ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์

ท่านอธิการบดี ท่านคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ท่านอาจารย์คณะผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นิสิตปริญญาโทรุ่นแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมทั้งนิสิตนักศึกษาและนักเรียนผู้สนใจทุกท่าน

วันนี้ ผมขอแสดงมุทิตาจิตต่อทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และโดยเฉพาะต่อคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ในการที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เริ่มต้นด้วยการปฐมนิเทศแก่พระนิสิตปริญญาโท ซึ่งนับว่าเป็นการก้าวหน้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในกิจการของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ และขอแสดงมุทิตาจิตนี้ แก่พระนิสิตปริญญาโทรุ่นแรก ซึ่งในแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นโชคดีของท่านทั้งหลาย ที่ได้มาเป็นนิสิตผู้เรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิก หรือรุ่นนำทาง ในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ใครก็ตามที่ได้ทำอะไรเป็นรุ่นแรก มักจะมีความภูมิใจอย่างหนึ่ง การที่ท่านทั้งหลายได้มาปรากฏตัวอยู่ ณ ที่นี้ ก็เป็นที่รู้กันว่า มาในฐานะเป็นนิสิตปริญญาโทรุ่นแรก อันสมควรแก่ความภูมิใจนั้น และฐานะอันนี้ก็คงจะได้เป็นเครื่องทำให้เกิดกำลังใจแก่ท่านทั้งหลาย ในการที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อไป

ความเป็นรุ่นแรกที่ว่าน่าภูมิใจนั้น ก็อาจจะพ่วงมาด้วยกันกับสภาพอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ว่า บางทีก็อาจจะต้องพบกับความไม่พร้อม หรือความยุ่งยากลำบากบางอย่าง เนื่องจากเราเริ่มต้นการศึกษาในระดับนี้เป็นครั้งแรก ยังไม่เคยมีมาก่อน ถ้าเราไม่มีความรู้สึกภูมิใจหรือพลังใจในเบื้องต้นนี้ไว้ เมื่อไปพบกับอุปสรรคข้างหน้าก็อาจจะท้อถอย ดังนั้น การที่มีความภูมิใจ มีกำลังใจในเบื้องต้น ก็อาจเป็นเครื่องช่วยให้ท่านทั้งหลายได้ต่อสู้กับอุปสรรคให้ลุล่วงผ่านไปสู่ความสำเร็จได้

การเดินทางยาวนานซึ่งยังไม่ถึงที่หมาย

ว่าถึงการดำเนินการศึกษาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่มาเปิดเป็นระดับปริญญาโทครั้งนี้ขึ้น โดยมีบัณฑิตวิทยาลัยนี้ คิดว่ามีความสัมพันธ์อยู่ไม่น้อย กับการเกิดขึ้นของกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พุทธศักราช ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพที่จะเรียกว่าความก้าวหน้าของการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ได้ แต่ความจริง มันไม่เป็นความก้าวหน้าในตัวหรอก เพราะการศึกษาของคณะสงฆ์จะก้าวหรือไม่ก้าว ก็เป็นมาด้วยตนเองอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าการที่ได้มีพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมารับรอง ก็ช่วยให้เกิดมีฐานที่มั่นคงในการที่จะก้าวขึ้นสู่ขั้นต่อไป โดยเฉพาะขั้นปริญญาโทและขั้นปริญญาเอกที่อาจจะเปิดต่อไปข้างหน้าก็ต้องอาศัยฐานอันนี้ เพราะว่ามหาจุฬาฯ ได้คิดเรื่องที่จะดำเนินการศึกษาในระดับปริญญาโทมานานแล้ว แต่ก็ไม่อาจจะทำได้เพราะเหตุผลที่สำคัญกล่าวคือ ถ้าการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ยังไม่ได้รับการรับรอง เมื่อเราเปิดการศึกษาชั้นปริญญาโทขึ้นไป ก็จะพลอยเป็นโมฆะไปด้วยในแง่ของราชการ ฉะนั้น ถ้าฐานไม่มีแล้ว เปิดขึ้นไปสูงเท่าไรก็ไม่มีความหมาย ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการรั้งรอ เพื่อจะให้มีการรับรองในระดับปริญญาตรีเสียก่อน

ว่าถึงเรื่อง พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ฉบับที่กล่าวถึงเมื่อกี้ว่า พ.ศ. ๒๕๒๗ นั้น กว่าจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องผ่านเวลายาวนานเหลือเกิน ถ้าหันหลังมอง นับจากนี้ไป มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เปิดการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นี้นับเฉพาะเปิดการศึกษาแบบสมัยปัจจุบัน ถ้านับย้อนไปอีก ถึงการที่ได้สถาปนามหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเป็นมหาธาตุวิทยาลัยขึ้นก่อน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ แล้วมาได้รับพระราชทานนามเป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๙ ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน เรียกว่ากิจการของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ต้องเดินทางกันยืดยาวอย่างยิ่ง กว่าจะได้ก้าวหน้ามาแต่ละขั้นๆ ใช้เวลายาวนานอย่างมาก ในกรณีนี้ เรานับเฉพาะการศึกษาแบบสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๐ เมื่อได้ดำเนินการศึกษามาแล้ว เราก็มีผู้สำเร็จการศึกษาจนถึงปริญญาตรีเป็นพุทธศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ประมาณ พุทธศักราช ๒๔๙๖ นับถึงบัดนี้ก็หลายรุ่น

เมื่อมีผู้สำเร็จการศึกษาพุทธศาสตรบัณฑิต เป็นปริญญาตรีแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิดก็คือว่า ทำอย่างไรจะให้ปริญญานี้ได้รับการรับรอง โดยเฉพาะจากรัฐ ก็ได้มีการเพียรพยายามมามาก อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เป็นการเดินทางที่ยาวนานเหลือเกิน เราได้ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ แต่แล้วก็ต้องมีปัญหาอยู่เรื่อย เพราะเรื่องเดินหน้าไปได้สักหน่อยแล้วก็ล้มไปในระหว่าง เป็นอย่างนั้น หกล้มหกลุกอยู่ตลอดมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะจะมีข้ออ้างกันบ่อยในฝ่ายรัฐกล่าวคือ ทางโน้นจะบอกว่า แม้แต่ทางคณะสงฆ์เองก็ยังไม่รับรอง แล้วทางการจะไปรับรองได้อย่างไร หมายความว่า เมื่อเรื่องเดินไปทางด้านรัฐบาล ถึงขั้นสุดท้ายก็จะถูกตีตกมาด้วยคำพูดเช่นนี้ จนกระทั่งในที่สุด มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องหาทางออก โดยการพยายามทำให้ทางมหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งเรียกว่า คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวใหม่ก้าวหนึ่ง ที่เดินหน้าไปสู่การรับรองตามลำดับ คือ ต้องดูว่า การก้าวหน้าได้ดำเนินมาทีละขั้นๆ กว่าจะสำเร็จ

แม้ว่าคณะสงฆ์จะออกคำสั่งให้เป็นการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว เรื่องก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อขึ้นไปถึงรัฐบาล เรื่องก็เวียนไปเวียนมา บางครั้งทำท่าจะรับรอง แต่ในที่สุดก็จะตีกลับมาด้วยข้ออ้างที่ว่า แม้จะเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์แล้วก็จริง แต่ไม่ทราบว่าทางคณะสงฆ์จะพอใจให้รับรองหรือไม่ ซึ่งก็เป็นปัญหาอีก จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ คือ อีก ๔ ปีต่อมา มหาเถรสมาคมจึงได้มีมติว่า ถ้าหากรัฐบาลจะรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็เป็นการสมควร นั่นเป็นเหตุการณ์ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ณ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ที่ตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนฯ แล้วก็เดินทางต่อมาเป็นเวลาอีกยาวนาน และในระหว่างนี้ ก็มีปัญหาแทรกแฝงอยู่ด้วยว่า จะออกกฎหมายรับรองปริญญา หรือรับรองสถานภาพ หรือรับรองทั้งสองอย่าง หมายความว่า เรื่องรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้จะต้องตกลงใน ๒ อย่าง คือ เรื่องรับรองปริญญาอย่างหนึ่ง รับรองสถานภาพอย่างหนึ่ง

การรับรองปริญญานั้นเป็นเรื่องแคบ คือรับรองเฉพาะปริญญาของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยไม่เกี่ยวกับสถานภาพของมหาวิทยาลัย ส่วนรับรองอีกอย่างหนึ่งคือรับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัยทั้งหมด สิ่งที่เราต้องการก็คือ รับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัย ถ้ารับรองตัวมหาวิทยาลัยแล้วเราก็สามารถดำเนินกิจการได้เต็มที่ เช่น จะตั้งบัณฑิตวิทยาลัย จะเปิดปริญญาโท ก็ทำได้ แต่ก็ดังเป็นที่ทราบกันว่า เมื่อเรื่องเดินหน้ามาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ จึงได้มีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะออกมา ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ ก็กำหนดชัดว่า รับรองปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต พร้อมกันไปกับปริญญาตรีศาสนศาสตรบัณฑิตของมหามกุฏราชวิทยาลัย และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นการรับรองปริญญา ไม่ใช่รับรองสถานภาพ เพราะฉะนั้น ปัญหาจึงยังไม่จบสิ้น เมื่อรับรองปริญญา ก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า รับรองปริญญาตรี จึงทำให้เกิดปัญหาอีกว่า ถ้าจะดำเนินการศึกษาระดับปริญญาโท จะทำอย่างไร จะทำได้หรือไม่

ในการออกพระราชบัญญัตินี้ ที่เรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะฯ นั้น ก็ได้มีอยู่มาตราหนึ่ง (คือ มาตรา ๖) ที่กำหนดว่า ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้น และในอีกมาตราหนึ่ง (มาตรา ๑๐) ก็กำหนดว่า ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้น คณะกรรมการชุดนี้ จึงได้มาคิดใคร่ครวญว่า เมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ดำเนินการในขั้นปริญญาตรี มาจนกระทั่งมีผู้สำเร็จการศึกษามากมายแล้ว ก็ควรจะได้ดำเนินการศึกษาในขั้นสูงขึ้นไป คือขั้นปริญญาโท จะได้หรือไม่ ที่ประชุมก็ได้พิจารณาพยายามหาทางออกให้ จนกระทั่งในที่สุด ก็ต้องขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นฝ่ายของรัฐบาล มีหน้าที่ในการที่จะตีความกฎหมายของรัฐ ดำเนินการพิจารณา ก็ส่งเรื่องไปให้ ในที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกาก็แจ้งลงมาว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ รับรองเฉพาะปริญญาตรีเท่านั้น ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่สามารถอ้างพระราชบัญญัตินี้ ในการที่จะดำเนินการศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษาตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไปได้ ทำให้ต้องคิดหาทางกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร ขณะนี้ คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ก็มาถึงขั้นที่ว่า จะเสนอแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับที่กล่าวเมื่อกี้ ที่เรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะฯ นั้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กฎหมายนั้นยังไม่ออก ยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุง ก็ให้เป็นการรู้กันในทีว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์จะดำเนินการศึกษาขั้นบัณฑิตศึกษา ตั้งปริญญาโทก็ทำไปเถิด แต่ต้องอาศัยวิธีการคล้ายๆ กับปริญญาตรีที่เคยจัดดำเนินการมา คือปริญญาตรีนั้นเราก็ได้จัดกันมาโดยที่รัฐก็ไม่ได้รับรอง และมีผู้สำเร็จการศึกษามาเรื่อยๆ แล้วก็ดิ้นรนหาทางกันไป จนกระทั่งในที่สุดรัฐอดรนทนไม่ไหว ก็รับรองจนได้ เราก็หวังว่า เมื่อทำปริญญาโทก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่ท่านทั้งหลายอย่าพึ่งท้อใจ อย่าไปคิดว่า โอ้โฮ พวกเรามาเป็นรุ่นแรก แล้วก็จะต้องเริ่มต้นหาทางกันไป ถ้าอย่างนี้ รออีกกี่รุ่นถึงจะได้รับรองปริญญาโท การรับรองในขั้นโทนี้ คงจะไม่ลำบากลำบนเหมือนสมัยปริญญาตรี เพราะเห็นกันอยู่ว่า เมื่อรับรองปริญญาตรีแล้ว ก็เป็นฐานสำคัญที่จะก้าวต่อไปได้ ตอนที่เดินเรื่องนั้นก็ได้คิดกันมากเหมือนกันว่า เรื่องการรับรองนี้จะยอมแค่รับรองปริญญา หรือจะต้องถึงขั้นรับรองสถานภาพ และเมื่อเขารับรองแค่ปริญญาตรีจะยอมหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้ว ก็เลยตกลงว่ายอมเอาแค่ปริญญาตรีก่อนให้ได้ไว้ทีหนึ่ง พอเป็นทางที่จะเดินต่อไปก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้เริ่มต้นสักที เรื่องก็เป็นอย่างนี้ด้วย

ดังนั้น การที่เราได้รับการรับรองปริญญาตรีนี้ ก็ถือว่าเป็นบันไดขั้นต้นในการที่จะก้าวต่อไป พระราชบัญญัติที่ออกมานั้นก็เป็นสิ่งที่แก้ไขปรับปรุงได้ อันนี้ก็เป็นความหวังไว้ว่าเรามีทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่มาเรียนในรุ่นแรกนี้ จึงได้บอกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกและนำทาง ซึ่งนอกจากนำทางในการเล่าเรียนศึกษาภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีความหมายต่อไปถึงการที่ว่า จะเป็นเหตุนำให้ทางการได้ออกกฎหมายใหม่ หรือทำการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เพื่อจะได้เป็นการรับรองปริญญาชั้นโท ตลอดจนชั้นเอกต่อไปด้วย ในโอกาสที่ควรเท่าที่ว่าจะมาถึง

ในวันนี้ ทางผู้ดำเนินกิจการ โดยเฉพาะ ท่านพระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ได้ติดต่อขอให้มาพูดเรื่อง ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ การศึกษาที่เรามีขึ้นเป็นปริญญาตรี แล้วต่อขึ้นมาเป็นปริญญาโทในวันนี้ ก็เป็นเครื่องบ่งบอกทิศทางอันหนึ่ง ของการศึกษาทางคณะสงฆ์ อย่างน้อยก็เห็นชัดแล้วว่า เราต้องการจะเดินหน้าให้มีการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปถึงชั้นปริญญาโท ปริญญาเอกให้ได้ จึงเป็นเครื่องบอกทิศทางอยู่ในตัวแล้ว อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทิศทางทั้งหมด คงไม่ใช่หมายถึงว่า เพียงมีปริญญาโทนี้ จะหมายถึงทิศทางทั้งหมดของการศึกษาของคณะสงฆ์ หรือพูดให้กว้างว่า การศึกษาของพระศาสนา

๑. สภาพปัจจุบัน

ปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์

 

ว่าถึงทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งหมดนั้น ผมได้เห็นสภาพดินฟ้าอากาศวันนี้ ตอนเช้าเมฆครึ้มมัวมาก มีเค้าฝน ก็เลยนึกถึงสภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ของเราว่า คล้ายๆ ดินฟ้าอากาศวันนี้ เมื่อตอนเช้า คือ พอตื่นขึ้นมา ก็เห็นครึ้มฟ้าครึ้มฝน สภาพที่ครึ้มฝน มีเมฆมาก มันก็ค่อนข้างมัวหน่อย ไม่สดใส ไม่สว่างจ้า ไม่โปร่งแจ้ง มันไม่โล่งไป การศึกษาของพระสงฆ์เราก็คล้ายๆ กับว่าตกอยู่ในสภาพอากาศเช่นนี้ นอกจากนั้น หลายท่านก็อาจจะรู้สึกว่า เมื่อครึ้มมัวสลัวแล้ว ก็อาจจะง่วงเหงาหาวนอนและซึมเซาด้วย พอง่วงเหงาหาวนอนซึมๆ แล้ว ก็อยากจะหลับ ซึ่งอาจจะคล้ายๆ กับสภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ที่ครึ้มๆ เพลินๆ ทำให้เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่าเฉื่อยชาขึ้นมาได้มาก อันนี้ก็เป็นสภาพที่เราพอจะมองเห็นกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสียเลย ในสภาพดินฟ้าอากาศอย่างนั้น บางทีก็มีแสงแดดทะลุลงมาในช่องเมฆ แม้จะเป็นจุดเป็นหย่อม ก็ให้แสงแดดจ้าพอมองสว่างขึ้นมาได้ การเปิดการศึกษาระดับปริญญาโทนี้ ก็อาจจะเป็นเหมือนแสงแดดลำหนึ่งที่ฉายพวยพุ่งผ่านช่องเมฆลงมา นับว่าเป็นนิมิตที่ดี อีกอย่างหนึ่ง ดินฟ้าอากาศที่ว่ามืดมัวเมื่อตอนเช้านั้น พอสายหรือบ่ายก็เปลี่ยนไป อย่างผมนั่งมาตามทางเมื่อกี้นี้ ก็ปรากฏว่า เมฆหมอกนี้ลดน้อยลงไป พระอาทิตย์ได้โอกาสฉายแสงลงมา ก็สว่างจ้ากลายเป็นร้อนไปด้วยซ้ำ ดังนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป แสงสว่างก็อาจจะเกิดขึ้น ความโล่งแจ้งก็อาจจะมาถึง เราก็จะเดินทางไปได้ ด้วยเหตุนี้ ความหวังในเรื่องทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะมองเห็นทิศทางนั้น เราจะต้องรู้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสียก่อน การที่เราจะเข้าใจ มองเห็นทิศทางที่จะเดินต่อไปได้อย่างชัดเจน เราจะต้องเข้าใจสภาพที่เราเป็นอยู่ในบัดนี้ว่าเป็นอย่างไร อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึงทิศทางการศึกษานั้น ก็พูดได้ ๒ แง่ คือ ทิศทางที่จะเป็น กับทิศทางที่ควรจะเป็น แต่ไม่ว่าจะพูดในแง่ไหน ก็ต้องรู้สภาพปัจจุบันทั้งสิ้น ถ้าจะพิจารณาในแง่ที่ว่าทิศทางนั้น จะเป็นอย่างไร เราก็ดูจากสภาพปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่องต่อไปว่า อนาคตมีความโน้มเอียงที่จะเป็นอย่างนั้น ต่อจากนั้น ถ้าเราไม่มีความคิด เราก็อาจจะปล่อยว่า มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไปในทิศทางที่มันจะเป็น แต่ถ้าเรามีความคิดของเราขึ้นมา เราก็อาจจะทำการวางแผนว่า มันควรจะเป็นอย่างไร แล้วก็พยายามสร้างเหตุสร้างปัจจัย เพื่อให้มันเป็นไปในทิศทางอย่างนั้น แต่จุดเริ่มต้น ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือจะต้องรู้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสียก่อน

ทีนี้ สภาพปัจจุบันของการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น เมื่อพูดขึ้นมา ก็มักจะเป็นสภาพปัญหา คือมีปัญหามากมายเหลือเกิน เรื่องทิศทางการศึกษาของเรา พอเจอสภาพแบบนี้ ก็เลยกลายเป็นทิศทางของการแก้ปัญหา

ทิศทางนั้น มี ๒ อย่าง คือ ทิศทางที่เป็นไปในด้านลบ คือการแก้ปัญหา กับทิศทางในด้านบวก คือทิศทางในการสร้างสรรค์ ถ้าในสภาพปัจจุบันเรามีปัญหามาก เราก็มองเห็นอนาคตของเราได้ว่า ทิศทางของเราจะเต็มไปด้วยการแก้ปัญหา เมื่อกี้นี้ได้บอกแล้วว่า สภาพปัจจุบันของเรา ในทางการศึกษาปรากฏว่า มีปัญหามากมาย ซึ่งไม่สามารถนำมาพูดบรรยายในที่นี้ได้ ก็จะขอสรุปสภาพปัจจุบันบางอย่างที่เรียกว่าเป็นหัวข้อใหญ่ใจความมา เป็นจุดตั้งต้นก่อน เพื่อให้มองเห็นทิศทางของการศึกษา ทั้งที่จะเป็นและทั้งที่ควรจะเป็น

 

บทบาทซ้อนอันแสนหนัก ที่สังคมไทยยัดเยียดให้

ก่อนอื่น การศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ เราจะต้องทำความเข้าใจว่า ทำหน้าที่หรือมีฐานะอยู่ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ การศึกษาของคณะสงฆ์ ทำหน้าที่เป็นสถาบันฝึกอบรมศาสนทายาท คือ ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สืบต่ออายุพระศาสนาต่อไป สำหรับหน้าที่นี้หรือบทบาทอันนี้ เป็นที่รู้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ใครๆ ก็ถือตามนี้ทั้งนั้น จัดเป็นหน้าที่หลัก แต่พร้อมกันนั้น การศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะในประเทศไทย ก็มีบทบาทประการที่ ๒ คือ เป็นทางผ่านของผู้ด้อยโอกาสในการศึกษา สำหรับบทบาทประการที่ ๒ นี้ เป็นบทบาทที่ความจริงเด่นชัดมาก แต่เพราะไม่มีการทำความเข้าใจและยอมรับกัน จึงกลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาก แล้วก็มาส่งผลกระทบ แม้ต่อเรื่องการรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย กระทบอย่างไร เราจะเห็นว่า ในสภาพที่เป็นมา โดยเฉพาะ ถ้าถอยหลังไปสัก ๒๐-๓๐ ปีก่อน เมื่อพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาการอย่างสมัยใหม่ หรือมาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ จะมีผู้ที่ชอบพูดกล่าวตำหนิติเตียนว่า พระเณรมาเรียนหนังสือเพื่อสึกไปหางาน แย่งอาชีพชาวบ้าน เอาเปรียบชาวบ้าน นี้เป็นคำที่เราได้ยินมาก ในสมัยก่อนๆ โน้น แม้แต่ผู้ใหญ่ระดับสูงมากในวงการพุทธศาสนาเอง ก็พูดอย่างนี้ ทำให้มีทัศนะในทางที่ว่าจะต่อต้านการรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทัศนคติหรือท่าทีแบบนี้ได้ยืนอยู่นานมาก แล้วก็เป็นตัวอุปสรรคใหญ่ที่สุด ซึ่งขัดขวางไว้ และทำให้ออกกฎหมายรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ได้ ในเมื่อมีทัศนคติอย่างนี้ ก็จึงมีผลตามมา ทำให้คนเหล่านั้นเห็นว่า ทำไมพระจะต้องมาเรียนวิชาทางโลกด้วย เมื่อบวชมาแล้วก็จะต้องเรียนวิชาทางศาสนา ทำหน้าที่ทางศาสนา ก็เรียนเรื่องของพระไป ทำไมจะต้องมาเรียนวิชาการสมัยใหม่ และทำไมจะต้องให้เขายอมรับฐานะด้วยการรับรองปริญญาอีกด้วย

เรื่องนี้ ถ้าไม่เข้าใจสภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ในบทบาทประการที่ ๒ แล้ว ก็จะพูดกันไม่รู้เรื่องเลย เพราะฉะนั้น ในเวลาที่ผ่านมา จึงต้องพยายามทำความเข้าใจกันมากมายในเรื่องนี้ คือในเรื่องที่จะให้เห็นว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ทำหน้าที่อะไรบ้างในสังคมไทย นอกเหนือจากการสร้างศาสนทายาท หรือพระสงฆ์ที่มีคุณภาพไว้สืบต่ออายุพระศาสนา เราต้องชี้แจงอธิบายให้เขาเห็น ให้เขามองการศึกษาของพระเณร และบทบาทหน้าที่ของวัด โดยสัมพันธ์กับปัญหาสังคมไทยทั้งหมดด้วย ให้เขาเห็นว่า สังคมไทยของเรานี้ ได้พยายามดำเนินการศึกษาแบบสมัยใหม่มาเป็นเวลานาน ตามหลักการที่จะให้การศึกษาแก่มวลชน ที่เรียกว่าทวยราษฎร์ ให้ได้มีการศึกษาทั่วถึง เราได้มีพระราชบัญญัติประถมศึกษา ทำให้เกิดการศึกษาภาคบังคับ และรัฐบาลก็พยายามที่จะให้เกิดความเสมอภาคในทางการศึกษา การที่รัฐทำอย่างนี้ ก็คือการที่รัฐนี้ได้พยายามทำหน้าที่แทนคณะสงฆ์ หรือวัดในสมัยโบราณ เพราะวัดในสมัยโบราณนั้น เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน และได้ทำหน้าที่ดำเนินการศึกษาเพื่อมวลชนตลอดมา แต่ต่อมา เมื่อมีการศึกษาสมัยใหม่ รัฐก็ได้รับโอนเอาหน้าที่นี้ไป เหมือนกับว่าให้คณะสงฆ์หยุดทำหน้าที่ หยุดบทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชน และถือว่า หรือมองว่า พระสงฆ์นั้น ต่อจากนี้ ก็ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่พระเณรที่สืบต่ออายุพระศาสนาอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่เด็กเล็กลูกหลานชาวบ้าน หรือแก่ประชาชนโดยทั่วไป นี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐได้ดำเนินการศึกษาแบบสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐได้ดำเนินการศึกษามาแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ คือไม่สามารถกระจายโอกาสในทางการศึกษาให้ทั่วถึง ประชาชนไม่มีความเสมอภาคในทางการศึกษา ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลและยากจน เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาของรัฐ ก็เลยต้องอาศัยช่องทางเก่าคือวัดนี้ ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาตามประเพณีที่ถูกยกเลิกแล้วนั้น เข้ามาบวชเรียน แล้วก็มีทางที่จะเลื่อนฐานะในทางสังคมบ้าง เพราะในสังคมไทยนั้น การศึกษามีความหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือเป็นเครื่องเลื่อนสถานะทางสังคม ชาวบ้านยากจน ลูกชาวนาชาวไร่ ถิ่นห่างไกล ไม่มีโอกาสที่จะเลื่อนฐานะในทางสังคมด้วยการศึกษาของรัฐ อย่างคนที่มั่งมีและอยู่ในถิ่นกลาง เขาก็เลยต้องอาศัยวัด ฉะนั้น วัดก็เลยมีลูกชาวบ้านมาบวชกันมาก อย่างนี้ เราจึงเรียกว่า วัดได้ทำหน้าที่เป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนเป็นเครื่องเลื่อนสถานะในทางสังคมของผู้ด้อยโอกาส อย่างที่กล่าวมาแล้ว นี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะว่า เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะได้เห็นว่า รัฐได้อาศัยคณะสงฆ์ไทยมาช่วยผ่อนเบาปัญหาของสังคม เพราะความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษานั้น เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งรัฐได้พยายามแก้มานาน จนบัดนี้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่เรียกว่า น่าพอใจ คือยังอยู่ในขั้นของความพยายาม เมื่อคณะสงฆ์ทำหน้าที่นี้ ก็ช่วยแก้ปัญหาผ่อนเบาภาระของบ้านเมือง

เราต้องพยายามพูดให้รู้ให้เข้าใจกันให้มากให้กว้างขวางทั่วไป คนไทยจะได้รู้จักสังคมของตนเองตามความเป็นจริง ให้เขารู้ว่า วัดได้ให้การศึกษาแก่ลูกชาวบ้านอย่างไร จะต้องชี้ให้เห็นว่า พระเณรส่วนใหญ่ที่บวชอยู่ค่อนข้างประจำที่วัด ไม่ใช่พวกบวช ๓ เดือนในเวลาเข้าพรรษา หรือบวช ๕ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน พวกที่บวชอยู่ค่อนข้างประจำ เล่าเรียนศึกษานั้น ก็มีแต่พวกที่มาจากชนบท เป็นลูกชาวไร่ชาวนาแทบทั้งสิ้น ซึ่งเราจะชี้ให้เห็นได้ว่า วัดแม้แต่ในส่วนกลางคือกรุงเทพฯ นี้ พระที่อยู่ประมาณไม่ต่ำกว่า ๙๕% เป็นชาวชนบท และส่วนมากก็เป็นลูกชาวนา ได้เคยสำรวจในมหาจุฬาฯ นี้ อย่างที่ตึกใหญ่ ผมเคยสำรวจเองเมื่อหลายปีมาแล้ว ประมาณสัก พ.ศ. ๒๕๑๖-๑๗ ตอนนั้น มีพระนิสิตนักเรียนอยู่ทั้งหมด ๖๗๘ รูป สำรวจแล้วปรากฏว่า เกิดในกรุงเทพฯ ๑ รูป ก็ไม่รู้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยังไง ๖๗๘ รูป เกิดในกรุงเทพฯ ๑ รูป นอกนั้น เกิดในชนบทหมด แล้วก็สำรวจอาชีพ ปรากฏว่าเป็นลูกชาวนา เป็นลูกกสิกรเป็นส่วนมากเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้น พอดีทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาก็มีการสำรวจเหมือนกัน ปรากฏว่าสำรวจไปแล้วนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มีผู้ที่เป็นลูกชาวชนบท ชาวไร่ชาวนาอยู่ไม่เกิน ๖ เปอร์เซ็นต์ แล้วในจำนวน ๖% นี้ ผู้ใหญ่ในธรรมศาสตร์เองก็ยังบอกว่า คงจะเป็นลูกชาวนาชั้นรวยเสียด้วย เพราะชาวนาก็ยังแยกได้เป็นชาวนาระดับเจ้าของนา กับชาวนาระดับผู้เช่านา ระดับลูกนา ชาวนาที่จะส่งลูกเรียนในมหาวิทยาลัยทางโลกได้นั้น โดยมากจะเป็นชาวนาชั้นที่มั่งมีหน่อย

ที่พูดมานี้ ก็เป็นเครื่องส่องสภาพของสังคมไทย ซึ่งเมื่อเราเอามาชี้แจง ก็จะทำให้เห็นบทบาทหน้าที่ของวัด ของพระศาสนา หรือของคณะสงฆ์ที่สัมพันธ์กับปัญหาสังคมไทย ให้เห็นว่า การศึกษาของคณะสงฆ์นั้นได้ช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองไปด้วย เรียกได้ว่า เป็นบทบาทและหน้าที่ที่สังคมไทยยัดเยียดให้แก่วัดและคณะสงฆ์ ซึ่งเมื่อสภาพยังเป็นอย่างนี้อยู่ ก็ต้องทำบทบาทและหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด จนกว่าสังคมจะพึ่งตนเองได้เต็มที่เมื่อไร วัดจึงจะสามารถทำหน้าที่โดยตรงของตัวเองในการฝึกอบรมศาสนทายาทได้เต็มที่เมื่อนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ได้พยายามชี้แจงกันเรื่อยมา เรียกว่าไม่รู้ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ซึ่งยากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มันก็ไม่ไร้ผล เมื่อทำความเข้าใจกันมา พูดแล้วพูดอีกเป็นเวลานาน ก็เกิดมีความเข้าใจกันมากขึ้น จนกระทั่งว่า แม้แต่การที่ยอมให้ พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนานี้ผ่านออกมาได้นั้น ก็ด้วยอาศัยที่หลายคน หรือคนจำนวนมากขึ้นในหมู่นักการเมือง ในหมู่ผู้ที่รู้ทางวิชาการ ได้เริ่มมีความเข้าใจอย่างนี้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น

จากความเข้าใจอันนี้ที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน ทางฝ่ายนักการศึกษาและนักวิชาการทางบ้านเมือง ก็ได้เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า คณะสงฆ์นี้มีบทบาทที่เอื้ออำนวยเกื้อกูลต่อการศึกษาของรัฐอย่างไร และการศึกษาของสังคมไทยนั้นจะทิ้งวัดไม่ได้ วัดมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษา ในความเป็นผู้นำ เป็นต้น ในชุมชน ซึ่งตอนนี้ก็ทำให้มีการหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น ได้ทราบว่า นโยบายการศึกษาในยุคใหม่นี้ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการเอง และทางคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ก็โน้มเข้ามาให้ความสนใจใส่ใจ คำนึงถึงวัดและพระสงฆ์ด้วย ต้องการให้มีบทบาทร่วมกัน หรือหันมาส่งเสริมการศึกษาทางฝ่ายคณะสงฆ์ด้วย ในแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นนิมิตดี ซึ่งถ้ามองย้อนหลังไปเมื่อสัก ๒๐ ปีมาแล้ว จะไม่มีทางเห็นสภาพอย่างนี้เลย เคยมีการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนทางฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งมีมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ เป็นต้น กับทางฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งมีทั้งผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบางกรมในกระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมนั้น ผู้แทนบางท่านทางฝ่ายบ้านเมืองได้บอกว่า เขาไม่เห็นเหตุผลเลยว่า ทำไมพระจะต้องไปหาทางให้มีการร่วมมือกัน ถึงกับพูดในที่ประชุมว่า การศึกษาของวัดๆ ก็ทำไป การศึกษาของบ้านเมืองๆ ก็ทำไป ต่างคนต่างทำ เขาว่าอย่างนั้น นี้เป็นทัศนคติที่มีแพร่หลายในระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้คิดว่าความเข้าใจที่ถูกต้องตรงความเป็นจริง เกี่ยวกับปัญหาของสังคมไทยนั้นได้เกิดมีมากขึ้น และได้มาช่วยแก้ทัศนคติอันนี้ ช่วยทำความเข้าใจให้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลต่อการดำเนินการศึกษากันต่อไป แล้วพอดีบ้านเมืองระยะนี้ก็กำลังจะทำแผนการการศึกษาฉบับใหม่ขึ้น ความรู้ความเข้าใจนั้น ก็อาจจะมีผลในเรื่องนี้ด้วย แล้วก็เลยมาเกี่ยวข้องกับเรื่องทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ไปด้วย เพราะการศึกษาของคณะสงฆ์ในบ้านเมืองไทยนั้น ไม่สามารถแยกออกโดยสิ้นเชิงจากการศึกษาของสังคม จากการศึกษาของรัฐหรือจากการศึกษาของประเทศไปได้ เพราะฉะนั้น การมองการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น ไม่ใช่มองเฉพาะตัวเองอย่างเดียว จะต้องมองให้ทั่วถึงสังคมไทยทั้งหมด ถึงการศึกษาของรัฐ ถึงประเทศไทย หรือบ้านเมืองไทย โดยส่วนรวม

เท่าที่ว่ามานี้เป็นการพูดในประเด็นที่ ๑ คือ เรื่องที่ว่าการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ ๒ ประการ โดยเป็นสถาบันฝึกอบรมศาสนทายาท และพร้อมกันนั้นก็เป็นทางผ่านของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนี้ด้วย แต่ในการให้การศึกษานั้น ในคณะสงฆ์เองก็มีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะทางบ้านเมืองเท่านั้น ที่มีทัศนคติต่อการศึกษาสมัยใหม่อย่างที่ว่ามาแล้วว่า พระนี้มาเล่าเรียนเพื่อจะสึก ไปแย่งอาชีพชาวบ้าน เอาเปรียบชาวบ้าน แม้แต่พระเถระผู้ใหญ่ของเราที่ผ่านมาไม่น้อย ก็มีทัศนคติแบบนี้ ซึ่งก็บอกได้ว่าเป็นตัวอุปสรรคสำคัญ ซึ่งทำให้ยากที่จะมีการรับรองปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสงฆ์

ทีนี้ ฝ่ายผู้ที่ดำเนินการศึกษา ที่อาจจะเรียกว่าต่อสู้เพื่อความสำเร็จในด้านนี้ ก็ต้องพยายามที่จะให้เกิดความเข้าใจว่า การศึกษาของคณะสงฆ์นั้น ควรจะทำบทบาททั้ง ๒ อย่างอย่างไร เราจะต้องยอมรับที่จะยกเอาบทบาทประการที่ ๑ คือการฝึกอบรมศาสนทายาทนี้เป็นหลัก เราจะลดความสำคัญของบทบาทนี้ไม่ได้ ไม่ว่าในระยะสั้นหรือในระยะยาว ในระยะสั้น แม้ว่าเราจะพยายามหาทางให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ มีโอกาสมากขึ้น แต่เราจะละทิ้งหน้าที่ในการฝึกอบรมศาสนทายาทที่มีคุณภาพไม่ได้ โดยเฉพาะในระยะยาว วัตถุประสงค์ในด้านนี้ ยิ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ของพระโดยตรง หน้าที่ของพระ บทบาทของพระโดยตรงอยู่ที่ข้อนี้ คือการศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยแล้วเผยแพร่พระธรรมวินัยนั้นแก่ปวงชน พระสงฆ์จะต้องมีคุณภาพที่ดี ฉะนั้น บทบาทประการที่ ๑ นี้ เราจะต้องถือไว้เป็นอันดับสูงสุด เป็นอุดมคติที่จะต้องทำให้สำเร็จ แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเราก็จะต้องทำบทบาทอย่างที่สองด้วย ซึ่งการที่จะทำให้ได้ทั้งสองอย่างก็จะต้องรู้จักประสานประโยชน์ และการที่จะประสานประโยชน์ได้นั้นก็คือ เราจะต้องยอมรับความต้องการของทุกฝ่าย พระศาสนาก็มีความต้องการ พระศาสนาต้องการพระเณรที่มีคุณภาพ ในการที่จะสืบต่ออายุพระศาสนา เราจะตอบสนองความต้องการของศาสนา แต่ในเวลาเดียวกัน สังคมไทยก็มีพลเมืองจำนวนมากที่หาช่องทางเพื่อได้รับการศึกษาแล้วเลื่อนสถานะทางสังคมโดยเข้ามาอยู่ในวัด โดยเข้ามาอาศัยการศึกษาของคณะสงฆ์ และคนเหล่านี้ ส่วนมากจะกลับออกไปสู่สังคม เราจะช่วยให้เขามีคุณภาพและช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร นี่ก็คือเรามีหน้าที่ในการสนองความต้องการของสังคมนั้นด้วย ประการสุดท้าย ในฐานะที่พระเณรแต่ละรูปนั้นก็เป็นพลเมืองชาวไทย แต่ละท่านๆ เข้ามาแล้ว ก็มีความต้องการของตัวเอง ในการที่จะได้รับการศึกษา ในการที่จะมีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ในการมีสถานะทางสังคม เราก็ต้องสนองความต้องการของบุคคลนั้นเท่าที่เป็นการชอบธรรมด้วย

เพราะฉะนั้น แนวความคิดในการวางนโยบายการศึกษาของเราที่มุ่งจะให้เป็นทิศทางการศึกษานั้น อย่างน้อยในระยะต้นนี้ก็ถือว่า จะต้องให้การศึกษาของคณะสงฆ์นั้น สนองความต้องการ ทั้งของพระศาสนา ของสังคม และของบุคคล อันนี้เป็นหลักการใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งพยายามหาทางที่จะให้คนทั่วไปยอมรับ ซึ่งก็จะต้องเริ่มตั้งแต่ในวงการคณะสงฆ์ด้วยกันก่อน ว่าจะต้องยอมรับสภาพความจริงนี้ จะเอาแต่สนองความต้องการของพระศาสนาอย่างเดียวไม่ได้ และไม่สำเร็จ เวลานี้ คนเราจะมองในแง่ต่างๆ กัน อย่างพระเถระนั้น บางท่านนะ ไม่ใช่ทั้งหมด ท่านหาว่า พระเณรที่มาเรียนนี้ เอาเปรียบชาวบ้าน เรียนแล้วก็สึกไป ไม่ควรจะเรียน การที่ท่านมองในแง่นี้ ก็คือมองแต่ในแง่สนองความต้องการของพระศาสนา ไม่มองถึงในแง่ของสังคม และของบุคคล ส่วนคนอื่น ก็อาจจะมองไปอีกแง่ มองกันคนละส่วนๆ เราก็พยายามที่จะเสริมความรู้ความเข้าใจให้มองกว้างและครอบคลุม ก็จึงตั้งหลักขึ้นมาว่า ให้การศึกษาของคณะสงฆ์นี้ สนองความต้องการได้ทั้งของพระศาสนา ของสังคม และของบุคคล อันนี้ก็เป็นเรื่องของการประสานประโยชน์ ที่จะต้องพยายามทำให้สำเร็จ ในการร่างนโยบายและแผนการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ซึ่งเพิ่งจะได้รับหลักการไปเมื่อไม่นานมานี้ ในการประชุมครั้งที่แล้ว หลักการนี้ เป็นเรื่องสำคัญข้อที่ ๑ ที่ต้องพูดไว้เพื่อให้เข้าใจสภาพปัจจุบัน ถ้ามีภาพนี้แล้ว เราก็จะมองเห็นทิศทางเดินได้สะดวก และชัดเจนขึ้นว่า เราควรจะทำอะไรบ้าง อย่างไร

 

ความเป็นหลักและเป็นผู้นำในด้านศาสนศึกษา: ฐานะที่ยังเข้าไม่ถึง

ต่อไปประการที่ ๒ ความเข้าใจสำคัญอันหนึ่งที่เรามีอยู่ในใจ ในเวลาดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือ เราถือว่า คณะสงฆ์นั้นเป็นสถาบันหลักฝ่ายพระศาสนา พระนั้นเป็นเหมือนตัวแทนของสถาบันสงฆ์ เป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นกิจสำคัญในหน้าที่ของคณะสงฆ์ เป็นหน้าที่หลักของสถาบันสงฆ์นั้น และพระสงฆ์จะทำหน้าที่สืบต่ออายุพระศาสนาได้ดีก็จะต้องเป็นผู้มีการศึกษาดี การศึกษาจึงต้องเป็นศาสนกิจหลักของคณะสงฆ์และของพระ ถ้าคณะสงฆ์จะดำรงอยู่ด้วยดี พระสงฆ์จะต้องเป็นผู้นำในการศึกษาทางด้านพระศาสนา ซึ่งในที่นี้พูดง่ายๆ ก็คือในเรื่องภาษาบาลีและพระธรรมวินัย จุดนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อตั้งหลักขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็มาสำรวจดูโดยมองกว้างๆ ก็จะเห็นว่าปัจจุบันนี้ คณะสงฆ์เรามีฐานะเป็นผู้นำในการศึกษาบาลี และธรรมวินัยหรือไม่ อย่างน้อยในรูปแบบก่อน ในรูปแบบก็คือมองกันด้วยมาตรฐานที่สังคมยอมรับ ซึ่งวางกันเป็นชั้นๆ มีประกาศนียบัตร มีปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

ทีนี้ คณะสงฆ์ของเรานั้นได้ดำเนินการศึกษากันมา โดยมีทางฝ่ายปริยัติธรรม แผนกธรรม และแผนกบาลี ซึ่งสูงสุดถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค บ้านเมืองก็บอกว่าได้รับรองฐานะของเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว ให้ได้มีฐานะเป็นชั้นปริญญาตรี ซึ่งในสมัยก่อนนี้ เป็นปริญญาที่ไม่สมบูรณ์ ดูจะอยู่ในระดับอนุปริญญาด้วยซ้ำไป

หันมาดูทางด้านมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ จนกระทั่งบัดนี้ ๔๒ ปี ก็มีแค่ปริญญาตรี พระเราหลายท่านก็ภูมิใจหรือพอใจว่าเราก็มีปริญญาเหมือนกัน แต่ถ้าคิดให้ดี มานึกอีกที ก็มีความหมายที่ต้องคิดต่อ คิดต่ออย่างไร คือคิดว่าปริญญาตรีนี้ เป็นปริญญาขั้นต้นที่สุด แต่ก่อนนั้น แม้แต่ปริญญาตรี ก็เป็นปริญญาที่เขาอาจจะเรียกว่าเป็นปริญญาตรีเถื่อน เพราะไม่มีใครยอมรับ แต่ต่อมาในปัจจุบันนี้ มีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะเกิดขึ้น ก็ให้ฐานะแน่นอนลงไปว่า ทั้งเปรียญ ๙ ประโยค และผู้สำเร็จมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ นั้น เป็นปริญญาตรีโดยสมบูรณ์ ก็เป็นอันว่า ปริญญาตรีมีฐานะถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมองต่อไปอีก ก็เห็นว่าปริญญาตรีนี้เป็นปริญญาขั้นต้นเท่านั้นเอง

ทีนี้ ลองมองทั่วๆ ไปข้างนอก ผมเคยเดินทางไปอเมริกาครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ คือ ๑๖ ปีมาแล้ว ครั้งนั้นได้ไปเยี่ยมสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาในรัฐต่างๆ มหาวิทยาลัยหนึ่งที่ไปเยี่ยม ชื่อมหาวิทยาลัย Wisconsin พอไปถึงที่นี้ปรากฏว่า เขามีการศึกษาพุทธศาสนาถึงชั้นปริญญาเอก ให้ Ph.D. in Buddhist Studies แล้ว ในเวลาที่เราไปดูนั้น เขาให้อยู่แล้ว คือ ในปี ๒๕๑๕ นั้น เขามีปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนาอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็ไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยอื่น บางมหาวิทยาลัยก็มีการเรียนพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาตรี เช่น มหาวิทยาลัยคอลเกต ที่ชื่อเหมือนยาสีฟัน ส่วนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็มีโครงการศึกษาศาสนาที่กว้าง ไม่เฉพาะพระพุทธศาสนา แต่ก็สามารถทำปริญญาทางพระพุทธศาสนาได้ (เมื่อไปอเมริกาเที่ยวต่อมา ในปี ๒๕๑๙ ก็พบฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งเคยมาบวชเณรที่วัดวชิรธรรมประทีป กรุงนิวยอร์ค เรียนปริญญาเอกทางพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียนี้) แล้วก็ไปดูที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ก็มี Center for the Study of World Religions เป็นศูนย์ศึกษาศาสนาสากล สถานศึกษาแห่งนี้ก็ให้การศึกษาที่สามารถเลือกเรียนพระพุทธศาสนาในระดับสูงได้ด้วย ทั้งหมดนี้ ก็ทำให้เรามองในแง่ว่า มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขามีการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับสูง

ทีนี้ย้อนเข้ามา ตีวงแคบเข้ามา ในเมืองไทยเราตอนนั้น ก็ยังไม่มีการศึกษาพุทธศาสนาและภาษาบาลีระดับสูง อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีการศึกษาภาษาบาลีเป็นเพียงวิชาย่อย ในระดับปริญญาตรี ในคณะอักษรศาสตร์ แต่ต่อมาสัก ๑๐ ปีที่แล้วมา ก็เริ่มมีการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในระดับสูงขึ้น ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เปิดโครงการศาสนาเปรียบเทียบขึ้น ให้การศึกษาศาสนาในระดับปริญญาโท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ ก็ได้เปิดการศึกษาปริญญาโทในด้านภาษาบาลี ให้ปริญญาโททางภาษาบาลี มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาฯ รุ่นเก่าๆ จบไปแล้วจากมหาจุฬาฯ ก็ไปเข้าเรียนต่อปริญญาโทบาลีที่จุฬาฯ และก็มีบางท่านสำเร็จมาแล้ว แต่ตอนนั้น ปริญญาตรีจากมหาจุฬาฯ ยังไม่ได้รับการรับรอง เอาไปเข้าที่จุฬาฯ โดยตรงไม่ได้ ต้องไปเรียนได้สำเร็จ กศ.บ. หรือปริญญาอื่นมาแล้ว เสร็จแล้วจึงเอาปริญญานั้นไปเข้าต่อ ทั้งๆ ที่ตัวเองนั้นจบบาลี จบพระพุทธศาสนาไป มีความรู้แต่เข้าต่อไม่ได้ ปริญญาใช้ไม่ได้ ต้องไปเอาปริญญาด้านอื่นก่อน เสียเวลาไปเรียนอีกตั้งหลายปี ได้ปริญญาตรีแล้วจึงเอาไปต่อปริญญาโทบาลีที่จุฬาฯ แล้วต่อมา จุฬาฯ ก็เปิดในคณะเดียวกัน คือคณะอักษรศาสตร์ ให้มีปริญญาโททางด้านปรัชญา ซึ่งมีพุทธปรัชญาอยู่ด้วย ยิ่งกว่านั้น ทั้งที่มหิดลก็ดี ทั้งที่จุฬาฯ ก็ดี ก็ทำท่าจะเปิดปริญญาเอกมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่พร้อม จนกระทั่งปีนี้ที่จุฬาฯ ก็ได้เปิดปริญญาเอกทางปรัชญา มีคนหนึ่งที่รู้จักดีแกไปสอบเข้า ทำปริญญาเอกทางด้านพุทธปรัชญาที่จุฬาฯ

ทีนี้ เราลองมามองดูว่า ถ้าคณะสงฆ์จะเป็นผู้นำในศาสนศึกษา หรือในการศึกษาภาษาบาลีหรือธรรมวินัย แต่เมื่อเรามีแค่ปริญญาตรี เราจะไปพูดได้อย่างไรว่าเราเป็นผู้นำหรือเป็นหลักในการศึกษาพระพุทธศาสนา ในขณะที่มหาวิทยาลัยฝ่ายบ้านเมืองในประเทศไทย ก็มีปริญญาโท ปริญญาเอก ในทางภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา ในเมืองนอก ไม่เฉพาะในอเมริกา แม้ในประเทศอื่นๆ เขาก็มี แล้วในปัจจุบันนี้ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทางโลก จะเรียนต่อปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนา ก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น ในอเมริกา เป็นต้น บางท่านก็ไปสำเร็จปริญญาเอกทางภาษาบาลี จากลังกา บางท่านก็ไปสำเร็จปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนาเถรวาท จากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย ในสหรัฐอเมริกา แล้วก็กลับมาสอนพระพุทธศาสนา ที่มหาวิทยาลัยฝ่ายบ้านเมืองในประเทศไทย เมื่อมองดูในแง่นี้ อย่างน้อยในทางสังคม ตามมาตรฐานที่เขาใช้วัดกันทั่วไป คณะสงฆ์ก็ไม่สามารถเป็นหลักในการศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่อาจเป็นผู้นำในการศึกษาภาษาบาลีและธรรมวินัยได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา และต้องยกขึ้นเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งว่า จะต้องพยายามยกมาตรฐานการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้นให้เข้าถึงฐานะแห่งความเป็นผู้นำในทางศาสนศึกษา อันเป็นฐานะที่ตนควรจะมีควรจะถึง เหตุผลที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ และการที่ได้มีการรับรองวิทยฐานะในระดับปริญญาตรีขึ้นมา ก็รวมอยู่ในทิศทางที่ว่านี้ด้วย ซึ่งเป็นทิศทางที่ยังจะต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงเป้าหมายของความเป็นหลักและเป็นผู้นำ

การที่เราจะมีปริญญาโท ปริญญาเอก อะไรก็ตามนี้ ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ เป็นการสนองความต้องการทั้งสองแบบ ในแง่หนึ่งก็สนองความต้องการของบุคคลและสังคม ที่ว่าได้มีคนของรัฐจำนวนมากมายเข้ามาในคณะสงฆ์ เข้ามาอยู่ในวัด แล้วท่านเหล่านี้จำนวนมากก็จะกลับออกไป เราก็ช่วยให้เขากลับออกไปอย่างดี โดยได้รับประโยชน์ มิใช่กลับไปมือเปล่า กลับไปอย่างคนมีคุณภาพที่จะช่วยเหลือพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติได้ด้วย และประการที่ ๒ ก็เป็นการฟื้นฟูฐานะของคณะสงฆ์ ในฐานะผู้นำทางศาสนา โดยเฉพาะในด้านศาสนศึกษา อันนี้ก็เป็นสภาพที่จะต้องทราบ ประการที่สอง

 

ความสามารถที่จะดำรงรักษาพระศาสนา: คุณภาพที่ยังไม่เพียงพอ

ต่อไปประการที่ ๓ การศึกษาของคณะสงฆ์เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีคุณภาพเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ได้พูดสรุปไว้ว่า การศึกษาของคณะสงฆ์เท่าที่เป็นอยู่ ไม่เพียงพอที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี ในท่ามกลางสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง และมีภัยคุกคามทั้งจากภายนอกและภายใน อันนี้ก็เป็นสภาพที่จะต้องถือเป็นหลักในการพิจารณาทิศทางด้วย เป็นด้านที่เกี่ยวกับคุณภาพ

เวลานี้ เราพูดได้ว่า ความสนใจในพระพุทธศาสนามีเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างอเมริกา ความสนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่ลด หันมาดูในประเทศไทยปัจจุบันนี้ เราเห็นแนวโน้มที่น่ายินดีอย่างหนึ่งว่า คนจำนวนมากก็สนใจในการศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งในด้านการเล่าเรียนปริยัติก็ดี ในการที่จะไปปฏิบัติทำกรรมฐานอะไรก็ดี จะเห็นว่ามีแนวโน้มในทางเพิ่มขึ้น และที่อาจจะน่าพอใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ทางด้านคนหนุ่มสาว ก็มีความสนใจมากขึ้นด้วย อาจจะพูดได้ว่า ความสนใจนั้นเป็นไปมากในหมู่คนหนุ่มสาว หนังสือพระพุทธศาสนาตอนนี้ปรากฏว่า มีการพิมพ์จำหน่ายแพร่หลายมาก การตลาดในการขายหนังสือทางธรรมนี้ ต่างจากสมัย ๑๐, ๒๐ ปีมาแล้ว อย่างผิดกันไกลทีเดียว สมัยก่อนนี้หนังสือทางศาสนาขายได้ยาก แต่สมัยนี้ เราจะเห็นว่า หนังสือธรรมมีวางขายกันเกลื่อน คนนิยมกันมาก เป็นหนังสือที่มีสถิติขายได้อันดับสูง

ในขณะที่สังคมหันมาสนใจพระพุทธศาสนา สถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีการนำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปบรรจุในหลักสูตร อย่างในวิทยาลัยครูก็มีการศึกษาวิชาพุทธศาสน์ เป็นต้น แต่น่าเสียดายที่ปรากฏว่า ทางฝ่ายคณะสงฆ์ซึ่งควรจะเป็นผู้นำ ที่จะสนองความต้องการให้มีบุคลากรในการให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนา กลับตามไม่ทัน ก้าวไม่ทันเขา เราไม่มีบุคลากรที่จะไปสนองความต้องการด้านนี้ เพราะเราไม่ได้ผลิตขึ้น และไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการให้มีขึ้นด้วย เราจึงขาดบุคลากรที่จะไปสนองความต้องการของสถาบันที่มีการศึกษาพระพุทธศาสนา ผมไปในต่างจังหวัดก็ได้พบปัญหาความขาดแคลนอย่างนี้ เช่นในวิทยาลัยครู ผู้ที่ไปจากวงการพระก็เร่งเร้าว่า ขอให้ช่วยหน่อย ทำอย่างไรจะมีผู้สำเร็จพุทธศาสตรบัณฑิต หรือ ผู้สำเร็จการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับสูง ไปช่วยสอนเป็นครูอาจารย์ เราก็มีให้ไม่พอ ทีนี้ มหาวิทยาลัยทางโลกก็มีการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกแล้ว และทางวิทยาลัยของศาสนาคริสต์ก็มีการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาชั้นสูง เมื่อทางคณะสงฆ์ของเราไม่สามารถสนองความต้องการได้ เขาก็ต้องรับเอาคนจากวงข้างนอก จากมหาวิทยาลัยทางบ้านเมือง หรือแม้แต่ของศาสนาอื่น ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทางศาสนาไปบรรจุเป็นอาจารย์ต่อไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ในแง่ของการที่จะผลิตบุคลากร

ประการต่อไปก็คือ วิชาการที่สอนหรือวิชาที่มีในหลักสูตรการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติธรรมแผนเดิมของเรานั้น เรียกได้ว่ามีขอบเขตคับแคบ และจำกัดด้านเดียว เช่นอย่างภาษาบาลีในสายเปรียญนี้ ก็เรียนกันแต่ภาษาบาลีอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ ภาษาบาลีนั้นก็เรียนในคัมภีร์ที่ว่าด้วยธรรมวินัย แต่เวลาเรียนและสอนกันจริงๆ ไม่ได้สนใจเนื้อหาที่เป็นตัวธรรมวินัย หรือตัวหลักในคัมภีร์ หรือในตำราเรียน มุ่งเอาแต่ภาษาให้แปลออกมาได้ และไม่ได้ฝึกให้รู้จักค้นคว้า ฉะนั้น ผู้สำเร็จการศึกษา ก็จึงมีความรู้ความเข้าใจคับแคบอยู่ในวงของภาษาบาลีในคัมภีร์นั้นๆ อย่างเดียว เมื่อมีความเข้าใจคับแคบ แม้จะมีความรู้สูงในทางภาษา แต่เมื่อไปปฏิบัติหน้าที่ทางพระศาสนาและทางสังคม ก็ถูกขอบเขตและขีดจำกัดทางการศึกษาของตนเองนั้นบีบรัดเอาไว้ ทำให้ทำงานไม่ได้ผลดี ไม่ทันต่อสถานการณ์ เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเป็นจุดอับอย่างหนึ่งในการศึกษาของคณะสงฆ์ ในแง่นี้ เราสามารถพูดได้ว่า การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้มาช่วยไว้มิใช่น้อย ในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ก็อย่าเพิ่งประมาทว่าเท่านี้พอแล้ว จะต้องทำต่อไป

อีกข้อหนึ่งก็คือ พระสงฆ์ที่มีคุณภาพของเรานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างหนึ่งว่า ต้องมีความสามารถในการที่จะแก้ปรัปวาทะ คือคำกล่าวของลัทธิภายนอก เมื่อมีการกล่าวจ้วงจาบของบุคคลภายนอกต่อพระพุทธศาสนา บุคคลที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนาต้องสามารถกล่าวแก้ชี้แจง ให้วาทะที่กล่าวจ้วงจาบนั้นตกไป หรือหมดความหมายไป แต่เท่าที่ผ่านมานี้ การศึกษาของเรายังทำหน้าที่นี้ได้ไม่เพียงพอ พวกเผยแผ่ศาสนาอื่น ยังอาศัยความได้เปรียบทางนี้อยู่มาก เพราะพวกผู้เผยแผ่ศาสนาอื่น มีพื้นการศึกษาซึ่งระบบการศึกษาของเขาได้ตระเตรียมฝึกอบรมให้ไว้เป็นอย่างดี ทั้งวิชาการทางโลก และวิชาการทางศาสนา รวมทั้งวิชาด้านพระพุทธศาสนา ตามนโยบายที่เขาวางไว้ ทำให้เขาพร้อมที่จะเผยแพร่ศาสนาของเขา แก่ชาวพุทธในสังคมไทย อย่างไปเผยแผ่ศาสนาในต่างจังหวัด เมื่อพูดกับชาวบ้าน หรือแม้แต่พูดกับพระในบ้านนอก บางทีเขาใช้วิธีที่อาจเรียกได้ว่าหลอกลวง คนของเราก็รู้ไม่ทัน และไม่มีความรู้ที่จะชี้แจงตอบโต้ ยกตัวอย่างเช่น เวลานี้ นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์พยายามสร้างความรู้สึกอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้าน ตามเรื่องในทำนองที่จะเล่าต่อไปนี้

นักเผยแผ่ศาสนาหนึ่งมาพูดกับชาวบ้านว่า ท่านรู้จักประเทศอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศในยุโรปไหม? ชาวบ้านก็บอกว่ารู้จัก นักเผยแผ่ก็ว่า เขาเป็นประเทศเจริญแล้ว พัฒนาแล้วใช่ไหม? พอบอกว่าใช่ ก็ถามต่อไปว่า ประเทศฝรั่งนั้นเขานับถือศาสนาอะไร ชาวบ้านหรือพระในต่างจังหวัดก็บอกว่า นับถือศาสนาคริสต์ ถามต่อไปอีกว่า แล้วประเทศไทย ประเทศลาว เขมร และประเทศแถวๆ นี้ เป็นประเทศกำลังพัฒนาใช่ไหม? ไม่เจริญใช่ไหม? ก็บอกว่าใช่ แล้วประเทศไทยนับถือศาสนาอะไร บอกว่านับถือพระพุทธศาสนา เขาก็บอกว่า เห็นไหม ประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นั้น เจริญ แต่ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนั้น ยังไม่พัฒนา หรือด้อยพัฒนา ก็เอาสภาพที่เจริญหรือพัฒนา กับไม่เจริญหรือด้อยพัฒนานี้ มาสัมพันธ์กับการนับถือศาสนา แล้วสรุปบอกว่า เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นั้น เจริญ หรือพัฒนา ส่วนประเทศที่นับถือพุทธศาสนานี้ ไม่พัฒนา ถ้าจะเจริญหรือพัฒนา ก็ต้องถือศาสนาคริสต์ อะไรทำนองนี้ พอพูดไปอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านก็เห็นจริง แม้แต่พระเอง ไม่มีความรู้ก็เห็นจริงไปด้วย พลอยคล้อยตามเขาไป แต่เวลาเขาชี้แจงชักจูงจริงๆ ก็ย่อมพูดมากกว่านี้ ถ้าเราไม่มีความรู้เพียงพอ ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจพื้นเพอารยธรรมตะวันตก เราก็ไม่สามารถยกเอาความจริงและเหตุผลมาโต้แย้งได้ ได้แต่คล้อยตามไป ความจริงนั้น เป็นความรู้ที่ง่ายๆ ประเทศตะวันตก ที่เจริญขึ้นมาได้ พัฒนาขึ้นมาได้ ก็เพราะต่อสู้กับคริสต์ศาสนา คือศาสนจักรคริสต์ครอบงำบีบบังคับความเชื่อถือ ทำให้เขาดิ้นรนจนหลุดพ้นออกมาได้ และวิทยาศาสตร์ก็เจริญขึ้นมา ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ เราก็จะเห็นความเป็นไปเช่นนี้ ส่วนประเทศที่ไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้กับคริสต์ศาสนาเช่นนี้ แต่มานับถือภายหลัง เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นคริสต์แทบทั้งประเทศ ก็หาได้เจริญน่าชื่นชมอย่างใดไม่

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การศึกษาของคณะสงฆ์นี้ ยังไม่เพียงพอที่จะเตรียมบุคคลในพระศาสนา ให้มีความพร้อมที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ ปรับปรุงเนื้อหา ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันต่อสภาวการณ์ ให้พระสงฆ์มีความรู้เท่าทันต่อสภาพปัจจุบัน และสามารถที่จะนำความรู้ทางพระศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่ให้คนสมัยปัจจุบันนี้เข้าใจ มองเห็นคุณค่า และใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และในแง่ขอบเขตของการศึกษา นอกจากปรับปรุงเนื้อหาของวิชาแล้ว จะต้องขยายขอบเขตวิชาให้กว้างออกไปด้วย แล้วก็ผลิตคนที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพียงพอ เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งและเป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่จะต้องทำ นับว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทิศทางอีกประการหนึ่ง

 

ความอ่อนแอของศาสนศึกษาในชนบท: ผลกระทบทั้งต่อพระศาสนาและการพัฒนาประเทศ

สภาพต่อไปก็คือ ประเทศไทยส่วนใหญ่นี้ เป็นชนบท คนไทยเรานี้ เป็นชาวชนบทประมาณ ๘๐% หรือ ๗๕% เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องความเสื่อมความเจริญของประเทศ จะต้องให้ความสำคัญแก่ชนบทเป็นอันมาก ในการศึกษาของคณะสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน เราจะมองแต่การศึกษาในส่วนกลาง แม้แต่มองในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ไม่เพียงพอ จริงอยู่ ในแง่หนึ่งนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ เป็นแหล่งให้การศึกษาแก่ชาวชนบทแทบจะว่าโดยสิ้นเชิง พระเราที่มานั่งอยู่ในที่นี้ คิดว่า ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็เกิดในชนบททั้งนั้น เป็นลูกชาวนาแทบจะทั้งหมด ในแง่หนึ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว คือให้การศึกษาแก่ชาวชนบท แต่อันนี้เป็นเรื่องของการศึกษาระดับสูงที่น้อยคนจะเข้าถึง ในท้องถิ่นขณะนี้ ชาวชนบทส่วนมากก็ไม่สามารถมาเข้ามหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาที่จะให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง ต้องขยายไปสู่ชนบท

ถ้าเรามองดูการศึกษาของคณะสงฆ์ในชนบทว่า เป็นอย่างไร เราจะเห็นว่า สภาพการศึกษาของพระศาสนาในชนบทนี้ ย่อหย่อนอ่อนแอเป็นอันมาก มีความเสื่อมโทรมเป็นอันมาก พระเณรส่วนมากบวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้เล่าเรียนศึกษา ถึงเวลาสอบ ได้ไปสอบก็ยังดี มีหนังสืออ่านก็ยังดี บางทีไม่ได้รับการเอาใจใส่เลย บวชเข้ามาแล้วก็สักแต่ว่าอยู่เฝ้าวัด สภาพเช่นนี้เป็นที่น่าตกใจว่า กำลังทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ สมัยก่อนนี้ ในท้องถิ่นห่างไกลมีเด็กมาบวชเณรมาก และจะมีพระหนุ่มที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนประจำอยู่ตามวัดต่างๆ มาก แต่สมัยหลังๆ นี้ เวลาผมไปชนบท ถามดูวัดแต่ละวัด ก็ได้เห็นว่า มีสภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น เห็นมีพระอายุมากๆ ๕๐, ๖๐ ปี อยู่หลายองค์ พอถามดูว่าท่านบวชกี่พรรษา ปรากฏว่าบางองค์อายุ ๕๐, ๖๐ ปี แต่พรรษาเดียว เพราะมาบวชเอาเมื่อแก่ เลิกทำงานทำการ เลิกทำอาชีพแล้วมาบวช มาบวชแล้วก็พักผ่อนเท่านั้น บางท่านไม่มีทางไปแล้วก็มาอาศัยวัดเลี้ยงชีพ ทีนี้ หันมาดูเณร ถ้าเป็นวัดในส่วนกลาง เณรก็กำลังจะหมดไป หาเณรยาก ในถิ่นหนึ่งๆ บางวัด หรือหลายวัด ไม่มีเณรเลย บางวัดมีเณรองค์หนึ่ง บางทีก็บวชระยะสั้นตอนโรงเรียนปิดอะไรทำนองนี้ เณรก็ดี พระหนุ่มก็ดีนี้ เป็นอนาคตของพระศาสนา แต่ในชนบท พระหนุ่มเณรน้อยประเภทอยู่ประจำวัดนานๆ นี้ กำลังหมดไป เราก็มีแต่พระแก่ที่ไม่มีความรู้ มาบวชอยู่เฉยๆ รักษาวัด แม้แต่พระฝ่ายบริหารก็รู้เข้าใจสภาพนี้กันพอสมควร เคยได้ยินพระสงฆ์ที่เป็นฝ่ายบริหารเอามาพูดทายกันเล่น เข้าใจว่าทุกท่านหรือหลายๆ ท่านในที่นี้คงเคยได้ยิน ท่านว่า ปัจจุบันนี้มีวัดหลวงชนิดใหม่เกิดขึ้นมาก คนฟังก็งง เอ! วัดหลวงชนิดใหม่ วัดหลวงอะไร? ก็คิดไม่ออก ในที่สุดท่านก็เฉลย บอกว่าวัดหลวงตา ปรากฏว่าในปัจจุบันนี้ วัดหลวงตามีมากขึ้น การที่มีพระหลวงตามากขึ้นนั้น คือเรื่องที่แสดงถึงสภาพความเสื่อมโทรมของพระศาสนาได้ด้วย ฉะนั้น เป้าอย่างหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือ ทำอย่างไรจะไปขยายส่งเสริมการศึกษาในชนบทให้แพร่หลายขึ้นได้ ถ้าไม่สำเร็จวัตถุประสงค์นี้ ก็ยากที่จะฟื้นฟูพระศาสนาได้

ขอให้คำนึงถึงอดีตด้วย พระพุทธศาสนานี้เคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศอินเดียประมาณ ๑,๗๐๐ ปี ซึ่งนับว่ายาวนานมาก ในประเทศไทยนี้ นับจากยุคที่เรารู้จักพระพุทธศาสนาแบบปัจจุบันมา เริ่มจากสมัยสุโขทัยก็เพียง ๗๐๐ กว่าปี เราก็ยังบอกว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเรานี้ เจริญรุ่งเรืองมาก เราภูมิใจว่าเจริญที่สุดในโลก ถึงกับพูดกันอย่างนั้น แต่ก็แค่ ๗๐๐ กว่าปีเท่านั้น หวนไปดูในอินเดีย พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมากนานถึง ๑,๗๐๐ ปีจึงได้เสื่อมสูญไปจากชมพูทวีป และในระหว่าง ๑,๗๐๐ ปีนั้น ก็มีหลักฐานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากมาย มีซากของปูชนียวัตถุปูชนียสถานในประเทศอินเดีย ไม่รู้ว่ามากมายเท่าไร เมื่อเทียบกันกับในประเทศไทย เราคงเทียบอินเดียไม่ได้ ในอินเดียยิ่งใหญ่กว่าเป็นอันมาก แต่กระนั้น พระพุทธศาสนาก็ยังเสื่อมสูญไปได้

อนึ่ง ระหว่างที่พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองนั้น ด้านหนึ่งที่เจริญมากก็คือการศึกษา เราสามารถพูดได้ว่า มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ทางฝ่ายอารยธรรมตะวันตก เมื่อพูดกันถึงมหาวิทยาลัยว่า ได้มีมหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลกเมื่อไร เขาจะพูดกันถึง มหาวิทยาลัยโบโลนยา (Bologna) เขาภูมิใจกันว่า มหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลกเกิดขึ้นในแถบยุโรป ในแถบของอารยธรรมตะวันตก แต่เมื่อตรวจสอบกันไปในประวัติศาสตร์ให้ทั่วถึง จึงจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนานี้เก่าแก่กว่าเป็นอันมาก มหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลก ก็คือ มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งได้ถูกเผาราบเรียบไปเมื่อ ๑,๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โต ซากที่เห็นในปัจจุบันก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่นั้น เรื่องนี้แสดงว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาได้เคยเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง มีมหาวิหารที่เป็นมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นแล้ว แต่ในที่สุดก็เสื่อมสูญไป

อย่างไรก็ดี เมื่อทำการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ ก็มีผู้ให้ความเห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยเกิดขึ้น มีนาลันทาเกิดขึ้น มีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งอื่นอีกหลายแห่ง เช่น วิกรมศิลา โอทันตปุระ อะไรพวกนี้เกิดขึ้น รวมแล้วหลายแห่งนั้น แม้จะเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ซึ่งมีความยิ่งใหญ่มาก แต่พระพุทธศาสนาก็กำลังเสื่อมด้วยเช่นเดียวกัน และการมีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ก็อาจจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมนั้นด้วย อันนี้เป็นข้อพิจารณาที่เราจะต้องเอามาคิดตรองดูด้วยความไม่ประมาท เหตุที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมทั้งๆ ที่มีสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น อย่างหนึ่งก็คือ พระภิกษุทั้งหลาย ที่อยู่ในถิ่นต่างๆ เมื่อต้องการความรู้ ต้องการการศึกษาชั้นสูง ก็หลั่งไหลมารวมกันอยู่ที่ศูนย์กลาง รวมอยู่ที่วัดใหญ่ๆ เช่นนาลันทาเป็นต้นนี้ แล้วก็อยู่กันอย่างสุขสบาย เพราะว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดี พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้านสำหรับเก็บภาษีเลี้ยงมหาวิทยาลัย พระไม่ต้องไปลำบากในการหาเลี้ยงชีพ ได้รับการบำรุงเต็มที่ ก็อยู่สบาย ไร้กังวล เล่าเรียนวิชากันได้เต็มที่ แต่พอดีในยุคนั้น วิชาที่เรียนได้หนักไปทางความรู้แบบตำรับตำรา โดยเฉพาะเรื่องอภิปรัชญา ก็เลยเพลิดเพลินกันทางวิชาการ กลายเป็นนักถกเถียงปัญหากัน ตีฝีปากกันในทางปรัชญา ตลอดจนในระยะท้ายๆ น่าจะเพลิดเพลินทางด้านไสยศาสตร์มากเสียด้วย ในที่สุด อย่างน้อยในแง่หนึ่ง ก็เกิดผลขึ้นว่า พระห่างเหินจากประชาชน และพระสงฆ์ในชนบทต่างๆ หลั่งไหลมารวมอยู่ที่ศูนย์กลางแห่งเดียว เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาในท้องถิ่นต่างๆ อ่อนกำลังลง และเป็นช่องทางให้ศาสนาอื่นได้ฟื้นฟูตัวขึ้นมา โดยเฉพาะศาสนาฮินดูนั้นได้โอกาส เมื่อวัดพุทธไม่มีพระจะอยู่ ก็เข้าไปยึดครอง วัดพุทธก็กลายเป็นวัดฮินดูไป จำนวนก็มากขึ้นตามลำดับ พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงๆ

เรื่องที่ว่ามานี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เราต้องมาคิดถึงปัญหาที่ว่าเมื่อกี้ ว่าในความเจริญของพระพุทธศาสนา และในความเจริญของการศึกษาของเรานั้น ในด้านหนึ่ง เราจะต้องเตรียมใจไว้เสมอว่า มันมักจะมีด้านอื่นที่เสื่อมไปด้วยพร้อมกับความเจริญนั้น เพราะตามปกติ เมื่อเกิดความเจริญขึ้นในด้านหนึ่ง ก็อาจทำให้เกิดความเสื่อมในอีกด้านหนึ่งไปพร้อมกัน ผู้ที่ไม่ประมาทจะต้องตระหนักถึงภัยนี้ด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีปริญญาโทขึ้น มีมหาวิทยาลัยที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น เราจะต้องพิจารณาบทเรียนในอดีต แล้วจับตามองดูสภาพสังคมของเราทั้งหมด ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาของเราในวงกว้างเป็นอย่างไร โดยเฉพาะขอให้มองไปทั่วๆ ในระดับการศึกษาขั้นต้น ที่แพร่ไปในชนบทซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ว่ามีสภาพการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด และสำหรับการศึกษาในชนบทนั้น ก็เอาแค่การศึกษาในระดับพื้นฐาน หรือระดับเบื้องต้นก็พอ ไม่จำเป็นจะต้องให้สูงถึงขั้นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หรอก ให้พระทั่วไปนี้ มีการศึกษาระดับพื้นฐานสักระดับหนึ่ง ที่เห็นว่าพอจะทำหน้าที่สืบต่อพระพุทธศาสนาได้ เราก็พอใจอยู่ ดังนั้น ในการวางนโยบายและแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ จึงได้กำหนดไว้ข้อหนึ่งว่า จะให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ ในท้องถิ่นต่างๆ เท่าที่เราพิจารณาแล้วเห็นว่า พอสมควรแก่การสืบต่อพระศาสนาได้ สามารถทำหน้าที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และเผยแผ่ธรรมแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องสภาพการศึกษาในชนบท

พอมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันว่าจะต้องขยายการศึกษา การขยายการศึกษานี้เป็นไปในสองด้าน ด้านที่หนึ่งก็คือ เรื่องที่ได้พูดมาแล้วในระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป เป็นปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า การขยายในแนวตั้ง หรือแนวดิ่ง และอีกด้านหนึ่งก็คือ ขยายการศึกษาแนวราบ ได้แก่เรื่องที่กำลังพูดอยู่นี้ ที่ว่าจะต้องขยายการศึกษาระดับพื้นฐานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชนบทให้ทั่วถึง ทั้งสองด้านนี้จะต้องดำเนินควบคู่กันไป เป็นอันว่า จะต้องขยายการศึกษาทั้งแนวตั้ง และแนวราบ ให้มีขึ้นโดยสมบูรณ์ นี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษา

อนึ่ง การศึกษาในชนบทนี้ ก็มีความหมายสองด้านไปพร้อมกัน คือ จะต้องพูดถึงปัญหาพระศาสนาของคณะสงฆ์นี้ โดยสัมพันธ์กับปัญหาของชาติบ้านเมืองหรือของสังคมไทยทั้งหมด เวลาเราพิจารณาปัญหา จะต้องพิจารณาทั้งสองด้านพร้อมกัน เพราะสองอย่างนี้อิงอาศัยซึ่งกันและกัน การดำเนินการศึกษาระดับพื้นฐานในชนบทนี้ มีความหมายสองแง่ คือในแง่ของพระศาสนาเอง และในแง่ของสังคมหรือบ้านเมือง

สำหรับในแง่ของพระศาสนาเองนั้น ก็คือการที่จะทำให้พระศาสนานี้ มีความเจริญมั่นคงอยู่ได้ เพราะถ้าการศึกษาในชนบทเสื่อมโทรม พระในชนบทไม่มีการศึกษา การพระศาสนาในชนบทก็ต้องเสื่อมโทรม อย่างสภาพที่เห็นๆ กันอยู่นี้ พระปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ไม่มีความรู้ที่จะปฏิบัติ ก็จึงทำอย่างที่เราเรียกว่า นอกลู่นอกรอยเป็นอันมาก นี้ก็เป็นเพราะความเสื่อมของการศึกษา เพราะฉะนั้น การดำเนินการศึกษาทางพระศาสนาในชนบทนั้น ประการแรกก็เพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมของพระศาสนาในสังคมส่วนใหญ่ และเพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนาในหลักการที่ถูกต้อง

ประการที่สอง ในแง่ของสังคม พระสงฆ์นั้นมีฐานะเป็นผู้นำของชุมชนในท้องถิ่น เป็นประเพณีของสังคมไทยที่มีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย พระเป็นผู้นำ ชาวบ้านนั้นนับถือพระมากกว่าใครอื่นหมด พระเป็นผู้นำอันดับหนึ่ง ถ้าพระไม่มีคุณภาพ ก็หมายความว่า ผู้นำของชุมชน หรือผู้นำของท้องถิ่นไม่มีคุณภาพ ถ้าผู้นำไม่มีคุณภาพแล้ว ชุมชนนั้นจะเจริญด้วยดีไปได้อย่างไร การพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ จะเจริญไปได้ด้วยดีอย่างไร ขณะนี้ เรามองข้ามความจริงข้อนี้ จึงไม่พัฒนาผู้นำระดับที่หนึ่ง คือพระสงฆ์ แล้วพยายามไปหาไปสร้างผู้นำอะไรต่างๆ ขึ้นมา โดยละทิ้งสิ่งที่มีอยู่เดิม ทรัพยากรที่มีอยู่ก็ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น การพัฒนาประเทศไทยที่เป็นมา ที่ผิดพลาดก็มีเรื่องนี้เป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง ฉะนั้น การให้การศึกษาแก่พระสงฆ์ในชนบท ก็คือการสร้างสรรค์ผู้นำที่มีคุณภาพให้แก่ชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น ด้วยเหตุนี้ การที่เราปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ในชนบท จึงมีความหมายทั้งในแง่พระศาสนา และในแง่ของสังคมทั่วไปของประเทศไทยทั้งหมด

 

การศึกษาเป็นศาสนกิจหลัก: ฐานะที่สูญเสียไป

ประการต่อไป ก็คือ ฐานะของการศึกษาเอง ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด บรรดากิจกรรมในพระพุทธศาสนานั้น อะไรสำคัญที่สุด ขอตั้งเป็นคำถามขึ้นมา ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาถืออะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก็จะเน้นในเรื่องนั้นๆ และเอาใจใส่ในเรื่องนั้นๆ ถ้าบอกว่าการปกครองสำคัญที่สุด ก็ต้องให้ความสำคัญแก่การปกครอง เอาใจใส่ พยายามที่จะออกกฎหมายคณะสงฆ์ ตรากฎมหาเถรสมาคม ออกระเบียบอะไรต่างๆ เพื่อจะจัดการปกครองให้ได้ผล ถ้าพระประพฤติไม่ดีก็ออกกฎหมายมาลงโทษ และพิจารณาหาทางว่าทำอย่างไรจะลงโทษให้ได้ผล วางระเบียบในการพิจารณาอธิกรณ์ หรือการดำเนินคดีของพระ ให้รัดกุมอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเราบอกว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดของพระศาสนา เราก็หันมาเอาใจใส่ในการศึกษา

ในความเป็นจริง ศาสนกิจส่วนไหนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในพระศาสนา ขอให้เรามองภาพในอดีตว่า ในระบบการปกครองพื้นฐานทางพระธรรมวินัย มีองค์ประกอบและหลักการอย่างไร การปกครองพื้นฐานแต่เดิมก็มีอุปัชฌาย์อาจารย์ กับลูกศิษย์ แยกเป็นอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก อาจารย์กับอันเตวาสิก นี้เป็นระบบความสัมพันธ์พื้นฐานที่เป็นการปกครองในพระศาสนา และในการปกครองนี้ หน้าที่หลักของผู้ทำหน้าที่ปกครองคืออะไร ก็คือ การให้การศึกษา อุปัชฌาย์อาจารย์มีความสัมพันธ์กับศิษย์ในการให้การศึกษาอบรม นี้แหละคือพื้นฐานอันดับหนึ่ง ซึ่งเริ่มมาจากบทบัญญัติในพระวินัย ที่ให้พระบวชเข้ามาแล้วต้องถือนิสัย ๕ พรรษา เป็นนวกะ อยู่กับอุปัชฌาย์ หรืออยู่กับอาจารย์ ก็คือได้รับการฝึกอบรมในธรรมวินัยหรือให้การศึกษานั่นเอง การศึกษานั้นก็เป็นการปกครองไปด้วย แต่การศึกษาเป็นกิจกรรมหลัก โดยที่ว่าเมื่อมีการศึกษา ก็จะมีความสัมพันธ์ในแง่ที่เป็นครูอาจารย์กับศิษย์ ซึ่งมีการปกครองไปในตัว คุณค่าที่เกิดจากการศึกษานั้นให้ทุกๆ สิ่งแก่ชีวิต การศึกษาสร้างคน สร้างชีวิตจิตใจ พัฒนาบุคคลนั้นขึ้นมา ให้สามารถที่จะดำรงอยู่ ดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี มีความเจริญงอกงาม เป็นการให้สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดแก่ชีวิต ซึ่งมีความหมายเชิงพระคุณอย่างมาก ฉะนั้น การศึกษาซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องการถือนิสัย ให้มีการอยู่โดยสัมพันธ์กันระหว่างอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ จึงเป็นเรื่องของการให้สิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตที่ผูกจิตใจของกันและกันไว้ ทำให้มีการปกครองอย่างเป็นไปเอง โดยไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาปกครอง

ในระบบการศึกษาในวัดของไทยเราแต่โบราณ การเป็นอยู่ในวัดเป็นชีวิตแห่งการศึกษา พระอาจารย์เป็นเจ้าวัด ลูกวัดก็คือลูกศิษย์ ทุกวัดมีการศึกษา โดยเจ้าอาวาสเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ลูกวัด ดังจะเห็นว่า แม้ในปัจจุบัน ก็ยังเรียกเจ้าอาวาสว่าอาจารย์ ทั้งที่ไม่ได้ทำหน้าที่อาจารย์กันแล้ว ความเป็นอาจารย์กับศิษย์นี้ เป็นฐานะที่ลึกซึ้งยิ่งใหญ่กว่าการเป็นเจ้าวัดกับลูกวัด และจะติดไปกับตัวจนกระทั่งว่า แม้ผู้นั้นจะคืนสิกขาลาเพศไปไหนก็ตาม ก็จะมีความผูกพันกับอาจารย์ของตน และไม่ทิ้งสำนัก เพราะอาจารย์และสำนักได้ให้สิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตของเขา เป็นผู้สร้างชีวิตของเขามา จนกระทั่งตายเขาก็ไม่ทิ้งวัด การปกครองก็ได้ผล เพราะมีเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ อยู่ด้วยกันในฐานะอาจารย์กับศิษย์ ก็ปกครองกันได้ เมื่อออกไปแล้วก็มาช่วยเกื้อกูลวัดนั้นอีก

แต่มาในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นผู้ปกครอง แต่ไม่มีฐานะเป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ไม่ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน สภาพนี้กำลังเป็นไปอย่างมาก การศึกษากำลังกลายเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องของความชำนาญพิเศษ ผู้ที่มีหน้าที่ให้การศึกษาก็ให้การศึกษาไป ผู้ทำหน้าที่ปกครอง ก็ปกครองไป แยกกันต่างหาก พระเณรอาศัยวัดเป็นเพียงที่อยู่ ออกไปเรียนหนังสือที่อื่น ถ้าอย่างนี้แล้ว มันก็จะต้องเกิดปัญหาขึ้น ฝ่ายการศึกษาก็แยกตัวต่างหากออกไป แล้วลูกวัดกับผู้ปกครองคือเจ้าอาวาส ก็อาจจะมีปัญหาซึ่งกันและกัน มีความขัดแย้งกัน ไม่อยู่ในโอวาท ว่ากล่าวกันไม่ได้ ในปัจจุบันนี้ เอาการปกครองมาเป็นหลัก ให้ความสำคัญอันดับสูงสุด โดยไม่สัมพันธ์กับการศึกษา เพราะฉะนั้น ประเพณีนี้ก็เปลี่ยนไป แล้วโทษก็เกิดขึ้นแก่พระศาสนาทั้งหมด

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ ในการวางนโยบายและแผนการศึกษาซึ่งเป็นทิศทางของการศึกษาต่อไป จึงกำหนดว่า จะต้องให้การศึกษากลับฟื้นขึ้นมาสู่ฐานะเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับสูงสุดในกิจการพระศาสนา และจะต้องให้ผู้บริหารการพระศาสนา มีฐานะเป็นผู้ให้การศึกษาแก่พระเณรทั่วไป มีการศึกษาเป็นหลักในการยึดเหนี่ยวจิตใจ คือมีสิ่งสัมพันธ์ยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเรียกว่าผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง เพราะเดิมนั้น คำนี้ก็คงจะไม่มีในระบบสงฆ์ด้วยซ้ำไป เพราะเราอยู่ในฐานะอาจารย์กับศิษย์มาแต่ไหนแต่ไร แต่เวลานี้เรากำลังไปดำเนินตามอย่างทางโลก ฐานะและความสัมพันธ์แบบนี้ก็หมดไป ทำให้การศึกษากับการปกครองแยกจากกัน แล้วการปกครองก็ไม่ได้ผลดี เจ้าอาวาสกับลูกวัด มีฐานะและความสัมพันธ์แบบผู้ปกครอง กับผู้อยู่ใต้ปกครอง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ง่ายต่อการที่จะเกิดความรู้สึกแบบเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อการปกครองเสียหลักแล้ว ความเสื่อมโทรมก็เกิดขึ้นแก่พระศาสนา เมื่อปกครองกันไม่ได้ ความประพฤติเสื่อมโทรมก็ปรากฏแพร่หลายทั่วไป เพราะฉะนั้น จึงจะต้องนำการศึกษากลับขึ้นมาสู่ฐานะศาสนกิจอันดับสูงสุด นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าว่าโดยสรุปก็คือ ต้องเอาการศึกษามานำการปกครอง มิใช่เอาการปกครองมานำการศึกษา

การปกครองควรเป็นเปลือกหุ้มการศึกษา ที่ว่าหุ้มการศึกษา ก็คือหุ้มพระศาสนานั่นเอง ขอให้พิจารณาดู พระศาสนาอยู่ที่ไหน ที่เราบวชเข้ามาก็เพื่อการศึกษา เพื่อ ไตรสิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา หมายความว่า ระบบความเป็นอยู่ การเป็นอยู่ในพระศาสนา ก็คือการศึกษาฝึกฝนอบรม ฉะนั้น เนื้อหาของพระศาสนาก็คือการศึกษา การปกครองเป็นเปลือกห่อหุ้ม เพื่อให้การศึกษาที่เป็นเนื้อหานี้ คงอยู่และดำเนินไปได้ ถ้าไม่มีเนื้อหาคือการศึกษา การปกครองก็ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้น ต้องให้การศึกษามานำการปกครอง

 

ความขาดเอกภาพ: ลักษณะเด่นแห่งการศึกษาของคณะสงฆ์

ทีนี้ สภาพปัจจุบันที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ก็คือสภาพที่เรียกว่า ความขาดเอกภาพในการศึกษาของคณะสงฆ์ ปัจจุบันนี้ การศึกษาของคณะสงฆ์ อยู่ในภาวะที่เรียกว่าไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีระบบซ้อนระบบ และหลายระบบซ้อนๆ กัน ยิ่งกว่านั้น แต่ละระบบนั้น ก็ไม่อิงอาศัย ไม่เกื้อกูลกัน ไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ต่างคนต่างทำกันไปคนละทิศละทาง บางทีก็ขัดแย้งกัน สร้างความขัดแย้งทั้งในจิตใจของพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียน และสร้างความขัดแย้งในการดำเนินกิจการโดยทั่วไปด้วย

การศึกษาของคณะสงฆ์ ที่ว่าไม่มีระบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ลองมามองดูว่า ปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ของเรามีทางเล่าเรียนอะไรกันบ้าง ที่เราเห็นกันอยู่เวลานี้ เช่น เราเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ในเวลาที่ผ่านมา ก็มีพระเถระผู้ใหญ่หลายท่านไม่ยอมรับ และไม่สนับสนุนให้เล่าเรียน อีกด้านหนึ่งเราก็มีระบบการศึกษาแผนเดิม คือ พระปริยัติธรรมแผนกธรรม และ แผนกบาลี มองกว้างออกไปอีก ก็ยังมีระบบการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งต่างออกไปอีกมิติหนึ่งเลย แล้วก็มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา มีอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง

ทีนี้ เราลองมาดูระบบการบริหารและสังกัดว่าเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้สังกัดที่ไหน ฝากเป็นการบ้านไปคิดดู มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้สังกัดอะไร เรื่องเคยมี ตอนนั้นไปร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ฉบับก่อน พอร่างเข้ามาถึงรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ก็รับหลักการโดยมติเป็นเอกฉันท์ คือรัฐบาลเป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ. นั้น เสร็จแล้วก็นำไปพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกา ข้อปัญหาอันหนึ่งที่พิจารณาก็คือว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้มีฐานะสังกัดอะไร คณะกรรมการก็ได้พิจารณาเรื่องนี้เสียเวลาพอสมควร แต่ว่า โดยหลักการก็คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องการความเป็นอิสระ แต่ให้รัฐไปคิดดูว่า สังกัดอะไร

นอกจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็มีการศึกษานักธรรมบาลี อันนี้ก็เข้าสังกัดของคณะสงฆ์เอง โดยมีแม่กองธรรม และแม่กองบาลี ต่อจากนั้นก็มีโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร อันนี้สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน ต่อไปอีก โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาสังกัดที่ไหน อันนี้ตามระเบียบให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ถือว่าสังกัดกรมการศาสนา รวมความว่ามีหลายสังกัด สังกัดคณะสงฆ์บ้าง สังกัดกรมการศาสนาบ้าง สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียนบ้าง สังกัดอิสระบ้าง

ทีนี้ นอกจากหลายสังกัดแล้ว แต่ละสังกัดก็ไม่มาโยงหรือเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร มีพระเณรเรียนจำนวนมาก ได้รับความนิยมอันดับสูงสุดก็ว่าได้ ปรากฏว่าไม่มีชื่อในรายงานการศาสนาประจำปี กรมการศาสนานี้ ทำหนังสือรายงานการศาสนาประจำปีทุกปี ปีละเล่ม แต่ในหนังสือรายงานนี้ ไม่มีชื่อการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร ทั้งๆ ที่ว่า การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณรเป็นการศึกษาระบบใหญ่ระบบหนึ่ง มีพระเณรเรียนจำนวนมาก ขอให้ลองคิดดู ในเมื่อสถาบันที่รับผิดชอบการพระศาสนา ไม่ถือว่าการศึกษาระบบนี้เป็นการศึกษาทางพระศาสนา ก็ย่อมไม่เอาใจใส่ เมื่อไม่เอาใจใส่ ก็ปล่อยแล้วแต่มันจะเป็นไป เมื่อเราปล่อย ไม่รับผิดชอบเลย มันก็อยู่ในสภาพที่ว่า ใครเป็นเจ้าของงานนั้น (คือกรมการศึกษานอกโรงเรียน) เขาจะทำอะไรก็ทำไป ผมเคยถามกรมการศึกษานอกโรงเรียน อยากจะขอสถิติพระเณรที่เรียนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ว่ามีจำนวนเท่าไร เขาหาให้ไม่ได้ เพราะอะไรจึงหาให้ไม่ได้ เขาบอกว่า ตัวเลขพระเณรเหล่านี้ ไม่ได้ถือเป็นพระเณร คือถือว่าเป็นนักศึกษาผู้ใหญ่ เมื่อถือเป็นนักศึกษาผู้ใหญ่ ก็มีฐานะเหมือนกันกับนักศึกษาอื่นๆ ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ พระนักเรียนรูปหนึ่งเข้าไป เขาก็ไม่ได้แยกออกว่าเป็นพระเณร เพราะฉะนั้น จึงหาสถิติพระเณรเรียนศึกษาผู้ใหญ่ไม่ได้ ถ้าท่านอยากจะได้สถิติ ท่านต้องไปนั่งนับเอาเอง ผมก็ยังไม่ได้นับเหมือนกัน แต่ผมเคยได้ตัวเลขไว้บ้าง เป็นสถิติสมัยก่อน ในระยะปีแรกๆ ที่ตั้ง พอหาสถิติได้ ระยะนั้น ตัวเลขเพิ่มรวดเร็ว จนกระทั่งขึ้นไปเป็นห้าหมื่น แต่ระยะหลังๆ มานี้ ไม่อยากทำความเพียรมากนัก ก็เลยหลุดไป ที่จริงก็อยากให้ช่วยกันรวบรวมสถิติไว้ เคยฝากให้บางท่านไปช่วยสอบถามไปช่วยนับหน่อย แต่ดูจะเงียบไป ถ้าพวกเรามีหลายๆ คน ก็ไปนับได้ ยอมอดทนเอาหน่อยเพราะเป็นสิ่งที่น่ารู้ ไปที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน ขอบัญชีแต่ละโรงเรียน แล้วก็เอามานับ ไม่ยากเท่าไรหรอก แต่ตอนแรกให้รู้ว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระเณร แล้วเราก็เอามาแยกของเราเอง ก็จะได้สถิติออกมา

เท่าที่พูดมานี้ก็แสดงถึงการที่ว่า การศึกษาของพระสงฆ์นี้ มีมากมายหลายระบบ และไม่เอื้อ ไม่เกื้อกูลแก่กันและกัน ไม่เชื่อมโยง ไม่ประสานกัน สภาพเช่นนี้ทำให้การดำเนินการในการส่งเสริมอะไรนี้ ลำบากยากเย็นไปหมด แม้แต่ในจิตใจของพระเณรแต่ละองค์ก็มีความขัดแย้ง และสับสน ในวัดเดียวกันมีหลายระบบ พระเณรบวชเข้ามา คิดว่าจะเรียนทางไหนดี เดี๋ยวอาจารย์มาบอกว่า นี่นะเณร เธอต้องเรียนบาลี แต่อีกเดี๋ยวหนึ่งเณรรุ่นพี่ก็บอกว่า อย่าไปเรียนเลยบาลี ไม่ได้เรื่องหรอก ยากก็ยาก มาเรียนศึกษาผู้ใหญ่ดีกว่า เณรองค์นั้นก็เกิดความขัดแย้งในใจ คิดว่าเราจะเรียนอะไรดี หลวงพ่อก็บอกให้เรียนนักธรรม ให้เรียนบาลี แต่เณรรุ่นพี่มาชักชวนแนะนำให้เรียนศึกษาผู้ใหญ่ อันนี้ก็เป็นความขัดแย้งในจิตใจ ส่วนด้านภายนอกก็มีความขัดแย้งในการบริหาร พระผู้ใหญ่ หรือเจ้าอาวาสบางวัดก็สนับสนุนการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระเณร เอาไปจัดในวัดของตนเอง บางวัดก็ไม่สนับสนุน แต่วางเฉยใครจะเรียนก็เรียนไป ไม่เรียนก็ไม่ว่า บางวัดก็คัดค้าน บางวัดถึงกับวางกฎว่า ถ้าใครไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระเณร ก็จะไล่ออกจากวัดไปเลย เป็นอันว่า รวมแล้วก็มีหลายแบบ นี่ก็เป็นการขัดแย้งในการบริหารการพระศาสนาด้วย ในเมื่อขาดเอกภาพอย่างนี้แล้ว การดำเนินกิจการก็มีปัญหาไปหมด จะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ฉะนั้น ทิศทางด้านหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือการสร้างเอกภาพในระบบการศึกษาของคณะสงฆ์

พูดถึงระบบการศึกษาของคณะสงฆ์นี้ นอกจากตัวระบบที่มีมากมายแล้ว ในรายละเอียดปลีกย่อยลงไปก็ยังมีปัญหาในระบบอีกมากมาย เช่น ระบบการบริหารก็ไม่รัดกุม ปล่อยแล้วแต่จะทำกันไป ไม่มีผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ ฝากงานไว้กับฝ่ายปกครอง และในการให้การศึกษา ทางคณะสงฆ์ท่านก็ถือว่า ท่านไม่มีหน้าที่ให้การศึกษาหรือจัดการศึกษา ท่านมีหน้าที่ในการจัดสอบอย่างเดียว ทางคณะสงฆ์ถืออย่างนี้ ไม่ว่านักธรรมหรือบาลี ตกลงว่าไม่มีผู้รับผิดชอบในการให้การศึกษานักธรรมและบาลี เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาพจะเป็นอย่างไรก็ลองคิดดู

หลักสูตรก็มีแต่แบบเรียน หลักสูตรที่ชัดเจนลงไปไม่มี ในความเข้าใจของคณะสงฆ์ ที่เรียกว่าหลักสูตร ทางบ้านเมืองเขาเรียกว่าแบบเรียน เราบอกว่านักธรรมชั้นตรี เรียน (๑) นวโกวาท (๒) พุทธประวัติเล่ม ๑-๓ (๓) พุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๑ อันนี้ เราเรียกว่าหลักสูตรนักธรรมตรี แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเขามาฟังแล้ว เขาไม่เข้าใจ เพราะความเข้าใจคำว่าหลักสูตรของเขานั้นต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึงหลักสูตรนักธรรมตรี ก็หมายความว่าเขาต้องการให้รู้ว่า ในนักธรรมตรีนั้นเรียนอะไรบ้าง ไม่ใช่ใช้หนังสืออะไร ฉะนั้น มันก็เลยเกิดปัญหา แต่ที่จริงของเราใช้มาก่อน ของเราถูกกว่า อย่าไปดูถูกของท่าน ของเราใช้มาเป็นความหมายเดิม คือเราใช้คำว่าหลักสูตรหมายถึงหนังสือเรียน แต่ทางบ้านเมืองเอาคำว่าหลักสูตรไปบัญญัติใหม่ ใช้ในความหมายว่ารายการสิ่งที่ให้เรียน ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เมื่อทางบ้านเมืองเขาใช้หลักสูตรในความหมายใหม่ว่าอย่างไร พระเราก็ต้องรู้เข้าใจเท่าทันตามนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม หลักสูตรในความหมายที่เข้าใจในวงการศึกษาทั่วไปในปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่า คณะสงฆ์เราไม่มี

๒. ทิศทางข้างหน้า

การแก้ปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์

นี้ก็เป็นเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งยังมีมากมาย โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นปัญหา ที่พูดมานี้ ผมยกเอาเฉพาะประเด็นที่สำคัญมา ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับสภาพโดยตรง ถ้าเข้าใจสภาพนี้แล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานในการที่จะดำเนินการศึกษาต่อไป และจะเป็นเครื่องช่วยให้เรากำหนดทิศทางการศึกษาได้ด้วย ดังได้พูดมาแต่ต้นแล้วว่า สำหรับทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์เรานี้ ในเมื่อสภาพปัจจุบันมีปัญหามาก เราก็จะต้องใช้แรง ใช้ความเพียรไปมากในทางลบ คือในทางที่จะแก้ปัญหา ทำอย่างไรจึงจะสามารถหันเหให้มาเป็นเรื่องทางบวก คือให้เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ส่งเสริมสนับสนุน นี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดกันต่อไป หมายความว่า ทำอย่างไรจะให้เป็นไปในทิศทางของการสร้างสรรค์ให้ได้มากที่สุด

 

เป็นผู้นำ หรือเพียงตามเขาทัน เพื่อติดตันอย่างเขา

จุดเน้นที่พูดมาเมื่อกี้ ได้บอกถึงเป้าหมายว่า เราจะแก้ไขให้พ้นจากความด้อยขึ้นมาเป็นผู้นำในการศึกษา โดยเฉพาะบาลีและพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญในทางสร้างสรรค์ แต่เท่าที่ผมพูดมาหลายอย่างนั้น เป็นเพียงปัญหาที่เป็นข้อบกพร่อง ข้อบกพร่องนั้น เมื่อแก้ให้จบไป ก็กลายเป็นความปกติ ได้แค่นั้น แต่ความปกตินั้นก็มีความสำคัญที่ว่า มันจะทำให้เราทำอะไรได้สะดวก ส่วนในทางสร้างสรรค์นั้น สิ่งสำคัญในทางการศึกษาก็คือ ความเป็นผู้นำในทางการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในด้านพระพุทธศาสนา จำกัดแคบเข้ามาก็คือการศึกษาบาลีและธรรมวินัย หน้าที่หลักของเรานั้น ในระยะยาว ก็หนีไม่พ้นบทบาทหลักที่พูดมาแล้วในข้อที่ ๑ คือ บทบาทในการฝึกอบรมหรือสร้างศาสนทายาท ให้การศึกษาแก่พระภิกษุและสามเณรที่จะเป็นผู้มีคุณภาพ คือเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ มีความรู้แล้วสามารถในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

การสร้างความเป็นผู้นำในการศึกษานี้ ผมคิดว่ามี ๓ ระดับด้วยกัน ระดับที่ ๑ ก็คือ เรื่องที่พูดมาแล้ว ที่เราได้พยายามกันมามากมาย ใช้เวลากันเป็น ๒๐-๓๐ ปี คือ การที่จะให้เขารับรองวิทยฐานะ แล้วก็ได้รับรองไปแล้วแค่ขั้นปริญญาตรี ซึ่งยังไม่จบ ภาระนี้จะต้องทำต่อไปอีก นี้ก็เป็นเรื่องของความเป็นผู้นำอย่างหนึ่ง โดยเหตุผลที่ว่า ในขณะที่สถาบันของสงฆ์เป็นหลักของพระศาสนา ควรจะเป็นผู้นำ แต่ถ้าเรามีการศึกษาเพียงปริญญาตรี จะเป็นผู้นำได้อย่างไร ฉะนั้น ในแง่ของสถานะทางสังคม เราจำเป็นต้องทำ แม้ว่าในแง่เนื้อหาสาระก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญนัก เราอาจจะมีการศึกษาธรรมวินัยดี มีความรู้ดีมากกว่าปริญญาเอก แต่ในทางสังคมเขาไม่ยอมรับ แล้วจะไปทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น การยอมรับของสังคมนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องให้ความสนใจเอาใจใส่เหมือนกัน อย่างคนของเรานี้ เรียนจบไปแล้ว ได้ปริญญาไปแล้ว จบเปรียญ ๙ ประโยค แล้วสึกออกไป ไปสมัครเข้าทำงาน พร้อมกันนั้นก็มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทางโลก เขาจบปริญญาโททางศาสนามาสมัครที่เดียวกัน ตอนนี้ความรู้แท้จริงไม่เกี่ยว พอไปเข้า ทางการเขาตีราคา อ้าว! ท่านประโยค ๙ เป็นปริญญาตรี อ้อ! ท่านผู้นี้เป็นปริญญาโท ผลที่สุดเป็นอย่างไร เข้าไปทำงานด้วยกัน คนที่ได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยทางโลกก็เป็นหัวหน้า แล้วคนที่ได้เปรียญ ๙ ก็ไปคอยช่วยรับคำสั่งให้ค้น หัวหน้าก็บอกว่า เอ้า! วันนี้ไปค้นนั่นมาให้หน่อย ก็ค้นได้ เก่งด้วย ค้นได้ดีด้วย แต่ว่ามีฐานะเป็นอะไร เป็นประจำแผนกอะไรทำนองนี้ นี้เป็นเรื่องสถานะในทางสังคม แต่อันนี้เราพูดเป็นกรณีปลีกย่อย ที่สำคัญก็คือสถานะของคณะสงฆ์โดยรวม ซึ่งเราจะต้องพยายามเชิดชูให้คณะสงฆ์มีการศึกษาระดับสูงสุด นี้ว่าในด้านรูปแบบ ซึ่งมีความสำคัญเหมือนกัน

การที่เราจะต้องยกฐานะให้คณะสงฆ์มีการศึกษาชั้นสูง ระดับปริญญาโท ปริญญาเอกนั้น เวลานี้พระเถระผู้ใหญ่ก็เห็นความสำคัญเหมือนกัน เพราะว่าการศึกษาเปรียญ ๙ ประโยคนั้น เราถือกันมาโดยประเพณีเมืองไทยแต่ไหนแต่ไรว่า เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยที่สูงสุดแล้ว ถือเป็นเปรียญเอก แต่ปัจจุบันนี้มีฐานะเป็นเพียงปริญญาตรีเท่านั้น ต่ำต้อยมาก เพราะฉะนั้น จะต้องยกฐานะขึ้นมา จะต้องให้พระมีการศึกษาที่สูงเท่าปริญญาเอกให้ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในด้านรูปแบบ อย่างน้อยก็ไม่ให้ด้อยกว่าสถาบันในภายนอก ก็จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทิศทางที่ได้พูดมาเมื่อกี้ว่า ตอนนี้ก็มีการพยายามที่ว่า ทำอย่างไรจะให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พุทธศักราช ๒๕๒๗ ให้พระสงฆ์ หรือสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ สามารถจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท ปริญญาเอกได้ และก็ได้รับการรับรองวิทยฐานะด้วย

เป็นอันว่า ประการที่ ๑ ก็เป็นความจำเป็นเกี่ยวกับสถานะในสังคม โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นแม่จะต้องเอาใจใส่ คณะสงฆ์นี้เท่ากับเป็นแม่ ซึ่งมีลูกจำนวนมาก ก็ต้องห่วงใยว่า ลูกของตนเองนั้น ทำอย่างไรจะให้มีหน้าที่ ตำแหน่ง มีฐานะไม่ตกต่ำไม่เสียหาย สามารถดำเนินชีวิตไปได้ดี ทั้งเมื่ออยู่ในวัดและเมื่อออกจากวัดไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ ที่จะยกฐานะทางการศึกษาของพระเณรให้สูงขึ้นไป และอีกฐานะหนึ่ง ก็เป็นความรับผิดชอบในทางสังคมโดยเหตุผลว่า พลเมืองของสังคมไทยนี้จำนวนมากได้เข้ามาอยู่ในวัดเพื่อการศึกษา เมื่อเรารับเขาเข้ามาอยู่แล้ว เราจะไม่รับผิดชอบหรือ เราจะปล่อยให้เขามาอยู่อย่างเลื่อนลอย แล้วอยู่มาระยะหนึ่ง เมื่ออยู่ไปไม่ไหว เขาก็กลับออกไปสู่สังคมโดยไม่ได้อะไรออกไป และกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาประเทศชาติสังคมไม่ได้ เป็นภาระต่อสังคม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นการแสดงว่า คณะสงฆ์ไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ไม่เกื้อกูลต่อสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าคณะสงฆ์จะเกื้อกูลต่อสังคม เมื่อรับเอาพลเมืองของเขาเข้ามาแล้ว ในเวลาที่เขาอยู่ ก็ต้องพยายามให้เขาได้รับการฝึกอบรมให้ดีที่สุด ถ้าต่อมาเขาอยู่ไม่ได้ เมื่อเขากลับออกไป ก็จะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำในด้านรูปแบบ แต่ในเวลาเดียวกัน ในขณะที่เราทำการนี้ เราจะต้องตระหนักไว้ในใจด้วยว่า ถึงแม้ถ้าเราจะทำได้สำเร็จตามเป้าหมายนี้ เราก็ยังไม่ได้เป็นผู้นำหรอก เราเพียงแต่ตามเขาทันเท่านั้นเอง เพราะเขามีปริญญาเอกอยู่ก่อนแล้ว อย่าเพิ่งดีใจ เราได้แค่ตามทัน

นอกจากจะเป็นผู้ตามเขาทันแล้ว ยังมีผลตามมาอีก คือ เราจะเป็นพวกเดียวกันและเสวยผลอย่างเดียวกันกับการศึกษาของประเทศไทย หรือของสังคมไทยในปัจจุบัน หมายความว่า การศึกษาปัจจุบันของบ้านเมืองนี้ เขามีปัญหาอะไรอยู่ เราก็จะต้องประสบปัญหาแบบเดียวกับเขาด้วย เพราะเราตามไปในทางของเขา เช่นว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในปัจจุบัน จบไปแล้วหางานทำยาก ตกงานมาก เราก็จะต้องประสบปัญหานั้นด้วย นอกจากนี้ ปัญหาอื่นที่ลึกซึ้งกว่านั้น ก็ยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งจะได้พูดกันต่อไป แต่การแก้ไขปัญหาที่ลึกซึ้งเหล่านั้น เป็นหน้าที่ของการศึกษาในระดับของความเป็นผู้นำที่สูงกว่านี้ ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันนี้ การศึกษาของสังคมไทยนี้ มีปัญหามากในแง่ที่ทำให้คนของเรามีอาการอย่างที่เขาเรียกว่า ละทิ้งภูมิปัญญาของไทยไป แล้วก็ไปตามอย่างฝรั่ง ทีนี้ ถ้าการศึกษาของพระสงฆ์มาเดินตามแนวทางการศึกษาของบ้านเมือง เราก็จะมีปัญหาอย่างเดียวกัน และสร้างปัญหาอย่างเดียวกันกับการศึกษาของฝ่ายบ้านเมืองด้วย คือจะทำให้เราละทิ้งภูมิปัญญาไทยไป ดังนี้เป็นต้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องตระหนักไว้ แต่เป็นเรื่องที่จะพูดในข้อต่อๆ ไป เอาละตอนนี้ก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในระดับรูปแบบ

 

สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ

ประการต่อไป สิ่งที่จะต้องทำให้ได้ในระดับสอง เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการศึกษาทางพระศาสนา หรือบาลีและธรรมวินัย ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความเป็นเลิศทางวิชาการ ในวงการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ภาวะนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยทั้งหลายต่างก็ใฝ่ฝัน ที่จะเข้าถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ

ความเป็นเลิศทางวิชาการนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความเป็นผู้นำได้ ในฐานะที่คณะสงฆ์เป็นสถาบันหลักของการศึกษาพระพุทธศาสนา ควรจะเป็นผู้นำในการศึกษาพระพุทธศาสนา จึงควรจะเป็นผู้เป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนาด้วย แต่จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ความสำเร็จในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ผู้บริหารการศึกษาจะต้องคิดหาแนวทางจัดดำเนินการศึกษา จัดการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรเป็นต้น จัดหาครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมีความสามารถ และฝ่ายนิสิตก็จะต้องเพียรพยายาม ด้วยความตระหนักถึงเป้าหมายนี้อยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไร จะให้สถาบันการศึกษาของเรามีคุณภาพถึงระดับที่เป็นเลิศในวงวิชาการฝ่ายพระพุทธศาสนาได้ จิตสำนึกนี้ควรจะเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ประจำอยู่ในจิตใจของนิสิตปริญญาโทรุ่นแรกนี้ ให้เป็นสิกขสัญญาว่า ทำอย่างไรจะมีคุณภาพเป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนา ซึ่งความเป็นเลิศนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำ ในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่ามีชื่อเสียงมากๆ ในการศึกษาด้านใดด้านหนึ่งนั้น เขาจะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในวิชาการสาขานั้น เป็นองค์ประกอบที่แน่นอน เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก คือเราจะต้องหาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในวิชาการนั้นๆ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวิชาการนั้นๆ ก็ต้องอุทิศเวลาให้จริงจังแก่การสอนนิสิต ซึ่งเขาจะให้มีความรับผิดชอบในขอบเขตที่แคบจำเพาะ เพื่อทำงานให้ได้ผล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นจะรับผิดชอบนิสิตเพียงไม่กี่รูป อาจจะ ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป เท่านั้นเอง เรียกว่ามีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกันมาก สามารถปรึกษาหารือให้คำแนะนำกันได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะเป็นเป้าหมายระยะไกล ยังทำได้ยาก เวลานี้ แม้แต่เพียงว่าจะหาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในทางพระพุทธศาสนาให้ได้ ก็เป็นเรื่องยากแล้ว ทำอย่างไรจะให้เขามาอุทิศตัวอุทิศเวลาให้เต็มที่ อยู่กับนิสิตเป็นกลุ่มๆ กลุ่มเล็กๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เสียแล้ว

ต่อไปก็คือการเล่าเรียน เริ่มตั้งแต่การจัดหลักสูตร ในการจัดหลักสูตรนั้น ปัจจุบันนี้เราต้องคำนึงถึงเกณฑ์ของทบวงมหาวิทยาลัย จัดให้มีเครดิตหรือจำนวนหน่วยกิตครบตามที่ทบวงกำหนดไว้ วิชาพื้นฐาน วิชาบังคับอะไร มีเท่าไร เขามีหลักเกณฑ์อย่างไรก็พยายามทำ แต่ถ้าเราไม่ระวัง ก็จะได้แต่จำนวนตามเกณฑ์เท่านั้น คือว่า หลักสูตร และการจัดการสอนเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางการกำหนด แต่ถ้าเราไม่มีเป้าหมายของเราเองไว้ว่า เราจะสร้างพระสร้างนิสิตของเราให้เป็นคนมีคุณภาพอย่างไร ถ้าไม่มีเป้าหมายไว้ในใจ บางทีวิชาที่เรียนนี้ก็จะเป็นการเรียนแบบเบี้ยหัวแตก คือเรียนเป็นวิชาๆ ไป วิชานั้นก็เรียน วิชานี้ก็เรียน แต่ไม่มีเป้าหมายรวม ฉะนั้น จุดสำคัญก็คือว่า อย่าให้มันเป็นเบี้ยหัวแตก จะต้องมีเป้าหมายไว้ว่า ต้องการให้ผู้สำเร็จการศึกษาของเรา หรือพระเณรของเรานี้ เป็นบุคคลอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร มีคุณภาพอย่างไร อันนี้ต้องตั้งไว้ก่อน ฉะนั้น เกณฑ์ทางการที่กำหนดหลักสูตร จำนวนหน่วยกิต และวิชาที่เรียนเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ จะต้องมีเป้าหมายในใจว่าจะสร้างพระชนิดใดเอาไว้เป็นเกณฑ์ของเราเองด้วย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจุบันนี้ การศึกษาทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศไทย กำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นการให้การศึกษาแบบผลิตสินค้าโหล หมายความว่า ผลิตจำนวนมากๆ ให้มันจบออกมา ครูอาจารย์ไม่มีเวลาที่จะเอาใจใส่กะนักเรียนกะนิสิตมากนัก ให้ข้อสอบให้งานไปทำก็ไม่มีเวลาตรวจ เดี๋ยวนี้ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีปัญหานี้มาก แม้แต่วิทยานิพนธ์ ให้ไปทำมา ก็เพียงว่าทำมาให้ได้ตามเกณฑ์ที่วางไว้ อาจารย์เองก็ไม่ค่อยมีเวลาจะตรวจจะอ่าน ก็เอาพอว่าให้มันผ่านๆ ไป อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะไม่มีเวลา ข้อสอบเดี๋ยวนี้ก็ใช้ข้อสอบแบบปรนัยกันมาก ปรนัยกันเกร่อ และปรนัยก็มีปัญหา จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ มีเสียงพูดกันมากว่า ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หรือแม้แต่ปริญญาโท เขียนไม่เป็น ใช้ภาษาไม่เป็น ไม่สามารถใช้ภาษาแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกนึกคิดของตนอย่างแจ่มชัด แสดงออกอย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นความเสื่อมของการศึกษาอย่างหนึ่ง เพราะว่าความมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาระดับสูง ก็คือความสามารถในการคิด และในการแสดงออกซึ่งความคิดนั้นเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเรามีความรู้ เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ แต่ไม่สามารถแสดงความคิดออกไปให้เขาเข้าใจ นำไปใช้ประโยชน์ได้ ประโยชน์จากการศึกษาของเราก็เหลือนิดเดียว ฉะนั้น จะต้องสามารถคิดและถ่ายทอด แสดงออก ให้ความคิดความรู้ของเราออกไปอย่างมีคุณค่า เป็นคุณประโยชน์แก่สังคมได้ด้วย

ภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถสื่อสารถ่ายทอดความคิด ความรู้ ออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ปัจจุบันนี้ การศึกษากำลังจะทำลายความสามารถนี้ด้วยระบบต่างๆ เช่น การวัดผลที่ไม่มีความเอาจริงเอาจัง ละเลยการแสดงออกอย่างได้ผลและมีเหตุมีผล ขาดการฝึกฝนในด้านภาษาที่จะแสดงออกเช่นนั้น เรื่องนี้มีความสำคัญไม่เฉพาะในระดับปริญญาโทเท่านั้น แม้แต่ปริญญาตรีก็จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ทำอย่างไร ครูอาจารย์จะมีเวลามากขึ้นในการที่จะให้ความสนใจ ใส่ใจแก่งานของนิสิตนักเรียน ไม่ให้ได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาแบบดิบๆ สุกๆ ในเมื่อครูอาจารย์ไม่มีเวลา ที่จะเอาใจใส่ตรวจงานดูงานของนิสิตนักเรียน ไม่มีเวลาเอาใจใส่ผลการเรียนที่แท้จริงว่า เขาพัฒนาไปแค่ไหน ก็จะได้ผู้สำเร็จการศึกษาแบบดิบๆ สุกๆ เพราะมันไม่สุกจริง แต่เอาแค่พอผ่านๆ หรือมีเครื่องวัดชนิดหนึ่งพอให้พูดได้ว่า เป็นอันผ่าน ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่สามารถมีความเป็นเลิศในทางวิชาการได้ เพราะฉะนั้น เป้าหมายนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไร จึงจะให้สำเร็จได้ด้วยดี

เวลานี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มีการนำเอาพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ลงในคอมพิวเตอร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพิ่งเสร็จใหม่ๆ และได้สร้างโปรแกรมสำหรับค้นคว้าพระไตรปิฎกนั้นอย่างสะดวกรวดเร็วถูกต้องสมบูรณ์ด้วย พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ จะช่วยให้การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกสะดวกและง่ายขึ้นมากมาย และผู้ที่สนใจก็จะสามารถเข้าถึงพระไตรปิฎกได้ด้วยตนเองอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ ถ้าพระสงฆ์ไม่ใส่ใจเร่งรัดตนเองในการศึกษาค้นคว้าภาษาบาลีและพระธรรมวินัย ก็จะยิ่งสูญเสียความเป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนามากขึ้น แต่ถ้าพระสงฆ์มีฉันทะในการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เทคโนโลยีนั้นก็จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ให้สำเร็จผลได้ดียิ่งขึ้น

 

ความเป็นผู้นำที่แท้จริง: ทิศทางที่ควรจะเป็น

ข้อสุดท้าย เรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นตัววัตถุประสงค์ของการศึกษาแท้ๆ และเป็นตัวความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาด้วย ก็คือว่า เราจะนำเอาพระพุทธศาสนา นำเอาพุทธธรรม หรือนำเอาการศึกษาที่เราได้รับจากพระพุทธศาสนา มาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตกาลทางการศึกษาของสังคมไทย และของโลกทั้งหมดได้อย่างไร ถ้าทำอันนี้ได้ จึงจะเป็นผู้นำที่แท้จริง และก็จะต้องตั้งเป้าว่าจะต้องมาให้ถึงขั้นนี้

ปัจจุบันนี้ การศึกษาในประเทศไทยก็ดี หรือมองออกไปทั่วโลกก็ดี ได้มาถึงระยะที่ยอมรับกันว่าเข้าสู่ขั้นวิกฤตกาล ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ นักการศึกษาก็ตำหนิพวกกันเอง ตำหนิระบบการศึกษากันเองมาก เสียงติเตียนอย่างนี้เราจะได้ยินทั่วไปทีเดียว นับเป็นสิ่งหาได้ยากที่ว่า นักการศึกษาผู้อยู่ในวงการศึกษา ผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติ จะมาตำหนิผลงานในวงของพวกตัวเอง แต่ปัจจุบันนี้ ก็ได้เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นแล้ว ขณะนี้ นักการศึกษาได้ตระหนักถึงปัญหาการศึกษาของสังคมไทย ถึงขั้นที่บอกว่า เราได้ดำเนินการศึกษาผิดๆ กันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ การศึกษาของไทย ได้สร้างปัญหาให้สังคมไทยเป็นอันมาก แล้วก็กำลังคิดจะแก้ไข แม้แต่แนวโน้มที่ว่า จะมาเกื้อกูลสัมพันธ์กันกับทางพระศาสนาอีก ก็มีส่วนอยู่ในเรื่องนี้ด้วย และการที่จะวางแผนการศึกษากันใหม่ ก็คงจะมาจากความคิดเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ถ้าเรามองกว้างออกไปในโลก เราก็จะเห็นสภาพอย่างนี้เหมือนกัน การศึกษาระดับโลกก็กำลังอยู่ในระยะประสบวิกฤตกาล อยู่ในระยะของความอุดตัน ความอับจน และไม่ใช่เฉพาะแต่การศึกษาเท่านั้น วิทยาการแทบทุกแขนง กำลังอยู่ในสภาพอย่างนี้ ทั้งนี้เพราะว่า วิทยาการต่างๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในด้านของตนเองให้สำเร็จได้ นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ นักการศึกษาไม่สามารถแก้ปัญหาทางการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ก็ประสบปัญหาในแบบเดียวกันนี้ สังคมกำลังจะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในอดีตนั้น สังคมเคยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้ว เขาเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ในโลกนี้ อารยธรรมมนุษย์กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีก ยุคอุตสาหกรรมกำลังจะสิ้นสุดลง ในบางประเทศก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งมีคนพยายามขนานชื่อกันไปต่างๆ บ้างก็เรียกง่ายๆ ว่า post-industrial society คือ ยุคสังคมหลังอุตสาหกรรม บ้างก็เรียกว่ายุค super-industrial society คือ สังคมอภิอุตสาหกรรม บ้างก็เรียกว่า information society คือ ยุคสังคมข่าวสารสนเทศ หรือยุคสังคมสารสนเทศ ยุคสังคมข่าวสารข้อมูล ชื่อหลังนี้นิยมใช้กันมาก เพราะว่า information คือ สารสนเทศ หรือข่าวสารข้อมูล กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตและสังคมของมนุษย์ ทีนี้ ในตอนที่เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมมาเป็นยุคใหม่ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาก่อน ในช่วงเวลานี้ วิทยาการต่างๆ ก็พากันประสบปัญหา แก้ไขปัญหาของโลกไม่ได้ การศึกษาก็เป็นด้านหนึ่งที่กำลังประสบปัญหานี้และกำลังหาทางออก

ทีนี้ ถ้าหากว่า การศึกษาของคณะสงฆ์เราไปมุ่งตามการศึกษาของโลก มีปริญญาโท ปริญญาเอก อย่างเขา ก็คือตามเขาไปในแนวทางของปัญหา และจะสร้างปัญหาแบบเขานั้นเอง ซึ่งก็เท่ากับว่าไปช่วยเพิ่มปัญหาให้แก่โลกและสังคม ฉะนั้น เราจึงควรจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ช่วยเขาแก้ปัญหา หรือสามารถชี้ทางเดินใหม่ให้แก่อารยธรรมของโลกต่อไป อันนี้เป็นภารกิจของความเป็นผู้นำที่แท้จริง เพราะฉะนั้น การที่เราพยายามดำเนินการศึกษาให้มีปริญญาโท ปริญญาเอกนั้น ก็เป็นงานเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น อย่าถือว่าเป็นการจบสิ้นหรือบรรลุวัตถุประสงค์ จะต้องมองว่า ภารกิจที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ซึ่งเป็นภารกิจของผู้สืบต่อพระศาสนาโดยตรง เป็นภารกิจของชาวพุทธหรือพระภิกษุผู้ทำหน้าที่สืบต่อพระศาสนา ได้แก่ ภารกิจของผู้นำเอาพุทธธรรมมาให้แก่สังคมหรือแก่มนุษยชาติ ซึ่งหมายถึงภารกิจในการชี้ทางออกให้แก่อารยธรรมของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่การศึกษาของประเทศไทยเป็นต้นไป

การศึกษาของประเทศไทยนี้ มีปัญหาอะไรที่ทำให้นักการศึกษาปัจจุบันเห็นไปว่า เป็นการศึกษาที่ได้ดำเนินการมาอย่างผิดพลาด มีตัวอย่างมากหลาย เช่น ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ การศึกษาของเราได้ทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมาก กล่าวคือ เมื่อมีการศึกษาสมัยใหม่เข้าไปในชุมชนไหน เด็กลูกหลานชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เมื่อเข้ามาสู่โรงเรียนสมัยใหม่แล้ว จะมีความรู้สึกแปลกแยกจากวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตัวเอง เข้ากับชุมชนไม่ค่อยได้ แล้วจะต้องหาทางออกจากชุมชนนั้น เข้ามาหาความก้าวหน้าในสังคมเมือง เข้ามาเรียนให้สูงขึ้นไป มีงานมีการทำในกรุงเทพฯ แล้วก็กลับสู่ชุมชนเดิมไม่ได้ เพราะมีสภาพการดำเนินชีวิตที่ไม่กลมกลืน ไม่สอดคล้องกัน แต่มาถึงปัจจุบันนี้ การเลื่อนสถานะทางสังคมด้วยการศึกษากำลังประสบภาวะอุดตัน คือ จบไปแล้วไม่มีงานทำ แต่ในเวลาเดียวกันตัวเองก็แปลกแยกจากชุมชนเดิมในท้องถิ่นแล้ว จะกลับไปอยู่ในชุมชนท้องถิ่นก็ไม่ได้ กลับไปทำอาชีพเดิมก็ทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้อยต่ำ และทำก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้น ก็อยู่ในภาวะที่ทางพระเรียกว่า อุภโตภัฏฐะ เคยได้ยินไหม อุภโตภัฏฐะ แปลว่า เสียทั้งสองด้าน เป็นคำที่มาในชาดกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่เล่าชาดกนี้ เดี๋ยวจะเสียเวลามาก

อุภโตภัฏฐะ เสียสองด้านก็คือว่า เข้ามาอยู่ในกรุงก็ไม่มีงานทำ ทำประโยชน์แก่สังคมกรุงไม่ได้ จะกลับไปบ้านเดิมก็ทำงานในท้องถิ่นไม่ได้ อยู่กับท้องถิ่นก็ไม่ได้ เลยกลายเป็นคนเคว้งคว้างเลื่อนลอย เข้าไม่ได้ทั้งสองทาง อันนี้เป็นปัญหาทางการศึกษาที่ปรากฏขึ้นแล้ว และในเวลาเดียวกันก็เป็นการขุดทรัพยากรออกจากท้องถิ่น การศึกษาของเราในประเทศไทยที่เป็นมานี้ ได้ทำให้คนที่มีปัญญา ทำให้เด็กที่เรียนเก่งในท้องถิ่น เข้ามาสู่ระบบของการสร้างความแปลกหน้า เมื่อเข้ามาแล้วก็ออกจากชุมชนนั้น ออกจากท้องถิ่นนั้นแล้วไม่กลับเข้าไปอีกเลย ท้องถิ่นก็ขาดแคลนกำลังคน ไม่มีกำลังคนที่จะพัฒนา ยิ่งตอนนี้ภาวะทั้งในด้านการศึกษา และในด้านการหาเลี้ยงชีพ ช่วยกันดึงดูดคนเข้ามาสู่ส่วนกลางทั้งหมด คือ พวกที่ ๑ คนที่มีปัญญา สมองดี เข้ามาด้วยการศึกษา ออกจากชุมชนไปหมด พวกที่ ๒ คนที่มีกำลัง มีร่างกายแข็งแรง เมื่อไม่มีงานจะทำในท้องถิ่น หาเลี้ยงชีพยาก ก็เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ผลที่สุด ในชนบทเหลือใคร ก็เหลือผู้เฒ่าผู้แก่ เหลือเด็กๆ ที่ยังทำงานไม่ได้ ท้องถิ่นก็ขาดแคลนกำลังคน เสื่อมโทรม อ่อนแอ ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เรียกว่าเป็นการขุดทรัพยากรออกจากชนบท ซึ่งหมายถึงทรัพยากรคน ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการศึกษา ได้มีความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคม

การศึกษาในสังคมไทยนี้ ได้มีความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคมไปเสียแล้ว ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาชีวิตของบุคคล หรือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนมีความสามารถ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพของตน และพัฒนาชุมชนของตน ความหมายที่แท้จริงของการศึกษา คือ การเสริมสร้างความสามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพ แต่ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านแทบไม่มีใครมีความรู้สึกว่าการศึกษามีความหมายนี้เลย แต่จะมองว่า การศึกษาก็คือช่องทางเลื่อนสถานะทางสังคม ถ้าการศึกษาช่วยเขาให้เลื่อนสถานะทางสังคมไม่ได้ เขาก็ผิดหวัง และเห็นการศึกษาไม่มีประโยชน์ ทีนี้ปัจจุบันนี้ เมื่อเราได้ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคมมาเป็นเวลานาน จนมาถึงจุดที่ว่า เด็กสำเร็จการศึกษาแล้วหางานทำไม่ได้ เลื่อนสถานะทางสังคมไม่สำเร็จ ชาวบ้านก็ผิดหวังต่อการศึกษา มองเห็นว่าการศึกษาไม่มีประโยชน์ ก็เสื่อมศรัทธาต่อการศึกษา จึงจะต้องสร้างความเข้าใจใหม่ ให้ชาวบ้านเข้าใจความหมายของการศึกษาอย่างถูกต้องแท้จริงว่า ไม่ใช่เป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคม แต่เป็นเครื่องช่วยให้เราสามารถพัฒนาชุมชนของเรา พัฒนาชีวิตของเราให้ดีงาม และสามารถอยู่ในท้องถิ่นได้ เป็นต้น อันนี้เป็นทิศทางใหม่ของการศึกษาของชาติทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะของคณะสงฆ์เท่านั้น ทีนี้ ถ้าเราไม่ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ เราก็จะเข้าสู่กับดักแห่งการสร้างปัญหาให้แก่สังคมไปด้วย

นอกจากนี้ ในเมื่อการศึกษามีความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะในทางสังคม การศึกษาก็เลยทำให้เกิดช่องว่างในทางสังคมเป็นอันมาก เพราะแต่ละคนต่างก็พยายามที่จะก้าวขึ้นสู่สถานะที่สูงยิ่งขึ้นไป มียศตำแหน่งสูงขึ้น มีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้น รวยมากขึ้น แก่งแย่งช่วงชิงเอาเข้ามาหาตน ช่องว่างระหว่างคนยากคนจนกับคนมั่งมีก็กว้างขึ้น ช่องว่างในการพัฒนาคุณธรรมกับพัฒนาวัตถุ ก็ห่างไกลกัน ทำให้มีความรู้สึก ที่ไม่ประสานกลมกลืนกันในสังคมไทยนี้สูง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและไปสัมพันธ์กับปัญหาอีกข้อหนึ่ง คือ การศึกษาของเราได้สร้างสิ่งที่เรียกกันว่า ค่านิยมบริโภคขึ้นมา เมื่อเรามุ่งไปในการเลื่อนสถานะทางสังคม มันก็ไปสอดคล้องและหนุนเสริมกันกับค่านิยมบริโภคว่า เมื่อเรามีสถานะทางสังคมสูงขึ้น มียศตำแหน่งสูงขึ้น มีเงินมีทองมากขึ้น เราก็จะได้มีของใช้มีสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุข มีสิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือยมากขึ้น เรามีความรู้สึกต่อความเจริญว่า คือการมีสิ่งของเครื่องใช้วัตถุบริโภคมากขึ้น มีความฟุ้งเฟ้อได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ว่า มีสิ่งบริโภคมากขึ้น ซึ่งเป็นความหมายของความเจริญที่ผิด ความหมายของความเจริญที่ถูกต้องก็คือ ความสามารถทำหรือผลิตได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงว่ามีกินมีใช้มากขึ้น แต่สามารถทำของกินของใช้ได้ดีขึ้น เมื่อพูดว่า เราเจริญอย่างฝรั่งนั้น คนไทยส่วนมากมีความรู้สึกอย่างไร เรามีความรู้สึกว่า ถ้าเราเจริญอย่างฝรั่ง เจริญทัดเทียมฝรั่ง ก็คือว่า เรามีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีของใช้ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรมา เราก็มีกินมีใช้อย่างนั้น แต่เราไม่ได้คิดว่า เราทำได้อย่างฝรั่งหรือไม่ แต่ในประเทศที่เขาพัฒนาได้รวดเร็วนั้น ความหมายของความเจริญ คือการทำได้อย่างเขา ไม่ใช่มีกินมีใช้อย่างเขา การสร้างภาพความเจริญว่ามีกินมีใช้อย่างเขา ก็คือการมีค่านิยมบริโภค การมีค่านิยมบริโภค ก็นำมาซึ่งการเป็นผู้ตามเขาอยู่ร่ำไป และการที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่สามารถพัฒนาประเทศให้สำเร็จ เพราะเราจะมองแต่เพียงว่า เขามีอะไรใหม่ เราก็มีบ้าง เอามาอวดพวกกันเอง ฉันมีอันนี้แล้ว คุณมีอย่างฉันไหม ก็มาอวดโก้กัน กลายเป็นคอยรอสิ่งที่เขาผลิตสำเร็จแล้ว แล้วก็พยายามหาซื้อมา วิธีนี้ก็คือ การสร้างความยากจน มีแต่จะไปกู้ทรัพย์สินเงินทองเขามาซื้อ เสร็จแล้วตัวเองก็ไม่สามารถผลิตสิ่งนั้นได้ ทางแก้ไขก็คือจะต้องสร้างค่านิยมผลิตขึ้นมาแทน แต่การศึกษาปัจจุบันของไทย เท่าที่ดำเนินมา ได้สร้างปัญหานี้ คือ เป็นตัวส่งเสริมค่านิยมบริโภค ซึ่งทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาได้สำเร็จ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เฉพาะในประเทศไทย การศึกษาก็ได้สร้างปัญหาอย่างนี้ ซึ่งในวงการศึกษาปัจจุบันก็ต้องพยายามแก้ไขกัน ถ้าเรามุ่งแต่จะดำเนินการศึกษาของเราไปให้ทันเขาอย่างเดียว โดยไม่ตระหนักถึงสภาพความเป็นไปนี้ เราก็จะกลายเป็นเพียงผู้ตามสร้างสภาพปัญหาให้แก่สังคมเท่านั้น ฉะนั้น จึงจะต้องเตรียมตัวเป็นผู้นำช่วยหาทางออกให้แก่การศึกษาของรัฐด้วย เพราะว่าการศึกษาปัจจุบันนี้ ก็กำลังหาทางออกว่าจะแก้ปัญหาทางการศึกษาเหล่านี้ได้อย่างไร ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า เวลานี้ วงการการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง ก็ได้โน้มน้อมหันมามองเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องให้วัดและพระสงฆ์มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติ และในการหันมาสนใจครั้งนี้ มิใช่ว่าเขาจะมองเฉพาะการที่จะร่วมมือ หรือสนับสนุนในระดับสถาบันเท่านั้น แต่นักการศึกษาจำนวนมากทีเดียวหันมาสนใจ ต้องการส่วนร่วม ความช่วยเหลือ ทางออกใหม่ หรือแม้กระทั่งการชี้นำของพระศาสนาหรือพุทธธรรมในระดับความคิด จึงมีการแสวงหาปรัชญาการศึกษาของไทยบ้าง พุทธปรัชญาการศึกษาบ้าง ว่าที่จริง ความสนใจหันมาหาศาสนาในระดับนี้ มีมูลเหตุมาจากปัญหาการศึกษาในระดับโลก ที่จะพูดต่อไปด้วย พระสงฆ์ในฐานะที่เป็นคนวงในของพระศาสนา โดยเฉพาะพระในวงการศาสนศึกษาระดับสูง ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะทำหน้าที่นี้ สนองความต้องการของวงการการศึกษา และของนักการศึกษาให้ได้ ถ้าเราทำได้สำเร็จ เราก็เป็นผู้ให้ช่องทาง ให้ความรู้ ให้ความคิดแก่วงการการศึกษาของบ้านเมือง ช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติด้วย

มองกว้างออกไปในสังคมโลก ปัญหาการศึกษาที่สำคัญ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับวิทยาการสาขาต่างๆ ก็คือ ความเจริญในยุคอุตสาหกรรมนั้น เป็นความเจริญแบบที่ทำให้วิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าขยายพุ่งออกไปแบบ Specialization คือ เป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน คำนี้เป็นศัพท์ที่สำคัญมากในยุคอุตสาหกรรม ความเจริญในยุคที่ผ่านมานี้ ทุกอย่าง เจริญในรูปที่เรียกว่า ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ถ้าแพทย์คนไหนเก่ง ก็ต้องชำนาญพิเศษในด้านหนึ่ง เช่น เป็นหมอทางตา หมอทางหู หมอทางจมูก หมอทางอะไรต่างๆ แม้แต่อวัยวะชิ้นเดียวกัน ก็อาจจะชำนาญแตกแขนงลงไปในส่วนหนึ่งๆ ของอวัยวะนั้น ในวิทยาการสาขาอื่นก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีความเจริญในแบบที่เรียกว่า เจริญดิ่งไปๆ ในสาขาของตนเอง ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน แต่ปัจจุบันนี้ ความเจริญของวิทยาการแบบเฉพาะด้าน ได้มาถึงจุดอับจน แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ตัวอย่างเช่น เมื่อสร้างความเจริญทางเทคโนโลยีไปนานๆ เข้า จึงมารู้ว่า เทคโนโลยีที่ตนสร้างขึ้น เจริญด้วยอุตสาหกรรมอย่างสูงนั้น ได้สร้างปัญหาให้แก่สภาพแวดล้อม ทำให้เกิดมลภาวะ สิ่งแวดล้อมเสีย และทรัพยากรร่อยหรอ แล้วก็กลับมามีปัญหาแก่มนุษย์ เพราะสภาพแวดล้อมเสียนั้น ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สุขภาพ สิ่งที่คนสร้างขึ้นมาด้วยวิทยาการที่เจริญเฉพาะด้าน เช่น สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกพืช เอามาใช้เป็นยาฆ่าแมลง เช่น ดี.ดี.ที. สารเหล่านั้นตอนต้นก็ใช้กันด้วยความนิยมเป็นอย่างมาก นึกว่าเป็นของวิเศษ แต่ต่อมาปรากฏว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องยกเลิก ต้องประกาศห้ามใช้ ในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนา ซึ่งรู้ปัญหาก่อน ก็เลิกใช้ไปก่อน หรือสารเคมีที่เอามาปรุงแต่งสีสัน และรสของอาหาร ก็เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน

ความเจริญแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ของยุคปัจจุบัน มีลักษณะสำคัญ คือ เป็นอันตรายต่อมนุษย์บ้าง เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมบ้าง เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ จึงได้มีทิศทางใหม่ในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ และในการสร้างสรรค์อารยธรรม คือ หลักความคิดที่เขาเรียกว่า บูรณาการ เวลานี้คำนี้กำลังเกร่อขึ้นมา หมายถึงหลักความคิดแบบ integration หรือ หลักความคิดแบบ holism ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่ดูจะใช้กันเกร่อ เราถือว่า ความเจริญในยุคที่ผ่านมานี้ เป็นความเจริญแบบแตกแขนงออกไปเฉพาะด้าน แต่ต่อไปนี้จะต้องเอาส่วนต่างๆ มาประสานกลมกลืนกัน เช่น เขาคิดว่า จะสร้างความเจริญอย่างไร ที่ให้เกื้อกูลต่อธรรมชาติด้วย ต่อตัวมนุษย์ด้วย ให้ประสานกลมกลืน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่า การศึกษาของโลกมาถึงจุดที่จะต้องแก้ไข เมื่อเป็นเช่นนี้ ในทางธรรม เรามีทางที่จะช่วยเขาได้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่ง การศึกษาเท่าที่ผ่านมานี้ ซึ่งมีลักษณะเป็น specialization ที่ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ก็ได้ทำให้มีลักษณะอีกอย่างหนึ่งตามมาด้วย คือ กลายเป็นการศึกษาแบบวิชาการ ที่เรียกว่า academic การศึกษาแบบเน้นวิชาการนี้ มักไม่เข้าไปในชีวิตจิตใจของคน ไม่ก่อผลแก่ชีวิตจิตใจ คือเป็นความรู้ที่เล่าเรียน เป็นความรู้ในตำรา ที่ทางพระเรียกว่าเป็นสุตะ เรียนเป็นวิชาการกันไป เอามาพูดเอามาถกเถียง เอามาเขียนแสดงต่างๆ มากมาย แต่มันไม่ได้เกิดผลต่อชีวิตจิตใจของคนที่เล่าเรียนนั้นเลย นี้ก็เป็นข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาของการศึกษาในแง่ที่ว่า เป็นเรื่องความเจริญทางวิชาการล้วนๆ ไม่ได้เกิดผลแก่ชีวิตจิตใจของคน

ข้อต่อไป การศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเราก็ตามอย่างเขา เป็นกิจกรรมที่มุ่งผลเป็นความสำเร็จส่วนตัว มุ่งให้คนแสวงหาความสำเร็จ ก้าวหน้าในยศในตำแหน่ง หาเงินหาทอง อย่างที่เรียกว่า กาม กิน และเกียรติ ไม่แสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิตที่แท้จริง และในที่สุดก็มาถึงจุดที่คนจำนวนมากผิดหวัง กับการศึกษาแบบนี้ เพราะมองเห็นว่า การศึกษาไม่ช่วยให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต และจึงหันมาแสวงหาความหมายและคุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต การที่คนในสังคมของประเทศตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก หันมาสนใจลัทธิศาสนาต่างๆ ทางตะวันออก ก็เป็นเพราะเหตุนี้ด้วย คือเพราะปัญหาการศึกษาอย่างนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก

อีกอย่างหนึ่ง ดังได้พูดมาแล้วว่า การศึกษาในยุคที่ผ่านมานี้ มุ่งให้คนมีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน เป็นการสร้างคนเก่ง คือคนมีความสามารถในทางที่จะเอาเพื่อตัวให้ได้มากที่สุด ตลอดจนมีความสามารถที่จะพิชิตธรรมชาติ เอาธรรมชาติมาเป็นสิ่งสนองความต้องการส่วนตัวของมนุษย์ หลักความคิดของความเจริญในยุคอุตสาหกรรม ที่เป็นเป้าหมายสูงสุด ก็คือการเอาชนะธรรมชาติ หรือการพิชิตธรรมชาติ ซึ่งการศึกษาก็ได้ดำเนินมาในทิศทางนี้จนมาถึงจุดที่ว่า มนุษย์บอกว่าตัวเองได้ประสบความสำเร็จ ชนะธรรมชาติไปแล้วเป็นอันมาก แล้วก็นึกว่า มนุษย์จะประสบความอุดมสมบูรณ์ มีความสุข พรั่งพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่แล้วมาถึงบัดนี้ มนุษย์กลับต้องมาประสบความอุดตันที่ว่ามาเมื่อกี้ ซึ่งให้เห็นว่าการเอาชนะธรรมชาตินั้น ได้กลับเป็นโทษแก่มนุษย์เอง เช่น ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย และส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นภัยอันตรายแก่มนุษย์เอง ถึงขนาดที่ว่า โลกนี้อาจจะต้องแตกดับสลายพินาศไปเพราะสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมา เช่น เทคโนโลยี เป็นต้น ฉะนั้น ก็จึงต้องหยุดยั้งตั้งหลักคิดใหม่ว่า ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาไม่ให้สภาพแวดล้อมเสีย ให้มนุษย์อยู่กับระบบนิเวศได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ข้อต่อไป สืบเนื่องจากสภาพที่กล่าวถึงมาแล้วว่า การศึกษาที่ผ่านมา เจริญในทางวิชาการอย่างเดียว ไม่เข้าสู่เนื้อสู่ตัว ไม่ซึมซาบเข้าเป็นชีวิตจิตใจของคน สภาพอีกอย่างหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกัน คือเป็นการได้สิ่งที่เรียกว่า information หรือ ข่าวสารข้อมูล มีข้อรู้ มีสุตะมากขึ้น โดยเฉพาะยุคต่อไปนี้ ก็จะเป็นยุค information หรือ ยุคแห่งข่าวสารข้อมูล แต่ทำอย่างไรจะให้ข่าวสารข้อมูลหรือสิ่งที่รู้นี้ กลายเป็นปัญญาขึ้นมา ข่าวสารข้อมูลหรือข้อรู้ ไม่ใช่ตัวปัญญา มนุษย์ในยุคการศึกษาที่ผ่านมานี้ มีความรู้ในข้อมูลต่างๆ เป็นอันมาก แต่บางทีไม่เกิดปัญญา ไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น ในสังคมไทย การศึกษาของเรามีปัญหานี้มากว่า สอนอย่างไรจะให้นักเรียนรู้จักคิด รู้จักพิจารณาปัญหาในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัวนี้ แล้วแก้ปัญหาได้อย่างถูกทาง ดำเนินชีวิตให้เกื้อกูลแก่สังคมของตนเองได้

ในยุคที่เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลเจริญมากนี้ การค้นคว้าหาความรู้ก็ง่ายขึ้นมาก รวมทั้งความรู้ทางพระศาสนาด้วย อย่างที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า เวลานี้ก็ได้มีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์แล้ว การค้นหาคำศัพท์ พุทธภาษิต หรือข้อความใดๆ ก็ตามในพระไตรปิฎก แทนที่จะต้องเที่ยวเดินทางไปสอบถามท่านผู้รู้อย่างลำบากลำบน แทนที่จะต้องนั่งค้นกันเสียเวลาเป็นวันเป็นสัปดาห์เป็นเดือน หรือ แม้กระทั่งเป็นปี ก็เพียงกดปุ่มเรียกเอาได้ในเวลาชั่ววินาทีเท่านั้น เมื่อตัดภาระในด้านการหาข้อมูลไปแล้ว คนก็จะมุ่งเข้าสู่สาระและอัตถะของข้อมูลนั้นๆ ได้โดยตรงทีเดียว ในสภาพเช่นนี้ พระสงฆ์ก็ควรจะใช้โอกาสในการศึกษาปริยัติ ให้ช่ำชองเข้าถึงความหมายที่แท้จริง และปฏิบัติให้เกิดปัญญาที่แท้ซึ่งประจักษ์แจ้งจากประสบการณ์จริงในการปฏิบัติ เพื่อจะได้บรรลุผลแห่งการศึกษาสำหรับตนเอง พร้อมทั้งสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลให้ความกระจ่างแจ้งแก่ผู้อื่น ที่เล่าเรียนและปฏิบัติ ในส่วนที่เหนือจากการค้นคว้าหาข้อมูลนั้นขึ้นไป

ข้อสุดท้ายก็คือ การศึกษาอย่างที่จัดกันมานั้น เมื่อดำเนินไป ก็ไม่ช่วยให้มนุษย์มีความสุขที่แท้จริง ไม่ช่วยให้มนุษย์มีคุณธรรม ไม่ช่วยให้มนุษย์มีความดีงาม มีจริยธรรม เพราะเหตุเบื้องต้น คือ การเรียนรู้นั้นไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่แท้นั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มนุษย์พ้นจากกิเลส ตามหลักพุทธศาสนา ปัญญาเกิดขึ้น ก็ทำลายกิเลส เมื่อทำลายกิเลส ก็มีคุณธรรมมีจริยธรรม เมื่อมีจริยธรรม ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ก็มีความสุข

ตามหลักพุทธศาสนา การศึกษาที่แท้จริงทำให้เกิดปัญญาที่นำมาซึ่งความดีงาม เป็นจริยธรรม และทำให้เกิดความสุขด้วย เพราะว่า เมื่อเข้าถึงแก่นแท้แล้ว ความจริง ความดีงาม และความสุขนั้น เป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในการศึกษาที่ผ่านมา ทั่วโลก การศึกษาไม่สามารถทำให้เกิดผลนี้ได้ จึงเป็นความผิดพลาดและทำให้ต้องหาทางแก้ไขกันอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องสำนึกอยู่เสมอว่า การศึกษาของเรานี้เท่าที่ได้ดำเนินมา เรากำลังพยายามที่จะให้ได้ฐานะ อย่างน้อยในด้านรูปแบบ ให้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาทั่วไป ในบ้านเมืองไทยก็ตาม ในสังคมของโลกก็ตาม คือให้มีปริญญาเอก แต่เราจะหยุดแค่นั้นไม่ได้ จะต้องก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้นำในทางการศึกษา เริ่มด้วยความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ความเป็นเลิศทางวิชาการก็ยังไม่เพียงพอ จะต้องให้มาถึงขั้นเป็นผู้นำในการที่จะชี้ช่องทางใหม่ในการศึกษา แก่วงการศึกษาสมัยปัจจุบัน ตลอดจนอารยธรรมของโลกทั้งหมด ช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากภาวะติดตันและปัญหาของยุคปัจจุบัน เข้าถึงความรู้จริง ความดีงาม และความสุข ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้ของการศึกษาและการสร้างสรรค์อารยธรรม

ผมก็ได้พูดมาเป็นเวลายาวนานมากแล้ว คิดว่าพอสมควรแก่เวลา การที่เราจัดให้มีการศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นมา และมุ่งให้มีปริญญาเอกต่อไปนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นการเดินทางถูกต้องแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีคุณค่า มีคุณค่ามาก หากแต่ว่า ขั้นนี้ยังไม่ถึงจุดหมายของเรา เพียงเป็นฐานเท่านั้น เราจะต้องถือว่าการมีปริญญาตรี - โท - เอก เป็นเพียงฐานและเป็นช่องทางของเราที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น เมื่อเราทำได้ในรูปแบบ ได้การยอมรับสถานะทางสังคมแล้ว เราก็เอาสถานะนี้เป็นฐานของเรา ในการสร้างความเป็นผู้นำทางการศึกษา แล้วก้าวหน้าต่อไปสู่จุดมุ่งหมายในระดับ ๒ ระดับ ๓ ที่ว่ามาเมื่อกี้ เพราะฉะนั้น วันนี้ ผมจึงขออนุโมทนาด้วย ในการที่เราได้มีการศึกษาระดับปริญญาโทเกิดขึ้น และเราก็คงก้าวต่อไป สู่การศึกษาระดับปริญญาเอก ข้อสำคัญก็คือ เมื่อเรามีการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว ก็ให้เรามีการศึกษานี้อย่างดีอย่างเลิศด้วย และความดีความเลิศของเรานั้น ก็ไม่ใช่ความดีความเลิศที่เลื่อนลอยสำหรับเอาไว้อวดใคร แต่เป็นความดีความเลิศ ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อชีวิตของมนุษย์แต่ละคนและแก่สังคมมนุษย์โดยส่วนรวม สมตามหลักการของพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน หรือชนจำนวนมาก

ผมได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว คิดว่าเป็นการให้ความคิดเห็น เกี่ยวกับทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ในบางประเด็น ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้นั่งฟังอยู่ในที่ประชุมนี้จนจบ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษา และส่งเสริมกำลังใจ โดยเฉพาะนิสิตปริญญาโทรุ่นแรก ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ชาวพุทธทั้งหลาย ควรจะฝากความหวังไว้ ในการที่จะสร้างสรรค์ทิศทางใหม่แห่งการศึกษาของคณะสงฆ์ให้สำเร็จ ขอทุกท่านจงเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ในการที่จะศึกษาเล่าเรียนให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดความก้าวหน้าใน ศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักการของพระพุทธศาสนา และขอให้ท่านผู้บริหารก็จงได้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาเช่นกัน ในการที่จะดำเนินการศึกษา ให้ประสบความเจริญก้าวหน้า บรรลุผลสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ด้วยดี โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

คำนำ

ในโอกาสที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดพิธีปฐมนิเทศนิสิตชั้นปริญญาโท รุ่นที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๑ ซึ่งนับเป็นวันเปิดการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นปฐมฤกษ์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ และในวโรกาสพิเศษนี้ พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มาเป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาเรื่อง "ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์"

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณาเห็นว่า ปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ มีเนื้อหาสาระอันทรงคุณค่าควรแก่การเผยแพร่ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจทั่วไป จึงได้ขออนุญาตจากองค์ปาฐก จัดพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าว ซึ่งนอกจากท่านเจ้าคุณพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จะอนุญาตให้จัดพิมพ์แล้ว ท่านยังเมตตาสละเวลาอันมีค่าแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับคำบรรยายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านเจ้าคุณพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ไว้ ณ ที่นี้ และหวังว่า หนังสือ "ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์" นี้ จะอำนวยประโยชน์เป็นอย่างมากแก่ผู้สนใจ เรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

 

(พระมหานคร เขมปาลี)

อธิการบดี

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ในพระบรมราชูปถัมภ์

อนุโมทนา

"ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์" นี้ เป็นปาฐกถาพิเศษในการปฐมนิเทศนิสิตปริญญาโทรุ่นแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๑

การเปิดการศึกษาชั้นปริญญาโทนั้น นับว่าเป็นก้าวใหม่แห่งการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ การก้าวไปเช่นนั้นควรมีทิศทางที่ชัดเจน เพื่อให้ก้าวไปอย่างถูกต้องและมั่นใจ ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์คงจะตระหนักดี ถึงความสำคัญของการก้าวใหม่เช่นนั้น จึงได้จัดปาฐกถาดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางที่จะเดินต่อไป ให้ดำเนินสู่จุดหมายที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ตั้งไว้ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ เพื่อชีวิตที่ดีงามและประโยชน์สุขของประชาชน

บัดนี้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้แสดงความประสงค์ขออนุญาตพิมพ์ปาฐกถาพิเศษนั้น เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป ผู้เรียบเรียงยินดีอนุญาตด้วยความเต็มใจ เพราะจะได้เป็นการช่วยกันสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ กระตุ้นเตือนให้ร่วมกันแก้ไขปัญหา และปลุกสำนึกในการสร้างสรรค์พัฒนากิจการด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ให้อำนวยคุณค่าแก่พระศาสนา แก่ชีวิต และแก่สังคมอย่างแท้จริง

ขออนุโมทนา กุศลฉันทะของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยเฉพาะบัณฑิตวิทยาลัย ที่ได้ดำริให้มีการพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ และขออนุโมทนา พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญ ที่ได้สละเวลาและแรงงาน เรียงพิมพ์ต้นแบบหนังสือด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh จนเสร็จสิ้นด้วยดี ขอกุศลกิจร่วมกันนี้ จงเป็นปัจจัยเพื่อความเจริญแพร่หลายแห่งกุศลธรรม และความดำรงมั่นคงแห่งพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

๒๙ ส.ค. ๒๕๓๑

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง