไปพูดเรื่องเก่า
อาตมาขอทบทวนเรื่องราวที่เป็นมาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง หลายท่านก็ทราบแล้ว และหลายท่านก็เป็นอย่างที่อาตมาพูดเมื่อกี้นี้ คือพลอยมีความเลือนลางในแง่ความทรงจำไปด้วย เรื่องราวความเป็นมานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน เพราะถ้าผลจะเกิดขึ้นแท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นอย่างไร เราจะเข้าใจชัดเจนได้ก็ต้องหันไปศึกษาความเป็นมาในอดีตด้วย แม้แต่ในระหว่างกระบวนการที่จะดำเนินเรื่องนี้ ถ้าหากมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะปฎิบัติได้ดีก็ต่อเมื่อเราเข้าใจภูมิหลัง ฉะนั้น อาตมาว่า เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันที่จะได้มีการทบทวนเรื่องความเป็นมาในอดีต
พ.ร.บ. เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นมีแง่ที่จะพิจารณาตอนต้นคือ ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความเข้าใจออกจะมัวๆ อยู่บ้าง ในข้อว่าจะรับรองอะไร ความเข้าใจที่เด่นที่สุดก็คือเป็นการให้รับรองปริญญา แต่เท่าที่เป็นมานั้น พ.ร.บ.ที่ร่างกันไว้มีสาระสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเป็น "การรับรองฐานะ" หรือที่เรียกกันว่า "สถานภาพตามกฎหมาย" ๒ อย่างนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่มีความเชื่อมโยงถึงกัน ส่วนมากนั้นจะเข้าใจกันว่าเป็นการรับรองปริญญา แต่ในร่าง พ.ร.บ. บางร่างจะมุ่งไปที่การรับรองฐานะหรือสถานภาพ และเอาเรื่องรับรองปริญญามาเป็นส่วนพ่วง ขอทำความเข้าใจเรื่องนี้ไว้ก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะ ๒ อย่างนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว แม้ว่าจะเนื่องกัน
เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้แล้ว ก็ถอยหลังกลับไปถึงเรื่องราวที่เป็นมาแต่ต้น เรื่องการรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ไม่ว่าจะรับรองฐานะหรือรับรองปริญญาก็ตาม ได้มีความพยายามกันมามากมาย เริ่มต้นเท่าที่รู้ก็คือสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นระยะก่อนที่จะตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้มีความดำริของรัฐบาลที่จะตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยซ้ำไป แต่แล้วไปๆ มาๆ รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้ง จนในที่สุดกลายเป็นว่าต่างคนต่างตั้ง คือ ทางคณะสงฆ์ จะพูดว่าคณะสงฆ์ก็ยังพูดยาก เอาเป็นว่าพระสงฆ์ก็แล้วกัน คือพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต ต่างก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ของแต่ละนิกายขึ้น เลยกลายเป็นว่ามีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่ง ดังที่ปรากฏอยู่นี้ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. นั้น ตามที่ทราบมาก็ว่า เมื่อตั้งแล้วก็มีความพยายามที่จะรับรอง จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ จะเสนอเป็น พ.ร.บ. เข้าสู่สภา ก็พอดีใน พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น ได้มีการปฏิวัติรัฐประหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามสิ้นอำนาจ เรื่องเก่าก็ตกไป เป็นอันว่าเรื่องความพยายามที่เลือนลาง ที่คนภายหลังรู้กันไม่ชัดเจนนี้ก็สิ้นสุดลงครั้งหนึ่ง
ทีนี้ต่อมาในช่วงที่ ๒ คือสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันนี้ไม่ค่อยเป็นที่ทราบกัน สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีความพยายามที่จะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์เหมือนกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีได้ปรารภเรื่องนี้ แต่ได้มีผู้ใหญ่ฝ่ายกฎหมายค้านไว้ ซึ่งท่านผู้ที่ค้านไว้ท่านได้เล่าด้วยตนเอง อาตมภาพไปได้ฟังมาจากตัวท่านเมื่อตอนที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัยนั่นเอง ในคณะกรรมการกฤษฎีกา คือพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาว่าจะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ผมเอง (หมายถึงพระยาอรรถการีย์นิพนธ์) เป็นคนค้าน เข้าใจว่าตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านไม่เห็นด้วยและให้ความเห็นของท่านแก่นายกรัฐมนตรีให้ระงับเรื่องเสีย ก็เลยตกไป แต่ในคราวใหม่นี้เรื่องไปถึงท่านอีก ในขณะที่ท่านไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเสียแล้ว ไม่ได้นั่งอยู่ในคณะรัฐบาล แต่อยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน ท่านบอกว่า ตอนนี้เรื่องมาถึงท่านก็ทำตามหน้าที่ แต่ท่านไม่เห็นด้วย พระยาอรรถการีย์นิพนธ์นี้เป็นผู้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เข้าสู่สภา จนกระทั่งผ่านมติเห็นชอบโดยเอกฉันท์ นี้ท่านเป็นผู้ทำ ท่านบอกตรงๆ เลยว่าท่านไม่เห็นด้วย ท่านทำตามหน้าที่ และก็น่าสรรเสริญ เมื่อท่านทำท่านก็ทำอย่างดีที่สุด หาทางที่จะให้มันเป็นไปด้วยดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรียกได้ว่าท่านเป็นคนตรงพอสมควร อย่างน้อยในเรื่องนี้ เหตุผลของท่าน อาตมภาพว่าก็เหมือนกับคนเก่าๆ โดยทั่วไป คือกลัวเรื่องพระจะสึก กลัวพระไปเรียนวิชาทางโลกอะไรทำนองนี้ ก็ไม่เป็นเหตุผลที่แปลกอะไร และตอนนั้นก็ไม่มีความหมายที่เราจะต้องไปฟื้นความกับท่าน เพราะท่านกำลังจะช่วยทำให้สำเร็จ เพราะเป็นตอนที่รัฐบาลเขาเห็นชอบด้วยแล้ว อันนี้เป็นเรื่องในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็นกันทั่วไป
ผ่านจากช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาแล้ว ก็หาทางกันต่อไป แต่ยังไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ คณะสงฆ์โดยความอุปถัมภ์ของรัฐบาล ได้เปิดการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้น โดยสำนักฝึกอบรมตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งเป็นผู้ดำเนินงาน นักศึกษาก็รับผู้สำเร็จจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนั้นเป็นหลัก ระหว่างทำงานนี้ คณะกรรมการดำเนินงานเห็นว่าสมควรขยายการศึกษาของสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นปริญญาโท และตกลงกันว่าจะจัดตั้งสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยพุทธศาสนาขึ้น โดยให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งเป็นผู้จัดตั้งขึ้นและดำเนินงาน ให้งานฝึกอบรมพระธรรมทูตเป็นกิจการอย่างหนึ่งของสถาบันนี้ และได้ตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมายกร่างระเบียบ อนุกรรมการก็ล้วนแต่เป็นบุคคลของ ๒ มหาวิทยาลัยสงฆ์ (มีกองศาสนศึกษา กรมการศาสนาด้วย) พิจารณากันแล้วก็เห็นว่า การที่จะมีการศึกษาชั้นปริญญาโทขึ้นได้ ปริญญาตรีจะต้องได้รับการรับรองก่อน มิฉะนั้น ปริญญาโทก็จะไร้ความหมาย พลอยกลายเป็นโมฆะไปด้วย จึงลงมติว่าจะต้องขอให้รัฐบาลไทยรับรองฐานะและรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์เสียก่อน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทราบกันว่าเมื่อเรื่องถึงรัฐบาลๆ มักอ้างว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งนั้น คณะสงฆ์เองก็ยังไม่รับรอง (บางคนเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน) แล้วจะให้รัฐบาลรับรองได้อย่างไร จึงตกลงกันว่าจะต้องดำเนินการให้คณะสงฆ์รับรองให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้เป็นการปูพื้นฐานไว้ให้พร้อม ปิดทางไม่ให้รัฐบาลยกเหตุผลนี้ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง และได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำงานนี้ จนในที่สุดก็ได้มี "คำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๒" ออกมา โดยมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันอังคารที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๒
หลังจากนี้ก็เป็นระยะแห่งการพยายามหาทางและรอกันต่อไป เรื่องปลีกย่อยก็ข้ามไปจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ คราวนี้เป็นตอนสำคัญที่ว่า การดำเนินการเพื่อรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานและอย่างเป็นจริงเป็นจัง พ.ศ. ๒๕๑๕ นั้น อยู่ในระยะของรัฐบาลปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มีการปรารภเรื่องนี้ขึ้นมา โดยกรรมการศึกษาของคณะปฏิวัตินั้นมีความเห็นชอบ คือทหารนั่นเองบางท่านซึ่งกำลังอยู่ในระยะที่มีอำนาจ มีความเห็นชอบที่จะให้รับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ สนับสนุนให้ดำเนินการประสานงาน-ติดต่อทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ให้เลขาธิการ หรือผู้แทนไปร่วมกันพิจารณาที่กรมการศาสนา ตกลงกันว่าให้ร่างเป็นประกาศคณะปฏิวัติ และได้ทำประกาศคณะปฏิวัติจนเสร็จ อาตมภาพจำไม่แม่น มี ๗ มาตราหรือประมาณนั้น ก็ร่างกันจนเสร็จเรียบร้อย พอร่างเสร็จเรียบร้อยก็พอดีรัฐบาลปฏิวัติสิ้นสุดลง ยังไม่ทันประกาศ เพราะว่าได้มีประกาศรัฐธรรมนูญขึ้นมา รัฐบาลจอมพลถนอมก็เปลี่ยนจากรัฐบาลปฏิวัติเป็นรัฐบาลปกติ ที่มีสภานิติบัญญัติขึ้นมา แล้วรัฐบาลถึงแม้จะเปลี่ยนจากรัฐบาลปฏิวัติ หัวหน้ารัฐบาลก็ยังเป็นคนเดิมคือรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นแต่เรียกใหม่ ไม่เรียกรัฐบาลคณะปฏิวัติ แต่เรียกว่ารัฐบาลที่มีระบบการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการครบถ้วนสมบูรณ์ตามปกติ เมื่อรัฐบาลมีหัวหน้าเป็นชุดเดิม และก็เป็นคณะเดิม ของเดิมที่เคยเห็นชอบก็ย่อมดำเนินสืบต่อไปได้ แต่จะออกในรูปใหม่ คือแทนที่จะทำเป็นประกาศคณะปฏิวัติ ก็ต้องหันมาทำตามกระบวนการของกฎหมาย คือออกเป็นพระราชบัญญัติโดยทางรัฐสภา ฉะนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้ประชุมกันและได้ตกลง เมื่อมีความเห็นชอบแล้ว ก็บอกว่าควรจะได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์เสียก่อน รัฐบาลจึงส่งเรื่องไปขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ทางมหาเถรสมาคมตอนนั้นมีสมเด็จพระสังฆราชวัดพระเชตุพน เป็นประธานกรรมการ ได้ประชุมกันที่ตำหนักวาสุกรี และได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๑๖ มีข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า "หากทางราชการจะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งก็เป็นการสมควร" ข้อความมีสั้นๆ แค่นี้ เมื่อมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าช่องทางเปิดให้เดินต่อไปได้ ก็เอาเรื่องนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๖ ว่า เห็นชอบในหลักการที่จะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์
ตอนนี้มีข้อสังเกตนิดหนึ่งก่อน คือได้บอกแล้วว่ามหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบไปแล้ว ต่อมาภายหลังอาตมาได้ยินพระเถระผู้ใหญ่บางท่านพูดว่า เรื่องมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ยังไม่เคยเข้าสู่มหาเถรสมาคม อันนี้รู้สึกว่าขัดแย้งต่อความจริง เพราะฉะนั้นก็ควรต้องนำเรื่องนี้มายืนยันว่ามหาเถรสมาคมได้ให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการไว้นานแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ เอาละ เป็นอันว่ารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ส่งเรื่องเข้าไปขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๑๖ และก็ส่งเรื่องกลับมาคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๖ แต่ในเดือน ตุลาคม ๒๕๑๖ นั้น ได้มีเหตุการณ์สำคัญของประเทศเกิดขึ้น ที่เรียกว่าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากสภาพ ก็ล้มนั่นเอง เวลาผ่านไป ๑๒ วันเท่านั้น ก็เป็นอันว่า รัฐบาลถนอมหมดไป บ้านเมืองก็แก้ไขเหตุการณ์จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ คือรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ตอนนี้ก็เข้าสู่รัฐบาลที่ ๒ สำหรับเรื่องเดียวกันนี้ โดยถือว่าเป็นเรื่องสืบเนื่องอยู่เพราะเรื่องยังไม่ยุติ รัฐบาลจะล้มก็ล้มไป รัฐบาลใหม่ก็ทำเรื่องต่อ พอรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นมาแล้ว ทางกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าของเรื่อง ก็ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ขอมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๗ คณะรัฐมนตรีของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เห็นชอบ ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการร่าง พ.ร.บ. และก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการร่าง มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ตอนนั้นก็ได้แก่ อาจารย์จรูญ วงศ์สายัณห์ อาจารย์จรูญ วงศ์สายัณห์ก็ได้นิมนต์ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งร่วมกันพิจารณายกร่าง อาจารย์จรูญท่านบอกว่า ท่านเห็นชอบเต็มที่ เพราะฉะนั้นจะขอรับเป็นผู้ร่างเอง เมื่อร่างไปแค่ไหนก็จะนัดประชุมมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งมาดูกันเป็นระยะๆ ที่ท่านรับร่างเองก็เพราะต้องการความรวดเร็ว การร่าง พ.ร.บ. ก็ดำเนินไปด้วยดี ร่างกันอยู่ ๔ เดือน ก็เสร็จเรียบร้อย เมื่อร่างเสร็จแล้วทางกระทรวงศึกษาธิการก็นำเรื่องเข้าเสนอคณะรัฐมนตรีอีก คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ. นั้น เมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๗ ในการร่างครั้งนี้ต้องทราบว่า ได้ตกลงแยกร่าง พ.ร.บ. เป็น ๒ ฉบับ คือเมื่อเริ่มเรื่องตอนแรกก็พิจารณาว่า การร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ ควรจะร่างเป็นฉบับเดียว หรือแยกกันเป็น ๒ ฉบับ และได้ตกลงกันว่าให้แยกเลย เป็นร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง ร่าง พ.ร.บ. มหามกุฏราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง เป็นอันว่าร่าง พ.ร.บ. ทั้ง ๒ ฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อย
เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.บ. แล้ว ก็ต้องส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในแง่ของกฎหมาย ช่วงนี้แหละที่ว่าได้ฟังเรื่องจากพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งท่านเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เล่าความหลังให้ฟังและได้พิจารณาหาทางว่าจะทำอย่างไร พิจารณารายละเอียดทุกอย่าง ตั้งต้นแต่ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ควรจะขึ้นต่อใคร เราก็บอกว่าขอไม่ให้ขึ้น เพราะว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องการความอิสระ เป็นกิจการของพระ ไปขึ้นต่อหน่วยราชการไม่ได้ เมื่อไม่ขึ้นจะทำอย่างไร ท่านพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ท่านก็หาทางให้เต็มที่ด้วยความเต็มใจว่า เออ..จะต้องไม่ขึ้นต่อทางราชการ แต่จะทำอย่างไร มีตัวอย่างกฎหมายอันไหนบ้างที่บัญญัติเกี่ยวกับหน่วยงานซึ่งไม่ต้องขึ้นกับทางราชการ ท่านก็หาทางให้ว่า อ้อ..มันเข้าแนวรัฐวิสาหกิจ มีกฎหมายแบบรัฐวิสาหกิจ บอกว่าต้องเอามาเป็นตัวอย่าง ท่านก็ไปดูกฎหมายรัฐวิสาหกิจมาเอาเยี่ยงคือไม่ต้องเอาอย่าง ว่าจะร่างอย่างไรให้ได้ความเป็นอิสระที่ต้องการ โดยที่ยังมีความผูกพันไปด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีความสัมพันธ์เลย ไม่สัมพันธ์ก็ไม่ได้ จะต้องมีความสัมพันธ์กัน จะต้องมีใครที่จะเป็นทางประสานงานกับรัฐบาล และก็มีใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เช่น เรื่องการอุปถัมภ์ เป็นต้น ก็ตกลงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นรายละเอียดพิจารณากันอยู่นาน อยู่ในขั้นกรรมการกฤษฎีกานี้นานมากเหมือนกัน จนกระทั่งต่อมากรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องส่งเข้าคณะรัฐมนตรีอีก เพื่อจะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงตอนนี้เอง รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็สิ้นสุดลง
เป็นอันว่ารัฐบาลสิ้นสุดลงเป็นตอนๆ แต่ พ.ร.บ. นี้ก็คงดำเนินต่อไป หมายความว่า พ.ร.บ. นี้เดินทางยาวนาน หรือมีอายุยืนกว่ารัฐบาลทั้งหลาย เป็นอันว่าผ่านไปอีกรัฐบาลหนึ่ง ต่อมาก็มีรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาเป็นผู้สืบต่อ คราวนี้เมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าดำเนินการทำหน้าที่ตามปกติเรียบร้อยแล้ว ก็นำเอาร่างที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วนี้ กลับเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้รับผิดชอบที่จะนำเข้าสู่สภาต่อไป ถือว่าเป็น ร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นำร่าง พ.ร.บ. ทั้ง ๒ นี้เข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๘ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบด้วย เป็นอันว่าไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ผ่านไปแล้ววาระที่ ๑ เมื่อผ่านวาระที่ ๑ แล้วก็เป็นธรรมเนียม เป็นธรรมดาตามกระบวนการของกฎหมาย จะต้องตั้งกรรมาธิการของรัฐสภาขึ้นมาพิจารณาร่าง สภาก็ตั้งกรรมาธิการขึ้นมา แล้วก็ถวายโอกาสพิเศษ ขอให้พระสงฆ์ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งเข้าร่วมพิจารณาด้วย ฉะนั้นทางเลขาธิการหรือผู้แทนเลขาธิการมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เลยต้องไปสภากันอยู่เรื่อย เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ พิจารณากันเรื่อยมาหลายครั้งก็ผ่านไปได้มากพอสมควร พอดีสภาถูกยุบ ร่าง พ.ร.บ. ก็เลยค้างอยู่ที่กรรมาธิการนั่นเอง เมื่อสภายุบแล้ว เป็นอันว่าร่างนี้ที่มีมติเห็นชอบกันมาแต่ต้นเป็นโมฆะไปหมด คือ ไม่มีความหมาย ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ผ่านมาถึง ๓ รัฐบาล จนกระทั่งว่าได้รับความเห็นชอบจากสภาในวาระที่ ๑ ไปแล้ว ก็เลยเป็นอันสิ้นสุดลง นี่เป็นการเดินทางที่ยาวนานที่สุดของร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ยุติลงใน พ.ศ. ๒๕๑๘
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๙ ดูเหมือนว่าจะเป็นสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้มีความเพียรพยายามกันใหม่ เรื่องเก่าก็ถือว่าจบไปเลย จะต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่ของเก่าก็ไม่ถึงกับไร้ความหมาย เพราะว่าร่าง พ.ร.บ. อันเก่านั้นก็นำมาใช้อีก นำมาเป็นตัวแบบในการที่จะร่างใหม่ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ส.ส. ๓ ท่าน นำเอาร่าง พ.ร.บ. เก่านั้นมาดัดแปลงทำเป็นร่างของตนๆ ขึ้น เลยกลายเป็นร่าง พ.ร.บ. ๓ ร่าง หลักการก็คงเดิม คือ ร่างเป็น พ.ร.บ. สำหรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งแยกกัน ฉบับละแห่ง เท่ากับว่าเป็น ๖ ร่าง จัดเป็น ๓ ชุด ส.ส. ๓ ท่านก็นำเข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กระบวนการของนิติบัญญัตินั้นเขาให้โอกาสรัฐบาลไว้ว่า ถ้าเป็นร่างที่ ส.ส. นำเสนอแล้ว รัฐบาลมีสิทธิขอรับไว้พิจารณาก่อน ไม่เหมือนร่างที่รัฐบาลเสนอเอง ทีนี้เมื่อ ส.ส. ๓ ท่านนำเข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็ขอรับเอาร่างทั้งหมดนั้นไปพิจารณาก่อน โดยขอเวลา ๖ เดือน ความจริงนั้นเราสามารถถือมติมหาเถรสมาคมที่ให้ไปแล้วได้ แต่ว่าตอนนี้การดำเนินการหรือการเข้าถึงทางในอาจไม่พอ ทำให้คณะรัฐมนตรีไปมีมติกันอีกว่า ให้ขอความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ กลายเป็นเรื่องเริ่มใหม่ เรื่องตอนนี้ อาตมภาพไม่ค่อยทราบชัดนัก เพราะอยู่ต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึงต้นปี ๒๕๒๑ คือตลอดเลย ตั้งแต่ตอนเสนอก็ไม่ได้อยู่ ทีนี้เมื่อรัฐบาลมีมติให้ขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม เรื่องก็เข้าสู่มหาเถรสมาคม คราวนี้มหาเถรสมาคมไม่มีมติเหมือนคราวก่อนเสียแล้ว มหาเถรสมาคมกลับเสนอว่าควรจะร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาใหม่ ให้เป็นฉบับเดียวกัน โดยให้ครอบคลุมการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งหมด และเรียก พ.ร.บ. นี้ว่า "พ.ร.บ. การศึกษาแห่งสงฆ์" มองในแง่หนึ่งเท่ากับมีร่าง พ.ร.บ. ใหม่ขึ้นมาแข่งกับร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และร่าง พ.ร.บ. มหามกุฏราชวิทยาลัย กลายเป็น ๓ ฉบับ แต่ว่ามองในแง่หนึ่ง เท่ากับว่าคณะสงฆ์นี้ต้องการตัดร่าง พ.ร.บ. ๒ ฉบับของมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นออกไป แล้วเอาร่าง พ.ร.บ. ใหม่นี้ขึ้นมาแทน ร่าง พ.ร.บ. ใหม่นี้คลุมไปถึงการศึกษาปริยัติธรรมทั้งหมดด้วย ทางมหาเถรสมาคมต้องร่าง พ.ร.บ. ใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็ต้องการเวลา ต้องเสียไปกับเรื่องนี้อีกเยอะ เมื่อร่างเสร็จ มหาเถรสมาคมก็ต้องส่งไปทางฝ่ายรัฐบาล ต้องส่งเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทราบว่าเรื่องเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาข้อความในร่างนี้มาก ส่งกลับมาคณะสงฆ์ๆ ก็ไม่เห็นชอบด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ไปเปลี่ยนแปลงของท่าน ก็เลยเกิดความขัดแย้งกัน ผลที่สุด พ.ร.บ. นี้ก็เลยไม่เดินหน้า เงียบหายไปเฉยๆ และเรื่องก็เหมือนจะจบสิ้นหรือระงับไป เป็นอันว่าจบไปอีกตอนหนึ่ง
ทีนี้เพิ่งจะรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ หลังจากเงียบงันไป ๔ ปี ความจริงตลอดระยะนี้ก็มิได้เงียบโดยสิ้นเชิง ได้มีความพยายามกัน แต่ทว่าไม่ปรากฏเป็นทางการ ทีนี้เรื่องมาปรากฏเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๒๓ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น คือ นายขุนทอง ภูผิวเดือน ได้มีบันทึกมาทางกรมการศาสนา ให้ดำเนินการเรื่องที่จะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้แสดงเหตุผลต่างๆ ประมาณ ๓ ข้อ ที่ว่าควรดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นไป เรื่องดำเนินต่อมา จนถึงเดือนธันวาคมก็ได้มีการประชุมกัน ทางคณะสงฆ์ก็ได้รับนิมนต์ให้เข้าไปร่วมประชุมด้วย และได้พิจารณาตกลงกันว่าควรจะทำให้เสร็จสิ้น แต่การดำเนินการครั้งนี้ไม่ยืดยาว เรื่องก็เงียบหายไป ดูเหมือนว่าจะมอบให้กรมการศาสนาเป็นเจ้าของเรื่อง เมื่อกรมการศาสนาเป็นเจ้าของเรื่องแล้ว ต่อแต่นั้นเรื่องดำเนินการไปอย่างไรก็เงียบ ต้องไปถามที่กรมการศาสนา ผลปรากฏภายนอกก็คือไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ทางกรมการศาสนาอาจจะบอกว่า นี้แหละคือเรื่องนี้ที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน คือเรื่องตั้งแต่ครั้งนั้น มีความเคลื่อนไหวกันมาเป็นระลอกๆ จนกระทั่งถึงว่า ได้มีพรรคการเมืองที่มีความเห็นชอบ และก็ร่าง พ.ร.บ. กันขึ้น มีพรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ทางกระทรวงศึกษาธิการ พรรคกิจสังคมก็อยู่ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมา ได้เอื้ออำนวยให้ทางฝ่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์เข้าไปร่วมพิจารณาเข้าไปร่างกันมา ผลที่สุดก็กลายรูปจากร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง และร่าง พ.ร.บ. มหามกุฏราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง มาเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันใหม่ ซึ่งในตอนสุดท้ายนี้ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้น เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา"
ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่งนั้นมีเนื้อหาสาระที่มากมายยืดยาว เรียกว่าสมบูรณ์ในตัว ฉะนั้น แต่ละฉบับจะมีมาตราราวๆ ๔๐ มาตรา หรือกว่านั้น ทีนี้ทางผู้ที่พิจารณาสนับสนุนในระยะหลังนี้เห็นว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอเต็มรูปอย่างนั้นยากที่จะผ่าน ยากที่จะประสบความสำเร็จ และขั้นตอนต่างๆ จะมีอุปสรรคเรื่อยมา และก็จะมีปัญหา จากการที่ได้ฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายแล้ว คิดว่าจะหาทางหลีกเลี่ยงในพวกประเด็นปลีกย่อยข้อที่จะให้เกิดความติดขัดเสีย เอาแต่ขอให้ผ่านไปทีหนึ่งก่อน คือความเห็นในช่วงสุดท้ายนี้ยุติว่า ทำอย่างไรก็ได้ ให้มันเสร็จไปขั้นตอนหนึ่งก่อน แล้วค่อยคิดเดินหน้าแก้ไขกันทีหลัง ขอให้ตระหนักอันนี้ไว้ด้วย คือจะต้องทำใจในเรื่องนี้ ว่าขอให้มันเสร็จไปทีหนึ่งก่อน แล้วค่อยคิดเดินหน้าต่อไป ก็เลยออกมาในรูปที่เรียกว่า กำหนดวิทยฐานะกันเสียก่อน และจะเห็นมีข้อสังเกตที่แปลกขึ้นมาหน่อย ก็คือว่าในร่าง พ.ร.บ. นี้ ไม่ใช่เพียงมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ เท่านั้น ตอนนี้มีเพิ่มเข้ามาอีก คือ เปรียญธรรม ๙ ประโยค อันนี้มองได้หลายอย่าง ในแง่หนึ่งก็คือว่าที่จะให้ทางมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ ผ่าน จะต้องไปเอื้อแก่ฝ่ายคณะสงฆ์ด้วยมองในแง่หนึ่งก็เหมือนไปอาศัยให้ออกมาด้วยกัน จึงจะผ่านไปได้ด้วยดี เป็นอันว่าต้องมีการกำหนดวิทยฐานะของเปรียญธรรม ๙ ประโยคพ่วงมาด้วย ร่าง พ.ร.บ. นี้ก็มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่นี่ สาระสำคัญที่อาตมภาพดูแล้วมี ๒ ส่วน คือ
๑. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้เป็นปริญญาตรี สำหรับเปรียญธรรม ๙ ประโยค พุทธศาสตรบัณฑิต และศาสนศาสตรบัณฑิต
๒. ตั้งคณะกรรมการการศึกษาแห่งสงฆ์ขึ้นมา คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีใน ๒ ร่าง เรียกชื่อต่างกัน อันหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการการศึกษาแห่งสงฆ์" อีกร่างหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์" ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลควบคุมในบางส่วนที่จะให้งานโดยเฉพาะในด้านวิชาการเป็นไปด้วยดี
นอกจากนั้นก็มีรายละเอียดพิเศษว่า จะต้องมีการให้ปริญญาย้อนหลังแก่ผู้สำเร็จในรุ่นก่อนๆ และก็มีบทลงโทษเป็นส่วนที่พ่วงเป็นส่วนประกอบ หลักการสำคัญก็มี ๒ อย่างดังที่กล่าวแล้ว ส่วนการบริหารภายในของมหาวิทยาลัยนั้นไม่พูดถึง
ในตอนที่รัฐบาลจะให้ความเห็นชอบแก่ร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็ต้องให้เหตุผลประกอบด้วย เหตุผลเท่าที่ได้ฟังมี ๒ ประการที่สำคัญ โยงไปถึงว่า ทำไมจึงไม่ออกมาในรูปเป็นร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่ง ซึ่งมีข้อความสมบูรณ์ครบถ้วนรวมถึงการบริหารกิจการด้วย เหตุผลข้อที่ ๑ อ้างว่ามหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่งนี้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการ ถือว่ามีฐานะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องออก พ.ร.บ. ใหม่เพื่อรับรองฐานะ จะเห็นว่าข้ามประเด็นเรื่องรับรองฐานะไป เอาแต่ประเด็นเรื่องรับรองปริญญา อันนี้ขอให้สังเกตดูข้อที่แยกกันไว้แต่ต้น และเหตุผลอีกข้อหนึ่งบอกว่า เพราะว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ยากแก่การควบคุม ใช้คำพูดอย่างนี้อาจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าโดยสาระสำคัญก็หมายความว่า ยากที่จะมาดูแลการบริหารกิจการภายใน ฉะนั้นก็เลยออกมาในรูปที่ไม่ให้มีพันธะที่รัฐจะต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าทำร่าง พ.ร.บ. โดยสมบูรณ์แล้ว ทางฝ่ายบริหารคือฝ่ายรัฐบาลบ้านเมือง ต้องมีภาระและพันธะ ซึ่งเห็นว่าควบคุมดูแลได้ยาก
ทีนี้ถ้าเราจะวิจารณ์เพื่อผลดีข้างหน้า ข้อหนึ่ง ในแง่เกี่ยวกับฐานะที่ว่าตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการนี้ ก็พอจะรับได้อยู่ แต่ว่ายังไม่น่าพอใจทีเดียว เรื่องนี้จะยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ อาตมภาพบอกไว้แต่ต้นว่า ท่าทีต่อร่าง พ.ร.บ. นี้ที่สำคัญคือต้องให้มองว่า เป็นขั้นตอนหนึ่งของการที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่งขั้นตอนนี้ก็รวมไปถึงเรื่องการรับรองฐานะด้วย จะไปพอใจว่าตั้งโดยพระบรมราชโองการเท่านั้นไม่ได้ เพราะว่า ประการแรก พระบรมราชโองการนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องความสมบูรณ์ อันนี้ต้องไปพิจารณากันในรายละเอียด ประการที่ ๒ สถาบันต่างๆ แม้จนตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการ แม้จะสมบูรณ์แล้ว แต่เป็นคนละยุคคนละสมัย สถานะนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันในแต่ละยุคแต่ละสมัย จึงต้องมีกฎหมายที่กำหนดฐานะออกมาให้ชัดในยุคนั้นๆ ว่าเป็นอะไร ขั้นไหน ระดับไหน มหาวิทยาลัยสงฆ์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่มีฐานะชัดเจนในสภาพแวดล้อมปัจจุบันว่าเป็นสถานศึกษาระดับไหน ซึ่งจะบอกได้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอะไร เป็นของหลวง ของรัฐ ของเอกชน ของคณะสงฆ์หรือของใคร ถ้าจะบอกว่าเป็นมหาวิทยาลัยก็ต้องมีตัวกฎหมายที่ระบุไว้ชัด ถึงมหาวิทยาลัยบ้านเมืองที่ตั้งขึ้นมาทุกแห่ง เมื่อเวลาผ่านไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องมี พ.ร.บ. ออกมาใหม่ อย่างน้อยก็ต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนั้นแก้ไขเพิ่มเติมกันเรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ตั้งโดยพระบรมราชโองการ จะถือว่าพอแล้วแค่นั้นไม่ได้ ต้องมี พ.ร.บ. เรื่อยมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ล่าสุดก็ออกใหม่ไม่กี่ปีนี่เอง เพื่อกำหนดให้มันแน่นอนถึงสถานะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมขณะนั้นเวลานั้นให้ชัดเจน ฉะนั้น อันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องรอการดำเนินการหรือก้าวหน้าต่อไป
ข้อ ๒ ในแง่ที่ว่า ยากแก่การควบคุม อันนี้อย่างน้อยก็เป็นการที่เรียกได้ว่า "ปัดเรื่องให้พ้นไปทีหนึ่ง" ถึงอย่างไรในแง่นี้ก็คงจะน่ายินดีที่ว่า เอาละ ให้มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ได้ฐานะอย่างน้อยก็ในแง่ของการรับรองปริญญาเสียก่อน แต่ถ้ามองในแง่ของส่วนรวมแล้วไม่น่าสบายใจเท่าไร เพราะเป็นการแสดงว่า กิจการในด้านศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งหมดไม่ได้รับความเอาใจใส่จริงจัง รัฐและคณะสงฆ์ไม่ถือเป็นสำคัญเท่าที่ควร เต็มไปด้วยการปัดความรับผิดชอบ ตราบใดที่ยังเลี่ยงการรับรองไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง นั่นคือ "การแสดงความไม่อยากรับผิดชอบ" กิจการส่วนรวมโดยเฉพาะการศึกษาของคณะสงฆ์จะดำเนินไปด้วยดี จะต้องมีการรับผิดชอบกันอย่างจริงจัง เอาใจใส่ให้เต็มที่ จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ขณะนี้ให้ถือว่าการศึกษาของพระเรายังอยู่ในสภาพที่ว่ามีอะไรที่อยากจะปัดก็ปัดออกไปไม่อยากเข้าเกี่ยวข้อง ฉะนั้นในแง่ของผลประโยชน์ส่วนรวมระยะยาวแล้วไม่น่าภูมิใจ อันนี้เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลที่ทางรัฐบาลแถลงมา ๒ ข้อนั้น
อาตมามีข้อเสนอแนะว่า ในร่าง พ.ร.บ. นี้ มีอะไรที่ถ้าหากเป็นไปได้ก็น่าจะได้ทำต่อไป ถ้าเรายังอาจและยังมีเวลาเติมก็ควรจะทำ คือว่าถ้าอาศัย พ.ร.บ. ใหม่นี้รับรองฐานะไปเลยก็เป็นการดี เช่น อาจจะให้มีข้อความใน พ.ร.บ. นี้ กำหนดลงไปเสียตอนใดตอนหนึ่งว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้วนั้น" ถ้ามีข้อความนี้ขึ้นมา พ.ร.บ. นี้จะกลายเป็นตัวรับรองไปเอง อันนี้ถึงแม้จะไม่ออกเป็น พ.ร.บ. โดยเฉพาะ แต่เอาข้อความนี้เข้าช่วยก็ใช้ได้ ระหว่างนี้เรื่องยังไม่เสร็จสิ้น ข้อความเดิมก็อาจจะตีความได้ต่างๆ อาตมภาพเกรงว่า ถ้าเกิดมีการตีความกันขึ้น ก็อาจจะเกิดการโต้แย้งกันขึ้นได้ ถ้าหากระบุไว้อย่างชัดเจนก็หมดปัญหาไปเลย
ต่อไป ทำอย่างไรจะให้มีข้อความที่กำหนดไว้ชัดเจน ในเรื่องอำนาจที่จะขยายการศึกษาต่อไป ซึ่งในร่างนั้นอาจจะมีอยู่ แต่ก็ต้องขึ้นต่อการตีความ ทำอย่างไรจะให้ชัดออกมาเลย ใน พ.ร.บ. นี้เน้นไปที่การศึกษาเก่าที่มีอยู่แล้ว รับรองหรือเทียบกำหนดวิทยฐานะประโยค ๙ และปริญญา พธ.บ. และ ศ.บ. เป็นปริญญาตรีทางสังคมศาสตร์ ถ้าจะพิจารณาในรายละเอียด อาจจะต้องเติมมนุษยศาสตร์เข้าไปด้วยละกระมัง แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญตอนนี้ก็คือว่ารับรองแค่ปริญญาตรี ทีนี้ถ้าหากจะดำเนินการถึงปริญญาโท ปริญญาเอก ยังมองไม่เห็นชัดว่าให้อำนาจอยู่ตรงไหน ถ้าจะกำหนดให้ชัดลงไปได้ก็จะดี เราพูดกันไปแล้วว่านี่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง ถ้าเรามีความตระหนักนี้ไว้ ก็คอยหาทางเติมเข้าไป แต่สมมุติว่าถ้าเป็นไปไม่ได้ หรือกำหนดไม่ได้จริงๆ ก็ปล่อยก็เอาเท่านั้นก่อน แต่หมายความว่าต้องเตรียมใจให้พร้อม ที่จะดำเนินการก้าวหน้า จะพอใจแค่นี้ไม่ได้ ถ้าหากสามารถก็กำหนดมาให้ชัดเจน
ทีนี้มีมาตราที่ให้ศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญารุ่นก่อนๆ ย้อนหลังในร่าง พ.ร.บ. ๒ ฉบับนี้ไม่เหมือนกัน ตอนนี้มีร่างอยู่ ๒ ร่าง คือ ร่างของพรรคกิจสังคมและร่างของกรมการศาสนาซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน ข้อความคล้ายๆ กัน ไปเปลี่ยนแต่รายละเอียดหรือถ้อยคำ ซึ่งในแง่ของกฎหมายก็สำคัญเหมือนกัน อาตมภาพว่าดูร่างที่มีอยู่ก็จะมีปัญหาได้เหมือนกัน ในการให้ปริญญา ให้ศักดิ์และสิทธิ์ย้อนหลังแก่รุ่นก่อนๆ คือ ในร่างหนึ่งดูคล้ายๆ ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์จะต้องให้ปริญญาใหม่อีกทีแก่รุ่นก่อนๆ ส่วนอีกร่างหนึ่งนั้นให้เลย โดยบอกชัดใน พ.ร.บ. นี้ ก็เป็นข้อพิจารณาว่า ควรจะเอาอันไหน อันที่ให้อำนาจมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปให้ปริญญาย้อนหลังแก่ลูกศิษย์ของตน หรืออันที่กำหนดให้เลย ควรจะเอาอย่างไหน ถ้าตกลงอันไหน ก็ควรจะเอาอันนั้นให้ชัดเจน
คราวนี้อาตมาขอวกกลับมาเรื่องที่พูดตอนต้นว่า ทำไมจึงว่าน่าดีใจ ๑ ส่วน น่าสังเวช ๓ ส่วน ที่พูดอย่างนี้มองในแง่ของฝ่ายพระสงฆ์ ถ้ามองในแง่ของฝ่ายดำเนินการในเรื่องนี้ คือทางรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่น่าจะอนุโมทนา ที่ได้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญถึงกับพยายามดำเนินการให้เสร็จสิ้น ส่วนในฝ่ายพระสงฆ์ก็พอดีใจได้อยู่ ในข้อที่ว่าเรื่องราวซึ่งเป็นความปรารถนา เพียรพยายามทำกันมานาน ล้มลุกคลุกคลานไม่สำเร็จสักที ก็จะมาสำเร็จหรือว่ามีหวังมากที่จะสำเร็จในครั้งนี้ ถ้าสำเร็จจริงก็น่าดีใจอยู่ เป็นเรื่องที่ควรดีใจมิใช่เรื่องที่น่าเสียใจ
ส่วนที่ว่าน่าสังเวชนั้น ต้องอธิบายหน่อย สังเวชนี้อาตมภาพพูดตามความหมายในทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ในภาษาไทยแท้ๆ คือ ในภาษาไทยกับในภาษาบาลีเดิมนี้ บางทีความหมายของถ้อยคำมันเพี้ยน มันแปรไป สังเวชนี้ ภาษาไทยหมายถึงสลดหดหู่ รู้สึกไม่ดี แต่ในภาษาบาลีในพระพุทธศาสนา สังเวชหมายถึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ได้คิด แล้วก็จะได้ทำอะไรให้มันดีงาม เจริญก้าวหน้า เช่นว่า สังเวชนียสถาน ๔ หรือสถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช ๔ แห่งที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เราไปดูที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ถ้าเอาคำว่าน่าสังเวชในภาษาไทยไปใช้คงไม่ดีแน่ ความหมายในภาษาบาลีเดิมท่านมิได้หมายตรงกับสังเวชในภาษาไทย แต่หมายความว่า เตือนสติให้ได้คิด แล้วจะได้รีบทำความดี ทำสิ่งที่ดีงาม เร่งแก้ไขปรับปรุงให้มันเจริญก้าวหน้า ข้อที่ควรจะให้สังเวชใจหรือเตือนใจให้เราได้คิด แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงทำให้มันก้าวหน้า เจริญยิ่งขึ้น ก็คือว่า เมื่อ พ.ร.บ. นี้ ออกมา จะเป็นเครื่องประกาศให้รู้ว่า คณะสงฆ์เราน่ะมีการศึกษาแค่ไหน ทางฝ่ายการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่เป็นมาแต่เดิมของคณะสงฆ์เองนี้ ก็มีเปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นสูงสุด มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งนี้ก็ได้ดำเนินการศึกษามามีผู้สำเร็จสูงสุดได้ พธ.บ. และ ศ.บ. และบัดนี้ราชการจะได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า การศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์นั้นก็คือปริญญาตรี ปริญญาตรีนั้นในสมัยนี้ เป็นที่รู้จักกันแล้วว่า เป็นปริญญาขั้นต้น หรือขั้นต่ำสุด ถอยหลังไปศตวรรษก่อน เปรียญ ๙ เคยเป็นปริญญาสูงสุดในประเทศไทย ครั้นต่อมา ๖๐ กว่าปีมานี้ การศึกษาฝ่ายบ้านเมืองเริ่มมีการศึกษาขั้นปริญญาตรี การศึกษาของวัดกลายเป็นฝ่ายตามบ้านเมืองเรื่อยมา เปรียญ ๙ เพิ่งจะได้รับฐานะเป็นปริญญาตรีในบัดนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เพิ่งจะมีทีท่าได้รับฐานะมีการศึกษาปริญญาตรี เราจะต้องเดินหน้าต่อไป คือปริญญายังมีสูงขึ้นไปอีก เป็นปริญญาโทและปริญญาเอก
คณะสงฆ์นั้นเป็นผู้รับผิดชอบการพระศาสนา คณะสงฆ์เป็นสถาบันหลักของพระพุทธศาสนา เป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำในทางพระพุทธศาสนา ตามฐานะนี้คณะสงฆ์จะต้องเป็นผู้นำในด้านการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา ใช่หรือไม่? แต่ตามสภาพความเป็นจริงที่ทางการประกาศยืนยันในบัดนี้ คณะสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยขณะนี้ มีการศึกษาสูงสุดแค่ปริญญาตรี ผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์แล้ว อยากศึกษาต่อให้สูงกว่านั้น “ก็ต้องไปนอก” ไปนอกมี ๒ อย่างคือ
๑. ไปนอกประเทศ ไปเรียนต่อ เช่น ที่ประเทศอินเดีย เป็นต้น อาจจะจบปริญญา พธ.บ. หรือ ศ.บ. แล้วก็ไปเรียน ปริญญาโท-เอก ที่อินเดีย หรือตลอดถึงประเทศในยุโรป อเมริกา หรือสำเร็จเปรียญ ๙ ประโยคก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ก็ไปต่อปริญญาโทที่อินเดีย หรือไม่อย่างนั้นก็
๒. ไปนอกวัด เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีสอนบาลีและพุทธศาสนาถึงปริญญาโท และคงมีปริญญาเอกในไม่ช้า เช่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์มีสอนถึงปริญญาโทภาษาบาลีและคงจะเปิดเอกอีกไม่นาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาปรัชญาก็สามารถทำปริญญาโทวิชาเอกทางพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหิดลก็พยายามจะเปิดปริญญาเอกมา ๒-๓ ปีแล้ว คราวนี้ผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์ จะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือปริยัติธรรมเปรียญ ๙ ก็ตาม ถ้าจะเรียนต่อชั้นสูงทางพุทธศาสนาหรือภาษาบาลีในประเทศไทย ก็ต้องไปนอกวัด คือสึก ต้องสึกไปเรียน ไปเป็นคฤหัสถ์ แต่ข้อสำคัญก็คือ เป็นเครื่องแสดงว่า ที่ชาวโลกว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญหรือเป็นผู้นำนั้นคงจะไม่จริง โดยเฉพาะในแง่การศึกษา เพราะสถาบันหลักของพุทธศาสนาในประเทศไทยนี้ ดำเนินการศึกษาได้แค่ปริญญาตรีเป็นสูงสุด จะเรียนบาลีหรือพุทธศาสนาก็ตาม ถ้าต้องการเรียนต่อต้องไปเรียนที่ประเทศอินเดีย ยุโรป อเมริกา นี้พูดถึงวงกว้าง
หันมาในประเทศไทยด้วยกันเอง มองในประเทศไทย ก็หมายความว่า "คณะสงฆ์มิได้เป็นผู้นำในด้านการศึกษาพุทธศาสนาและภาษาบาลี" เพราะว่ามหาวิทยาลัยทางฝ่ายโลกมีสอนถึงปริญญาโท ปริญญาเอก ทางฝ่ายของพระสงฆ์นั้นมีแค่ปริญญาตรีเป็นสูงสุดในขณะนี้ ถ้าจะเรียนให้สูงกว่านี้ จะต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยทางโลก โดยต้องสึกไปเรียน
อันนี้เป็นข้อเตือนใจให้คิด เป็นที่น่าสังเวช ต้องทำใจว่า การจะรับรองครั้งนี้เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากว่าจะดีใจตื่นเต้นก็ควรจะดีใจนิดหนึ่ง แล้วรีบระงับเสีย แล้วคิดที่จะพยายามแก้ไขปรับปรุงว่า ทำอย่างไรที่จะให้คณะสงฆ์และสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาในฝ่ายของพระสงฆ์ เป็นผู้นำในการศึกษาภาษาบาลีและพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง อันนี้เป็นจุดหมายที่จะพึงตื่นตัว การมองแต่เพียงว่าได้รับรองเทียบปริญญานั้นไม่เพียงพอ เป็นเรื่องที่ควรรับทราบตามความเป็นจริง ว่า เอาละ...มันเป็นความก้าวหน้าก็ดีอย่างหนึ่ง รัฐบาลไทยให้โอกาสแก่พุทธศาสนาไปขั้นตอนหนึ่ง แสดงว่าผู้ปกครองประเทศไทยในสมัยปัจจุบัน ก็ได้มองเห็นว่าการศึกษาเป็นกิจการสำคัญของพระศาสนา และมองเห็นว่าการศึกษาทางพระศาสนามีความสำคัญแก่ประเทศชาติ แต่ต้องตระหนักเสมอว่า "เป็นขั้นตอนที่จะต้องเดินต่อไป" ถ้าหากว่าทำใจได้อย่างนี้ก็ยังเป็นที่น่ายินดี แต่ถ้าไปพอใจว่า "เป็นผลสำเร็จแล้ว" และดีใจตื่นเต้นไป ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะว่า "มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่ควรแก่ความดีใจ" อย่างแท้จริง เพราะในแง่หนึ่งจะเป็นการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า คณะสงฆ์หรือการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนี้มันต่ำต้อยด้อยแค่ไหน นี้แหละคือความหมายที่ได้กล่าวในเบื้องต้นที่ว่าให้มีความสังเวช ก็คือ เป็นเครื่องเตือนใจให้ได้คิด แล้วก็จะได้พิจารณาหาทางพยายามแก้ไขปรับปรุงต่อไป
แต่การที่ว่าอย่างนี้ มิใช่ว่าจะไปลงโทษว่ากล่าวติเตียนใคร เป็นของที่อาจต้องทำให้เหมาะสมสำหรับสภาพกาลเวลาหนึ่ง ถ้าจะบอกว่าประโยค ๙ ของปริยัติธรรมในฝ่ายคณะสงฆ์ถือเป็นสูงสุด มันควรจะเป็นปริญญาเอกสิอะไรทำนองนี้ แต่จะให้เป็นได้อย่างไร การที่จะเป็นได้จะต้องพิจารณาให้เหมาะสม เราจะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรอะไรต่ออะไรกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ เช่นว่า ถ้าเราเห็นว่า ประโยค ๙ นี้ เป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์แล้ว ก็ควรจะให้ได้เทียบฐานะที่สูงสุดด้วย ถ้าเราจะคงประโยค ๙ ไว้ให้สูงสุด ก็น่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรเป็นต้น หรือถ้าหากว่า ไม่เป็นไร เอาละประโยค ๙ ปริญญาตรีก็ได้ ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรจะมีหลักสูตรอะไรต่อจากประโยค ๙ เพื่อให้มันสูงยิ่งขึ้นไป ให้สูงสุดจริงๆ เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับทางฝ่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องเพียรพยายามที่จะดำเนินการศึกษาให้ก้าวหน้าไปในชั้นปริญญาโท ปริญญาเอก ในเรื่องเกี่ยวกับบาลีและพุทธศาสนา หรือเรื่องเกี่ยวกับกิจการพระศาสนา เพราะปริญญาตรีเป็นปริญญาพื้นฐานขั้นต้นเท่านั้น จึงอาจจะมีการเรียนวิชาสามัญต่างๆ เข้ามาเยอะแยะ เรื่องปริญญานี้เป็นเรื่องสากล หลักเกณฑ์ของสากล ปริญญาตรีนี้เป็นขั้นต้น ต้องมีวิชาทั่วๆ ไปมาก จะไม่เน้นเอาเป็นสายวิชาเฉพาะของตนเอง อย่างในปริญญาโท ปริญญาเอก ดังนั้นเราก็จะต้องดำเนินการศึกษาในชั้นปริญญาโท ปริญญาเอกที่เด่นเฉพาะภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาให้สำเร็จให้ได้ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคืบหน้าต่อไป
วันนี้อาตมภาพได้พูดเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับการดำเนินการ เพื่อให้มี พ.ร.บ. เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ได้เสนอข้อคิดเห็นไปบ้าง ขอยุติเพียงเท่านี้ ในตอนท้ายได้ทราบว่าจะพูดเรื่องนี้กันอีก เราอาจจะมาคุยกัน ตอนนี้ก็ขออนุโมทนา
หมายเหตุ หลังจากการสัมมนาครั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ได้รับการพิจารณาเห็นชอบในรัฐสภาแล้ว ตามลำดับดังนี้
- สภาผู้แทนราษฎร (ในการประชุมสมัยวิสามัญ ครั้งที่ ๒/๒๕๒๗) มีมติเห็นชอบรับหลักการเป็นเอกฉันท์ ณ วันพุธที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๗ และตั้งกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในวันศุกร์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ และให้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
- วุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบรวดเดียว ๓ วาระ ในวันจันทร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๗
พิมพ์ครั้งแรกใน "พุทธจักร" ฉบับพิเศษ ครบรอบวันสถาปนา กันยายน ๒๕๒๗ ต่อมาตีพิมพ์ซ้ำใน "ศิษย์เก่า ม.จ.ร. คืนเหย้า ๒๕๒๗" หน้า ๗-๓๐
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗
เป็นปีที่ ๓๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ วิชาการพระพุทธศาสนา หมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง
(๒) หลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(๓) หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มาตรา ๔ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
(๑) ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "เปรียญธรรมเก้าประโยค" ใช้อักษรย่อว่า "ป.ธ. ๙"
(๒) ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "ศาสนศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อว่า "ศน.บ."
(๓) ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "พุทธศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อว่า "พธ.บ."
มาตรา ๕ นอกจากปริญญาตามมาตรา ๔ พระภิกษุสามเณรซึ่งได้ศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาอาจได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ความเห็นชอบ
มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการแม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง นายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดีกรมการฝึกหัดครู อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมวิชาการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เป็นกรรมการ กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์เลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ
ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์
มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งทรงแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก หรือ
(๓) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา ๙ การประชุมของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการผู้หนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๐ คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย และแผนการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
(๒) กำหนดมาตรฐาน และให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิชาการพระพุทธศาสนา
(๓) กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าศึกษา ระยะเวลาการศึกษา การสอบและเงื่อนไขในการรับปริญญา หรือประกาศนียบัตร
(๔) ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลัก และป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยให้ผิดไปจากพระบาลีในพระไตรปิฎก
(๕) วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินกิจการที่ขัดต่อพระธรรมวินัยหรือขัดต่อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของสถานศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้
(๖) วางระเบียบ และออกข้อบังคับหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๑ ผู้ใดไม่มีสิทธิใช้ปริญญาหรือประกาศนียบัตร หรืออักษรย่อปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๒ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีตามมาตรา ๔
มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
รองนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระภิกษุสามเณรซึ่งได้ศึกษาและสอบไล่ได้เปรียญเก้าประโยคตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงของคณะสงฆ์ ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เทียบขั้นบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร สมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรทั้งสามนี้ให้สูงเท่ากับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
(คัดจากราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๔๐ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๗ หน้า ๔-๑๐.)
คำว่า "โซ๊ด" เข้าใจว่ามาจาก exotic แปลว่า หัวนอก หรือคลั่งฝรั่ง หรือฝรั่งจ๋า; แสดงว่าสมัยนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมเริ่มเด่นชัดที่จะทำให้คนมองแยกกัน เป็นพวกหัวนอกกับพวกอารามหรือหัววัด เป็นสุดทางคนละด้าน
สำหรับตัวเลขภิกษุสามเณรที่เข้าสอบปริยัติธรรมนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสลดใจยิ่งขึ้นไปอีก คือไม่แต่เพียงขาดสอบมากและตกมากเท่านั้น แม้แต่จำนวนที่เข้าสอบ ก็เป็นผู้ไม่ได้เรียนเสียเป็นจำนวนมาก คือในวัดหรือถิ่นที่ตนบวช ไม่มีการเรียนการสอน ครั้งถึงเวลาก็ลงชื่อใส่บัญชีส่งเข้าสอบ
ชาย โพธิสิตา, มหาวิทยาลัยสงฆ์ในสังคมไทย (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๒๒), ๑๙๕ หน้า
พระราชวรมุนี, สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๑๗), ๑๑๐ หน้า
S.J. Tambiah, World Conqueror and World Renouncer (New York : Vail-Ballou Press, Inc., 1976), pp. 288-364
และบทความเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อีกหลายเรื่องของ พระราชวรมุนี
อนึ่ง ในสมัยโบราณ วังเป็นที่เล่าเรียนของคนชั้นสูงจำนวนน้อย วัดเป็นที่เล่าเรียนของทวยราษฎร์ มีความประจวบบังเอิญที่มาลงตัวเข้าพอดีอีกว่า ในการศึกษายุคใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย วิวัฒนาการมาจากสถานศึกษาฝ่ายวัง คือ โรงเรียนมหาดเล็ก แต่นั้นมาจนบัดนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ของบ้านเมือง ก็เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชนส่วนน้อยผู้มีฐานะและโอกาสดีในสังคมเข้าเรียนเป็นส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด ถ้าหากรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย ซึ่งวิวัฒนาการจากสถานศึกษาของวัดเกิดขึ้น บางทีปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้กระมัง