ภาษา | ไทย |
---|---|
อยู่ในชุด | ช่วยกันนำพาประเทศไทย ให้ก้าวไปอย่างสง่างาม ในท่ามกลางประชาคมโลก |
ข้อมูลเบื้องต้น | [00:01:30] เศรษฐกิจพอเพียงคืออย่างไร ------------------------------------ [00:01:30] คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออย่างไร ก็อาจจะเพียงเริ่มพิจารณา หรือว่าช่วยร่วมพิจารณา เช่นเราอาจจะพูดว่าความหมายของพอเพียงก็มองได้ 2 อย่าง มองแบบวัตถุวิสัย หรือว่า พาหิระวิสัย คือมองภายนอก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Objective แล้วก็มองแบบจิตวิสัย หรืออัชฌัตติกวิสัย เป็น subjective นี้พอเพียงที่เป็นเรื่องด้านวัตถุวิสัย ก็คือว่ามันต้องมีกินมีใช้ที่เป็นอยู่ได้ มีอาหารกินเพียงพอ มีเสื้อผ้า มีปัจจัยสี่เพียงพอให้เป็นอยู่ ที่เราพูดกันง่าย ๆ ว่าพอสมควรแก่อัตภาพ ซึ่งอันนี้มันจะใกล้คำว่าพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ที่นี้ความหมายที่สองที่ว่าเป็นจิตวิสัยเรื่องด้านจิตใจภายใน หรือเป็น Subjective ก็คือว่า คนจะมีความรู้สึกเพียงพอไม่เท่ากัน มีบางคนนี่มีเท่านี้ก็ยังไม่พอ มีเป็นล้านก็บอกว่าฉันไม่พอ มีให้ฉันยังเป็นอยู่ไม่ไหวขนาดนี้ แต่บางคนเขามีนิดเดียวเขาก็พอแล้ว อันนี้พอเพียงทางด้านจิต [00:06:02] ที่ว่าพอเพียง มีความพอใจด้วยวัตถุแม้เพียงเล็กน้อย อยู่ได้เป็นสุขง่าย นั่นก็แสดงถึงภาวะที่เขามีเรื่องอื่นที่เขาจะต้องทำ หนึ่ง คือมีดีอื่นที่สูงขึ้นไป คนพวกนี้จะต้องมีปัญญามองเห็นว่า มีอะไรดีเหนือกว่าวัตถุ ที่จะมาเสพ มาบำรุงบำเรอ ต้องการจะเข้าถึงสิ่งที่ดีงามกว่า สอง พอเพียงเพื่อจะได้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ถ้าเราไม่รู้จักพอ เราก็จะเอาฝ่ายเดียว ก็จะดึงจากคนอื่นเรื่อยไป แต่ถ้าเราพอแล้ว เราก็สามารถที่จะเอาส่วนที่เกินจากนั้นมาให้แก่ผู้อื่น ไม่ใช่หมายความเราหยุดทำ เพราะว่าทำแล้ว ฉันพอแล้ว ก็เลยไม่ต้องทำ [00:10:54] ถ้าเทียบกับทางพระพุทธศาสนาเราจะเห็นชัดว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้คู่กัน ให้สันโดษในวัตถุเสพบำรุงบำเรอ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม อันเนี้ยชัดมาก ถ้าวัตถุเสพให้รู้จักพอ ถ้าคุณไม่รู้จักพอ แล้วคุณเอาเวลา แรงงาน และความคิดมาทุ่มให้กับมันหมด คุณไม่ได้อะไร แต่ถ้าคุณพอเพียงวัตถุแล้ว คุณก็จะเหลือเวลา ออมเวลา แรงงาน และความคิด ไปทำการสร้างสรรค์ ไปคิดพัฒนาชีวิตของตน ทำสิ่งที่ดีงามได้อีกเยอะ ท่านเรียกว่ากุศลธรรม [00:44:45] คนเราถ้ามีความสุขที่พัฒนาด้วย ไม่ได้อยู่แค่ความสุขระดับแรก แค่เสพ บำรุง บำเรอ แล้วก็หมกมุ่น มัวเมา สังคมก็เละเทะ อบายมุข ถ้าคนไทยมีความสุขจากการทำ มันก็ การทำเรียกร้องการรู้ คนเราจะทำอะไรได้ต้องรู้ หรือไม่รู้มันทำไม่ได้ ฉะนั้น จากการอยากทำ ก็จะทำให้เกิดการอยากรู้ แล้วก็อยากรู้อยากทำก็คู่กัน ในธรรมเรียกว่าฉันทะเกิดขึ้น พอฉันทะเกิดขึ้น ก็สุขจากฉันทะ สุขจากการได้รู้ได้ทำ |
ที่มา | จาก ธรรมกถา ปาฐกถา |
เรื่องที่ควรฟังก่อน | เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ (ตอนที่๒) |
เรื่องที่ต่อเนื่อง | โลกถึงกันกว้างไกล แต่ใจคนกลับแคบลง |