ปุจฉา ปัจจุบันมีการตรวจกรองทางพันธุศาสตร์ ว่าผู้ใดมียีนผิดปรกติที่ทำให้เกิดโรคหรือสามารถถ่ายทอดโรคต่อไปยังลูกหลานได้ เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ตัดสินใจป้องกันการเกิดโรคพันธุกรรม
อย่างไรก็ดี การตรวจพบว่าตนเองมีความผิดปรกติทางพันธุกรรมมีผลกระทบทางจิตใจและสังคมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกว่าถูกตราหน้าทางสังคม รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าหรือด้อยกว่าคนอื่น และความกลัวที่จะรู้ว่าตนมีความผิดปรกติทางพันธุกรรม
การตรวจกรองทางพันธุศาสตร์มีประโยชน์ แต่การนำมาใช้จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและการยอมรับของประชาชน รวมทั้งต้องคำนึงถึงประเด็นทางสังคมศาสนาและประเพณีที่เกี่ยวข้องกันด้วย
ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องกรรม อาจมีผลกระทบต่อเจตคติและการตัดสินใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคพันธุกรรม อาจเป็นได้ทั้งทางลบและทางบวก เช่น ถ้าหากคิดว่าสุดแล้วแต่กรรม ถ้าลูกจะเป็นโรค ก็ยอมรับกรรม เช่นนี้ก็อาจเป็นผลเสียเพราะจะไม่พยายามหาทางป้องกัน
แต่อีกด้านหนึ่ง ความเชื่อว่ามีลูกเป็นโรคพันธุกรรมเนื่องจากกรรมเก่า ก็อาจช่วยให้ยอมรับและช่วยผ่อนคลายความทุกข์ได้บ้าง ความเชื่อเรื่องกรรมอาจทำให้พยายามสร้างความดี ให้ความเมตตาช่วยเหลือเลี้ยงดูคนที่เป็นโรคพันธุกรรมเป็นอย่างดีก็ได้
นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องกรรมอาจจะมีอิทธิพลในด้านมุมมองของสังคมต่อคนไข้โรคพันธุกรรม สังคมอาจรังเกียจ อาจสงสาร หรืออาจคิดว่าชาติก่อนคงทำกรรมไว้มาก มุมมองของสังคมอาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกและต่อการตัดสินใจตรวจและการยอมรับผลการตรวจกรองทางพันธุศาสตร์
ขอนมัสการเรียนถามว่า พุทธศาสนามีคำอธิบายเรื่องหลักกรรมในแง่ความสัมพันธ์กับการเกิดโรค โดยเฉพาะโรคพันธุกรรมและความพิการแต่กำเนิดอย่างไร
วิสัชนา โรคเกิดได้จากเหตุปัจจัยหลายอย่าง เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศก็มี การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็มี การถูกทำร้ายก็มี เกิดจากกรรมก็มี
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า หากใครเห็นว่าโรคทุกอย่าง ความบาดเจ็บทุกอย่าง เกิดจากกรรมทั้งสิ้น อย่างนั้นถือเป็นความเข้าใจผิดพลาด โรคนี้เกิดได้จากหลายเหตุ กรรมก็เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในบรรดาปัจจัยเหล่านั้น พีชนิยามก็เป็นกฎธรรมชาติอีกกฎหนึ่งที่มักเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ในทางพุทธศาสนาได้แบ่งกฎธรรมชาติไว้อย่างน้อย ๕ กฎ
อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับความเป็นไปของสภาพแวดล้อม เช่น ดินฟ้าอากาศ ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ
พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพืชพันธุ์
จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิตใจ
กรรมนิยาม กฎธรรมชาติที่ว่าด้วยการกระทำของมนุษย์ที่เกิดจากเจตจำนงหรือเจตนา คือกระบวนการแสดงผลของเจตจำนง
ธรรมนิยาม คือกฎทั่วไปแห่งเหตุและผล เช่นว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นดับไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เมื่อพิจารณาดูสิ่งทั้งหลายที่อยู่ภายใต้กฎเหล่านี้ ชีวิตมนุษย์นั้นเป็นส่วนประกอบที่ขึ้นอยู่กับ ๕ กฎครบทั้งหมด (ธรรมชาติภายนอกหลายอย่างจะขึ้นอยู่เพียง ๒-๓ กฎ เช่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติเพียงอย่างสองอย่าง เช่น อุตุนิยาม และพีชนิยาม) ฉะนั้นเราจะต้องแยกออกไป จะไปเอาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะบอกว่าเกิดเพราะกรรมเป็นตัวกำหนดไปหมดไม่ได้
“พันธุกรรม” เป็นคำที่คนไทยเราบัญญัติขึ้นใช้ใหม่ ซึ่งพาให้สับสน โรคของพืชพันธุ์ หรือพันธุกรรม ต้องถือว่าเป็นการใช้ศัพท์ผิดเลยทำให้เข้าใจผิดเป็นเรื่องกรรมไป จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องกรรม อาจเรียกว่าพันธุนิยามหรือเรียกเป็นอย่างอื่น ของพระเรียกว่าพีชนิยาม กฎแห่งพืชพันธุ์ เป็นเรื่องของยีนหรืออื่นๆ
กรรมจะมีความสำคัญที่ว่า กรรมเป็นตัวปรับสภาพของจิตที่เป็นองค์แห่งภพของเขา ให้เข้ากันกับพืชพันธุ์ที่มีความบกพร่อง ถ้ามองในแง่กรรมก็คล้ายๆ ว่า กรรมนำให้เขามาเกิดให้เหมาะกับสภาพการเกิดที่มีความบกพร่องอันนี้ แต่บางทีก็เหมาะกันในแง่อื่น คนที่พีชนิยามมีส่วนบกพร่องก็อาจจะไปเหมาะดีในแง่อื่น ส่วนนี้ก็เลยต้องมารับผลเสียไป จะมองแบบแง่เดียวตายตัวไม่ได้
เป็นอันว่า เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ใช่เป็นเรื่องของกรรมอย่างเดียว เพราะว่ากฎธรรมชาติตามหลักพระพุทธศาสนามีหลายกฎ พีชนิยาม หรือกฎแห่งพืชพันธุ์ ก็เป็นอันหนึ่ง และอย่าสับสนคำว่า “พันธุกรรม” กับคำว่า “กรรม”
ปุจฉา การตรวจว่าผู้ใดมียีนผิดปรกติที่ทำให้เกิดโรคหรือสามารถถ่ายทอดโรคไปยังลูกหลานได้ มีจุดประสงค์เพื่อให้นำความรู้นี้ไปใช้ป้องกันการเกิดโรคพันธุกรรมในครอบครัว เช่นโดยการคุมกำเนิด หรือการทำแท้ง (ซึ่งเคยนมัสการเรียนถามท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้จนได้คำตอบชัดเจนแล้ว)
บางศาสนาถือว่าการคุมกำเนิดผิด ทำไมพุทธศาสนาจึงไม่ถือว่าการคุมกำเนิดเป็นสิ่งผิด วิธีนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าเป็นการป้องกัน
วิสัชนา เป็นสิทธิของคนแต่ละคน ของเราไม่ถือว่ามีพระเจ้าที่จะคอยบังคับใคร กฎธรรมชาตินี้เป็นธรรมดา ความจริงอย่างไรก็อย่างนั้น ถ้าการคุมกำเนิดไม่ใช่ไปทำแท้ง ไม่ใช่การฆ่าคน ก็ไม่ผิด ถ้าหากว่าดูแล้วประโยชน์เกิดมากกว่า ก็กลายเป็นดีไป เช่นไม่ไปทำให้คนเขาต้องมารับความทุกข์โดยใช่เหตุ
ปุจฉา ปัญหาอย่างหนึ่งที่แพทย์พบก็คือ คนที่มีลูกพิการหรือเป็นโรคแล้ว ถ้ายอมรับว่าเป็นเรื่องของกรรม ก็อายที่จะไปแสดงตัวหรือไปขอความช่วยเหลือให้เป็นที่ประจักษ์ของคนอื่น พอมีลูกคนใหม่ก็พิการอย่างนี้อีก ความเชื่อเรื่องนี้จะแก้อย่างไร
วิสัชนา จุดที่พลาดอยู่ตรงที่เขาอายว่าเป็น "โรคของเวรกรรม" ต้องมองว่ามนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่มีกรรมดีกรรมชั่วปนๆ กันไป มนุษย์เป็นสัตว์ในภพที่แปลกจากภพอื่นๆ คือเป็นภพที่มีความดีความชั่วปนๆ กันไป บางคนบกพร่องด้านนี้ แต่อาจจะไปดีด้านโน้น เราบกพร่องด้านนี้ เราอาจจะไปดีด้านอื่น
ในทางพุทธศาสนาถือหลักการฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น ถ้ามีอะไรที่เราจะแก้ให้ดีขึ้น เราต้องทำ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ แก้ไขได้ ปรับปรุงได้ ฉะนั้น หลักการก็คือ
(๑) เราอาจจะมีจุดอ่อนแง่นี้ แต่ไปดีแง่โน้น คนอื่นเขามีแง่ดีอันนี้ แต่เขาก็ไปมีจุดอ่อนอันโน้น
(๒) แต่ละคนมีจุดอ่อนจุดด้อยคนละอย่าง ส่วนดีก็รักษาพัฒนายิ่งขึ้นไป ส่วนไหนบกพร่องก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดี เพราะฉะนั้น ยิ่งมีวิธีการแก้ไขเรายิ่งต้องแสวงหา ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเอง ไม่ควรจะไปตัดโอกาส
(๓) ถ้าใครไม่พัฒนาตัวเอง เช่น ยอมรับว่าผลกรรมเราทำมาเลยเป็นอย่างนี้ แล้วไม่แก้ไขปรับปรุง ท่านถือว่าทำกรรมชั่วใหม่ กรรมชั่วนี้คือความประมาท เมื่อเรารู้ว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่องนี้ ปล่อยทิ้งไว้แล้วไม่แก้ไข คือ ความประมาท
ความประมาทเป็นอกุศลกรรม คือทำกรรมชั่ว ถ้าเคยทำกรรมชั่วไม่ดีมาก่อนแล้ว รับผลของกรรมเก่าที่ไม่ดีแล้ว ยังมาทำกรรมชั่วซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก นี่คือความประมาท
ถ้าเราทำกรรมมาไม่ดีแล้วผิดพลาด ก็ให้รู้ว่าที่ผ่านมามันไม่ดี ควรตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำกรรมใหม่ให้ดี ให้กรรมเก่านั้นเป็นบทเรียนไป ไม่ควรจะไปประมาททำกรรมชั่วซ้ำซ้อนเข้าไปอีก
กรรมชั่วที่คนมองไม่เห็นคือความประมาท พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนไว้ ถือว่าเป็นอกุศลสำคัญ ความประมาทประกอบด้วย
๑. ปัญญาไม่มี เป็นโมหะ
๒. ขาดสติ สติไม่ใช้ ไม่ระลึกว่าอะไรบกพร่องอะไรเสียหายแล้วจะได้แก้ไข ขาดสติขาดปัญญาหมดเลย
ปุจฉา บางคนดื่มเหล้าสูบบุหรี่จัดแล้วเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น เมื่อแพทย์แนะนำว่าควรงดเสีย เขาก็บอกว่าถ้าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คล้ายๆ กับมีกรรมมาแต่ชาติก่อน ถ้าจะต้องเป็นอะไรไป เขาก็ยอมรับ แต่ถ้าหากเขาไม่มีกรรม เขาจะดื่มเหล้าสูบบุหรี่ต่อนานแค่ไหนก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น
วิสัชนา เขาถือเรื่องกรรมผิดตั้งหลายชั้น หลักกรรมไม่ใช่ “กรรมเก่า” กรรมก็คือกรรม ไม่มีคำว่ากรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมอดีต กรรมปัจจุบัน กรรมอนาคต กรรมเก่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกรรม
ในพระพุทธศาสนาถ้าพูดว่า "กรรม" ไม่ใช่กรรมเก่า ลัทธิกรรมเก่าก็มีลัทธิหนึ่ง คือลัทธินิครนถ์ เป็นลัทธิมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งพระพุทธเจ้าติเตียนไว้
ลัทธิกรรมเก่าคือถือว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมเก่าไปหมดทั้งนั้น
ลัทธิ ๓ ลัทธิที่ผิดหลักกรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน อภิธรรมก็บอก พระสูตรก็บอก คือ
(๑) ลัทธิปุพเพกตเหตุ (ปุพเพกตวาท) ลัทธิที่ถือว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมเก่าที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน
(๒) ลัทธิอิสรนิมมานเหตุ (อิศวรนิรมิตวาท) อะไรๆ ก็เป็นเพราะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาล
(๓) ลัทธิอเหตุอปัจจยะ (อเหตุวาท) ลัทธิที่ถือว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นแล้วแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย แล้วแต่โชค
สามลัทธินี้ผิดหมดเลย
คนสูบบุหรี่ที่บอกว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แล้วแต่กรรมเก่านั้น ตรงกับลัทธินิครนถ์ชัดเต็มที่เลยทีเดียว
ถ้าถือหลักกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา จะต้องสร้างผลดีด้วยการเพียรพยายามทำสิ่งที่ดี ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น (หลักกรรม และหลักไตรสิกขา)
ปุจฉา ถ้าเช่นนั้น ในชนบทที่มีความยากจนแร้นแค้น การยอมรับสภาพของตนเองโดยถือว่าเป็นกรรมเก่าก็ผิด แต่มีคนว่านั่นเป็นคตินิยมที่ดี ทำให้คนไทยสันโดษ ยอมรับอะไรได้
วิสัชนา เรื่องกรรมเก่านั้นผิดอย่างไร กรรมเก่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกรรม ฉะนั้นเวลานับถือ ต้องนับถือให้ครบหลักกรรม ไม่ใช่แค่กรรมเก่า
กรรมเก่า คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นอย่างปัจจุบัน เมื่อถึงปัจจุบันเราพบสภาพอย่างนั้นแล้ว หน้าที่ของเราคือทำกรรมใหม่แก้ไข
ทีนี้เราไปยอมรับว่าอนาคตก็เป็นเพราะกรรมเก่า ทำไมเราไม่นับขณะนี้ด้วยล่ะ อนาคตนั้น เวลาพูดถึงกรรมเก่ามันต้องหมายถึงขณะนี้ด้วย เพราะอีกนาทีต่อไปจากนี้มันก็กลายเป็นเก่าแล้ว ผลกรรมข้างหน้าที่เราจะได้รับก็หมายถึงเดี๋ยวนี้ด้วย กรรมเก่าของปีหน้าก็คือปีนี้ด้วย แล้วปีนี้เราตกอยู่ในความประมาท ก็กลายเป็นว่าปีนี้เรากำลังทำกรรมชั่ว พอถึงปีหน้าเราก็เลยมีกรรมเก่าที่ชั่วเพิ่มเข้าไปอีก ทำไมไม่ทำกรรมปีนี้ให้ดี
ความเข้าใจเรื่องกรรมเก่ามันผิดพลาด หนึ่ง ในความเห็น สอง ในวิธีปฏิบัติ
ผิดพลาดในความเห็น หมายความว่า ในพระพุทธศาสนาท่านว่ากรรมเป็นการกระทำเหตุ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลเกิดจากเหตุ มันเป็นกลางๆ มันไม่เฉพาะอดีต ไม่เฉพาะเก่า มันรวมปัจจุบัน อนาคต ทั้งหมดเลย
ถ้าเราไปมองแต่กรรมเก่าว่า อะไรๆ เป็นเพราะกรรมเก่า ก็เลยเข้าลัทธิมิจฉาทิฏฐิไป
เราไม่ได้ปฏิเสธกรรมเก่า ผลที่เราประสบปัจจุบันนี้ถือว่ามาจากกรรมเก่า อดีตนับแต่วินาทีนี้ถอยหลังไปเป็นเก่าหมด ต่อไปข้างหน้าในอนาคตก็นับตั้งแต่วินาทีนี้เลยไป พอผ่านไปวินาทีเดียวขณะนี้ก็กลายเป็นเก่าไปแล้ว
(ในด้านวิธีปฏิบัติ จะตอบข้างหน้า)
ปุจฉา โรคพันธุกรรมที่รุนแรง เช่นธาลัสซีเมีย ถ้าตรวจพบว่าเด็กเป็นโรค ก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาทำแท้ง ถ้าไม่ทำแล้วเกิดมาทุกข์ทรมานหรือพิการ ก็เป็นบาป วิธีป้องกันยังมีวิธีอื่น เช่น ตรวจเสียก่อนว่าตนเองมีความผิดปรกติแฝงอยู่หรือไม่ จะได้ตัดสินใจได้ว่าจะมีลูกหรือไม่
เรื่องการป้องกันนี้ บางคนก็ยอมรับ บางคนก็ไม่ยอมรับโดยบอกว่าอะไรจะเกิดก็ให้เกิด บางครั้งมีลูกคนที่หนึ่งพิการ คนที่สองที่สามก็ยังไม่ป้องกัน เพราะยังเชื่อว่าเป็นผลของกรรม ทางพระพุทธศาสนามีความเชื่อเรื่องกรรมว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร
วิสัชนา ทางพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าทุกอย่างเป็นเพราะกรรม โรคภัยไข้เจ็บหรือการเจ็บป่วยนี้มาจากหลายเหตุ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ความเจ็บป่วยเกิดจากการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศก็มี เกิดจากการถูกทำร้ายก็มี เกิดจากเหตุภายในระบบร่างกายก็มี เกิดจากกรรมก็มี ถ้าใครถือว่าความเจ็บป่วยทุกอย่างเกิดจากกรรมทั้งสิ้น ถือว่าเป็นความผิดพลาดของเขา อันนี้ก็เป็นพระสูตรหนึ่ง
พูดโยงไปอีกอันหนึ่งก็คือกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าสอนว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เรียกว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ธรรม
ธรรม หรือกฎธรรมชาติทั้งหมดนี้ จะแยกเป็นกฎย่อยออกไป กฎธรรมชาติย่อยออกไปมี ๕ กฎ คือ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม ดังได้เคยอธิบายมาแล้วข้างต้น
กรรมนิยาม หรือกฎแห่งกรรม เป็นเพียงกฎหนึ่งในกฎเหล่านี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกสิ่งต้องเกิดจากกรรมทั้งสิ้น ถ้าใครถือว่าทุกสิ่งเกิดจากกรรมก็ผิด เพราะสิ่งทั้งหลายในสภาพแวดล้อมนี้ไม่ได้ขึ้นกับกฎแห่งกรรมเลย
ชีวิตของมนุษย์มีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ครบถ้วนเท่ากับมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับทั้ง ๕ กฎ แต่ที่เป็นกฎของมนุษย์เต็มที่ คือ กฎแห่งกรรม เพราะว่ามนุษย์มีเจตจำนง การกระทำของเขาเกิดจากเจตจำนง
กรรมเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับมนุษย์มากที่สุด เพราะมนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง กฎธรรมชาติข้ออื่นยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมบ้าง ปัจจัยภายนอกอย่างอื่นบ้าง แต่กรรมเป็นเรื่องที่มนุษย์เองเป็นผู้สร้างสรรค์ ฉะนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่เรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะมนุษย์เป็นเจ้าของกรรมหรือเจตจำนงนั้น เขาตั้งจิตคิดหมาย จำนงจงใจ แล้วก็ทำโน่นทำนี่ พูดนั่นพูดนี่ ฉะนั้นท่านจึงให้ความสนใจพิเศษกับเรื่องกรรม ในฐานะที่เป็นเรื่องของมนุษย์ เกิดจากมนุษย์โดยตรง
มนุษย์เป็นเจ้าของกรรม เพราะตัวเป็นผู้ทำ และจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงในเรื่องกรรมทั้งหมดได้ มนุษย์ก็เอากรรมของตัวเองนี่แหละไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สัมพันธ์กับโลกภายนอก สัมพันธ์กับอุตุนิยาม พีชนิยาม การกระทำจากเจตจำนงของเขาเป็นเรื่องกรรมทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับกฎแห่งกรรม
อย่างที่กล่าวแล้วว่า กฎแห่งกรรมเป็นกฎหนึ่งในบรรดากฎธรรมชาติ จะถือว่าทุกอย่างเกิดจากกรรมหมดไม่ได้ มีลัทธิที่ผิดลัทธิหนึ่ง ถือว่าทุกอย่างเป็นเพราะกรรมเก่า อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นลัทธิมิจฉาทิฏฐิ ชาวพุทธเราบางทีก็หลงเข้าไปในลัทธิกรรมเก่า
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีลัทธิ ๓ ลัทธิที่ผิด ที่ไม่ใช่หลักกรรม คือ ปุพเพกตวาท (ลัทธิกรรมเก่า) อิศวรนิรมิตวาท (ลัทธิเทพบันดาล) และอเหตุวาท (ลัทธิแล้วแต่โชค) ซึ่งได้เคยอธิบายมาครั้งหนึ่งแล้ว
กฎแห่งกรรมเป็นกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง คือ กรรมไม่ใช่เพียงกรรมเก่า กรรมเก่าเป็นเพียงปัจจัยในส่วนที่ผ่านไปแล้ว
อย่างเรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ถือว่าเป็นผลรวมของกรรมเก่า สิ่งที่เราจะทำได้ในปัจจุบันคือกรรมใหม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจของเรา เป็นสิ่งที่ท่านเน้นเป็นพิเศษ
ถ้าใครปรารภว่ามันก็แล้วแต่กรรมเก่าก็ปล่อยชีวิตไป มีความคิดผิด เพราะ
หนึ่ง ไปถือลัทธิกรรมเก่า ยึดถือเพียงส่วนเดียวของกรรม ในแง่ความรู้ความเข้าใจความคิดเห็นไม่ถูกต้อง
สอง ในเชิงปฏิบัติ ก็ผิดอีก เพราะว่าไปปล่อยให้เป็นเรื่องกรรมเก่าเสีย ก็เลยตกอยู่ในความประมาท สิ่งที่ควรจะแก้ไขปรับปรุงก็ไม่แก้ไขปรับปรุง สิ่งที่ควรทำในปัจจุบันคือกรรมใหม่ที่ดี ก็ไม่ทำ
พระพุทธศาสนายังมีหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เป็นสัตว์ที่มีการฝึกฝนพัฒนา ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดเวลา ด้วยสิกขา คือการศึกษา ซึ่งแปลว่าเรียนรู้และฝึกฝน ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องกรรมก็คือการที่จะได้บทเรียนว่าอะไรบกพร่อง เราจะได้แก้ไขปรับปรุง
เพราะฉะนั้นคนที่ว่ามันแล้วแต่กรรมเลยปล่อยตัวไม่แก้ไขไม่ปรับปรุง ก็ผิดหลักเรื่องการพัฒนาฝึกฝนตนเอง (สิกขา) และผิดหลักกรรม คือตกอยู่ในความประมาท ความประมาทก็เป็นกรรมชั่วอีก เป็นอกุศลอีก กลายเป็นว่า ตัวก็รับผลกรรมเก่าที่ไม่ดีแล้ว ยังมาทำกรรมชั่วใหม่คือความประมาทเข้าไปอีก ก็เป็นอกุศลซ้ำเข้าไปอีก
อย่างที่บอกว่าต่อไปจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรมเก่า แล้วต่อไปอีกวันหนึ่ง อีกเดือนหนึ่ง อีกปีหนึ่ง การกระทำขณะนี้ก็กลายเป็นกรรมเก่าไปแล้วใช่ไหม เช่น กว่าจะถึงเดือนหน้าสิ่งที่ทำในเดือนนี้ก็คือกรรมเก่าแล้ว แต่ตอนนี้เรากลับปล่อยตัวไม่ทำอะไร ก็คือเราตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้น ต่อไปเดือนหน้าเราจะได้รับผลกรรมเก่าเพิ่มเข้าไป คือผลจากความประมาทที่เราทำในเดือนนี้
ฉะนั้น ความประมาทประกอบด้วย หนึ่ง ไม่มีปัญญา ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา เป็นโมหะ สอง ความประมาท คือการไม่มีสติ เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศล ก็คือกรรมชั่วนั่นเอง
พระพุทธศาสนาเน้นมากเรื่องความประมาท ถือว่าเป็นทางแห่งความเสื่อมความพินาศ
เพราะฉะนั้น คนที่ประสบสถานะอะไรในปัจจุบัน ก็ต้องพิจารณาว่าอันนี้เป็นผลรวมของกรรมเก่า เราอยู่ในภาวะอย่างนี้ เราจะต้องเรียนรู้ว่าอะไรบกพร่อง อะไรจะต้องแก้ไข แล้วรีบทำกรรมใหม่ แก้ไขปรับปรุงตัวเองพัฒนาให้ดีขึ้น อันนี้จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องว่า เราได้ทำกรรมใหม่ที่ดี เราไม่ยอมทำตามกรรมเก่าที่มันไม่ดี
นอกจากนั้นเรายังใช้กรรมเก่าให้เป็นประโยชน์ คือเป็นบทเรียนด้วย จะได้ดูจุดอ่อนข้อบกพร่อง เอามาแก้ไขปรับปรุง ซึ่งก็ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นการปฏิบัติตามหลักสิกขา คือการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของชีวิตชาวพุทธ
คนไทยเรามากทีเดียวถือลัทธิกรรมเก่าผิด หนึ่ง ในแง่ความคิดเห็นผิด สอง ในเชิงปฏิบัติผิด ที่อยู่ในความประมาท ไม่ทำกรรมใหม่ที่ดี และไม่มีสิกขา
ปุจฉา ความสันโดษโดยเชื่อว่าเป็นกรรมเก่าเป็นสิ่งไม่ดีหรือ
วิสัชนา ตามหลักพุทธศาสนา สันโดษถูกก็มี ผิดก็มี แต่สันโดษในกรณีนี้ผิด
การปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาต้องมีปัญญากำกับตลอดเวลา การปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้แบ่งเป็น ๒ ขั้น คือ
ขั้นแรก รู้ทันความจริงและยอมรับด้วยปัญญา (เอาความรู้มาปรับความรู้สึก)
ขั้นที่สอง ใช้ปัญญาพิจารณาค้นหาเหตุปัจจัยและดำเนินการแก้ไขตามเหตุปัจจัยนั้นๆ (ทำการด้วยปัญญา)
ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดีครบทั้งสองขั้น คือ ๑. เพื่อปลงใจได้จะได้ไม่ทุกข์ ๒. เพื่อแก้ไขปรับปรุงอย่างได้ผล
ถ้าติดอยู่แค่ขั้นเดียวก็ผิด เหมือนอย่างคนถือหลักอนิจจัง ถ้าถือแง่เดียวผิดทันที
สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ต้องตั้งอยู่ดับไป เพราะฉะนั้น มีเจริญก็มีเสื่อมได้เป็นธรรมดา เมื่อมีเสื่อมมันแตกหักพังสลายไป ก็ต้องปลงใจ เป็นอนิจจังตามธรรมดาของมัน สบายใจจะได้ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ในแง่นี้ท่านถือว่าเป็นการยอมรับความจริงตามกฎธรรมชาติ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้วางใจได้ ก็ดีขึ้น หายทุกข์หรือทุกข์น้อยลง สร่างโศก อันนี้ท่านก็ให้เป็นส่วนหนึ่ง ได้คะแนนหนึ่ง
แต่ท่านไม่ได้หยุดแค่นั้น ท่านบอกว่าอนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป แต่มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลื่อนลอย มันไม่ได้อยู่ๆ ก็เปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย
สิ่งทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย การที่มันเจริญก็มาจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เจริญ การที่มันเสื่อมก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เราต้องการความเจริญ เราไม่ต้องการความเสื่อม ถ้าเช่นนั้นเราต้องศึกษาเหตุปัจจัยว่าอะไรจะทำให้เสื่อม อะไรจะทำให้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เสื่อม ก็แก้ไขป้องกันกำจัด เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เจริญ รู้แล้วก็ทำ ก็จะได้ความเจริญสมหมาย
เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องใฝ่ศึกษาใช้ปัญญา แล้วเราก็แก้ไขปรับปรุงอยู่เรื่อย อันนั้นก็คือ ความไม่ประมาท
หลักอนิจจังนี้ พระพุทธเจ้าจะสอนพร้อมกับความไม่ประมาท แม้แต่จะปรินิพพานก็สอนว่า วยธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา นี่คือท่อนที่หนึ่ง คืออนิจจัง
ท่อนที่สอง อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ เพราะฉะนั้นจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เพราะฉะนั้นจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ จะมัวปล่อยปละละเลยไม่ได้ มีอะไรควรทำต้องรีบทำ ต้องรีบแก้ไขปรับปรุง ท่อนนี้สำคัญ เรามักจะทิ้งท่อนนี้ เป็นพุทธพจน์ที่เตือนแล้วเตือนอีก
หลักความไม่ประมาทนี้ ถือว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาอันหนึ่ง ธรรมทั้งหมดนั้นเหมือนกับอยู่ภายใต้ครอบคลุมของความไม่ประมาท จะมีประโยชน์ขึ้นมาก็เพราะไม่ประมาท จะได้ใช้มันก็เพราะไม่ประมาท เหมือนกับเอาเท้าช้างครอบคลุมรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด
ความไม่เที่ยงหรืออนิจจังจึงต้องโยงไปหาความไม่ประมาท อันนี้เป็นหลักสำคัญในเชิงปฏิบัติ ในขั้นที่หนึ่งนั้นสำหรับทำใจ ในขั้นที่สองนี่เชิงปฏิบัติ คือต้องทำการแก้ไขปรับปรุง
เพราะฉะนั้นเราไปหยุดแค่ว่าปล่อย เราอาจจะสบายใจแต่คือความเสื่อม เพราะฉะนั้นต้องมีขั้นที่สองด้วย คือพอรู้ว่าไม่เที่ยง อนิจจัง ต้องรีบใช้ปัญญาแล้วก็แก้ไขปรับปรุงในทางปฏิบัติ และเราก็จะได้ในแง่ที่ว่าเป็นวิธีการของปัญญา คือไม่เอาแค่เพียงความปรารถนาของตัวเอง ที่คิดจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
การที่เป็นอย่างนี้ จะเปรียบเทียบได้เหมือนกับว่าเป็นกระแสสองกระแส คือ กระแสคน กับกระแสของกฎธรรมชาติ
สิ่งทั้งหลายที่เราไปเกี่ยวข้อง เราก็จะมีความปรารถนาต่อมัน ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความปรารถนาของเราก็คือกระแสอันที่หนึ่ง เป็นกระแสในใจของเรา ในความคิดของเรา ขอใช้คำว่ากระแสของคน คือกระแสความปรารถนาของเราต่อสิ่งนั้นว่าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
พร้อมกันนั้นเอง สิ่งนั้นก็มีความเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ความเป็นไปของสิ่งนั้นตามธรรมชาติของมันตามธรรมดานั้น ก็เป็นอีกกระแสหนึ่ง เรียกชื่อว่า กระแสของธรรมชาติ หรือเรียกสั้นๆ ว่ากระแสธรรม
ตกลงว่ามี ๒ กระแส คือกระแสความปรารถนาของคนอยู่ในใจของเราอย่างหนึ่ง แล้วก็กระแสของเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติอีกกระแสหนึ่ง สิ่งเดียวกันอยู่ใน ๒ กระแส ก็เลยเรียกง่ายๆ ว่ากระแสของคน กับกระแสของธรรมชาติ หรือกระแสของธรรม
สิ่งเดียวกันนั้นจะเป็นไปใน ๒ กระแสได้อย่างไร มันก็เป็นไปได้ในกระแสเดียว กระแสที่แท้จริงคือกระแสอะไร กระแสที่จริงคือกระแสธรรมชาติ หรือกระแสของเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน กระแสความปรารถนาของคนเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้น ปรุงแต่งขึ้นมาเฉยๆ ไม่มีในความจริง
สิ่งนั้นๆ เอาเข้าจริงมันจะเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัย มันไม่ได้เป็นไปตามกระแสความปรารถนาของเรา ทางพระเรียกกระแสความปรารถนาว่า กระแสตัณหา
ถ้าสิ่งนั้นเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามกระแสความปรารถนาของเรา พอเกิดเหตุเป็นไปอย่างใดขึ้นมา ก็เกิดการปะทะขัดแย้งกันระหว่าง ๒ กระแส
กระแสความเป็นไปของเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ก็ขัดแย้งปะทะกับกระแสความปรารถนาของคน กระแสความปรารถนาของคนเราแพ้ เราก็ถูกบีบคั้นกดดันกระทบกระแทก ทำให้เกิดความทุกข์ อันนี้คือทุกข์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากกระแสตัณหาที่ถูกขัด
พอมนุษย์พัฒนาขึ้นมา พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ใช้ตัณหา ให้ใช้ปัญญา พอเราใช้ปัญญาคือรู้เหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ปัญญามันก็ทำหน้าที่รู้ รู้ก็คือรู้เหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ ตอนนี้กระแสใหม่ของคนก็คือกระแสปัญญา
แต่กระแสของคนที่เป็นกระแสปัญญา เป็นกระแสดียวกันกับกระแสเหตุปัจจัยในธรรมชาติ เพราะมันรู้ตามกัน กลายเป็นว่าตอนนี้กระแสของคน กับ กระแสของธรรมชาติ กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน
เวลาคนพัฒนากระแสปัญญาแล้ว กระแสของคนก็ประสานเป็นอันเดียวกัน กลมกลืนกันกับกระแสของธรรม ไม่มีการขัดแย้งปะทะกันก็ไม่เกิดปัญหา ก็เลยหมดทุกข์ แล้วก็ได้ผลทั้งสองอย่าง
หนึ่ง มีอะไรก็รู้ตามเป็นจริง เพราะกระแสของคนคือกระแสปัญญา กลมกลืนกับกระแสกฎธรรมชาติ ไม่เกิดความทุกข์หรือทุกข์น้อย
สอง ทำกิจได้ผลด้วย เพราะว่ารู้ตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย ก็ทำตรงตามเหตุปัจจัย จิตใจก็ดี ทุกข์น้อย ทำอะไรก็ได้ผล ทำกิจทำงานได้ผลด้วย ได้ทั้งสองอย่าง
แต่ถ้าเอากระแสความปรารถนาคือกระแสตัณหาแล้ว จะเสียทั้งคู่ หนึ่ง ทุกข์มาก ถูกบีบคั้น ถูกกดดัน สอง ทำก็ไม่ได้ผล เพราะตัวไม่รู้ความจริง ไม่ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย
อันนี้คือการพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้น การถือหลักกรรมก็ดี การปลงอนิจจังก็ดี ต้องได้ ๒ ขั้น จิตใจก็ต้องสบายด้วย การงานและการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตนก็ต้องได้ด้วย
คนอีกพวกหนึ่งคือคนที่ขยัน ไม่ประมาท ตั้งใจทำ แต่ทำแบบเร่าร้อนใจ มีแต่ความทุกข์ พวกนี้ก็ไม่รู้เท่าทันความจริงเหมือนกัน ปัญญาไม่พอ ก็เอาแต่ความปรารถนา แต่ไปใช้ในแง่เร่งรัดตัว แล้วก็มีความเร่าร้อนในการทำงาน เลยผิด
แต่ถ้าทำตามหลักธรรมแล้วได้ทั้งคู่ คือ ได้ทั้งจิตใจสบาย และทำงานก็ได้ผลด้วย
ตกลงอนิจจังท่านให้ใช้ ๒ ขั้น คือ หนึ่ง ต้องให้ใจสบาย สอง ต้องให้งานได้ผลด้วย ไม่ใช่ปล่อย
ถ้าเราปล่อย เราก็ทำกรรมชั่วซ้อน คือประมาท เป็นกรรมปัจจุบันซ้ำเติมเข้าไปอีก เอาความประมาทมาซ้ำตัวเอง
เรื่องสันโดษที่บอกว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไร ก็พอใจแค่นี้ สันโดษก็เลยพอใจ อย่างนี้เรียกว่าเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของสันโดษผิดหมด
สันโดษ แปลว่า ความรู้จักอิ่มรู้จักพอในวัตถุปัจจัยเครื่องบำรุงบำเรอความสุข
ท่านสอนคู่ไว้อีกว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นธรรมสำคัญ พระองค์ตรัสว่าที่เราตรัสรู้นี้ ได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการ คือ หนึ่ง ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง การทำความเพียรพยายามไม่ระย่อท้อถอย ตกลงว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ไม่สันโดษ (ในแง่กุศลธรรม)
ความสันโดษ กับไม่สันโดษ มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน สันโดษหรือไม่สันโดษต้องมีตัวตาม ว่าสันโดษในอะไร ไม่สันโดษในอะไร ไม่ใช่ทิ้งไว้ลอยๆ
สันโดษ คือสันโดษในวัตถุปัจจัยเครื่องบำรุงความสุข อันนั้นท่านให้สันโดษ ไม่เห็นแก่ความสะดวกสบายบำรุงบำเรอตัวเอง แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ในสิ่งที่ดีงาม ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข ความดีทำไปไม่รู้จักอิ่มจักพอ
พอเราสันโดษในวัตถุ เราก็จะสงวน ๑. เวลา ๒. แรงงาน ๓. ความคิด ไว้ได้ แล้วเอาสามอย่างนี้มาทุ่มให้กับความไม่สันโดษในกุศลธรรม เราจะสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามได้เต็มที่เลย
ถ้าคนที่ไม่สันโดษในวัตถุ เขาก็จะใช้เวลาหมดไปกับการแสวงหาวัตถุบำรุงตัวเอง ความคิดก็หมกมุ่น แรงงานก็ใช้หมดไปในการยุ่งกับเรื่องนั้น มัวแต่หาเสพหาบริโภคบำรุงบำเรอตัวจนไม่เป็นอันได้ทำกิจหน้าที่ทำความดี
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนไว้คู่กัน ถ้าคนสันโดษในวัตถุบำเรอตัว เขาก็สงวนเวลาเรี่ยวแรงความคิดเอามาใช้ในการสร้างสรรค์กุศลธรรม เมื่อเขาไม่สันโดษในกุศลธรรม เขาก็ก้าวหน้าในกุศลธรรมต่อไป ก็ยิ่งดีใหญ่
บางคนพอไปสันโดษในวัตถุเข้า ก็นึกว่าสันโดษเพื่อมีความสุข ไม่เข้าใจความมุ่งหมายของสันโดษว่าเพื่อจะได้สงวนแรงงานเวลาและความคิด ไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งที่ดีงาม
คิดว่าสันโดษเพื่อมีความสุข ก็เลยสบาย ขี้เกียจ นอนเลย คือปฏิบัติธรรมครึ่งเดียว ทำให้เอียงไปแถบเดียวก็ล้ม จะต้องมีดุลยภาพ ถึงจะยืนอยู่ได้ และก้าวไปถูกทาง
การกระทำของเราก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าเรามองว่าดวงดาวอะไรต่างๆ เป็นสิ่งแวดล้อมอิทธิพลภายนอก ซึ่งคล้ายๆ เป็นขีดจำกัดของการกระทำของเราว่าจะได้แค่ไหน แต่ในแง่ของเรา เราต้องพยายามให้ดีที่สุดของเรา แม้อิทธิพลภายนอกมาแต่ถ้าเรามีสติดี เราก็จะกันเหตุร้ายหรืออิทธิพลจากภายนอกได้มาก ถ้าไม่หมด ก็ลดความรุนแรงไป จึงถือว่าสติสำคัญมาก
สติอยู่ในตัว แก้ไขสถานการณ์ได้มาก แต่สติอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องปัญญาด้วย สติเป็นตัวเริ่มต้นให้ สติเป็นตัวส่งงานให้ปัญญา ปัญญาเป็นตัวทำงานที่แท้จริง แต่ถ้าสติไม่เริ่มต้นให้ ปัญญาก็ไม่รู้จะทำงานอย่างไร
ปุจฉา เราน่าจะลิขิตชีวิตตัวเองได้
วิสัชนา ก็มีส่วน คือในระยะยาว เราจะเป็นผู้มีส่วนลิขิตได้มากที่สุด แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกด้วย การเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของเราอีกว่าจะไปมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมได้มากแค่ไหน หรือว่ายอมให้อิทธิพลสิ่งแวดล้อมมาครอบงำเรา อันนี้ก็อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะแข็งกว่า
ทางพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องการพัฒนาตัวเรา เพราะเมื่อเราพัฒนาตัวเรา เราก็ยิ่งมีความสามารถในการไปมีอิทธิพลต่อสิ่งข้างนอกได้ หรือว่าอย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้ถูกครอบงำได้ดีขึ้น
ในทางพุทธศาสนาไม่ให้ยอม หมายความว่า ตัวเรานั้นเป็นตัวเก่า ซึ่งเป็นผลได้เท่าที่เรามี และเป็นทุนเท่าที่เราจะเอามาใช้หรือมาจัดการได้ เมื่อเราได้ทุนมาแค่นี้ เราจะใช้ทุนเท่าเดิมหรือว่าเราจะเพิ่มทุน ก็เป็นเรื่องของเรา เราจะเพิ่มทุนไหม
ถ้าเราไม่ยอมเพิ่มทุน เราจะใช้แต่ทุนเก่า ก็มีแต่จะหมดไป นั่นคือการกระทำที่เรียกว่าประมาท กลายเป็นว่าเราทำกรรมเพิ่มเข้าไปอีก คือความประมาท นี่คือกรรมของเรา คือเราจะต้องรับผลเป็นกรรมฝ่ายไม่ดี
ถ้าเราไม่ประมาท เราก็แก้ไข ที่มันร้ายแรง ก็กลายเป็นผ่อนหนักเป็นเบา ส่วนที่ดีน้อยอยู่แล้ว ก็ดีมากขึ้น
ปุจฉา ถ้าเราเสริมบุญขึ้นไปเรื่อยๆ กรรมจะตามไม่ทันจริงไหม
วิสัชนา มีอุปมาอันหนึ่ง เหมือนกับว่ามีแก้วน้ำ infinity แล้วในแก้วน้ำนี้มีน้ำสีกับน้ำใส สองอย่าง ตอนแรกใส่น้ำสีเข้าไป สีก็จะเข้มชัด มีอิทธิพลมาครอบงำให้เกิดสีของน้ำขึ้น
ทีนี้เรารู้ตระหนักถึงภัยว่าตอนนี้สีนี้มันเข้ม สีนี้มันแดง สีนี้มันไม่บริสุทธิ์ เราไม่ยอมเพิ่ม เราใส่แต่น้ำใสๆ จนกระทั่งน้ำสีแดงนั้นหมดอิทธิพลไปเลย เหมือนไม่มี ที่จริงน้ำสีแดงไม่ได้หายไปไหน ก็ยังอยู่ เหมือนกับเราทำกรรมดีเพิ่มเข้าไปจนกระทั่งกรรมไม่ดีนั้น แม้มีอยู่ ก็ไม่มีอิทธิพล
ปุจฉา กรรมดีที่เราปฏิบัติจะส่งผลถึงคนข้างเคียงได้ไหม
วิสัชนา จะส่งผลได้หรือไม่ได้ และได้มากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นต่อปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอก และส่งผลโดยตรงก็มี โดยอ้อมก็มี กรรมก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในบรรดาปัจจัยทั้งหลาย
เมื่อคนทำกรรม การกระทำของเขาก็แสดงออกต่อบุคคลบ้าง ต่อวัตถุสิ่งของในสภาพแวดล้อมบ้าง เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลทางกฎธรรมชาติอื่น เช่นทางอุตุนิยาม เป็นต้น ความเป็นไปทางด้านอุตุนิยามก็ส่งผลมาถึงคนอื่นได้ในลักษณะต่างๆ ซึ่งบางส่วนก็ขึ้นต่อผู้รับด้วย และตัวบุคคลที่ทำกรรมนั้น ก็อาจมีเจตนา กระทำต่อผู้อื่นในลักษณะที่เป็นกัลยาณมิตรหรือปาปมิตร เช่นโดยการส่งอิทธิพลชักจูง โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ อันนี้ก็อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวเขาเองจะทำของเขา พระท่านเรียกว่าอนุโมทนา ทำไมคนหนึ่งทำกุศลแล้วอีกคนหนึ่งกลับได้บุญ เพราะผ่านการอนุโมทนา ก็คือผ่านการยอมรับชื่นชมยินดี ด้วยการที่ชื่นชมยินดียอมรับ ก็เลยทำให้ได้รับผลไปด้วยได้ อันนี้เป็นด้านของปฏิกิริยาต่อกัน ที่คนหนึ่งได้รับการแสดงออกจากอีกฝ่ายหนึ่งแล้วมีท่าทีอย่างไร ก็จะมีผลต่อตัวเขาเองไปด้วย
เรื่องของกรรมส่งผลไปได้มากมาย กรรมที่เริ่มจากบุคคลหนึ่งอาจเป็นปัจจัยส่งผลตามระบบความสัมพันธ์ต่อทอดออกไป จนทำให้สังคมทั้งสังคมเคลื่อนไหวไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่พูดโดยสรุปก็คือ เรื่องของความเป็นไปในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง