ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรม 1

ขอนมัสการท่านพระเถรานุเถระ สหธรรมิก ที่เคารพนับถือ

ขออำนวยพร ท่านอุปนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกท่าน และท่านสาธุชนผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคล ที่ได้มีโอกาสมาแสดงธรรมกถาในที่ประชุมนี้ เพราะมาพูดในสถานที่ที่มีกิจการอันเนื่องด้วยพระศาสนา และมาพูดในเรื่องธรรมอันเป็นเรื่องสิริมงคล

สำหรับหัวข้อที่ท่านตั้งให้พูดคือเรื่องกรรมนี้ จะพูดในแง่ไหนก็ตาม ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นที่เข้าใจในหมู่พุทธศาสนิกชนอยู่ทั่วไปแล้วว่า กรรมเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา

ความจริงหลักธรรมใหญ่มีอยู่หลายหลัก เช่น เรื่องอริยสัจจ์ เรื่องปฏิจจสมุปบาท และเรื่องไตรลักษณ์ เป็นต้น ธรรมะแต่ละข้อๆ เหล่านั้น ล้วนแต่เป็นหลักใหญ่ หลักสำคัญทั้งสิ้น แต่สำหรับหลักกรรมนี้ ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองใกล้ชิดมาก เพราะฉะนั้น ความคุ้นเคยกับคำว่ากรรมนี้ ก็อาจจะมีมากกว่าหลักธรรมอื่นๆ

เป็นอันรวมความในที่นี้ว่า กรรมเป็นหลักธรรมสำคัญ และเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนสนใจมาก กับทั้งเป็นเรื่องที่มีความข้องใจกันอยู่มากด้วย ที่ข้องใจนั้นก็เกิดจากความที่ยังคลางแคลงสงสัยในแง่มุมต่างๆ ไม่เข้าใจชัดเจน

เหตุที่หลักกรรมเป็นปัญหาแก่เรามากนั้น ไม่ใช่เพราะเป็นหลักธรรมใหญ่หรือสำคัญอย่างเดียว แต่เป็นเพราะได้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและสับสนเกิดขึ้นพอกพูนต่อๆ กันมา เพราะฉะนั้น ในการทำความเข้าใจเรื่องกรรม นอกจากจะทำความเข้าใจในตัวหลักเองแล้ว ยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น คือจะต้องแก้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนในเรื่องกรรมนั้นด้วย

เนื่องจากเหตุผลที่กล่าวมา อาตมภาพจึงรู้สึกว่า ในการพูดทำความเข้าใจเรื่องกรรมนั้น ถ้าเราแก้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนออกไปเสียก่อน อาจจะทำให้ความเข้าใจง่ายขึ้น คล้ายกับว่าหลักกรรมนี้ไม่มีเฉพาะตัวหลักเองเท่านั้น แต่มีของอะไรอื่นมาปิดบังเคลือบคลุมอีกชั้นหนึ่งด้วย ถ้าเราจะทำความเข้าใจเนื้อใน เราจะต้องเปลื้องสิ่งที่ปิดบังนี้ออกไปเสียก่อน

- ๑ -
ความคลาดเคลื่อนสับสนในเรื่องกรรม

 

๑. ความสับสนคลาดเคลื่อนในความหมาย

หลักกรรมนี้มีอะไรที่เป็นความสับสนคลาดเคลื่อนเข้ามาปิดบังคลุมอยู่ ขอให้ท่านทั้งหลายลองมาช่วยกันพิจารณาดู อาตมภาพว่ามีหลายอย่างทีเดียว

ในความเข้าใจของคนไทยทั่วๆ ไป หรือแม้แต่จำกัดเฉพาะในหมู่พุทธศาสนิกชน พอพูดถึงคำว่า “กรรม” ก็จะเกิดความเข้าใจในความคิดของแต่ละท่านไม่เหมือนกันแล้ว

กรรมในแง่ของคนทั่วๆ ไป อาจจะมีความหมายอย่างหนึ่ง และกรรมในความหมายของนักศึกษาชั้นสูงก็อาจจะเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกันแท้ทีเดียว

ตัวอย่างเช่น ในสำนวนภาษาไทยเราพูดกันบ่อยๆ ว่า “ชาตินี้มีกรรม” หรือว่า “เราทำมาไม่ดีก็ก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” หรือว่า “อะไรๆ ก็สุดแต่บุญแต่กรรมก็แล้วกัน” อย่างนี้เป็นต้น

สำนวนภาษาเหล่านี้แสดงถึงความเข้าใจคำว่ากรรมในความคิดของคนทั่วไป และขอให้ท่านทั้งหลายมาช่วยกันพิจารณาดูว่า ในคำพูดซึ่งส่อถึงความเข้าใจอันนี้ มันมีอะไรถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง

จากคำที่อาตมภาพได้ยกมาอ้างนั้น ก็พอมองเห็นความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับกรรมว่า

ประการแรก คนโดยมากมองกรรมไปในแง่ผล คือมองว่าเป็นผลของการกระทำ เพราะฉะนั้น จึงพูดกันว่าก้มหน้ารับกรรม คำว่ากรรมในที่นี้เป็นผล หรืออย่างเราไปเห็นคนได้รับภัยพิบัติหรือเหตุร้ายประสบทุกข์ยากต่างๆ เราบอกว่านั่นกรรมของสัตว์ ก็เท่ากับบอกว่า กรรม คือความทุกข์ยากอะไรต่ออะไรที่เป็นผลซึ่งเขาได้รับอยู่นั้น

ประการต่อไป เราพูดถึงกรรมโดยมุ่งเอาแง่ชั่วแง่ไม่ดีหรือเรื่องร้ายๆ อย่างที่ว่าก้มหน้ารับกรรม หรือว่ากรรมของสัตว์ ก็หมายถึงแง่ไม่ดีทั้งนั้น คือเป็นเรื่องทุกข์ เรื่องโศก เรื่องภัยอันตราย ความวิบัติ เหตุร้ายนานา

นอกจากนั้น ก็มุ่งไปในอดีต โดยเฉพาะมุ่งเอาชาติก่อนเป็นสำคัญ

ตัวอย่างที่ว่ามาโดยมากก็มีความหมายส่องไปทีเดียวหมดทั้ง ๓ แง่ คือมุ่งเอาในแง่เป็นเรื่องร้ายๆ และเป็นผลของการกระทำในอดีตชาติ ไม่ว่า “ก้มหน้ารับกรรม” “ชาตินี้มีกรรม” “กรรมของสัตว์” “สุดแต่บุญแต่กรรม” ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องร้ายๆ เป็นเรื่องผล และเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาติก่อนทั้งนั้น

พูดง่ายๆ ว่า คนทั่วไปมองความหมายของ “กรรม” ในแง่ของผลร้ายของการกระทำชั่วในอดีตชาติ

ทีนี้ลองมาพิจารณาว่าความหมายที่เข้าใจกันนั้นถูกหรือไม่ อาจจะถูก แต่ถูกไม่หมด ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ตามหลักคำสอนที่แท้จริง เพียงหลักต้นๆ ท่านก็บอกไว้แล้วว่า กรรมก็คือการกระทำนั่นเอง ง่ายที่สุด การกระทำนี้ไม่ได้หมายถึงผล แต่เป็นตัวการกระทำ ซึ่งเป็นเหตุมากกว่าเป็นผล

ต่อไปในแง่เวลา จะมุ่งถึงกาลเป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ ไม่เฉพาะต้องเป็นอดีตอย่างเดียว คือปัจจุบันที่ทำอยู่นี้ก็เป็นกรรม

แล้วจะมองในแง่ลักษณะว่าดีหรือชั่วก็ได้ทั้งสองข้าง คือกรรมดีก็มี กรรมชั่วก็มี แล้วแสดงออกได้ทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจ

นอกจากนี้ ที่พูดถึงกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องรุนแรง ความจริงนั้น กรรมก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในความคิดแต่ละขณะ ทุกๆ ท่านที่นั่งอยู่ในขณะนี้ก็กำลังกระทำกรรมด้วยกันทั้งนั้น อย่างน้อยก็กำลังคิด เพราะอยู่ในที่ประชุมนี้ ไม่สามารถแสดงออกทางอื่นได้มาก ไม่มีโอกาสจะพูดหรือจะทำอย่างอื่น ก็คิด การคิดนี้ก็เป็นกรรม

รวมความว่า ในความหมายที่ถูกต้องนั้น กรรมหมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จะแสดงออกทางกายก็ตาม วาจาก็ตาม หรืออยู่ในใจก็ตาม เป็นอดีตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม อนาคตก็ตาม ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เป็นกรรมทั้งนั้น

ฉะนั้น กรรมตามความหมายที่พูดกันทั่วไปนั้นจึงมักทำให้เกิดความสับสนคลาดเคลื่อนขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกตั้งแต่ต้น

เป็นอันว่าภาษาสามัญที่คนทั่วไปใช้พูดกันนั้น มีข้อคลาดเคลื่อนอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

๒. ความคลาดเคลื่อนในทัศนคติ

ก. ทัศนคติต่อตนเอง

แง่ที่ ๒ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนกันอยู่มาก ก็คือ ทัศนคติต่อกรรม พอพูดถึงกรรม ทัศนคติของคนทั่วไปก็มักจะเป็นไปในแง่ของการทอดธุระ หรือไม่มีความรับผิดชอบ

ทอดธุระอย่างไร? อันนี้อาจจะแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ มองในแง่ตัวเองอย่างหนึ่ง กับมองในแง่ผู้อื่นอย่างหนึ่ง

มองในแง่ตัวเอง ความรู้สึกทอดธุระ คือรู้สึกว่าย่อท้อ ยอมแพ้ ถดถอย และไม่คิดปรับปรุงตัวเอง เช่นในประโยคว่า “ชาตินี้มีกรรม” หรือว่า “เราทำมาไม่ดี ก้มหน้ารับกรรมไปเถิด”

ความจริง คำที่พูดอย่างนี้มีแง่ที่พิจารณาได้ทั้งดีและไม่ดี คือเวลาพูดอย่างนี้ เดิมก็คงมุ่งหมายว่า ในเมื่อเป็นการกระทำของเราเอง ทำไว้ไม่ดี เราก็ต้องยอมรับผลของการกระทำนั้น นี่คือความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเอง ยอมรับความผิดที่ตนเองก่อขึ้น

แต่การที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าท่านต้องการให้เราหยุดชะงักแค่นั้น ท่านไม่ได้ต้องการให้เราหยุดเพียงว่า งอมืองอเท้า แล้วไม่คิดปรับปรุงตนเอง แต่ท่านต้องการต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อเรายอมรับผิดจากการกระทำของเราแล้ว ในแง่ตัวเราเอง เมื่อเราสำนึกความผิดแล้ว เราจะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีต่อไปด้วย

แต่ในตอนที่เป็นการปรับปรุงนี้ คนมักไม่ค่อยคิด ก็เลยทำให้ความรู้สึกต่อกรรมนั้นหยุดชะงักแค่การยอมรับ แล้วก็เป็นคล้ายกับยอมแพ้ แล้วก็ท้อถอย ไม่คิดปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าต่อไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักแยกให้ครบ ๒ ตอน คือ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเองตอนหนึ่ง และการที่จะคิดแก้ไขปรับปรุงตนต่อไปตอนหนึ่ง

รวมความว่า ความรู้สึกต่อกรรม ควรจะมีต่อตนเองให้ครบทั้ง ๒ ด้าน คือ

๑. เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และ

๒. เมื่อยอมรับส่วนที่ผิดแล้ว จะต้องคิดแก้ไขปรับปรุงตนเองเพื่อให้ถูกต้องดีงามขึ้นต่อไปด้วย

ไม่ใช่หยุดเพียงยอมรับผิดแล้วก็เสร็จกันไป ถ้าเรามองความหมายของกรรมเพียงในแง่ของการยอมรับและเสร็จสิ้นไปเท่านั้น ก็แสดงว่าเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักคำสอนเกี่ยวกับกรรมอย่างถูกต้องสมบูรณ์ และอาจจะให้เกิดผลเสียได้

ข. ทัศนคติต่อผู้อื่น

ในแง่ความคลาดเคลื่อนของทัศนคติต่อผู้อื่น ก็เช่นเดียวกัน เวลาเราไปเห็นคนได้รับทุกข์ภัยพิบัติอันตรายต่างๆ บางทีเราก็พูดกันว่า นั่นเป็น “กรรมของสัตว์” พอว่าเป็นกรรมของสัตว์ เราก็ปลงเลย แล้วก็ช่างเขา

บางท่านเลยไปกว่านี้อีก บอกว่าพุทธศาสนาสอนให้วางอุเบกขา ก็เลยทำเฉย หมายความว่า ใครจะได้ทุกข์ได้ร้อน เราก็ปลงเสียว่ากรรมของสัตว์ เขาทำมาเองไม่ดีเขาจึงได้รับผลอย่างนั้น เราก็วางอุเบกขา อันนี้เป็นแง่ที่ไม่ถูก ต้องระวังเหมือนกัน

ในแง่ต่อผู้อื่น ทัศนคติก็ต้องมี ๒ ด้านเหมือนกัน จริงอยู่ เมื่อคนอื่นได้รับภัยพิบัติเหตุร้ายอะไรขึ้นมา ขั้นต้นเราควรพิจารณาว่า อันนั้นเป็นผลของการกระทำของเขา เช่นคนที่ไปประพฤติชั่วถูกจับมาลงโทษ อันนั้นอาจจะพิจารณาได้ว่าเป็นกรรมของสัตว์จริง แต่การมองอย่างนั้นไม่ใช่เป็นการพูดในแง่ผลเท่านั้น

คำว่า “กรรมของสัตว์” นั้น เป็นการพูดเลยไปถึงอดีตว่า เพราะการกระทำของเขาที่ไม่ดีแต่ก่อน เขาจึงมาได้รับผลที่ไม่ดีในบัดนี้ ถ้าจะพูดให้เต็ม น่าจะบอกว่า อันนี้เป็นผลของกรรมของสัตว์ ไม่ใช่กรรมของสัตว์ แต่พูดย่อๆ ก็เลยบอกว่ากรรมของสัตว์

ในแง่นี้ก็ถูกอยู่ชั้นหนึ่ง ว่าเราเป็นคนรู้จักพิจารณาเหตุผล คือชาวพุทธเป็นคนมีเหตุมีผล เมื่อเห็นผลหรือสิ่งใดปรากฏขึ้นมา เราก็คิดว่านี่ต้องมีเหตุ เมื่อเขาได้ประสบผลร้าย ถูกลงโทษอะไรอย่างนี้ มันก็ต้องมีเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำไม่ดีของเขาเอง

อันนี้แสดงถึงความมีเหตุมีผลในเบื้องต้น คือวางใจเป็นกลางพิจารณาให้เห็นเหตุผลตามความเป็นจริงเสียก่อน ขั้นนี้เป็นการแสดงอุเบกขาที่ถูกต้อง

อุเบกขาที่ถูกต้องนั้นก็เพื่อดำรงธรรมไว้ ดำรงธรรมอย่างไร การวางใจเป็นกลาง ในเมื่อเขาสมควรได้รับทุกข์โทษนั้นตามสมควรแก่การกระทำของตน เราต้องวางอุเบกขา เพราะว่าจะได้เป็นการรักษาธรรมไว้ อันนี้เป็นการถูกในท่อนที่หนึ่ง คืออุเบกขาเพื่อดำรงความเป็นธรรมหรือรักษาความยุติธรรมไว้

แต่อีกตอนหนึ่งที่หยุดไม่ได้ก็คือ นอกจากมีอุเบกขาแล้ว ในแง่ของกรุณาก็ต้องคิดด้วยว่า เมื่อเขาได้รับทุกข์ภัยพิบัติแล้ว เราควรจะช่วยเหลืออะไรบ้าง บางทีในพุทธบริษัทบางคนก็พิจารณาปล่อยทิ้งไปเสียหมด ไปเห็นคนยากคนจนอะไรต่ออะไรก็กรรมของสัตว์หมด เลยไม่ได้คิดแก้ไขปรับปรุงหรือช่วยเหลือกัน ทำให้ขาดความกรุณาไป แทนที่จะเน้นเรื่องความกรุณากันบ้าง ก็เลยไปมัวเน้นเรื่องอุเบกขาเสีย2

ที่จริงธรรมเหล่านี้ต้องใช้ให้ตรงเรื่อง เหมาะเจาะ แม้แต่ในกรณีที่คนได้รับโทษ เราวางอุเบกขากับคนที่เขาได้รับโทษนั้น เราก็ต้องมีกรุณาอยู่ในตัวเหมือนกัน เราอุเบกขากับคนที่เขาได้รับโทษ เพราะเรามีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น บุคคลผู้นี้ได้รับโทษเพื่อให้คนอื่นจำนวนมากอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย หรือแม้แต่เป็นความกรุณาและเมตตาต่อตัวผู้ได้รับโทษเองว่า ผู้นี้เมื่อเขาได้รับโทษอย่างนี้แล้ว เขาจะได้สำนึกตน ประพฤติตัวเป็นคนดีต่อไป

จากนั้นก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า เมื่อเขาได้รับทุกข์โทษตามควรแก่กรรมของเขาแล้ว เราจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์นั้น และพบความสุขความเจริญต่อไปได้อย่างไร เป็นความเมตตากรุณาแฝงอยู่ในนั้น ไม่ใช่เป็นสักแต่ว่าอุเบกขาอย่างเดียว

ที่พูดมานี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ท่าทีความรู้สึกต่อเรื่องกรรมที่ไม่ครบถ้วน บางทีก็ทำให้เกิดผลเสียได้ ถ้าอย่างไรก็ควรจะมีให้ครบทุกด้าน

เป็นอันว่า ทัศนคตินี้ บางทีก็คลาดเคลื่อนทั้งในแง่ต่อตนเองและต่อคนอื่น

ต่อตนเองนั้น หนึ่ง ต้องมีความรับผิดชอบ สอง ต้องมีความคิดแก้ไขปรับปรุงอยู่ด้วยพร้อมกัน

ส่วนในแง่ต่อผู้อื่นก็ไม่ใช่เอาแต่อุเบกขาอย่างเดียว จะต้องมีเมตตากรุณาด้วย ในส่วนใดที่ควรวางอุเบกขาก็วางด้วยเหตุผล เพื่อรักษาความเป็นธรรม หรือดำรงธรรมของสังคมไว้ และในแง่ของเมตตากรุณาก็เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้นเองด้วย และเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ด้วย ต้องมีและมีไปได้พร้อมกัน อันนี้เป็นแง่ทัศนคติ ซึ่งบางทีก็ลืมย้ำลืมเน้นกันไป

๓. ความสับสนคลาดเคลื่อนในตัวธรรม

ประการที่ ๓ เป็นความคลาดเคลื่อนและสับสนในตัวหลักธรรมทีเดียว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่

ในใจของพุทธศาสนิกชนนั้น เวลานึกถึงกรรม ก็คล้ายกับความหมายที่อาตมภาพได้พูดมาข้างต้น คือมักจะนึกถึงเรื่องเก่า โดยมากเอาอดีตชาติเป็นเกณฑ์ ไม่ค่อยนึกถึงกรรมที่ทำในปัจจุบัน

หลักกรรมในพุทธศาสนานั้น มีแง่หนึ่งที่เราควรพยายามศึกษาให้เกิดความเข้าใจชัดเจน คือแง่ที่จะต้องแยกจากหลักคำสอนในศาสนาอื่น

พุทธศาสนานั้นเกิดในชมพูทวีป คือประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนั้นศาสนาต่างๆ ในอินเดียมีคำสอนเรื่องกรรมกันแทบทั้งนั้น เมื่อเราพบคำว่ากรรมในต่างศาสนา ก็ต้องนึกไว้ก่อนเลยว่าจะต้องมีความหมายต่างกัน เหมือนเจอพระพรหมของพราหมณ์กับพระพรหมของพุทธก็ต้องคนละอย่าง ถ้าแยกบอกความแตกต่างไม่ได้ ก็แสดงว่าเรากำลังเสี่ยงต่อความหลงเข้าใจผิด

ศาสนาฮินดูก็มีคำสอนเรื่องกรรม ศาสนานิครนถ์ หรือที่เราเรียกว่า ศาสนาเชน หรือมหาวีระ ก็มีคำสอนเรื่องกรรมเหมือนกัน และก็เน้นคำสอนเรื่องกรรมนี้ไว้เป็นหลักสำคัญมาก เมื่อพุทธศาสนาอุบัติขึ้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงทราบคำสอนของศาสนาเหล่านี้แล้ว และได้ทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ พระองค์จึงได้ทรงสอนหลักกรรมของพุทธศาสนาขึ้นใหม่

เมื่อ “กรรม” ในพุทธศาสนาเป็นหลักกรรมซึ่งเกิดจากการที่พระพุทธองค์ต้องการแก้ไขความเชื่อที่ผิดในหลักกรรมเดิม ก็แสดงว่าหลักกรรมอย่างใหม่นี้จะต้องผิดกับหลักกรรมอย่างเก่า ที่สอนกันแต่เดิมในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และนิครนถ์ เป็นต้น

หลักกรรมในศาสนาของเรา ถ้าแยกแยะออกไปโดยศึกษาเปรียบเทียบกับคำสอนในศาสนาเดิม เราจะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

หลักกรรมในศาสนาฮินดูก็ตาม ในศาสนานิครนถ์ก็ตาม ในพระพุทธศาสนาก็ตาม ในสายตาของคนต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกฝรั่งที่มาศึกษา มักเข้าใจว่าเหมือนๆ กัน คือ คนเหล่านั้นพอมองเห็นว่าพุทธศาสนาก็สอนเรื่องกรรม ฮินดู และนิครนถ์ ก็สอนเรื่องกรรมทั้งนั้น ก็เข้าใจว่าคำสอนในศาสนาเหล่านี้เหมือนกัน แต่ที่จริงไม่เหมือน

ในศาสนาฮินดูเขามีหลักกรรมเหมือนกัน เขาสอนว่าในตัวคนแต่ละคนมีอาตมัน เมื่อบุคคลแต่ละคนกระทำกรรม กรรมก็เป็นเครื่องปิดบังอาตมัน ด้วยอำนาจกรรมนี้ บุคคลจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดไปจนกว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้น อันนี้ดูเผินๆ ก็คล้ายของพุทธศาสนา แต่ศาสนาฮินดูสอนหลักกรรมเพื่อเป็นฐานรองรับการแบ่งแยกวรรณะ ส่วนพระพุทธศาสนาสอนหลักกรรมเพื่อหักล้างเรื่องวรรณะ หลักกรรมของศาสนาทั้งสองจะเหมือนกันได้อย่างไร ตรงกันแต่ชื่อเท่านั้น

ส่วนในศาสนานิครนถ์ ก็มีความเชื่อในสาระสำคัญของกรรมตามแบบของเขา พระพุทธเจ้าเคยตรัสเล่าความเชื่อเรื่องกรรมของนิครนถ์เอาไว้ อาตมภาพจะลองอ่านพุทธพจน์ให้ฟัง ในขณะที่ฟัง ขอให้ท่านสาธุชนลองเทียบในใจกับหลักกรรมของเราว่า มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ก. สามลัทธิที่ขัดต่อหลักกรรม

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้เสวย ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับอีกต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนาก็เป็นอันสลัดทุกข์ได้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้”

อันนี้มาในเทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พุทธพจน์ที่ยกมาอ้างนี้ แสดงลัทธินิครนถ์ หรือ ศาสดามหาวีระ นิครนถนาฏบุตร ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ศาสนาเชน ศาสนาเชนนี้นับถือคำสอนเรื่องกรรมเก่า เรียกเต็มว่า ปุพเพกตเหตุวาท เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็เลยอยากจะพูดถึงลัทธิที่จะต้องแยกออกจากหลักกรรมให้ครบทั้งหมด ขอให้กำหนดไว้ในใจทีเดียวว่า เราจะต้องแยกหลักกรรมของเราออกจากลัทธิที่เกี่ยวกับการได้รับสุขทุกข์ของมนุษย์ ๓ ลัทธิ

ในสมัยพุทธกาลมีคำสอนสำคัญอยู่ ๓ ลัทธิ ที่กล่าวถึงทุกข์สุขที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ แม้กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ลัทธิศาสนาทั้งหมดเท่าที่มีก็สรุปลงได้เท่านี้ ไม่มีพ้นออกไป พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงลัทธิเหล่านี้และทรงแยกว่าคำสอนของพระองค์ไม่ใช่คำสอนอย่างลัทธิเหล่านี้ ลัทธิเหล่านั้นเป็นคำสอนประเภทอกิริยา คือหลักคำสอนหรือทัศนะแบบที่ทำให้ไม่เกิดการกระทำ เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรง

อาตมภาพจะอ่านลัทธิมิจฉาทิฏฐิ ๓ ลัทธินี้ตามนัยพุทธพจน์ที่มาใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พระสุตตันตปิฎก ในพระไตรปิฎกบาลี เล่ม ๒๐ และในคัมภีร์วิภังค์ แห่งพระอภิธรรมปิฎก ในพระไตรปิฎกบาลี เล่ม ๓๕

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ

๑ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำในปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ, เรียกว่า ปุพเพกตวาท)

๒ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสสรนิมมานเหตุ, เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท)

๓ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปัจจยะ, เรียกว่า อเหตุวาท)

ลัทธิทั้งสามนี้ พุทธศาสนิกชนฟังแล้ว อาจจะข้องใจขึ้นมาว่า เอ ลัทธิที่หนึ่งดูคล้ายกับหลักกรรมในพุทธศาสนาของเรา บอกว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน เอ ดูเหมือนกันเหลือเกิน

นี่เหละเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าได้ศึกษาเปรียบเทียบเสียบ้าง บางทีจะทำให้เราเข้าใจหลักกรรมของเราชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าไม่ระวัง เราอาจจะนำเอาหลักกรรมของเรานี้ไปปรับปรุงเป็นหลักกรรมของศาสนาเดิมที่พระพุทธเจ้าต้องการแก้ไข โดยเฉพาะคือลัทธิของท่านนิครนถนาฏบุตรเข้าก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงได้บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ข. เหตุใดสามลัทธินั้นจึงขัดหลักกรรม

ทีนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงตำหนิลัทธิทั้ง ๓ นี้เล่า พระองค์ได้ทรงแสดงโทษของการนับถือลัทธิทั้ง ๓ นี้ไว้ อันนี้ก็จะขออ่านตามนัยพุทธพจน์เหมือนกัน

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี”

ส่วนเรื่องของอีก ๒ ลัทธิก็เช่นเดียวกัน เมื่อนับถือพระผู้เป็นเจ้า หรือความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยแล้ว ฉันทะก็ดี ความเพียรพยายามก็ดี ว่าอันนี้ควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี

เมื่อถือว่า เราจะได้รับผลอะไร ก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน มันจะสุขจะทุกข์อย่างไรก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เราก็ไม่เกิดฉันทะและความเพียรพยายามว่าเราควรจะทำอะไร ก็ได้แต่รอผลกรรมต่อไป

ถึงเรื่องพระผู้เป็นเจ้าก็เหมือนกัน อ้อนวอนเอาก็แล้วกัน หรือว่าแล้วแต่พระองค์จะโปรดปราน ที่จะมาคิดเพียรพยายามทำด้วยตนเองก็ไม่มี ผลที่สุดก็ต้องสอนสำทับเพิ่มเข้าไปอีกว่าพระเจ้าจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตนเองก่อนเท่านั้น ไปๆ มาๆ ก็ต้องหันมาหาหลักกรรม

ความบังเอิญไม่มีเหตุปัจจัยก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องไปทำอะไรทำไม ถึงจะทำไปก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย มันบังเอิญเป็นอย่างนั้นเอง ก็ไม่ต้องทำอะไร ผลจะเกิดก็เกิดเอง แล้วแต่โชค

รวมความว่า ๓ ลัทธินี้ ข้อเสียหรือจุดอ่อนคือ ทำให้ไม่เกิดความเพียรพยายามในทางความประพฤติปฏิบัติ ไม่เกิดฉันทะในการกระทำ ส่วนหลักกรรมในพระพุทธศาสนา มองเทียบแล้วข้อแตกต่างก็อยู่ที่ว่า จะต้องให้เกิดฉันทะ เกิดความเพียรที่จะทำ ไม่หมดฉันทะ ไม่หมดความเพียร อันนี้เป็นหลักตัดสินในทางปฏิบัติ

- ๒ -
หลักกรรมที่แท้

๑. การแยกจากความเข้าใจผิด

เมื่อเข้าใจหลักกรรมโดยการเปรียบเทียบกับ ๓ ลัทธิที่ว่ามานี้แล้ว ก็น่าจะแก้ไขข้อคลาดเคลื่อนสับสนข้างต้นได้ทั้งหมด คือ ความคลาดเคลื่อนในแง่ความหมายของศัพท์อย่างที่เข้าใจกันทั่วไปก็ตาม หรือความคลาดเคลื่อนในแง่ทัศนคติก็ตาม อันนี้แก้ไขได้หมด เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจหลักกรรมของเราให้ถูกต้อง อย่างน้อยอย่าปนกับลัทธินิครนถ์

ในศาสนาของนิครนถ์เขาถือลัทธิกรรมเก่า สุขทุกข์อะไรเราจะได้รับอย่างไร ก็เพราะกรรมเก่าทั้งสิ้น เขาจึงสอนให้ทำกรรมเก่านั้นให้หมดไปเสีย แล้วไม่ทำกรรมใหม่ ทีนี้กรรมเก่าจะหมดไปได้อย่างไร เขาก็บอกว่ากรรมเก่าจะหมดไปได้ด้วยการบำเพ็ญตบะ พวกนิครนถ์ก็เลยบำเพ็ญทุกรกิริยา ทำอัตตกิลมถานุโยคที่พระพุทธองค์เคยทรงไปบำเพ็ญเมื่อก่อนตรัสรู้ บำเพ็ญอยู่ถึง ๖ ปี จนแน่พระทัยแล้วก็ทรงประกาศว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ไม่ได้ผลอะไร

พวกนิครนถ์ไม่ต้องการทำกรรมใหม่ กรรมเก่าก็ทำให้หมดไปด้วยตบะ ขอให้เทียบหลักนี้กับคำสอนในทางพุทธศาสนา ใน สฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ มีพุทธพจน์ว่าด้วยเรื่องกรรมในแง่หนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “เราจะแสดงกรรมเก่ากรรมใหม่ ความดับกรรม และทางดับกรรม” แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า

“กรรมเก่าคืออะไร? จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน นี้ชื่อว่ากรรมเก่า;
อะไรชื่อว่ากรรมใหม่ การกระทำที่เราทำอยู่ในบัดนี้ นี่แหละชื่อว่ากรรมใหม่;
อะไรคือความดับกรรม? บุคคลสัมผัสวิมุตติเพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมนั้นชื่อว่าความดับกรรม;
อะไรเป็นทางดับกรรม? มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน นี้เรียกว่า ทางดับกรรม”

อันนี้จะตรงกับลัทธินิครนถ์ได้อย่างไร ในลัทธินิครนถ์เขาสอนว่าทางดับกรรมคือดับกรรมเก่าโดยบำเพ็ญตบะ กับดับกรรมใหม่โดยไม่ทำ แต่พุทธศาสนาดับกรรมด้วยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ จะเห็นว่าที่ว่าดับกรรมนั้น ไม่ใช่ไม่ทำอะไร ทำทีเดียวแหละ แต่ทำอย่างดีอย่างมีเหตุมีผล ทำอย่างมีหลักมีเกณฑ์ ทำด้วยปัญญา คือทำตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ ๘ ประการ ต้องทำกันยกใหญ่ทีเดียว

ตามหลักดับกรรมในที่นี้ ไม่ใช่ไม่ทำ มรรคมีองค์ ๘ ประการ ต้องใช้ความเพียรพยายามในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก ต้องพยายามเพื่อให้มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง เพื่อให้มีสัมมาสังกัปปะ มีความดำริความคิดที่ถูกต้อง ให้มีสัมมาวาจา ใช้คำพูดที่ถูกต้อง ให้มีสัมมากัมมันตะ กระทำทางกายถูกต้อง ให้มีสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยสัมมาชีพ ให้มีสัมมาวายามะ มีความพยายามที่ถูกต้อง ให้มีสัมมาสติ มีสติที่ถูกต้อง ให้มีสัมมาสมาธิ บำเพ็ญปลูกฝังสมาธิที่ถูกต้อง หลักดับกรรมในพุทธศาสนาคือทำกันใหญ่เลย ไม่ใช่ไม่ทำ แต่ต้องทำจริงจัง

โดยนัยนี้ ถ้าเรามองดูหลักกรรมที่พุทธศาสนาสอนไว้ในที่ต่างๆ ให้รอบคอบสักหน่อย ก็จะเห็นว่ามุ่งหมายให้เกิดการกระทำ และที่พระพุทธเจ้าปฏิเสธหลักกรรมในศาสนาเก่าก็เพราะหลักกรรมในศาสนานั้นไม่ส่งเสริมให้เกิดฉันทะ และความเพียรพยายามในการกระทำ เพราะฉะนั้น ถ้าหลักกรรมของเราสอนกันไปแล้วทำให้ไม่เกิดฉันทะความเพียรพยายาม ก็มีเกณฑ์ตัดสินได้เลยว่า การสอนคงจะคลาดเคลื่อนเสียแล้ว

เป็นอันว่า ในที่นี้เราจะต้องแก้ความคลาดเคลื่อนออกไปเสียก่อน นี้คือจุดที่อาตมภาพต้องการชี้ว่า เราควรจะแก้ไขเพื่อทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง

๒. การทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ขั้นต่อไป คือ เราควรจะทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องในหลักกรรมนั้นอย่างไร

ประการแรก เราจะต้องศึกษาความหมายให้ชัดเจน อย่าเพิ่งไปเชื่อหรือยึดถือตามที่เข้าใจกันสามัญว่า เมื่อพูดกันอย่างนั้นก็เป็นอันถูกต้อง อย่าเพิ่ง ต้องศึกษาให้เห็นชัดเจน ให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่า พระพุทธเจ้าต้องการอะไรแน่

ที่พูดเมื่อกี้จะเห็นว่า ความเชื่อของเราในปัจจุบันนี้ คล้ายกับลัทธิกรรมเก่ามากอย่างไร แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจเกิดความข้องใจว่า เอ พุทธศาสนานี่ไม่เชื่อกรรมเก่าเลยหรืออย่างไร ก็ไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องทำความเข้าใจขอบเขตให้ถูกต้องว่า กรรมเก่าแค่ไหน กรรมใหม่แค่ไหน

ถ้าว่าโดยสรุปก็คือ พุทธศาสนาถือหลักแห่งเหตุและผล ถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลที่จะเกิดขึ้นต้องมีเหตุ และเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว ผลก็ย่อมเป็นไปโดยอาศัยเหตุปัจจัยนั้น มันสอดคล้องกันอยู่

ในเรื่องกรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน กรรมเป็นเรื่องของหลักเหตุผลที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เมื่อมันเป็นหลักของเหตุผลแล้ว มันก็ต้องมีทั้ง ๓ กาลนั่นแหละ คือ ต้องมีทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ปฏิเสธกรรมเก่า แต่ที่ผิดก็คือไปฝังจิตใจว่าอะไรๆ ต้องเป็นเพราะกรรมเก่าไปหมด นี่เป็นข้อเสีย

พุทธศาสนาถือว่ากรรมเก่านั้นมันเสร็จไปแล้ว เราย้อนกลับไปทำหรือไม่ทำอีกไม่ได้ “กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ” การกระทำที่ทำไปแล้ว เราไปหวนกลับให้กลายเป็นไม่ได้ทำไม่ได้ ทีนี้ ประโยชน์ที่เราจะได้จากกรรมเก่าคืออะไร

กรรมเก่าเป็นเหตุปัจจัยอยู่ในกระบวนการของวงจรปฏิจจสมุปบาท มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นเหตุ เราปฏิเสธไม่ได้ ตามหลักของเหตุผล การกระทำในอดีต ก็คือการกระทำที่ทำไปแล้ว มันย่อมต้องมีผล ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราควรได้ประโยชน์จากอดีตอย่างไร

กรรมเก่า หรือกรรมในอดีตนั้น ทำไปแล้วแก้ให้กลายเป็นไม่ทำน่ะไม่ได้ แต่เรามีทางใช้ประโยชน์จากมันได้ คือในแง่ที่จะเป็นบทเรียนแก่ตนเอง รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุง และการที่จะรู้จักพิจารณาไตร่ตรองมองเห็นเหตุผล ทำให้เป็นคนหนักแน่นในเหตุผล พร้อมทั้งทำให้เป็นคนรู้จักรับผิดชอบตนเอง ให้รู้จักพิจารณาว่าผลที่เกิดกับตนเองเกี่ยวข้องกับการกระทำของตัวเราอย่างไร ไม่มัวโทษผู้อื่นอยู่เรื่อย และไม่ใช่มัวรอรับแต่ผลของกรรมเก่า

โดยเฉพาะข้อสำคัญ เมื่อพิจารณาเห็นเหตุผลแล้ว ก็จะเป็นบทเรียนสำหรับคิดแก้ไขปรับปรุงตนเองต่อไป จุดที่พระพุทธเจ้าต้องการที่สุดคือเรื่องปัจจุบัน เพราะว่าอดีตเราไปทำแก้คืนไม่ได้ แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราทำได้ เรามีอิสรภาพมากทีเดียวในปัจจุบันที่จะกระทำการต่างๆ

เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อกรรมแต่ละอย่างว่า กรรมเก่าเราควรจะวางความรู้สึกอย่างไร เอามาใช้ประโยชน์อย่างไร กรรมใหม่เราควรจะทำอย่างไร นี่ขีดวงแยกกันให้ถูกต้อง แล้วจึงจะได้ผลดี

๓. วัตถุประสงค์ของการสอนหลักกรรม

ประการต่อไป เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการสอนเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้าว่า เดิมทีเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องกรรมขึ้นมานี้ พระองค์มีวัตถุประสงค์หรือต้องการอะไร มีความมุ่งหมายอย่างไร

ในการปฏิบัติธรรม สิ่งสำคัญที่สุดอันหนึ่งคือ ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ ถ้าไม่เข้าใจวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายแล้ว การปฏิบัติธรรมจะไขว้เขวเลื่อนลอย เมื่อเลื่อนลอยไปพักหนึ่งแล้วก็จะเข้าใจผิด ที่เราเข้าใจผิดเรื่องสันโดษเรื่องอุเบกขาอะไรนี่ เพราะว่าโดยมากสอนแต่ความหมาย ทำความเข้าใจแต่ความหมาย แล้วไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายว่า ในการปฏิบัติธรรมข้อนี้ๆ ท่านมุ่งหมายเพื่ออะไร และเมื่อไม่รู้ความมุ่งหมายแล้ว ความหมายเองก็ไม่ชัดด้วย

อย่างสันโดษนี่เราปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าจะซักถามในแง่วัตถุประสงค์ขึ้นมา บางทีก็ชักอึดอัดกันทีเดียวว่า เอ นี่จะต้องการอะไรแน่ จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศีล เรามักจะศึกษาเฉพาะในแง่ความหมาย แต่ถ้าถามว่า ศีลนี่เราปฏิบัติเพื่ออะไร บางทีก็ชักงงไม่ชัด บางทีก็ตอบโพล่งทีเดียว เช่นว่าเพื่อพระนิพพาน ตอบอย่างนี้คลุมเครือ ข้ามไปหาวัตถุประสงค์ใหญ่ จริงอยู่วัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนาขั้นสูงสุดเพื่อพระนิพพาน แต่ว่าไม่ใช่ปฏิบัติศีลอย่างเดียวไปนิพพานได้ มันต้องมีเป็นขั้นเป็นตอน

เพราะฉะนั้น นอกจากวัตถุประสงค์ใหญ่แล้ว ยังต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ว่านี้เพื่ออะไร จะตอบว่าปฏิบัติศีลเพื่อสมาธิหรือเพื่ออะไร ก็ต้องตอบมาให้ชัด สันโดษก็เช่นเดียวกัน กรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจความมุ่งหมายในการสอนในการปฏิบัติ ความหมายของธรรมนั้นก็จะชัดเจนขึ้นด้วย และก็เป็นการปฏิบัติอย่างมีหลักเกณฑ์ ไม่ใช่เลื่อนลอย ไขว้เขว สับสน

ก. ให้เลิกแบ่งชนชั้นโดยชาติกำเนิด

ทีนี้ลองมาดูความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนเรื่องกรรม ถ้าศึกษาในแง่นี้จะเห็นว่ามีหลายความมุ่งหมายเหลือเกิน

พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องกรรมนี้ อย่างแรกก็คือเพื่อขจัดความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติในสังคมของศาสนาพราหมณ์เดิมเกี่ยวกับเรื่องวรรณะ

วรรณะคือการแบ่งคนเป็นชั้นต่างๆ ตามชาติกำเนิด ศาสนาพราหมณ์ถือว่าคนเราเกิดมาเป็นลูกกษัตริย์ก็เป็นกษัตริย์ เป็นลูกพราหมณ์ก็เป็นพราหมณ์ เป็นลูกแพศย์ก็เป็นพ่อค้า เป็นลูกศูทรก็เป็นกรรมกรคนรับใช้ ใครเกิดในวรรณะไหนก็ต้องเป็นคนวรรณะนั้นตลอดไป แล้วแต่ชาติกำเนิด แก้ไขไม่ได้ อันนี้เป็นคำสอนเดิม เขาสอนอย่างนั้น

ครั้นมาถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเน้นเรื่องกรรมไม่เกี่ยวกับวรรณะว่า คนเรานั้น “น ชจฺจา วสโล โหติ น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ” บอกว่า คนเราไม่ได้เป็นคนถ่อยคนต่ำทราม เพราะชาติกำเนิด และก็ไม่ได้เป็นพราหมณ์ คือคนสูงเพราะชาติกำเนิด แต่ “กมฺมุนา วสโล โหติ กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ” จะเป็นคนทรามก็เพราะกรรม และเป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม

ในพุทธพจน์นี้ ถ้าเรามองกรรมเป็นกรรมเก่า มันก็เข้าเป็นอันเดียวกับคำสอนเดิมของพราหมณ์ไปเลย เขาก็บอกว่า อ้อ ของท่านก็เหมือนกัน ท่านบอกเพราะกรรม นี่ก็เพราะกรรมเก่าสิจึงเกิดมาเป็นพราหมณ์ เกิดมาเป็นคนถ่อยก็อย่างเดียวกัน คือตามชาติกำเนิดเหมือนกัน แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น กรรมในที่นี้หมายถึงการกระทำ

ในความหมายหยาบที่สุด การทำกรรมก็หมายถึงอาชีพการงาน อย่างในพุทธพจน์นี้ก็มีขยายต่อไป เช่นตรัสว่า ใครไปทำนาทำไร่คนนั้นก็เป็นชาวนา ไม่ใช่เป็นพราหมณ์ ถ้าคนไหนไปลักขโมยเขา คนนั้นก็เป็นโจร คนไหนไปปกครองบ้านเมือง คนนั้นก็เป็นราชา ดังนี้เป็นต้น นี่พระองค์ขยายความเรื่องกรรม

หมายความว่า การกระทำอาชีพการงานกิจการที่ประกอบกันอยู่นี้ หรือความประพฤติที่เป็นไปอยู่นี้แหละ เป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่จะวัดคน พุทธศาสนาไม่ต้องการให้ไปวัดกันด้วยชาติกำเนิด แต่ให้วัดกันด้วยการกระทำความประพฤติที่บุคคลนั้นประกอบและดำเนินไป ตั้งแต่คุณธรรมในจิตใจ

นี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก ถ้าเราอ่านในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า มีพระสูตรต่างๆ ที่พยายามนำหลักกรรมมาแก้ไขเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะโดยชาติกำเนิดนี้มากมาย

ข. ให้รู้จักพึ่งตนเองและหวังผลสำเร็จด้วยการลงมือทำ

อีกแง่หนึ่งที่สำคัญก็คือ ความเพียรพยายามในการพึ่งตนเอง และรู้จักแก้ไขปรับปรุงตัว อันนี้เป็นข้อสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสอนย้ำบ่อยๆ อย่างหลัก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หรืออีกอย่าง ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ ความเพียรท่านทั้งหลายต้องทำเอง อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตทั้งหลายเป็นผู้บอก เป็นผู้ชี้ทางให้ ก็เป็นเรื่องที่สอนให้คนเรามีความเพียรพยายามในการกระทำ

ท่านไม่ให้ไปมัวหวังพึ่งปัจจัยภายนอก เพราะปัจจัยภายนอกนั้นไม่ยั่งยืน และมันไม่อยู่กับตัว จึงไม่แน่นอน และถึงอย่างไรก็ตาม ในที่สุดตัวเราก็จะต้องทำ ถ้าจะให้เกิดผลสำเร็จที่แท้จริงแล้ว จะต้องทำจะต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้อยู่เสมอ พยายามให้เราหันมาพึ่งตัวเองให้มากขึ้น ลดความพึ่งปัจจัยภายนอก ตัดความเชื่อถือในเรื่องสิ่งที่จะมาอำนวยผลประโยชน์ของเราโดยทางลัด ให้มันน้อยลงไปๆ อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง

พระพุทธเจ้าทรงมีวัตถุประสงค์หลายอย่างในการสอนเรื่องกรรม แต่หลักใหญ่ๆ ก็มีอย่างนี้ ขอยกมาเพียง ๒ อย่างนี้ก่อน

การทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ที่กล่าวมานี้ จุดสำคัญก็คือต้องการให้เรามีความเพียรพยายามในการที่จะทำความดีและแก้ไขปรับปรุงตนเองขึ้นไป อันนี้แหละเป็นหลักสำคัญมากในพุทธศาสนา ซึ่งต้องถือว่าจุดมุ่งหมายจะบรรลุได้ก็โดยที่ตัวเราต้องทำ ศาสดาครูอาจารย์เป็นเพียงผู้แนะผู้บอกทางให้เท่านั้น ไม่ใช่ว่าช่วยเราไม่ได้เลย ท่านจะช่วยแบบที่ว่าส่งเราไปสวรรค์ ส่งเราไปนรก ส่งเราไปนิพพานนั้น ส่งไปไม่ได้ แต่บอกทางให้ ชี้ทางให้ แนะนำพร่ำสอนกันได้ เป็นกัลยาณมิตรให้ แต่ถึงตอนทำ เราต้องทำ

๔. ความหมายที่แท้ของกรรม

ต่อไปจะพูดถึงตัวแท้ของหลักกรรมเอง ซึ่งก็จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเหมือนกัน หลักกรรมเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง พอพูดถึงความหมายที่ลึกซึ้ง ก็กลายเป็นเรื่องเกี่ยวเข้าไปถึงหลักใหญ่ๆ โดยเฉพาะปฏิจจสมุปบาท

จะต้องระลึกไว้ว่า กรรมนี้ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องภายนอก ไม่ใช่การกระทำที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจาเท่านั้น ต้องมองเข้าไปถึงกระบวนการทำงานในจิตใจ และผลที่เกิดขึ้นในจิตใจแต่ละขณะๆ ทีเดียว ความหมายที่แท้จริงของกรรมมุ่งเอาที่นั่น คือความเป็นไปในจิตใจของแต่ละคน แต่ละขณะ กรรมที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาอะไรๆ ก็ต้องเริ่มขึ้นในใจก่อนทั้งนั้น

จุดเริ่มแรกในกระบวนการทำงานของจิตเป็นอย่างไร เกิดขึ้นโดยมีเหตุมีผลอย่างไร แล้วแสดงออกทางบุคลิกภาพอย่างไร ในขั้นลึกซึ้งจะต้องศึกษาเรื่องกรรมกันอย่างนี้ ถ้าทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ให้ชัดแจ้งแล้ว เราจะมองเห็นว่ากรรมเกี่ยวพันกับชีวิตของเราอย่างชัดเจนอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ แต่ความเข้าใจในขั้นนี้เป็นขั้นที่ยาก อย่างไรก็ตาม ถ้าเราต้องการให้เชื่อหลักกรรมและเข้าใจหลักกรรม จนรู้หลักกรรมที่แท้จริง ก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ยากนั่นแหละ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทาง

ถ้าเราไม่สามารถศึกษาให้เข้าใจชัดเจนถึงกระบวนของกรรมในขั้นจิตใจ ตั้งต้นแต่ความคิดออกมาจนชัดเจนได้ เราก็ไม่มีทางที่จะสอนกันให้เข้าใจหรือให้เชื่อหลักกรรมได้ ความคิดที่มีผลต่อบุคลิกภาพออกมาแต่ละขณะๆ นั่นแหละคือกรรม กรรมนี้ที่แท้ก็คือเรื่องของกฎธรรมชาติ เรื่องของข้อเท็จจริง

ความจริง ปัญหาของเราไม่ใช่ว่าทำอย่างไรจึงจะเชื่อเรื่องกรรม เมื่อหลักกรรมเป็นกฎธรรมชาติ เป็นหลักแห่งความจริง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจะเชื่อ แต่กลายเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ จึงจะเข้าใจ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่มีผลต่อหลักกรรม หลักกรรมเป็นความจริง มันก็คงอยู่อย่างนั้น เราจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้นเอง เข้าหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสในเรื่องธรรมนิยาม ว่า

อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม หลักความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น

แม้แต่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติ มันก็เป็นความจริงของมัน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจะศึกษาให้เข้าใจชัดเจน เพราะฉะนั้น ไปๆ มาๆ จึงกลายเป็นว่า จะต้องเปลี่ยนหัวเรื่องที่ตั้งไว้แต่ต้นที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเชื่อเรื่องกรรม กลายเป็นว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้หรือเข้าใจเรื่องกรรม คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ มันก็เป็นความจริงของมัน คุณจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ชีวิตของคุณก็ต้องเป็นไปตามกรรม ถ้าทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว เราไม่ง้อคนเชื่อ

เพราะฉะนั้นจุดสำคัญอยู่ที่นี่ คือสำคัญที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจชัดเจน จนกระทั่งเมื่อแสดงให้เห็นตัวความจริงได้แล้ว เราไม่ง้อคนเชื่อ เราบอกว่าอันนี้เป็นกฎธรรมชาติ เป็นความจริงของมันอยู่เอง คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ฉันไม่ง้อ ต้องถึงขั้นนั้น

ทีนี้ก็มาถึงปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจหรือรู้หลักกรรม ตรงนี้ก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา เรื่องกรรมนี่เราพูดกันมาก แต่ก็พูดกันเพียงแค่ภายนอก โดยมากมุ่งผลหยาบๆ ที่แสดงแก่ชีวิตของคนเรา ถ้าเป็นผลในแง่ดีก็มองไปที่ถูกลอตเตอรี่หรือร่ำรวยได้ยศศักดิ์ อย่างใหญ่ๆ เป็นก้อนใหญ่ๆ จึงเกิดความรู้สึกว่าอันนี้คงจะเป็นผลของกรรมดี ส่วนในแง่ร้ายเราก็มองไปถึงการเกิดภัยพิบัติ เกิดอันตรายใหญ่โตไปอย่างนั้น จึงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องกรรม แต่ในแง่นั้นยังไม่ถึงหัวใจแท้จริงของกรรม

ถ้าจะศึกษาเรื่องกรรมให้เข้าใจชัดเจน จะต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการของจิตใจภายในนี้เป็นต้นไป ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ขอย้ำว่าการศึกษาแต่ด้านภายนอกให้มองเห็นกรรมที่แสดงออกเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ นั้นไม่พอ ต้องหันมาศึกษาเรื่องลึกซึ้งด้วย อันนี้อาตมภาพก็เป็นแต่เพียงมาเสนอแนะ เราจะพูดถึงเนื้อแท้ของหลักกรรมในแง่ลึกซึ้งอย่างเรื่องปฏิจจสมุปบาทในที่ประชุมนี้ก็คงไม่ไหว เป็นแต่บอกว่าควรจะเป็นอย่างนี้เท่านั้น

เป็นอันว่า ที่ตั้งเป็นหัวข้อว่าทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรมนี้ ปัญหามันมาอยู่ที่ว่า จะศึกษาทำความเข้าใจหลักกรรมให้ลึกซึ้งจนเห็นข้อเท็จจริงออกมาได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาระยะยาว ขอผ่านไปก่อน เพราะไม่มีเวลาจะพูดลึกซึ้งไปได้ในเรื่องนี้อีก

- ๓ -
ทำอย่างไรจะสอนหลักกรรมให้ได้ผล

ต่อไปจะพูดถึงปัญหาเฉพาะหน้าว่า ทำอย่างไรจะให้คำตอบเรื่องกรรมนี้เป็นผลขึ้นมาในทางปฏิบัติ อาตมภาพคิดว่าการที่ท่านตั้งชื่อเรื่องว่า ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรมนี้ ท่านคงมุ่งผลว่าทำอย่างไรจะได้ผลในทางปฏิบัติ คือ เด็กก็ตาม คนหนุ่มคนสาวก็ตาม คนผู้ใหญ่ทั่วไปในสังคมก็ตาม จะประพฤติปฏิบัติทำแต่กรรมดี ไม่ทำชั่ว เพราะกลัวผลชั่วอะไรทำนองนี้ ท่านคงมุ่งหมายอย่างนั้นเป็นเกณฑ์ คือทำอย่างไรคนทั้งหลายจะประพฤติกรรมดี แล้วก็หลีกเว้นกรรมชั่ว จึงจะพูดถึงในแง่ของถ้อยคำที่เขาพูดกันในปัจจุบัน

ค่านิยมกับกรรม

คนสมัยนี้เขามีศัพท์ที่ใช้กันคำหนึ่งเรียกว่า “ค่านิยม” โดยเฉพาะค่านิยมทางสังคม อันนี้กระทบกระเทือนต่อหลักกรรมมาก ในขณะที่เรายังไม่สามารถศึกษาและชี้แจงออกมาให้เห็นชัดกันในเรื่องหลักกรรม โดยให้เป็นเรื่องแพร่หลายที่สุดได้นี้ เราจะต้องมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องค่านิยมนี้ก่อน จะแก้ได้อย่างไร

ค่านิยมของสังคมที่ยกย่องนับถือมีอุปาทานในทางวัตถุมาก จะมากระทบกระเทือนต่อความเข้าใจในหลักกรรม ค่านิยมอย่างนี้ มองเห็นได้จากคำพูดที่เกี่ยวกับกรรมนั่นเอง เวลาเราพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนส่วนมากเข้าใจความหมายไปตามค่านิยมทางวัตถุ เช่นว่า ทำดีแล้วได้ลาภ หรือทำดีแล้วได้เลื่อนยศ เป็นต้น

ที่จริงนั้น คำว่า “ดี” ในนั้น จะว่าทำดีก็ตาม ได้ดีก็ตาม ยังไม่ได้บอกชัดเลยว่า อะไรดี เมื่อว่าตามหลักความจริงโดยเหตุผล ทำดีก็ย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว เป็นหลักธรรมดาตามธรรมชาติ ถ้าหากว่ามันผิด ก็แสดงว่าคนต้องมีความไม่ซื่อตรงเกิดขึ้นในเรื่องนี้ เพราะว่าตามกฎธรรมดานี้ เหตุอย่างไรผลอย่างนั้น เป็นหลักทั่วไป ไม่ว่าใครก็ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี่เป็นหลักสามัญ เป็นกฎธรรมดา ถ้าคนไปเห็นว่าหลักนี้ผิด แสดงว่าต้องมีความไม่ซื่อตรงเกิดขึ้น คือคดโกงกันในหลักกรรมนี่แหละ

คดโกงในกฎธรรมชาติ เขาคดโกงกันอย่างไร ทำดีได้ดี ยังไม่ได้แจงออกไปว่าอะไรดี ในคำว่า “ทำดีได้ดี” ถ้าเราบอกว่า ดีตัวนั้นเป็นกรรม คือทำความดี ผลก็ต้องได้ความดี ทำความชั่วผลก็ต้องได้ความชั่ว นี่ตรงตามหลัก

แต่ความดีนี่คนชักงง พอพูดว่าความดี บางทีไปนึกเป็นความดีความชอบไปเสียอีก เอาอีกแล้ว เลยเถิดไป ความดีนี่คือตัวคุณธรรม หรือคุณสมบัติที่ดี เมื่อทำความดี ก็ได้ตัวความดี เมื่อเราสร้างเมตตาขึ้นในใจ เราก็ได้เมตตาเพิ่มขึ้นมา อันนี้ไม่มีปัญหา

ทีนี้คนจะคดโกงกับหลักนี้อย่างไร ถ้าขยายทำดีได้ดีออกไป ว่าทำความดีได้ความดี ก็ตรงไปตรงมา แต่คนไม่คิดอย่างนั้น เขามองว่า ทำความดีได้ของดี ทำความชั่วได้ของชั่ว หรือทำความดีได้ของชั่ว ทำความชั่วได้ของดี อะไรทำนองนี้ มันกลับกันไปเสีย

ทำความดีได้ของดี เช่น ฉันประพฤติความดี ฉันขยัน ฉันให้สิ่งของอันนี้ไป ฉันทำทานอันนี้ ฉันจะต้องถูกลอตเตอรี่ ฉันต้องได้รับคำยกย่อง ความดีในที่นี้ไม่ใช่ตัวความดีเสียแล้ว แต่เป็นของดีเช่นเงินลอตเตอรี่ อันนี้ไม่ตรงแล้ว กลายเป็นว่าทำความดีได้ของดีนี่คือคนไปบิดเบือนหลักเสีย นี่ไม่ซื่อตรงแล้ว ผิดต่อกฎธรรมชาติ ฉะนั้นความคลาดเคลื่อนก็เกิดจากความที่คนเราทั้งหลายไม่ซื่อตรงนั่นเอง ไม่ใช่หลักการผิดพลาดคลาดเคลื่อนอะไร

คนเราไม่ซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติเอง เราสร้างความหมายที่เราต้องการเอาเอง อะไรที่ถูกใจเรา เราก็ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เมื่อไม่ได้อย่างใจเรา เราก็โกรธ เราก็หาว่าหลักนั้นผิด เราบอกว่าเราทำดีแล้ว ทำไมไม่ถูกลอตเตอรี่ มันจะไปเกี่ยวอะไรกันโดยตรง มันไม่เกี่ยวโดยตรง จะเกี่ยวกันได้ก็โดยอ้อม ความต้องการผลอย่างนี้ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่ความซื่อตรงในหลักกรรมแล้ว นี้ก็อันหนึ่ง เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับค่านิยม คำที่ว่านี้แสดงค่านิยมในทางวัตถุของมนุษย์ในสังคม ซึ่งทำให้คนไม่ซื่อตรงต่อธรรม

ค่านิยมเป็นกรรม

ปัจจุบัน สิ่งที่ดีที่ประสงค์ในใจของมนุษย์นั้น มุ่งไปที่ผลได้ทางวัตถุเป็นสำคัญ ความสะดวกสบายทางวัตถุ และความมีทรัพย์สมบัติ จึงกลายเป็นเครื่องวัดที่สำคัญไป ความดี-ความเลว ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ก็มาวัดกันที่วัตถุ คนเราก็ยิ่งนิยมวัตถุมาก

ทีนี้ในเมื่อนิยมวัตถุมากขึ้นๆ ความนิยมในทางจิตใจก็น้อยลงๆ จนความหมายแทบไม่มี แม้แต่เกียรติที่ให้กันในทางสังคม มันก็มุ่งไปทางวัตถุมากขึ้น ในเมื่อสังคมนิยมเกียรติที่วัดกันด้วยวัตถุอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นการคลาดเคลื่อนจากความหมายกันอย่างชัดๆ คือคนเรานี้ไม่ซื่อตรงต่อหลักหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

เมื่อนิยมอย่างใด ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องการให้ได้ผลอย่างนั้น แต่เมื่อผลไม่ตรงกับเหตุ มันก็เป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ เมื่อไม่ได้ เราก็หาว่าหลักนั้นไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ว่าไม่เชื่อบ้าง อะไรบ้างก็ตามแต่ อันนี้ก็เป็นผลของกรรมที่คนทำกันในสังคมนั่นเอง คือกรรมของการที่เรามีค่านิยมทางวัตถุมาก มาเอาความดีความเจริญความก้าวหน้าความสุขกันอยู่แต่ที่วัตถุ เลยหลงลืมคุณค่าทางจิตใจ แล้วเราก็ได้รับผลกรรม คือ เราทำดีไม่ได้ดี เป็นผลของการที่เราทำกรรมไม่ดี อันได้แก่การหลงผิดเอาดีเป็นของดี

เป็นอันว่า ในเมื่อธรรมะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจอยู่มาก ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญทางด้านจิตใจหรือทางด้านคุณธรรมเสียแล้ว ธรรมะก็หมดความหมายลงไปสำหรับเราเป็นธรรมดา ถ้าเราต้องการให้คนมาประพฤติตามหลักธรรม เราก็ต้องช่วยกันเชิดชูคุณค่าทางจิตใจหรือคุณค่าทางฝ่ายคุณธรรมให้มากขึ้น เราจะต้องรู้จักขอบเขตของคุณค่าทางวัตถุ เราจะต้องวัดกันด้วยวัตถุให้น้อยลง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าสังคมของเรานิยมยกย่องวัตถุกันมาก มันก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนจะต้องวัดดี (วัดความดีและผลดี) กันด้วยวัตถุ การที่สังคมไปนิยมยกย่องวัตถุมาก ไม่ใช่กรรมของคนที่อยู่ในสังคมนั้นหรือ

กรรมที่หมายถึงการกระทำนั้นรวมทั้งพูดและคิด ความคิดที่นิยมวัตถุนั้น เป็นกรรมใช่หรือไม่ ในเมื่อแต่ละคนทำกรรมแห่งความนิยมวัตถุนี้ คือ มีความโลภในวัตถุมาก มันก็เป็นอกุศลกรรม เมื่อเป็นอกุศล ก็กลายเป็นว่า คนในสังคมนั้นทำอกุศลกรรมกันมาก เมื่อทำอกุศลกรรมกันมาก วิบากที่เกิดแก่คนในสังคมก็คือผลร้ายต่างๆ

มนุษย์จะต้องมองให้เข้าใจความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยอันนี้ จะต้องเข้าใจว่า สังคมที่เดือดร้อนวุ่นวายกันอยู่ มีความไม่ปลอดภัย มีภัยอันตรายเกิดขึ้นในที่ต่างๆ มากมาย ไปไหนก็หวาดผวาไม่สะดวกสบายนั้น มันเกิดจากกรรมของเราแต่ละคนด้วย เราต้องมองให้เห็นความสัมพันธ์ที่โยงกันซับซ้อนถึงขนาดนี้จึงจะได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่เข้าใจซึ้งถึงเรื่องกรรมว่าเหตุกับผลมันสัมพันธ์ส่งถึงกันอย่างไร

บางคนมองผิวเผินก็คิดว่า เอ ที่มันเกิดภัยอันตรายโจรผู้ร้ายมากมาย คนไม่ค่อยประพฤติศีลธรรมกันนั้น ไม่เห็นเกี่ยวกับเราเลย คนอื่นทำทั้งนั้น นี่แหละ เราซัดความรับผิดชอบละ ที่จริงเป็นกรรมของแต่ละคนที่ช่วยกันสร้างขึ้น ตั้งแต่ค่านิยมที่อยู่ในใจเป็นต้นไป เพราะเรานิยมเรื่องนี้มากใช่ไหม ผลจึงเกิดในแง่นี้ เรื่องอย่างนี้พอจะเชื่อมโยงได้อยู่ ลองศึกษาให้ดีเถิด

เมื่อมีค่านิยมอย่างนี้ อะไรๆ ก็วัดกันด้วยวัตถุอย่างเดียวแบบนี้ คนก็ต้องพยายามแสวงหาวัตถุด้านเดียวไม่มียั้ง เมื่อแสวงหาแบบนั้นมันก็ขยายออกไปในรูปของการทุจริต อาชญากรรม ความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ ที่เป็นเรื่องของการแย่งชิงอะไรต่ออะไรกันมาก นี่ก็คือความนิยมที่เป็นมโนกรรมอยู่ในจิตใจของแต่ละคนนั่นเองเป็นเหตุให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในระยะยาว

ถ้าสามารถมองจนเห็นว่า เหตุร้ายภัยพิบัติความเสื่อมเสียต่างๆ ที่เกิดในสังคมนี้เป็นผลวิบาก เกิดแต่กรรมของเราทั้งหลายนั้นเอง ถ้ามองทะลุไปได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าพอจะทำความเข้าใจในเรื่องกรรมกันได้บ้าง แต่ขั้นแรก ต้องให้เห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยก่อน

ประการต่อไป ว่าถึงในระยะยาวจะทำอย่างไร เรื่องกรรมนี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องคุณค่าทางนามธรรมที่มองเห็นได้ยาก จะต้องศึกษาใช้สติปัญญากันไม่ใช่น้อย การที่จะให้คนประพฤติปฏิบัติกันจริงจังได้ผลในระยะยาว จะต้องอบรมปลูกฝังกันจนเป็นนิสัย จะต้องให้การศึกษาตามแนวทางที่มีความเข้าใจในหลักกรรมเป็นพื้นฐาน คือ ต้องฝึกฝนอบรมตั้งแต่เด็ก ให้ประพฤติด้วยสำนึก รับผิดชอบต่อการกระทำของตนจนเคยชิน ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะได้ผลยาก

การศึกษาให้เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งนั้นเป็นเรื่องยาก แม้จะเป็นความจริงก็ตาม แต่สิ่งที่จะทำได้ในทางการศึกษาก็คือ สิ่งใดตกลงกันแน่ชัดว่าดีว่างามแล้ว เราจะต้องฝึกอบรมคนให้ใส่ใจรับผิดชอบตั้งแต่เล็กแต่น้อยไป

เมื่อเราต้องการให้สังคมเป็นสังคมที่ซื่อตรงต่อความจริงโดยนับถือหลักกรรม ก็ต้องฝึกอบรมกันตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกของสังคมนั้น ให้มีแนวคิดและความประพฤติปฏิบัติที่ซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติในเรื่องกรรม ตั้งต้นแต่ต้องปลูกฝังค่านิยมซึ่งมองเห็นคุณค่าทางจิตใจและทางปัญญาที่สูงขึ้น โดยเข้าใจความหมายขอบเขตแห่งคุณค่าและความสำคัญของวัตถุตามความจริงความควร ไม่วัดกันด้วยวัตถุมากเกินไป

ต่อไปนี้จะพูดถึงความซื่อตรงต่อความจริงเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง

คุณค่าแท้ กับคุณค่าเทียม

ในเรื่องวัตถุนั้น ไม่ใช่ว่าพุทธศาสนาจะปฏิเสธคุณค่าของวัตถุ หรือไม่เห็นความจำเป็นของวัตถุ ที่แท้นั้นพระพุทธศาสนาเห็นความสำคัญของวัตถุอย่างมาก ว่าวัตถุเป็นสิ่งจำเป็น ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งที่อุดหนุนให้ชีวิตของเราดำรงอยู่ได้ เริ่มตั้งแต่หลักที่ว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏิติกา สัตว์ทั้งปวงต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหาร ถึงที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ก็เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต

พุทธศาสนาเห็นว่า แม้แต่พระสงฆ์ ซึ่งต้องการวัตถุน้อยที่สุด ก็ยังต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ ขาดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องวัตถุจึงไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ความสำคัญนั้นก็มีขอบเขตของมัน

คุณค่าของวัตถุนั้นเราอาจแยกออกได้เป็น ๒ ส่วน ขอให้ลองคิดดู อย่างง่ายๆ ๒ ส่วน คือ คุณค่าแท้ หรือคุณค่าขั้นต้น กับคุณค่ารอง หรือคุณค่าเทียม

ตัวอย่างเช่นปัจจัย ๔ เสื้อผ้านี้ คุณค่าต้นหรือคุณค่าแท้ของมันคืออะไร คือเพื่อปกปิดกาย ป้องกันความละอาย แก้ความหนาวความร้อนเป็นต้น นี่คือประโยชน์แท้ หรือคุณค่าแท้ของมัน

แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชนแล้ว มันไม่แค่นั้น มันจะมีคุณค่ารองที่ซ้อนเสริมเติมเข้ามาอีก คุณค่ารองคืออะไร คือความหมายที่จะให้เกิดความรู้สึกสวยงาม โก้ หรูหรา อวดกัน วัดกัน อะไรต่างๆ เรียกอีกอย่างว่าเป็นคุณค่าเทียม

อย่างเราใช้รถยนต์ มันก็มีคุณค่าแท้ที่ยืนตัวส่วนหนึ่ง และสำหรับหลายๆ คนก็จะมีคุณค่ารองที่เสริมเติมเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง

คุณค่าแท้คืออะไร คุณค่าแท้ก็ใช้เป็นยานพาหนะ นำเราไปสู่ที่หมายด้วยความรวดเร็ว แนวความคิดที่ควบคู่กับคุณค่านี้ก็คือ พยายามให้สะดวกและปลอดภัยทนทานที่สุด

คุณค่ารองก็คือ เราจะต้องให้โก้ เป็นเครื่องแสดงฐานะอะไรต่างๆ ความคิดที่ควบกับคุณค่าแบบนี้ก็คือ ต้องพยายามให้สวย ให้เด่น ให้โก้หรู ให้แพงที่สุด

ถึงสิ่งอื่นๆ ก็เหมือนกัน ที่อยู่อาศัยก็มีคุณค่าแท้ คือให้เป็นที่พักพิงหลบภัย และเป็นที่ที่เราจะได้ดำรงชีวิตส่วนเฉพาะของเรา ในครอบครัวของเรา ให้มีความสุข ฯลฯ แต่พร้อมกันนั้นมันก็มีคุณค่ารองซ้อนเสริมเพิ่มเข้ามาในความหมายของปุถุชน เช่น เป็นเครื่องแสดงฐานะ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ หรืออะไรก็ตามแต่

สำหรับหลายๆ คน คุณค่าเทียมที่ซ้อนเสริมเติมเข้ามานี้ ขยายใหญ่โตมากจนถึงกับบังคุณค่าแท้ให้จมหายไป มองไม่เห็นเลย อันนี้ดูเหมือนจะเป็นแนวโน้มหรือเป็นกระแสที่แรงมากขึ้น

สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทางวัตถุนี้ สำหรับปุถุชนมักจะมีคุณค่าทั้ง ๒ คือ คุณค่าแท้ กับคุณค่าซ้อนเสริม พระพุทธศาสนายอมรับคุณค่าแท้

คุณค่าแท้นี่แหละสำคัญ พระใหม่พอบวชเข้ามาท่านก็ให้พิจารณาอย่างที่เรียกว่า ปฏิสังขา-โย เช่น เวลาฉันบิณฑบาต ให้พิจารณาว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ แปลว่า ข้าพเจ้าพิจารณาโดยแยบคาย จึงฉันอาหาร พิจารณาอย่างไร ท่านก็อธิบายต่อไปให้รู้ว่า ฉันเพื่ออะไร ให้รู้ว่าที่เราฉันนี่ก็เพื่อให้มีกำลังกาย จะได้มีชีวิตเป็นไป แล้วเราจะได้ทำหน้าที่ของเรา หรือทำประโยชน์อะไรต่ออะไรได้ ตลอดจนเป็นอยู่สบาย นี่คือคุณค่าแท้

ต่อไปคุณค่ารองที่ซ้อนเสริมเข้ามาก็คือเอร็ดอร่อย อาจจะต้องมีเครื่องประกอบหรือประดับเสริม เช่นต้องไปนั่งในภัตตาคารให้โก้หรู อาจจะจ่ายมื้อละพันหรือมื้อละหมื่นก็มี แต่คุณค่าของอาหาร บางทีก็เท่ากับมื้อละ ๑๐ บาทหรือ ๕ บาท หมายความว่ามื้อละพันบาทกับมื้อละ ๕ บาท มีคุณค่าที่จำเป็น หรือคุณค่าแท้ต่อชีวิตเท่ากัน ต่างกันที่คุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมไม่เท่ากัน

ในชีวิตของปุถุชนนี้ คุณค่ารองเป็นเรื่องสำคัญ แล้วคุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหาแก่มนุษย์มากที่สุด ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความแร้นแค้นยากจนอันเป็นสาเหตุทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาสำคัญมาก พุทธศาสนายอมรับ แต่ความชั่วร้ายในสังคมที่เกิดจากคุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมของสิ่งทั้งหลายนั้นมากมายกว่า

คนเรานี้แสวงหาคุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมกันมากมายเหลือเกิน แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นนานาประการทีเดียว เป็นปัญหาขนาดใหญ่ และมีผลกว้างไกลว่าปัญหาที่คนยากจนสร้างขึ้น และเป็นตัวการสำคัญซ้อนอยู่เบื้องหลังการเกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรง

เพราะฉะนั้น สำหรับพระจึงต้องยืนหยัดรักษาปัญญาที่มุ่งคุณค่าแท้ให้คงอยู่ ส่วนฆราวาสนั้น ขอให้ตระหนักไว้ อย่าเพลิน อย่าลืม อย่าประมาท อย่าหลงเกินไป ฆราวาสเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่อย่างพระ แต่ก็อย่าหลงลืม อย่ามัวเมา ต้องพยายามคำนึง คอยตระหนักถึงคุณค่าแท้ไว้ด้วยว่าเราใช้สิ่งนี้เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อย่าลืมตัวจนเลยเถิดไป

อันคุณค่าของวัตถุที่มี ๒ ชั้นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก วัตถุนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เมื่อเทียบกับนามธรรมหรือคุณธรรมแล้ว วัตถุเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ มีสภาพของความเสื่อมสลายทรุดโทรมอย่างเดียว จะเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม บ้านที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้อะไรก็ตาม ล้วนอยู่ได้ชั่วคราว ชั่วระยะกาลหนึ่ง ๕ ปี ๑๐ ปี สั้นกว่ายาวกว่าบ้าง แล้วมันก็ต้องสลายทรุดโทรมไป เป็นหลักธรรมดา นี้เป็นความไม่เที่ยงแท้ของตัววัตถุเอง

ส่วนคุณค่าของวัตถุนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่เที่ยงอย่างที่กล่าวแล้ว คืออยู่ที่ค่านิยมที่คนสร้างกันขึ้นเท่านั้น ค่านิยมที่ว่าเป็นกรรมอยู่ในใจของเรานี้เองสร้างมันขึ้น

ขอให้คิดดู เราอาจจะนึกว่า ต้องใส่เสื้อนอกให้เรียบร้อย ต้องซักต้องรีด รู้สึกว่ามันให้ความมีศรีสง่า เป็นสิ่งสำคัญในทางสังคม ทำให้มีความรู้สึกภูมิฐาน และอาจจะต้องไปนั่งในห้องแอร์คอนดิชั่นอย่างสบาย ทำงานอย่างภาคภูมิ

แต่มาถึงอีกสมัยหนึ่ง คนอีกรุ่นหนึ่ง (อย่างสมัยฮิปปี้) อาจจะเห็นว่า เอ พวกผู้ใหญ่ที่มัวใส่เสื้อนอกต้องรีดต้องแต่งต้องจัดให้เรียบร้อย ไปนั่งทำงานในห้องแอร์คอนดิชั่น ทำโต๊ะให้โก้สง่า แหม ไม่เห็นจะมีความสุขเลย ไม่ได้เป็นสาระอะไรเลย ต้องไปนั่งลำบาก นั่งต้องระวังเสื้อผ้าของตนเอง ต้องระมัดระวังท่าทางอะไรอย่างนี้ สู้เราที่ปล่อยตัวขะมุกขะมอมไม่ได้ สบายดีกว่า นอนกลางดินกินกลางทราย จะนั่งจะล้มจะก้มจะกลิ้งอย่างไรก็ได้

ที่เขาว่านั้นมันก็จริงของเขาอยู่เหมือนกัน ถ้าว่ากันไปแล้วใครจะสบายกว่ากัน คนหนึ่งปล่อยตัวขะมุกขะมอม เสื้อผ้าก็ไม่ต้องรีดไม่ต้องเอาใจใส่มันปล่อยไป ที่ทางก็แล้วแต่จะไปนอนที่ไหน อย่างไรได้ทั้งนั้น เขาก็ว่าของเขาสบาย

นี่แหละเรื่องของสังคมมันไม่แน่ คุณค่าที่ว่ากันก็ขึ้นกับความนิยม สมัยหนึ่งเราอาจจะเห็นว่าอย่างนี้ดีมีศักดิ์มีศรีมีภูมิมีฐาน ครั้นนานเข้าคนอีกสมัยหนึ่งเห็นความเจริญทางวัตถุมามาก กลับเบื่อหน่ายเสียแล้ว บอกว่าอย่างนี้ไม่ได้ความเลย หาความทุกข์ให้กับตัวเอง สร้างระเบียบสร้างอะไรต่ออะไรมาให้ตัวเองลำบาก อยู่กันด้วยระเบียบ อยู่กันด้วยมารยาททางสังคม ไม่มีดี เป็นทุกข์ สู้ไม่ต้องคำนึงไม่ต้องระวังสิ่งเหล่านี้ อยู่สบายกว่า คนอาจจะคิดขึ้นมาอย่างนั้นก็ได้ ในระยะยาว คนอยู่เมืองไปนานๆ อาจจะคิดอยากอยู่ป่าขึ้นมาบ้างก็ได้

การสอนหลักกรรมให้ได้ผล

ในเมื่อคุณค่าของวัตถุนี้มันไม่เที่ยงไม่แท้ อยู่ที่การสร้างค่านิยมสมมติกันขึ้น และค่านิยมนั้นก็เริ่มในจิตของเรานี่เอง นี้แหละจึงเป็นกรรมอันหนึ่งของสังคม สังคมจะเอาอย่างไรก็เป็นเรื่องของสังคม ในระยะยาวจึงว่า จะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก เราต้องการค่านิยมแบบไหน ก็วางกันไว้ โดยเริ่มกันแต่มโนกรรม คือค่านิยมนี้

เมื่อกำหนดได้ว่าอันนี้ถูกต้องแล้ว เราจะได้ปลูกฝังคนของเรา ให้สร้างความรู้สึกนิยมให้เป็นค่านิยมนี้ตั้งแต่เล็กแต่น้อย เมื่อเป็นความนิยมที่ดีที่งามถูกต้องแล้ว เป็นไปโดยที่เขาพอใจ ในระยะยาวก็ได้ผล

โดยเฉพาะค่านิยมในเรื่องความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ อันเป็นความสมดุลทางวัตถุกับทางจิตใจ เมื่อปลูกฝังกันต่อเนื่องจนคนในสังคมมีค่านิยมอย่างนั้นแล้ว ต่อไปก็ประพฤติกันได้ลงตัว เพราะว่ากรรมมันเริ่มมาจากมโนกรรม โดยมีความใฝ่ความชอบขึ้นก่อน มิฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะไปตรัสทำไมว่า ในกรรมทั้งหลาย คือ กายกรรมก็ตาม วจีกรรมก็ตาม มโนกรรมก็ตามนั้น มโนกรรมสำคัญที่สุด

ในลัทธินิครนถ์ เขาบอกว่า กายกรรมสำคัญกว่า เพราะกายกรรมนี้แสดงออกภายนอก คุณเอามีดมาฟัน ฉันก็ตาย แต่ถ้าคุณมาเพียงใจอย่างเดียว จะทำให้ฉันตายได้ไหม ก็ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ แต่อย่าลืมว่านี่เขามองแคบสั้นเกินไป

ในระยะยาว การปลูกฝังทางจิตใจนี่สำคัญกว่า สังคมจะเป็นอย่างไร อารยธรรมจะไปทางไหน ก็เริ่มแต่มโนกรรมนี่ไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราปลูกฝังเด็กของเราให้มีค่านิยมถูกต้องแล้ว ให้ประพฤติตามแนวแห่งธรรมต่อไป ในระยะยาวก็จะได้ผล

กล่าวย้ำอีกครั้งอย่างสั้นที่สุดว่า จะต้องปลูกฝังมโนกรรมส่วนที่ขอเรียกว่าค่านิยมแห่งธรรม หรือค่านิยมแห่งความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ ให้มีขึ้นในสังคมให้ได้ โดยเฉพาะในหมู่อนุชนของสังคมนั้น และข้อนี้จะต้องถือว่าเป็นภารกิจสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของการศึกษา เพราะว่าที่จริงแล้วมันเป็นส่วนเนื้อหาสาระของการศึกษาทีเดียว

อาตมภาพเพียงเสนอความคิดเห็นไว้ จะเกิดมีเป็นประโยชน์เพียงไรก็สุดแต่ท่านจะพิจารณา ในฐานะที่ส่วนมากท่านที่ฟังก็เป็นผู้สนใจใฝ่ธรรมกันมาและได้ศึกษาธรรมกันอยู่ ที่อาตมภาพพูดมานี้ก็เป็นการพูดในฐานะนักศึกษาธรรมอีกผู้หนึ่ง ได้นำข้อคิดเห็นจากการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนไตร่ตรองพิจารณามาเสนอแก่ท่านเป็นการประกอบความคิดการพิจารณา ถ้าหากว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร แม้แต่จะเป็นประโยชน์สักเล็กน้อย ก็ขออนุโมทนา

เรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องของความจริง มนุษย์นั้นก็อยู่กับความจริง และหนีความจริงไปไม่พ้น แต่มนุษย์ก็ไม่ค่อยชอบนักที่จะเผชิญกับความจริง ทั้งๆ ที่ตัวจะต้องอยู่กับความจริงและอยู่ในความจริง ก็ยังพยายามสร้างสิ่งเคลือบแฝงมาทำให้รู้สึกว่ามีรสชาติ มีความสนุกเพลิดเพลินยิ่งขึ้น

เหมือนอย่างในเรื่องคุณค่าที่ว่า มนุษย์เราใช้ปัจจัย ๔ โดยมีคุณค่าแท้กับคุณค่ารองนี้ ความจริงคือคุณค่าแท้นั้นปฏิเสธไม่ได้ แต่เพราะมนุษย์มักไม่ค่อยพอใจอยู่กับความจริง จึงเที่ยวหาสิ่งที่จะมาเป็นเครื่องประกอบเคลือบแฝง ทำให้รู้สึกมีรสชาติอร่อยสนุกสนานขึ้น เกิดเป็นคุณค่ารองซ้อนเข้ามา เป็นทางให้มนุษย์เกิดปัญหาได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนกรรมนี้เป็นเรื่องของความจริง ความจริงนั้นใครก็ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นเรื่องของชีวิตโดยตรง เราทุกคนต้องยอมรับความจริง แต่ในเมื่อมันเป็นความจริง ก็มักไม่สนุกสนานเอร็ดอร่อย การที่จะศึกษาให้เข้าใจชัดเจนก็ตาม การจะปลูกฝังกันขึ้นมาก็ตาม เป็นเรื่องยากเรื่องใหญ่ จะเอาปุ๊บปั๊บขึ้นมาไม่ได้ จะต้องทำความพยายามอย่างที่ว่า คือต้องปลูกฝังกันตั้งต้นแต่ค่านิยมในระยะยาว ดังที่อาตมภาพได้เสนอไว้ในเวลาอันสั้นนี้ และในตอนนี้ก็คิดว่าได้ล่วงเลยเวลามาพอสมควร จึงขอยุติเพียงนี้

1 บรรยายที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ เวลา ๑๔.๓๐–๑๖.๐๐ น. (ในการพิมพ์เดือน พ.ย. ๒๕๔๕ ได้จัดปรับรูปแบบ เช่น ซอยย่อหน้า และขัดเกลาสำนวนภาษาให้อ่านง่ายขึ้น)
2การวางอุเบกขา และใช้กรุณากับคนทุกข์ยากนี้ ขอให้ดูคำอธิบายเพิ่มเติม ในเรื่องที่ ๒ หน้า ๖๑–๖๒ ด้วย
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.