ทางออกของสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทางออกของสังคมไทย1

สภาพสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะช่วงห้าปี หรือสิบปี แต่นานมาแล้วที่เรามักถูกมองว่า เป็นประเทศที่มีค่านิยมตามสังคมตะวันตก ภาพที่เราตื่นตามเขานี้เป็นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งบัดนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นในช่วง ๕-๑๐ ปี ที่ผ่านมา คนของเราเริ่มหันมาทักท้วงกันเองมากขึ้น คือในระยะก่อนหน้านั้น ลักษณะการตามเขาเป็นไปอย่างชื่นชมและพอใจที่จะตามจริงๆ แต่มาในช่วงหลังๆ นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ว่า อย่างน้อยคนพวกหนึ่งได้หันมาพิจารณาหรือติติงกันเองว่า พวกเราทำไมมีค่านิยมตามฝรั่งมาก และมีความคิดที่จะหันกลับมาในทางที่จะขุดค้นเอาคุณค่าหรือหลักความคิดที่เป็นของตัวเองขึ้นมาใช้ และสร้างความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น ลักษณะพิเศษในระยะ ๕-๑๐ ปีนี้ ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มหันมาพยายามกำหนดเส้นทางเดินของตัวเองขึ้นบ้าง แต่อาจจะกล่าวได้ว่า กระแสหลักเราก็ยังคงตามเขาอยู่

เป็นอันว่า ช่วงนี้ก็ได้มีการคิดและพยายามที่จะหาทางด้วยตัวเองขึ้น และก็เริ่มมีแรงต้านทานขึ้นภายในตัวเอง การที่เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า ประเทศตะวันตกเองซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ได้เกิดปัญหาขึ้นมา และเขาเองก็ได้ตระหนักในปัญหาของตนเองด้วย เขารู้สึกว่า อารยธรรมตะวันตกเริ่มจะติดตันแก้ปัญหาไม่ตก อาจจะพากันเดินทางไปสู่ความผิดพลาดหรือความหายนะ เพราะฉะนั้น เขาก็ได้หันมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ ในบรรดาผู้ที่หันมาทบทวนใหม่นี้ ก็มีบางพวกที่หันมาสนใจตะวันออก สนใจความคิดของพวกตะวันออก ที่เขาเรียกว่า "ภูมิปัญญาของตะวันออก" ฝรั่งทั่วไปเริ่มมีความรู้สึกว่าติดขัด และพวกหนึ่งหันมาสนใจที่จะศึกษาเอาความคิดจากตะวันออกไป เช่น มีการศึกษาศาสนาและปรัชญาของจีนและอินเดียสมัยโบราณกันแพร่หลายขึ้น

ฝ่ายคนไทยเราเอง ซึ่งติดตามเขามาตลอด เมื่อเห็นเขาเป็นอย่างนี้ ตัวเองก็ชะงักเหมือนกัน ส่วนคนไทยอีกพวกหนึ่งนั้น เป็นพวกที่อาจจะเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญา ซึ่งคอยพิจารณาอยู่แล้ว มีความระมัดระวัง คิดถึงคุณค่า ภูมิธรรมภูมิปัญญาของตัวเองอยู่แล้ว พวกนี้ก็มีกำลังและโอกาสมากขึ้นในการที่จะแสดงออก ดังนั้น ขณะนี้ แม้ว่ากระแสยังไม่หมุนกลับ แต่กระแสที่เราหมุนตามเขานั้น ก็มีเค้าที่จะเบาลงบ้างแล้ว

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ

ส่วนจุดเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนั้น จะบ่งชัดลงไปทีเดียวคงไม่ได้ แต่ในระยะสองสามปีมานี้ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดมากขึ้น ในหมู่นักวิชาการก็เริ่มหันมาสนใจมรดกหรือสิ่งที่มีคุณค่าที่สืบทอดมาทางสายวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น พวกตะวันตกนั้นมีความเจริญทางด้านวัตถุมาก ซึ่งเขาเองก็ยอมรับอย่างนั้น ความเจริญทางวัตถุนั้น เป็นภาพที่มองเห็นชัด ทำให้คนของตะวันออกตื่นเต้นตาม อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง ก็เลยตามเขาไป เพราะคิดว่าความเจริญทางวัตถุ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีนั้น จะทำให้บรรลุผลสำเร็จทุกอย่าง จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง จะทำให้มีความสุขสมบูรณ์ เขาเข้าใจกันอย่างนั้น ต่อมาพวกหนึ่งก็ผิดหวัง มองเห็นว่าการพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างเดียวไม่เพียงพอ และอาจจะทำให้เกิดความพลาดพลั้งอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดความพินาศขึ้นมา พวกตะวันตกก็เกิดความรู้สึกว่าตนเดินทางผิด แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางส่วนก็ยังนิยมอยู่ ยังหวังอยู่ว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่กระแสใหญ่นี่เกิดความผิดหวังแล้ว ดังที่ได้เกิดความตื่นกลัวและตื่นตัวในหมู่ประชาชนชาวตะวันตกอย่างกว้างขวาง โดยมีความรู้สึกผิดหวังว่า การที่เคยหวังว่า ความเจริญทางวัตถุ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ จะให้ความสมบูรณ์เพียบพร้อมได้นั้น มันไม่จริง แต่อาจจะก่อให้เกิดภัยอันตรายและความสูญเสียมากยิ่งขึ้น อันนี้เป็นความรู้สึกที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้น จึงมีความเปลี่ยนแปลงมากในสังคมตะวันตก วงการนักวิชาการต่างๆ ก็พากันผิดหวังว่าตัวแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างวงการเศรษฐศาสตร์ก็ตาม วิทยาศาสตร์ก็ตาม หรือแม้แต่การแพทย์ ก็ล้วนมีปัญหากันทั้งนั้น ในยุคปัจจุบัน เขากำลังหาทางออกว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ฝรั่งจึงหันมาสนใจตะวันออกในแง่นี้ คือศึกษาเพื่อจะเอาความคิดของตะวันออกไปช่วยแก้ปัญหาความเจริญของตะวันตก ที่ถือว่าเป็นความเจริญสากล เวลาเรามองความเจริญของโลกปัจจุบันนี้ ก็จะมองไปที่ตะวันตก เพราะตะวันตกเหมือนเป็นตัวแทนของความเจริญ แต่ตอนนี้กำลังเกิดความผิดหวังขึ้นในหมู่คนจำนวนมาก รวมทั้งนักวิชาการต่างๆ ก็เลยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ว่า กระแสเริ่มปั่นป่วน ไม่วิ่งเรียบรื่นอย่างเก่าแล้ว เพราะพวกหนึ่งก็จะย้อนกลับหันเหกระแส อยู่ในสภาพที่เรียกว่า Turning Point คือ จุดเปลี่ยนหรือหัวเลี้ยวหัวต่อ

ความรู้สึกส่วนรวม ก็คือ มีความรู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่ เพราะยุคสมัยที่ผ่านมานี้ ความเจริญเป็นแบบยุคอุตสาหกรรม แต่ในยุคปัจจุบันนี้เขามองเห็นว่า มันเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมแล้ว ชีวิตของคนก็ตาม ความเจริญทางเทคโนโลยีก็ตาม ไม่ใช่เหมือนเดิมที่จะเรียกว่ายุคอุตสาหกรรมได้อีกต่อไป ก็จึงมีคนพยายามตั้งชื่อยุคแห่งความเจริญใหม่นี้ว่าคืออะไร บางพวกก็ตั้งชื่อว่า ยุคหลังอุตสาหกรรม ยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม บ้างก็เรียกว่า ยุคข่าวสารข้อมูล อันนี้ใช้กันมาก ตรงกับที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ หรือฝรั่งเรียกว่ายุค Information โดยเฉพาะสังคมอเมริกันได้เข้าสู่ยุคนี้แล้ว เข้าสู่ Information Age จะเป็น Information Society กันแล้ว เขามีความรู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ชีวิตความเป็นอยู่จะต้องเปลี่ยน พวกที่เป็นนักคิด นักมองอนาคต เขาคาดการข้างหน้าว่า ชีวิตคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร วิธีแก้ปัญหาของมนุษย์ต่อไปจะเป็นอย่างไร นี่คือการที่เขาเตรียมเปลี่ยนยุคสมัย ดังนั้น คนไทยที่พอมองเห็นรู้ทันความเจริญของตะวันตก ก็จะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอันนี้ แล้วก็หันมาพิจารณาว่า เราก็ต้องเตรียมตัวเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็ยังตามเขาอยู่เรื่อยๆ และยังหวังในความเจริญแบบตะวันตกอยู่นั่นเอง

จุดผิดพลาดในการตามฝรั่งนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมไทยจะต้องรับผิดชอบด้วยกัน โดยเฉพาะผู้บริหารมีส่วนอย่างมาก การรับช่วงกันของผู้บริหารนั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง บางทีผู้บริหารประเทศในช่วงหนึ่งมีความรู้เท่าทัน แต่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น ตัวอย่างง่ายๆ ในยุคที่มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก เริ่มแต่รัชกาลที่สี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว พอถึงรัชกาลที่ห้า เราก็นำระบบเข้ามาจากตะวันตกโดยตรงเลย ระบบการศึกษา ระบบการปกครอง มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เทคโนโลยีต่างๆ ก็เริ่มเข้ามา แต่ตอนนั้นเรามีความจำเป็นด้วย เพราะว่าตะวันตกเข้ามาแสวงหาอาณานิคม คือล่าเมืองขึ้น เราจึงจำเป็นต้องสร้างตัวให้เข้มแข็ง สร้างความเจริญให้เท่าทันเขา เพื่อจะได้ต้านทานได้ ไม่ให้เขามายึดไปเป็นเมืองขึ้น ก็มองเห็นว่าเราจะต้องเจริญแบบเขาเราจึงจะสู้กับเขาได้ เมื่อเห็นความจำเป็นว่าจะต้องสร้างความเจริญอย่างเขา ให้ทันเขา เราก็เลยนำระบบของเขาเข้ามา จัดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งคือ การรวมกำลัง อย่างที่เรียกว่าใช้วิธีการรวมศูนย์อำนาจ เพราะตอนนั้นอำนาจยังกระจายอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ท้องถิ่นมีการศึกษาของตัวเอง การปกครองก็ยังมีศูนย์อำนาจย่อยๆ ที่แบ่งให้ไป วัฒนธรรมประเพณีก็มีลักษณะประจำถิ่นมาก พอถึงรัชกาลที่ห้า มีความจำเป็นต้องรวมศูนย์อำนาจให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เพื่อจะให้มีกำลังสู้เขาได้ การศึกษาก็ต้องเป็นระบบเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณี เช่น เรื่องภาษา ก็ต้องให้เป็นอย่างเดียวกันให้หมด การปกครองก็ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายบ้านเมืองเท่านั้น แม้ฝ่ายคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำประชาชนในท้องถิ่น ก็ต้องพยายามให้มารวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง มีอะไรก็สั่งไปให้ได้รู้ร่วมกัน เป็นแบบแผนเป็นธรรมเนียมอย่างเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อจะสู้กับลัทธิอาณานิคม ไม่ให้เขามาครอบงำเรา รวมความว่ามีจุดมุ่งหมายชัดเจนที่จะต่อต้านลัทธิอาณานิคม

ต่อมา ลัทธิอาณานิคมผ่านพ้นไป ไม่ได้เป็นอันตรายต่อเราแล้ว แต่วิธีสร้างความเจริญเราก็ยังทำอยู่อย่างเดิม นี้คือปัญหา ปัญหาว่าคนยุคก่อนเขารับความเจริญแบบตะวันตก เพื่อจะสู้กับการคุกคามของลัทธิอาณานิคม แต่เมื่อลัทธิอาณานิคมไม่ใช่สิ่งบีบคั้นต่อไปแล้ว เรารอดจากการเป็นอาณานิคม ไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ในประเทศที่ถูกลัทธิอาณานิคมครอบงำนั้น ความรู้สึกต่อฝรั่งของประชาชนจะเป็นลบตลอด การครอบงำกดขี่บีบคั้นทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน เช่นโดยการพยายามรักษาขนบประเพณีของตนเอาไว้อย่างมั่นคง ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนในประเทศใกล้เคียงของเรานี้ ประเทศไทยเราตอนแรกก็ถูกคุกคามเหมือนกัน จึงมีความรู้สึกชัดว่าเราจะต้องสร้างตัวให้เข้มแข็งเพื่อต่อสู้ ต่อมาเมื่อเราผ่านพ้นวิกฤตินั้นมาได้ ความรู้สึกต่อต้านหมดไป ความรู้สึกด้านลบก็ไม่มี เราก็เลยมองฝรั่งในแง่ที่เห็นว่าฝรั่งเจริญ แล้วก็พอใจชื่นชม ความรู้สึกต่อฝรั่งก็เป็นไปในทางบวก ต่อมาก็เลยกลายเป็นความรู้สึกที่ชอบตามฝรั่งเรื่อยไป

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้บริหารประเทศในยุคต่อมาไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้เตรียมจุดหมายและจิตสำนึกให้แก่ประชาชน ในการพัฒนาประเทศว่า เมื่อเราไม่ได้สร้างความเจริญเพื่อไปต่อต้านลัทธิอาณานิคมแล้ว เราจะสร้างความเจริญเพื่ออะไร ตอนนี้เราหมดความชัดเจน การที่เราไม่มีความชัดเจนนี้เองที่ทำให้เราเกิดปัญหาขึ้น คือการสร้างความเจริญของเราก็มีความหมายแต่เพียงจะทำให้ทันเขา จะให้เป็นอย่างเขา ทำให้เรามีลักษณะเป็นเพียงผู้ตาม นอกจากนั้น ในด้านจิตใจก็มีปัญหาอีก จิตใจที่ต้องการจะตามเขา ให้มีความเจริญอย่างของเขา เมื่อความเจริญนั้นเป็นเรื่องของวัตถุและเทคโนโลยี ความเจริญอย่างเขา ก็กลายเป็นความอยากจะได้อยากจะมีอย่างเขา ซึ่งเป็นลักษณะของผู้บริโภค และต่อมาก็พัฒนาเป็นค่านิยมบริโภค เพราะฉะนั้น คนไทยเราจะมองความเจริญในลักษณะของคนที่ต้องการจะบริโภค ไม่ได้ต้องการผลิต คือ ต้องการจะบริโภคอย่างเขา แต่ไม่ต้องการผลิตให้ได้อย่างเขา นี่คือปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราก็ได้มีการวิจัยบ้างวิเคราะห์บ้าง ว่าคนไทยมีค่านิยมบริโภคสูง ขาดค่านิยมผลิต การพัฒนาประเทศจึงเป็นไปได้ยาก เพราะมุ่งแต่จะเอา จะมี จะหาซื้อ เมื่อเห็นความเจริญใหม่ๆ เกิดขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น คอยดูว่าฝรั่งมีอะไรแล้วก็ตาม พอเห็นเขามีก็อยากจะได้ หาเงินซื้อ หนึ่ง ก็ไม่ประหยัด สอง เมื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก็ทำให้เกิดหนี้สิน ซับซ้อนเข้ามาเป็นปัญหามากมาย แม้แต่ปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น เพื่อจะหาเงินมา เพื่อจะให้มี และการจะให้มีนี้ก็เป็นการส่งเสริมค่านิยมแบบเจ้าคนนายคน ต้องการมีฐานะสูง แข่งขันวัดฐานะกัน ค่านิยมของผู้บริโภคมาเข้ากับค่านิยมเจ้าคนนายคน ก็เลยหนุนกันไปให้บริโภคกันมากยิ่งขึ้น ฟุ้งเฟ้อแข่งฐานะกัน ก็เลยไม่สร้างสรรค์อะไร อันนี้ก็เป็นปัญหาของประเทศมาจนปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การที่เราจะมองถึงอนาคตก็เลยกลายเป็นต้องมองในแง่ว่า ขณะนี้ปัญหาเรามีมากมายหลายอย่าง แล้วเราจะแก้ได้อย่างไร

ปัญหาใหญ่คือคุณภาพคน

ปัญหาใหญ่ขณะนี้ก็คือ ปัญหาเรื่องคุณภาพของคน ซึ่งจะเป็นปัญหาของเมืองไทยไปอีกนาน ขณะนี้วงการศึกษาเองก็มีการตระหนักกันว่า เราดำเนินงานการศึกษาผิดพลาดไปมากแล้ว ดังนั้น ในช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นว่าในวงการศึกษาได้มีความพยายามหาทางเปลี่ยนแปลง มีการตระหนักว่าได้ทำผิดพลาดไป มีการต่อว่าติติงกันเองว่าระบบการศึกษาของเราเดินทางมาผิด ช่วงที่ผ่านมานี้เห็นปัญหากันชัดมากขึ้นแล้วก็พูดกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร กระแสที่เป็นมาก่อนก็คือกระแสตามฝรั่ง ในลักษณะที่มีค่านิยมบริโภค ไม่ผลิต ทำให้การพัฒนาประเทศไม่ประสบผลสำเร็จ ตอนนี้ก็เกิดกระแสที่จะหันกลับ เกิดเป็นแรงย้อนทวนขึ้นแล้วก็พยายามหาทิศทางกัน เรายังอยู่ในระยะหาทาง ยังพยายามกันอยู่ แต่ยังไม่ชัดเจนพอ

สำหรับกรณีที่ว่าขณะนี้มีการพูดถึงเรื่องการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น "นิกส์" นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันมากเหมือนกันว่า มีองค์ประกอบอะไรเข้ามาร่วมที่จะแปรผลไปในทางดีหรือร้าย ในการพัฒนาประเทศขึ้นไปเป็น "นิกส์" นั้น บางพวกก็มีความมุ่งหวังว่า การที่ให้มีอุตสาหกรรมขึ้นมา และมีการส่งเสริมกันอย่างจริงจัง บางทีเราอาจจะกลายเป็นผู้ผลิตได้บ้าง เราได้แต่หวัง แต่ปัญหาของเราคือตอนนี้เราเป็นผู้บริโภค ถ้าเราไม่ปรับตัวให้มีนิสัยในการผลิตแล้ว การพัฒนาก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเราพยายามทำตัวเป็นนิกส์ วิธีการของเราก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งว่า เราจะพัฒนาคนโดยสร้างค่านิยม หรือสร้างนิสัยในการเป็นผู้ผลิตได้จริงไหม และเรื่องนี้ก็ไปเกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่เข้ามาด้วย เพราะเราจะสนับสนุนให้เขาเข้ามาลงทุน เมื่อให้เขาเข้ามาลงทุน ประเทศเหล่านั้นเป็นผู้ฉลาด เขาเดินทางมาก่อนเรา เขามีความชำนาญในเรื่องเหล่านี้ ข้อที่หนึ่งที่เราจะต้องคิดก็คือว่า เขาจะยอมเสียเปรียบเราหรือ เอาละ ไม่เสียเปรียบก็ไม่เป็นไร แต่จะมีความเท่าเทียมกันจริงไหม แล้วถ้าเขาคิดเอาเปรียบ เรามีทางแก้อย่างไร ถ้าเขาเอาเปรียบแล้วเรามีทางอื่นที่จะได้ผลดีพิเศษเหนือกว่า ที่จะเอามาสมดุลกันไหม จริงอยู่ เราก็ต้องยอมรับว่าเขาก็ต้องพยายามเอาเปรียบเป็นธรรมดา เพราะพวกนักธุรกิจที่เดินมาในยุคอุตสาหกรรม จะทำอะไรก็จะมุ่งเอาเปรียบ แต่เราก็ต้องมองเห็นข้อได้เปรียบของเราที่จะเกิดความสมดุลกับเขา

ถ้าการพัฒนาประเทศไปสู่นิกส์เป็นไปในรูปที่ว่าไม่มีทางได้เปรียบเขา มีแต่เขาเอาเปรียบเราอย่างเดียว อย่างนี้ก็จะเป็นการสร้างสมปัญหามากขึ้น ขณะนี้ ในสภาพที่เป็นอยู่ มันมีความซับซ้อน ซึ่งมองไม่ชัดเจน เช่นในด้านรัฐบาล เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่ารัฐบาลคิดอย่างไร และคนที่อยู่ในวงการนี้ คิดยังไง เข้าใจยังไง และมีเจตนาอย่างไร ที่สำคัญก็คือเจตนา ถ้ามีเจตนามุ่งไปที่ผลประโยชน์ส่วนตัว ก็เชื่อได้เลยว่าจะต้องไม่สำเร็จ แต่อาจจะสูญเสียมากขึ้น การที่ต่างชาติเขาจะเอาเปรียบเราได้ก็ต้องมีคนในร่วมให้ทางแก่เขา เช่น อาจจะได้ผลประโยชน์แล้วเปิดทางให้เขาเป็นต้น เป็นเรื่องที่จะต้องระวังมาก

ถ้ามองที่พื้นฐานของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือ คุณภาพคนของเรามีปัญหามาก ตั้งแต่คนในระดับพื้นฐานหรือระดับสามัญทั่วไป ก็มีค่านิยมบริโภค ไม่เป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นค่านิยมที่ครอบคลุมสังคมของเราอยู่ ทีนี้มองในระดับบริหาร คนระดับบริหารของเราก็มีปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งเราเองบ่นกันมาก ในเรื่องคอรัปชั่น ว่าคนดีมี แต่น้อย ในเมื่อสภาพของเราเป็นอย่างนี้ เมื่อไปสัมพันธ์กับต่างชาติ ก็มองเห็นชัดทันทีว่ามันจะต้องแสดงฤทธิ์ออกมา ที่ว่านี้เรามองจากธรรมดาตามสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ มันก็จะออกมาในรูปที่ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ต่อชาตินัก ถ้าจะเป็นประโยชน์ก็คงจะเป็นสภาพที่ทำให้เกิดความตื่นเต้นในระยะสั้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมในระยะยาวก็เป็นได้ คนของเรามีลักษณะอย่างหนึ่งคือ ชอบตื่นต่อความเจริญหรือภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจในช่วงสั้นๆ ไม่ได้มองอะไรที่ยาวไกลเหมือนกับเราสร้างความเจริญโดยไม่ได้คำนึงว่าทรัพยากรจะสูญเสียไปเท่าไร สภาพธรรมชาติจะหมดไปสักเท่าไร เช่นเราพากันตื่นเต้นต่อสภาพความเจริญที่เกิดขึ้นมาในเมือง เสร็จแล้วป่าหมดเราก็ไม่ได้ใส่ใจ

พร้อมหรือยังกับการเป็น "นิกส์"

หากถามว่า เราพร้อมที่จะเป็น “นิกส์” หรือไม่ ก็อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า เราไม่ได้เป็นด้วยตัวของตัวเอง แต่จะเป็นด้วยการไปสัมพันธ์กับต่างชาติ โดยเอาต่างประเทศเข้ามา ในเมื่อเขามีใจที่จะต้องเอาเปรียบแล้ว และคนของเราก็ยังไม่มีคุณภาพพอ ทั้งคนทำงานและคนในระดับบริหารก็อาจจะมีเจตนาที่ไม่น่าไว้ใจ คือให้โอกาสที่ทำให้เขามาเอาเปรียบได้มาก ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็จะทำให้เกิดผลเสีย จึงต้องมีข้อแม้ว่า ถ้าผู้บริหารของเราที่รับหน้ากับต่างประเทศนั้น เป็นผู้ที่เข้มแข็ง มีภูมิปัญญาดี รู้เท่าทันเขา และมีเจตนาดี มีหมู่คณะที่มีความสามารถ มีความเข้มแข็งทางจริยธรรม สามารถจะต้านทานไม่ยอมรับผลประโยชน์โดยเปิดโอกาสให้แก่เขามาก อย่างนี้ยังมีทางเป็นไปได้ แต่ก็เป็นตัว "ถ้า" เท่านั้น เพราะว่าโดยสภาพพื้นฐานเรามองเห็นแล้วว่ายังเป็นอย่างนี้ ฝ่ายบริหารต้องรู้ข่าวสารข้อมูล รู้เท่าทัน มีมาตรการที่รัดกุม และมีความเข้มแข็งทางจริยธรรม

ถ้ามองความต้องการว่า ในการพัฒนาประเทศให้เป็นนิกส์นั้น รัฐบาลเราต้องการอะไร หนึ่ง เราต้องการให้คนของเรามีงานทำมากขึ้น สอง เราต้องการเป็นผู้ผลิต ซึ่งนอกจากทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพียงพอที่จะจำหน่ายในประเทศแล้ว ก็จะผลิตให้ส่งออกไปต่างประเทศ รัฐก็สามารถเก็บภาษี เป็นรายได้เข้ารัฐมากขึ้น หรืออาจจะมองว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้ผลิตมากขึ้น แต่มองในด้านเสีย เราก็ต้องคิดกันว่า ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนนั้น เขาจะยอมให้เราเป็นผู้บริหารหรือมีส่วนบริหารได้แค่ไหน เขาจะยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงให้เราหรือ เราอาจจะยังตกอยู่ในภาวะที่เป็นลูกน้องเขาตลอดไป อันนี้ก็อยู่ที่ความเข้มแข็งของผู้บริหารประเทศของเรา ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนนั้นเขาก็ต้องพยายามกอบโกยผลประโยชน์กลับไปบ้านเขาให้มากที่สุด และการที่จะทำให้คนของเราเปลี่ยนนิสัยไปเป็นผู้ผลิตจะทำได้เมื่อไร อันนี้ก็ยังมองไม่เห็นความมั่นใจจากผู้บริหารในขณะนี้ เพราะลักษณะจิตใจเช่นนี้ต้องมีระบบการศึกษาที่จะมาช่วยทำให้ประชาชนมีลักษณะเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักทำด้วยตนเอง ถ้าได้แค่ไปทำงานให้เขาตามแต่เขาจะบอกหรือวางนโยบายให้ทำ ไม่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในระดับบริหารแท้จริง และไม่เป็นผู้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ก็จะเป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้ไม่สำเร็จ

รวมความแล้ว ขอตั้งเป็นข้อสังเกตและคำถามต่อไปนี้

๑. ในการสัมพันธ์กับต่างชาติที่จะให้เขาเข้ามาลงทุนนั้น เราจะเอาเขาเป็นฐาน โดยมีความพร้อมที่จะก่อร่างสร้างตัวเองต่อจากฐานนั้นขึ้นไปหรือไม่ ถ้าหวังแต่จะให้เขามาทำให้แล้วคิดว่าเราจะได้เอง ก็คงจะเป็นความผิดพลาด

๒. ในด้านเทคโนโลยี เรามีความพึ่งตัวเองได้ในทางเทคโนโลยีหรือไม่ แค่ไหนเพียงใด ถ้าไม่ เรามีการเตรียมตัวหรือมีความคิดที่จะพึ่งตัวเองได้ในทางเทคโนโลยีบ้างเพียงใด คือจะต้องพยายามเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นเพียงผู้บริโภคเทคโนโลยี ไม่เป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยี

๓. ประเทศไทยปัจจุบันมีปัญหาที่ทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านสมองและแรงกายหลั่งไหลออกจากชนบทเข้ามาในเมือง ทำให้ชนบทขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ และซูบโทรมมาก การเดินทางสู่ความเป็นนิกส์จะซ้ำเติมปัญหานี้ให้หนักยิ่งขึ้นหรือไม่ เราได้เตรียมการป้องกันไว้แล้วอย่างไร

๔. ปัญหาด้านวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะมีการคิดเตรียมการหรือเห็นความหวังอย่างไรบ้าง ที่จะสร้างเสริมให้คนมีค่านิยมในการผลิต มีนิสัยรักงาน ไม่ใช่กลายเป็นส่งเสริมค่านิยมบริโภคและความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย กลายเป็นทาสของผู้ผลิตมากยิ่งขึ้น

๕. ในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ถ้าทำอย่างผิวเผิน เป็นความเจริญแต่เปลือกนอก จิตใจและสติปัญญาไม่ได้ เจริญขึ้นมาอย่างแท้จริง คนในสังคมของเราจะยิ่งมีความไม่มั่นคงทางจิตใจ และปราศจากความมั่นใจทางปัญญามากขึ้น ไสยศาสตร์จะเฟื่องฟูแพร่หลายมากขึ้น และความขัดแย้งในสังคมจะเพิ่มขึ้น

๖. ปัญหาสภาพแวดล้อมเสียและทรัพยากรร่อยหรอ ปัจจุบันนี้ก็ยังควบคุมกันได้ไม่ดี ถ้าจะมีอุตสาหกรรมมากๆ เราเตรียมตัวแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้พร้อมและมั่นใจเพียงใด

๗. บทเรียนจากพี่ "นิกส์” เราได้ศึกษาผลดีและผลเสียที่เขาได้ประสบ เพื่อเตรียมการของเราให้รอบคอบไว้แล้วเพียงใด

การพิจารณาคุณภาพคน เราต้องมองไปที่ความเปลี่ยนแปลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนิสัยคนนั้นมีสามทางด้วยกัน คือ หนึ่ง สถานการณ์ภัยคุกคามที่เข้ามา สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยคนได้ เช่นเมื่อมีภัยเข้ามา คนไทยก็จะรวมตัวกัน สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสร้างชาติให้เข้มแข็งให้สู้เขาได้ แต่เมื่อหมดภัยคุกคาม คนไทยก็จะหันมาแตกแยกทะเลาะกันเองอีก เป็นอยู่อย่างนี้มาเสมอ อันนี้ถือว่า เปลี่ยนนิสัยได้ชั่วคราว ไม่ใช่ระยะยาว ปัจจัยที่สองขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารประเทศที่มีความเป็นผู้นำสูง สามารถที่จะชักจูงใจประชาชนให้เกิดจิตสำนึกใหม่ และปัจจัยที่สามเป็นการสร้างระยะยาว คือต้องปรับปรุงระบบการศึกษาและหลักสูตร เพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพตามที่วางแผนไว้ คนไทยเรานั้นได้ชื่อว่าไม่ค่อยมีนิสัยรักงาน และได้ชื่อว่าเป็นคนที่รักความสนุกสนาน ทำอะไรแบบผ่านๆ ไป ซึ่งจะขัดกับการที่จะเป็นนิกส์ได้มาก

พัฒนาการทางการเมือง

ส่วนในด้านการเมืองการปกครองนั้น สถานการณ์จะว่าน่าพอใจก็ยังไม่ได้ เพราะเรายังอยู่ในระยะพัฒนาประชาธิปไตยกัน และเราเองก็ร้องทุกข์กันอยู่ ติติงกันอยู่เสมอว่าเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ มองในแง่ผู้บริหารก็ยังไม่ถึงขั้นที่ว่าเป็นที่ยอมรับเชื่อถือจากประชาชนอย่างจริงจัง เรียกง่ายๆ ว่า ยังไม่มีผู้นำที่ประชาชนยอมรับนับถืออย่างแท้จริง และตัวผู้นำเองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาในหมู่คณะของตัวเองได้ ในกลุ่มผู้บริหารเอง แม้แต่ผู้นำบางคนที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต แต่ผู้ที่อยู่แวดล้อมไม่เป็นที่ศรัทธา ประชาชนก็ไม่ไว้ใจ เพราะฉะนั้น จึงมีความรู้สึกกันอยู่ทั่วไปในทางที่ไม่ดีต่อผู้บริหาร โดยเฉพาะนักการเมืองทั่วไปมักมีภาพในความรู้สึกของประชาชนว่าเป็นคนไม่ค่อยสะอาด นี่เป็นการพูดถึงว่าประชาชนมองอย่างไร ไม่ได้เอาทรรศนะของตัวเองเข้าว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อนักการเมืองที่เข้ามา ผู้บริหารไม่ใช่เป็นคนที่ประชาชนยอมรับนับถือมาก่อน ไม่มีต้นทุนมาก่อน เพราะฉะนั้น ความยอมรับนับถือและความเชื่อมั่นนั้น เป็นสิ่งที่นักการเมืองจะต้องสร้างเอาเอง และประชาชนก็คงรออยู่

หันมาดูประชาชนเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจประชาธิปไตยเพียงพอ ยังมีการซื้อเสียงกันอย่างมากมายในการหาเสียงเลือกตั้ง อันนี้ก็แสดงว่าประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองของเรายังไม่ได้ผลดีแน่ๆ เพราะแก้ปัญหาระดับพื้นฐานนี้ยังไม่ได้ การเลือกตั้งนี้เป็นแกนใหญ่ เป็นตัวหลักการสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ว่าให้ประชาชนเลือกตั้งนักการเมืองเข้ามา ตั้งตัวแทนเข้ามา แต่ประชาชนจำนวนมากก็ไม่ได้เอาสติปัญญา ไม่ได้เอาเป้าหมายของการปกครองหรือเอาความเข้าใจในการปกครองที่ดีมาเป็นหลักในการเลือกตั้ง แต่ไปมุ่งเอาทรัพย์สินเงินทองผลประโยชน์ส่วนตัว ก็ทำให้คุณภาพของประชาชนไม่ดีด้วย ในเมื่อนักการเมืองก็ยังล่อลวงประชาชนให้กระทำในสิ่งที่ผิดหลักการ และประชาชนก็ยังไปสมคบกับนักการเมืองที่เอาอามิสไปให้ แล้วจะเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจได้อย่างไร ถ้ายังอยู่ในสภาพอย่างนี้ ก็ต้องพัฒนาประชาธิปไตยกันต่อไปอีกนาน

สภาพการเมืองในปัจจุบัน ที่พูดกันว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว ก็ยังเห็นว่ากันอยู่ ตอนหาเสียงเข้ามานี้ก็ยังมีปัญหา พรรคการเมืองก็ด่าว่าติเตียนกันเองว่า พรรคนั้นพรรคนี้ใช้วิธีที่ไม่สะอาด อย่างนี้ก็ชัดอยู่ ในหมู่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยกันก็ยังว่ากันเองอย่างนี้ ก็แสดงว่าความไม่เรียบร้อยมีชัดอยู่แล้ว เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยวิธีการนี้ ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่น่าสบายใจ คนก็ยังเพ่งมองและมีความรู้สึกไม่ค่อยดีต่อหลายคนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ภาพนักการเมืองในสายตาทั่วไปยังไม่ค่อยให้ความเชื่อถือเท่าไร ยิ่งเอาคนที่ได้รับการเลือกตั้งเหล่านี้เข้าไปเป็นผู้บริหาร ก็ได้เห็นประชาชนมีความไม่พอใจแสดงออกกันในลักษณะต่างๆ ในระดับต่างๆ อย่างเช่นบางกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญญาชน ปัญญาชนก็แสดงชัดว่าไม่พอใจ แสดงว่ายังมีความไม่พอใจ หรือไม่เลื่อมใสอยู่ค่อนข้างกว้างขวาง ความเชื่อถือต่อผู้นำก็ยังไม่เกิด ถ้าหากผู้บริหารชุดนี้จะมีความสามารถก็ต้องพยายามสร้างตัวเอาใหม่ อยู่ในระยะที่ต้องสร้างตัวและพิจารณาตัวเอง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าจะมีความดีและทำได้สำเร็จแค่ไหน แต่ฐานะที่มีอยู่นี้ยังไม่มั่นคงพอ ความเชื่อถือในจิตใจคนยังมีน้อยรวมความว่า ยังอยู่ในยุคที่นักการเมืองจะต้องพยายามในการที่จะสร้างความยอมรับนับถือ ความไว้วางใจ และศรัทธา ขึ้นในจิตใจของประชาชน ซึ่งเป็นงานที่หนักแต่ก็ท้าทาย และในการสร้างศรัทธานี้ สิ่งสำคัญแรกสุดก็คือ อย่าฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่พร้อมของประชาชน แต่จะต้องช่วยสร้างความพร้อมในทางการเมืองแก่ประชาชน ซึ่งก็จะเป็นการสร้างตนเองให้ได้รับศรัทธาที่แท้จริงไปด้วยพร้อมกัน

ศาสนากับสังคม

ส่วนทางด้านศาสนา ก็อย่างที่พูดมาแล้วว่าเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่เดิมนั้นเราแล่นตามตะวันตก ต่อมาตะวันตกเขาชะงัก เราก็พลอยชะงักไปกับเขาด้วย แล้วก็หันมาคิดทบทวนหาคุณค่าในตัวเอง เป็นเหตุให้พวกเราส่วนหนึ่งหันมาสนใจศาสนา ความสนใจศาสนาก็อาจเป็นไปได้สองระดับ ระดับหนึ่งคือผู้ที่เป็นปัญญาชน ระดับของผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องการที่จะหาแนวทางใหม่ หาทางออกใหม่ หาสิ่งที่จะใช้แก้ไขปัญหา แก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน ก็หันมาสนใจพุทธศาสนาว่าจะมีหลักคำสอนมีหลักปรัชญาอะไรต่างๆ ที่จะมาช่วยให้พบทางออกใหม่แก่วิชาการต่างๆ และปัญหาต่างๆ อย่างนักการศึกษาที่หันมาสนใจศาสนา ก็แสวงหาปรัชญา ความคิด หรือหลักธรรม เพื่อจะให้ปรัชญาแก่วงการศึกษา รองลงมาก็คือระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมทั้งคนทั่วไปตลอดจนนักศึกษาและปัญญาชนด้วย แต่เป็นการมองในอีกแง่หนึ่งคือในแง่สภาพชีวิตจิตใจทั่วไป ในแง่นี้จะเห็นว่า เมื่อสังคมตะวันตกมีความผิดหวังในตัวเอง ก็ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยรู้สึกผิดหวังไปด้วย คือ เมื่อมองไม่เห็นความปลอดโปร่งในความเจริญทางวัตถุแล้ว ก็ทำให้หันมาสนใจความเจริญทางด้านจิตใจมากขึ้น พอดีความเจริญด้านวัตถุนั้นไปได้ไกลแล้ว ก็พอพิสูจน์ให้เห็นว่า มันไม่สามารถให้ความพึงพอใจโดยสมบูรณ์แก่มนุษย์ได้ ยิ่งกว่านั้น มนุษย์ยังมีปัญหาใหม่ๆ มีความทุกข์ใหม่ๆ จากความเจริญใหม่ๆ อีกด้วย ความเจริญใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ทำไมคนเรากลับมีปัญหามากขึ้นมีความทุกข์มากขึ้น เมื่อจะหาทางออก คนพวกนี้ก็เลยหันมาหาคำตอบจากศาสนามากขึ้น

เพราะฉะนั้น ในระยะ ๕-๑๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่มีความสับสนในเรื่องนี้ คนก็เลยหันมาสนใจทางศาสนามากขึ้น ซึ่งถ้าย้อนหลังไปสักยี่สิบปีก่อนจะต่างจากนี้มาก ช่วงสิบปีมานี้คนสนใจศาสนามากขึ้น หนังสือหรือตำราทางศาสนาแพร่หลายขายดีขึ้น แต่สมัยยี่สิบ สามสิบปีก่อนโน้น คนยังอยู่ในกระแสแรงที่จะหันไปมองตะวันตก ชื่นชมตะวันตก ชื่นชมความคิดของตะวันตก ไม่ค่อยสนใจหนังสือทางศาสนาเลย หนำซ้ำกลับมองว่าเป็นคร่ำครึไป แต่สิบปีมานี้คนได้หันมาสนใจศาสนามากขึ้น อ่านหนังสือศาสนา หันหน้าเข้าวัด คำว่าสมาธิ วิปัสสนา กลายเป็นคำที่ทันสมัยขึ้นมา เป็นคำที่มีความหมายสูงขึ้น เมื่อก่อนนั้นใครไปเกี่ยวข้องด้วย พวกคนสมัยใหม่จะมองอย่างเหยียดๆ เดี๋ยวนี้ความรู้สึกเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของคนในสังคมนี้ มีการหาที่ยึดหนี่ยวทางจิตใจมากขึ้น มีการหาทางออกใหม่กันมากขึ้น

ในสภาพอย่างนี้ เมื่อมีคนแสวงหามากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ว่าคนจะเอาใจใส่ต่อเรื่องศาสนามากขึ้น ในบรรดาคนที่แสวงหาเหล่านั้น บางคนก็พบอะไรที่เป็นคำตอบให้แก่ตัวเอง หรือแก่พรรคพวก ก็เลยนำมาสอนนำมาเล่าให้คนอื่นฟัง ซึ่งก็มีคนที่รออยู่แล้ว เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเกิดความพึงพอใจ ก็เข้ามาเป็นพวกเป็นหมู่ ก็เลยกลายเป็นคณะขึ้นมา ถ้ามีกำลังมีความเข้มแข็งขึ้นมา ก็กลายเป็นสำนักอะไรต่อมิอะไรไปได้ง่าย สำหรับปัญหาที่ว่าทำไมจึงเกิดสภาพอย่างนี้ขึ้น นอกจากเป็นเพราะการสนใจแสวงหาอย่างนั้นแล้ว ก็เป็นเพราะว่า เราไม่มีหลักเดิมที่คนเขาจะหันไปพึ่งพาหรือยอมรับ หลักเดิมที่ว่านั้นก็คือ พอคนหันมาสนใจศาสนาก็มีแหล่งคำตอบให้เขาอยู่แล้ว สมมติว่ามีหลักอยู่ที่นี่ มีองค์กรหรือสถาบันที่เป็นหลักสามารถให้คำตอบนี้ พอคนมาสนใจเรื่องนี้ มีปัญหาอะไรขึ้นมา มีคำถามขึ้นมา เมื่อไปหาหลักแหล่งนี้ เขาก็ให้คำตอบเป็นที่พอใจ ก็หมดปัญหา พวกนี้ก็ไม่ต้องไปแสวงหาเอง และไม่ต้องไปเชื่อฟังคนอื่น

แต่ทีนี้พอคนเกิดสนใจแสวงหาขึ้นมา สถาบันหลักที่มีอยู่ไม่สามารถให้คำตอบแก่เขาได้ คนพวกนี้ก็จึงไปแสวงหากันเอง และก็มองหาในหมู่พวกคนอื่นๆ ที่จะให้คำตอบได้ เกิดมีใครคนหนึ่งให้คำตอบ จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่รู้ละ แต่เป็นที่น่าพอใจ เขาก็รับเอามา เข้าไปหา มันก็เกิดเป็นกลุ่มเป็นสำนักอะไรใหม่ขึ้นมาได้ อันนี้ก็แสดงถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่คนในสังคมนี้มีความต้องการ แต่สถาบันที่ทำหน้าที่นี้แต่เดิมมา ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของเขาได้

ทั้งนี้ก็เพราะว่า สถาบันนี้ห่างเหินไปนาน สถาบันที่ว่านี้ก็คือ "สถาบันคณะสงฆ์" นั่นเอง สถาบันคณะสงฆ์นี้ห่างเหินกับสังคมของฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายคนทั่วไป โดยเฉพาะคนสมัยใหม่นี้ห่างกันมานานแล้ว ห่างจนพูดกันไม่รู้เรื่อง ภาษาก็พูดคนละอย่าง ในระยะที่แล้วมานั้นห่างกันไปเพราะสนใจคนละอย่างด้วย พวกคนสมัยใหม่จะสนใจเรื่องฝรั่งเรื่องอะไรก็ช่าง ทางสถาบันสงฆ์ไม่ยุ่งด้วย ฉันก็ทำแต่เรื่องของฉันไป ถ้าคุณต้องการให้ไปทำพิธีกรรมอะไรก็ไป พยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตัวไว้ อยู่ในวัด ฝ่ายคนสมัยใหม่นั้นก็ไม่ได้สนใจทางสถาบันศาสนาเท่าไรอยู่แล้ว บอกว่าท่านรักษาประเพณีเอาไว้นะ แต่ฉันต้องการความเจริญแบบตะวันตก เพราะฉะนั้น ก็เลยต่างคนต่างอยู่ ก็อยู่กันมาเรื่อยๆ อยู่คู่กันมาในสังคม โดยที่ว่าแทบไม่ได้สัมพันธ์กันเลย ไม่ได้ช่วยเหลือตอบสนองความต้องการกัน เพียงว่าสืบมาตามประเพณีและรักษาประเพณีไว้ให้อยู่ในสภาพอย่างนั้น

ในสภาพที่เหินห่างกันมานี้ พวกหนึ่งรักษาของเก่าเอาไว้ พวกหนึ่งก็หันไปรับจากตะวันตกเต็มที่ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็ห่างกันทั้งทางความเข้าใจ และห่างกันทางภาษา ต่อมาเกิดเหตุการณ์ที่คนในยุคสมัยใหม่นี้ เขาหันกลับมาสนใจศาสนา ต้องการหาคำตอบทางจิตใจ พอถึงขั้นนี้ก็เลยเกิดความเคว้งคว้าง ตอนนี้ใครจะให้คำตอบ ซึ่งตามที่ควรก็คือสถาบันสงฆ์นี่เอง เมื่อเขาต้องการหาทางออกทางจิตใจทางธรรมที่ไม่ใช่แบบตะวันตก ตัวเองต้องพร้อม พอเขาต้องการคำตอบ พอหันมาแล้วได้รับคำตอบทันที เขาก็สบายไป เขาก็เห็นทางออก แต่ทีนี้พอเขาหันกลับมา การที่ห่างกันไปนาน เลยทำให้พูดกันไม่รู้เรื่อง หันไปหาท่านก็ให้คำตอบไม่ได้ หรือพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็เลยทำให้คนไม่มองหาไม่หวังพึ่งสถาบันสงฆ์ในแง่ที่จะหาคำตอบทางด้านจิตใจ มีบ้างก็ไปวัดป่าหรือสำนักกรรมฐาน นี่ก็ได้ไปส่วนหนึ่ง บ้างก็เข้าไสยศาสตร์ทรงเจ้าเข้าผี ค้นคว้าจิตศาสตร์และเรื่องลึกลับไปเลย แต่บางพวกไม่รู้ที่ที่จะเจาะไป ก็เลยเคว้งคว้าง แล้วก็แสวงหาคำตอบกันเอาเอง ค้นคว้ากันเอาเอง แล้วก็มองในหมู่พวกเขาเอง บางคนก็เด่นขึ้นมาให้คำตอบบางอย่างที่เขาพอใจ ก็รวมจับกลุ่มกันเข้าไป เกิดเป็นสำนักต่างๆ ขึ้นมา

โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนเอง ที่แสวงหาคำตอบนั้น จุดผิดพลาดอยู่ที่ว่า คนเรานั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ ไปสุดโต่งได้ง่าย เมื่อไปสุดโต่งทางวัตถุแล้วผิดหวัง ก็มีความโน้มเอียงที่จะมาสุดโต่งทางจิต อย่างในสังคมอเมริกันคนบางพวกปฏิเสธวัตถุโดยสิ้นเชิงเลย อยู่ในสังคมที่เจริญทางวัตถุเต็มที่ แต่ไม่เอาเลย ทิ้งหมด เอาจิตอย่างเดียว ซึ่งเราได้เห็นมาแล้วตั้งแต่ยุค "ฮิปปี้" เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน บางพวกก็ยังเป็นอยู่ คนในสังคมไทยเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อผิดหวังทางวัตถุแล้วก็หันมาทางจิตเต็มที่ มุ่งหวังไปทางจิตว่า เขาจะได้รับความสำเร็จ ได้รับความสุขความสมหมายในชีวิตจากทางจิตนี้ ก็หันไปบำเพ็ญสมาธิเป็นต้น หรือถือข้อวัตรปฏิบัติแปลกๆ มุ่งเอาให้เต็มที่เลย โดยหวังว่าทางจิตนี้จะให้คำตอบ คนพวกนี้ ถ้าไม่มีความรู้พื้นฐานพอก็จะไปสุดโต่งทางจิตได้ง่าย แล้วก็จะมีอาการติดทางจิต ไม่ว่าเขาจะเป็นปัญญาชนหรือไม่เป็น

ปัญหาแทรกซ้อน ที่สะท้อนอาการป่วยของสังคม

กรณีสำนักธรรมกายที่ถามมานั้น ตามที่สดับอยู่ในขณะนี้ก็น่าเป็นห่วงอยู่ ตามข่าวที่ว่ามีสภาพเป็นธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ แต่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้จริงจังก็ยังตอบไม่ได้ ถ้าจะตอบเรื่องนี้จริงจังก็ต้องมีการศึกษาให้ชัด เท่าที่เห็นอยู่ตามที่หนังสือพิมพ์เสนอ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอย่างน้อยก็เป็นการเอาธุรกิจมาใช้ประโยชน์ ทีนี้ ธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจเพื่อสนองความมุ่งหมายทางศาสนา หรือธุรกิจเพื่อธุรกิจ นี่ก็เป็นคำถามข้อหนึ่ง ถ้าเป็นธุรกิจเพื่อศาสนาก็มีคำถามว่า เราควรจะเอาธุรกิจมาใช้ประโยชน์เพื่อศาสนาเท่าไร ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องมาถกเถียงกัน เป็นปัญหาที่หนึ่ง แต่ถ้าเป็นธุรกิจเพื่อธุรกิจ ก็จะมีปัญหาที่สองขึ้นมา กลายเป็นว่าเอาศาสนามาเป็น "เครื่องมือ" เพื่อจะให้วัตถุประสงค์ทางธุรกิจสำเร็จ จะต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ว่า เป็นธุรกิจเพื่อศาสนา หรือธุรกิจเพื่อธุรกิจ แม้ว่าจะเอาธุรกิจมาใช้เพื่อศาสนา ก็จะต้องมีปัญหา ฝ่ายศาสนาเองก็น่าจะต้องมาคิดพิจารณากันว่า ธุรกิจนี่ควรจะมาเกื้อกูลศาสนาได้แค่ไหน เราควรจะยุ่งกับมันแค่ไหน ขอบเขตของเรามีแค่ไหน แค่ไหนจึงจะเป็นการชอบธรรม

ในฐานะองค์กรทางศาสนา มีหน้าที่ที่จะผดุงธรรม ทำหน้าที่เพื่อจิตใจของประชาชน ก็จะต้องมีขอบเขตในการที่จะเอาธุรกิจมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ อาตมาสนใจในแง่ธรรมวินัยเป็นหลักใหญ่ จะต้องพิจารณากันว่าคำสอนเป็นอย่างไร เป็นไปตามพระธรรมวินัยเพียงใด

ในยุคนี้ สภาพอย่างหนึ่งก็คือความสับสน เมื่อมีเรื่องราวเกิดขึ้น และพูดจาวิพากษ์วิจารณ์กันไปออกนอกหลักนอกเหตุนอกผล คนก็จะจับประเด็นของเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ค่อยถูก โดยเอาอะไรต่างๆ มาปะปนกัน เช่นปัญหาเกี่ยวกับความประพฤติกับความรู้ความเข้าใจ ความเป็นคนดีในแง่ของความประพฤติทั่วไป ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เมื่อเขาประพฤติดีทำดีเราก็ยอมรับชื่นชม และก็ควรยกย่องหรือสรรเสริญในเรื่องนั้นๆ แต่เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจว่าเขาเข้าใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องยกขึ้นพิจารณาเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในการทำงานใหญ่ๆ เพื่อผลระยะยาวนั้น การประพฤติดีอย่างเดียวยังไม่พอ แต่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย เพราะความรู้ความเข้าใจนั้น เป็นตัวกำหนดทิศทางการกระทำในระยะยาว ดังนั้น เมื่อเขามีความประพฤติเป็นคุณสมบัติอยู่อย่างหนึ่งแล้ว ก็ควรช่วยทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้เกิดความดีงามที่สมบูรณ์ และในทางกลับกัน ถ้าเราได้คนทำงานที่มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ก็นับว่าได้ทุนดีมาส่วนหนึ่งแล้ว แต่ถ้าเขาประพฤติไม่ดี ก็ย่อมเกิดผลเสียได้ เราก็ต้องพยายามช่วยให้เขาประพฤติดีด้วย เพื่อให้เกิดผลดีงามอย่างแท้จริง แต่ถ้าเขาไม่ยอมประพฤติดีก็ต้องถือว่าเป็นคนที่บกพร่อง ซึ่งจะให้อยู่ทำงานของส่วนรวมต่อไปย่อมไม่สมควร

ในกรณีที่เป็นคนประพฤติดี แต่มีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจนั้น ถ้าเป็นปัญหาความรู้ความเข้าใจที่ในตัวของคนนั้นเอง เราก็สามารถพิจารณากับตัวเขาเอง แต่ในกรณีที่เขารับเอาความรู้ความเข้าใจนั้นมาจากที่อื่น ถือตามผู้อื่น หรือถึงกับถูกชี้นำจากแหล่งความรู้อื่น ไม่ใช่เป็นความรู้ความเข้าใจของตัวเขาเอง เราก็ต้องตรวจสอบไปที่แหล่งที่มาของความรู้ความเข้าใจนั้น

ยิ่งในกรณีที่เป็นเรื่องราวทางพระศาสนาด้วยแล้ว ความประพฤติดีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะความประพฤติดี เป็นเรื่องในระดับศีล ผู้ที่ยึดมั่นในศีลอาจยังมีความรู้ความเข้าใจและความเห็นผิดได้ ซึ่งจะไปออกผลเสียในช่วงยาวไกล ดังนั้น เหนือศีลขึ้นไปก็ยังมีสมาธิและปัญญา นอกจากศีลก็ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย พระศาสนาจะอยู่ได้ต้องอาศัยศีลเป็นเหมือนเกราะหรือกำแพงช่วยห่อหุ้มคุ้มกัน แต่ภายในเกราะหรือในกำแพงก็ต้องมีเนื้อตัว หรือสิ่งที่เป็นสาระซึ่งต้องการรักษาอยู่ข้างใน ถ้ามีแต่เกราะมีแต่กำแพง แต่ข้างในไม่มีเนื้อตัวของพระธรรมวินัยที่แท้จริง ก็ไม่มีตัวพระพุทธศาสนา แต่กลายเป็นรักษาสิ่งอื่นไว้แทน

ปัญหาสันติอโศกนั้น ตัวปัญหาที่แท้จริงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือเรื่องพระธรรมวินัย คือการสอนคลาดเคลื่อนออกไปจากความหมายและหลักการที่แท้จริง จะว่าเป็นปัญหาการตีความพระธรรมวินัยก็ยังไม่ใช่ ยังไม่ถึงระดับนั้นแท้ๆ แต่เป็นเรื่องของการไม่รู้ภาษาบาลีแล้วก็ไม่ศึกษาให้รู้ แต่แปลเอาตามที่ตนนึกคิดเห็นไปแล้วเอาไปสอนเผยแพร่ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนวุ่นวาย ถ้าจะพูดให้เห็นง่ายหน่อย ก็เหมือนคนไม่รู้ภาษาอังกฤษ แค่เคยได้ยินคำพูดบางคำมา และพอเปิดพจนานุกรมดูได้บ้าง เข้าไปที่ร้านขายอาหารแห่งหนึ่ง ถามคนขายว่ามีอาหารอะไรขายบ้าง พอได้ยินว่ามีฮ็อตดอก (hot dog) ก็เลยไปเที่ยวพูดว่า ที่ร้านอาหารนั้นขายเนื้อสุนัขร้อนๆ ลองพิจารณาดูเถิดว่า คนที่สอนที่เที่ยวไปพูดเผยแพร่ให้เข้าใจวุ่นวายอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้กับหลักการของพระศาสนา และทำกับประชาชนที่ไม่ค่อยมีความรู้ จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดอย่างไร และพระธรรมวินัยจะเป็นอย่างไร เรื่องที่เขาจะประพฤติตัวดีหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน ถึงแม้เขาจะไม่มีเจตนาพูดเท็จ แต่เขาก็ทำให้คนเข้าใจว่าฮ็อตดอกเป็นเนื้อสุนัขร้อนๆ ซึ่งผิดความจริงอยู่นั่นเอง2

ในความดีงาม ก็ต้องระวังความรุนแรง

ความเป็นคนดีในแง่ของความประพฤติทั่วไป ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เมื่อความเป็นคนดีนั้นไปสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจ ซึ่งยิ่งมาเกี่ยวกับเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องธรรมวินัยด้วยแล้ว ก็จะต้องมีปัญหาขึ้นมาว่า ความเข้าใจทางศาสนานั้นถูกต้องไหม ความดีที่จะตลอดก็คือ มีความประพฤติดีที่เป็นขั้นศีลรองรับ และความเข้าใจเบื้องสูงขึ้นไปก็จะต้องถูกต้องด้วย จึงจะรับต่อกันเป็นทอดๆ ถ้าหากว่าความดีงามในระดับต้นหรือในระดับศีล ตัวเองมีความพยายามเพียรทำ แต่มีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่ ก็จะไปเสียผลในบั้นปลาย เพราะเกี่ยวกับทิศทางที่จะเดิน ถึงจะเดินได้ดี แต่ถ้าเดินผิดทิศทางก็เท่ากับสูญเสียหมดในบั้นปลาย เราอาจจะพูดถึงตัวอย่างบุคคลที่สามารถทำอะไรได้สำเร็จ แล้วก็ทำความดีจนกระทั่งประชาชนนิยม ในประวัติศาสตร์ก็มีหลายคนที่ทำความดี ทำอะไรได้ดีและสำเร็จ พอมีอำนาจขึ้นมาเขาก็ถือว่าเขามีเจตนาดีนั่นแหละ แต่ก็ออกไปในทางที่ดิ่งไปตามทิฐิของตน และในที่สุดก็ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า เขาทนไม่ได้กับคนที่คิดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือทำโดยวิธีอื่น แต่ต้องทำอย่างวิธีของเขาเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ตอนแรกก็อาจจะเหมือนกับว่าเขาไม่มีความรุนแรง แต่ความรุนแรงมันแฝงอยู่ในตัว คือความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้อย่างนั้น ด้วยวิธีอย่างนั้น เมื่อมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้อย่างนั้นแล้ว ในที่สุดก็ทนคนอื่นไม่ได้ เมื่อปล่อยไม่ได้ก็ต้องบังคับเอา ในกรณีที่มีคนจำนวนมากๆ ย่อมจะให้เป็นอย่างใจไม่ได้ เมื่อทนกันไม่ได้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นความรุนแรงขึ้นมา ความรุนแรงนี้อาจจะเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น เมื่อเขาถือว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เท่านั้นที่ถือว่าถูกต้อง เขาก็ต้องพยายามทำให้คนอื่นทำอย่างเขาให้ได้ ไม่ว่าคนนั้นจะทำได้หรือไม่ได้ ปัญหาระยะยาวพอมีตัวอย่าง เช่น จีนแดง เราจะเห็นว่า เมื่อ เหมาเจ๋อตุง ยังอยู่ คนแต่งตัวต้องเป็นแบบเดียวกัน เรียบๆ ง่ายๆ แล้วต่อมาปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร เปลี่ยนไปมาก เป็นแฟชั่นตะวันตก ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าที่คนจีนอยู่กันในยุคนั้น อยู่ด้วยการบังคับ จิตใจไม่ได้เป็นไปตาม มีช่องเมื่อไรก็ออกมาทันที แสดงว่าเป็นความไม่พร้อมของจิตใจ

การประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นความดีงามของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องสร้างด้วยการพัฒนาคนให้มีความพร้อมของจิตใจและความสมัครใจ การสั่งสอนและฝึกคนในพระพุทธศาสนาจึงใช้วิธีการที่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ต่างจากวิธีการทางการเมือง ซึ่งมุ่งแต่จะทำให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของตน โดยใช้ระบบควบคุมจากภายนอกฉับพลันทันที หรือใช้ระบบบีบเอา ถ้าการเมืองเพียงแต่ช่วยหนุนวิธีปฏิบัติของพระศาสนา ก็ไม่สู้มีปัญหา แต่ถ้าเอาความมุ่งหมายทางพระศาสนาไปจัดทำด้วยวิธีการเมือง ก็จะต้องมีปัญหาขึ้นแน่นอน ทางพระพุทธศาสนาจึงระวังความสัมพันธ์กับการเมือง ให้เพียงแต่อิงกันหรือประสานกัน แต่ไม่ไปลงสนามเดียวกัน ถ้าหากคนที่ถือข้อปฏิบัติทางศาสนามาทำงานการเมืองแล้วมีความมุ่งมั่นในวิถีทางของตัวเองอย่างเดียว และอดทนต่อคนอื่นไม่ได้ ก็พยายามที่จะให้คนอื่นต้องเป็นอย่างที่ตัวเองเป็นและถืออย่างที่ตัวเองถือ ก็จะออกมาในลักษณะที่เป็นไปโดยสมัครใจไม่ได้ ต้องมีการบังคับหรือบีบคั้นกัน ก็จะเกิดปัญหาในระยะยาว ถ้าเคร่งเครียดเกินไป คนที่ทำด้วยสมัครใจจะมีจำนวนน้อย คนที่ทำโดยไม่สมัครใจจะมีจำนวนมาก ถ้าไม่ออกในลักษณะของจีนแดงนี้ คือไม่เปิดทางให้เอง ต่อไปมันอาจจะออกในทางระเบิด ก็กลายเป็นความรุนแรงไป ในกรณีของจีนนั้น เกิดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเรายอมรับวิธีใหม่นี้ว่าถูก แต่หมายความว่ามันเป็นเครื่องแสดงว่าที่ผ่านมานั้น จิตใจคนไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นด้วย อีกตัวอย่างหนึ่ง ตอนนี้พม่าก็เกิดเหตุขึ้นมา ในสมัยเนวินที่ผ่านมานี้ พม่าคิดระบบสังคมขึ้นมาใช้เรียกว่า พุทธสังคมนิยม (Buddhist Socialism) บอกว่าอิงหลักพระพุทธศาสนา จะใช่พุทธแท้จริงหรือไม่ ก็คงต้องสอบสวนกันดู ว่าอิงพุทธหรืออ้างพุทธกันแน่ คนที่เคยไปพม่าช่วงที่แล้ว และได้ไปเห็นสภาพ พวกหนึ่งที่ชอบความเจริญแบบเมืองไทยแบบเปิดฟรี ก็บอกว่าพม่าไม่ได้เรื่อง ไม่เจริญ อีกพวกหนึ่งบอกว่าดีจังพม่านี่ ชีวิตเรียบง่าย ประหยัด แต่ผลที่ออกมาตอนนี้คืออะไร คือความระส่ำระสาย แสดงว่าจิตใจคนไม่ได้รับความพึงพอใจอย่างแท้จริง อาจจะสุดโต่งเกินไป ไม่พอดี หรือคงจะมีการบีบบังคับบางอย่างจนทนกันไม่ได้ เรื่องละเอียดเป็นอย่างไรคงจะต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่ก็เป็นบทเรียนซึ่งไม่ควรประมาท อันนี้ก็เป็นตัวอย่างปัญหาในแบบต่างๆ

ความรุนแรงนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตใจ คนที่มุ่งจะทำให้ได้ตามที่ตัวปรารถนาหรือคิดเห็น โดยที่ถือว่าต้องทำตามแบบของตัวเท่านั้น ถ้าอย่างนี้แล้วมีโอกาสที่จะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นมา เพราะต้องทำแบบของฉันเท่านั้นจึงจะถูก ก็ย่อมเกิดความเครียดหรือกดดันขึ้นมาระหว่างสองฝ่าย วิธีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นว่าจะมีหรือจะกลายเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ ก็คือดูว่า ที่เขาถือข้อปฏิบัติอย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น เขาถือด้วยความรู้สึกสุขสบายใจ หรือถือได้ ทำได้ด้วยความรุนแรง ที่ว่าถือด้วยความรุนแรง ก็คือ ทำโดยมีแรงอัดแรงดัน เช่น ถือหรือทำด้วยแรงของความรู้สึกรังเกียจหรือไม่พอใจต่อคนพวกอื่นที่ไม่เป็นอย่างนั้น ถือด้วยกำลังของความรู้สึกว่าที่ตนทำอย่างนั้น เป็นการมีความดีเหนือผู้อื่น หล่อเลี้ยงกำลังใจของตนให้ดำรงอยู่ในข้อปฏิบัติหรือความเป็นอยู่นั้นได้ ด้วยแรงความภูมิใจของมานะ ที่เกิดจากการเปรียบเทียบตนกับคนอื่น หรือมีอุดมการณ์ว่าจะต้องเป็นจะต้องทำอย่างนั้น แล้วจัดข้อปฏิบัติทางพระศาสนาให้เข้าหรือให้สนองอุดมการณ์ของตน นี่เป็นการดูด้านภายในจิตใจ ส่วนในทางภายนอก ก็ดูที่การแสดงออก โดยเฉพาะในการบอกกล่าวสั่งสอนหลักการหรือข้อปฏิบัติของตนว่า เป็นการนำเสนอให้คนพิจารณาด้วยสติปัญญาของเขา ตามแนวทางของเหตุผลและข้อเท็จจริง ตลอดจนอาจจะชักชวนด้วยการเสนอทางเลือก หรือเป็นการบีบรัดว่าจะต้องถือต้องทำอย่างฉันนี้จึงจะถูกต้อง ทำอย่างอื่นผิดทั้งนั้น เป็นธรรมดาว่า ในยุคที่มีความย่อหย่อนเสื่อมโทรม คนที่อยากแก้ไขปรับปรุง ก็มักเกิดความรู้สึกเร่งเร้าที่จะให้มีการปฏิบัติให้เคร่งครัดที่สุด ในยุคที่มีความฟุ้งเฟ้อกันมาก ก็ชวนให้คนที่อยากแก้ไขปรับปรุง เกิดความรู้สึกเร่งเร้าที่จะทำให้มีความมักน้อยเรียบง่ายอย่างที่สุด ความรู้สึกนี้จะโน้มไปในทางที่จะสุดโต่งจากสภาพที่เป็นอยู่ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ตามปกติย่อมเป็นคนดีและมีเจตนาดี แต่การที่จะให้เป็นความดีแท้จริงก็ต้องให้ระงับความคิดและการกระทำที่เกิดจากอารมณ์รุนเร้า เอาความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์เข้ามาใส่ไว้แทน แล้วตั้งสติใช้ปัญญาพิจารณาความจริงด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ให้เห็นแนวทางความคิดและการปฏิบัติที่พอเหมาะพอดี ซึ่งจะเป็นผลดีแก่สังคมมนุษย์ โดยสอดคล้องกับความเป็นจริง

สำหรับสำนักที่ถามมา อย่างสำนักสันติอโศก มีลักษณะนี้หรือเปล่า ถ้ามีลักษณะการถือด้วยแรงอัดกันที่ว่าข้างต้น และมีลักษณะแสดงออกสั่งสอนที่ว่าต้องทำอย่างฉันเท่านั้นจึงจะถูก ทำอย่างอื่นผิดหมด อย่างนี้ก็ย่อมมีความรุนแรงอยู่ในตัว เป็นความรู้สึกที่ฝังแฝงอยู่ แม้ว่าพฤติกรรมภายนอกจะดูว่าไม่รุนแรง แต่มีความรุนแรงซ่อนอยู่ข้างใน เป็นความร้อนไม่ใช่ความชุ่มเย็น ซึ่งในระยะยาวจะมีปัญหาขึ้นได้ เพราะจะทนต่อพวกอื่นไม่ได้ และพวกอื่นก็ทนเขาไม่ได้ ทีนี้เมื่อมีกำลังมีอำนาจขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไร ปัญหาก็เกิด อย่างน้อยคนก็จะต้องแยกชัดออกเป็นสองพวก พวกที่ถือว่าแนวทางอย่างนี้เท่านั้นจึงจะถูก พวกอื่นก็เห็นว่าไม่ได้ ฉันจะยอมทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โตจนแก้ไขไม่ได้ ก็ควรจะมาทำความเข้าใจให้ชัดกันเสียก่อน โดยพูดกันด้วยเหตุด้วยผลโดยดี และในระหว่างที่พูดกันนี้ ก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในขนาดนี้ ก็ได้มีความร้อนแรงและความเครียดอัดซ่อนอยู่แล้วหรือไม่เพียงใด

ปัญหาสันติอโศกฟ้องถึงปัญหาคุณภาพคน

ที่ว่าสำนักสันติอโศกนี้มีความถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้จะต้องแยกพูดเป็นแง่ๆ ไป เริ่มต้นก็เห็นด้วยอยู่แล้วในแง่ที่ว่า กิจการพระศาสนานี้จะต้องปรับปรุง และในขณะที่การปรับปรุงจากส่วนกลางยังไม่เกิดขึ้น ก็มีหน่วยย่อยต่างๆ ริเริ่มงานปรับปรุงกันขึ้นเอง ด้านโน้นบ้างด้านนี้บ้าง อะไรที่สันติอโศกทำได้ดี คนอื่นก็ควรต้องยอมรับและชื่นชมด้วย อย่างน้อยก็เจตนาของหลายๆ คนทีเดียวในสันติอโศกนั้น ที่ต้องการจะทำดีจะปรับปรุง แต่วิธีปรับปรุงแบบสันติอโศกนี้ มีข้อที่ไม่เห็นด้วยหลายอย่าง คือ อันที่จริงน่าจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการปรับปรุง แต่กลายเป็นการปรับปรุงหรือจะทำดีด้วยวิธีที่ตัวเองก็ทำความผิดขึ้นมาด้วย ด้านหนึ่งคือ การไปละเมิดกฎหมายของบ้านเมืองเข้า แต่ถ้าละเมิดแล้วก็บอกตรงไปตรงมาว่าละเมิด ก็จะเป็นเพียงกรณีของการปกครองจะว่ากันไป ข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการเที่ยวตีความหลีกเลี่ยงไปเลี่ยงมา ซึ่งเป็นทางให้เกิดความสงสัยในเจตนา เรื่องนี้ได้เคยเขียนชี้แจงมาก่อนแล้ว เพื่อให้เห็นว่า ตามหลักความจริงและตามเหตุผล การกระทำอย่างนั้นจะมีความหมายอย่างไร ไม่ควรจะมัวพยายามตีความเลี่ยงไป ควรพูดกันตรงๆ ดีกว่า เช่นเห็นว่า กฎหมายไม่ดีไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็ว่ามาอย่างนั้น เรื่องการทำผิดกฎหมายนั้นแม้จะสำคัญก็เป็นเรื่องของบ้านเมือง แล้วแต่ใครจะมีอำนาจตัดสินและลงโทษหรือยกโทษอย่างไร ในขั้นสุดท้ายแล้ว พระสงฆ์ก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย ไม่มีอำนาจอะไรเลย นอกจากต้องปฏิบัติตามในฐานะที่ก็เป็นพลเมืองของประเทศด้วย ถึงแม้ถ้าสันติอโศกจะถูกลงโทษตามกฎหมาย เรื่องราวเสร็จสิ้นไป ก็มีแง่ควรได้รับความเห็นใจ แต่เจตนาและพฤติกรรมที่แสดงออกในการตีความเลี่ยงหลบกฎหมายนั้นแหละ ที่เป็นปมทำลายความรู้สึกดีงามนั้นไปหมด

อย่างไรก็ตาม เหนือปัญหากฎหมายนั้นไปอีก สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพระสงฆ์ก็คือเรื่องธรรมวินัย ซึ่งเป็นตัวแท้ของพระศาสนาในระดับที่จะเป็นมาตรฐานให้ยึดถือร่วมกันได้ ซึ่งพระสงฆ์มีหน้าที่รักษาไว้ หรือว่าให้ถูกวิธีก็คือพุทธบริษัททั้ง ๔ จะต้องช่วยกันรักษา ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ธรรมวินัยเป็นศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล เมื่อพระองค์ล่วงลับไป ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับพระธรรมวินัยนี้จะต้องช่วยกันทำให้เกิดมีขึ้นและดำรงรักษาไว้ ปัญหาเรื่องสันติอโศกถือผิดจากธรรมวินัย หรือทำธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน ก็ยังค้างอยู่ ยังหาพ้นไปไม่ ข้อสำคัญจะต้องรับฟังด้วยใจสงบ แล้วพิจารณาตามเหตุผล อย่าให้เกิดปฏิกิริยา อย่าเพิ่งคิดว่าเขาไม่ชอบใจหรือมุ่งร้าย ต้องยอมรับบ้างว่า คนอื่นที่เขาหวังดีต่อพระศาสนาก็มีอยู่ ถ้าตนเองมีข้อชี้แจงอย่างไร ก็พูดออกไปตามเหตุผลและข้อเท็จจริง และไม่ตราคนอื่นว่าเขาชั่วร้ายไปหมด

ระหว่างที่มีเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือความสับสน ความเข้าใจผิดพลาด การแสดงอารมณ์ต่างๆ การจับไม่ถูกแม้แต่ว่าตัวปัญหาคืออะไรอยู่ที่ไหน เช่น มีการพูดและออกข่าวมา กลายเป็นว่า เกิดมีการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างคนสองกลุ่ม ซึ่งความจริงเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มเลย แม้แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นเราก็เห็นว่าประชาชนได้มีความสับสน สื่อมวลชนเองก็มีความสับสนด้วย มีการจับประเด็นผิด ออกข่าวว่าเป็นการขัดแย้งระหว่างคนสองฝ่าย ซึ่งถ้ามองภาพอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าพลาดหมดเลย

ความจริงเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ได้มีปัญหาเกิดขึ้นในการพระศาสนาเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสันติอโศก เมื่อเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร ก็มีผู้ให้ความคิดเห็นอะไรต่างๆ ความคิดเห็นในการแก้ปัญหานี้อาจจะแตกต่างกันได้ ขัดแย้งกันได้ แต่เป็นเรื่องของการหาทางแก้ปัญหาอันนี้ ซึ่งเป็นปัญหาเดียว ตัวปัญหานั้นคือเรื่องสันติอโศกว่าผิดหรือถูกอย่างไร แต่ไม่ใช่เรื่องคนสองกลุ่มว่าสันติอโศกกับใครขัดแย้งกัน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หนังสือพิมพ์บางฉบับหรือแม้แต่โทรทัศน์ที่ได้ยินมากลายเป็นอย่างนั้นไป ก็แสดงว่าเขาจับประเด็นไม่ถูก เราก็จะต้องสร้างภาพให้เห็นว่า ได้มีเรื่องที่เกิดขึ้น คือ กรณีสันติอโศกเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว และเราจะแก้กันอย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าคนจับภาพนี้ผิด ก็จะทำให้การตีความ การมองอะไรต่างๆ ผิดไปหมด

ส่วนในการรับผิดชอบที่จะต้องแก้ไขปัญหาสันติอโศกนี้ก็มีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ในระดับคณะสงฆ์ก็คือมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์เหมือนรัฐบาลปกครองประเทศ มีหน้าที่ต้องแก้ไข ในแง่บ้านเมืองก็มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ ตามกฎหมายก็ระบุไว้ชัดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในระยะที่ผ่านมา การทำหน้าที่ก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อาจจะปล่อยปละละเลยเกินไป เรื่องก็เลยยืดเยื้อเรื้อรังกันมา ในแง่ผู้เกี่ยวข้องด้านอื่น เช่น สื่อมวลชน บางทีก็ไม่พูดกันด้วยเหตุด้วยผล ก็ไปเอาความรู้สึกส่วนตัวที่พอใจไม่พอใจฝ่ายโน้นฝ่ายนี้มาเป็นเครื่องแสดงออก พูดเหน็บแนม ประชดประชัน แสดงอารมณ์ และไม่พิจารณาที่ตัวประเด็น แต่ไปเอาเรื่องปลีกย่อยนอกเรื่องมาพูดกัน แม้แต่เสนอประเด็นให้แล้วก็ไม่พิจารณาในประเด็นนั้น เช่นบอกว่า ประเด็นปัญหาได้แก่ ประเด็นกฎหมาย ประเด็นการเมือง ประเด็นธรรมวินัย แม้มีผู้เสนอประเด็นให้แล้วว่าเรื่องอยู่ที่นี่ ก็ไม่มาเถียงกันในประเด็น แต่กลับตีเฉออกไปเรื่องอื่นๆ ตัวอย่างเช่น หลายคนก็จะยันอยู่ที่ว่า สำนักสันติอโศกก็ดีนี่เคร่งครัดดี มีพระอื่นตั้งเยอะเป็นพวกเดรัจฉานวิชา ใบ้หวย ทำไมไม่ไปจัดการ ก็จะพูดกันในทำนองนี้จนกระทั่งเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า มีกลุ่มหนึ่งคือสันติอโศก กับกลุ่มอื่นคือคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ได้แก่ พระพวกใบ้หวย เดรัจฉานวิชานั้น พระกลุ่มอื่นทั้งหมดเป็นพระที่ประพฤติเสียหาย ได้แก่พระในคณะสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่นอกสันติอโศก สร้างภาพอย่างนั้น

ผู้ที่สร้างภาพอย่างนั้นไม่ได้พิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ที่จริงนั้น สันติอโศกก็เป็นกลุ่มหนึ่งหรือเป็นสำนักหนึ่งในคณะสงฆ์ไทยทั้งหมด เหมือนกับคณะอื่นหรือสำนักอื่น ซึ่งก็มีเยอะแยะ เช่น สำนักอาจารย์ชา สำนักอาจารย์บัว สำนักสวนโมกข์ และอีกมากมาย สำนักต่างๆ เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นสำนักในคณะสงฆ์ไทยทั้งสิ้น และก็ยังมีพระที่ประพฤติเหลวไหลอย่างที่ว่าอีกมาก ซึ่งจะต้องแก้ไข ยิ่งการบริหารการปกครองย่อหย่อนอ่อนแอ พระประเภทอย่างนี้ก็จะยิ่งมีมากขึ้น แต่พระที่อยู่ในสำนักต่างๆ อย่างท่านอาจารย์ชา หรือสวนโมกข์ฯ เราจะไปตราว่าเป็นพระใบ้หวยหมดได้อย่างไร ไปสร้างภาพรวมว่า ถ้าเป็นพระในคณะสงฆ์ ก็เป็นพวกใบ้หวยอะไรไปอย่างนี้ได้อย่างไร เป็นการใช้คำพูดไม่ถูกต้อง สันติอโศกควรจะต้องยอมรับความดีงามของพระสงฆ์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่ท่านประพฤติปฏิบัติดีของท่านอยู่เงียบๆ ในที่ต่างๆ กระจายไป ไม่ใช่ติเตียนกราดไปหมด จนทำให้คนมองภาพพระสงฆ์ทั้งหมดผิดพลาดจากความเป็นจริง และที่ว่าพระองค์นั้นองค์นี้ หมู่นั้นหมู่นี้เป็นพระของมหาเถรสมาคมก็ไม่ถูก เพราะมหาเถรสมาคมก็เป็นเพียงเหมือนคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระที่ไหนหรือรูปใด ส่วนพระในสำนักต่างๆ ทั่วไปก็อยู่ของท่านตามสำนักต่างๆ มากมาย สันติอโศกก็เป็นสำนักหนึ่ง ถึงจะแยกกันอยู่เป็นต่างหมู่ต่างพวกต่างนิกาย แต่ถ้าเป็นพระไทยที่ถือหลักธรรมวินัยเดียวกัน สืบมาจากแบบแผนประเพณีการบวชตามสายของคณะสงฆ์ไทย ก็ล้วนอยู่ในคณะสงฆ์ไทยด้วยกันทั้งสิ้น เว้นแต่ใครจะขาดจากความเป็นพระภิกษุออกไป จึงจะพ้นไปอยู่นอกคณะสงฆ์ และถ้าสำนักใดตั้งขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นธรรมดาที่จะมีคนเรียกว่าเป็นสำนักเถื่อน

การที่ท่านไม่ยอมขึ้นกับมหาเถรสมาคม อันนี้ก็คือตัวปัญหาข้อหนึ่ง หมายความว่า สันติอโศกก็เหมือนกับสำนักอื่นๆ ที่มีอยู่ตามปกติ แต่ท่านเกิดมาบอกว่าฉันไม่ขึ้นกับมหาเถรสมาคม มันก็เลยกลายเป็นปัญหา การที่ท่านบอกว่าลาออกแล้ว ไม่ขึ้นกับมหาเถรสมาคมนั้น เป็นไปได้จริงหรือเปล่า ประเด็นต้องจับอย่างนี้ ตามเอกสารของสันติอโศกว่า ท่านโพธิรักษ์ก็เกิดโดยคณะสงฆ์บวชโดยคณะสงฆ์ไทย แม้ท่านจะมาตั้งสำนักขึ้นเอง ก็เป็นสำนักหนึ่งซึ่งอยู่ในคณะสงฆ์ ถ้าท่านไม่ตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นการสร้างปัญหาขึ้น เหมือนกับที่อื่น ซึ่งเขาก็อาจจะสร้างปัญหาของเขาได้เหมือนกัน เมื่อสันติอโศกสร้างปัญหานี้ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมาวินิจฉัยกันว่าเป็นไปได้ไหม ถูกต้องไหมที่จะทำอย่างนั้น

ที่ว่านี้เป็นการพูดแบบเป็นกลางๆ เพราะปัญหาไม่ได้ขึ้นกับตัวเรา ไม่ขึ้นต่อทรรศนะ แต่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงก็คือ กฎหมาย กฎหมายคณะสงฆ์ซึ่งรัฐสภาตราเอาไว้นี้ สำหรับปกครองพระสงฆ์ไทยทั้งหมด ก็ต้องมาวินิจฉัยว่าท่านโพธิรักษ์ สำนักสันติอโศกอยู่ในคณะสงฆ์ไทยไหม เป็นพระไทยหรือไม่ ซึ่งเราก็วินิจฉัยได้ด้วยการบวช ว่าท่านบวชในคณะสงฆ์ไทย อุปัชฌาย์ท่านก็เป็นพระในคณะสงฆ์ไทยตามปกติ มันก็เท่านี้ ก็ว่าไปตามกฎหมาย อันนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องทรรศนะ มันเป็นปัญหาของความจริง ต่อมาท่านบอกว่าท่านลาออก เราก็ต้องมาพิจารณาอีกว่า การที่ลาออกนั้นสำเร็จไหม ท่านยังเป็นพระไทยอยู่หรือไม่ ตามหลักการแล้ว การที่เข้ามาในคณะสงฆ์ไทย คือ การบวชอย่างพระไทย การออกไป คือ การสึก พระโพธิรักษ์ก็บวชเป็นพระไทย ในเมื่อท่านยังไม่สึก ก็ยังเป็นพระไทย ยังไม่ออกไปจากคณะสงฆ์ไทย ก็ยังอยู่ใต้บังคับของกฎหมายคณะสงฆ์ไทย เรื่องก็เท่านั้น ทีนี้ท่านอ้างว่าลาออก ในการที่พูดลาออกนี้ จะทำให้เกิดผลอะไรขึ้นมา เราจะลาออกจากอะไรเราก็ต้องทำตามวิธีการลาออกให้เสร็จ เราเกิดในประเทศไทยแล้ว ยังไม่ได้ออกจากประเทศไทยไปโอนเปลี่ยนสัญชาติใหม่ หรือยังไม่สิ้นชีวิต จะขอลาออกจากรัฐบาลไทย ประกาศไปก็คงไม่มีผลอะไร ในเมื่อวิธีการเข้ามาในคณะสงฆ์ มาเป็นพระไทย ก็เข้ามาด้วยวิธีการบวช ก็ต้องลาออกด้วยวิธีการสึก ท่านโพธิรักษ์ท่านว่าท่านลาออกจากคณะสงฆ์ไทย ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ไทย แต่ท่านยังจะเป็นพระไทย ยังแต่งตัวเป็นพระไทย ไม่ยอมสึก ก็จึงเป็นปัญหา ยิ่งกว่านั้น ท่านบอกว่า ท่านลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ท่านจึงไม่ต้องขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ ความจริงท่านไม่ต้องลาออกจากมหาเถรสมาคม เพราะท่านไม่ได้เป็นอะไรในมหาเถรสมาคมอยู่แล้ว จะลาออกทำไม ทีนี้แม้แต่พระที่มีตำแหน่งอยู่ในมหาเถรสมาคม ถึงท่านจะลาออกจากมหาเถรสมาคม ก็ยังขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ ไม่พ้นไปได้ ถ้าจะให้พ้นก็ต้องสึก จะเห็นว่า ลักษณะการพูดของพระโพธิรักษ์ชวนให้ชาวบ้านไขว้เขวสับสนได้มาก จะเป็นเพราะท่านไขว้เขวสับสนเอง หรือเพราะต้องการทำให้ประชาชนไขว้เขวสับสนก็แล้วแต่

อีกเรื่องหนึ่งที่บางคนพูดให้สับสน คือ คำว่า มหาเถรสมาคม พอเห็นว่ามีคำว่า สมาคม ต่อท้าย ก็เลยพูดให้เข้าใจไปในทำนองที่ว่าเป็นสมาคมหนึ่ง เหมือนกับสมาคมทนายความ สมาคมนักหนังสือพิมพ์เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง คำว่ามหาเถรสมาคม เกิดขึ้นนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนจะมีการใช้คำว่าสมาคมในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน มหาเถรสมาคมมีความหมายเฉพาะ หมายถึง องค์กรปกครองของพระสงฆ์ คล้ายกับรัฐบาลที่ปกครองประเทศ แต่ยิ่งกว่ารัฐบาลอีก เพราะมหาเถรสมาคมปกครองคณะสงฆ์ ทั้งโดยอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้งสามอย่างกุมอยู่ในองค์กรเดียว

เมื่อเราจะตั้งคณะสงฆ์ของเราเอง เราก็ต้องไปบวชของเราอีกแบบหนึ่ง หรือเราจะไปเข้ากับคณะสงฆ์อะไร จะไปเข้ากับจีนก็ต้องไปบวชกับคณะสงฆ์จีน ก็เท่านั้น อันนี้เป็นปัญหาเรื่องข้อเท็จจริง ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความเห็น เมื่อท่านอยู่ในคณะสงฆ์ ท่านไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ ก็เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิด ก็ต้องวินิจฉัยว่ามีความผิดหรือไม่ ต้องว่าไปตามกฎหมาย เราไม่ได้พูดในแง่ว่ากฎหมายนี้ดีหรือไม่ มหาเถรสมาคมดีหรือไม่ ตอนนี้เราไม่พูดกัน เพราะมันคนละเรื่อง ต้องพูดกันเป็นเรื่องๆ ไป ถ้าท่านเห็นว่ามหาเถรสมาคมไม่ดี ปัญหาไม่ใช่มาพูดว่าลาออก ท่านต้องบอกว่า มหาเถรสมาคมนี้ไม่ดี พวกเรามาช่วยกันล้ม อะไรอย่างนี้ ก็ต้องว่ากันตรงๆ หรือว่ากฎหมายคณะสงฆ์นี้ไม่ดี ไม่ให้ความเป็นธรรม หรือไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องว่าตรงๆ ว่าไม่ดี พวกเรามาช่วยกันเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงแก้ไข ถ้าทำตรงๆ อย่างนี้ ปัญหามันก็จะไปอีกแบบหนึ่ง แต่คนที่มีเหตุผลจะรับฟังได้ ก็พูดกันตรงไปตรงมา ไม่ใช่เลี่ยงว่าฉันไม่ขึ้นกับกฎหมายนี้ กฎหมายนี้ไม่เกี่ยวกับฉัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ขณะนี้ที่ยังติดขัดอยู่ เท่าที่ฟังดู เขาก็กลัวว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเสียงคน คนจำนวนมากนับถืออยู่ ถ้าทำอะไรไปก็จะเป็นการกระทบกระเทือน ก็มองไปในแง่นี้ แต่ในแง่ของประชาชนที่ดูอยู่ ก็อาจจะระแวงและมองได้หลายอย่าง เช่น อาจจะมองว่า รัฐบาลเองก็ยังไม่มีความมั่นคงในตัวเองพอ ก็เลยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือแม้แต่จะพูดอะไรให้ชัดเจนออกไป เพราะคงจะยังต้องกลัวเรื่องเสียงคน อะไรต่างๆ ถ้าคนไหนมีกลุ่มใหญ่บ้าง มีอิทธิพลบ้าง ผู้บริหารบ้านเมืองที่ยังไม่มีความมั่นใจในตัว ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะปฏิบัติ ก็อาจจะหวาดๆ รักษาฐานของตัวเองไว้ก่อน หรือมิฉะนั้นรัฐบาลเองก็อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องดีพอ ยังจับประเด็นไม่ถูก หรืออาจจะมีอะไรลึกล้ำยิ่งกว่านั้นไปอีก หรือแม้แต่คณะสงฆ์เองก็อาจจะมีความอ่อนแอ ก็เลยไม่กล้าจัดการในเรื่องเหล่านี้ อันนี้เป็นการมองอย่างคนวงนอก เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจ และชักชวนกันให้ตั้งอยู่ในเหตุในผลและขอให้ทำหน้าที่กันให้ถูกต้อง

คนที่จะรับผิดชอบสังคม จะแก้ไขปัญหาของส่วนรวม จะเป็นฝ่ายบ้านเมือง หรือทางด้านพระศาสนาก็ตาม จะต้องรู้จักตัวเอง คือสังคมของเรานี้พอสมควร ทั้งส่วนอดีตว่าสืบมาอย่างไร ปัจจุบันนี้เราอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในภายนอก ที่เป็นอย่างไร ปัญหาที่เผชิญอยู่มีโยงใยอะไรไปถึงไหนบ้าง และมองการข้างหน้าเพื่อประโยชน์ที่ยาวไกลสักหน่อย ถ้าจับเรื่องแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้หน้ารู้หลัง โผล่ออกไปเห็นอะไรสวยงามก็จะรับเข้ามา แล้วสิ่งนั้นอาจจะพาความพินาศมาให้ก็ได้ ถ้าเราได้แต่คนชนิดที่รู้หลังแค่คืบ เห็นปัจจุบันแค่ที่จ่อมก้น และมองข้างหน้าแค่มือจะเอื้อมเอา ถ้าอย่างนี้ ก็หวังยากที่สังคมนี้จะรอดปลอดภัย

ด้านลับเร้นของปัญหาการพัฒนา

ว่าโดยสรุป ในการพัฒนาประเทศ งานหนึ่งที่มีความสำคัญมากก็คือ การสร้างดุลยภาพหรือความสมดุล คือให้เกิดความพอดี ปัญหาในขณะนี้ก็คือ สถาบันต่างๆ ในสังคมมีความลักลั่นกันอยู่ มีการแซงล้ำหน้ากัน เติบโตไม่สม่ำเสมอกัน ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ขณะนี้ก็คือ ปัญหาเมืองกับชนบท การพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เมืองกับชนบทห่างไกลกันมาก ปัญหาต่างๆ ก็เกิดขึ้น ประการแรก คนในชนบทก็เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อการศึกษาแล้วไม่กลับไปเลย เพราะเข้ามาหาความเจริญในกรุงเทพฯ ก็ทำให้ชนบทสูญเสียทรัพยากรบุคคล ไม่มีกำลัง คนที่มีปัญญาเข้ามาอยู่ในกรุงหมด สอง งานการในชนบทไม่มีทำ ถึงมีทำ ก็ไม่ได้ผล ไม่พอกินหรือยากเย็นกว่าในกรุง ก็ทำให้คนหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ นี่คือการเสียสมดุล และในเมืองก็เกิดปัญหา เพราะคนที่เข้ามานั้นไม่พร้อม ก็เข้ามาสร้างปัญหาในเมือง และชนบทก็ขาดกำลังที่จะพัฒนาตนเอง

ชนบทเป็นดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศ ตั้งเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อส่วนใหญ่ของประเทศนี้เปลี้ยอ่อนกำลัง ประเทศไทยทั้งหมดก็อ่อนแอ ชนบทของเราขณะนี้โทรมมาก เพราะกำลังคนทั้งกำลังด้านสติปัญญาและกำลังด้านแรงกาย ต่างก็เข้ามาอยู่ในกรุงหมด เหลืออยู่บ้านนอกเฉพาะพวกเด็กและคนแก่ ชนบทก็พัฒนาไม่ไหว ชนบทก็เลยโทรม ความไม่มีดุลยภาพ เช่น ในด้านฐานะคน คนรวยก็รวยมากขึ้น คนจนก็ยังจนหนักอยู่ แก้ไม่ตก สถาบันสงฆ์กับสถาบันทั่วไป ก็มีความไม่พอดีในการพัฒนา ทำให้พูดกันไม่รู้เรื่องอย่างที่ว่า ไม่สามารถถ่ายทอดความคิด เอาหลักธรรมมาสนองความต้องการของเขาไม่ได้ แม้แต่ในชุมชนหนึ่งๆ ก็มีความไม่กลมกลืนกัน โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่มีวิถีชีวิตไปแบบหนึ่ง ชาวบ้านไปแบบหนึ่ง วัดไปอีกอย่างหนึ่ง วัดก็ไปกับชาวบ้านแต่ไม่รู้เรื่องกันกับโรงเรียน โรงเรียนตั้งอยู่ในวัด แต่วัดไม่รู้เรื่องโรงเรียนเลย โรงเรียนก็ไม่รู้เรื่องวัด ชีวิตก็เลยไปคนละแบบ ไม่ประสานกลมกลืนและไม่เกื้อกูลกัน

นอกจากนั้น วัดเองก็มีกำลังทรัพยากรที่เสื่อมลงมาก เพราะขาดนโยบายที่จะสร้างกำลังคน สร้างบุคลากร วัดในท้องถิ่นต่างๆ ก็จะหมดกำลัง ไม่มีพระที่มีคุณภาพจะอยู่วัด ไม่มีการศึกษา มีแต่คนที่แก่แล้ว ไม่มีทางไปหรือเลิกทำงานแล้วเข้ามาบวชมารักษาวัดไว้เฉยๆ ไม่มีความรู้ สังคมไทยก็ลักลั่น เพราะชาวบ้านก็ถือว่าวัดเป็นผู้นำของท้องถิ่น พระเป็นผู้นำชาวบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน พระที่มาเป็นผู้นำก็คือคนที่เป็นหางแถวของชาวบ้านมาบวช ก็เลยไม่ได้เรื่อง ได้แต่ความเชื่อถือที่เป็นบุญเก่า พออยู่ๆ ทำๆ กันไปตามประเพณี ถึงเขาจะเชื่อ ก็นำกันไม่ได้หรือนำไปผิดๆ เพราะผู้นำไม่มีคุณภาพ ก็โทรมลงไปทุกที

เพราะฉะนั้น ในด้านการพระศาสนานี้ จะต้องปรับปรุงการศึกษาขึ้นมา ในทางคณะสงฆ์ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของความเสื่อมและความเจริญ ปัญหาก็คือว่า ปัจจุบันนี้ เราไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาทางพระศาสนาเท่าที่ควร พระก็ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้เรียน ไม่มีการฝึกฝนพัฒนา แล้วก็มีผลย้อนกลับไปอีก คือ เมื่อเราปล่อยปละละเลย พระไม่มีการศึกษา พอมีคนตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา ตั้งขบวนการขึ้นมา ขบวนการเหล่านี้ก็ได้เปรียบที่จะสอนให้คนเห็นข้อบกพร่องของระบบที่มีอยู่ ว่าวัดและพระสงฆ์ที่มีอยู่นี้ไม่มีคุณภาพ ไม่มีหลักทั้งทางสติปัญญาและความประพฤติทั่วไป ความประพฤติก็ย่อหย่อน สติปัญญาก็ไม่มี พอพวกนั้นตั้งขบวนการขึ้นมา เอาจุดอ่อนเหล่านี้มาตี ก็ได้จุดสนใจ คนก็เห็นเด่นชัด ก็หันไปหาเขา

ดังนั้น จึงเป็นโทษของสังคมของเรานี่เอง ที่ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เสื่อมโทรมไป ถ้าปล่อยกันอยู่อย่างนี้ปัญหาก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะเท่ากับว่า พระในชนบทไม่มีกำลังที่จะคุ้มครองตัวเอง อย่าว่าแต่จะไปช่วยชาวบ้านเลย ตัวเองก็จะเอาไว้ไม่อยู่แล้ว ดังนั้น พวกที่เขาจะเข้ามาตั้งตัวเป็นขบวนการใหม่ จะสอนลัทธิอะไรแปลกใหม่ เขาสามารถทำได้มากในตอนนี้ เพราะสภาพความเสื่อมเปิดช่องให้อย่างเต็มที่ พวกที่สอนใหม่นี้จะสอนผิดสอนถูกหรืออย่างไร พวกพระในวัดไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถไปวินิจฉัยได้ ไม่มีความรู้ที่จะตอบโต้เขาได้ ตัวเองก็จะเอาไว้ไม่อยู่ มีแต่จะเป็นเหยื่อเขาไป พวกนั้นก็ตั้งตัวขึ้นมาได้ เอาชาวบ้านไปได้ สอนผิดสอนถูกชาวบ้านก็เชื่อ ตอนนี้ล่อแหลมต่ออันตราย ขบวนการทางศาสนาแบบสำนักต่างๆ ที่มีปัญหานี้ จะเกิดขึ้นในชนบทของไทยได้ง่ายมากในขณะนี้ จากสภาพปัจจุบัน แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องเดรัจฉานวิชาต่างๆ ที่แพร่หลายเข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนา ก็เกิดจากความย่อหย่อนอ่อนแอเสื่อมโทรมด้อยการศึกษาของพระสงฆ์นี่เอง จะเรียกว่าเป็นคลื่นหรือระลอกหนึ่งของสิ่งที่เข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนาก็ได้ เมื่อยังไม่ปรับปรุงแก้ไข ก็มีคลื่นหรือระลอกที่สอง สาม สี่ เข้ามาอีก ซึ่งระลอกใหม่บางลูกอาจจะเป็นปฏิกิริยาตรงข้ามสุดทางกับลูกก่อนก็ได้ โดยที่ทั้งสอง หรือสาม สี่ ลูกนั้น ก็ไม่ใช่ตัวจริงของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่ตัวจริงนั้นถูกกลบถูกบังหรือจมหายไปหมด

ปัญหาดังกล่าวนี้ ทางแก้ไขที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ก็คือ ต้องเอาใจใส่ต่อการศึกษาของพระเณร โดยเฉพาะในชนบท ต้องไปจัดการให้พระได้รับการศึกษา ให้รู้ธรรมวินัย มีนโยบายในการสร้างบุคลากรว่า พระสงฆ์ในชนบทเราจะเอาคนชนิดใดไว้ เราจะส่งเสริมคนประเภทใดให้เข้ามา ทำอย่างไรจึงจะให้พระอยู่ชนบทครองวัดอย่างมีคุณภาพ ต้องทำกันขึ้นมาทันที ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคณะสงฆ์ รัฐก็ต้องเอาใจใส่ด้วย และอันนี้ก็คือความไม่กลมกลืนอย่างหนึ่งด้วย ที่ว่าทางฝ่ายรัฐ ผู้ที่เข้ามาเป็นคนในรัฐบาลก็ไม่ค่อยรู้เรื่องปัญหาทางศาสนา ว่าพระในวัดนั้นคือคนประเภทใด เดี๋ยวนี้ใครอยู่วัดบ้าง วัดในชนบทมีสภาพเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง หรือทั้งๆ ที่รู้แต่ไม่ตระหนัก คือ เขารู้เหมือนกันแต่ไม่ออกมาเป็นความตระหนัก ว่าพระสงฆ์นั้น ชาวบ้านเขายังนับถือเป็นผู้นำอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญในความเสื่อมและความเจริญของท้องถิ่น จะต้องเอาใจใส่ว่าจะสร้างผู้นำท้องถิ่นที่มีคุณภาพได้อย่างไร

รัฐบาลเมื่อมองว่าผู้นำของชนบทคือใคร บางทีก็เห็นไม่ชัดเจน บางทีก็อาจจะมองไปที่ข้าราชการ เช่น นายอำเภอ ว่าเป็นผู้นำท้องถิ่น แต่ข้าราชการนั้นไม่ใช่คนท้องถิ่นที่จะอยู่ยั่งยืน ตัวผู้นำท้องถิ่นที่ชาวบ้านเขายอมรับอยู่แล้วก็คือ พระ เจ้าอาวาส รองลงมาก็คือครู แต่ในขณะนี้สถาบันหลักทั้งพระและครูก็กลายเป็นสถาบันที่โทรมมากทั้งคู่ ครูก็กำลังมีปัญหา กำลังถกเถียงกันในวงการศึกษาว่า ครูของเรามีฐานะที่ตกต่ำในสังคมไทยปัจจุบัน คุณภาพก็ด้อย ก็จะต้องพยายามยกฐานะครูขึ้นมา และพระก็ยิ่งโทรมหนัก สองสถาบันนี้เป็นสถาบันสำคัญในชนบท ถ้าไม่สามารถยกขึ้นมาได้แล้ว ชนบทก็พัฒนาได้ยากยิ่ง ในขณะนี้ ทรัพยากรบุคคลในชนบทเข้ามาอยู่ในกรุงกันหมด มาศึกษา มาหางานทำกัน ชนบทก็เปลี้ยอยู่แล้ว แล้วผู้นำที่มีอยู่ก็ยังแย่อีก

ในการแก้ไขปัญหานี้ นอกจากจะแก้ที่ระบบการศึกษาแล้ว ในส่วนของกฎหมายคณะสงฆ์ก็ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไข ถึงเวลามานานแล้วด้วย กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้ทำให้การพระศาสนาอ่อนแอมาจนปัจจุบันนี้ เป็นเวลาตั้งกี่ปีแล้วที่กฎหมายฉบับนี้ออกมา ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ตอนนี้ ๒๖ ปีแล้ว ใช้มานานก็เท่ากับว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้เกิดความอ่อนแออย่างที่เป็นอยู่ สภาพการพระศาสนาที่เราเห็นอยู่ว่าอ่อนแออย่างไรในขณะนี้ ก็ต้องนับว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งทำให้งานการของคณะสงฆ์ไม่เดินเท่าที่ควร และทำให้ไม่มีการฟื้นฟูปรับปรุงการพระศาสนา โดยเฉพาะในชนบท การศึกษาที่ทรุดโทรมไปก็เพราะอย่างนี้ด้วย และปัญหาที่เกิดขึ้นมา อย่างที่เกิดสำนักอะไรต่างๆ ขึ้นนี้ ก็เพราะเราไม่พัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์ให้ดีเท่าที่ควร ภายในก็ผุกลวง ภัยภายนอกก็เกิด แล้วก็แก้กันไม่ตก แล้วสาเหตุมาจากไหน ก็เพราะว่ากฎหมายนี้สร้างจุดอ่อนไว้ และไม่เป็นตัวช่วยเกื้อที่จะแก้ปัญหานี้ได้

ผู้ริเริ่มนั้นมีหลายฝ่ายที่จะแก้ไข เพียงแต่เขาจะทำกันจริงหรือไม่เท่านั้น แหล่งหนึ่งก็คือกระทรวงศึกษาธิการก็มีข่าวเป็นระยะๆ ว่าจะพยายาม สองก็คณะสงฆ์เองที่จะต้องคิดแก้ไข แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะแก้ไข นี้คือเจ้าหน้าที่โดยตรง เหนือจากนี้ก็ต้องเป็นตัวผู้บริหารประเทศ ตัวผู้นำรัฐบาลที่จะต้องมีความเข้าใจปัญหานี้ แล้วก็คิดทำให้สำเร็จ ถ้าปล่อยอย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้ ก็จะต้องเกิดปัญหาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ปัญหาอย่างสันติอโศกนี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนภัย และฟ้องความผุเท่านั้น ถ้าไม่แก้ไขปรับปรุงตัว ทั้งภัยในและภัยนอกก็จะต้องประดังกันมาอีกมากมาย และไม่ใช่เฉพาะสถาบันสงฆ์เท่านั้นที่จะผุกร่อน แต่สังคมไทยทั้งหมดจะได้รับผลนั้น

บทสรุป

โดยรวมแล้วก็อย่างที่พูดมาทั้งหมด สังคมไทยเวลานี้ เป็นสังคมที่ยังไม่น่าพอใจ เพราะเป็นสังคมที่มีปัญหาหมักหมมตัวอยู่มาก แต่ถ้าเรานำไปเทียบกับสังคมอื่นบางประเทศ ก็ยังมีที่น่าพอใจอยู่บ้าง ที่ว่าไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรงเหมือนในหลายประเทศ ยังพอประคับประคองตัวไป อาจจะเป็นด้วยลักษณะของคนไทยซึ่งมีทั้งแง่ดีแง่เสีย ที่ดีก็มีอยู่ว่าเป็นคนไม่ชอบความรุนแรง อะลุ่มอล่วยปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เก่ง แต่เป็นการปรับตัวเฉพาะหน้ามากกว่า การปรับตัวเพื่อผลระยะยาวไม่ค่อยมี ในการที่จะให้มีการปรับปรุง เราจะต้องมีการปรับตัวเพื่อผลระยะยาวด้วย จะต้องทำอย่างมีความมุ่งหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ปรับตัวเพื่อให้พ้นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่บีบบังคับให้ผ่านไปที ไม่ใช่อย่างนั้น สังคมของเรามักจะมีความเป็นไปในลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างนี้เสมอมา จะต้องพยายามแก้ไขปัญหาระยะยาวกัน และต้องสร้างนิสัยในการรักงาน ในการที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ผลิต ผู้สร้างสรรค์ ไม่มัวเมาในค่านิยมของการเป็นผู้บริโภค ความฟุ้งเฟ้อ การแข่งขันอวดฐานะกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบาดไปทั่วสังคมไทยในขณะนี้ และจะต้องเร่งให้การศึกษา ในด้านหนึ่งสำหรับประชาชนก็ต้องปรับปรุงให้การศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพคนในระยะยาว ในวงแคบเข้ามา ทางคณะสงฆ์จะต้องมีการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาของพระเณร โดยเฉพาะในชนบท ในฐานะที่พระได้รับความเชื่อถือเป็นผู้นำชุมชนของท้องถิ่น เพื่อจะทำให้ท้องถิ่นของไทยได้ผู้นำที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น

ในขณะที่อารยธรรมมนุษย์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย จะมีปัญหาจากความเจริญด้านข่าวสารข้อมูลได้มาก ประเทศไทยจึงจะได้รับผลกระทบจากความเจริญแบบนี้ด้วย ถ้าปรับตัวไม่ดี การหลอกลวงและเอารัดเอาเปรียบกันด้วยข่าวสารข้อมูลจะมีได้มาก จะมีภาวะที่เรียกได้ว่าถูกข้อมูลท่วมทับหรือสำลักข้อมูล เพราะไม่รู้จักเลือกคัดเอาประโยชน์ มีกองขยะข้อมูล การผูกขาดอำนาจ และการฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากข่าวสารข้อมูล ถ้าพัฒนาโดยไม่ได้พัฒนาจริง เพียงแต่รับเอาสิ่งบริโภคที่เป็นความเจริญภายนอกเข้ามา ก็จะเกิดปัญหาเหล่านี้มากมาย เริ่มแต่ภาวะพึ่งพาขึ้นต่อประเทศอื่น ในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลนั้นเอง จึงจะต้องพัฒนาด้านภายในตัวคนให้มากให้พร้อม ให้รับสถานการณ์ใหม่ได้ ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ให้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ให้มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล พัฒนาฉันทะ ความใฝ่สัจจะ ใฝ่ความจริง ใฝ่ดี ความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ ที่ทำให้รักงาน เพียรพยายามพัฒนาศักยภาพของตน สร้างเสริมคุณภาพชีวิต และประโยชน์สุขของสังคมร่วมกัน

ภาคผนวก

ปัญหาการแปลและตีความคำบาลีของพระโพธิรักษ์

ในข้อความข้างต้นของหนังสือเล่มนี้ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ดู เพื่อให้เห็นว่าการแปลและตีความคำบาลี และถ้อยคำทางธรรมของพระโพธิรักษ์ผิดพลาดและทำให้เกิดปัญหาอย่างไร แต่ตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น การแปล ฮ็อตดอก (hot dog) เป็นเนื้อสุนัขร้อนๆ เป็นต้นนั้น แม้จะเข้าใจง่าย แต่บางทีก็ทำให้ผู้อ่านมองในแง่ตลกขบขันไปเสีย ไม่มองเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างไร จึงเห็นว่าควรจะอธิบายให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

การแปลหรือเข้าใจความหมายของถ้อยคำผิดพลาดนั้น บางทีก็เป็นเพียงทำให้ตลกขบขัน ไม่มีผลเสียหายร้ายแรง แต่บางครั้งก็มีโทษมาก อาจทำให้ทำอะไรผิดพลาดเป็นอันตรายแก่ตนเองหรือแก่สังคม อาจทำให้คนเข้าใจผิดถึงกับทะเลาะวิวาท ฆ่าฟันกัน อาจทำให้เกิดสงครามระหว่างเผ่า ตลอดจนระหว่างประเทศก็ได้ แล้วแต่ถ้อยคำ ความหมายที่เข้าใจผิด และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนจากภาคกลางกลุ่มหนึ่ง เดินทางไกลไปในภาคอีสาน ถึงถิ่นหนึ่ง ทางที่จะไปข้างหน้าแห้งแล้งและห่างไกลมาก คณะเดินทางได้แวะถามชาวบ้านว่า "ข้างหน้ามีน้ำไหม?" ชาวบ้านตอบว่า "น้ำหน้าบ่มี" คำตอบของชาวบ้านนี้มุ่งให้เข้าใจว่า ทางข้างหน้าไม่มีน้ำ แต่คำว่า "บ่" ของชาวบ้าน ซึ่งแปลว่า ไม่ นั้น มีเสียงพูดตรงกับคำว่า "บ่อ" ที่คนภาคกลางเข้าใจว่าเป็นแหล่งน้ำ คณะเดินทางนั้นจึงเข้าใจผิดไปอย่างตรงข้ามว่า บนหนทางข้างหน้ามีบ่อน้ำ ไม่มีปัญหา พวกเขาจึงไม่เตรียมน้ำไปเลย ความเข้าใจผิดนี้จึงทำให้เขาอดน้ำ ได้รับความทุกข์เป็นอันมาก หรือถ้าสถานการณ์ร้ายแรงก็อาจจะถึงตาย อีกตัวอย่างหนึ่ง คือเรื่องผู้ใหญ่ลีที่คุ้นกันดี ผู้ ใหญ่ลีตีกลองประชุมชาวบ้าน แล้วแจ้งข่าวว่า ทางการสั่งให้ชาวนาเลี้ยงไก่และสุกร ตาสีไม่เคยได้ยินคำว่าสุกรและไม่รู้จักว่าเป็นอะไร จึงถามว่า สุกรนั้นคืออะไร ซึ่งผู้ใหญ่ลีก็ไม่รู้จักเหมือนกัน แต่ก็ได้เดาตอบไปว่า สุกรคือหมาน้อยธรรมดา การที่ผู้ใหญ่ลีให้ความหมายที่ผิดนี้แก่ชาวบ้าน ก็ทำให้ชาวบ้านหลงผิด แล้วก็ปฏิบัติผิด ชาวบ้านก็เหน็ดเหนื่อย ผลสำเร็จก็ไม่เกิดขึ้นตามความประสงค์ของทางราชการ

ความผิดพลาดในตัวอย่าง ๒ เรื่องนี้ เกิดจากความไม่รู้ แล้วหลงผิดไป หรือไม่รู้แล้วอวดรู้ โดยไม่มีความตั้งใจที่จะบิดเบือนความจริง แต่ในกรณีอื่นหลายครั้ง ผู้ให้ความหมายที่ผิดมีเจตนาที่จะทำให้คนเข้าใจผิด หรือน่าสงสัยว่าจะมีเจตนาเช่นนั้น โดยมุ่งแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองบ้าง เลี่ยงหลบความผิดบ้าง ต้องการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคมหรือวงการใดวงการหนึ่งบ้าง ตลอดจนอาจจะต้องการทำลายอะไรบางอย่าง กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่มีอันตรายน่ากลัวมาก เพราะอาจจะทำอย่างฉลาดแนบเนียน มีการวางแผน ไม่ทำโดยบังเอิญ ชนิดที่ว่าเกิดเรื่องขึ้นแล้ว พลาดไปเฉพาะเรื่องนั้น ยอมรับความจริงเสร็จแล้วก็จบเรื่องไป แต่จะหาทางทำอย่างซับซ้อนต่อเนื่อง ถ้ามีเรื่องอย่างนี้ หรือน่าสงสัยว่าจะเป็นอย่างนี้ ก็ควรจะต้องช่วยกันหาความจริงให้กระจ่างชัดว่า คนที่ทำเช่นนั้นทำด้วยความหลงผิดพลาดไป หรือมีเจตนาซ่อนเร้นอย่างไร โดยที่เราก็จะไม่ตัดสินเขา แต่ให้เขาแสดงตัวเองออกมาให้ชัด และในระหว่างนั้นก็ต้องเอาใจใส่ระมัดระวัง เพื่อไม่ให้การแปลความผิดๆ นั้น สร้างความสับสน ก่อผลเสียหายต่อพระศาสนาและประชาชนกว้างขวางออกไป

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง อาจช่วยให้เข้าใจปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นาย ก. กับพวก ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิหนึ่งขึ้น กฎหมายบัญญัติไว้ว่า เมื่อมูลนิธิสิ้นสุดลง ทรัพย์สินของมูลนิธินั้นให้โอนไปยังนิติบุคคล ตามที่จะพึงระบุไว้ในตราสารตั้งมูลนิธินั้น นาย ก. ยื่นเรื่องราวต่อทางราชการขออนุญาตตั้งมูลนิธิ โดยในตราสารได้ระบุว่า เมื่อมูลนิธินั้นสิ้นสุดลง ให้ทรัพย์สินของมูลนิธิตกเป็นของนางสาว ข. ซึ่งเป็นบุตรหญิงของนาย ก. เจ้าหน้าที่ของราชการบอกว่าจะโอนทรัพย์สินให้แก่นางสาว ข. ไม่ได้ เพราะนางสาว ข. ไม่เป็นนิติบุคคล นาย ก. ก็ยืนยันว่าเขาทำตราสารถูกต้องแล้ว ทางการจะต้องอนุญาตแก่เขา เพราะนางสาว ข. เป็นนิติบุคคล แล้วเขาก็แปลความหมายของนิติบุคคลโดยอ้างกฎหมายเสียด้วย แต่เป็นการอ้างตามแบบของเขาว่า บุคคล คือ คนที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วมีชีวิตรอดอยู่และยังไม่ตาย นิติ แปลตามพจนานุกรมว่า แบบแผน นิติบุคคล คือ คนที่มีแบบแผน นางสาว ข. บุตรหญิงของเขานั้น เช้าขึ้นก็ตื่นนอน ล้างหน้า รับประทานอาหารแล้วก็ไปเรียนหนังสือ เย็นก็กลับมาบ้าน กลางคืนก็เข้านอน ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน จึงเป็นคนมีแบบแผน เพราะฉะนั้น จึงเป็นนิติบุคคล เขาจึงขอยืนยันให้ทางราชการอนุญาตให้เขาตั้งมูลนิธิโดยเป็นไปตามตราสารนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องเล่าต่อว่า ทางราชการจะอนุญาตหรือไม่ แต่เล่าให้เห็นว่า บางครั้งคนอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน สำหรับเรื่องในระดับอย่างนี้ ผู้ที่อ่านก็มองเห็นได้ไม่ยากว่า เป็นการตีความเอาประโยชน์เข้าตัว ไม่ซื่อตรง และบางทีก็จะเห็นเป็นเรื่องน่าขบขันไปด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องทางพระศาสนาที่คนทั่วไปไม่คุ้น ทั้งที่เรื่องก็เป็นไปในทำนองเดียวกันอย่างนี้ ไม่สมเหตุผล และน่าขบขันอย่างเดียวกัน แต่คนทั่วไปก็อาจจะตามเรื่องไม่ทัน และมองไม่เห็นความเหลวไหล เพราะไม่มีพื้นความเข้าใจในภาษาและหลักพระศาสนาที่จะดูเรื่องออกได้ในทันที

การแปลและตีความคำบาลี และคำศัพท์ทางธรรมของพระโพธิรักษ์ มีลักษณะที่ทำให้เห็นว่าเป็นไปในทำนองนี้ จะขอยกตัวอย่างคำว่า "อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" เหตุที่ยกคำนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ก็เพราะเป็นคำที่พระโพธิรักษ์เอง ยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง และยังไม่ยอมลดละการถือผิดในความหมาย อีกทั้งเป็นคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาของพระโพธิรักษ์เองด้วย นอกจากนั้น ก็เป็นคำที่มีความหมายเชิงรูปธรรมที่เข้าใจไม่ยากนัก พอจะพูดให้เข้าใจกันง่ายสักหน่อย

"อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" เป็นคำศัพท์ในพระวินัย ซึ่งเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่าเป็นกฎหมายหลักของพระสงฆ์ คำว่า อุปสัมบัน แปลว่า ผู้อุปสมบทแล้ว ท่านให้คำจำกัดความไว้ในพระไตรปิฎกว่า ได้แก่ ภิกษุ และ ภิกษุณี คำว่า อนุปสัมบัน แปลว่า ผู้ไม่ได้อุปสมบท หรือ ผู้มิใช่อุปสัมบัน ท่านจำกัดความว่า ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี ในพระวินัยมีเรื่องราวและกฎเกณฑ์มากมายหลายอย่างเกี่ยวกับอุปสัมบัน และอนุปสัมบัน ซึ่งเมื่อเข้าใจความหมายตามที่ท่านจำกัดความไว้ (ซึ่งก็ตรงตามคำแปลของศัพท์นั่นเอง) การพิจารณาเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็เป็นไปด้วยดี

มีพุทธบัญญัติบทหนึ่งใจความว่า ภิกษุอวดคุณวิเศษ(อุตริมนุสสธรรม)ที่ไม่มีในตน มีความผิดเป็นปาราชิก (คือ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ) เช่น ไม่ได้เป็นโสดาบัน อวดว่าตนเป็นโสดาบัน ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น และมีพุทธบัญญัติอีกบทหนึ่งใจความว่า ภิกษุบอกคุณวิเศษที่ตนมีจริงแก่อนุปสัมบัน เป็นความผิดปาจิตตีย์ (ความผิดที่เบาลงมา แก้ไขได้ด้วยวิธีที่เรียกกันว่า ปลงอาบัติ) หมายความว่า ถึงแม้ตนจะมีคุณวิเศษจริง เช่น เป็นอริยะ เป็นโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าอวดตัวแก่บุคคลอื่น ที่มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี เช่นแก่สามเณร หรือแก่ชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง ก็เป็นความผิดแต่เบาลงมา ถ้าบอกแก่อุปสัมบัน คือ ภิกษุหรือภิกษุณีเท่านั้น จึงจะไม่เป็นความผิด เรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับปัญหาของพระโพธิรักษ์ คือ มีหลักฐานเป็นอันมากที่แสดงชัดว่า พระโพธิรักษ์พูดว่าตนเป็นพระอริยะ เป็นพระโสดาบัน หรือเป็นผู้สูงกว่านั้น และได้พูดประกาศเช่นนี้ทั้งแก่คฤหัสถ์คือชาวบ้านชาวเรือนด้วย จึงได้เกิดข้อพิจารณาขึ้นว่า พระโพธิรักษ์ได้ละเมิดพระวินัยหรือไม่ ถ้าละเมิด เป็นความผิดสถานใด ถ้าพระโพธิรักษ์ไม่ได้มีคุณวิเศษที่ตนอ้าง และเจตนาพูดเท็จ ก็จะเป็นปาราชิก หรือถ้ามีจริง แต่เมื่ออวดเช่นนั้นแก่คฤหัสถ์ ก็จะเป็นปาจิตตีย์ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็เป็นข้อที่จะต้องวินิจฉัยกันต่อไป

ในด้านพระโพธิรักษ์ ก็ได้ยืนยันว่าตนมีคุณวิเศษเช่นนั้นจริง ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็ยังมีปัญหาอีกว่า เมื่อพระโพธิรักษ์ประกาศบอกเช่นนั้นแก่คฤหัสถ์ ก็จะไม่พ้นเป็นปาจิตตีย์ แต่เรื่องไม่จำกัดขอบเขตอยู่แค่นั้น พระโพธิรักษ์หาได้ยอมรับบทบัญญัติในพระวินัยที่จะนำมาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยนั้นไม่ ทั้งที่ตามพระวินัย ในพระไตรปิฎกบ่งไว้ชัดว่า อุปสัมบัน ได้แก่ ภิกษุและภิกษุณี แต่พระโพธิรักษ์ได้ให้ความหมายขึ้นมาใหม่ว่า อุปสัมบัน หมายถึงผู้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นคฤหัสถ์แต่ถ้าได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น ก็เป็นอุปสัมบันเหมือนกัน ความหมายเช่นนี้ไม่ได้มีบอกไว้ในหลักการแห่งใดในพระพุทธศาสนา แต่เป็นความหมายที่พระโพธิรักษ์กล่าวขึ้นเอง โดยอ้างว่าท่านรู้ด้วยญาณ การที่พระโพธิรักษ์พูดให้ความหมายอย่างนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการหาเหตุผลมาแสดงว่าการกระทำของท่านไม่เป็นความผิด เป็นทำนองว่า ถึงแม้ว่าท่านจะพูดบอกแก่คฤหัสถ์ แต่คฤหัสถ์เหล่านั้นก็เป็นผู้มีภูมิธรรมถึงขั้น จึงเป็นอุปสัมบันแล้ว (ในความหมายของท่านเอง) ซึ่งถ้ายอมรับความหมายของท่าน ก็ยังมีข้อพิจารณาต่อไปว่า คฤหัสถ์ที่ท่านบอกนั้นเป็นผู้มีภูมิธรรมถึงขั้นบ้างหรือถึงขั้นทุกคนหรือไม่ ตามเรื่องที่เป็นมา ท่านพูดประกาศตัวอย่างสาธารณะทั่วไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนผู้ฟังทุกคนจะเป็นผู้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นไปหมด ดังนั้น แม้จะตีความตามความหมายของท่านเอง ท่านก็ยังไม่สามารถเปลื้องตัวจากข้อพิจารณาความผิด และต่อมาก็ปรากฏอีกว่า ท่านพระโพธิรักษ์ได้ยกพุทธพจน์ที่ว่าพระอริยะ ตั้งแต่พระโสดาบันไปจนถึงพระอรหันต์ ก็ยังต้องอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ได้ ขึ้นมาอ้าง และว่าถึงท่านจะต้องอาบัติคือความผิดเป็นปาจิตตีย์ ท่านก็ปลงอาบัติแล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ว่าคฤหัสถ์ที่พระโพธิรักษ์ประกาศคุณวิเศษให้ฟัง จะเป็นผู้มีภูมิธรรมถึงขั้นหรือไม่นั้น ว่าที่จริงแล้ว ไม่เป็นข้อที่จะต้องพิจารณาเลย เพราะถือเอาเป็นหลักไม่ได้ แต่ได้มีข้อพิจารณาสำคัญเกิดขึ้นอีกประเด็นหนึ่งคือ การแปลและตีความคำบาลีและศัพท์ธรรมของพระโพธิรักษ์ตามความคิดของท่านโดยอ้างว่ารู้ด้วยญาณ ซึ่งการแปล คำว่าอุปสัมบัน (และอนุปสัมบัน) ของท่านในที่นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกระทำเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ท่านและคณะได้ทราบคำชี้แจงอธิบายแล้วว่า วินัยเป็นเรื่องของระเบียบแบบแผนที่เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์หรือกติกาทางสังคม อันผู้ปฏิบัติจะรู้ร่วมกันและปฏิบัติตามได้โดยมีเครื่องชี้บ่งที่ชัดเจนแน่นอนทางรูปธรรม ไม่ต้องตามพิสูจน์สืบค้นถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาในใจ ซึ่งสภาวะในจิตใจเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่อาจตัดสินได้ และเมื่อมีการกล่าวอ้างก็ยากต่อการพิสูจน์ พระวินัยจึงไม่เอาสภาพนามธรรมมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน และจึงกำหนดความหมายเป็นคำจำกัดความกำกับลงไปในกรณีนั้นๆ ดังที่ในกรณีนี้ท่านก็ระบุชัดลงไปแล้วพร้อมกับพุทธบัญญัติในเรื่องนี้ว่า อนุปสัมบัน ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี และอุปสัมบัน ได้แก่ ภิกษุและภิกษุณี เมื่อมีกรณีเกิดขึ้นให้พิจารณา ก็จะได้ใช้ความหมายนี้เป็นเครื่องประกอบการวินิจฉัย แต่ทั้งๆ ที่ได้ทราบคำชี้แจงอย่างนี้ พระโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก ก็ยังไม่ยอมละการถือความหมายอย่างที่ท่านพูดว่ารู้ด้วยญาณนั้น ดังปรากฏว่า ในระยะใกล้ๆ นี้เอง ทางสันติอโศกก็ได้ออกหนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "แฉสันติอโศก ผิดธรรมวินัยจริงหรือ?" (พิมพ์ครั้งที่ ๑ ก.ย. ๒๕๓๑) ในหนังสือนี้ก็ยังแสดงการยึดถือในความหมายของคำว่า "อุปสัมบัน" อย่างที่เคยถือมาก่อน โดยได้พิมพ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

"การอวดอุตริมนุสสธรรมที่มีจริงนั้น ย่อมไม่เป็นความผิดอะไร ถ้าได้แสดงต่อ "อุปสัมบัน" (โดยพยัญชนะหมายเอาภิกษุ, ภิกษุณี)

"แต่อุปสัมบันโดยอรรถนั้นหมายเอา "ผู้เข้าถึง" ... แม้จะเป็นฆราวาส ถ้าเขาได้ศึกษาปฏิบัติธรรมกันมาอย่างมีมรรคมีผลเป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า "อุปสัมบัน" นั้นมากกว่า…"

(แฉสันติอโศกฯ. หน้า ๘-๙)

เริ่มแรกผู้เขียนหนังสือของสันติอโศกนี้ ก็ไม่รู้จักแล้วว่าอะไรเป็นความหมายโดยอรรถ อะไรเป็นความหมายโดยพยัญชนะ แต่กลับเอาความหมายโดยพยัญชนะเป็นโดยอรรถ เอาความหมายโดยอรรถเป็นโดยพยัญชนะ เมื่อเอาความหมายโดยพยัญชนะเป็นโดยอรรถแล้ว ก็เลยตีความออกนอกเรื่องไป อันที่จริงความหมายของ อุปสัมบัน โดยพยัญชนะหรือตามตัวหนังสือ ก็คือ ผู้อุปสมบทแล้ว หรือผู้เข้าถึง คือ เข้าถึงความเป็นภิกษุหรือความเป็นภิกษุณีนั่นเอง ไม่ใช่เป็นการเข้าถึงธรรมอะไร ส่วนความหมายของอุปสัมบันโดยอรรถ หรือตามเนื้อหาที่ต้องการก็คือ เป็นภิกษุหรือภิกษุณี นอกจากนั้น เมื่อพยายามอธิบายให้ฆราวาสเป็นอุปสัมบันได้ ชาวสันติอโศกก็ไปลงมติอย่างไม่แน่ชัดว่า "...ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า "อุปสัมบัน" มากกว่า" ความหมายเช่นนี้ในทางวินัยหรือกฎหมายย่อมใช้ไม่ได้ เพราะแม้แต่คำที่เป็นแกนของเรื่องก็ยังมีความหมายไม่แน่นอน แล้วจะวินิจฉัยอะไรลงไปให้ยุติได้อย่างไร

อนึ่ง ชาวสันติอโศกพยายามอธิบายในทำนองว่า ฆราวาสที่ได้ปฏิบัติธรรมเข้าถึงภูมิธรรมสูงกว่าภิกษุก็มี ภิกษุจำนวนมากบวชเข้ามาไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรก็มี ฆราวาสที่ได้บรรลุธรรมนั้นจึงควรเป็นอุปสัมบันมากกว่า เรื่องที่ว่าฆราวาส(คฤหัสถ์) ที่บรรลุภูมิธรรมสูงกว่าภิกษุก็มีนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่รู้กันอยู่ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาล แต่การที่ว่าฆราวาสที่บรรลุภูมิธรรมแล้ว จะเป็นอุปสัมบันขึ้นมานั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน เป็นเรื่องสามัญที่ไม่ควรนำมาทำให้สับสน เหมือนกับว่า ที่เรือรบลำหนึ่งห้ามคนอื่นนอกจากทหารเรือขึ้นไปบนเรือ ต่อมาพลเรือนคนหนึ่งมาที่เรือนั้น จะขึ้นไปบนเรือให้ได้ เขาบอกว่าเขาว่ายน้ำเก่งยิ่งกว่าทหารเรือตั้งหลายคน เพราะฉะนั้น เขาก็เป็นทหารเรือเหมือนกัน จะต้องให้เขาขึ้นไปบนเรือ พลเรือนคนนั้นอาจจะว่ายน้ำเก่งอย่างที่ว่านั้นจริง แต่ก็ไม่เป็นเหตุผลที่จะทำให้เขาเป็นทหารเรือ และที่จะขึ้นไปบนเรือได้ หรือเหมือนกับเรื่องบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล ที่เคยกล่าวถึงแล้ว ในกรณีที่มีข้อกำหนดอย่างหนึ่งว่า ให้มอบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งแก่นิติบุคคล นาย ก. มาถึงบอกว่า ต้องมอบทรัพย์สินจำนวนนั้นแก่เขา เพราะว่า ถึงแม้เขาจะเป็นบุคคลธรรมดาก็จริง แต่เขาก็มีฐานะมั่นคงยิ่งกว่านิติบุคคลตั้งหลายแห่ง นิติบุคคลหลายแห่งมีฐานะมั่นคงแพ้เขาอย่างมากมาย ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ว่านาย ก. มีฐานะมั่นคงกว่านิติบุคคลหลายแห่ง แต่ก็ไม่เป็นเหตุผลที่จะทำให้เขามีสิทธิในฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นมาได้

ครั้งหนึ่ง มีผู้เล่าให้ฟังว่า ที่วัดหนึ่ง มีภิกษุอายุมากรูปหนึ่งมีหญิงสาวปรนนิบัติต่างๆ แม้แต่บีบนวด โดยที่ภิกษุรูปนั้นและกลุ่มของท่านถือว่าไม่เสียหายอะไร ไม่เป็นการผิดวินัย เพราะท่านไม่มีกิเลส ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่แท้จริงนั้น ท่านที่ไม่มีกิเลส ย่อมไม่ประพฤติเช่นนั้น เพราะเมื่อท่านไม่มีกิเลส ท่านก็หมดเหตุที่จะทำอะไรเพื่อเห็นแก่ตน ย่อมมีแต่จะรักษาพระวินัยได้ถูกต้องเคร่งครัด เพื่อเห็นแก่พระวินัยนั่นเอง และเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์แก่ชุมชนส่วนรวมและอนุชน ในเรื่องเช่นนี้ ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์เป็นหลักไว้ชัดเจน คนก็จะแปลความหมายตีความวินัยกันไป โดยมีข้ออ้างที่จะทำให้ผิดเพี้ยนไปอย่างไรก็ได้

ถ้าสันติอโศกจะตีความให้ฆราวาสเป็นอุปสัมบัน ซึ่งตนจะอวดอุตริมนุสสธรรมได้ พระสูงอายุรูปนั้นก็มีสิทธิที่จะตีความให้หญิงสาวบีบนวดตนได้ และนาย ก. ก็มีสิทธิตีความให้นางสาว ข. ซึ่งมีชีวิตที่เป็นแบบแผน เช้าตื่นนอน แล้วไปโรงเรียน เย็นกลับบ้าน กลางคืนเข้านอนเป็นประจำนั้น เป็นนิติบุคคลได้ เช่นเดียวกัน หากทำกันได้เช่นนี้ ต่อไปก็ตั้งความหมายที่ตนต้องการขึ้นไว้ก่อน แล้วก็ตีความไปตีความมาจนมาเข้ากับความหมายที่ตนจะเอานั้นจนได้

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การแปลและตีความเฉไฉเช่นนั้น จะสร้างความสับสนและความเข้าใจผิดพลาดต่อพระธรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทำกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ความปั่นป่วนวุ่นวายและความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นในการศึกษาปฏิบัติธรรม จนหาอะไรเป็นหลักไม่ได้ ขอยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับคำว่า "อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" นี้แหละ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า กฎเกณฑ์และข้อบัญญัติเกี่ยวกับอุปสัมบันและอนุปสัมบันนั้น มีอยู่เป็นอันมาก เมื่อถือความหมายตามที่ท่านกำหนดไว้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตามข้อบัญญัติเหล่านั้น ก็จะเป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยดี แต่ถ้ามีการแปลและตีความอย่างพระโพธิรักษ์เกิดขึ้น ปัญหาก็จะเกิดตามมาทันที เช่น มีพุทธบัญญัติอีกแห่งหนึ่งว่า

มาตุฆาตโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนฺโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ, อุปสมฺปนฺโน นาเสตพฺโพติ.

(วินย.๔/๑๒๘/๑๗๗)

แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่ามารดา เป็นอนุปสัมบัน (ยังไม่ได้อุปสมบท คือยังไม่ได้บวชเป็นภิกษุ) ไม่พึงให้อุปสมบท, เป็นอุปสัมบัน (อุปสมบทแล้ว คือบวชเป็นภิกษุแล้ว) ก็พึงให้ฉิบหายเสีย (ให้ฉิบหายจากความเป็นภิกษุ คือให้สึกเสีย)

แต่ถ้าถือตามความหมายของพระโพธิรักษ์ ที่ว่า อุปสัมบัน คือผู้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น ก็จะต้องแปลว่า "คนฆ่ามารดา ยังไม่บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น ไม่พึงให้อุปสมบท, บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นแล้ว ก็พึงให้ฉิบหายเสีย" ในคำแปลนี้จะเห็นความไม่กลมกลืนทันทีว่า ในเรื่องคนฆ่ามารดา จะมาพูดอะไรกันว่า บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นหรือไม่บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น คนฆ่ามารดาจะบรรลุภูมิธรรมถึงขั้นอย่างไร และถ้าเขาบรรลุจริง ทำไมจะต้องไปทำให้เขาฉิบหายเสียเล่า ถ้าแปลกันอย่างนี้ ความสับสนวุ่นวายก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งว่า "สมัยนั้นแล ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ทันทีที่เป็นอุปสัมบัน (คือ พอได้อุปสมบทเสร็จ) ก็ประพฤติอนาจาร" (วินย.๔/๘๖/๑๐๔) เมื่อถูกว่ากล่าว ก็ย้อนว่าตนไม่ได้ขอให้บวชให้ ภิกษุทั้งหลายมาบวชให้ตนเองทำไม เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไม่ให้อุปสมบทโดยไม่ได้รับการขอร้อง ข้อความนี้ ถ้าแปลตามความหมายของพระโพธิรักษ์ก็กลายเป็นว่า ภิกษุรูปนั้น พอได้บรรลุธรรมถึงขั้น ก็ประพฤติอนาจาร ความหมายอย่างนี้ย่อมขัดหลักธรรมวินัยไปหมด จึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น จะเห็นได้ชัดว่า คำว่าอุปสัมบันเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ทางวินัยที่เกี่ยวกับรูปแบบเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวกับภูมิธรรมในจิตใจแต่อย่างใด ถ้าอุปสัมบัน หมายถึงผู้บรรลุธรรมถึงขั้นแล้ว จะมาประพฤติอนาจารและทำความผิดอะไรต่างๆ มากมายได้อย่างไร

จริงอยู่ คำพูดบางคำมีความหมายได้หลายอย่าง เช่นคำว่า "ฉัน" ในภาษาไทย มีความหมายต่างกันในการใช้ที่ไม่เหมือนกัน ดังในประโยคว่า "นิมนต์พระสามรูปมาฉันอาหาร" "ฉันจะไม่ไปกับเธอ" และ "ขอให้พูดจากันฉันพี่น้อง" แม้จะมีความหมายต่างกันในบริบทคือข้อความแวดล้อมที่ต่างกัน แต่ก็มีเครื่องกำหนดซึ่งผู้ที่เข้าใจภาษาดีแล้วก็แยกได้ สามารถทำความเข้าใจได้ถูกต้อง และนี่ก็ยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องศึกษาภาษานั้นๆ ให้เข้าใจดีพอสมควรก่อนที่จะแปลและตีความเอาเอง (เฉพาะคำว่าอุปสัมบันนี้ พอดีว่าเป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันหมดในพระไตรปิฎกทั่วทุกแห่ง) โดยเฉพาะภาษาบาลี เป็นภาษาที่มีไวยากรณ์เป็นแบบแผน จะมีเครื่องมือแยกความหมายได้อย่างรัดกุม ช่วยให้เจ้าของคำสอนและผู้จารึกความในคัมภีร์ กับผู้อ่านคัมภีร์ เข้าใจความหมายตรงกัน ไม่ใช่ว่าผู้อ่านคัมภีร์จะแปลและตีความเอาเองตามที่ตนนึกคิดเห็นไปตามอำเภอใจ

เวลานี้ ปัญหาเรื่องพระประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย มีมาก เราก็ประสบกันอย่างหนักอยู่แล้ว และเราก็ร้องทุกข์กันอยู่ว่า ทำไมผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงไม่เอาใจใส่แก้ไข พระศาสนาก็เสื่อมโทรมลงไปทุกทีๆ ท่านที่อ้างว่าจะมาแก้ไขปรับปรุงทั้งหลายนั้น ถ้าประสงค์ดีต่อพระศาสนาและส่วนรวมจริงๆ ก็ขออย่าได้มาทำการด้วยวิธีทำพระธรรมวินัยให้วิปริตไปเลย เพราะแทนที่จะเป็นการแก้ไขปรับปรุง จะกลับเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นอีกด้านหนึ่ง ซ้ำเติมพระศาสนาและประชาชนให้หนักลงไปอีก ถ้าท่านแสดงให้เห็นได้ชัดว่าประสงค์ดีจริง และทำให้ถูกต้องอย่างบริสุทธิ์ใจ เราก็พร้อมที่จะร่วมมือส่งเสริมสนับสนุน

คนที่ทำความผิดแล้วยอมรับตามตรงว่าตนทำความผิด และจำกัดขอบเขตการทำผิดของตนไว้แค่นั้น พวกหนึ่ง คนที่ทำความผิดไปเรื่อยๆ โดยไม่เอาใจใส่เลยว่า จะเป็นความผิดอย่างใดหรือไม่ พวกหนึ่ง และคนที่ทำความผิดแล้วดึงเอาธรรมวินัยมาเข้ากับความผิดของตน พวกหนึ่ง ทั้งสามพวกนี้ล้วนเป็นผู้ผิดด้วยกันทั้งสิ้น แต่พวกไหนจะก่อโทษทำลายพระศาสนาและจิตปัญญาของประชาชนมากที่สุด

การที่เขียนและพูดมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ มิใช่จะมุ่งจับผิด แต่ในเมื่อเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อพระศาสนาและชุมชนวงกว้าง และยังเป็นปมค้างอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องการความชัดเจน มิใช่ชัดเจนเฉพาะตัวปัญหา ว่าเป็นอย่างไรจะแก้อย่างไรเท่านั้น แต่ควรหาความชัดเจนในเจตนาว่ามุ่งหมายอะไรอย่างไรด้วย

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่บังคับศรัทธา ให้โอกาสเป็นอย่างมากแก่ผู้ศึกษาปฏิบัติ ที่จะใช้ปัญญาคิดพินิจพิจารณาอย่างเป็นอิสระ เจตนาที่ซื่อตรงมุ่งต่อความจริงความถูกต้องดีงาม และความก้าวหน้าในการปฏิบัติสู่จุดหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะดำรงรักษาเนื้อแท้ของพระศาสนาไว้ และในทางกลับกัน จึงถือเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะดำรงรักษาธรรมวินัยไว้ในสภาพที่บริสุทธิ์ ตรงตามหลักการเดิม โดยช่วยกันป้องกันการปลอมแปลงพระสัทธรรม และการเสแสร้งตีความต่างๆ ให้ผิดเพี้ยน สำหรับหลักธรรมหลายอย่างที่ลึกซึ้ง ถ้ามีผู้ตีความและสั่งสอนให้คลาดเคลื่อนวิปริตไป การที่จะชี้แจงให้คนทั่วไปเข้าใจมองเห็นความวิปริตนั้นมักจะทำได้ยาก เพราะเป็นเรื่องนามธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะคนทั่วไปนั้น ไม่มีพื้นความรู้ที่จะตามจับสาระได้ ถ้าเป็นไปได้ เมื่อมีกรณีที่น่าสงสัยเกิดขึ้น ก็ควรจะพิจารณาตรวจสอบกันที่เรื่องพื้นๆ ง่ายๆ โดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นรูปธรรม ถ้าแม้ในระดับนี้ มีพฤติกรรมและอาการที่ส่อถึงเจตนาที่จะบิดเบือนหรือความหลงผิดแล้ว ก็จะได้เห็นง่ายแต่ต้น และจะได้วางท่าทีให้เหมาะต่อธรรมลึกซึ้งขึ้นไป ที่ผู้นั้นๆ นำมาสั่งสอนอธิบาย

การแปลและตีความคำว่า อุปสัมบัน ของพระโพธิรักษ์เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งพฤติกรรมเท่าที่ผ่านมาในการถือความหมายที่ผิดจากธรรมวินัยอย่างไม่ลดละ เป็นเครื่องแสดงถึงความไม่น่าไว้วางใจที่ทำให้ต้องตั้งเป็นข้อสงสัยว่า ท่านจะมิได้แปลและตีความหมายหลักธรรมวินัยด้วยเจตนาที่มุ่งต่อตัวแท้ตัวจริงของพระธรรมวินัยนั้น แต่จะได้กระทำด้วยเจตนาแฝงเร้นที่จะนำพระธรรมวินัยไปสนองวัตถุประสงค์นอกหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นลักษณะเฉพาะตัวของท่านที่มองสิ่งต่างๆ อย่างเฉเพี้ยนเลี่ยงแฉลบไปมา อันง่ายต่อการเกิดความหลงผิด เมื่อท่านถือคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไป และมีผู้ถือตามจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่แล้วในบัดนี้ ความสับสนฟั่นเฟือนก็จะเกิดขึ้นในการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย ทำให้เสียหลักแล้วก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสูญของพระศาสนา จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกันและแก้ไขโดยไม่ประมาท

ในระยะหลังๆ นี้ พระโพธิรักษ์ยกเอาแม้แต่เรื่องราวในโลหิจจสูตร มาสนับสนุนการอวดอุตริมนุสสธรรมของตน ความในโลหิจจสูตรนั้น กล่าวถึงพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ ซึ่งมีความเห็นผิดว่า สมณพราหมณ์บรรลุกุศลธรรมแล้วไม่ควรบอกแก่คนอื่น เพราะคนจะทำอะไรให้แก่กันไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนเปลื้องความเห็นผิดของพราหมณ์นั้น โดยทรงแสดงให้เห็นว่า การทำเช่นนั้น เป็นเหมือนเก็บผลประโยชน์ไว้กินคนเดียว ไม่มีความคิดเกื้อกูล ปราศจากเมตตาธรรมแก่ผู้อื่น ความเห็นเช่นนี้จะเป็นการปิดกั้น ทำให้ผู้เข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้เสียโอกาสในการที่จะบรรลุคุณวิเศษ เช่น โสดาปัตติผลเป็นต้น จึงเป็นความเห็นที่ผิด มีโทษร้ายแรง ผู้บรรลุกุศลธรรมจึงควรบอกแก่ผู้อื่น ใจความก็คือ ไม่ควรหวงวิชา ไม่ควรหวงความรู้และคุณความดีที่ตนมี แต่ควรสั่งสอนแนะนำเพื่อแผ่แก่คนอื่น คนที่อ่านพระสูตรนี้แล้วตามปกติ ก็ย่อมเข้าใจความอย่างนี้ คือตนมีความรู้ความสามารถ ทำอะไรได้ทำอะไรเป็น มีคุณความดีอะไร ก็ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ช่วยให้เขารู้เข้าใจ ทำได้ และมีคุณความดีอย่างนั้นด้วย เขาไม่คิดกันถึงว่าจะต้องไปอวดอ้างว่า ฉันนี่นะขั้นนั้นขั้นนี้ได้นั่นได้นี่ มีปริญญานั่น ปริญญานี่มา ซึ่งการที่จะบอกแนะนำสั่งสอนเผื่อแผ่ความรู้ความเข้าใจและคุณความดีของตนแก่ผู้อื่น กับการอวดอ้างบอกว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่มีความดีอย่างนั้นอย่างนี้ ย่อมไม่เหมือนกัน แต่พระโพธิรักษ์อ่านพระสูตรนี้ แล้วกลับมาพูดในทำนองที่แสดงว่า ท่านมองเห็นไปว่าพระพุทธเจ้าสอนให้อวดอ้าง และจะต้องอวดอ้างตัวเองเช่นนั้นจึงจะเป็นการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วนำพระสูตรนี้มาอ้างยืนยันการอวดอุตริมนุสสธรรมของตน

พระโพธิรักษ์ชอบพูดว่าท่านไม่ได้ดื้อรั้น แต่ยืนหยัด ถึงกับอ้างวาทะของมหาตมคานธีมายืนยัน แต่การที่พระโพธิรักษ์จะเป็นผู้ดื้อรั้นหรือไม่ดื้อรั้น จะเป็นผู้ยืนหยัดหรือไม่ยืนหยัด หาได้เป็นไปตามคำที่พระโพธิรักษ์จะพูดให้เป็นไม่ แต่อยู่ที่การกระทำของพระโพธิรักษ์เองต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องตัดสิน

ในหนังสือ "แฉสันติอโศกผิดธรรมวินัยจริงหรือ?" ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ไม่ถือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล" การใช้ถ้อยคำที่กำกวมชวนให้ผู้อื่นเข้าใจผิดพลาดทำนองนี้ ดูจะเป็นลักษณะสำนวนพูดของพระโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก คำว่า "คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคม" นั้น ย่อมไม่มี การใช้ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนอย่างนี้ ทำให้ผู้อ่านหลงเข้าใจผิดได้ง่าย โดยเฉพาะอาจทำให้นึกเห็นไปตามภาพที่ทางสันติอโศกเคยพูดให้คนเข้าใจมาก่อน คือเข้าใจไปว่า มีคณะสงฆ์ฝ่ายมหาเถรสมาคม หรือคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคมพวกหนึ่ง กับคณะสงฆ์สันติอโศกฝ่ายตนอีกพวกหนึ่ง การพูดหรือเขียนเช่นนี้ ถ้ามิใช่เกิดจากเจตนาเฉไฉ พูดให้คนเข้าใจผิดสร้างภาพผิด ก็เกิดจากความหลงผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรจะช่วยกันสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ในประเทศไทยนี้ พระสงฆ์ไทยทั้งหมดมีชื่อเรียกรวมว่า คณะสงฆ์ไทย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้มีมหาเถรสมาคมขึ้นเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทยนี้ แต่มหาเถรสมาคมนั้น ก็เป็นแต่เพียงองค์กรปกครอง ที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติในกฎหมายเท่านั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย วางระบบบริหารใหม่ให้มีองค์กรชื่ออื่นแบบอื่นเข้ามาปกครองคณะสงฆ์ไทย มหาเถรสมาคมก็หมดไป แต่คณะสงฆ์ไทยก็ยังคงเป็นตัวยืนอยู่อย่างเดิม เหมือนกับเมื่อก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ไม่มีมหาเถรสมาคม แต่มีองค์กรแบบอื่นที่เรียกว่า คณะสังฆมนตรี เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทยอยู่ เป็นเวลายาวนาน ๒๒ ปี คณะสงฆ์ไทยนี้ประกอบด้วยพระสงฆ์มากมายหลากหลาย มีความรู้ความประพฤติและแนวปฏิบัติต่างกันไปมากมายหลายแบบ การมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และองค์กรปกครองคณะสงฆ์ที่เรียกชื่อว่ามหาเถรสมาคมบ้าง คณะสังฆมนตรีบ้างนี้ ก็เป็นการพยายามที่จะให้พระสงฆ์ทั้งหมดในคณะสงฆ์ไทยคุมกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และดึงกันขึ้นสู่มาตรฐานความประพฤติปฏิบัติที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ากฎหมายและองค์กรปกครองที่มีอยู่ ทำหน้าที่ไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ก็อาจเปลี่ยนแปลงให้มีกฎหมายใหม่และองค์กรปกครองใหม่ขึ้นแทน การกล่าวว่า "คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ไม่ถือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล" นั้น ก็จะต้องหมายถึงคณะสงฆ์ไทยนี้เอง และเมื่อกล่าวเช่นนั้น ก็ย่อมเป็นการกล่าวตู่คณะสงฆ์ไทยด้วยถ้อยคำไม่เป็นจริง จริงอยู่ในคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันนี้ มีพระภิกษุจำนวนมากมายประพฤติบกพร่องเสียหายวิปริตจากพระธรรมวินัย แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นความจริงเช่นเดียวกันว่า ในคณะสงฆ์ไทยนั้นนั่นแหละ ก็มีพระภิกษุอีกจำนวนมากที่ประพฤติปฏิบัติดีถูกตรงยิ่งกว่าพระในสันติอโศก การที่พระสันติอโศกกล่าวประณามพระภิกษุไทยอื่นๆ ทั้งหมดนอกจากพวกตนว่าเป็นผู้ไม่ประกอบด้วยจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีลนั้น ย่อมกลายเป็นความบกพร่องในศีลของตนเอง

การที่ในหนังสือ "แฉสันติอโศกฯ" มีข้อความที่ผิดพลาดหรือไม่ชัดเจนชวนให้เข้าใจผิด เช่นที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่ใช่เป็นไปด้วยเจตนาที่จะสร้างภาพผิดๆ ก็ย่อมเกิดจากความเข้าใจสับสน และการมีพื้นความรู้ในทางพระพุทธศาสนาไม่เพียงพอ ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่หน้าแรกในเล่ม คือ หน้า "เกริ่น" เป็นต้นไปทีเดียว

นอกจากหนังสือ "แฉสันติอโศกฯ" นั้นแล้ว ในระยะใกล้ๆ นี้ ทางสันติอโศกยังได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ อื่นๆ ออกมาอีกหลายเล่ม เช่น "พระธรรมนูญของพุทธ" "ไขข้อข้องใจ มังสวิรัติกับเทวทัต" "นักกฎหมายชี้ สันติอโศกไม่ผิดกฎหมาย" เป็นต้น หนังสือเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเพียรพยายามและตั้งใจจริงจังในการทำงาน และสำนวนความที่กล่าวไว้ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เขียนเป็นคนฉลาด โดยเฉพาะหลายท่านได้เล่าเรียนวิชาการต่างๆ ทางโลกมามาก อันเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ทำงานด้านการเล่าเรียนและเผยแพร่ได้ผลดี จึงนับว่าเป็นที่น่าชื่นชมยินดีที่มีผู้ทรงความรู้และตั้งใจจริง เข้ามาสนใจและช่วยงานในวงการพระศาสนา ถ้าข้อเขียนเหล่านี้นำเสนอความรู้และคำสอนตรงและพอดีกับความจริงตามหลักพระธรรมวินัย ก็จะเป็นความเกื้อกูลแก่กิจการพระศาสนามิใช่น้อย โดยเฉพาะในระยะนี้ ที่การพระศาสนาอ่อนแอขาดแคลนกำลังคนที่มีคุณภาพ ควรจะต้องปรับปรุง ก็จะได้เป็นการช่วยกันเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เป็นการทำงานปรับปรุงกันขึ้นในด้านต่างๆ จากหลายๆ จุดหลายๆ แห่งมาประสานกัน ผลดีก็จะเกิดขึ้นแก่พระศาสนาเป็นส่วนรวม แต่เมื่ออ่านเนื้อความแล้วก็เห็นว่า หนังสือเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขปรับเนื้อหาให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะยังมีความเข้าใจผิดและนำหลักพระธรรมวินัยมาแสดงอย่างผิดพลาดไม่ตรงไม่พอดีกับที่เป็นจริง จะกลายเป็นสื่อนำความรู้ที่ผิด อีกทั้งในหนังสือเหล่านั้น มักมีข้อความติเตียนตัดสินผู้อื่นในทางร้ายด้วย เมื่อคำและความที่อ้างเป็นเครื่องวินิจฉัยนั้นไม่ตรงตามหลักที่เป็นจริง ก็จะเป็นการทำร้ายผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม ถ้าผู้เขียนและผู้ที่เชื่อตามเป็นผู้มีจิตใจเป็นธรรม กว่าจะรู้ตัวว่าได้ทำร้ายผู้อื่นด้วยความหลงผิด ก็ได้ถลำพลาดไปอย่างหนักและนานเสียแล้ว จึงควรจะได้มีความรอบคอบในการค้นคว้าและทำความเข้าใจให้แม่นยำถูกต้องเสียก่อน จากการที่ได้อ่านหนังสือเหล่านี้ ถ้าไม่พิจารณาในแง่ที่ว่าผู้เขียนเหล่านั้น อาจจะมีเจตนาซ่อนเร้นแอบแฝงบางอย่าง สมมติว่าเขามีเจตนาดีเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็จะเห็นได้ชัดว่า เนื้อความ คำอธิบาย และการอ้างอิงที่แสดงไว้ในแต่ละเล่ม แสดงถึงพื้นฐานที่มีความเข้าใจสับสน และความรู้ความเข้าใจทางพระศาสนาที่ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับหนังสือ "แฉสันติอโศกฯ" ที่กล่าวถึงข้างต้น ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้เขียนไม่ถูกผูกมัดด้วยงานเร่งด่วนต่างๆ ต่อเนื่องไปอีกนานนัก ถ้าพ้นจากงานที่ผูกรัดเหล่านั้น ก็คิดว่าจะเขียนชี้แจงอธิบายเกี่ยวกับหนังสือต่างๆ จากสันติอโศกเหล่านี้ พอให้เห็นว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนอย่างไร เพราะหนังสือที่เขียนขึ้นจากความเข้าใจสับสนคลาดเคลื่อน และพื้นความรู้ที่ไม่เพียงพอนั้น เมื่อเผยแพร่ออกไปมากก็จะสร้างความเข้าใจผิดและหลงผิด ให้กระจายกว้างขวางออกไป แล้วอันตรายก็จะเกิดแก่พระศาสนาและส่วนรวมดังได้กล่าวแล้วข้างต้น มองในแง่หนึ่ง ก็เป็นการดีที่สันติอโศกได้พิมพ์หนังสือเหล่านี้ออกมา ทำให้ได้รู้ชัดขึ้นว่า ชาวคณะนั้นมีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ควรถือหลักว่า ไหนๆ จะทำการปรับปรุงกันแล้ว ก็ควรต้องปรับปรุงเริ่มตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องไปทีเดียว

ผู้เขียนมีความเชื่อมานานแล้วว่า ชาวสันติอโศกหลายคนหรือมากคนทีเดียว เป็นผู้มีความตั้งใจดี ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องการแก้ไขปรับปรุงสิ่งผิดพลาดในวงการพระศาสนาและในสังคมทั้งหมด อีกทั้งเป็นผู้มีพื้นฐานการศึกษาทางโลกมาอย่างดี ซึ่งควรจะช่วยงานพระศาสนาได้อย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะในยามที่การพระศาสนากำลังต้องการการปรับปรุงเช่นนี้ แต่ความตั้งใจดีและพื้นฐานความรู้ทางโลกเท่านั้น ย่อมไม่เพียงพอ ถ้ามีความเข้าใจผิดพลาดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทางด้านพระศาสนา บางทีเจตนาดีนั้น แทนที่จะเป็นการสร้างสรรค์ ก็กลับจะเป็นการทำลาย นำไปสู่ความสูญเสียและความพินาศ ไหนๆ ก็ได้ทุ่มตัวเข้ามาเพื่อมุ่งสู่ความจริงและความดีงามอย่างแน่วแน่แล้ว ก็ควรจะให้ดำเนินก้าวหน้าไปอย่างถูกต้อง อย่าให้ถูกความเข้าใจสับสนและความหลงผิดชักพาให้เขวผิดทางไป อย่างน้อยก็ไม่ควรจะด่วนตัดสินตนเองและตัดสินผู้อื่นเร็วเกินไปนัก ควรจะยอมอดทนให้เวลากับการเรียนรู้ให้มากสักหน่อย เท่าที่ผู้เขียนได้เกี่ยวข้องกับชาวสันติอโศกมา มีสิ่งที่ใคร่เสนอไว้ ประกอบการคิดพิจารณาในที่นี้ ๓ อย่าง คือ

การมอง พูด และแสดงออกต่างๆ ให้ตรงพอดีกับความจริง เพราะว่า ไม่เฉพาะความหย่อนความขาดและความเท็จอย่างแจ้งๆ เท่านั้น ที่ไม่ตรงกับความจริง การมอง การพูด การเขียนต่างๆ ที่เกินเลยความจริง ก็กลายเป็นไม่ใช่ความจริงเช่นเดียวกัน ความพอดีกับความจริงนั่นแหละ จึงจะเป็นความจริงที่แท้จริง

ประการที่สอง คนที่มีความตั้งใจจริง อยากทำความดี เช่น การแก้ไขปรับปรุงต่างๆ ด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า มักจะมีความรู้สึกที่รุนแรงและร้อนแรงในการที่จะกระทำ แม้ว่าความรู้สึกนี้จะเป็นพลังที่ดี แต่ถ้าทำการลงไปในขณะที่มีความรู้สึกรุนแรงนี้ และด้วยความรู้สึกนี้ ก็มักจะทำให้เกินเลยความดี ไม่พอดีกับความดี แล้วก็กลายเป็นความไม่ดีไปได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความตั้งใจจริง ที่จะทำความดีด้วยความรู้สึกที่แรงกล้าแล้ว ก็นับว่าเป็นความดีขั้นที่หนึ่ง แต่ก่อนที่จะทำ ถ้าระงับอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงไว้แล้ว ปรับใจให้สงบราบเรียบพอดี ตั้งความเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นและความมีใจเป็นกลางซื่อตรงต่อธรรมเข้ามาเป็นพื้นจิต แล้วทำการด้วยจิตใจที่สงบราบเรียบเป็นกลางพร้อมด้วยเมตตานั้น ก็จะเป็นความดีขั้นที่สอง ซึ่งจะทำให้ได้การทำดีที่พอดีกับความดี เป็นความดีที่แท้จริงโดยสมบูรณ์

อีกประการหนึ่ง ในการปฏิบัติ ความระมัดระวัง คอยสำรวจตรวจตราตนเองและแนวทางที่ตนยึดถือ ให้เป็นการปฏิบัติที่ตรงพอดีกับหลักการที่แท้ของธรรม ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข ทั้งของตนเองและผู้อื่น บางที ถ้าเผลอเพลินไป มัวคอยระวัง ตั้งใจทำตัวและแสดงตัวให้เคร่งครัดเข้มงวดเต็มที่ไปด้านหนึ่ง เลยกลายเป็นการดำดิ่งไปในด้านเดียว ปล่อยให้ความพลั้งพลาดเกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เข้าทำนองที่ว่า มัวแต่จะเมตตาเต่าปลา เลยลืมไปว่า กำลังวิหิงสาเพื่อนมนุษย์ จิตเมตตาที่แท้จริงนั้น ย่อมเกิดจากความเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง มองเห็นเข้าไปในเหตุปัจจัยทั้งหลาย ที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้น ซึมซาบในความเป็นจริงแห่งชีวิตของเขา จนไม่มีตัวเราที่จะเอาไปเทียบ ต่อเมื่อไม่มีการกระทำด้วยแรงความปรารถนาของตัวเราแล้วนั่นแหละ การแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงจะเกิดมีขึ้น

อนุโมทนา

หนังสือ "ทางออกของสังคมไทย" นี้ เกิดจากคำให้สัมภาษณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับพิเศษ ครบ ๓๕ ปี วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๑ หลังจากหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าววางตลาดแล้วไม่นาน ผู้อ่านบางท่านได้แสดงความประสงค์จะขอพิมพ์เผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ คุณชุติมา ธนะปุระ ได้ขอพิมพ์เป็นธรรมวิทยาทานในโอกาสวันเกิด ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๑ ข้าพเจ้าจึงได้นำบทสัมภาษณ์นั้นมาตรวจแก้ และปรับปรุงให้เรียบร้อยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังปรากฏเป็นหนังสือเล่มนี้

อนึ่ง ในการสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงนั้น นอกจากถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไทยทั่วๆ ไปแล้ว ผู้สัมภาษณ์คงเห็นว่า เรื่องเกี่ยวกับพระโพธิรักษ์ และสำนักสันติอโศก ก็เป็นปัญหาที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน จึงได้ยกขึ้นตั้งเป็นคำถามส่วนหนึ่งด้วย และในฐานะผู้ให้สัมภาษณ์ ก็ได้ตอบแสดงความคิดเห็นและชี้แจงไปตามที่เห็นควร ครั้นมีผู้ขอพิมพ์เผยแพร่ใหม่อีก ก็ได้พิจารณาเห็นว่า คำตอบเกี่ยวกับการแปลและตีความคำบาลีและศัพท์ทางธรรมของพระโพธิรักษ์ เป็นเพียงการพูดพาดพิงถึง ซึ่งยังย่นย่อเกินไป อาจให้ความเข้าใจไม่ชัดเจน และผู้อ่านหลายท่านอาจมองแต่ในแง่ขำขัน ไม่เห็นความสำคัญแท้จริง จึงได้เขียนชี้แจงอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น โดยทำเป็นภาคผนวกไว้ต่างหาก ตั้งชื่อว่า "ปัญหาการแปลและตีความคำบาลี ของพระโพธิรักษ์"

ขออนุโมทนาต่อพระมหาอินศร จินตาปฺโ ที่ได้รับภาระทั้งหมดเกี่ยวกับการเรียงอักษร จัดทำต้นแบบหนังสือด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh จนเสร็จสิ้นกระบวนการ

ในการเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ นอกจากเตรียมไว้แจกเป็นธรรมทานส่วนหนึ่งแล้ว คุณชุติมา ธนะปุระ ได้มอบหนังสือที่เหลือทั้งหมดให้แก่ มูลนิธิพุทธธรรม เพื่อนำไปจำหน่ายหาทุนบำรุงกิจการของมูลนิธิต่อไป นับว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลสองชั้น คือ ทั้งบำเพ็ญธรรมวิทยาทาน และอุปถัมภ์บำรุงกิจการสาธารณกุศลไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว

ขออนุโมทนาบุญจริยาของคุณชุติมา ธนะปุระ ที่ได้มีจิตศรัทธาบำเพ็ญธรรมทาน และในศุภวารอายุมงคลที่เวียนมาถึงนี้ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อำนวยพรแก่คุณชุติมา ธนะปุระ พร้อมทั้งครอบครัวและญาติมิตร จงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย บรรลุเกษมศานติ์ สิริสุขสวัสดิ์ ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน มีความสดชื่น เบิกบาน ร่มเย็น ผ่องใส บันเทิงใจ ด้วยพระพุทธธรรม ตราบกาลนิตย์นิรันดร์

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

1บทสัมภาษณ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับพิเศษ ครบ ๓๕ ปี ๒๘ กันยายน ๒๕๓๑
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.