ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม1

 

ทำงานเพื่ออะไร?

งานเป็นกิจกรรมส่วนสำคัญของชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูให้ละเอียดว่าเราใช้ชีวิตกันอย่างไร ก็ต้องมาดูเรื่องการทำงานว่า ทำกันอย่างไรด้วย

คนเรานั้นมองการทำงานต่างกันไปหลายอย่าง และจากความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการทำงาน ก็ทำให้เขามีพฤติกรรมการทำงาน เป็นแบบของตนๆ ไปตามความเข้าใจนั้น

อย่างแรกซึ่งเห็นชัดที่สุด คนโดยมากมองงานว่าเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ทำให้มีเงินมีทอง สำหรับเอามาซื้อหารับประทาน มาจับจ่ายใช้สอย หาความสุขอะไรต่างๆ คนจำนวนมากมายมองความหมายของงานแบบนี้

ถ้าถือตามคตินี้ ก็จะเข้ากับคำขวัญที่ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ต้องทำงานจึงจะมีเงิน และต้องมีเงินจึงจะได้คนมาทำงาน

นี้คือความหมายขั้นแรก แต่ยังมีความหมายต่อไปอีก

สำหรับคนอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากมองความหมายที่หนึ่งแล้ว ยังมีความหมายที่สองพ่วงมาด้วย คือมองขยายกว้างไกลออกไปว่า งานนี้จะนำชีวิตของเราไปสู่การมีตำแหน่ง มีฐานะ เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง หรือรุ่งโรจน์ และได้รับความนิยมนับถือ ที่ทางพระเรียกว่า โลกธรรม อันนี้ก็เป็นความหมายที่สำคัญเหมือนกัน คนไม่น้อยมองงานในความหมายแง่นี้

ต่อไป งานยังมีความหมายอย่างอื่นอีก และความหมายบางอย่างก็ช่วยให้เรามองกว้างออกไปนอกตัวเอง

ในความหมายที่ว่ามาแล้ว เรามองจำกัดเฉพาะตัวเอง ที่บอกว่างานเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็เป็นเรื่องของตัวฉัน งานเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ความรุ่งเรือง หรือความสำเร็จ ก็เพื่อตัวฉัน

แต่ที่จริงงานไม่ใช่แค่ตัวฉัน งานเป็นเรื่องกว้างกว่านั้น งานเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ เป็นไปเพื่อการพัฒนา เป็นกิจกรรมของสังคม เป็นของประเทศ เป็นของโลก

โลกจะเป็นไปได้ สังคมจะดำเนินไปได้ ประเทศชาติจะพัฒนาได้ จะต้องอาศัยคนทำงาน เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานจึงเท่ากับได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประเทศชาติ

ตามความหมายของงานในแง่นี้ พอเราทำงาน เราก็นึกทีเดียวว่า ตอนนี้เรากำลังทำการอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมประเทศชาติ หรือมองว่าเรากำลังทำอะไรอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือของประชาชน

ต่อไป งานยังมีความหมายอีก ในแง่ว่าเป็นสิ่งที่แปรสภาพชีวิตของคน ทำให้คนมีชีวิตที่แตกต่างกันไป ดำเนินชีวิตต่างกันไป มีสภาพความเป็นอยู่แตกต่างกัน

คนเป็นกรรมกร ก็มีความเป็นอยู่แบบหนึ่ง คนเป็นนักวิชาการ ก็มีสภาพชีวิตอีกแบบหนึ่ง ผู้ที่เป็นแพทย์ ก็มีสภาพชีวิตไปอีกแบบหนึ่ง เป็นพระภิกษุ ก็มีสภาพความเป็นอยู่อีกแบบหนึ่ง สภาพความสัมพันธ์ในสังคมก็แปลกกันไป

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของงานที่แบ่งสภาพชีวิตของคนให้แตกต่างกัน จึงจัดว่าเป็นความหมายอีกอย่างหนึ่งของงาน

สำหรับบางคนอาจมองว่า งานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ถึงกับบอกว่า ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน คนที่กล่าวคติอย่างนี้มองไปในแง่ว่า งานเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีค่า ถ้าไม่ทำงานที่ดีมีประโยชน์ ชีวิตนี้ก็ไม่มีค่า

ต่อไป ความหมายของงานอีกอย่างหนึ่ง ก็คืองานเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตน หรือว่า การทำงาน คือการพัฒนาตน

ความหมายของงานในแง่ที่เป็นการพัฒนาตนนี้ ไปสัมพันธ์กับความหมายของการใช้ชีวิตอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้นี้ ที่พูดว่าดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพนั้น ที่จริงสาระของมันก็อยู่ที่งานนี่เอง ที่เป็นตัวพัฒนา

งานนี้แหละเป็นสิ่งที่พัฒนาชีวิตของเรา พัฒนาให้เรามีความสามารถ ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญ มีความเก่งกาจในทางใดทางหนึ่ง แม้ในด้านการฝึกฝนทางจิตใจหรือในทางคุณธรรม งานก็เป็นเครื่องมือฝึกฝนคน ทำให้เรามีความขยัน มีความอดทน ทำให้มีระเบียบวินัย มีจิตใจเข้มแข็ง ทำให้รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนพ้อง ผู้ร่วมงานและคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ล้วนอาศัยงานเป็นเครื่องฝึก

ถ้าคนรู้จักทำงาน คือทำงานเป็น จะสามารถใช้งานเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนพัฒนาตนเองได้มากมาย

เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่ง นักทำงานจะมองว่า งานเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกฝนพัฒนาตัวของเขา อย่างที่ว่าทำให้ศักยภาพของเขาถึงความสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้ก็เป็นความหมายของงานในแง่ต่างๆ ซึ่งกล่าวได้มากมายหลายนัย นอกจากนี้ ก็อาจมีผู้ที่มองความหมายของงานในแง่อื่นอีก แต่ในแง่หลักๆ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้

ควรทำงานกันอย่างไร?

 

ทีนี้ เมื่อคนทำงานไปตามความหมายและความเข้าใจของเขา ความหมายของงานตามที่เขาเข้าใจนั้น ก็มีผลต่อพฤติกรรมในการทำงาน และส่งผลต่อความรู้สึกและต่อสภาพจิตใจในการทำงานของเขาด้วย

เราเข้าใจการทำงานอย่างไร เราก็มุ่งหวังผลสนองไปตามความหมายนั้น ถ้าเกิดผลสนองตามความมุ่งหมาย เราก็เกิดความพึงพอใจ ถ้าไม่สนองตามความมุ่งหมาย ก็เกิดความเศร้าเสียอกเสียใจ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในความหมายของงานจึงมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของเรามาก

ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานในความหมายที่เป็นเพียงเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ให้ได้ผลตอบแทน ให้ได้ผลประโยชน์ ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์มาก หรือได้มาน้อยไป เขาก็จะรู้สึกไม่สมหวัง ไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เพราะว่าความมุ่งหมายในการทำงานของเขา ไปอยู่ที่ผลประโยชน์ตอบแทน คือเรื่องเงินทองเป็นต้น การที่เขาจะมีความสุขหรือความทุกข์ ก็อยู่แค่นั้น

ทีนี้ ถ้ามองความหมายของงานไปในแง่ว่า เป็นการทำหน้าที่หรือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมประเทศชาติ สำหรับคนที่มองอย่างนี้ บางทีแม้ว่าผลประโยชน์ตอบแทนอาจไม่มากนัก แต่ความพึงพอใจของเขาอยู่ที่ว่า งานนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ดังนั้น ถ้าเห็นว่างานของเขาได้ช่วยสังคม เขาก็มีความสุข ความรู้สึกในใจจึงสัมพันธ์กับการมองความหมายของงาน

คนที่มองงานในแง่ของการพัฒนาตน หรือพัฒนาศักยภาพ เวลาทำงานก็จะเพลินไปกับงาน เพราะในเวลาที่ทำงาน เราได้ฝึกตัวของเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำงานไป เราก็ได้ความรู้ ความสามารถ เพิ่มพูนความชำนาญมากขึ้น ส่วนเรื่องที่ว่าจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากน้อย เราจะไม่คำนึงมากนัก แต่เราจะมีความพึงพอใจ ในการที่ได้พัฒนาตนเองให้ศักยภาพเพิ่มขยาย

เพราะฉะนั้น การเข้าใจความหมายของงาน จึงมีผลสำคัญมากต่อสภาพจิตใจ

ตอนนี้ อยากจะพูดถึงความรู้สึกพื้นฐานทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานสักนิดหนึ่ง

เมื่อพูดถึงความหมายของงาน ถ้ามองดูวัฒนธรรมไทย และนำไปเทียบกับวัฒนธรรมตะวันตก จะเห็นว่าแตกต่างกัน และความแตกต่างนั้น ก็แสดงถึงพื้นฐานการสั่งสมฝึกอบรมจิตใจของวัฒนธรรมที่ต่างกัน

คนไทยเรามองคำว่า “งาน” กันอย่างไร ก่อนที่วัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามา คนไทยเราใช้คำว่า งาน ในความหมายที่ไม่เหมือนปัจจุบัน เรามีงานวัด เรามีงานสงกรานต์ เรามีงานกฐิน เรามีงานทอดผ้าป่า ฯลฯ

คำว่า “งาน” ในความหมายของคนไทย เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน เพื่อความบันเทิง อย่างงานวัดก็เป็นเรื่องสนุกทั้งนั้น มีมหรสพ มีละครหนังลิเก ในงานสงกรานต์เราก็ไปสนุกกัน เอาน้ำไปอาบให้กัน ไปเล่นอะไรต่ออะไรกันครึกครื้น

แต่ความจริง งานมีความหมายที่ซ้อนอยู่ลึกกว่านั้น คือ เป็นเรื่องการทำความดี กิจกรรมที่เป็นหลักเป็นแกนของงาน ก็คือ การทำบุญ ทำการกุศล หรือบำเพ็ญความดีบางอย่าง โดยเฉพาะการมาร่วมกันทำประโยชน์บางอย่างเพื่อส่วนรวม แม้แต่งานสงกรานต์ ที่ถือว่าเป็นการสนุกสนานรื่นเริง ก็มีกิจกรรมที่เป็นการทำบุญทำกุศลอยู่ รวมทั้งการขนทรายเข้าวัด

ดังนั้น การทำงานจึงมีความหมายในเชิงที่เป็นกิจกรรมในการทำความดีบางอย่าง หรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา แต่ส่วนหนึ่งที่ปนอยู่ด้วย ก็คือความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป็นส่วนที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันในคนไทยส่วนมาก

พูดรวบรัดว่า ความหมายของงานที่เป็นไปตามวัฒนธรรมไทยนี้ เหลือมาในรูปของความสนุกสนานเป็นหลัก

ทีนี้ ในแง่ของสังคมตะวันตก การทำงานแบบตะวันตกเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตกนั่นเอง

ตามความหมายแบบตะวันตก งานคืออะไร

งานในความหมายของตะวันตกนั้น เรียกว่า work และมีคำสำคัญที่คู่กับ work เป็นคำที่ตรงข้ามกับ work ซึ่งช่วยให้ความหมายของ work เด่นชัดขึ้นมาด้วย คือคำว่า leisure แปลว่า การพักผ่อนหย่อนใจ

งานในความหมายของฝรั่ง เป็นคู่กัน และตรงข้ามกับการพักผ่อนหย่อนใจ

เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมตะวันตกจึงมองงานว่าเป็นเรื่องของความเหน็ดเหนื่อย ลำบากตรากตรำ เป็นเรื่องที่ต้องทนทำด้วยความทุกข์ยาก และก็จึงต้องมีสิ่งที่เป็นคู่กันเพื่อชดเชยทดแทน คือการพักผ่อนหย่อนใจ

ตามวัฒนธรรมของฝรั่งนี้ คนเราต้องทำงาน เสร็จแล้วก็ไปพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อช่วยทดแทนชดเชยหรือผ่อนระบาย ดังนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดได้มาก และถ้าเราตั้งท่าไว้ไม่ดี มีท่าทีของจิตใจที่ไม่ถูกต้อง คือไม่มีความรักงาน เราก็จะทำงานด้วยความเหนื่อยหน่าย และอยากจะหนีงาน งานกลายเป็นสิ่งที่หนักหนา ต้องเผชิญ ต้องผจญ ต้องต่อสู้

เมื่อมองอย่างนี้ คนก็จึงต้องหาทางหลีกเลี่ยงไปเสียจากงาน ต้องการให้งานเลิก หรือจะหนีจากงานเพื่อไปหาการพักผ่อน อันเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีจริยธรรมที่เข้าชุดเป็นคู่กัน คือว่า คนในวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งทำงานแบบตะวันตก จะต้องสร้าง นิสัยรักงาน ขึ้นมาให้ได้ พอรักงาน ก็มีใจสู้ และทนต่อความหนักความเหน็ดเหนื่อยของงานได้

เป็นอันว่า ความหนัก และความเหน็ดเหนื่อย เป็นลักษณะงานแบบตะวันตก คนไทยรับเอาความหมายของคำว่า “งาน” ในแง่ที่เป็นความหนักน่าเหนื่อยมาจากตะวันตก โดยไม่ได้รับเอา นิสัยรักงาน มาด้วย แต่เรามี นิสัยรักสนุก ที่สั่งสมมากับความหมายของงานในวัฒนธรรมของไทยของเราเอง

ในสภาพแห่งความนุงนังและสับสนของวัฒนธรรมอย่างนี้ ถ้าปรับตัวไม่ดี เราจะเสียทั้งสองด้าน คือ ตัวเองก็รักความสนุกสนานแบไทยๆ ตามความหมายของงานแบบเก่า เราจะมุ่งหาแต่ความสนุกสนาน พอเจองานแบบตะวันตกที่หนักและไม่สนุก ตัวไม่มีนิสัยรักงาน ก็อยากจะหนีงานไป แต่เมื่อต้องทำ หนีไม่ได้ ก็ต้องจำใจ ฝืนใจ หรือสักว่าทำ

ลงท้าย ที่ว่าเสียทั้งสองด้าน คือ งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ความหมายที่ดีของเราในวัฒนธรรมเก่าว่า งานเป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่ง โดยมีความสนุกสนานเป็นผลพ่วงมา หรือเป็นผลพลอยได้ เราก็รักษาไว้ และในเวลาเดียวกัน งานในความหมายที่ยากที่หนัก ต้องสู้ต้องทำด้วยความเหน็ดเหนื่อยนี้ เราก็ยินดีต้อนรับ ไม่ถอยหนี

จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้การทำงานเป็นไปด้วยดี ทั้งยังมีน้ำใจเผื่อแผ่นึกถึงส่วนรวมไว้ แล้วก็มีนิสัยรักงานสู้งานมาช่วยสนับสนุนด้วย

ถ้าแก้ให้เป็นอย่างนี้ได้ ก็จะกลับร้ายกลายเป็นดี แทนที่จะเสียทั้งสองด้าน ก็กลายเป็นได้ทั้งสองทาง คือ งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข

จุดหมายของคน หรือจุดหมายของงาน?

จะเห็นว่า ความหมายทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เราจะสู้งาน หรือจะหนีงาน ก็อยู่ที่ภาวะจิตใจอย่างที่ว่ามาแล้ว และในการที่จะมีสภาพจิตใจที่เอื้อต่อการทำงานนั้น สิ่งหนึ่งที่จะสนับสนุนให้คนทำงานได้ผลดี ก็คือ กำลังใจ

พอพูดถึงกำลังใจ ก็มีปัญหาอีก กำลังใจจะมาได้อย่างไร กำลังใจก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงวงจรอีก มันย้อนไปย้อนมา

ถ้าเรามีกำลังใจ เราก็ทำงานได้ดี แต่ทำอย่างไรเราจึงจะมีกำลังใจ ถ้าทำงานแล้วได้ผลดี ก็มีกำลังใจ พองานได้ผลดีมีกำลังใจ ก็ยิ่งทำงาน ยิ่งทำงาน ก็ยิ่งได้ผลดี ยิ่งได้ผลดี ก็ยิ่งมีกำลังใจ เป็นการส่งผลย้อนไปย้อนมา

กำลังใจ เป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน แต่การที่จะมีกำลังใจได้ ก็อยู่ที่การเข้าใจความหมายของงานนั้นแหละ

คนที่เข้าใจความหมายของงานว่าจะทำให้ได้ผลตอบแทน หรือได้ผลประโยชน์มา ถ้าเขาได้ผลตอบแทน ได้ผลประโยชน์มา เขาก็มีกำลังใจ แล้วก็ทำงาน แต่ถ้าไม่ได้ผลตอบแทนเป็นอัตราเป็นเงินทอง ก็ไม่มีกำลังใจ

แต่อีกคนหนึ่งมองความหมายของงานว่า เป็นการได้พัฒนาตน หรือเป็นการได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เมื่อเขาได้ทำอะไรพอให้รู้สึกว่าได้ฝึกตน หรือได้ช่วยเหลือสังคม เขาก็มีกำลังใจ แม้จะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นวัตถุสักเท่าไร

กำลังใจจึงไปสัมพันธ์กับผลตอบสนองจากงาน ไม่ว่าจะเป็นผลทางวัตถุ หรือผลทางจิตใจ จะเป็นผลแก่ตนเอง หรือผลแก่ส่วนรวมก็ตาม แล้วแต่จะมองความหมายของงานอย่างไร

รวมความว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่ใช่เครื่องกำกับที่แน่นอนว่าจะให้เกิดคุณค่าที่เป็นประโยชน์เสมอไป อย่างที่ว่า คนที่ทำงานมุ่งแต่ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินทองวัตถุ ถ้าผลตอบแทนน้อยไป ไม่ได้มากมายอย่างที่หวัง ก็จะเกิดปัญหา ไม่มีกำลังใจในการทำงาน

เพราะฉะนั้น เราจะต้องหาอะไรมาช่วยกำลังใจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เพื่อให้งานเกิดคุณค่าอย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่จะมาหนุนคุณค่านี้ได้ ก็คือ ศรัทธา ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

ศรัทธา คือ ความเชื่อ ซึ่งในความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น เมื่อเห็นคุณค่าของสิ่งใด ก็พอใจสิ่งนั้น มั่นใจในสิ่งนั้น และใจก็ยึดเหนี่ยว มุ่งไปหา และมุ่งไปตามสิ่งนั้น เมื่อมุ่งไปหาหรือมุ่งหน้าต่อสิ่งนั้น มุ่งจะทำและมุ่งจะตามมันไป ก็เกิดกำลังขึ้นมา บางทีอย่างที่ว่า ถึงไหนถึงกัน

ศรัทธาเป็นพลัง เมื่อเรามีศรัทธาต่อสิ่งใด เราก็จะสามารถอุทิศชีวิต ทั้งร่างกาย และจิตใจ อุทิศเรี่ยวแรงกำลังของเราให้แก่สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะให้เกิดกำลังใจในทางที่ดี ไม่ติดอยู่แค่ผลตอบแทนหรือสิ่งที่ตนจะได้จะเอา ก็จึงต้องสร้างศรัทธาขึ้นมา

ศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการเข้าใจความหมายนั่นแหละ เช่น ถ้าเราเข้าใจความหมายของงานในแง่ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นเครื่องสร้างสรรค์ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นต้น เราก็เกิดศรัทธาในงาน เพราะมองเห็นคุณค่าของงานนั้น

พอมีศรัทธาอย่างนี้แล้ว ศรัทธานั้นก็จะส่งเสริมกำลังใจ ในลักษณะที่พ่วงเอาความเป็นคุณเป็นประโยชน์เข้ามาด้วย ไม่ใช่เป็นกำลังใจล้วนๆ ที่เพียงแต่เกิดจากความสมอยากในการได้วัตถุเท่านั้น

เมื่อเข้ามาถูกทางอย่างนี้ พอมีศรัทธาแล้ว กำลังใจที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นกำลังใจที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” คือมีความดีงาม มีคุณประโยชน์พ่วงมาด้วย

นอกจากมีศรัทธาในงานแล้ว ก็ต้องมีศรัทธาในวิถีชีวิตด้วย เรื่องนี้จึงมีความหมายโยงไปหาชีวิตด้วย ว่าเรามองชีวิตอย่างไร

คนที่มองความหมายของชีวิตในแง่ว่า วิถีชีวิตที่ดี คือการหาความสนุกสนานให้เต็มที่ คนอย่างนั้นจะมาศรัทธาในความหมายของงานที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่สังคม ก็เป็นไปได้ยาก

เพราะฉะนั้น ความหมายของงานที่จะทำให้เกิดศรัทธา จึงต้องโยงไปหาความหมายของชีวิตที่ดีด้วย เช่นมองว่า ชีวิตที่ดีคือการที่เราได้ใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า และการที่ได้พัฒนาตน เป็นต้น

พอมองความหมายของงานในแนวเดียวกันนี้ ความหมายของงานนั้น ก็มาช่วยเสริมในแง่ที่เกิดความสัมพันธ์อย่างสอดคล้องกัน คือ ความหมายของงาน กับ ความหมายของชีวิต มาสัมพันธ์เสริมย้ำซึ่งกันและกัน แล้วศรัทธาก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคง

ทีนี้ มองต่อไปอีกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่แค่ศรัทธาเท่านั้น ถ้าเราวิเคราะห์จิตใจของคนที่ทำงาน จะเห็นว่า แม้แต่ศรัทธาก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า แรงจูงใจ

เมื่อมาทำงาน เราก็ต้องมีแรงจูงใจทั้งนั้น ทั้งหมดที่พูดมาก็อยู่ในหลักการของเรื่องแรงจูงใจทั้งสิ้น คนเราจะทำกิจกรรมอะไร ก็ต้องมีแรงจูงใจ เมื่อมาทำงาน เราก็ต้องมีแรงจูงใจให้มาทำงาน แรงจูงใจจึงเป็นหลักใหญ่ในการแบ่งประเภทของการทำงาน

แรงจูงใจ นั้นมีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน

แรงจูงใจด้านหนึ่ง ที่เป็นหลักใหญ่ๆ คือความต้องการผลตอบแทน ต้องการผลประโยชน์ ต้องการเงินทอง อันนี้เป็นแรงจูงใจที่มุ่งเข้าหาตัวเอง เป็นความปรารถนาส่วนตัว หรือเห็นแก่ตัว ทางพระเรียกว่า แรงจูงใจแบบตัณหา

ทีนี้ ต่อจากตัณหายังมีอีก เราต้องการความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จของตัวเรา โดยเฉพาะความสำเร็จของตัวเราในรูปของความยิ่งใหญ่ ในรูปของการได้ตำแหน่งได้ฐานะเป็นต้น อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจในแง่ของตัวเองเหมือนกัน คือต้องการผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตัว ในรูปของความสำคัญของตนเอง ความโดดเด่น เช่นมีตำแหน่งใหญ่โต มีฐานะสูง ข้อนี้เรียกว่า แรงจูงใจแบบมานะ

“มานะ” นั้นทางพระแปลว่า ถือตัวสำคัญ คือความอยากให้ตนเองเป็นคนโดดเด่น มีความสำคัญหรือยิ่งใหญ่ ไม่ใช่มานะในความหมายของภาษาไทยว่าความเพียรพยายาม

ตกลงว่า แรงจูงใจสำคัญด้านที่หนึ่งนี้ เป็นเรื่องของตัณหาและมานะ ซึ่งสำหรับมนุษย์ปุถุชนก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้ประณีตสักหน่อย เช่นว่า

ถ้าเป็นความต้องการผลตอบแทนในขั้นธรรมดาของมนุษย์ ก็ขอให้อยู่ในขอบเขตเพียงว่าสำหรับให้เป็นอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควรในโลกนี้ หรือเป็นอยู่ดี ไม่ขัดสนในปัจจัยสี่

ถ้าจะมีมานะ ก็ให้มันมาในรูปของความภูมิใจในความสำเร็จของงาน มีเกียรติมีฐานะเป็นที่ยอมรับในสังคม หรือได้รับความนิยมนับถือ คือเอาความสำเร็จมาโยงกับงาน ไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน ที่จะไปหยามเยียดข่มเหงรังแกคนอื่น

ถ้าหากว่าความสำเร็จไปโยงกับตัวงาน มันก็ยังเป็นเรื่องของความดีงามได้ เรื่องอย่างนี้ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับความจริงของปุถุชน แต่ทำอย่างไรจะให้โยงเข้าไปหาแรงจูงใจที่เป็นธรรมให้มากขึ้น

ทีนี้ แรงจูงใจพวกที่สอง ก็คือแรงจูงใจเช่นอย่างศรัทธาที่มีต่องานที่มีคุณค่า เป็นแรงจูงใจที่ต้องการให้ความดีงามเกิดมีหรือปรากฏขึ้น ความต้องการความดีงาม ต้องการความจริง ต้องการสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นแรงจูงใจที่ท่านเรียกด้วยคำศัพท์ทางธรรมอีกคำหนึ่งว่า “ฉันทะ”

ตัวอย่างเช่น คนทำงานด้วยความต้องการให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อย ความเป็นระเบียบของสังคม

ถ้าทำงานเป็นแพทย์ หรือทำงานเกี่ยวกับโภชนาการ ก็อยากให้มนุษย์ในสังคมนี้เป็นคนที่มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง อยากให้มีแต่อาหารที่มีคุณค่า แพร่หลายออกไปในสังคมนี้ แรงจูงใจหรือความปรารถนาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็น แรงจูงใจแบบฉันทะ

แรงจูงใจนี้สำคัญมาก ถ้ามองอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่า แรงจูงใจนี้สัมพันธ์กับสัมฤทธิผล หรือจุดหมาย ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น จุดหมายของคน กับ จุดหมายของงาน

แรงจูงใจแบบที่หนึ่ง ที่ต้องการผลตอบแทนเป็นเงินเป็นทอง ต้องการเกียรติฐานะความยิ่งใหญ่นั้น โยงไปหาจุดหมายของคนที่ทำงาน ส่วนแรงจูงใจแบบที่สองจะมุ่งตรงไปยังจุดหมายของงาน

ตามธรรมดา ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร งานนั้นย่อมมีจุดหมาย เช่นว่า การทำงานแพทย์ก็มีจุดหมายที่จะบำบัดโรค ทำให้คนไข้หายโรค ให้คนมีสุขภาพดี ตัวงานนั้นมีความมุ่งหมายที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา

ถ้าเราทำงานให้การศึกษา เราก็ต้องการผลที่เป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษา จุดหมายของงานในการให้การศึกษาก็คือ การที่เด็กและเยาวชนเป็นคนดี มีความรู้ มีความประพฤติดี รู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ได้พัฒนาตนเองยิ่งขึ้นไป

งานทุกอย่างมีจุดหมายของมัน แต่คนที่ไปทำงานก็มีจุดหมายของตัวเองด้วย

ทีนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่า เมื่อเขาไปทำงานนั้น เขาจะทำงานเพื่อจุดหมายของคน หรือทำงานเพื่อจุดหมายของงาน

ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่หนึ่ง จุดหมายที่อยู่ในใจของเขาก็จะเป็นจุดหมายของคน คือ ทำงานเพื่อจุดหมายของคน ให้ตนได้นั่นได้นี่

แต่ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่สอง เขาก็จะ ทำงานเพื่อจุดหมายของงาน ให้งานเกิดผลเป็นประโยชน์ตามคุณค่าของมัน

ทีนี้ ในการที่เป็นปุถุชน เมื่อยังมีกิเลส ก็ต้องประสานประโยชน์ คือ ต้องให้จุดหมายของคนไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับจุดหมายของงาน หมายความว่า ต้องให้ได้จุดหมายของงานเป็นหลักไว้ก่อน แล้วจึงมาเป็นจุดหมายของคนทีหลัง คือให้จุดหมายของคนพลอยพ่วงต่อมากับจุดหมายของงาน

ถ้าเอาแต่จุดหมายของคนแล้ว บางทีงานไม่สำเร็จ และเสียงานด้วย คือ คนนั้นมุ่งแต่จุดหมายของคนอย่างเดียว จะเอาแต่ตัวได้เงินได้ทอง ไม่ได้ต้องการให้งานสำเร็จ ไม่ได้ต้องการเห็นผลดีที่จะเกิดจากงานนั้น ไม่ได้มีความคิดที่จะเอาธุระ หรือเห็นความสำคัญเกี่ยวกับตัวงาน เพราะฉะนั้นจึงพยายามเลี่ยงงาน หรือหาทางลัดที่จะไม่ต้องทำงาน ขอให้ได้เงินหรือผลตอบแทนมาก็แล้วกัน

ตกลงว่า แรงจูงใจแบบหนึ่งเป็นเรื่องสัมพันธ์กับจุดหมายของคน และแรงจูงใจอีกแบบหนึ่งเป็นแรงจูงใจที่สัมพันธ์กับจุดหมายของงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อทำงานไปแล้วได้ผลสำเร็จขึ้นมา จะเป็นผลสำเร็จของคน หรือเป็นผลสำเร็จของงาน

ถ้าจะทำงานให้ถูก ก็ต้องมองไปที่ผลสำเร็จของงาน ไม่ใช่มุ่งเอาแต่ผลสำเร็จของคน ถ้าจะเป็นผลสำเร็จของคน ก็ต้องให้เป็นผลที่ความสำเร็จของงานส่งทอดมาอีกต่อหนึ่ง

คนจำนวนไม่น้อยหวังแต่ผลสำเร็จหรือผลประโยชน์ของคนอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศชาติ การพัฒนาประเทศชาติ และการแก้ปัญหาของสังคม ก็ยากที่จะบรรลุความสำเร็จ และจะส่งผลต่อไปถึงสภาพจิตใจด้วย

ดังได้พูดมาแล้วว่า สภาพจิตใจกับการทำงาน ส่งผลย้อนกลับกันไปมา คือ สภาพจิตใจที่ดี ส่งผลต่อการทำงาน ให้ทำงานได้ดี และการทำงานได้ดีมีผลสำเร็จ ก็ส่งผลย้อนกลับไปยังสภาพจิตใจ ทำให้มีกำลังใจเป็นต้นอีกทีหนึ่ง

ดังตัวอย่างที่พูดมาแล้วนี้ ที่ว่า สภาพจิตใจในด้านแรงจูงใจ ที่มุ่งจุดหมายของคน กับมุ่งจุดหมายของงาน ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมฤทธิ์ในการทำงาน แล้วก็ย้อนกลับมาบันดาลผันแปรสภาพจิตใจของคนให้เป็นไปต่างๆ กัน

ทำงานอย่างไร จึงจะได้ความสุข?

ในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะในสภาพการทำงานแบบตะวันตก ได้มีคำพูดสำคัญในทางไม่ดีคำหนึ่งมาเข้าคู่กับการทำงาน คือ “ความเครียด”

ยิ่งถ้าไม่มีความบากบั่นสู้งาน ที่เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้องในการทำงานแบบตะวันตกนั้นเข้ามาดุลด้วยแล้ว ความเครียดจะก่อปัญหาอย่างมาก

ความเครียด นี้ กำลังเป็นปัญหาสำคัญของอารยธรรมมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน

การทำงานหาเงิน หรือวิถีชีวิตที่เน้นด้านเศรษฐกิจของคนยุคนี้ พ่วงเอาความเครียดมาด้วย

ในสังคมตะวันตกปัจจุบันนี้ คนยังมีนิสัยสู้งาน ที่ได้สะสมมาแต่อดีต ยังติดยังฝังอยู่ แต่มาในระยะหลังๆ นี้ ความใฝ่เสพเห็นแก่บริโภคก็มากขึ้น

ส่วนในสังคมไทยของเรานี้ มีผู้กล่าวว่า คนไทยมีค่านิยมบริโภคมาก ไม่ค่อยมีค่านิยมผลิต จึงจะยิ่งมีปัญหาหนักกว่าเขาอีก เพราะค่านิยมบริโภคขัดแย้งกับกระบวนการทำงาน

เนื่องจากการทำงานต้องการความอดทน ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก เมื่อไม่มีนิสัยรักงานสู้งานเป็นพื้นฐานรองรับ คนที่นิยมบริโภคจะไม่สามารถทนได้ จะจำใจทำ ทำด้วยความฝืนใจ จะรอคอยแต่เวลาที่จะได้บริโภค ความต้องการจึงขัดแย้งกัน และเมื่อความต้องการขัดแย้งกัน ก็เกิดภาวะที่เรียกว่า “เครียด”

จึงทำงานด้วยความเครียด

คนที่มีค่านิยมบริโภคมาก เมื่อต้องทำงานมาก ก็ยิ่งเครียดมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องการผลตอบแทนทางวัตถุ ทำงานไปก็ทำด้วยความกระวนกระวาย เกิดความขัดแย้งในจิตใจ มีความกังวลว่าผลตอบแทนที่เราต้องการจะได้หรือเปล่า จะได้น้อยกว่าที่ตั้งความหวังหรือเปล่า หรือว่าเราอาจจะถูกแย่งผลตอบแทนไปหรือถูกแย่งตำแหน่งฐานะไป ความห่วงกังวลต่างๆ นี้ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตใจที่สำคัญ

เมื่อขาดความรักงาน ใจไม่อยู่กับงาน ความรู้สึกรอเงินรอเวลาก็จะเด่นขึ้นมา และกดดันใจนั้น โดยเฉพาะเมื่อจุดหมายของคน กับจุดหมายของงาน ลักลั่นขัดแย้งกัน เช่น งานเสร็จ เงินยังไม่มา หรือว่าตำแหน่งยังไม่ได้ แรงกดดันก็ยิ่งมาก เลยยิ่งเครียดหนัก

ปัญหาต่างๆ รวมทั้งความเครียดนั้น ก็เกิดจากแรงจูงใจประเภทแรกที่เรียกว่า ตัณหา-มานะ โดยเฉพาะ ค่านิยมบริโภค และ ค่านิยมโก้หรู ซึ่งกำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมของเรา และบางทีก็ถึงกับมองกันว่าเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือทำงานด้วยใจที่ใฝ่สร้างสรรค์ มองงานเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตน อยากพัฒนาประเทศชาติ หรือทำประโยชน์แก่สังคม ต้องการผลสำเร็จของงาน หรือทำงานเพื่อจุดหมายของงานแท้ๆ

แม้จะทำงานด้วยแรงจูงใจที่ดีแบบนี้ ถ้าเกิดความรู้สึกเร่งรัด จะรีบร้อนทำ และมีความห่วงกังวลเกรงงานจะไม่เสร็จ ก็อาจจะมีความเครียดได้ ต่างแต่ว่าจะเป็นความเครียดที่คลายได้ง่าย (เพราะไม่มีอารมณ์ด้านลบจากตัณหา ซึ่งพึ่งพาเงื่อนไขด้านนอก)

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่มีแรงจูงใจไม่ดีก็ตาม มีแรงจูงใจที่ดีก็ตาม ก็ยังมีความเครียดได้ ยังอาจมีปัญหา

แต่เราแยกเห็นความแตกต่างได้ไม่ยากว่า ในฝ่ายหนึ่ง แรงจูงใจเพื่อจุดหมายของคน ซึ่งมุ่งเอาประโยชน์ส่วนตนด้วย ตัณหา-มานะ มีโทษต่อสังคมและต่อชีวิตมาก

ส่วนฝ่ายที่สอง แรงจูงใจเพื่อจุดหมายของงาน มีคุณค่ามาก มีคุณประโยชน์ต่อสังคมมาก พัฒนาชีวิตคนได้ดี

ตกลงว่า ทั้งสองอย่างยังมีปัญหาอยู่ ทำอย่างไรจะแก้ไขให้การทำงานมีส่วนที่เป็นคุณอย่างเดียว เป็นประโยชน์แก่ชีวิตโดยสมบูรณ์ อันนี้เป็นขั้นต่อไป

ต่อไปก็มาถึงขั้นที่ว่า ทั้งทำงานดี และมีความสุขด้วย ซึ่งจะต้องมีการตั้งท่าทีที่ถูกต้อง และตอนนี้จะเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา ควบคู่ไปกับการทำงาน

เมื่อกี้นี้ เราเอางานมาพัฒนาชีวิตจิตใจของเรา แต่อีกด้านหนึ่งในการทำงานนั้น เราจะต้องพัฒนาชีวิตจิตใจของเราไปด้วย เพื่อเอาชีวิตจิตใจที่ดีไปพัฒนาการทำงาน การทำงานที่จะให้ได้ทั้งผลดีและมีความสุขด้วยนั้น มีอะไรหลายแง่ที่จะต้องพิจารณา

แง่ที่หนึ่ง ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ ในการที่จะให้เกิดผลดีต่อชีวิตและสังคม เราก็ต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งต้องการจุดหมายของงาน นั่นคือมี ฉันทะ มีความใฝ่ดี มีความใฝ่สร้างสรรค์

พร้อมกับการมีฉันทะนั้น ก็ต้องมีความรู้เท่าทันความจริง ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาด้วย อย่างน้อยรู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เพียงตั้งท่าทีของจิตใจแบบรู้เท่าทันขึ้นมาแค่นี้เท่านั้น เราก็จะเริ่มมีความสุขง่ายขึ้นทันที เราจะมองดูสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่มองเห็นถูกต้องมากขึ้น

ในขณะที่กำลังเร่งงานเต็มที่ ขยันเอาใจใส่เต็มที่ เรากลับจะมีความกระวนกระวายน้อยลง หรือทำงานด้วยความไม่กระวนกระวาย คือมีความรู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ขณะนี้เรากำลังทำเหตุปัจจัย เราก็ทำเหตุปัจจัยนั้นให้เต็มที่ ส่วนผลที่จะเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราก็ดูไป ไม่มีตัวเราที่เข้าไปวุ่นวายด้วย พอวางใจอย่างนี้ เราก็เป็นอิสระ สบาย ไม่ต้องห่วงกังวลกับผล เราทำเหตุปัจจัยให้ดีก็แล้วกัน

อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง กล่าวคือ ควบคู่กับแรงจูงใจที่ถูกต้องหรือฉันทะนั้น ก็ให้มีการรู้เท่าทันความจริงด้วย อย่างน้อยให้ทำใจว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย มองไปตามเหตุปัจจัย ข้อนี้เป็นท่าทีพื้นฐานตามหลักธรรมที่ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นการทำใจขั้นที่หนึ่ง

ต่อไปแง่ที่สอง คือ เวลาทำงาน เรามักมีความรู้สึกแบ่งแยก หรือแยกตัวออกไปว่า นี่ตัวเรา นี่ชีวิตของเรา นั่นงาน เราจะต้องทำงาน ตลอดจนรู้สึกว่างานเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยต้องตรากตรำ ไม่มองว่างานนี้แหละเป็นเนื้อแท้ เป็นเนื้อเป็นตัวของชีวิต

ที่จริงนั้น งานไม่ใช่สิ่งต่างหากจากชีวิต งานที่เราบอกว่าเป็นกิจกรรมของชีวิตนั้น ที่จริงมันเป็นตัวการดำเนินชีวิตของเราเลยทีเดียว

ในชีวิตของเราที่เป็นไปอยู่นี้ งานนั่นเองคือความเป็นไปของชีวิต เพราะฉะนั้น การทำงานจึงเป็นเนื้อหา หรือเป็นเนื้อตัวของชีวิตของเรา

เมื่อทำงาน เราอย่าไปมีความรู้สึกแยกว่า นั่นเป็นงาน เป็นกิจกรรมต่างหากจากชีวิตของเรา

การที่มีความรู้สึกว่าเราจะต้องไปเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ หรือว่ามันเป็นเรื่องหนักเรื่องทนที่เราจะต้องทำงานต่อไป รอหน่อยเถอะ เราทำงานเสร็จแล้วจะได้ไปหาเวลาพักผ่อน ความนึกคิดอย่างนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก และเกิดความรู้สึกที่ครุ่นคิดเหมือนถูกกดถูกทับอยู่ อยากจะพ้นไปเสีย เกิดความเครียด เกิดความกังวล เกิดความห่วง เกิดความหวัง

ในเบื้องต้น คนเราต้องอยู่ด้วยความหวัง แต่พอถึงขั้นหนึ่งแล้วไม่ต้องหวัง เพราะความหวังสำเร็จจบสิ้นอยู่ในตัว ตอนนี้จะมีความสุขยิ่งกว่าตอนแรกที่มีความหวัง

คนที่ไม่มีความหวังเลย จะมีความทุกข์มาก ในขั้นต่อมา เขาจึงมีความสุขด้วยการที่มีความหวัง เขามีความหวังว่า หลังจากนี้แล้ว เขาจะได้จะพบสิ่งที่ปรารถนา แล้วเขาก็จะสุข จะสบาย เขามีความหวังอย่างนี้ และเขาก็มีความสุข

แต่ ความหวังนั้น คู่กับความหวาด เป็นคู่กันกับความห่วงและความกังวล ดังนั้น พร้อมกับการมีความสุขด้วยความหวังนั้น เขาก็มีความกังวล เช่น เมื่อหวังว่าจะได้ ก็หวาดระแวงหรือกังวลว่าจะมีอะไรมาขัดขวางให้ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งในการรอความหวัง ที่ต้องกังวลต่อความหวัง

ส่วนคนอีกพวกหนึ่งนั้นอยู่เหนือความหวัง หรือพ้นเลยความหวังไปแล้ว คือไม่ต้องอยู่ด้วยความหวัง ไม่ต้องอาศัยความสุขจากความหวัง หรือว่าความสุขของเขาไม่ต้องขึ้นต่อความหวัง เพราะชีวิตเป็นความสุขตลอดเวลา โดยไม่ต้องหวัง และไม่ต้องห่วงกังวล

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำงานให้ได้ผลดี โดยที่ว่าชีวิตก็มีความสุข และงานก็ได้ผลดีด้วย ก็ควรจะมาให้ถึงขั้นนี้ คือขั้นที่ว่า มองงานกับชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มองว่างานเป็นกิจกรรมที่เป็นเนื้อเป็นตัวของชีวิตแท้ๆ แล้วเราก็ทำงานไปอย่างที่รู้สึกว่า มันเป็นการดำเนินชีวิตของเราเอง และดำเนินชีวิตนั้นให้ดีที่สุด

ต่อไปอีกด้านหนึ่งก็คือ เมื่อเราทำงานไป ไม่ว่าจะมองในความหมายว่าเป็นการพัฒนาตนเองก็ตาม เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนหรือของสังคมก็ตาม ในเวลาที่ทำอยู่นั้น สภาพจิตใจอย่างหนึ่งที่ควรเกิดขึ้น ก็คือความร่าเริงบันเทิงใจ ความเบิกบานใจ

การทำงานในความหมายบางอย่างก็เอื้อต่อการเกิดสภาพจิตอย่างนี้อยู่แล้ว เช่น ถ้าเราศรัทธาในความหมายของงาน ในคุณค่าของงาน เราทำงานไป ก็ทำจิตใจของเราให้ร่าเริงได้ง่าย

แต่การที่จะให้ร่าเริงนั้น บางทีก็ต้องทำตัวทำใจเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นมาเฉยๆ เราต้องตั้งท่าทีของจิตใจให้ถูกต้อง บอกตัวเอง เร้าใจตัวเองให้ร่าเริง ทำใจให้เบิกบานอยู่เสมอ สภาพจิตอย่างนี้เรียกว่ามี ปราโมทย์

ทางพระบอกว่า สภาพจิตที่ดีของคนนั้น ก็คือ

หนึ่ง ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ

สอง ปีติ ความอิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ

สาม ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเรียบรื่น

ข้อที่สามมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน คือ เมื่อผ่อนคลาย ก็ไม่เครียด เป็นข้อที่จะช่วยแก้ปัญหาสภาพจิตในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของยุคอุตสาหกรรม พอมีปัสสัทธิแล้ว

สี่ สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ จิตใจคล่องสบาย แล้วก็

ห้า สมาธิ ใจแน่วแน่ อยู่ตัว แนบสนิท และมั่นคง ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีอะไรรบกวน เรียบ สม่ำเสมอ อยู่กับกิจ อยู่กับงาน เหมือนดังกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน ซึ่งหมายถึงว่าสมาธิในการทำงานก็เกิดขึ้นด้วย

องค์ประกอบ ๕ ตัวนี้ เป็นสภาพจิตของคนที่ปฏิบัติธรรม ดังนั้น ในการเป็นอยู่และในการทำกิจกรรมทุกอย่าง เราจึงปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น เมื่อเราดำเนินชีวิตถูกต้อง ทำสิ่งนั้นๆ ได้ถูกต้อง เรามีสภาพจิตทั้งห้าอย่างนี้ ก็เรียกว่า เรากำลังปฏิบัติธรรมตลอดเวลา

หลายคนไปมองการปฏิบัติธรรมแยกจากชีวิต ต้องรอไปเข้าป่า ไปอยู่วัด การปฏิบัติธรรมอย่างนั้นอาจเป็น course แบบ intensive

แต่ในปัจจุบันทุกขณะนี้ เราควรปฏิบัติธรรมตลอดเวลา ถ้าใครปฏิบัติได้อย่างนี้ลาดลำดับลงไป การปฏิบัติแบบ intensive course ก็ไม่จำเป็น แต่เป็นการเสริมย้ำ หรือลงลึกเมื่อมีโอกาส

ถ้าเราฝึกตัวเองตลอดเวลาด้วยการทำงานแบบนี้ เราก็ปฏิบัติธรรมตลอดเวลาอยู่แล้ว เราทำงานไป โดยมีสภาพจิตดี ซึ่งจะไม่มีปัญหาสุขภาพจิตเลย เพราะมันเป็นสุขภาพจิตเองอยู่แล้วในตัว

ขอให้มีปราโมทย์ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสุข มีสมาธิเถิด ถ้าทำอย่างนี้แล้วสบาย งานก็ได้ผลด้วย จิตใจก็ดีด้วย

ถ้าทำงานอย่างนี้ ก็กลายเป็นทำงานเพื่อธรรม และคนอย่างนี้จะไม่ค่อยคำนึงถึงผลตอบแทน ไม่ต้องรอความสุขจากผลตอบแทน

คนที่มุ่งผลตอบแทนก็ต้องรอว่า เมื่อไรได้ผลตอบแทนเป็นเงินเป็นทองแล้ว จึงจะมีความสุข แต่ระหว่างนั้นก็ทำงานด้วยความทุกข์และรอความสุขอยู่เรื่อยไป จะได้หรือไม่ได้ ก็ยังไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ แต่การปฏิบัติโดยมีสภาพจิตห้าอย่างนี้ ได้ทั้งงาน ได้ทั้งความสุขเสร็จไปในตัวเป็นพื้นฐานไว้แล้ว

ทีนี้ พอถึงขั้นทำงานอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหวัง ไม่ต้องห่วงผลตอบแทนแล้ว เราทำงานไป ชีวิตแต่ละขณะก็จะเป็นความเต็มสมบูรณ์ของชีวิตในทุกขณะนั้นๆ ตอนนี้แหละจะถึงจุดรวมที่ทุกอย่างมาอยู่ด้วยกัน ทั้งงาน ทั้งชีวิต และความสุข จะสำเร็จในแต่ละขณะ

ตรงนี้แหละเป็นหัวใจสำคัญ ในตอนแรกนั้นเป็นเหมือนว่าเราแยกงาน แยกชีวิต แยกความสุขเป็นส่วนๆ แต่พอถึงตอนนี้ ทำไปทำมา ทุกอย่างมารวมอยู่ด้วยกันทั้งหมดในขณะเดียว

ตราบใดเรายังแยกเป็นส่วนๆ และแยกตามเวลา ตราบนั้นชีวิตจะต้องดิ้นรนคอยหาและหลบหนีสิ่งเหล่านั้นทีละอย่างๆ อยู่ตลอดเวลา คือเป็นชีวิตที่ตามหาวันพรุ่งนี้ ซึ่งไม่มาถึงสักที

แต่ถ้าทำให้เป็นปัจจุบันเสีย ทุกอย่างก็ครบถ้วนอยู่ด้วยกันทันที ทุกอย่างก็สมบูรณ์

ชีวิต งาน และธรรม: ความประสานสู่เอกภาพ

ในสภาพอย่างนี้ เราจะมองเห็นพัฒนาการของคนในการทำงาน มองเห็นพัฒนาการของชีวิต ในลักษณะที่ว่า

ตอนต้น คนจำนวนมากมองแบบปุถุชนว่า งานเพื่อชีวิต คือ เราทำงานเพื่อจะได้ผลตอบแทนมาเลี้ยงชีวิต ชีวิตของเราอาศัยงาน คือ เราอาศัยงานเพื่อให้ชีวิตของเราเป็นอยู่ได้

ต่อมาจะเห็นว่า มีการก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือกลายเป็น งานเพื่องาน ตอนนี้งานก็เพื่องานนั่นแหละ คือ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จด้วยดี เพื่อจุดมุ่งหมายของงาน ตรงไปตรงมา

ที่ว่างานเพื่อชีวิตนั้น เป็นเรื่องของเงื่อนไข ไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยตรงแท้ ในที่นี้ จะต้องมองความเป็นเหตุปัจจัย และการเป็นเงื่อนไขว่าเป็นคนละอย่าง

ที่ว่างานเพื่อชีวิตนั้น แท้จริงแล้ว งานไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยของชีวิต แต่งานเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาเลี้ยงชีวิต แต่ถ้าว่างานเพื่องาน ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยโดยตรง

งานอะไรก็เพื่อจุดหมายของงานอันนั้น เช่น งานของแพทย์คือการบำบัดโรค ก็เพื่อจุดมุ่งหมายของงาน คือทำให้คนหายโรค ทำงานโภชนาการ ก็เพื่อให้คนได้กินอาหารดี แล้วคนก็จะได้มีสุขภาพดี เป็นจุดหมายของงานโดยตรง งานก็เพื่องาน

เมื่อเราทำงานเพื่องานแล้ว ไปๆ มาๆ งานที่ทำนั้น ก็กลายเป็นกิจกรรมหลักของชีวิตของเรา กลายเป็นตัวชีวิตของเรา งานเพื่องาน ก็กลายเป็นชีวิตเพื่องาน ชีวิตของเราก็กลายเป็น ชีวิตเพื่องาน

ทำงานไปทำงานมา ชีวิตของเรากลายเป็นชีวิตเพื่องาน

อนึ่ง พร้อมกับที่ว่าเป็นงานเพื่องานนั่นแหละ มันก็เป็นธรรมไปในตัว

เหมือนอย่างที่บอกว่า ทำงานเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม หรือว่าแพทย์ทำให้คนไข้มีสุขภาพดี การทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม และการช่วยให้คนมีสุขภาพดี ก็เป็นธรรม การที่ครูให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียน ทำให้นักเรียนมีการศึกษา เป็นคนดี มีสติปัญญา การที่เป็นคนดี การที่มีสติปัญญา การที่มีชีวิตดีงาม ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น งานนั้น ก็เพื่อธรรม

เมื่อเราเอาชีวิตของเราเป็นงาน เอางานของเราเป็นชีวิตไปแล้ว ก็กลายเป็นว่า ชีวิตของเราก็เพื่อธรรม งานก็เพื่อธรรม ซึ่งมองกันไปให้ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่แค่เพื่อเท่านั้น คือ ที่ว่างานเพื่องาน งานเพื่อธรรม ชีวิตเพื่องาน ชีวิตเพื่อธรรม อะไรต่างๆ นี้ ในที่สุด ทั้งหมดนี้ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เมื่อถึงขั้นนี้ ก็ไม่ต้องใช้คำว่า “เพื่อ” แล้ว เพราะทำไปทำมา ชีวิตก็คืองาน งานก็คือชีวิต และ งานก็เป็นธรรม ไปในตัว เมื่องานเป็นธรรม ชีวิตก็เลยเป็นธรรมด้วย ตกลงว่า ทั้งชีวิตทั้งงาน ก็เป็นธรรม ไปหมด

พอถึงจุดนี้ ก็เข้าถึงเอกภาพที่แท้จริง ทุกอย่างก็จะถึงจุดที่สมบูรณ์ในแต่ละขณะ อย่างที่กล่าวแล้ว

ในภาวะแห่งเอกภาพ ที่ ชีวิต งาน และ ธรรม ประสานกลมกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น คนที่ทำงานก็จะมีชีวิตและงานและธรรมสมบูรณ์พร้อม ในแต่ละขณะที่เป็นปัจจุบัน และจะมีแต่ชีวิตและงานที่มีความสุข ไม่ใช่ชีวิตและงานที่มีความเศร้า นี้เป็นประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง ชีวิตนั้นมีคุณค่าเป็นประโยชน์ ไม่มีโทษ และ

ประการที่สาม ชีวิตนี้ และงานนั้น ดำเนินไปอย่างจริงจัง กระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา ไม่ประมาท

ลักษณะของงานอย่างหนึ่งที่เป็นโทษ ก็คือความเฉื่อยชา ความท้อแท้ ขาดความกระตือรือร้น ซึ่งโยงไปถึงสภาพจิตด้วย

เมื่อเราได้คุณลักษณะของการทำงาน และชีวิตอย่างที่ว่ามานี้ เราก็ได้ คุณภาพที่ดี ทั้งสามด้าน คือ ได้ทั้งความสุข ได้คุณประโยชน์หรือคุณค่า และ ได้ทั้งความจริงจัง กระตือรือร้น ซึ่งเป็นเนื้อแท้ในตัวของงานด้วย

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งในแง่ของงาน ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน แล้วก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประโยชน์สุข ที่จะเกิดแก่ชีวิตและสังคมของมนุษย์ด้วย ชีวิตอย่างนี้จึงมีความหมายเท่ากับประโยชน์สุขด้วย

ชีวิตคือประโยชน์สุข เพราะการเป็นอยู่ของชีวิตนั้น หมายถึงการเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของประโยชน์สุขด้วย

คนผู้ใดมีชีวิตอยู่อย่างนี้ การเป็นอยู่ของเขาก็คือประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ แก่ชีวิต แก่สังคมตลอดเวลา

ถ้าคนอย่างนี้มีชีวิตยืนยาวเท่าไร ก็เท่ากับทำให้ประโยชน์สุขแก่สังคม แก่มนุษย์ แก่โลก แผ่ขยายไปได้มากเท่านั้น

ดังนั้น อายุที่มากขึ้น ก็คือประโยชน์สุขของคนที่มากขึ้น แพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้นในสังคม

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวาของพระพุทธเจ้าถูกถามว่า ถ้าพระพุทธเจ้ามีอันเป็นอะไรไป ท่านจะมีความโศกเศร้าไหม พระสารีบุตรตอบว่า

ถ้าองค์พระศาสดามีอันเป็นอะไรไป ข้าพเจ้าก็จะไม่มีความโศกเศร้า แต่ข้าพเจ้าจะมีความคิดว่า พระองค์ผู้ทรงมีพระคุณความดีมากมาย ได้ลับล่วงจากไปเสียแล้ว ถ้าหากพระองค์ทรงดำรงอยู่ยาวนาน ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนชาวโลกเป็นอันมาก

พระสารีบุตรตอบอย่างนี้ หมายความว่า เป็นการตั้งท่าทีที่ถูกต้องต่อกัน ทั้งต่อตัวของท่านเอง และต่อชีวิตของท่านผู้อื่นด้วย

อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตที่ยืนยาวอยู่ในโลกของคนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ก็คือ ความแพร่หลายของประโยชน์สุขมากยิ่งขึ้น

ชีวิต งาน และธรรม: อิสรภาพภายในเอกภาพ

เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่อง “ชีวิตนี้เพื่องาน และงานนี้เพื่อธรรม" ทั้งหมดนี้ ก็เป็นนัยหนึ่งของความหมาย แต่ถ้าจะวิเคราะห์อีกแบบหนึ่ง ชื่อหัวข้อที่ตั้งไว้ ได้แยกชีวิตกับงานออกเป็นคำ ๒ คำ

เมื่อกี้เราได้ดึงเอาชีวิตกับงาน มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ในแง่ของความเป็นจริง มันก็ยังเป็นคำพูดคนละคำ ชีวิตก็เป็นอันหนึ่ง งานก็เป็นอันหนึ่ง เพียงแต่เรามาโยงให้เป็นเอกภาพ

ทีนี้ แง่ที่ชีวิตกับงานเป็นคนละคำ ยังเป็นคนละอย่าง และยังมีความหมายที่ต่างกัน ก็คือ งานนั้นมีลักษณะที่จะต้องทำกันเรื่อยไป ไม่สิ้นสุด ยังไม่มีความสมบูรณ์เสร็จสิ้นที่แท้จริง เพราะว่า งานนั้นสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกาลเทศะและของชุมชน

สังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป งานที่ทำก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะฉะนั้น งานจะไม่มีความสมบูรณ์เสร็จสิ้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปตามสภาพแวดล้อมของสังคม แต่ชีวิตของคนมีความจบสิ้นในตัว จะไม่ไปกับงานตลอดไป อันนี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่ง

ตามที่พูดไปแล้ว แม้ว่าชีวิตกับงานจะเป็นเอกภาพกันได้ แต่ในแง่หนึ่งก็ยังมีความต่าง อย่างที่ว่างานสำหรับสังคมนี้คงดำเนินต่อไป แต่ชีวิตของคนมีการจบสิ้นได้ และจะต้องจบสิ้นไป

แม้ว่า เราจะไม่สามารถทำให้งานมีความสมบูรณ์เสร็จสิ้น แต่ชีวิตของคนเราแต่ละชีวิต เราควรจะทำให้สมบูรณ์ และชีวิตของเราในโลกนี้ เราก็สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ด้วย ทำอย่างไรจะให้สมบูรณ์

ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักเกี่ยวกับจุดหมายของชีวิตไว้ ๓ ขั้นว่า ชีวิตที่เกิดขึ้นมานั้น แม้ว่ามันจะไม่มีจุดหมายของมันเอง เราก็ควรทำให้มีจุดหมาย

เราอาจจะตอบไม่ได้ว่า ชีวิตนี้เกิดมามีจุดมุ่งหมายหรือไม่ เพราะเมื่อว่าตามหลักธรรมแล้ว ชีวิตนี้เกิดมาพร้อมด้วยอวิชชา

ชีวิตไม่ได้บอกเราว่ามันมีจุดมุ่งหมายอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็สามารถตั้งความมุ่งหมายให้แก่มันได้

ด้วยการศึกษาและเข้าใจชีวิต ก็มองเห็นว่า ชีวิตนี้จะเป็นอยู่ดี จะต้องมีคุณภาพ จะต้องเข้าถึงสิ่งหรือสภาวะที่มีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์แก่มันอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ ทางพระจึงได้แสดงไว้ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ชีวิตของเราควรเข้าถึงจุดหมายระดับต่างๆ เพื่อให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำให้แก่ชีวิตของเราเอง ให้มันมีให้มันเป็นได้อย่างนั้น

ประโยชน์ หรือ จุดหมาย นี้ แบ่งเป็น ๓ ขั้น

จุดหมายที่หนึ่ง เรียกว่า จุดหมายที่ตามองเห็น จุดหมายของชีวิตที่ตามองเห็น โดยพื้นฐานที่สุด ก็คือ การมีรายได้ มีทรัพย์สินเงินทอง มีปัจจัย ๔ พอพึ่งตัวเองได้ การเป็นที่ยอมรับ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

เรื่องผลประโยชน์และความจำเป็นต่างๆ ทางวัตถุและทางสังคมเหล่านี้ ชีวิตของเราจำเป็นต้องพึ่งอาศัย เราปฏิเสธไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือการพึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้เกิดให้มี

ทุกคนควรจะต้องพิจารณาตัวเองว่า ในขั้นที่หนึ่ง เกี่ยวกับการมีทรัพย์ที่จะใช้สอย มีปัจจัยที่พออยู่ได้ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในสังคม เรื่องของความอยู่ดี พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตามองเห็นนี้ เราทำได้แค่ไหน บรรลุผลไหม นี่คือขั้นที่หนึ่งที่ท่านให้ใช้เป็นหลักวัด

ต่อไปขั้นที่สอง จุดหมายที่เลยตามองเห็น หรือประโยชน์ซึ่งเลยไกลออกไปข้างหน้า เลยจากที่ตามองเห็น ซึ่งรวมถึงเลยจากโลกนี้ไปด้วย ก็คือด้านในหรือด้านจิตใจ หมายถึงการพัฒนาชีวิตจิตใจ รวมทั้งการมีความสุขในการทำงาน การมองเห็นคุณค่าของงานในแง่ความหมายที่แท้จริง ว่าเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์หรือเพื่อสันติสุข ความประพฤติสุจริต ความมีน้ำใจพร้อมที่จะสละจะทำจะให้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและการช่วยเหลือต่างๆ

คุณค่าและคุณธรรมเหล่านี้ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจและเอิบอิ่มภายในจิตใจ มั่นใจถึงขนาดที่ว่าไม่ต้องหวั่นหวาดกลัวภัยโลกหน้า เป็นความสุขที่ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่เลยจากตามองเห็น

คนหลายคน แม้จะมีประโยชน์ที่ตามองเห็นพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แต่ไม่มีความสุขที่แท้จริงเลย เพราะพ้นจากที่ตามองเห็นไปแล้ว จิตใจไม่พร้อม ไม่ได้พัฒนาเพียงพอ เพราะฉะนั้น ต้องมองว่า ในส่วนที่มองไม่เห็น คือเลยไปกว่านั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่ง แล้วส่วนนั้นเรามีแค่ไหนเพียงไร

สุดท้าย จุดหมายที่พ้นเหนือโลก หรือจุดหมายที่พ้นเป็นอิสระ เรียกว่า ประโยชน์สูงสุด คือประโยชน์เหนือทั้งที่ตามองเห็น และที่เลยจากตามองเห็น

ประโยชน์ในขั้นที่สองนั้น แม้จะเลยจากที่ตามองเห็นไปแล้ว ก็ยังเป็นเพียงเรื่องของนามธรรมในระดับของความดีงามต่างๆ ซึ่งแม้จะสูง แม้จะประเสริฐ ก็ยังมีความยึดความติดอยู่ในความดีความงามต่างๆ เหล่านั้น และยังอยู่ในข่ายของความทุกข์ ยังไม่พ้นเป็นอิสระแท้จริง

ส่วนจุดมุ่งหมายขั้นสุดท้ายนี้ ก็คือการอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นขึ้นไป คือความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์เป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต

ตอนนี้ แม้แต่งานที่ว่าสำคัญ เราก็ต้องอยู่เหนือมัน เพราะถึงแม้ว่า งานกับชีวิตของเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ตราบใดที่เรายังมีความติดในงานนั้นอยู่ ยังยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา งานแม้จะเป็นสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่า เป็นประโยชน์ แต่เราก็จะเกิดความทุกข์จากงานนั้นได้ มันยังอาจจะเหนี่ยวรั้งให้เราเอนเอียงได้

จึงจะต้องมาถึงขั้นสุดท้ายอีกขั้นหนึ่ง คือ ความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง แม้แต่สิ่งที่เรียกว่างาน

ในขั้นนี้เราจะทำงานให้ดีที่สุด โดยที่จิตใจไม่ติดค้างกังวลอยู่กับงาน ไม่ว่าในแง่ที่ตัวเราจะได้ผลอะไรจากงานนั้น หรือในแง่ว่างานจะทำให้ตัวเราได้เป็นอย่างนั้นๆ หรือแม้แต่ในแง่ว่างานของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ

การมองตามเหตุปัจจัยนั้น เป็นตัวต้นทาง ที่จะทำให้เรามาถึงขั้นนี้ ในเวลาที่ทำงาน เราทำด้วยความตั้งใจอย่างดีที่สุด มุ่งแน่วเด็ดเดี่ยวว่าต้องให้สัมฤทธิ์ผลบรรลุจุดหมายนั้นๆ

แต่พร้อมกันนั้น ก็มีท่าทีของจิตใจที่ตระหนักรู้ถึงความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำการให้ตรงเหตุปัจจัย มองไปตามเหตุปัจจัย ถ้างานนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไป ไม่ใช่เรื่องของตัวเราที่จะเข้าไปรับกระทบ เข้าไปอยาก เข้าไปยึด หรือถือค้างไว้

เรามีหน้าที่แต่เพียงทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุด ด้วยความรู้ที่ชัดเจนที่สุด มีแต่ตัว รู้ คือ รู้ว่าที่ดีงามถูกต้องหรือเหมาะควรเป็นอย่างไร รู้ว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นคืออะไร แล้ว ทำตามที่รู้ คือ ทำเหตุปัจจัยที่รู้ว่าจะให้เกิดผลเป็นความดีงามถูกต้องเหมาะหรือควรอย่างนั้น

เมื่อทำเหตุปัจจัยแล้ว มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยนั้นแหละที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา เราหมดหน้าที่แค่นั้น ไม่ต้องมายุ่งใจนอกเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปอยากไปยึด ตอนนี้ใจของเราก็เรียกว่าลอยพ้นออกมาได้ส่วนหนึ่ง

เมื่อใดเราเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์แล้ว จิตใจของเราก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ทำงานนั้นได้ผลสมบูรณ์ โดยที่พร้อมกันนั้นก็ไม่ทำให้ตัวเราตกไปอยู่ใต้ความกดทับ หรือในการบีบคั้นของตัวงานนั้นด้วย แต่เราสุขสบายโปร่งใจอยู่ตามปกติของเรา

อันนี้เป็นประโยชน์สูงสุดในขั้นสุดท้าย ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้ ชีวิตก็จะมีความสมบูรณ์ในตัว

ดังได้กล่าวแล้วว่า งานไม่ใช่เป็นตัวเรา และก็ไม่ใช่เป็นของเราจริง แต่งานนั้นเป็นกิจกรรมของชีวิต เป็นกิจกรรมของสังคม เป็นสิ่งที่ชีวิตของเราเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้อง แล้วก็ต้องผ่านกันไปในที่สุด

งานนั้น เราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แท้จริง เพราะมันขึ้นกับผลที่มีต่อสิ่งอื่น ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อม กาลเทศะ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม คนอื่นจะต้องมารับช่วงทำกันต่อไป

แต่ชีวิตของเราแต่ละคนนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ และเราสามารถทำให้สมบูรณ์ได้ แม้แต่ด้วยการปฏิบัติงานนี้แหละอย่างถูกต้อง

เมื่อเราปฎิบัติต่องานหรือทำงานอย่างถูกต้อง มีท่าทีของจิตใจต่องานถูกต้องแล้ว ชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวในแต่ละขณะนั้นนั่นเอง นี่คือประโยชน์ในระดับต่างๆ จนถึงขั้นสูงสุดที่ทางธรรมได้สอนไว้

รวมความว่า ภาวะที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว หรือเอกภาพ ที่กล่าวมานั้น เมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้ว ยังแยกได้เป็น ๒ ระดับ

ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในเวลาทำงาน ชีวิตจะเต็มอิ่มสมบูรณ์ในแต่ละขณะนั้นๆ ทุกขณะ เพราะชีวิตจิตใจกลมกลืนเข้าไปในงานเป็นอันเดียวกัน พร้อมทั้งมีความสุขพร้อมอยู่ด้วยในตัว แต่ลึกลงไปในจิตใจ ก็ยังมีความยึดติดถือมั่นอยู่ว่างานของเราๆ พร้อมด้วยความอยากความหวังความหมายมั่น และความหวาดหวั่นว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นเถิด มันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่หนอ เป็นต้น จึงยังแฝงเอาเชื้อแห่งความทุกข์ซ่อนไว้ลึกซึ้งในภายใน

ขั้นนี้ยังเป็นเอกภาพที่มีความแยกต่างหาก ซึ่งสิ่งที่ต่างหากกันเข้ามารวมกัน มีตัวตนที่ไปรวมเข้ากับสิ่งอื่น หรือฝังกลืนเข้าไปในสิ่งนั้นงานนั้น ซึ่งเมื่อมีการรวมเข้า ก็อาจมีการแยกออกได้อีก

ส่วน ในอีกระดับหนึ่ง ความประสานกลมกลืนของชีวิตจิตใจกับงานที่ทำ เป็นไปพร้อมด้วยความรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิตและการงานเป็นต้น ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องอยากไม่ต้องยึดถือสำคัญมั่นหมาย ให้นอกเหนือ หรือเกินออกไปจากการกระทำตามเหตุผลด้วยความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างจริงจัง

ขั้นนี้เป็นภาวะของอิสรภาพ ซึ่งเอกภาพเป็นเพียงสำนวนพูด เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรแยกต่างหากที่จะต้องมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากไม่มีตัวตนที่จะเข้าไปรวมหรือแยกออกมา เป็นเพียงความเป็นไปหรือดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืนในความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย

ที่แท้ก็คือความโปร่งโล่งเป็นอิสระ เรียกว่าภาวะปลอดทุกข์ไร้ปัญหา เพราะไม่มีช่องให้ความคับข้องติดขัดบีบคั้นเกิดขึ้นได้เลย

ฉะนั้น พึงเข้าใจว่า ภาวะที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าเป็นหนึ่งเดียว ดังได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ทำงานมีชีวิตเต็มสมบูรณ์เสร็จสิ้นไปในแต่ละขณะ ที่เป็นปัจจุบันนั้น ว่าที่จริงแล้ว เมื่อถึงขั้นสุดท้าย ก็ตรงกันกับภาวะของการมีชีวิตที่เป็นอิสระอยู่พ้นเหนืองาน ที่กล่าวถึงในที่นี้นั่นเอง

ทั้งนี้เพราะว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น หมายถึงความสัมพันธ์ที่กลมกลืนเสร็จสิ้นผ่านไปในแต่ละขณะ ไม่ใช่เป็นการเข้าไปยึดติดผูกพันอยู่ด้วยกัน ซึ่งแม้จะอยู่ในขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นแยกต่างหาก จึงมารวมหรือยึดติดกัน

แต่ในภาวะที่เป็นเอกภาพอย่างสมบูรณ์แท้จริง ผู้ที่ทำงาน มีชีวิตเป็นงาน และมีงานเป็นชีวิตในขณะนั้นๆ เสร็จสิ้นไป โดยไม่มีตัวตนที่จะแยกออกมายึดติดในขณะนั้น และไม่มีอะไรค้างใจเลยไปจากปัจจุบัน จึงเป็นอิสรภาพในท่ามกลางแห่งภาวะที่เรียกว่าเป็นเอกภาพนั้นทีเดียว

เป็นอันว่า ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม และลึกลงไปอีก ชีวิตนี้ก็เป็นงาน และงานนี้ก็เป็นธรรม และชีวิตก็เป็นธรรมเองด้วย จนกระทั่งในที่สุด ชีวิตนี้ก็มาถึงขั้นสุดท้าย คือเป็นชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน แต่ก็เป็นอิสระอยู่พ้นเหนือแม้แต่งาน

ก็เป็นอันว่าถึงความจบสิ้นสมบูรณ์ ถ้าถึงขั้นนี้ ก็เรียกว่า เป็นประโยชน์สูงสุดในประโยชน์สามขั้น ที่เราจะต้องทำให้ได้

พระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า คนเราเกิดมาควรเข้าถึงประโยชน์ให้ครบสามขั้น และประโยชน์ทั้งสามขั้นนี้แหละคือเครื่องมือ หรือเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้วัดผลของตนในการดำเนินชีวิต

ถ้าเราดำเนินชีวิตของเราไปแล้ว คอยเอาหลักประโยชน์ หรือจุดหมายสามขั้นนี้มาวัดตัวเองอยู่เสมอ เราก็จะเห็นการพัฒนาของตัวเราเอง

ไม่ว่าเราจะมองชีวิตเป็นการพัฒนาตนเอง หรือเป็นการสะสมสร้างสรรค์ความดีก็ตาม หลักประโยชน์สามขั้นนี้สามารถนำมาใช้ได้เสมอไป ใช้ได้จนถึงขั้นสมบูรณ์เป็นอิสระ จบการพัฒนา อยู่พ้นเหนือการที่จะเป็นทุกข์ แม้แต่เพราะความดี

1ธรรมกถา แสดงในวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ณ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๒ (หลังจากพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๓๒ แล้ว หนังสือนี้มีการพิมพ์ต่อมาจนกระทั่งผ่านครั้งที่ ๑๔, พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมี ๔๙ หน้า จึงได้จัดปรับใหม่เพื่อการพิมพ์ครั้งที่ ๑๕ จากนั้นมีการปรับปรุงต่อมาบ้าง จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งได้พิมพ์ครั้งแรก รวมกับเรื่องอื่นในหนังสือชื่อ เล่าเรียน-ทำงานกันไป ชีวิตได้อะไร, มิ.ย. ๒๕๔๘ และครั้งล่าสุด ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้จัดปรับรูปแบบให้ลงตัวเข้าชุดกับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่พิมพ์ในรุ่นเดียวกัน)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.