คนไทย สู่ยุคไอที

ในการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลพื้นฐานคือการศึกษา ผู้จัดสรรข่าวสารข้อมูลให้แก่เด็กในฐานะที่เรียกว่าเป็น กัลยาณมิตรจะต้องทำหน้าที่โดยพยายามจัดสิ่งที่ดีที่สุด เช่นเป็นพ่อแม่ก็พยายามหาสิ่งแวดล้อมข่าวสารที่ดีที่สุด หาสื่อที่ดีที่สุดให้กับเด็ก แต่ในเวลาเดียวกันบุคคลนั้นหรือเด็กก็ควรได้รับการศึกษา  ชนิดที่ว่า เป็นคนสามารถเอาประโยชน์ ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด สองอย่างนี้คู่กันย้อนแย้งแต่สำคัญมาก คือ ๑. ในฐานะผู้จัดให้ ต้องจัดสรรสิ่งที่ดีที่สุด ๒. แต่ในฐานะผู้รับการศึกษา จะต้องสร้างความในการที่จะเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมและข่าวสารข้อมูลที่เลวที่สุดถ้าทำได้อย่างนี้จะอยู่ได้อย่างดี มีความรอดปลอดภัย อย่างเป็นสุขอิสระ และเป็นผู้พัฒนาสังคมได้  ตกลงว่า จะต้องพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี ไม่ว่าเทคโนโลยี จะเจริญไปเท่าไร  ก็ต้องพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยีนั้น อย่าให้ต่ำกว่า อย่าให้คนเป็นทาส ของเทคโนโลยี ถ้าคนยังเหนือเทคโนโลยีก็มีทางรอด เพราะคนยังรักษาอิสรภาพอยู่ได้ ฉะนั้นข้อที่หนึ่งในแง่ของคนก็เป็นอันว่าพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี เพื่อรักษาอิสรภาพไว้ตลอด

ข้อมูลพัฒนาการ
 
  • คนไทย สู่ยุคไอที  เป็นชื่อที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการนำเอาปาฐกถาธรรมและคำบรรยายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ๓ เรื่อง เก่าบ้าง ใหม่บ้าง ต่างวาระกัน มารวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน คือ ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี, ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา, คนไทย กับ เทคโนโลยี  เหตุปรารภ คือ เพื่อสนองกุศลฉันทะของพระครูระณังค์คณารักษ์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวิหาร เจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดระนอง และคณะสงฆ์จังหวัดระนอง พร้อมทั้งญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา ที่ได้แจ้งความประสงค์ขอนำปาฐกถาธรรม ๒ เรื่องแรกไปพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวิสุทธิธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๐ แต่ผู้เรียบเรียงได้เพิ่มเรื่องที่ ๓ เข้าด้วย
  • "ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี" เดิมชื่อ "พุทธธรรมกับชีวิตในสังคมเทคโนโลยี"  ได้แสดงไว้นานเกือบ ๑๐ ปีล่วงแล้ว ในการพิมพ์รวมเล่มครั้งนี้ได้ตัดชื่อให้สั้นลง และปรับปรุงให้อ่านง่ายขึ้น โดยเปลี่ยนตัวอักษรใหม่ จัดแบ่งย่อหน้าซอยถี่ขึ้น และแทรกเสริมเนื้อความบางแห่ง นอกจากนั้น คำภาษาอังกฤษที่เป็นเรื่องของประเทศตะวันตก ในฉบับพิมพ์ครั้งก่อนส่วนมากพิมพ์ไว้แต่คำอ่านด้วยอักษรไทย คราวนี้ได้เติมคำเดิมในภาษาอังกฤษลงกำกับไว้ด้วย แม้ว่าจะดูรกตาไปบ้าง แต่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาค้นคว้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลต่างๆ ได้คงไว้ตามเดิม มิได้เขียนเพิ่มเติมเชื่อมต่อให้ถึงปัจจุบัน
  • "ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา"  เป็นเรื่องที่พิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก จึงเห็นว่าไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่กระนั้นก็ได้ปรับปรุงและเสริมความบ้างในบางแห่ง
  • "คนไทยกับเทคโนโลยี" เป็นการนำเอาข้อพิจารณาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ได้พูดไว้หลายครั้งในช่วงเวลานี้ มารวมไว้ โดยตัดตอนมาเฉพาะเนื้อความที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี จากคำบรรยาย ๒ ครั้ง แล้วตั้งชื่อว่า "คนไทย กับ เทคโนโลยี" 
  • ในการพิมพ์ครั้งที่ ๓ ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมเสริมความหลายแห่งในเรื่องที่ ๓ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อบางหัวข้อใหม่ให้สื่อความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
  • การพิมพ์ครั้งที่ ๘ (ฉบับปรับปรุง) มีนาคม ๒๕๕๐
พิมพ์ครั้งแรกเมษายน ๒๕๔๐
พิมพ์ล่าสุดครั้งที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
ISBN974-8239-49-7
เลขหมู่BQ4570.T42

หนังสือที่เกี่ยวข้องกัน

พบหนังสือธรรมะ 3 เรื่อง
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง