พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คำนำ

ผมได้ทราบมาว่า เมื่อข่าวการนิมนต์พระมาแสดงปาฐกถาสำคัญในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เริ่มแพร่ออกไปนั้น ได้เกิดปฏิกิริยาในทางลบทันที มีเสียงค้านว่า พระจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวิทยา­ศาสตร์ เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ผู้จัดมีศรัทธาในองค์ปาฐกที่มุ่งหมาย คือ ท่านเจ้าคุณพระเทพเวที จึงยืนยันดำเนินการจัดให้มีขึ้นจนได้ สำหรับผมเองนั้นเมื่อได้รับบัตรเชิญ ไม่ได้สงสัยหรือประหลาดใจแต่ประการใด เพราะรู้จักและตระหนักในปัญญาคุณของท่านเจ้าคุณฯ ผมโชคดีที่มีโอกาสแวะพักเชียงใหม่ เพียงเพื่อจะฟังปาฐกถาครั้งนั้น ในช่วงที่พาเพื่อนชาวต่างประเทศเที่ยวเมืองเหนือ จึงสามารถเป็นพยานในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของปาฐกถาครั้งนั้นได้อย่างแน่นอน

ท่านเจ้าคุณฯ ใช้เวลาสี่ชั่วโมงครึ่งเพื่อบรรยายเนื้อหาที่ท่านเตรียมมาแต่ก็ไม่จบสิ้นกระบวนความที่ท่านประสงค์จะแสดง ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่ คือมากกว่า ๙๐% อยู่ฟังต่อจนจบหลังจากพักครึ่งเวลา ห้องประชุมใหญ่ซึ่งจุคน ๓๐๐ คน แน่นจนต้องเปิดห้องอื่นต่อโทรทัศน์วงจรปิดให้เข้าไปนั่งฟัง ขณะเดียวกันก็มีการถ่ายทอดสดจากสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ยากที่จะเกิดขึ้นในการชุมนุมฟังปาฐกถาวิชาการสาขาใดในงานใดก็ตาม สำหรับเนื้อความจะเป็นอย่างไรนั้นปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ท่านผู้มีวิจารณญาณพินิจพิเคราะห์ด้วยสติปัญญาของท่านเองแล้ว ผมได้รับฉันทานุมัติทั้งจากฝ่ายท่านผู้แสดงปาฐกถา และฝ่ายท่านผู้จัดงานให้เขียนคำนำสำหรับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมก็ได้ตอบรับด้วยความยินดี และเต็มใจ ผมคิดจะถือโอกาสอันนี้ไม่เพียงแต่จะเชิญชวนให้ท่านผู้หยิบหนังสือนี้ขึ้นเริ่มอ่านเกิดฉันทะยิ่งขึ้น แต่จะได้หยิบยกบางประเด็นที่ผมเองสนใจ ขึ้นมาอภิปรายตามที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ผู้อ่านบางท่านอาจข้องใจสงสัยว่า ท่านเจ้าคุณเทพเวทีรู้วิทยา­ศาสตร์ เพียงพอที่จะวิเคราะห์วิจารณ์หลักการของวิทยาศาสตร์ละหรือ ท่านเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาจากสถาบันไหน เมื่อผมได้ฟังการบรรยายของท่านแล้ว ผมก็แน่ใจว่าท่านไม่ได้ศึกษามาอย่างที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางสาขาใดของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ท่านไม่เคยได้รับแม้แต่ปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ ข้อนั้นผมถือว่าเป็นการดีที่จะได้ไม่มีเจ้าสำนักสถาบันวิทยาศาสตร์ใดอ้างได้ว่าเคยเป็นอาจารย์ของท่านมา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ท่านอ้างอิงถึงนั้นผู้รักเรียนทั่วไปสามารถแสวงหาได้ โดยอุตสาหะวิริยะของตนเอง ปัญหามีอยู่ว่าโดยทั่วไปแม้ในหมู่ผู้ที่ถือว่าตนเป็นนักวิชาการนั้น มีความสนใจที่จะเรียนกว้างไกลออกไปจากวงแคบของความรู้เชี่ยวชาญพิเศษของตนหรือเปล่า ผมมีความเห็นว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยได้เรียนรู้พุทธศาสนาอย่างถูกต้องในระดับอันเทียบเท่ากับที่ท่านเจ้าคุณฯ รู้วิทยาศาสตร์แล้ว ก็คงจะมีทัศนคติที่ช่วยให้ท่านทำประโยชน์แก่ทั้งวิทยาศาสตร์ และพุทธศาสนา ได้ไม่น้อย

ผู้คนทั่วไปในโลกปัจจุบันยอมรับนับถือว่า วิทยาศาสตร์เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญและน่าเชื่อถือในเรื่องโลกและชีวิต ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะวิทยาศาสตร์ประยุกต์เป็นรากฐานของเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งได้ผลิตอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายและสนองตอบเต็มที่ต่อความต้องการทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมของมนุษย์ วิทยาศาสตร์จึงประทับใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในโลก อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของวิทยาศาสตร์ ต่อปัญหาเรื่องต่างๆ จะถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงแท้ กล่าวคือ สัจจธรรมหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่นักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเองก็ได้ขบคิดพิจารณากันอยู่ตลอดมา ปาฐกถาของท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีอันเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ เป็นกรณีหนึ่งของการอภิปรายในปัญหาซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการไทยปัจจุบันควรให้ความสนใจอย่างยิ่งถ้าคิดจะก้าวหน้าให้ทันโลกปัจจุบัน

ผมอยากจะเสนอความคิดเห็นต่อท่านผู้อ่านว่าความรู้ทางวิทยา­ศาสตร์ แตกต่างจากความรู้ในพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ประเด็นนี้อาจช่วยให้ท่านเข้าใจเรื่องที่ท่านเจ้าคุณฯ กล่าวถึง (เช่นในหน้า ๑๒๕-๑๒๗) ชัดเจนยิ่งขึ้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นผลงานร่วมและมรดกตกทอดทางปัญญาของผู้คนจำนวนมหาศาล ที่สืบทอดประเพณีการแสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติโดยสังเกตการณ์และการทดลอง มีวิธีการพิเศษเฉพาะ ในการรวบรวมข้อมูลมาจำแนกประเภทและทำการวิเคราะห์เพื่อหาหลักเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ซึ่งเชื่อว่ามีโยงใยแห่งเหตุปัจจัย และถือว่าเป็นกฎธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์จะ คาดคะเน ถึงลักษณะของความสัมพันธ์เหล่านี้ และเสนอเป็นสมมติฐานหรือทฤษฎี การตรวจสอบว่าข้อคาดคะเนเหล่านี้ จะถูกต้องหรือสอดคล้องกับวิถีทางที่ถูกต้องของธรรมชาติหรือไม่เพียงใดนั้น ก็โดยนำเอาสมมติ­ฐานหรือทฤษฎี ไปเป็นหลักพยากรณ์ว่าในสถานการณ์แวดล้อมเช่นใดจะเกิดปรากฏการณ์อย่างไรขึ้น แล้วทำการทดลองหรือทำสังเกตการณ์ตามคำพยากรณ์นั้น เพื่อทดสอบว่าเป็นไปตามพยากรณ์ไว้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าพยากรณ์ได้ถูกต้องก็ถือว่าสมมติฐานหรือทฤษฎีนั้น คงจะใกล้เคียงกับสัจจธรรม หรือความจริง และเป็นที่ยอมรับเข้าเป็นความรู้ที่ใช้งานได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการทดลองหรือสังเกตการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการพยากรณ์เกิดขึ้น แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏการณ์เช่นที่ว่านี้เกิดขึ้น ก็จะต้องมีการปรับปรุงสมมติฐานหรือทฤษฎีใหม่ ให้สามารถครอบคลุมอธิบายและพยากรณ์ปรากฏการณ์เพิ่มขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องเสนอ ข้อคาดคะเนแบบใหม่ เป็นการเสนอสมมติฐานหรือทฤษฎีใหม่เพื่อใช้แทนของเก่าต่อไป

สมมติฐานหรือทฤษฎีที่ยืนยงทนการตรวจสอบด้วยข้อมูลใหม่ๆ เป็นเวลายาวนาน จนเชื่อกันว่าค่อนข้างจะถูกต้อง อาจได้รับการยกระดับเป็น กฎ (ธรรมชาติ) เช่น กฎความโน้มถ่วงของนิวตัน แต่แม้แต่ถึงขนาดนี้แล้วก็ยังอาจถูกแทนที่ได้ เช่นกฎดังกล่าวนี้เองในปัจจุบันถูกแทนที่โดยสัมพัทธทฤษฎีทั่วไปของไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า

ดังนั้น ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นแท้จริงเป็นการสะสม ข้อคาดคะเน เรื่องหลักการในธรรมชาติ โดยระเบียบวิธีการเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะคิดค้นมาใช้ได้ เมื่อเราเปิดตำราวิทยา­ศาสตร์ หรือตำราวิชาการที่อาศัยหลักการวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอยู่เต็มห้องสมุดทั่วไปในโลก เราจึงพบว่ามันเต็มไปด้วยสมมติฐานของคนนั้น ทฤษฎีของคนนี้ ฯลฯ ไม่มีในที่ใดเลยที่เสนอว่า “ความจริงหรือสัจจธรรมเป็นเช่นนี้!”

ลักษณะของวิทยาศาสตร์ที่ควรจะตั้งข้อสังเกตไว้อีกประการหนึ่งก็คือ เป็นความรู้ที่อาศัยข้อมูลที่เข้าสู่ความรับรู้ของมนุษย์ทางอินทรีย์ ๕ หรือทวาร ๕ และโดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ทางจักขุนทรีย์ หรือ จักขุทวาร ทั้งนี้ โดยได้ผ่านกระบวนการปรุงแต่งของจิตแล้ว (ตามที่ท่านเจ้าคุณฯ กล่าวถึงในหน้า ๑๒๓-๑๒๕) และนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปไม่ได้เฉลียวใจทำการวิเคราะห์ให้ชัดเจนก่อนนำมาเป็นข้อมูลเริ่มต้น ในการคาดคะเนตั้งสมมติฐานทฤษฎี ข้อมูลของวิทยาศาสตร์จึงเป็นบัญญัติสมมติที่จิตสร้างขึ้น จากการกระตุ้นของธรรมชาติแท้จริงภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการนำข้อมูลเช่นนั้นไปวิเคราะห์คาดคะเน อย่างไรก็คงไม่นำไปสู่ความรู้จริงแท้หรือสัจจธรรมได้ นอกจากจะเป็นเพียงความรู้เรื่องโลกอันเป็นเพียงเงาของความจริงเช่นที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้อ้างถึงคำพูดของเอดดิงตัน (หน้า ๑๓๐) นั่นเอง

สามัญสำนึกของผู้คนทั่วไป ซึ่งผมจะขอเรียกในที่นี้ว่า ‘ชาวบ้าน’ นั้น ถือเอาว่ามีตัวตนบุคคล หรืออัตตา เป็นผู้สังเกตการณ์ ธรรมชาติแวด​ล้อม และถือเอาว่าสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ เป็นต้นว่าพื้นดิน ภูเขา ต้นไม้ ผู้คน ฯลฯ เป็นอย่างที่รับรู้ทางอินทรีย์ ๕ กล่าวคือ ทางตา เป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วข้างบน นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มต้นจากสามัญสำนึกแบบชาวบ้าน ดังนั้นเมื่อเขาพยายามขยายความคิดจากสิ่งที่รับรู้ได้ทางอินทรีย์ ๕ ไปสู่สิ่งที่ละเอียดสุขุมกว่า เช่นคิดถึงอะตอม อันเขาคาดคะเนว่าเป็นองค์ประกอบเล็กย่อยที่ยังคงคุณสมบัติทางเคมีของธาตุที่รู้เห็นได้ไว้ ภาพในใจของเขาก็ยังอาศัยรูปลักษณ์ของสิ่งของในโลกที่เขามองเห็นได้นั่นเอง ดังนั้น อะตอมของเขาจึงเป็นเหมือนลูกบิลเลียดกลม แต่เล็กจิ๋วจนเห็นไม่ได้ อนุภาคมูลฐานต่างๆ เช่น อิเลกตรอน โปรตอน นิวตรอน ก็เป็นเม็ดกลมเล็กๆ ไปด้วย จนกระทั่งปรากฏการณ์ใหม่ๆ ของต้นศตวรรษนี้ทำให้ต้องปฏิวัติความคิดกันใหม่ ว่าเจ้าสิ่งเหล่านี้อาจมีรูปลักษณ์เป็นเม็ดก็ได้ เป็นคลื่นก็ได้ แล้วแต่กรณีที่ผู้สังเกตการณ์จะเผชิญมันในสถานการณ์ใด ประเด็นนี้ท่านเจ้าคุณฯ กล่าวถึงไว้ในหน้า ๔๕

สรุปว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องคาดคะเนว่าในปรากฏ­การณ์หลากหลาย อันเราเรียกรวมว่า ธรรมชาติ นั้น น่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างที่พอจะยึดถือเป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติการในชีวิตและสังคมได้ด้วยความมั่นใจตามสมควร สมมติฐาน ทฤษฎี และกฎทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นองค์ประกอบของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ย่อมมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับประสบการณ์ใหม่ได้เสมอ จึงไม่ใช่สัจจธรรมสุดท้าย แต่ก็มีประโยชน์ยิ่งเมื่อนำไปประยุกต์เป็นเทคโน­โลยีอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตโดยชอบธรรม ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของวิทยาศาสตร์ก็คือได้ละเลยที่จะขยายขอบเขตเข้าไปสู่ด้านนามธรรม คือเรื่องของจิตใจซึ่งเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับโลกแห่งสสารวัตถุหรือรูปธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ในเรื่องของชีวิตจิตใจ จึงนับว่าผิวเผิน ไม่เพียงพอที่จะยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ชี้นำทางชีวิตและสังคมได้

พุทธธรรม เป็นระบบความรู้ความเข้าใจแจ้งในสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า – ท่านผู้บรรลุความรู้เองโดยชอบ

การประกาศความตรัสรู้ของพระตถาคตเป็นการประกาศศักยภาพของมนุษย์ ที่จะหยั่งรู้สัจจธรรมหรือสภาพเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นโดยตรง (หน้า ๑๒๗) ไม่ใช่ทางระบบการคาดคะเนเช่นกับวิทยาศาสตร์

พระพุทธองค์ทรงประกาศว่า “ตถาคตรู้” ไม่ใช่ “ตถาคตคาดคะเน” ว่าสิ่งใดเป็นอย่างไร หลักธรรมที่ทรงประกาศนั้นท้าทายให้บุคคลนำไปพิจารณา พิสูจน์ ทดสอบด้วยประสบการณ์ชีวิตของตนเอง การแสวงหาสัจจธรรมทางพุทธศาสนาก็คือการพัฒนาศักยภาพภายในเพื่อให้เกิดปัญญาในระดับที่รู้ทันการปรุงแต่งโลกมายาแห่งสมมติบัญญัติ และประจักษ์สภาพตามเป็นจริงซึ่งสรรพสิ่งปรากฏเป็นขณะแห่งอุบัติการณ์ พ้นกรอบกาลอวกาศ เมื่อจิตกับสิ่งที่จิตรู้ยังไม่แปลกแยกจากกัน ในลักษณะนี้ ความรู้ทางพุทธศาสนาจึงมีความสมบูรณ์และมีวิธีการบรรลุถึงแตกต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย

เมื่อนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์มนุษย์โดยละเอียดแล้ว จะหาองค์ประกอบที่มีลักษณะอันจะเรียกว่าเป็นตัวตนหรืออัตตาไม่ได้เลย กล่าวได้ว่าตามทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นสสารนิยมสุดโต่งนั้น หลักอนัตตาปรากฏชัดเจนด้วย แต่ก็เป็นที่น่าพิศวงว่าเหตุใดนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการตะวันตกซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด และวิธีการวิทยาศาสตร์ จึงได้มองข้ามประเด็นสำคัญนี้ไป ไม่ปรากฏข้อเสนออะไรในทำนองนี้ในวง​วิทยาศาสตร์ หรือ ปรัชญาตะวันตก ที่ยืนยันหลักอนัตตา อันเป็นรากฐานสำคัญและพิเศษของพุทธศาสนาเลย

อาจเป็นได้ว่าในความคิดส่วนลึกที่แฝงเร้นนั้น นักวิทยาศาสตร์ ตะวันตกจำนวนมากไม่ได้เป็นนักวัตถุนิยมหรือสสารนิยมสุดโต่ง อย่างที่คล้ายจะประกาศตนเช่นนั้น แต่ยังแอบเชื่อถือและยอมรับความมีอยู่ของนามธรรมในรูปแบบภูต หรือ ชีวะ ที่เรียกว่า โซล (soul) นี่เป็นความเชื่อแบบสัสตทิฏฐิ อันตกทอดมาจากศาสนาบรรพกาลหรือศาสนาที่เชื่อบรมเทพผู้รังสฤษดิ์โลกธาตุ มีคำกล่าวพังเพยล้อเลียนกันในหมู่นักวิชาการตะวันตกว่า “ในสัปดาห์หนึ่งเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ ๖ วัน พอวันอาทิตย์ก็ไปโบสถ์ สวดสรรเสริญพระเจ้า!”

ถ้าหากการได้รับปริญญาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับตรีถึงเอก ถือเป็นมาตรฐานของการเป็น “นักวิทยาศาสตร์” เต็มขั้น นักวิทยาศาสตร์ไทยก็ไม่น้อยหน้านักวิทยาศาสตร์เทศ ประเภทที่กล่าวมาข้างบน และประเภทเพี้ยนอื่นๆ เรามีอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ที่เชื่อการทรงเจ้าเข้าผีถึงขั้นเข้าร่วมคณะเจ้าสำนัก หรือไม่เช่นนั้นก็ที่เชิดชูคำสอนสัทธรรมปฏิรูป ชนิดนำทัวร์สวรรค์นิพพานเฝ้าพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่ดับขันธ์ไปนานแล้ว ยังมีอีกที่สับสนปนเปพุทธธรรมกับลัทธิเดียรถีย์ ประกาศว่าเมื่อจิตถึงขั้นอรหัตแล้ว ฆ่ามนุษย์ได้ไม่เป็นไรเพราะจิตว่าง ฯลฯ ปรากฏการณ์วิปริตเช่นนี้ วิเคราะห์ได้ว่าเป็นเพราะนักวิชาการไทยส่วนใหญ่ในช่วงราวร้อยปีที่ผ่านมา ได้หลงใหลและถูกหล่อหลอมด้วยวัตถุนิยมของวิทยาศาสตร์บวกเทคโนโลยีตะวันตก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เดียงสาในความรู้อันลุ่มลึกกว้างขวางทางพุทธธรรม มีไม่น้อยที่คิดว่าตนรอบรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อได้อ่านหนังสือปาฐกถาธรรมสองสามเล่ม และคิดว่าเมื่อเข้าใจขันธ์ห้า ไตรลักษณ์ และอริยสัจสี่ ตามนั้นแล้วก็จบหลักสูตรและสามารถพูดธรรมะในวงสุราเมรัย หรือ บนเวทีอภิปรายทางวิชาการได้อย่างมั่นใจ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ผมมีอายุ ๑๖ ปี เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีนั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือเขียนโดย เซอร์ อาเธอร์ สแตนลีย์ เอดดิงตัน สองเล่ม คือ ๑) อวกาศ เวลา และความโน้มถ่วง (Space, Time and Gravitation) และ ๒) ธรรมชาติของโลกกายภาพ (The Nature of the Physical World) เล่มแรกเป็นการเส⁠นอทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ของไอน์สไตน์ ในฐานะที่เป็นการปฏิวัติทางความคิดในวิทยาศาสตร์กายภาพ ประกอบกับความคิดเห็นทางปรัชญาของผู้เขียนเอง เล่มหลังเสนอทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพ และทฤษฎีควอนตัม รวมทั้งปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ โดยในบทสุดท้ายอภิปรายเรื่องวิทยาศาสตร์กับรหัสยนิยม (Mysticism) ผมได้อ่านทบทวนหนังสือสองเล่มนี้ ตลอดช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๔-๕ ตั้งแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจจนเริ่มจับความสำคัญได้ ผลจากการอ่านนั้นก็คือผมเบนเข็มจากความมุ่งหมายเดิมที่จะทำปริญญาทางเคมี เป็นฟิสิกส์ เพราะเกิดความประทับใจเป็นอย่างมากในความงดงามล้ำลึกของโลกกายภาพที่เอดดิงตันชี้แนะอย่างลุ่มลึกกว้างขวางในรูปแบบที่ไม่ใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูงของผู้ชำนาญพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้วยเหตุนี้ ในตอนบ่ายวันศุกร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๔ ในห้องประชุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อผมได้ยินท่านเจ้าคุณฯ ในฐานะองค์ปาฐกกล่าวอ้างอิงถึงความคิดของเอดดิงตัน (หน้า ๔๖, ๑๒๔, ๑๓๐) ผมก็เกิดความตื่นใจและยินดีในทันที เพราะตลอดระยะเวลายาวนานจาก พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นเวลาครึ่งศตวรรษนั้น ผมไม่เคยได้ยินนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการไทยคนใดกล่าวขวัญถึงความคิดอันลุ่มลึกกว้างไกลหรือแม้แต่ชื่อของท่านผู้นี้เลย! เอดดิงตัน มีความสำคัญอย่างไรในวงการฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และปรัชญาของวิทยาศาสตร์นั้น เชิญอ่านดูได้ในตอนคำอธิบายศัพท์ท้ายเล่ม

ถึงตอนนี้ผมรู้สึกว่า ข้อเขียนนี้อาจจะยืดยาวเกินความประสงค์ของฝ่ายท่านผู้เชื้อเชิญให้เขียน แม้ท่านจะออกปากอนุญาตล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะสั้นยาวอย่างไรก็ได้ ดังนั้นผมจึงจะขอสรุปลงว่า ประเด็นที่ผมได้กล่าวถึงข้างบน เป็นเพียงการจุดชนวนความคิดของท่านผู้อ่านให้แล่น เพื่อเผชิญเนื้อหาข้อคิดความเห็นอันลุ่มลึกกว้างไกลของท่านเจ้าคุณพระเทพเวที สำหรับผู้ที่ข้องใจในชื่อเรื่องหน้าปกก็ขอชี้แนะว่าท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้เสนอชื่อใหม่ (หน้า ๑๕๐) ว่า “วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน ควรจะเป็นอย่างไร” ซึ่งมีแง่มุมสำคัญเป็นการสรุปข้อเสนอแนะในบทที่ ๕ ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การพิจารณาโดยนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป นอกจากนี้ท่านยังมีของฝากพิเศษสำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยโดยเฉพาะ ดังที่ปรากฏในบทที่ ๖ อีกด้วย ผมหวังว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดสร้าง​สรรค์ที่ท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีได้หว่านลงในโอกาสงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๔ นี้ จะมีโอกาสเติบโตผลิดอกออกผลเป็นประโยชน์แท้จริงต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยและสังคมไทย และขยายผลกว้างไกลออกไปสู่สังคมมนุษย์ทั่วไปด้วย

(ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล)

๒๓ เมษายน ๒๕๓๕

พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์1

ท่านพระเถรานุเถระ ที่เคารพนับถือ และท่านสพรหมจารีทุกท่าน ขอเจริญพร ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการจัดงาน ท่านอาจารย์ นักศึกษา พร้อมทั้งท่านผู้สนใจทุกท่าน

 

ปรับท่าทีและทำความเข้าใจกันก่อน

วันนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มช. ได้กรุณาให้ความสำคัญนิมนต์อาตม­ภาพมาแสดงปาฐกถาในงานใหญ่ของคณะ ได้ยินข่าวว่าหลายท่านฟังดูชื่อปาฐกถานี้ พอได้ยินชื่อเรื่องและชื่อผู้แสดงก็รู้สึกแปลกใจว่า มีการนิมนต์พระมาพูดในเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่เหมือนกับว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และบางท่านก็มีความรู้สึกทำนองว่า เอ๊ะ! ทำไมเอานักศาสนามาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ อาตมาก็มามีความรู้สึกว่า เอ! ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้ก็จะไม่ค่อยถูกต้อง น่าจะต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อยก่อน เพื่อเตรียมใจในการฟังปาฐกถา คือเพื่อการวางท่าทีที่ถูกต้อง

การที่มีความรู้สึกว่า พระเป็นนักศาสนาแล้วมาพูดในเรื่องของนักวิทยาศาสตร์นี้ อาจจะเป็นความเคยชินของยุคสมัย คือสมัยนี้เป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เวลาได้ยินเรื่องราวก็มีการแบ่งกันไปว่า นี่เป็นนักศาสนา นี่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นั่นเป็นนักรัฐศาสตร์ เป็นต้น แต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาของตน แต่อาตมานี้ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นนักศาสนา และก็ไม่อยากจะยอมรับให้เรียกว่าเป็นนักศาสนา เพราะอาตมาก็เป็นพระภิกษุเท่านั้นเอง

พระภิกษุกับนักศาสนาไม่เหมือนกัน พระภิกษุเป็นเรื่องของวิถีชีวิต เราอาจจะใช้คำพูดเลียนแบบ คือเติมคำว่า เฉพาะอย่าง ก็เป็นวิถีชีวิตเฉพาะอย่าง ส่วนการเป็นนักศาสนานั้นเป็นเรื่องของวิชาการเฉพาะอย่าง

วิถีชีวิตเฉพาะอย่าง กับวิชาการเฉพาะอย่างนี้ ไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีวิถีชีวิตเฉพาะอย่างนั้น ก็มีบทบาทมีหน้าที่ตามแบบแผนของตนเอง ที่จะดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมด้วยดี อันนี้เป็นข้อที่สำคัญ คือเขาจะมีวิถีชีวิตอย่างไรก็เป็นแบบของเขา แต่วิถีชีวิตแบบนั้นจะทำให้เขามีบทบาทเฉพาะอย่าง ที่ทำให้เขาดำเนินชีวิตไปได้อย่างเกื้อกูลและกลมกลืน สามารถอยู่ร่วมในโลกนี้ หรือในสังคมนี้ ได้ด้วยดี

แต่นักวิชาการเฉพาะอย่าง เป็นเรื่องของการแบ่งซอยในตัววิชาการว่าใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงวิชาการนั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่คำนึงถึงว่าท่านผู้นั้นจะดำเนินชีวิตอย่างไร อยู่ในสังคมอย่างไร เรียกว่าเป็นเรื่องของวิชาการล้วนๆ เพราะฉะนั้น พระภิกษุในกรณีอย่างนี้คงจะไม่เรียกว่าเป็นนักศาสนา

นอกจากนั้น อาตมาก็ไม่ได้สนใจศึกษาเรื่องศาสนาอะไรต่างๆ มากมาย คำว่าศาสนาในกรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นธรรมะ ในกรณีนี้ศาสนาเป็นคำที่เราใช้ในความหมายสมัยใหม่ เป็นเรื่องวิชาการ ส่วนธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของพระจะต้องศึกษา เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของท่าน เพราะฉะนั้น เราคงต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กันไว้ก่อน

เพราะฉะนั้น การที่จัดปาฐกถาครั้งนี้ขึ้น และมีชื่อปาฐกถาว่าเป็นเรื่อง พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ นั้น ไม่ควรให้มองว่าเป็นการมาพบกันของผู้เชี่ยวชาญในวิชาการสองฝ่าย มิฉะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า แหม คราวนี้น่าสนใจ เพราะว่ามีการมาพบกันของบุคคลที่ไม่น่าจะมาพบกัน ๒ พวก หรือ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายศาสนากับฝ่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยนึกว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย

ถ้าตั้งท่าทีให้ถูกต้องเราก็จะมองว่า มีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์นี่แหละที่เรากำลังจะพูดถึง วิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลาง โดยมีนักวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ชำนาญพิเศษในวิชาการนี้ และตอนนี้เรากำลังเปิดโอกาส หรือเชิญให้บุคคลภายนอกวงวิชาการวิทยาศาสตร์ เป็นพระบ้าง เป็นคนอื่นบ้าง มาดูมามอง และมาให้ความคิดเห็น ถ้าตั้งท่าทีกันอย่างนี้แล้ว ก็จะฟังเรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ผู้ที่จะมาพูดนั้นซึ่งเป็นคนนอกวงการ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์มากมาย อาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง รู้ผิดรู้ถูก พูดผิดพูดถูก แต่เมื่อตั้งท่าทีถูกแล้ว ผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือวงการวิทยาศาสตร์เอง ซึ่งได้ดูว่าคนนอกเขามองตนอย่างไร

การที่ตั้งท่าทีอย่างนี้จะมีประโยชน์อย่างไร หรือมีเหตุผลอย่างไร ก็มีเหตุผลว่า บุคคลก็ตาม กิจการต่างๆ ของมนุษย์ก็ตาม เมื่อเข้าสู่ชีวิตและโลกที่เป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าจะดำเนินชีวิตหรือกิจการของตนไปโดยโดดเดี่ยวลำพังให้สำเร็จได้ มันจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความคิดจิตใจ เรื่องราว และความเป็นไปต่างๆ รอบด้าน ที่มาจากทิศทางต่างๆ และมีลักษณะต่างๆ กัน จึงต้องมีการประสานสัมพันธ์กับบุคคลประเภทอื่น และวิชาการสายอื่นด้วย ถ้าการประสานสัมพันธ์นั้นประสบผลสำเร็จ ก็จะทำให้การทำหน้าที่เฉพาะด้านของตนสำเร็จด้วย หากไม่สามารถไปประสานสัมพันธ์ได้ดีแล้ว การทำหน้าที่ของตนหรือของวิชาการของตนก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์

เพราะฉะนั้น การที่เราให้บุคคลภายนอกมาพูดมามองบ้างนี้ ย่อมเป็นการดี ทำให้เราเห็นแง่มุมในการที่จะเข้าไปประสานสัมพันธ์กับโลกภายนอก หรือวงวิชาการต่างๆ ในวงกว้างให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เรียกว่าเป็นการทำให้เกิดความรอบคอบ และรอบด้านยิ่งขึ้น

เป็นอันว่าจะให้มองเรื่องของปาฐกถาครั้งนี้ ว่าเป็นเรื่องของวิทยา­ศาสตร์เองที่ให้บุคคลภายนอกมามอง คราวนี้ให้พระมามอง พระจะมองอย่างไรก็ค่อยมาดูกันต่อไป

ประการที่สองที่อยากจะทำความเข้าใจกันไว้ก่อนก็คือ ชื่อเรื่องปาฐกถา บางท่านก็อาจจะมองอย่างเมื่อกี้นี้อีก คือ ให้นักศาสนามาพูดและยังแถมอวดอ้างด้วยว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นรากฐานของวิทยา­ศาสตร์ อันนี้อาตมาจะยังไม่อธิบาย แต่จะบอกว่าชื่อปาฐกถานี้ถือได้ว่าเป็นคำพูดของนักวิทยาศาสตร์เอง และก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่บอกว่าเป็นใคร ท่านผู้นี้ไม่ได้พูดไว้ตรงๆ อย่างนี้หรอก อาตมาถือเอานัยมาตั้งเป็นชื่อ ถือว่าชื่อปาฐกถานี้เข้ากันได้กับคำพูดของท่าน แต่ไม่ได้ถือเป็นเรื่องจริงจังนักหนา และเราก็จะได้อธิบายกันต่อๆ ไป ไม่ต้องใส่ใจนักว่าเป็นรากฐานจริงหรือไม่ แต่เอาเป็นว่า ในสิ่งที่พูดต่อไปนี้ จะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา และจะเป็นรากฐานจริงหรือไม่ ก็วินิจฉัยกันได้เองด้วยสติปัญญาพิจารณาของแต่ละท่าน

นอกจากนี้ก็คงจะต้องทำความเข้าใจกัน เกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำบางอย่าง คือตัวคำว่าพระพุทธศาสนาเอง กับคำว่าวิทยาศาสตร์

คำว่า พุทธศาสนา ในที่นี้ ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงรูปแบบหรือสถาบันอะไรที่เป็นรูปธรรม แต่หมายถึงตัวสาระที่เป็นนามธรรมที่เป็นเนื้อหาหรือหลักการของพระพุทธศาสนา

ส่วน วิทยาศาสตร์ ก็มีปัญหา คือ นักวิทยาศาสตร์เองอาจจะบอกว่า ต้องพูดให้ชัดว่า ในที่นี้ ฉันจะเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นะ วิทยาศาสตร์​ประยุกต์ไม่เกี่ยว เทคโนโลยีไม่เกี่ยว แต่ในสายตาของชาวบ้าน เวลาได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์นี่เขามองรวมไปหมด เขาไม่ได้แยก อาตมานี่ มาแบบชาวบ้าน หมายความว่าอยู่พวกเดียวกับชาวบ้าน ในฐานะที่เป็นพระ ก็อยู่ฝ่ายชาวบ้าน คืออยู่ในวงคนทั่วไป เพราะฉะนั้นก็จึงมาพูดในความหมายแบบคลุมๆ เครือๆ คือเอาวิทยาศาสตร์ที่หมายถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ด้วยก็ได้ เทคโนโลยีก็ได้ แต่ในบางตอนอาจจะแยก ตอนไหนที่แยกก็คงจะได้อธิบายเฉพาะตอนนั้นต่อไป

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความสดใสที่แฝงความสับสน

คุณค่าที่ถูกสงสัย

ก่อนอื่น เราคงจะต้องยอมรับกันถึงคุณค่า หรือประโยชน์ หรือจะเรียกเป็นศัพท์สูงๆ หน่อยก็คือ คุณูปการที่วิทยาศาสตร์ได้ทำไว้ให้แก่มนุษยชาติ วิทยาศาสตร์มีประโยชน์เป็นเอนกอนันต์ อันนี้ไม่มีใครปฏิเสธ อาตมามาแสดงปาฐกถาครั้งนี้ เดินทางมาชั่วโมงเดียวก็ถึงเชียงใหม่ จากสนามบินดอนเมือง ถ้าหวนหลังไปเมื่อรัชกาลที่ ๑ สัก ร.ศ. ๑2 กว่าท่านผู้ฟังในที่นี้จะได้ฟังอาตมาก็คงต้องอีก ๓ เดือนข้างหน้า ซึ่งคงจะไม่มาเสียมากกว่า อันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นอุปการะของวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยให้การปฏิบัติกิจการต่างๆ เกิดความสะดวกสบาย จะเดินทางท่องเที่ยวก็ได้ จะมาทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในทางสติปัญญาก็ได้ มีทั้งเครื่องบิน มีทั้งรถไฟ และรถยนต์

มองกว้างออกไปอีก ในการสื่อสารปัจจุบัน เรามีวิทยุ โทรศัพท์ โทรสาร โทรทัศน์ แล้วก็มีวีดีทัศน์ ดาวเทียมอะไรต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นอุปกรณ์ที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือที่เห็นกันชัดๆ ก็อย่างในวงการแพทย์ โรคระบาดมากมายหลายอย่าง เดี๋ยวนี้ก็หายไปหมด อหิวาต์ก็แทบจะไม่มี เงียบไปนานแล้ว เพิ่งจะไปโผล่ที่เปรูเมื่อไม่นานนี้ ในสายอาเซียก็เงียบไป กาฬโรคก็หายไปเลย ไข้ทรพิษก็บอกว่าลบไปได้แล้ว รวมแล้วโรคระบาดเหล่านี้ เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยต้องกลัวอันตราย แม้ว่าจะยังไม่อาจวางใจได้ว่าปลอดภัย ในเมื่อเอดส์โผล่ขึ้นมา มาเลเรียที่รบกันยังไม่จบสิ้นก็ชักจะฟื้นตัวขึ้น และวัณโรคก็ทำท่าจะหวนกลับมา

แต่ก่อนนี้คนเป็นแค่ไส้ติ่งอักเสบ ก็คงจะต้องเสียชีวิต แต่เดี๋ยวนี้การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเป็นเรื่องที่ง่ายเสียเหลือเกิน จนกระทั่งถึงผ่าสมองก็ไม่ยาก เครื่องมือในการตรวจ ในการหาสมุฏฐานและตำแหน่งของโรคก็พรั่งพร้อมและชัดเจนแม่นยำ อย่างเอกซ์เรย์ก็เจริญมาเป็นเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ จะใช้ระบบอุลตราซาวนด์ก็ได้ จนกระทั่ง MRI ก็มีแล้ว หมอแทบไม่ต้องตรวจเอง ส่งไปเข้าเครื่องตรวจก็สำเร็จ จนกระทั่งหมอยุคต่อไป ถ้าไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ ก็อาจจะตรวจไม่เป็น นี่ก็เป็นเรื่องของความเจริญที่ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

เรามีเครื่องไฟฟ้า มีเครื่องทุ่นแรงสารพัด การพิมพ์ การอะไรต่างๆ ก็เจริญก้าวหน้า แม้แต่ของที่เดี๋ยวนี้เราเห็นเป็นของเล็กน้อย อย่างนาฬิกานี่ สมัยก่อนถอยหลังไป ๒๐-๓๐ ปี นาฬิกาไม่ใช่เป็นของที่ง่ายๆ เลย บางทีไปซื้อมาประจำบ้านเป็นเรือนใหญ่ๆ โตๆ แล้วก็ใช้ลำบาก ต้องไขลานหรือดึงลูกตุ้มกันทุกวัน อะไรทำนองนี้ แต่เดี๋ยวนี้นาฬิกาควอร์ทซ์มีแล้ว เป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน ราคาก็ถูก ถูกนิดเดียว แล้วก็เดินตรงกว่าสมัยก่อนมากมาย นาฬิกาสมัยก่อนเรือนใหญ่ๆ ราคาแพงๆ จะให้ตรงนี้ยาก เราเรียกนาฬิกาปารีส บางทีต้องตั้งต้องปรับกันอยู่นั่นแหละ ยากเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม นาฬิกากลายเป็นเรื่องที่แสนจะง่ายสบาย เครื่องเขียน ปากกา ก็แสนจะหาง่าย ราคาก็แสนจะถูก เมื่อ ๒๐ ปีก่อนต้องคอยระวังเก็บรักษา แต่เดี๋ยวนี้ มันง่ายและถูกจนใช้กันทิ้งๆ อย่างไม่มีความหมาย เจริญพรั่งพร้อมสะดวกไปทุกอย่าง จนกระทั่งสามารถไปอวกาศได้ มีคอมพิวเตอร์ใช้ นี่ก็เป็นความเจริญที่เรียกว่ารุดหน้าอย่างยิ่ง

ในทางชีววิทยาก็ไปถึงขั้นที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม ซึ่งอาจจะมีการแปลงพันธุ์ แต่งพันธุ์ ปรุงแต่งเพิ่มพันธุ์แปลกๆ ใหม่ๆ ของชีวิตพืชและสัตว์ต่างๆ ได้ อันนี้ก็เป็นความหวังของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เรียกว่าพรรณนากันไปได้แทบจะไม่มีที่สิ้นสุด นี่แหละคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของเทคโนโลยีเป็นอันมาก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมองไปก็ปรากฏว่า วิทยาศาสตร์นี้ โดยเฉพาะที่ออกรูปมาเป็นเทคโนโลยีอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ได้ก่อให้เกิดโทษอย่างมหาศาลแก่มนุษยชาติเช่นเดียวกัน ยิ่งถึงยุคปัจจุบันนี้ก็มีความกังวลกันมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาอย่างสูงแล้วถึงกับหวาดกลัวกันว่า โลกและมนุษยชาตินี้ อาจจะถึงความพินาศไป เพราะความเจริญหรือพัฒนาในทิศทางที่ทำกันมา อาจจะเป็นความพินาศแบบปุ๊บเดียว คือชั่วกดสวิตช์ กดปุ่ม อย่างสงครามนิวเคลียร์ หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นความพินาศไปอย่างช้าๆ ใช้เวลายาวนาน คือการที่ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมสลาย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่มากของยุคปัจจุบัน

แม้แต่ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวเดี๋ยวนี้ คนก็ถูกคุกคามด้วยภัยธรรมชาติอย่างใหม่อันนี้กันมาก จะกินอาหาร ก็ไม่รู้ว่าผักหรือปลานี้ เขาแช่ฟอร์มาลินหรือเปล่า บางทีเขาฉีดฮอร์โมนเร่งความเติบโตของสัตว์และพืชที่เอามาทำเป็นอาหาร บางทีเลี้ยงหมู ก็ให้กินสารเคมีที่ทำให้เนื้อมีสีแดงน่ารับประทาน ขายได้ราคา หรืออาจจะมีสารเคมีเป็นพิษ ซึ่งมาในรูปของสารที่ช่วยรักษาอาหารให้คงทน อยู่นานบ้าง ปรุงแต่งรสบ้าง ปรุงแต่งสีสัน หรือเป็นส่วนผสมอะไรต่างๆ บ้าง ตลอดกระทั่งในเรื่องยาฆ่าแมลง ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ ที่วางขายมีไม่น้อยเป็นของที่คนปลูกและคนเลี้ยงเขาไม่รับประทาน อันนี้ก็เป็นสภาพปัจจุบันที่คนไม่น้อยมีความหวาดกลัว มีชีวิตอยู่ด้วยความระแวงหวั่นใจ แล้วมันก็คุกคามต่อชีวิตของคนจริงๆ

อันนี้มองไปในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแปลกปนอยู่ในธรรมชาติ นี้เป็นสำนวนพูด คือ เรารู้สึกเหมือนกับว่าวิทยาศาสตร์กับธรรมชาติเวลานี้เป็นคนละพวก คือ คนมองคล้ายๆ กับว่าวิทยาศาสตร์เป็นพวกหนึ่ง และธรรมชาติเป็นอีกพวกหนึ่ง เป็นคนละพวกกัน ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์ก็คือการศึกษาธรรมชาติ อยู่ด้วยกันมากับธรรมชาติ

 

เมื่อวิทยาศาสตร์แปลกหน้ากับธรรมชาติ

วิทยาศาสตร์นั้นโดยพื้นฐานของมัน จะต้องเป็นพวกเดียวกับธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนี้คนได้มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่มิใช่ธรรมชาติ เราเคยเรียกสิ่งที่ทำขึ้นมาด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เอามาประยุกต์ใช้โดยผ่านทางเทคโนโลยี ว่าเป็นของวิทยาศาสตร์ เราเรียกชื่อโดยเอาคำว่าวิทยาศาสตร์ต่อท้ายคำนั้นๆ เช่น ไตที่ทำด้วยเทคโนโลยี ก็เป็นไตวิทยาศาสตร์ ปอดที่ทำด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นปอดวิทยาศาสตร์

แล้วต่อมาบางทีก็เปลี่ยนเรียกปอดวิทยาศาสตร์ เป็นปอดเทียมไป ไตวิทยาศาสตร์ก็เป็นไตเทียม เอ๊ะ! ไปๆ มาๆ ของวิทยาศาสตร์นี่กลายเป็นของเทียมไปแล้ว เอาละซี นี่แหละความหมายในหมู่ประชาชนนี้มันแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เราจะต้องติดตามดูเหมือนกัน

ถ้ามองอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า เวลานี้ วิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแปลกปนอยู่ในธรรมชาติมากมาย เป็นการที่วิทยาศาสตร์ได้กระทำต่อธรรมชาติ

เวลาเราพูดในวงสังคมศาสตร์ เราบอกว่ามนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ แต่ตอนนี้เรามาพูดกับฝ่ายวิทยาศาสตร์ เราบอกว่าวิทยาศาสตร์กระทำต่อธรรมชาติ แต่ความหมายก็อันเดียวกัน เพราะการที่วิทยาศาสตร์จะไปกระทำต่อธรรมชาติอย่างนั้นได้ ก็เพราะมนุษย์นี่แหละ เป็นผู้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการไปกระทำ แต่มูลเหตุเดิมมันมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่า นี่แหละ ความเสื่อมความพินาศอะไรต่างๆ ที่กำลังจะมีมานี่นะ ล้วนแต่เกิดจากฝีมือของวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น มันก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ปัจจุบันเป็นอันมาก เนื่องจากการที่ได้ทำให้ธรรมชาติผันผวนปรวนแปรเปลี่ยนรูปใหม่

เมื่อพูดด้วยภาษาอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น ธรรมชาติแปรรูปใหม่ ก็หมายความว่า โลกแห่งธรรมชาตินี้ต่อไปมันอาจจะไม่เป็นโลกแห่งธรรมชาติ แต่มันอาจจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ คือว่าในเมื่อวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาทำอะไรต่อมิอะไรต่อธรรมชาติมากมายแล้ว เอาอะไรต่างๆ เข้าไปแปลกปนในธรรมชาติมากแล้ว เราก็จะไม่มีโลกแห่งธรรมชาติ เพราะโลกแห่งธรรมชาติจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ในความหมายเฉพาะที่กล่าวมาแล้ว พอเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ ต่อไปมันก็เป็นโลกเทียมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่นเดียวกับที่ไตวิทยาศาสตร์ เป็นไตเทียม นั่นคือไม่ใช่โลกแท้

ทีนี้มนุษย์ล่ะ มนุษย์ที่อยู่ในโลกนี้ เดิมก็อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติ และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติด้วย คือตัวเราและชีวิตของเราเป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ แล้วก็อยู่ในโลกที่เป็นธรรมชาติ แต่ต่อไปนี้ เราจะเป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติแล้วก็มาอยู่ในโลกที่กลายเป็นวิทยาศาสตร์ พอถึงตอนนี้มันชักจะกลับกัน ชักจะไม่สอดคล้องกันแล้ว หมายความว่า มนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ กล่าวคือมนุษย์อย่างเราๆ นี้ ยังคงเป็นธรรมชาติอยู่อย่างเดิม เพราะว่าร่างกาย หรือส่วนประกอบอะไรต่างๆ ของเรานี้ โดยสภาพทางชีววิทยา มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป วิทยาศาสตร์ยังไม่ได้มาดัดแปลงชีวิตในทางชีววิทยาของเราให้มันแปลกรูปไป ให้มันสอดคล้องกับโลกวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

อันที่จริงนั้น ถ้าจะให้มนุษย์นี้อยู่ได้ด้วยดีในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นโลกวิทยาศาสตร์ ที่มีสารอะไรต่างๆ แปลกใหม่นี้ เราจะต้องปรับร่างกายปรับชีวิตมนุษย์ให้มันสอดคล้องกันด้วย แล้วเราก็จะได้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ที่อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่สอดคล้อง ก็กลายเป็นว่า มนุษย์ธรรมชาติจะไปอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ถ้ามีความไม่สอดคล้องอย่างนี้ มันจะต้องเกิดปัญหา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งอย่างหนึ่ง

ทีนี้ ถ้ามนุษย์ธรรมชาตินี้อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันก็จะต้องมีมนุษย์วิทยาศาสตร์ขึ้นมาอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นขึ้นมาก็ได้ มนุษย์วิทยาศาสตร์นั้น อาจจะได้แก่หุ่นยนต์ เพราะฉะนั้นต่อไปก็เลยกลายเป็นว่า โลกวิทยาศาสตร์นี้ จะเป็นโลกของมนุษย์วิทยาศาสตร์ หรือมนุษย์เทียม คือหุ่นยนต์ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็หมายความว่ามนุษย์ธรรมชาตินี้อาจจะหายไปก็ได้

เพราะฉะนั้น มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์นี้ ไม่สอดคล้องกัน เหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์นี้ ได้ปรับแปรรูปโลกภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมของมนุษย์เสียใหม่ให้เป็นโลกวิทยาศาสตร์ มีอะไรต่างๆ ที่เป็นของแปลกปลอมเกิดขึ้นเยอะแยะ แต่ไม่ได้ปรับชีวิตของมนุษย์ให้สอดคล้องอย่างนั้นด้วย เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดความขัดกัน

ทีนี้ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก มนุษย์นี้ประกอบด้วยกายกับใจ ในสองส่วนนี้เรื่องมันกลับกันเสีย คือ วิทยาศาสตร์ที่เจริญขึ้นมานี้ได้แปรเปลี่ยน ทำให้โลกภายนอกเป็นโลกวิทยาศาสตร์อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ โลกวิทยาศาสตร์นั้น เป็นโลกฝ่ายวัตถุ ซึ่งควรจะเข้าคู่กันกับฝ่ายกายในชีวิตของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์ที่ว่าเป็นสองส่วน คือกายกับใจนี้น่ะ ส่วนที่เป็นคู่กับโลกวัตถุภายนอกก็คือ ส่วนร่างกาย แต่พอเรามาพิจารณาในแง่นี้ กลับปรากฏว่า ส่วนร่างกายนี้ยังไม่เปลี่ยน แต่ส่วนที่เปลี่ยนกลับเป็นส่วนจิตใจ

หมายความว่า วิทยาศาสตร์ได้มีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีจิตใจแบบจิตใจเทียม คือเป็นจิตใจที่ชื่นชอบของวิทยาศาสตร์ ร่วมหอลงโรงกับของวิทยาศาสตร์ หันไปหาของเทียม เป็นจิตใจที่แปลกแยกจากธรรมชาติ

เป็นอันว่าแทนที่จะเปลี่ยนกาย กลับไปเปลี่ยนจิตใจเสียนี่ ส่วนที่สอดคล้องกันคือส่วนกายของมนุษย์นี่ มันจะต้องเข้ากับโลกวัตถุภายนอก แต่ส่วนกายนี้เราไม่ปรับเปลี่ยน กลับไปเปลี่ยนส่วนจิตใจ มันก็ขัดแย้งกัน ทั้งภายในตัวและภายนอกตัว เพราะภายในตัวจิตใจกับร่างกายก็ขัดกัน และภายนอกตัว ร่างกายหรือชีวิตทางชีววิทยาที่เป็นธรรมชาติ ก็ต้องอยู่ในโลกวัตถุที่เป็นวิทยาศาสตร์ พร้อมกันนั้น จิตใจที่อยู่ในร่างกายนี้ก็ไปนิยมที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ โดยที่กายของตัวนี้ไม่เป็นไปด้วย ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน นี่แหละเป็นปัญหาของโลกปัจจุบัน ที่จะต้องมาคิดกันว่าเราจะแก้ไขอย่างไร

ร่างกายของเราซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต ที่ควรจะต้องอยู่อย่างสอดคล้องกับโลกภายนอกนั่นน่ะ ขณะนี้มันยังเป็นธรรมชาติแท้ๆ มันยังต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ ยังต้องการน้ำที่บริสุทธิ์ แล้วก็ต้องการอาหารที่บริสุทธิ์ แต่เสร็จแล้วตอนนี้มันก็กำลังมาเป็นปัญหากับสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากอากาศก็เป็นอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นอากาศที่ถูกวิทยาศาสตร์ทำให้ผันแปรไป น้ำก็เป็นน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ คือเป็นน้ำที่ถูกวิทยาศาสตร์ทำให้แปลกปน แล้วอาหารก็เป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นอาหารที่วิทยาศาสตร์ทำให้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว อันนี้มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหาชีวิตด้านร่างกายเสียใหม่ ให้มันสอดคล้องกับโลกภายนอกที่เป็นวัตถุวิทยาศาสตร์อย่างว่านั้น

เอาละ นี้เป็นการพูดในเชิงอุปมา เพื่อให้เห็นภาพ ก็เป็นอันว่า ต่อไปนี้มนุษย์อาจต้องเลือกเอา ต้องมีการตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร ระหว่างมนุษย์ธรรมชาติในโลกของธรรมชาติ กับการพยายามทำให้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ ที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มันเกิดความสอดคล้องกัน มนุษย์จะเลือกเอาอย่างไหน หรือจะมีทางประนีประนอมอย่างไร

ถ้าเป็นไปในสภาพปัจจุบัน ก็คือว่า ตัวมนุษย์โดยเฉพาะด้านร่าง​กายยังเป็นธรรมชาติ แต่เรากำลังจะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่สอด​คล้องกัน ถ้าเดินต่อไปในทิศทางนี้จะต้องไปสู่ความพินาศอย่างแน่นอน ถ้าแก้ไขไม่ได้ หันเปลี่ยนเข็มหรือเบนทิศทางของความเจริญของมนุษยชาติไม่ได้ ความหายนะก็รออยู่ข้างหน้า

 

วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี
เพื่อนเก่าที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี

เมื่อพิจารณาวิเคราะห์ออกไปอีก ก็จะเห็นว่า ส่วนของวิทยาศาสตร์ที่มาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เปลี่ยนโลกธรรมชาติให้เป็นโลกวิทยาศาสตร์หรือโลกเทียมอะไรต่างๆ นี่ ส่วนที่เป็นตัวกระทำสำคัญก็คือ เทคโนโลยี แต่มนุษย์ก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั่นแหละประดิษฐ์เทคโนโลยีขึ้นมา แล้วมนุษย์ก็ใช้เทคโนโลยีนี้เป็นช่องทาง หรือเป็นเครื่องมือไปจัดการกับธรรมชาติ เพื่อจะหาความสุขสบายให้แก่ตนเอง

มนุษย์ได้อาศัยเทคโนโลยี หาความสะดวกสบายให้แก่ตนเอง เสร็จแล้วก็ปรากฏว่า ภัยอันตรายทั้งหลาย ตลอดจนความพินาศที่อาจจะมีขึ้น ก็อาศัยเทคโนโลยีนั่นแหละเป็นช่องทางย้อนกลับเข้ามาทำร้ายมนุษย์อีกทีหนึ่ง กลายเป็นว่า เทคโนโลยีนี้เป็นทั้งเครื่องมือหาความสุขของมนุษย์ และเป็นเครื่องมือที่เปิดช่องทางให้ภัยอันตรายย้อนเข้ามาทำร้ายมนุษย์ด้วย อันนี้ก็เป็นปมปัญหาที่เราจะต้องหาทางแก้ไข

ทีนี้สำหรับเรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ วิทยาศาสตร์ก็ย่อมเถียงอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว วิทยาศาสตร์ซึ่งในที่นี้คือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ก็บอกว่า ฉันมีหน้าที่เพียงบอกความจริงให้ทราบเท่านั้น ฉันค้นคว้าความรู้ในธรรมชาติออกมาแล้ว ใครจะเอาไปใช้อย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ฉันไม่เกี่ยวด้วยนี่ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มักจะปัดความรับผิดชอบอย่างนี้

ถึงตอนนี้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็จะเตือนเราว่า อย่าเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ไปสับสนกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี แล้วก็มักจะโทษเทคโนโลยีว่า เทคโนโลยีนี้เอาความรู้ของตนไปหาประโยชน์

แต่ที่จริง เทคโนโลยีนั้น ไม่ได้เอาความรู้วิทยาศาสตร์ไปหาประโยชน์อย่างเดียว ว่าโดยพื้นฐานเดิมนั้นเทคโนโลยีต้องการเอาความรู้จากวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไปทำประโยชน์ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่า เทคโนโลยีนี่มี ๒ อย่างแล้ว คือ เทคโนโลยีที่เอาไปทำประโยชน์อย่างหนึ่ง และเทคโนโลยีที่เอาไปหาประโยชน์อย่างหนึ่ง สิ่งที่เราต้องการคือ เทคโนโลยีชนิดไปทำประโยชน์ แต่ตอนนี้มันเกิดปัญหาขึ้นมาเพราะกลายเป็นว่าเอาเทคโนโลยีไปหาประโยชน์ และคนนี่แหละที่เป็นตัวการ แทนที่จะเอาเทคโนโลยีไปทำประโยชน์ ก็เอาไปหาประโยชน์

ถ้าตราบใดเรายังจำกัดตัวอยู่ในคำว่า ทำประโยชน์ ก็จะเกิดโทษพิษภัยแก่มนุษย์ได้น้อย และได้ยาก แต่ถ้าเมื่อไรมันกลายเป็นเทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ขึ้นมาแล้ว ปัญหาก็เกิดขึ้น อย่างที่เราประสบอยู่ในปัจจุ­บัน เพราะฉะนั้น ก็จะต้องแยกให้ดีระหว่าง เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์ กับ เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ และเน้นที่เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์

เมื่อปัญหาอยู่ที่การใช้หรือเอาไปใช้ ตั้งแต่นำเอาความรู้ทางวิทยา­ศาสตร์ไปใช้ผิดๆ ตลอดจนเอาเทคโนโลยีไปใช้เพื่อหาประโยชน์ หรือแม้แต่เอาไปใช้ทำลายกันก็ตาม ทั้งหมดนั้น ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อปัญหาเกิดจากมนุษย์ ก็มาลงที่เรื่องจริยธรรม หรือศีลธรรมเท่านั้นเอง วิธีแก้ปัญหาทั้งหมดก็มีคำตอบที่ตรงไปตรงมา แน่นอนและง่ายที่สุด คือ เมื่อคนมีศีลธรรมหรือมีจริยธรรมแล้ว ปัญหาก็หมดไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะถูกใช้ในทางที่เป็นคุณ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์สุขแก่ชีวิตและโลกทั้งหมด แม้จะมีโทษที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เกิดขึ้นบ้าง การป้องกันและการแก้ไข ก็จะเป็นไปอย่างดีที่สุด

มนุษย์ย่อมคาดหวังว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา จะอำนวยคุณประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ก็ไม่มีหลักประกันอะไรในตัวของมัน ที่จะช่วยให้ตัวมันอำนวยแต่คุณประโยชน์ตามที่มนุษย์คาดหวังอย่างนั้นได้ มันจึงเปิดตัวอ้าเต็มที่อย่างช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งต่อการที่จะก่อคุณหรือก่อโทษ สุดแต่ใครจะเอามันไปใช้อย่างไร

ผลปรากฏว่า ถ้ามนุษย์ขาดศีลธรรมหรือจริยธรรมเสียอย่างเดียว แทนที่จะก่อคุณอย่างที่คาดหวัง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมักจะกลายเป็นช่องทางและเป็นเครื่องมือเสริมกำลังสำหรับทวีโทษภัยให้แก่มนุษย์และโลกทั้งหมด โดยเป็นตัวเอื้อโอกาสแก่การผลิตและการบริโภคสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรออินทรีย์อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มักมาก มุ่งแต่จะกอบโกยและแย่งชิงกัน (โลภะ และราคะ) เปิดทางสะดวกและเสริมพลังอำนาจในการที่จะทำลายล้างและก่อความพินาศแก่กัน (โทสะ) และเพิ่มพลังพร้อมทั้งปริมาณของสิ่งที่จะล่อเร้าชักจูงให้เกิดความหลงใหลมัวเมาประมาท (โมหะ) ทั้งทำลายคุณภาพชีวิตของมนุษย์เอง และก่อความเสื่อมโทรมแก่ธรรมชาติแวดล้อม มีแต่จริยธรรมอย่างเดียวที่ได้ช่วยบรรเทาผลร้าย และจะแก้ไขปัญหาได้ถ้าจริยธรรมที่แท้แพร่กระจายไปในสังคมมนุษย์

โดยนัยนี้ เมื่อขาดจริยธรรมเสียแล้ว ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ผ่านทางเทคโนโลยีแม้แต่ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็กลายเป็นการเพิ่มช่องทางแห่งภัยอันตรายที่จะเข้ามาถึงตัวมนุษย์ให้มากขึ้น จนเกิดภาวะที่เหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียิ่งเจริญ ภัยอันตรายของมนุษย์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นและร้ายแรงยิ่งขึ้น หรืออาจถึงกับเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมาว่า ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือการเพิ่มภยันตรายแก่โลกมนุษย์

ขอยกตัวอย่างเช่น ในกาลเวลาที่ผ่านมา ถ้าคนผู้ใดไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกติดตัว มีแต่ตัวคือร่างกายของตนอย่างเดียว จะอยู่ไหนไปไหน โอกาสที่จะเกิดอันตรายจากการทำร้ายของผู้อื่นก็มีน้อย แต่มาถึงปัจจุบันนี้เมื่อศัลยกรรมปรับเปลี่ยนอวัยวะ หรือ plastic surgery เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการเปลี่ยนหัวใจเปลี่ยนซี่โครงและอวัยวะอื่นๆ ได้ ปัญหาใหม่ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น มีการซื้อขายอวัยวะกัน และเกิดภัยอย่างใหม่ คือการทำร้าย ลักพา และฆ่าคน เพื่อปล้นอวัยวะ ดังได้ยินข่าวปล้นลูกตาเด็กในบางประเทศ ต่อไปภายหน้า คาดหมายกันว่า ศัลยกรรมปรับเปลี่ยนอวัยวะนี้จะเจริญไปอีกไกลมาก พร้อมกันนั้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยอันตรายที่กล่าวข้างต้น ก็ทวีขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้นเท่าใด จริยธรรมก็ยิ่งทวีความจำเป็นมากขึ้น และสวัสดิภาพของมนุษย์ก็ยิ่งต้องการจริยธรรมมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องโยงมาถึงจริยธรรม แม้จะเป็นความจริงง่ายๆ ที่ตรงไปตรงมาที่สุด ก็มาจี้จุดที่มนุษย์ยุคนี้ดูเหมือนจะพยายามหันหน้าหนีมากที่สุด พูดง่ายๆ ว่า อยากไม่มีปัญหา แต่ไม่อยากแก้ปัญหา เมื่อไม่อยากแก้ปัญหา ไม่อยากพูดถึงเรื่องจริยธรรม ก็ต้องยอมรับและเจอกับปัญหาต่อไป จึงจะขอผ่านไปพูดเรื่องอื่น

ทีนี้เราจะต้องให้ความยุติธรรมแก่เทคโนโลยีบ้าง นอกจากที่กล่าวเบื้องต้นว่า ชาวบ้านเขามองวิทยาศาสตร์ในความหมายว่ารวมถึงวิทยา­ศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีด้วยแล้ว แม้แต่จะแยกตัวออกมาได้อย่างชัดเจนเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ล้วนๆ ก็ตาม เมื่อพูดถึงโทษภัยที่เกิดขึ้นมานี้ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะว่ากันไปแล้ว เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ที่เป็นมาอย่างน้อยในช่วงเป็นร้อยๆ ปีนี่ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ไม่บริสุทธิ์แท้ ที่ว่าไม่บริสุทธิ์แท้นั้นเป็นอย่างไร ก็คือมันมีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง ซึ่งกำหนดทิศทางแก่วิทยาศาสตร์ บางทีวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ก็ไม่รู้ตัวว่า มันมีคุณค่าอะไรซ่อนอยู่ข้างหลัง ที่มากำหนดทิศทางของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ซึ่งถ้าไม่รู้ตัวก็กลายเป็นไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกเขากำหนดทิศทางให้

อีกอย่างหนึ่ง เวลาคนพูดถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์นั้น คนเขามองเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ ผ่านทางเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น อย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้ เท่าที่ได้พูดถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์มาทั้งหมดนั้น ที่จริงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีแทบทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า การที่คนเขาเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์นั้นเขาเห็นจากเทคโนโลยี ในตอนที่เขาเห็นคุณของวิทยาศาสตร์ผ่านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ยอมรับว่า เออ ใช่ นี่แหละ วิทยาศาสตร์ได้ทำคุณแก่มนุษย์มากมายอย่างนี้ ทีนี้พอถึงตอนที่เขากล่าวโทษบ้างก็ต้องรับเหมือนกัน เมื่อถึงตอนที่เป็นคุณ ตัวยอมรับ ตอนนี้มาถึงโทษแล้วจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ นี้เป็นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีนี้ได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในความเจริญก้าวหน้ามาด้วยกัน ไม่ใช่ว่าวิทยาศาสตร์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เทคโนโลยีสมัยใหม่ แล้ววิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ช่วยให้เทคโนโลยีมีโอกาสเจริญก้าวหน้าอย่างเดียว ที่จริงนั้นเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามาได้มากมาย

อะไรเล่า ที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามาได้ สิ่งนั้นก็คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญก็คือ การสังเกต และการทดลอง ในการสังเกตทดลองเบื้องต้น จะใช้ประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยเฉพาะก็ตาคือดู แล้วก็หูคือฟัง แล้วก็กายคือสัมผัส สามอย่างนี้สำคัญอย่างยิ่ง ในการสังเกตทดลองทางวิทยาศาสตร์

แต่อินทรีย์ของมนุษย์ หรือประสาทอย่างที่ว่าเมื่อกี้ (ทางพระใช้คำว่าอินทรีย์) มันมีขีดขั้น มีวิสัยจำกัด เราใช้ตาดูดาวไปได้ไม่ไกลเท่าไร เห็นจักรวาลไม่กว้าง ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น มีกล้องโทรทรรศน์ กล้องส่องดูดาว นั่นแหละจึงทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปได้ ของเล็กๆ มองไม่เห็น เราก็ใช้เทคโนโลยี คือประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นมาวิทยาศาสตร์ก็ก้าวหน้าต่อไป เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จึงอาศัยเทคโนโลยีมาก ในการที่จะเจริญก้าวหน้า

เราต้องมองในทางกลับกันด้วยว่ามันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทดลองอะไรต่างๆ นี่ เจริญมาก็ในฐานะที่เป็นส่วนของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจึงบอกเมื่อกี้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาศัยซึ่งกันและกันในการที่ได้เจริญก้าวหน้ามาด้วยกัน จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังมองไปที่คอมพิวเตอร์ ว่าจะเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีอันสำคัญ ที่จะมาช่วยสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้วิทยาศาสตร์สามารถขยายขีดความสามารถ ในการที่จะเข้าถึงความจริงของโลกแห่งธรรมชาติมากขึ้น เป็นที่แน่นอนว่า คอมพิวเตอร์นี่จะมาช่วยรวบรวมประมวลข้อมูล ในขอบเขตที่กว้างขวางและปริมาณที่มากมาย จนกระทั่งสมองมนุษย์ไม่สามารถจะบันทึกไว้ไหว อันนี้คอมพิวเตอร์ทำได้ และการที่มันมีความสามารถในการที่จะประมวลสรุปอะไรต่างๆ นี่แหละ ต่อไปข้างหน้า การตั้งสมมติฐาน และการวางทฤษฎีต่างๆ คงจะได้อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยเป็นอันมาก

ในที่สุดก็เป็นอันสรุปได้ว่า การที่วิทยาศาสตร์ปรากฏคุณค่าแก่โลกมนุษย์ ทำให้คนทั่วไปยอมรับเกียรติของวิทยาศาสตร์ดีเด่นขึ้นมาได้นั้น ก็โดยอาศัยมีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ปรากฏขึ้นเป็นอันมาก เป็นแต่ว่าเราจะต้องแยกให้ถูก แล้วก็ใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า ควรสนับสนุนเทคโนโลยีที่ทำประโยชน์ ไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์

เอาละ นี่เป็นการทำความเข้าใจกันในบางส่วน ที่พึงรู้เพื่อจะได้วางท่าทีให้ถูกต้องในการที่จะพูดกันต่อไป

 

ก้าวถึงสุดแดน แต่ก็รู้ไม่จบ

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เวลานี้ความก้าวหน้าของวิทยา­ศาสตร์ได้มาไกลมากแล้ว จนกำลังจะสุดแดนแห่งโลกวัตถุ ขอบเขตของวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ที่โลกวัตถุ แต่ตอนนี้มันจะสุดเขตของแดนแห่งโลกวัตถุแล้ว และกำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ ตอนนี้ละจะเป็นหัวเลี้ยวหัว​ต่อที่สำคัญมาก ในแง่ของสิ่งที่เราจะศึกษา

สิ่งที่วิทยาศาสตร์จะศึกษาพิสูจน์ต่อไปนี้ กำลังก้าวเข้ามาในแดนของจิตใจ นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย กำลังหันมาสนใจปัญหาเรื่องจิตใจว่า จิตใจคืออะไร จิตใจทำงานอย่างไร consciousness คืออะไร มันมาจากวัตถุจริงหรือไม่ หรือมันมีความมีอยู่ของมันต่างหาก อย่างคอมพิวเตอร์เวลานี้มี AI แล้ว AI ก็คือ artificial intelligence ที่เขาเรียกว่าปัญญาประดิษฐ์

ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นี้ ต่อไปจะทำให้คอมพิวเตอร์ มีจิต​ใจหรือไม่ เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยถกเถียงกันอยู่ ถึงกับเขียนหนังสือมาเป็นเล่มโตๆ เลย บางเรื่องเป็น national bestseller ของอเมริกาก็มี ว่าด้วยเรื่องคอมพิวเตอร์จะมีจิตใจได้หรือไม่ อันนี้แสดงว่า วิทยาศาสตร์กำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ เมื่อจ่อแดนของจิตใจ ก็ก้าวเข้ามาสู่แดนของศาสนา เพราะฉะนั้น ก็มีเรื่องที่จะต้องมาพิจารณากัน นี้พูดในแง่ของสิ่งที่ถูกพิสูจน์หรือศึกษา

อีกด้านหนึ่งก็คือ ในแง่ของการพิสูจน์หรือวิธีพิสูจน์ เมื่อมาถึงขั้นนี้ วิธีการพิสูจน์นั้นก็กำลังจะพ้นเลยขอบเขตของอินทรีย์ ๕ ออกไป แต่ก่อนนี้ เราใช้อินทรีย์ ๕ เปล่าเปลือย คือ ตา หู และร่างกายล้วนๆ แล้วต่อมาเราก็อาศัยอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เมื่ออินทรีย์เปล่าๆ ไม่สามารถจะรับรู้ หรือรับทราบได้ เราก็เอาพวกอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ขยายวิสัยอินทรีย์นั้นมาใช้

แต่มาถึงตอนนี้แม้แต่อุปกรณ์เหล่านั้นก็อาจจะพิสูจน์ไม่ไหว คือไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ เมื่อถึงขั้นนี้ การพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์ก็กลายมาเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ คือใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นสื่อ แล้วก็มาอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์

เมื่อการสังเกต พิสูจน์ หรือตีความอะไรต่างๆ มาใกล้แดนของจิตใจมากขึ้น ถ้าวิทยาศาสตร์ยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการ มันก็จะอยู่แค่ในระดับของการคาดหมายและความเชื่อ มีเรื่องความเชื่อเข้าไปปะปนมากขึ้นด้วย และอันนี้ก็คือเรื่องที่ว่า วิทยาศาสตร์กำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจแล้ว จะเข้าถึงแดนนั้นได้หรือไม่ และอย่างไร ซึ่งเป็นจุดที่เราน่าจะพิจารณา

เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว ก็หันกลับไปดูตั้งแต่กำเนิด และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา

 

คุณค่าและความคิดที่ผลักดัน
เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์

ขอย้อนกลับไปพูดถึงกำเนิดของวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นมาได้อย่างไร

อะไรเป็นจุดต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ธรรม­ชาติก็ดี สังคมศาสตร์ก็ดี ว่ากันตามจริงแล้ว มันมีฐานอยู่ที่คุณค่าทางจิตใจทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์นี้เริ่มด้วยอะไร ฐานของมันคืออะไร ก็คือความต้องการ ตัวกำหนดของเศรษฐศาสตร์ก็คือความต้องการ ความต้องการนี้เป็นอะไร เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ หรืออินทรีย์ ๕ หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของคุณค่า แต่ศาสตร์ที่พยายามเป็นวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่า ฉันไม่เกี่ยวกับคุณค่า เป็น value-free แต่มันไม่ value-free ได้จริงสักที

ทีนี้ในแง่ของตัววิทยาศาสตร์เองละ จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไหน จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์คือความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ คำตอบนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับ ที่แท้นั้นมันเป็นคำตอบของนักวิทยาศาสตร์เองด้วยซ้ำ

ความใฝ่รู้ต่อความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ในใจ พร้อมด้วยความเชื่อว่าในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลที่สม่ำเสมอแน่นอน สองประการนี้แหละเป็นฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มประกอบกิจกรรม ในการค้นคว้าศึกษา หาความรู้ที่อยู่เบื้องหลังของธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์จึงอยู่ที่ใจของมนุษย์ อยู่ที่ความใฝ่รู้และศรัทธาหรือความเชื่อ ถ้าปราศจากคุณสมบัติของจิตใจอย่างนี้แล้ว วิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น และไม่เจริญงอกงาม

นักวิทยาศาสตร์ใด ยิ่งมีความใฝ่รู้อย่างนี้บริสุทธิ์แรงกล้า และมีความเชื่ออย่างนี้อย่างแรงกล้า นักวิทยาศาสตร์นั้นก็จะยิ่งสร้างความเจริญให้แก่วิทยาศาสตร์ได้มาก แต่ไม่ใช่เท่านี้ ยังมีอะไรอย่างไรต่อไป เราจะพูดเป็นขั้นๆ ตอนนี้เริ่มด้วยความใฝ่รู้ก่อน ว่าจุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์ คือความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคต้นๆ ที่ยังกระเส็นกระสายอยู่นั้น มีจุดเริ่มอยู่ที่ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความใฝ่รู้ที่เรียกได้ว่าบริสุทธิ์พอสมควร

แม้ว่าต่อมาความใฝ่รู้อันนี้จะถูกกดดันด้วยแรงบีบคั้นของศาสน­จักรในสมัยกลางหรือยุคมืด ถึงกับว่าทางศาสนจักร คือ ทางศาสนาคริสต์นั้นได้ตั้งศาลไต่สวนศรัทธาที่เรียกว่า Inquisition ขึ้นมา เพื่อเอาคนที่แสดงความสงสัยในคัมภีร์ศาสนา หรือพูดจาแสดงความไม่เชื่อในคำสอนของศาสนา ไปขึ้นศาลพิจารณาโทษ อย่างกาลิเลโอ ไปพูดเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ขึ้นมา ก็ถูกจับขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา หรือ Inquisition นี้ จวนจะถูกบังคับลงโทษให้ดื่มยาพิษ เสร็จแล้วกาลิเลโอสารภาพผิด ก็เลยพ้นโทษไป ก็เลยไม่ตาย แต่อีกมากมายหลายคนถูกเผาทั้งเป็น

[caption id="" align="aligncenter" width="640"]Galileo before the Holy Office - Joseph-Nicolas Robert-Fleury, 1847 กาลิเลโอขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา ยอมสารภาพผิด จึงรอดชีวิต[/caption]

ในยุคนั้น ก็เป็นอันว่าได้มีการปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นการบีบคั้นปิดกั้นการแสวงหาความจริงในธรรมชาติกันเป็นอย่างมาก แต่ยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า จากแรงกดดันในยุคมืดนั้น ก็ทำให้ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นยิ่งแรงกล้ามากขึ้น แล้วก็ฝังติดเป็นนิสัยของชาวตะวันตกสืบมาจนปัจจุบัน หรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาสังเกต

อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจอย่างที่ว่ามานี้ ก็ยังถือว่าเป็นความใฝ่รู้ที่บริสุทธิ์ แต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น วิทยาศาสตร์ที่เป็นมาและเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้ มีประวัติแห่งการที่ได้รับอิทธิพลครอบงำจากระบบคุณค่าใหญ่ ๒ อย่าง ซึ่งเป็นแนวคิด เป็นทัศนคติ เป็นค่านิยม เป็นแรงจูงใจที่พ่วงแฝงอยู่เบื้องหลังความเจริญของวิทยาศาสตร์ตลอดมา และเป็นตัวผลักดันกิจกรรมในการศึกษาค้น​คว้าทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนกำหนดวิถีและทิศทางของความก้าวหน้าในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เรื่อยมา

คุณค่าใหญ่ ๒ ตัวนี้คืออะไร? ตอบว่า คือ

๑. ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ หรือความเข้าใจว่า ความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติ

ความคิดนี้เกิดจากการที่ชาวตะวันตกมีความเข้าใจว่า มนุษย์เรานี้ เป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมา ในฉายาของพระองค์ คือในรูปแบบของพระองค์ เสมือนแม้นพระองค์ ให้มาครองโลก ครองธรรมชาติ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างธรรมชาติ สร้างสรรพสิ่ง สร้างสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือเดรัจฉานต่างๆ ขึ้นมานี้ เพื่อให้มารับใช้สนองความปรารถนาของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นเจ้า เป็นผู้ครอบครอง

มนุษย์เรียนรู้ความลึกลับของธรรมชาติ ก็เพื่อจะได้มาจัดการกับธรรมชาติ มาปั้นแต่งธรรมชาติให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนเองตามใจชอบ เรียกว่าให้ธรรมชาติรับใช้มนุษย์

ตำราฝรั่งถึงกับบอกว่า3 แนวความคิดอันนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตก เขาบอกว่า แต่ก่อนนี้ในยุคโบราณนั้น ตะวันออก เช่น จีน และอินเดีย มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากกว่าประเทศตะวันตก แต่ด้วยอาศัยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติอันนี้ จึงได้ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกในทางวิทยาศาสตร์มาได้จนปัจจุบัน

แต่ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดนี้กำลังเป็นปัญหา เป็นปัญหาอย่างไรก็คงจะได้ว่ากันต่อไป

เป็นอันว่า ระบบคุณค่าใหญ่ที่ ๑ คือแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งปรากฏออกมาเป็นแรงจูงใจในรูปของความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ ต่อจากนี้ก็เป็นประการที่สอง

๒. ความเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม

อันนี้ก็เป็นความคิดที่สำคัญเหมือนกัน แนวคิดนี้พ่วงมากับการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่เดิมนั้น อุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกเกิดขึ้นมาจากแรงจูงใจและความคิดในการที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกเอง คือ การที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน หรือ scarcity เพราะว่าในโลกตะวันตกนั้น ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยธรรมชาติมาก เช่น ในฤดูหนาว พืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่มี เกิดไม่ได้ มนุษย์ต้องอยู่ด้วยความยากลำบากเหลือเกิน นอกจากอากาศหนาวเหน็บแก่ตัวเองแล้ว ยังหาอาหารได้ยากอีกด้วย ทำให้มนุษย์ต้องเพียรพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลนนั้น และก็ได้ทำให้เกิดอุตสาห­กรรมขึ้นมา

ทีนี้ ตรงข้ามกับความขาดแคลนคืออะไร มนุษย์ก็คิดว่าเมื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนสำเร็จแล้ว ถ้าเกิดความพรั่งพร้อม มนุษย์ก็จะอยู่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ความคิดที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางอุตสาหกรรมของฝรั่ง จึงได้แก่ ความคิดนี้ คือความคิดที่ว่า จะแก้ปัญหาความขาดแคลน และให้มีวัตถุพรั่งพร้อม เพราะมองไปว่า ความสุขของมนุษย์นั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมอย่างที่กล่าวเมื่อกี้

ต่อมา แนวความคิดนี้ก็พัฒนามาเป็นวัตถุนิยม แล้วก็แปรมาเป็นบริโภคนิยมได้ด้วย แต่ที่สำคัญก็คือความคิดความเข้าใจแบบอุตสาห­กรรมนี้ ได้เข้ามาประสานกันกับแนวคิดอย่างที่หนึ่ง

เมื่อกี้นี้ตามแนวคิดที่ ๑ ถือว่า มนุษย์จะมีความสำเร็จอยู่ในโลกอย่างผู้ที่ครอบครองโลกได้ ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ทีนี้ก็มาบวกแนว​คิดที่สองเข้าไป บอกว่ามนุษย์จะมีความสุขได้จริงต่อเมื่อมีวัตถุบริโภคพรั่งพร้อมบริบูรณ์

เมื่อรวมกันเข้าไปก็ได้หลักความเชื่อที่ว่า เราจะต้องพิชิตธรรมชาติเพื่อจะเอาธรรมชาติมาปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุ ที่จะมาบำรุงบำเรอมนุษย์ให้พรั่งพร้อมมีความสมบูรณ์ แล้วเราจะได้มีความสุข แนวคิดสองอย่างนี้สอดคล้องกันและเสริมกำลังกัน ก็เลยไปกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย เข้ากันได้สนิท

ตกลงว่าสองแนวความคิดหรือแรงจูงใจนี้มาประสานกันในตอนนี้ แล้วสองอันนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ถึงตอนนี้ก็เป็นอันว่า ความใฝ่รู้บริสุทธิ์ที่ว่าเมื่อกี้ที่จะรู้ความจริงเบื้องหลังของธรรมชาตินั้น กลายเป็นไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว เพราะมาบวกเข้ากับความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติประการหนึ่ง และความใฝ่ปรารถนาที่จะมีวัตถุบำรุงบำเรออย่างพรั่งพร้อมประการหนึ่ง

พอแนวคิดสองอย่างนี้ผนวกเข้ามาแล้ว ความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาติที่โปร่งโล่งบริสุทธิ์ ก็โอนเอนและบีบตัวลงมาในทางที่จะถูกใช้เป็นเครื่องสนองความต้องการของมนุษย์ แล้วก็เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในลักษณะที่มนุษย์จะกระทำต่อธรรมชาติแบบเอาเปรียบ โดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ

มนุษย์ก็คิดว่า เมื่อไรเราเอาชนะธรรมชาติได้เราก็จะสามารถปรุงแต่งประดิษฐ์สร้างสรรค์วัตถุอะไรต่างๆ ขึ้นมาบำรุงบำเรอตนให้พรั่งพร้อม เมื่อนั้นเราก็จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ แล้วก็ค้นคิดวิทยาการมาทำการต่างๆ ตามแนวคิดนี้ ความเจริญก็เกิดขึ้นมากมายในยุคที่ผ่านมาซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุคอุตสาหกรรม จนกระทั่งเกิดมีการพูดอย่างนี้ขึ้นมาว่า วิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานี้ เป็นวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม

ความเจริญในยุคที่ผ่านมานี้เรายอมรับกันว่า เป็นความเจริญในยุคอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันนี้ฝรั่งกำลังผ่านพ้นยุคนี้ไปในขณะที่ไทยเรากำลังเข้าไป

ไทยเราบอกว่าฉันจะเป็นนิกส์ นั้นก็หมายความว่าเรากำลังจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่ฝรั่งเขาบอกว่าฉันผ่านออกไปแล้วนะ ฉันพ้นแล้ว ตอนนี้เขาบอกว่าฉันเป็น post-industrial แล้ว ฉันเข้า information age แล้ว ฉันเป็น information society แล้ว

เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์นี้เป็นตัวสำคัญที่จะให้เข้าหรือให้ผ่านพ้นอุตสาหกรรมได้ ทางวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ฉันนี่แหละที่เป็นผู้ทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้นมาได้ แต่ในทางกลับกัน ทางฝ่ายอุตสาหกรรมก็บอกว่า วิทยาศาสตร์น่ะหรือ ก็เป็นผู้รับใช้ฉันน่ะซี แล้วแต่ใครจะพูด

พร้อมกับความเจริญของยุคอุตสาหกรรม โทษภัยที่สืบเนื่องจากความเจริญนั้น ก็ค่อยๆ ปรากฏ แล้วรุนแรงมากขึ้น ตามลำดับ จนเด่นชัดมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะภยันตรายเนื่องจากความเสื่อมโทรมของธรรมชาติแวดล้อม ดังที่ตื่นกลัวกันอยู่ทุกวันนี้

มูลเหตุก็เกิดจากแนวความคิดสำคัญ ๒ อย่างที่พูดมาแล้วนั่นเอง กล่าวคือ แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มให้การเบียดเบียนและเอาเปรียบธรรมชาติเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน ต่อจากนั้น แนวความคิดที่จะสร้างวัตถุบำเรอความสุขให้พรั่งพร้อม ก็เข้ามาตั้งเป้าหมาย​ที่ทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับการพิชิตและจัดการกับธรรมชาติดำเนินไปอย่างมุ่งมั่นจริงจัง ในอัตราที่ทั้งแรงและทั้งเร็วมากขึ้น โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นอีกด้านหนึ่ง แนวความคิดนั้นเองก็ทำให้มนุษย์แข่งขันเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกันเอง เพื่อแย่งชิงวัตถุบำเรอความสุขเหล่านั้นด้วย จนกล่าวได้ว่า การที่มนุษย์ยุคปัจจุบันได้รับผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมา ต้องพากันประสบปัญหาทั้งปวงอยู่ขณะนี้ ก็เพราะฤทธิ์เดชของแนวความคิดสองประการที่กล่าวมานี้

 

เบื้องหลังความเจริญ คือเบื้องหลังความติดตัน

เหตุปัจจัยยังไม่หมดแค่นี้ นอกจากแนวความคิดใหญ่ๆ สองสายนั้นแล้ว ยังมีทัศนคติที่เจริญควบคู่มาด้วยกันที่เป็นปัจจัยแก่กันกับแนวความคิด ๒ อย่างข้างต้น ช่วยเสริมให้หนักเข้าไปอีก คือ

๑. ทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ที่พูดถึงข้างต้น ยุคอุตสาหกรรมนั้น มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือเป็นยุค specialization ด้วย หมายความว่าเป็นยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง วิทยาการต่างๆ ได้มีการแบ่งซอยออกไป ให้มีการศึกษาแน่วดิ่งไปในทิศทางนั้นๆ เจาะลึกเฉพาะด้านของตนมาก แม้จะรู้เชี่ยวชาญเก่งกาจในเรื่องเฉพาะนั้นอย่างยิ่ง แต่ขาดการประสานเชื่อมโยงกับแดนความรู้ความชำนาญด้านอื่นๆ จนกระทั่งบางสาขาเกิดความหลงผิดไปว่า วิทยาการในสายของตนนั้น จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง

นี้แหละเป็นสาเหตุสำคัญ คือ ตอนแรกก็แบ่งแยกซอยทิศทางกันไปให้ชำนาญพิเศษ เพื่อจะได้รู้ให้ชัด แล้วจะได้เอาความรู้ในด้านของตนมาเป็นส่วนร่วมที่เสริมกันในการรับใช้มนุษย์ แต่แล้วก็ไปเกิดความหลงผิดว่า ความเจริญก้าวหน้าแห่งความรู้ของตัวนั้น จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ก็เลยเกิดทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้านชนิดที่เอียงสุดไป จนเข้าใจว่าวิชาการในแดนของตนอย่างเดียว จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หมด เหมือนอย่างในวงการวิทยาศาสตร์ ก็มีผู้ที่คิดว่าวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น จะตอบปัญหาได้ทุกอย่าง จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และไม่เกิดความคิดที่จะไปประสานกับผู้อื่น

ทัศนคตินี้ได้ไปไกลจนกระทั่ง มองศาสนา มองจริยธรรม เป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปด้วย จะเห็นว่า ในยุคที่ผ่านมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ในวงการการศึกษา ก็มองจริยธรรมเป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงจริยธรรมก็บอกว่า เป็นเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของนักโน้นนักนี้ ฉันไม่เกี่ยว แต่เวลาพูดถึงการแก้ปัญหาของโลก เขาบอกว่าฉันนี้แหละแก้ได้ ต้องศาสตร์ของฉัน อะไรทำนองนี้ ไม่พูดในเชิงที่จะเชื่อมโยงประสานหรือร่วมมือกัน รู้สึกว่ามันจะสับสนกันอยู่ เพราะว่าถ้าฉันแก้ปัญหาของโลกได้หมด ปัญหาจริยธรรมก็เป็นปัญหาของโลก ฉันก็ต้องแก้ได้ด้วย แต่บอกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของพวกโน้นที่เขาชำนาญพิเศษ ฉันไม่เกี่ยว นี่อะไรกัน หมายความว่าฉันก็ข้ามไปแก้ปัญหาของพวกจริยธรรมได้ด้วยซิ อันนี้ก็โยงไปสู่ทัศนคติข้อต่อไปที่เป็นอย่างที่สอง

๒. ทัศนคติที่ว่าจะแก้ปัญหาจริยธรรมได้โดยไม่ต้องใช้ปัจจัยหรือวิธีการทางจริยธรรม หมายความว่าจะแก้ปัญหาทางศีลธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ พวกนี้เห็นว่าถ้าพัฒนาวัตถุให้พรั่งพร้อมแล้ว ปัญหาทางด้านจริยธรรมก็หมดไปเอง ไม่ต้องพัฒนามนุษย์ ไม่ต้องพัฒนาจิตใจ นี่เป็นความคิดในยุคที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏมากในวงการเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า ถ้าเศรษฐกิจดี พัฒนาวัตถุพรั่งพร้อมแล้ว จะไม่มีปัญหาศีลธรรม ทุกอย่างจะเรียบร้อยไปเอง กลายเป็นว่าจะแก้ปัญหาทางจิตใจหรือปัญหาทางจริยธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ ไม่ต้องใช้วิธีการทางจริยธรรม

ว่าที่จริง ความคิดที่จะแก้ปัญหาจริยธรรมด้วยวิธีการทางเศรษฐ­กิจนี้ ก็ไม่ใช่จะผิดเสียทีเดียว เพราะสภาพเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในทางจริยธรรมด้วย แต่ความผิดพลาดอยู่ที่ทัศนคติแบบมองอะไรแง่เดียวด้านเดียว เห็นไปว่าเศรษฐกิจดีแล้ว ปัญหาจริยธรรมก็จะหมดไปเอง เพราะฉะนั้น ให้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียวก็พอ

สำหรับความคิดแบบนี้ คนอื่นสามารถแกล้งค้านเล่นๆ ด้วยคำพูดที่เป็นความจริงแท้ๆ อย่างง่ายดายว่า จริงสิ ถ้าเศรษฐกิจดีแล้วปัญหาจริยธรรมก็ไม่มี เพราะถ้าขาดจริยธรรมเสียอย่างเดียว ก็ไม่มีทางทำให้เศรษฐกิจดีได้สำเร็จ หรือจะพูดว่า ถ้าคนมีจริยธรรมดีแล้ว (เช่น ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจทำงาน จัดสรรแบ่งปันกันอย่างเสมอภาคยุติธรรม รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และรู้จักใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม) ปัญหาเศรษฐกิจก็หมดไปเอง ซึ่งก็มีความเป็นจริงอยู่พอๆ กัน

คำว่า “ถ้าเศรษฐกิจดีแล้ว ปัญหาจริยธรรมก็ไม่มี” เป็นความจริงสำหรับสังคมในแง่ที่ว่า เพราะก่อนที่เศรษฐกิจจะดีได้นั้น จะต้องแก้ปัญหาจริยธรรมสำเร็จได้แล้ว และคำว่า “ถ้าจริยธรรมดีแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจก็หมดไปเอง” ก็เป็นความจริงสำหรับสังคมได้ ในความหมายที่ว่า เพราะก่อนที่จริยธรรมจะดีได้นั้น เราต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จแล้วด้วย แต่การพูดความจริงด้วยสำนวนภาษาแบบนี้มีประโยชน์แก่มนุษย์น้อยเกินไป

คำว่า ปัญหาจริยธรรมนั้น กินความถึงปัญหาต่างๆ ทางจิตใจ รวมทั้งเรื่องความสุขความทุกข์ด้วย ดังนั้น ที่ว่าจะแก้ปัญหาทางจริยธรรมด้วยวิธีการทางวัตถุได้ จึงรวมไปถึงการแก้ปัญหาทางด้านอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ด้วยวิธีการทางวัตถุนั้นด้วย เช่น ผลิตสารเคมี ทำยาเอามาฉีดหรือให้กิน เพื่อกล่อมประสาทเป็นต้น ทำให้หายวิตกกังวล ทำให้หายกลุ้มใจ หรือแก้ความซึมเศร้า ทำให้จิตใจปลอดโปร่งสดชื่นได้ ซึ่งเขาก็ทำได้จริงมากทีเดียว แต่ถ้าเข้าใจว่านี่เป็นการแก้ปัญหาทางจริยธรรมและทางจิตใจได้สำเร็จด้วยวิธีการทางวัตถุของวิทยาศาสตร์และเทคโน­โล⁠ยี ก็นับว่าเป็นความหลงผิดอย่างมาก เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว บรรเทาปัญหา หรือเป็นขั้นของการช่วยสร้างสภาพพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาเท่านั้น หาใช่เป็นตัวการแก้ปัญหาที่แท้จริงไม่ เรื่องนี้อาจจะวกกลับมาพูดอีกข้างหน้า

ศาสตร์และวิทยาหลายอย่างอยากจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือพยายามแสดงตนว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง แบ่งซอย และมองด้านเดียวนี้ ขัดขาตัวเอง ทำให้ไม่อาจเป็นวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วย ที่ไม่อาจบรรลุความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงหรือสมบูรณ์ เพราะเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วนทั่วถึง ทำ​ให้องค์ของความจริงไม่สมบูรณ์ ก็เลยเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์ ก็คือไม่เป็นความจริงที่แท้จริง และเมื่อมองเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วน แล้วด่วนสรุปลงเสีย ก็คือเห็นไม่ตรงตามที่มันเป็นจริง ระบบของความเป็นเหตุเป็นผลก็ไม่บริบูรณ์ ก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริง

ความเชื่อและทัศนคติแบบนี้ทั้งสองอย่างแฝงมาในยุคอุตสาหกรรม พ่วงมากับแนวความคิดสองอย่างเมื่อกี้นี้ เป็นตัวที่เสริมซ้ำให้ปัญหาหนักแรงขึ้น ในทีนี้จะขอผ่านไปก่อน

ที่ว่ามานี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามีข้อพิจารณา ตอนนี้อาจมีผู้สงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร ก็ขอตอบว่ามันเริ่มเกี่ยวข้องแล้วละ ที่พูดมานี้ก็เกี่ยวข้องเข้ามาเยอะแยะแล้ว แต่ทีนี้เพื่อให้เห็นชัด จะย้อนกลับไปพูดถึงฝ่ายศาสนาบ้าง เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ว่าเกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร คราวนี้ก็จะไปดูว่าศาสนาเกิดขึ้น แล้วพัฒนามาอย่างไร เพื่อจะให้สองเรื่องนี้มาบรรจบกัน

ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริด

จุดเริ่มร่วมที่กลายเป็นจุดแยกห่าง
ระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์

ศาสนามีต้นกำเนิดจากอะไร เรียนกันมาแต่ไหนแต่ไรว่า ศาสนามีต้นกำเนิดจากความกลัวภัย ก็กลัวภัยธรรมชาตินี้แหละ ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุร้ายอะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นภัยอันตรายที่คุกคามชีวิตมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ในสมัยโบราณมนุษย์เริ่มแรก ยังไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้จักธรรมชาติ ก็ต้องหาทางหาคำตอบที่จะแก้ปัญหาหรือช่วยตัวเองให้พ้นจากภัยเหล่านั้น

พูดรวบรัดว่า มนุษย์นี้ ถูกภัยธรรมชาติบีบคั้น เกิดความกลัวภัยขึ้นมา ก็เริ่มที่จะหาคำตอบ และการที่จะหาคำตอบก็คือ เกิดความสนใจต่อธรรมชาตินั่นเอง เพราะธรรมชาติมาทำให้เกิดภัยบีบคั้นเรา เราก็สนใจต่อธรรมชาตินั้นที่อยู่รอบตัว ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องซึ่งมีผลกระทบต่อตัวเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาทางปฏิบัติด้วยความปรารถนาจะพ้นภัย นี่คือมีตัวกำหนดอันหนึ่งขึ้นมา และตัวกำหนดอันนี้แหละที่จะไปบรรจบกับวิทยา­ศาสตร์ บรรจบกันตรงที่ว่า ในฝ่ายศาสนานี้มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัย ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ เราพูดไปแล้วเมื่อกี้ว่ามีความใฝ่ปรารถนาที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติ ตรงนี้แหละที่จะเห็นจุดบรรจบ

เราพูดถึงฝ่ายศาสนาว่า มีความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย ภัยนี้เกี่ยวกับธรรมชาติ เมื่อมีความกลัวภัย มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัยแล้ว เขาก็มองดูไปที่ธรรมชาติ เพื่อหาทางปฏิบัติ พร้อมกันนั้นเขาก็มีความอัศจรรย์ใจต่อความลึกลับมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินั้น จากความอัศจรรย์ใจนี้ เขาก็มีความใฝ่ปรารถนาต้องการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ซึ่งไม่เฉพาะอยากจะรู้เท่านั้น มันบังคับให้เขาต้องอยากจะรู้ด้วย เพราะมิ⁠ฉะนั้นเขาจะแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วมันก็จะคุกคามเขาไปเรื่อยตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น จากความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย คือจากความกลัวนี่แหละ ก็นำไปสู่ความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย ดังนั้นตอนนี้เราก็เห็นได้ว่าศาสนามาบรรจบกับวิทยาศาสตร์แล้วละ แต่ที่จริงนั้นกำลังบอกว่า ศาสนาเริ่มก่อน คือเริ่มจากจุดที่ว่ากลัวภัย แล้วจากนั้นจึงใฝ่ปรารถนาจะรู้ความจริงของธรรมชาติ พอถึงจุดนี้แหละ ทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้นด้วยกัน นี่คือจุดบรรจบ

เป็นอันว่าเรามาถึงจุดที่ว่า มีความใฝ่ปรารถนา ต้องการจะรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไปของธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดร่วมที่เริ่มกำเนิด ทั้งของศาสนาและวิทยาศาสตร์

จะเห็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกนั้นมากับศาสนา พวกที่กำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกไว้ ในยุคอียิปต์ เมโสโปเตเมีย ฯลฯ เท่าที่ทราบนี่ เป็นคนในวงการศาสนา อาจจะเรียกว่าเป็นนักบวชหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าบุคคลพวกนี้มีความสนใจธรรมชาติ เอาใจใส่หาทางจัดการกับภัยที่คุกคามมนุษย์นี้เป็นพวกแรก แล้วเขาก็ใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์กับศาสนานี้เริ่มต้นมาด้วยกัน อันนี้เป็นจุดที่มาทางประวัติศาสตร์ เดี๋ยวจะมาบรรจบกับแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันทีหลัง ว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์นี้ มีจุดเริ่มต้นกันอย่างไร

ณ จุดเริ่มที่เป็นจุดร่วมนี้ หมายความว่า ณ จุดเริ่มทั้งของวิทยา­ศาสตร์และของศาสนาที่เป็นจุดร่วมกันนี้ มันก็เป็นจุดแยกไปด้วยในตัว ศาสนากับวิทยาศาสตร์จะเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แตกต่างกันอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมชาตินี่แหละ จะได้อธิบายต่อไป

ธรรมชาติและภัยจากธรรมชาติที่มนุษย์หรือชีวิตจะต้องเผชิญนี้ เป็นเรื่องต่อหน้า เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นความตาย ซึ่งจะต้องมีคำตอบ และปฏิบัติได้ทันที รอไม่ได้ ภัยอยู่ข้างหน้าแล้ว มันมาถึงแล้ว สถานการณ์อยู่ตรงหน้านี้แล้ว จะทำอย่างไรก็ทำ ต้องมีคำตอบให้ทำได้ทันที พร้อมกันนั้นมันก็เป็นเรื่องของหมู่ชนหรือสังคมทั้งหมด ทุกคนจะต้องเผชิญร่วมกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็จะต้องมีผู้เสนอคำตอบขึ้น ชนิดที่จะให้ปฏิบัติได้ทันที ซึ่งพอแก่การถึงความยุติทีเดียว สำหรับหมู่ชนนั้นทั้งหมดพร้อมกัน เมื่อมีผู้เสนอคำตอบอย่างว่านั้นขึ้นแล้วและเป็นที่ยอมรับกัน คำตอบแบบนี้แหละก็ได้กลายมาเป็น “ศาสนา”

คำตอบที่เป็นรายการปฏิบัติได้ทันทีนั้น อาจจะออกมาในรูปที่เราเรียกปัจจุบันว่า ไม่มีเหตุผล เช่นพิธีกรรมแปลกๆ เป็นต้นก็ได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ทันที และนี่เป็นความจริงที่ว่า มนุษย์จะต้องมีคำตอบที่ปฏิบัติได้ทันที สำหรับหมู่ชนที่เป็นสังคมทั้งหมด แล้วอันนี้ก็มาเป็นศาสนา

ทีนี้ อีกพวกหนึ่ง หรือพร้อมกันนั้นในคนเดียวกันนั่นเอง เมื่อผ่านสถานการณ์นั้นไปแล้ว หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าไม่บีบคั้น ก็มีเวลาที่จะค่อยรวบรวมหาข้อมูล คิดค้นตรวจสอบความจริงไปเรื่อยๆ พวกนี้ได้คำตอบมา เป็นความรู้จากการสังเกตและทดลอง ต่อมาเราเรียกว่าเป็น “วิทยาศาสตร์” เป็นความรู้จากการที่ค่อยๆ พิสูจน์ได้ทีละอย่างๆ ทีละเรื่องๆ มา

นี่คือ จุดที่แตกต่างกัน ที่จริงเดิมนั้นก็อันเดียวกัน เริ่มมาด้วยกัน แล้วกลายเป็นแยกเป็นสองอย่าง คำตอบที่เรียกว่าเป็นเรื่องสำหรับทำทันที เป็นเรื่องของชุมชน เป็นเรื่องของคนทั้งหมดร่วมกัน มาในรูปของความเชื่อและศรัทธา เพราะไม่รู้จะพิสูจน์อย่างไร มันไม่มีเวลาจะพิสูจน์ หรือยังไม่มีทางจะพิสูจน์ได้ แต่ก็ต้องทำลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างที่ว่ารอไม่ได้ ต้องทำต้องแก้ปัญหากันไปเลย ก็มาเป็นสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงมากับศรัทธา และก็เกิดขึ้นอย่างนี้

ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการสืบสาวหาความรู้ในความจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นจะต้องตอบทันที และเป็นเรื่องของบุคคลที่มีความสนใจ ไม่เป็นเรื่องของสังคมหรือหมู่ชนทั้งหมด เพราะฉะนั้น อาจจะมีปัจเจกชนหรือกลุ่มผู้สนใจเฉพาะกลุ่มน้อยๆ พยายามศึกษาเรื่องนี้ต่อกันมา โดยใช้วิธีหาความรู้ที่จะพิสูจน์ความจริงได้ ที่เรียกว่าวิธีวิทยาศาสตร์ นี่คือความแตกต่างระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์เท่าที่พิจารณาในตอนนี้

มีข้อสังเกตแทรกเข้ามาตรงนี้หน่อยหนึ่ง ดังได้กล่าวแล้วว่าศาสนาเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่ทั้งสังคมหรือทั้งชุมชน ก็มีปัญหาว่า จะคุมแก่นคำสอนของตนให้คงอยู่ โดยให้คนทั้งหมดถือเหมือนกันทำเหมือนกันไปได้เรื่อยๆ อย่างไร คำตอบก็คือ ศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา มากับศรัทธาอยู่แล้ว ศาสนาก็เลยใช้ศรัทธาเป็นเครื่องคุมรักษาแก่นของตนไว้ โดยให้หลักความเชื่อที่จะต้องยึดถือและทำตามอย่างตายตัว ชนิดที่ไม่ต้องถามหาเหตุผล อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า dogma (ข้อกำหนดตายตัวของลัทธิ)

ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ในวงจำกัดของคนที่เข้าถึง ซึ่งจะต้องรู้จักใช้ปัญญา ก็รักษาสาระของตนไว้ด้วยความจริงที่พิสูจน์ได้ โดยใช้วิธีการที่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็จึงรักษาและเผยแพร่หลักของตนออกไป ด้วยวิธีการแห่งปัญญา ที่มีชื่อเฉพาะว่าวิธีวิทยาศาสตร์ (scientific method)

เป็นอันว่า ศาสนาเสนอคำตอบเพื่อแสดงความจริงรวบยอดที่ครอบคลุม และเป็นคำตอบที่พอแก่การ ยุติทีเดียวจบ ที่จริงไม่ใช่ศาสนาเสนอคำตอบอย่างนี้ แต่คำตอบอย่างนี้แหละกลายเป็นศาสนา ตรงนี้อย่างง คือไม่ใช่ว่าศาสนาเป็นอะไรอันหนึ่ง เป็นสถาบันอันหนึ่งที่มีอยู่แล้วมาเสนอคำตอบอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่คำตอบที่มนุษย์เสนอขึ้นมาอย่างนี้นั่นแหละกลายมาเป็นศาสนา มนุษย์เองนั่นแหละเสนอคำตอบ แล้วต่อมาก็มีคนที่รวมกันเป็นสถาบันเป็นกลุ่มหรืออะไรที่จะมาช่วยดูแลรักษาให้คงอยู่ตามนั้น จึงกลายเป็นนักบวช เป็นสถาบันศาสนาขึ้นมา

เพราะฉะนั้น มองในแง่หนึ่ง ศาสนาก็คือการให้คำตอบเบ็ดเสร็จ คือ ให้คำตอบที่เชื่อว่าเป็นความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิตอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าความจริงรวบยอด จบทีเดียว คลุมจากข้างบนลงมาทีเดียวหมดเลย

แต่วิทยาศาสตร์นั้นตรงข้าม วิทยาศาสตร์เป็นการพยายามพิสูจน์ความจริงปลีกย่อยทีละเรื่องละอย่าง เป็นความจริงเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่าง ก้าวไปหาความจริงที่ครอบคลุมทีละน้อยๆ

แม้วิทยาศาสตร์จะบอกว่า ฉันต้องการ general principle คือหลักการทั่วไป แต่หลักการทั่วไปของวิทยาศาสตร์นั้น ก็เป็นหลักการทั่วไปเฉพาะด้าน เฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี ซึ่งมาเป็นส่วนย่อยของความจริงรวบยอดหรือความจริงพื้นฐานอีกที

ถ้าจะใช้คำล้อกัน ถ้าเราบอกว่า ศาสนาให้คำตอบเบ็ดเสร็จ วิทยาศาสตร์ก็ให้คำตอบเบ็ดเตล็ด จะเป็นทำนองนี้ และมันก็เป็นมาอย่างนี้ เมื่อมองเป็นกลางๆ เราจะเห็นความจริงที่เป็นไปตามธรรมดาของวิวัฒนาการของมนุษย์มาอย่างนี้ จากประวัติศาสตร์เราจะเห็นจุดเริ่มร่วมกันของวิทยาศาสตร์กับศาสนา พร้อมทั้งจุดแยกต่างอย่างที่ว่ามานี้

ตรงนี้ขอแทรกนอกเรื่องนิดหน่อยว่า เพราะศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นอย่างที่ว่ามานี้ ก็เลยมีคนอีกพวกหนึ่งที่ไม่พอใจทั้งกับศาสนาและกับวิทยาศาสตร์ คนพวกนี้ต้องการคำตอบเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิต ชนิดที่เป็นคำตอบเบ็ดเสร็จอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่เมื่อดูทางด้านศาสนา แม้จะให้คำตอบเบ็ดเสร็จถึงความจริงพื้นฐาน แต่คำตอบนั้นก็ไม่เห็นเป็นเหตุเป็นผลที่จะรู้เข้าใจได้ด้วยปัญญา จะให้เชื่อเพียงด้วยศรัทธา เขาก็รู้สึกว่ายอมรับไม่ได้ และเมื่อหันไปดูทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะให้คำตอบเป็นเหตุเป็นผลพิสูจน์ได้ รู้เข้าใจด้วยปัญญา แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบชนิดเบ็ดเสร็จที่ความจริงพื้นฐาน เพราะยังพิสูจน์ไม่ถึง ซึ่งเขาก็รอไม่ได้ คนพวกนี้ก็เลยพยายามคิดค้นหาคำตอบขั้นเบ็ดเสร็จนั้นเอาเอง ในเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ใช้วิธีการคิดหาเหตุผล จะให้เข้าถึงความจริงพื้นฐานด้วยวิธีการทางเหตุผลนั้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ วิธีการหาความจริงเบ็ดเสร็จแบบนี้ ก็กลายเป็นวิชาการขึ้นมาอย่างหนึ่งเรียกว่าปรัชญา

ถ้าพูดแบบเอาง่ายเข้าว่า ก็อาจจะเทียบแดนความรู้ ๓ ประเภทนี้ได้ โดยกำหนดเอาที่คำตอบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานของธรรมชาติ หรือของโลกและชีวิตเป็นหลัก กล่าวคือ

  1. วิทยาศาสตร์ ยังไม่ให้คำตอบ โดยต้องรอการพิสูจน์ก่อน
  2. ปรัชญา พยายามให้คำตอบ ในระหว่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ โดยเอาความคิดเหตุผลแทนการพิสูจน์ไปก่อน
  3. ศาสนา ให้คำตอบเด็ดขาดไปเลย โดยไม่ต้องพิสูจน์

ทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างก็เกิดตามศาสนามา และต่างก็จะมาให้คำตอบที่มุ่งให้ชัดเจนจะแจ้งกว่าศาสนา แต่ทั้งสองอย่างก็ยังไม่อาจให้คำตอบที่สนองความต้องการที่จะพอแก่การและพอแก่ใจของมนุษย์ได้ ศาสนาจึงยังคงและยังต้องทำหน้าที่ให้คำตอบแบบทันทีทันใดที่พอแก่การ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งศรัทธานั้นต่อไป

 

ศาสนากับวิทยาศาสตร์
ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน

เมื่อได้เห็นความแตกต่างบ้างแล้ว ก็จะพูดถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก

เพราะเหตุที่ศาสนาเสนอความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติแบบรวบยอดครอบคลุมจบทีเดียว ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องปฏิบัติทันที แล้วก็เป็นเรื่องของคนมาก เป็นเรื่องของสังคม ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ด้วยประสาท​ทั้ง ๕ ในทันใด ก็จึงต้องอาศัยความเชื่ออย่างที่ว่าเมื่อกี้

เมื่อต้องอาศัยความเชื่อ ตราบใดที่ยังพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแน่นอนไม่ได้ คำตอบแบบนี้ก็จะมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในยุคสมัยหนึ่งมีผู้เสนอคำตอบแบบนี้ขึ้นมาแล้ว คนก็ไม่รู้ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง มันก็พิสูจน์ไม่ได้ ถ้ายอมรับก็ต้องเชื่อเอาไว้ ต่อมาก็มีผู้เสนอคำตอบขึ้นมาอีก คำตอบใหม่นั่นก็ไม่รู้อีกแหละว่าจริงหรือไม่จริง จะพิสูจน์อย่างไรก็พิสูจน์ไม่ได้ ก็อยู่ที่ว่าใครจะเชื่ออันไหน บางคนก็ว่า เอ้อ อันเก่าดีกว่า บางคนก็บอกว่าอันใหม่ดีกว่า เสร็จแล้วมันก็อยู่ที่ความเชื่อ เพราะฉะนั้นศาสนาซึ่งอยู่ที่ศรัทธา ก็เลยแตกต่างกันไปตามศรัทธา และเพราะฉะนั้นเราจะมองเห็นว่า ในเวลาเดียวกันจะมีศาสนาได้หลายศาสนา

ที่ว่านั้นเพราะอะไร ก็เพราะธรรมดามันเป็นอย่างนั้น คือลักษณะของคำตอบมันจะต้องเป็นอย่างนั้น คือคำตอบที่เสนอความจริงครอบ​คลุมเป็นคำตอบพื้นฐานทีเดียวจบ เสนอมาแล้วก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็เชื่อกันว่าอย่างนั้น มีคำตอบใหม่ อีกพวกหนึ่งก็เชื่อกันไป ต่างก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็จึงมีหลายศาสนาๆ เพิ่มขึ้นมาๆ เรียกว่ามีหลายศาสนาอยู่ในเวลาเดียวกัน

แต่ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้นค่อยๆ ตอบ ค่อยๆ พิสูจน์ไปทีละอย่าง มันก็แก้ปัญหาในทางความรู้ไปได้เรื่อยๆ เสร็จไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น ในแต่ละช่วงเวลาหนึ่งจึงมีวิทยาศาสตร์อันเดียว และด้วยเหตุนี้ จึงอาจจะมีผู้พูดว่า ศาสนานั้นมีหลายศาสนา แต่วิทยาศาสตร์มีวิทยาศาสตร์เดียว นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมดาตามธรรมชาติที่มันจะเกิดขึ้นอย่างนั้น มันเป็นความจริงตามธรรมชาติแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ว่า ในช่วงเวลาหนึ่งก็ย่อมมีวิทยาศาสตร์อันเดียว

แต่ที่จริง ถ้าว่าโดยลำดับกาลเวลาในประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็มีหลายวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นไม่ให้คำตอบที่แสดงความจริงแบบรวบยอดทีเดียวจบ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของวิทยาศาสตร์จึงตรงข้ามกับศาสนา คือศาสนานั้นมีหลายศาสนาในเวลาเดียวกัน แต่วิทยาศาสตร์มีหลายวิทยาศาสตร์โดยลำดับกาลในประวัติศาสตร์

ที่พูดไปนั้น หมายความว่าอย่างไร อ้าว ในเวลาที่เรามองธรรมชาตินั้นเรามักจะมองไปที่ the universe คือจักรวาล หรือเอกภพ ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็จะมีคำตอบของแต่ละยุคแต่ละสมัย ที่เราบอกว่าเป็นคำตอบของวิทยาศาสตร์ คำตอบที่สมัยหนึ่งว่าถูกต้อง แต่ต่อมาก็พิสูจน์ได้ว่าผิด และต่อมาคำตอบใหม่ที่ว่าถูก ก็พิสูจน์ได้ว่าผิดอีก ก็ได้ภาพอันใหม่ต่อมาเรื่อยๆ เราก็เลยมีวิทยาศาสตร์ของแต่ละยุค

วิทยาศาสตร์แบบหนึ่งสมัยหนึ่งเป็นไปตาม Ptolemaic universe คือแสดงเอกภพหรือจักรวาลตามแบบที่ Ptolemy อธิบายไว้ แต่ต่อมาก็จะมี Copernican universe คือจักรวาลแบบโคเปอร์นิคัส เดี๋ยวต่อมาก็มี Cartesian universe หรือ Newtonian universe จนกระทั่งถึง the universe of the new physics ในปัจจุบันนี้ ซึ่งภาพของจักรวาลหรือความจริงในธรรมชาติได้เปลี่ยนมาเรื่อยตลอดเวลา ภาพ universe หรือเอกภพ หรือธรรมชาติของ the new physics นี่ ไม่ว่าจะเป็นของ quantum หรือ relativity คือจะเป็นของทฤษฎีควอนตัม หรือทฤษฎีสัมพัทธภาพก็ตาม ก็ไม่เหมือนกับโลกธรรมชาติ หรือจักรวาลในยุคสมัยของ Newton เป็นคนละแบบกันเลย เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์ก็มีหลายวิทยาศาสตร์ โดยลำดับกาลเวลา อันนี้ก็เป็นแง่พิจารณาอย่างหนึ่ง

ขอแทรกตรงนี้อีกนิดหน่อย ที่ว่ามีวิทยาศาสตร์หลายวิทยาศาสตร์โดยลำดับกาลนั้น มาถึงเวลานี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ชักจะมีหลายวิทยาศาสตร์ในเวลาเดียวกัน หรือในลำดับกาลที่ใกล้ชิดกันมากเกิดขึ้นแล้ว ดังจะเห็นว่า ตอนนี้มีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่บอกว่า วิทยาศาสตร์จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดพื้นฐานใหม่ในการที่จะแสวงหาความจริง นักวิทยาศาสตร์พวกนี้ไม่ยอมรับแนวความคิดพื้นฐานของวิทยาศาสตร์แบบเก่า แล้วก็มีการเรียกแบ่งแยกเป็นทำนองว่ามีฟิสิกส์เก่า กับฟิสิกส์ใหม่ หรือวิทยาศาสตร์เก่ากับวิทยาศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะคำว่า the new physics จะปรากฏให้เห็นบ่อยมาก หรือคำว่า the new sciences ก็มีให้เห็นเป็นครั้งคราว แสดงว่าแม้แต่ขณะนี้ก็ไม่ใช่มีวิทยาศาสตร์เดียว

ต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของโลกภายนอก ว่าด้วยวัตถุนอกตัวมนุษย์ที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาท หรืออินทรีย์ทั้ง ๕ เมื่อพิสูจน์ได้ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ ในขั้นต้นนี้เราก็บอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินผิดถูกกันไปได้เลย เป็นอันเสร็จสิ้นไปทีหนึ่งๆ แล้วก็ก้าวสู่ความจริงขั้นต่อไปเป็นตอนๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ทีนี้ศาสนายังมีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป คือศาสนาไม่ได้มองเฉพาะโลกวัตถุภายนอกเท่านั้น แต่ศาสนาเป็นเรื่องของตัวมนุษย์ที่เป็นผู้พิสูจน์ความจริงนั้นเอง

วิทยาศาสตร์นั้นไปยุ่งกับสิ่งที่ถูกมนุษย์พิสูจน์ แต่ศาสนามาเอาที่ตัวผู้พิสูจน์เอง คือมายุ่งกับตัวมนุษย์ผู้ใช้อินทรีย์ ๕ นั้น มันก็เลยผ่านพ้นหรือเลยระดับการพิสูจน์โลกภายนอกด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ มาสู่พัฒนา­การทางจิตปัญญาของตัวคนผู้จะทำการพิสูจน์ มันก็เลยเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นไปอีก คือมันเป็นเรื่องของพัฒนาการทางจิตปัญญาของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตแทรกในตอนนี้ว่า สำหรับศาสนาทั่วๆ ไป แม้จะมีจุดสนใจอยู่ที่ตัวมนุษย์ ก็สนใจในฐานะเป็นตัวผู้ประสบปัญหา คือเป็นผู้ถูกปัญหากระทบ และจะต้องแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์นั้น แต่ในเวลาที่มองหาเหตุปัจจัยของปัญหา กลับมองไปที่ธรรมชาติฝ่ายโลกวัตถุภายนอก ว่าเป็นต้นตอที่ก่อปัญหาแก่มนุษย์ เพราะการที่มองหาเหตุปัจจัยข้างนอกนี้ ศาสนาทั่วไปเหล่านั้นจึงมีจุดร่วมกับวิทยาศาสตร์ ในแง่ที่เพ่งมองไปที่ธรรมชาติฝ่ายโลกวัตถุภายนอก

สำหรับศาสนาทั่วไปเหล่านั้น ก็มองธรรมชาติภายนอก ในฐานะเป็นแหล่งก่อปัญหาโทษทุกข์แก่ตัวมนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์มองธรรมชาติภายนอกนั้น ในฐานะเป็นวัตถุแห่งความใฝ่รู้ที่ตนจะศึกษาหาความรู้ในความจริง ศาสนามองหาความจริงเบื้องหลังธรรมชาติภายนอกนั้น เพื่อแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์มองหาความจริงเบื้องหลังธรรมชาติเพียงเพื่อสนองความใฝ่รู้

สำหรับศาสนาทั่วๆ ไปเหล่านั้น ซึ่งจะต้องมีคำตอบที่พร้อมให้มนุษย์ใช้ปฏิบัติได้ทันทีไม่ว่าปัญหาที่เป็นความวิปริตต่างๆ จะเกิดขึ้นภายนอกหรือในตัวก็ตาม ตัวก่อเหตุก็คือความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติภายนอกนั้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผีสางเทวดา หรือเทพเจ้าหรืออำนาจเหนือธรรมชาติอื่นๆ ถ้าเป็นเหตุการณ์วิปริตภายนอก เช่นฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ก็ปฏิบัติต่อผีสางเทพเจ้าด้วยการบวงสรวงอ้อนวอน ถ้าเป็นเหตุการณ์วิปริตภายใน จะเป็นความเจ็บป่วยทางกายหรือแม้แต่โรคจิต และพฤติกรรมวิปริตต่างๆ ก็ปฏิบัติต่อผีสางเทพเจ้าด้วยการหาหมอผีมาทำพิธีรักษาเป็นต้น ส่วนวิทยาศาสตร์ซึ่งก็มองเหตุที่ธรรมชาติภายนอกเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้คำตอบทันทีทันใด ก็ค่อยๆ ค้นคว้ารวบรวมหาข้อมูลสืบค้นความรู้ไปเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย

ส่วนศาสนาธรรมชาติ โดยเฉพาะพุทธศาสนา แม้จะมีจุดสนใจอยู่ที่ตัวมนุษย์ โดยมุ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์ เช่นเดียวกับศาสนาทั่วๆ ไป แต่มิได้มองแหล่งเกิดปัญหาที่ธรรมชาติภายนอกในโลกแห่งวัตถุเท่านั้น ศาสนาประเภทนี้จะมองต้นตอของปัญหาที่กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งปัจจัยภายในตัวของมนุษย์เอง เช่นการดำเนินชีวิตที่ผิดเป็นต้นด้วย คือมองที่เหตุปัจจัยของปัญหานั้นๆ ตามเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน ไม่ว่าทางรูปธรรมหรือนามธรรม ไม่ว่าทางวัตถุหรือทางจิตใจ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งแห่งระบบหรือกระบวนการนั้น

ในบรรดาศาสนาทั่วไปทั้งหลายนั้น หลายศาสนาสอนให้มนุษย์แก้ปัญหาด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง อย่างที่เรียกว่าทำตามหลักศีลธรรมหรือจริยธรรม จึงดูคล้ายกับว่าศาสนาเหล่านั้น มองเหตุปัจจัยของปัญหาที่ตัวมนุษย์ด้วยเหมือนกัน แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น กล่าวคือ การปฏิบัติที่เป็นการแก้ไขภายในตัวมนุษย์เองหรือการปฏิบัติตัวของมนุษย์ตามความเข้าใจของศาสนาเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยภายในตัวมนุษย์เอง แต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบัญชาของอำนาจเหนือธรรมชาติภายนอก ที่กำหนดให้ทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอำนาจดลบันดาลภายนอกเหล่านั้น โดยที่การปฏิบัติตัวของมนุษย์นั้นเป็นการหลีกหลบการที่จะถูกลงโทษ หรือเป็นการเอาอกเอาใจให้เทพเจ้าโปรดปรานประทานรางวัล หาใช่เป็นการมองเห็นเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติไม่

เมื่อมองในแง่นี้ ศาสนาที่มีหลายศาสนาในเวลาเดียวกันนั้น ก็เพราะว่าศาสนาเหล่านั้น สนองความต้องการของบุคคล หรือของมนุษย์ที่มีความเจริญหรือพัฒนาการทางจิตปัญญาไม่เท่ากัน ฉะนั้น ในขณะเดียวกันนี้ หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งนี้ เมื่อมนุษย์มีพัฒนาการทางจิตปัญญาอยู่ในระดับต่างๆ กัน เราก็มีศาสนาไว้หลายศาสนาสำหรับสนองความต้องการของมนุษย์เหล่านั้นที่หลากหลาย นี่เป็นคำตอบอีกแง่หนึ่ง แต่ไม่แค่นั้น ยังมีเรื่องต่อไปอีก

ทีนี้ ที่ว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ หรืออินทรีย์ ๕ นั้น ก็มีข้อแม้อีก อย่างที่พูดมาเมื่อกี้ทีหนึ่งแล้วว่า ในระยะแรก การพิสูจน์โลกวัตถุด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ นั้น ใช้อินทรีย์ ๕ เปล่าเปลือยล้วนๆ ได้ เช่นใช้ตา กาย หู ล้วนๆ ได้ แต่ต่อมาต้องอาศัยอุปกรณ์มาช่วยขยายวิสัยของอินทรีย์ ๕ ออกไป เช่นมีกล้องโทรทรรศน์ กล้อง​จุลทรรศน์ เป็นต้น ทีนี้ต่อมาก็มีความจริงที่เลยวิสัยของอุปกรณ์เหล่านั้นไปอีก นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งต้องอาศัยอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือพิสูจน์ด้วยคณิตศาสตร์ขั้นสูงๆ ใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ จนกระทั่งปัจจุบันเราก็มีอุปกรณ์ที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ขึ้นมาช่วย

วิธีการในการสังเกตทดลองพิสูจน์ความจริงของวิทยาศาสตร์ อย่างที่ว่ามานี้ ได้ทำให้เกิดลักษณะของวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างจากศาสนาออกไปอีก กล่าวคือ การพิสูจน์ความจริงของวิทยาศาสตร์นั้นกลายเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เมื่อนานไปก็กลายเป็นว่าคนสามัญไม่สามารถพิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะพิสูจน์ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงคณิตศาสตร์ชั้นสูง เป็นต้น เลยกลายเป็นว่า ตอนนี้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย กลายเป็นเรื่องของพวก specialized ไปแล้ว ต่างจากศาสนาที่เป็นเรื่องของชนหมู่มาก ของชุมชน ของสังคมทั้งหมด และลงมาถึงสามัญชน ซึ่งอาจยอมรับด้วยศรัทธาโดยไม่ต้องพิสูจน์

จริงอยู่ ในบางศาสนาก็มีเหมือนกัน ที่นักบวชหรือสถาบันศาสนาทำการอย่างที่เรียกว่าผูกขาดสัจจธรรม คือมีการกำหนดว่าต้องนักบวชหรือคนชั้นนั้นวรรณะนั้นเท่านั้น จึงจะเล่าเรียนคัมภีร์ ศึกษาหลักสำคัญ ตลอดจนเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนานั้นได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของการผูกขาด ซึ่งตามหลักความจริง หรือในศาสนาธรรมชาติอย่างพระพุทธ­ศาสนา ไม่มีการจำกัด หรือผูกขาดอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ ใครจะไปจำกัดหรือผูกขาดไม่ได้ เป็นเรื่องของพัฒนาการของบุคคลนั้นๆ เองที่จะรู้และเข้าถึงได้ เงื่อนไขก็อยู่ที่ระดับแห่งพัฒนาการทางจิตปัญญาของเขา

พึงสังเกตว่า การพิสูจน์ไม่ได้ที่พูดถึงในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ พิสูจน์ไม่ได้เพราะเข้าไม่ถึงวิธีการที่ใช้พิสูจน์ กับพิสูจน์ไม่ได้เพราะเนื้อหาหรือตัวสิ่งที่จะพิสูจน์เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าถึงด้วยวิธีการพิสูจน์อย่างนั้น เวลานี้วิทยาศาสตร์กำลังจะเป็นปัญหากับทั้งสองอย่าง โดยเฉพาะในเมื่อวิทยาศาสตร์จะพูดถึงความจริงรวบยอดขั้นสุดท้ายที่ครอบคลุม และเข้ามาจ่อแดนของจิตใจอย่างที่ว่าแล้วข้างต้น ถ้าวิทยาศาสตร์ไม่ปรับท่าทีวิธีการและขยายขอบเขตความหมายของตนเสียใหม่ ก็จะต้องพบกับความสับสนและติดตัน

วิทยาศาสตร์มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้คำตอบพื้นฐานที่รวบยอดครอบคลุมความจริงทั้งหมด แต่เมื่อไรจะเข้าถึงสักที และพอจะเข้าถึงก็กลับกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์ก็เจอกับคำตอบที่วิธีการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพิสูจน์ไม่ได้เสียอีก มันก็ชักจะมาเข้ารอยเดียวกับศาสนา เลยดีไม่ดีวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นศาสนาไปด้วย

 

ความสดใสที่ไม่พ้นความสับสน

เพราะฉะนั้น มันก็ชักจะมีวิทยาศาสตร์ที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน วิทยาศาสตร์ที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน นอกจากวิทยาศาสตร์เก่ากับวิทยา­ศาสตร์ใหม่ หรือฟิสิกส์เก่ากับฟิสิกส์ใหม่แล้ว ก็อาจจะมีวิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญกับวิทยาศาสตร์ของสามัญชน เดี๋ยวนี้ก็ดูจะเป็นอย่างนั้นแล้วว่า วิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญกับวิทยาศาสตร์ของสามัญชนก็ชักจะไม่เหมือนกันแล้ว

อันนี้ก็เป็นเพราะว่า หลายสิ่งที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันบอกคนสามัญไม่อาจคิดนึกจินตนาการได้เลย คือคิดไม่ออก หมายความว่านอกจากพิสูจน์ไม่ได้แล้ว คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก มองไม่ออกเลย อย่าว่าแต่คนสามัญจะมองไม่ออก นักวิทยาศาสตร์เองก็มองไม่ออก ก็ต้องเชื่อเอา

ยกตัวอย่าง เช่น วิทยาศาสตร์บอกว่า แสงเป็นทั้งคลื่นและเป็นทั้งอนุภาคในเวลาเดียวกัน เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์มาถึงขั้นนี้ พยายามบอกถึงธรรมชาติของแสงว่าแสงคืออะไร แสงเป็นคลื่นหรือเป็นอนุภาค มันเป็นชิ้นส่วนหรือหน่วยย่อยอย่างหนึ่งใช่ไหม พวกหนึ่งให้คำตอบว่า ใช่ ใช่ เป็นอนุภาคพื้นฐาน เป็นกระแสของโฟตอน (photons) ที่ไหลไป แต่อีกพวกหนึ่งบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ แสงเป็น wave คือเป็นคลื่น ต่อมาปรากฏว่าพิสูจน์ได้ทั้ง ๒ ทาง ได้ทั้งคู่ ก็เลยบอกว่าเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง เอ แต่มันเป็นอะไรกันแน่ ก็ต้องพิสูจน์ด้วยคณิตศาสตร์ เรื่องอย่างนี้มนุษย์สามัญคิดไม่ออก ว่ามันอย่างไรกันนะ ที่ว่าเป็นทั้ง ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง เอา ๒-๓ ตัวอย่างก็พอ เช่นบอกว่า ใน black hole ไม่ทราบว่าหลายท่านในที่นี้รู้หรือเปล่า black hole ภาษาไทยวิทยาศาสตร์เรียกว่า หลุมดำ วิทยาศาสตร์บอกว่า ในอวกาศมีหลุมดำอยู่ที่โน่นที่นี่ เพิ่งค้นพบกันมาระยะหนึ่ง เป็นที่ซึ่งไม่มีแสงออกมาได้เลย มันจึงดำมืด ที่จริงคือไม่มีอะไรออกมาได้เลยสักอย่าง ที่นั่นมีแรงโน้มถ่วงสูงมากจนกระทั่งไม่มีอะไรสามารถหนีออกมาได้เลย แม้แต่แสงก็ออกมาไม่ได้ ทีนี้มนุษย์ธรรมดาก็คิดว่า อะไรกันนะแสงออกมาไม่ได้ มีอะไรที่แสงออกมาไม่ได้ มันก็ชอบกล

ทีนี้เขาบอกว่า ใน black hole นั้น เป็นตัวอย่างที่ว่า มวลสารและพลังงานทั้งปวงจะเป็น matter หรือ energy ก็ตาม จะอัดกันผนึกแน่นเหลือเกิน จนไม่รู้จะเทียบอย่างไร จะยกตัวอย่างให้ฟัง เขาบอกว่า มันจะอัดแน่นจนกระทั่งว่า ตึกระฟ้าในอเมริกา ที่ชื่อว่า Empire State สูง ๑๐๒ ชั้น ท่านที่ไม่เคยไปก็นึกภาพเอาก็แล้วกัน จินตนาการถึงตึก ๑๐๒ ชั้น มันก็สูงละ เมืองไทยเรามีแค่ไม่กี่สิบชั้นเท่านั้นเราก็ยังว่าใหญ่โต ทีนี้ตึก ๑๐๒ ชั้น Empire State ในนิวยอร์คนั้น เขาบอกว่า ถ้ารีดเอาช่องว่างในตึกออกทั้งหมดแล้ว มวลสารและพลังงานจะอัดแน่นจนกระทั่งเหลือเนื้อตัวเท่าเข็มเย็บผ้า ตึกระฟ้า Empire State นี่ เอาช่องว่างในนั้นออกหมดแล้ว มีเนื้อสารเหลือเท่าเข็มเย็บผ้าเล่มเดียว อ้าว! ชาวบ้านนึกไหวไหม บอกว่าตึก Empire State เท่าเข็มเย็บผ้าเล่มเดียว

นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ที่จริงมันยิ่งกว่านั้นอีก และบอกว่า นอกจากจะมีเนื้อเท่าเข็มเย็บผ้าเล่มเดียวแล้วยังมีน้ำหนักเท่าเดิมด้วย หมายความว่าเข็มเย็บผ้าเล่มนั้นหนักเท่าตึก Empire State ตามเดิม แค่นี้เราก็คิดไม่ไหว เป็นไปได้อย่างไร ก็ต้องเชื่อเอาสินะ เรามีศรัทธาต่อนักวิทยาศาสตร์มานานแล้วนี่ ศรัทธาเก่ามันก็ช่วย เราก็เลยเชื่อกันไปก่อน แต่ก็ค้านในใจว่า เอ! มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า

เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์เวลานี้ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แสดงถึงความจริงรวบยอดที่ครอบคลุมธรรมชาติของโลกและชีวิตทั้งหมด แต่ยังคงอยู่ในขั้นที่วุ่นกับการหาคำตอบเกี่ยวกับหลักความจริงเฉพาะอย่างเฉพาะเรื่อง และแม้แต่ในขั้นนี้ก็ยังไม่อาจพิสูจน์สภาวะธรรมชาติหลายอย่างมากมายในระดับความจริงพื้นฐาน เช่น อนุภาคพื้นฐานเป็นอย่างไร มีจริงหรือไม่

ในขั้นสุดท้าย วิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็เลยขั้นพิสูจน์ด้วยอินทรีย์ ๕ ไปแล้ว การพิสูจน์กลายเป็นเรื่องของวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่อาศัยการแปลความหมายโดยนักฟิสิกส์อีกทีหนึ่ง ฉะนั้น ความจริงก็เลยคล้ายว่าเท่ากับสมการวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งก็คือไม่ใช่ตัวความจริง ไม่ถึงเนื้อถึงตัวของความจริงอย่างประจักษ์แจ้ง ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ ไปๆ มันก็เลยกลายเป็นเพียงความเชื่อ เป็นการเชื่อในคณิตศาสตร์และตีความโดยไม่รู้เห็นตรงถึงความจริงที่แท้ ซึ่งจะเป็นอย่างที่ Sir Arthur Eddington กล่าวไว้

[caption id="attachment_18726" align="aligncenter" width="400"]Albert Einstein and Sir Arthur Eddington are photographed in 1930 when Einstein visited the Cambridge Observatory in Cambridge, England. ไอน์สไตน์ กับ เอดดิงตัน เมื่อปี ๒๔๗๓ (1930) ที่เคมบริดจ์[/caption]

Sir Arthur Eddington นี่เป็นนักวิทยาศาสตร์อังกฤษ เป็นบุคคลแรกคนหนึ่งที่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นผู้ที่ได้เสนอข้อพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นคนแรกด้วย ทำให้ได้รับแต่งตั้งเป็นท่านเซอร์

Sir Arthur Eddington ในฐานะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ก้าวไกลอย่างนี้ ได้กล่าวไว้ว่า

“วิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงตัวความจริงหรือสัจจภาวะได้โดยตรง จะเข้าถึงได้ก็เพียงโลกแห่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงเงา (a shadow world of symbols)”4

เขาว่าอย่างนั้น shadow world of symbols ก็หมายความว่า โลกแห่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงเงา หรือโลกเงาๆ ที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ อันนี้เป็นคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเองแท้ๆ

เรื่องไม่ใช่แค่นั้น แม้แต่สิ่งที่ว่าพิสูจน์ได้ด้วยการสังเกตทดลองนี้ก็ไม่ถึงกับเด็ดขาด นักวิทยาศาสตร์บอกว่า วิธีการพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์นี้ ใช้วิธีวิทยาศาสตร์ หรือ scientific method ซึ่งมีการสังเกตและการทดลองเป็นองค์ประกอบสำคัญ เรียกว่าทดลองกันจนกระทั่งว่าต้องแน่ใจจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่เด็ดขาด บางทีก็พลาด เพราะข้อจำกัดของวิธีทดลองและเครื่องมือที่ใช้ในการสังเกตและทดลอง

ขอยกตัวอย่าง เช่น the law of gravitation คือกฎความโน้มถ่วงหรือดึงดูดของนิวตัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันถือเป็น law แล้ว เป็นกฎแล้ว แต่พอมาถึงไอน์สไตน์ๆ ก็บอกว่าผิด ใช้ไม่ได้ในระดับที่เรียกว่า subatomic คือในระดับซอยต่ำกว่าอะตอม หรือในระดับย่อยอะตอม หมายความว่า ในระดับย่อยอะตอมแล้วกฎแรงโน้มถ่วงใช้ไม่ได้ ไม่เป็นความจริง5 แต่ในยุคของนิวตันตอนนั้นเขาพิสูจน์ไม่ได้ เครื่องมือยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงระดับนี้ ฉะนั้น ก็ต้องรอต่อมาจนกระทั่งไอน์สไตน์ใช้ความคิด และใช้คณิตศาสตร์หาความจริงในเรื่องนี้ และพิสูจน์ทดลองกันไป เป็นอันว่า เราต้องระวังเหมือนกัน ว่าการสังเกตทดลองนี่ไม่ใช่จะไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างเด็ดขาดเสมอไป

ทีนี้ต่อไป บางทีผลการทดลองที่ลงตัวมาเรื่อยๆ นั้น ก็ยังอาจจะพลาดได้ มีข้อเตือนไว้ จะยกข้ออุปมาที่นักปรัชญาบางคนเอามาพูดล้อเป็นเชิงเปรียบเทียบในเรื่องนี้ เขาพูดทำนองว่า ไก่ตัวหนึ่ง เช้าขึ้นมาก็เห็นนาย ก. มา นาย ก. มาทีไร ก็เอาอาหารมาให้กินทุกที เห็นอย่างนี้มาทุกเช้าๆ ก็เป็นอันว่า พอไก่เห็นนาย ก. เป็นได้กิน ไก่เห็นนาย ก. เป็นได้กิน ไก่เห็นนาย ก. เป็นได้กินมาทุกวันๆ เป็นปีๆ แต่มาถึงเช้าวันหนึ่ง ไก่เห็นนาย ก. มา แต่ไม่ได้กิน เพราะนาย ก. ไม่ได้ถืออาหารมา และกลายเป็นว่านาย ก. ถือมีดมาแล้วก็เฉือนไก่ลงหม้อแกง เพราะฉะนั้น ที่ว่า “ไก่เห็นนาย ก. แล้วได้กิน” ก็กลายเป็นว่า “ไก่เห็นนาย ก. เลยลงหม้อแกง” ก็เป็นอันว่า การพิสูจน์ที่ลงตัว แม้จะทดลองได้ผลตรงมาตลอดเวลาก็อย่าเพิ่งไปไว้ใจเด็ดขาด ไม่แน่

ที่พูดมาตอนนี้ต้องการให้เห็นว่า ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็แยกตัวห่างสามัญชนออกไปทุกทีๆ ด้วยเรื่องของการพิสูจน์ทดลองอะไรนี่แหละ จนกระทั่งวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นเรื่องของพวก elite คนอะไรพวกหนึ่งกลุ่มหนึ่ง ไม่รู้ภาษาไทยเรียกว่าอะไร เป็นคนกลุ่มเล็กๆ พิเศษจำพวกหัวกะทิ แล้วก็เป็น specialized คือเป็นพวกที่ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ในขณะที่ศาสนาต้องอยู่กับประชาชนตลอดเวลา นี่เป็นลักษณะที่แตกต่างกัน

 

วิทยาศาสตร์เดียว ศาสนาเดียว
หรือศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว

วิทยาศาสตร์ช่วยประชาชนโดยตรงได้น้อยมาก หน้าที่ที่วิทยา­ศาสตร์จะต้องช่วยประชาชนที่แท้นั้นควรจะเป็นการช่วยเหลือทางปัญญา แต่บทบาทในการช่วยประชาชนโดยมากกลายเป็นบทบาทของเทคโนโลยี ซึ่งโดยมากไม่ได้ช่วยทางปัญญา เทคโนโลยีไปช่วยทางไหน โดยมากจะไปช่วยทางการบริโภค บางทีก็ไปเสริมโลภะ บางครั้งก็เร้าโทสะ ดีไม่ดีก็ไปเสริมโมหะ

ทำทีวีขึ้นมาให้ดู เสร็จแล้วไปดูทีวี พอชมรายการก็ไม่ได้เลือกดูรายการที่ให้สติปัญญา แต่กลับไปดูเรื่องที่ทำให้หลงเพลิดเพลินมัวเมาหนักเข้าไปอีก มีเทคโนโลยีประเภทสื่อสาร ใช้ดูใช้ฟัง แต่แทนที่จะได้ความรู้ กลับได้ความหลง เลยกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์นี่ไม่รับผิดชอบเท่าที่ควร ละเลยบทบาท ปล่อยให้เทคโนโลยีไปช่วย เทคโนโลยีก็ไปช่วยประชาชน แต่ช่วยไม่ดี บางทีก็กลายเป็นเสียไปเลย อย่างที่ว่า แทนที่จะเป็นเครื่องมือทำประโยชน์ กลับกลายไปเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ทิ้งประชาชนไว้กับศาสนา เพราะฉะนั้นจะไปว่าใคร เวลานี้ถ้าจะบอกว่าศาสนาทำไมไปทำให้ประชาชนหลงใหลงมงายไขว้เขวอะไรต่างๆ ก็ต้องถือว่าเป็นเพราะวิทยาศาสตร์ได้ทิ้งประชาชนไว้กับศาสนา

วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่คนน้อยคนจะเข้าถึงได้ ประชาชนได้แต่เชื่อวิทยาศาสตร์แต่ไม่รู้วิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องของความเชื่อไปแล้วโดยส่วนมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องของความรู้ ฉะนั้น อย่าไปนึกภูมิใจในเรื่องภูมิปัญญา ว่าไปแล้วมันก็จะเข้าแนวเดียว​กันกับศาสนา วิทยาศาสตร์สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไปก็อยู่ด้วยความเชื่อเหมือนกัน

แม้แต่คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว บางพวกก็เชื่อวิทยาศาสตร์ไปไกลจนกลายเป็น scientism คือลัทธินิยมวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจแปลให้แรงหน่อยว่าความคลั่งวิทยาศาสตร์ หรือความงมงายในวิทยาศาสตร์ เอ! วิทยาศาสตร์จะเป็นความงมงายได้อย่างไร วิทยาศาสตร์มันตรงข้ามกับความงมงาย มันเป็นเรื่องของความรู้ และการพิสูจน์ความจริงอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ แต่คนมางมงายในวิทยาศาสตร์ ทั้งที่วิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ให้ปัญญาแก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความรู้คิด รู้เหตุรู้ผลมากขึ้น แต่คนมาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ด้วยความเชื่อ จนกระทั่งบางทีกลายเป็นความเชื่อแบบงมงายคลั่งไคล้ จะเกณฑ์ให้อะไรๆ ต้องเป็นไปตามกฎของวิทยาศาสตร์ ในความหมายที่จำกัดแค่ที่ตัวรู้ตัวเชื่อตามกันไป ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์อาจจะกลายเป็นศาสนาหนึ่งไปก็ได้

ก่อนจะผ่านตอนนี้ไป ขอติงสักหน่อยสำหรับคำพูดที่ว่า “ศาสนามีหลายศาสนา แต่วิทยาศาสตร์มีวิทยาศาสตร์เดียว” คำพูดนี้ถ้าพูดด้วยอารมณ์ขำสำหรับยิ้มแย้มกัน โดยมีความรู้เท่าทันในธรรมชาติของโลกและชีวิต ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าพูดด้วยความรู้สึกที่มีทัศนคติแบบแยกส่วน แบ่งซอย มองศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นคนละเรื่องคนละพวก หรือมีทัศนคติแบบลำพองเย้ยหยัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรจะปรับทัศนคติ และความรู้ความเข้าใจกันใหม่

ประการที่หนึ่ง การที่มีหลายศาสนา แต่มีวิทยาศาสตร์เดียว ในเวลาหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของธรรมดาธรรมชาติ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดมีขึ้นตามเหตุปัจจัย เนื่องด้วยธรรมชาติของมนุษย์ตามระดับของพัฒนา­การทางจิตปัญญา ความรู้ความเข้าใจต่อธรรมชาติ ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นวิทยาศาสตร์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ก็หมายรวมถึงการรู้เข้าใจสภาพของธรรมชาติที่เป็นไปตามธรรมดานี้ด้วย ผู้ที่รู้วิทยาศาสตร์จริงย่อมจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี

ประการที่สอง การที่มนุษย์ยังมีศาสนาหลายศาสนาอยู่คู่เคียงกับวิทยาศาสตร์ได้นี้ เป็นเครื่องฟ้องหรือเป็นหลักฐานยืนยันอยู่ในตัวว่าวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถแสดงความจริงพื้นฐานหรือความจริงรวบยอดที่ครอบคลุมของธรรมชาติทั้งหมดได้ ยังไม่สามารถสนองความต้องการสูงสุดของมนุษย์ได้ คือ วิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ ศาสนาเหล่านั้นจึงมีโอกาสที่จะเสนอคำตอบชนิดที่อาจจะเป็นความจริงแบบพลางก่อนให้แก่มนุษย์ และมนุษย์จึงยังต้องพึ่งพาอาศัยศาสนาเหล่านั้น โดยที่ว่าวิทยาศาสตร์ไม่อาจสนองความต้องการเช่นนั้นแก่เขาได้

ประการที่สาม ถ้าเมื่อใดวิทยาศาสตร์เข้าถึงความจริงแท้ สามารถให้คำตอบรวบยอดที่ครอบคลุมสัจจภาวะของธรรมชาติทั้งหมดแก่มนุษย์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ ศาสนาต่างๆ หลากหลายก็ย่อมหมดความหมายหายไปเอง หรือหากจะมีศาสนาหนึ่งใดก็ตาม ที่แสดงความจริงแท้ นำมนุษย์ให้เข้าถึงสัจจธรรมได้จริง วิทยาศาสตร์กับศาสนานั้นก็ย่อมเป็นวิทยาหรือความรู้อันเดียวกัน และก็จะกลมกลืนเข้าด้วยกันกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อนั้นศาสนากับวิทยาศาสตร์ก็จะถึงจุดบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นการบรรจบประสานขั้นสุดท้าย ที่ว่าศาสนาก็คือวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็คือศาสนา ไม่มีการแบ่งแยกอีกต่อไป

เมื่อความมั่นใจในวิทยาศาสตร์สั่นคลอน
แม้แต่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนก็เฟื่องฟูได้

ขอสรุปในข้อสำคัญอีกทีหนึ่งว่า ปัญหาของมนุษย์ในชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่จริงนี้ ต้องการคำตอบที่สำเร็จรูปที่ใช้การได้ทันที หรือเป็นคำแนะนำที่พร้อมจะปฏิบัติได้ทันที สำหรับปัจจุบันขณะนี้ สำหรับชีวิตนี้ ที่แต่ละคนมีเวลาอยู่ในโลกจำกัด เขารอไม่ได้ สถานการณ์แต่ละอย่างไม่อาจผัดเพี้ยน จะได้คำตอบถูกหรือผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง

แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีความรู้และสามารถบอกวิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากมาย แต่ก็มีจุดอ่อน บกพร่องที่ไม่เพียงพอ และรอไม่ได้ นี่เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ คือ “ไม่เพียงพอ และรอไม่ได้” อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพูดกันต่อไป เป็นเรื่องมากมายทีเดียว

ที่ว่าไม่เพียงพอนั้น จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูว่าทำไมวิทยาศาสตร์จึงไม่เพียงพอ ความรู้วิทยาศาสตร์โดยตรง จะเรียกว่าปัญญาวิทยา­ศาสตร์หรืออะไรก็ตาม ไม่สามารถแก้ปัญหาแท้ๆ ของชีวิตในขั้นรากฐาน เช่น ทำคนให้เป็นคนดีไม่ได้ ทำคนให้มีความสุขไม่ได้ แก้นิสัยคนไม่ได้ คนมีความทุกข์ โทมนัส เศร้า โกรธ เป็นต้น แก้ไม่ได้ พลัดพรากจากคนรัก ไม่สบายใจ แก้ไม่ได้ หรือแม้แต่แก้ปัญหาสังคมก็ไม่ได้

ในเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์อาจจะเถียงว่า อ้าว! เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ช่วยได้มากมาย คนนอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตใจ เดี๋ยวนี้เราใช้ยาช่วยได้อย่างดี เอายากล่อมประสาทให้กิน หรือฉีดยา ก็นอนหลับ สบายใจ หายกลุ้มกังวล ช่วยได้มากมาย วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีในทางการแพทย์ช่วยคนไว้มากหลาย ข้อนี้เราต้องยอมรับความจริง คนเสียสติ คนจิตวิปลาส วิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยแก้ไขได้

วิทยาศาสตร์อาจจะมองว่า ต่อไปภายหน้า เราจะทำให้มนุษย์มีความสุขโดยใช้สารเคมี เพราะฉะนั้นจะผลิตยาพวกนี้มาเป็นแคปซูลๆ เวลาไม่สบายก็ไปซื้อยานี้มากิน มันจะไม่ใช่เป็นยาหรอก ต่อไปมันจะเป็นตัวสิ่งที่ให้ความสุขไปเลย จะเป็นวัตถุที่ให้ความสุข ไม่ใช่เป็นยา

ทีนี้วิทยาศาสตร์ก็คอยศึกษา เวลาคนมีความสุข มีความปลื้มใจ เป็นต้น สมองหลั่งสารอะไรออกมา อ้อ หลั่งสารอย่างนี้ออกมา จับได้แล้ว เราก็ไปผลิตสารนี้มา เสร็จแล้วคนมีอาการไม่สบายใจ กลุ้มใจ เครียด กังวลมา ก็ฉีดเข้าไป ให้กินเข้าไป ก็สบายใจไปทันที ดูๆ ไป วิทยาศาสตร์เหมือนเนรมิตได้ คงจะแก้ปัญหาของโลกได้หมด ก็ทำให้สบายใจนี่ ต่อไปมนุษย์ก็ไม่ต้องกลัว มีสารมีวัตถุเหล่านี้ขายเกลื่อนกล่นเหมือนกับอาหาร ใครไม่สบายใจ หรืออยากมีความสุข ก็ไปซื้อเอามา ก็สุขสบายไม่มีทุกข์

แต่ว่า มองไปอีกทีหนึ่ง แหม แค่สารพิษ สารเคมีในอาหาร อะไรต่างๆ ในปัจจุบันนี้ก็แย่พอแล้วนะ ยังจะไปเพิ่มอีก แต่อันนี้ก็ไม่สำคัญเท่าไร ที่สำคัญมากกว่านั้นก็มองที่ระบบคุณค่า ทางพระศาสนานี้ เราถือว่ามนุษย์จะต้องเดินก้าวหน้าไปสู่อิสรภาพ พัฒนาสู่ความเป็นอิสระมากขึ้น หมายความว่า มนุษย์จะต้องมีความสามารถในการที่จะมีความสุขได้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกน้อยลง พัฒนาชีวิตให้เป็นไท ไม่เป็นทาสที่ต้องขึ้นต่ออะไรๆ นอกตัวพะรุงพะรังไปหมด แต่วิธีการแบบนี้จะกลายเป็นว่า ทำให้มนุษย์ต้องฝากความสุข ฝากชะตากรรมไว้กับวัตถุภายนอกยิ่งขึ้น ยิ่งอยู่ด้วยตนเองไม่ได้มากยิ่งขึ้นๆ หมดอิสรภาพ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นวิถีทางไปสู่ความสูญเสียอิสรภาพของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ด้วยตนเองโดยลำพังตัวเองไม่ได้อีกต่อไป

อนึ่ง เมื่อว่าโดยสาระ ถ้าวิทยาศาสตร์เจริญไปในลักษณะเช่นนั้น คือทำให้คนต้องพึ่งอาศัยขึ้นต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น วิทยาศาสตร์ก็จะไม่ต่างอะไรกับศาสนาโบราณ ที่ให้มนุษย์ฝากชะตากรรมไว้กับการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า คือต่างก็มอบสุขทุกข์ของมนุษย์ไว้กับอำนาจดลบันดาลจากภายนอกเช่นเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งฝากไว้กับวัตถุ อีกฝ่ายหนึ่งฝากไว้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่สาระคือความสูญสิ้นอิสรภาพหรือหมดความเป็นไท เช่นเดียวกัน

ถ้าขืนเป็นอย่างนั้น และถ้าถึงขั้นนั้นแล้วเราก็เลิกเป็นมนุษย์ได้ คือ เราไม่ใช่มนุษย์ธรรมชาติแล้ว มันเป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ มนุษย์เทียม หรือจะกลายเป็นมนุษย์อะไรชนิดหนึ่ง ที่สภาพธรรมชาติอาจจะรองรับไม่ได้ก็ได้

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของความไม่เพียงพอ คือ วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ ถ้าพูดด้วยศัพท์ทางธรรม ก็สรุปได้สั้นๆ ว่า วิทยาศาสตร์ (พร้อมทั้งเทคโนโลยี) ไม่ช่วยให้คนมีพฤติกรรมที่ดีงาม หรือเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ (ศีล) ไม่ช่วยให้คนมีคุณธรรม หรือมีจิตใจเป็นสุข (สมาธิ) และมีตาข้างเดียว คือตาที่สำรวจเก็บข้อมูลความรู้ แต่ไม่มีตาที่จะนำหรือบอกทางว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง หรือควรจะดำเนินชีวิตให้ดีงามมีความสุขได้อย่างไร (ปัญญา)

ข้อติดขัดประการต่อไปก็คือ รอไม่ได้ เพราะว่าความรู้ของวิทยา­ศาสตร์ยังไม่ถูกต้องถ่องแท้สมบูรณ์ ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนเด็ดขาด และก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรวิทยาศาสตร์จะเข้าถึงความจริงที่แท้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นก้าวไปเรื่อยๆ สมัยหนึ่งเคยว่าอันนี้จริง ต่อมาก็พบว่าผิด แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าเราขืนรอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้บอกความจริงของธรรมชาติเสร็จสิ้น เราก็อยู่ไม่ไหว และทำอะไรไม่ได้ เราแต่ละคนก็คงตายไปก่อน ชีวิตนี้ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร แล้วมนุษย์ก็เป็นอันว่า ไม่มีทางบรรลุชีวิตที่ดีงาม

นักวิทยาศาสตร์หา general principle คือหลักการทั่วไปให้เราอยู่เรื่อย แต่กฎเกณฑ์ที่ค้นพบนั้น แม้จะเป็น general ที่ว่าทั่วไป แต่มันก็เป็นกฎปลีกย่อย เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ในภาพรวมของความจริงที่ครอบ​คลุมสำหรับชีวิต ซึ่งศาสนาให้คำตอบครอบคลุมไปทีเดียวเลย ทุกครั้งๆ ไป ให้คำตอบทีเดียวเสร็จ

เอาเป็นว่า ในระหว่างที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำตอบความจริงขั้นพื้นฐานได้ ตอนนี้เราก็อาศัยวิทยาศาสตร์ที่ผ่านทางเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องประเทืองชีวิต ประโลมใจไปพลางก่อน ตอนนี้ ตัวที่มาช่วยมนุษย์ก็คือเทคโนโลยี ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่เอามาใช้ประโยชน์ได้ อาศัยเกื้อกูลสำหรับดำเนินชีวิต แต่เทคโนโลยีนี้ไม่สามารถจะตอบคำถามพื้นฐานของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในด้านคำตอบความจริง (หรือไม่จริง) พื้นฐานของธรรมชาติ มนุษย์ก็อาศัยศาสนาไปก่อน และอาศัยวิทยา­ศาสตร์เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเสริมแต่งความสุขสบายด้านนอกของชีวิต นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทำไมมนุษย์จึงยังต้องอาศัยศาสนาอยู่ ทำไมศาสนาจึงยังอยู่ในโลกได้จนกระทั่งปัจจุบัน ก็เพราะว่า มนุษย์ยังต้องการคำตอบชนิดครอบคลุมรวบยอดทีเดียวจบ พอแก่การ และใช้ได้ทันทีนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง เพราะยังไม่อาจพิสูจน์ได้ และเพราะพิสูจน์ยังไม่ได้และวิทยาศาสตร์ก็ช่วยในขั้นนี้ไม่ได้นี้แหละ จึงทำให้ต้องอยู่ด้วยความเชื่ออย่างนั้น

ถ้ามองในแง่นี้จะเห็นว่า แม้ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์จะได้เจริญก้าวหน้ามาแล้วอย่างมากมายเหลือเกิน ก็ได้แต่ขยายมิติความรู้ด้านวัตถุอย่างเดียวออกไปอย่างกว้างขวางละเอียดพิสดาร แต่เมื่อพูดถึงการตอบปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ ที่จะให้มนุษย์จัดวางชีวิตของตนลงในโลกอย่างลงตัวได้ที่แล้ว ตลอดเวลาที่ยาวนานยิ่งนี้ วิทยาศาสตร์ยังเสมือนว่าย่ำอยู่กับที่ ยังไปไม่ถึงไหนเลย

ว่ากันไป ไม่เฉพาะในระดับตัววิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เท่านั้น ที่ว่าจะมีปัญหาเป็นเรื่องผิดพลาดต้องแก้ไขกันเป็นระยะๆ แม้แต่ในระดับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี ก็มีปัญหาอยู่บ่อยๆ ซึ่งบางทีไม่ใช่ถึงกับเป็นการผิดหรอก แต่มันเนื่องจากว่า ความรู้ไม่ทั่วถึง ไม่แทงตลอดในเรื่องนั้นๆ มองความจริงกันด้านเดียวแง่เดียวหรือสองด้านสามแง่ แต่ต่อมาพบความจริงในด้านอื่นแง่อื่นอีกที่ไม่ได้มองหรือมองไม่ถึง ก็เลยกลายเป็นว่า ที่ทำมานั้นเสียหายหรือเป็นภัยอันตราย ต้องรีบเลิกละเสีย

ยกตัวอย่างเช่น กรณียาคลอแรมเฟนนิคอล (chloramphenicol) สมัยหนึ่งนั้น นิยมกันนักหนาว่าเป็นยาครอบจักรวาล เป็นอะไรก็กินหาย คนดีใจกันใหญ่ ต่อไปนี้เราสบายแล้ว เป็นโรคอะไรก็ไปซื้อคลอแรมเฟน­นิคอลกิน ตามตลาดวางขายกันเกลื่อน ต่อมาหลายปี สัก ๑๐ ปีหรือประมาณนั้น ค้นพบว่า คลอแรมเฟนนิคอลนี่ พิษร้ายเหลือเกิน ก่ออันตรายโดยไม่รู้ตัว ปรากฏว่า หลายคนตายไปแล้ว มันไปทำให้เยื่อในกระดูกหรือไขกระดูกไม่ผลิตเลือด คนตายเพราะเหตุนี้ไม่น้อย เพราะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดหรืออะไรพวกนี้

ต่อมา กรณีดีดีที ตอนนั้นก็นึกว่า ได้ดีดีทีขึ้นมาสบายแล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องกลัวแมลงแล้ว มดหมด ยุงหมด แมลงร้ายจะหมด มนุษย์เราจะสบายไม่ถูกรบกวนจากแมลง ต่อมาอีกหลายปี ก็ค้นพบความจริงว่า ดีดีทีนี่มีพิษร้าย เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แม้แต่มะเร็งมันก็อาจจะทำให้เกิดได้ แล้วยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ในขณะที่มนุษย์แย่นี้ พวกแมลงต่างๆ มันสร้างภูมิต้านทานได้เก่งกว่า ต่อมาปรากฏว่า พิชิตแมลงไม่ได้แต่จะมาพิชิตมนุษย์อะไรทำนองนี้ หลายประเทศก็เลยบอกให้เลิกใช้ดีดีที แต่ประเทศไทยยังใช้กันอยู่บ้าง ก็แล้วแต่จะว่ากันไป

กรณียาทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ยิ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน และเตือนใจได้มาก เป็นยาแก้ปวดหัวกล่อมประสาทที่วงการแพทย์ชื่นชมกันนัก บอกว่าผ่านการพิสูจน์ทดลองกันมาอย่างละเอียดรอบคอบ มั่นใจนักหนาถึงกับประกาศว่าเป็นยาที่ปลอดภัยเป็นพิเศษ ถึงขนาดประเทศพัฒนาแล้วที่มีชื่อว่ากวดขันเรื่องยามาก ให้โอกาสประชาชนซื้อหามาใช้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แล้วก็ขายกันนานถึง ๕ ปี ถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้รู้ว่าเป็นตัวสาเหตุให้หญิงมีครรภ์คลอดลูกออกมาพิกลพิการมากมาย กว่าจะค้นพบและถอนยาออกจากตลาด เด็กเกิดมาขาด้วนแขนกุดไปแล้วราว ๘,๐๐๐ ราย

ขอยกอีกตัวอย่าง กรณีสาร CFC (Chlorofluorocarbon) ชื่อมันยาว เอาเฉพาะตัวย่อ เจ้านี้เอามาใช้ในหลายเรื่อง เช่น ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น หรือแอร์คอนดิชันเนอร์ แล้วก็ใช้ในพวกกระป๋องฉีดให้อากาศหอมอะไรทำนองนี้ สารพวกนี้ใช้กันมานานอย่างตายใจ กว่าจะรู้ตัว ปรากฏว่า มันขึ้นไปในบรรยากาศโน่น ไปทำให้เกิดช่องโหว่ในชั้นโอโซน หรือ ozone layer ขึ้นมา โหว่ไปเสียมากแล้ว ก็ตกใจ เอาอีกแล้ว ตอนนี้เกิดวิตกกันใหญ่ ประชุมกันในระดับโลกว่าจะแก้ไขอย่างไร ozone layer จะโหว่กันใหญ่แล้ว แย่แล้ว มนุษยชาติกำลังเผชิญภัยอันตราย อาจจะร้ายแรงแทบสูญสิ้น ก็เป็นอันว่าได้ความรู้ขึ้นมาใหม่ เอาอีกแล้ว สิ่งที่เชื่อมาว่าดีมีประโยชน์มากนิยมใช้กันนี่มีโทษอีกแล้ว ต้องทบทวนแก้ไขกันใหม่

แต่ก่อนนี้ระยะหนึ่ง แม่ชอบเลี้ยงลูกด้วยนมขวด นิยมกันไปทั่วหมดเลย ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายพากันใช้นมขวดเลี้ยงลูกแทนนมมารดากันมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้จึงหันเหทิศทางใหม่ กลับไปหาธรรมดาธรรมชาติเดิม องค์การโลกกำลังพยายามชี้แจงแนะนำประชาชนให้หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา เพราะนมขวดนี่มันมีข้อเสีย มีข้อบกพร่องหลายอย่าง และอันตรายด้วย เมื่อ ๒-๓ วันนี้ VOA ก็ออกข่าวปัญหาเรื่องแบคทีเรียมาอยู่ที่หัวจุก ที่เป็นยางหรือพลาสติกอะไรต่างๆ พวกนี้

นี่ก็เป็นบทเรียนต่างๆ ที่เตือนว่ามนุษย์จะต้องมีความรอบคอบและรู้รอบด้านยิ่งขึ้นในการปฏิบัติต่อวิทยาศาสตร์ ในที่นี้ยกมาเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่เพียงพอ รอไม่ได้ และยังต้องแก้ไขกันไปเรื่อยๆ ถ้ามีเวลาจะหวนกลับมาอีกทีหนึ่ง

มนุษย์จะประสบคุณค่าสูงสุดได้
ต้องให้วิทยาศาสตร์กับศาสนาบรรลุจุดบรรจบ

ก่อนจะผ่านตอนนี้ไป ขอตั้งข้อคิดข้อสังเกตแทรกเข้ามาอีกสักหน่อย การเกิดขึ้นและเจริญพัฒนาของวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ เรายอมรับโดยไม่เถียงว่าได้ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางสติปัญญาแก่มนุษย­ชาติ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่า การเกิดขึ้นและเจริญของวิทยาศาสตร์นั้น ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยในทางสติปัญญาแก่สังคมมนุษย์ด้วย เรื่องเป็นอย่างไร

ในยุคที่ผ่านมา เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นและเจริญก้าวหน้า สังคมมนุษย์ได้ชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์มาก มนุษย์พากันตื่นเต้นกับการค้นพบความจริงใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และหลงใหลคลั่งไคล้กับฤทธิ์เดชอันน่าอัศจรรย์ของเทคโนโลยี แล้วก็พากันฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าจะตอบคำถามและแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ความจริงทุกอย่างของธรรมชาติจะถูกเปิดเผย แล้ววิทยาศาสตร์ก็จะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์

มนุษย์ที่เชื่อมั่นและฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ได้หันกลับไปตั้งข้อสงสัยเอากับศาสนาและคำตอบเกี่ยวกับความจริงต่างๆ ที่ศาสนาแสดงไว้ บ้างก็หมดความเชื่อถือ ปฏิเสธ หรือทอดทิ้งศาสนาไปเลย

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ความจริงของธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ สนใจศึกษาค้นคว้านั้นเป็นเพียงบางด้านบางส่วน คือโลกธรรมชาติแห่งวัตถุภายนอกเท่านั้น วิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับโลกธรรมชาติแห่งชีวิตภายในของมนุษย์ ซึ่งเป็นแดนที่มนุษย์เคยได้คำตอบจากศาสนา

การที่มนุษย์สมัยใหม่ผละจากศาสนานั้น ถ้าหมายถึงเฉพาะศาสนาที่เกิดมีเป็นรูปแบบหรือสถาบันศาสนา ก็ไม่เสียหายมากนัก แต่การผละหรือทอดทิ้งศาสนาในที่นี้ หมายถึงการทอดทิ้งไม่ใส่ใจต่อการแก้ปัญหาภายในของมนุษย์เอง ในส่วนที่เคยเป็นแดนสนใจของศาสนา โดยหลงไปว่าวิทยาศาสตร์จะให้คำตอบทั้งหมด

เมื่อวิทยาศาสตร์ก็มองข้ามไป ไม่ได้ให้คำตอบด้านนี้ และมนุษย์เองก็ผละทิ้งไป ก็เกิดช่องโหว่อันใหญ่ คำตอบเท่าที่คิดค้นกันมาของศาสนาถูกละเลย และเกิดความสะดุดชะงักในกระแสการพัฒนาทางสติปัญญาของมนุษย์ในทางที่จะรู้เข้าใจและจัดการกับธรรมชาติของมนุษย์ในด้านนี้ และมิใช่แค่สะดุดชะงักเท่านั้น บางครั้งก็กลายเป็นการถอยหลังย้อนกลับไปไกลทีเดียว

ธรรมชาติของโลกและชีวิต พร้อมทั้งปัญหาของมนุษย์เอง ไม่อนุญาตให้มนุษย์ทอดทิ้งหรือละเลยความต้องการทางศาสนาไปได้ คำตอบสำหรับความจริงพื้นฐานที่รวบยอดครอบคลุมและใช้การทันทีก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์อยู่ตามเดิม

เมื่อวิทยาศาสตร์ไม่ให้และไม่สามารถให้คำตอบที่จะสนองความต้องการอย่างนี้ได้ และเมื่อมนุษย์คลายความตื่นเต้นต่อวิทยาศาสตร์ลง พร้อมกับที่วิทยาศาสตร์คลายเสน่ห์ มนุษย์ก็กลับรู้สึกตัวต่อความต้องการพื้นฐานของตน มนุษย์เหล่านี้ก็กลับหันมาแสวงหาคำตอบทางศาสนากันใหม่

แต่ในเมื่อกระแสการพัฒนาสติปัญญาด้านนี้ของมนุษย์ขาดตอนหรือเลือนรางไปแล้ว การแสวงหานั้นบางทีก็เป็นไปอย่างเปะปะ บางทีก็กลายเป็นการเริ่มต้นใหม่ ดังที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาในสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างสูงในทางวิทยาศาสตร์ เกิดสภาพหลงใหลงมงายท่าม​กลางความเจริญของวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าวิทยาศาสตร์จะปราศจากคุณค่าทางสติปัญญาแก่พัฒนาการทางด้านศาสนาเสียทีเดียว เป็นที่รู้กันว่าทางฝ่ายศาสนา โดยเฉพาะในรูปที่เป็นสถาบัน ได้เคยมีปัญหาเป็นอันมาก บางครั้งบางแห่งถึงกับมีบทบาทในการบีบคั้นปิดกั้นการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ ศาสนาบางแห่งก็ลงร่องยึดติดอยู่กับความเชื่อและข้อปฏิบัติที่ไร้เหตุผล บางศาสนาก็คลาดเคลื่อนเขวออกไปจากแนวทางและหลักการที่แท้ของตนเอง

ความเจริญของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทัศนคติและวิธีวิทยา­ศาสตร์ ได้ก่อผลกระทบต่อสถาบันศาสนาและกระแสความโน้มเอียงบางอย่างทางศาสนาในสังคม อย่างน้อยก็ทำให้เกิดเป็นโอกาส หรือเป็นตัวกระตุ้นให้วงการศาสนามีการทบทวนปรับตัวใหม่ หรือเปลี่ยนท่าทีใหม่และตรวจสอบคำตอบของศาสนาต่างๆ เท่าที่มีอยู่แล้ว ตลอดจนมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อีกเมื่อโอกาสมาถึง

เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ พอดีกับที่ในวงการของวิทยาศาสตร์เองบางส่วนได้ตื่นตัวใหม่ และเริ่มมีการปรับเปลี่ยนท่าที นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำไม่น้อยเห็นว่า การที่วิทยาศาสตร์จะให้คำตอบที่แสดงความจริงของธรรมชาติแก่มนุษย์ได้อย่างถึงขั้นพื้นฐานหรือครอบ​คลุมนั้น จำเป็นจะต้องขยายขอบเขตการศึกษาสืบค้นให้พ้นเลยขอบเขตโลกธรรมชาติแห่งวัตถุออกไป คือจะต้องสนใจธรรมชาติส่วนที่เคยเป็นแดนสนใจของศาสนามาแต่เดิมด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้ามองในแง่ของคนหมู่ใหญ่ โดยเฉพาะในสังคมของประเทศที่ตามรับความเจริญอันเนื่องมาจากวิทยาศาสตร์ เจตคติและวิธีการวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาระสำคัญของวิทยาศาสตร์ดูจะไม่ค่อยเจริญงอกงาม และไม่สู้มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจ ตลอดจนการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนทั้งหลาย

ตัววิทยาศาสตร์เอง ไม่ใช่เป็นจุดที่สนใจของคนทั่วไป แม้ว่าคนเหล่านั้นจะมองวิทยาศาสตร์ด้วยความชื่นชมเชื่อถือ เขาก็จะมีความเชื่อในลักษณะที่เหมือนกับเห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เดชมาก แล้วก็เชื่อแบบหลงใหล หรืองมงาย เหมือนกับหวังในอำนาจดลบันดาลของวิทยา­ศาสตร์ มิใช่เป็นความเชื่อเชิงเหตุผล หรือแม้แต่ทำให้มีความใฝ่รู้ในความจริง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงวิทยาศาสตร์ โดยมองข้ามวิทยาศาสตร์ไปหาเทคโนโลยี และมองในแง่ของการที่จะเสพเสวยหรือบริโภคเทคโนโลยี หรือหาผลประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ ความเจริญของวิทยาศาสตร์ จึงไม่ค่อยมีอิทธิพลหรือส่งผลอย่างมีคุณค่าทางด้านความรู้และความคิดหรือในทางภูมิปัญญาแก่ประชาชน พูดสั้นๆ ว่า สาระของวิทยาศาสตร์หาได้เจริญงอกงามขึ้นมาไม่

มองในแง่ดี เวลานี้คนทั่วไปที่ได้คลายความตื่นเต้นต่อวิทยาศาสตร์ ก็ได้หันมาเห็นตระหนักถึงความต้องการทางศาสนาของตน และพากันแสวงหาคำตอบทางด้านนี้กันอีก ศาสนาต่างๆ ที่มีมากหลาย ก็จะสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาในระดับต่างๆ กัน และพร้อมกันนั้น วงการวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยบางส่วนก็ได้รู้ตระหนักถึงขีดจำกัดแห่งการแสวงหาความจริงในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์แบบที่ถือกันมา และกำลังขยายขอบเขตการศึกษาค้นคว้าออกมาสู่แดนของศาสนาด้วย จึงอาจจะทำให้เกิดความหวังขึ้นได้ว่า วิทยาศาสตร์ที่พัฒนาสูงสุดจะมาบรรจบประสานกลมกลืนเข้ากับศาสนาที่พัฒนาสูงสุด และสามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงแท้ พร้อมทั้งสันติสุข และอิสรภาพที่ชีวิตและสังคมต้องการ

ถ้ามองไปอีกแง่หนึ่ง วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกับเป็นความพยายามที่จะพิสูจน์หาความจริงที่ศาสนาบอกไว้ล่วงหน้า คือ ในระหว่างที่มนุษย์ยังรอไม่ได้นี่ เราต้องการคำตอบชนิดหนึ่งที่ทันทีทันใดไว้ก่อน และคำตอบนั้นกลายเป็นศาสนา เราก็พูดว่า ศาสนาให้คำตอบอย่างนี้ ที่จริงก็คือ คำตอบของมนุษย์นี่แหละกลายเป็นศาสนา แต่เราพูดเป็นภาพพจน์ว่า ศาสนาให้คำตอบอย่างนี้ประเภทนี้ คำตอบนี้ให้ไว้ ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ไปก่อน แล้ววิทยาศาสตร์ก็ค่อยๆ พิสูจน์คำตอบนี้ต่อไป

เมื่อมองอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์เป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะพิสูจน์ความจริงที่ศาสนาบอกไว้ล่วงหน้า และถ้ามองอย่างนี้ก็เป็นการประสานกลมกลืนกันอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่า เมื่อเริ่มจากจุดกำเนิดร่วมกันแล้ว พอถึงปลายทางมันก็จะไปบรรจบรวมกันอีกเหมือนกัน

ทีนี้ วิธีการวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันมานั้น ต่อไปภายหน้าอาจจะปรากฏขีดจำกัดขึ้นมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือไม่อาจพิสูจน์ความจริงที่ศาสนาบอกได้ ดังที่ตอนนี้ก็ชักจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจำนวนไม่น้อยกำลังคิดอย่างนั้น เขาคิดว่าความจริงขั้นสุดท้ายที่ศาสนาบอกนั้น วิธีการวิทยาศาสตร์จะไม่อาจบอกได้เลย ไม่ว่าในยุคสมัยใดทั้งสิ้น เวลานี้นักฟิสิกส์ชั้นนำหลายคนคิดอย่างนี้ ถ้ามีเวลาเราจะกลับมาพูดเรื่องนี้กันอีก

เอาละ เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของบุคคลบางคนบางกลุ่มที่คิดหาความรู้ ซึ่งได้กลายไปเป็นเรื่องของวิชาการ แต่ศาสนาเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน ที่อยู่ในชีวิตจริง ทั้งที่เป็นส่วนตัวและที่อยู่รวมกันเป็นสังคม ที่จะต้องปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมของตน และหาจุดลงตัวในโลกหรือในธรรมชาติที่ตนอาศัยอยู่ วิทยาศาสตร์อาจจะทำให้ตัวของมันกลายเป็นเรื่องของทุกคนไปก็ได้ แต่พอวิทยาศาสตร์ไปถึงขั้นนั้น วิทยาศาสตร์จะกลายเป็นศาสนาไปทันที นี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ให้พิจารณาในขั้นนี้

ตอนนี้ได้พูดเรื่องวิทยาศาสตร์มาจนถึงศาสนาแล้ว เราก็ได้เห็นจุดกำเนิดและวิวัฒนาการสืบต่อมาทั้งของวิทยาศาสตร์และศาสนา ตอนนี้เราจะเข้ามาถึงเรื่องพุทธศาสนาบ้างละ นี่เพิ่งจะมาเข้าถึงเรื่อง ที่ผ่านมานั้นเป็นอารัมภบท

วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา
จุดแยกหรือจุดบรรจบ

เป็นศาสนาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

เมื่อพูดถึงพุทธศาสนา ก็ต้องพูดถึงจุดเริ่มของพุทธศาสนาก่อน เมื่อกี้บอกว่า จุดเริ่มของศาสนาคือความกลัวภัย ทีนี้จุดเริ่มของพุทธศาสนาคืออะไร จุดเริ่มของพุทธศาสนาก็คือ ความกลัวทุกข์ เปลี่ยนจากภัยมาเป็นทุกข์ ไม่เหมือนกันนะ ต้องระวัง

ในตอนของศาสนาทั้งหลายนั้นเป็นภัย แต่มาในตอนของพุทธ­ศาสนานี่เป็นทุกข์ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่า กล่าวคือ จุดเน้นของความกลัวภัยนั้นไปอยู่ที่เหตุปัจจัยภายนอก เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟ⁠ป่า พายุพัด อะไรต่างๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ แต่พอมาถึงเรื่องทุกข์นี่มันครอบคลุมปัญหาทั้งหมดตลอดถึงในตัวมนุษย์เอง

ทุกข์คืออะไร คือสภาพบีบคั้น ติดขัด คับข้อง ก็ได้แก่ปัญหาของมนุษย์นั่นเอง ในแง่หนึ่ง พูดง่ายๆ ทุกข์ก็คือ ปัญหา เพราะปัญหาก็คือ สิ่งบีบคั้น ติดขัด คับข้อง ของมนุษย์

ศาสนาต่างๆ นั้น มองหาแหล่งเกิดภัย หมายความว่า เมื่อต้องการพ้นภัยก็มองหาแหล่งเกิดภัย ในระยะแรก ศาสนาเหล่านั้นมองไปที่อะไร (ที่จริงไม่ใช่ศาสนามองหรอก ก็คือมนุษย์นั่นเองแหละที่มอง แต่พูดให้เป็นภาพ) ก็นึกถึงคนนี่แหละ เพราะว่าเท่าที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ สิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างไรก็ต้องมีผู้ทำ ในเมื่อสิ่งทั้งหลายในโลกมนุษย์นี่ มนุษย์ทำ แต่สิ่งใหญ่ๆ ในธรรมชาติเหล่านี้ มนุษย์ทำไม่ได้ แต่ก็ต้องมีผู้ทำ ก็นึกหาผู้ทำ นึกหากันไปก็ได้ผู้ทำที่เรียกว่าเทพเจ้าหรือเทวดา ก็เลยมองไปที่เทวดา ว่าเป็นที่มาของภัยเหล่านั้น หรืออาจจะเรียกว่า อำนาจลึกลับภายนอกที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ เป็นผู้บันดาลพาเมฆมา พาพายุมา พาน้ำมา พาไฟมาอะไรต่างๆ เหล่านี้ พอถึงขั้นนี้ก็เกิดมีศาสนาที่มีเทวดาหลายองค์บ้าง องค์เดียวบ้าง จนกระทั่งแม้แต่เป็นภาวะหนึ่งเดียวที่เลยจากขั้นเทวดาไปแล้ว

เมื่อมนุษย์มองตามระบบการลงโทษและให้รางวัล ก็เห็นว่าต้นตอภัยอยู่ที่ไหน จุดระงับภัยก็ต้องอยู่ที่นั่น ตอนแรกก็มองแบบมนุษย์นี่แหละ คือคนเราก็มองคนด้วยกัน ก็เห็นกันอยู่ว่าผู้ใหญ่มีอำนาจมากกว่า เมื่อคนเล็กมาทำไม่ชอบใจเขาก็ทำร้ายเอา ลงโทษเอา แต่ถ้าคนเล็กทำดีคนใหญ่ชอบใจก็ให้รางวัล เมื่อมองไปที่สิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติก็คิดแบบเดียวกัน ก็เอาภาพของมนุษย์ไปใส่ให้เทวดา เพราะฉะนั้น จึงมีนักจิต­วิทยาสมัยหลังบอกว่า มนุษย์สร้างเทวดาตามฉายาของมนุษย์ ซึ่งไปขัดกับคำสอนของศาสนาคริสต์ ที่ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ตามฉายาของพระเจ้า คือ ท่านบอกว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาตามรูปเสมือนของพระองค์ แต่นักจิตวิทยาสมัยหลังนี่ เมื่อพูดถึงเรื่องกำเนิดของศาสนา บางท่านบอกว่า มนุษย์สร้างเทวดาตามรูปเหมือนของมนุษย์ ก็แล้วแต่ว่าจะคิดหาเหตุผลมาแสดงกันไป

เป็นอันว่า มนุษย์ก็คิดว่า เทวดาเหล่านี้แหละ เป็นต้นตอของเภทภัยอันตรายทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เราต้องเอาใจคนที่มีอำนาจฉันใด เราก็ต้องเอาใจเทวดาฉันนั้น ก็เลยเกิดมีวิธีการขึ้นมาในการที่จะช่วยตัวเองให้พ้นภัย โดยการไปแสดงความเคารพ อ่อนน้อม กราบไหว้ อ้อนวอน ขอผล เป็นอันว่า

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดผลในศาสนาโบราณเหล่านั้น ก็คือ การดลบันดาลของเทพเจ้า ซึ่งไม่ใช่วิสัยของมนุษย์

ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลเหล่านั้น ก็คือ ศรัทธา หรือความเชื่อ

เมื่อเชื่อในพระองค์ เคารพในพระองค์แล้ว ก็แสดงออกเป็นวิธีการ วิธีการก็คือ การบวงสรวงอ้อนวอน

เป็นอันว่าได้ครบแล้ว คือ ตัวกำหนดผล ได้แก่ การบันดาลของเทพเจ้า ตัวสัมพันธ์ ได้แก่ ศรัทธา วิธีการปฏิบัติ ได้แก่ การบวงสรวงอ้อนวอน อันนี้เป็นระบบความเชื่อในศาสนาต่างๆ เท่าที่เป็นมา

ทีนี้ พอพุทธศาสนาเกิดขึ้น เราก็เอาหลักการเหล่านี้มาปรับดูว่า จะเป็นอย่างไร พุทธศาสนานั้น อย่างที่พูดไปแล้วว่า ต้องการพ้นทุกข์ ไม่ต้องการมีความทุกข์ ถึงตอนนี้ก็จะมีความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น จุดกำเนิดของพุทธศาสนาก็คือ ความใฝ่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ หรือความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์

เป็นอันว่า ความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์เป็นจุดกำเนิดของพุทธ­ศาสนา ต่อจากนั้นในกระบวนการแก้ไขจะทำอย่างไร เมื่อเราต้องการพ้นจากทุกข์ก็จะต้องมีวิธีการแก้ทุกข์ จะรู้วิธีนั้นได้ก็ต้องดูต้นกำเนิดของทุกข์ ต้นกำเนิดของทุกข์อยู่ที่ไหน ศาสนาเก่าบอกว่าภัยนั้นต้นกำเนิดมาจากเทวดา แต่พุทธศาสนาบอกว่า การเกิดขึ้นของทุกข์เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย เป็นกฎธรรมชาติ ซึ่งจะต้องรู้เข้าใจ

ทุกข์นี้มีต้นเหตุซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ คือ หลักของความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความไม่รู้เข้าใจในความจริงนั้นแหละ หรือตัวความไม่รู้ไม่เข้าใจในกระบวนการธรรมชาติหรือกระบวนความเป็นไปตามเหตุผลนั้นแหละเป็นต้นตอให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงสืบสาวหาต้นกำเนิดของความทุกข์โดยมองไปที่ตัวความไม่รู้ไม่เข้าใจเหตุปัจจัย หรือตัวความไม่รู้เข้าใจธรรมชาติและกฎธรรมชาติ ได้แก่ อวิชชา

เป็นอันว่า ตอนนี้ เรามาถึงจุดกำเนิดของพุทธศาสนาแล้ว เมื่อกี้นี้ว่า จุดกำเนิดของศาสนาต่างๆ ได้แก่ ภัย และต้นกำเนิดของภัย ได้แก่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลภายนอก แต่จุดกำเนิดของพุทธศาสนาบอกว่าได้แก่ ทุกข์ และต้นกำเนิดของทุกข์คือ ความไม่รู้เข้าใจเหตุปัจจัยของทุกข์นั้น หรือความไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติ กล่าวคือ กระบวนการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นเอง

ต่อไปก็มาถึงตัวการที่จะแก้ปัญหา ตัวการที่จะแก้ปัญหาคืออะไร ในเมื่อความไม่รู้ไม่เข้าใจกฎธรรมชาติหรือเหตุปัจจัยนี้เป็นต้นกำเนิด ตัวการที่จะแก้ปัญหาก็ตรงข้าม กล่าวคือ ความรู้เข้าใจเหตุปัจจัยนั้น ความรู้เข้าใจกฎธรรมชาติคือ ตัวปัญญา

จากจุดเดิม ศาสนาต่างๆ บอกว่า ศรัทธา คือ ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับต้นกำเนิดของภัย พุทธศาสนาก็เปลี่ยนเป็นว่า ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปหาต้นกำเนิดของทุกข์นั้นคือ ปัญญา หมายความว่า ย้ายจากศรัทธามาหาปัญญา นี่คือจุดเปลี่ยนของพุทธ­ศาสนา มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งหลายนั้น แล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย

ประการสุดท้าย การแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มนุษย์จะต้องทำ และเป็นวิสัยที่มนุษย์จะกระทำได้ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาก็จะเปลี่ยนจากอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้ามาเป็นการกระทำของมนุษย์

สรุปว่า จุดทั้ง ๓ นี้เป็นหลักการสำคัญ

  1. ในศาสนาทั่วไปต้นกำเนิดของภัย ได้แก่ เทวดา แต่ในพุทธ­ศาสนา ต้นกำเนิดของทุกข์ ได้แก่ ความไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติ
  2. ตัวโยงไปสู่ต้นกำเนิดนั้น ในศาสนาต่างๆ ได้แก่ศรัทธา แต่ในพุทธศาสนา เปลี่ยนมาเป็นปัญญาที่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติ
  3. ตัวกำหนดผล ในศาสนาทั่วไป ได้แก่อำนาจดลบันดาล แต่ในพุทธศาสนาเปลี่ยนมาเป็นการกระทำของมนุษย์

อันนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เป็นการปฏิวัติเลยทีเดียว เป็นอันว่า จุดเน้นหรือประเด็นหลักในพุทธศาสนา ได้ย้ายไปแล้วจากศรัทธามาสู่ปัญญา ปัญญาที่ว่านี้ ก็เริ่มด้วยความใฝ่รู้ หรือใฝ่ในความรู้เหมือนกัน เพราะการที่จะมีปัญญาได้ เราก็ต้องมีความใฝ่รู้ แต่ความใฝ่รู้นั้นจะมีลักษณะต่างกันซึ่งจะได้วิเคราะห์กันต่อไป

จุดเน้นใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนจากการบันดาลของอำนาจเหนือธรรมชาติ มาสู่การกระทำความเพียรพยายามของตัวมนุษย์เอง และในเรื่องนี้พุทธศาสนามีหลักการสำคัญที่ชัดเจนแน่นแฟ้น กล่าวคือ ไม่ว่าพุทธศาสนาจะเผยแพร่ออกไปสู่ชาวโลกกว้างขวางก้าวไกลเพียงใด หรือจะมีความเชื่อถือและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแปลกออกไปอย่างไรก็ตาม สาระก็ยังคงอยู่ที่จุดสำคัญ ประเด็นสำคัญคือ การกระทำของมนุษย์ หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอันนี้ ถ้าเปลี่ยนไปถือว่าผิดเลย คือ จุดประเด็นหลักอันได้แก่ การกระทำของมนุษย์

หลักการแห่งการกระทำของมนุษย์ก็สืบมาในรูปที่เรียกว่า หลักกรรม นั่นเอง คนอาจจะเข้าใจตัวกรรมไขว้เขวไปบ้าง ความเข้าใจผิดอาจแทรกปนเข้ามาในหมู่ชาวพุทธบ้าง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กรรมก็ยังคือการกระทำของมนุษย์อยู่นั่นแหละ ไม่ใช่เป็นการบันดาลของเทพเจ้า

การที่พุทธศาสนาถือหลักกฎธรรมชาติ ประกาศอิสรภาพของมนุษย์ และเอาปัญญามาแทนศรัทธา อันนี้เป็นสิ่งที่แปลกในวงการศาสนา จนกระทั่งฝรั่งบางทีไม่ยอมเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนา เราจะเห็นหนังสือฝรั่ง บางทีบอกว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ religion คือ ไม่ใช่ศาสนาในความหมายของเขา เพราะมันไม่มีลักษณะเหมือนกับศาสนาทั้งหลายที่เขาเคยรู้จักมา

เป็นอันว่า หลักการที่เป็นจุดสำคัญก็มี

  1. ถือหลักกฎธรรมชาติ
  2. ประกาศอิสรภาพของมนุษย์
  3. เอาปัญญามาแทนศรัทธา

 

ศาสนาแห่งธรรมชาติ และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา

ทีนี้เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ อาตมาจะขอเอาเวลาช่วงนี้มาใช้กับการพูดถึงหลักการพื้นฐานบางอย่างที่พึงสังเกตของพุทธ­ศาสนา ตอนแรกนี้ พูดถึงตัวหลักการที่เป็นพุทธพจน์ คือคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าเสียก่อน แล้วค่อยมาวิเคราะห์กันอีกทีหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นก็จึงจะเอามาโยงกับวิทยาศาสตร์ในตอนหลัง

หลักการพื้นฐานบางอย่างของพุทธศาสนาที่ควรทราบในตอนนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พูดมาเมื่อกี้ ขอนำมาแสดงดังต่อไปนี้

ข้อที่ ๑ หลักกฎธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมดา ได้แก่ถือว่าความจริงนั้นเป็นกฎธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เราถือว่า พระพุทธเจ้า เป็นผู้ค้นพบความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ ดังมีหลักคำสอนที่พระสวดบ่อยๆ ในงานอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับ คือ ธรรมนิยามสูตร6 โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าพระท่านสวดอะไรกัน แต่ท่านบอกให้ฟังว่า กฎความจริงของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนั้นเองเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม มันก็เป็นของมันอย่างนั้น พระก็ประกาศหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา ญาติโยมก็ฟังตลอดเวลา แต่ก็ไม่รู้ตลอดเวลาเหมือนกัน

หลักธรรมนิยาม หรือกฎธรรมชาติที่ว่านี้เป็นอย่างไร พระสวดว่า “อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ” แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นหลักยืนตัวอยู่ตามธรรมดา เป็นกฎธรรมชาติว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนแต่ “ไม่คงที่” “ไม่คงตัว” และ “ไม่เป็นตัว”

ไม่คงที่ คือ มันเกิดดับๆ เกิดขึ้นแล้วสลายไปๆ ตลอดเวลา

ไม่คงตัว คือ มันถูกปัจจัยที่ขัดแย้งบีบคั้นให้คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้

ไม่เป็นตัว คือ มันไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย มันจะปรากฏรูปร่างอย่างไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัย นี่ก็คือหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง เป็นความจริงพื้นฐานในที่สุด

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนี้แล้ว จึงนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้ง่าย ให้ชัดเจนขึ้น ว่าดังนี้ๆ

ข้อที่หนึ่งนี้เป็นหลักสำคัญมาก เป็นหลักพื้นฐานของพุทธศาสนา คือการที่ถือว่า กฎธรรมชาตินี้ เป็นความจริงพื้นฐาน

เราควรจะรีบผ่านหลักเหล่านี้ไป เพราะมีเวลาน้อย

ข้อที่ ๒ หลักเหตุปัจจัย นอกจากว่าสิ่งทั้งหลาย ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัวแล้ว ก็บอกหลักความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นเหตุปัจจัยแบบอิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย ที่เราเรียกว่า “กฎปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมีสาระสำคัญโดยย่อว่า7

“อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ; อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ.

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ; อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ.”

แปลว่า “เมื่ออันนี้มี อันนี้จึงมี; เมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี.

เพราะอันนี้เกิด อันนี้จึงเกิด; เพราะอันนี้ดับ อันนี้ก็ดับ”

นี้คือหลักความจริงพื้นฐาน ซึ่งเป็นกฎทั่วไป จากนั้นก็ขยายความออกไป เป็นการประยุกต์ใช้กฎทั่วไปนั้นในเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี พูดง่ายๆ นี้ก็คือ หลักกฎธรรมชาติ คือความเป็นเหตุเป็นผลขั้นพื้นฐาน

เป็นที่น่าสังเกตว่า พุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย เรานิยมพูดว่า หลักเหตุปัจจัย ไม่พูดว่า หลักเหตุผล เพราะคำว่าเหตุผลนั้นหมายถึงเหตุกับผล ซึ่งชี้จำกัดเฉพาะปัจจัยตัวตรงอย่างเดียว ในพุทธศาสนาท่านถือว่า สิ่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้นไม่ใช่เหตุอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยต่างๆ ด้วย ปัจจัยพรั่งพร้อมแล้วจึงเกิดผล อันนี้ก็เป็นหลักการที่สำคัญ

ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เช่น เราปลูกมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมา ต้นมะม่วงนั้นก็เป็นผล แล้วอะไรเป็นเหตุของต้นมะม่วง ก็ตอบว่าเม็ดมะม่วง เม็ดมะม่วงก็คือ พืชของมัน เม็ดมะม่วงเป็นเหตุของต้นมะม่วง แต่ถ้ามีเหตุอย่างเดียว ผลไม่เกิด มีแต่เม็ดมะม่วง ต้นมะม่วงเกิดไม่ได้ มันต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาศัยดิน อาศัยน้ำ อาศัยออกซิเจน อาศัยอุณหภูมิที่พอเหมาะ อาศัยปุ๋ย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้พรั่งพร้อมแล้วต้นมะม่วงจึงปรากฏขึ้นมา นี้คือหลักเหตุปัจจัยในพุทธศาสนา ปัจจัยพรั่งพร้อมถึงที่ผลก็ปรากฏ หลักความจริงนี้จะช่วยอธิบายข้อสงสัยอย่างที่บางคนพูดว่า ฉันทำเหตุ แล้วทำไมฉันไม่ได้ผล ก็ต้องย้อนถามว่า อ้าว . . ดูปัจจัยหรือเปล่า

อนึ่ง ขอให้สังเกตด้วยว่า ความเป็นเหตุปัจจัยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับกาลเวลา เรามักจะมองว่า อันนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วต่อไปอันนั้นจึงเกิด ไม่จำเป็นต้องอย่างนั้น สมมติว่า มีกระดานดำ หรือกระดานป้ายอยู่ข้างหลังอาตมา แล้วเราใช้ชอล์กเขียนบนกระดานนั้น เขียนเป็นตัวหนังสือ ก.ไก่ ข.ไข่ ขึ้นมา ก.ไก่ ข.ไข่ ที่ปรากฏขึ้นมาก็เป็นผล

ในการที่ตัว “ก.ไก่” “ข.ไข่” ปรากฏขึ้นมาบนกระดานให้เราอ่านได้นี่ อะไรเป็นเหตุ ถ้าในแง่ภาษาเราบอกว่า คน ถ้าในแง่รูปภาพ ที่เป็นตัวขาวๆ เราตอบว่า ชอล์ก ใช่ไหม แต่ไม่ว่าจะเอาเหตุไหนก็ตาม ถ้ามีแค่เหตุนั้นอย่างเดียว ผลไม่ปรากฏ คือมันไม่พอที่จะให้ตัว “ก” ปรากฏขึ้นมา การที่ตัวอักษร “ก” จะปรากฏขึ้นมา ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ พรั่งพร้อม ต้องมีทั้งคนเขียน ต้องมีชอล์ก ต้องมีกระดานที่รองรับ มีกระดานก็ยังไม่พอ ต้องมีสีที่ต่างกันให้ตัดกันได้ ต้องมีอุณหภูมิ ต้องมีความชื้นพอดี ต้องไม่มีน้ำเหลวอยู่บนนั้น ที่จะทำให้ชอล์กละลายไปหมด หรือเขียนไม่ได้ ต้องมีอะไรต่ออะไรพอดี เหล่านี้คือปัจจัยต่างๆ ที่พรั่งพร้อมซึ่งทำให้ผลเกิดขึ้น

ทีนี้ ก็มาถึงข้อสังเกตที่ว่าข้างต้น คือ ในการที่ตัว “ก” ปรากฏนี่ ปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมาก่อนใช่ไหม ในบรรดาปัจจัยที่ทำให้ตัว “ก” ปรากฏนี้ จะเห็นชัดว่าปัจจัยบางอย่างก็มีอยู่พร้อมกัน เป็นปัจจัยที่อิงอาศัยกันในลักษณะต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามลำดับกาล นี้คือหลักเหตุปัจจัยในพุทธศาสนา เป็นการยกตัวอย่างเอามา โดยมุ่งให้มองในแง่ของประเด็นสำคัญคือ ต้องการให้เห็นว่า เป็นหลักเหตุปัจจัย

ข้อที่ ๓ หลักศรัทธา เมื่อกี้ได้บอกว่า พุทธศาสนาย้ายจากศรัทธามาสู่ปัญญาแล้ว ยังจะมาพูดเรื่องศรัทธาอะไรกันอีก ขอทำความเข้าใจว่า ศรัทธาก็ยังมีบทบาทอยู่ แต่มันเปลี่ยนบทบาทใหม่

ตอนแรกนี้ขอให้ดูก่อนว่าในพุทธศาสนา หลักศรัทธาโยงไปหาการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตรง คำสอนด้านนี้ที่อ้างกันมาก ก็คือ กาลาม­สูตร ซึ่งแสดงพุทธโอวาทว่า8

    “นี่แน่ะ กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ฟังตามกันมา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้เรียนตามกันมา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะเสียงเล่าลือ
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะอ้างตำรา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะตรรก
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะอนุมานเอา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อ
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะเห็นว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูอาจารย์ของเรา”

การที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ทำให้ฝรั่งทึ่งมาก ตอนที่ฝรั่งได้ยินเรื่องพุทธศาสนานี่ โจษจันกันเรื่อง กาลามสูตร เป็นคำสอนที่เด่นมาก เพราะว่าตอนนั้นวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่อง คนก็เลยชอบแนวความคิดแบบที่ว่าจะต้องไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จะต้องเชื่อความจริงที่พิสูจน์ได้ พอมาเจอพระสูตรนี้เข้าฝรั่งเลยประทับใจแล้วก็รู้จักกาลามสูตรมากหน่อย ปรากฏว่า ในตอนที่ฝรั่งรู้จักกาลามสูตรในนามของพุทธศาสนานั้น คนไทยไม่รู้จัก ถามคนไทยแทบไม่มีรู้จักเลย ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซนต์แน่นอน แม้แต่ ๐.๐๐๑% ก็ไม่รู้จักกาลามสูตร แต่ฝรั่งที่รู้จักพุทธศาสนา รู้จักกาลามสูตร คนไทยเป็นชาวพุทธไม่รู้จักกาลามสูตร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชอบกลในวงการพุทธศาสนา

ในกาลามสูตรนั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปอีกว่า จะต้องรู้เข้าใจด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดทุกข์ พึงละเสีย ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุข ก็ให้ถือปฏิบัติ นี่ก็คือ เป็นเรื่องที่ต้องรู้ชัด ประจักษ์แก่ตนเอง เป็นประสบการณ์ตรง นี่คือการย้ายจากศรัทธา ไปสู่ปัญญา

นอกจากนั้นยังมีหลักที่บอกชัดๆ ถึงการตรวจสอบด้วยประสบ­การณ์ตรง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ไม่ต้องอาศัยการถูกกับใจชอบ ไม่ต้องอาศัยการเรียนตามกันมา ไม่ต้องอาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่ต้องอาศัยความเข้าได้กับทฤษฎีของตน ก็รู้ชัดได้ในใจของตนเองว่า เรามีโลภะ หรือไม่มีโลภะ เรามีโทสะ หรือไม่มีโทสะ เรามีโมหะ หรือไม่มีโมหะ9 ในใจของเราขณะนี้ นี่เป็นประสบการณ์ตรงแท้ๆ สภาพในใจของเรา เราก็รู้ได้เอง และก็รู้ชัดในขณะนั้น นี่เป็นหลักที่เรียกว่า การตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรง

 

ศาสนาแห่งการเพียรแก้ปัญหา
ด้วยการพัฒนาปัญญาของมนุษย์

ข้อที่ ๔ หลักการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางความเชื่อตามหลักศาสนาพราหมณ์ ที่ถือว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก เทพเจ้าเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง มนุษย์จะต้องบวงสรวงอ้อนวอนด้วยพิธีกรรม ซึ่งคิดจัดสรรกันหลากหลาย ให้เทพเจ้าถูกอกถูกใจ มีความใหญ่โตพิสดาร จนกระทั่งถึงกับมีวิธีบูชายัญแบบต่างๆ มากมาย เพื่อเอาใจเทพเจ้าให้โปรดปรานแล้วจะได้บันดาลผลที่ต้องการให้แก่ตน

คัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ กำหนดว่า คนเกิดมาแยกเป็นวรรณะสี่ เพราะว่าพระพรหมท่านสร้างมาอย่างนั้น เกิดมาในชั้นวรรณะไหน ก็ต้องเป็นอย่างนั้นตลอดชาติ แก้ไขไม่ได้ ทุกอย่างถูกครอบงำกำหนดด้วยการดลบันดาลของเทพเจ้า

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น สิ่งแรกที่ถือว่าเกิดขึ้นพร้อมกับการอุบัติของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ การประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ถ้าใครสังเกตจะนึกได้ว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ มีเหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ว่า ได้เสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่แห่งโลก”10

พระดำรัสนี้ ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะเข้าใจผิด ว่าทำไมเจ้าชายสิทธัตถะมาอวดตัวว่ายิ่งใหญ่ แต่พึงทราบว่านี่คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ เพราะหลักการต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงต่อมา จะบอกเราว่า มนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้สูงสุด เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองแล้วก็เป็นผู้ประเสริฐสุด ดังมีพระองค์เป็นตัวอย่างในฐานะที่เป็นตัวแทนของมนุษย์คือการที่ทรงเป็น “พุทธะ” ซึ่งทุกคนก็เป็น “พุทธะ” ได้ทั้งนั้น เมื่อมนุษย์มีศักยภาพอย่างนี้ จะได้ไม่มัวไปอ้อนวอนหวังพึ่งเทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลจากภายนอก จะได้หันมาเอาใจใส่พัฒนาตัวเอง และทำการต่างๆ ด้วยความเพียรพยายามของตน เมื่อเป็น “พุทธะ” แล้ว แม้แต่เทพเจ้า แม้แต่พระพรหมก็น้อมนมัสการ

คำสอนแบบนี้ในพุทธศาสนามีมากมาย ถ้าอ่านพระไตรปิฎก และรู้จักสังเกตจะเห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นทำนองนี้ อย่างที่อ้าง​บ่อยๆ ว่า

“มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ

… … ... เทวาปิ นมสฺสนฺติ”11

ซึ่งบอกว่า “พระพุทธเจ้า แม้จะเป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้ที่ได้ฝึกฝนพัฒนาตนแล้ว . . . แม้เทพทั้งหลาย (ไม่ว่าชั้นเทพหรือชั้นพรหม) ก็น้อมนมัสการ”

หลักการข้อนี้เป็นการเปลี่ยนท่าทีของมนุษย์เสียใหม่ ท่าทีของจิต​ใจที่มองไปข้างนอกในแบบที่คอยหวังพึ่งเทพเจ้า คอยรอการดลบันดาลของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ถูกกระตุกกลับอย่างแรง แล้วคนก็ถูกปลุกเร้าให้หันมามองดูที่ตัวเองว่า ภายในตัวของเขาเองนี้มีธรรมชาติแห่งความเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ถ้าเธอฝึกฝนพัฒนาตน เธอจะเป็นผู้ประเสริฐ โดยไม่ต้องไปฝากชะตาชีวิตไว้กับเทพเจ้าเหล่านั้น แม้แต่เทพเหล่านั้นก็ต้องยอมรับในคุณค่าความประเสริฐของเธอ แล้วเขาก็จะมาน้อมนมัสการเอง

หลักนี้ก็คือ การมีความเชื่อหรือศรัทธาพื้นฐานว่า มนุษย์มีศักย­ภาพในการพัฒนาตนได้สูงสุด และให้มองพระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นองค์แทน เป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่พัฒนาตนเองแล้วได้สูงสุด นี้คือ หลักที่เรียกว่า “อาสภิวาจา” หรือ การประกาศอิสรภาพของมนุษย์

ข้อที่ ๕ หลักการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ ตามเหตุผล ไม่หวังผลจากการอ้อนวอนพึ่งพาปัจจัยภายนอก

หลักนี้ จะเห็นได้จากตัวอย่างคำสอนในคาถาธรรมบท ซึ่งถือเป็นการประกาศหลักการใหญ่ภาคปฏิบัติของพุทธศาสนา คาถานั้นว่า “พหุํ เว สรณํ ยนฺติ . . .”

เริ่มต้น คาถานี้ก็บอกให้ทราบว่า วิถีชีวิตของมนุษย์ก่อนพระพุทธ­ศาสนาเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ดังข้อความว่า “มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว” นี่ตรงกับเรื่องการเกิดขึ้นของศาสนาทั้งหลายที่พูดไว้เมื่อกี้นี้เลย ท่านเล่าไว้แล้วในพุทธพจน์ที่ตรัสว่า

“มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่ง แต่สิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่สรณะอันเกษม เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้”

“แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ ๔ เห็นปัญหา เหตุเกิดของปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหา ก็จะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”12

นี่คือ จุดหักเหที่เบนจากการอ้อนวอนหวังพึ่งเทพเจ้า มาสู่การ​กระทำของมนุษย์ ถ้าเราไม่รู้หลักนี้ เราอาจจะเผลอนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาทั่วๆ ไป ทั้งหลาย

พระรัตนตรัยเริ่มจากพระพุทธเจ้า คือ ตัวอย่างของมนุษย์ที่พัฒนาตนได้สูงสุดและใช้ปัญญาแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นการเตือนใจมนุษย์ทุกคนว่า เรามีศักยภาพนี้อยู่ในตัว และจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเอง การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น คือ เป็นการเตือนใจตัวเรา พอระลึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงพระพุทธเจ้าปั๊บ ก็ต้องเกิดความสำนึกที่จะใช้ปัญญาแก้ปัญหาและพัฒนาตนทันที นี่คือการเตือนจิตสำนึกในศักยภาพของตัวเราเอง

พอนึกถึงพระธรรม ก็เตือนใจเราให้ระลึกว่า อ้อ.. การที่จะพัฒนาตนได้นั้น ก็ต้องทำให้เป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย เราจะต้องรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ ต้องมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ต้องหยั่งถึงและปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เสร็จแล้วก็ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า อ๋อ.. ชุมชนที่ประเสริฐ สังคมมนุษย์ที่ประกอบด้วยมนุษย์ที่พัฒนาตนได้โดยใช้กฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยนี้ เอาความรู้นี้มาใช้ประโยชน์ พัฒนาตนได้สำเร็จนั้นเป็นจริง ทำให้มีให้เป็นได้ และเป็นที่ปรากฏของการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติในทางปฏิบัติ หรือในเชิงประยุกต์ เราจะต้องเข้าร่วม เข้าสังกัด ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนประเสริฐนี้

นี่คือ หลักพระรัตนตรัย พอเราเชื่อในหลักการนี้ เราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการของมนุษย์ที่เพียรทำการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย หลักการมันบังคับอยู่ในตัวเอง วิธีการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์ ก็คือ

หนึ่ง ทุกข์ คือ เริ่มด้วยปัญหา ต้องรู้ปัญหาก่อน เสร็จแล้ว

สอง สมุทัย สืบสาวหาสาเหตุของปัญหา แล้ว

สาม นิโรธ กำหนดจุดหมายที่ดับปัญหา จากนั้น

สี่ มรรค ก็ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงความดับปัญหาได้

นี่คือ หลักการที่ว่า เป็นการแก้ปัญหาตามแนวเหตุผล ด้วยการ​กระทำของมนุษย์เอง

ข้อที่ ๖ หลักการสอนแต่ความรู้หรือความจริงที่เป็นประโยชน์ ขยายความว่า ความรู้หรือความจริงที่รู้อาจจะมีมากมาย แต่หลายอย่างอาจจะเป็นความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่สอนความรู้เหล่านั้น และก็ไม่รอด้วย เอาแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์เท่านั้นมาสอน เราจะเห็นหลักการเหล่านี้จากพุทธพจน์เอง เช่นในข้ออุปมาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อครั้งที่ประทับอยู่ในป่า ที่เรียกว่าสีสปาวัน ซึ่งบางทีก็เรียกว่าป่าไม้สีเสียด หรือป่าไม้ประดู่ลาย13

ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่กับพระสงฆ์ ตอนหนึ่งพระองค์ทรงหยิบใบไม้ประดู่ลายขึ้นมากำพระหัตถ์หนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือเราที่นี่ กับใบไม้เบื้องบนในป่านี่ ไหนจะมากกว่ากัน คำถามง่ายๆ พระก็ตอบได้ทันที พระสงฆ์ก็ทูลตอบว่า ใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์นิดเดียว ใบไม้ในป่ามากกว่ามากนัก

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า นี่ฉันใด สิ่งที่เราสอนก็ฉันนั้น ความจริงที่รู้มีมากมาย แต่ความจริงส่วนใหญ่นั้นรู้แล้วไม่ได้สอน เหมือนใบไม้ในป่า ส่วนที่สอนเหมือนใบไม้ในกำมือเท่านั้น ทำไม ก็ตรัสแสดงเหตุผลว่า เพราะความจริงเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความเข้าใจความจริงถ่องแท้ ไม่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหา ไม่เป็นไปเพื่อความไร้ทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อจุดหมายของพุทธศาสนา คือ นิพพาน แต่สิ่งที่ทรงสอนก็เพราะว่า มันเป็นประโยชน์ นำไปสู่การแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ เกี่ยวกับชีวิตที่ดีงาม พูดง่ายๆ ว่าเป็นไปเพื่อถึงความไร้ทุกข์ อันนี้ก็เป็นหลักการอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา

อุปมาอีกคราวหนึ่งที่สำคัญ คือ ครั้งหนึ่งมีผู้มาถามปัญหาอภิปรัชญากับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่วิทยาศาสตร์กำลังพยายามตอบในปัจจุบันว่า เอกภพนี้มีจุดตั้งต้นหรือไม่ มีจุดสิ้นสุดหรือไม่ หรือมีอยู่ตลอดไป อะไรทำนองนี้ มี ๑๐ อย่าง คำถามประเภทนี้มีมาตั้งนานแล้ว ก่อนพุทธกาล คนพวกที่สนใจอย่างนั้น เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นก็มาถามอีก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่ตอบ ทำไมจึงไม่ตอบ พระองค์ได้ทรงแสดงเหตุผลด้วยข้ออุปมาว่า14

บุรุษผู้หนึ่งถูกคนเขาเอาลูกศรอาบยาพิษมายิง ลูกศรอาบยาพิษก็เสียบตัวอยู่ พวกญาติมิตรก็ไปตามหมอมาผ่าตัด หมอผ่าตัดก็จะผ่าตัดเอาลูกศรอาบยาพิษออก บุรุษผู้นี้ก็บอกว่า “อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่ง เดี๋ยวก่อน ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ท่านผ่าตัดเอาลูกศรออก จนกว่าข้าพเจ้าจะรู้ว่าใครเป็นคนยิงข้าพเจ้า คนที่ยิงข้าพเจ้านั้นชื่ออะไร อยู่ที่ตำบลไหน หมู่บ้านไหน เป็นคนวรรณะใด ใช้ลูกศรชนิดใดยิง เป็นเกาฑัณฑ์หรือว่าเป็นธนู และทำด้วยวัสดุอะไร คันธนูทำด้วยไม้อะไร สายทำด้วยวัสดุอะไร ขนนกที่ผูกปลายทำด้วยขนนกอะไร ถ้ายังไม่รู้ความจริงเหล่านี้ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ถอนลูกศรออก”

จะเห็นชัดว่า ถ้ารออย่างนี้ บุรุษนั้นก็จะต้องตายเสียก่อนเป็นแน่ ทั้งไม่มีทางได้รู้ด้วยและตัวเองก็ต้องตายด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำคืออะไร สิ่งที่ต้องทำเรื่องแรกก่อนสิ่งอื่น คือถอนลูกศรออก แล้วเรื่องที่จะให้รู้ว่าใครหรืออะไรต่างๆ ก็ว่ากันอีกที อันนี้ฉันใด สิ่งที่เราสอนก็คือปัญหาของมนุษย์และการแก้ปัญหานี้แหละ ส่วนปัญหาที่ท่านถามมานั้นไม่เป็นประโยชน์ ถึงตอบไป ท่านก็พิสูจน์ไม่ได้ และจะรอพิสูจน์ก็ไม่ได้ เรื่องที่จำเป็นต้องรีบทำมีอยู่จะมัวเสียเวลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและมัวเถียงกันอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ตอบ นี้คือหลักที่เรียกว่าการสอนความจริงที่เป็นประโยชน์

ที่กล่าวมานี้เป็นการยกตัวอย่างบางข้อมาแสดงให้เข้าใจลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนา ฟังแล้วก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเหมือนวิทยาศาสตร์หรือไม่เหมือน เพราะบางข้ออาจจะเหมือน แต่ในความเหมือนนั้นอาจจะมีความไม่เหมือนอยู่ด้วย

 

แยกแล้วทิ้ง กับแยกไปเอาความจริง

ได้กล่าวแล้วว่าศาสนาทั้งหลายทั่วไปตั้งแต่โบราณ มองความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายว่ามีเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เบื้องหลังคอยดลบันดาล ถ้ามนุษย์หวาดกลัวอันตรายไม่ต้องการให้เหตุการณ์อย่างใดเกิดขึ้น หรือปรารถนาผลดีต้องการให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไร ก็ต้องทำการแสดงออกให้เทพเจ้าเห็นถึงการที่ตนอ้อนวอนหรือเอาอกเอาใจ แล้วมนุษย์ก็ได้คิดประดิษฐ์วิธีการอ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้าขึ้นมามากมาย เป็นการบวงสรวงสังเวย ตลอดจนการบูชายัญต่างๆ เพื่อให้เทพเจ้าคลายพิโรธหรือโปรดปราน

ไม่เฉพาะเหตุการณ์และปรากฏการณ์ในโลกหรือธรรมชาติภาย​​นอกเท่านั้น แม้แต่ชีวิตของมนุษย์เอง ก็อยู่ภายใต้อำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า โดยเทพเจ้าเป็นผู้สร้างโลกสร้างชีวิตและบันดาลสุขทุกข์โชคเคราะห์และความเป็นไปทุกอย่าง อีกทั้งยังคอยตามดูตลอดเวลาด้วยว่า มนุษย์ประพฤติปฏิบัติหรือทำการใดๆ ให้เป็นที่พอพระทัยหรือไม่ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องคอยระวังตัวที่จะปฏิบัติตนให้ไม่เป็นที่ขัดเคืองพระทัย โดยเฉพาะในทางตรงข้ามจะต้องพยายามปฏิบัติให้ถูกพระทัยอยู่เสมอ เพื่อจะได้สามารถหลีกเลี่ยงผลร้าย และได้ประสบผลดีแก่ชีวิตของตน ตามหลักการลงโทษและการประทานรางวัล

ตามมาตรฐานนี้ การประพฤติปฏิบัติและการกระทำทั้งปวงของมนุษย์ก็แบ่งออกไปเป็น ๒ ประเภท คือ การกระทำที่ถูกใจเทพเจ้า ซึ่งจะได้รับการโปรดปรานประทานรางวัลเรียกว่า ความดี และการกระทำที่ขัดเคืองพระทัยของเทพเจ้า เป็นการทำผิดต่อเทพเจ้า ซึ่งจะได้รับผลร้ายคือการลงโทษ เรียกว่า ความชั่ว บางทีก็เป็นคำสั่งของเทพเจ้าหรือเป็นเทวบัญชาทีเดียว คือสิ่งใดที่เทพเจ้าสั่งให้ทำ ก็เป็นความดี สิ่งใดที่เทพเจ้าห้ามไม่ให้ทำ ก็เป็นความชั่ว แล้วเจ้าหน้าที่หรือองค์กรทางศาสนาก็เป็นผู้บอกให้ทราบว่า การกระทำอะไรบ้าง เป็นความดี การกระทำอะไรบ้าง เป็นความชั่ว ตามความหมายและมาตรฐานที่วัดด้วยความพอพระทัยหรือเทวบัญชาของเทพเจ้านั้น หลักความดีความชั่วอย่างนี้แหละที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือบางทีเรียกว่า จริยธรรม

นี่เป็นเรื่องสำคัญด้านหนึ่งของศาสนา คือเรื่องศีลธรรม ที่ภาษาไทยสมัยใหม่บัญญัติคำศัพท์ขึ้นมาใช้ใหม่อีกคำหนึ่งว่า จริยธรรม เพื่อเรียกตามคำภาษาอังกฤษว่า ethic ศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของศาสนาทีเดียว เรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมได้เจริญขึ้นในประเทศตะวันตกตามความหมายอย่างที่ว่ามานี้

ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้น ตั้งแต่แยกกับศาสนา ก็สนใจเฉพาะธรรมชาติภายนอกแห่งโลกวัตถุ ไม่สนใจเรื่องนามธรรมในตัวมนุษย์อยู่แล้ว จึงไม่เอาใจใส่ที่จะศึกษาเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้ ยิ่งเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้า ไม่มีเหตุผล ก็แทบจะหันหลังให้เลย

ฝ่ายประชาชนทั่วไปในประเทศตะวันตก หรือในประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนา ในยุคที่ผ่านมาได้พากันตื่นเต้นกับความก้าวหน้าทางวิทยา­ศาสตร์ เกิดความตื่นวิทยาศาสตร์ ก็เห็นกันไปว่าศาสนาสอนเรื่องเทพเจ้าและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีเหตุผล แล้วก็พากันหันหลังละทิ้งศาสนาออกมา พร้อมกันนั้นศีลธรรมและจริยธรรมก็พลอยหมดความหมายไปด้วย ผู้คนพากันไม่เห็นความสำคัญ เมื่อเทพเจ้าหมดความสำคัญ ศีลธรรมหรือจริยธรรมที่เป็นคำบัญชาของเทพเจ้าก็หมดความหมายไปด้วย คนสมัยใหม่มากมาย รวมทั้งคนในวงการวิทยาศาสตร์ด้วย พากันมองว่าศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้ เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์บางคนบางกลุ่มเช่นพวกนักบวช กำหนดขึ้นมาเอง อย่างดีก็เป็นเรื่องของสังคมที่กลุ่มชนนั้นบัญญัติวางกันขึ้นมา เพื่อควบคุมรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนหรือสังคมของตน ไม่มีความจริงอยู่ในตัวของมันเอง

ฝ่ายวิทยาการต่างๆ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความเป็นไปของมนุษย์ และสังคมมนุษย์ ซึ่งเดิมก็อยู่ในจำพวกปรัชญา เมื่อวิทยาศาสตร์เฟื่องฟูก็อยากจะให้ศาสตร์ของตนมีลักษณะและมีฐานะอย่างวิทยาศาสตร์ด้วย แล้วก็พยายามเอามาตรฐานความจริง ตลอดจนวิธีศึกษาตามแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในศาสตร์ของตน เกิดเป็นกลุ่มวิชาใหม่ เรียกว่า สังคมศาสตร์ ศาสตร์เหล่านี้ เห็นว่าศีลธรรมหรือจริยธรรม เป็นเรื่องของคุณค่าซึ่งไม่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ ก็พากันพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องศีลธรรม หรือจริยธรรม พยายามแสดงตัวว่าเป็นศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่า ถ้าจะศึกษาเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมบ้าง ก็มองเอาเฉพาะในแง่ที่เป็นพฤติกรรมทางสังคมหรือเป็นการแสดงออกทางรูปธรรมที่สังเกตได้ตามวิธีวิทยาศาสตร์เท่านั้น

ถ้าพูดด้วยภาษาทางวิชาการก็สรุปได้ว่า วิทยาศาสตร์ สังคม­ศาสตร์ และคนสมัยใหม่เหล่านี้ มองเห็นเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นบัญญัติธรรมไปเสีย เอาศีลธรรมหรือจริยธรรมไปสับสนปนเปกับบัญญัติ­ธรรม ไม่สามารถแยกออกจากบัญญัติธรรมได้ นับว่าเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างมากในการแสวงหาความรู้เพื่อเข้าถึงความจริง พูดเป็นสำนวนว่า จะหลบเลี่ยงความเท็จ แต่กลายเป็นหลีกหนีความจริง

หันมามองดูทางด้านพระพุทธศาสนาบ้าง ในเรื่องนี้ ทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาต่างก็แยกตัวออกจากศาสนาทั่วไป คือ ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อถือหรือหลักการแบบที่ว่ามานั้น แต่ในขณะที่วิทยาศาสตร์แยกตัวออกมาแล้ว ก็ละทิ้งมองข้ามเรื่องศีลธรรม จริยธรรม หรือเรื่องคุณ​ค่าต่างๆ ไปเลยนั้น พุทธศาสนากลับศึกษาและแสดงความจริงของเรื่องศีลธรรม จริยธรรม หรือเรื่องคุณค่าต่างๆ นั้น รวมอยู่ในกระบวน​การของธรรมชาติด้วย

ในขณะที่ศาสนาทั่วไปมองความเป็นไปทุกอย่างในธรรมชาติ ทั้งภายนอกและตัวมนุษย์เอง หรือโลกและชีวิต ว่าเป็นไปตามอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า พุทธศาสนามองความเป็นไปทุกอย่างนั้นว่าเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เรื่องของมนุษย์ คือธรรมชาติด้านนามธรรม หรือเรื่องคุณค่าทั้งปวง ก็เช่นเดียวกับธรรมชาติภายนอกแห่งโลกวัตถุ ที่เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อยู่ภายในครอบคลุมของกฎธรรมชาติ ความแตกต่างอยู่ที่องค์ประกอบและปัจจัยในกระบวนการนั้นที่มีคุณสมบัติต่างๆ กัน

เพื่อความสะดวกในการศึกษาและทำความเข้าใจ บางครั้งพุทธ­ศาสนาจำแนกกฎธรรมชาติออกเป็น ๕ อย่าง เรียกว่า นิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอน, กฎ) ๕ คือ15

  1. อุตุนิยาม (physical laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏ­การณ์ในธรรมชาติแวดล้อม หรือโลกแห่งวัตถุ เช่น ลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล
  2. พีชนิยาม (biological laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพืชพันธุ์ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าพันธุกรรม
  3. จิตตนิยาม (psychic laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต กระบวนการของความคิด
  4. กรรมนิยาม (karmic laws) กฎแห่งกรรม หรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ ได้แก่ กระบวนการแห่งเจตจำนงหรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่างๆ
  5. ธรรมนิยาม (the general laws of cause and effect) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย อย่างที่เรียกว่า ความเป็นไปตามธรรมดา หรือกฎทั่วไปแห่งเหตุและผล

ถ้าดูตามการจำแนกกฎธรรมชาติแบบนี้ จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมา เชื่อมั่นในธรรมนิยาม โดยจำกัดตัวศึกษาอยู่เฉพาะในขอบเขตของอุตุนิยามกับพีชนิยามเท่านั้น ส่วนในทางพระพุทธศาสนา เชิงปฏิบัติ ให้ความสำคัญแก่กรรมนิยามมาก แม้ว่าด้านหนึ่งที่เรียกว่าอภิธรรมจะเน้นการศึกษาในเรื่องจิตตนิยาม เพื่อเอามาโยงกับกรรมนิยาม และธรรมนิยาม

การเข้าใจความจริงของธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงสัจจภาวะอย่างสมบูรณ์แท้จริง ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติทั้งหลายอย่างครอบคลุม จนมองเห็นความโยงสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยเฉพาะถ้าไม่เข้าใจตัวมนุษย์อันเป็นธรรมชาติด้านนามธรรม รวมทั้งเรื่องคุณค่าต่างๆ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้ศึกษากฎธรรมชาติเหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอุตุนิยาม แต่ถ้านักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ความจริงของตัวมนุษย์คือตนเองผู้ศึกษาอุตุนิยามนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็จะเข้าถึงความจริงแม้แต่ของอุตุนิยามนั้นอย่างสมบูรณ์ไม่ได้

ในขั้นพื้นฐาน มนุษย์อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมที่เป็นวัตถุ แต่ซ้อนกับโลกธรรมชาติภายนอกนั้นก็มีโลกของมนุษย์อีกชั้นหนึ่ง ว่าโดยจิตสำนึก มนุษย์อยู่ในโลกของมนุษย์ และโลกมนุษย์มีความหมายสำคัญ มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เด่นชัดยิ่งกว่าโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อม การดำเนินชีวิตส่วนตัว ความคิดนึก พฤติกรรม กิจกรรมต่างๆ การสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ วัฒนธรรม ตลอดจนสถาบันสังคมทั้งหลาย ล้วนเกิดขึ้นมาจากเจตจำนงของมนุษย์ ที่พุทธศาสนาเรียกสั้นๆ ว่า กรรม เจตจำนงเป็นสมบัติพิเศษและเป็นอำนาจของมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์มีความเป็นไปดังที่ปรากฏอยู่นี้ โลกของมนุษย์จึงเป็นโลกของเจตจำนง เป็นไปตามเจตจำนง หรือเจตจำนงสร้างสรรค์บันดาลให้เป็นไป ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าโลกแห่งกรรม ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก16 (โลกเป็นไปตามกรรม คือเจตจำนงที่ปรุงแต่งสร้างสรรค์) การที่จะเข้าใจโลกของมนุษย์ หรือเข้าใจเรื่องของมนุษย์ จึงจะต้องเข้าใจกฎธรรมชาติที่เรียกว่า กรรมนิยาม

เรื่องเจตจำนง เรื่องกรรม เรื่องพฤติกรรม เรื่องจริยธรรม เรื่องนามธรรม เรื่องคุณค่า เรื่องธรรมชาติภายใน เรื่องจิตใจของมนุษย์ ล้วนเป็นเรื่องของธรรมชาติ มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อกฎธรรมชาติ มิใช่เป็นเรื่องของเทพเจ้า หรือเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ด้วยปัญญาของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาให้รู้เข้าใจได้

พึงสังเกตว่า พุทธศาสนาจัดจิตตนิยามกับกรรมนิยามเป็นคนละกฎต่างหากกัน แสดงว่าเรื่องจิตกับเรื่องเจตจำนงของมนุษย์ เป็นกฎธรรมชาติคนละด้านที่ศึกษาแยกกันได้ แม้ว่ากฎทั้งสองนั้นจะทำงานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดยิ่ง อุปมาง่ายๆ เหมือนกัปตันที่ขับเรือยนต์ จิตเป็นเหมือนเรือพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องยนต์ทั้งหมด เจตจำนงหรือกรรมเป็นเหมือนกัปตันที่จะชักนำพาเรือไปทำอะไรๆ ที่ไหนๆ และอย่างไร

ปรากฏการณ์อย่างเดียวกันอาจจะเกิดจากเหตุปัจจัยในกฎธรรม­ชาติคนละอย่าง และปรากฏการณ์บางอย่างเกิดจากเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติหลายอย่างทำงานอิงอาศัยกัน บุคคลหนึ่งน้ำตาไหล อาจเกิดจากถูกควันไฟรม (อุตุนิยาม) อาจเกิดจากความดีใจหรือเสียใจมาก (จิตต­นิยาม) หรืออาจเป็นเพราะปรุงแต่งความคิดในทางหวนละห้อยบีบคั้นใจตนเอง (กรรมนิยาม) บุคคลหนึ่งปวดศีรษะมาก อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง (พีชนิยาม) อาจเนื่องจากอยู่ในที่อากาศไม่พอ หรือร้อนเกินไป (อุตุนิยาม) หรืออาจเป็นเพราะกลุ้มใจกังวล (กรรมนิยาม) ฯลฯ

เมื่อชาวตะวันตกมาศึกษาเรื่องกรรม หรือเรื่องของเจตจำนง ก็มักจะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง free will (เจตจำนงเสรี) ว่า free will นั้น มีหรือไม่ ถ้ามองตามกฎธรรมชาติน่าจะต้องพูดว่า ความคิดเรื่อง free will นั้น เป็นความคิดสุดโต่ง หรือเอียงสุด ที่จริงไม่มี will ที่ absolutely free เพราะเจตจำนงก็อยู่ในกระบวนการของเหตุปัจจัย แต่ will นั้นก็นับว่า free เหมือนกัน อาจใช้คำว่า relatively free เพราะมันก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น ดังที่มีศัพท์ทางพุทธ­ศาสนาเรียกว่า ปุริสการ ซึ่งแต่ละบุคคลมีอำนาจคิดริเริ่ม หรือคิดเริ่มการ ให้เป็นตัวกระตุ้นในกระบวนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า กรรมนิยามนั้น ซึ่งทำให้เราถือว่าเขาจะต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน

ความเข้าใจผิด หรือความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง free will และเรื่องทำนองนี้ เกิดจากความเข้าใจผิดที่เนื่องกันซึ่งซ้อนลึกลงไปอีก โดยเฉพาะความหลงผิดเกี่ยวกับอัตตา หรือเรื่องตัวตน ทำให้เกิดความสับสน โดยในขณะที่กำลังพิจารณาความจริงแท้ตามสภาวะ (ปรมัตถ์) แต่ติดในความคิดเชิงบัญญัติ (สมมติ) เอาไปปนกัน ให้มีผู้ทำกับผู้รับผลการกระทำ หรือในขณะที่ความจริงมีแต่ความรู้สึก แต่ผู้พิจารณาเรื่องนี้เอาความคิดเกี่ยวกับผู้รู้สึกเข้าไปใส่ (สำนวนทางธรรมว่า มีแต่การเสวยเวทนา ผู้เสวยไม่มี) ทั้งนี้เป็นเพราะหยั่งไม่ถึงลักษณะที่เป็นอนัตตา จึงไม่สามารถมองเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยชัดเจนได้

ข้อพิเศษในเรื่องนี้ก็คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้หยุดอยู่แค่ free will แต่ยังก้าวไปสู่ขั้นที่จะเป็นผู้ free of will คือ เสรีเหนือเจตจำนงด้วย ซึ่งสำเร็จด้วยการพัฒนาตนของมนุษย์ ให้ถึงขั้นชีวิตแห่งปัญญา

พึงสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ในกระบวนการพัฒนามนุษย์นั้น พุทธ­ศาสนาแยกแดนแห่งจิต กับแดนแห่งปัญญาออกจากกัน โดยที่ปัญญาที่พัฒนาแล้วจะเป็นตัวปลดปล่อยจิต ให้บรรลุอิสรภาพ เราจึงมีจิตกับเจตน์ และจิตกับปัญญา แต่นี่เป็นเรื่องของกระบวนการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรพูดต่างหากในที่อื่น เดี๋ยวจะออกนอกขอบเขตไป ควรยุติเท่านี้

ความประสงค์ในที่นี้ มุ่งเพียงให้มองเห็นขอบเขตของการรู้เข้าใจธรรมชาติที่จะเข้าถึงความจริงที่แท้ หรือสัจจธรรมโดยสมบูรณ์ว่าจะต้องรู้เข้าใจเรื่องตัวมนุษย์อันเป็นธรรมชาติภายในด้านนามธรรม รวมทั้งเรื่องคุณค่าต่างๆ ให้ถึงกฎธรรมชาติของเรื่องนี้ด้วย

พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
ความต่างในความเหมือน

ศรัทธา: จุดร่วมของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
ที่เป็นจุดแยกจากศาสนาอื่นๆ

ทีนี้ก็มาลองวิเคราะห์ดูในบางเรื่องบางอย่างตามหลักการพื้นฐาน เพื่อเป็นข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์และศาสนาต่างๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องศรัทธาเป็นต้นไป เพราะเมื่อกี้นี้บอกว่าในพุทธศาสนานั้นได้ย้ายจากศรัทธามาสู่ปัญญาแล้ว

ศาสนาต่างๆ นั้นเอาอารมณ์เป็นตัวนำเข้าสู่จุดหมาย (หมายถึงอารมณ์ที่ใช้กันในความหมายของภาษาไทย ที่ตรงกับคำว่า emotion ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาทางธรรมของเดิม) เน้นเรื่องอารมณ์ ใช้อารมณ์เป็นเครื่องผลักดันให้ยอมรับและปฏิบัติตามหลักการของศาสนา จึงต้องคอยปลุกเร้าอารมณ์ ให้ตื่นเต้น ซู่ซ่า รัก เกลียด กลัว เฉพาะอย่างยิ่ง ก็ปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดศรัทธา ชักจูงศรัทธาด้วยอารมณ์ และก็ใช้อารมณ์เป็นเครื่องรักษาศรัทธา จึงจะต้องเอาใจใส่ถือเป็นสำคัญยิ่งที่จะเร้าให้เกิดอารมณ์ หรือ emotion นี้ แต่พุทธศาสนาไม่เอาอารมณ์ หรือ emotion เป็นหลัก เพราะมุ่งที่ตัวปัญญา

เมื่อเอาอารมณ์ คือ emotion เป็นตัวนำ ศาสนาต่างๆ ก็ย่อมเน้นศรัทธา เพราะศรัทธาเป็นจุดรวมของ emotion หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะขึ้นต่อศรัทธาหรือเอาศรัทธาเป็นแกน ศาสนาต่างๆ จึงต้องเน้นการปลุกเร้าอารมณ์คือ emotion นี้ รวมความว่า ศรัทธาเป็นหลักการสำคัญสุดยอดของศาสนาทั่วๆ ไป แต่พุทธศาสนาเน้นปัญญา ให้ความสำคัญแก่ศรัทธาเพียงขั้นต้น และใช้ศรัทธาด้วยความระมัดระวัง และถือว่าปัญญาเป็นตัวตัดสินในการที่จะเข้าถึงจุดหมายคือการแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม ศรัทธาก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในพุทธศาสนาบ้างเหมือนกัน หมายความว่า ในระบบการปฏิบัติและคำสอนของพุทธศาสนาก็ยังมีศรัทธาอยู่ แต่ศรัทธานั้นได้เปลี่ยนบทบาทไป เปลี่ยนความสำคัญไป เช่นเดียวกับที่ว่าในวิทยาศาสตร์ก็ยังต้องมีศรัทธาดังที่กล่าวเบื้องต้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยศรัทธาในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ศรัทธามีบทบาทสำคัญในวิทยาศาสตร์ และเป็นตัวนำผลักดันให้วิทยาศาสตร์ก้าวไปในการค้นคิด สืบสาวหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก

การที่จะเข้าใจในเรื่องศรัทธาได้ชัดเจน จะต้องแบ่งศรัทธาออกไปให้เห็นความแตกต่าง และถ้าแบ่งคร่าวๆ ศรัทธาหรือความเชื่อนี้จะมี ๒ ประเภท ศรัทธา ๒ ประเภทคืออะไร ตอนนี้แบ่งอย่างง่ายที่สุด

ศรัทธาประเภทที่ ๑ เป็นศรัทธาแบบปิดกั้นปัญญา ใช้วิธีปลุกเร้าหรือแม้แต่บังคับให้เชื่อ และพอเชื่อแล้วก็ต้องมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง ห้ามถาม ห้ามสงสัย คอยรอทำตามฉันอย่างเดียว ศรัทธาประเภทที่ ๑ นี้ไม่ทำให้มีการสืบค้นทางปัญญาต่อไป

ศรัทธาในศาสนาต่างๆ จะเน้นแบบนี้ คือต้องเชื่อและเมื่อเชื่อแล้วก็ต้องคอยรอทำตาม ฉันว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ห้ามถาม ห้ามสงสัย หลักการในศาสนาแบบนี้เขาจึงเรียกว่าเป็น dogma คือสิ่งที่ต้องถือปฏิบัติตาม ยึดมั่นโดยไม่ต้องถามหาเหตุผล ต่างจากพุทธศาสนาที่เขาเรียกว่า เป็นศาสนาที่ไม่มี dogma

ศรัทธาประเภทที่ ๒ คือศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญา ศรัทธาสื่อนำสู่ปัญญาเป็นอย่างไร คือความเชื่อนั้นเป็นตัวชักนำให้สนใจเริ่มต้นศึกษาสืบค้น สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีมากมาย เรายังไม่มีจุดเริ่มต้นว่าจะสนใจเรื่องใด แต่เมื่อเกิดศรัทธาต่อบุคคลหรือเรื่องราวหลักการใด ศรัทธานั้นก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีจุดเริ่มต้น ศรัทธาทำให้เรามีความสนใจและเข้าไปหา โดยเฉพาะศรัทธาในคนก็เพื่อจะชักนำให้เข้าไปซักถามเขา การที่ศรัทธาในพระก็เพื่อจะเข้าไปหาและซักถามท่าน เพื่อให้เกิดความรู้ และเข้าใจความจริงยิ่งขึ้นไป ถ้าเป็นศรัทธาแบบว่าเพื่อจะไปให้ท่านทำอะไรให้สักอย่างและจบเท่านั้น ก็ไม่ใช่ศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา

ศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญานี้จะเห็นตัวอย่างในกรณีของพระสารี­บุตร ก่อนที่จะหันมาสู่พระพุทธศาสนาได้เห็นพระอัสสชิเดินผ่านมา เกิดความเลื่อมใสว่าลักษณะท่าทางของท่านแสดงว่าคงมีอะไรดี คงมีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง เกิดความอยากจะรู้อยากจะถาม จึงเข้าไปหา อันนั้นเป็นตัวอย่างของศรัทธาแบบนี้

จะเห็นว่า ศรัทธาหรือปสาทะเป็นตัวที่ทำให้ต้องการเข้าไปหาเพื่อจะได้ถามหาความรู้ต่อไป คือเป็นแรงชักนำทำให้สนใจเข้าไปหา และเริ่มต้นสืบสาวหาความรู้ในเรื่องนั้น พร้อมทั้งมีจุดที่จะคิดค้นอย่างจริงจัง เพราะว่าเมื่อเราศรัทธาในเรื่องใดเราก็จะคิดค้นในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง เรื่องนั้นจะเป็นประเด็นหลักของเราในการคิดค้นต่อไป เช่น นักวิทยา­ศาสตร์เชื่อเรื่องอะไรว่าน่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แกก็จะคิดค้นยกใหญ่มุ่งแล่นไปในเรื่องนั้นเต็มที่ ทำให้ไม่ส่ายไม่พร่าในกระบวนการหาความจริง

เป็นอันว่าเราจะต้องแยกศรัทธาให้ถูก ศรัทธาในพุทธศาสนาที่เรายอมให้มีบทบาทก็คือ ศรัทธาที่เป็นสื่อนำสู่ปัญญา ก็เลยกลายเป็นว่าในพุทธศาสนาศรัทธาเปลี่ยนบทบาทมาเป็นตัวรอง โดยมีหน้าที่เป็นตัวนำสู่ปัญญา และปัญญากลายเป็นตัวเด่นขึ้นมา จะเห็นว่าทั้งในพุทธศาสนาและในวิทยาศาสตร์ต่างก็มีศรัทธาในประเภทที่สอง คือศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญา และเมื่อสรุปแล้ว ศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญานี้ มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่อปัญญา ๓ ประการ คือ

  1. ทำให้สนใจเข้าไปหาและเริ่มต้นศึกษาสืบค้นในเรื่องนั้น
  2. ทำให้มีพลัง เกิดความเพียรพยายาม ตลอดจนทุ่มเท อุทิศตัวในการที่จะหาและเข้าถึงความจริงในเรื่องนั้น
  3. ทำให้มีทิศทางหรือตัวประเด็นเจาะตรงเฉพาะที่จะมุ่งแล่นเดินหน้าไป อย่างแน่วแน่ชัดเจน

นอกจากบทบาทและหน้าที่ของมันแล้ว ศรัทธาที่ถูกต้องยังมีลักษณะที่เราจะต้องเข้าใจต่อไปอีก ในพุทธศาสนานั้นถ้าเราพิจารณาดูระบบหรือกระบวนการปฏิบัติก็จะเห็นลักษณะของศรัทธานี้ชัดเจน ลักษณะของศรัทธาในพุทธศาสนาดูได้จากหลักการสำคัญๆ ดังนี้

จุดหมายของพุทธศาสนาคืออะไร จุดหมายของพุทธศาสนา คือวิมุตติ ความหลุดพ้น หรืออย่างที่เรียกปัจจุบันว่าอิสรภาพ พุทธศาสนาต้องการให้มนุษย์ไปสู่อิสรภาพ หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

ความหลุดพ้นนี้สำเร็จได้ด้วยอะไร ความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้สำเร็จได้ด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจความจริง รู้เท่าทันกฎธรรมชาติ ซึ่งสาวกก็รู้ได้เหมือนอย่างองค์พระศาสดา และไม่ต้องขึ้นต่อองค์พระศาสดา

พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่าหลักความจริงเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างนั้นๆ” พระสารีบุตรทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น” ตรัสถามต่อไปว่า “ที่เธอว่าอย่างนั้น เพราะเชื่อในเราใช่หรือไม่” พระสารีบุตรทูลตอบว่า “หามิได้ ที่ว่าเป็นอย่างนั้น มิใช่เพราะข้าพระองค์ว่าตามที่เชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะว่าข้าพระองค์ก็ได้รู้ได้เห็นประจักษ์เองว่าเป็นอย่างนั้น”17

นี่คือหลักการในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ใครมาผูกติดอยู่กับพระองค์ หรือขึ้นต่อพระองค์เลย แม้แต่ศรัทธาในตัวบุคคล พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงโทษไว้ เพราะต้องการให้ทุกคนเป็นอิสระ

เป็นอันว่า วิมุตติ ที่เป็นจุดหมายของพุทธศาสนา คือ ความเป็นอิสระ จะสำเร็จได้ด้วยปัญญาคือการรู้ความจริง แต่ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สำหรับบางคนผู้มีความคิดเป็น ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ก็ไม่ต้องอาศัยศรัทธา แต่คนส่วนใหญ่ต้องอาศัยศรัทธา เพื่อเป็นสื่อนำ ให้มีจุดเริ่ม

เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นปัจจัยที่ส่งทอดไปตามกันว่า วิมุตติ เป็นจุดหมายบังคับให้ต้องมีปัญญา ปัญญา ที่เป็นตัวทำให้ถึงจุดหมาย อาศัย ศรัทธา เป็นจุดเริ่มหรือเป็นสื่อนำให้ ก็เลยเป็น ๓ ขั้นตอน คือ

ศรัทธา ->  ปัญญา -> วิมุตติ

ในกระบวนการของการเข้าถึงความจริง ศรัทธาเป็นตัวเริ่มต้นนำเข้าสู่ปัญญา แล้วปัญญาก็เป็นตัวนำไปสู่วิมุตติ ระบบปัจจัยสัมพันธ์อันนี้เป็นตัวกำหนดลักษณะของศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างที่ว่าแล้ว เพราะศรัทธาสัมพันธ์กับปัญญาและวิมุตติ ศรัทธานั้นจึงมี

    ลักษณะที่ ๑ คือ เป็นสื่อนำสู่ปัญญา
    ลักษณะที่ ๒ คือ พ่วงมากับความเป็นอิสระ

เพราะฉะนั้น ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นศรัทธาแบบบังคับให้เชื่อ ที่เชื่อแล้วห้ามถาม ห้ามสงสัย หรือเอาชีวิตของตนไปขึ้นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะต้องถือมั่นว่าเป็นอย่างนั้น โดยที่ถูกกำหนดมาตายตัวเสร็จสิ้นแล้ว นี้เป็นการชี้แจงให้เข้าใจลักษณะทั่วไป

จะเห็นว่า ทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างก็มีศรัทธาชนิดสื่อนำสู่ปัญญาที่นับได้ว่าเหมือนกัน คือใช้ศรัทธาเป็นจุดเริ่มนำไปสู่การแสวงหาความรู้ที่จะเข้าถึงความจริง ทีนี้ ก็มีคำถามต่อไปอีกว่า ศรัทธาอย่างไรที่จะเป็นสื่อนำไปสู่ปัญญา หรือว่าศรัทธาที่เป็นสื่อนำสู่ปัญญานั้นเป็นอย่างไร ก็จึงจะต้องมีการให้คำจำกัดความ ศรัทธาที่ว่านี้อีกทีหนึ่งว่า ศรัทธาที่เป็นตัวนำสู่ปัญญานี้คืออะไร

ถ้าพูดโดยโยงไปหาหลักที่แสดงมาแล้วก็จะบอกว่า ศรัทธาที่ว่านำไปสู่ปัญญานี้ก็คือความเชื่อมั่นในธรรมชาติหรือจักรวาลนี้ว่ามีกฎเกณฑ์แห่งธรรมดาที่สม่ำเสมอแน่นอน หมายถึงความเชื่อในกฎธรรมชาตินั่นเอง พร้อมทั้งความเชื่อว่ากฎธรรมชาตินั้นมนุษย์จะสามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญา

ความเชื่อหรือศรัทธานี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราแสวงหาความจริง แต่เพราะว่าตัวตัดสินหมายถึงการที่เราจะต้องรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ ศรัทธาจึงไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงจุดหมาย จึงหยุดอยู่แค่ศรัทธาไม่ได้ ศรัทธานั้นจึงต้องโยงส่งทอดต่อไปสู่ปัญญา พอมาถึงตอนนี้ก็เหมือนกับว่าศรัทธาของพุทธศาสนากับศรัทธาของวิทยาศาสตร์เหมือนกัน คือต่างก็มีศรัทธาที่เชื่อในกฎธรรมชาติ และต่างก็มุ่งที่จะรู้ความจริงในกฎธรรมชาติด้วยวิธีการแห่งปัญญา แต่ความเหมือนหรือคล้ายกันนั้น อาจหยุดแค่นั้น ต่อจากจุดนี้ไปศรัทธาของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ดูท่าว่าจะแยกจากกัน จะแยกกันอย่างไร

 

ศรัทธา: จุดร่วมที่แตกต่าง
ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า จุดเริ่มร่วมของศาสนาและวิทยาศาสตร์ก็คือ การที่มนุษย์ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตอยู่ในโลก เนื่องจากภัยอันตรายและความติดขัดบีบคั้นจากธรรมชาติแวดล้อม และเมื่อจะแก้ปัญหา มนุษย์ก็มองออกไปที่ธรรมชาติภายนอกด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น และความรู้สึกอัศจรรย์ใจ แล้วความรู้สึกทั้งสองนั้นก็นำต่อไปสู่ความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย และความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ ต่อแต่นั้น จากจุดเริ่มที่ร่วมกัน ศาสนากับวิทยาศาสตร์ก็เริ่มแยกจากกัน

แม้จะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ทั้งศาสนาทั่วไปและวิทยาศาสตร์ก็มีจุดร่วมอีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การมองออกไป (หาต้นเหตุ) ที่ธรรมชาติภายนอกตัว โดยที่ตัวมนุษย์เองเป็นผู้มองและไม่ได้มองดูตัว ในแง่นี้ เมื่อพูดถึงเฉพาะวิทยาศาสตร์ เราจึงพบว่าวิทยาศาสตร์ศึกษาแต่ธรรมชาติภายนอกในโลกแห่งวัตถุ ไม่ได้มองมนุษย์รวมอยู่ในภาพรวมของธรรมชาติ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่มองธรรมชาติว่าครอบคลุมถึงมนุษย์ และก็มิได้มองมนุษย์ว่าครอบคลุมธรรมชาติเอาไว้ในตัวด้วย

เมื่อวิทยาศาสตร์มองธรรมชาติอย่างนี้ วิทยาศาสตร์จึงมีจุดที่เป็นเป้าของศรัทธาเพียงอย่างเดียว คือ ธรรมชาติ (ภายนอก) โดยมีความเชื่อมั่นว่าในธรรมชาตินั้นมีกฎเกณฑ์อันแน่นอน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าศรัทธาในกฎธรรมชาติ

แต่สำหรับพระพุทธศาสนา จุดเริ่มคือการที่จะแก้ปัญหาที่เรียกว่าความทุกข์ของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะเน้นแดนแห่งกิจกรรมของมนุษย์ แต่ก็มองเห็นว่าเหตุปัจจัยเหล่านั้นเป็นกระบวนการของธรรมชาติ พุทธศาสนาจึงเชื่อในกฎธรรมชาติเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ แต่ความเชื่อหรือศรัทธานี้โยงมาถึงตัวมนุษย์ด้วย ทั้งในแง่ที่มนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และในแง่ที่มนุษย์เป็นที่ครอบคลุมธรรมชาติเอาไว้ในตัว โดยถือว่า ความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ก็อยู่ภายใต้กฎธรรมชาตินั้นเช่นเดียวกัน

สรุปว่า ศรัทธาของพระพุทธศาสนามีแง่ที่ต่างจากศรัทธาของวิทยาศาสตร์ คือ ศรัทธาของวิทยาศาสตร์มีจุดที่เป็นเป้าอย่างเดียว ได้แก่ ธรรมชาติ แต่ศรัทธาของพระพุทธศาสนามีจุดที่เป็นเป้า ๒ อย่าง ได้แก่

  1. ธรรมชาติ
  2. ตัวมนุษย์

แม้จะมีจุดที่เป็นเป้าแยกเป็น ๒ อย่าง แต่จุดเป้าทั้งสองนั้นก็เชื่อมโยงถึงกัน ต่อเนื่องเป็นอันเดียว และจากความเชื่อมโยงระหว่างจุดเป้าทั้งสอง คือ ธรรมชาติกับตัวมนุษย์นี้ เราสามารถแยกศรัทธาของพระพุทธ­ศาสนาเป็น ๒ ระดับ

๑) ระดับที่หนึ่ง หรือระดับพื้นฐาน: ศรัทธาหนึ่งเดียวแยกเป็น ๒ ด้าน

ในระดับที่หนึ่ง หรือระดับพื้นฐาน ซึ่งอาจจะเรียกว่าระดับสูงสุดก็ได้ ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติภายนอกหรือธรรมชาติทั่วไป และศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ เป็นศรัทธาอันเดียวกันนั่นเอง แต่แยกเป็น ๒ ด้าน หรือว่าที่จริงคือ โยงต่อจากกันเป็น ๒ ช่วงตอน กล่าวคือ

  1. ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติ (ภายนอกหรือทั่วไป) ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า ในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกสั้นๆ ว่า ศรัทธาในกฎธรรมชาติ
  2. ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ (ธรรมชาติภายใน) ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า ความดีงามสูงสุด หรือชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ เป็นภาวะที่เป็นไปได้โดยอาศัยและเนื่องอยู่ในกฎธรรมชาตินั้น เรียกสั้นๆ ว่า ศรัทธาในชีวิตดีงามที่เข้าถึงได้ตามกฎธรรมชาติ หรือศรัทธาในคุณค่าสูงสุด

ที่ว่าศรัทธาทั้งสองข้อนี้เป็นศรัทธาอันเดียวกัน ก็เพราะว่าแท้จริงแล้ว ทั้งสองข้อนั้น ก็เป็นศรัทธาที่เกี่ยวกับธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น สำหรับข้อ ๑ นั้น โดยคำพูดก็ชัดอยู่แล้วว่า เป็นศรัทธาที่เกี่ยวกับธรรมชาติ แต่ที่จริงธรรมชาติในข้อ ๑ นั้น หาใช่จะครอบคลุมธรรมชาติทั้งหมดไม่ มันกินความแค่ธรรมชาติภายนอก หรือธรรมชาติทั่วๆ ไปนอกจากความเป็นมนุษย์

ในทางพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งด้วย เพราะตัวมนุษย์เองในส่วนที่เป็นรูปธรรม ก็มีความเป็นธรรมชาติเหมือนกันกับธรรมชาติภายนอกทั่วๆ ไป อย่างไรก็ดี มนุษย์มีธรรมชาติอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแปลกจากธรรมชาติภายนอกทั่วๆ ไป เป็นธรรมชาติส่วนที่ทำให้มนุษย์มีภาวะที่แตกต่างจากธรรมชาติภายนอกทั่วๆ ไปเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะพิเศษของมนุษย์หรือเป็นส่วนที่เป็นตัวมนุษย์เองแท้ๆ ที่เราเรียกแยกออกมาว่า เป็นตัวมนุษย์ต่างหากจากธรรมชาติทั่วๆ ไป ธรรมชาติส่วนที่เป็นตัวมนุษย์โดยเฉพาะนี้เป็นนามธรรม เป็นเรื่องของคุณค่า หรือเป็นธรรมชาติในด้านคุณค่า

เนื่องจากมนุษย์มีทั้งส่วนรูปธรรมที่เป็นธรรมชาติ เหมือนกับธรรมชาติทั่วๆ ไปภายนอก และมีทั้งส่วนนามธรรมที่เป็นธรรมชาติด้านคุณค่า ซึ่งพิเศษนอกเหนือไปจากธรรมชาติภายนอกทั่วไปเหล่านั้น ดังนั้น แทนที่จะพูดว่ามนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วย เราควรจะพูดในทางกลับกันว่า มนุษย์ครอบคลุมธรรมชาติทั้งหมดเอาไว้ในตัว และพร้อมกันนั้นมนุษย์ก็เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ

ทางพระพุทธศาสนาถือว่า เรื่องคุณค่าที่เป็นด้านนามธรรมของมนุษย์ ก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน และมันก็ขึ้นต่อกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน มันจึงเป็นความจริงของธรรมชาติเช่นกันด้วย ด้วยเหตุนี้ การที่จะรู้เข้าใจธรรมชาติ เข้าถึงความจริงหรือสัจจ­ธรรมอย่างแท้จริง จึงต้องรู้เข้าใจธรรมชาติให้ครบทั้งสองด้าน คือทั้งธรรมชาติภายในของตัวมนุษย์ และธรรมชาติทั่วไปภายนอก

เฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์เป็นผู้ศึกษา เป็นผู้รู้เข้าใจธรรมชาติ การที่จะรู้เข้าใจธรรมชาติทั่วไปได้ ก็ต้องรู้เข้าใจตัวมนุษย์ที่เป็นผู้ศึกษาและเป็นผู้รู้เข้าใจธรรมชาตินั้นด้วย แม้แต่ตัวความรู้ความเข้าใจนั้นเอง ตลอดจนศรัทธาและความใฝ่รู้เป็นต้น ที่เป็นองค์ประกอบของการเข้าถึงความจริง ก็ล้วนเป็นเรื่องของคุณค่า เป็นด้านนามธรรมของตัวมนุษย์ และเป็นธรรมชาติที่จะต้องรู้เข้าใจด้วยทั้งนั้น ยิ่งกว่านั้น เราจะเห็นจุดบรรจบในขั้นสุดท้ายว่า ตัวภาวะของการรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาตินั้นเอง ก็มีความหมายสำหรับมนุษย์ เป็นการบรรลุถึงความดีงามหรือคุณค่าสูงสุด เพราะฉะนั้น ในขั้นสุดท้าย ความจริงแท้กับความดีงามสูงสุด หรือความจริงสูงสุดกับคุณค่าสูงสุดจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าไม่ศึกษาคุณค่าต่างๆ ที่เป็นเรื่องของมนุษย์นี้แล้ว การรู้เข้าใจธรรมชาติก็จะต้องเว้าแหว่ง บกพร่อง ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถเข้าถึงความจริงอย่างแท้จริง

เมื่อแยกธรรมชาติออกเป็น ๒ ด้านหรือ ๒ ส่วน คือ ตัวมนุษย์กับธรรมชาติภายนอกแล้ว ศรัทธาต่อธรรมชาติ ก็แยกออกเป็น ๒ ด้าน หรือ ๒ ตอนด้วยคือ ศรัทธาในกฎธรรมชาติที่เป็นองค์ความรู้หรือตัวความจริงสูงสุด กับศรัทธาในความดีงามหรือคุณค่าสูงสุด แต่ก็เช่นเดียวกับธรรมชาติโดยรวมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ศรัทธา ๒ อย่างนั้นก็เป็นเพียงการแสดงออก ๒ ด้านหรือ ๒ ตอนของศรัทธาอันเดียวกัน ซึ่งในที่สุด การเข้าถึงองค์ความรู้สูงสุด กับการบรรลุถึงคุณค่าสูงสุดมาบรรจบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศรัทธาที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้เรียกสั้นๆ ว่า ศรัทธาในธรรม

ถึงแม้วิทยาศาสตร์จะมีศรัทธาในกฎธรรมชาติ มุ่งที่จะรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ แต่วิทยาศาสตร์ไม่ได้มองธรรมชาตินั้นครอบคลุมถึงความเป็นมนุษย์และคุณค่า ความจริงที่วิทยาศาสตร์มองจึงไม่ครบถ้วน ไม่ทั่วตลอด การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงขาด​ตอน ไม่สามารถตีวงบรรจบครบรอบได้ จึงไม่สามารถมองเห็นสัจจธรรมได้โดยสมบูรณ์ โดยที่ความจริงด้านหนึ่งของธรรมชาติได้ถูกละเลยมองข้ามไปเสีย คือความจริงด้านตัวมนุษย์ รวมทั้งระบบคุณค่าทั้งหมด

 

ศรัทธาที่ครบชุด ต้องทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

๒) ระดับที่สอง หรือระดับรอง: ศรัทธา ๒ อย่าง ที่โยงต่อกัน

ศรัทธาระดับที่สอง ก็มีจุดที่เป็นเป้า ๒ จุด กล่าวคือ ธรรมชาติกับตัวมนุษย์ และโยงจุดเป้าทั้งสองมาต่อเนื่องกัน เช่นเดียวกับศรัทธาระดับที่หนึ่ง แต่ศรัทธาระดับที่สองนี้แยกเป็นศรัทธา ๒ อย่าง ต่างหากกันชัดเจนออกไป คือ

  1. ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติ ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า ธรรมชาติเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เรียกสั้นๆ ว่า ศรัทธาในกฎธรรมชาติ อย่างที่กล่าวมาแล้ว
  2. ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้รู้เข้าใจความจริงแห่งกฎธรรมชาติ และเข้าถึงชีวิตที่ดีงามสูงสุด บรรลุอิสรภาพได้ เรียกสั้นๆ ว่า ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์

ศรัทธา ๒ อย่างนี้ มีความสัมพันธ์อิงอาศัยสืบเนื่องกันโยงต่อกัน เช่นว่า การที่เราพัฒนาศักยภาพ ตามศรัทธาในข้อที่ ๒ (ความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้) นั้น ก็โดยมุ่งเพื่อให้รู้เข้าใจและเข้าถึงสัจ⁠จภาวะของกฎธรรมชาติ ตามความเชื่อในศรัทธาข้อที่ ๑ และในทางกลับกัน การที่จะพัฒนาศักยภาพได้ตามศรัทธาในข้อที่ ๒ ก็ด้วยการนำเอาความรู้ในกฎธรรมชาติตามศรัทธาในข้อที่ ๑ มาใช้ประโยชน์กับตัวมนุษย์ จึงเป็นการโยงสัมพันธ์บรรจบกัน ถ้าพูดอย่างง่ายๆ ก็ว่า รู้เข้าใจธรรมชาติ เพื่อเอาความรู้มาใช้พัฒนามนุษย์ และพัฒนามนุษย์ก็เพื่อให้รู้เข้าใจ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

รวมความว่า ศรัทธา ๒ อย่างที่ต่างกันเป็น ๒ เป้านั้น โยงเข้ามาบรรจบกันเอง ได้แก่การที่พุทธศาสนามีเป้าหมาย ซึ่งต้องการที่จะเอาความรู้ในกฎธรรมชาติมาใช้กับตัวมนุษย์ ในการที่จะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นั้นขึ้นไป ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้ลอยๆ และการพัฒนาศักยภาพนั้น ก็จะทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

ถ้ามองให้ลึกลงไป จะเห็นว่า ที่จริงนั้น ความสัมพันธ์อิงอาศัยและโยงกันระหว่างศรัทธา ยังซับซ้อนกว่านี้อีก กล่าวคือ ความสัมพันธ์โยงกัน มิได้มีเฉพาะระหว่างศรัทธาในกฎธรรมชาติที่จะต้องรู้เข้าใจความจริง กับศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ที่จะต้องพัฒนาขึ้นไปเท่านั้น แม้แต่ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่หนึ่ง กับศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ในระดับที่สองนี้ ก็มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน

ในระดับที่หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสองด้านของศรัทธามองเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ การเข้าถึงความดีงามสูงสุด ซึ่งจะเรียกว่า ภาวะไร้ทุกข์ หรืออิสรภาพก็ตาม จะสำเร็จได้ ก็โดยต้องเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ และในเวลาเดียวกัน การเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติอย่างครอบคลุม ทั้งธรรมชาติภายนอกทั่วไป และธรรมชาติภายในของตัวมนุษย์ ก็มีค่าและมีผลเป็นการเข้าถึงความดีงามสูงสุดไปด้วยพร้อมกัน

ในระดับที่สอง ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ มีความสัมพันธ์กับศรัทธาในระดับที่หนึ่ง ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับธรรมชาติทั่วไปภายนอก คือสามารถพัฒนาให้รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติได้ และทั้งในด้านที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ คือสามารถพัฒนาให้เข้าถึงความดีงามสูงสุด บรรลุอิสรภาพได้ และเนื่องจากการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติกับการเข้าถึงความดีงามสูงสุด ก็เชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพที่จะเข้าถึงจุดหมายทั้งสองด้าน จึงมีค่าที่รวมลงเป็นอันเดียวกัน

ถ้าวิเคราะห์ให้ละเอียดจะเห็นว่า มีความสัมพันธ์เชิงเหตุผลเป็นวงจร ซ้อนอยู่ภายในระบบของศรัทธานี้หลายชั้น เช่นว่า การที่เราต้องการรู้เข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ ก็เพื่อและมีผลให้เราปฏิบัติต่อธรรมชาติ (ทั้งต่อธรรมชาติทั่วไปภายนอก และต่อชีวิตมนุษย์ของเราเอง) ได้อย่างถูกต้อง ในกรณีนี้ การที่เราศึกษาให้รู้เข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ ก็คือการพัฒนาศักยภาพในตัวมนุษย์ของเรา และการที่เราปฏิบัติต่อธรรมชาติได้ถูกต้อง ก็คือการพัฒนาตนเองของมนุษย์

พร้อมกันนั้น การรู้เข้าใจสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องต่อธรรมชาติ (ทั้งภายนอกและภายในตัว) ได้มากขึ้น ก็คือ การเข้าใกล้ที่จะบรรลุถึงความดีงามหรือคุณค่าสูงสุดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จึงมีค่าเป็นการเข้าถึงกฎธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความหมายเป็นการเข้าถึงความดีงามสูงสุดมากขึ้นไปด้วยพร้อมกัน และการเข้าถึงกฎธรรมชาติมากขึ้น ก็หมายถึงการมีความรู้ความเข้าใจที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติได้ถูกต้องในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งก็มีค่าเป็นการเข้าถึงความดีงามสูงสุดได้มากขึ้นนั่นเอง

การที่จะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ บังคับให้ต้องรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อธรรมชาติในการที่จะพัฒนาตนได้ถูกต้อง และการที่จะเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติอันจะให้บรรลุถึงความดีงามสูงสุด ก็บังคับให้มนุษย์ต้องพัฒนาศักยภาพของตน พร้อมกันนั้น การปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งโลกและชีวิตได้ถูกต้องด้วยการรู้เข้าใจเข้าถึงกฎธรรมชาติ ก็คือ การพัฒนาตนของมนุษย์ที่จะเข้าถึงความดีงามที่เป็นคุณค่าสูงสุด ดังนี้เป็นต้น และในที่สุด การเข้าถึงความจริงและการเข้าถึงความดีงามสูงสุดก็เกิดขึ้นพร้อมเป็นหนึ่งในขณะเดียวกัน

ถ้าใช้ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง เรียกว่าเป็น มรรค หรือการดำเนินชีวิตที่ดี ส่วนการพัฒนาศักยภาพให้รู้จักที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติคือ โลกและชีวิตนั้นได้อย่างถูกต้อง เรียกว่า สิกขา หรือการศึกษา มรรคกับสิกขาเกี่ยวโยงเคียงคู่กันไปในการก้าวสู่ความเข้าถึงกฎธรรมชาติและความดีงามสูงสุด

พึงสังเกตว่า ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่สอง มีความแตกต่างอย่างสำคัญจากศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่หนึ่ง กล่าวคือ ในระดับที่หนึ่ง ตัวมนุษย์ถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยเฉพาะเป็นส่วนที่ทำให้การเข้าถึงความจริงของธรรมชาติมีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่หนึ่งจึงจัดเข้าเป็นศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติด้วย โดยรวมอยู่ในคำว่า ศรัทธาในธรรม แต่ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่สองนี้ เป็นเรื่องจำเพาะต่อตัวของมนุษย์เอง

เมื่อมองดูทางด้านวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์มีศรัทธายืนตัวชัดเจนอยู่อย่างเดียว คือ ศรัทธาในกฎธรรมชาติ การที่พระพุทธศาสนามีศรัทธาในตัวมนุษย์เพิ่มเข้ามา และศรัทธาในตัวมนุษย์ซึ่งเป็นศรัทธาเกี่ยวกับคุณค่านั้น มีทั้งสองระดับ ก็เป็นการช่วยเติมเต็ม ทำให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์แก่การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือการแสวง​หาความจริงของมนุษย์

ศรัทธาในตัวมนุษย์ระดับที่ ๑ คือ ศรัทธาในคุณค่าสูงสุด ซึ่งเป็นธรรมชาติด้านนามธรรม ช่วยขยายแดนแห่งความจริงที่จะเข้าถึงออกไป ให้ครบบริบูรณ์ ครอบคลุมทั่วทั้งหมด

ศรัทธาในตัวมนุษย์ระดับที่ ๒ คือ ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้สูงสุด ทำให้การแสวงหาความรู้มีเป้าหมายและขอบเขตชัดเจนแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับการที่จะเข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุด ไม่เป็นการแสวงหาความรู้อย่างเลื่อนลอย เปะปะ แล้วถูกคุณค่าแปลกปลอมแทรกเข้ามาครอบงำ

ศรัทธาทั้งสองระดับนี้ ถ้าจัดให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ ก็เป็นศรัทธาชุดเดียวกัน แต่ถ้านำมาจัดเรียงไว้ด้วยกันให้ครบถ้วน ก็อาจเป็นการยากสำหรับบางคนที่จะทำความเข้าใจตามได้ทัน จึงขอให้ถือเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ

ศรัทธา ๒ ระดับข้างต้น จัดระบบรวมเป็นชุดเดียวกันได้ดังนี้

๑. ศรัทธาในธรรม แยกเป็น ๒ ด้าน

ก) ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติทั่วไปภายนอก คือ ความเชื่อมั่นในความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย หรือเชื่อในกฎธรรมชาติ

ข) ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติภายในตัวมนุษย์ คือความเชื่อมั่นในความดีงามสูงสุด หรือภาวะไร้ทุกข์ บรรลุถึงอิสรภาพของมนุษย์ ที่เข้าถึงได้ตามกฎธรรมชาติ หรือเชื่อในคุณค่าสูงสุด

๒. ศรัทธาในตัวมนุษย์ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้

ก) ที่จะให้รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงแห่งกฎธรรมชาติ

ข) ที่จะให้เข้าถึงความดีงามสูงสุด บรรลุอิสรภาพ

ศรัทธาข้อแรก ทั้งความเชื่อในกฎธรรมชาติและความเชื่อในความดีงามสูงสุดของมนุษย์ เรียกให้สั้นว่า ศรัทธาในธรรม ส่วนข้อที่สอง คือความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เรียกเป็นศัพท์ว่า ศรัทธาในโพธิ หมาย​ความว่าเป็นความเชื่อในปัญญาของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาให้เป็นพุทธะได้ ถ้ายกเอาตัวมนุษย์ขึ้นตั้ง โดยเน้นบุคคลในอุดมคติ ผู้บรรลุจุดหมายในการที่พัฒนาศักยภาพนั้นได้สำเร็จ ในฐานะเป็นต้นแบบสำหรับเตือนจิต​สำนึกในความมีศักยภาพนั้นของมนุษย์แต่ละคน ก็เรียกว่า ศรัทธาในพุทธ

ศรัทธาในมนุษย์นี้ยังแยกย่อยออกไปอีกเป็น ๒ ส่วน คือเชื่อในตัวมนุษย์และในสังคมมนุษย์ ศรัทธาในสังคมมนุษย์ก็คือความเชื่อในหมู่ชนและสังคมของมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นไปได้ ซึ่งเป็นที่ปรากฏแห่งความรู้ในกฎธรรมชาติที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้จริงจัง หมายความว่า ศรัทธาในการพัฒนาศักยภาพนี้จะเชื่อมต่อไปยังกฎธรรมชาติว่า เราจะต้องนำเอากฎธรรมชาติหรือความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาใช้ในการพัฒนามนุษย์ สร้างสังคมของมนุษย์ที่พัฒนาตนขึ้นมา แล้วหมู่มนุษย์ที่พัฒนาตนตามหลักความรู้ในกฎธรรมชาตินี้ ก็จะเป็นทั้งที่ปรากฏผลแห่งการใช้ความรู้ในกฎธรรมชาตินั้น และเป็นที่ดำรงความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นไว้ให้ปรากฏแก่มนุษย์รุ่นต่อๆ ไป เป็นความสัมพันธ์อย่างเข้าถึงกันแท้จริงระหว่างหมู่มนุษย์กับธรรมชาติ นี่คือความเชื่อในสังคมอุดมคติ ซึ่งเรียกว่า ศรัทธาในสงฆ์ หรือ ศรัทธาในสังฆะ

รวมทั้งหมดก็มี ๓ อย่าง คือ ศรัทธาในธรรมะ ศรัทธาในพุทธะ และศรัทธาในสังฆะ เป็นชุดของศรัทธาที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันสู่ความเป็นอันเดียว แต่ในเชิงปฏิบัติ เรียงลำดับใหม่ โดยยกศรัทธาในพุทธะขึ้นก่อน คือยกเอามนุษย์ขึ้นตั้ง ชี้ไปที่ตัวแบบซึ่งเป็นจุดเริ่มกระตุ้นที่จะโยงสู่ศรัทธาข้ออื่นให้ครบชุดต่อไป (เป็นวิธีเรียงลำดับเชิงปฏิบัติ ตามหลักการเดียวกับอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งเริ่มด้วยปัญหาที่มนุษย์เผชิญ คือทุกข์ก่อน ทั้งที่ปัญหานั้นเป็นผล ซึ่งควรมาต่อจากเหตุ แต่ยกผลขึ้นตั้งเป็นจุดเริ่มที่จะสืบสาวสู่เหตุต่อไป) เมื่อรวมเป็น ๓ อย่างนี้ เรียกเป็นชุดว่าศรัทธาในพระรัตนตรัย กล่าวคือ ศรัทธาในพุทธะ ในธรรมะ และในสังฆะ

ศรัทธาทั้งชุด ๓ อย่างนั้น บางทีเรียกรวบรัด โดยใช้คำเดียวว่า ศรัทธาในโพธิ คือ ความเชื่อมั่นในปัญญาของมนุษย์ที่จะพัฒนาศักยภาพให้เข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดได้ โดยที่ โพธิ นั้น เป็นภาวะที่โยงพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ เข้าด้วยกัน

 

ทำท่าจะเหมือน แต่ก็ไม่เหมือน

ขอย้อนกลับไปพูดถึงศรัทธาระดับที่สอง ที่แยกเป็น ๒ ด้าน อย่างที่แสดงไว้ข้างต้น ในเรื่องนี้ มีข้อสังเกตว่า แท้จริงนั้น ศรัทธาของวิทยาศาสตร์ก็มีเค้าว่าจะแยกเป็น ๒ อย่างตรงกับของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน คือ เชื่อในกฎธรรมชาติ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ขอให้พิจารณาดูศรัทธาของวิทยาศาสตร์นั้น ซึ่งถ้าพูดให้เต็มความก็จะบอกว่า (ศรัทธาของวิทยาศาสตร์) ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า ในธรรมชาตินี้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ซึ่งสามารถเข้าถึงหรือรู้เข้าใจได้ด้วยปัญญาของมนุษย์

จะเห็นว่า ศรัทธาของวิทยาศาสตร์นี้ ก็แยกได้เป็น ๒ ตอน และมีจุดที่เป็นเป้า ๒ จุด เช่นเดียวกัน คือ ช่วงแรก เชื่อในกฎธรรมชาติ ช่วงที่ ๒ เชื่อในปัญญาของมนุษย์ที่สามารถรู้เข้าใจกฎธรรมชาตินั้นได้ คือเชื่อในศักยภาพของมนุษย์นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อหรือศรัทธาอย่างที่สองที่เป็นช่วงหลังนี้ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ยกขึ้นมาเน้นให้เด่นชัด เป็นเพียงความเชื่อที่ซ่อนแฝงอยู่เท่านั้น ดังนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ นอกจากมีศรัทธาที่เชื่ออย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ก้าวต่อไปในศรัทธาข้อที่สองนี้ คือไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องกระบวนการพัฒนามนุษย์ว่ามีธรรมชาติอย่างไร จะพึงดำเนินการอย่างไร มุ่งแต่จะสนองศรัทธาข้อแรก คือการที่จะรู้เข้าใจเข้าถึงหรือค้นให้พบกฎธรรมชาติอย่างเดียว

ข้อนี้ ต่างจากพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่า ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์นี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และได้ขยายเรื่องนี้ออกไปสู่ภาคปฏิบัติการ มีการจัดตั้งเป็นระบบและกระบวนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จนกระทั่งเรื่องการพัฒนามนุษย์นี้เป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของพระพุทธศาสนา

เมื่อมองดูแต่ต้น จะเห็นชัดว่า ศรัทธาของพระพุทธศาสนาโยงกันตลอดทั้ง ๓ ตอน กล่าวคือ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจกฎธรรมชาติได้ โดยมีความเชื่อมั่นเป็นฐานรองรับอยู่ว่า ธรรมชาติมีความเป็นไปอย่างมีกฎเกณฑ์แน่นอนที่เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติ และพร้อมกันนั้นก็มีความเชื่อมั่นด้วยว่า การเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาตินั้นจะทำให้มนุษย์เข้าถึงความดีงามสูงสุดมีชีวิตที่ไร้ทุกข์ด้วย โดยโยงกลับไปหาความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนให้เข้าถึงความดีงามสูงสุดนั้นได้ ด้วยการรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ และนำเอาความรู้นั้นมาใช้แก้ปัญหาและปฏิบัติต่อโลกและชีวิตให้ได้ผลดี ในกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์

การมีศรัทธาอย่างนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ คือ ในพระพุทธศาสนา การแสวงหาความรู้เพื่อเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ จะดำเนินควบคู่พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาตนของมนุษย์ และการพัฒนามนุษย์นั้นจะเป็นตัวบอกขอบเขตของการนำความรู้ในกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเมื่อเป็นไปตามหลักการนี้ ก็จะปิดทางมิให้มีการนำความรู้ในกฎธรรมชาติไปใช้ในทางของการสนองโลภะ โทสะ โมหะของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการเบียดเบียนทำลายชีวิตสังคมและธรรมชาติ แต่ให้ใช้ในทางที่เป็นคุณอย่างเดียว โดยที่ทั้งเป้าหมายของการแสวงหาความรู้และทั้งการพัฒนาตนของมนุษย์เองที่ควบคู่กันไปกับการแสวงหาความรู้นั้น ล้วนแต่ปิดกั้นช่องทางที่จะเกิดโทษภัยเหล่านี้ทั้งสิ้น

ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ ศรัทธาด้านเดียวที่เป็นความเชื่อมั่นในกฎธรรมชาติ อาจทำให้การแสวงหาความรู้เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยเลื่อน​ลอย โดยไม่มีการพัฒนาตนเองของมนุษย์ควบคู่กันไป และก็มิได้มีเป้าหมายเพื่อจะนำเอาความรู้ในกฎธรรมชาติไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ การแสวงหาความรู้ความจริงในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ จึงไม่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์หรือใครๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความสุข ผ่อนทุกข์ คลายเครียด มีจิตใจสงบมั่นคงเจริญงอกงามขึ้น (นอกจากบางคนที่วางใจถูกต้องพอดีในปฏิบัติการแสวงความจริง จึงทำให้คุณค่าในระหว่าง ที่สอดคล้องเกิดขึ้นมา) และพร้อมนั้นก็เปิดช่องอย่างเต็มที่แก่คุณค่าอันไม่พึงประสงค์ที่จะเข้ามาชี้นำการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ให้เป็นไปในทางสนองโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งก่อให้เกิดการเบียดเบียน และการผลาญทำลายเป็นต้น ดังที่แนวความคิดในการพิชิตธรรมชาติและแนวความคิดในการปรุงแต่งวัตถุปรนเปรอให้พรั่งพร้อมได้เข้ามาครอบงำการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมาทั้งหมด ดังกล่าวข้างต้น และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของลักษณะความคิดแบบแยกส่วนของตะวันตก

ขอย้ำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีจิตใจ หรือพูดให้กระชับตรงยิ่งขึ้นไปอีกว่า เป็นสัตว์มีเจตจำนง คือเป็นสัตว์ที่ทำกรรม มีการคิดเป็นต้น และกรรมทุกอย่างมีการคิดเป็นต้นนั้น ต้องอาศัยเจตจำนงทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่มีสำนึกในคุณค่า เมื่อเขามีศรัทธาในกฎธรรมชาติและคิดที่จะแสวงหาความรู้ในความจริงของกฎธรรมชาตินั้น เขาจะต้องมีความรู้สึกที่เป็นคุณค่าอยู่ในจิตใจหรือในเจตจำนงด้วย จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม และคุณค่าที่อยู่ในความรู้สึกนั้นก็จะเป็นปัจจัยที่กำหนดรูปแบบและทิศทางของปฏิบัติการในการแสวงหาความรู้กฎธรรมชาติของเขา ตลอดจนแง่มุมและลักษณะของความจริงที่เขาค้นพบด้วย

ถ้าความสำนึกในคุณค่าของเขาไม่หยั่งลงไปถึงคุณค่าพื้นฐานที่บรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความจริงของธรรมชาติ คือความดีงามสูงสุดที่พ่วงอยู่กับความรู้แจ้งในความจริงของกฎธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แล้ว การแสวงหาความรู้ในความจริงของธรรมชาติ นอกจากจะไม่มีทางครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะละเลยแดนแห่งความจริงไปด้านหนึ่งแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็จะถูกคุณค่าปลีกย่อยกระเส็นกระสายเข้ามาครอบงำ ทำให้การแสวงหาความรู้เปะปะอยู่ครึ่งๆ กลางๆ เรื่อยไป

ในการแสวงหาความรู้นั้น คุณค่าในจิตใจที่แฝงอยู่จะมีอิทธิพลในการชี้ทิศทางของการแสวงหาความจริง มีส่วนปั้นแต่งรูปร่างของความจริงที่ค้นพบ ลักษณะการเห็นความจริง และแง่ด้านของความจริงที่มองเห็น พูดง่ายๆ ว่า ความรู้ความจริงของนักวิทยาศาสตร์ไม่เป็นอิสระจากคุณ​ค่าในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างง่ายๆ ของคุณค่าปลีกย่อยเหล่านี้ เช่น ความสุข ความพอใจในการแสวงหาความรู้และในการได้ค้นพบความจริงต่างๆ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าในการแสวงหาความรู้นั้น

แม้แต่ความใฝ่รู้ความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ประเสริฐนั้น ถ้าวิเคราะห์และสืบค้นให้ลึกลงไป ก็อาจจะมีคุณค่าอะไรอื่นบางอย่างซ้อนอยู่เบื้องหลังอีกก็ได้ เช่น อาจจะเป็นความปรารถนาจะสนองเวทนาในการที่จะได้ความสุขอย่างประณีต ดังนี้เป็นต้น

พูดไปพูดมา ชักจะยาว เดี๋ยวก็จะพร่า ขอรวมความว่า เราได้พูดมาถึงคุณค่า ๒ ระดับ คือ คุณค่าสูงสุด กับคุณค่าสอดคล้องในระหว่าง คุณค่าสูงสุดนั้นเป็นภาวะของความจริงที่จะเข้าถึง ไม่ใช่เป็นความรู้สึกที่จะเอามาตั้งขึ้นในใจของเรา นักวิทยาศาสตร์มีศรัทธาในกฎธรรมชาติอยู่แล้ว ศรัทธานั่นแหละเป็นคุณค่าอยู่ในตัวแต่แรกเริ่ม เพียงแต่ขยายศรัทธานั้นให้กว้างออกไป ให้ครอบคลุมธรรมชาติทั้งหมดรวมทั้งในตัวมนุษย์เองด้วย คือศรัทธาในความดีงามสูงสุด เพียงด้วยความตระหนักรู้ หรือสำนึกถึงความจริงที่ว่า กฎธรรมชาตินั้นโยงไปสู่ความมีชีวิตที่ดีงามด้วย

เมื่อมีคุณค่าคือศรัทธาที่ถูกต้องแล้ว คุณค่าในระหว่างที่สอดคล้องก็จะเกิดมีขึ้นมาได้เอง หรือจะตั้งใจสำนึกขึ้นมาเป็นการเน้นสำทับก็ได้ ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นไม่ให้คุณค่ากระเส็นกระสายที่ไม่พึงประสงค์ แทรกตัวเข้ามาครอบงำจิตใจ ความคิดและปฏิบัติการของผู้แสวงหาความรู้ การปฏิบัติในเรื่องคุณค่าพื้นฐานก็มีเพียงเท่านี้

จากศรัทธาที่เป็นคุณค่าเริ่มแรก คุณค่าในระหว่างหรือคุณค่ารองที่สอดคล้องก็จะเกิดตามมา โดยเฉพาะคือความใฝ่รู้ จากศรัทธาในความจริงของธรรมชาติ ก็เกิดความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ หรือความใฝ่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ และจากศรัทธาในความดีงามสูงสุด และในศักยภาพของมนุษย์ ก็นำสู่คุณค่าคือความใฝ่ปรารถนาที่จะเข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ และการที่จะแก้ปัญหา และพัฒนาตนเองของมนุษย์

ได้พูดไปแล้วว่า ความใฝ่หรือปรารถนาในพุทธศาสนานั้นมี ๒ ส่วน มาบรรจบกัน เมื่อกี้นี้ยังไม่ได้แสดงความบรรจบ เพียงแต่พูดทิ้งไว้ว่า

อย่างที่หนึ่ง คือ ความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาติ

และอีกอย่างหนึ่งคือ ความใฝ่ปรารถนาความไร้ทุกข์

สองอย่างนี้จะต้องมาบรรจบกัน พอมาบรรจบกันแล้วก็จะทำให้ความใฝ่รู้นั้นมีขอบเขตและเป้าหมายที่ชัดเจน คือกลายเป็นความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ เพื่อนำมาแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ให้ไร้ทุกข์ ตรงนี้แหละคือจุดสมบูรณ์ของพุทธศาสนาเมื่อความใฝ่ปรารถนาสองอย่างมาบรรจบกัน ซึ่งทำให้เกิดวงจร แล้วก็เกิดความสมดุล คือความพอดี มีขอบเขตที่ชัดเจนคือการที่จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติและการที่จะต้องเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ หรือพัฒนามนุษย์ หรือจะใช้สำนวนอื่นก็อาจจะบอกว่า เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงาม ที่บรรลุประโยชน์สุข หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ทั้งหมดนั้นจะมีความหมายที่โยงเข้ามาหาตัวมนุษย์ด้วย ซึ่งทำให้มีขอบเขตว่าเราจะใช้ความรู้นั้นแค่ไหนและอย่างไร

โดยเฉพาะภาวะที่เรียกว่ามีความสมดุลในการกระทำต่อธรรมชาติ กับการกระทำต่อตนเองคือการพัฒนาตนของมนุษย์ ทำให้การแสวงหาความรู้ในธรรมชาติ ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาตนของมนุษย์ และความรู้ในธรรมชาติที่ได้มา ก็ถูกเอามาใช้ในการพัฒนามนุษย์ยิ่งขึ้นไป

ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้น เดิมมีแต่ความใฝ่รู้ความจริง อย่างที่ว่าแล้วว่าลอยตัวอยู่ลำพัง เมื่อเป็นความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติลอยๆ มันก็จะได้แต่คอยแสวงเนื้อหาข้อมูลของความรู้เรื่อยๆ ไป อยากรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ โดยมองออกไปเรื่อยๆ มีแต่หาความรู้ไปก็แล้วกัน ซึ่งเราก็จะเห็นว่าการหาความรู้ของนักวิทยาศาสตร์นี่ปลายเปิด

ทีนี้เพราะความใฝ่รู้แบบปลายเปิดนี้ไม่มีเป้าหมายชัดเจน ก็เลยเป็นการเปิดช่องให้มีการนำเอาเป้าหมายอื่นมาเติมต่ออย่างที่ว่ามาแล้ว เป้าหมายอื่นที่มาเติมต่อก็ได้พูดไปแล้ว อย่างที่หนึ่งคือความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ แล้วต่อมาก็ความใฝ่ปรารถนาที่จะมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม แล้วสองอย่างนั้นก็มาบรรจบกันอีก เกิดเป็นวงจรที่ว่า ความใฝ่รู้ของวิทยาศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการพิชิตธรรมชาติ เพื่อหาวัตถุมาบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเองสนองความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

ขอย้ำความหมายของวงจรนี้ว่า เป็นการใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ เพื่อเอาชนะธรรมชาติ แล้วจะได้จัดการปรุงแต่งธรรมชาติให้สนองรับใช้ความต้องการของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์มีความสุขด้วยการมีสิ่งบำเรอพรั่งพร้อมเต็มที่ แล้ววงจรนี้ก็ได้กลายเป็นต้นเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ทั้งปัญหาจิตใจ ปัญหาสังคม และโดยเฉพาะที่กำลังเน้นกันมากคือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมอย่างที่เป็นอยู่

นี้คือการที่แนวความคิดในยุคอุตสาหกรรมได้เข้ามาครอบงำวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดจากช่องโหว่ ในการมีปลายเปิดของความใฝ่รู้ของวิทยาศาสตร์นั่นเอง ที่เป็นการกระทำของมนุษย์แต่ไม่มีจุดเชื่อมโยงมาถึงตัวเองของมนุษย์ และปัจจุบันนี้เราก็กำลังประสบปัญหาจากจุดอ่อนหรือช่องโหว่นี้ นี่คือข้อสรุปที่บอกว่า เดี๋ยวนี้การที่เรากำลังประสบปัญหาธรรมชาติแวดล้อม และอะไรต่ออะไรนี้ ก็สืบเนื่องมาจากแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติเพื่อจะปรุงแต่งสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตนของมนุษย์ให้พรั่งพร้อม เพราะเข้าใจว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่นี่

แนวความคิดแบบนี้ทำให้ไม่มีขอบเขตของการกระทำที่ชัดเจน การกระทำที่ไม่พอดีก็จึงเกิดขึ้น เพราะไม่รู้จะเอาแค่ไหน การหาความสุขพรั่งพร้อมก็ไม่มีที่สิ้นสุด การพิชิตธรรมชาติก็ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยจัดการกันเรื่อยไป จนโทรมหรือสลาย ตลอดจนพินาศไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นปัญหาก็ต้องเกิดขึ้นแน่นอน อันนี้คือจุดแยกจุดหนึ่งระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

 

แดนแห่งความรู้: ขอบเขตและเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน

ถ้าวิเคราะห์กันต่อไปอีก ก็จะเห็นว่า การที่วิทยาศาสตร์มีช่องโหว่เป็นปลายเปิดนี้ ก็เพราะวิทยาศาสตร์แสวงหาความรู้ความจริงของธรรมชาติในโลกฝ่ายวัตถุภายนอกด้านเดียว ไม่แสวงหาความรู้ความจริงในธรรมชาติของตัวมนุษย์เอง

วิทยาศาสตร์ไม่สนใจและไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ก็จึงไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องกลายไปเป็นเครื่องมือสนองรับใช้แนวคิดแบบอุตสาหกรรมที่วางจุดหมายอย่างผิดธรรมชาติ กล่าวคือ การไม่รู้ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่า การบำเรอความสุขทางประสาททั้ง ๕ เป็นสิ่งที่ไม่อาจให้เต็มอิ่มหรือให้พอได้ ความอยากด้านนี้ของมนุษย์จึงไม่มีที่สิ้นสุด และการหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุก็จึงไม่มีที่สิ้นสุด หรือไม่มีขอบเขตด้วย

ในเมื่อความพรั่งพร้อมของวัตถุบำเรอมนุษย์เกิดจากการจัดการกับธรรมชาติ การจัดการกับธรรมชาติหรือการแสวงผลประโยชน์จากธรรมชาติก็จึงไม่มีที่สิ้นสุดด้วย ในที่สุดธรรมชาติก็ไม่พอที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องเอาเปรียบและเบียดเบียนธรรมชาติ จนแม้ธรรมชาติพินาศสลายหรือเสียไปทั้งหมด ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขได้ คือแม้แต่ว่าธรรมชาติจะพินาศหมดไป มนุษย์ก็ยังไม่อาจเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้อยู่นั่นเอง

แต่ถ้าพูดให้ถูกกว่านั้น ไม่ต้องพูดถึงการที่จะได้วัตถุปรนเปรอพอที่จะมีความสุขหรือไม่หรอก การเอาเปรียบหรือเบียดเบียนธรรมชาติ ก็ก่อทุกข์แก่มนุษย์ไม่คุ้มกับความสุขที่ได้อยู่แล้ว

เมื่อกี้นี้พูดถึงจุดร่วมสำคัญของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านศรัทธาและความใฝ่รู้ หรือทั้งด้านความเชื่อและความใฝ่รู้แล้ว ต่อไปก็จะต้องพิจารณาอีกว่าเป้าของความใฝ่รู้และศรัทธานั้นคืออะไร ซึ่งตอบได้ว่าก็ตัวความรู้หรือตัวความจริงน่ะสิ เพราะการที่เราใฝ่รู้และศรัทธานั้นก็เพื่อต้องการความจริงหรือความรู้นั้น เป็นอันว่าตอนนี้เราก็มาถึงประเด็นเรื่อง ตัวความรู้หรือความจริง ได้แก่ ความรู้ในกฎธรรมชาติซึ่งจะทำให้จุดหมายของตนสำเร็จ หมายความว่า มนุษย์จะต้องมีความรู้เข้าใจในกฎธรรมชาติ จุดหมายนี้ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า

ฝ่ายหนึ่งคือพุทธศาสนานั้น จุดหมายคือ การนำความรู้ความจริงหรือความรู้ในกฎธรรมชาติ มาแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ให้ถึงความไร้ทุกข์

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ จุดหมายคือ การนำเอาความรู้นั้นมาพิชิตธรรมชาติ แล้วก็หาความสุขความพรั่งพร้อมบำรุงบำเรอตนเองของมนุษย์

เมื่อความมุ่งหมายต่างกัน จุดที่เป็นเป้าของความใฝ่รู้ก็ต่างกัน ในที่นี้เรากำลังจะพูดถึงจุดที่เป็นเป้าของความใฝ่รู้ หรือ ตัวสิ่งที่เราต้องการจะรู้นั่นเอง

ในฝ่ายพุทธศาสนา ธรรมชาติที่เป็นจุดเป้าของความใฝ่รู้คืออะไร ก็⁠คือตัวมนุษย์ หมายความว่าเป้าสำคัญของการต้องการความรู้ก็คือต้อง​การรู้ธรรมชาติของมนุษย์นี่เอง ย้ำว่า มนุษย์เป็นตัวเป้าของความใฝ่รู้ เป็นตัววัตถุแห่งความรู้ที่ต้องการ แล้วจึงโยงไปยังโลกและสรรพสิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดนั้นมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์เป็นจุดกำหนด หมายความว่าเราเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในการที่จะศึกษาความจริง

ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติส่วนที่เป็นจุดเป้าของความใฝ่รู้ได้แก่ โลกภายนอก คือโลกแห่งธรรมชาติภายนอก หรือโลกแห่งวัตถุ แม้เข้ามาที่ตัวมนุษย์ก็ศึกษาชีวิตในฐานะเป็นวัตถุ ซึ่งเป็นส่วนของโลกนั้น ไม่ได้ศึกษาตัวมนุษย์ หมายความว่า วิทยาศาสตร์อาจจะศึกษาชีวิตมนุษย์ แต่ศึกษาชีวิตมนุษย์ในแง่ชีววิทยาที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกภายนอกนั้นเท่านั้น ไม่จับถึงความเป็นมนุษย์ อันนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่จะต้องเข้าใจไว้

เป็นอันว่าจุดเป้าของความใฝ่รู้ของพุทธศาสนาได้แก่ตัวมนุษย์ ส่วนของฝ่ายวิทยาศาสตร์ได้แก่โลกภายนอก เมื่อเอาประเด็นนี้เป็นข้อพิจารณา ในการมองสัจจภาวะหรือตัวความจริง เราก็มาดูว่าธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ต้องการศึกษา กับธรรมชาติที่พุทธศาสนาต้องการศึกษานั้นมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร เมื่อเทียบกันแล้วเราก็บอกได้ว่าธรรมชาติที่พุทธ­ศาสนาต้องการศึกษานั้นครอบคลุมกว่า เพราะจับเอาที่ตัวมนุษย์ทั้งหมด

เราถือว่า มนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติที่วิวัฒนาการสูงสุดแล้ว เมื่อมนุษย์เป็นวิวัฒนาการสูงสุดของธรรมชาติ ก็มีความจริงครบทุกระดับขั้นอยู่ในตัวหมด หมายความว่า ในตัวมนุษย์นี้มีธรรมชาติทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายนามธรรม ในด้านวัตถุคือร่างกายก็มีสารมีธาตุอะไรต่างๆ ที่โยงไปถึงโลกของธรรมชาติภายนอกได้ทั้งหมด แต่ในส่วนโลกธรรมชาติภายนอกนั้นไม่มีด้านจิตใจ ไม่มีธรรมชาติด้านคุณค่าอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษามนุษย์ก็สามารถรู้ครบครอบคลุมความจริงในธรรมชาติทุกอย่างทุกประการ

แต่วิทยาศาสตร์นั้นศึกษาความจริงเพียงในระดับของสสาร พลังงาน ชีวิตในแง่ชีววิทยา คือในแง่ของวัตถุ หรือรูปธรรม ส่วนในด้านของจิตใจ เช่น เรื่อง mind เรื่อง consciousness เรื่อง spirit นี่วิทยาศาสตร์ไม่เอาด้วย

อย่างไรก็ตาม เหมือนดังที่บอกแล้วตอนต้นว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์กำลังจะก้าวเข้ามาศึกษาเรื่องจิตใจ ตอนนี้กำลังเริ่มสนใจด้านนามธรรมแล้ว อย่างที่ถกเถียงกันว่า mind คืออะไร consciousness คืออะไร คอมพิวเตอร์จะมีจิตได้หรือไม่เป็นต้น

เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์ศึกษาจากโลกภายนอกเข้ามา พอถึงตัวมนุษย์ วิทยาศาสตร์ก็ศึกษาแค่ชีวิต ไม่ศึกษาตัวมนุษย์ วิทยาศาสตร์รู้ธรรมชาติของชีวิต แต่ไม่รู้ธรรมชาติของมนุษย์ “ธรรมชาติของมนุษย์” กับ “ธรรมชาติของชีวิต” นั้นคนละอย่าง เราจะเอาคำว่า “ชีวิต” มาครอบคลุมคำว่า “มนุษย์” ไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน

ที่พูดมาแล้วนี้ เป็นเรื่องของหลักการต่างๆ ที่สำคัญ ต่อไปจะพูดถึงข้อสังเกตบางอย่าง

ข้อสังเกตที่ ๑ คือ เมื่อกี้นี้ได้พูดไว้ว่าพุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า man-centered พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางโดยตลอด มุ่งความเข้าใจตัวมนุษย์ พัฒนาตัวของมนุษย์เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์สนใจโลกธรรมชาติภายนอกทั่วไป อยากรู้ความจริงของธรรมชาตินอกตัว ไม่ได้เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง

แต่ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์เติมคุณค่าตามแนวคิดพิชิตธรรมชาติเข้ามาแล้ว แนวคิดพิชิตธรรมชาตินั้นได้ทำให้วิทยาศาสตร์ก็เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางเหมือนกัน ตอนนี้ก็จึงเกิดการเข้ามาบรรจบกันอีก เดี๋ยวแยก เดี๋ยวพบ เมื่อกี้แยก เดี๋ยวนี้มาบรรจบอีกแล้ว ตอนนี้วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนามาบรรจบกันอีก คือตอนที่ว่าวิทยาศาสตร์กลับเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ต่างกันอีก คือ

ลักษณะการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนของวิทยาศาสตร์ก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางโดยเน้นความรับผิดชอบ คือเน้นสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำ ในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี และในการที่จะพัฒนาตนขึ้นไปให้ถึงความไร้ทุกข์ หมายความว่า พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในแง่ที่จะต้องรู้เข้าใจและพัฒนาตัวเอง เราจะต้องจัดการพัฒนามนุษย์และแก้ปัญหาให้มนุษย์ ซึ่งก็เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ คือเพื่อมนุษย์จะได้เข้าถึงความไร้ทุกข์ มีอิสรภาพ บรรลุความดีงามสูงสุด

ส่วนวิทยาศาสตร์นั้น เมื่อได้ตกอยู่ภายใต้แนวความคิดพิชิตธรรมชาติแล้ว ก็เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในแง่ที่มุ่งจะได้จะเอาจากธรรมชาติ หมายความว่าธรรมชาติจะต้องรับใช้ตอบสนองความต้องการของฉัน ฉันมีความปรารถนาต้องการอย่างนั้นๆ คือหาสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง แล้วมนุษย์ก็พยายามไปจัดการกับธรรมชาติ ปั้นแต่งมันให้สนองความต้องการของตน เพราะฉะนั้นก็จึงมีลักษณะเป็น man-centered แต่มีความหมายคนละอย่างซึ่งตรงกันข้ามเลย พูดง่ายๆ ว่า วิทยาศาสตร์เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในแง่ที่จะเอาธรรมชาติมาสนองความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึง man-centered เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันเลย

เป็นอันว่า ตอนแรกเมื่อพูดในแง่ตัวความรู้หรือความจริงที่ต้องการศึกษา พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือเอามนุษย์เป็นตัวความจริงที่ต้องการศึกษาให้รู้เข้าใจ และที่ต้องการรู้เข้าใจก็เพื่อจะได้พัฒนามนุษย์ และแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ได้ถูกต้อง เท่ากับเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางสอดคล้องกันโดยตลอด แต่วิทยาศาสตร์นั้น ตอนแรกในแง่ตัวความรู้หรือความจริงที่จะศึกษา เอาโลกวัตถุเป็นศูนย์กลาง แต่เสร็จแล้ว ก็มาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในแง่ที่จะเอาวัตถุหรือธรรมชาติภายนอกมาสนองความต้องการของมนุษย์

ข้อสังเกตที่ ๒ คือเรื่อง pure science หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ถามว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์

วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่เรามองในแง่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ คือเป็นความรู้บริสุทธิ์ยังไม่ได้ประยุกต์ใช้ เรานำคำนี้มาใช้โดยแยกต่างจากวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี แต่ทีนี้ถ้าจะเล่นสำนวนบ้าง เราก็จะบอกว่า “วิทยาศาสตร์ไม่บริสุทธิ์” วิทยาศาสตร์ที่ว่าบริสุทธิ์นั้นไม่บริสุทธิ์จริง จริงอยู่ ในขั้นที่มีความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ ต้องการรู้กฎธรรมชาติล้วนๆ เราอาจจะถือว่ามีความบริสุทธิ์ แต่ในตอนที่มีระบบคุณค่าเข้ามาพัวพัน ประกอบด้วยแรงจูงใจคือความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ และแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอตนของมนุษย์ให้บริบูรณ์ นี่แหละเป็นตอนที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว นี่ก็เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น ไม่ควรจะเสียเวลากับเรื่องนี้ ก็ขอผ่านไป

 

วิธีเข้าถึงความรู้: แนวทางที่ตรงกัน แต่เน้นต่างกัน

ทีนี้ต่อไปสู่หัวข้อที่ ๔ ต่อจากตัวความรู้แล้ว ก็ถึงวิธีหาความรู้

วิธีหาความรู้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากเชื่อในกฎธรรมชาติและใฝ่รู้ความจริงในกฎธรรมชาตินั้นแล้ว การที่จะได้ความรู้หรือตัวกฎธรรมชาติมา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องมีวิธีการหาความรู้ หรือวิธีการเข้าถึงความจริง วิธีการเข้าถึงความจริง หรือหาความรู้นี้ ในพุทธศาสนาบอกว่าที่สำคัญมี ๓ ประการ

ประการที่ ๑ คือ การรับรู้ประสบการณ์อย่างเที่ยงตรง การรับรู้ประสบการณ์อย่างเที่ยงตรง คือ รับรู้ตามที่มันเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่เน้นในพุทธศาสนาอย่างมาก ท่านให้ความสำคัญแก่การเข้าถึงความจริงตั้งแต่ขั้นรับรู้เลยทีเดียว คือ พอตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น ที่เรียกว่ามีการรับรู้ ก็มีปัญหาทันทีสำหรับมนุษย์ คือเป็นการรับรู้ตามที่มันเป็นอย่างหนึ่ง กับรับรู้ตามที่ฉันคิดให้มันเป็น หรือรับรู้ตามที่อยากให้มันเป็นอย่างหนึ่ง สำหรับมนุษย์ส่วนมากการรับรู้จะเป็นการรับรู้ตามที่อยากให้มันเป็น หรือตามที่คิดให้มันเป็น ไม่สามารถรับรู้ตามที่มันเป็น ความผิดพลาด บิดเบือน หันเห หรือคลาดเคลื่อนจากความจริง จึงเกิดขึ้น ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเน้นหลักการนี้คือ จะต้องรับรู้ตามที่มันเป็น

ประการที่ ๒ ต้องมีความคิดที่เป็นระเบียบ คือมีวิธีคิด หมายความว่า นอกจากมีวิธีรับรู้ที่ถูกต้องแล้วก็ต้องมีวิธีคิดที่ถูกต้องด้วย

ประการที่ ๓ คือ วิธีที่จะหาความจริง หรือพิสูจน์สืบสาวหาความรู้นั้น ใช้การสังเกตทดลองด้วยประสบการณ์ตรง

ในที่นี้จะสังเกตเห็นว่าวิธีการเหล่านี้มีความละม้ายเหมือนกับวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย ในสามอย่างนี้มีข้อไหนที่วิทยาศาสตร์ต่างออกไปบ้าง ข้อพิจารณาก็คือ วิธีการเหล่านี้อาจจะเหมือนกันในหลักการใหญ่ แต่ในข้อปลีกย่อยแล้วจะต้องมาพูดกัน ตอนนี้จะขอพูดถึงข้อที่ ๑ พอให้เห็นเค้า

การรับรู้ประสบการณ์อย่างเที่ยงตรงตามที่มันเป็นนี่คืออย่างไร ว่าโดยทั่วไป มนุษย์นี้เมื่อได้รับประสบการณ์ ก็จะมีคุณค่าพ่วงเข้ามาด้วย นี่แหละ แม้แต่ที่จุดตั้งต้นของความรู้ ก็มีปัญหาว่ามนุษย์จะพ้นจากคุณค่าได้หรือเปล่า คือมันตั้งต้นตั้งแต่การรับรู้เลย

คุณค่าอะไรที่เข้ามากับความรู้ในประสบการณ์ ปรากฏการณ์ที่เข้ามาสู่การรับรู้ของมนุษย์จะมีคุณภาพหรือคุณลักษณะพ่วงเข้ามาว่า มันทำให้รู้สึกสบายหรือไม่สบาย ใช่ไหม สิ่งทั้งหลายทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอย่างนั้น เมื่อสบายทางพระเรียกว่าเป็นสุขเวทนา ถ้าไม่สบายเรียกว่า ทุกขเวทนา

พอเกิดการรับรู้ ได้ประสบการณ์ที่สบาย กระบวนการทางจิตของมนุษย์จะเดินหน้าต่อปั๊บไปเลย จากสบายก็ชอบใจ ถ้าไม่สบายก็ไม่ชอบใจ ทางพระเรียกว่ายินดีและยินร้าย หรือชอบกับชัง ด้วยเหตุนี้ การรับรู้จึงมีความถูกใจไม่ถูกใจและความยินดียินร้ายมาประกอบติดตลอดเวลา และมนุษย์ก็สั่งสมความเคยชินมาอย่างนี้ตลอดเวลาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งปัจจุบัน คนละหลายสิบปี เพราะฉะนั้นจึงลงร่อง พอรับรู้ประสบ​การณ์ปั๊บ ความรู้สึกก็พ่วงมาด้วย ว่าสบายหรือไม่สบายหรือเฉยๆ และตามติดมาทันทีด้วยความถูกใจหรือไม่ถูกใจ ไม่ชอบก็ชัง ไม่ยินดีก็ยินร้าย

พอยินดียินร้าย ชอบใจไม่ชอบใจ ชอบหรือชังแล้วก็คิดตามแนวความรู้สึกนั้น ภายใต้อิทธิพลของความรู้สึกนั้น ถ้าชอบก็คิดอย่างหนึ่ง ไม่ชอบก็คิดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นประสบการณ์จะถูกบิดเบือน เอนเอียง หรือเกิดความลำเอียง มองเห็นเคลื่อนคลาด มีการปรุงแต่ง และการเลือกรับเลือกจับข้อมูล เห็นบางแง่บางด้าน ความรู้จะไม่ตรงไปตรงมา ไม่ทั่วถ้วน ไม่ตลอดสาย เป็นต้น เรียกว่าไม่รับรู้ตามที่มันเป็น พุทธศาสนาจึงบอกว่า ตั้งต้นจากจุดเริ่มนี้ ต้องมีการรับรู้ตามที่มันเป็น คือรับรู้โดยมีสติ ไม่ยินดียินร้าย รับรู้โดยรับรู้แต่ตัวความรู้ หรือรับรู้แบบนักศึกษา คือรับรู้แบบเรียนรู้ ไม่รับรู้แบบชอบชัง

รับรู้แบบเรียนรู้อย่างไร รับรู้แบบเรียนรู้ พูดอย่างสรุปรวบรัดว่า มี ๒ อย่าง คือ

  1. รับรู้แบบมองให้เห็นความจริง คือการรับรู้ตามที่มันเป็น โดยไม่ถูกความยินดียินร้าย หรือชอบชัง เข้ามาครอบงำหันเหหรือบิดเบือน เป็นการรับรู้อย่างบริสุทธิ์ เอาแต่ตัวประสบการณ์ล้วนๆ โดยไม่มีคุณค่าพ่วงเข้ามา อย่างที่ท่านเรียกว่ารับรู้เพียงเพื่อญาณ คือเพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจ และเพียงเพื่อสติ คือเพื่อเก็บข้อมูลจำไว้ โดยเฉพาะการมองตามเหตุปัจจัย
  2. รับรู้แบบมองให้เป็นประโยชน์ คือ การรับรู้ด้วยการรับจับเอาคุณค่าที่ถูกต้อง ที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการสนองบำเรอหรือทำความไม่สมอยากแก่อินทรีย์ เป็นการรับรู้ชนิดที่จะทำให้ได้ประโยชน์จากประสบการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

สำหรับการรับรู้แบบที่สองนั้น ขยายความว่า เป็นธรรมดาของธรรมชาติว่า การรับรู้เป็นกิจกรรมของชีวิต การที่ชีวิตเกี่ยวข้องกับธรรมชาติแวดล้อมก็เพื่อเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น แต่ชีวิตจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่รับรู้ก็ต่อเมื่อมีการรับรู้อย่างถูกต้อง คือต้องตั้งใจมองโดยเลือกรับรู้เอาแต่แง่ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา และพัฒนาชีวิต ถ้ามิฉะนั้น การรับรู้นั้น ก็จะได้แค่เพียงเป็นการสนองบำเรออินทรีย์ หรือถ้าตรงข้ามก็เป็นการทำความไม่สมอยากแก่อินทรีย์นั้นๆ เท่านั้น โดยที่ประโยชน์ที่พึงได้ก็ถูกตัดหน้าไปเสีย

เป็นอันว่าในแบบที่ ๒ สิ่งทั้งหลายนี่ มนุษย์รับรู้เข้ามาเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต สิ่งทั้งหลายที่รับรู้เข้ามาไม่ว่าจะดี หรือร้าย ไม่ว่าสบาย หรือไม่สบาย ก็สามารถให้ประโยชน์แก่ชีวิตได้ทั้งนั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการที่เราจะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้องนั่นเอง

สำหรับกรณีนี้ ซึ่งเป็นการหาความจริง ก็เน้นการรับรู้แบบที่ ๑ ซึ่งเมื่อไม่เข้าไปสู่วงจรที่ผิดพลาดแล้ว ก็จะไม่มีความยินดียินร้าย และจะก้าวไปสู่การเรียนรู้ ในการศึกษานี้ท่านถือว่าสำคัญ จะต้องเริ่มที่กระบวน​การรับรู้นี้ พระพุทธศาสนาเน้นจุดนี้ คือการรับรู้โดยเป็นการเรียนรู้ ไม่รับรู้แบบชอบชัง หรือแบบสนองบำเรออินทรีย์ วิทยาศาสตร์อาจจะไม่บอกชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือไม่ได้เน้น แต่การที่จะเข้าถึงความจริงจะต้องอาศัยวิธีการรับรู้แบบนี้

ข้อที่ ๒ คือวิธีคิด หรือคิดถูกวิธี ในเรื่องนี้ความคิดจะต้องเป็นระเบียบ มีการคิดเป็นลำดับ คิดเชิงเหตุผล สืบสาวให้เห็นความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย

ในพุทธศาสนามีวิธีคิดที่บอกไว้มากมาย ประมวลได้ประมาณ ๑๐ วิธี ที่เราเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่สัมมา­ทิฏฐิ คือความเข้าใจหรือมองเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่นมองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือเข้าใจหลักการแห่งเหตุปัจจัย โยนิโส­มนสิการ หรือวิธีคิดแบบถูกวิธี พูดพอให้เห็นตัวอย่าง เช่น

๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย การที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ก็ทรงใช้วิธีคิดแบบนี้เป็นสำคัญอย่างหนึ่ง จะยกตัวอย่างเช่นพระองค์ตั้งคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับเวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุขทุกข์ โดยทรงพิจารณาว่า เวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์นี้เกิดขึ้นโดยมีอะไรเป็นปัจจัย แล้วพระองค์ก็สืบสาวไปๆ ก็ทรงค้นพบว่า อ้อ มีผัสสะเป็นปัจจัย ต่อไปผัสสะเล่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พระองค์คิดและตรวจสอบสืบสาวต่อไปก็พบว่า มีสฬายตนะ คือ อินทรีย์ทั้งหกเป็นปัจจัย อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าไว้ว่าวิธีคิดของพระองค์เป็นอย่างไร

๒. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ เช่น ชีวิตของเรานี้ แยกเป็นส่วนๆ เป็นนาม และรูป นี่สองส่วนแล้ว คือฝ่ายนาม กับฝ่ายรูป จะแยกต่อไปอีกก็ยังได้ นาม แยกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และแต่ละอย่างก็แยกแยะแบ่งซอยออกไปได้อีก เช่นเวทนาก็แยกไป แยกไป แยกไป เป็น ๓ ประเภท เป็น ๕ ประเภท เป็น ๖ ประเภท อย่างนี้เรียกว่า วิธีคิดแบบวิเคราะห์องค์ประกอบ ซึ่งทำให้เห็นความจริงของภาพรวมหรือระบบที่จะทำให้โยงความสัมพันธ์และความสืบทอดเชิงเหตุปัจจัยได้ต่อไป

๓. วิธีคิดแบบมองหาคุณโทษและทางออก คือมองในเชิงคุณค่าว่าสิ่งนั้นๆ มีคุณในแง่ไหน มีโทษในแง่ไหน ไม่มองในแง่คุณอย่างเดียว หรือโทษอย่างเดียว มนุษย์ส่วนมากเวลามองอะไร ถ้าชอบก็คิดแต่คุณ อะไรไม่ชอบก็มองแต่โทษ แต่พุทธศาสนามองทุกอย่างทุกด้าน บอกให้มองทั้งคุณทั้งโทษ แล้วก็หาทางออกที่จะแก้ไข อย่างนี้เรียกว่าครบวงจร

วิธีคิดแบบต่างๆ นี้มีถึงประมาณ ๑๐ วิธีด้วยกัน เรียกว่า โยนิโส­มนสิการ เป็นวิธีการสำคัญในพระพุทธศาสนาสำหรับการที่จะเข้าถึงความจริง

ในความหมายที่กว้าง วิธีคิดจะรวมถึงวิธีมอง คือคลุมเรื่องการรับรู้เข้ามาด้วย และแบ่งประเภทใหญ่ๆ แบบเดียวกับการรับรู้คือเป็นการคิดให้เห็นความจริง กับการคิดให้เป็นประโยชน์ ในที่นี้จะไม่ขยายความเรื่องนี้ เพราะจะยืดยาวกันใหญ่

ต่อไป ข้อที่ ๓ คือ การสังเกตทดลองด้วยประสบการณ์ตรง หลักการใหญ่ของพุทธศาสนาที่ว่าความจริงเป็นสิ่งที่ได้มาหรือพิสูจน์ด้วยการสังเกตทดลองด้วยประสบการณ์ตรงนั้น ก็เช่นตัวอย่างเรื่องหลัก กาลาม­สูตร ที่ยกมาให้เห็นเมื่อกี้นี้ ที่บอกไม่ให้เชื่อเพียงเพราะอย่างนั้นๆ และย้ำว่าต่อเมื่อได้เห็นด้วยตนเองว่าเป็นอกุศล หรือกุศล แล้วจึงละหรือปฏิบัติ นี่ก็เป็นหลักหนึ่งที่แสดงถึงวิธีการหาความจริงแบบนี้

นอกจากนี้ ขอให้ดูวิธีการของพระพุทธเจ้าตอนก่อนตรัสรู้ จะเห็นว่าพระองค์ทรงใช้วิธีทดลองมาตลอด พอออกผนวชแล้วก็ไปทดลองปฏิบัติตามวิธีการของสำนักต่างๆ ที่มีในสมัยนั้นทั้งหมด ทั้งวิธีทุกรกิริยาบำเพ็ญตบะ ฝึกโยคะ บำเพ็ญฌานสมาบัติ ทรงทดลองมาหมดแล้ว

แม้แต่ไปอยู่ในป่า ตามที่ทรงเล่าวิธีปฏิบัติของพระองค์ไว้ เกี่ยวกับเหตุการณ์ปลีกย่อย ก็เป็นเรื่องของการสังเกตทดลอง เช่น พระพุทธเจ้าทรงเล่าว่า พระองค์ไปอยู่พระองค์เดียวในป่าเปลี่ยวเพื่อทดลองกับความกลัว ยามดึกสงัดมีเสียงแกรกขึ้นมา เกิดความกลัว สะดุ้ง พระองค์ก็พิจารณาก่อน พระองค์จะอยู่กับท่าหรืออิริยาบถที่เกิดความกลัวขึ้นนั้น ไม่ยอมเปลี่ยน จนกว่าจะแก้ไขความกลัวได้สำเร็จ ถ้าเป็นหลายคนก็วิ่งแน่⁠บเสียก่อน พระพุทธเจ้าไม่วิ่งแน่บ พระองค์ทรงสงบนิ่ง ทรงแก้ปัญหาให้สำเร็จ18

หรืออย่างเวลาเกิดความคิดที่ดีและไม่ดี ที่ท่านเรียกว่า เกิดกุศล­วิตก หรืออกุศลวิตก พระพุทธเจ้าก็ทรงทดลองกับความคิดโดยดำเนินวิธีปฏิบัติที่จะทำให้อกุศลวิตกสลายตัวไป19

ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีนี้ตลอดมา แม้แต่เมื่อมาสอนพระสาวก ก็ยังสอนให้ตรวจสอบอาจารย์เสียก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะศรัทธา เพราะจะต้องให้ศรัทธาเป็นตัวนำไปสู่ปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตรวจสอบอาจารย์ ให้ตรวจสอบแม้แต่พระองค์เองด้วย และให้ตรวจสอบทั้งในแง่ความรู้ว่ารู้จริงหรือไม่ และในแง่เจตนาว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่20

ตรวจสอบในแง่ความรู้โดยพิจารณาสิ่งที่ท่านสอนว่ามีเหตุมีผลเป็นจริงไหม และตรวจสอบในเชิงพฤติกรรมโดยสืบถึงแรงจูงใจว่า ท่านผู้นี้ที่พูดอย่างนี้นั้น เพราะว่ามีความต้องการ มีความปรารถนาอย่างนั้นๆ หรือไม่ ท่านไม่ได้เจตนาต้องการที่จะหาผลประโยชน์จากการสอนนี้ ต้องการให้ความรู้ที่แท้จริง ใช่ไหม เป็นต้น ตรวจสอบมั่นใจแล้วจึงพร้อมที่จะรับคำสอน เป็นการประเมินขั้นต้น แล้วรับเอาคำสอนมาพิจารณาดู มาหยั่งมาตรองว่ากันเป็นขั้นๆ

หรืออย่างในหลักสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเชิงวิปัสสนา ก็จะเห็นว่า เวลาเราปฏิบัติวิปัสสนานั้น จะต้องตรวจดูตามดูทุกอย่าง รู้ทันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน เช่น ความรู้สึกสุขเกิดขึ้น ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น ภาวะในจิตใจเศร้าหมองหรือผ่องใสเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าให้ตามดูว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วมันเป็นไปอย่างไร มันดับไปอย่างไร อันนี้ก็คือวิธีการดู หรือสังเกตด้วยประสบการณ์ตรง

จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย จะประเมินผลว่าตนได้บรรลุธรรมแล้วหรือไม่ ก็ดูที่ในใจของตัวเองว่า ในใจของเรายังมีโลภะ โทสะ โมหะหรือไม่21 ไม่ต้องไปดูว่าทำอะไรวิเศษ แผลงฤทธิ์ได้หรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น

ในแง่การสังเกต ทดลอง และตรวจสอบนี้ เนื่องจากจุดเน้นและขอบเขตของการใช้อินทรีย์ต่างกัน จึงจะสังเกตได้ว่ามีผลพลอยได้เกิดขึ้นต่างกันระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์มุ่งแต่จะสังเกตปรากฏการณ์ในโลกวัตถุ โดยใช้อินทรีย์เพียง ๕ อย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง ตา หู และกายสัมผัส ด้วยความมุ่งหมายที่จะจัดการกับธรรมชาติภายนอก เพราะฉะนั้นในวงการวิทยาศาสตร์จึงได้มีการประดิษฐ์อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่เป็นวัตถุสำหรับขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ พร้อมทั้งจัดเตรียมวิธีการสังเกตทดลองและตรวจสอบในแดนแห่งโลกวัตถุนั้นขึ้นมามากมาย เช่นเดียวกับวัสดุอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้เครื่องบริโภคในด้านวัตถุนั้น อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่มนุษย์ในทางกายภาพ พูดตามภาษาทางพุทธศาสนาว่า วิทยาศาสตร์ชำนาญจัดเจนในแดนแห่งอุตุนิยาม รวมทั้งพีชนิยาม

ส่วนทางด้านพระพุทธศาสนา เน้นการศึกษาตัวมนุษย์ โดยยอมรับประสบการณ์ทางอินทรีย์ที่ ๖ ใช้อินทรีย์ที่ ๖ เป็นอุปกรณ์ในการสังเกตทดลองและตรวจสอบมาก ด้วยความมุ่งหมายที่จะเข้าถึงความดีงามหรือคุณค่าสูงสุดพร้อมกับความจริงแห่งกฎธรรมชาติ ซึ่งทำให้มีการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ไปด้วยตลอดเวลาในระหว่าง ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีเรื่องราวและวิธีการมากมายเกี่ยวกับการสังเกต ทดลอง และตรวจสอบในด้านกระบวนการทางจิตใจ และพฤติกรรมของมนุษย์ พูดให้สั้นว่า พุทธศาสนาชำนาญจัดเจนในแดนแห่งกรรมนิยาม และจิตนิยาม

เมื่อมองอย่างกว้างๆ ถ้านำเอาความชำนาญจัดเจน และผลการสร้างสรรค์ที่ดีงามของทั้งสองฝ่ายนี้มาบรรจบประสานกัน และใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ก็น่าจะเป็นการนำมนุษยชาติขึ้นสู่ภาวะสมดุลและความสุขสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี

 

วิธีเข้าถึงความจริง: จุดเน้นและการใช้ต่าง ที่ทำให้ห่างไกลกัน

นี่เป็นเรื่องของวิธีหาความรู้ เพื่อให้ได้ความจริง ๓ ประการด้วยกัน ทีนี้ต่อไปก็จะมองจุดแตกต่างในการหาความจริงระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

ก็อย่างที่พูดมาแล้ว

ประการที่หนึ่ง วิทยาศาสตร์ใช้วิธีการหาความจริงนี้เพื่อได้ความจริง หรือได้ตัวความรู้มาเฉยๆ เป็นกิจกรรมต่างหากจากการดำเนินชีวิต ส่วนในพุทธศาสนา วิธีการเข้าถึงความจริงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดีงามและการพัฒนาตนด้วย

ไม่ใช่เพียงต่างในเป้าหมายเท่านั้น แม้แต่ในลักษณะการกระทำก็ต่างกัน คือ วิทยาศาสตร์นั้นไม่มีส่วนในการดำเนินชีวิตของเราเลย วิทยาศาสตร์หาความจริงก็เพื่อรู้ตัวความจริงเท่านั้น แต่ในพุทธศาสนาการหาความจริงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต มันเป็นตัวกิจกรรมการดำเนินชีวิต ที่เป็นผลดีต่อชีวิตในขณะนั้น เป็นปัจจุบันทันที เช่น การรับประสบการณ์ตรงโดยไม่มีความยินดียินร้ายจะมีผลต่อจิตใจอย่างไร เป็นต้น คุณค่าต่อสภาพชีวิตในขณะนั้นเกิดขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้น การแสวงหาและรู้ความจริงจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแม้แต่โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมาย

อีกประการหนึ่ง วิทยาศาสตร์นั้นเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางอินทรีย์ ๕ หรือประสาททั้ง ๕ เท่านั้น แต่พุทธศาสนาเอาอินทรีย์ที่ ๖ คือใจด้วย ทางวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ ๖ แต่พุทธศาสนาถือว่าอินทรีย์ที่ ๖ ก็พิสูจน์ความจริงได้ แต่การพิสูจน์ความจริงของแต่ละอินทรีย์นั้น พิสูจน์ได้ด้วยอินทรีย์ที่ตรงกัน หมายความว่า เราจะพิสูจน์รสก็ต้องพิสูจน์ด้วยลิ้น ถ้าเราต้องการพิสูจน์เสียงดัง เสียงเบา ก็ต้องพิสูจน์ด้วยหู เราจะเอาตาไปพิสูจน์ไม่ได้ หรือเราต้องการพิสูจน์สีดำ สีแดง เราจะเอาหูไปพิสูจน์ ก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อินทรีย์ที่ใช้พิสูจน์ต้องตรงกับสิ่งที่ถูกพิสูจน์ ด้วย

ถ้าเราไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ ๖ เราจะขาดความรู้ต่อประสบการณ์ไปมากมาย เพราะประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้นมีมาก ยกตัวอย่าง ทางจิตใจก็มีประสบการณ์ตรงที่พิสูจน์ได้ทันที เช่น ความรัก ความโกรธ ความกลัว ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยอินทรีย์อื่น เวลาคนเรามีความรัก เราก็รู้แก่ใจของเราเอง พิสูจน์ได้ เวลามีความกลัว มีความรู้สึกโกรธ มันก็รู้สึกได้โดยตรง ตลอดจนความสุขสบาย ความปลาบปลื้มอิ่มใจ ผ่อนคลายในใจ พิสูจน์ได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า อินทรีย์ที่ ๖ คือจิต รวมทั้งเรื่องความคิดนี้ มีบทบาทสำคัญมากในการหาความรู้ หรือหา​ความจริงนั้น แต่ในทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ ๖ นี้ ก็เลยจะต้องหาทางพิสูจน์ปรากฏการณ์ทางจิตหรือประสบการณ์ทางจิตด้วยวิธีการใช้เครื่องมือเครื่องวัดที่แสดงผลออกมา เป็นประสบการณ์ที่รับรู้ได้ด้วยอินทรีย์ ๕ อย่างอื่น โดยเฉพาะ ตา หู และกายสัมผัส เช่น ต้องการจะรู้ความคิดในใจ ก็พยายามประดิษฐ์เครื่องวัดคลื่นสมอง

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ต่อไปนะ ฉันจะใช้เครื่องวัดคลื่นสมอง แล้วจะบอกได้เลยว่าคนนี้กำลังคิดอะไร วิทยาศาสตร์ก็หวังไปสิ คิดไปว่าต่อไปเราจะรู้ได้อย่างนี้ๆ หรือมิฉะนั้นก็ดูจากสารที่สมองหลั่งออกมา ตอนนี้มีความรู้สึก หรือมีอารมณ์อะไรในใจ ดูสารที่สมองหลั่งออกมาก็คงจะรู้ได้ ซึ่งก็มีความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่มันจะตรงกับที่ Sir Arthur Eddington บอกว่านั่นแหละคือ shadow มันคือเงาของความจริง ไม่ใช่ตัวความจริง และเป็นเครื่องแสดงว่า ความจริงทางวิทยาศาสตร์มีความบกพร่อง และวิธีการหาความจริงของวิทยาศาสตร์ก็บกพร่อง เพราะทำผิดหลักการพิสูจน์ความจริง คือ พิสูจน์ประสบการณ์ของอินทรีย์หนึ่งด้วยอินทรีย์อื่น ผิดอินทรีย์กัน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ วิทยาศาสตร์ก็จะพิสูจน์เงาของความจริงเรื่อยไป คือจะเป็นอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำพูดไว้ว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง เข้าถึงได้แต่เงาของความจริง เรื่องนี้เราจะพูดกันอีก

ทีนี้ บทบาทของอินทรีย์ที่ ๖ คือจิต ที่พุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญมากในการหาความรู้ หรือเข้าถึงความจริงนี้ ที่จริงก็มีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์มากด้วย เพราะแม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็เจริญพัฒนามาได้ด้วยอินทรีย์ที่ ๖ นี้ ทั้งขั้นต้น ขั้นปฏิบัติการ และขั้นตามผลสุดท้าย

ขั้นต้น ก่อนที่จะพิสูจน์ด้วยอินทรีย์อื่น นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ความรู้ความเข้าใจ ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องมีการคิดก่อน เช่น คิดวางแผน คิดวางกระบวนการพิสูจน์ คิดตั้งสมมติฐาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการทางความคิด ซึ่งต้องอาศัยอินทรีย์ที่ ๖ คือ จิตใจ และแม้แต่ในเวลาปฏิบัติการ ก็ต้องมีจิตเป็นตัวที่คอยรับรู้ ทำการบันทึกตลอดเวลา คือก่อนที่จะบันทึกลงกระดาษ บันทึกลงคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ตาม ก็บันทึกในใจก่อน แล้วจิตใจนั้นก็เป็นผู้ที่จะตัดสินว่าจะยอมรับหรือไม่ คือตัดสินข้อมูลที่ผ่านมาทางอินทรีย์ทั้ง ๕ ดังนั้น จิตใจจึงมีบทบาทอยู่ตลอดเวลา

จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย การประมวลสรุปความคิดเป็นระบบ วางเป็นทฤษฎี อะไรต่างๆ นี้ ก็เป็นกระบวนการของความคิด พูดได้ว่า ทฤษฎีวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของความคิด เป็นผลงานของอินทรีย์ที่ ๖ คือ จิตใจ ซึ่งเป็นศูนย์รวมประสานงานอินทรีย์ทั้ง ๕ อย่างแรก

เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาจึงยอมรับความสำคัญของอินทรีย์ที่ ๖ ถือว่าเป็นทางเข้าถึงประสบการณ์ตรงได้ ข้อสำคัญก็คือ การรับรู้จะต้องให้ตรงอินทรีย์กัน หมายความว่า สิ่งที่ถูกรับรู้กับอินทรีย์ที่รับรู้ต้องตรงกัน สิ่งที่จะรับรู้ด้วยตาก็ต้องใช้ตา สิ่งที่จะรับรู้ด้วยลิ้นก็ต้องใช้ลิ้น สิ่งที่ต้องรับรู้ด้วยหูก็ต้องใช้หู เพราะฉะนั้น สิ่งที่รับรู้ด้วยใจจะไม่สามารถรับ⁠รู้ด้วย ตา หรือ หู เป็นต้น ต้องให้อินทรีย์ตรงกัน

ทีนี้ความจริงระดับจิตใจที่ท่านบอกว่าพิสูจน์ทำนายได้ตามกระ­บวนการของเหตุปัจจัยนั้น ก็เพราะว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ แม้ว่ามันจะมีความซับซ้อนและยากสักหน่อย แต่พุทธศาสนาถือว่ามันก็เป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย

ในลกของวัตถุหรือในโลกของฟิสิกส์ ก็ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย แต่ในกรณีที่ปัจจัยซับซ้อนมากเกินไป ก็ทำให้ทำนายหรือตามดูยาก ยกตัวอย่างเช่นการพยากรณ์อากาศ ซึ่งถือว่ายากมาก เพราะมีปัจจัยซับซ้อนและมีการแปรง่ายไว แม้แต่ปัจจัยที่ร่วมแปรนิดเดียวสภาพอากาศก็เปลี่ยน

ทีนี้ กระบวนการของเหตุปัจจัยในทางจิตนี้ ต้องถือว่าซับซ้อนยิ่งกว่ากระบวนการของเหตุปัจจัยในอากาศ เพราะฉะนั้น การทำนายปรากฏการณ์ทางจิต จึงยากกว่าการพยากรณ์อากาศ ถ้ามองในแง่นี้แล้วก็จะได้ไม่ท้อใจ อย่างน้อยก็จะมีหลักว่า เรื่องของความเป็นไปทางจิตใจก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย เช่นเดียวกัน

มองแง่หนึ่ง เรื่องอาจจะเป็นไปในทำนองนี้ว่า มนุษย์เป็นธรรมชาติชนิดที่มีธรรมชาติทั้งหมดรวมอยู่แล้วในตัว เมื่อมนุษย์เบิกตาปัญญามองดูให้ชัด ก็สามารถเข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยตรงได้ทันที การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางอินทรีย์ ๕ เป็นวิธีอ้อมๆ หรือผิวเผิน ที่พิสูจน์ความจริงได้แค่ขั้นตื้นๆ เอาแค่พอใช้พิชิตธรรมชาติภายนอกในระดับหนึ่ง แต่จะเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาติที่รวมทั้งนามธรรมทั้งหมดไม่ได้

รวมความว่า พุทธศาสนาเอาวิธีหาความรู้หาความจริงนี้มาใช้กับตัวมนุษย์หรือมนุษยภาวะเป็นสำคัญ และใช้เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในการพัฒนาแก้ปัญหาของมนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์นั้นใช้วิธีการหาความรู้หาความจริงนี้กับโลกแห่งวัตถุ และก็เป็นการหาความรู้เพื่อพิชิตธรรมชาติอย่างที่ว่ามาแล้ว

ที่พูดมานี้ก็เป็นอันว่าได้บอกแล้วถึงความกว้าง แคบ ต่างกัน และเหมือนกัน ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ในแง่ของสภาพเนื้อหาของความจริงที่ต้องการจะรู้ ในแง่ของวิธีรู้ความจริง และในแง่ของการนำความรู้ในความจริงนั้นมาใช้ หรือจุดมุ่งหมายของการรู้ความจริงนั้น อย่างที่ว่า

ฝ่ายหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ ตอนต้นเป็นความรู้ล้วนๆ บริสุทธิ์ ลอยออกไปเรื่อยๆ ข้างนอกตัว ส่วนทางฝ่ายพุทธศาสนาเป็นความรู้ที่สัมพันธ์กันหมดโยงมาถึงตัวมนุษย์เอง ต่อมาวิทยาศาสตร์บอกว่ารู้โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ คือเพื่อพิชิตธรรมชาติหรือเพื่อหาประโยชน์จากธรรมชาติ ส่วนพุทธศาสนาบอกว่ารู้เพื่อจะได้เอามาพัฒนามนุษย์ ใช้แก้ปัญหาให้แก่มนุษย์

ถึงแม้ว่าวิธีหาความจริงโดยทั่วไปจะใกล้เคียงกันหรือตรงกัน แต่ช่องทางที่ใช้หาก็มากกว่ากันและเน้นต่างกัน เพราะเนื้อหาของตัวความจริงที่ค้นหาและพิสูจน์ มีความกว้างแคบต่างกัน

สุดแดนวิทย์ เข้ามาจ่อแดนจิต

 

ก้าวยิ่งใหญ่สู่ความตระหนักรู้
ในขีดวิสัยของวิทยาศาสตร์

ทีนี้หัวข้อต่อไป จะพูดเรื่องขอบเขตหรือขีดจำกัดของความรู้ หรือขอบเขตของการเข้าถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์

ขอโยงกลับไปที่พูดเมื่อกี้ ได้บอกแล้วว่า เมื่อธรรมชาติที่เป็นจุดเป้าของความรู้ต่างกัน กว้างแคบหรือครอบคลุมกว่ากัน ก็มีข้อพิจารณาตามมาหลายอย่าง เมื่อกี้นี้ได้พูดว่าทางพุทธศาสนานั้นศึกษาที่ตัวมนุษย์ เอาตัวมนุษย์เป็นแดนของการพิสูจน์ความรู้ และบอกว่าถ้ารู้ความจริงของมนุษย์หมดก็ได้ความรู้หมดจักรวาล แต่วิทยาศาสตร์เอาโลกภายนอกมาสุดแค่ชีวิตด้านวัตถุ หมายความว่าศึกษาโลกภายนอกมาจนจบแค่ตัวชีวิตที่เป็นด้านวัตถุ อย่างมากก็มาจ่อที่จุดเชื่อมกับจิต ในลักษณะที่เป็นอิทธิพลต่อกัน ซึ่งอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

ทีนี้เมื่อกี้ก็ได้พูดว่า วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ได้เจริญก้าวหน้ามามากจนเรียกได้ว่าจะสุดพรมแดนของความรู้ที่วางขอบเขตไว้แล้ว เดิมวิทยาศาสตร์ก็คิดว่าจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดสมบูรณ์ จบสิ้นจักรวาล ด้วยการรู้โลกภายนอกนั้น ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕ เพราะมีความเข้าใจตั้งแต่เดิมติดมาว่า โลกที่เป็นแดนของจิตทั้งหมดก็เกิดจากวัตถุด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจิตเกิดจากวัตถุ เมื่อเข้าใจวัตถุถึงที่สุด ก็ย่อมรู้แจ้งแดนของจิตด้วย และก็ได้บอกแล้วว่าปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์น้อยคนจะเชื่ออย่างนั้น เพราะการรู้ความจริงทางวัตถุที่เข้าถึงอย่างแทบจบสิ้นนี้ ไม่ทำให้เข้าใจหยั่งรู้แจ้งถึงแดนแห่งจิตได้

เวลานี้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัจจภาวะแห่งโลกวัตถุกับแดนของจิตนั้น โดยมากจะมองกันอยู่ระหว่างสองแบบว่าจะเป็นอย่างไหน โดยมี models เกี่ยวกับความจริง ๒ แดนว่า ความจริงทางด้านโลกวัตถุภายนอกกับแดนของจิตทั้งหมดนั้น

๑. เป็นสองด้านของเหรียญกลมอันเดียวกัน หมายความว่าแต่ละด้านก็เป็นอิสระจากกัน แต่มาเสริมกัน รู้ทั้งสองด้านจึงจะรู้ครบ พวกที่หนึ่งนี้ถือว่าความจริงแต่ละด้านเป็นส่วนต่างหากจากกัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ต้องรู้ทางโน้นกับรู้ทางนี้มาเสริมกัน พวกนี้จะแยกว่าแดนของจิตกับแดนของวัตถุนั้นคนละแดน ต้องรู้ทั้งสองและเอาความรู้นั้นมาเสริมเติมกัน แล้วก็ประกอบกันให้สมบูรณ์

๒. เป็นวงเล็กและวงใหญ่ของวงกลมอันเดียวกัน แบบที่สองนี้เป็นการพิจารณาแดนของความรู้ในลักษณะที่มีวงกลมใหญ่อันเดียว แต่มีวงในและวงนอกซ้อนกันอยู่ วงในเป็นวงเล็กมีขีดจำกัดอยู่แค่ตัววงของมัน ส่วนวงนอกคือวงใหญ่ คลุมทั้งตัวมันเองด้วย และคลุมวงในด้วย หมาย​ความว่าแดนหนึ่งคลุมอีกแดนหนึ่ง ถ้ารู้แดนใหญ่นั้นหมดก็รู้ทั่วทั้งหมด แต่ถ้ารู้แดนในที่เป็นวงเล็ก ก็รู้แค่ขอบเขตจำกัดของตัวเอง ไม่สามารถรู้แดนนอก

ทีนี้ถ้าหากว่าความรู้ทางด้านโลกวัตถุนั้นเหมือนวงใน ถึงจะรู้จบโลกวัตถุ ก็จะรู้แค่วงใน และไม่สามารถรู้วงนอกที่ครอบคลุมถึงเรื่องจิตด้วย แต่ถ้าวงนอกเป็นวงวัตถุ เมื่อรู้วัตถุหมดก็รู้จิตที่เป็นวงในหมดด้วย แล้วอันนี้จะเป็นแบบไหน ในที่นี้จะไม่ตอบ เพราะยังเป็นเรื่องความเห็นของคนที่จะต้องมาถกเถียงกันไป

อย่างไรก็ตาม นักฟิสิกส์ใหญ่ๆ หลายท่านได้พูดทำนองว่าความรู้วิทยาศาสตร์ถึงอย่างไรก็เป็น partial คือเป็นบางส่วนอยู่ในระดับต้น ถ้าเทียบอย่างเมื่อกี้ก็คล้ายรอบในของวงกลม เพราะขึ้นกับ senses คืออินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ครบอินทรีย์ ๖ โดยเฉพาะจะอยู่แค่การเห็น การสัมผัสด้วยกาย และการได้ยินหรือฟัง คือ ตา หู และกายสัมผัส เมื่อพ้น senses เหล่านี้แล้วก็ไปสู่เรื่องของ symbol คือสัญลักษณ์ ได้แก่การพิสูจน์ด้วยกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเมื่อกี้นี้ได้พูดทีหนึ่งแล้วว่า Sir Arthur Eddington ก็ได้ยกเอาความจริงข้อนี้มาพูดว่า ถึงอย่างไรก็ตาม วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็จะไม่อาจให้เข้าถึงความจริงแท้โดยตรงได้ อาตมาขออ่านข้อความตอนนี้ของแกให้ฟัง แกบอกว่า

“We have learnt that the exploration of the external world by the methods of physical science leads not to a concrete reality but to a shadow world of symbols, . . .”22

นี้เป็นคำของ Sir Arthur Eddington เขาบอกว่า เราได้เรียนรู้แล้วว่า การสำรวจโลกภายนอกด้วยวิธีการของวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ จะไม่นำเราให้เข้าถึงสัจจภาวะหรือความจริงที่เป็นตัวแท้ได้ แต่นำให้เข้าถึงได้เพียงแค่โลกเงาๆ แห่งสัญลักษณ์เท่านั้น อันนี้เป็นความเห็นของ Eddington ที่ว่าเป็นผู้เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพสมบูรณ์และพิสูจน์ได้เป็นคนแรก

นักฟิสิกส์ใหญ่อีกท่านหนึ่ง คือ แมกซ์ แพลงค์ (Max Planck) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี ๑๙๑๘ (พ.ศ. ๒๔๖๑) และถือกันว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีควอนตัมยุคใหม่ (the father of modern quan­tum theory) ก็ได้ยอมรับความจริงนี้ไว้ในทำนองเดียวกัน ด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้อีกว่า

“ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ก็คือ พอเราคิดว่าได้ไขปัญหาพื้นฐานเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ก็เจอกับความลึกลับใหม่เข้าอีกเรื่องหนึ่ง."

“. . . วิทยาศาสตร์ไม่สามารถไขความลี้ลับขั้นสุดท้ายของธรรมชาติได้ (Science cannot solve the ultimate mystery of nature.) และที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า เมื่อวิเคราะห์ลงไปจนถึงที่สุดแล้ว ตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเพราะฉะนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งแห่งความลี้ลับที่เรากำลังพยายามจะไข”23

แล้วก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งเขียนถึงอย่างนี้ว่า

“ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดของฟิสิกส์ในศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ดีเด่น มิใช่ทฤษฎีสัมพัทธภาพ มิใช่ทฤษฎีควอนตัม หรือการตัดผ่าอะตอมได้ แต่ได้แก่การตระหนักรู้ถึงความจริงที่ว่า วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้”24

อ้าว กลายเป็นอย่างนั้นไป นี่คือความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการมารู้ความจริงว่า ตัวเองจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ จะเข้าถึงได้แต่โลกแห่งเงาที่ว่าเมื่อกี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์เอง ที่อาตมาเอามาพูดให้ฟัง

ถ้าวิทยาศาสตร์ยอมรับท่าทีที่ว่านี้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีทางออก ๒ ประการ ได้แก่ จะจำกัดขอบเขตของตน หรือจะขยายวงความรู้ของตนออกไปให้เข้าถึงความจริงทั้ง​หมดของธรรมชาติ

ถ้าพอใจจำกัดตัวอยู่ในขอบเขตเดิม วิทยาศาสตร์ก็จะเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะอย่าง ที่ไม่สามารถให้ทราบภาพรวมความจริงที่ครอบคลุมของธรรมชาติ หรือสัจจธรรมทั้งหมดได้ แต่ถ้าต้องการเข้าถึงความจริงที่สมบูรณ์ นำมนุษย์เข้าถึงตัวสัจจภาวะทั้งหมดของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็จะต้องขยายกรอบความคิดของตน โดยเปลี่ยนความหมายพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และก้าวออกนอกขอบเขตจำกัดของตนออกไป อันนี้ก็เหมือนกับเป็นทางเลือก ๒ อย่าง ที่ว่าจะเอาอย่างไหน

 

โลกวัตถุ: แดนตัวเอง
ที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่จบ

ยิ่งกว่านั้น ที่จริงเวลานี้ แม้แต่ในแดนของโลกวัตถุเองที่เราบอกว่าวิทยาศาสตร์เจริญมาจนจะสุดพรมแดนนั้น ตัวความจริงในฝ่ายโลกวัตถุนี่ในขั้นพื้นฐานจริงๆ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถตอบได้ คือวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายแม้แต่ในขอบเขตของโลกวัตถุ ยังมีสิ่งที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้หรือไม่แน่ใจ บอกไม่ถูก หรือเคยแน่ใจแล้วกลับเป็นไม่แน่ใจ เคยคิดว่าถูกแล้วกลับเป็นไม่ถูกใหม่อีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง quark ที่เราเรียก “ควาร์ก” หรือ “ควอร์ก”

ควาร์ก ก็คืออนุภาคพื้นฐานของสสาร คือเป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดแล้ว แต่มันเป็น fundamental คือเป็นพื้นฐานจริงหรือเปล่า อันนี้ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ ก็ได้แค่ เชื่อ ว่ามันถึงที่สุดแล้ว แต่บางคนบอกว่า ไม่แน่ใจว่ามันเป็น fundamental แท้หรือเปล่า ยังจะค้นหาต่อลงไปอีกได้หรือเปล่า หรือแม้แต่ว่ามันมีจริงหรือไม่ ก็ไม่ได้แน่นอนเด็ดขาดลงไป

ทีนี้เช่นเดียวกัน quanta หรือควอนตาในฝ่าย energy ก็ว่าคล้ายเป็นส่วน fundamental เหมือนกัน คือเป็นหน่วยพื้นฐานของฝ่าย energy แต่ก็ไม่ลงตัวแน่นอน ยังเป็นเรื่องของความเข้าใจและความเชื่อในระดับเดียวกัน

ในขั้นสุดท้าย ที่ว่า matter กับ energy เป็น ๒ โฉมหน้าของสิ่งเดียวกันนี่เราก็ยังไม่รู้ว่า ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นแล้วมันสลับกันได้อย่างไร แม้แต่เรื่องแสงที่เราได้หาความรู้กับมันมานานและใช้ประโยชน์กันมานาน จนกระทั่งบัดนี้วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบขั้นสุดท้ายว่า ธรรมชาติของแสงเป็นอย่างไรกันแน่ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าธรรมชาติของแสงยังเป็นสิ่งลึกลับที่สุดอย่างหนึ่งของวิทยาศาสตร์

แสงก็เช่นเดียวกัน เป็นพลังงานที่ว่าเป็นทั้งคลื่นทั้งอนุภาค มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร แล้วก็เป็นพลังงานที่มีความเร็วคงที่ได้อย่างไร ในขณะที่ว่าในทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น แม้แต่เวลาก็ยังมีการยืดการหด เวลายืดหดได้ แต่แสงไม่ยืดไม่หด แสงคงที่ตลอด ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ที่ทำให้มองเห็นความเข้าใจผิดของนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนที่หลงกันมา จนกระทั่งไอน์สไตน์ได้มาพูดขึ้น มาแสดงความจริงขึ้น

เรื่อง wave หรือคลื่น บางอย่างก็เป็นสิ่งลึกลับของวิทยาศาสตร์อยู่ต่อไป แม้แต่เรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า ก็เป็นความลึกลับอย่างหนึ่ง ที่ยังตอบชัดเจนไม่ได้ ในแง่เป็นคลื่นหรือเป็นอนุภาค cosmic ray มาจากไหน ก็ว่ายังตอบไม่ได้ แม้แต่ในเรื่อง gravitation ก็มีปัญหาว่า gravity ทำงานอย่างไร คือรู้กฎว่ามันเป็นความจริงที่มีอยู่อย่างนั้น และก็เอามาใช้กัน แต่มันทำงานอย่างไร ก็ไม่รู้ กลไกของมันเป็นอย่างไร เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ และที่ว่า space time mass ก็ถูกทำให้ผิดรูปไปเพราะทฤษฎีสัมพัทธ­ภาพได้ มันเป็นอย่างไร อันนี้มนุษย์ธรรมดาก็ยากที่จะเข้าใจได้

รวมแล้วก็คือว่า วิทยาศาสตร์ยังไม่อาจรู้ชัดถึงต้นกำเนิดทั้งของจักรวาลและของชีวิต สิ่งที่ศึกษาในขั้นสุดท้ายของวิทยาศาสตร์ ก็คือกำเนิดของจักรวาล และกำเนิดของชีวิต เขาบอกว่า ตอนนี้ก็ถือว่า Big Bang นั่นแหละเป็นจุดกำเนิดของจักรวาล แต่ทำไมจึงเกิด Big Bang ทำไมจึงเกิดอะตอม ก็ต้องถามต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่ชีวิตคืออะไร อะไรต่างๆ เริ่มเมื่อไร ก็แบบเดียวกัน

อย่างที่พูดเมื่อกี้ เช่นบอกว่า matter คือสสารยุบตัวอย่างไรใน black hole ก็เป็นสิ่งที่นอกจากคนธรรมดาจะคิดไม่ถึงแล้ว วิทยาศาสตร์เองก็ยังต้องพยายามหาคำตอบกันต่อไป และ the unified field theory ก็ยังไม่ลงตัว ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน สรุปก็คือว่า สภาพความจริงพื้นฐานที่สุด เป็นสิ่งที่ยังไม่อาจรู้สมบูรณ์ได้ หรืออย่างที่นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับบอกเลยว่า “ไม่มีทางที่วิทยาศาสตร์จะเข้าถึงได้โดยตรง”

ทีนี้ถ้าว่าตามเหตุผลสามัญในแง่ของความจริงนั้น เราก็บอกได้ว่า มันเป็นธรรมดาอยู่เองที่การจำกัดตัวเองอยู่ในขอบเขตของโลกวัตถุ หรือการใช้วิธีหาความจริงแบบโลกวัตถุอย่างเดียวนั้น ย่อมไม่อาจให้รู้ความจริงถึงที่สุดได้ คือไม่อาจเข้าถึงความจริงได้แม้แต่ในโลกของวัตถุเอง หมาย​ความว่า แม้แต่ความจริงขั้นสุดท้ายในโลกของวัตถุเอง ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการหาความจริงในด้านเดียวของโลกวัตถุ เพราะแท้จริงแล้ว ความจริงทุกด้านของจักรวาลพิภพย่อมโยงถึงกันหมด ในเมื่อมันโยงถึงกันหมดแล้วเราไปเรียนรู้อยู่ข้างเดียว แล้วจะให้ตอบคำถามถึงที่สุดย่อมไม่ได้ ต้องไปหาความรู้ในความจริงอีกด้านหนึ่งมาเสริมด้วย เพราะว่าปมความลับที่เหลืออยู่นั้น อาจจะไปอยู่อีกด้านหนึ่งของความจริง ที่เราไม่ยอมเข้าไปค้นคว้านั้นก็ได้

ก็เลยกลายเป็นว่า เมื่อวิทยาศาสตร์ค้นคว้า physical world หรือโลกฝ่ายวัตถุนี้ไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ถ้าจะค้นต่อไปมันจะบังคับให้วิทยา­ศาสตร์ต้องสนใจคิดตอบปัญหาด้านจิตใจด้วย คือมันจะบังคับเองว่าจะต้องไปคิดหาคำตอบด้านจิตใจให้ได้ จึงจะมาตอบคำถามทางด้านโลกวัตถุได้ ดังนั้น ถ้าวิทยาศาสตร์จะครอบคลุมความจริงทั้งหมด ก็ต้องอธิบายเรื่องจิตด้วย ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่าปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์อย่างนักฟิสิกส์หลายคนได้หันมาสนใจปัญหาเรื่องจิตใจว่า จิตใจทำงานอย่างไร

บางคนบอกว่าแม้แต่ the theory of relativity คือทฤษฎีสัม­พัทธภาพ นี่ ในระดับหนึ่งมันก็เป็นเพียงระบบปรัชญาในความคิดเท่านั้น กาลเทศะก็อาศัย consciousness เป็นเรื่องทางด้าน mind ความเข้าใจอย่างธรรมดาของมนุษย์ต่อสัณฐานและขนาดของวัตถุ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของประสาทสัมผัสเอง แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความคิด เป็นข้อสรุปของจิตใจ ไม่ใช่แค่ประสาททั้งห้า ตาเห็นวัตถุ แต่ไม่ได้เห็นขนาด ไม่ได้เห็นสัณฐาน การเห็นสัณฐานและขนาดนั้นเป็นการเห็นของใจอีกชั้นหนึ่งต่างหาก ดังนี้เป็นต้น ความรู้ทางด้านประสาทสัมผัสจึงไม่ได้เสร็จสิ้นอย่างนั้น

ทีนี้ตัวรู้วิทยาศาสตร์คืออะไร ก็คือจิต แต่ธรรมชาติของจิตนั้นวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ในเมื่อวิทยาศาสตร์ถูกรู้โดยจิต ถ้าวิทยาศาสตร์จะถึงที่สุดก็ต้องรู้ตัวจิตที่มารู้วิทยาศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องตัวรู้กับสิ่งที่ถูกรู้นี้ว่า แยกกันต่างหากหรือเป็นสิ่งเดียวกัน ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เลยหันมาขบคิดปัญหาเรื่องธรรมชาติของจิตกันมากขึ้น ว่าจิตนั้นคืออะไรกันแน่ จิตเป็นเพียงปรากฏการณ์ในกลไกการทำงานของวัตถุอย่างคอมพิวเตอร์เท่านั้นหรือ เหมือนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่าคอมพิวเตอร์ต่อไปจะมีจิตได้ไหม?

ตอนนี้ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้ว หลายคนได้เขียนหนังสือเป็นเล่มโตๆ เพื่อถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ที่ดูแล้วอย่างของ Penrose25 ที่ว่าเป็น national bestseller ก็บอกว่าไม่ใช่แน่ ไม่ใช่ คอมพิวเตอร์ไม่มีทางที่จะมีจิตใจขึ้นมาได้ แต่รวมความก็คือความสงสัยนี้จะต้องโยงไปหาเรื่องนี้จนได้ คือจะต้องข้ามแดนไปหาแดนของจิต อย่างที่จะเป็นปัญหาต่อไปว่า จิตกับวัตถุเป็นอันเดียวกันหรือคนละอย่างซึ่งที่จริงปัญหาทำนองนี้มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลแล้ว เช่นในอัพยากตปัญหา (ปัญหาที่พระพุทธ­เจ้าไม่ทรงพยากรณ์) ที่บอกว่าชีวะกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ถามกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ในปัจจุบันเท่าที่มองระยะนี้เห็นว่า นักฟิสิกส์หรือวงการชั้นนำในทางวิทยาศาสตร์ ดูเหมือนจะแยกได้สัก ๔ พวก ในแง่ที่พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องสัจจธรรมหรือความจริง

พวกที่หนึ่ง ถูกพวกที่ไม่เห็นด้วยเรียกว่าพวก orthodox หรือพวกหัวเก่า พวกนี้ยังยืนยันความเห็นว่าวิทยาศาสตร์ตอบปัญหาได้ทุกอย่าง วิทยาศาสตร์เป็นทางเดียวที่จะเข้าถึงความจริงอันสมบูรณ์

พวกที่สอง ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ใหม่ ยอมรับว่า วิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายแดนของจิต แต่มีความเห็นทำนองว่าควรจะต่างคนต่างอยู่ พวกนี้ไม่เห็นด้วยกับพวกที่เอาเรื่อง physics โดยเฉพาะ the new physics มาโยงกับเรื่องศาสนาตะวันออก อย่างเช่นนักเขียนวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อ ปาเจลส์ (Pagels)26 ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของฟ⁠ริตจ๊อฟ คาปรา (Fritjof Capra) ที่เอา the new physics มาโยงกับเรื่อง mysticism ของตะวันออก เช่นในเรื่อง meditation อะไรพวกนี้ อย่างที่เขาเขียนไว้ใน The Tao of Physics27

พวกที่สาม ได้แก่พวกฟิสิกส์ใหม่พวกหนึ่งที่ถือว่าฟิสิกส์สอดคล้องเสริมกันกับศาสนาตะวันออก ศาสนาตะวันออกช่วยอธิบายความจริง ชี้ทางออกหรือต่อยอดฟิสิกส์ได้ เช่นอย่างคาปราที่ว่าเมื่อกี้ ที่ได้เขียน The Tao of Physics และ The Turning Point28 เป็นต้น แต่อย่าไปคิดว่า วงการฟิสิกส์จะเห็นด้วยกับคาปราไปหมด บางพวกด่าคาปราอย่างรุนแรง

พวกที่สี่ ก็เป็นพวกวิทยาศาสตร์ใหม่อีกพวกหนึ่ง แต่เป็นพวกที่เห็นว่าแดนวัตถุของฟิสิกส์นั้น เป็นความจริงระดับหนึ่งอยู่ภายในแดนที่ครอบคลุมของฝ่ายจิต อันนี้ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือเป็นวงในและวงนอกของวงกลมใหญ่เดียวกัน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่จะต้องว่ากันต่อไป ในที่นี้ก็จะยังไม่วิจารณ์ ทีนี้ต่อไป ขึ้นหัวข้อใหม่เลย คือ เราจะก้าวเข้าไปสู่แดนของจิตใจที่วิทยาศาสตร์ยังก้าวไปไม่ถึง หรือยังไม่ได้พิจารณา รวมถึงเรื่องคุณค่าต่างๆ ด้วย ซึ่งในเวลาที่จำกัดก็จะได้เพียงเป็นของตัวอย่าง เช่น เรื่องจริยธรรม

 

 

จริยธรรม: ด่านหน้าที่รอประลอง
ของแดนนามธรรมแห่งจิต

จริยธรรมเป็นแดนหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องของคุณค่า คือเป็นเรื่องของความดีและความชั่ว ความดีและความชั่วนี้ถือว่าเป็นเรื่องของคุณค่า จริยธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งตามปกติเราถือว่าเป็นแดนของศาสนา แต่ตอนนี้เราจะต้องเอามาพิจารณาโยงกับเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย

บางคนถึงกับพูดทำนองว่า ความดีความชั่วเป็นเรื่องของสังคมมนุษย์บัญญัติกันขึ้นเอง คล้ายๆ ว่ากันเอาตามใจชอบ หมายความว่า มนุษย์อยากจะว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดี ก็ว่ากันไป บัญญัติกันไป ซึ่งก็จะเห็นคล้ายๆ ว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะเราก็เห็นกันอยู่ว่า สิ่งที่สังคมนี้ว่าดี แต่สังคมโน้นบอกว่าไม่ดี กลายเป็นชั่วไป ส่วนอันที่สังคมโน้นว่าดี สังคมนี้ว่าชั่ว แต่ที่จริงการที่เข้าใจอย่างนี้แสดงว่ายังมองความจริงในกระบวนการของเหตุปัจจัยไม่ออก จุดสำคัญคือ

หนึ่ง แยกไม่ออกระหว่างจริยธรรมกับบัญญัติธรรม บัญญัติธรรมคือสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น จริยธรรมคือตัวความประพฤติที่ดีที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องของความดีและความชั่ว แล้วลึกกว่านั้นอีกคือ

สอง มองไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงจากสัจจธรรมสู่จริยธรรม เพราะจริยธรรมนั้นต้องโยงลึกลงไปอีก คือโยงไปหาสัจจธรรมอีกทีหนึ่งในกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ในที่นี้เรามีข้อพิจารณา ๓ อย่าง คือ สัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างสามข้อ และสามขั้น แล้วตรวจดูความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสามอย่างนั้น ให้เห็นความสืบทอดตามกระบวนการของเหตุปัจจัย

กระบวนการของเหตุปัจจัยในเรื่องนี้จะสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นระบบ จากความดีความชั่ว ที่เป็นตัวภาวะซึ่งเป็นความจริง เป็นสภาวะในฝ่ายสัจธรรม โยงออกมาเป็นความประพฤติดีชั่ว พูดดี พูดชั่ว เป็นต้น ที่เป็นจริยธรรม แล้วก็โยงต่อมาหากฎเกณฑ์ที่ชุมชนและสังคมกำหนดวางขึ้นเป็นแนวทางให้เกิดความมั่นใจว่าคนจะประพฤติดีมีจริยธรรม ซึ่งเรียกว่าเป็นบัญญัติธรรม รวมเป็นสามขั้น

อันนี้เพื่อให้ง่ายขึ้นจะเทียบกับทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ เพราะเรื่องสัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมนี่ก็เป็นระบบที่คล้ายๆ กับแนวของวิทยาศาสตร์ ฐานคือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นตัวสัจจธรรม ต่อมาก็เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีซึ่งยังอาศัยสัจจธรรม คือ อาศัยตัวความจริงขั้นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้น ถ้าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่จริง เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ก็พลอยเสียไปด้วย ต่อจากวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีก็ถึงชั้นที่สามคือ รูปแบบของเทคโนโลยี ซึ่งอาจปรากฏเป็นต่างๆ กันมากมาย ไม่เหมือนกัน แล้วก็มีประสิทธิภาพต่างๆ กันในการที่จะให้กฎเกณฑ์วิทยาศาสตร์นั้นทำงานได้ผลดีแค่ไหน

สัจจธรรม เทียบได้กับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์

จริยธรรม เทียบได้กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี

บัญญัติธรรม เทียบได้กับรูปแบบที่ปรากฏตัวของเทคโนโลยี

อันนี้อาจจะเป็น oversimplification คือ พูดเอาง่ายเข้าว่า แต่ไม่เป็นไร เป็นวิธีพูดอย่างหนึ่ง

สังคมวางข้อบัญญัติหรือวินัยหรือกฎหมายเป็นข้อบังคับขึ้นมา อันนั้นเป็นบัญญัติ ทำได้ตามใจชอบ ตามพอใจ เช่น เมืองไทยบัญญัติว่าให้รถวิ่งชิดซ้าย เมืองอเมริกาบอกให้วิ่งชิดขวา อย่างนี้ก็ต่างคนต่างบัญญัติสิ แล้วใครดีใครชั่วล่ะ ไทยจะบอกว่าของอเมริกาวิ่งชิดขวาชั่ว ของไทยวิ่งชิดซ้ายดี หรือของอเมริกาจะบอกตรงข้ามได้ไหม ก็ไม่ได้ ต้องว่าไปตามกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ อย่างนี้เป็น บัญญัติธรรม

แต่ที่จริง บัญญัตินั้นก็ไม่ใช่เป็นเพียงการว่าเอาตามใจชอบ มันมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ในการที่เราบัญญัติอย่างนั้น แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น บัญญัติให้รถวิ่งชิดขวาหรือชิดซ้ายก็ตาม มันมีสิ่งที่ต้องการซ้อนอยู่ สิ่งที่ต้องการนั้นคืออะไร คือความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เกื้อกูลต่อการอยู่ร่วมกัน เอื้อต่อสันติสุขของสังคมมนุษย์ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องการทั้งสองฝ่าย นี้คือสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม สังคมอเมริกันก็ต้องการอันนี้ สังคมไทยก็ต้องการอันนี้ เขาไม่ใช่บัญญัติส่งเดช เพราะฉะนั้น แม้จะบัญญัติต่างกัน แต่ตัวจริยธรรมที่ต้องการ คืออันเดียวกัน ในกรณีนี้เราเห็นความต่างของบัญญัติธรรม แต่ตัวแท้หรือสาระคือจริยธรรมเป็นอันเดียวกัน

ทีนี้ก็มีปัญหาว่า บัญญัติธรรมของใครจะได้ผลดีกว่าในการที่จะเป็นหลักประกันให้เกิดมีจริยธรรม ปัญหามันอยู่ที่นี่เท่านั้น เพราะฉะนั้น คนจึงอาจจะเถียงกันว่า บัญญัติธรรมชิดขวาของอเมริกากับบัญญัติธรรมชิดซ้ายของไทยนี้อย่างไหนจะได้ผลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ดีกว่ากัน นี่เป็นตัวอย่างกรณีหนึ่ง กรณีอื่นก็เช่นเดียวกัน คนจะเถียงกันในแบบนี้ แต่นั่นไม่ใช่หมายความว่า เป็นเรื่องที่สังคมบัญญัติเอาตามใจชอบ

[caption id="attachment_18730" align="aligncenter" width="450"] การประชุมจริยธรรมสากล (Universal Ethics Summit) ครั้งที่ ๑
๑๒ เมษายน ๒๕๔๓ ณ สําานักงานสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค[/caption]

เอาละ นี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบัญญัติธรรมกับจริยธรรม คือ วางบัญญัติธรรมเพื่อต้องการจริยธรรม หรือทางภาษาพระพูดได้สั้นๆ ว่า วินัยเพื่อศีล วินัยเป็นบัญญัติกฎเกณฑ์ทางสังคม แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ศีล ได้แก่ จริยธรรม

มีข้อยกเว้นว่า อาจจะมีการวางกฎเกณฑ์หรือออกกฎหมายตามใจชอบ เพื่อผลประโยชน์ของบางกลุ่มบางคนก็มี เช่น บางครั้งเราวิจารณ์กันว่า กฎหมายนี้บัญญัติขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้อะไรทำนองนี้ อย่างนี้ก็ถือว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในกระบวนการของบัญญัติ­ธรรม ซึ่งจะพลอยให้จริยธรรมไม่ได้ผลไปด้วย เพราะมันเสียตั้งแต่ระบบการวางบัญญัติธรรมแล้ว จริยธรรมก็ได้ผลได้ยาก แต่สังคมไม่น้อยก็วางกฎ ระเบียบ กฎหมาย หรือวินัยโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อต้องการจริยธรรม

เมื่อต้องการจริยธรรมอันเดียวกัน แต่วางบัญญัติธรรมผิดแผกกันไป มันก็เป็นเรื่องที่ว่าเราจะต้องแยกให้ถูกระหว่างบัญญัติธรรมกับจริย­ธรรม เราจะพบเห็นมากในเรื่องความแตกต่างหลากหลายของบัญญัติธรรมในประเพณีของสังคม เช่น ประเพณีเกี่ยวกับครอบครัว ในสังคมนั้นผู้หญิงมีสามีได้เท่านั้น ผู้ชายมีภรรยาได้เท่านี้อะไรต่างๆ นี้เป็น บัญญัติธรรม ของสังคม ซึ่งว่ากันไปต่างๆ นานา แต่ในจุดรวมเขาต้องการอะไร ก็ต้อง​การความเรียบร้อยของสังคม หรือความเป็นระเบียบในเรื่องครอบครัว นี้เป็นสิ่งที่ต้องการ และนั่นคือตัว จริยธรรม

แต่ในการบัญญัติของสังคมนั้น เพราะเหตุที่มนุษย์มีสติปัญญาไม่เท่ากัน มีความคิดที่รอบคอบมากน้อยกว่ากัน มีเจตนาที่สุจริตไม่สุจริตไม่เท่ากัน สังคมมีสภาพแวดล้อมและพื้นเพภูมิหลังไม่เหมือนกัน เมื่อตัวแปรมีมาก มันก็ทำให้ผลในทางที่จะเป็นหลักประกันจริยธรรมนั้นต่างกันไป ได้ผลมากบ้างได้ผลน้อยบ้าง เดี๋ยวก็แก้ไขกันใหม่หรือจัดวางกันใหม่ บัญญัติธรรมจึงขึ้นต่อสภาพแวดล้อมแห่งกาละและเทศะด้วย ปัญหาเกี่ยวกับกาลเทศะเป็นเรื่องในระดับบัญญัติธรรมเป็นสำคัญ โดยที่ว่าสาระก็คือเราต้องการจริยธรรมอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้น โดยวิธีมองที่ถูกต้อง แม้ว่าบัญญัติธรรมจะต่างกันไปอย่างไรก็ตาม นั่นก็คือ ความเพียรพยายามของมนุษย์ทั้งหลายที่จะเข้าถึงความดีงามแท้ที่เป็นจริยธรรม หมายความว่า บัญญัติธรรมไม่ใช่ตัวสำเร็จ สิ่งที่มนุษย์ได้พยายามบัญญัติกันขึ้นมานั้น เป็นความเพียรพยายามของเขาที่จะเข้าถึงตัวจริยธรรม ซึ่งได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง จะได้ผลแค่ไหนก็ตามสติปัญญา และเจตนาที่สุจริตหรือทุจริตเป็นต้นของมนุษย์ในกาลเทศะนั้น

ถ้ามองอย่างนี้แล้วเราจะมองภาพความจริงไปอีกอย่างหนึ่ง เราจะไม่มาหลงว่าความดีความชั่วเป็นเรื่องที่สังคมบัญญัติเอาเองตามชอบใจ ซึ่งเป็นเพราะเราแยกไม่ถูกเองอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็เป็นอันว่า จะต้องมองบัญญัติธรรมทั้งหลายว่าเป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะเข้าถึงความดีงามแท้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยังพยายามกันอยู่ และจะพยายามต่อไป และเมื่อพยายามวางบัญญัติธรรมขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะได้ผลแค่ไหน หรือไม่ได้ผลแค่ไหน เราก็ยังต้องการจริยธรรมอยู่นั่นเอง พร้อมกันนั้น การที่เราวางบัญญัติธรรมขึ้นมา แล้วจะได้ผลให้เกิดจริยธรรมได้จริงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของคนที่วางบัญญัติธรรมนั้น เช่น การมีความสุจริตใจหรือไม่ และการที่ได้ใช้สติปัญญาอย่างจริงจังเพียงใด เป็นต้น เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งด้วย

ทีนี้ สำหรับปัญหาต่อไปว่าจริยธรรมนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ก็ต้องโยงต่อไปอีกว่า จริยธรรมต้องมีสัจจธรรมเป็นฐาน คือต้องสอดคล้องกับกระบวนการของเหตุปัจจัยจึงจะถูกต้อง ในขั้นบัญญัติธรรมนั้นเราบอกว่า บัญญัติธรรมถ้าบัญญัติขึ้นมาแล้วเกิดจริยธรรม ก็นับว่าได้ผล หมายความว่า ถ้าเราบัญญัติให้วิ่งรถชิดซ้ายหรือชิดขวาแล้วมันเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นมาก็ได้ผล จะได้ผลมากหรือน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ในขั้นจริยธรรมมันจะจริงแค่ไหน ก็ต้องขึ้นต่อรากฐานคือตัวสัจจธรรม ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เป็นอันว่า กระบวนการของสัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมนี้ เป็นแดนของนามธรรม และในเมื่อจริยธรรมต้องขึ้นอยู่กับสัจจธรรม ระบบคุณค่าจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน แต่เพราะเหตุที่มีเหตุปัจจัยซับซ้อน จึงได้พูดเมื่อกี้ว่ามันคงจะยากกว่าการพยากรณ์อากาศ เพราะว่าเหตุปัจจัยมันซับซ้อนกว่า ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ คือ ยังมองไม่เห็นความสัมพันธ์เนื่องกัน ระหว่างสัจจ­ธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม ก็จะเข้าสู่เรื่องคุณค่าที่เป็นด่านหน้าของแดนแห่งจิตใจไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของเรื่องทางด้าน​จิตใจ ซึ่งอยู่ในกฎธรรมชาติ มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน

วิทยาศาสตร์: ต้นวงจรที่เฉออกไปจากมนุษย์

ทีนี้ ลองมาเทียบดูระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง คือที่บอกเมื่อกี้ว่าวงจรวิทยาศาสตร์ไม่ครบไม่ครอบคลุมความเป็นมนุษย์ เพราะเฉออกไปเสีย เป็นวงจรที่ออกไปสู่โลกวัตถุ ต่างจากพุทธศาสนาที่ว่า พระพุทธศาสนารู้ธรรมชาติ คือรู้สัจจธรรม แล้วก็นำไปสู่การวางกฎเกณฑ์จริยธรรมตามนั้น และเมื่อจริยธรรมเกิดขึ้น มนุษย์ประพฤติตามนั้น ก็ได้ผลซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติเพราะจริยธรรมนั้นสอดคล้องกับกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย มนุษย์ก็เข้าถึงชีวิตที่ดีงามที่เป็นจุดหมายซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของเหตุผล ฉะนั้นก็เป็นวงจรที่ครบสามท่อนคือ รู้ธรรมชาติหรือรู้สัจจธรรม ๑ แล้วก็ดำเนินตามจริยธรรม ๑ แล้วก็เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ๑

ส่วนวิทยาศาสตร์นั้นก็รู้สัจจธรรมที่เป็นธรรมชาติ แต่เป็นฝ่ายโลกวัตถุ แล้วก็นำไปสู่วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี แล้วก็นำไปสู่ผลที่ต้องการคือชีวิตที่พรั่งพร้อม

ฝ่ายหนึ่งนำไปสู่ชีวิตที่ดีงาม อีกฝ่ายหนึ่งนำไปสู่ชีวิตที่พรั่งพร้อม ฝ่ายหนึ่งว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ อีกฝ่ายหนึ่งว่าด้วยธรรมชาติของโลกวัตถุ ที่ว่านี้เป็นการบอกว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่โยงสัจจธรรมออกไปหาจริยธรรม แต่เพราะเอาสัจจธรรมแค่โลกวัตถุ ก็เลยโยงไปหาเทคโนโลยี

ในที่นี้จะพูดถึงหลักการอันหนึ่งที่เอามาแสดงลักษณะของวิทยา­ศาสตร์ได้ คือ วิทยาศาสตร์นั้นตอบแต่ “What is?” ไม่ตอบ “What should be?” หรือ “What ought to be?” (ในที่นี้จะพูดสั้นๆ ว่า What is กับ What should) แล้วก็ถือว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของ What should คือ มันควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์จึงไม่ตอบเรื่องจริยธรรม ส่วนพุทธศาสนานั้นตอบทั้งคู่ โดยบอกว่าต้องรู้ What is จึงตอบ What should ได้ และถือว่า What is กับ What should ไม่ใช่คนละเรื่องแต่เป็นเรื่องที่สืบเนื่องกัน และความจริงไม่ใช่ What should ด้วย แต่น่าจะเป็น It follows that หมายความว่า เมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็จะต้องเป็นอย่างนั้นต่อไป นี่ก็คือพุทธศาสนาบอกความสัมพันธ์ระหว่างสองอย่าง ในขณะที่วิทยาศาสตร์ปฏิเสธ หรือไม่ได้เฉลียวใจที่จะคิดเรื่องนี้

ถ้ามองจากสายตาพุทธ การที่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นำไปสู่เทคโนโลยี ก็เป็นลักษณะหนึ่งของการที่ What is นำไปสู่ What should เหมือนกัน แต่อย่างที่ว่าเมื่อกี้ การใช้คำว่า What should อาจจะไม่ถูกต้อง คือมันไม่แสดงถึงความต่อเนื่องตามเหตุปัจจัยที่ว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วมันจะต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งในภาษาของฝ่ายพุทธศาสนาถือว่ามันเป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงให้รู้กันว่า What should เป็นสิ่งที่ตามมาจาก What is

ขอยกตัวอย่างทางรูปธรรม เช่น วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์บอกง่ายๆ ว่า น้ำจะแข็งเมื่อ (อุณหภูมิลดต่ำลงถึง) ศูนย์องศาเซลเซียส สมมติว่าอย่างนี้ เทคโนโลยีก็เข้ามาตอนนี้บอกว่า เออ เราต้องการจะทำน้ำให้เป็นน้ำแข็ง วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์บอกมาแล้วนี่ว่าความจริงเป็นอย่างนั้น น้ำจะเย็นถึงจุดเยือกแข็งเมื่อศูนย์องศาเซลเซียส เราก็หาเครื่องมือหรือประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมา ทำให้น้ำนี่ลดอุณหภูมิลงไปถึงระดับศูนย์องศาเซลเซียส เราก็ได้น้ำแข็ง หลักการกับวิธีการนี้ต้องต่อเนื่องสอดคล้องกัน จึงได้บอกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นการรู้สัจจธรรม ซึ่งเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์​ประยุกต์นำมาใช้ประโยชน์โดยจะต้องทำจะต้องปฏิบัติตามนั้น

ถ้าหากเป็นเรื่องทั่วไปอย่างนี้วิทยาศาสตร์จะบอก แต่พอถึงเรื่องมนุษย์แล้ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเงียบ มันก็ทำนองเดียวกัน สมมติว่าเราไปเห็นหลุมไฟแห่งหนึ่งร้อนมาก ถึง ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส เราก็บอกความจริงว่า ร่างกายของมนุษย์นี่ถ้าถูกอุณหภูมิสูงเกินเท่านั้นไปอยู่ไม่ได้ต้องตายแหลกลาญ เพราะมันมีความจริงอยู่อย่างนั้น เราจึงบอกต่อไปว่า ถ้าท่านไม่ต้องการแหลกลาญ ไม่ต้องการตาย ก็อย่าเข้าไปในหลุมนั้น ในกรณีนี้สัจจธรรมก็คือตัวความจริงที่บอกว่า หลุมไฟนั้นมีความร้อนเท่านี้ ร่างกายของท่านมันทนไม่ได้ ถูกอย่างนั้นมันจะตาย จริยธรรมก็คือหลักปฏิบัติสืบเนื่องจากนั้นที่บอกว่า เมื่อท่านไม่ต้องการจะตาย ท่านก็ต้องไม่ หรืออย่า หรือไม่ควรจะเข้าไปในหลุมนั้น การไม่เข้าไปในหลุมเพราะไม่ต้องการจะตาย อันนี้คือ จริยธรรม จริยธรรมจะมาในรูปนี้โดยตลอด ดังนั้นจริยธรรมที่แท้จึงต้องมีสัจจธรรมเป็นรากฐาน เราจะต้องหาตัวนี้ว่า สัจจธรรมอะไร แค่ไหน ขอบเขตเพียงใด ที่นำมาสู่จริยธรรมที่ต้องการ

วิทยาศาสตร์มาจบอยู่แค่กระบวนการฝ่ายโลกวัตถุ ไม่เข้ามาถึงตัวมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่แนะนำวิธีปฏิบัติหรือวิธีวางตนของมนุษย์ และจึงไม่มาถึงจริยธรรม แต่ว่าที่จริงแล้ว เคยพูดว่า เพราะเรื่องจิตใจนี่แหละวิทยาศาสตร์จึงเกิดขึ้นได้ และจึงเจริญสืบมา เพราะจุดกำเนิดและปัจจัยที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าพัฒนามาได้ ก็คือการมีความใฝ่รู้ที่เป็นคุณค่าในทางจิตใจ รวมทั้งมีความเชื่อในความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ ความเชื่อในกฎธรรมชาติ ตลอดกระทั่งแม้แต่คุณค่าที่เสริมเข้ามา เช่นต้องการพิชิตหรือเอาชนะธรรมชาติก็ตาม ก็อยู่ในกระบวนการหาความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระบวนการทางจิตควบกำกับอยู่ตลอดเวลา

 

ศาสนาที่แท้เป็นฐานกำเนิดของวิทยาศาสตร์

ไม่เฉพาะความใฝ่รู้และศรัทธาที่บอกมาแล้วเท่านั้น แม้แต่การค้นพบสำคัญที่เป็นความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ของวิทยาศาสตร์ก็เริ่มมาจากในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ความหยั่งรู้ และเล็งเห็นในใจของตนขึ้นมาก่อน ก่อนที่เขาจะเริ่มการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ โดยมากในจิตใจจะมีความหยั่งรู้อะไรขึ้นมา เขาเล็งเห็นอะไรบางอย่างขึ้นมาก่อน และอันนี้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขามีจุดตั้งต้นค้นคว้า แล้วก็มีความมุ่งมั่นที่จะค้นคว้าต่อไป

ถ้าไม่มีความหยั่งรู้เล็งเห็นอันนี้แล้ว วิทยาศาสตร์ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องเรื่อยเปื่อยไป หรืออาจจะเรียกว่าสุ่มสี่สุ่มห้า คือไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่มีจุดไม่มีเป้า เพราะฉะนั้นในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์จึงถือว่า ความหยั่งรู้เล็งเห็นนี้เป็นตัวสำคัญ ไม่ใช่มีแต่ความใฝ่รู้และศรัทธาเท่านั้น คือในตัวนักวิทยาศาสตร์เองเมื่อจะค้นพบแต่ละเรื่องๆ ที่สำคัญ มักจะมีความหยั่งรู้และเล็งเห็นในใจนี้ขึ้นมาก่อน เป็นความคิดที่มองล่วงหน้าถึงความจริงที่นักวิทยาศาสตร์นั้นยังไม่รู้ ซึ่งนำไปสู่การคิดใคร่ครวญ การคิดเป็นระบบ การคิดตั้งสมมติฐาน การทดสอบทดลอง แล้วก็นำไปสู่การค้นพบและทฤษฎีใหม่ๆ

ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ที่ได้เป็นมาทั้งหมดนั้นก็ด้วยอาศัยศรัทธา ความเชื่อมั่น ความใฝ่รู้ ความหยั่งรู้เล็งเห็น เป็นต้น เหล่านี้ และในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ที่แท้ ผู้สร้างความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ให้แก่วิทยาศาสตร์ก็เต็มไปด้วยสภาพจิตที่เรียกว่าคุณค่าเหล่านี้

แม้แต่การสังเกตอะไร ก็เริ่มจากความคิดตั้งจุดที่จะสังเกตให้ก่อน แล้วความคิดจิตใจก็กำกับควบคุมการสังเกตตลอดเวลา แม้แต่เรื่องของนิวตันที่ว่าเห็นแอปเปิ้ลตกแล้วก็เกิดความหยั่งรู้เห็นกฎ gravitation ขึ้นมานี้ ตามเรื่องที่เราได้ยินคล้ายๆ ว่าแกเห็นตอนนั้นก็เกิดความหยั่งรู้ผุดขึ้นมาทันที แต่ตามเรื่องที่เป็นจริง ได้ทราบว่านิวตันคิดเรื่องเกี่ยวกับ motion นี้มาก่อนตั้งเป็นเดือนๆ แล้ว มันเป็นกระบวนการของความคิดในจิตใจนั่นเอง เหมือนอย่างเรานี่ บางทีคิดปัญหาอะไรอย่างหนึ่งไม่ตกสักที คราวหนึ่งไปนั่งในที่เงียบๆ สงบอยู่ วิธีหรือช่องทางแก้ปัญหาเรื่องนั้นก็สว่างโพลงโผล่ขึ้นมาได้เหมือนกัน ซึ่งที่จริงมันก็เป็นกระบวนการทำงานของจิตอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่หมายความว่ามันเกิดขึ้นมาลอยๆ มันต้องมีกระบวนการ และกระบวนการนี้ก็เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยเหมือนกัน เรียกว่าเป็นกระบวนการทางจิต หรือเป็นกระบวนการความคิดอีกระดับหนึ่ง

ในตอนนี้เพื่อจะให้ผ่านไปก็พอสรุปได้ว่า เรื่องจิตใจหรือคุณค่านี้ มันเป็นทั้งจุดเริ่มกำเนิดของวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ความใฝ่รู้และศรัทธา และเป็นตัวความสามารถที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าพัฒนามาได้ เช่นความหยั่งรู้เล็งเห็น แล้วก็เป็นจุดหมายที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึง คือ ตัวจุดหมายปลายทางที่หยั่งเห็นอยู่ในใจนั้นพร้อมทั้งความมุ่งมั่นฝันใฝ่ ซึ่งวิทยาศาสตร์ยังจะต้องก้าวต่อไป แม้แต่การที่เราคิดจะหาความจริงพื้นฐาน ก็เพราะเรานึกว่ามันมีความจริงพื้นฐานนั้นอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องในใจ ใจคิดขึ้นมา มันจึงมีจุดที่จะไปคิดไปหาเหตุผล อันนี้ก็เป็นจุดสรุปอันหนึ่ง

พอมาถึงตอนนี้ก็จะบอกชื่อนักวิทยาศาสตร์ใหญ่ผู้เป็นเจ้าของความคิดที่ถือได้ว่าเป็นที่มาของหัวข้อปาฐกถานี้ เพราะมาถึงตอนนี้ก็ได้บอกแล้วว่าจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์คืออะไร

คนที่ถือได้ว่าความคิดของเขา หรือคำกล่าว หรือถ้อยคำของเขาได้เป็นฐานให้แก่ชื่อของปาฐกถานี้ ก็คือ ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นั่นเอง แต่เขาไม่ได้พูดอย่างนี้ตรงๆ หรอก อาตมาจับความเอามาอย่างนั้นเองให้สนใจ

ไอน์สไตน์ว่าอย่างไร ไอน์สไตน์ก็ว่าเป็นตอนๆ ตอนหนึ่งแกบอกว่า

“ในยุควัตถุนิยมของพวกเรานี้ ผู้ทำงานทางวิทยา­ศาสตร์อย่างเอาจริงเอาจัง เป็นคนจำพวกเดียวเท่านั้น ที่มีศาสนาอย่างลึกซึ้ง”29 (หรือจะใช้คำว่า ‘เคร่งศาสนา’ ก็แล้วแต่)

ไอน์สไตน์กลับไปเห็นว่า ในยุคนี้หาคนที่มีศาสนายาก มีนักวิทยา­ศาสตร์พวกเดียวเท่านั้นที่เป็นคนมีศาสนาอย่างจริงจัง แต่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างที่เรียกว่า เป็นคนทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง และแกบอกต่อไปว่า

“วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้ โดยเป็นการสร้างสรรค์ของคนที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจจธรรมและปัญญาที่เข้าใจความจริง... บุคคลที่เราเป็นหนี้ผลสำเร็จในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทุกคนล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นทางศาสนา (ศรัทธา) อย่างแท้​จริงว่าสากลจักรวาลของเรานี้ เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์และสามารถรับรู้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล”30

อันนี้เขาเรียกว่าเป็นความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนา กล่าวคือความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และความเชื่อว่าเบื้องหลังธรรมชาติมีกฎแห่งความเป็นจริงที่แน่นอนครอบคลุมทั่วสากล อันนี้ไอน์สไตน์เรียกว่าเป็น “ความรู้สึกทางศาสนา” หรือ “สำนึกทางศาสนา” โดยเฉพาะเป็น cosmic religious feeling คือ “สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล” แล้วเขาก็บอกว่า

“สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากลนี้ เป็นแรงจูงใจที่แรงกล้าและประเสริฐที่สุดสำหรับการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์”31

ไอน์สไตน์ว่าอย่างนี้ แล้วอีกตอนหนึ่งแกบอกว่า

“พุทธศาสนา ... มีสภาวะที่เรียกว่า cosmic religious feeling คือความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนาอันหยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากลนี้อย่างเข้มข้น หรือแรงกล้ามาก”32

แกว่าอย่างนั้น แกบอกว่า พุทธศาสนามี cosmic religious feeling สูงมาก และ cosmic religious feeling นี้ เป็นต้นกำเนิดของการคิด​ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็ให้นึกเอาเองว่าจะตั้งเป็นชื่อเรื่องนี้ได้หรือเปล่า ในที่นี้ก็เลยถือเอาพอเป็นนัยๆ ว่า พุทธศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ในแง่หนึ่งอย่างนี้

แต่อย่าถือเป็นสำคัญนักกับเรื่องที่ว่านี้ เพราะอาตมาเองก็ไม่ใช่เห็นด้วยเต็มที่กับไอน์สไตน์ แต่ที่ไม่เห็นด้วยไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด เพียงแต่ไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่ามันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ คือมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของความหมายของสำนึกทางศาสนา เพราะในเรื่องของศาสนานั้นมันจะต้องโยงมาถึงตัวมนุษย์ ธรรมชาติภายในของความเป็นมนุษย์ และการที่ว่ามนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งภายนอกและภายใน หรือต่อโลกและชีวิตอย่างไรด้วย ในคำพูดของไอน์สไตน์นั้นอาตมาไม่เห็นชัดจะแจ้งลงไปว่าจะโยงมาสู่ความเข้าใจตัวเองของมนุษย์และประโยชน์ของมนุษย์ที่เราพูดในทางพุทธศาสนาว่า จะต้องนำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม จากคำพูดของไอน์สไตน์นั้นก็เห็นชัดว่า แกมีความเห็นว่าวิทยาศาสตร์เริ่มจากความต้องการของมนุษย์ในจิตใจ คือ ความใฝ่รู้ และศรัทธาที่เชื่อในความจริงแห่งกฎธรรมชาติ

แต่ทีนี้ ในเมื่อเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว อาตมาก็บอกว่าไม่อยากให้ติดใจนักกับคำพูดที่ว่าพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์อะไรนั้น แต่สิ่งที่อยากจะให้พิจารณาจะเป็นทำนองนี้ คือ เราอาจจะเปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่ ให้เป็นไปในเชิงเป้าหมายว่า “วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน ควรจะเป็นอย่างไร” นี่เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ แล้วเราก็อาจจะได้แนวความคิดที่ต่อยอดจากนี้ออกไป เพราะถ้าเพียงแต่มาพูดว่า พุทธ­ศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ก็ได้แต่พูดกันไป อาจจะถูกหาว่าอวดด้วย และก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเป็นแก่นสารมากนัก แต่ถ้าบอกว่า “วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน ควรจะเป็นอย่างไร” ก็จะเป็นทางสร้างสรรค์ให้เห็นอะไรที่จะทำกันได้ต่อไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันเป็นเรื่องใหญ่ แต่อย่างน้อยตอนนี้ที่พอจะตอบได้ ก็เอาแค่ในเรื่องที่พูดมาแล้วนั่นแหละ ซึ่งเหมือนกับมาสรุปทวนกันอีกว่า อย่างน้อย

ขั้นที่ ๑ ต้องขยายความหมายของ “ศาสนา” หรือ ขยายความหมายของ “สำนึกทางศาสนา” นี้ให้กว้างออกไป ให้ตรงกับของพุทธ­ศาสนา คือ

    ก) คำว่าสำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล จะต้องครอบ​คลุมทั้งธรรมชาติภายนอก และธรรมชาติภายในคือตัวมนุษย์ หรือทั้งธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมทั่วไป และธรรมชาติด้านคุณค่าที่เป็นนามธรรม
    ข) ที่ว่าวิทยาศาสตร์เกิดจากความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาตินั้น จะต้องเสริมด้วยความใฝ่ปรารถนาในความดีงามสูงสุด ที่พุทธ­ศาสนาเรียกว่า ความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์ของมนุษย์ด้วย

ข้อ ก) เป็นการขยายขอบเขตหรือแดนแห่งความจริงของธรรมชาติที่จะเข้าถึง ให้ครอบคลุมครบถ้วน ส่วนข้อ ข) เป็นการเน้นย้ำคุณค่าที่สอดคล้องกลมกลืนกับคุณค่าสูงสุด ซึ่งจะทำให้เกิดความบริสุทธิ์ชัดเจนแก่ความใฝ่ปรารถนาในความจริงนั้น ปิดกั้นโอกาสไม่ให้คุณค่าแปลกปลอมเข้ามาแทรกแซงครอบงำ

พอเอามาบวกกันอย่างนี้แล้ว ก็จะบอกได้ว่า (วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน) “เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาจากความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และความใฝ่ปรารถนาความดีงามสูงสุด โดยเป็นไปพร้อมด้วยการพัฒนามนุษย์ (ให้สามารถแก้ปัญหาและเข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดนั้น)” หรือจะพูดทำนองนี้ก็ได้ว่า “เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดมาจากความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และความใฝ่ปรารถนาที่จะเข้าถึงความดีงามสูงสุด ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงาม”

วิทยาศาสตร์ทำนองนี้ ก็เฉียดๆ ไปทางจะเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แต่ก็ไม่ใช่ ว่าในแง่หนึ่ง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติในยุคที่แล้วมาก็เกี่ยวกับแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังซึ่งเราเห็นว่าไม่ดี เราจึงยกเอาอันนี้ขึ้นมา เพื่อไปตัดค่านิยมซึ่งเป็นแรงจูงใจอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือความใฝ่พิชิตธรรมชาติ และความใฝ่ปรารถนาในความมีวัตถุพรั่งพร้อมเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เราจะตัดอันนั้นออกไป เลิกเสีย แล้วก็แทนที่ด้วยความใฝ่ปรารถนาความไร้ทุกข์ของมนุษย์นี้เข้ามา

อาจจะพูดได้อีกสำนวนหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ซึ่งเข้าถึงความจริงแท้ที่สมบูรณ์ จะเป็นการบรรจบแห่งสาระของวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ทั้งหมด ทำให้ศาสตร์ทุกอย่างโยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความจริงของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ด้วยการศึกษาของวิทยาศาสตร์ โดยที่วิทยาศาสตร์เองจะต้องขยายความหมายพื้นฐานและปรับปรุงวิธีการศึกษาของตนบ้าง

ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่นๆ หรือลอยๆ เพราะปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะโดยความก้าวหน้าของวิทยาการทั้งหลายก็ดี โดยความบีบบังคับของการพัฒนาที่ได้โยงมนุษย์และสังคมเข้ามาถึงธรรมชาติแล้วก็ดี ทำให้มีความจำเป็นที่จะเข้าถึงเอกภาพในทางวิชาการหรือในกระบวนความรู้หรือการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ พูดเป็นสำนวนว่า ถึงภาวะสุกงอมแล้ว ถ้าสุกงอมแล้วไม่จัดการให้ถูกต้อง ก็จะเน่า นั่นคือความเสื่อมเสียและโทษภัยก็จะต้องเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาเช่นนี้แล้ว วิทยาศาสตร์จะรับทำหน้าที่นำมนุษย์เข้าสู่แกนร่วมสัมพันธ์ของวิทยาการนี้หรือไม่

ขั้นที่ ๒ ตามหลักการเกี่ยวกับความจริงที่เป็นประโยชน์ พึงจำแนกประเภทความรู้ในความจริงออกไปให้ชัดเจนเป็น ๒ พวก คือ

    ก) ความรู้ที่จำเป็น หรือความจริงที่มีประโยชน์ คือที่จำเป็นสำหรับการที่จะมีชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะเข้าถึงได้ภายในช่วงเวลาแห่งชีวิตนี้ของตน
    ข) ความรู้อย่างอื่นซึ่งไม่จำเป็น หรือความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็พยายามพิสูจน์และรอพิสูจน์กันต่อไป โดยที่การที่จะมีชีวิตที่ดีงาม หรือการเข้าถึงความดีงามสูงสุดไม่ต้องขึ้นต่อมัน และไม่ต้องรอคำตอบ

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมีช่วงเวลาจำกัด และจะต้องสิ้นสุดลง ความดีงามหรือคุณค่าสูงสุดเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนควรจะเข้าถึงได้สำเร็จภายในช่วงเวลาที่จำกัดของชีวิตนั้น ไม่อาจรอได้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มักจะมีลักษณะเหมือนกับบอกว่า รอให้ฉันพิสูจน์เสร็จก่อน แล้วคุณค่อยรู้ว่าปฏิบัติอย่างไร วิทยาศาสตร์จะต้องปรับท่าทีใหม่ และแยกประเภทความรู้ในความจริงให้ชัดเจนอย่างที่กล่าวมานี้ และถ้าวิทยาศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นศาสตร์ที่สมบูรณ์ ก็จะต้องปฏิบัติในเรื่องความรู้และความจริงสองประเภทนี้ให้ถูกต้อง หรือถ้าวิทยาศาสตร์จะดำเนินไปตามวิถีทางอย่างเดิมก็คงจะต้องแบ่งหน้าที่โดยประสานกันกับพระพุทธศาสนา โดยให้พุทธศาสนาจัดสรรคำตอบชนิดที่จำเป็นทันทีเพื่อเข้าถึงความดีงามสูงสุดในชาตินี้ และให้วิทยาศาสตร์ให้คำตอบเกี่ยวกับความจริงชนิดที่ว่า ถ้าได้รู้เพิ่มมาก็ดี แต่ถึงจะไม่ได้มาก็อยู่ดีได้ ไม่ต้องรอ

 

สู่การยอมรับคุณค่าและประสบการณ์ทางอินทรีย์ที่ ๖

ที่ควรกำหนดคุณค่าเป้าหมายในระหว่างให้ชัดก็เพราะว่า ถ้าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จะไม่เอาคุณค่ามันก็หนีไม่พ้น ถ้าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่กำหนดคุณค่าเอง มันก็จะตกเป็นเหยื่อของพวกอื่นเข้ามากำหนดคุณค่าให้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือมีพวกที่มาเติมเป้าหมายให้ว่าใฝ่ปรารถนาพิชิตธรรมชาติ และใฝ่ปรารถนาวัตถุให้พรั่งพร้อม อย่างที่เคยเป็นมา จนวิทยาศาสตร์ถูกเรียกว่ารับใช้อุตสาหกรรม ถ้ารับใช้อุตสาห­กรรมนี่มันไม่ใช่รับใช้มนุษย์ด้วยซ้ำ รับใช้มนุษย์นี่ยังสูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราพูดกันว่าอุตสาหกรรมบางทีมันทำลายมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันให้มาก ถ้าเราไม่กำหนดคุณค่าของเรา เราอาจจะตกเป็นเหยื่อของผู้อื่นอย่างที่ว่ามานั้น

นอกจากนั้น มนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่มีเจตจำนง ลักษณะของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเจตจำนง ทำให้การแสวงหาความรู้ไม่อาจปราศจากคุณค่า แต่ในเวลาเดียวกัน มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐซึ่งจะเข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดด้วยการฝึกฝนพัฒนา เพราะฉะนั้นก็จึงควรมุ่งเอาความรู้เพื่อคุณค่าในแง่ของประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์อย่างที่ว่าเมื่อกี้

ถ้าวิทยาศาสตร์ไม่มีความชัดเจนของตนเองในเรื่องคุณค่า แต่วิทยา­ศาสตร์ก็อยู่ในโลกและสังคมแห่งคุณค่า ก็จะถูกคนอื่นกำหนดทิศทาง แล้วก็จะต้องมีการน้อยใจท้อใจในการปฏิบัติกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ในเมื่ออุตสาหกรรมเป็นพระเอกของสังคมอย่างที่เป็นอยู่หรือเป็นมา อุตสาหกรรมนี้ก็จะเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์ได้ โดยเป็นตัวกำหนดผ่านทางรัฐ เป็นนโยบายของรัฐบ้าง เป็นตัวกำหนดผ่านมาทางธุรกิจการพาณิชย์บ้าง ให้ส่งเสริมการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านนั้นด้านนี้ เช่น นโยบายของรัฐอาจจะบอกมาว่า ถ้าเธอวิจัยเรื่องอย่างนี้ละก็ฉันจะให้เงินมาก ถ้าวงการวิทยาศาสตร์เสนอไปทางรัฐขอให้วิจัยเรื่องนี้แต่ไม่สนองประโยชน์ของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมีอิทธิพลอยู่ไม่เอาด้วย นักวิทยาศาสตร์ก็น้อยใจ แล้วก็เกิดท้อใจ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนิวตัน

นิวตันก็ถูกเรื่องคุณค่านี่มาเล่นงานเรื่องการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อย่างเหลือเกิน กล่าวคือนิวตันนี่แกคิดเรื่อง the law of gravitation มาตั้งแต่อายุดูเหมือนจะ ๒๔ หรือราวๆ นั้น ตั้งแต่หนุ่มก็แล้วกันละ ทีนี้ความคิดบางอย่างของแกนี่มันไปฝืนประเพณีของวงการวิทยาศาสตร์สมัยนั้น ซึ่งยังไม่เจริญเท่าใด พวกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าก็ตีแก ว่าแก แกก็น้อยใจ คือนิวตันนี่เป็นคนเจ้าอารมณ์ แล้วก็ขี้น้อยใจ ไม่ชอบสุงสิงกับใคร พอใครว่าอะไรหน่อย แกก็น้อยใจ แกเลยเลิก ไม่เอาละวิทยาศาสตร์ แล้วเลยไม่สนใจ ไม่ยุ่งกับวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไม่นำความคิดนั้นออกมาเขียนด้วย เป็นเวลาถึง ๒๒ ปี

กล่าวฝ่ายนายฮัลเลย์ ที่เป็นคนค้นพบดาวหางฮัลเลย์ซึ่งนานๆ ก็โผล่มาที ฮัลเลย์นี่เห็นคุณค่าความคิดของนิวตันมาก ก็เลยไปเกลี้ยกล่อมพูดจาปลอบประโลม เร้าใจปลุกใจจนกระทั่งว่านิวตันเกิดมีกำลังใจขึ้นมา ก็เขียนหนังสือตำราเล่มสำคัญเป็นภาษาละติน ชื่อว่า Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica

แต่พอเขียนไปได้สักสองในสาม ก็เกิดมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ซึ่งในระหว่าง ๒๒ ปีที่แกไม่เอากฎมาเขียนนั้นเขาก็ได้เข้าใจเรื่องของกฎ gravitation ตลอดจน calculus ที่แกคิดขึ้นมาแล้ว ทีนี้คนนั้นก็อ้างว่าฉันรู้ก่อนนิวตัน คนนี้อ้างว่าฉันรู้ gravitation ก่อน คนนี้บอกว่าฉันคิด calculus ได้ก่อน นิวตันได้ยินอย่างนั้นก็น้อยใจ จะไม่เขียนละ เขียนไปได้สองในสามเลยไม่เขียนต่อ หยุด ก็ร้อนถึงฮัลเลย์ต้องไปปลุกปลอบประโลมใจอีกตั้งพักใหญ่ จึงเขียนต่อจนจบ

อันนี้ก็แสดงถึงการที่ระบบคุณค่านี่ไปครอบงำจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ และมีผลกระทบต่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ถ้านิวตันซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญา เป็น genius นี้ ถ้าแกมีกำลังใจ ไม่มาน้อยใจด้วยเรื่องอย่างนี้ แกอาจจะให้ความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มอีกมากมายก็ได้ แต่เพราะน้อยใจแกเลยทิ้งวิทยาศาสตร์ไปตั้งเป็นเวลานาน เรื่องก็เป็นอย่างนี้

ปัจจุบันนี้ ระบบผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมและธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลมาก ซึ่งวิทยาศาสตร์จะต้องมีกำลังของตัวเองในระบบคุณค่า ไม่ให้ระบบคุณค่าของฝ่ายอื่นเข้ามาครอบงำได้ โดยเฉพาะในยุคธรรมชาติแวดล้อมเสียในปัจจุบันนี้ ความจริงบางอย่างที่วิทยาศาสตร์รู้ก็ไปกระทบผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมบางพวก เราจึงได้ยินว่า ในประเทศอเมริกา บางทีมีนักวิทยาศาสตร์บางพวกให้ข้อมูลที่ค้านกับนักวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์พวกอื่น เป็นทำนองว่า โอ๊ย ไม่จริงหรอก ที่ว่า greenhouse effect จะทำ​ให้โลกร้อน มีปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้น อะไรต่างๆ นั้นไม่จริง มีนักวิทยา­ศาสตร์บางคนออกผลวิจัยมาทำนองนั้น ซึ่งต่อมาก็มีพวกบอกว่า นักวิทยาศาสตร์พวกนี้ไปถูกพวกนักอุตสาหกรรมอุด อะไรทำนองนี้ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องของความซับซ้อน มีการหวังผลประโยชน์เข้ามาแทรกแซง ก็เลยไม่ปราศจากคุณค่า เพราะฉะนั้นอย่างน้อยทางด้านจิตใจ จริยธรรมก็เข้าไปบอกให้นักวิทยาศาสตร์มีความใฝ่รู้ต่อความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ อันนี้เป็นตัวพลังยิ่งใหญ่ที่จะนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาให้

แต่ปัจจุบันนี้เราอยู่ในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยระบบคุณค่า และเป็นคุณค่าในทางลบเสียมาก อย่างที่ว่ามาแล้ว ในยุคก่อนนี้ วิทยาศาสตร์กับอุตสาหกรรมนั้นเหมือนกับว่าแต่งงานเป็นคู่ครองอยู่ด้วยกันมา ทำให้เกิดความเจริญมากมาย เพราะอุตสาหกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็ช่วยให้อุตสาหกรรมเจริญ แต่ในยุคต่อไปนี้ เพราะเหตุที่ผลประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมบางอย่าง มันมาเป็นปัญหากับธรรมชาติแวดล้อม และวิทยาศาสตร์จะต้องให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก แล้วคำตอบที่บอกความจริงเหล่านี้ก็ไปกระทบผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม มันก็จะเป็นเหตุที่อาจจะทำให้วิทยาศาสตร์ต้องแยกทางกันเดินกับอุตสาหกรรม หรือมีความขัดอกขัดใจกัน แล้วบางทีวิทยาศาสตร์อาจจะต้องหาเพื่อนใหม่ ก็อาจจะเป็นได้ คือหาเพื่อนดีๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้วิทยาศาสตร์ให้ความรู้ที่บริสุทธิ์แก่สังคม ซึ่งก็คือ เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ อย่างที่ว่ามาแล้ว

ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็กำลังเข้ามาจ่ออยู่กับแดนทางจิตใจ ก็จะมีคำถามว่า “วิทยาศาสตร์จะยอมรับอินทรีย์ที่หก และประสบการณ์ตรงของอินทรีย์ที่หกหรือไม่?” วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์อารมณ์ ความคิดในสมองในจิตใจผ่านทางสารที่หลั่งออกมาจากสมอง หรือจากคลื่นสมอง โดยถือว่านั้นเป็นตัวความจริงได้ หรือว่ามันก็จะเป็นเพียงเงาของความจริงอย่างที่ว่ามาแล้ว

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับว่าเราเรียนรู้ก้อนหินจากเสียง “ป๋อม” ในน้ำ หรือจากคลื่นที่เกิดในน้ำเพราะก้อนหินกระทบ พอนักวิทยาศาสตร์ได้ยินเสียงก็ไปวัดกัน คำนวณกัน ได้ยินเสียง “ป๋อม” ครั้งนี้ เสียงขนาดนี้ ก้อนหินขนาดเสียงเท่านี้ ต่อไป “ป๋อม” ขนาดนั้น เสียงอย่างนั้น ก้อนหินก็จะต้องขนาดเสียงเท่านั้น ก็บอกด้วยสูตรคณิตศาสตร์ทำเป็นสมการคณิตศาสตร์ออกมา อันนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันจะต้องต่างกันด้วยผลพิสูจน์ครั้งก่อนกับครั้งนี้ต่างกันเท่านั้นเท่านี้ พอเสียง “ป๋อม” คราวนี้มาก็บอกได้ว่า เอ้อมันต้องต่างกะคราวก่อน ถ้าขนาดคราวก่อนเท่าโน้น คราวนี้มันต้องใหญ่กว่าเท่านั้น หรือไม่อย่างนั้นก็ไปวัดเอาคลื่น เวลาก้อนหินลงไปในน้ำแล้วมันก็มีคลื่นขึ้นมา ก็วัดคลื่นในน้ำ เพื่อจะรู้ขนาดมวลสารอะไรทำนองนี้

ในการเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติ มันจะเป็นทำนองที่ว่ามานี้หรือเปล่า คือ เราไม่ได้จับต้องเห็นก้อนหินตัวจริงสักที เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นได้ว่า วิทยาศาสตร์อาจจะต้องมาลองดูการสังเกตทดลองในแบบของพวกอื่นบ้าง เช่นอย่างในทางพุทธศาสนาที่ถือว่าการสังเกตทดลองจากประสบการณ์ตรงในทางจิตใจก็ถือว่าเป็นการสังเกตทดลองหาความจริงของกฎธรรมชาติเช่นเดียวกัน

ข้อเสนอเบ็ดเตล็ด เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์

เอาละ ตอนนี้ใกล้จบแล้ว มีข้อเสนอของพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนา​วิทยาศาสตร์ต่อไป โดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทย

 

การยอมรับความ “ไม่เพียงพอ” ของวิทยาศาสตร์

เรื่องที่ ๑ ซึ่งอยากจะทบทวนอีกครั้งหนึ่งคือ เรื่อง “ไม่เพียงพอ” ได้บอกแล้วว่า วิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์หรือแก้ปัญหาสำคัญของโลกปัจจุบัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งคือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะปัญหาการอนุรักษ์ธรรมชาติกำลังเป็นปัญหาใหญ่มากของโลกยุคนี้ และวิทยาศาสตร์ก็จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย แม้แต่การวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ว่าทำอย่างไรจะให้เอื้อต่อการที่จะนำมาปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ ทำให้เรารู้ภัยอันตราย เหตุผล จุดที่จะแก้ไข และเทคโนโลยีที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งที่วิทยาศาสตร์มีคุณค่ามากมายอย่างนี้ ก็ไม่เพียงพอเลยที่จะแก้ปัญหานี้ ยิ่งกว่านั้น เมื่อสืบสาวกันไป ปัญหานี้ก็ปรากฏว่าเกิดมาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเองนั่นแหละ แล้ววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็กลับไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากตนเองนี้ได้ เพราะทั้งที่มีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในมือ แต่ก็ไม่ลงมือใช้ความรู้นั้น ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีที่จะแก้ไขก็เฉยเสีย กลับไปใช้แต่เทคโนโลยีที่มีผลตรงข้ามคือเป็นการทำลายยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ ว่า ความรู้ของวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ จะช่วยได้บ้างก็แค่ขู่ให้ยั้ง ทั้งๆ ที่ถ้าใช้ก็ได้ผล แต่ก็ติดค้างที่คำว่า “ถ้า” อยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์อาจจะต้องพอใจกับการร่วมมือกับวงการอื่น โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดป้อนความรู้ให้แก่เขาในการแก้ปัญหา

ทีนี้ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ มีอะไรที่นอกเหนือความรู้วิทยา­ศาสตร์และอุปกรณ์เทคโนโลยี ถ้ามองในแง่พุทธศาสนา การแก้ปัญหาของมนุษย์นั้นไม่ว่าเรื่องใด ต้องทำสามด้านเป็นสามประสาน เพราะการแก้ปัญหานี้เกี่ยวกับตัวมนุษย์ เรื่องของมนุษย์นั้นมีด้านต่างๆ ที่เราจะต้องเอามาประสานกันเป็นระบบ การแก้ปัญหาก็เป็นระบบที่ต้องมีการประสาน สามประสานนี้อย่างไร ดังในตัวอย่างคือเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาตินี้ก็มีสามด้านที่จะต้องประสานคือ

๑. ด้านพฤติกรรม

๒. ด้านจิตใจ

๓. ด้านความรู้หรือปัญญา

สามด้านนี้จะต้องประสานเข้ามาด้วยกันในการแก้ปัญหา กล่าวคือ

๑. ในขั้นพฤติกรรมก็ต้องมีการฝึกควบคุมพฤติกรรมทางสังคม หรือที่จริงคือพฤติกรรมในการแสดงออกทั่วไป ไม่เฉพาะทางสังคม แต่หมายถึงการแสดงออกทางกายวาจาทั้งหลายซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเคยชิน การฝึกพฤติกรรมนี้ต้องการความเคยชิน

การแก้ปัญหาด้วยการฝึกการควบคุมพฤติกรรมทางสังคม หรือทางกายวาจานี้ มี ๒ ระดับด้วยกัน คือ

ระดับที่หนึ่ง คุมด้วยบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกาต่างๆ ตลอดจนการลงโทษผู้ที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตาม นี่อยู่ในระดับที่หนึ่ง ขั้นต้นที่สุด อันนี้ต้องมีเหมือนกัน ทางพระเรียกว่า วินัย

ระดับที่สองของเรื่องที่หนึ่ง คือ การควบคุมด้วยเจตนาจากภายในของตัวมนุษย์เอง หมายความว่า ให้ตัวมนุษย์เองมีความตั้งใจที่จะควบคุมพฤติกรรมทางกายวาจาของตนเอง ซึ่งอันนี้โดยมากจะเกิดจากศรัทธาทางศาสนา เช่น การเชื่อคำสอนในทางศาสนาเป็นต้น พอมีศรัทธาขึ้นมา ก็พร้อมและสมัครใจที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนได้ทันที และจริงจังด้วย ระดับนี้ เรียกว่า ศีล

ถ้าพูดอย่างสั้น ระดับที่หนึ่ง คือ วินัย ได้แก่ การวางมาตรการสำหรับห้ามหรือปิดกั้นเจตนาที่จะละเมิดหรือทำลายระเบียบ ส่วนระดับที่สอง คือ ศีล ได้แก่ การมีเจตนาที่จะรักษาหรือไม่ทำลายระเบียบ

ทั้งสองระดับนี้ เป็นเรื่องเดียวกันในแง่ว่าเป็นการควบคุมพฤติกรรม และเป็นการฝึกการควบคุมพฤติกรรม เราต้องจัดสภาพแวดล้อม จัดวางกฎระเบียบข้อบังคับ ในโรงเรียน ในหมู่บ้าน หรือในสังคมเป็นต้น นี้เป็นสิ่งที่ต้องทำในระดับหนึ่ง เรียกว่าเป็นระดับวินัย แต่ไม่เพียงพอ ต้องทำในระดับที่เรียกว่า ศีล คือ ระดับที่สองของเรื่องที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการควบคุมเจตนาจากภายในด้วย ควบคุมและฝึกกันจนกลายเป็นความเคยชิน หรือพฤติกรรมเคยชิน

๒. การแก้ปัญหาด้วยการฝึกควบคุมพฤติกรรมนั้นยังไม่ลึก ไม่แน่นสนิท จึงต้องเข้ามาถึงด้านจิตใจ เอาละ คิดตามกระบวนการเหตุผลเลย ด้านจิตใจก็อยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน

เราต้องการอะไร อ้อ จุดหมายคืออนุรักษ์ธรรมชาติ คนแต่ละคนจะปฏิบัติการในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็ต้องมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยนัยนี้ “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” โยงไปสู่ “ความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ”

ความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติเกิดจากอะไร เกิดจากความ “รักธรรมชาติ” เมื่อรักธรรมชาติก็ต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ยังไม่จบ ความรักธรรมชาติจะเกิดได้อย่างไร ความรักธรรมชาติจะเกิดเมื่อคนนั้น “มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ”

เท่าที่ได้ยินพูดกันจะเห็นว่า มีคนจับหลักกันได้มากเหมือนกันว่าต้องรักธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทางจิต ใช่ ถ้าเขารักธรรมชาติ เขาก็ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้ามองแค่นั้น ก็ยังเรียกว่าตัน เป็นการมองกระบวนการของเหตุปัจจัยไม่ตลอดสาย เมื่อมองเห็นไม่ตลอดสาย การปฏิบัติก็ไม่สำเร็จ จึงต้องสืบลงไปให้ถึงต้นตอ ว่าทำอย่างไรคนจึงจะรักธรรมชาติ

ความรักธรรมชาตินั้นจะเกิดได้ยาก ถ้าคนไม่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ มนุษย์จะต้องมีจิตใจที่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ แล้วเขาจึงจะรักธรรมชาติ แล้วเขาก็จะต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วเขาก็จะลงมืออนุรักษ์ธรรมชาติ นี่เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยสายหนึ่ง ตัวแปรอื่นอาจมีได้อีก แต่นี่เป็นตัวอย่าง

ในแง่นี้คือทางด้านจิตใจนี้ กลายเป็นว่า เท่าที่เป็นมา วิทยาศาสตร์ได้มีส่วนสำคัญในการขัดขวางทำลายตัวแก้ปัญหา กล่าวคือแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติและแนวความคิดที่จะหาความสุขจากวัตถุที่พรั่งพร้อมด้วยการจัดการกับธรรมชาตินี่แหละ ได้ทำให้คนมีความรู้สึกลึกๆ ว่า มนุษย์เราจะมีความสุขต่อเมื่อมีเทคโนโลยี และธรรมชาติเป็นตัวกีดขวางความสุขนั้น

เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ฝึกอบรมกันมาในการศึกษาสมัยปัจจุบันนี้ ลึกๆ แล้วรู้สึกว่าเขาจะมีความสุขด้วยเทคโนโลยี ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะมีความสุขได้ด้วยธรรมชาติ และอาจจะเลยไปถึงขั้นที่รู้สึกว่าธรรมชาตินั้นเป็นศัตรูผู้ทำลายความสุข หรือเป็นตัวขัดขวางเขาไม่ให้ได้รับความสุข เขาจึงจะต้องพิชิตธรรมชาตินั้น หรือว่าเมื่อพิชิตธรรมชาติแล้วเขาก็จะได้มีความสุขอยู่กับเทคโนโลยี ลองวิเคราะห์ดูจิตใจของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน จะพบว่าคนในสังคมนี้จำนวนมากหรือทั่วๆ ไปมีความรู้สึกอันนี้แฝงอยู่ ซึ่งสืบเนื่องจากความเป็นมาในพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของยุคที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่เรียกว่าเป็นยุคอุตสาหกรรม

แนวความคิดพิชิตธรรมชาติ พร้อมทั้งแนวความคิดที่จะหา​ความสุขจากความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวแทนและเป็นสื่อนำนั้น ได้ครอบงำจิตใจของมนุษย์มาอย่างยาวนานและลึกซึ้งเหลือเกิน จนกระทั่งมนุษย์มีความรู้สึกว่า ธรรมชาติเป็นศัตรูผู้ขัดขวางความสุขของมนุษย์ ขอให้ลองพิสูจน์ดูว่าเป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า ถ้าตราบใดยังมีความรู้สึกนี้อยู่ มนุษย์จะรักธรรมชาติได้ยาก เพราะเขาจะไม่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่าต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ แนวความคิดพิชิตธรรมชาติไปไม่รอด และแนวความคิดหาความสุขจากวัตถุที่พรั่งพร้อมก็เป็นไปไม่ได้

ถ้าเราจะอยู่ในโลกที่มีธรรมชาติอยู่ต่อไป ความสมดุลพอดีจะต้องมี และสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นมาก็คือ ความรู้สึกมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ อย่างน้อยให้รู้สึกว่าธรรมชาตินี้ให้ความสุขแก่เราได้ ธรรมชาติมีความงามอะไรต่างๆ เสร็จแล้วก็เบนเทคโนโลยีมาในทางที่จะเป็นตัวเสริม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องถึงกับทำลายเทคโนโลยี นี่เป็นด้านจิต

การแก้ไขปัญหาในระดับที่สองของขั้นหรือด้านที่ ๑ คือ ขั้นควบ​คุมจัดสรรพฤติกรรมที่จะได้ผลดีหนักแน่นนั้น จะเห็นได้ว่าก็อาศัยด้านจิตใจนี่แหละเป็นฐานรองรับ เช่น ถ้ามีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น หรือมีศรัทธาที่ทำให้สมัครใจจัดการกับพฤติกรรมของตนเองอย่างจริงจังในทันทีอย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นต้น การฝึกและควบคุมพฤติกรรมก็ไม่ต้องกระทำด้วยการบังคับหรือฝืนใจ

๓. ด้านปัญญาความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะปัญญาที่รู้เข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาตินี่แหละ มีประโยชน์มาก เพราะการที่เราจะรู้คุณโทษของการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือการทำลายธรรมชาติได้ก็ด้วยปัญญา สำหรับความรู้ในเรื่องนี้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ช่วยได้มาก โดยจะช่วยป้อนความรู้ข้อมูลต่างๆ ให้เห็นความเชื่อมโยงว่า อะไรบ้างที่ทำให้ธรรมชาติแวดล้อมเสีย ทำให้เสียอย่างไร และเมื่อธรรมชาติเสียไปแล้วจะเกิดโทษแก่ชีวิตมนุษย์อย่างไร

ปัญญาเป็นตัวสร้างความพร้อมที่จะปรับทัศนคติของคน เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าถ้าทำสิ่งนี้ลงไปจะทำให้ธรรมชาติเสีย แล้วผลร้ายจะกลับย้อนมาถึงตัวมนุษย์ ก็จะทำให้เรามีความพร้อมในระดับหนึ่ง ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม

แต่บางทีถึงจะมีปัญญารู้คุณโทษแล้ว แต่เราก็ยังเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ เพราะในระดับของจิตมันไม่เอา มันไม่ลงลึกเข้าไปในจิต เพราะฉะนั้นด้านจิตจะต้องไปด้วยกัน คือให้มีทั้งความรู้เหตุปัจจัยและคุณโทษในเชิงปัญญา และการปรับเปลี่ยนความรู้สึกลึกซึ้งที่เป็นเหตุปัจจัยในเชิงจิตให้คนรู้สึกมีความสุขกับธรรมชาติไปพร้อมกันด้วย เพราะการที่จะทำความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมทางจริยธรรมของมนุษย์นี่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในเชิงข้อมูลเหตุผลอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ คือ ทั้งๆ ที่รู้ก็ไม่เปลี่ยน เพราะความเคยชินบ้าง เพราะผลประโยชน์ที่บำเรอตนอีกด้านหนึ่งบ้าง เพราะค่านิยมของสังคมเป็นต้นบ้าง เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้ทุกอย่างทุกด้านโดยประสานกันเข้ามา วิธีการของพระพุทธศาสนานั้นเป็นวิธีสามประสานมาโดยตลอดในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ซึ่งเราเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาจริยธรรม

วิธีสามประสานนี้คืออะไร เมื่อพูดตามศัพท์ในพระพุทธศาสนา ขั้นหรือด้านที่ ๑ ก็คือ ศีลนั่นเอง เริ่มแต่การควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในระดับวินัย ได้แก่ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ภายนอก ที่เป็นบัญญัติธรรมของสังคม จนถึงระดับที่สอง คือการควบคุมพฤติกรรมด้วยเจตนาสมัครใจจากภายใน ซึ่งเป็นตัวศีลเอง เรียกว่าระดับวินัยกับระดับศีลซึ่งรวมอยู่ในขั้นศีล

ขั้นหรือด้านที่ ๒ เป็นเรื่องของจิตใจ ที่เราเข้าไปจัดการกับกระบวนการของเหตุปัจจัยในทางจิตด้วยการฝึกฝนพัฒนาความรู้สึก และลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความสุข ความสงบ ความรัก เป็นต้น เป็นด้านที่เรียกว่าสมาธิ หรืออธิจิตตสิกขา

ขั้นหรือด้านที่ ๓ ได้แก่ ปัญญา คือความรู้ความเข้าใจ ซึ่งมีหลายขั้นหลายตอน ปัญญานี้จะเป็นตัวคอยกำกับขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ อีกทีหนึ่ง โดยตรวจสอบ และชี้นำให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยตลอด แต่ตัวมันเองอย่างเดียวมักจะเริ่มไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการฝึกฝนจัดสรรพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

ปัญญาซึ่งช่วยกำกับการปฏิบัติในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ นั้น รวมทั้งการตรวจสอบในแง่ลบด้วย เช่น ถ้ามองเห็นพฤติกรรมเคยชินอย่างไหนไม่ดี เป็นโทษ หรือแม้จิตใจจะมีความสุข แต่ถ้าความสุขแบบนั้นจะก่อให้เกิดผลเสีย เป็นโทษแก่ตนเองและผู้อื่น ปัญญาก็บอกให้แก้ไขละเลิกหรือเว้นเสีย ให้พัฒนาแต่พฤติกรรมเคยชิน และการหาความสุขที่ถูกต้อง เป็นคุณ ไม่มีโทษ

เป็นอันว่า สามด้านนี้จะประสานกัน นอกจากประสานกันแล้ว ยังอิงอาศัยกัน และส่งผลสืบทอดกัน ทั้งทางขึ้นและทางลงอีกด้วย ประการแรกเราควบคุมและฝึกพฤติกรรมให้เคยชิน จนทำอย่างนั้นๆ หรือไม่ทำอย่างนั้นๆ เป็นปกตินิสัย พร้อมกันนั้นก็ฝึกทางด้านจิตใจ สร้างความรู้สึกให้มีความสุข ความพอใจ กับทั้งบรรยากาศที่ชื่นชมในการที่จะปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมเช่นนั้นด้วย แล้วพร้อมกันนั้นอีกนั่นแหละ ก็ให้มีความรู้ความเข้าใจเหตุผลในการกระทำ มองเห็นคุณโทษและคุณค่าด้วยปัญญา

พอปฏิบัติเคยชินอย่างนั้นๆ เข้า จิตใจก็มักโน้มเอียงไปทางที่จะพอใจในพฤติกรรมแบบนั้น และเกิดศรัทธาในแบบแผนพฤติกรรมแบบนั้น พอเกิดความพอใจมีศรัทธาก็พร้อมที่จะรับรู้และทำความเข้าใจในเรื่องนั้น พอเกิดปัญญารู้เข้าใจมองเห็นคุณค่า จิตใจก็เกิดศรัทธา และความพึงพอใจ พอจิตเกิดศรัทธาและพอใจ ก็พร้อมและสมัครใจที่จะควบ​คุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปในแนวทางนั้น นี้คือความสัมพันธ์อย่างง่ายๆ ระหว่างขั้นหรือด้านทั้งสาม ที่เรียกสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งในที่นี้ได้ยกเอาเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

 

ความ “รอไม่ได้” ก็เป็นภาวะที่ต้องยอมรับด้วย

ต่อไปก็ “รอไม่ได้” จะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งให้เห็นความรอไม่ได้ในการเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์

ในที่นี้จะยกตัวอย่างในเรื่องเจตคติหรือท่าที โดยจะเปรียบเทียบระหว่างเจตคติแบบพุทธกับเจตคติแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งคล้ายกันมาก

ในเรื่องวิทยาศาสตร์นี้เรามีเนื้อหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง แล้วก็เจตคติทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ในที่นี้เราไม่พูดถึงวิธีการวิทยาศาสตร์

ในหลายกรณี เจตคติวิทยาศาสตร์สำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาวิทยาศาสตร์อีก เพราะอะไร เพราะว่าเนื้อหาความรู้ ตัวความรู้ หรือองค์ความรู้ที่วิทยาศาสตร์ได้มานี่ครั้งหนึ่งเคยว่าถูก แต่ต่อไปอาจค้นพบว่าผิด และมันก็จะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ท่าทีหรือเจตคตินี่เป็นหลักยืนตัวที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์โดยตรง ตัวความรู้นั้นจะเอาไปใช้ได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่แน่ แต่เจตคติเป็นแนวปฏิบัติประจำของชีวิตมนุษย์ได้เลย เป็นตัวที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์แท้ๆ ทันที เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นเจตคติวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เจตคติวิทยาศาสตร์กับเจตคติพุทธศาสนานั้นมีข้อต่างกันหน่อยหนึ่ง

ตอนแรก ขอให้ความหมายเสียก่อน เจตคติ ของพุทธก็ตาม ของวิทยาศาสตร์ก็ตาม มีความหมายอย่างไร

เจตคติ ของพุทธก็ตาม ของวิทยาศาสตร์ก็ตาม มีความหมายที่ตรงกัน ก็คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามหลักการแห่งเหตุและผล หรือท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ในเวลาที่พบเห็นอะไรก็ตาม คนที่มีเจตคติวิทยาศาสตร์หรือเจตคติพุทธก็จะมองตามเหตุปัจจัย พอมองแบบนี้ก็เท่ากับมองไปในแง่ของการค้นหาความจริง

ดังที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่า เห็นเพื่อนเดินมาหน้าบึ้ง ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่มีการศึกษาก็จะรู้สึกว่าการหน้าบึ้งของเพื่อนนั้นกระทบตัวเรา ว่าเขาโกรธเรา แล้วก็จะมีความคิดปรุงแต่ง คือเกิดความไม่สบายใจ เป็นทุกขเวทนา แล้วเกิดความไม่ชอบใจ การรับรู้ประสบการณ์แบบไม่ชอบใจเกิดขึ้น ปฏิกริยาไม่ชอบใจเกิดขึ้น คิดปรุงแต่งว่า เธอไม่ชอบใจได้ เธอโกรธได้ ฉันก็โกรธเป็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็บึ้งตอบ แล้วก็เลยขัดใจกัน

แต่พอมีเจตคติวิทยาศาสตร์ หรือเจตคติพุทธ มองเห็นเพื่อนหน้าบึ้งก็จะไม่มองด้วยความรู้สึกกระทบตัว หรือชอบใจไม่ชอบใจ แต่จะมองด้วยท่าทีแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นท่าทีแบบมองตามเหตุปัจจัยว่า เอ๊ะ เขาหน้าบึ้ง เพื่อนเราหน้าบึ้งวันนี้เพราะอะไร มีอะไรไม่สบายใจหรือ ก่อนมาจากบ้านถูกพ่อแม่ดุหรือไง หรือไม่มีเงินใช้ หรืออะไร ฯลฯ คือคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัย นี้คือ เจตคติ ที่เรียกว่าเจตคติพุทธซึ่งเป็นด้านนามธรรม ตรงกับเจตคติวิทยาศาสตร์ที่สืบสาวหาเหตุปัจจัยทางวัตถุ นี่คือ ท่าทีของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการมองตามเหตุปัจจัย

พอมองอย่างนี้ก็ไม่เกิดปัญหา แต่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและนำไปสู่ปัญญา เมื่อสืบสาวหาเหตุปัจจัยว่าเพื่อนของเราเกิดความไม่สบายใจหน้าบึ้งเพราะอะไร ก็อาจจะทำให้เข้าไปสอบถามหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วกระบวนการของการค้นหาความจริงหรือสืบสาวหาเหตุผลก็เกิดขึ้น

เจตคติที่ยกตัวอย่างมานี้เรียกว่า เจตคติพุทธ หรือเจตคติวิทยา­ศาสตร์ คือท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แล้วทีนี้เจตคติของวิทยาศาสตร์กับเจตคติของพุทธศาสนาต่างกันอย่างไร

คำตอบก็คือ เจตคติของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นท่าทีหรือเจตคติที่ใช้แค่ในการหาความรู้ คือแค่ไปหาความรู้บริสุทธ์อย่างเดียว หมายความว่าต้องการแค่ว่าใช้ท่าทีนี้ในการหาองค์ความรู้หรือตัวความรู้ขึ้นมา แล้วก็จบแค่นั้น แต่พุทธศาสนาถือว่าเจตคตินี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดีเลยทีเดียว คือตัวเจตคตินี้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดีงาม เป็นตัวการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นวิธีอยู่ร่วมในสังคมที่ดีงาม คือเป็นตัวจริยธรรมนั่นเอง

เป็นอันว่าทางพุทธนี่ไม่ได้มองแต่ในแง่ของการเอาเจตคตินั้นมาใช้ในการแสวงหาความรู้เท่านั้น แต่เอาไปบวกเข้ากับการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดีในสภาพความเป็นจริงขณะนั้นๆ ด้วย

พอมาถึงตอนนี้คือตอนที่บวกเอาการดำเนินชีวิตที่ดีในสภาพความเป็นจริงของปัจจุบันเข้าด้วย ตอนนี้แหละจะมาถึงจุดที่บอกว่า “รอไม่ได้” เนื่องจากเจตคติวิทยาศาสตร์เป็นท่าทีในการหาความรู้ และใช้ในการหาความรู้ ส่วนจะปฏิบัติอย่างไรก็ต้องรอให้รู้ก่อน ถ้ายังไม่รู้ก็ยังปฏิบัติไม่ได้ เพราะเมื่อยังไม่รู้สิ่งนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร แต่สิ่งทั้งหลายที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ความจริงยังมีอีกมากมาย และไม่ทราบว่าเมื่อไรวิทยาศาสตร์จะให้คำตอบที่จะบอกความจริงของสิ่งเหล่านั้นได้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์แต่ละบุคคลก็ตาม ที่เป็นชุมชนหรือสังคมหนึ่งๆ ก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ทันทีในเวลานั้นๆ พูดง่ายๆ ว่า การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์แต่ละคนในช่วงชีวิตของเขาก็ดี ของสังคมในยุคสมัยนั้นๆ ก็ดี ไม่อาจรอคำตอบของวิทยา­ศาสตร์ได้

ส่วนเจตคติในทางพุทธศาสนาเป็นเจตคติทั้งในการแสวงหาความรู้ และในการดำเนินชีวิต โดยถือว่าเจตคติแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดี มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการหาความรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ด้วยเจตคติแบบพุทธ เมื่อสิ่งใดยังไม่อาจรู้ชัดเจน หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ เราก็จะมีท่าทีว่า ในด้านการเข้าถึงความจริงจะหาความรู้ก็หาไป แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีวิธีที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ให้ชีวิตที่ดีดำเนินไปได้ด้วย โดยไม่เสียหลักการแห่งการมองตามเหตุปัจจัย

สรุปตอนนี้อีกที วิทยาศาสตร์มีท่าทีต่อความจริงในการหาความจริงชั้นเดียว คือ ขั้นหาเนื้อตัวของความรู้ หรือหาองค์ความรู้ แต่ไม่บอกท่าทีในการที่จะดำเนินชีวิต ส่วนพุทธศาสนานั้นบอกสองชั้น คือบอกด้วยว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร ในการดำเนินชีวิตที่เป็นจริงในสภาพปัจจุบันหรือในสังคมนั้น

จะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ที่มนุษย์มีปัญหากันอยู่เรื่อยๆ และบางทีพวกเราทั้งๆ ที่เป็นชาวพุทธก็ไม่ได้ใช้เจตคติพุทธให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างในที่นี้ก็คือ เรื่องเทวดา

ปัญหาเรื่องเทวดานี่เป็นเรื่องที่จะมองในแง่ของการพิสูจน์ความจริงก็ได้ มองในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์หรือในแง่ของการดำรงชีวิตในปัจจุบันก็ได้ ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ ก็มองแต่ในแง่ที่จะพิสูจน์หาความจริงว่า เทวดามีจริงหรือไม่มี

สำหรับเรื่องเทวดานี้ ถ้ามองในแง่ว่ามีหรือไม่มี ก็จะต้องหาทางกันว่าจะพิสูจน์อย่างไร แล้วเรื่องก็จะเดินต่อไปจนถึงอีกขั้นหนึ่งที่บอกว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ หรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะได้คำตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ หรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ก็ตาม ในแง่ของการพิสูจน์ความจริงมันก็ตันอยู่แค่นี้แล้วมนุษย์ก็ไม่มีทางไป แล้วคนก็จะต้องอยู่ด้วยความเชื่อ เพราะเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องอยู่ด้วยความเชื่อ ฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่ามี อีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าไม่มี ต่างก็เป็นความเชื่อด้วยกัน ฝ่ายที่ว่าไม่มีนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นความเชื่อ ก็ยังเป็นความเชื่ออยู่นั่นแหละ คือเชื่อว่าไม่มี ทีนี้คนทั้งสองฝ่ายนี้ก็อยู่ร่วมสังคมกัน เมื่อเชื่อต่างกันชนิดที่ยุติไม่ได้ ก็เกิดภาวะเครียดทั้งในทางจิตใจ และในสังคม ในทางส่วนตนเองก็มีความ​เครียดว่าจะเอาอย่างไรดี ในกรณีเช่นนี้ วิทยาศาสตร์ไม่มีข้อแนะนำทางออกในการวางจิตใจ แต่ในแง่ของพุทธศาสนา ท่านบอกวิธีปฏิบัติให้โดยแยกเป็นขั้นๆ

ขั้นที่ ๑ คือ ขั้นหาตัวความจริงด้วยการพิสูจน์ ในแง่นี้ใครจะพิสูจน์หาความจริงหรือตัวฉันจะพิสูจน์หาความจริงด้วย ก็พิสูจน์ไป ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธก็ไม่สำคัญ ก็หาความจริงหาความรู้ไป

ทีนี้ขั้นที่ ๒ คือ ขั้นของการวางตัววางใจในการดำเนินชีวิต ในระดับนี้จะทำอย่างไร เรามีวิธีปฏิบัติในพุทธศาสนา ในลักษณะที่ว่า ไม่ว่าเทวดาจะมีหรือไม่มีก็ตาม ก็ไม่เห็นจะกระทบอะไรกับการดำเนินชีวิตของเรา เพราะเรามีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน ที่ทำให้ปฏิบัติได้ลงตัว ซึ่งทำให้พร้อมอยู่เสมอว่า ถึงจะพิสูจน์ได้เสร็จสิ้นว่า เทวดามีหรือว่าไม่มี การปฏิบัติของเรานี้ก็ถูกต้องอยู่แล้วตลอดเวลา

คนทั่วไปมักจะมีท่าทีแบบแกว่งหรือแข็งขืนด้วยความไม่แน่ใจ แล้วก็จะแล่นไปสู่ที่สุดสองอย่าง คือ ถ้าเทวดามี หรือเชื่อว่ามี ก็ต้องไปบวง​สรวงอ้อนวอน ถ้าเชื่อว่าเทวดาไม่มีก็ต้องมาเถียงกันกับคนที่เชื่อ แต่ในทางพุทธศาสนานี่เราแยกได้ คือ ในแง่ท่าทีต่อการหาความรู้ ก็เป็นเรื่องที่จะหาความรู้กันไป แต่ในการดำเนินชีวิต ชีวิตเราไม่ได้ขึ้นต่อเทวดา ถ้าเทวดามีหรือยังต้องการเชื่อว่ามี เทวดานั้นก็เป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา เป็นเพื่อนร่วมเกิดร่วมแก่เจ็บตาย และเราก็มีหลักการอยู่แล้วว่าเราอยู่กับสัตวโลกทั้งหลายด้วยเมตตา มีเมตตาไมตรีปรารถนาดีต่อกัน เมื่อเทวดามีเราก็มีเมตตาต่อเทวดาด้วย แต่ที่สำคัญก็คือหลักพุทธศาสนาบอกว่าทุกคนจะต้องพัฒนาตนเอง พึ่งตนเอง จุดหมายคืออิสรภาพของมนุษย์

เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติตามหลักการพึ่งตนเอง หรือหลักแห่งการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน ก็ทำให้เรารู้ถึงหน้าที่ของตนว่าหน้าที่ของเราคือการพัฒนาตนเอง และหน้าที่ของเทวดาก็คือการพัฒนาตนเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทั้งเทวดาและตัวเราต่างคนต่างก็มีหน้าที่พัฒนาตนเอง พึ่งตนเองในการที่จะกระทำการให้ประสบความสำเร็จ เราก็อยู่กับเทวดาได้ โดยมีเมตตาต่อกัน แต่พร้อมกันนั้นไม่ว่าเทวดาจะมีหรือไม่มีก็ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับเรา ในแง่หนึ่งก็เหมือนกับช้างน้ำและแมวป่า ต่างก็อยู่ในโลกและก็อยู่กับเราได้ดี โดยไม่ต้องไปยุ่งอะไรกัน ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่าลืมว่าท่าทีของพุทธศาสนานั้นบอกว่าให้มีเมตตาต่อกัน เพราะฉะนั้นเรามีท่าทีปฏิบัติที่ชัดเจนในพุทธศาสนา ชาวพุทธก็เลยไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าไม่รู้ท่าทีนี้ ก็จะไปเกิดปัญหาว่าเทวดามีจริงหรือไม่มี ถ้ามีจะทำอย่างไร ก็อาจจะบวงสรวงอ้อนวอน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของชาวพุทธ หน้าที่ของชาวพุทธก็คือการกระทำด้วยความเพียรพยายาม และการพัฒนาตนเอง ซึ่งถ้ามนุษย์พัฒนาตนเองดีแล้วก็สามารถเป็นผู้ที่ประเสริฐจนกระทั่งเทวดาไหว้ได้ อย่างที่ว่ามาแล้ว

นี้เป็นตัวอย่างในเรื่องของท่าทีในทางพุทธศาสนา ซึ่งสรุปแล้วก็เป็นท่าทีตามพุทธพจน์ที่ว่า เมื่อคนถูกลูกศรอาบยาพิษ สิ่งที่จะต้องปฏิบัติก็คือให้ผ่าตัดเอาลูกศรออก ก่อนที่พิษร้ายจะซึมซาบไปแล้วเราจะตาย ส่วนการหาความรู้หรือพิสูจน์ความจริงในเรื่องนั้น ใครพอใจจะทำก็ทำไป แต่สิ่งที่จำเป็นแน่นอนก็คือต้องถอนลูกศรออกก่อน

อันนี้มันเกิดไปคล้ายกับความคิดของ Sir Arthur Eddington ที่ได้เคย quote เมื่อกี้ ซึ่งมีความคิดทำนองนี้เหมือนกัน โดยที่คงไม่ได้เจตนาเพราะแกก็ไม่ได้มาเห็นมติทางพุทธศาสนา แกเขียนเป็นข้อสรุปแบบอุปมาขึ้นมาว่า “จะให้คนหัววิทยาศาสตร์ เดินผ่านเข้าประตูห้องสักครั้งหนึ่งนี่ ยากกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็ม”33

ในคริสต์ศาสนาเขาบอกไว้ก่อนแล้วว่า จะให้คนมั่งมีไปสวรรค์ยากกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็ม แต่ Sir Arthur Eddington นี้พูดใหม่ว่า จะให้คนหัววิทยาศาสตร์เข้าประตูห้องสักครั้งนี่ ยากกว่าการเข็นอูฐเข้ารูเข็ม ทำไม Sir Arthur Eddington นักฟิสิกส์พูดอย่างนี้

ในที่นี้ต้องบอกว่าเป็นคนหัววิทยาศาสตร์นะ ไม่ใช่บอกว่านักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์คงไม่ทำ คือ นักวิทยาศาสตร์เป็น scientist แต่ในที่นี้เขาใช้คำว่า scientific man

ที่ว่าเข้าประตูยากกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็ม เพราะคนหัววิทยาศาสตร์นั้นจะต้องไปยืนที่หน้าประตูแล้วก็คิดดูว่า เอ.. ประตูนี้เราควรจะเดินเข้าไปหรือเปล่า แกจะต้องคิดพิสูจน์ด้วยกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ให้จบเสียก่อน เช่นว่าเราเดินเข้าไปนี้บรรยากาศมีแรงปะทะต่อตัวเรา ตารางนิ้วละเท่าไร gravity มีอิทธิพลต่อเราเท่าไร ความเร็วของโลกในการหมุนไปนี่เท่าไร สัมพัทธ์กับการก้าวเดินของเราอย่างไรบ้าง คิดไม่จบ ตกลงคนหัววิทยาศาสตร์นั้นก็เลยเข้าประตูไม่ได้ เพราะคิดคำนวณอะไรต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่จบ เพราะฉะนั้น เขาจึงบอกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็มง่ายกว่า อันนี้เป็นคำของนักวิทยาศาสตร์เอง

ในที่สุด Eddington ก็สรุปว่า เพราะฉะนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ควรทำตัวเป็นคนธรรมดานี่แหละ จะเป็นประตูโบสถ์ ประตูฟาร์ม หรือประตูอะไรก็เข้าไปก่อน แล้วจะพิสูจน์ก็ค่อยว่ากันไป อันนี้ก็พอดีมาตรงกันกับมติของพระพุทธศาสนา ก็เลยยกมาพูดไว้ด้วย

มติที่ว่านี้ให้ข้อคิดว่า ไปๆ แล้ววิทยาศาสตร์นี่ ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะเป็นคล้ายๆ อภิปรัชญา คือเป็นความจริงชนิดที่ไม่สามารถเอามาใช้กับชีวิตที่เป็นจริง เพราะต้องรอการพิสูจน์ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้อะไรทำนองนี้ หรือแม้แต่พิสูจน์ได้ ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะพิสูจน์ในขณะนั้นๆ ก็เลยไปคล้ายกับอภิปรัชญาในแง่หนึ่งเข้า เอาละอันนี้ก็ขอผ่านไป

 

จัดปรับเรื่องคุณค่าให้ถูก เข้าใจสุข-ทุกข์ให้ตรงปัญหาการพัฒนาจึงจะแก้ได้

วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ถือว่าตนเป็นศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่า แต่เป็นที่รู้กันดีว่า วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการพัฒนาตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งที่การพัฒนานั้นเป็นกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องของคุณค่า และเมื่อตรวจสอบสืบประวัติกันให้ดีก็ปรากฏว่า เรื่องของคุณค่าได้เข้าไปแฝงตัวเป็นแรงผลักดันที่สำคัญอยู่เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ เริ่มแต่ศรัทธาและความใฝ่รู้ในความจริงของกฎธรรมชาติ มาจนถึงคุณค่าที่เป็นแรงใหญ่ที่สุด คือแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และการที่จะเข้าถึงความสุขด้วยการสร้าง​สรรค์วัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อม

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าสำหรับวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะปราศจากคุณค่า วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องหลบหลีกการเกี่ยวข้องกับคุณค่า แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะทำตัวเองให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า และจัดปรับความสัมพันธ์กับคุณค่าให้ถูกต้อง มิ⁠ฉะนั้นอาจจะถูกคุณค่าบางอย่างเข้าแอบแฝงและครอบงำโดยไม่รู้ตัว และคุณค่าที่แอบแฝงนั้น ก็อาจจะให้โทษทั้งในการขัดขวางปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้ และทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นปัจจัยที่ก่อโทษภัยหรือความวิบัติวินาศให้แก่มนุษยชาติไปเลยก็ได้ ดังที่ได้เป็นมาและเป็นอยู่แล้วไม่น้อยในปัจจุบัน

ในคำบรรยายข้างต้น ได้พยายามชี้แจงถึงความสัมพันธ์ของวิทยา­ศาสตร์กับคุณค่า ๒ ระดับ คือคุณค่าสูงสุด กับคุณค่าในระหว่าง สำหรับคุณค่าสูงสุดนั้น เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์จะต้องเข้าถึงเลยทีเดียว มิฉะนั้นวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ที่สมบูรณ์ได้ เพราะคุณค่าสูงสุดนั้นเป็นความจริงในตัวของมันเอง ซึ่งจะขาดเสียมิได้ในการที่จะเข้าถึงความจริงในขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม คุณค่าสูงสุด คือความดีงามสูงสุด หรืออิสรภาพนั้น เป็นภาวะที่จะพึงเข้าถึง เป็นจุดหมายหรือเป็นสิ่งที่มุ่งหมาย ไม่ใช่เป็นคุณค่าที่จะเข้ามาเป็นคุณสมบัติหรือเป็นอิทธิพลซึ่งคอยชักจูงปฏิบัติการทั่วๆ ไปในทางวิทยาศาสตร์

คุณค่าที่จะเข้ามามีอิทธิพลเป็นแรงจูงใจที่ชักจูงหรือครอบงำปฏิบัติการทั่วๆ ไปของวิทยาศาสตร์ ก็คือคุณค่าในระหว่าง ซึ่งแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ คุณค่าในระหว่างที่สืบเนื่องมาจากคุณค่าสูงสุด และสอดคล้องกลมกลืนกันกับคุณค่าสูงสุดนั้น ประเภทหนึ่ง กับคุณค่าแปลกปลอมที่สอดแทรกตัวเข้ามาหรือที่มนุษย์คิดตั้งขึ้นเองจากการมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อสัจจธรรมหรือต่อการแสวงหาความรู้ในความจริง เนื่องจากขาดความตระหนักรู้ ต่อเรื่องคุณค่าว่ามีส่วนร่วม มีบทบาทหรือมีความสำคัญอย่างไร ในการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของตน อีกประเภทหนึ่ง

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า และมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความจริงที่ตนพยายามแสวงหา กับเรื่องคุณค่าโดยเฉพาะคุณค่าสูงสุด นอกจากวิทยาศาสตร์จะจำกัดเขตแดนของความรู้ที่ตนพยายามเข้าถึง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คุณค่าใหญ่น้อยหรือคุณค่ากระเส็นกระสายปลีกย่อยบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกลมกลืนกับการแสวงหาความจริง ก็จะเข้ามาครอบงำปฏิบัติการของวิทยาศาสตร์อย่างไม่รู้ตัว โดยรับถ่ายทอดต่อๆ กันมาบ้าง เกิดจากความโลภ ความพอใจ หรือการหาความสุขของนักวิทยาศาสตร์เองบ้าง ดังเช่น ค่านิยมในการที่จะพิชิตธรรมชาติ และการที่จะหาความสุขด้วยการจัดการเอาธรรมชาติมาจัดสรรเป็นสิ่งบำรุงบำเรออย่างที่กล่าวแล้วเป็นต้น เมื่อคุณค่าแปลกปลอมเหล่านี้เข้ามาครอบงำชักจูงแล้ว นอกจากจะจำกัดขอบเขตหรือบิดเบนการแสวงหาความรู้ไม่ให้เข้าถึงความจริงสูงสุดแล้ว ก็จะชักนำให้เกิดโทษภัยแก่มนุษย์ ไม่ในระยะสั้น ก็ในระยะยาวอีกด้วย

ในทางตรงข้าม ถ้านักวิทยาศาสตร์หรือมนุษย์ผู้แสวงหาสัจจธรรมตระหนักรู้ โดยมีความเข้าใจกว้างขวางตรงตามความเป็นจริง เกี่ยวกับเรื่องคุณค่านามธรรมที่ประสานอยู่กับธรรมชาติฝ่ายรูปธรรม ถ้านักวิทยาศาสตร์ตระหนักรู้อย่างที่ว่ามานี้ ก็คือตระหนักรู้ตรงและเต็มตามเป็นจริงว่า การหาความรู้ความเข้าใจในธรรมชาตินั้น ก็คือการที่จะเข้าใจตัวมนุษย์เองด้วย และการเข้าใจตัวเองของมนุษย์ ก็เป็นการเข้าใจธรรม­ชาติทั่วไปด้วย เมื่อมีความตระหนักรู้อย่างนี้ คุณค่าในระหว่างประเภทที่สองที่สืบเนื่องมาจากคุณค่าสูงสุด และสอดคล้องกับคุณค่าสูงสุดนั้น ก็จะเกิดมีขึ้นมาเอง คือสำเร็จมาเองโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความตระหนักรู้อย่างถูกต้อง ก็จะได้ผลพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๒ อย่างคือ

๑. การหาความรู้ก็ไม่รัดตัวแคบหรือหลงทางเฉออกไป แต่จะเข้าแนวที่จะเข้าถึงความจริงที่สมบูรณ์

๒. คุณค่าที่ถูกต้องสอดคล้องก็จะเกิดมีขึ้นมาเองในตัว คือมีการพัฒนาตัวเองของมนุษย์เกิดขึ้นพร้อมกับการแสวงหาความรู้

พูดง่ายๆ ว่า ในการแสวงหาความรู้อย่างถูกต้อง คุณค่าที่ถูกต้องก็เกิดขึ้นมาเองในตัว เป็นอันว่า คุณค่าสูงสุดเป็นภาวะที่จะต้องเข้าถึงในฐานะเป็นตัวความจริง ไม่ต้องตั้งคุณค่านี้ขึ้นมาในตัวเรา เพียงแต่ตระหนักรู้ต่อมันเท่านั้น และเมื่อตระหนักรู้อยู่นั้น คุณค่าที่ถูกต้อง ซึ่งสืบเนื่องและสอดคล้องกับคุณค่าสูงสุดนั้นก็เกิดมีขึ้นมาเอง

แม้ว่าในแนวทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับความจริง การตั้งความรู้สึกในคุณค่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีอยู่ในตัวดังกล่าวแล้ว แต่ในระดับของปฏิบัติการค้นคว้าวิจัยหรือแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป ที่โยงออกมาสู่การประยุกต์ หรือเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่นการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และในทางอุตสาหกรรมเป็นต้น เราอาจจะเอาคุณค่าบางอย่างขึ้นมาตั้งเป็นจุดเน้นให้ชัดเจนก็ได้ เพื่อให้การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะสนองประโยชน์ด้านนั้นๆ มีกำลังแรง และเป็นการป้องกันไม่ให้คุณค่าที่ไม่ถูกต้องมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงชักจูงหรือครอบงำพาเขวออกไป เช่น มีความใฝ่รู้เพื่อมุ่งที่จะเข้าถึงความไร้ทุกข์ หรือการใฝ่รู้เพื่อมุ่งนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ตลอดจนคุณค่าปลีกย่อยเช่น การมุ่งความเป็นเลิศของสิ่งที่กระทำทุกอย่างโดยไม่ก่อผลกระทบในทางเสียหายใดๆ ให้เกิดขึ้น

อย่างน้อยที่สุด ความตระหนักรู้ในเรื่องคุณค่านี้ ก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความรู้เท่าทันและฉลาดในการที่จะปฏิบัติต่อคุณค่าต่างๆ ที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของตน เช่นความโลภ ความโกรธ ความน้อยใจ ความอิจฉาริษยา ฯลฯ ดังในกรณีของนิวตันที่พูดมาแล้วเป็นต้น โดยเฉพาะจะเห็นคุณค่าของคุณค่าที่ถูกต้อง และรู้จักใช้ประโยชน์จากคุณค่า แม้แต่ในการที่จะช่วยให้เป็นผู้ก้าวหน้าในการแสวงหาความรู้ในความจริง แม้อย่างอ่อนที่สุดก็ทำให้เป็นนักวิทยา­ศาสตร์ที่มีศีลธรรม ไม่กลายเป็นเพียงผู้สนองรับใช้อุตสาหกรรมดุ่ยๆ ไป

เพราะฉะนั้น จึงควรปรับความเข้าใจและปรับท่าทีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่แค่ภายใต้อำนาจครอบงำของคุณค่าระดับรอง เช่น ความกระหายที่จะพิชิตธรรมชาติ

คุณค่าอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อมนุษย์และการทำกิจกรรมของมนุษย์ ก็คือความสุข หรือเรื่องสุข-ทุกข์ ดังเช่นค่านิยมของยุคอุตสาหกรรมที่เป็นมาว่าความสุขอยู่ที่การพิชิตธรรมชาติได้สำเร็จและสามารถจัดการเอาธรรมชาติมาใช้ได้ตามปรารถนา ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาแบบที่เป็นมาและทำให้การพัฒนานั้นก่อปัญหาแก่มนุษย์อย่างที่เห็นกันมาแล้ว ในเรื่องนี้ เราสามารถพูดได้ว่า การแก้ปัญหาการพัฒนาจะสำเร็จได้ จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสุข-ความทุกข์ของมนุษย์ให้ถูกต้องตรงความจริง หรือในทางกลับกัน ถ้าไม่ปรับค่านิยมเกี่ยวกับการหาความสุขให้ถูกต้อง ก็ไม่มีทางจะแก้ปัญหาการพัฒนาได้สำเร็จ

หนทางแก้ปัญหาด้วยการปรับความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขนั้น พูดสั้นๆ ว่า มนุษย์จะต้องเปลี่ยนค่านิยม โดยที่จะไม่คิดหาความสุขจากการพิชิตธรรมชาติ แต่จะมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ พร้อมกันนั้นก็วางขอบเขตในการปฏิบัติหรือจัดการกับธรรมชาติว่า จะจัดสรรธรรมชาติเพียงเพื่อกำจัดความทุกข์ของมนุษย์ (ไม่ใช่เพื่อปรนเปรอความสุข)

มนุษย์จะต้องตระหนักรู้ว่า ถ้าจะหาความสุขจากการพิชิตธรรมชาติ ถึงแม้ธรรมชาติพินาศหมด มนุษย์ก็จะยังไม่พบความสุข แต่ถ้าจะมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ มนุษย์จะมีความสุขได้ทันทีทุกเวลาตลอดไปจนกระทั่งเขาพัฒนาตนให้ถึงความไร้ทุกข์

พูดอย่างคร่าวๆ คุณค่าที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องเกี่ยวข้องอย่างหนีไม่พ้น มี ๓ อย่าง คือ

๑. คุณค่าสามัญ ที่นักวิทยาศาสตร์ในฐานะบุคคลผู้หนึ่งมีเหมือนกับคนทั่วไป คือ แรงจูงใจที่ดีหรือชั่วในการดำเนินชีวิต และประกอบกิจกรรมในการแสวงหาความรู้หรือใช้ความรู้ของตน เช่นทำการต่างๆ เพื่อสนองความเห็นแก่ตัว โดยเห็นแก่ลาภหรือผลประโยชน์ เห็นแก่ชื่อเสียงหรือความยิ่งใหญ่ เป็นไปตามความโลภ โกรธ หลง หรือทำการด้วยเมตตากรุณาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

๒. คุณค่าที่ยึดถือเป็นหลัก หรือมีอิทธิพลครอบงำในวงการแห่งวิชาการของตน ซึ่งอาจจะเป็นแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ หรือค่านิยมอุตสาหกรรมที่จะมีความสุขด้วยการมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นแนวคิดเป้าหมาย ที่จะแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ เป็นต้น

๓. คุณค่าสูงสุดที่วิทยาศาสตร์จะพึงยึดถือโดยมองตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวร่วมกับมวลมนุษย์ คือ คุณค่าที่เป็นอุดมคติของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมายังก้าวไปไม่ถึง ยังอยู่เพียงครึ่งกลาง แค่ว่าศรัทธาในกฎธรรมชาติ และความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ ที่มองออกไปยังธรรมชาติภายนอก ไม่คลุมถึงความเป็นมนุษย์ และความดีงามสูงสุด

วิทยาศาสตร์มีภารกิจค้างอยู่ที่จะต้องปรับตัวเกี่ยวกับคุณค่าทั้ง ๓ ระดับนี้

 

ส่งเสริมเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และไม่สร้างปัญหา

ในระดับชีวิตประจำวัน หรือในระดับการสนองความต้องการของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน วิทยาศาสตร์มีบทบาทอย่างสำคัญในการเปิดช่องทางให้แก่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตการพัฒนาและการบริโภคเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง และในทางกลับกัน เมื่อคนนิยมเทคโนโลยีด้านใดประเภทใด ก็เป็นการสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาส่งเสริมการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยีด้านนั้นประเภทนั้นให้รุดหน้าก้าวไกลมากยิ่งขึ้น

เท่าที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์ที่มีแนวความคิดในการพิชิตธรรมชาติและสร้างเสริมความสุขด้วยความพรั่งพร้อมทางวัตถุอยู่เบื้องหลัง ได้ผลักดันให้การผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมากมาย ในทิศทางที่สนองต่อแนวความคิดที่กล่าวนั้น จนมาถึงจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงแก่มนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดสภาพที่กลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจจะสร้างปัญหามากกว่าสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่มนุษย์

ลักษณะการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดปัญหานั้น เมื่อว่าโดยสรุปก็คือ เป็นการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเพื่อสนองโลภะ (บำรุงบำเรอความสุขทางประสาทสัมผัสแบบเห็นแก่ตัวอย่างฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ไม่รู้จักประมาณ) เพื่อสนองโทสะ (ทำให้เกิดการเบียดเบียน ทำร้าย การแสดงอำนาจคุกคาม และการทำลาย เช่นในการสงคราม) และเพื่อสนองโมหะ (ส่งเสริมความลุ่มหลงมัวเมาประมาท เช่นติดเพลินหรือมั่วสุมกันอย่างผลาญเวลา เสียงานเสียการ หรือบั่นทอนสุขภาพ และไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนใช้และบริโภคเทคโนโลยี โดยไม่เข้าใจเหตุผล ไม่รู้เท่าทันต่อคุณและโทษของมัน) ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว

ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ระดับล่าง คือในระดับที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเทคโนโลยีนี้ นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการพิชิตธรรมชาติ และแนวความคิดในการที่จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อมแล้ว ก็จะต้องเน้นและอุดหนุนการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยี ในลักษณะที่ไม่ก่อปัญหา แต่ให้เป็นไปในแนวทางของการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริง ภายในขอบเขตของหลักการต่อไปนี้ คือ

๑. เทคโนโลยีที่รู้จักประมาณ

๒. เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์

๓. เทคโนโลยีที่เสริมปัญญาและพัฒนามนุษย์

ขอขยายความเล็กน้อย

๑. เรายอมรับความต้องการของปุถุชนในขอบเขตหนึ่ง ว่าเขาย่อมต้องการสนองความอยากที่จะหาความสุขด้วยการบำรุงบำเรอประสาทสัมผัสบ้าง ไม่ใช่มุ่งแต่จะไปบีบกดปิดกั้นกามสุขของเขา จุดสำคัญเพียงแต่ให้พฤติกรรมของเขาอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ก่อความเสียหาย ไม่ให้กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หรือมักมาก โดยให้มีความเหนี่ยวรั้งหรือยับยั้งชั่งใจ ให้เป็นไปอย่างพอดี ซึ่งรวมอยู่ในคำว่ารู้จักประมาณ โดยเฉพาะให้มีหลักการในการผลิต การพัฒนาและการบริโภคเทคโนโลยีที่มุ่งเพื่อคุณค่าแท้แก่ชีวิต เป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่มุ่งสนองการแสวงหาคุณค่าเทียม เรียกสั้นๆ ว่า เทคโนโลยีที่รู้จักประมาณ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ควบคุมโลภะ

๒. พร้อมกับความเห็นแก่ตัวและความโลภ มนุษย์ก็มีความโน้มเอียงที่จะต้องการอำนาจเพื่อครอบงำบีบคั้นผู้อื่น และคุกคามหรือทำลายผู้ที่กีดกั้นขัดขวางความปรารถนาของตน ศักยภาพของมนุษย์ถูกพัฒนาไปในทางที่จะสนองความต้องการด้านโทสะนี้เป็นอันมาก เป็นเหตุให้การผลิตการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีเป็นไปในทางทำลายกันระหว่างมนุษย์มากกว่าในทางร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูล มนุษย์จะต้องหันเหทิศทางการพัฒนาแบบนี้ โดยตั้งเจตจำนงและความมุ่งหมายพร้อมทั้งวางแผนอย่างหนักแน่นมั่นคงที่จะส่งเสริมการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยีที่เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูล ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ และเอื้ออำนวยประโยชน์แก่สังคม เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์อย่างนี้จะช่วยลดทอนผ่อนเบาและยับยั้งเทคโนโลยีเพื่อโทสะ

๓. ตามสภาพที่เป็นมา การผลิตการพัฒนาและการบริโภคเทคโนโลยีได้เป็นไปในทางที่จะชักพาคนให้ลุ่มหลงมัวเมา ประมาท และเพิ่มโมหะเป็นอย่างมาก ยิ่งเวลานี้ สังคมโลกหลายส่วนได้ย่างก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล ถ้ามนุษย์ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสื่อสารและข้อมูลไม่ถูกต้อง แทนที่เทคโนโลยีจะส่งเสริมความรู้และสติปัญญา ก็กลับจะเป็นเครื่องมอมเมาทำให้คนลุ่มหลงประมาทยิ่งขึ้น ดังเช่น เทคโนโลยีที่เอามาใช้เล่นการพนันและเกมส์ไร้ประโยชน์ผลาญเวลาที่เกลื่อนกลาดอยู่ในปัจจุบันเป็นต้น

ที่กล่าวนี้รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีโดยไม่ใช้ปัญญา ขาดความรู้เท่าทันต่อคุณและโทษของมัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธรรมชาติแวดล้อมเป็นต้น ทั้งลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์และทำลายสภาพแวดล้อม จึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจงใจในเรื่องนี้ โดยหันมาเน้นการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยี ที่มุ่งเพื่อเสริมปัญญาและพัฒนามนุษย์ โดยให้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้มนุษย์ใช้เวลาไปในทางสร้างสรรค์ และให้มีการใช้เทคโนโลยีด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันต่อเหตุผลพร้อมทั้งคุณและโทษของมัน เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของความเป็นมนุษย์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และให้ตัวเทคโนโลยีนั้นเองก็เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาจิต­ปัญญาด้วย ข้อนี้เรียกสั้นๆ ว่า เทคโนโลยีที่เสริมปัญญาและพัฒนามนุษย์ ตรงข้ามกับเทคโนโลยีเพื่อเสริมโมหะ

ถ้าการผลิต การพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีเป็นไปในแนวทางที่กล่าวมานี้ และถ้าวิทยาศาสตร์ช่วยเปิดทาง รองรับ และช่วยหนุนให้เทคโนโลยีดำเนินไปในแนวทางนี้ การพัฒนาแบบที่เรียกร้องกันในปัจจุบัน ซึ่งมีชื่อว่า sustainable development คือการพัฒนาแบบที่จะพากันไปรอด โดยให้ทั้งมนุษย์ก็อยู่ดี และธรรมชาติก็อยู่ได้ ก็จะสำเร็จขึ้นมาอย่างแน่นอน

 

การแก้ปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย

ก. มีแต่วัฒนธรรมเทคโนโลยี
ขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์

ตอนนี้ประเทศไทยของเรายังมีปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยา­ศาสตร์หลายอย่าง ปัจจุบันนี้เราค่อนข้างจะมีความพรั่งพร้อมด้านเทคโนโลยีมาก แต่วิทยาศาสตร์เองกลับไม่ค่อยเจริญ จนถึงกับว่าคนจำนวนมากหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจเอาเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ กลายเป็นปัญหาของเมืองไทยที่สำคัญ คือการที่คนไม่รู้จักวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่าเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ และเมืองไทยชักจะมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี ไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ถ้าเราต้องการจะเจริญก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ จะต้องพยายามพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้ได้

ที่ว่ามีวัฒนธรรมเทคโนโลยี คือมีวิถีชีวิตที่เน้นเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการบริโภค หาความสะดวกสบาย ปล่อยให้ชีวิตขึ้นต่อเทคโนโลยี โดยที่ด้านจิตปัญญา จะเป็นตัวความรู้ก็ตาม ความใฝ่รู้ก็ตาม หรือนิสัยในการศึกษาค้นคว้าก็ตาม หาได้พัฒนาขึ้นมาด้วยไม่ บางทีใช้เทคโนโลยีที่แสนจะพัฒนาก้าวหน้าแต่จิตใจยังเชื่อสิ่งเหลวไหลงมงายอย่างตรงกันข้ามสวนทางกับวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงยังมีปัญหามาก และจะต้องพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้คนมีวิถีชีวิตแห่งการแสวงหาความรู้ ชอบสืบค้นหาความรู้ มองตามเหตุปัจจัย คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล

การมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี (เชิงบริโภค) และขาดวัฒนธรรมวิทยา­ศาสตร์นี้อาจจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ในเมืองไทยนี้คนเลือกเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หายาก โดยมากจะไปเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีเสียมากกว่า เพราะว่าทั้งความเข้าใจและความพอใจตามแบบวัฒนธรรมเทคโนโลยีมามีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง คนมีค่านิยมเทคโนโลยีมาก แต่ไม่มีค่านิยมวิทยาศาสตร์

ข. การมองความเจริญแบบนักเสพผล
ไม่มองแบบนักสร้างเหตุ

สภาพต่อไปที่จะต้องแก้ คือ การมองความเจริญแบบนักเสพผล ไม่มองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ ข้อนี้เมื่อพูดตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนธรรมตามหลักพุทธศาสนา ก็เป็นตัวหนุนวัฒนธรรมเทคโนโลยี และส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภคซึ่งนำไปสู่ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เวลาเรามองประเทศอเมริกาว่าเจริญ ขอให้ลองทดสอบคนไทยดูว่ามองอย่างไร คนไทยมองความเจริญด้วยท่าทีแบบนักเสพผล หรือด้วยท่าทีแบบนักสร้างเหตุ

ถ้าเป็นผู้มองความเจริญในความหมายแบบนักเสพผล ก็จะแสดงท่าทีและแนวความคิดออกมาว่า ถ้าเราเจริญอย่างอเมริกา ก็คือ เรามีกินมีใช้อย่างคนอเมริกัน หมายความว่า ถ้ามีกินมีใช้อย่างคนอเมริกันก็คือเจริญอย่างอเมริกา แต่ถ้ามองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ เขาจะตอบอีกแบบหนึ่งว่า ถ้าเราเจริญอย่างอเมริกา ก็คือเราทำได้อย่างอเมริกา

ขณะนี้คนไทยทั่วไปตอบแบบไหน ถ้าเขาตอบว่าจะต้องมีกินมีใช้อย่างอเมริกา นั่นคือมองความเจริญแบบนักเสพผล แล้วจะนำไปสู่วัฒนธรรมบริโภค และวัฒนธรรมเทคโนโลยีเชิงบริโภค จะไม่สนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนท่าทีของจิตใจแม้แต่ในการมองความเจริญนี้ใหม่ ให้มองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ พอเห็นอะไรก็ให้คิดที่จะทำให้ได้อย่างเขา พอคิดจะทำให้ได้อย่างเขา ก็จะสืบสาวหาเหตุปัจจัยในกระบวนการของเหตุผลทันที

ค. การอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบส่งเสริมตัณหา
ไม่ส่งเสริมฉันทะ

ลึกลงไปกว่านั้น การเลี้ยงดูอบรมเด็ก โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนวัยเรียน มีความสำคัญมาก เรามักมาจ้องดูเด็กตอนเข้าโรงเรียนแล้ว แต่ที่จริงเราอบรมปลูกฝังท่าทีวิทยาศาสตร์หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนหน้านั้นนานแล้วตั้งแต่ในครอบครัว ให้มีท่าทีแบบนักบริโภค ที่ทางพระเรียกว่าท่าทีแบบตัณหา หรือท่าทีแบบวิทยาศาสตร์ที่ใฝ่รู้และมองตามเหตุปัจจัย ซึ่งเรียกว่าท่าทีแบบฉันทะ

ในเมืองไทยนี้เราเลี้ยงดูอบรมเด็กกันอย่างไร เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เวลาพ่อแม่พาลูกไปตลาด ไปศูนย์การค้า ไปหาซื้อสิ่งของ ทั้งๆ ที่เด็กมีความใฝ่รู้อยู่ในตัว เด็กชอบถามโน่นถามนี่ แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ชักจูงนำหรือเสริมในด้านฉันทะคือความใฝ่รู้ความจริง หรือความใฝ่ที่จะทำหรือสืบสาวหาเหตุปัจจัย แต่ผู้ใหญ่มักจะส่งเสริมตัณหาคือความอยากบริโภค พอเด็กถามว่าอันนี้อะไรอันนั้นอะไร แทนที่จะตอบในเชิงของปัญญาความรู้ความเข้าใจที่เป็นตัวองค์ความรู้ กลับชักนำไปในเชิงว่า โอ อันนั้นสวย อันนี้ดี น่ากิน น่าใช้ อย่างนั้นอย่างนี้ นี่น่าเอาน่าได้ ไปสนับสนุนอย่างนั้น ทำให้ความคิดเชิงเจตคติวิทยาศาสตร์จบเท่านั้น สะดุดหยุดไปเลย เพราะฉะนั้น กว่าเด็กจะเติบโตมา ก่อนเข้าโรงเรียนก็หมดฉันทะไปเสียแล้ว เหลือแต่ตัณหา ไม่มีความใฝ่รู้ที่จะเอามาใช้พัฒนา

เพราะฉะนั้น สภาพที่ว่านี้จึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง คือการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ไปส่งเสริมตัณหาหรือดึงไปหาตัณหา ปิดกั้นกดทับฉันทะ ทำลายความใฝ่รู้ แล้วเบนออกไปนอกทางเสีย เพราะฉะนั้น จึงจะต้องเตือนกันให้มากเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ให้ส่งเสริมฉันทะ คือ ความใฝ่รู้และใฝ่ที่จะทำ ไม่ใช่ส่งเสริมความใฝ่ที่จะเอาหรือจะได้

ง. ความอ่อนในอุเบกขา
ไม่ให้โอกาสแก่เด็กที่จะพัฒนา

ข้อต่อไปคือความอ่อนในอุเบกขา การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทยนี่อ่อนในอุเบกขา คือ ไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักรับผิดชอบในการที่จะพัฒนาตน แต่มักใช้เมตตามากเกินไป เรียกว่าโอ๋มาก จะปล่อยบ้าง หรือจะให้เด็กทำอะไรๆ ก็กลัวเด็กจะลำบากจะไม่สบาย คอยแสดงความรักจนเกินไป จน​กระทั่งเด็กทำอะไรไม่เป็น และไม่รู้จักโต ขัดกับหลักในพระพุทธศาสนา ที่ท่านสอนว่าพ่อแม่จะต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา พร้อมบริบูรณ์ได้สมดุลกัน

อุเบกขา คือการมีปัญญารู้จักวางท่าทีเฉยดูไปก่อน รู้จักปล่อย รู้จักให้โอกาส ให้เขารู้จักรับผิดชอบตนเอง รู้จักทำอะไรๆ ด้วยตนเองเพื่อเป็นการพัฒนาตน

หลักปฏิบัติในการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยใช้ธรรม ๔ ข้อนั้น ก็คือ

๑. ในยามปกติ อยู่กันตามธรรมดา ก็มีเมตตา คือหวังดีปรารถนาดี แสดงน้ำใจ เอาใจใส่ด้วยไมตรี ให้ความรู้สึกอบอุ่นร่มเย็น

๒. เมื่อใดเขาเกิดความเดือดร้อน มีทุกข์ เช่น เจ็บไข้ไม่สบาย ก็ใช้กรุณา คือ สงสาร เห็นใจ ขวนขวายช่วยเหลือ หาทางปัดเป่า ปลดเปลื้องความทุกข์ยาก

๓. เมื่อใดเขาประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าหรือก้าวไปด้วยดีในทางที่ถูกต้อง เช่น สอบได้ ทำงานสำเร็จ ก็มีมุทิตา คือพลอยยินดี รื่นเริงบันเทิงใจด้วย และส่งเสริมสนับสนุน

๔. แต่เมื่อใด เด็กจะต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่น ฝึกปฏิบัติหัดทำ เพื่อให้รู้จักทำอะไรด้วยตนเอง หรือช่วยตัวเองได้ หรือทำอะไรผิดพลาดไปจะต้องแก้ไข ก็ต้องวางอุเบกขา คือวางทีเฉยคอยดู เอาความถูกต้องและผลดีเป็นหลัก รู้จักปล่อยให้เขาทำด้วยตนเอง ให้หัดแก้ปัญหา และรู้จักแก้ไขความผิดพลาดของตน ไม่ใช่คอยแต่เอาใจ หรือตามใจ และไม่ใช่กลัวว่าเด็กจะลำบากแล้วเลยไปทำแทนเสียหมด

ในสี่ข้อนี้ ข้อสุดท้ายสำคัญและทำได้ยากที่สุด เพราะสามข้อแรก มองดูและปฏิบัติต่อตัวคน คือเด็กอย่างเดียว แต่ข้อที่สี่ ต้องมองดูคนโดยเอาธรรมเข้ามาวัด คือต้องเอาความถูกต้องชอบธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินอีกชั้นหนึ่ง และเพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็อุเบกขาไม่เป็น กลายเป็นเฉยโง่ เลยกลายเป็นโทษไป แต่ถึงจะยากก็ต้องพยายามใช้ เพราะเด็กจะรู้จักรับผิดชอบตัวเอง รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักทำอะไรเป็น พัฒนาได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า เด็กจะรู้จักโต ก็เพราะผู้ใหญ่รู้จักอุเบกขา ต่อยอดธรรมสามข้อต้น

อุเบกขาคือองค์ธรรมเอกที่เป็นฐานแห่งการพัฒนาตนของเด็ก คือการทำให้คนรู้จักรับผิดชอบ แต่ในเมืองไทยเรานี้ นอกจากไม่รู้จักใช้อุเบกขาแล้ว ยังแถมไปเข้าใจอุเบกขาผิดเสียอีก ไม่รู้จักว่าอุเบกขาคืออะไร ไปนึกว่าวางเฉยคือเฉยไม่รู้เรื่องและเฉยไม่เอาเรื่อง ก็เลยเฉยไม่ได้เรื่อง คือไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่ควรจะมีจะได้

จ. ขาดการปลูกฝังความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจ

ทีนี้ต่อไป คนไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งที่เราพูดกันอยู่เสมอคือ ขาดความใฝ่รู้ อย่างที่พูดมาแล้วว่าความใฝ่รู้นั้นเป็นแหล่งที่มาของความเจริญก้าวหน้าในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ถ้าขาดความใฝ่รู้เสียแล้ว วิทยา­ศาสตร์จะเจริญได้อย่างไร นอกจากนั้นพอมีความใฝ่รู้ขึ้นมา ความใฝ่รู้นั้นก็กลับไปสนองรับใช้ความปรารถนาแอบแฝงข้ออื่น เช่น การหาวัตถุปรนเปรอให้พรั่งพร้อม ก็เลยเฉออกไปเสียอีก เพราะฉะนั้นเราจะต้องหันกลับมาสร้างสรรค์ความใฝ่รู้ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น

ถ้าพิจารณาดูกันให้ดีจะเห็นว่า นักวิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่สร้างความเจริญก้าวหน้าสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์นั้น ล้วนทำงานด้วยความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจทั้งสิ้น ไม่มีแม้แต่ความใฝ่รู้เพื่อจะพิชิตธรรมชาติ มีแต่ความซาบซึ้งในกฎธรรมชาติ มุ่งมั่นเพียรค้นคว้าโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ใดๆ อันนี้เองแท้ๆ ที่เป็นที่มาของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ เมื่อค้นคว้าหา​ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไป เพื่อสนองความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ ก็จะมีความสุขในการได้ค้นพบความจริง เพราะฉะนั้นความสุขของเขาก็จึงไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาสนอง ความสุขจากการได้ค้นพบความจริงคืบหน้าไปในการหาความรู้นั้น จะเห็นได้ชัดในข้อเขียนของไอน์สไตน์

ไอน์สไตน์นี้ ตามถ้อยคำที่ได้ยกมาอ้าง จะเห็นว่า เป็นผู้ที่เน้นมากเกี่ยวกับเรื่องความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ เน้นเรื่องสำนึกทางศาสนา เน้นเรื่องความเชื่อในกฎธรรมชาติ แต่ ไอน์สไตน์ไม่เคยพูดเลยถึงเรื่องการที่จะพิชิตธรรมชาติ เพราะเมื่อรักธรรมชาติแล้วจะไปพิชิตมันทำไม ในเมื่อไอน์สไตน์รักธรรมชาติ ไอน์สไตน์จะไปคิดพิชิตธรรมชาติได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เองก็มีความใฝ่รู้ที่บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตามในแง่ของพุทธศาสนาถือว่าจะต้องโยงความใฝ่รู้นั้นมาสู่การเข้าถึงความดีงามสูงสุด และการแก้ปัญหาพัฒนามนุษย์ด้วย

เมืองไทยเรามีปัญหากับเรื่องการขาดความใฝ่รู้ทั่วไปหมด เพราะฉะนั้นวงการวิทยาศาสตร์จะต้องช่วยในเรื่องนี้ ซึ่งก็จะกลายเป็นการก้าวเข้ามาสู่แดนแห่งคุณค่าและจริยธรรม คือในการสร้างความใฝ่รู้นั้น จะต้องให้มีความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจ แล้วเราก็จะมีความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน เพราะเราไม่ค่อยมีคนใฝ่รู้ความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ ก็จึงเป็นเหตุให้มีคนสมัครเรียน pure science น้อย ถ้าคนมีความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจกันมาก ก็จะต้องมีคนเรียน pure science มากพอ และที่ควรจะทำได้อีกอย่างก็คือ เอาความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจนี้ไปบรรจบกับความใฝ่ปรารถนาสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์

ฉ. ลักษณะจิตใจแบบผู้ตามรอรับ
ขาดความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือการสั่งสมลักษณะจิตใจแบบผู้ตามและผู้รับมาสนิทจนไม่รู้ตัว เมืองไทยเรานี่รับความเจริญแบบตะวันตกมาประมาณศตวรรษหนึ่ง จนกระทั่งได้เกิดความรู้สึกแบบคอยตามมองหาความเจริญของตะวันตก รอว่าตะวันตกมีอะไรก้าวหน้าทางวัตถุ ทางผลิตภัณฑ์บริโภค ทางอุตสาหกรรม และแม้แต่ทางวิชาการ เราก็รอรับคอยตามจนกระทั่งเคยชินไม่รู้ตัวเลย กลายเป็นจิตสำนึกหรือลักษณะจิตใจแบบผู้ตามและผู้รับ

การที่จะแก้ไขเรื่องนี้ จะต้องทำในทางตรงข้าม คือ

๑. เกิดความสำนึกตื่นตัวรู้ว่า โอ พลาดไปแล้ว เราจะต้องแก้ลักษณะจิตใจแบบผู้ตามและผู้รับ เปลี่ยนให้ตรงข้าม เราจะต้องเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะจะต้องทำตนให้เป็นผู้ให้ และสามารถที่จะให้ (โดยมีอะไรที่จะให้) เมื่อเป็นผู้ให้แล้วก็จะเป็นผู้นำได้เอง บางทีอยากจะเป็นผู้นำ แต่จะไปนำเขาอย่างไร ในเมื่อไม่มีอะไรจะให้เขา สองอย่างนี้ต้องคู่กันมา คือทั้งนำและให้

บางทีเราไปคิดแค่ว่าตามกับนำ จะแก้ปัญหาที่เป็นผู้ตามโดยจะเป็นผู้นำ มันจะไปนำได้อย่างไร ก็ต้องแก้ทั้งตามและรับ เพราะตามกับรับนี่มันคู่กันมา เพราะจะรับนี่แหละก็เลยคอยตามอยู่เรื่อย ทีนี้ถ้าจะแก้ ถ้าจะเป็นผู้นำ ก็ต้องหาอะไรไปให้ ต้องมีที่จะให้ก่อน เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีทั้งความคิด วิชาการ ทั้งผลสำเร็จต่างๆ คือมีความเจริญที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง ต้องสำรวจตรวจสอบภูมิปัญญาของตัวเอง ต้องสร้างตัวขึ้นมาให้มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น เมื่อมีอะไรที่จะให้แล้วเราก็จะเป็นผู้นำ อย่างน้อยก็นำในแดนหนึ่ง ช่องทางหนึ่ง หรือส่วนหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมา คือการที่จะต้องตั้งเป้าหมายให้เด่นชัดว่า จะเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้โดยการมีสิ่งที่จะให้แก่ผู้อื่น

๒. การตามทันในเชิงความคิด ได้พูดมาแล้วว่า นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างผลสำเร็จ ค้นพบความจริงที่สำคัญในทางวิทยาศาสตร์นั้น ในจิตใจของเขาจะเริ่มต้นด้วยการมีความหยั่งรู้เล็งเห็น เป็นความคิดล่วงหน้า การพัฒนาก้าวหน้าตลอดถึงการที่จะนำเขาจะต้องใส่ใจด้านความคิดนี้ให้มาก คือจะต้องมองเชิงความคิดด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกในระดับผู้นำที่สุดมีความคิดอย่างไร ไม่ใช่มองแต่ผลสำเร็จทางวิชาการที่ทำออกมาเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้ตามอย่างเดียว คอยตามเรื่อยไป และอาจจะตามห่างๆ ด้วย เพราะบางที text ที่ทำมาหรือตำราวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่ผู้ค้นคิดหรือค้นพบนั้นเองเป็นผู้ทำ กลายเป็นคนอื่นมาเขียนอีกต่อหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราคอยมองดูอยู่แต่ระดับนี้ เราจะได้แต่คอยตาม และตามไม่ทัน

อนึ่ง ตัวนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบความจริงนั้น เมื่อตอนที่เขาค้นพบความจริงได้ผลสำเร็จออกมานั้น เขาไม่ใช่คิดแค่นั้น ความคิดของเขาที่แท้จริงนั้น ยังแล่นเลยกว่านั้น ล้ำหน้าออกไปอีกและมีความคิดอะไรดีๆ อื่นๆ ประกอบกันอยู่ด้วย เราต้องตามดูว่าความคิดของเขาต่อจากเรื่องที่ค้นคิดได้นั้นไปจบตันที่ไหน หมายความว่า เขาอาจจะยังมีความคิดอะไรบางอย่างค้างอยู่ที่ยังไม่ลงตัว นอกจากนั้นเมื่อปฏิบัติการทางวิทยา­ศาสตร์ตามวิธีวิทยาศาสตร์จนเป็นผลสำเร็จแล้ว เขาคิดอะไรต่อที่ยังค้างจะทำต่อไป

ความคิดย่อมมีอะไรเกินเลยออกไปกว่าเสมอ เพราะแดนความคิดย่อมล้ำเลยสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นความคิดนี้ จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องตามให้ทัน นี่คือ การตามให้ทันเชิงความคิด วงการวิทยาศาสตร์ของเราหรือวงการทางวิชาการอะไรก็ตามจะต้องเน้นอันนี้ให้มาก คือ การตามทันในเชิงความคิด อย่างน้อยก็ต้องให้รู้เต็มที่ที่เขาคิดได้ ขณะนี้เราตอบได้ไหม แม้แต่แค่ว่าเรารู้เต็มที่ที่เขาคิดได้

๓. รู้ส่วนล้ำหน้าที่เขาคิดเลยไป ที่เขายังตอบไม่ได้เอง ที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่มีเวลาพิสูจน์เช่นอาจจะสิ้นชีวิตไปเสียก่อน เป็นต้น แม้อย่างน้อยก็ควรรู้ว่าเขาคิดอย่างไรต่อผลงานของเขาเอง ผลงานของเขาเองที่ออกมา เราไม่ดูว่าเขาคิดอย่างไรด้วยซ้ำ ถ้าดูแล้วเราอาจจะได้แง่คิดอะไรเพิ่มเติมมาใช้ประโยชน์ นี้แหละเป็นทางที่จะนำไปสู่การมีอะไรที่จะให้จะนำเขา

ช. ได้ผู้เรียนจบ แต่อาจจะไม่ได้บัณฑิต

ต่อไปอีกอย่างหนึ่งคือ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์นั้น คงจะต้องมองว่า ความเป็นบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่มีความหมายแค่เพียงว่า เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี หรือแม้แต่เป็นมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ได้ปริญญาโท ปริญญาเอก ในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายความว่าจบ requirements หรือข้อกำหนดที่จะได้ปริญญา พอได้ไปแล้วก็เรียกว่าเป็นบัณฑิต คือผู้จบการศึกษาสายนั้น แต่ที่จริงจะต้องมีความหมายว่า เป็นผู้จบวิชาวิทยา­ศาสตร์โดยเป็นบัณฑิตด้วย หมายความว่า เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และเป็นบัณฑิต หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบัณฑิต เพราะคำว่าบัณฑิตนี้มีความหมายต่างหากจากการจบวิชาเฉพาะ

วิทยาศาสตร์นั้นถือกันว่าเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน เราก็จบวิชานั้น แต่ผู้จบวิทยาศาสตร์อาจจะไม่เป็นบัณฑิตก็ได้ ในความหมายที่แท้จริงในเชิงนามธรรม หรือความหมายเดิมแท้ ความเป็นบัณฑิตก็คือ ความเป็นผู้ที่ได้พัฒนาแล้วทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญา หรือตามภาษาพระเรียกว่า เป็นผู้ได้พัฒนาแล้วทั้งกาย ศีล จิต และปัญญา พร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามด้วยตนเอง และรับผิดชอบช่วยสร้างสรรค์พัฒนาสังคมได้ด้วยดี

บัณฑิตวิทยาศาสตร์ ก็คือ ผู้ที่เป็นบัณฑิต ซึ่งพร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามและรับผิดชอบสังคมไปด้วย โดยมีอุปกรณ์คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตัวมีความรู้ชำนาญพิเศษไปใช้ปฏิบัติการ

ถ้ามีแต่ความรู้ที่จะปฏิบัติการ แต่ตัวไม่เป็นบัณฑิต ก็จะเกิดปัญหา คือไม่สามารถนำความรู้ที่จบไปใช้ หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ก่อให้เกิดโทษ การเป็นบัณฑิตคือ การทำตัวคนที่จะใช้อุปกรณ์ให้พร้อม ส่วนวิชาเฉพาะนั้นก็เป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์

บัณฑิตทุกสาขามีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกันคือ ความเป็นบัณฑิต เราต้องการให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตทุกคน จากทุกมหาวิทยาลัย จากทุกสาขาวิชา ทุกคนเป็นบัณฑิต คือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงาม และรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคม แต่บัณฑิตแต่ละคนนั้นก็มีความต่างกัน กล่าวคือ แต่ละคนมีอุปกรณ์เฉพาะตัวที่จะทำอะไรได้พิเศษกว่าคนอื่นๆ ได้แก่วิชาเฉพาะชำนาญพิเศษด้านนั้นๆ เช่น มีวิทยาศาสตร์เป็นอุปกรณ์ประจำตัว เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

ถ้าเราผลิตบัณฑิตในลักษณะที่กล่าวมานี้ได้ ผลจะส่งย้อนกลับมาเป็นปัจจัยเชิงวงจรในทางสังคม ให้เราพัฒนาสร้างสรรค์คนไทยที่มีความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจได้ด้วย เพราะวงจรนี้มาจากจุดเริ่มได้หลายทาง จะมาจากปลายก็ได้ มาจากต้นก็ได้ เนื่องจากตัวแปรด้านโน้นด้านนี้ การผลิตบัณฑิตต้องมีความมุ่งหมายหรือเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือ การที่จะสร้างบุคคลอย่างนี้ที่เป็นบัณฑิตในความหมายที่แท้ และเมื่อบัณฑิตพวกนี้จบไปแล้ว วงจรก็จะผวนให้เขามีลูก และลูกศิษย์เป็นต้น ที่มีความใฝ่รู้บริสุทธิ์แบบที่จะพัฒนา pure science ได้ รวมความว่า นักวิทยา­ศาสตร์ที่เป็นบัณฑิตก็จะมีความเป็นผู้นำในสังคมไทย ที่จะนำสังคมนั้นไปสู่การพัฒนาก้าวหน้า โดยมีวิชาวิทยาศาสตร์เป็นอุปกรณ์ในการทำงานของตนเองไปพร้อม

ญ. นโยบายของรัฐควรต้องเน้น
การส่งเสริมวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์

องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งก็คือรัฐ รัฐจะต้องเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในฐานะที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี จะต้องส่งเสริมให้ถูกทิศทาง โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น เห็นแก่ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ได้มาทางอุตสาหกรรม จะมุ่งแต่ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมไม่ได้

ถ้าไม่ได้สร้างวิทยาศาสตร์เป็นฐานไว้ให้ดี แล้วจะพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาวได้อย่างไร เพราะวิทยาศาสตร์เป็นฐานแก่เทคโนโลยี ตัวเองอยากจะเป็นนิกส์ อยากจะเจริญด้วยอุตสาหกรรม ถ้าไปมุ่งพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ก็จะต้องไปรับเทคโนโลยีสำเร็จรูปจากเขามาโดยไม่ได้เป็นผู้ผลิตสักที เป็นแต่ผู้บริโภคเทคโนโลยี ถ้าจะผลิตเทคโนโลยี ก็ต้องส่งเสริมวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ขึ้นมา แล้วต่อจากนั้น เมื่อวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เจริญก้าวหน้าขึ้นมา ก็จะเป็นฐานให้เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปด้วย

แต่ทั้งนี้เราก็คงจะต้องเข้าสู่หลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า การพัฒนาทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ คือเพื่อส่งเสริมและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงาม เพราะปัญหาในปัจจุบันนี้ได้ฟ้องแก่มนุษยชาติแล้วว่า ถ้าเราขืนปล่อยตัวไปตามวิถีของการใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติเพื่อจะไปพิชิตธรรมชาติ และหาผลประโยชน์สร้างวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเรื่อยไป ธรรมชาติแวดล้อมของโลกนี้ ก็จะดำรงอยู่ไม่ไหว

ตอนนี้ก็ได้เกิดความตระหนักรู้กันขึ้นทั่วไป และพูดกันไปทั่วว่าปัญหาของโลกเวลานี้จะต้องแก้ด้วย sustainable development คือการพัฒนาแบบที่จะพากันไปรอดได้ คือโลกมนุษย์ก็อยู่ดี โลกธรรมชาติก็อยู่ได้ แต่ sustainable development นั้น จะแก้ปัญหาของโลกได้ ก็ต้องเข้าถึงการแก้ปัญหาในขั้นรากฐานนี้ด้วย ซึ่งได้บอกมาจนถึงรายละเอียดที่ว่า แม้แต่ความใฝ่รู้บริสุทธิ์อย่างเดียว ก็ยังไม่เพียงพอตามแนว​ทางของพุทธศาสนา จะต้องมีความใฝ่รู้เพื่อเอาความรู้นั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ดังที่กล่าวมาแล้วด้วย

อาตมาได้กล่าวเรื่องนี้มามากมาย เป็นเวลายาวนานเหลือเกิน เกินเวลาไปนักหนาแล้ว ก็คิดว่าควรจะหยุดได้ เท่าที่บรรยายมานี้ก็ได้พูดไปในฐานะบุคคลที่อยู่นอกวงการวิทยาศาสตร์ มีความรู้วิทยาศาสตร์เพียงในขั้นที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น layman ที่จริงตัวเองเป็นพระ แต่ในแง่ของวิชาการ เขาเรียกคนที่ไม่ได้เรียนรู้จริงในทางนั้น ซึ่งเขาถือเป็นคนนอก ว่าเป็น layman หมายความว่าเป็นเหมือนชาวบ้านในหมู่ของนักวิทยาศาสตร์ จะพูดผิดพูดถูกก็ขอประทานอภัยด้วย แต่ก็ถือตัวว่ามีหลักอยู่อย่างหนึ่งคือความหวังดีต่อกัน

พร้อมนี้ก็ขออนุโมทนาที่ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ได้ให้โอกาสนิมนต์มาพูด มาแสดงข้อคิดเห็น เหมือนกับให้มาช่วยกันมอง มาช่วยกันให้ข้อคิดเห็น เพื่อความเจริญงอกงาม ในการที่จะทำงานของเราด้วยความสุขุมรอบคอบ รอบด้านยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์เดียวกันอันเป็น​การมุ่งผลสุดท้าย คือความดีงาม และประโยชน์สุขของสังคมไทย พร้อมทั้งมนุษยชาติส่วนรวม อาตมาขออนุโมทนาทุกท่าน และขอยุติการปาฐกถาครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร

1ปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๔
2สมัยนั้นใช้ จ.ศ. คือ จุลศักราช แต่ในที่นี้ พูดให้ได้ความรู้สึก โดยเทียบเอา
3Encyclopaedia Britannica, 15th ed. (1988), s.v. "Science, the History of," by L. Pearce Williams (vol. 27), p. 37.
4Sir Arthur Stanley Eddington, The Nature of the Physical World (New York: Macmillan, 1929), p. 282.
5เช่น Funk & Wagnalls New Encyclopedia (1986), s.v. "Relativity," by George Gamow and Lawrence A. Bornstein (vol. 22), p. 178.
6ธรรมนิยามสูตร หรือ อุปปาทสูตร, องฺ.ติก. ๒๐/๕๗๖/๓๖๘
7เช่น นตุมหสูตร, สํ.นิ. ๑๖/๑๔๔/๗๗
8กาลามสูตร หรือ เกสปุตติยสูตร, องฺ.ติก. ๒๐/๕๐๕/๒๔๑
9นัย ปริยายสูตร, สํ.สฬ. ๑๘/๒๓๙-๒๔๒/๑๗๓-๑๗๖
10มหาปทานสูตร, ที.ม. ๑๐/๒๖/๑๗
11นาคสูตร, องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖; อุทายิเถรคาถา, ขุ.เถร. ๒๖/๓๘๔/๓๖๗
12พุทธวรรค, ขุ.ธ. ๒๕/๒๔/๔๐-๔๑
13สีสปาสูตร, สํ.ม. ๑๙/๑๗๑๒-๓/๕๔๘-๙
14จูฬมาลุงกโยวาทสูตร, ม.ม. ๑๓/๑๕๐-๑๕๒/๑๔๗-๑๕๓
15อรรถกถามหาปทานสูตร, ที.อ. ๒/๓๔; วิปากุทธารกถา, สงฺคณี อ. ๔๐๘
16วาเสฏฐสูตร, ขุ.สุ. ๒๕/๓๘๒/๔๕๗
17ปุพพโกฏฐกสูตร, สํ.ม. ๑๙/๙๘๔-๕/๒๙๒
18ภยเภรวสูตร, ม.มู. ๑๒/๔๕/๓๖
19เทฺวธาวิตักกสูตร, ม.มู. ๑๒/๒๕๒/๒๓๒
20จังกีสูตร, ม.ม. ๑๓/๖๕๗-๘/๖๐๒-๕; วีมังสกสูตร, ม.มู. ๑๒/๕๓๕-๙/๕๗๖-๕๘๐
21นัย ปริยายสูตร, สํ.สฬ. ๑๘/๒๓๙-๒๔๒/๑๗๓-๑๗๖
22Sir Arthur Stanley Eddington, The Nature of the Physical World (New York: Macmillan, 1929), p. 282.
23Max Planck, "The Mystery of Our Being," in Quantum Questions, ed. Ken Wilber (Boston: New Science Library, 1984), p. 153.
24Sir James Jeans, The Mysterious Universe (Cambridge University Press, 1931), p. 111.
25Roger Penrose, The Emperor's New Mind (New York: Penguin Books USA Inc., 1991).
26Heinz R. Pagels, The Dreams of Reason: The Computer and the Rise of the Sciences of Complexity (New York: Bantam Books, 1989).
27Fritjof Capra, The Tao of Physics (London: Fontana Paperbacks, 1983).
28Fritjof Capra, The Turning Point (London: Fontana Paperbacks, 1982).
29Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 40.
30Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 46, 52.
31Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 39.
32Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 38.
33Sir Arthur Stanley Eddington, "Defense of Mysticism," in Quantum Questions, ed. Ken Wilber (Boston: New Science Library, 1984), p. 208.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.