ชาวพุทธที่เป็นนิสิตนักศึกษาทั้งหลาย
อาตมาขออนุโมทนา คือ แสดงความชื่นชมยินดีต่อท่านทั้งหลาย ในการที่นิสิตนักศึกษาชาวพุทธ หลายถิ่นหลายสถาบัน ได้มาพบปะพร้อมกันในครั้งนี้ การมาพบปะพร้อมเพรียงกันของคนดี ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิริมงคล คือ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความดีงามและความเจริญก้าวหน้า และวันนี้ก็เป็นวันหยุด วันเฉลิมพระชนมพรรษา การที่ได้ใช้วันหยุดในทางที่ดีงามก็เป็นการเพิ่มพูนสิริมงคลนั้น เป็นการย้ำถึงการกระทำความดีมากยิ่งขึ้น
หัวข้อที่ตั้งกันไว้สำหรับอาตมาจะพูดในวันนี้ เป็นหัวข้อที่มีความหมายกว้างขวางมาก บอกว่า ศาสนากับชีวิตและสังคม
ธรรมดาแล้วศาสนาก็เป็นเรื่องของชีวิตและสังคม ศาสนาเกิดขึ้นก็ด้วยชีวิตและสังคมนี่เองต้องการ เช่น อย่างน้อยชีวิตก็ต้องการศาสนาไว้ปลอบใจ หรือพูดอย่างรวบยอด ก็คือ แก้ไขทุกข์ทั้งหลาย และสังคมก็ต้องการศาสนา อย่างน้อยเพื่อให้มีหลักสำหรับให้คนทั้งหลายอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคม ซึ่ง จากสาระสำคัญนี้ เราสามารถพูดขยายความออกไปได้หลายแง่หลายอย่าง
อย่างไรก็ดี ศัพท์ว่าศาสนาก็ดี สังคมก็ดี ที่เราใช้กันอยู่และเข้าใจกันอยู่นั้น เป็นความหมายหรือศัพท์แบบสมัยใหม่ แม้แต่คำว่า "ศาสนา" ก็ใช้ไม่เหมือนกันทีเดียวกับคำเดิมที่พระพุทธเจ้าใช้ แม้จะมีแง่ความหมายส่วนหนึ่งที่เหมือนกันอยู่เป็นแกน หรือเป็นหลักแล้ว ขยายความจากนั้นกว้างออกไป แต่คำว่า ‘ศาสนา’ ก็ยังไม่ห่างไกลนัก
ส่วนคำว่า ชีวิตและสังคม รู้สึกว่าเป็นคำสมัยใหม่มากสักหน่อย โดยเฉพาะสังคมนี้ก็เป็นศัพท์ที่ใช้กันในสมัยปัจจุบัน ถ้าเราหันไปมองคำสอนของพระพุทธศาสนา ลองค้นดูคำว่า สังคม อยู่ที่ไหนกัน ก็มีบ้าง เช่น อย่างที่บอกว่า ทุกฺโข พาเลหิ สงฺคโม1
สงฺคโม ก็คือ สังคม แต่คำสังคมในภาษาบาลี ท่านแปลว่า การไปอยู่ร่วม หรือการไปคบกัน
ข้อความนี้แปลว่า การเกี่ยวข้องกับคนพาลทั้งหลายเป็นทุกข์ อย่างในพุทธภาษิตนี้ ความหมายของสังคมก็เป็นศัพท์ธรรมดาไป ในสมัยพุทธกาล สงฺคโม ไม่ได้มีความหมายกว้างอย่างปัจจุบัน
ในเมื่อศัพท์เหล่านี้เป็นคำสมัยใหม่เสียแล้ว ก็ไม่ต้องไปค้นเรื่องศัพท์กันละ เราลองไปค้นดูหลักการของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันดีกว่า มีวิธีค้นได้หลายอย่าง อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างง่ายหน่อย ก็คือ ที่เราสวดพุทธคุณกันบ่อยๆ อย่างง่ายๆ ว่า อรหํ สัมมา สัมพุทโธ ภควา พุทธัง ภควันตัง อภิวาเทมิ หรือจะสวดอย่างเต็มตามแบบแท้ๆ ก็ว่า อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมา เรื่อยไปจนถึง ภควาติ อันนี้ก็เป็นบทพุทธคุณ แต่ว่าพุทธคุณนี้มีถึง ๙ ข้อ เราไม่ต้องมาพรรณนากันว่ามีอะไรบ้าง เพราะสวดกันอยู่เสมอ แต่ลองมาพิจารณาสาระของพุทธคุณเหล่านี้ ท่านบอกว่าที่จริงพุทธคุณนี้ แม้จะมีมากมายอย่างที่สรุปมาทีหนึ่งแล้วเป็น ๙ แต่จะสรุปให้ย่อลงไปอีกก็ได้ สรุปง่ายๆ มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ อัตตหิตสมบัติ กับ ปรัตถปฏิบัติ
อัตตหิตสมบัติ แปลว่า ความพรั่งพร้อมแห่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน อันนี้แปลตามรูปศัพท์
ปรัตถปฏิบัติ แปลว่า การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
พุทธคุณทั้งหมดก็สรุปได้แค่นี้ พอพูดมาถึงตรงนี้ ก็จะมีแง่ใกล้เคียงกับเรื่องชีวิตและสังคม ชักพอมองเห็นแล้วว่าหลักการของพระพุทธศาสนาตั้งแต่พุทธคุณไปทีเดียว ก็มีเรื่องนี้ คือ มีอัตตหิตสมบัติ ความพรั่งพร้อมแห่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน เช่น มีคุณธรรมพรั่งพร้อม มีสติปัญญาที่จะพึ่งพาตัวเองได้ พูดตามสำนวนปัจจุบันก็คือ เรื่องของชีวิตซึ่งเป็นตัวบุคคลอย่างหนึ่งและอีกด้านหนึ่ง ปรัตถปฏิบัติ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็คือ เรื่องของสังคม
อันนี้เราอาจจะขยายความต่อไปอีก บอกว่า ในอัตตหิตสมบัติ ที่ว่าประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนนั้นมีอะไรบ้าง แล้วท่านก็ขยายต่อไป บอกว่าประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา หรือสิ่งที่เป็นจุดหมายของชีวิตมนุษย์ เราแบ่งได้ ๓ ขั้น คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ (หรืออย่างที่เราเรียกให้ยาวออกไป โดยเอาภาษาไทยเข้าไปปน เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ แต่ความจริงบาลีก็คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะเท่านั้น) อรรถะที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ที่เป็นปัจจุบัน หรือที่มองเห็นๆ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง การมีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้ ยังชีพได้ มีความเป็นอยู่ดี มีฐานะในสังคม มีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น
ต่อไปคือ สัมปรายิกัตถะ เป็นขั้นที่ ๒ คือ ประโยชน์ที่เป็นขั้นเบื้องหน้า หรือเบื้องสูงขึ้นไป ที่เป็นหลักประกันชีวิตในอนาคต หรือตลอดไปจนกระทั่งภพหน้า ได้แก่ ประโยชน์ทางจิตใจ ความมั่นใจในคุณธรรม ความดีงาม คือ มีศรัทธา มีศีล มีความประพฤติดีงาม มีจาคะ มีความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อกูล แก่ผู้อื่น มีปัญญา จากนั้นก็ไปถึงประโยชน์ขั้นสุดท้าย คือ ปรมัตถ์ ประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ความมีจิตใจเป็นอิสระ หลุดพ้นจากทุกข์และกิเลสทั้งปวง
อันที่จริงที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่เราได้เรียนรู้กันมาประโยชน์ ๓ ขั้นนั้นก็ซอยออกไปจากอัตตหิตสมบัติ--ประโยชน์ส่วนตน ส่วนปรัตถปฏิบัติ--การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ก็คือ เพื่อประโยชน์เหล่านี้แหละ
คำว่า 'ให้เกิดแก่ผู้อื่น' สำนวนในปัจจุบันก็คือ ให้ประโยชน์เกิดขึ้นแก่สังคม ให้สังคมมีประโยชน์พรั่งพร้อมทั้ง ๓ ประการ ทั้ง ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ นี้ก็แสดงถึงแนวคิดทางพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคม
ทีนี้ สืบลึกลงไปอีก ท่านบอกว่า คุณคือสมบัติและปฏิบัติสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกันกับหลักธรรมใหญ่ๆ อยู่ ๒ ประการ และพุทธคุณที่ว่าเป็นอัตตหิตสมบัติและปรัตถปฏิบัติ ก็มาจากธรรม ๒ ประการนี้
ข้อที่ ๑ คือ ปัญญา ความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
ข้อที่ ๒ คือ กรุณา ความมีจิตหวั่นไหวเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์ พร้อมที่จะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์
สรุปว่า พุทธคุณ ถ้าพูดในแง่ของตัวธรรมะที่เป็นแกนเป็นแหล่งที่มาของการปฏิบัติกิจการ ก็มีปัญญา และกรุณา พุทธคุณ ก็สรุปลงไปได้เป็น ๒ ข้อ ตอนหลังเราเพิ่มวิสุทธิคุณเข้าไปอีกข้อหนึ่ง หรือใครจะเพิ่มอะไรเข้าไปอีกก็ได้ ในเมืองไทยนิยมเพิ่มวิสุทธิคุณเข้าไปเป็น ๓ แต่ว่าตัวหลักแท้ๆ ก็มี ๒ คือ ปัญญาคุณ กับกรุณาคุณ นี่ของแท้และดั้งเดิม เป็นคุณธรรมหลักของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธในฐานะที่เป็นพุทธสาวกก็ดำเนินตามพระพุทธจริยาวัตรนี้ในการที่สร้างเสริมคุณธรรมหลักสำคัญ คือ ปัญญาและกรุณา
ควรสังเกตด้วยว่า คุณธรรม ๒ อย่างนี้มีความสำคัญมาก ถึงขั้นที่เป็นข้อแสดงความแตกต่างระหว่างสองนิกายใหญ่ของพระพุทธศาสนา คือ พุทธศาสนาเถรวาทอย่างที่เรานับถือกันนี้ มีปราชญ์มากมายบอกว่า เป็นนิกายที่เน้นคุณธรรมข้อปัญญา ทุกคนจะต้องเพียรพยายามฝึกอบรมปัญญา เพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาด้วยเรี่ยวแรงของตน ส่วนนิกายมหายานเน้นคุณธรรมข้อกรุณา ถือว่าจะต้องพยายามช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ตามคติพระโพธิสัตว์
คติพระโพธิสัตว์ถือว่า ถ้าหากคนอื่นยังไม่บรรลุ ไม่เข้าถึงนิพพาน ยังไม่พ้นจากบ่วงแห่งความทุกข์แล้ว ตัวเราเองก็จะไม่ยอมเข้าถึงความหลุดพ้นนั้น นี่เรียกว่า ยึดขยายกันออกไป ก็เกิดเป็นนิกายที่เรียกว่า ‘มหายาน’ ขึ้น เราถือว่า ๒ นิกายพุทธศาสนานี่เน้นคนละอย่าง เน้นปัญญาไปด้านหนึ่ง เน้นกรุณาไปอีกด้านหนึ่ง จากการที่เน้นต่างกันนี้ ก็ทำให้เกิดความแตกต่างกันขึ้นทั้งในหลักการปลีกย่อย ทั้งในด้านรูปแบบต่างๆ ขยายออกไปมากมายเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม การแตกแยกอันนี้ก็เป็นคติเตือนใจเราว่า เราจะต้องทบทวนกันเสมอๆ ว่าอันที่จริงแล้ว ธรรมะที่เป็นหลักเป็นคุณของพระพุทธเจ้าก็มีทั้ง ๒ ประการนี้ การที่จะเน้นไปข้างเดียวๆ จนเกินไปนั้น นานไปมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาจนกระทั่งแยกนิกายกันได้เป็นต้น เมื่อเน้นจนเกินไปด้านใดด้านหนึ่งแล้ว มันก็เกิดความบกพร่องด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย อาจจะไปเสียอัตตหิตสมบัติ หรือไปเสียด้านปรัตถปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธเองที่จะต้องมาพิจารณาสำรวจว่า หลักธรรมทั้ง ๒ ด้านนี่จะต้องพยายามทำให้บริบูรณ์ และพยายามที่จะไม่ให้เสื่อมเสียไปด้านใดด้านหนึ่ง
เรื่องการเน้นเกินไปจนกระทั่งเกิดการประพฤติปฏิบัติอะไรต่างๆ นี้ ถ้าเรารู้จักอาศัยภาพที่คนอื่นเขามองดูเรา บางทีก็ช่วยได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างในเรื่องฝ่ายเถรวาท พุทธศาสนาเถรวาทโดยมากอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถวๆ ประเทศไทย พม่า เขมร ลาว ที่เดี๋ยวนี้ก็เกิดสงสัยว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็ไปลังกา ที่ถือว่าได้รับก่อน
ทีนี้ เรามองดูว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไรต่อเรา ลองมองดูพวกตะวันตก เพราะพวกนี้นับถือศาสนาอื่นเป็นส่วนมาก แล้วก็ต่างวัฒนธรรม ต่างอารยธรรม ดูว่าในช่วงเวลาไม่นานมานี้ที่เขามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเรา เขามองเราอย่างไร ภาพที่เขามองประเทศไทยนี่หรือเอเชียอาคเนย์ทั้งหมด
ด้านหนึ่ง เขามองไปที่เรื่องการประพฤติปฏิบัติ การแสวงหาการบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ ด้านนี้ก็ปรากฏว่า มีพวกชาวตะวันตกไม่น้อยเลยมีความตื่นเต้น และได้มองเห็นเมืองไทยว่ามีความเจริญในด้านนี้ เราก็เอามาพูดมาภูมิใจกันว่า พระพุทธศาสนาของเราที่นับถือนั้น มีคนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม เลื่อมใส แสดงว่าเรามีของดีแน่
ชาวต่างชาติเหล่านี้ไปอยู่ในป่าในเขาก็หลายท่าน มีสำนักที่เป็นพระต่างประเทศล้วนๆ อยู่ในเมืองไทย ถึงกับเจ้าอาวาสเป็นพระฝรั่ง2 ก็มี และคำสอนเหล่านี้ก็ยังแพร่หลายไปในทางตะวันตก ฝรั่งมาเล่าเรียนไป มาปฏิบัติ มาบวชพระ ไปแล้วกลับไปประเทศของตน บางทีถึงแม้จะสึกไปแล้ว แกก็ไปตั้งสำนักกัมมัฏฐาน3 สอนในอเมริกาก็มี อันนี้เป็นข้อที่น่าชื่นชม
แต่มองไปอีกด้านหนึ่ง พวกที่มองทางด้านสังคมในช่วง ๑๐ หรือ ๒๐ ปีมานี้ ในด้านนี้จะปรากฏคำติเตียนพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย การริเริ่มในทางติเตียนนี้มีนานหลายสิบปีแล้ว เช่น นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงชื่อ แมกซ์ เวเบอร์ แต่ว่าในช่วง ๑๐ กว่า ๒๐ ปีนี้ก็เด่น ตัวอย่างเช่น เมื่อตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่สอนในระดับปริญญาขั้นสูงเหนือกว่าปริญญาตรี ตอนนั้นได้มีโครงการร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกาและอาจารย์ในเมืองนอก ก็มาร่วมช่วยเหลือในการริเริ่ม ท่านเหล่านี้ก็ได้มาพิจารณาสำรวจสถาบันต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานอะไรต่ออะไรของประเทศไทย ว่าจะเกื้อกูลแก่การพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะในการจัดสรรการปกครองประเทศนี้ให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง
มีท่านหนึ่งได้เขียนหนังสือไว้ คือ ศาสตราจารย์ซัทตัน เมื่อท่านกลับไปแล้ว หนังสือก็ออกมาปรากฏว่า ได้ติเตียนพุทธศาสนาอย่างมากมาย ว่าเป็นตัวการสำคัญขัดขวางการพัฒนาประเทศไทย ท่านผู้นี้นอกจากได้แสดงข้อสังเกตของตนเองแล้ว ก็ได้อ้างคำสอนของนักปราชญ์ เช่น อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์เยอรมัน เป็นบาทหลวงที่มีชื่อเสียง ได้วิเคราะห์หลักคำสอนในพุทธศาสนาไว้ว่า เป็นไปในทางที่ขัดขวางความเจริญ
หลังจากนั้นก็ยังมีหนังสือเป็นพวกตำรับตำราก็มี ที่กล่าวตำหนิติเตียนพุทธศาสนาในแง่ของสังคมนี้อีกหลายเล่ม คำตำหนิติเตียนเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาไม่เกื้อกูลหรือขัดถ่วงต่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยอ้างคำสอนที่สำคัญทั้งสิ้น เช่นว่า พุทธศาสนานี้สอนให้คนมีท่าทีแห่งการปลีกตัวหลีกลี้หลบหนีออกจากสังคม ไม่สู้สังคม ไม่เข้าร่วมแก้ไขปัญหา แต่พยายามปลีกตัวหนีหลบออกไป เป็นท่าทีที่ไม่เกื้อกูลแก่การแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ
แล้วคำสอนอย่างที่สอนกันอยู่ อย่างที่เชื่อกันอยู่ (คำสอนแท้จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่) ก็สอนให้คนละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ ที่ว่าละชั่วนั้น เอาละ...ชั่วก็ละชั่ว แต่ว่าทำดีนั้นทำอย่างไร ว่าทำดี ก็คือเว้นชั่วว่างั้น ว่าพระพุทธศาสนาได้แค่นั้น เช่น เขายกตัวอย่างคำสอนในมรรค สัมมาวาจาเป็นไฉน นี้เป็นข้อความในบาลี คำจำกัดความในบาลีก็บอกว่า สัมมาวาจาก็คือเว้นจากพูดปด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดคำส่อเสียด เว้นจากคำพูดเพ้อเจ้อ แค่นี้คือดีแล้ว ก็หมายความว่า พูดดีในพุทธศาสนา ก็แค่ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ทำดีก็แค่นั้น ว่าสัมมากัมมันตะ ทำชอบ การงานชอบคืออะไร เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิฉาจาร ก็เท่านั้น เว้นชั่วคือทำดี ทำดีคือแค่เว้นชั่ว ไม่ช่วยให้ชาวพุทธได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องในทางสร้างสรรค์ แค่ว่า เว้นชั่วได้เท่านั้นเอง
อ้อ...ที่สอนให้ทำดีก็ยังมีบ้าง คือ หลักพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่เมตตาทำอะไรก็บอกว่าให้แผ่เมตตา ก็แค่มานอนแผ่เมตตาอยู่ ไม่ได้สอนให้เข้าไปช่วยสังคม ไม่ได้ไปลงมือลงแรงทำการอะไร สอนได้แค่ว่านั่งแผ่เมตตาอยู่ในห้อง นี่คือดีของพุทธศาสนาแล้ว ฉะนั้น อย่างนี้ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคมอะไรได้เลย
ทีนี้ เขาก็ว่าต่อไป หลักกรรม พระพุทธศาสนาก็สอนให้เห็นว่า คนที่เขาได้รับผลร้ายเกิดมาไม่ดี ยากจน มีโรคภัยไข้เจ็บพิการมา ก็เป็นเพราะผลกรรมของเขาแต่ชาติก่อน เมื่อมันเป็นกรรมของเขา เราก็วางอุเบกขา ก็วางเฉยเสีย ก็มันเป็นกรรมของเขาเองนี่ อุเบกขาในพรหมวิหารบอกว่า ไม่ยินดียินร้ายในการที่ผู้อื่นประสบความวิบัติใช่ใหมละ อ้าว...ก็เขาประสบความวิบัติ เพราะเกิดมาไม่ดี ก็เป็นกรรมของเขา เขาประสบความวิบัติ เราก็ไม่ยินดียินร้ายก็วางเฉย
รวมแล้วพุทธศาสนานี่ไม่เกื้อกูลแก่การพัฒนาประเทศชาติ ไม่ให้คนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เอาตัวรอดคนเดียว อะไรต่ออะไรเขาก็ว่าไป แม้แต่คำสอนเรื่อง สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง นาญ โญ อัญญัง วิโสธเย ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ เขาก็ไปอ้างให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานี่เอาแต่ตัวรอดคนเดียว ไม่ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ทีนี้ ชาวพุทธเราได้ยินก็มีปฏิกิริยา บางท่านก็ได้ว่ากล่าวตอบโต้ บ้างก็ถึงกับใช้คำหยาบหรือถึงกับด่าเขา อย่างท่านซัทตัน ถูกด่ามาก มีผู้นำในหมู่ชาวพุทธบางท่านก็เขียนด่าอย่างแรงๆ ตอนหลังจากนั้นมาพวกเราก็ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ลืมไปเสียเลย
ขอให้มาพิจารณาตามที่ว่านี้ เสียงของคนที่เขามองดูเรานี่ เป็นสิ่งที่เราควรจะนำมารับฟังและก็พิจารณาตนเอง บางทีเราอาจจะปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็ได้ พระพุทธเจ้าสอนเราอยู่แล้วให้รับฟังคำตำหนิติว่า อย่างในพรหมชาลสูตร นี่ก็เป็นพระสูตรแรกเลย พระสูตรแรกในบรรดาพระสูตรทั้งหลายในพระสุตตันตปิฎก คือ เล่มที่ ๙ ท่านบอกแล้วว่า ถ้าผู้อื่นมาติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็ให้เราฟังด้วยจิตใจที่มั่นคง ไม่วู่วาม ไม่เที่ยวเร่าร้อนไป ให้พิจารณา อะไรที่มันไม่ถูกต้องก็ให้แก้ไขไป ตอบชี้แจงไปตามความเป็นจริง นี้เป็นตัวอย่างยกมาให้เห็นถึงแง่ที่มันเกิดปัญหาขึ้นมา เอาละ…นี่ก็เลยพูดขยายออกไปจากเรื่องพระคุณของพระพุทธเจ้า
รวมแล้วก็คือว่า หน้าที่ของชาวพุทธที่จะดำเนินตามพุทธจริยาวัตรนั้น ก็ได้แก่เรื่องอัตตหิตสมบัติและปรัตถปฏิบัติ ซึ่งมีธรรมะที่เป็นแกน เป็นมูลฐาน คือ ปัญญากับกรุณา ปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญในเรื่องของชีวิตของเรา การที่จะทำให้หลุดพ้นในขั้นสำเร็จกิจสำเร็จการก็อยู่ที่ปัญญา ทำให้เกิดอัตตหิตสมบัติ ซึ่งในขั้นสุดท้าย แม้แต่ศัพท์วิชาจำเพาะ เราก็ใช้คำว่า ปัญญาในรูปแบบต่างๆ เช่น วิปัสสนา หมายถึง ปัญญาที่รู้เท่าทันสภาวธรรมตามความเป็นจริง รู้เท่าทันเรื่องขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ รู้ปฏิจจสมุปบาท อะไรอย่างนี้
อีกด้านหนึ่งก็คือ คุณธรรมข้อกรุณาเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลในทางสังคม หรือจะให้เราทำหน้าที่ในทางสังคมได้ ดำเนินปรัตถปฏิบัติได้ ปรัตถปฏิบัตินี้ ถ้าเรามองดูในหลักของพระพุทธศาสนา จะเห็นว่าท่านสอนเราอยู่เสมอให้นึกถึงเพื่อนมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายในฐานะเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น เพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขของเรานี้ มันมีลักษณะอย่างหนึ่งใช้ศัพท์สมัยใหม่ว่า มีพัฒนาการในต่างระดับกัน ล้าหลังบ้าง ก้าวหน้าบ้าง มีคุณธรรมมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งหมดนี้ล้วนมีลักษณะที่เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น ไม่ว่าเขาจะใช้ศัพท์ว่าชั่วกว่าดีกว่าก็ตาม แม้จะชั่ว เลวทรามอะไร มันก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน
ฉะนั้นท่าทีของเราเบื้องแรกในฐานะที่อยู่ร่วมกัน คุณธรรมคู่กับกรุณาก็คือมีเมตตาก่อน มีความเมตตาต่อกัน มีความรักมีความปรารถนาดี ต้องการให้กันและกันมีความสุข และเมื่อเขาประสบความทุกข์หรือเราประสบความสุขแล้ว คนอื่นยังมีคุณธรรมที่ล้าหลังกว่า เราก็มีกรุณาคิดจะช่วยเหลือ ถ้าเรามองด้วยความเข้าใจในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย และด้วยคุณธรรมคือเมตตากรุณาแล้ว เราก็วางใจได้ถูก ต้องมองเห็นว่าชุมชนตามหลักพุทธศาสนา อาจประกอบด้วยบุคคลหรือเอกชน หรืออะไรก็ตามที่มีความแตกต่างกันได้มากมาย ตั้งแต่คนชั่วเลวทรามต่ำช้าที่เรียกว่ามากมายอย่างยิ่ง จนกระทั่งถึงดีจนกระทั่งบริสุทธิ์ไปเป็นพระอรหันต์ ชุมชนทั้งหมดนี้ควรจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ทุกคนควรจะน้อมเอาเข้ามาในวงการพุทธศาสนาได้
เมื่ออยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงยังมีความแตกต่างกันไปได้มากมายในหมู่ชาวพุทธ แม้แต่ขั้นที่เป็นอุดมคติ ที่เราเรียกว่าเป็นอริยสงฆ์ หรือเดิมเรียกว่าเป็น สาวกสงฺโฆ (ศัพท์ว่าอริยสงฆ์นั้น เดิมท่านไม่ค่อยใช้หรอก ความจริงศัพท์เดิมที่ใช้ คือ สาวกสงฺโฆ แม้ในบทสวดสังฆคุณยังใช้ว่า สาวกสังโฆ)
สาวกสังโฆ หรือสาวกสงฆ์ นี่ก็ประกอบไปด้วยบุคคล ๔ ระดับ เราเรียกว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกทาคามี เป็นอนาคามี และเป็นอรหันต์ และแยกซอยออกไปในแต่ละขั้นเป็น ๒ ชั้นอีก รวมแล้วก็เป็น ๘ อย่างในบทสวดสังฆคุณนั้น สาวกสังโฆมีความหลากหลายอยู่ในตัว มีความแตกต่างให้เห็นว่าในความก้าวหน้าทางชีวิตจิตใจนี้มันไม่เท่าเทียมกัน แต่เราก็มีความเคารพรักซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน สงฆ์ในระดับสังคมท่านนำมาสร้างเป็นรูปแบบขึ้นเรียกว่า ภิกขุสังโฆ (ภิกขุสังโฆนี่สมัยหลังเราเรียกว่า สมมุติสงฆ์ สมมุติสงฆ์นี้ศัพท์เดิมไม่มี ในเมืองไทยเรามาเรียกว่าสมมุติสงฆ์ แต่เดิมมีสาวกหรือ สาวกสังโฆ กับภิกขุสังโฆ)
ภิกขุสังโฆนี่ก็เป็นสงฆ์ในรูปแบบสำหรับใช้เป็นเครื่องสร้างสงฆ์ในอุดมคติที่เป็นทางจิตใจให้เกิดขึ้น สงฆ์ในทางจิตใจที่แท้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่มีหลักปฏิบัติที่ออกมาเป็นรูปแบบก็ต้องอาศัยรูปแบบเป็นเครื่องช่วย ก็ได้ภิกขุสังโฆนี่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแกน ตัวรูปแบบที่จะมาช่วยหาทางสร้างสรรค์สาวกสังโฆที่เราเรียกว่าอริยสงฆ์ให้เกิดขึ้นต่อไป หรืออย่างน้อยเป็นหลักทางสังคมไว้ในระยะยาว และสงฆ์สองอย่างนี้ก็คาบเกี่ยวซึ่งกันและกัน ในแง่อริยสงฆ์หรือสาวกสงฆ์นั้น จะเป็นคนอยู่ในชีวิตอย่างไหนก็ได้ จะเป็นคฤหัสถ์ครองเรือน มีบุตรภรรยา เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ก็เป็นไป ส่วนพระภิกษุสงฆ์นั้นถึงแม้จะไม่ได้ครองเรือน แต่อาจเป็นปุถุชนก็ได้ หรืออาจเป็นอริยบุคคลจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องของรูปแบบที่สร้างกันขึ้น
แต่รวมแล้วก็คือ มีหลักแห่งความแตกต่างหลากหลายรวมอยู่ด้วยกัน แม้แต่ในอุบาสกอุบาสิกาก็มีต่างกันไปอีก อย่างพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร อุบาสก นอกจากแบ่งโดยความเป็นสาวกสังโฆระดับต่างๆ แล้ว ก็ยังแบ่งเป็นพวกพรหมจารี เป็นกามโภคี คือ เป็นพวกที่ถือพรหมจรรย์ก็มี เป็นผู้ที่ครองเรือนก็มี และผู้ที่บรรลุธรรมแล้วก็มี มีความหลากหลายไปอีก
พระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ที่ทำงานเก่งๆ มีคุณสมบัติพิเศษก็ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ เอตทัคคะในทางปัญญาบ้าง ในทางฤทธิ์บ้าง ในทางเป็นนักอยู่ป่าบ้าง ในทางเป็นพหูสูตบ้าง ความประพฤติปฏิบัติก็แตกต่างกันไป พระสารีบุตรส่วนมากอยู่เมือง พระมหากัสสปะส่วนมากอยู่ป่า ได้รับยกย่องว่า เป็นนักถือธุดงค์ หรืออย่างพระอานนท์นี่อยู่เมืองตลอดเลย แทบจะไม่เคยอยู่ป่า แต่ก็เป็นองค์สำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาสืบต่อมาได้ พระภิกษุทั้งหลายมีความแตกต่างกันไปตามความถนัด แม้บรรลุธรรมเป็นวิสุทธิบุคคลแล้วก็ดำเนินชีวิตไปต่างๆ
บางคราวมีผู้มายกย่องพระพุทธเจ้า บอกว่าพระองค์นี่ทรงเก่งเหลือเกิน ถือข้อปฏิบัตินี้เคร่งครัด ถือข้อปฏิบัตินั้นเคร่งครัด พระองค์ฉันอาหารน้อย สันโดษ ชอบอยู่สงัด จึงเป็นที่เคารพบูชาของหมู่สาวกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าท่านอย่ามายกย่องเราเลยในข้อปฏิบัติเหล่านี้ สาวกไม่ได้เคารพบูชาเพราะเรื่องเหล่านี้ดอก โน่น...สาวกองค์นั้นของเราถือปฏิบัติเคร่งครัดกว่าเราในเรื่องนี้อีก ส่วนข้อนั้นองค์นั้นก็เคร่งครัดเก่งกว่าเรา ถ้าจะเอาเรื่องฉันน้อย เรื่องอยู่ป่า เป็นต้นเป็นหลัก พระที่เคร่งเหล่านั้นก็คงไม่บูชาฉัน4 พระพุทธเจ้าไม่ว่าอะไร ข้อปฏิบัติบางอย่างก็ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่แตกต่างกันได้ บางอย่างแตกต่างกันไม่ได้ หมายความว่า ในความแตกต่างมากเหล่านี้มีหลักการบางอย่างที่เป็นแกนอยู่ หลักการที่เป็นแกนว่า ถ้าหากว่าเป็นชาวพุทธแล้วนะ ก็ควรมีอย่างนี้เป็นอย่างน้อย ต่อจากนั้นไปแล้วก็เป็นส่วนพิเศษ ใครจะถือได้ก็ดีก็ยกย่อง แต่ไม่ว่าอะไรกัน ไม่ถือเป็นผิดเป็นถูก หรือว่าใครดีกว่ากัน คงมีความเคารพซึ่งกันและกัน เพราะว่าการถือปฏิบัติเคร่งครัดหรือถือวัตรในเรื่องหนึ่ง อาจทำด้วยเหตุผลหลายอย่างต่างกัน
เราดูพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง การถือข้อปฏิบัติเคร่งครัด บางทีถือเพื่อฝึกตน บางทีก็เป็นเพราะท่านผู้นั้นเห็นว่าตัวเรามีความมัวเมามามากในด้านนี้ เราก็เลยถือวัตรข้อนี้ ปฏิบัติให้มันเคร่งครัดพิเศษ เพราะว่าเรานี่มันหนักไปทางนี้มาก เราต้องแก้โดยพยายามฝึกตัว ดัด หรือข่มให้หนักในเรื่องนี้ ส่วนคนอื่นเขาไม่ได้มีความมัวเมาในด้านนี้ เขาก็ปฏิบัติพอดีอยู่แล้วไม่ต้องถือ หรือเขาอาจไปเอาในทางด้านอื่นให้หนัก หรือว่าท่านที่บรรลุธรรมแล้ว ถ้าถือปฏิบัติเคร่งครัดอย่างพระมหากัสสปะ มีใครถามท่าน ท่านก็บอกว่าที่ท่านถือปฏิบัติเคร่งครัดอันนี้ ท่านไม่จำเป็นก็จริง แต่ท่านถือเพื่อประโยชน์ ปัจฉิมาชะนะตานุกัมปะมานะสา คือ ด้วยใจอนุเคราะห์แก่ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง คือ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชนรุ่นหลัง อันนี้หมายความว่าเพื่อประโยชน์แก่สังคมเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนอย่างหนึ่ง
ข้อปฏิบัติต่างๆ นั้นเราวางกันขึ้นตามแนวนี้ อย่างหนึ่งเพื่อฝึกตน อีกอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่ชุมชน เพื่อสังคม เพื่อความเรียบร้อยดีงามของหมู่คณะและส่วนรวม
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว บางที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติข้อปฏิบัติอะไร เพราะว่าท่านพ้นไปแล้ว แต่ท่านปฏิบัติเคร่งครัดเพราะท่านต้องการให้เป็นตัวอย่างไว้ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยอย่างนี้ เป็นต้น
ตัวอย่างความแตกต่างหลากหลายนี่เราเห็นมาก อย่างคฤหัสถ์ที่บรรลุธรรมเป็นโสดาบันเป็นอริยบุคคลอยู่ครองเรือนมีบุตรภรรยา แต่ว่าได้บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว แต่พระสงฆ์บางองค์ อาจจะไปอยู่ป่าตลอดชีวิต ได้ฌานสมาบัติก็อยู่แค่โลกียธรรมตลอดชีวิต ไม่ได้บรรลุโลกุตตรธรรมอะไร นี้ก็เป็นความแตกต่างหลากหลาย
แต่คฤหัสถ์ถึงจะเป็นพระอนาคามี เป็นพระอริยบุคคล ก็กราบไหว้พระสงฆ์ แม้จะเป็นปุถุชนที่กิเลสหนา อันนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่สังคม เราก็ต้องเข้าใจ เพราะว่าท่านที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นคฤหัสถ์ที่มีคุณธรรมสูงจิตใจสูงแล้ว ท่านก็ไม่ได้ถือเนื้อถือตัวอะไร แต่ไหว้พระปุถุชน อันนี้เพื่อยกย่องรูปแบบที่เป็นตัวแทนของคุณธรรมความดีไว้ เชิดชูสิ่งที่ควรจะเชิดชูไว้เป็นหน้าที่ของสังคมต่อไป นี่เป็นคติของชาวพุทธที่มีปฏิบัติกันมาแต่ดั้งเดิม
ในหมู่พระเอง ท่านก็มีปฏิบัติกันหลากหลาย บางองค์ถือวัตร ถือธุดงค์ ธุดงค์ก็คือข้อปฏิบัติพิเศษให้เคร่งครัด เช่น อยู่ป่า โคนไม้ เป็นต้น พระองค์อื่นรู้ก็ยกย่องให้เกียรติ เออ...ท่านองค์นี้ดี ท่านมีความประพฤติเคร่งครัดถือวัตรเป็นพิเศษ องค์ที่ถือก็ไม่ได้ว่าอะไรองค์อื่น ก็มีความยกย่องนับถือซึ่งกันและกัน หรืออย่างพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ก็กราบไหว้ภิกษุปุถุชนที่มีพรรษาสูงกว่า ส่วนในการงานก็เอาตามความสามารถ อันนี้คือชุมชนชาวพุทธที่เรารู้ว่ามีความแตกต่างหลากหลายในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย อาศัยเมตตา กรุณา มีคารวธรรม มีความรักเคารพกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มันก็ไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้น
เอาละ...อาตมาพูดในเรื่องนี้มาแล้วก็ขอพูดเลยไปอีกอย่างหนึ่งว่า ชาวพุทธเรานี้ แม้จะประพฤติปฏิบัติอะไรก็ต้องคอยสำรวจตนเอง เมื่อสำรวจตนเอง มองเห็นว่าได้ประพฤติปฏิบัติดีงามต่างๆ เราก็ย่อมมีความปีติเอิบอิ่มใจในสิ่งที่ได้ประพฤติปฏิบัตินั้น แต่เราต้องระวัง เราอาจเกิดลืมตัวไป ไปๆ มาๆ เราอาจจะเกิดมานะอหังการว่า เราดีกว่าคนอื่น เลยกลายเป็นอสัตบุรุษไป เราควรจะนึกเตือนตนไว้เสมอๆ ว่า ถึงเราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร เราก็สู้โจรองคุลีมาลไม่ได้ โจรองคุลีมาลนี้เป็นโจรร้าย ฆ่าฟันคนมามากมาย แต่มาวันหนึ่งแกมาพบพระพุทธเจ้าแล้วได้ฟังธรรม ก็เข้าใจ บรรลุธรรม ไปบวชเป็นพระอรหันต์ เรานี่ประพฤติดีแค่ไหน ก็สู้โจรองคุลีมาลไม่ได้สักคน นี้เป็นข้อเตือนใจไว้ คือ จะได้เป็นเครื่องระวังตัวไม่ให้มีความประมาท
ต่อไปนี้ ขอพูดถึงข้อสังเกตอย่างหนึ่ง อาตมาได้พูดถึงเรื่อง โลกุตตรธรรมและเรื่องโลกียธรรม ข้อสังเกตที่หนึ่ง อาตมาอยากจะเอาคำพูดสมัยใหม่ไปเทียบกับคติเรื่องโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม
มีคำพูดในภาษาไทยจะเอามาจากคติของเมืองไหนก็ไม่ทราบ ทำนองว่า ปลาที่มันปล่อยตัวลอยไปตามกระแสน้ำเป็นปลาตาย ส่วนปลาที่มันว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปเป็นปลาเป็น
คตินี้เอามาใช้กับโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมได้ เราบอกได้ว่าปลาตายก็ปล่อยตัวไหลไปตามโลกียธรรม ไหลเรื่อยไป เช่น ติดอยู่ในอบายมุขชั้นต้นๆ ติดกามคุณต่างๆ ตลอดถึงฌานสมาบัติที่เป็นโลกีย์ ติดในสมาธิอะไรต่างๆ ติดหลงตัวเองในการถือวัตรปฏิบัติเคร่งครัดเข้มงวดในเรื่องต่างๆ อันนี้เรายังถือว่าเป็นเรื่องโลกียธรรม ส่วนปลาเป็นก็ว่ายทวนกระแสไปหาโลกุตตรธรรม อันนั้นเป็นลักษณะของชาวพุทธ คือว่าจะต้องพยายามไปหาโลกุตตรธรรม
แต่ว่าเรื่องโลกียธรรม โลกุตตรธรรมนี่ อาตมาว่ามันมีปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจกันอยู่มาก เมื่อกี้ก็ได้พูดทีหนึ่งแล้ว ขอยกมาย้ำเช่นว่า คฤหัสถ์ที่อยู่ครองเรือนมีบุตรภรรยานี้ แกอาจจะเป็นโสดาบัน แกได้บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว ส่วนบางท่านไปอยู่ป่าบำเพ็ญฌานสมาบัติ ได้สมาธิขั้นสูงจนกระทั่งได้ฌานสมาบัติ ก็ยังเป็นโลกียธรรมอยู่นั่นแหละ เรื่องนี้มีมาก่อนพุทธกาลตั้งนาน ฤาษีชีไพรในสมัยก่อนพุทธกาลในชาดกมีมากมายไม่รู้กี่ร้อยๆ พวกฤาษีโยคีเหล่านี้ได้ฌานสมาบัติกัน ได้อภิญญา แต่ก็เป็นโลกียะ พวกนี้จะติดอยู่ในฌานในสมาบัติ มีฌานเป็นกีฬา คำว่า ฌานกีฬา ท่านใช้บ่อย คือ เล่นฌานเพราะสนุกกับฌาน ติด พอได้ฌานแล้วก็มีความสุข แกก็เลยติดฌานเพลินฌาน
พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ก็ได้ไปเรียนในสำนักโยคะ อย่างพวกอาฬารดาบสกาลามโคตร อุททกดาบสรามบุตร อาฬารดาบสนี่ท่านได้ถึงฌานสมาบัติขั้นที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะฌาน ท่านอุททกดาบสรามบุตรก็ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สมาบัติ ๘ ครบถ้วน พระพุทธเจ้าไปถึงสำนักเหล่านี้เรียนจบแล้ว ก็บอกว่าไม่เป็นทางแห่งความตรัสรู้ แล้วก็ละไป อันนี้เป็นคติที่เราจะต้องเอาไว้ระวังตัว แยกให้ถูกโลกียธรรม โลกุตตรธรรม
ในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ไปกันถึงขนาดว่า โลกียธรรมเป็นธรรมสำหรับชาวบ้านอยู่ครองเรือน แล้วก็สำหรับพัฒนาประเทศชาติ โลกุตตรธรรมเป็นธรรมสำหรับผู้ปลีกตัวออกจากบ้านเรือนไป ซึ่งนี่มันห่างไกลไปจากหลักมาก ที่จริงตรวจสอบหลักเพียงนิดเดียวก็รู้ มันไม่ใช่หลักที่หายากอะไร ในหลักธรรมท่านก็แสดงไว้มากมาย ไปๆ มาๆ จะต้องแยกความหมายเป็น ๒ อย่าง เป็นโลกุตตรธรรมภาษาไทยอย่างหนึ่ง ภาษาพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง
เหมือนอย่างที่เดี๋ยวนี้ เรามีคำว่า ‘มานะ’ ในภาษาไทย หมายถึงความเพียร ศัพท์ธรรมะหมายถึง ความถือตัว หรืออิจฉาแทนที่ จะแปลว่า ความอยาก ก็กลายเป็นความริษยา อะไรทำนองนี้ ต่อไปก็จะกลายเป็นว่าศัพท์ในภาษาไทยกับศัพท์ในภาษาธรรมห่างกันไปทุกที หลักการเหล่านี้ควรจะได้ตรวจสอบกันไว้
ทีนี้ ท่านบอกว่า ในเรื่องโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมนี้ สำหรับโลกียธรรมน่ะ จิตเป็นใหญ่ เราคงจะได้เคยได้ยินพระพุทธภาษิตบอกว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา--ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน สำเร็จด้วยใจ อะไรทำนองนี้ มีในธรรมบทคาถาแรกทีเดียว ใจเป็นใหญ่
แต่ในธรรมขั้นสูง ท่านบอกว่า
สพฺเพ ธมฺมา ปญฺญุตฺตรา
ธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นเยี่ยมยอด
อันนี้ท่านก็อธิบายบอกว่า นี่นะที่ว่าจิตเป็นใหญ่ คือ ในระดับโลกียธรรม จิตเป็นใหญ่ตามหลักของโลกียธรรม มนุษย์อาศัยจิตชักนำ อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากดี อยากทำในสิ่งที่ไม่ดี สนองปรนเปรอตน หรือว่าอะไรก็ตาม แต่ว่ามันอยู่ในขั้นโลกียธรรม จิตเป็นใหญ่ ส่วนในโลกุตตรธรรมลอยพ้นอำนาจความอยากนี้ต้องใช้ปัญญา ฉะนั้นในขั้นโลกุตตรธรรมนั้น ปัญญาเป็นใหญ่ เอาละ...นี่ก็เป็นเพียงข้อสังเกตเอามาพูดกัน
ตอนนี้ในเมื่อพูดถึงปัญญา เราก็มาพูดถึงเรื่องใกล้ตัว ใกล้ตัวที่สุด คือ ท่านนิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่มานั่งกันอยู่ ณ ที่นี้ นิสิต นักศึกษานี่ก็ถือว่าเป็นชนในระดับผู้นำทางปัญญา มีศัพท์ใหม่เรียกว่า ปัญญาชน ปัญญาชนก็แปลว่า ชนผู้มีปัญญา หรืออาจจะใช้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ เป็นผู้นำทางปัญญา การเป็นผู้นำทางปัญญานี้มีความสำคัญมาก ในขณะที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาก็มีความเป็นผู้นำนี้ เพราะเป็นที่เชื่อถือของคนเป็นจำนวนมากทีเดียว ว่าเป็นผู้มีภูมิความรู้สติปัญญาระดับสูง และที่สำคัญอีกตอนหนึ่ง คือเมื่อสำเร็จออกไปแล้ว ในอนาคตนิสิตนักศึกษาจะเป็นผู้นำของสังคมนี้ต่อไป เป็นผู้กำอนาคตของชาติ
ทีนี้ ถ้ามองแคบเข้ามา คือ นิสิตนักศึกษาชาวพุทธ ถ้าเราพูดถึงนิสิตนักศึกษาทั้งหลายว่าเป็นผู้นำทางปัญญาสำหรับสังคมส่วนรวม และเป็นผู้รับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศชาติ นิสิต นักศึกษาชาวพุทธเล่าจะเป็นอย่างไร นิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็ต้องเป็นผู้นำทางปัญญาของชาวพุทธทั้งหลาย แล้วก็จะเป็นผู้รับผิดชอบชะตากรรมของพระพุทธศาสนาต่อไปด้วย
ถ้ามองอย่างนี้แล้วก็จะเห็นว่า นิสิตนักศึกษานี่มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว และโดยเฉพาะท่านที่มานั่งอยู่ในที่นี้ ที่ว่าเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธนี่ ก็จะมีฐานะเป็นผู้นำในหมู่ชาวพุทธ เมื่อมีฐานะเป็นผู้นำของชาวพุทธก็จะต้องรับผิดชอบในการนำชาวพุทธไปในทางที่ถูกต้องแล้ว ก็จะต้องเตรียมพร้อมที่จะกุมชะตากรรมของสังคมพุทธต่อไป อาตมาว่า ข้อนี้เป็นจุดที่ควรจะได้ให้ความสำคัญ
ในการทำหน้าที่ผู้นำในหมู่ชาวพุทธและจะรับผิดชอบสังคมพุทธต่อไป หรือว่าจะรับผิดชอบอนาคตของพระพุทธศาสนานั้น หน้าที่บางอย่างที่ควรจะยกมาพูดก็เช่นอย่างที่อาตมาพูดเมื่อกี้ว่า มีความเข้าใจผิด มีความเชื่อผิดๆ หรืออย่างที่เรียกว่ามีภาพพจน์ผิดๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะในคนนอกในประเทศนี้ หรือคนนอกในต่างประเทศก็ตาม ในฐานะเป็นผู้นำในหมู่ชาวพุทธ นิสิตนักศึกษาน่าจะมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขสิ่งเหล่านี้และ เอาใจใส่ด้วย
เช่น ติดตามว่าวงการพระพุทธศาสนานี้เป็นอย่างไร อยู่ในภาวะเสื่อมหรือเจริญ คนข้างนอกเขามองดูเราอย่างไร แล้วควรแก้ไขอย่างไรให้มันถูกต้อง แม้แต่ภาพพจน์ต่อชุมชนย่อยๆ คือ ตัวเราเอง อาตมาเกิดความรู้สึกและก็ได้ยินได้ฟัง ก็ยังนึกอยู่ บางทีมีผู้มองว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ หรือชมรม ชุมนุมพุทธนี่เป็นส่วนที่แยกตัวออกไปภายในสถาบันเป็นกลุ่มต่างหาก มีระบบชีวิต ความประพฤติ ความเป็นอยู่แตกต่างจากเขา แตกต่างนั้นมีได้ทั้งดีและไม่ดี ถ้าแตกต่างในแง่เป็นที่น่าชื่นชมที่เขาควรจะเอาอย่าง หรืออย่างน้อยให้เขาเห็นว่าสำคัญ ถึงแม้เขาเอาอย่างไม่ได้ แต่ก็เป็นภาพพจน์ในทางที่เขาต้องยอมรับนับถือ นี่ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าแตกต่างในทางให้เขาเห็นประหลาด น่าตลก หรือเป็นตัวจำอวด ก็คงไม่ดี ถ้าภาพพจน์ไม่ดีก็ต้องเริ่มที่จะช่วยกันแก้ ในฐานะผู้นำในหมู่ชาวพุทธจะต้องช่วยกันแก้ไข
ภาพของชาวพุทธในขณะนี้เป็นอย่างไร ภาพต่อชาวพุทธ ต่อพุทธศาสนาของสังคมส่วนรวม เขามองเราอย่างไร เราจะต้องยอมรับว่ามีไม่น้อยที่เขามองไม่สู้ดี ในทางที่ไม่สู้น่าสบายใจ เมื่ออยู่ในระดับมหาวิทยาลัยหรือในวิทยาลัย สถาบันศึกษาใหญ่ๆ เราเป็นผู้นำชาวพุทธแล้ว ก็น่าจะแก้ไขปัญหานี้ในระดับสถาบันได้ก่อน แล้วจึงแก้ไปได้จนกระทั่งภายนอกทั่วๆ ไปด้วย นี้ก็เป็นข้อหนึ่ง คือ เรื่องแก้ไขความเข้าใจผิด ภาพพจน์ผิดๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา และเกี่ยวกับชาวพุทธ ซึ่งก็รวมอยู่ด้วยกัน
อีกเรื่องหนึ่ง คือ แก้ไขความประพฤติผิดๆ ในหมู่ชาวพุทธเอง อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของชาวพุทธส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยประโยชน์ส่วนตน อัตตหิตสมบัติ คือการที่จะฟื้นฟูชีวิตจิตใจของตนให้เจริญก้าวหน้าไว้ ส่วนนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ละเว้นไม่ได้ ความพรั่งพร้อมในคุณสมบัติส่วนตนเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอยู่เสมอ และก็ในหมู่ชาวพุทธนั้น อะไรที่เป็นหลักธรรมที่เป็นความประพฤติแกนกลาง ที่เป็นพื้นฐาน ก็ควรที่จะได้มีกันทั่วๆ ไป ส่วนที่เป็นความแตกต่างหลากหลายนั้น เราก็มีความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน ใครประพฤติได้อย่างไร เช่น ศีล กับ วัตร ศีล คือข้อปฏิบัติส่วนรวมที่เหมือนๆ กัน ที่ทุกคนควรจะมี วัตร คือ ข้อปฏิบัติให้เคร่งครัดเป็นพิเศษ ซึ่งบุคคลบางกลุ่ม บางคณะ หรือแม้แต่บางบุคคล ประพฤติให้เป็นพิเศษต่างจากคนอื่น เพื่อฝึกตนเองให้หนักพิเศษบ้างหรือเพื่อความมุ่งหมายประโยชน์แก่สังคมในบางแง่บางประการบ้าง เราก็แยกได้ว่า อะไรเป็นศีล อะไรเป็นวัตร แล้วก็มีความเคารพนับถือกันในทางที่ถูกต้อง
ก็มาถึงอีกเรื่องคือว่า เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบของนิสิตชาวพุทธ นักศึกษาชาวพุทธในฐานะที่เป็นผู้นำ นิสิตนักศึกษาชาวพุทธได้ตั้งกันเป็นกลุ่มขึ้นมาเรียกว่าชุมนุมบ้าง ชมรมบ้าง นี้มีความหมายเป็นอย่างไร คืออะไร
ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า กลุ่มหรือชุมนุมนิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็คือ แหล่งที่ชุมนุมของนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ นี่ตรงตามชื่อ หมายความว่าคนอื่นที่ไม่ได้มาเข้าชุมนุมนี้ ก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธ นี่เป็นความหมายที่หนึ่ง เอ...แต่มองดูไป ความหมายนี้เห็นจะไม่ใช่ เราไม่อาจพูดได้ว่า นิสิตนักศึกษาอื่นไม่ใช่ชาวพุทธเพราะว่า คนที่ไม่ได้มาเข้าชุมนุม เขาอาจประพฤติปฏิบัติดี เป็นชาวพุทธที่ไปได้ไกลแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ความหมายที่หนึ่งนี้คงจะไม่ใช่
ความหมายที่สองบอกว่า เป็นแหล่งที่นิสิตนักศึกษาเข้ามารับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา จะมองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า เป็นแหล่งให้บริการ หรือว่าผู้ที่จะมาเข้าชมรมพุทธ ก็คือผู้ที่มารับประโยชน์จากพุทธศาสนา ไม่ว่าตัวมีทุกข์ทางใจ มีปัญหาอะไรต่ออะไร ถ้าเห็นว่าพระพุทธศาสนาช่วยทำประโยชน์แก้ปัญหาให้ได้ ก็เข้ามาสู่ชุมนุมนี้ มาเป็นชาวชุมนุมนี้ สมาชิกชุมนุมนี้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาทางจิตใจของตัวเองเป็นต้น นี้เรียกว่า ชุมนุมของชาวพุทธ คือ ชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่เข้ามารับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา แง่ที่สองถือเป็นข้อพิจารณา จะใช่หรือไม่ก็ตาม ขอผ่านไปก่อน
ในแง่ที่สาม แปลว่า แหล่งที่นิสิตนักศึกษาเข้ามาทำงาน เพื่อเชิดชูส่งเสริมพระพุทธศาสนา เข้ามาช่วยกันทำให้พระพุทธศาสนาเป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป คือ จะได้มีที่รวมคนที่มีความสนใจ เอาใจใส่กิจการพุทธศาสนา เข้ามาช่วยกันทำงาน เพื่อเชิดชูยกย่องหรือเผยแพร่หลักการของพระพุทธศาสนา
ความหมายที่สี่บอกว่า เป็นแหล่งที่แสดงออกของความเป็นชาวพุทธ หรือพูดอย่างสมัยใหม่ หมายความว่า เป็นที่ชุมนุมของคนที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธ เพื่อทำหน้าที่ของชาวพุทธ ทำหน้าที่ของชาวพุทธต่ออะไรบ้าง ก็ต่อตนเองและต่อสังคม อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ต่อตนเองก็คือดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธ ต่อสังคมคือหลักการของพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมนี้เป็นอย่างไร ชุมนุมนี้เป็นตัวแทนที่จะทำหน้าที่นั้นต่อสังคม
ตอนนี้อาตมานึกได้เท่านี้ก่อน มีความหมายสี่ข้อ เราจะยอมรับข้อไหนในบรรดาความหมายสี่ข้อนั้น ข้อที่หนึ่งบอกว่า เป็นชุมนุมของนิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธ ถ้าใครไม่มาเข้าชุมนุมนี้ ก็ไม่ใช่ชาวพุทธ ข้อนี้อาตมาคงไม่ยอมรับ
ต่อไปข้อที่สอง สาม สี่ นี่คิดว่าควรจะรับได้หมด แต่ว่าจุดเน้นอาจจะต่างกันไป แม้แต่ผู้ที่เข้ามาในชุมนุมเอง บางคนก็อาจเข้ามาเพื่อรับประโยชน์แก้ปัญหาในจิตใจตนเอง บางคนก็อาจเข้ามาเพื่อช่วยทำงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาเผยแพร่พุทธศาสนา บางคนเข้ามาเพื่อที่จะทำหน้าที่ชาวพุทธ เป็นตัวแทนของชาวพุทธทำหน้าที่ต่อสังคมก็คือทำหน้าที่ของชาวพุทธนั่นแหละ ทำอย่างไร หน้าที่ของชาวพุทธมีอะไรบ้าง ก็ได้บอกไว้แล้ว คือ ใช้ปัญญา และกรุณาสร้างเสริมอัตตหิตสมบัติและปรัตถปฏิบัติ เอาละ...เราจะยอมรับอันไหนและถืออันไหนเป็นหลัก บางคนอาจจะเอาทั้งสาม ทั้งได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาด้วย ซึ่งมันก็ควรจะได้แล้วก็ส่งเสริม ในเมื่อเราเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดีงามก็ส่งเสริมเผยแพร่ออกไป แล้วก็ทำหน้าที่ของชาวพุทธต่อตนเอง ต่อสังคมไปด้วย
แต่อันไหนควรจะเป็นข้อหลัก? ถ้าหากเราถือว่าการตั้งชุมนุม หรือชมรม นี่ ในเมื่อไม่จำเป็นว่าคนที่เข้ามาเท่านั้นจึงจะเป็นชาวพุทธ คนที่ไม่เข้ามานั้นก็เป็นชาวพุทธได้ แต่ผู้ที่เข้ามานี่ก็คือผู้ที่พร้อมจะมาเป็นตัวแทนของชาวพุทธ จะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ ในเมื่อตั้งเป็นชุมนุมหรือกลุ่มขึ้น กลุ่มนี้น่าจะเป็นตัวแทนของชาวพุทธ เมื่อเป็นตัวแทนของชาวพุทธแล้ว ก็เป็นที่แสดงออกของความเป็นชาวพุทธ และทำหน้าที่ของชาวพุทธ ถ้าอย่างนี้หน้าที่ของชาวพุทธมีอะไรบ้าง ชุมนุม ชมรม กลุ่มนิสิต นักศึกษา ชาวพุทธก็คงจะต้องทำหน้าที่เหล่านั้น ซึ่งมีทั้งอัตตหิตสมบัติ และปรัตถปฏิบัติ นี้เป็นเพียงข้อสังเกต
ทีนี้ ขอเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเมื่อกี้ ที่อาตมาพูดถึงว่า คนข้างนอกเขามีสายตามองเราว่าอย่างไร ในสังคมไทยของเราปัจจุบันนี้ มีเสียงพูดอันหนึ่งว่า คนรุ่นใหม่ไม่คอยเข้าใจสังคมของตน ไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมของตน เมื่อได้สำเร็จการศึกษาไปแล้วไปทำงานทำการ รับราชการ หรือไปอยู่ในแวดวงอะไรก็ตาม กิจการต่างๆ ที่เรียกว่า พัฒนาประเทศชาติ หรือพัฒนาสังคมอะไรนี่ไม่ได้ผลดีด้วย เพราะว่าไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของคน ไม่เข้าใจรากฐานวัฒนธรรม ไม่เข้าใจสังคมของตนเอง นี้เป็นเสียงตำหนิที่มีมานานพอสมควร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ คือว่าในระบบการศึกษาของเรานี้ เราฝึกคนไป ในลักษณะที่ว่าทำให้ห่างไกลจากพื้นฐานวัฒนธรรมของตน ไม่ค่อยได้เรียนรู้เพียงพอ
รากฐานวัฒนธรรมของสังคมไทยนั้น ส่วนสำคัญมาจากพระพุทธศาสนา มีส่วนมากทีเดียวที่ได้มาจากพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ในการศึกษาสังคมไทยนี่เมื่อคนนอกเขามาศึกษา เขาจะจับพุทธศาสนานี้เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญมาก สิ่งเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ไม่ยากเลย ถ้ามองดูพวกที่เขามาจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาสังคมไทยนี่ เขาจะศึกษาองค์ประกอบและสถาบันต่างๆ ของสังคมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่ง
อาตมาคิดว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาชาวพุทธนี่ ในเมื่ออยู่ในสภาวะนี้ มีฐานะเหมาะทีเดียวที่จะทำหน้าที่นี้ได้ คือ ทำตนให้เป็นผู้ที่มีความรู้เท่าทัน เข้าใจสังคมไทยวัฒนธรรมไทยดีเป็นพิเศษ ยิ่งกว่านิสิตนักศึกษาโดยทั่วไป เพราะว่าพุทธศาสนานี้มีส่วนสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่อาตมาพูดอย่างนี้ ขยายความว่า พุทธศาสนาที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น มีส่วนที่จะพึงศึกษาแยกออกเป็นสองด้าน
ด้านหนึ่ง ได้แก่ ศาสนธรรม คือ หลักคำสอน อีกด้านหนึ่ง คือ สิ่งที่เราเรียกในสมัยใหม่ว่าสถาบัน หมายถึงสถาบัน หรือกิจการทั้งหลายซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในสังคมนี้
นิสิตนักศึกษาชาวพุทธนั้นเมื่อไม่พูดถึงด้านความประพฤติในด้านความรู้ก็ควรจะมีความรู้พระพุทธศาสนาดีกว่าผู้อื่น เป็นตัวแทนได้ทั้งในแง่ศาสนธรรมและสถาบัน และมีความรู้ดีทั้งในแง่ของศาสนธรรม และสถาบันหรือกิจการพุทธศาสนา แล้วข้อนี้จะนำไปสู่การเข้าใจสังคมของเราในทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องเกื้อกูลสังคมหรืออนาคตของประเทศชาติต่อไปด้วย
มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนิสิตนักศึกษาที่เข้ามานี่ บางทีเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาในจิตใจของตนเอง แล้วก็เลยมุ่งแต่ในด้านศาสนธรรม ซึ่งไม่ผิดเลยถูกต้อง แต่มักจะมองข้ามเรื่องกิจการและสถาบัน เมื่อมีเหตุการณ์อะไรต่ออะไร เกิดขึ้นในทางดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ไม่เข้าใจ และไม่สามารถเป็นตัวแทนชี้แจงได้ อันนี้จะถือเป็นความบกพร่องได้หรือไม่ การศึกษาเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย เพราะว่าสิ่งดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เมื่อศึกษาแล้วเกิดความเข้าใจ เมื่อเกิดความเข้าใจแล้ววางท่าทีได้ถูกต้อง บางทีสิ่งที่เราเห็นว่าชั่วช้าเสียหาย เราเรียนศึกษาให้เข้าใจแล้วเราวางใจได้ถูก แทนที่จะเกิดความชิงชังมันก็เกิดกรุณาขึ้นแทน บางทีเราไปเห็นคนผู้หนึ่งทำความชั่ว เป็นโจรผู้ร้าย เราก็เกิดความโกรธว่า คนผู้นี้มันทำอะไรไม่ดี น่าชิงชังเหลือเกิน แต่พอได้ศึกษาชีวิต รู้ภูมิหลังความเป็นมาแล้ว ก็กรุณาสงสารขึ้นมาได้ อ๋อ...นี่มันมีเหตุปัจจัยเป็นอย่างนี้ นอกจากกรุณาแล้ว ยังรู้หนทางที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต่อไปด้วย หลักการของพุทธศาสนาสอนให้รู้เท่าทันความเป็นจริง แก้ไขปัญหาที่มูลเหตุ
ทีนี้ ในแง่ของความรับผิดชอบในฐานะชาวพุทธชั้นผู้นำและเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาทั้งศาสนธรรมและสถาบัน ก็หมายความว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยจะเจริญหรือเสื่อม นิสิตนักศึกษาน่าจะมีส่วนด้วย ความเป็นไปทั้งหมดในกิจการพุทธศาสนาอย่างน้อยก็ควรจะรู้และเข้าใจ ต่อไปจะต้องไปอยู่ในฐานะผู้แก้ไขปัญหาด้วยไม่น้อย อาตมาคิดว่าอย่างนั้น
ผู้ที่ศึกษาเหล่านี้ เมื่อสำเร็จไปแล้ว ไปทำงานอยู่ในราชการหรือกิจการทั้งหลาย เช่น ไปเป็นนักปกครอง ไปเป็นผู้นำอยู่ในท้องถิ่น ก็ต้องไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่น โดยทั่วไปจะต้องเข้าใจชาวบ้าน เข้าใจสถาบันที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น เช่น วัด เป็นต้น ถ้าเรารู้ความเป็นไป รู้องค์ประกอบของสถาบันต่างๆ ในชุมชนนั้น เราก็วางท่าทีได้ถูกต้อง เมื่อมีปัญหาอะไรที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในชุมชนในสถาบันนั้น เราจะมีทางช่วยแก้ไขได้ด้วย อาตมาว่าน่าจะมองกว้างอย่างนี้
ขอย้ำว่าหน้าที่และภารกิจของนิสิตนักศึกษาชาวพุทธคงจะไม่จบอยู่แค่เมื่อเป็นนิสิตนักศึกษาเท่านั้น นิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่มาเล่าเรียน ส่วนหนึ่งก็เพื่อเตรียมตัวสำหรับอนาคตที่จะรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อประเทศชาติ ทีนี้ ในเมื่อเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็มีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ รับผิดชอบต่ออนาคตของพุทธศาสนาด้วย แทรกเพิ่มเข้าไปในนั้น
ดังนั้น หน้าที่หรือการเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาจึงไม่จบอยู่แค่การเป็นนักศึกษา แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งคือการเตรียมตัวเพื่อเวลาข้างหน้า แล้วข้างหน้านั้นมันยาวกว่าข้างนี้เป็นไหนๆ มาเป็นนิสิตนักศึกษากันอยู่ไม่กี่ปี อาจเป็นสี่ปี บางทีมาอยู่ในชมรมพุทธ ชุมนุมพุทธ กลุ่มพุทธ เป็นกรรมการ หรือช่วยเหลือกิจการได้เพียงปีสองปีเท่านั้นเรียนจบแล้ว พอออกจากความเป็นนิสิตนักศึกษาพ้นไปแล้วก็เลิกกัน บางทีไม่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเลยอย่างนี้มันก็ตัน เมื่อไรๆ ก็วนเวียนอยู่แค่นี้ พอรุ่นนี้จบไปหมดหน้าที่ รุ่นใหม่มาคนเก่าก็เลิก ไปทำงานทำการแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรอีก
ความจริงน่าจะให้เป็นว่า ที่เราอยู่นี่น่ะเป็นส่วนย่อยไว้สำหรับจะเตรียมตัวไว้ให้พร้อม ถ้าหากเรารักที่จะช่วยส่งเสริมพระพุทธศาสนา เมื่อสำเร็จไปแล้ว เราน่าที่จะทำหน้าที่นี้ได้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าจำกัดอยู่เท่านี้ หมายความว่าข้างหน้านี้ควรจะทำได้ มากกว่าที่ทำในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าปัจจุบันนี้ทำได้มากกว่าแล้วก็จบอยู่เท่านี้ อันนี้เป็นข้อคิดเห็นที่อาตมามองๆ ดูแล้ว เกิดได้แง่ความหมายอะไรบางอย่างขึ้นมา
ขอโยงความต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า นอกจากความเป็นนิสิตนักศึกษาที่เป็นชาวพุทธ ก็คือความเป็นนิสิตนักศึกษาของตนเองที่เป็นหลักใหญ่อยู่ ในเมื่อเป็นนิสิตนักศึกษา ธรรมะของเราบอกว่า เมื่อเรายอมรับตัวเราอยู่ในภาวะใด ฐานะใด เราก็ต้องรู้จักตนเอง ตามที่เป็นอย่างนั้น นี้คือ อัตตัญญุตา ซึ่งเป็นสัปปุริสธรรมข้อหนึ่ง แล้วก็ทำหน้าที่ของตนเองในภาวะนั้นให้ดีที่สุดสำหรับความเป็นนิสิตนักศึกษา ก็หมายความว่า นิสิตนักศึกษาจะต้องเป็นนักศึกษาที่ดี
ถ้าเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ ด้วยความเป็นชาวพุทธนั้นก็จะต้องเสริมความเป็นนิสิตนักศึกษาของตนให้ดียิ่งขึ้นอีก เพราะอะไร เพราะว่านิสิตนักศึกษาส่วนนี้เป็นส่วนพิเศษที่ได้มีชื่อว่าเป็นชาวพุทธด้วย ถ้าเป็นประชาชนก็เป็นคนทั่วไป พอเป็นประชาชนชาวพุทธก็ต้องเป็นประชาชนที่มีลักษณะอะไรดีพิเศษ ผู้ที่เป็นนิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว ครั้นมาเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ จะต้องมีความเป็นนิสิตนักศึกษา ที่เข้าใจกันในความหมายของการเป็นนิสิตนักศึกษานั้นบริบูรณ์ดีด้วย เช่น ในทางวิชาการ หรือในทางกิจกรรมใดๆ ก็ตาม นิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็จะเป็นผู้เลิศเป็นผู้เยี่ยมวิชาการ หรือกิจกรรมที่นักศึกษาชาวพุทธไปทำละก็ต้องเป็นอันดีเยี่ยม ดีทั้งในแง่ที่ประสบความสำเร็จ ก่อคุณประโยชน์และก็ดีทั้งในแง่ของคุณธรรม คือ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้องดีงามสุจริต เป็นต้น
อันนี้หมายความว่า ความเป็นชาวพุทธนี้จะต้องไปเสริมความเป็นนิสิตนักศึกษานั้นให้ดียิ่งขึ้น แล้วความเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาชาวพุทธนั้น มันจึงจะมีค่าขึ้นมาเป็นชุมนุมระดับผู้นำในหมู่นิสิตนักศึกษาด้วย
อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า ความเป็นนิสิตนักศึกษาที่มีเป็นหลักอยู่นั้น มันจะต้องเป็นสิ่งที่นิสิตนักศึกษาชาวพุทธรักษาไว้ และทำให้บริบูรณ์ด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อมาเป็นนิสิตอยู่ชุมนุมพุทธแล้วก็เลยว่า เราจะไม่เอาใจใส่ในความเป็นนิสิตนักศึกษา เพราะนั่นคือหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องทำให้ดี แล้วมันกลับมาเกื้อกูลความเป็นชาวพุทธ ไม่ควรให้เขาพูดได้ว่าพวกชาวพุทธนี้ไม่เอาเรื่อง สิ่งที่จะต้องทำสิ่งที่เป็นกิจของตนเอง เมื่อเรายอมรับยังต้องทำอยู่ ก็ต้องทำให้มันดี และอันนั้นแหละคือช่องทางส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ดีเยี่ยมด้วย
เมื่อชาวพุทธไปเป็นนิสิตนักศึกษาที่ดีเยี่ยม เช่น มีความเป็นเลิศในทางวิชาการ นั่นคือการเผยแพร่และส่งเสริมพุทธศาสนาแล้วส่งเสริมในตัวโดยทันทีว่า อ๋อ...ถ้าเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธแล้วเขาเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าชาวพุทธเข้าไปแตะเข้าไปเกี่ยวข้องอะไร เรื่องนั้นเป็นดีงาม มีค่ามีคุณประโยชน์ไปหมด ภาพพจน์ดีเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ผู้อื่นก็บอก เอ๊ะ...เราต้องเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธบ้างซิ อย่างนี้เป็นต้น เราก็เผยแพร่ไปในตัวโดยไม่ต้องไปพูดอะไรเลย
ต่อไปข้างหน้าก็เหมือนกัน ขณะนี้เราเป็นนิสิตนักศึกษาที่ดีแล้ว เอาความเป็นชาวพุทธไปเสริมเข้าอีก เราก็ทำหน้าที่ของเราดีที่สุด พอจบไป ไปทำงานทำการ เราทำได้ดี และมีความคิดดี แต่ก่อนนี้เราเคยมีความคิดอย่างคนธรรมดาว่า เออ...เราเรียนไป เราจะได้ไปทำงานทำการดี มีเงินเดือนดี ตำแหน่งดี เราคิดไปในแง่นั้น พอมาเป็นชาวพุทธเราก็คิดใหม่ว่า เออ...ดีแล้ว ที่เราเรียนได้ดีนี้ สังคมเขายังมีค่านิยมยกย่องเรื่องฐานะเกียรติอะไรกันอยู่ เราสำเร็จไป เราได้ไปทำงานดีๆ เราจะใช้ฐานะดีนั้นเป็นช่องทางที่จะนำธรรมะออกแก้ปัญหาทำงาน
นี่เราคิดใหม่ แทนที่จะคิดว่าเราจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นช่องทางของการแสวงหาผลประโยชน์อย่างคนทั่วไป เราไม่คิดแล้ว เราคิดเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นช่องทางของการขยายธรรม ยิ่งนิสิตนักศึกษาชาวพุทธไปมีฐานะการทำงานตำแหน่งดีๆ ธรรมะก็ยิ่งมีโอกาสที่จะแพร่ขยาย เรื่องอะไรจะทำตัวซอมซ่ออยู่ บอกว่าฉันไม่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่เอาอะไรแล้ว ชาวพุทธก็เลยกลายเป็นคนหมดความหมาย ทำอะไรก็ไม่ได้
ขอให้นึกถึงพระเจ้าอโศกมหาราช พอมาเป็นชาวพุทธแล้ว ท่านเลิกเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือเปล่า ท่านอาจจะยังไม่พร้อมที่จะบวชในแง่หนึ่ง ถ้าพร้อมก็แล้วไป เราจะบวชก็บวชเสียเลยอย่าไปทำหงอยก๋อยอยู่ ไปทำหน้าที่ของเราให้ดี พระเจ้าอโศกในเมื่อท่านยังไม่พร้อมที่จะบวช ท่านก็ทำหน้าที่ต่อไปและทำให้ดียิ่งขึ้น ท่านทำศิลาจารึกไว้ บอกว่าอะไร ท่านบอกทำนองว่า ยศ เกียรติ อะไรทำนองนั้นทั้งหลาย รวมเป็นว่า อำนาจความยิ่งใหญ่ทั้งหลายนี่จะไม่มีความหมายเลย ถ้าหากไม่เป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนทั้งหลายได้ประพฤติธรรม
ท่านทำจารึกไว้อย่างนี้ ก็หมายความว่า พระเจ้าอโศกนี่เปลี่ยนท่าทีต่ออำนาจ ยศ ศักดิ์ ความยิ่งใหญ่เสียใหม่ แทนที่จะใช้ยศ เกียรติ อำนาจนั้น เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์บำรุงบำเรอพระองค์ท่าน ท่านก็เอายศ เกียรติ อำนาจ นั้น มาเป็นช่องทางในการเผยแพร่ธรรมะ สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนต่อไป คุณความดีมันก็เกิดขึ้น ความเป็นชาวพุทธที่ถูกต้องคือทำคนให้เป็นคนดีที่มีคุณภาพ มีสมรรถภาพ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ฉะนั้น ในเมื่อเรายังยอมรับฐานะที่เป็นนิสิตนักศึกษา เราต้องทำหน้าที่นิสิตนักศึกษาให้ดีที่สุด เมื่อเป็นนิสิตนักศึกษาธรรมดาดีแค่ไหน เป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็น่าจะดียิ่งขึ้นและเมื่อออกไปแล้วก็ต้องทำงานได้ดี มีคุณธรรม มีสติปัญญา มีความสุจริต ขยายความดีกว้างขวางออกไปด้วย
อันนี้เป็นเรื่องที่อาตมาเสนอให้พิจารณา คิดว่าได้พูดมาเป็นเวลานานพอสมควร และทางนี้ท่านได้บอกว่าเรายังมีโอกาสจะคุยกันต่อไปอีกด้วย ในรอบนี้อาตมาไม่ทราบว่าเวลาได้ล่วงไปเท่าไร แต่ก็เห็นควรว่าควรจะยุติได้ตอนหนึ่งก่อน ก็ขอโมทนาต่อนิสิตนักศึกษาทุกท่านในโอกาสนี้ด้วย
หมายเหตุ: แสดงในการสัมมนา ‘ความร่วมมือในการทำกิจกรรมของกลุ่มชาวพุทธ’ จัดโดยกลุ่มประสานงานนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ ณ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ พิมพ์ครั้งแรกใน ‘พุทธจักร’ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ครั้งที่สองรวมอยู่ในหนังสือ ‘ลักษณะสังคมพุทธ’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พฤษภาคม ๒๕๒๗